ธรรมะประทับใจ (๑๐๘)

ประทับใจ - เห็นใจ - ไม่ถือสา เป็นที่มาของความสุขเย็น


วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มี.ค. '๔๕ เป็นวันแรกของงานปลุกเสกพระแท้ๆของพุทธ ครั้งที่ ๒๖

เช้านี้เราได้ออกบิณฑบาตสายชุมชน ก่อนจะบิณฑบาต ภันเต (ภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า) ตกลงว่า จะให้ญาติโยม ใส่บาตรสลับกันไป คือบาตรแรกใส่ข้าว บาตรที่สอง ใส่กับข้าว ผลไม้ ขนม

พอบิณฑบาตไปได้หน่อยหนึ่ง มีโยมผู้หญิงเอามะปรางมาใส่ แต่ภันเตผู้นำแถวก็รับมะปราง แล้วทุกรูป ก็รับมะปราง ทั้งที่รูปแรกนั้นต้องรับแต่ข้าว เราก็พลอยรับมะปรางไปด้วย ใจก็คิดว่า เช้านี้คงรับบาตร ใส่ปนเป รวมกันตามปกติมั้ง คิดแล้วก็วางๆ ไม่ปรุงต่อ

พอเดินมาอีกหน่อย ก็เห็นภันเตรูปแรกเอามะปรางใส่ให้รูปที่สอง เราก็เลยเอา มะปราง ใส่ให้รูปต่อไป เหมือนกัน ตอนนี้เราก็คิดว่า ภันเตผู้นำสายมีเมตตามาก ต้องการเอื้อโยม จิตเรา มีศรัทธา เราจึงไม่ถือสา และมองแง่ดี การมองอย่างนี้เราได้อะไร เราได้ความศรัทธา และไม่ถือสา

เดินรับบาตรไปได้อีกระยะหนึ่ง พระอาคันตุกะเดินออกไปจากแถว คราวนี้เราคิดว่า เอ๊ะ ! เราจะรับข้าว อย่างเดิม หรือรับกับข้าวผลไม้ ภันเตเดินนำหน้าเราบอกว่า ให้สลับเปลี่ยน รับบาตร อาวุโสต่อจากเราถามว่า เปลี่ยนอย่างไร เราบอกว่าก็ถ่ายบาตรซิ อาวุโสคงก็เข้าใจ

พอเดินเลี้ยวเข้ามาอีกถนนหนึ่ง โยม ตั้งแถวคอยใส่บาตรกันเยอะมาก โยมผู้หญิงคนหนึ่ง มีเจตนาดี พูดบอกญาติโยม ที่ใส่บาตรอยู่ ด้วยเสียงดังพอสมควรว่า ให้ใส่ ๓ บาตร บาตรแรก ใส่ข้าว บาตรที่ ๒ ใส่กับข้าว และขนม บาตรที่ ๓ ใส่ผลไม้ เราก็คิดในใจว่า ก็แล้วแต่โยม จะแยกใส่ ๓ บาตรก็ ๓ บาตร เราคงไม่ต้อง ชี้แจงอะไรหรอก เราไม่ต้องยึดไม่ต้องถือสา ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เห็นเวลาใส่จริงๆ ก็ใส่สองบาตร เท่านั้น คือข้าวบาตรแรก กับข้าว ผลไม้ขนม ใส่รวมกันบาตรสอง เช้านี้ลองนับดูว่า มีผู้มาใส่บาตร ให้กับเรากี่ราย นับได้ ๓๔๕ รายทีเดียว

คนเราหากไม่ยึดติดว่า ต้องอย่างโน้น ต้องอย่างนี้ ไปตีกรอบให้มากแล้วก็มายึด มันก็ยุ่งก็ทุกข์ หากเรา ทำอะไร ปรับไปตามสถานการณ์ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องโตอะไรมาก เราปรับไปได้ เรื่อยๆ ไม่ยึดเอาจนเป็นว่า เหตุผล คือความบ้า อัตตาคือความจริง ไปอยู่ ณ ที่ไหน ปรับที่ใจเรา ให้ได้ มองกันในแง่ดี ชีวิตก็มีความสุข

เช้านี้เราประทับใจ ในการไม่ถือสาใคร มองผู้อื่นอย่างเข้าใจว่า ทุกคนเจตนาดี ใจเราก็มี ความสุข

- โพธิ. ผู้ตาม -

-- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๒ เมษายน ๒๕๔๘ -