พระสารีบุตรเถระ

เป็นสาวกเลิศสุดด้วยปัญญา
ไร้ระอากล่าวธรรมพร่ำสั่งสอน
ยังธรรมจักรแล่นไปไม่สั่นคลอน
ใครค้านถอนจักรนี้มิได้เลย.

ในยุคสมัยของ พระพุทธเจ้าองค์สมณโคดมนั้น พระสารีบุตรเถระ ได้ถือกำเนิดจาก สกุลพราหมณ์ ที่หมู่บ้าน นาลกะ ซึ่งอยู่ไม่ห่าง นครราชคฤห์ ในแคว้นมคธ มีชื่อว่า อุปติสสะ เป็นบุตร ของหัวหน้าหมู่บ้านนั้น บิดาชื่อ วังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อ สารีพราหมณี มีน้องชาย ๓ คนชื่อ จุนทะ อุปเสนะ เรวตะ มีน้องหญิง ๓ คนชื่อ จาลา อุปจาลา สีสุปจาลา (ซึ่งภายหลัง น้องๆทั้งหมด ได้บวชอยู่ใน พุทธศาสนา) และมีเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ (คือ พระโมคคัลลานะ นั่นเอง)

อุปติสสะ กับ โกลิตะ เป็นสหายกันมา ตั้งแต่ยังเล็กอยู่ เพราะสกุลทั้งสอง สนิทสนมกันมา สืบเนื่องยาวนาน นับได้ ๗ ชั่วสกุล เลยทีเดียว ทั้งสองเติบโต มีบริวาร มากมาย ครั้นสำเร็จ การศึกษาแล้ว ก็ไปไหนมาไหน ร่วมกันเสมอ

วันหนึ่ง ไปเที่ยวดูมหรสพด้วยกัน พบเห็นมหาชน พากันสนุกสนานรื่นเริง ลุ่มหลงจมอยู่กับ ความบันเทิง ทั้งสอง จึงบังเกิด ความสังเวช (เกิดสำนึกดี จากความรู้สึก สลดใจ ในสิ่งที่ไม่ดี) ขึ้นมาว่า

"ผู้คนทั้งหมดนี้ มัวลุ่มหลงเพลิดเพลินอยู่ ทั้งที่อายุสั้นนัก ไม่ถึงร้อยปี ก็ต้องเข้าสู่ ปากแห่งความตายแล้ว"

ทั้งสองจึงตกลงใจร่วมกันว่า
"พวกเราควรจะแสวงหา โมกขธรรม (ธรรมที่ทำให้หลุดพ้น จากกิเลส) และการที่จะแสวงหา โมกขธรรม ก็ควรที่พวกเรา จะออกบวช"

ดังนั้นทั้งสอง จึงละทิ้งทรัพย์สินบ้านเรือน ประมาณ ๕๐ โกฏิ (๕๐๐ ล้านบาท) แล้วออกบวชเป็น ปริพาชก (นักบวช พวกหนึ่ง ในชมพูทวีป ชอบสัญจร ไปที่ต่างๆ เพื่อแสดงทรรศนะ ปรัชญา ทางศาสนาของตน) อยู่ในสำนักของ สญชัยปริพาชก บวชพร้อมกับ พวกมาณพอีก ๕๐๐ คน ทำให้สญชัยปริพาชก กลายเป็น ผู้เลิศด้วย ลาภและยศ ภายในนครราชคฤห ์ขึ้นมาทันที

ทั้งสองศึกษาเล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท (คัมภีร์ศักดิ์สิทธ ิ์สูงสุดของพราหมณ์) ภายใน ๓ วันเท่านั้น แล้วมองเห็นว่า
"ไม่มีสาระพอ เพื่อทำให้หลุดพ้น จากกิเลสได้"
จึงออกเที่ยวไป ถามปัญหา เหล่าบัณฑิตทั้งหลาย แต่แทนที่จะได้รับ การแก้ปัญหา ทั้งสองกลับต้องตอบ แก้ปัญหา เสียเอง ไม่พบบัณฑิต ที่จะช่วยตอบปัญหาให้ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงตั้งกติกาตกลงกันไว้ว่า
"ต่างช่วยกันไปแสวงหา โมกขธรรม แต่หากผู้ใดในพวกเร าได้พบอมตธรรมก่อน ผู้นั้นจงมาบอก ให้อีกคนรับรู้"
แล้วแยกย้ายกันไป ค้นหาโมกขธรรม

เช้าวันหนึ่ง ขณะที่พระอัสสชิเถระ บิณฑบาต อยู่ในนครราชคฤห์ อุปติสสปริพาชก ได้พบเห็นพระเถระ มีมรรยาท ก้าวไป ถอยกลับ คู้แขน เหยียดแขน แลเหลียว นัยน์ตาทอดลง ถึงพร้อมด้วย อิริยาบถ น่าเลื่อมใส จึงเกิด ความคิดขึ้นว่า

"ในบรรดาพระอรหันต์ หรือผู้ได้อรหัตตมรรค (ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็น พระอรหันต์) ในโลก ภิกษุรูปนี้ คงเป็น ผู้ใดผู้หนึ่ง แน่แท้ เราจะสอบถามท่าน"

แล้วจึงติดตามไปข้างหลังภิกษุนั้น รอคอยโอกาสที่จะถาม ครั้นสบโอกาส ที่พระอัสสชิเถระ บิณฑบาตกลับ ได้เข้าไปหา พูดจาปราศรัย ทักทายพอสมควร แล้วไถ่ถามว่า

"กายของท่านผ่องใส ผิวพรรณก็บริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชกับใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจ ธรรมของใครกัน"

"พระมหาสมณะศากยบุตร เสด็จออกผนวช จากศากยตระกูล เราบวชกับ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ท่านเป็น ศาสดาของเรา เราชอบใจในธรรม ของพระองค์"

"ก็พระศาสดาของท่าน สอนอย่างไร แนะนำอย่างไร"

"เราเป็นภิกษุใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรม แก่ท่านกว้างขวาง แต่จะกล่าวใจความ แก่ท่าน โดยย่อ"

"น้อยหรือมาก นิมนต์กล่าวเถิด ท่านจงกล่าวแต่ใจความ ข้าพเจ้าต้องการ ใจความ อย่างเดียวเท่านั้น จะกล่าว อย่างอื่น ให้มากไปทำไม"

"ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง พระมหาสมณะ ทรงสั่งสอนอย่างนี้.....ธรรม(สภาวะ)เหล่าใด เกิดแต่เหตุ พระตถาคต ทรงแสดงเหตุแห่งธรรม (สภาวะ) เหล่านั้น และแสดงความดับ ของธรรม(สภาวะ) เหล่านั้น"

ได้ฟังธรรมเพียงเท่านี้ ดวงตาเห็นธรรม ได้เกิดขึ้นแก ่อุปติสสปริพาชก ทันทีว่า
"สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด มีความดับไปเป็นธรรมดา"

บังเกิดปีติแรงกล้า ด้วยศรัทธาอย่างยิ่ง จึงถามพระเถระอีก
"พระศาสดาของพวกเรา ประทับอยู่ที่ไหนเล่า"
"ที่ป่าไผ่เวฬุวัน นี้เอง"
"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงล่วงหน้า ไปก่อนเถิด ผมจะไปบอกแก่สหาย เพื่อพาไปด้วย"

จากนั้นอุปติสสปริพาชก จึงกลับไปบอกข่าว แก่สหาย เพียงแค่ได้ฟัง การบอกเล่าเท่านั้น ดวงตาเห็นธรรม ก็บังเกิดแก่ โกลิตปริพาชก ในทันที รีบชักชวนขึ้นว่า

"พวกเราพากันไป สู่สำนักของ พระผู้มีพระภาคเจ้ากันเถิด เพราะพระองค ์เป็นพระศาสดาของพวกเรา"

แล้วทั้งสอง จึงไปกล่าวลากับ สญชัยปริพาชก แต่ถูกห้ามไว้ว่า
"อย่าเลย พวกท่านอย่าไปเลย เราทั้ง ๓ คน น่าจะช่วยกัน บริหารหมู่คณะนี้"

แม้สญชัยปริพาชก จะห้ามปรามถึง ๓ ครั้ง แต่ทั้งอุปติสสะ และโกลิตะ ก็ยังคงยืนยันอย่างเดิม มุ่งสู่พระวิหาร เวฬุวัน พร้อมกับ ปริพาชกอีก ๒๕๐ คน ที่ปรารถนา ติดตามไปด้วย เพราะเหตุนี้เอง ทำให้สญชัยปริพาชก เสียใจยิ่งนัก ถึงกับกระอักเลือด ออกจากปาก เลยทีเดียว

ณ พระวิหารเวฬุวัน พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทอดพระเนตรเห็น ปริพาชกทั้งหมด มาแต่ไกล จึงได้ตรัสกับ ภิกษุทั้งหลาย ในที่นั้นว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สหายสองคนนั้นคือ อุปติสสะ กับ โกลิตะ กำลังมานั่น ทั้งสองจะเป็น คู่สาวกของเรา จะเป็นคู่ที่เจริญ ชั้นเยี่ยมของเรา"

เมื่อปริพาชกทั้งหมด ได้เข้าเฝ้าพระศาสดาแล้ว ก็ขอบวช พระองค์ก็ทรงกล่าวอนุญาต

"พวกเธอจงเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย ์(อริยมรรค- องค์ ๘) เพื่อทำที่สุดทุกข ์ได้โดยถูกตรงเถิด"

พระวาจานี้ของพระองค์ เป็นการบวชให้แก่ ปริพาชกทั้งหมด ได้เป็นภิกษุ ในทันทีนั้น เมื่อบวชแล้ว อุปติสสปริพาชก ได้ฉายาใหม่ว่า สารีบุตร เพราะมีมารดาชื่อ สาร

บวชเป็นภิกษุได้ ๑๕ วัน ภิกษุสารีบุตร ได้ฟังธรรมเทศนา ของพระศาสดา ที่ทรงแสดงแก่ ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ญาณ (ความรู้แจ้ง ในสัจธรรม) บารมีบังเกิดขึ้น ได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่ง มีคุณวิเศษ เหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ กระทำกิเลส หมดสิ้นแล้ว กิจของ พระพุทธศาสนา ได้กระทำจบแล้ว

ถึงแม้จะเป็น พระอรหันต์แล้ว แต่พระสารีบุตรเถระ ยังเป็นผู้มีความกตัญญูสูง ท่านจะระลึกเสมอว่า
"เพราะเห็นท่าน อัสสชิก่อน พระอัสสชิเถระ เป็นอาจารย์ของเรา เราเป็นศิษย์ของท่าน อาจารย์ของเรา พำนักอยู่ ในทิศใด เราจะนอน หันศีรษะ ไปทางทิศนั้น เพื่อเคารพบูชาท่าน ไว้เหนือศีรษะของเรา"

พระสารีบุตรเถระ เป็นกำลังสำคัญของ พระพุทธเจ้า ในการประกาศ เผยแพร่ธรรม ของพระพุทธศาสนา จนได้รับยกย่อง เป็น พระธรรมเสนาบดี มีคำสอนเอาไว้ มากมาย กระทำประโยชน์ แก่หมู่มหาชน เป็นอย่างยิ่ง ได้สอน ข้อประพฤติต่างๆ ได้แก่

"ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล สงบระงับ มีสติ มีความดำริถูกตรง ไม่ประมาท ยินดีในกรรมฐานภาวนา (วิธีปฏิบัติ ลดละกิเลส อย่างเหมาะสม กับฐานะ จนกระทั่ง เกิดผลสำเร็จ) มีใจมั่นคง อย่างยิ่ง อยู่ผู้เดียว (ประพฤติพรหมจรรย์) ยินดีด้วยปัจจัย ตามมีตามได้ ปราชญ์ทั้งหลาย เรียกผู้นั้นว่า ภิกษุ (ผู้เห็นภัยในการ เวียนว่ายตายเกิด)

เมื่อบริโภคอาหาร จะเป็นของสด หรือของแห้งก็ตาม ไม่ควรติดใจ จนเกินไป ควรเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหาร พอประมาณ มีสติอยู่ หากบริโภคอาหาร ยังอีก ๔-๕ คำจะอิ่ม ควรงดเสีย แล้วดื่มน้ำ เป็นการสมควร เพื่อความอยู่สบาย ของผู้มีใจเด็ดเดี่ยว

ผู้ใดพิจารณาเห็นสุข โดยความเป็นทุกข์ พิจารณาเห็นทุกข ์โดยความเป็นลูกศร (กิเลส) ปักอยู่ที่ร่าง แล้วไม่มี ความถือมั่น ว่า เป็นตัวเป็นตนใน อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึก ไม่สุขไม่ทุกข์) ผู้นั้นจะพึงติดอยู่ในโลก ได้อย่างไร ด้วยกิเลสอะไรเล่า

ผู้ใดประกอบด้วย ธรรมเครื่องเนิ่นช้า ยินดีในธรรมเครื่องเนิ่นช้า ผู้นั้นย่อม พลาดนิพพาน (ดับกิเลส สิ้นเกลี้ยง) อันเป็น ธรรม เกษมจากโยคะ (กิเลสที่ผูกใจให้ติดอยู่ใน กาม -ภพ-ทิฏฐิ-อวิชชา)

บุคคลควรเห็น ท่านผู้มีปัญญาชี้โทษ มีปกติกล่าวข่มขี่ เหมือนเป็นผู้บอก ขุมทรัพย์ให้ ควรคบบัณฑิต เช่นนั้น เพราะว่า เมื่อคบกับบัณฑิต เช่นนั้น ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีชั่วเลย ปราชญ์ (ผู้มีปัญญารู้แจ้ง) จึงสั่งสอน และห้ามผู้อื่น จากธรรม ที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ (คนที่มีสัมมาทิฏฐิ) แต่บุคคลเช่นนี้ ย่อมเป็นที่รักใคร่ ของสัตบุรุษ เท่านั้น ไม่เป็นที่รักใคร่ ของอสัตบุรุษ (คนที่มีมิจฉาทิฏฐิ)

เราไม่ยินดีต่อ ความตายและชีวิต เราเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ จะละทิ้งร่างกายนี้ไป รอคอยเวลาตายอยู่ เหมือนลูกจ้าง รอให้หมด เวลาทำงาน ฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญ (เพิ่มพูน) แต่สัมมาปฏิบัติเถิด ขอจงอย่าได ้ปฏิบัติผิด พินาศเสียเลย

ขณะ(เวลา) อย่าได้ล่วงเลย ท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะผู้มีขณะ อันล่วงเลยไปเสียแล้ว ต้องพากันไป เศร้าโศก ยัดเยียด อยู่ในนรก

ฉะนั้น ผู้สงบระงับ ละเว้น กองกิเลสทุกข์ ที่เป็นเหตุทำให้เกิด ความคับแค้น แล้วมีใจผ่องใส ไม่ขุ่นมัว มีศีลงาม เป็นนักปราชญ์ พึงทำที่สุด แห่งทุกข์ได้"

อีกทั้งพระศาสดา ทรงยกย่อง พระสารีบุตรเถระ ว่าเป็นยอด ในการเผยแพร่ธรรม ได้ตรัสไว้ว่า
"สารีบุตรอยู่ในธรรมวินัยนี้ ๑. เป็นผู้รู้จักผล ๒. เป็นผู้รู้จักเหตุ ๓. เป็นผู้รู้จักประมาณ ๔. เป็นผู้รู้จักกาล ๕. เป็นผู้รู้จัก บริษัท สามารถกระทำ ให้ธรรมจักร ชั้นเยี่ยม ที่เราตถาคต ให้เป็นไปแล้ว ได้เป็นไปตามโดย ถูกตรง ธรรมจักรนั้น ย่อมเป็นจักร ที่สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆในโลก จะคัดค้านไม่ได้เลย"

และทรงยกย่อง ในการเจรจาแก้ปัญหา ของพระสารีบุตรเถระ เพราะมีคุณสมบัติเป็นเลิศ ในการเป็นทูต ทรงแสดงไว้ว่า

"สารีบุตร เป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ ควรอย่างยิ่ง ในการทำหน้าที่ทูต คือ
๑. สารีบุตรรับฟังผู้อื่น ๒. สามารถ ให้ผู้อื่น รับฟัง ๓. กำหนดศึกษาไว้ดี ๔. ทรงจำไว้ดี ๕. รู้เข้าใจ เนื้อความชัด ๖. สามารถให้ผู้อื่น เข้าใจ เนื้อความชัด ๗. ฉลาดในประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ ๘. ไม่ก่อความทะเลาะวิวาท"

ก็ด้วยความมีปัญญายอดเยี่ยม เลิศกว่าสาวก ทั้งปวงนี้เอง พระศาสดา ทรงยกย่อง พระสารีบุตรเถระ ไว้ในตำแหน่ง พระอัครสาวก ฝ่ายขวา เพราะนับเม็ดทราย ในแม่น้ำคงคา ยังอาจ นับถึงที่สุดได้ แต่ที่สุด แห่งปัญญา ของพระสารีบุตรเถระ นั้นหามีไม่

วันคืนผ่านไป เมื่อถึงเวลา ๖ เดือน ก่อนที่พระพุทธเจ้า จะทรงปรินิพพานนั้น พระสารีบุตรเถระ ได้ตรวจดูอายุสังขาร ของตน แล้วทราบว่า

"อีก ๗ วันเท่านั้น เราจะปรินิพพานแล้วหนอ"

ดังนั้น จึงเกิดความปรารถนา ตอบแทนคุณมารดา ให้ถึงที่สุด ด้วยความคิดว่า

"มารดาของเรา มีบุตรธิดา ๗ คนออกบวช จะได้เป็นมารดาของ พระอรหันต์ถึง ๗ องค์ แต่ยังมิจฉาทิฏฐิอยู่ ไม่เลื่อมใส ในพระพุทธ -พระธรรม -พระสงฆ์ เราควรไปเปลื้อง ความเห็นผิด ของมารดาเสีย แล้วจึงปรินิพพาน"

ตกลงใจแล้ว ได้ไปเข้าเฝ้า พระศาสดา กราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุญาต นี้เป็นกาลปรินิพพาน ของข้าพระองค์ อายุสังขาร ข้าพระองค์ปลงแล้ว"

"เธอจะปรินิพพานที่ไหนเล่า"

"ข้าพระองค์ จะไปปรินิพพาน ในห้องที่ข้าพระองค์เกิด ในหมู่บ้านนาลกะ ของแคว้นมคธ พระเจ้าข้า นี้เป็นการ ไปไม่กลับ ของข้าพระองค์แล้ว นับกาลที่ผ่านมา หากกระทำ สิ่งใด ให้พระองค์ ไม่พอพระทัย โทษใดๆ ของข้าพระองค์ ที่เป็นไป ทางกาย หรือวาจา ขอพระองค์ ทรงอดโทษ นั้นด้วยเถิด"

"สารีบุตร เราอดโทษต่อเธอ โทษใดๆของเธอ ที่ไม่ชอบใจเรานั้น ไม่มีเลย สารีบุตร บัดนี้เธอจงสำคัญ ในกาลอันควรเถิด"

พระสารีบุตรเถระ จึงถวายบังคมพระบาท ของพระศาสดา แล้วมุ่งสู่หมู่บ้าน นาลกะ ตลอดทางนั้น ชาวบ้าน ชาวเมือง รู้ข่าวการจะปรินิพพาน ของพระอัครสาวก พากันติดตาม มากราบไหว้ สักการะ แล้วคร่ำครวญ อาลัยอาวรณ์ ตลอดทาง จนพระเถระ ต้องกล่าวสอน

"ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ขึ้นชื่อว่า สังขารทั้งหลายนั้น ย่อมแตกสลาย เป็นธรรมดา ขอพวกท่าน จงกลับไปเถิด"

แล้วพระเถระ ก็เดินทางไปกับหมู่ภิกษุ ที่เป็นลูกศิษย์ ๕๐๐ รูป ถึงหมู่บ้านนาลกะ ในวันที่ ๗ พระเถระ ได้พัก อยู่ที่ห้อง ซึ่งมารดา คลอดท่านออกมา เย็นวันนั้น อาพาธหนัก เกิดขึ้นแก่ท่าน ทุกขเวทนาแรงกล้า ด้วยปักขันทิกาพาธ (โรคบิด ท้องร่วง) ถ่ายเป็นเลือด

เมื่อมารดามาเยี่ยม พระสารีบุตรเถระ จึงแสดงธรรมโปรดมารดา ให้พ้นจากมิจฉาทิฏฐิ เกิดดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุมรรคผล เป็น พระโสดาบัน ณ ที่ตรงนั้นเอง

ครั้นใกล้เวลา จะปรินิพพานแล้ว ได้บอกสามเณรจุนทะ (น้องชายของ พระสารีบุตร) ให้ประคองท่านนั่ง เพื่อกล่าวกับหมู่สงฆ์ ในที่นั้น

"พวกท่านทั้งหลาย เที่ยวไปกับผม ตลอด ๔๔ ปี กรรมใดของผม ทั้งทางกายทั้งวาจา ก็ตาม หากทำให้พวกท่าน ไม่ชอบใจ ขอให้พวกท่าน อดโทษแก่ผมด้วย"

ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินเช่นนั้น ต่างก็พากันตอบว่า
"พวกผมติดตามอาจารย์เที่ยวไป ดุจเป็นเงาของท่าน สิ่งที่ไม่น่าพอใจ ทั้งหลาย ไม่มีแก่ พวกผมเลย มีแต่ต้องให้อาจารย์ ช่วยอดโทษ ให้แก่พวกผม ต่างหากเล่า"

แล้วพระอัครสาวก ก็ปรินิพพาน ในห้องที่เกิดนั้น ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ หลังจากปลงศพแล้ว สามเณรจุนทะ ได้นำเอา บาตร และจีวร ของพระสารีบุตรเถระ กลับไปเข้าเฝ้า พระศาสดา เพื่อแจ้งข่าว ให้ทรงทราบ โดยมีพระอานนท์ กราบทูลถวายว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามเณรจุนทะ ได้แจ้งบอกอย่างนี้ว่า พระสารีบุตรเถระ ปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวร ของท่าน ข่าวนี้ ทำให้กาย ของข้าพระองค์ ประหนึ่ง จะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลาย ก็มืดมน แม้ธรรม ก็ไม่แจ่มแจ้ง แก่ข้าพระองค์เลย"

"ดูก่อนอานนท์ สารีบุตร ได้เอากองศีล กองสมาธิ กองปัญญา กองวิมุตติ กองวิมุตติญาณทัสสนะ ปรินิพพาน ไปด้วยหรือ?"

"หามิได้ พระเจ้าข้า ก็แต่ว่า ท่านพระสารีบุตร เป็นผู้กล่าวแสดง ให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ไม่เกียจคร้าน ในการแสดงธรรม อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจารี ทั้งหลาย ข้าพระองค์ ระลึกถึง โอชะแห่งธรรม สมบัติแห่งธรรม และการอนุเคราะห์ ด้วยธรรมนั้น ของท่าน พระเจ้าข้า"

"ดูก่อนอานนท์ เราได้บอกเธอทั้งหลาย ไว้ก่อนแล้ว มิใช่หรือ ว่าจะต้องมีความจาก ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรัก ของชอบใจ ทั้งสิ้น ฉะนั้น จะพึงได้ในของรัก ของชอบใจนี้ จากที่ไหน สิ่งใด เกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลาย เป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้น อย่าทำลายไปเลย นี่มิใช่ฐานะ ที่จะมีได้

เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่งอยู่เถิด

ภิกษุพวกใด กระทำได้ดังนี้ ไม่ว่าจะเป็น บัดนี้ก็ตาม ในกาลที่เรา ล่วงไปแล้วก็ตาม ภิกษุเหล่านี้ ที่เป็นผู้ใคร่ ต่อการศึกษา ย่อมจะเป็นภิกษุผู้เลิศ"

ตรัสแล้ว ทรงให้ก่อสถูป บรรจุอัฐิธาตุ ของพระสารีบุตรไว้ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี ในแคว้นโกศล.

ณวมพุทธ
อังคาร ๒๙ มี.ค. ๒๕๔๘
(พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๖๔
พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๓๙๙
พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ ข้อ ๗๓๓
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๑๓๒
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๙๖
พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๓
อรรถกถาแปลเล่ม ๓๐ หน้า ๔๒๓
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๓ หน้า ๒๒๙
อรรถกถาแปลเล่ม ๗๐ หน้า ๓๙๙)

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๑ มีนาคม ๒๕๔๘ -