พระอริยสงฆ์ "โพธิรักษ์" .....ผิดตรงไหน???
ไย "สมมุติสงฆ์(ไทย) ร้อนรนรังเกียจ" !

* จาก น.ส.พ.สยามชน ฉบับ ๘๓/๗ พ.ศ.๒๕๔๘


เปิดม่านคลุม "ชาวอโศก"
"เพชรแท้" หรือ "เพชรเทียม"

เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชาปีนี้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความดำริที่จะจัดงาน ในวันสำคัญ ทางศาสนาให้ใหญ่โตที่พุทธมณฑล โดยมอบหมายให้พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นแม่งานใหญ่ ในการประสาน และดำเนินการ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความราบรื่น เรียบร้อย งามสง่า และมีผลสัมฤทธิ์ เป็นที่พึงพอใจ ของทุกฝ่าย อันความดำริชอบของ ฯพณฯ นายก รัฐมนตรีในเรื่องนี้ก็ดี และการบริหารจัดการ วางบุคลากร อย่าง พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ก็ดี นับว่าเป็นการใช้คน ที่เหมาะกับงาน อย่างยิ่ง ดังสำนวน ที่กล่าวว่า "Put the right man in the right job in the right place and in the right time"

ท่ามกลาง การชื่นชมของหลายฝ่ายที่รับรู้เรื่องนี้ และยินดีจะร่วมมือร่วมใจ แต่ก็มีบางฝ่าย มีทั้งพระ และ ฆราวาส ออกมาคัดค้าน การทำงานของพลตรีจำลอง

กล่าวคือ ไม่เห็นดี ไม่เห็นด้วย ที่พลตรีจำลองจะนำกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมชาวอโศก หรือกลุ่ม สันติอโศก เข้ามา ร่วมงาน โดยอ้างว่า มหาเถรสมาคม(มส.) ได้แสดงความเห็นว่าในปี ๒๕๓๒ คณะสงฆ์ได้เคยมี ประกาศนียกรรม ไม่ให้พระสงฆ์ไปร่วมคบค้าสมาคมกับกลุ่มคนดังกล่าว และประกาศดังกล่าว ก็ยังคงมีผล บังคับใช้อยู่จนปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ ฉะนั้น ที่ประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) จึงมีมติว่า ในการจัดงาน วิสาขบูชาครั้งนี้ให้ทางสำนักงาน พุทธศาสนา แห่งชาติ จัดงานแต่เพียงฝ่ายเดียวไปก่อน (น.ส.พ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๒ เม.ย.'๔๘ อ้างคำแถลงของ น.พ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ผอ.สำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมของ มส. ที่พุทธมณฑลเมื่อบ่ายวันที่ ๑๑ เม.ย. ๒๕๔๘)

มีข้อสังเกตในคำแถลงของ น.พ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ (ผอ. พศ.) อยู่ ๒ ประเด็น คือ
๑. ประกาศนียกรรม คืออะไร ? มีใช้ในศาสนาพุทธหรือไม่ ?
๒. คณะสงฆ์ไทยเคยมีประกาศนียกรรม ในเรื่องดังกล่าวในปี พ.ศ.๒๕๓๒ หรือไม่ ?

ถ้าไม่มี (ทั้ง ๒ ข้อ) ก็แปลว่า "มติของ...มหาเถรสมาคม(มส.)ดังกล่าว เป็นมติที่จินตนาการ กันขึ้นมาเอง โดยคลาดเคลื่อน จากฐานข้อมูล ไม่น่าจะเป็นมติที่ถูกต้อง และอาจไม่มีผล ในเชิงปฏิบัติได้ (มติโมฆะ)"

และถ้ามี(ทั้ง ๒ ข้อ) ในการประชุมของ มส. ในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๘ ดังกล่าวแล้ว ควรจะได้มีการนำ คำประกาศนียกรรมที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาแสดง เพื่อเป็นฐานข้อมูล ประกอบการประชุม เพื่อที่จะเกิด ความสมบูรณ์ที่สุด ในการจะลงมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือเกิดผลผิดพลาดบกพร่องน้อยที่สุด ทั้งนี้เพราะอะไร?

เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก กล่าวคือ

ก. ในท่ามกลางบรรยากาศของสังคมทั่วไปที่กำลังเพรียกหา "ความสมานฉันท์ซึ่งกันและกัน ในระดับ ฆราวาส (ผู้มีเพศอันต่ำซึ่งก็คือชาวบ้านธรรมดา) แต่มติของมหาเถรสมาคม ซึ่งกรรมการ ส่วนใหญ่ คือ บรรพชิต (ผู้มีเพศ อันสูง ได้แก่ นักบวชในฐานะต่างๆ) กลับมีแนวโน้มให้เกิดการแยก แบ่งฝ่าย ไม่ใช่ลักษณะ เอื้อต่อ สามัคคีธรรม แต่ดูคล้ายๆ จะเป็น "สามัคคีเภท"(การแตกความสามัคคี) ถ้าเป็นเช่นนี้ มันก็จะกลายเป็นเรื่อง ผิดฝาผิดตัว กลับหัวกลับหาง ไปคนละทิศคนละทาง ฆราวาสมุ่งสมานฉันท์ เพื่อหาความสามัคคี แต่นักบวช มุ่งไปอีกทิศทางหนึ่ง ดังนั้น ในหลักสูตรนักธรรมตรีกระทู้ธรรมข้อที่ว่า "สุขา สังฆัสสะ สามัคคี" (สามัคคี ก่อให้เกิดสุข) คงต้องหยุดสอนชั่วครู่ พระสงฆ์จะเทศนา ในหัวข้อนี้ คงจะต้องหยุดเทศน์ชั่วคราว เพราะบรรยากาศ กระแสหลักภาพรวม ของสถาบัน ศาสนา ยังขัดแย้งกันอยู่

ข. ในท่ามกลางบรรยากาศของสังคมทั่วไปที่กำลังเพรียกหา "ความสมานฉันท์" โดยเฉพาะ ความขัดแย้ง ในระดับโลก เช่น สหรัฐอเมริกา กับกลุ่มประเทศอิสลาม แม้แต่ใน ๓ จังหวัด ภาคใต้ (เดี๋ยวนี้ลามเกิน ๓ จังหวัดแล้ว) ก็ยังมีข้อหนักใจในความเป็นไทยพุทธ ไทยอิสลาม ซึ่งเป็นที่น่าหนักใจของทุกฝ่าย

นั่นแปลว่าสังคมกำลังเรียกร้อง "ความสมานฉันท์" และ ความสามัคคี" แม้ว่าจะต่างชาติ ต่างศาสนากัน ก็ตาม และ เมื่อเปรียบเทียบกับความขัดแย้ง ระหว่างชาวพุทธด้วยกัน แม้กระทั่ง ในเรื่อง (การทำความดี) ในวันวิสาขบูชา ก็จะเกิดคำถามขึ้นว่า

ก. ในเมื่อศาสนาเดียวกัน คือ ศาสนาพุทธ ยัง "สามัคคี - สมานฉันท์" กันไม่ได้แล้วไซร้ การที่จะไปเรียกร้อง ให้คนต่างศาสนามา "สามัคคี - สมานฉันท์" มันจะเป็นไปได้อย่างไร?

ข. ในวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันของพระพุทธเจ้า (คือ วันประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน) ซึ่งพุทธศาสนิกชนมุ่งแต่จะทำความดี เพื่อบุคคลที่เป็น ศาสดา เปรียบประดุจบิดร(พ่อ) ในวันสำคัญ ของพ่อ แต่ลูกๆกลับมาขัดแย้ง วิวาท ขับไล่ ไม่ยอมลงรอยกัน ในขณะที่พุทธศาสนิกชน ส่วนใหญ่ อยากทำกรรมดี ในวันนี้ แต่มีการกีดกัน ซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ให้มาทำกรรมดี นี่มันเกิดอะไรขึ้น !

ภาพเหล่านี้มันเรื่องที่น่าชื่นชมสำหรับชาวพุทธในเมืองไทยจริงหรือ ? ในเมื่อจะจัดงาน วันวิสาขบูชา ให้ใหญ่ ระดับโลก แต่มีข่าวรังเกียจเดียดฉันท์ซึ่งกันและกัน..... ภาพเหล่านี้ เป็นภาพ ที่ควร "ประทับใจ" หรือ "เศร้าใจ"

ความหวังอันสูงสุดของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในเรื่องความสมานฉันท์ - สามัคคี มันจะเป็นไป ได้อย่างไร ?

เอาละวกกลับมา "สยามชน" เชื่อว่า "ประกาศนียกรรมในปีพ.ศ.๒๕๓๒" ไม่มี เพราะใน น.ส.พ. ไทยโพสต์ ได้รายงาน รายละเอียดเพิ่มเติมเองว่า

"ถ้อยแถลง นพ.จักรธรรม เรื่องประกาศนียกรรมก็คือ การประกาศบัพพาชนีย-กรรม (หมายถึง การประกาศ "บัพพาชนียกรรม หรือการขับพระสงฆ์ออกจากหมู่") (ไทยโพสต์อ้างแล้ว) และ อีกตอนหนึ่ง ไทยโพสต์ รายงานข่าวว่า "ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มคณะสงฆ์ ที่มหาเถรสมาคม (มส.) ประกาศบัพพาชนียกรรม ไม่ให้ พระสงฆ์ ไปร่วมคบค้าสมาคมด้วย คือ "กลุ่มสันติอโศก" ของสมณะโพธิรักษ์ ที่มีความสนิทแนบแน่นกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" (ไทยโพสต์อ้างแล้ว)"

จะเห็นได้ว่าคำแถลงของ นพ. จักรธรรม (ผอ. พศ.) ใช้คำว่า "ประกาศนียกรรม" ซึ่งต่างจาก คำที่ไทยโพสต์ รายงาน ขยายความว่า "คือบัพพาชนียกรรม" ขอตั้งข้อสังเกตว่า

คำว่า "ประกาศนียกรรม" ต่างจากคำว่า "บัพพาชนียกรรม" นั้นแน่นอน คำถามจึงมีว่า ประกาศนียกรรม ที่ผู้อำนวยการ พศ. ใช้นั้น เนื่องจากผลการประชุมของ มส. ใช้คำเช่นนั้น จริงๆ หรือ ผอ. พศ. นำมาใช้เอง เพื่อที่จะ ไม่ให้เกิด ผลกระทบกระทั่ง ในสังคมรุนแรงเกินไป

แต่อย่างไรก็ตามการใช้คำว่า "ประกาศ- บัพพาชนียกรรมไม่ให้พระสงฆ์ไปร่วมคบค้าสมาคมด้วย คือ กลุ่มสันติอโศก ของสมณะ โพธิรักษ์" ก็ยังคลาดเคลื่อนเพราะ "ชาวอโศก" หรือ "กลุ่มสันติอโศก" ประกอบ ไปด้วย นักบวชชาย (สมณะ) นักบวชหญิง (สิกขมาตุ) ผู้ปฏิบัติธรรมชาย (อุบาสก) ผู้ปฏิบัติธรรม หญิง (อุบาสิกา) ก็เลยมีคำถามเพิ่มเติมว่า

"ถ้าคณะสงฆ์ไทยเคยมีประกาศบัพพาชนียกรรม (หรือขับสงฆ์ออกจากหมู่) ในปี ๒๕๓๒ ก็น่าจะหมายความ ได้ว่า คณะสงฆ์ไทยมีเจตนาขับนักบวชชายของสันติอโศก หรือที่เรียกว่า "พระสงฆ์" ในขณะนั้น (แต่ปัจจุบัน เรียก "สมณะ" ในขณะนี้) คงจะไม่ได้หมายความว่า เป็น การประกาศขับนักบวชหญิง อุบาสก อุบาสิกา ออกจาก คณะสงฆ์ไทย เพราะบุคคลดังกล่าว (นักบวชหญิง อุบาสก อุบาสิกา) ไม่ได้ สังกัดอยู่ใน มหาเถรสมาคม อยู่แล้ว เมื่อไม่ได้สังกัด (ขึ้น) อยู่กับคณะสงฆ์ไทย คณะสงฆ์ไทยจึงไม่มีสิทธิ หรือไม่มีอำนาจ ใดๆ มาขับไล่บุคคล เหล่านี้ได้ (เปรียบประดุจคนที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับเรา เราก็ไม่มีสิทธิ หรือไม่มี ความจำเป็น ใดๆ ที่จะต้องไปไล่เขาออกจากบ้านของเรา) หรือ อีกนัยหนึ่ง ถ้ามีครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเรา ไม่ได้อยู่ด้วย (เราอยู่ บ้านของเรา ต่างคนต่างอยู่ว่างั้นเถอะ) แล้วครอบครัวนั้นก็ประชุมกัน แล้วมีผลประชุม มาแจ้งให้เราทราบว่า "ไม่ให้เรา เข้าไปอยู่ในบ้านของเขา" (ซึ่งเราก็ไม่ได้ เข้าไป อยู่แล้ว) เราจะคิดอย่างไร ? คนทั่วไปที่ทราบเรื่องนี้ จะคิดอย่างไร ? และจิตแพทย์ จะคิดอย่างไร? ถ้าได้ข้อมูลเช่นนี้ เชื่อว่า คนคงคิด คล้ายๆกันว่า "แปลกดี" หรือไม่ก็ "จะชักไปกันใหญ่แล้ว"

ที่นี้ก็เหลือนักบวชชายชาวอโศก ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า "พระ" หลังจากเกิดคดีสันติอโศก จนยุติลงแล้ว ก็ได้ เปลี่ยนจาก "พระ" มาเป็น "สมณะ" ซึ่งในเรื่องนี้ได้มี "คำแถลงจากสมณะ โพธิรักษ์" (ผู้นำชาวอโศก) ชี้แจง ตอนหนึ่งใน "คำแถลงจากสมณะโพธิรักษ์" ความว่า "การที่ มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้ประกาศ บัพพาชนียกรรม ขับตนเองและคณะ สันติอโศก ออกจากหมู่ใหญ่ หรือออกจากหมู่สงฆ์ที่ชื่อว่า มหาเถรสมาคม ถือเป็นวิธีการหนึ่ง ของธรรมวินัย ที่มหาเถรสมาคมสามารถทำได้ แต่ข้อเท็จจริงคือว่า เป็นการกระทำ หลังจาก ที่ตนเองและคณะ ได้กระทำการประกาศตน ต่อคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม สำเร็จเป็น "นานาสังวาส" (การอยู่ร่วม ต่างกัน ได้แก่ พระสงฆ์ที่มีศีลไม่เสมอกัน ทำอุโบสถ หรือสังฆกรรม ร่วมกันไม่ได้) กล่าวคือ สงฆ์สันติอโศก ได้ประกาศตนเป็น นานาสังวาส ตั้งแต่วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ ตามธรรมวินัย เมื่อภิกษุเป็น นานาสังวาสกันแล้ว สงฆ์ต่างคณะย่อมไม่สามารถเป็น ผู้คัดค้าน เป็นผู้ประท้วง (ปฏิกโกสนา) ในท่ามกลาง สงฆ์ได้ พระไตรปิฎก เล่ม ๕ ข้อ ๑๙๕ บ่งชี้ไว้ชัดเจน

แต่มหาเถรสมาคมก็ยังขืนทำบัพพาชนีย-กรรมอาตมา(ท่านโพธิรักษ์) กับคณะอยู่นั้นแหละ และ ยืนยันว่า อาตมากับคณะ เป็นนานาสังวาสไม่ได้"

สมณะโพธิรักษ์กล่าวว่า "มหาเถรสมาคม" ไม่พยายามพูดธรรมวินัยกับสันติอโศก ทั้งที่ การกระทำของ สันติอโศก คือการทำตนเป็นนานาสังวาสด้วยตนเองตามธรรมวินัย โดยสงฆ์ สันติอโศก ได้ประกาศ นานาสังวาส อย่างเปิดเผยท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ ๑๘๐ รูป อันมี เจ้าคณะอำเภอเป็นประธาน ที่ศาลาวัด หนองกระทุ่ม ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม พร้อมทั้งมีลายลักษณ์อักษรยืนยัน ให้เจ้าคณะอำเภอ ซึ่งท่านก็ได้ส่งต่อ ไปยังระดับสูง จนเป็น ที่รับทราบกันทั่ว ทั้งนี้ตามธรรมวินัย เพียงแต่ประกาศขอแยกเป็น นานาสังวาสด้วยวาจา ไม่ต้องถึงกับแถลงเป็นลายลักษณ์อักษร ที่แยกตนเป็นนานาสังวาส สำเร็จแล้ว คือ ประกาศ แยกตั วไม่ขึ้นต่อการปกครองคณะสงฆ์ไทย หรือ มหาเถรสมาคมนั่นเอง"

"ในหนังสือบัพพาชนียกรรมก็พิมพ์รายละเอียดเอกสารพวกนี้ไว้ครบทั้งหมด เพียงแต่ท่าน ทำทีเบี่ยงเบน ไปเป็นว่า นั่นไม่ใช่เป็นการประกาศตนเป็นนานาสังวาส ซึ่งเป็นการเล่นแง่กัน นั่นเอง"

หนังสือของสมณะโพธิรักษ์ระบุว่า "ตามธรรมวินัยเมื่อสงฆ์เป็นนานาสังวาสกันแล้ว ทั้งสองฝ่าย ต่างปฏิบัติ กันไป ตามความเห็นและยึดถือที่แตกต่างกัน ที่สำคัญสงฆ์ฝ่ายหนึ่ง ไปฟ้องร้องชำระความผิด หรือ อธิกรณ์ อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้ หากฝ่ายใดไปอธิกรณ์อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายนั้นต้องอาบัติ และอธิกรณ์นั้นเป็นโมฆะ การตัดสินความนั้น ใช้ไม่ได้ ไม่มีผลบังคับ แต่ทางคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม ได้กระทำต่อคณะสงฆ์ สันติอโศก ถึงขั้น "อนุวาทาธิกรณ์" คือเป็นโจทก์ฟ้องร้องกล่าวหาสันติอโศก แล้วตั้งคณะพิจารณา ตัดสินความกัน ซึ่งตามธรรมวินัย ไม่สามารถกระทำได้"

สมณะโพธิรักษ์กล่าวว่า "การที่คณะกรรมการสงฆ์วินิจฉัยตัดสินความตนเอง ที่กระทำลับหลัง จำเลย เพราะ ไม่ได้แจ้งจำเลย ไม่ได้เรียกจำเลย คือตนเองกับสงฆ์สันติอโศก เข้าไปนั่ง อยู่ในที่ พิจารณาความ ร่วมรับรู้ รับฟัง ร่วมให้การ แต่ประการใด ถือว่าสงฆ์มหาเถรสมาคม กระทำเอา ตามอำเภอใจ แม้ที่สุดยอมขึ้นศาล ยอมเปลี่ยน สภาพหลายอย่าง แต่ที่ไม่ยอม ก็คือ "การสละสมณเพศ" โดยยังยืนยันความเป็นสมณะ ตามธรรมวินัย อยู่ตลอดเวลา การต้องแพ้คดีความในศาลยุติธรรมทางโลกนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องธรรมวินัยเลย เป็นเรื่องของ กฎหมาย ข้อกฎหมายที่ไม่ใช่บัญญัติของพระพุทธเจ้า"

"ศาลไม่ได้พิจารณาความผิดทางธรรมวินัยใดๆ พิจารณาแต่เฉพาะในแง่กฎหมาย ที่บัญญัติ ขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ ข้อบัญญัติของ พระพุทธเจ้า เพราะเหตุนี้ผู้ที่ไม่เข้าใจลึกซึ้ง ของธรรมวินัย ซึ่งหลงเข้าใจผิดไปได้ อย่างผิวเผินว่า คณะสงฆ์สันติอโศก แพ้คดีในทางศาลของ ฆราวาส ทางโลก (ไม่ใช่ทางธรรมนั้น) (ไปแปลความ เข้าใจผิด ไปว่า) คณะสงฆ์สันติอโศก ไม่เป็นสงฆ์ (หรือ) ไม่เป็นสมณะแล้ว ทั้งที่ประเด็น ข้อกฎหมาย ที่สมณะโพธิรักษ์ ถูกฟ้องร้องนั้น คือ ทางมหาเถรสมาคมมีมติสั่งให้สละสมณเพศ ถ้าไม่สละสมณเพศก็ผิดกฎหมาย สมณะ โพธิรักษ์ ไม่ยอมสละสมณเพศ ยืนยันครองความเป็นสมณเพศ ตลอดมา (กล่าว คือ) ไม่ยอมสึก นั่นเอง นั่นก็หมายความว่า ยังคง เป็นสงฆ์ (อยู่) ครองสมณเพศ" สมณะโพธิรักษ์ กล่าว

สมณะโพธิรักษ์ยืนยันว่า "สันติอโศกไม่ได้เป็นนิกาย เป็นแค่นานาสังวาส ซึ่งการทำตน เป็น นานาสังวาส ไม่ผิดธรรมวินัย พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ทำได้ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งกัน"
(น.ส.พ.ไทยโพสต์ อ้างแล้ว)

นั่นคือสรุปจบ "คำแถลงจากสมณะโพธิรักษ์" แต่เรื่องราวยังไม่จบ เพราะมันเกิดประเด็น โต้แย้ง ขึ้นมาอีก มากมาย เช่น

๑. มหาเถรสมาคมได้ประกาศบัพพาชนียกรรม คือขับไล่สมณะโพธิรักษ์ และคณะสันติอโศก ออกจาก หมู่ใหญ่ คือ หมู่สงฆ์ที่ชื่อว่า มหาเถรสมาคม ใช่หรือไม่ ? ถ้าขับไล่จริงในข้อหาอะไร ? และขับไล่ออกในปี ๒๕๓๒ ใช่หรือไม่ ?

๒. ก่อนหน้านั้นมหาเถรสมาคม ได้เคยประกาศบัพพาชนียกรรม กลุ่มคณะสงฆ์อื่นหรือไม่ และ ปัจจุบัน มีพระภิกษุสงฆ์ จำนวนมาก ที่ทำผิดธรรมวินัย คณะสงฆ์มีมาตรการใด ที่จะแก้ไข ปรับปรุง หรือประกาศ ขับไล่ ภิกษุนอกธรรมวินัย เหล่านั้น เพราะไม่เช่นนั้น จะมิกลายเป็น การเลือกปฏิบัติ ใช่หรือไม่?

๓. ทางคณะสงฆ์สันติอโศกได้ประกาศแยกตัวไม่ขึ้นต่อการปกครองของคณะสงฆ์ไทย หรือ มหาเถรสมาคม ตั้งแต่วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งเป็นการประกาศก่อนที่มหาเถรสมาคม จะประกาศ บัพพาชนียกรรม (ขับออกจากหมู่)

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ ถ้าใช่แปลว่า คณะสงฆ์สันติอโศกได้ออกจากหมู่สงฆ์ มหาเถรสมาคม ไปแล้ว เป็นเวลา ประมาณ ๑๔ ปี (พ.ศ.๒๕๑๘ - พ.ศ.๒๕๓๒)

ใช่หรือไม่ ? ถ้าใช่ประกาศบัพพาชนีย-กรรมของคณะสงฆ์ไทยมีผลต่อธรรมวินัยหรือไม่ หรือเป็นโมฆะ..... แต่ถ้า ไม่ใช่ ... ความจริงคืออะไร? ทางคณะมหาเถรสมาคม ควรมีประกาศ ให้ประชาชน รับทราบความจริง ด้วย

๔. คณะสงฆ์สันติอโศกกล่าวหาว่า
๔.๑ เมื่อสงฆ์เป็นนานาสังวาสแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งจะไปฟ้องร้องชำระความผิด หรืออธิกรณ์ อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้ ถ้าฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง ไปอธิกรณ์อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายอธิกรณ์จะต้อง "อาบัติ" ใช่หรือไม่ ? และข้อกล่าวหา สมณะโพธิรักษ์ และพวก ก็ถือเป็นโมฆะใช่หรือไม่ ?

แต่ถ้าไม่ใช่ ความจริงอะไร ? ซึ่งทางเถรสมาคมจะชี้แจงได้

๔.๒ คณะสงฆ์เถรสมาคมได้กระทำต่อคณะสงฆ์สันติอโศกถึงขั้น"อนุวาทาธิกรณ์" คือ เป็นโจท ฟ้องร้อง กล่าวหา สันติอโศก แล้วตั้งคณะพิจารณาตัดสินความกัน ซึ่งตามธรรมวินัย แล้ว มิอาจทำได้ ? เรื่องนี้ ความจริง เป็นเช่นไร ซึ่งมหาเถรสมาคมควรชี้แจง

๔.๓ สงฆ์คณะสันติอโศก เห็นว่า การที่มหาเถรสมาคมตั้งคณะการกสงฆ์วินิจฉัย ตัดสินความ ดังที่กล่าว แล้วนั้น และไม่แจ้งให้ฝ่ายสมณะโพธิรักษ์ และคณะสงฆ์สันติอโศกทราบ เป็นการพิจารณาลับหลัง ทางสันติอโศก ไม่ได้เข้าไปมีโอกาสรับรู้ และชี้แจงแต่อย่างใด ? การกระทำเช่นนี้ ของมหาเถรสมาคม จะถูกต้อง หรือไม่ ? และถ้าไม่ถูกต้อง การพิจารณา คราวนั้น จะเป็นโมฆะหรือไม่

แต่ถ้าทางมหาเถรสมาคมถือว่า ถูกต้อง ก็ควรมีประกาศชี้แจงต่อสาธารณชน ให้รับทราบ โดยทั่วกัน

๔.๔ ในคดีสันติอโศก ฝ่ายคณะสงฆ์สันติอโศกเห็นว่าเป็นการพิจารณา ในประเด็นกฎหมาย ที่บัญญัติ ขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ข้อบัญญัติของพระพุทธเจ้า ดังนั้น การแพ้คดีของกลุ่มสงฆ์ สันติอโศก จึงการแพ้คดี ในทางศาล ของฆราวาสทางโลก ไม่ใช่ในทางธรรม และไม่กระทบ ต่อสถานะของ กลุ่มสันติอโศก ก็ยังคง สถานะ ความเป็นนักบวชอยู่ กล่าวคือ เป็นสงฆ์ กลุ่มหนึ่ง นั่นเอง

แต่ถ้าไม่ใช่...ข้อความจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างไร ? ใครจะเป็นผู้วินิจฉัย

๔.๕ คณะสงฆ์สันติอโศกเห็นว่า "ประเด็นข้อกฎหมายที่สมณะโพธิรักษ์ ถูกฟ้องร้องก็คือ ทางเถรสมาคม มีมติสั่งให้ สมณะสละสมณเพศ ถ้าไม่สละสมณเพศก็ผิดกฎหมาย แปลว่า "สมณะโพธิรักษ์สละสมณเพศ ก็ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องถูกฟ้องร้อง" แต่เนื่องจาก สมณะ โพธิรักษ์ "ไม่ยอมสึก" จึงถูกดำเนินคดี และ ปรากฏว่า แพ้คดี หมายความว่า สมณะโพธิรักษ์ มีความผิดฐาน "ไม่ยอมสึก" นั่นเอง การที่ "ไม่ยอมศึกษา" ก็แปลว่า "สถานะของสมณะโพธิรักษ์ ยังคงเป็นสงฆ์ หรือนักบวชอยู่นั่นเอง" และแม้ปัจจุบัน สมณะ โพธิรักษ์ ก็ยังยืนยัน การไม่ยอมสึก ทั้งทางกาย วาจา ใจ อยู่นั่นเอง และปฏิบัติธรรม ในสมณเพศ มาตลอด จนถึงปัจจุบัน"

๕. อย่างไรก็ตามพระเทพดิลก (มหาระแบบ) ประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา แห่งประเทศไทย กล่าวว่า "มหาเถรสมาคม คงไม่ติดใจ ในถ้อยแถลงของนายรัก รักพงษ์ (สมณะโพธิรักษ์) เพราะนายรัก เป็นฆราวาส พระจะไปถือสา หาความกับชาวบ้านไม่ได้" (น.ส.พ. ไทยโพสต์ อ้างแล้ว)

ก็จะเกิดประเด็นขึ้นมาอีกว่า

ก. สมณะโพธิรักษ์ เป็นฆราวาสหรือนักบวชกันแน่ เพราะถ้าสมณะโพธิรักษ์เป็นฆราวาส (ตามความเห็น ของ มหาระแบบ) ทางมหาเถรสมาคม ก็ไม่น่าจะเสียเวลา หรือให้ความสำคัญ เพราะการจัดงานของ พุทธศาสนาที่ไหน ? เมื่อไร ? ก็จะป่าวประกาศ ให้พุทธศาสนิกชน (ส่วนใหญ่ คือ ฆราวาส) ไปเที่ยวงาน กันมากๆ ไม่ว่าจะเป็นงาน ทอดผ้าป่า, ฝังลูกนิมิต, สะเดาะเคราะห์ แก้อาถรรพ์พระราหู เป็นต้น

ข. แต่เนื่องจากมหาเถรสมาคม มีความเห็นว่า กลุ่มสันติอโศกยังเป็นนักบวชอยู่ แต่โดน ประกาศ บัพพาชนียกรรม คือ ถูกขับออกจากหมู่สงฆ์แล้ว จึงไม่ยอมร่วมงาน

ดังนั้น มหาระแบบควรทำความเข้าใจ ให้ตรงกับทางมหาเถรสมาคมว่า แท้จริงแล้วในกรณีนี้ สถานะของ สมณะโพธิรักษ์ คืออะไรกันแน่ ? จึงจะไม่ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อ ในลักษณะ เช่นนี้ เพราะจะทำให้ สังคมสับสน

๖. เมื่อมาถึงตรงนี้ ก็สรุปความเห็นได้ดังนี้
๖.๑ คณะสงฆ์สันติอโศกถือว่า สมณะโพธิรักษ์ และนักบวช(ชาย)ชาวอโศก ก็คือ ผู้ที่อยู่ใน สมณเพศ เรียกว่า "สมณะ" (คือความหมายเดียวกับพระนั่นเอง)

๖.๒ มหาเถรสมาคมถือว่า สมณะโพธิรักษ์ และคณะสงฆ์สันติอโศกเป็นนักบวช จึงไม่ยอม ร่วมงานด้วย เพราะ ทางมหาเถรสมาคม ได้ประกาศนียกรรมไปแล้ว

๖.๓ มหาระแบบ ถือว่า สมณะโพธิรักษ์เป็นฆราวาส

๗. แต่ทาง "สยามชน" มีข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ คือ "งานวิจัย สำนักสันติอโศก ความเป็นมา และ บทบาท ทางศาสนา ในสังคมไทย" โดยอาจารย์ภัทรพร สิริกาญจน ที่พิมพ์ในวารสาร พุทธศาสนศึกษา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑ มกราคม - เมษายน ๒๕๔๔ มีตอนหนึ่งระบุว่า

"(๒) โลกทัศน์และชีวทัศน์ หลังการบวช...........ฯลฯ.........."

โลกทัศน์และชีวทัศน์ของพระโพธิรักษ์ (คำในการวิจัย) หลังการบวชนี้มิได้แตกต่าง ไปจาก ช่วงที่ท่าน ปฏิบัติธรรม ก่อนการบวชมากนัก แต่เป็นการพัฒนาความเคร่งครัด จริงจังขึ้นไป อีกระดับหนึ่ง ด้วยเหตุผล ที่ท่านเกิด ความตระหนักว่า ท่านได้บรรลุธรรมแล้ว ท่านจึงต้องบวช ดังที่ท่านยืนยันว่า

"เมื่อมีคนถามว่า ทำไมท่านถึงออกบวช มีเหตุอะไรจูงใจ สำนวนหนึ่งที่อาตมา(พระโพธิรักษ์) ตอบเขา เหมือนกันว่า อาตมาออกบวชเพราะอาตมาบรรลุธรรมแล้ว อาตมาตอบอย่างนี้ มาตลอดเวลา"

จากการที่พระโพธิรักษ์เคร่งครัดในศีลอย่างมาก และออกบวช เพราะพิจารณาว่า ตนเอง บรรลุธรรมแล้ว อาจเข้าใจได้ว่า ท่านถือว่าท่านมีวัตรปฏิบัติถึงขั้นที่เป็น "พระอริยบุคคล" แล้ว เพราะการบรรลุธรรม หมายถึง การบรรลุ ความเป็นอริยบุคคล ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป และ ท่านเอง ก็ได้ประกาศยืนยันว่า

"อาตมาพูดอย่างไร? อาตมาจำสำนวนนั้นได้เลย อาตมายังมีสติรู้ตัวตลอดเวลา วันนั้น อาตมา พูดเรียบร้อย ไม่ได้พูดหนัก พูดแรง พูดเน้น พูดดังอะไร พูดเบาๆ พูดเรื่อยๆ พูดด้วยสติ สัมปชัญญะ ปัญญาของอาตมา

อาตมาก็บอกว่า สำหรับท่าน (พระผู้ใหญ่ที่มาสอบถามพระโพธิรักษ์) ก็พอบอกได้ว่า ถ้าโสดาฯ หรือ สกิทาคามีละก็ ผมก็ผ่านแล้ว"

ทั้งนี้เพราะพระอริยบุคคลจำเป็นต้องทำงานให้เป็นแบบอย่างของชุมชน และเพื่อพิสูจน์ตนเอง ว่า ได้กำจัด กิเลส มากน้อยเพียงใด

อีกประการหนึ่ง การที่ท่านต้องบวช เพราะได้บรรลุธรรมหรือเป็นพระอริยบุคคลนั้น อาจมี เหตุผล เนื่องมาจาก ความเชื่อ ที่สืบทอดมาจากคัมภีร์ มิลินทปัญหา ซึ่งกล่าวว่า "คฤหัสถ์ ผู้เป็นอรหันต์ จะอยู่ในเพศคฤหัสถ์ เพียงภายในวันนั้น"

จึงไม่แน่ชัดว่า ท่านพิจารณาตนเองว่า "ผ่านความเป็นพระอริยบุคคลมาจนถึงขั้นอรหันต์หรือไม่ ?"

(จากงานวิจัยสำนักสันติอโศก : ความเป็นมาและบทบาททางศาสนาในสังคมไทย โดย อ.ภัทรพร สิริกาญจน)

๘. จึงมีประเด็นเพิ่มเติมว่า จากผลการวิจัยของ อ.ภัทรพร สิริกาญจน ได้มีรายละเอียด ในการปฏิบัติธรรม ของศาสนาพุทธ จะมีข้อบ่งชี้ว่า ผู้ที่ปฏิบัติถูกทางจะต้องมีผล บรรลุธรรม เป็นลำดับ ดังนี้ คือ
๑. ระดับโสดาบัน ๒. ระดับสกิทาคามี ๓. ระดับอนาคามี ๔. ระดับอรหันต์
ซึ่งผู้บรรลุธรรม เหล่านี้ ถ้าเป็นฆราวาส เรียกว่า "พระอริยบุคคล" ถ้านักบวชเรียก "พระอริยสงฆ์" ซึ่งสอดคล้อง กับหลักในการบวช ในพระพุทธศาสนาว่า นักบวชมี ๒ ระดับ คือ

ก. พระที่บวชทั่วๆไป (ยังไม่บรรลุอริยบุคคล) เรียกว่า "สมมุติสงฆ์"
ข. พระที่บวชมุ่งพระนิพพาน (และบรรลุอริยคุณระดับใดระดับหนึ่ง) เรียกว่า "พระอริยสงฆ์"

ดังนั้นในผลวิจัยดังกล่าวแล้วชี้ให้เห็น "สถานะของสมณะโพธิรักษ์ว่ามีร่องรอยเป็นพระอริยสงฆ์" แต่จะอยู่ ในระดับใดนั้น ผู้วิจัย ยังไม่สามารถ ระบุได้ชัดเจน เพียงแต่มีข้อมูลว่า อยู่เหนือระดับ "โสดาบัน สกิทาคามี"

๙. ถ้าสมณะโพธิรักษ์และคณะสงฆ์สันติอโศกไม่มีอริยคุณ ไร้อริยบุคคล ก็ไม่มีปัญหา เท่าใดนัก เพราะมนุษย์ ในโลกนี้ ก็มีการให้ร้าย ป้ายสี ปล่อยข่าวเท็จ สร้างข่าวลวง เบียดเบียน กันไปมา ตาม "วงเวียนแห่งกรรม" (วัฏฏสงสาร) แต่ถ้าสมณะโพธิรักษ์ และ คณะสงฆ์ สันติอโศกมี "อริยคุณ" มี "พระอริยสงฆ์" การจ้วงจาบ หยาบช้า การปิดกั้น มิให้ประชาชน ได้มีโอกาสฟังสัจจธรรมจากพระอริยสงฆ์นั้น ดูจะเป็นบาป และเป็นการ โหดร้าย ต่อมนุษยชาติ ทำให้เขาทั้งหลายพลาดโอกาสจากธรรมะอันประเสริฐ ข้อสำคัญ ในทางพุทธศาสนา ระบุว่า ผู้ใดจ้วงจาบ หยาบช้าต่อพระอริยสงฆ์ จะมีวิบากกรรม ๑๑ ประการ ดังนี้

๑. ไม่บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ
๒. เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว
๓. สัทธรรมย่อมไม่ผ่องแผ้ว
๔. เป็นผู้เข้าใจว่าตนได้บรรลุในสัทธรรมทั้งหลาย
๕. ไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์
๖. ต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง
๗. บอกลาสิกขา
๘. ย่อมต้องถูกโรคอย่างหนัก
๙. ถึงความเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่าน
๑๐. เป็นผู้หลงกาละ(ตาย)
๑๑. เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ ข้อ ๘๘)

จึงมาถึงบทสรุปสุดท้ายที่ว่า ถ้ามหา-เถรสมาคม โดยเฉพาะมหาระแบบ เข้าใจสมณะโพธิรักษ์ ผิด เห็น "เห็นดำเป็นขาว" "เห็นขาวเป็นดำ" ย่อมนำมาซึ่งความสับสนมีคำกล่าวว่า "แม้ไม่เชื่อ ก็อย่าลบหลู่" คำถาม จึงมีอยู่ว่า "พระอริยสงฆ์" โพธิรักษ์... ผิดอะไร ? ไย "สมมุติสงฆ์" จึงร้อนรนเดียดฉันท์ !!

- ทีมข่าวสยามชน -
(จาก น.ส.พ.สยามชน ฉบับ ๘๓/๗ พ.ค. ๒๕๔๘)

-- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๒ เมษายน ๒๕๔๘ -