ปลุกเสกพระแท้ๆของพุทธ '๔๘ ครั้งที่ ๒๙

มนุษย์มีหน้าที่กระทำสร้างสมกรรมดี
กรรมดีที่กระทำจนถึงรอบ
จะเกิดเป็นฤทธิ์แรง
ตอบสนองให้แก่เรา
กรรมดีจึงคือ "พระเจ้า"
ที่ดลบันดาลสิ่งดีงามให้แก่ชีวิต
พระเจ้าจึงคือ กรรมดี
กรรมดีคือ เรา
เรา คือ ผู้สร้าง
กรรมชั่วก็คือ เรา(ด้วย)
เรา คือ ผู้ทำความพินาศ(ซาตาน)

งานปลุกเสกฯ นับเป็นอีกเวลาแห่งการตักตวงกรรมดี ใครใคร่ทำ! ทำ! จากบทสัมภาษณ์ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ถึงคนที่รู้ความสำคัญในความสำคัญ คือ คนสำคัญ อีกทั้งข่าวคราว จากหนังสือ ยอดฮิต "พุทธเป็นอเทวนิยมอย่างนี้" ซึ่งแยกขาวแยกดำ จนสั่นสะเทือน วงการศาสนาเปรี้ยงปร้าง จะตีพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ ถึงห้าหมื่นเล่ม เชียวละ แถมด้วย ข้อสรุป ที่ยังไม่สรุป จากการจัดงานวิสาขบูชา ที่พุทธมณฑล แต่ประโยคที่แน่ๆ คือ "ไม่ให้ทำ เราก็ไม่ทำ เราไม่ดันหรอก"


# ขอทราบความสำคัญและบรรยากาศของงานปลุกเสกฯปีนี้ ?

- งานปลุกเสกฯเป็นงานที่เราทำเป็นวัฒนธรรม เป็นจารีตประเพณีของเรา เป็นงานที่เป็นพฤติกรรมของมนุษย์ อย่างงาน ปลุกเสกฯ ที่ผ่านมานี้ พวกเราก็เข้าใจมากขึ้น ฟังธรรม ก็ฟังได้ดีขึ้น อาตมาไม่รู้ว่าตัวเองเทศน์เก่งขึ้น หรือพวกเรา มีฐานสูงขึ้น รับฟังธรรมได้ดีขึ้น ฟังแล้วก็มีความพอใจรื่นเริงยินดีเบิกบาน เหมือนมาเข้าอบรมสัมมนา ๗ วันต้องทำ อะไรบ้าง ทั้งการประชุม ก็จัดเวลาได้ลงตัว สามารถที่จะบูรณาการก้าวไปถึงขั้นทดสอบฝึกปรือ หรือจัดแบ่งงานกันเป็นภาคได้สัดส่วนดีขึ้น ในเวลา แต่ละวัน ที่มีอยู่ ๒๔ ชั่วโมง เท่าเดิม เวลาที่แสดงธรรมก็พอ ในเรื่องของเนื้อหาธรรมะ วิธีนำเสนอ หรือวิธีแสดงธรรม ของพวกเรา ก็เก่งขึ้น มีสมรรถนะ มีทักษะในการนำเสนอมากขึ้น

ผู้ที่ไปร่วมงานก็อยู่กันตลอดไม่ผลุบๆโผล่ๆ เหมือนสมัยก่อน จนวันสุดท้าย ก็ยังอยู่กันหนาแน่น เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า พวกเรา เห็นคุณค่าสิ่งเหล่านี้ ถึงยอมอยู่ และอยู่กัน อย่างที่ว่า อยู่ด้วยความเต็มใจ ไม่จำเป็นต้องปลุกเร้า หรือบอกอะไร กันมากมาย แต่พวกเรา ก็เห็นประโยชน์ในสิ่งนี้ขึ้นมา และทุกอย่างก็ลงตัว เราจัดนานปีเข้ามันจะถึง ๓ ทศวรรษแล้ว ปีหน้า ก็ครบ ๓๐ ปี

การจัดระบบของงานประเพณีอันนี้ของเก่าที่ดีแล้วเราก็ยืนยงอยู่ อะไรที่คิดจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อะไรที่ควรปรับปรุงอีก หรือ อะไรที่จะพัฒนาขึ้น จะบูรณาการขึ้น เราก็ทำ และอันนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเรา ได้รับประโยชน์ ทั้งผู้ใหม่และผู้เก่า โดยเฉพาะ ผู้เก่า จะได้มากเพราะจะได้เติมธรรมะ เราทำงานกันมาทั้งปี ได้เว้นวรรค มางานพุทธาภิเษกฯ ปลุกเสกฯปีละ ๒ ครั้ง ซึ่งเป็น โอกาส ได้รับการเติมธรรมะ เพื่อนำมาพิจารณา มาได้ศึกษา มาได้มรรคปฏิบัติ ประพฤติ แม้หลายคนไม่รู้ ไปแล้ว ก็ได้แต่นั่ง ฟังธรรมเฉยๆในครั้งก่อนๆ แต่พอไปหลายครั้งเข้าก็รู้ว่า งานปลุกเสกฯ หรืองานแทบทุกงาน ที่จัดกัน ของชาวอโศก ไม่ใช่งาน ที่เอาแต่ไปฟังธรรมเท่านั้น แต่เราไปเป็นเจ้าภาพ เป็นผู้ทำงานร่วมด้วย ทั้งช่วยกันคิด สังกัปปะ ทั้งช่วยกันพูด วาจา ทั้งช่วยกันทำ กัมมันตะ ทั้งช่วยกันประกอบเพื่อชีวิต อาชีวะ เพราะเรามีกิจกรรมไปปฏิบัติธรรม ตามหลัก มรรคองค์แปด ทั้งคิด ทั้งพูด ทั้งทำ ทั้งประกอบอาชีพให้ดีขึ้นๆ ให้สัมมายิ่งๆขึ้น ทำการทำงานกับพี่ๆน้องๆ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ งานก็จะเบายิ่งขึ้นกว่านี้ ถ้ายิ่งทุกคนรู้ว่า พวกเรามาร่วมงานแล้วช่วยกันทำ ใครจะทำงานอะไร ก็แบ่งหน้าที่กัน มาร่วมไม้ ร่วมมือ เป็นเจ้าภาพ ร่วมกัน ร่วมรับรู้ในจุดนั้นจุดนี้ อาจมีการชนกันบ้าง มีโจทย์ให้เราได้ทำมีแบบฝึกหัดอะไรๆบ้าง อย่างนี้เป็นต้น มันก็จะเจริญขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ยิ่งนานวันเข้า มาถึง ๓๐ ปีแล้ว อาตมาว่าอะไรๆก็ดีขึ้น นี่ก็จะเป็นประโยชน์ของชาวอโศก เป็นจารีตประเพณี ไปอีก นานเท่านาน จนถึงครั้งที่ ๑๐๐ ครั้งที่ ๒๐๐


# พวกเราบางคนก่อนงานนี้รู้สึกว่าปีนี้อากาศร้อนจัดมาก จึงไม่ไป กลัวร้อน แต่ปรากฏว่า ผิดคาด น่าเสียดาย

- งวดนี้อากาศดีจัง มันเหมาะ แค่ร้อนนิดๆไม่ร้อนเกินไป ตกกลางคืนอากาศเย็นด้วยซ้ำ และไปหนาวหน่อยๆตอนเช้า อากาศดี งานนี้รู้สึกเข้าท่าเข้าทีดีทีเดียว

# คนไม่ไปเพราะกลัวร้อน เป็นเพราะเขาฐานอ่อนลงหรือเปล่า ?

- ก็ไม่รู้สินะ จะว่าฐานอ่อนลงหรือขี้เกียจล่ะ อาตมาตีว่าขี้เกียจมากกว่ามั้ง

# งานวิสาขบูชาปีนี้ ตอนแรกทำท่าว่าจะไปจัดงานใหญ่ที่พุทธมณฑล ตอนนี้ทางฝ่ายมหาเถรสมาคมออกมาคัดค้าน โดยกลุ่มศูนย์พิทักษ์พุทธศาสนา พ่อท่านคิดอย่างไร ?

- ก็รู้ความจริงของมันอยู่ ว่าคนเรายังติดยังยึดถือในความคิดความเห็นในอะไรต่างๆอยู่ ซึ่งมันก็เป็นความจริง เขาก็มีเจตนาดี มีเจตนาว่ามันจะต้องรักษาสิ่งที่เขาคิดว่าดี สิ่งที่เราทำอยู่ มันไม่ดี เมื่อเขาเห็นไม่ดีเขาก็ต้องต่อต้านไว้ เมื่อเราจะไปแสดง ไปเผยแพร่ ไปประกาศเพื่อทำอะไรขึ้นมา เขาก็ห่วงประชาชนจะได้รับสิ่งที่ผิดๆ สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เขาก็ต้องกั้นไว้ เพราะเขา มีหน้าที่ เขาก็ทำตามหน้าที่ของเขา ก็ถูกแล้ว เขาเห็นอย่างนั้นจริงๆ เราจะไปว่าเขาไม่ได้ ในวาระอย่างนี้ มันก็ต้อง พิสูจน์ตัวเรา ต้องทำจนเขา ยอมรับเราได้ จนเราไปทำแล้ว เขาก็อนุญาต เขาไม่ต้านอะไร หรือยิ่งเขาจะมาร่วมมือด้วยก็ยิ่งดี แต่ตอนนี้ อย่าว่าแต่ ร่วมมือเลย แค่เราจะเข้าไป เขาก็ต้าน จะทำเขาก็ไม่ให้ทำ มันก็เป็นไป ตามจริง ไม่มีปัญหาอะไร อาตมาเข้าใจ


# แต่ถ้ามีบางกลุ่มเห็นว่า เราไม่ได้ผิดอะไร และอยากให้เราไปจัด

- เขาอยากให้เราทำ แต่จะดำเนินการอย่างไร อาตมาก็ไม่รู้ซิตอนนี้มีกระแสมาว่า เขาไม่ให้ไปร่วม ไม่ให้ไปทำ เพราะเขาถือว่า เราผิด ถือว่าเราเป็นพวกนอกรีต เป็นพวก ถูกประกาสนียกรรม ว่าเป็นพวกมีความผิดธรรมผิดวินัย ทำผิดแล้วก็ประกาศไปแล้ว จะล้มล้าง ได้อย่างไร เขายังเห็นอย่างนั้น ยังยึดมันอยู่อย่างนั้น ดีไม่ดี เขาก็อ้างคำตัดสินจากศาล อันเป็นเรื่องกฎหมายทางโลก ก็เอามา ปนเข้ากับ ธรรมวินัย ซึ่งตัดสินว่า เราผิดด้วยซ้ำ

เมื่อไม่ให้เราทำ เราก็ไม่ทำ เราไม่ดึงดันหรอก เราเองตั้งแต่ถูกฟ้อง จับเราไป ให้เราเปลี่ยนผ้า เปลี่ยนชื่อ ไม่ให้เรียกพระ ให้เรียก สมณะ อะไรต่างๆ สารพัด จนกระทั่ง เราต้องไป ทำบัตรประชาชน กลายเป็นอะไรต่ออะไร เราก็ยอมทุกอย่าง ตั้งแต่ต้อง เดินทาง ไปขึ้นศาล ทั่วทิศทุกภาค ๖-๗ ปี ทรมารทรกรรมจนตัดสินมาเรียบร้อยว่าเราผิด รอลงอาญา เราก็ไม่มีปัญหาอะไร เราก็จำต้องรับผิดทุกอย่าง สุดท้ายก็ออกมาเป็นอย่างที่เราเป็น คือเรายังยืนหยัดยืนยันว่าเราทำตามรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วย ทุกคน มีสิทธิจะนับถือ ศาสนา มีความเชื่อ ความเห็นอะไร ที่ไม่เป็นภัย ต่อสังคม เราก็ทำไปตามมาตรานี้ก็เท่านั้นเอง นอกนั้น เราก็ไม่มีอะไร ทั้งๆที่เราก็รู้อยู่ว่า ทางโน้นเขามาทำกับเรา เขาทำผิด เพราะเราประกาศ นานาสังวาส เราแยกตัวตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ จึงมาทำประกาสนียกรรมเรา จะมาบัพพาชนียกรรมก็ตาม มันทำไม่ได้ มันผิดธรรมวินัย เพราะเราประกาศ นานาสังวาส กับมหาเถรสมาคมมาแล้ว ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๑๘ แล้วเวลาล่วงเลยมาตั้งพ.ศ.๒๕๓๒ จะมาบัพพาชนียกรรม ขับเราออกจาก มหาเถรสมาคม อะไรกันอีก ก็เราประกาศ ขอแยกออกมา จากมหาเถรสมาคมสำเร็จแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘ ท่านก็ยอมรับ กันแล้ว เราได้ประกาศแยก นานาสังวาส เฉพาะต่อหน้าสงฆ์ เป็นอันสำเร็จ ความเป็น นานาสังวาสแล้ว

ก็ในเมื่อเป็นนานาสังวาสกันแล้วตามธรรมวินัย ต่างคนก็ต่างทำ ต่างความเห็น ต่างอุเทศกัน กรรมต่างกัน ศีลไม่เสมอ สมานกันแล้ว ก็เป็นนานาสังวาส

และวิธีที่จะเป็นนานาสังวาสก็เป็นได้ ๒ วิธี คือผู้ที่จะแยกนานาสังวาสเองประกาศเอง นี้วิธี ๑ หรือผู้ที่เป็นคณะใหญ่ ประกาศ ให้ผู้นั้นเป็น นานาสังวาสแยกออกไป นี้ก็อีกวิธี ๑ ฝ่ายใหญ่ ประกาศให้ฝ่ายน้อย หรือฝ่ายน้อยประกาศออกเองก็ได้ ซึ่งเราก็เป็นฝ่ายน้อย ประกาศขอแยกออกมาเอง ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๑๘ แล้ว เราประกาศแล้ว แต่เขาไม่ปฏิบัติ ตามธรรมวินัย กันเอง เพราะตามธรรมวินัยเมื่อประกาศแยกนานาสังวาสแล้ว ต่างคนก็ต่างดำเนินตามความเห็นของแต่ละฝ่าย เพราะมันมี ความแตกต่าง กันแล้วจริง ทั้งกรรม ทั้งอุเทศ ตามธรรมวินัย พระพุทธเจ้าจึงได้มีหลัก "นานาสังวาส" ให้แก่สงฆ์ชาวพุทธ จะได้ลด ความวุ่นวาย เพราะฉะนั้น จะมาบอกว่า นั่นคุณผิดวินัยนะ ท้วงไม่ได้ ไม่เป็นอัน ท้วงได้ โมฆะ ไม่สำเร็จ ทำไม่ได้ ถึงทำก็ไม่มีผล ใช้บังคับ แต่ฝ่ายโน้นก็ดึงดันเข้ามาทำ "กลับคำ" ที่เคยยอมรับ ว่าเราแยกเป็น นานาสังวาสแล้ว แยกไม่ได้ ยังไงก็ต้อง ดึงเข้ามา ทีนี้เขามีอำนาจ ในประเทศ และคนอื่นก็ไม่รู้วินัยพวกนี้ คนทั้งหลายแหล่ ผู้บริหารบ้านเมือง ก็ไม่ได้ศึกษา ธรรมวินัยพวกนี้ ก็ไม่รู้เรื่อง ก็ถือว่าผู้นี้ใหญ่ เป็นของเก่า มีผู้รู้เรียนมา จบบัณฑิต ตั้งเยอะตั้งแยะ เขาก็ต้องเชื่ออันนั้น และก็ดึง เราเข้ามา ไม่คำนึงถึงธรรมวินัยเลย เราบอกเราทำถูกต้องแล้ว แต่เขาไม่ฟังเสียงอะไรทั้งสิ้น เขาว่าเราไม่ถูก แต่เขาถูก และเขาก็ ดำเนินไป เราก็ยอม จนจบ แต่จริงๆแล้วมันโมฆะทั้งนั้น เขามาอธิกรณ์เรา มาตู่ท้วงเรา มาสอบสวนเราไม่ได้ เพราะเป็นคนละ คณะ จะมาสอบสวน กันได้อย่างไร ไม่เป็น อันสำเร็จ มันไม่ถูกต้อง จนถึงแม้เขาจะ ประกาสนียกรรมว่าเราผิด ก็ประกาศไป เปล่าๆ เพราะตามธรรมวินัยแล้ว ไม่เกิดผลอะไร เพราะทำแล้ว ก็ไม่ถูกต้อง ตามหลัก ธรรมวินัย ตั้งแต่ต้น แต่เขาก็ยืนยันอยู่ นั่นแหละ


# จากวันนั้นเราก็พิสูจน์ตัวเองมาเรื่อยๆ จนมีคนบางกลุ่มยอมรับและอยากให้เราไปร่วมจัดงานวิสาขบูชาที่พุทธมณฑล

- ถ้าพูดถึงการจัดงานวิสาขบูชาที่พุทธมณฑล เขาก็บอกว่าพุทธมณฑลเป็นของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นสถาบันใหญ่ ของประเทศ ไม่ให้ทำ เอ่อ....เราก็ไม่ทำ ไม่ให้ร่วม เราก็ทำไงได้ เราไม่ใช่พวกดันทุรังอะไร เราก็ยอม อาตมาไม่ไปดันอะไรอยู่แล้ว เรายอมอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร


# หนังสือเล่มล่าสุดของพ่อท่านเรื่อง "พุทธเป็นอเทวนิยมอย่างนี้" เป็นเล่มที่ใครๆอ่านแล้ว ชมกันว่า อ่านเข้าใจง่าย มีนัย เปรียบเทียบ ที่ชัดเจน คิดว่าหนังสือเล่มนี้ เมื่อออกสู่สังคมจะเกิดผลกระทบอย่างไร ?

- คงมีผลกระทบสำหรับผู้ที่ศึกษาด้วยใจเป็นกลางก็คงเข้าใจได้ แต่ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นแล้วว่ายังไงๆอโศกก็ผิด ก็คงไม่เข้าใจอะไร เขาก็ยิ่งจะว่าพวกนี้ทำให้ธรรมวินัยวิปริต ทำให้แตกแยก ทำให้ผิดพลาด ทำให้เสียหาย ซึ่งมันก็เป็นธรรมดา แต่คนที่ศึกษา ด้วยใจเป็นกลางๆ หรือผู้มีภูมิปัญญา แม้เคยเข้าใจผิด มาแล้วก็ตาม เคยยึดมั่นถือมั่นผิด มาแล้วก็ตาม แต่ถ้ามีภูมิปัญญา อ่านแล้ว รู้สึกว่าอย่างนี้ดีนะ มีเหตุมีผลมีหลักฐานยืนยันความจริง มีอะไรต่ออะไรชัดเจนดี เขาก็อาจจะเห็นดีขึ้นมาบ้าง ก็มีอยู่ ๔ ฝ่ายง่ายๆ ฝ่ายที่หนึ่ง ให้ตายยังไงก็ไม่เปลี่ยนแปลง ฝ่ายที่สอง เปลี่ยนแปลงได้ แต่ก่อนเคยเข้าใจผิด เดี๋ยวนี้เข้าใจถูก ฝ่ายที่สาม เป็นฝ่ายกลางๆ อะไรก็ได้ หรือไม่สนใจอะไรเลย ฝ่ายที่สี่ เห็นดีด้วย เป็นพวกที่ศึกษาตามรู้ ยิ่งชัดขึ้น ยิ่งดีขึ้น ซึ่งก็มีน้อย และอำนาจไม่มีเลย


# ในสังคมเราฝ่ายไหนจะมีมากกว่ากัน ?

- เท่าที่รู้สึก ฝ่ายกลางๆอะไรก็ได้จะมีมาก ฝ่ายกลางๆจะไม่ค่อยใฝ่ธรรม ใฝ่ศึกษาเท่าไรนี่มาก ส่วนฝ่ายที่ศึกษา คือฝ่าย ที่เห็นดีด้วยก็เอา ไม่เห็นดีก็ไม่เอา ติดตามศึกษาอยู่ ฝ่ายนี้ ก็คงมีเป็นรอง แต่ฝ่ายที่บอกว่า ข้าจะค้านเอง ยึดมั่นปักหลักต้าน เอ็งอย่าแหยม อะไรออกมา แม้นิดหน่อย พอได้ฟังข่าวอะไรมาปั๊บ ข้าเป็นค้านเป็นต้านเอ็ง ก็คงมีน้อย พวกนี้ ก็จะติดตาม เหมือนกัน แต่ไม่ศึกษา หรือศึกษาแต่ไม่รู้สัจจะ ฉะนั้นฝ่ายที่จะมีมาก น่าจะเป็นฝ่ายกลางๆ ฝ่ายไม่เอาอ่าว แต่ก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็น "อเทวนิยม" ซึ่งเป็นศาสนาที่ต้องมีปัญญาอย่างสำคัญยิ่ง ไม่ใช่ศาสนาที่เอาความศรัทธา เอาแต่เชื่อ นำหน้า หรือยิ่งผู้ที่เชื่อ อย่างใด ก็ดำดิ่งปักมั่น อยู่แต่ที่ตนเชื่อ อยู่อย่างเดิม จะมีอะไรแปลกอะไรใหม่ หรืออะไร แตกต่างขึ้นมา ก็รับไม่ได้หรือไม่ยอมรับ ไม่ศึกษาเสียบ้างเลย ผู้นั้นก็คือ คนเดิม เท่าเดิม ดีก็ดีเท่าเดิม และมืด ก็จะเท่าเดิม แต่กว้าง จะไม่เพิ่มขึ้น ผู้ได้อ่านหนังสือเล่มใหม่นี้ ก็จะหูตากว้างเพิ่มขึ้นแน่ เพราะเปิดเผยสัจจะ ล้วงลึกธรรมะออกมาเปิดเผย มากมาย หลากหลายยิ่งๆขึ้น

# ในการเปิดเผยข้อธรรมะแต่ละเรื่อง พ่อท่านได้ใช้วิจารณญาณอย่างไร ?

- ต้องดูจังหวะเวลา ถ้าจังหวะผิดก็ไม่ดี ต้องดูจังหวะที่เหมาะสมหลายๆอย่าง ขณะนี้ที่เราเปิดเผย หรือทำอะไรออกมาแล้ว ในช่วงนี้ได้ ก็เพราะเราได้พิสูจน์ความจริง ยืนยันความจริงได้ เพิ่มมากขึ้นๆมาเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อน พูดอย่างนี้ทำอย่างนี้ หรือ เปิดอย่างนี้ ไม่ได้หรอก เขาเอาตาย ตอนนี้มีหลายอย่าง ที่พูดได้พอสมควร แม้จะมีบ้าง ที่บางคน -ฟังแล้วขัดเคือง แต่ก็ยัง เบาบางลง มีน้อยไม่เหมือนเมื่อก่อน


"สัปปุริสธรรม" คือสุดยอดวิชาของพุทธ
ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ
และนำพาศาสนา ผ่านกาลเวลากว่า ๒ พันปี อย่างราบรื่น งดงาม

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๑ มีนาคม ๒๕๔๘ -