สิบห้านาทีกับพ่อท่าน - ทีม สมอ. -


งานคือชีวิต
ชีวิตคืองาน บันดาลสุข
สุขในที่นี้ มีทั้งที่เป็นโลกียสุขกับโลกุตรสุข "โลกียสุข" ได้มาจากงานที่ทำแล้วมีค่าตอบแทน อาจเป็นเม็ดเงิน จำนวน มากน้อยก็ตามแต่ งานในนัยนี้จึงเป็นไปเพื่อเงิน คนส่วนใหญ่ ยอมลำบากยอมแลกกับทุกสิ่ง ให้เงิน มีความหมาย เปรียบดัง พระเจ้าผู้บันดาลทุกสิ่ง ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับสุขแบบโลกุตระ ซึ่งอาศัย งานเป็นตัวนำพา เช่นกัน ดังงาน เพื่อฟ้าดิน ที่เราจัดขึ้นมาปีนี้เป็นครั้งที่ ๑๒ แล้ว ก็เป็นอีกตัวอย่าง ย้ำยืนยันความสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์

จากบทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ เล่าถึงบรรยากาศในงานเพื่อฟ้าดิน และคำสอน ติงเตือน พวกเรา ถึงลาภ ยศ สรรเสริญ อันตรายอันแสบเผ็ด แม้พระขีณาสพ ในยุคของ อโศกเพื่อการงาน

# งาน พฟด. มีวัตถุประสงค์อย่างไร ?
- การจัดงาน พฟด. เราจัดขึ้นก่อนเกิดพรรคเพื่อฟ้าดิน จุดมุ่งหมายแรกก็เพื่อจะส่งเสริม การทำกสิกรรม ไร้สารพิษ ซึ่งอาตมาพยายามปลุกเร้าให้พวกทำ ๓ อาชีพกู้ชาติ จนกระทั่ง จะต้องมีวิธีการตามที่เราจัดไว้ เราก็ต้อง ระดมคน จัดการอบรมรวมพล ปลุกเร้าเข้าไป ตามวิธีการ ของสังคม จะเรียกสัมมนา หรือ จะเรียกว่า WORK SHOP หรือ จะเรียกว่า มาอบรม มาฟังบรรยาย มาสอน มาสาธิต อะไรก็ตามใจเถอะ มีวิธีการอย่างไร ที่จะทำให้เกิด การรวม พลังกัน สำหรับคนที่สนใจพัฒนากสิกรรมไร้สารพิษ ที่จะต้อง ใช้ปุ๋ยสะอาด ปุ๋ยอะไร ที่ไม่มีพิษ ไม่มีภัย เราก็พยายาม อาตมาไม่ได้เก่งเรื่องนี้แต่ต้น กสิกรรมทำอย่างไร ปุ๋ยสะอาด คืออย่างไร ขยะวิทยาจะทำอย่างไร อาตมา ไม่ได้เก่งหรอก แต่อาตมารู้ลึกๆ รู้รวมๆ โดยใน รายละเอียด ของหลักวิชาการอะไรพวกนี้ อาตมาไม่เก่งหรอก แต่เก่ง ในเรื่องแก่นๆ แกนๆ สารสัจจะ อะไรพวกนี้จะรู้ ก็ทำออกมา พูดออกมา พยายามชักชวนพวกเรามาทำ เมื่อทำ ไปแล้ว ก็ก่อเกิด อย่างที่ มันเป็น เพราะฉะนั้นเมื่อมันได้ผู้คนได้ตัวปฏิบัติ ได้ตัวนักทฤษฎี หรือนักวิจัยวิเคราะห์อะไรก็แล้วแต่ ก็รวบรวม กันมาจัดงาน ซึ่งก็คืองานกสิกรรมนี่แหละ แต่เราก็ตั้งชื่อให้เพราะๆว่า "งานเพื่อฟ้าดิน" ซึ่งก็หมายความถึง เรื่องกสิกรรม เพื่อทำให้เกิด ดินดี ดินงาม น้ำใส พืชสวยอะไรขึ้นมาให้ได้จริง นี่คือ จุดมุ่งหมาย ของการจัดงาน เพื่อฟ้าดินขึ้น ตั้งแต่ครั้งที่ ๑ จัดที่ปฐมอโศก ไล่มาจนถึงปีนี้ครั้งที่ ๑๒ จัดกัน ปีละครั้ง เราก็จัดขึ้นมา



# ๑๐ กว่าปีที่จัดมา ได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ?

- มันได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์ เกินกว่าที่คิดด้วยซ้ำไป ก็มีคนมารวมมาร่วมจนกระทั่งมี ธ.ก.ส. มาร่วม ให้ทุน จนเกิดการอบรม การสัมมนา เกิดการประเมินผลอะไรต่างๆนานา ขยายกว้างออกไป ทำจนกระทั่ง เป็นเรื่อง เป็นราวขึ้น ถึงวันนี้ มันก็ได้ผล ได้ทั้งตัวงานเอง คือกสิกรรม ไร้สารพิษ มันก็เกิดขึ้นมาแล้ว แม้จะยัง ไม่แข็งแรง ยังไม่เป็นปึก เป็นแผ่น จนกระทั่ง เลิศยอดก็ตาม แต่มันก็ก่อรูปขึ้นมาแล้ว แม้กระทั่ง เรื่อง ปุ๋ยสะอาด เราก็ได้พัฒนา ขึ้นมา แต่ก่อนแต่ไร เราทำปุ๋ยมาหลายนัย ทำมาตั้งแต่ที่ปฐมอโศก สร้างคอก แล้วเอาเศษ ใบไม้ เศษขยะหมัก แล้วเอาปูนทับ บางครั้ง บางคราว เกิดหนอนมากมาย เราก็ทำกันมา สารพัดวิธี จนพัฒนามาทำปุ๋ยที่ผสมจุลินทรีย์ ตอนแรกก็คิดใช้ จุลินทรีย์ EM โดยพวกเราคิดว่า ทำอย่างไร จะได้เชื้อจุลินทรีย์ ที่มีคุณภาพ ก็พยายามจะไปติดต่อที่ญี่ปุ่นแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่ง ได้มิสเตอร์โชว์ มาอธิบายวิธีเพาะเชื้อจุลินทรีย์ และทำมาถึงทุกวันนี้ ขยะเปียก หรือขยะอะไร ที่แปรรูปได้ ก็จะไปหมัก ทำเป็น น้ำหมักชีวภาพ มันก็เลยกลายเป็นวงจรของ ขยะวิทยา ปุ๋ยสะอาด และ กสิกรรม ธรรมชาติ ที่ครบวงจร ทั้ง ๓ อาชีพกู้ชาติ และก็มีส่วน เสริม อะไรอื่นๆเกิดขึ้นมาอีก เกิดทั้งตัวงานกสิกรรม เกิดทั้ง ตัวบุคคล เกิดทั้ง การรวมผู้รู้ รวมผู้ที่เอาใจใส่ รวมผู้ที่เห็นดีเห็นด้วยกันเป็นคณะเป็นปึกแผ่น จนเกิด แม้กระทั่ง ได้อาศัย กินใช้ พอสมควร แม้ยังไม่อุดม สมบูรณ์ทีเดียว ยังไม่เข้าฝัก คือยังไม่เป็น สูตรสำเร็จ ที่แข็งแรง สมบูรณ์ จนกลายเป็น สูตรสุดท้าย แต่ก็ถือว่า ได้ขึ้นมาเยอะแล้ว ที่ถามว่า ตรงตาม เป้าประสงค์ ไหม ตอบได้ว่า ได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์ และได้มาก เกินกว่าที่คิดด้วย ที่กล่าวไว้ ตั้งแต่ต้น

# ปีนี้บรรยากาศต่างจากปีก่อนๆ อย่างไร ?

- ปีนี้มีความพิเศษกว่าปีก่อนมากก็คือ มันเกิดความตื่นตัว เกิดการแพร่หลาย เกิดการยอมรับ จากผู้บริหาร ประเทศ หลายกระทรวงมางาน พฟด. ปีนี้ทางกระทรวงต่างๆติดต่อมาเอง ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย กระทรวง เกษตรนั้น แน่นอนอยู่แล้ว กระทรวงการคลัง ก็เห็นดี เห็นด้วย แม้แต่วงการศึกษา กระทรวง พัฒนาสังคม ก็ดูตื่นตัว กันมาก และก็ได้รับ การยอมรับ อย่างมาก ในผลที่ทำขึ้นมาแล้วเกิดความรู้ กว้างขวาง และก็ปลุกเร้า ให้ผู้ที่สนใจมาเรียนรู้ อันนี้เป็นงานหลักของเรา เพราะงานกสิกรรม มันปลุกไม่ขึ้น มานานแล้ว แม้แต่มหาดไทย ก็มาร่วมรู้ด้วย เออ คนไทย เป็นชาวนากันหลายสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ก่อน พูดถึงตัวเลข ประชากร ๘๐% เป็นชาวนา เดี๋ยวนี้ลดไปเยอะ แต่ถึงอย่างไร ก็คงมากกว่า ๕๐% ที่เป็นชาวนา เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะตั้งหลักหรือเราจะปลูกฝัง ให้คนไทย และสังคมไทยแข็งแรง ก็ต้องแข็งแรง ด้วยอาชีพ ด้วยการงาน ที่เป็นการงานหลักของ ประชากรส่วนใหญ่ เป็นชาวนา ดังกล่าว เพราะฉะนั้น จะเป็นกระทรวง มหาดไทย หรือกระทรวงการคลังก็ตาม ก็ต้องมาดู ส่วนกระทรวงเกษตร เรื่องนี้เป็นเรื่องของเขา โดยตรง อยู่แล้ว แม้แต่รัฐมนตรีเกษตร ก็ไม่มี ปัญหาอะไร ก็แวะมาทั้งๆที่วันงานนั้นมีประชุม ครม.สัญจร ก็ยังมา และรีบขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ไปร่วมงานต่อ ก็แสดงว่ามาร่วม มาสนับสนุนส่งเสริมจริงๆ สิ่งเหล่านี้ แตกต่างจาก ปีก่อนๆ ที่เราทำกันมา ปีนี้เมื่อเทียบกับปีกลาย ซึ่งเราก็ว่าปีกลายทำอะไรเยอะแล้ว ปีนี้กลับมีผู้แสดง ความจำนง ขอเข้ามาร่วม สมทบ ต่างๆนานา มากทีเดียว ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเอาแต่มวล ประชากร ที่เขาฮือฮา เท่านั้น แต่ว่าในรูปของงาน ในรูปที่เรียกว่า พัฒนาไปในแนวลึกเราก็ทำ คือ ไม่เพียงแต่พูดเรื่อง กสิกรรม เท่านั้น แต่กินลึกไปถึงความเป็นอยู่ เศรษฐกิจและการยังชีพ ด้วยเพื่อสร้างหลักฐานของชีวิต ซึ่งเราก็ พยายามย้ำว่า การจะสร้างอาชีพ ทำกสิกรรม ได้ร่ำรวย ถ้าไม่พัฒนาจิตวิญญาณ ไม่พัฒนาศีลธรรม ไปพัฒนา ให้ลดละ สิ่งที่เราไม่รู้เท่าทัน สังคม และก็ถูกหลอก มอมเมา ถึงมีกินมีใช้ รายได้เป็นตัวเงิน มากมายเท่าไรๆ ถ้าไม่เรียนรู้ เรื่องนี้แล้ว มันอยู่ไม่รอด อาตมาเทศน์คราวนี้ ถึงขั้น ใช้คำว่า ทำมา"ห่า"กินหมด มันจะหลง ไปตามสังคมโลกเขาหลอกกันไปหมดเลย มันจะไม่เหลือ เพราะฉะนั้น การจะพัฒนางาน พัฒนาอาชีพ พัฒนาอะไรให้ดีขึ้นก็ตาม เราต้องเลิกในสิ่งที่ควรเลิกก่อน ก็ได้ผลเสริม หลายอัน หลายด้านขึ้นมา ทำให้ชีวิต ของคนตื่นตัวขึ้น ทั้งด้านอาชีพการงานทั้งด้านการดำเนินชีวิต รู้ว่าควรปรับปรุง ชีวิตของตนเอง ให้พัฒนา เจริญขึ้นอย่างไร แทนที่จะเป็นคนจมอยู่ใน โลกโลกีย์ ที่หมุนเวียนตกต่ำ ถูกหลอกจาก คนฉลาดแกมโกงอะไรต่างๆ มันดูดใช้ เอาไป เป็นทาส ปีนี้ก็รู้สึกว่าฟังธรรมกันดี จากการประเมินผล และแสดงความคิดเห็น เขาก็พอใจ ในธรรมะ มากอยู่นะ


# งานภายนอกมากขึ้น เราจะระวังความเสื่อมได้อย่างไร ?

- เราก็ต้องประมาณงาน จะไปตะกละตะกลามไม่ได้หรอก ต้องประมาณงานให้พอเหมาะพอดี พอสม กับแรงงาน ที่เราทำได้ และสมรรถนะที่เราสามารถทำได้ ใครไปทำงานเหนื่อยหนักหนา สาหัส ของตัวเอง เกินไป ทางด้านไหน ก็ตายกัน ทั้งนั้นแหละ

อาตมาว่ามันมีความไม่ค่อยเข้าใจอยู่มั้ง โดยไปเข้าใจว่าการทำงานแล้วมันจะเป็นภัยต่อการ ปฏิบัติธรรม ซึ่งไม่ใช่ การปฏิบัติธรรม กับการงาน มันไม่ได้ค้านแย้งกันเลย ต้องเข้าใจให้ได้ว่า ศาสนาพุทธ เป็นศาสนา แห่ง กัมมันตะ เป็นศาสนา แห่งการงาน เป็นศาสนาที่ต้องทำงาน โดยทำงานไปด้วย แล้วก็ต้อง ฝึกตน ไปด้วย มีสติปัฏฐาน ตลอดเวลา มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ทุกเวลาที่ลมหายใจเข้าออก เรียกว่า อานาปานสติ อานาปานะ แปลว่าลมหายใจ เข้าออก สติ ก็คือต้องมีสติ ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลืมตาโพลงๆ อยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่คุณ มีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก คุณก็รู้จักว่านั่นคือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ของคุณ มีสติแล้วรู้ตัวให้ได้ ตาเห็นรูป จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส หูได้ยินเสียงอะไรต่างๆนานา ก็จะต้องรู้ การกระทบสัมผัสนั้น อ่านรู้ไปถึงวิญญาณ รู้ในจิตวิญญาณ อ่านถึง ในจิตใจ มีธัมมวิจัย จนแยกแยะ ในภายใน ออกไปถึงเวทนาในเวทนา ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัด ถึงวิธี ปฏิบัติเหล่านี้ และเราจะพ้นมิจฉาทิฏฐิได้ โดยเข้าไปเห็นแจ้งรู้จริง ความเป็นของไม่เที่ยง อย่างเป็นปรมัตถธรรม ในจิตวิญญาณ ของเรา จะพ้นสักกายทิฏฐิ ก็ต้องรู้แจ้งเห็นจริง เข้าไปในจิตวิญญาณ ที่เป็นปรมัตถธรรม จริงๆ หรือจะพ้น อัตตานุทิฏฐิ ได้ด้วย การปฏิบัติที่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีจักษุสัมผัส มีโสต มีตัว อายตนะทั้ง ๖ แล้วก็รู้จักลึกไปถึง จิตวิญญาณ รู้ไปถึง ความรู้สึก รู้ไปถึงความรับรู้ที่มีเวทนา ว่ามันจะสุข มันจะทุกข์อย่างไร และเห็น ความไม่เที่ยง ของความสุข ความทุกข์ ในจิตวิญญาณ เห็นเหตุของสุข ของทุกข์ ด้วยวิชชา จริงๆก็จะต้องเรียนรู้เจาะไปจนกระทั่งถึงอาริยสัจ ๔ รู้ในสักกายทิฏฐิสูตร ต้องเห็น ทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ให้ได้ คือตัณหา แล้วก็ต้องมีวิธีการ ดับตัณหาให้ได้ ถึงจะลด สักกายะได้ และลดอัตตา จนดับอัตตา เป็นอนัตตาสุดท้าย

ใน ๓ พระสูตร มิจฉาทิฏฐิสูตร-สักกายทิฏฐิสูตร-อัตตานุทิฏฐิสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงแจกแจง การจะรู้จัก รู้แจ้ง รู้จริง "ไตรลักษณ์ที่เป็นปรมัตถธรรม" อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยความเป็น อนิจจัง โดยความเป็น ทุกขัง โดยความเป็น อนัตตา ในมิจฉาทิฏฐิสูตร ในสักกายทิฏฐิสูตร และก็ในอัตตานุทิฏฐิสูตร จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ ข้อ ๒๕๔ คือ มิจฉาทิฏฐิสูตร ข้อ ๒๕๕ คือ สักกาย-ทิฏฐิสูตร ข้อ ๒๕๖ คือ อัตตานุทิฏฐิสูตร นี่แหละคือวิธีปฏิบัติธรรมของพุทธ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ทำงาน ทำงานปกติ ในชีวิต ประจำวัน มีโพชฌงค์ ๗ และ ปฏิบัติมรรค ทั้ง ๗ องค์ ซึ่งต่างจาก การนั่งเฉยๆ ปฏิบัติธรรม คือนั่งสะกดจิต ทำงานแล้วทำสมาธิ

การปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าตามหลักมรรคองค์ ๘ นั้น ไม่ต้องไปนั่งสะกดจิต จะเดิน ยืน นั่ง นอน ก็มีสติ ทุกลมหายใจเข้าออก โดยมีสัมผัสเป็นปัจจัย ท่านตรัสชัดเจนไว้ใน มิจฉาทิฏฐิสูตร สักกายทิฏฐิสูตร และ อัตตานุทิฏฐิสูตร ท่านตรัสไว้ชัดว่ามีผัสสะเป็นปัจจัย มีการผัสสะ จึงเป็นเหตุ เป็นแบบฝึกหัด สำหรับ การปฏิบัติ การเรียนรู้ แล้วถึงจะรู้ของจริง ถึงจะละได้ การปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า จึงไม่ใช่ต้อง ปลีกตัวไปจากการงาน เพื่อไปนั่ง ทำสมาธิ ไปนั่งหนอ ก้าวหนอ เดินหนอ ย่างหนอ นั่นมันวิธีปฏิบัติ เพื่อตรวจสอบ หรือเพื่อ ฝึกฝนใหม่ๆ ขั้นง่ายๆ โดยสติของเรา มันยังไม่มีเลย แม้แต่ในการก้าว ก็ไม่มี สติสัมโพชฌงค์ ไม่มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ ไม่มีวิริยสัมโพชฌงค์ การเอื้อมก็เช่นกัน การเคลื่อนไหว ก็เช่นกัน ไม่มีโพชฌงค์ ๓ ไม่รู้จักการกินการอยู่ จึงต้องฝึกรู้จัก การช้าๆ มันเป็นบทปฏิบัติของ อนุบาล ของประถม ซึ่งมันก็ถูก ในส่วนหนึ่ง แต่มันเป็นบทต้นๆเท่านั้น เหมือนหัดคัด ก.ไก่ แต่จริงๆแล้ว การปฏิบัติธรรมของ พระพุทธเจ้า ไม่ใช่จะเป็นอย่างนั้น มันจะต้องรู้พร้อมอยู่เสมอ ทุกอิริยาบถ ทุกสัมผัส ที่มี ซึ่งมันก็จะอยู่ ในการงาน ในกัมมันตะ ในอาชีวะโดยเราจะต้องรู้ในมรรคมีองค์ ๘ มีสังกัปปะ-วาจา-กัมมันตะ-อาชีวะ ทุกๆเวลา แล้วก็เรียนรู้การปฏิบัติธรรมมรรค ๗ องค์ อย่างที่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน มหาจัตตารีสกสูตร การปฏิบัติมรรค ทั้ง ๗ องค์นี่แหละ จะเกิด สัมมาสมาธิ ทำให้เกิดอธิจิตสิกขา จิตก็จะเจริญขึ้น เป็นสัมมาสมาธิได้


# แต่งานที่เข้ามามีมาก คนที่ทำงานก็ยังฐานอ่อนอยู่ จึงไม่สามารถจะทำอย่างที่ พ่อท่านสอน คือ การมีสติ อยู่กับงาน ตลอดเวลา

ก็ต้องฝึกไปเรื่อยๆตามลำดับ แต่ต้องฝึกหัดให้อ่านจิตใจให้เป็น อ่านเข้าไปในจิตใจให้ได้ ทุกขณะ ที่อายตนะ ๖ มีต่อ สัมผัสทุกอย่าง มันจะเร็วจะช้าอย่างไร เราก็ต้องฝึกใจฝึก การปฏิบัติ เพื่อที่จะให้จิตของเรา แววไว ให้จิตของเรา ปรับได้ เป็นมุทุภูตธาตุ เป็นธาตุ ที่หัวอ่อน จิตหัวอ่อนที่จะมีทั้งปัญญารู้เร็ว รู้ไว มีทั้งการรู้ เท่าทันจิต เท่าทันกิเลส แล้วก็ปรับจิต ให้มันลดกิเลส ปรับกิเลสให้มันลดในจิตของเราให้ได้เรื่อยๆ


# บางคนทำงานเก่ง ก็ทำเพลิน งานนี้ก็น่าทำ งานโน้นก็ทำ

- อย่าตะกละงาน ก็ต้องตัด ก็ต้องอย่าไปหลงยินดีในงานจนเกินตัวเกินควร ท่านเรียกว่า กัมมรามตา เป็นความยินดี ในการงานอย่างมีกิเลสโลภมากไปเป็นต้น กิเลสในงาน มันไม่เท่าไรหรอก ถ้าคนไม่โลภ ในลาภ -ยศ -สรรเสริญ -สุข แบบโลกีย์ หรือมีอัตตามานะ เกินไป มันไปมุ่งงานที่จะได้เงินได้ทอง ได้โลกธรรม นั่นแหละจะหลง ถ้าคนที่ไม่ติดยึด ในโลกธรรมมากๆ มันจะไม่ค่อยไปโลภ ในงาน มากเท่าไรหรอก มันจะประมาณได้ แต่บางคน เขาเรียกว่า มีมานะติดดี งานนี้มันดี งานนี้มันควรทำ ก็เป็นได้บ้างเหมือนกัน ก็ต้องรู้ทั้ง ๒ อย่าง อย่าไปติดโลกธรรม หรือติดด้วยมานะ ของเราเอง ก็แล้วกัน


# ตัวอย่างดิฉันนัดพ่อท่านสัมภาษณ์ แต่ในขณะนั้นก็ยังทำงานไม่เสร็จ เหมือนหยุดไม่ได้ จึงผิดนัด พ่อท่าน เห็นความสำคัญของงานมากกว่า ไม่คิดตัดรอบ แต่ต่อไปก็จะระวังไม่ทำอย่างนี้อีกแล้วค่ะ

- ก็ต้องรู้จักตัด ใช่ต้องรู้จักประมาณ ยิ่งผู้ปฏิบัติธรรมของพุทธ ปฏิบัติแล้ว มันลดละ ในความโลภ ที่จะได้โลภ ที่จะทำ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข จะไม่มีแรงกดดัน ให้เราไป อยากได้โลกธรรมนี้ มาเป็นตัวเร่ง มาเป็นตัวกระตุ้น ให้เราไป ตะกละตะกลาม กับงาน มากมาย นักหรอก เพราะฉะนั้น เราต้องประมาณ พระพุทธเจ้า ท่านไม่ให้ ทรมานตน ถ้าทำงาน หนักมาก มันก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มันก็เสียกำลังวังชา เสียสุขภาพ งานก็ไม่ได้ดี ก็จริงทำงานมากๆ คุณก็ไม่ทันหรอก คุณจะอ่านจิต อ่านใจอะไรมันยาก มันไม่เร็ว มันไม่ทันบ้าง เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะไปตะกละ ตะกลามงาน ทำไมล่ะ


# บางทีเราเหมือนถูกบังคับโดยภาระรับผิดชอบ

- นั่นมันเป็นอัตตาชนิดหนึ่ง ข้าต้องดี ข้าต้องเก่ง ข้าต้องใหญ่ ข้าต้องอะไรๆ มันยึดมากไป


# บางครั้งความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้นก็ทำให้ต้องรีบตอบสนอง บางแห่งขยายกิจการใหญ่โต เพื่อรองรับ

- อย่าหลงอย่ารีบขยาย นี่แหละมันตาย เพราะคนไปหลงงาน แล้วก็ไปหลงขยายงาน ตายเพราะ อันนี้ เยอะ ไปไม่รอด สุดท้าย งานก็ทับถมตัวเองตาย ปฏิบัติธรรมก็เลยยิ่งอ่อนแอ เพราะไม่ประมาณ มันจะต้อง ประมาณ ให้พอเหมาะ ถ้าไม่ประมาณ ก็เสร็จ!



กิเลส....
เป็นสิ่งที่รู้ได้ยากและจับตัวไม่ได้ง่ายๆเลย
มันมักจะนำพาให้เราคิดหรือทำอะไรเกินจริงเสมอ
มันมักจะนำพาให้เราเหนื่อยและเหนื่อย
และเราก็ยังไม่ยอมเหนื่อย ไม่ยอมพัก....
และนำเราสู่ความตาย
เราควรตายหรือกิเลสสมควรตาย !

-- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๒ เมษายน ๒๕๔๘ -