- กอไผ่ -

อาหารคลายเครียด
ในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเมือง เราถูกกระตุ้นให้เครียดจากสถานการณ์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจราจรที่ติดขัด ปัญหาการทำงาน หรือ ในครอบครัว นอกจาก สถานการณ์ บีบคั้นเหล่านี้ เรายังเพิ่มความเครียดของตนเองโดยการกินอาหารกระตุ้นความเครียดอย่างรู้ตัวและไม่รู้ตัว

เพื่อให้สามารถ หลีกเลี่ยง อาหารเพิ่มความเครียด และใช้ประโยชน์จากอาหารลดความเครียด เราจึงควรจะได้รู้ถึงอาหารเพิ่มความเครียดและอาหารลดความเครียดกันบ้าง

อาหารเพิ่มความเครียด เป็นอาหารที่ให้แคลลอรี่ล้วนๆ สารอาหารที่ได้จากอาหารเหล่านี้จะถูกเก็บสะสมไว้ตามส่วนต่างๆของร่างกาย เป็นน้ำหนักส่วนเกิน ที่ทำให้ทุกระบบ เกิดความเครียด อาหารที่เพิ่มความเครียด ได้แก่

*** คาเฟอีน มีอยู่ในชา กาแฟ ชอกโกแล็ต โกโก้ เครื่องดื่มจำพวกโคคา-โคลา การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้มากๆ อาจก่อให้เกิดความเครียด ปวดศีรษะ ใจสั่น หงุดหงิด ตื่นเต้น ตกใจง่าย หัวใจเต้นเร็ว

*** น้ำตาล การกินน้ำตาลจำนวนมาก ตับอ่อนจะต้องสร้างอินซูลินจำนวนมาก เพื่อกดระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลงสู่ปกติ หากเป็นเช่นนี้ตลอดไป ก็จะทำให้ตับอ่อน ทำงานผิดพลาด และเกิดอาการของเบาหวานได้ การมีปริมาณของ อินซูลินจำนวนมากอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกะทันหัน ก่อให้เกิดอาการ กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เครียด มึนงง ไม่มีแรง กังวล ซึมเศร้า ปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

*** แอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบียร์ ทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกผ่อนคลายได้อย่างรวดเร็ว แต่หากได้รับมากเกินไป จะทำให้ความสามารถทนต่อความเครียดลดลง การตัดสินใจไม่ดี สมองทำงาน ไม่สมบูรณ์ อวัยวะต่างๆทำงานไม่ประสานกัน หดหู่

*** เกลือ การได้รับเกลือมากเกินไปอาจทำให้ตื่นเต้น หงุดหงิด กระตุ้นความเครียดและความดันโลหิตสูงขึ้น ถ้าความดันโลหิตสูงบวกกับความเครียดมากๆ อาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก หรือเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้

*** เครื่องเทศรสเผ็ดร้อน เช่น พริกไทย ขิง ข่า กระชาย


อาหารคลายเครียด มีสารอาหารหลายชนิดที่สามารถลดความเครียด
*** ทริปโตฟาน เป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยทริปโตฟานสามารถเปลี่ยนเป็นสารเคมีในสมองที่เรียกว่าซีโรโทนิน ถ้าระดับของซีโรโทนินเพิ่มขึ้นจะรู้สึกผ่อนคลายเป็นสุข ลดความเจ็บปวด และผ่อนคลายกล้ามเนื้อ แต่ถ้าระดับซีโรโทนินลดลงอาจเกิดอาการหงุดหงิด และซึมเศร้า ทริปโตฟานมีมากในไข่ ถั่วเหลือง นมวัว เนื้อสัตว์

*** วิตามินบี ๓ ช่วยลดความหงุดหงิดกระวนกระวายใจ ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและระบบประสาท และเป็นยานอนหลับอ่อนๆได้ด้วย อาหารที่มีวิตามินบี ๓ ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง ยีสต์ ผักสีเขียวและเหลือง รำข้าว

*** วิตามินบี ๖ จำเป็นในการสร้างสารซีโรโทนินในสมอง ถ้าปริมาณวิตามินบี ๖ ในร่างกายต่ำกว่าปกติ อาจทำให้มีอาการเครียดเป็นๆหายๆได้ วิตามินบี ๖ มีมากในอาหารจำพวกธัญพืช เช่น ถั่วเขียว ลูกเดือย ข้าวกล้อง ข้าวโพด น้ำนม ผักกาดขาว แคนตาลูป

*** วิตามินบี ๑ ช่วยให้มีสมาธิ จิตใจสงบ บำรุงประสาท แก้อาการหลงลืม ความจำเสื่อม มีมากในอาหารจำพวกข้าว ถั่ว นมสด เมล็ดทานตะวัน ผักต่างๆ ยีสต์ กระเทียม

*** วิตามินซี ในภาวะที่เกิดอาการเครียด ร่างกายจะต้องการวิตามินซีมากเพื่อให้ต่อมหมวกไตทำงานได้ตามปกติ วิตามินซีมีมากในผัก เช่น ผักจำพวกถั่ว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักบุ้ง ผักชี คะน้า แตงกวา หัวหอม ผักกระเฉด ผักกาดขาว และในผลไม้ เช่น ฝรั่ง สับปะรด ส้ม มะเขือเทศ มะขามเทศ มะขามป้อม ชมพู่ แตงโม และมะเฟือง

*** แคลเซียม ถ้าขาดจะทำให้จิตใจไม่สงบ มีมากในนมสด ขนมปัง ถั่วลิสง มันฝรั่ง ขึ้นช่าย ใบกะเพรา ใบชะพลู สะระแหน่ คะน้า ถั่วเหลือง

*** แมกนีเซียม มีความสำคัญต่อการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ถ้าขาดจะทำให้มีอารมณ์โกรธง่าย วิตกกังวลและหดหู่ มีมากในผลิตภัณฑ์จากนม ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวโพด จมูกข้าวสาลี เมล็ดพืช เช่น ถั่วลิสง มะม่วงหิมพานต์ งา ผักสีเขียวจัด ผลไม้เปลือกแข็งให้แมกนีเซียมสูง

*** สังกะสี มีในเมล็ดพืช ถั่วเปลือกแข็ง เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ยีสต์ ธัญพืช
*** แมงกานีส มีในถั่วทุกชนิด สาหร่าย ธัญพืช สับปะรด และผักใบเขียว

ข้อมูลจาก ศูนย์สุขภาพจิต ๑ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๑ มีนาคม ๒๕๔๘ -