เพื่อฟ้าดิน
มนุษย์เรียนรู้ความดี
จากความต้องการของตัวเอง
ตัวเองชอบอย่างไร ไม่ชอบอย่างไร ย่อมรู้อยู่
เพราะเหตุนี้ ใจเขา-ใจเรา จึงก่อเกิดขึ้น
สิ่งที่เราไม่ชอบ...เขาคงไม่ชอบ
สิ่งที่เราชอบ...เขาคงชอบ
อาเทสนาปาฏิหาริย์ฉบับอนุบาล
จึงเริ่มเกิดด้วยประการฉะนี้
ความดี...จึงเริ่มจากการ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นก่อน
เพราะเป็นเรื่องเข้าใจง่าย
เริ่มที่ เบญจศีล และ เบญจธรรม
เป็นความดี ๒ รูปแบบ คือ เชิงรับ และ เชิงรุก
เพราะเหตุนี้แค่ศีล ๕ อย่าประมาทว่า "พอแล้ว"
แค่ "ละชั่ว" ยังเป็นบทปฏิบัติชีวิตที่น้อยไป
"ประพฤติดี" ยังเป็นบทปฏิบัติที่ต้องต่อเนื่อง
สังสารวัฏยังอีกยาวไกล
ความดีต้องสั่งสมให้มาก
มิใช่เป็นแค่กับแกล้ม !
กองบุญสัจจะออมทรัพย์
"ชะเลขวัญอโศก" อยู่ที่ท้ายเหมือง ญาติธรรมกลุ่มพังงา กำลังช่วยกันแล่เนื้อเถือหนังตัวเอง
พัฒนาให้เป็นสถานปฏิบัติธรรม มีกุฏิ มีที่พักญาติโยม ท่านสมาหิโตบัญชาการรบ
เอ๊ย ! ปักกลดลงพื้นที่ ไม่ยอมไปไหน
จิ้งจกเกาะอยู่ข้างเต็นท์ชั่วคราว ฟังญาติธรรมชาวกรุงเทพฯแนะวิธีหาทุนสร้างอาคารถาวร
"เราก็ขอเกื้อจากกองบุญสัจจะออมทรัพย์ฯมาก่อน บอกผ่อนกี่งวดก็ว่ากันไป
ส่วนญาติธรรมที่จะจ่ายคืนรายเดือน ก็ติดต่อพวกเราชาวใต้นี่แหละ ให้สัญญากันไว้จะทำบุญเดือนละกี่บาทก็ตกลงกัน
แบบนี้การก่อสร้างก็จะเสร็จเร็ว"
ญาติธรรมยิ้มกระหยิ่มในไอเดียกระฉูด !
อาจารย์บัวขาวยิ้มตอบ "เงินเดือนทุกวันนี้ ก็ทำบุญแทบหมดตัวแล้วค่ะ
!" จุ๊ย์ๆๆๆ
อโศกกับการกู้ชาติ
วันนี้อโศกเน้นเศรษฐกิจพึ่งตน แม้การฝึกอบรมตามชุมชน
ต่างก็มิได้ละเลย
แต่ทำไมบางคนจึงยังเติมน้ำมันต่างชาติ ไม่เติมของบางจาก-ปตท.?
ขอแถมด้วย จดหมายของญาติธรรม งามดอกหญ้า นาวาบุญนิยม (อ.เมือง จ.สกลนคร)
"เรื่องอื่น คือ มีปัญหาทางสกลนคร ได้มีห้างเพิ่มขึ้น คือ แมคโครและเทสโกโลตัส
และกำลังจะสร้างเพิ่มขึ้นอีกในย่านใจกลางเมือง จึงทำให้ร้านเล็กๆปิดตัวไปหลายร้านแล้ว
และร้านของแห้งทั่วไปที่ขายอาหารธัญพืชก็ขายออกลำบาก ดิฉันจึงเห็นชัดในเวลานี้แล้วตามที่คุณนิติภูมิเคยพูดไว้......"
ข้อควรปฏิบัติในขณะแจกอาหารในโรงบุญ
" ๑. ผู้ตักอาหารแจกควรรักษาเอกลักษณ์ "ผู้ให้ไหว้ผู้รับ"
๒. สมาชิกควรแต่งกายถูกเอกลักษณ์ของชาวอโศก เป็นชุดเรียบง่ายสีเข้ม
๓. สมาชิกกลุ่มที่มาร่วมงานจะมีป้ายชื่อติดเสื้อ
๔. รักษามารยาทการแจกอาหาร ไม่กินอาหารไปด้วยแจกไปด้วย มีอัธยาศัยยิ้มแย้มแจ่มใส
พูดคุยเป็นกันเองกับผู้มารับแจก เป็นต้น
๕. สมาชิกนำผ้ากันเปื้อนและหมวกคลุมผม(ถ้ามี)มาใช้ในงานด้วย รวมทั้งมีดและเขียง(ถ้าสามารถนำมาได้)
๖. งดบริจาคเป็นเงินในวันงาน ยกเว้นขนมและผลไม้
๗. สมาชิกท่านใดมีหนังสือและเท็ปธรรมะ (ประเภทเท็ปธรรมคีตะ, เท็ปท่านจันทร์,
เท็ปเกี่ยวกับสุขภาพ หรือเท็ปธรรมะที่ฟังง่ายๆ) ขอให้รวบรวมนำมาแจกแก่ผู้สนใจในงานด้วย
"
จิ้งจกเก็บตกมาจากรายงานการประชุม กลุ่มปราการอโศกของปีที่ ๒๐ ครั้งที่
๖/๔๖ (๕ ต.ค. '๔๖) ดูเข้าท่าดีเพื่อไว้เป็นคู่มือจัดโรงบุญ
การเดินทางของชีวิต
จากญาติธรรม ไพโรจน์ ศรีทันดร (อ.เทิง จ.เชียงราย)
"เมื่อมาพิจารณาทบทวนชีวิตและอ่านสารอโศก ทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น มีความเสียสละ
และอดทนต่อชีวิตตนเองมากขึ้น มีกำลังใจที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าต่อไป เพื่อจะพบความสุขที่แท้จริงของชีวิต
แม้บางครั้งจะท้อแท้กับโชคชะตาและวาสนาที่ต่ำต้อย ก็ทำให้มีพลังใจผลักดันให้ก้าวเดินไปในทางที่ดีงามของชีวิตต่อไป"
สาธุนี่แหละชีวิตมนุษย์เราก็เท่านี้
๑. เสียสละ-อดทน ต้องฝึกตน
๒. เชื่อมั่นและศรัทธาในกฎแห่งกรรม และเราจะเปลี่ยนจาก "วิบาก"
เป็น "บารมี" ให้ได้
หมายความว่าแม้ขณะรับเคราะห์เราก็จะปรับวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการปฏิบัติธรรม เรียนรู้เท่าทันผัสสะเสมอ
ปล่อยวางในบางครั้งและอยู่กับทุกข์ให้ได้
จุ๊ย์ๆๆๆ
ขบวนการเติบโตของต้นพุทธะต้นเล็กๆ
ญาติธรรม เสาวลักษณ์ บ่องาม (อ.เมือง จ.นครราชสีมา) เป็นตัวอย่างชีวิตที่กำลังค่อยๆ
พัฒนาตัวเอง ทีละก้าวๆโดยความมีน้ำใจของชาวอโศกรุ่นพี่ๆ
"เมื่อตุลา'๔๗ ดิฉันได้เจอกรักน้ำเพชรที่ร้านอาหาร และได้ตามไปที่สีมาอโศก
ท่านได้สอน อบสมุนไพร และได้สนทนาธรรมกับสิกขมาตุนวลนิ่ม ชาวหินฟ้า ท่านได้สอนให้ปลูกผักกินเอง
โดยไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลง และได้พูดคุยกับแม่ใจบัว เขาได้ให้หนังสือมาอ่านหลายเล่ม
เริ่มต้นที่ศีล ต่อมาก็ไปร่วมฟังธรรมก่อนฉันบ่อยๆ และได้ดูการทำแชมพู น้ำหมักชีวภาพ
แม่กรักได้สอนทำน้ำลูกยอ น้ำผักสด และได้ไปหัดทำอาหารที่โรงอาหาร และได้ไปช่วย ที่ฐานแปรรูป
ต่อมาก็ห่างไปบ้าง และพอดิฉันมีความไม่สบายใจ ก็อยากไปวัด หาสิกขมาตุนวลนิ่ม
ได้สนทนาธรรมเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว ท่านก็สอนให้ดิฉันกินผัก วันเกิดลูก
วันเกิดสามี วันเกิดตัวเอง วันพระ สรุปก็อาทิตย์ละ ๔ วัน ดิฉันก็พยายามทำอาหารผัก
ส่วนมากกินเอง เกือบทุกวัน และก็ได้ซื้อพวกเห็ด แชมพู อื่นๆ ที่วัด หรือร้านอาหาร
ท่านได้จุด ประกาย ให้ดิฉันเริ่มต้นปฏิบัติธรรม ค่อยๆเป็นไปโดยไม่รู้ตัว ท่านบอกให้ดิฉัน เริ่มต้นชีวิตใหม่
ซึ่งดิฉันกำลังพยายามทำอยู่ ซึ่งท่านได้ทำให้ดิฉันได้เข้าใจ ถึงธรรมะ ซึ่งดิฉัน หาทางพ้นทุกข์อยู่นานมาก
ตลอดเวลา ๔๔ ปีแล้วชีวิตเริ่มเบา และลดกิเลสไปได้บ้าง
ฝึกฝนเรียนรู้หาประสบการณ์
"การถือศีล ๕ ข้าพเจ้าทำผ่านแค่ ๔ ข้อเอง ยังเหลืออีก ๑ ข้อ คือศีลข้อที่
๔ พูดปด (มุสาวาทา เวรมณีสิกขา ปทังสมาทิยา มิ) เพราะด้วยนิสัยเดิมของข้าพเจ้าเป็นคนพูดมาก
พูดเก่ง ขี้เล่น แกล้งหยอกล้อเพื่อน เคยพยายามทำดู แต่เพื่อนๆบอกว่า รับไม่ได้ ที่ข้าพเจ้าเงียบ สงบเสงี่ยมอย่างนี้
เอาเป็นว่าข้าพเจ้าจะพยายามลดความรุนแรงของพฤติกรรมลง...."
ญาติธรรม นิตยา ยิ่งเจริญ (อ.พร้าว จ.เชียงใหม่) กำลังตั้งไข่ล้มต้มไข่กินในศีลข้อที่
๔ ใหม่ๆก็อย่างนี้แหละเงียบขรึมโต่งไปอีกด้าน ต่อไปก็จะค่อยๆลงตัวขึ้น ไม่ต้องกังวล
เมื่อก่อนพูดเพราะอยากพูด พูดเพื่อตัวเอง แต่ต่อไปเราจะพูดเหมือนกันพูดเพื่อคนอื่น
ถือเป็น การยกระดับการพูดขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง จุ๊ย์ๆๆๆ
บันไดแห่งความดี
วิญญาณนักปฏิบัติธรรมเป็นอย่างไร จากญาติธรรมพวงเพชร จิรภัทรพงษ์ (อ.เมือง
จ.ฉะเชิงเทรา) "อ่านแล้วยิ่งทำให้เกิดความตั้งใจเพียรพยายาม ที่จะปฏิบัติลดละ สิ่งที่ไม่ดี ในตัวเองให้ดียิ่งๆขึ้นไป
โดยเฉพาะความโกรธซึ่งเป็นกิเลสตัวร้ายกาจที่อยู่ในใจของข้าพเจ้า รู้สึกเบาบาง ลงไปเยอะมาก"
จิ้งจกขอสรุปดังนี้
๑. ค้นหาสิ่งที่ไม่ดีเพื่อแก้ไข
๒. ลดสักกายทิฏฐิของตัวเอง จาก "ของกู" ไปสู่ "ตัวกู"
๓. ระลึกอยู่เสมอ จิตที่สบาย แปลว่า "เสือหลับ" "ผัสสะ"
จึงจำเป็นสำหรับการ "ฆ่าเสือ"
๔. หมอชีวกะ ท่านสามารถเอาต้นไม้ทุกต้นมาทำยารักษาโรคได้หมด นักปฏิบัติธรรม ต้องย่อย ทุกโจทย์เป็นการปฏิบัติธรรม
๕. เราจะเป็นกสิกรโลกุตตระ นั่นก็คือขยะทุกชิ้นต้องเอามาหมักให้เป็น "ปุ๋ย"
เราจึงไม่ รังเกียจขยะ ! จุ๊ย์ๆๆ
ตัวช่วยของคนดี
จากญาติธรรมจิตต์ลัดดา สุภานันท์ (พระโขนง กทม.) เล่าปรากฏการณ์ทางจิตมา
"ดิฉันทำงานมามากกว่า ๒๐ ปี เริ่มเหนื่อยและอยากหยุดพัก แต่พอไปเจอญาติธรรม
ท่านก็ให้ข้อคิดว่า ควรทำนะเราจะได้มีคุณค่า และได้รับใช้สังคม
มาช่วงหนึ่ง ปีที่ผ่านมานี้ ใจดิฉันรับไม่ค่อยได้ เนื่องจากมีหมอท่านหนึ่งบอกว่า
ถ้าตรวจเสร็จแล้ว ลุกจากม้านั่งเมื่อไหร่ จะไม่ตรวจอีก ทั้งๆที่ตอนนั้น เพิ่งเป็นเวลา
๑๐.๓๐ น. ดิฉัน สงสารผู้ที่ มาจากไกลๆ ไม่ว่าจะเป็นต่างจังหวัดหรือเขตรอบนอกปริมณฑลของ
กทม. ดิฉันมานั่งนึก พิจารณาว่า ทำไมเราไม่สงสารผู้ที่ป่วย มาหา แล้วไม่ได้ตรวจต้องผิดหวังกลับไป ต้องมาใหม่ ในสัปดาห์ต่อไป
ไหนจะค่ารถ ค่าอาหาร ฯลฯ เมื่อนึกก็ได้แต่หดหู่ในใจ......"
คนดีถ้าไม่มีเบรค ชีวิตจะมีแต่ทุกข์โศกไม่รู้วาย
คนดีจึงต้องมีผู้ช่วยพระเอกเป็นหน่วยกู้ภัยของเขา นั่นก็คือ "อุเบกขา"
ถ้าช่วยไม่ได้ ก็ต้องหัดวาง
คนที่จะมีสิทธิ์ใช้อุเบกขา ต้องเป็นคนที่มี "เมตตากรุณา" เท่านั้น
ผิดจากนี้เขาเรียกคนดีปลอม ! จุ๊ย์ๆๆๆ
การทำงานจะทำให้เรามีโอกาสปฏิบัติธรรม
"ชมร.จะเผยแพร่ระบบบุญนิยม ซึ่งทุกคนต้องการ แต่ก็มีส่วนน้อยที่ทำให้ระบบไขว้เขว มีสักกายทิฏฐิ
ที่ยึดเริ่มจากความคิดเห็น
เราต้องดูองค์รวม พยายามเคร่งครัดตัวเอง ให้ดีขึ้น ถือศีลให้เคร่งครัด และต้องทำ อย่างต่อเนื่อง
บรรยากาศใน ชมร. ยังมีการเสพของเมาอยู่ เมาชาเย็น คือมีอารมณ์ชาเย็นต่อกันก็ปรับไป
จะเกิดสาราณียธรรม มีเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม
มีอะไร ก็แบ่งกัน เป็นสาธารณโภคี
ปรับตัวให้เข้ากันเป็นศีลสามัญตา
ทำความเข้าใจร่วมกันได้เกิด ทิฏฐิสามัญตา
ประสานจุดร่วมสงวนจุดต่าง และจะเกิดความระลึกถึงกันเคารพกันในที
ถ้าเราเข้าใจตัวเองก็จะเข้าใจผู้อื่น สามารถอยู่ร่วมกันได้ดี"
(สรุปจากโอวาทของ สมณะลานบุญ วชิโร ในรายงานการประชุม ชมร. สาขาเชียงใหม่
ครั้งที่ ๓/๒๕๔๗
วันที่ ๑๙ มี.ค. ๒๕๔๗)
ถือศีลต้องรู้ "เจตนา"
จากญาติธรรมสายอรุณ สิงโต (อ.สันทราย จ.เชียงใหม่) รายงานความก้าวหน้าของศีลแต่ละข้อ
จิ้งจกตัดมาอ่านแต่บางข้อ เพื่อเป็นตัวอย่าง
ผลการปฏิบัติธรรมของดิฉันที่ผ่านมามีดังนี้
ศีลข้อ ๑ ดิฉันกินอาหารมังสวิรัติบริสุทธ์แล้วค่ะ แม้มดตัวเล็กๆติดถ้วยชาม
ดิฉันจะหาเศษผ้า เนื้ออ่อนเบาเขี่ยออกจนหมด ถึงจะล้างได้ แม้หนอนติดผัก ก็ไม่ทิ้งลงถังขยะ
ดิฉันจะนำ ไปปล่อย ที่มีหญ้าต้นไม้ให้มันเกาะอยู่อาศัยต่อไปค่ะ
ศีลข้อ ๒ ดิฉันให้อภัยทานแก่คนที่พูดจาเชิงสบประมาท ดิฉันอดกลั้นได้ไม่โต้แย้ง
ตรึกตรองดู ถ้าจริงอย่างที่เขาพูด ก็ไม่โกรธ แต่ถ้าไม่จริงก็ข่มอารมณ์ได้
คิดว่าเขาพูดไม่ดี ก็เป็นกรรม เป็นสมบัติของเขาค่ะ จิตใจของดิฉันสงบเย็นขึ้นมากค่ะ
ศีลข้อ ๓ ดิฉันเห็นว่า การไปเอาของผู้อื่น มาเป็นของตน น่าละอายมาก แม้สิ่งของที่เรา อยากกิน อยากได้จะซื้อ ขณะนั้น
บังเอิญมีคนจะซื้อ สิ่งที่เราต้องการ เหมือนกัน บังเอิญ มีสุดท้ายชุดเดียว
ก็จะเสียสละไปให้เขา ด้วยความยินดี จะแคร์ความรู้สึก ของผู้อื่นมาก เขาจะขอบคุณด้วยรอยยิ้ม
ดิฉันก็อิ่มใจค่ะ ดิฉันไม่ดูดาย ที่จะช่วยเหลือ แม้จะลำบาก ก็เต็มใจ..."
ถือศีลอย่างรู้เป้า ศีลก็จะเลื่อนระดับเป็น "อธิศีล" สูงขึ้นเรื่อยๆ
แต่การถือศีล สักแต่ว่าแค่ผ่านๆ ขอไปที ศีลก็จะตกต่ำเป็น "ศีลพตปรามาส"
จุ๊ย์ๆๆๆ
ทำไมถึงเลิกกินเนื้อสัตว์ไม่ได้
จากญาติธรรมกาญจนาภรณ์ ฝากฟ้าดิน (อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม) "ดิฉันจะพยายาม เอาอาวุธหมายเลข
๑ ให้ได้ คือ กินมังสวิรัติ ตลอดไป จนตาย....ยอมตาย...ค่ะ ซึ่งดิฉันต่อสู้ มาตั้งแต่ปี
๒๕๓๓ จนกระทั้งเดี๋ยวนี้ยังไม่ชนะเลยค่ะ ดิฉันจะไม่ยอมแพ้จะสู้ สู้ สู้ สู้ตายค่ะ...."
สาธุๆ เลิกเนื้อสัตว์ไม่ได้เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือ "ความอร่อย"
และข้อ ๒ คือ "ความสะดวก"
พฤติกรรมหัวหอกในการเผยแพร่ศาสนาก็คือ "ไม่กินเนื้อสัตว์" ถ้าคนเราเริ่มตรงนี้ได้ แสดงว่า เขาได้ฝึก
"ลดตัวตน" ลงมาระดับหนึ่ง
เขาได้เสียสละมาพอสมควร คนเราจะทำความดีแต่ไม่ยอมเลิกเนื้อสัตว์ เขาจะไปดีแบบไหน?
"ไม่กินเนื้อสัตว์" จึงเป็นพฤติกรรมแห่งความดีขั้นต้น ก่อนที่จะก้าวไปสู่ความดีเรื่องอื่นๆ
เพราะพูดเรื่องนี้ ไม่รู้เรื่อง เรื่องอื่นๆจะเข้าใจได้อย่างไร?" จุ๊ย์ๆๆๆ
ไฟเผาขยะ ตบะเผากิเลส
คุณอำนาจ คงวัน รายงานการตกร่วง โดยล้มแล้วลุก และตั้งตบะเพิ่ม คือ ไม่กินน้ำพริก
น้ำจิ้ม
คุณอุ่นไอดิน จากการตั้งตบะ ตัดผมสั้น ใช้ผ้าถุง และพยายามจดบันทึกทุกวัน
ตั้งตบะ เพิ่มคือ ไม่ทานขนมกุยช่าย
คุณเฉลิมพล ผลประพฤติ รายงานตบะที่ผ่านมา เช่น ไล่ยุงไม่ให้ตาย บกพร่อง ๕๐%
จะแก้ไข มาโรงเจ อาทิตย์ละครั้ง มาครบ ๓ ครั้ง แต่ในอาทิตย์สุดท้าย และถ้าโกรธ
มื้อถัดไป จะอดอาหาร ผ่านมา ๓ สัปดาห์ งดไป ๑ มื้อ
คุณสมนึก มาลัยทอง กิน ๒ มื้อ ไม่ดื่มน้ำขวด ไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ ถือศีล
๗ ข้อ ตั้งตบะเพิ่ม คือ จะตื่นตี ๔ ทุกวัน
เอาตบะเก่าๆ ปี ๒๕๔๕ ของกลุ่มจันทอโศกมาลงไว้เพื่อสร้างบรรยากาศ "ตบะหรรษา"
การปฏิบัติธรรมที่ "ไร้ตบะ" ก็เหมือนพระไม่ใส่จีวร เหมือนเข้าสนามรบด้วยมือเปล่า
จุ๊ย์ๆๆๆ
- จิ้งจกส์ -
คติประจำเดือนนี้
ไม่ต้องรอให้ใครอื่นเปลี่ยนแปลง
เราต้องรีบแก้ไขตัวเองก่อน
-- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๒
เมษายน ๒๕๔๘ -
|