ตอน... ฤา นานาสังวาส จะสูญสิ้นไปจากใจของเถรวาทไทย


เมษายน ๒๕๔๘

๑. ข้อคิดกับเยาวชนอโศก
๒ เม.ย. ๒๕๔๘ ที่ศีรษะอโศก ก่อนงานปลุกเสกฯจะเริ่ม บรรดาศิษย์เก่าสัมมาสิกขานัดรวมตัวกัน ร่วมสัมมนาเชิง จิตวิญญาณ เป้าหมายเพื่อหลอมรวมใจกัน โดยมีกิจกรรมต่างๆ พบสมณะสิกขมาตุ สุดท้ายนิมนต์ให้พ่อท่าน ให้ข้อคิด กับบรรดาศิษย์เก่าฯที่ได้มาร่วมประมาณ ๖๐ คน จากบางส่วน ที่พ่อท่านให้ข้อคิดดังนี้ "การที่เราดำริจัดงานคืนสู่เหย้าฯ เป็นวิธีการของมนุษย์ ที่ไหนเขาก็ทำ เพราะว่า มนุษยชาติเป็นสัตว์โขลง ไม่ใช่สัตว์ปลีกเดี่ยว แล้วรวมตัวกันสร้างสรร มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อกันและกัน ไม่ใช่รวมตัวเพื่อมากิน สูบ ดื่ม เสพ สนุกเฮฮากันเท่านั้น

นับวันที่จะมีน้องๆจบออกมาอีกเรื่อยแหละ อาตมาไม่เชื่อว่าศิษย์เก่าของชาวอโศก ไปแล้วนี่ไม่หันหลัง กลับมาเลย ไม่ใช่เขา ไม่รู้ว่าชาวอโศกเรามุ่งหมายอะไร ให้โง่ตายยังไงก็ไม่น่าจะไม่รู้ เพราะว่ามันซึมซับ Osmosis กินอยู่หลับนอนร่วมกันมา อยู่ซึมซับกันทุกวิถีชีวิต ความซึมซับถ่ายเท ทางจิตวิญญาณ ทางพฤติกรรม นิสัยใจคอ แม้กระทั่งถึงอุดมคติ อุดมการณ์ อุดมคติ นี่คือความคิด สูงสุดยอดแห่ง ความคิดเรียกว่าอุดมคติ อุดมการณ์ นี่คือการกระทำให้มีผลสู่เป้าหมายที่เป็นอุดมคติ

มารวมตัวกันนี่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ก็ให้พวกเราคิดดีๆ สำหรับผู้ที่ยังไม่อยากจะมาเสียสละ ไม่อยากมา รวมตัว ไม่อยาก มาสร้างสรร มันยังเห็นแก่ตัวที่จะต้องไปทำงานของข้า ส่วนของข้า หรือข้าไม่อยากมาทำ ไปทำตามที่ข้าชอบ สบายๆใจ ฉันชอบฉันก็ทำตามใจฉัน มันไม่นึกถึงว่าเออเราจะทำอย่างไร ให้พฤติกรรม ของเรา ให้กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเรา มันมาเป็นประโยชน์คุณค่า มันมาหลอมรวมกับ พฤติกรรม ของกันและกัน ที่จะสร้างสรรอะไรขึ้นมา เสร็จแล้ว ถึงวาระหนึ่ง เราก็ตาย

พวกเราทุกวันนี้ ทำอะไรหลายๆอย่าง ถ่วงดุลสังคมเขาไว้ได้พอสมควร เพราะฉะนั้นคิดดีๆ ตรวจสอบ ตัวเองดีๆว่า เราเองเรานี่ แต่ละวันแต่ละคืนผ่านไปนี่ เราคิดยังไง คิดอย่างนักสร้างสรร หรือคิดอย่างนักเสพ หรือ คิดอย่างนักทำลาย

ฉะนั้นเมื่อเรารู้จักความสำคัญของชีวิตว่าชีวิตเรา โลกทุกวันนี้น่าสงสาร คนมันไม่มีคุณธรรม ไม่รู้จัก สัจธรรม ไม่รู้จักโลกีย์ โลกุตระ ไปตามอำนาจกิเลส กิเลส ๑๐๐% มีคนแสวงหาหรือว่าคนที่จะฝึกฝน อยู่ในมุมของด้านศาสนา ไม่เท่าไหร่

พวกเรานี่ รู้จักสัจธรรมแล้ว ยังเหลือแต่เอาจริง อดทน และบุกบั่นเท่านั้นเองที่เราจะช่วยสังคมโลกได้

นายกฯก็กระตือรือร้นที่จะพัฒนาประเทศ แต่ไม่มีแนวคิดมาในแนวทางที่จะสร้างสรรอันเป็นโลกุตระเลย จะเอาแต่โลกียะ จะเอาความรุ่งเรืองก้าวหน้า ให้มันเทียบทันตะวันตก อเมริกา ท่านยังไม่เข้าใจจุดนี้ แต่ลึกๆอาตมาก็ว่ามีปฏิภาณ อยู่เหมือนกัน รู้ว่าคุณธรรมดี และขาดคุณธรรมก็รู้ แต่ยังไม่มีท่าทีว่า จะมาโน้มเน้นระดมโลกุตรธรรม เพื่อที่จะสร้างคน ให้มีธรรมะ ที่เป็นโลกุตระ

อาตมายิ่งมองเห็นว่าการกอบกู้สังคมนี่ ทางโลกียะมันไปไม่รอดจริงๆ เขารู้แล้วล่ะ แต่เขาไม่มี ทางออก เราเสนอไป เขาก็ฟังเข้าใจ แต่เขาไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ยั่งยืน ใครมันจะไปทนได้ว้า อย่างนี้ได้กลุ่มเล็กๆ แค่นั้นแหละ จุลภาค อาตมากำลัง พิสูจน์ตอนนี้ จุลภาคก็จริงแต่เป็นจุลภาคแบบ Pyramidal web เป็นแบบเครือแห เป็นข่ายเครือที่ถักทอ ประสานกัน ในรูปทรงปิรามิดจริงๆ มันมีระดับ มียอด มีกลาง มีสูง มีฐานรับ มีหน่วยแห่งมวลหลากหลาย ไม่เป็นหมู่ใหญ่ ปึกเดียว ก้อนเดียว แต่มีหมู่ย่อยที่มีการเชื่อมโยง พึ่งพาอาศัยกันอย่างสามัคคีแนบแน่น หินแต่ละก้อนไม่อาศัยกันไม่ได้ สานกัน หรือภาษาไทยเราใช้คำว่า "เครือแห" มันไม่สานต่อกันไม่ได้ จุลภาคแต่ละจุด แต่ละส่วนก็จริง แต่มัน จะถักทอ โยงกันไปทั่ว และ ร่วมกันด้วยศรัทธาและปัญญา อาตมาว่าพวกนี้เขาเข้าใจตรงนี้กันไม่ได้

อาตมายืนยันว่านี่โลกุตระ มันทวนกระแส เพิ่งจะทำมาได้ ๓๐ ปี มันยังมีรูปมีร่างมีผลเลย จนกระทั่ง เกิดชุมชนได้ มีการบริหาร จัดการ มีการดำเนินชีวิต แล้วมันก็จะเกิดวัฒนธรรมไปเรื่อยๆๆๆ พวกเรานี่ เป็น pioneer เป็นพวกบุกเบิก เราทำกันไป แล้วจะเป็นตัวอย่าง รุ่นน้องๆก็จะตามมาอีก มันต้องรวมตัวกัน จะต้องสร้าง วัฒนธรรมอันนี้ ต่อเนื่องไปให้ได้ ให้มันเกิดผล ขยายไป ซึ่งเราไม่บังคับกันหรอก ใครเห็นดี เห็นด้วยก็มากัน ค่อยๆทำกันไป

ก็พยายามพากเพียรเอา ใครบกพร่องอะไรก็แก้ คนเรามันมีผิดมีพลาด ทุกคนเคยผิด ไม่ใช่ว่าไม่มีผิด แต่ผิดบางอันนี่ มันผิดลึกเราก็ไม่เอา คนนี้ให้ออกไป ให้เข้ามาไม่ได้ คนไหนให้ออกไปแล้วมีวาระเวลาเข้ามา ก็เหมือนกับลงโทษ ลงทัณฑ์กันไป ไม่เป็นไร ก็ต้องพยายามสำนึก พยายามที่จะแก้ไขปรับปรุง พระพุทธเจ้า สรรเสริญ คนที่ผิดแล้วรู้ผิด แล้วกลับตัวได้ ดีแล้วก็อย่าไปเที่ยวถล่ม เอาแต่เรื่องเก่าๆ เรื่องอดีต ที่เขา แก้ไขแล้ว โทษทัณฑ์ เขาก็จบแล้ว แก้ไขแล้ว ปรับปรุงแล้ว เขาไม่เวียนกลับไปเป็นอีกแล้ว ก็ยังเอา ไอ้เรื่องเก่า มาพูด มาอะไรต่ออะไรกันอยู่นั่นแหละ คนนั้นก็ติดยึด ไม่รู้จักกาล เทศะฐานะ ไม่รู้จักวาระ ไม่รู้จักสิ่งที่ควรจะเป็น ก็อย่าไปพึงทำ"



๒. คำแนะนำ...เลือกเรียนอะไรดี
๑๑ เม.ย. ๒๕๔๘ ที่ราชธานีอโศก เช้านี้ได้รับโทรศัพท์จากญาติธรรมคนหนึ่ง ที่ได้มาช่วยงานในหมู่ ชาวอโศก หลายปี ลูกสาวก็เคยเป็นเด็กนักเรียนพุทธธรรมวันอาทิตย์ ขณะนี้จบ ม.๖ ผ่านการ entrance คะแนนได้ทั้งแพทย์ หรือ ทันตแพทย์ รวมถึง คณะวิทยาศาสตร์ ญาติผู้ใหญ่หลายคนก็เชียร์ให้เรียนแพทย์ หลายคนก็เชียร์ให้เรียนทันตแพทย์ แต่ใจของเด็กคนนี้เอง อยากจะเรียนคณะวิทยาศาสตร์ อยากจะเป็น นักวิทยาศาสตร์ มาตั้งแต่เล็กๆ ขณะนี้กำลังจะรอเวลา เข้ามอบตัวเลือกเรียน แต่เด็กเองยังรู้สึกสับสน ไม่มั่นใจว่าจะเลือกเรียนอะไรดี ญาติธรรมผู้เป็นแม่ จึงติดต่อโทรมา ขอให้พ่อท่าน ช่วยให้คำแนะนำ กับ ลูกสาวของตนด้วย จากบางส่วนของการสนทนาดังนี้

พ่อท่าน : เราเองเป็นคนเรียน คนอื่นก็เป็นคนที่เห็นในกระแสของความควรไม่ควรของสังคม และ ความชอบ ในใจของตน แต่ถ้าเราพิจารณาตัวเรา หนึ่งเราชอบ สองเราเองมีความคิดเห็นของเรา แล้วเรา คิดจะโต้จะต้านว่า คนอื่นอย่ามาเกี่ยวข้อง กับความคิดเห็นของเรา อันนี้มันจะเป็นการยึดอัตตา แต่ถ้าเผื่อ เราดูตัวเราเองแล้ว ถ้าเราจะเรียนหมอ ตามที่กระแส ของทุกๆคนทั่วไป เขาก็เห็นดีเห็นด้วย ถ้าเราเอง ดูแล้วก็เห็นว่า เราสามารถที่จะเรียนหมอก็ได้ มันไม่ได้ยากเย็นอะไร จะเรียน สิ่งที่เราชอบก็ได้ อาตมาว่า พิจารณาแล้ว หนึ่งถ้าเราเรียนสิ่งที่เราชอบ มันเป็นการบำบัด อัตตาของเราเอง มันก็ทำให้อัตตา ของเราโต แล้วเราก็ได้สมใจของเรา ทีนี้เรียนมาแล้ว ค่าของความเห็นของหมู่กลุ่ม ความเห็นของคนหมู่มาก แน่นอน มันก็น่าจะมีราคากว่า น่าจะมีความเหมาะควรกว่า เพราะฉะนั้นถ้าเราเอง ไม่ได้ขัดข้องจิตใจของเรา มากเกินไป จะเรียนหมอ ก็เรียนได้ นอกจากว่า ถ้าเราไปเรียนแล้ว มันจะฝืนจริงๆ ไม่ไหวหรอก เรียนแล้ว ทรมานแน่นอนเลย ก็อีกเรื่องหนึ่ง ก็เรียนที่เราถนัดก็แล้วกัน แม้มันจะบำบัดอัตตาตนเอง ก็ทำไงได้ เพราะเราเอง ถ้าไปเรียนแล้วมันฝืนจริงๆ เราทุกข์ทรมานแน่ อันนี้เราก็ตัดสินใจของเราว่า เราก็ควรเรียน สิ่งที่คิดว่าควรจะเรียน แต่ถ้าเผื่อว่า เราก็เรียนได้ มันก็ไม่มีปัญหาอะไร อาตมาก็ว่า มันน่าจะตัดสิน เรียนตามความเห็น ของคนหมู่มากนะ

เด็ก : คืออะไรล่ะคะ ในความเห็นของหลวงปู่

พ่อท่าน : อ้าว ก็ไหนว่าความเห็นของคนส่วนมากเราน่าจะเรียนหมอไม่ใช่เหรอ

เด็ก : อ๋อ ก็ใช่ค่ะ

พ่อท่าน : คนหมู่มากก็เห็นว่าเราน่าจะเรียนหมอ คะแนนเราถึง เราเรียนได้ เราเลือกได้ แต่เราไปเลือก วิทยาศาสตร์ใช่ไหม

เด็ก : อ๋อ ไม่ใช่ค่ะ เลือกทันตฯค่ะ

พ่อท่าน : แล้วทีนี้จะเลือกทันตฯกับหมอนี่ยังไงกันล่ะ มีความเห็นยังไงกัน

เด็ก : ก็คืออย่างที่บอกค่ะ น้าก็เรียนทันตฯใช่ไหมคะ ส่วนอาก็เรียนหมอ โอ้โหแล้วก็ตีกัน

พ่อท่าน : อ๋อ ทีนี้ก็ต้องใช้ความเห็นของเราแหละ เราคิดว่าถ้าเราจะเรียนทันตฯ กับที่เราจะเรียนหมอ โดยตรงนี่ อันไหน ที่เราจะทำได้ดีกว่า อันไหนที่เราถนัดกว่า ชอบกว่าอะไรก็ได้ ก็อ่านตรงนั้น ถ้าคะแนน สองข้างเท่ากัน ความเห็นข้างนอกเนี่ย น้าๆ อาๆ คะแนนเท่ากัน เราก็มาดูที่คะแนนของเรา เราตรวจ อารมณ์ ตรวจจิตใจของเราจริงๆว่า เอ้อ เราถนัด หรือว่าเราเห็นดี เห็นชอบ เราจะยินดีอันใด จะทำอะไร ได้ดีกว่า เราก็เอาคะแนนของเรามาบวก (อ๋อ) เป็นตัวตัดสิน อีกทีหนึ่ง

เด็ก : แต่ว่าคะแนนมันได้ทั้งสองอันเลยค่ะ คือมันติดทั้งสองอันค่ะ

พ่อท่าน : คะแนนที่อาตมาว่านี่คือคะแนนของพี่ ป้า น้า อา เพื่อนฝูงนั้นหนึ่ง กับคะแนนในความถนัด ของเราอีกหนึ่ง (อ๋อ) ถ้าคะแนนของเรานี่ มันอะไรก็ได้เราก็เอาคะแนนข้างนอก ว่าอะไรมันมาก คะแนน ทันตแพทย์มาก หรือคะแนน แพทย์ศาสตร์มาก เราก็เอาอันนั้น

เด็ก : อ๋อ ต้องดูคนรอบข้างด้วยเหรอคะ

พ่อท่าน : เอ่อ ดูคนละครั้งอีกทีหนึ่ง คะแนนของเรามันกลางๆใช่ไหม คือเราจะไปอันไหนก็ได้ ถ้าเราจะไป อันไหนก็ได้ เราก็เอาคะแนนของพี่ ป้า น้า อา พวกข้างนอก ฝ่ายไหนเขาจะมากล่ะ ทันตแพทย์มาก

เด็ก : ก็หมออยู่แล้วล่ะค่ะ

พ่อท่าน : ถ้าหมอมาก เราก็ไปทางหมอ จริงๆแล้วมันอยู่ที่เราเป็นตัวหลัก ถ้าว่าเอ้อเราไม่มีปัญหา เราจะเรียน อะไรก็ได้ มันก็ไม่ขัดข้องอะไร มันก็ไม่มีปัญหา มันก็ไม่ทุกข์ แล้วมันก็เป็นไปได้ แต่ถ้าเรา ขัดเขินจริงๆ เราฝืนเหลือเกิน อันนี้มันก็ทุกข์ของเรา แม้ข้างนอกเขาจะมีมากกว่า เราก็จำเป็นที่จะต้อง ทำตามความเห็นของเรา

เด็ก : ค่ะ แต่หนูก็ลังเลใจ เพราะว่าพอหนูจะเลือกทันตฯเขาก็บอกว่ามันแคบไป ทำไมไม่เลือกหมอล่ะ มันกว้างกว่า เขาก็บอกว่า มันช่วยคนๆๆ

พ่อท่าน : ฮ่ะๆๆ มันก็ช่วยทั้งนั้นแหละ แต่ว่าทันตแพทย์มันก็ช่วยในกรอบที่แคบหน่อยหนึ่ง มันก็แค่ด้านฟัน แต่ถ้าเป็นแพทย์ ก็มี Scope ที่กว้างขึ้น ก็ว่ากันไป เอ้า ไตร่ตรองเอง อาตมาได้แต่แนะวิธีเลือกเฟ้นให้แล้ว

เด็ก : อ๋อ ได้ค่ะ ค่ะนมัสการค่ะ


๓.ผลการประเมินโครงการพลังกู้ดินฟ้าประชาเป็นสุข
งานปลุกเสกฯ ครั้งที่ ๒๙ วันที่ ๓-๑๐ เม.ย. ๒๕๔๘ ที่ศีรษะอโศก มีกิจกรรมไม่ต่างจากปีที่ผ่านๆมา มากนัก ที่เพิ่มขึ้นมา มีการนำเสนอภาพเหตุการณ์วันวิสาขบูชา'๒๔ ที่เกาะลอยสวนลุมพินี เพื่อให้เห็น รูปรอย ของการจัดงานวิสาขบูชา ที่ชาวอโศก จะไปร่วมในปีนี้ ที่พุทธมณฑล โดยบอกถึงงาน ๓ อย่าง ที่พวกเราได้รับให้จัดทำก็คือ โรงบุญมังสวิรัติ นิทรรศการ หนังสือ (แจก) พ่อท่านได้บอกถึง นโยบายงานนี้ เราจะไปเป็นผู้รับใช้ งานเก็บกวาดทำความสะอาดต่างๆ (๕ ส.) ที่พวกเราถนัด ก็จะทำกันให้เป็นสำคัญ ส่วนผู้จะไปร่วมงานให้ใช้กลดอย่างเดียว เต็นท์หรือมุ้งห้ามเด็ดขาด รวมถึง การเป็นคนเท้าเปล่า คือ ไม่สวมรองเท้าด้วย สำหรับพ่อท่านนั้นอาจจะไปอยู่ที่พุทธมณฑลตลอด ๙ วัน หรืออาจจะไปพัก ที่ปฐมอโศกก็ได้ ยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดทันที ดูสถานการณ์จริง ในช่วงใกล้ๆงาน แล้วค่อย ตัดสินใจ [แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่คณะสงฆ์กระแสหลัก ออกมาตั้งข้อรังเกียจ เดียดฉันท์ ว่าได้กระทำ บัพพาชนียกรรมเราแล้ว จะให้มาร่วม จัดงานวิสาขะอย่างนี้ ไม่ได้ ทำให้ชาวอโศก และประชาชน อีกจำนวนมากพลาดโอกาส ที่จะทำบุญ อันยิ่งใหญ่นี้]

อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือผลการประเมินโครงการพลังกู้ดินฟ้าประชาเป็นสุข ที่มี ดร.บัญชร แก้วส่อง และคณะ ทั้งหมด ๒๔ คน (ระดับดอกเตอร์ ๕ ท่าน) ได้นำเอาผลการประเมินบางส่วน มาบอกเล่า ให้ชาวอโศกได้ทราบ ซึ่งผลการประเมินฯนี้ ได้นำเสนอต่อสำนักงาน กองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่าย กสิกรรมไร้สารพิษ แห่งประเทศไทย (คกร.)

พื้นที่ในการประเมินคัดเลือกจากพื้นที่ของ ๑๔ ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์แม่ข่าย ๑ ชุมชนศาลีอโศก และชุมชน ดอยราย ปลายฟ้า ศูนย์แม่ข่าย ๒ ชุมชนราชธานีอโศก และชุมชนสวนส่างฝัน ศูนย์แม่ข่าย ๓ ชุมชน ศีรษะอโศก ชุมชน ศรีโคตรบูรณ์อโศก และชุมชนร้อยเอ็ดอโศก ศูนย์แม่ข่าย ๔ ชุมชนสีมาอโศก ศูนย์แม่ข่าย ๕ ชุมชนหินผาฟ้าน้ำ ศูนย์แม่ข่าย ๖ ชุมชนสันติอโศก และ ชุมชนศรีบูรพาอโศก ศูนย์แม่ข่าย ๗ ชุมชนปฐมอโศก และชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนอินทร์บุรี และศูนย์แม่ข่าย ๘ ชุมชนทักษิณอโศก นอกจากนี้ ได้เก็บรวบรวมข้อมูลบางด้านจากศูนย์อื่นๆด้วย

ในการเก็บรวบรวมข้อมูลทีมผู้ประเมินใช้วิธีการหลายวิธีประกอบกัน ได้แก่ การเก็บรวบรวมข้อมูล จาก เอกสาร การเก็บ รวบรวมข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงาน และผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งมีทั้งการสัมภาษณ์ กลุ่มเฉพาะ และการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ปฏิบัติงานบางราย การเก็บรวมรวมข้อมูล จากเวทีสัมมนา และเวที การเสนอ ผลงาน การเก็บรวบรวมข้อมูล ผ่านกระบวนการ เยี่ยมเยียน และพูดคุย อย่างไม่เป็น ทางการ และ การเก็บรวบรวมข้อมูล จากการเข้าร่วม และสังเกต กิจกรรมของโครงการ

จากเอกสารรายงานฉบับสมบูรณ์ ผลการประเมินโครงการพลังกู้ดินฟ้าประชาเป็นสุข ที่ดร.บัญชร แก้วส่อง และคณะ ได้เสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เครือข่ายกสิกรรม ไร้สารพิษ แห่งประเทศไทย (คกร.) เมษายน ๒๕๔๘ (หน้า ๑๔๘-๑๔๙)

๗.๓.๑ ข้อเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

ผลจากการประเมินกระบวนการในเบื้องต้น ได้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาสำหรับ สสส. ดังต่อไปนี้

๑) สสส.ควรสนับสนุนโครงการพลังกู้ดินฟ้าประชาเป็นสุขที่ใช้ศาสนาเป็นแกนกลางของการ ขับเคลื่อน งานพัฒนา สุขภาวะ อย่างต่อเนื่อง ผลจากการประเมินที่พบว่า โครงการพลังกู้ดินฟ้า ประชาเป็นสุข มีคุณค่า ต่อการสร้างเสริมสุขภาวะ แบบองค์รวม ของประชาชนในหลายประการ เช่น การลดอบายมุข โดยเฉพาะลด ละ เลิกการดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ การลดการใช้สารเคมี ทางการเกษตร โดยทำการผลิต ปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง การกินอาหารที่ปลอดภัย ความรู้สึกเสียสละ แบ่งปัน การรวมกลุ่ม ในการทำงาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพสังคม และสุขภาพ จิตวิญญาณ ซึ่งกระบวนการในการเสริมสร้าง สภาวะ สุขภาพ ดังกล่าว มาจากจุดเด่น ของโครงการ ที่วางน้ำหนักของ การพัฒนาไว้ที่ คุณค่าทางศีลธรรม ของหลักศาสนาพุทธ ที่นำมาใช้ในกระบวนการพัฒนาคน ให้เข้าสู่ สภาวะ ความเป็นคน ที่สมบูรณ์ ประกอบกับคุณค่าทางเศรษฐกิจต่อวิถีชีวิต ที่กสิกรกำลังเผชิญอยู่ โดยใช้กระบวนการทำงาน ที่มีทั้งสมณะ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตนชอบ และมีศักยภาพในการพูดคุย แลกเปลี่ยน สร้างศรัทธา ได้สูงมาก มีผู้ปฏิบัติงาน ที่เป็นคนวัด และคนนอก ที่ค่อนข้างมีศีลเคร่งครัด มีความอ่อนน้อม ถ่อมตน มีความตั้งใจและจริงใจต่อการทำงาน สามารถเป็น แบบอย่างที่ดี และมีแหล่งเรียนรู้ที่เป็น ชุมชน ของชาวอโศก ซึ่งมีกิจกรรมที่เอื้อต่อการถ่ายทอด คุณค่าทาง ศีลธรรม มีตัวอย่างจริง ที่จับต้อง และ สัมผัสได้ มีบุคคลจริงที่มีประสบการณ์ตรง ที่สามารถ ถ่ายทอดได้ มีโครงข่าย ความสัมพันธ์ ในการทำงาน กว้างขวาง ทั่วประเทศ และที่สำคัญมีระบบ การพัฒนาที่จะนำ ไปสู่ ความยั่งยืนได้ โดยมีความพยายาม ในการสร้าง ชุมชนต้นแบบ ซึ่งเห็นผล ในเชิงคุณภาพ ได้บางระดับ แต่ต้องการขยายผล ให้เห็นทั้งเชิง ปริมาณ และเชิงคุณภาพ ในระดับชุมชน ดังนั้น สสส. ควรอย่างยิ่ง ที่จะต้องสนับสนุนกิจกรรมให้ต่อเนื่อง เพื่อผลการสร้างศีลธรรม คุณธรรมของ ประชาชน ควบคู่กับ กิจกรรมการผลิต ซึ่งมักจะหาหน่วยงาน หรือองค์กรทำงานในลักษณะนี้ ได้ยากมาก โดยจุดเน้น การสนับสนุน น่าจะอยู่ที่การพัฒนาชุมชนต้นแบบ ให้เป็นรูปธรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ ของสังคมได

๒) สสส. สามารถประยุกต์ใช้ระบบและวิธีการบางอย่างกับโครงการอื่นๆได้ ซึ่งผลจากการประเมิน ที่พบว่า ระบบการพัฒนา ของโครงการพลังกู้ดินฟ้าประชาเป็นสุข เป็นระบบที่บูรณาการ กระบวนการย่อย หลายอย่าง เข้าด้วยกัน โดยเริ่มจากการอบรมเบื้องต้น ในโครงการหลักสูตร สัจธรรมชีวิต และวางระบบ การติดตาม ประเมินผล การทำงาน เพื่อจัดตั้งกลุ่ม คนทำงาน ในเบื้องต้น และคัดเลือกผู้นำ มาอบรม พัฒนาเพิ่มเติม ก่อนจะกลับไปอบรมกสิกร ในชุมชน และทำการเชื่อมร้อยเครือข่าย เข้าหากัน เพื่อสร้าง ความแกร่งให้แก่กิจกรรม พร้อมกับมีการ สร้างเยาวชน ในพื้นที่ ประกอบขึ้นมา มีกิจกรรมการสร้างเสริม สุขภาพโดยตรง ในกลุ่มด้วย และยังมีการจัดมหกรรม เพื่อสร้างการเรียนรู้ แก่บุคคลภายใน และ ภายนอกด้วย ระบบดังกล่าว เป็นระบบ ที่มีความเหมาะสม ต่อการพัฒนาสุขภาวะ ของประชาชน และขณะเดียวกัน ยังพบว่า ความสำเร็จ ของการอบรม ทางด้าน จิตภาพและกายภาพนั้น ส่วนหนึ่งมาจาก การได้ปฏิบัติจริง และเห็นตัวอย่างจริง ซึ่งโครงการ มีวิธีการ สร้างกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง ที่ได้จาก ประสบการณ์ที่ ตกผลึก ของบุคลากร ดังนั้น สสส. ควรสนับสนุน ให้มีการจัดระบบการพัฒนา ที่ผสม ผสานกิจกรรม ทั้งการฝึกอบรมทั่วไป การติดตาม ประเมินผล จัดตั้งกลุ่ม การพัฒนาผู้นำ การเชื่อมร้อย เครือข่าย และ การสร้างเยาวชน ควรคู่ไปใน กระบวนการ โดยใช้วิธีการปฏิบัติจริง และเห็น ตัวอย่างจริง เป็นหลัก ในการสร้างกระบวน การเรียนรู้ และขณะเดียวกัน สสส. ควรให้งบประมาณ สนับสนุนการวิจัย เกี่ยวกับ การสร้างกระบวนการ เรียนรู้ ซึ่งจะมีคุณค่า อย่างยิ่ง ต่อการปฏิรูประบบการศึกษา ของประเทศไทย

๓) การขยายเป้าหมายงานสุขภาวะไปที่กลุ่มเยาวชน ผลจากการประเมิน ที่พบว่า การพัฒนา เยาวชน คนสร้างชาติ โดยเฉพาะ กลุ่มนักเรียนนั้น ปรากฏผลลัพธ์เบื้องต้นที่น่าสนใจมาก เช่น สามารถปรับเด็กเกเร ของโรงเรียน ที่จะถูกไล่ออกจากโรงเรียน ให้กลายเป็นคนดี เป็นตัวอย่าง ของโรงเรียน การสร้างสรร เด็กนักเรียน ทั่วไป ที่เข้าอบรม ให้เป็นคนมีความกตัญญู ช่วยงาน พ่อแม่เป็น เคารพพ่อแม่ ทำงานเป็นกลุ่ม ได้ดี สร้างสรรงานเพื่อส่วนรวมได้ดี และช่วยตนเองได้ ในหลายเรื่อง สิ่งเหล่านี้ ไม่ค่อยจะพบนัก ในระบบ การศึกษาปัจจุบัน ซึ่งเน้นการสร้างคนเก่ง แต่กลายเป็นคนเลว ที่เอารัดเอาเปรียบสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการทำงานพบว่า งบประมาณการดำเนินการ มีน้อย ไม่มีระบบติดตาม ไม่เหมือนกิจกรรม อบรมอื่นๆ ดังนั้น สสส. ควรสนับสนุนการขยายเยาวชน โดยน่าจะเน้น การวิจัยเชิงปฏิบัติการ แบบมี ส่วนร่วมระหว่าง ชุมชนอโศก โรงเรียน และชุมชนของนักเรียน เพื่อค้นหา ระบบการพัฒนา เด็กนักเรียน ให้เป็นคนดี ของสังคม ซึ่งกระบวนการวิจัยดังกล่าว อาจนำสู่ องค์ความรู้ สำคัญ ที่จะช่วยผลักดัน การปฏิรูป ระบบการศึกษา อย่างแท้จริงได้ ในอนาคต มิใช่การปฏิรูป การศึกษา จอมปลอม อย่างในปัจจุบัน

รายงานผลการประเมินฯนี้ มีทั้งหมด ๑๕๖ หน้า เป็นเอกสารเล่มใหญ่ขนาดหน้ากระดาษ A 4 เนื้อหา มีด้วยกัน ๗ บท บทที่ ๑ บทนำ, บทที่ ๒ กระบวนการพัฒนาพลังกู้ดินฟ้าประชาเป็นสุข, บทที่ ๓ ประสิทธิผล การพัฒนา, บทที่ ๔ ชุมชนต้นแบบ, บทที่ ๕ สื่อและการประชาสัมพันธ์, บทที่ ๖ กลไก การติดตามสนับสนุน, บทที่ ๗ สรุปปัญหา อุปสรรค บทเรียนสำคัญ และข้อเสนอแนะ และปิดท้าย ด้วยเอกสารอ้างอิง ข้อความที่ได้คัดลอกมานำเสนอข้างต้นนี้ เป็นส่วนหนึ่ง ของเนื้อหา รายงานผล การประเมินฯในบทที่ ๗ ที่น่าสนใจยิ่งสำหรับชาวอโศก ต่อการพัฒนาตนเอง และ องค์กร ก็คือ ๗.๓.๒ ข้อเสนอ ต่อเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.) จากหน้า ๑๕๐-๑๕๔ แต่น่าเสียดายว่า ในที่นี้ ข้าพเจ้าไม่สามารถ นำมาถ่ายทอดได้ จำต้องข้ามผ่าน เพื่อมิให้ บันทึกนี้ยืดยาวเกินไป

๔. ธรรมานุสติ
กรณีการจัดงานวันวิสาขบูชา จากการที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีดำริให้จัดงาน วันวิสาขะ ให้ยิ่งใหญ่ เพื่อปลุกกระแส ให้คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ได้สนใจปฏิบัติธรรม ชำระจิตใจ ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติบูชา ให้มากกว่า อามิสบูชา โดยมีเป้าหมายไว้ ๓ ปีในการทำให้งาน วิสาขบูชา เป็นที่สนใจ ของต่างชาติมาร่วมกิจกรรมด้วย แบบเดียวกับที่ มุสลิมไปเมกกะ และ ได้มอบหมายให้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นประธานศูนย์คุณธรรม ไปประสานในการจัด งานนี้ โดยมีเค้าโครงคร่าวๆว่า จะเชิญพระจากทุกนิกายมาร่วมกัน น.พ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ผอ. สำนักงาน พระพุทธศาสนา แห่งชาติ เป็นประธานในการจัดงานครั้งนี้ และได้มีการประชุมแบ่งงาน เตรียมงานกันมา หลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่ได้รับการคัดค้านอย่างมาก จากศูนย์พิทักษ์ พระพุทธ ศาสนา แห่งประเทศไทย ด้วยไม่ต้องการ ให้สันติอโศก เข้าไปมีส่วน ร่วมงาน ทำให้เป็นประเด็น ในการวิพากษ์วิจารณ์กันไป ต่างๆ นานา ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย กับการคัดค้านนี้ ในที่นี้ ข้าพเจ้าขอคัดลอกบางส่วน จากข่าว หนังสือพิมพ์ มาให้ท่านผู้อ่าน ได้ทบทวนเรื่องราว ในฐานะ ที่เป็นชาวพุทธ ผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งจะต้องศึกษา เรียนรู้กุศล-อกุศล แล้วพากเพียรสร้างกุศล ละลดอกุศล ท่านได้เกิดธรรมานุสติ หรือได้ประโยชน์ หรือได้ข้อคิดใด จากเหตุการณ์นี้กันบ้าง และจะได้ เรียนรู้ ว่าใครเป็นใคร แสดงบทบาท ความคิดเห็น กันอย่างไร โดยที่ท่านผู้อ่าน ก็ต้อง ระมัดระวัง โทสาคติ โมหาคติ แม้แต่ฉันทาคติ เมื่อมีผู้กล่าวถูกใจเรา เพื่อการเรียนรู้ การอยู่ร่วมกัน ในสังคมนี้ อย่างสมานฉันท์ กันต่อไป ด้วยไม่ว่าเขาไม่ว่าเรา ต่างก็คือ เพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมด ทั้งสิ้น

เช้าวันที่ ๑๒ เม.ย. ข่าวหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ขึ้นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งตัวใหญ่ๆ มหาเถรงัด 'จำลอง' ดึง 'สันติอโศก' ร่วมงานวันวิสาขบูชา จากบางส่วนของการรายงานข่าวดังนี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา ๐๙.๓๐ น. วันที่ ๑๑ เมษายน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประธานศูนย์ส่งเสริม และ พัฒนาคุณธรรม และจริยธรรม เพื่อพลังแผ่นดิน พร้อมด้วยแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต แห่ง เสถียรธรรมสถาน น.พ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และพระสงฆ์กว่า ๑๐ รูป เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือถึงการจัดงาน วันวิสาขบูชา ๒๒ พฤษภาคม

พล.ต.จำลองกล่าวว่าศูนย์คุณธรรมได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ประสานจัดงาน วันวิสาขบูชา ให้ยิ่งใหญ่ และเป็นไป ตามแนวทางของ ท่านพุทธทาสภิกขุ โดย น.พ.จักรธรรม จะเป็นประธาน คณะกรรมการจัดงาน แม่ชีศันสนีย์ เป็นประธานอนุกรรมการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และคณะสงฆ์จาก ทุกวัดทุกสาขาเป็นกรรมการ จึงมาแจ้งความคืบหน้า ในการเตรียมงาน ในช่วง ๓-๔ เดือนที่ผ่านมาว่า ได้ทำอะไรบ้าง

ขณะที่แม่ชีศันสนีย์กล่าวว่า เรามียุทธศาสตร์ที่จะใช้วันวิสาขบูชาปีนี้ เป็นการเปิดแคมเปญใหญ่ ที่จะสร้างกระแส ให้มนุษย์ สามารถมีชีวิต และพึ่งพาตนเอง เพื่อพ้นทุกข์ร่วมกันได้ โดยเราจะชวน พุทธศาสนิกชน ตั้งสัจจะอธิษฐาน ที่จะหยุด ลด ละ เลิก สิ่งที่ไม่ดี เร่งทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น และ จะมีคำ อวยพร ในวันวิสาขบูชา โดยเริ่มสร้างกระแสในวันนี้ ไปจนอีก ๓ ปีข้างหน้า จะทำให้ ประชาชน ชาวไทย มีชีวิตที่ผาสุกร่มเย็น เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

น.พ.จักรธรรมกล่าวว่า นายกฯได้ให้นโยบายว่าจะทำให้คนไทยมีพระธรรมในจิตใจและปฏิบัติธรรม สิ่งที่นายกฯ เน้น ในวันนี้ เป็นเรื่องที่เน้นต่อจากงานเมื่อวันที่ ๑๐ เม.ย. โดยนายกฯบอกว่า รัฐบาล ทำงาน ศาสนาสัมพันธ์ สมานฉันท์แห่งชาติ และอยากเห็น ศาสนิกสัมพันธ์ในทุกกลุ่มทุกหมู่ ของพระพุทธศาสนา เรา นายกฯอยากเห็นการสมานฉันท์ ในศาสนิกชน ซึ่งเป็นนโยบายที่ชัดเจน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๒ พ.ค. ไปจนถึงวันที่ ๓๐ พ.ค.

บ่ายวันเดียวกัน ที่พุทธมณฑล ได้มีการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) น.พ.จักรธรรม เปิดเผย ภายหลัง การประชุมว่า ที่ประชุม มส.ได้มีการพิจารณาการจัดงานวันวิสาขบูชาในวันที่ ๒๒-๓๐ พ.ค. ๒๕๔๘ ซึ่งศูนย์ส่งเสริม และพัฒนาคุณธรรม และจริยธรรม เพื่อพลังแผ่นดินที่มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นประธาน จะเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน งบประมาณ ซึ่งในการประชุม เมื่อวันที่ ๑ เม.ย. ที่ประชุม มส.ได้แสดงความเป็นกังวลศูนย์ดังกล่าว เนื่องจากบางภาคี ของกลุ่ม คณะสงฆ์ได้เคยมี ปกาสนียกรรม ไว้แล้ว ซึ่งในการประชุมวันนี้ ๑๑ เม.ย.ที่ประชุมพระเถระใน มส.ทุกรูป ได้แสดง ความเห็นว่า ในปี ๒๕๓๒ คณะสงฆ์ได้เคยมีประกาศนียกรรม ไม่ให้พระสงฆ์ไปร่วมคบค้าสมาคม กับกลุ่มคนดังกล่าว และ ประกาศ ดังกล่าว ก็ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จนปัจจุบัน ไม่สามารถ ที่จะแก้ไขได้ ฉะนั้น ที่ประชุม มส. จึงมีมติว่า ในการจัดงานวิสาขบูชาครั้งนี้ ให้ทางสำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดงานแต่เพียง ฝ่ายเดียวไปก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มคณะสงฆ์ที่ มส.กระทำบัพพาชนียกรรม ไม่ให้พระสงฆ์ไปร่วม คบค้า สมาคมด้วย คือกลุ่ม "สันติอโศก" ของ สมณะโพธิรักษ์ ที่มีความสนิทแนบแน่นกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

พระเทพวิสุทธิกวีกล่าว "หากตัดสินใจให้สันติอโศกมาจัดงานวันวิสาขบูชา ก็เท่ากับไม่ยี่หระ และ ไม่เอื้อเฟื้อ ต่อคณะสงฆ์ ทำอย่างนี้ ก็เท่ากับตบหน้ามหาเถรสมาคม ในเมื่อตัดสินแล้วว่าไม่ยอมรับ ผู้ประพฤติผิด อย่างสันติอโศกแล้ว จะมาทำงาน ร่วมกันได้อย่างไร คงไม่มีใครที่ถุยน้ำลาย แล้วจะเก็บกลับมากลืน ได้ใหม่" (น.ส.พ.ไทยโพสต์ ๑๒ เม.ย. ๒๕๔๘)

พระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคมกล่าว เรื่องการจัด งานนี้ หากจะให้ หน่วยงานที่ มส.มีมติเคยประกาศนียกรรม หรือไม่รับรองมาร่วมด้วยก็คงไม่ได้ เพราะมี หลายฝ่าย ที่เป็นห่วงเรื่องนี้ ได้แสดง ความห่วงใยกันมามาก ว่าจะไม่เหมาะสม ส่วนบทบาท พล.ต.จำลอง นั้น กรรมการ มส.ไม่ขัดข้อง และยอมรับในตัว พล.ต.จำลอง ในฐานะ ที่เป็นฆราวาส

การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีตั้งให้ศูนย์คุณธรรมของ พล.ต.จำลองเข้ามาจัดงาน วันวิสาขบูชา ในปีนี้ ทั้งๆที่ก่อนนี้ พศ. เป็นผู้รับผิดชอบ คงเป็นเจตนาที่ดีเพราะต้องการเชิดชู การเผยแผ่ พระพุทธศาสนา โดยต้องการ ให้หลายฝ่าย เข้ามามีส่วนร่วมจัดงาน ทำให้เกิด ความสมานฉันท์ ไม่ใช่เรื่อง เสียหายอะไร (น.ส.พ.มติชน ฉบับวันที่ ๑๔ เม.ย. ๒๕๔๘)

พระมหาเดวิด กลุ่มยุวสงฆ์ กล่าวว่า "นี่คือการทำลายพระพุทธศาสนา ซึ่งอาตมาไม่อยากจะบอกว่า เป็นแผน ของรัฐบาล ที่ต้องการ ลดความน่าเชื่อถือของมหาเถรสมาคม เพื่อที่จะเข้ามาครอบงำ ในเมื่อ ทราบอยู่แล้วว่า พล.ต.จำลอง กับสำนัก สันติอโศก โยงใยกันอย่างไร ทำไมจึงจงใจ ทำให้เกิด ปัญหา ถ้าอยาก จะจัดงานให้ยิ่งใหญ่ ก็ควรจะหา นักการศาสนา ที่ไม่สร้าง ความแตกแยก ให้ศาสนา มาเป็นคน ทำงาน แต่นี่ชัดเจนแล้วว่า นายกรัฐมนตรี กำลังใช้กลยุทธ์ ทั้งจิตวิทยา การตลาด การประชาสัมพันธ์ มาเล่นงานพระ วันนี้เรื่องการให้ พล.ต.จำลองจัดงาน หรือไม่จัดงาน ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะความปรารถนา ที่จะทำให้วงการสงฆ์ ต้องมัวหมอง ก็สำเร็จ ตามที่บางคน ตั้งใจแล้ว" (น.ส.พ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๕ เม.ย. ๒๕๔๘)

พระเทพดิลก(มหาระแบบ) ประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "เรื่องที่เกิดขึ้น คือ การเคลื่อนไหว ทางการเมือง พล.ต.จำลอง คือสันติอโศก สันติอโศกคือพลังธรรม และพลังธรรม คือ พรรคไทยรักไทย กลุ่มคนเหล่านี้ พยายามทำตนเอง ให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งๆที่ พล.ต.จำลอง กับสันติอโศก ไม่ยอมรับพระธรรมวินัย ปฏิเสธ ไม่ยอมกราบไหว้ พระพุทธรูป โดยอ้างว่าเป็นวัตถุ ไม่ยอมรับ สมเด็จ พระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก แล้วจะมาที่พุทธมณฑล ซึ่งเป็นสถานที่ ที่ประดิษฐาน พระพุทธรูป และมีตำหนักของสมเด็จพระสังฆราชฯทำไม

พล.ต.จำลองพยายามทำให้สำนักสันติอโศกได้รับการยอมรับ ด้วยวิธีทางการเมือง นายกรัฐมนตรี ก็ไปตั้ง ให้เป็นประธาน ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมฯ ซึ่งอาตมาอยากถามว่า คุณธรรม คืออะไร คนคนนี้ มีคุณธรรมจริงหรือไม่ อาตมารู้จักดีว่า "จำลอง" คืออะไร และเชื่อว่าชาวพุทธ ส่วนใหญ่ก็รู้ แต่ใครที่ยัง ไม่ทราบ อยากจะนับถือ ก็คงต้องปล่อยไป" (น.ส.พ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๕ เม.ย. ๒๕๔๘)

คอลัมน์ของคุณเปลว สีเงิน จากเนื้อหาบางส่วนดังนี้ ....ทำไมมหาเถรสมาคมจึง "ปักใจ" สันติอโศก ว่าเป็นกลุ่ม นักปฏิบัติธรรม พุทธธรรมเถื่อน นอกรีต นอกรอย นอกคอก ถึงขนาดไม่ยอม ให้อยู่ร่วมโลก พุทธธรรมเดียวกัน?

สันติอโศก "เถื่อน" เพราะมหาเถรสมาคมไม่ยอมรับเข้าสังกัด?

หรือ "เถื่อน" เพราะสันติอโศกมีการปฏิบัตินอกรีตนอกรอยคำสอนพระพุทธศาสนา?

คำตอบสังคมดูเหมือนจะเป็นว่า "เถื่อน" เพราะมหาเถรสมาคม ไม่ตีตราประทับรับรองให้

ส่วนการปฏิบัติธรรม-วินัย นั้น ดูเหมือนสังคมไม่ปฏิเสธ แถมจะยอมรับด้วยซ้ำไปว่า สมณะของ สันติอโศก ปฏิบัติดี-ปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในพระธรรม-วินัย "มากกว่า-ดีกว่า" พระในคณะสงฆ์ บางส่วนด้วยซ้ำ

ก็ที พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไปร่วมพิธีกับพราหมณ์ ฮินดู คริสต์ อิสลาม ซิกซ์ ทั้งที่ต่างศาสนา ต่างนิกาย คณะสงฆ์ไทย ก็เข้าใจ ร่วมปฏิบัติศาสนากิจด้วยดี แต่จัดงานวันวิสาขบูชาที่พุทธมณฑล แค่สันติอโศก จะร่วมกิจกรรมด้วย กลับตั้งแง่ รังเกียจถึงขั้น จะเกิดศึกศาสนาขึ้นเช่นนี้ ใช้มาตรฐาน อะไร ในการวินิจฉัยโดยธรรม?

จะทำอะไรต้อง "ตอบสังคมได้" อย่าผูกขาดพุทธศาสนาไว้แค่ด้วยเงื่อนกฎหมาย ขอจงเข้าใจ ผู้ที่เคร่งครัด ใน "ธรรม-วินัย" นั่นคือ ผู้ทำถูก....กฎหมายพุทธธรรม (น.ส.พ.ไทยโพสต์ ๑๔ เม.ย. ๒๕๔๘)

พระพิศาลธรรมพาที(พระพยอม กัลยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้วกล่าว "อาตมาก็เข้าใจทาง มส. แต่อยาก ให้ ทั้งสองฝ่าย เดินทางสายกลาง ซึ่ง มส.ไม่ควรจะทำอะไร สุดโต่งจนเกินไป และน่า จะให้กลุ่ม สันติอโศก เข้ามาร่วมในงานได้ เพราะพุทธมณฑล ไม่ใช่ของใคร แต่คนที่จะมาใช้สถานที่ ก็ต้องขอ อนุญาต คนที่ดูแลด้วย ซึ่งหากกลุ่มสันติอโศก จะมาร่วมงาน ก็ต้องรู้จักฟังคนอื่น ไม่ใช่เข้ามาแล้ว ก็ไปทำวุ่นวาย ไปกล่าวโจมตีอีกกลุ่มหนึ่ง หรือพูดทำให้เกิด ความแตกร้าว ซึ่งแทนที่ พุทธศาสนิกชน จะได้รับ สิ่งที่ดีๆ กลับต้องมาเจอภาพที่ไม่ดี ทั้งนี้อาตมาคิดว่า ควรจะให้ชาวพุทธ เลือกเองว่า จะกินเนื้อ จะกินผัก จะรัก จะชอบใคร

ต้องยอมรับว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น กลุ่มสันติอโศกจะได้เปรียบมาก เพราะมีสมาชิกมากกว่าเดิม และ คนอาจจะมองว่า มีผลงาน มากกว่า มส. ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการจัดกิจกรรมกันบ่อย ทำให้ดูว่า มีผลงาน ถูกใจประชาชน ทั้งยังมีการ ขยายสาขา ออกไปทั่วประเทศ และมีการระดม เยาวชนอยู่ในกลุ่มมาก ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไร" (น.ส.พ.มติชน ๑๖ เม.ย. ๒๕๔๘)

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวในรายการนายกฯทักษิณคุยกับประชาชน เช้าวันที่ ๑๖ เม.ย. ตอนหนึ่งว่า "เราคิดกันว่า ในวันวิสาขบูชา เราควรเชิญชวนชาวพุทธทั่วโลกมาร่วมกันปฏิบัติธรรม ตอนแรก เราวางแผน กันว่า จะใช้พุทธมณฑล ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกัน ระหว่างสำนัก พระพุทธศาสนา ศูนย์คุณธรรม และทางเถรสมาคม สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือว่า ชาวพุทธเองนี่ จะต้องมีความสมานฉันท์ ในหมู่ชาวพุทธด้วย ความจริงแล้ว มาตรา ๓๘ ของรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ชัด ครับว่า เราจะเสรีภาพ ในการนับถือ ศาสนา แล้วยังไม่พอ ไม่เลือกนิกาย ไม่เลือกลัทธิและความเชื่อ เพราะฉะนั้น ใครจะเชื่อ อย่างไร ไม่ว่ากัน แต่ว่า เป้าหมายสุดท้ายของศาสนาพุทธก็คือ พระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เราจะต้องยึด หลักธรรม คำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้าเป็นหลัก" (น.ส.พ.ไทยโพสต์ ๑๗ เม.ย. ๒๕๔๘)

นายกำพล ภู่มณี ส.ว. ปราจีนบุรี ที่ปรึกษาศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าว "ผมไม่ได้บอกว่า สันติอโศก ธรรมกาย หรือสำนักอื่นๆไม่ดี เพราะทุกสำนักความคิด ต่างสอน ให้คนทำดี ทั้งสิ้น แต่การที่จะให้กลุ่มเหล่านี้ มาร่วมกันทำ กิจกรรม จะต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนให้เขา เมื่อไทย ยึดหลัก พระพุทธศาสนา แนวเถรวาท ซึ่งยึดพระธรรมคำสั่งสอน อย่างเคร่งครัด ไม่มีผิดเพี้ยน จากพระธรรม คำสอน ของ องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่อนุญาตที่ให้พระสงฆ์ สามารถ ครองเรือน มีธุรกิจ หรือแม้ รับประทาน ข้าวเย็นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมาบอกว่า มส. สุดโต่งนั้น คงไม่ถูกต้อง และก็เป็นคนละเรื่อง กับสิทธิเสรีภาพ ในการนับถือศาสนาที่นายกฯ อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๘ เอาไว้ที่อยากให้เกิด ความสมานฉันท์ เพราะจุดยืนที่ชัดเจนสำหรับงานวิสาขบูชานั้นต้องยึดแนวของ มส. เท่านั้น" (น.ส.พ.มติชน ๑๗ เม.ย. ๒๕๔๘)

นายสนิท ศรีสำแดง กรรมการอำนวยการด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม กทม.กล่าว "ผมเชื่อว่า จุดนี้ เป็นจุด เริ่มต้น ของการ เข้ายึดพื้นที่พุทธมณฑล เพราะผมเชื่อว่า เมื่อจบงานวันวิสาขะแล้ว สันติอโศก และภาคี คงไม่ยอมถอนตัว ออกจากพื้นที่ง่ายๆ โดยจะใช้เป็นศูนย์กลาง ในการขยาย เครือข่าย ของกลุ่ม ไปสู่ต่างจังหวัด กระจายแนวคิดบุญนิยม ไม่เคารพสักการะ พระพุทธรูป ตลอดจนไม่ทำบุญอุทิศ ส่วนกุศล ให้กับญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว โดยใช้ฐานของ สำนักพระพุทธฯ ประจำจังหวัด เข้าใช้สถานที่ ราชการ และวัดต่างๆ ผมห่วงถ้าเริ่มจาก จุดนี้แล้ว ต่อไปสันติอโศก ก็จะขอเข้าไปทำกิจกรรมในวัดโพธิ์ วัดพระแก้ว และวัดสำคัญๆ ของชาวพุทธ อื่นๆ ซึ่งถ้าที่ไหน ไม่ยอม ก็จะยกรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๘ ขึ้นมาอ้าง และ ความจริงแล้วนายกฯ ไม่ใช่ผู้ปกครอง มหาเถรสมาคม ไม่มีหน้าที่บอกให้พระสามัคคีกัน"
(น.ส.พ.มติชน ๑๘ เม.ย. ๒๕๔๘)

คอลัมน์ชักธงรบ ของผู้ใช้นามปากกาว่า กิเลน ประลองเชิง ได้จั่วหัวเรื่องว่า ศูนย์แยกศาสนา ดังเนื้อความ ว่า กว่ายี่สิบปี ที่แล้ว กลุ่มคนที่ใช้ชื่อศูนย์พิทักษ์ศาสนาทำนองเดียวกับ ศูนย์พิทักษ์ พุทธศาสนา ที่มี พลตรีทองขาว พ่วงรอดพันธุ์ เป็นกรรมการบริหาร นี่แหละครับ เคยมานั่งปรับทุกข์ ปัญหาสันติอโศก

ผมฟังเท่าไหร่ นอกจากข้อหา สอนธรรมะเพี้ยนไปบ้างจากคัมภีร์ปริยัติ....วัตรปฏิบัติอื่นๆ ผมก็ยัง เห็นว่า ท่านยังเป็นพระ

มาสองสามครั้ง เห็นท่า "สื่อ" ไม่เล่นด้วย ก็ลาโรงไป

อีกสองสามปี มาอีกที คราวนี้ ไม่บอกโจทก์....เป็นใคร แต่ให้ไปฟังเอาเอง ที่วัดราชบพิธ

ข้อหาของศูนย์เข้มขลังมีพลัง ผมรู้จักท่านเดียว หลวงพี่อนันต์ เสนาขันธ์ คุ้นกันตั้งแต่ทำข่าว ขบวนการ ชนวน ก่อน ๖ ตุลาคม ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) ทรงประทับรับฟัง

จำเลย...รายนี้ (อีกแล้ว) มีเค้าเป็นพระ ผมลุ้นในใจคงไม่ใช่สันติอโศก

ทั้งพระทั้งฆราวาสผลัดกันกล่าวหา พระรูปนี้ สอนธรรมะนอกรีตนอกรอย แทนที่จะสอนว่า ตายแล้วเกิด กลับสอนว่า ตายแล้วสูญ

สำนวนชาววัด ใครที่ถูกข้อหาทำนองนี้ เขาใช้คำว่าตู่พระพุทธพจน์

ถึงเวลา...สมเด็จพระสังฆราช ตรัสตอบประโยคหนึ่ง ผมสะดุดใจ...ที่กล่าวหาว่าเขาปฏิบัติไม่ดี หันมาดู ตัวเอง หรือไม่ ปฏิบัติดีแค่ไหน... อย่างไรบ้าง

สมเด็จพระสังฆราช เสด็จขึ้นกุฎิไปแล้ว หมดเวลาไปเกือบสองชั่วโมง ผมก็ยังไม่รู้ว่า จำเลยของ ศูนย์พิทักษ์ ศาสนา รายนี้เป็นใครกันแน่

อดใจไม่ไหว ก็เดินไปถามหลวงพี่อนันต์

หลวงพี่ไม่ตอบ ยื่นหนังสือพ็อกเกตบุ๊คเล่มหนึ่งให้

ผมเห็นปกเป็นภาพ ท่านอาจารย์พุทธทาส สำนักสวนโมกข์ เห็นชื่อหนังสือ "คำสอนเดียรถีย์" ผมก็บอก หลวงพี่ อนันต์... ทันที

ถ้าอาจารย์พุทธทาส เป็นพระไม่ดี ในเมืองไทยคงไม่มีพระดีอีกแล้ว

สื่อสำนักอื่นก็คงคิดเหมือนผม เพราะไม่เห็นข่าว กล่าวหาท่านอาจารย์พุทธทาส ไปปรากฏ ในฉบับไหน

แต่สายสัมพันธ์ ระหว่างสื่อกับศูนย์พิทักษ์ศาสนากับผมก็ยังมีต่อไป ต่อมาไม่นาน หลวงพี่อนันต์ ก็มาอีก พร้อมข้อมูล เจ้าชายแห่งหุบผาสวรรค์ ข่าวขึ้นหน้าหนึ่งติดต่อกันนานวัน ทางการ ก็ออกมา จัดการ

ยึดหุบผาสวรรค์เป็นของรัฐเรียบร้อย

ไม่มีหลวงพี่อนันต์แล้ว ในฐานะสื่อ ผมยังได้เอกสารต่อต้านลัทธิศาสนา ทั้งในและนอก พุทธศาสนา... อยู่เรื่อยๆ เนื้อหา ไม่สร้างสรรค์จรรโลง ถ้าสื่อออกไป บ้านเมืองคงลุกเป็นไฟ

มาถึงคราวนี้ ข้อเรียกร้อง ผลักไสสันติอโศก พลตรีจำลองออกจากขบวนจัดงานวันวิสาขบูชาโลก... ศรัทธา ผมที่ไม่เคยมีให้ศูนย์นี้ ก็ยิ่งหดหาย... จะทำตัว เป็นลิ่ม ตอกย้ำ รอยแยก...อะไรกันนักหนา

หรือว่างานปะทะโยมทองก้อน ศิษย์หลวงตาบัว ยังเหนื่อยหน่ายน่าอดสูใจไม่พอ (น.ส.พ.ไทยรัฐ ๒๐ เม.ย. ๒๕๔๘)

พระมหาโชว์ ทสฺสนีโย ผู้อำนวยการสำนักงานบริหาร สำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนา และบริการ สังคม มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) และผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศ มจร. กล่าวว่า "เมื่อ พล.ต.จำลอง ยอมถอยแล้ว จะไปจัดงานที่ไหนก็เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ จะเชิญสันติอโศก ภิกษุณี มาร่วมด้วย หรือจะให้ยันตระ ภาวนาพุทโธ มาร่วมด้วย ก็สุดแท้ แต่ปรารถนา แต่ไม่ควรกระแนะกระแหน ยกตนข่มคนอื่น การจัดงานจะยิ่งใหญ่หรือไม่ ไม่สำคัญ ควรจะคำนึง ถึงศีล สมาธิ ปัญญา การแต่งตัว อย่างซอมซ่ออย่าง พล.ต.จำลอง แต่มีเงินไม่รู้กี่ล้าน กินผักแล้วต่อว่าคนอื่น อย่างนี้ไม่เรียกว่า วิเศษกว่าใคร ควรจะสงบปาก สงบคำดีกว่า

นายกรัฐมนตรีก็ควรเข้าใจและแยกแยะให้ออก อย่าเอาผีมารวมกับพระ ควรยึดในหลักการ ที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้น ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ก็คงไม่ต่างกัน และถ้าเช่นนั้นก็นายชวน หลีกภัย มาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกคนก็แล้วกัน" (น.ส.พ.ไทยโพสต์ ๒๒ เม.ย. ๒๕๔๘)

ข้างต้นทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของปฏิกิริยาสังคม จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ข้าพเจ้า ต้องขอ ข้ามผ่าน ในหลายๆ ส่วน ไม่สามารถนำลงในที่นี้ทั้งหมดได้ เช่นเดียวกับรายการวิทยุ และโทรทัศน์ที่ สนทนาสัมภาษณ์ พ่อท่าน ไม่ว่าจะเป็นคลื่น FM ๙๔.๐ MHz. รายการของคุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ คุณเถกิง สมทรัพย์ FM ๙๒.๒๕ MHz. รายการของ คุณอัญชลี ไพรีรัก และ วิทยุชุมชนที่อุบลฯ รายการของ คุณสุชัย เจริญมุขยนันท์ หรือแม้แต่รายการโทรทัศน์ ของ KTV. ที่เผยแพร่ไป ๒๒ ประเทศ ส่งสัญญาณ ดาวเทียม โดยมีอาจารย์สมาน ศรีงาม เป็นผู้สนทนา สัมภาษณ์ บทสนทนาสัมภาษณ์ เหล่านี้ ก็ต้องขอ ข้ามผ่าน เช่นกัน รวมไปถึงนิตยสาร a day weekly ที่ได้มาสนทนา สัมภาษณ์ ในกรณีการจัดงาน วิสาขบูชา นี้เช่นกัน

ในที่นี้ข้าพเจ้าขอนำเอารายการทุกข์ปัญหาชีวิต ที่เผยแพร่ทาง TTV. ๓ วันที่ ๒๒ เม.ย. ๒๕๔๘ โดยมี พ่อท่าน กับ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นวิทยากร และคุณประพจน์ ภู่ทองคำ เป็นผู้ดำเนิน รายการ สมณะ เพาะพุทธ จันทเสฏโฐ เป็นผู้ประสาน การจัดรายการนี้ขึ้นมา ด้วยเห็นว่ากำลัง เป็นประเด็นที่ ประชาชน สนใจเรียนรู้ แม้จะใช้เวลา ไม่ถึงชั่วโมง แต่ก็มีประเด็น ที่หลากหลาย น่าสนใจยิ่ง แปลกและต่าง ไปจาก ที่สื่อต่างๆได้นำเสนอไปแล้ว

คุณประพจน์ : ขอต้อนรับคุณผู้ชมเข้าสู่รายการทุกข์ปัญหาชีวิตครับ วันนี้ผมประพจน์ ภู่ทองคำ รับหน้าที่ ดำเนินรายการครับ รายการในวันนี้ เราจะเรียนรู้หลักธรรมครับ จากปรากฏการณ์ หรือว่า ภาพข่าว จากทาง หน้าหนังสือพิมพ์ ที่เกิดขึ้น ในสังคมไทยเราครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้น ในการเตรียมตัว เพื่อที่จะจัดงาน วิสาขบูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานวันวิสาขบูชา ที่ทางรัฐบาลได้ดำริขึ้น ที่จะจัดงาน ในวันที่ ๒๒-๓๑ พฤษภาคม ที่พุทธมลฑล ท่ามกลาง ความขัดแย้งนั้น เราเห็นธรรมกันอย่างไร วันนี้เรามี วิทยากร ที่จะมาร่วมให้หลักธรรม ให้การเรียนรู้ธรรมะ ผ่านรายการ แห่งนี้ครับ ท่านแรกสมณะ โพธิรักษ์ จากสันติอโศกครับ กราบนมัสการครับ ท่านที่ ๒ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียน ของสังคม ไทยเราครับ อาจารย์ สวัสดีครับ ผมเริ่มที่อาจารย์สุลักษณ์ก่อนดีไหมครับ อาจารย์สุลักษณ์ เห็นอะไร จากปรากฏการณ์ ตามข่าวที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ เกี่ยวข้องกับเรื่อง การจัดงาน วิสาขบูชานี้ครับ

อ.สุลักษณ์ : ข้อที่หนึ่ง ให้นึกถึงกาลามสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้ถ้อยคำในพระคัมภีร์ก็อย่าเชื่อ เป็นชาวพุทธที่ดี อ่านข่าว ฟังข่าวอย่าเชื่อ บางทีสื่อนั้นส่งสารที่ไม่เป็นสัจจะ บางทีมีการบิดเบือน โดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ ก็ตาม เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนที่ดี ฟังข่าวแล้วก็ฟังหูไว้หู เจริญสติ ให้มาก อันที่หนึ่ง อันที่สอง ความขัดแย้งต่างๆ ผมว่าเป็นธรรมดา ในสังคมนะ เมื่อเจริญสติ แล้วก็ปลง ปล่อยวาง การจัดงาน วิสาขบูชา จะเป็นระดับโลก ระดับชาติเป็นของดี เพื่อบูชา พระพุทธเจ้า ซึ่งทรงตื่นแล้ว เราควรจะทำตัวเรา ให้ตื่นตามพระองค์ เพราะฉะนั้น อย่าไปเอาเรื่อง เลวร้าย ขัดแย้ง มาเป็นอารมณ์ สำคัญมากครับ ประเด็น มันอยู่ตรงนี้ผมว่า ในแง่ของผมนะฮะ มองให้เห็นตัวธรรมะ

คุณประพจน์ : จะให้ประชาชนใช้หลักกาลามสูตรได้อย่างไรอาจารย์ครับ เพราะในเมื่อ มหาเถรสมาคม ในอดีต มีคำสั่ง ออกมาแล้วว่า สันติอโศกมีปกาสนียกรรม ไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน ประชาชน ทั่วไป ก็รับทราบ กันหมดแล้วนะฮะอาจารย์

อ.สุลักษณ์ : อันนี้ก็ต้องแยกกันให้ชัดนะฮะ ปกาสนียกรรมหมายความว่าเขี่ยออกไปว่างั้นเถอะ แล้วสงฆ์ จะไม่ทำ สังฆกรรมร่วมกัน ก็เรื่องของสงฆ์ แต่วิสาขบูชานี้ ไม่ใช่เรื่องของสังฆกรรมนะครับ ต้องเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องของสังฆกรรม แม้สงฆ์ นานาสังวาส แม้สงฆ์มหายาน เถรวาท วชิรญาณ เข้าร่วมกันได้ วัดบวรนิเวศ ซึ่งเป็นที่ตั้ง ที่ประชุม มหาเถรสมาคม สมเด็จพระสังฆราช ประทับที่นั่น ผมเคยพา พระนิกาย วชิรญาณ พระธิเบต พระจากภูฐาน ไปเฝ้าตรงกับ วันมาฆบูชา รับสั่งให้นั่ง บนอาสน์สงฆ์ร่วม ให้พระวชิรญาณ จากธิเบต จากภูฐาน นั่งบนอาสน์สงฆ์ ในวัดบวรนิเวศ แล้วก็ ให้เดิน เวียนเทียนร่วม พระองค์ท่านนำ นี่เป็นตัวอย่างของ สังฆบิดรเลยทีเดียว ไม่ใช่สังฆกรรม นี่ครับ ถ้าสังฆกรรม เรียก อุปสมบท หรือเรื่อง ปาฏิโมกข์ ถูกต้อง ต้องแยกกันให้ชัดเจนนะครับ นี่ผมถึงบอก ชาวบ้าน จะต้องให้ชัด เมื่อไม่ชัดแล้ว ไขว้เขวหมด

คุณประพจน์ : พ่อท่านครับ หลายปีที่ผ่านมา ทางสำนักสันติอโศกเองก็ไม่ได้ไปร่วมที่จะจัดงานวัน วิสาขบูชา หรือจัดงาน ในพระพุทธศาสนาอื่นใดเลย ร่วมกับมหาเถรสมาคม ทำไมครั้งนี้ จึงจำเป็น ต้อง ไปร่วม หรือทำไมต้องไปร่วม

พ่อท่าน : ไม่ใช่นะ จัดที่สนามหลวงนี่ เราก็ร่วมอยู่ด้วยเกือบทุกปี แต่ปีนี้มันจะเกิดมาพร้อมกับสึนามิ หรือ ยังไง ก็ไม่ทราบ มันก็เลย เกิดเรื่องเกิดราวกันขึ้นมาเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าไม่เคยจัดร่วมกัน แต่ไม่รู้ว่า มันเกิด อะไรขึ้นมา ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน

คุณประพจน์ : ไอ้สึนามิที่ว่านี่มันเป็นเพราะคนทำ หรือว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ มันเป็นยังไงครับ

พ่อท่าน : อาตมาแสลง คนทำ

คุณประพจน์ : อาจารย์สุลักษณ์ว่าไงครับ

อ.สุลักษณ์ : คือเดี๋ยวจะพูดสึนามินิดหนึ่งนะครับคือปรากฏการณ์ธรรมชาตินี่เกี่ยวข้องกับทุกนิยาม เรื่องของ ดินฟ้าอากาศ แต่อุตุนิยาม นี่มันโยงมาสู่ กรรมนิยาม ประชาชนผู้คนเกี่ยวข้อง หรือแม้ แยกกัน นะครับ ทั้งหมดเป็นเรื่องของ กรรมนิยาม ถ้าเข้าใจ ถูกต้องแล้ว มันก็ถูกต้อง เข้าใจ ไม่ถูกต้อง ก็ไขว้เขว เช่นเดียวกันนะครับ ในความคิดที่จะจัดงาน วิสาขบูชา ร่วมกันนี่ เป็นผลดี ควรจะมาร่วมกันทุกๆฝ่าย นะครับ ไม่ควรจะมารังเกียจรังงอนกัน สำคัญมาก อย่าไป แสดง ความคับแคบ ต้องความเปิดกว้าง แม้คนซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนิก เขาอยากจะมาร่วม ก็ควร จะเชิญ เขามาร่วม เสียหายอะไรนัก เพราะคนที่ มาเฝ้าพระพุทธเจ้า สมัยก่อนนี้ก็มีพวกพราหมณ์ มีพวก เดียรถีย์ มีพวกนิครนห์ เขามาเฝ้าท่าน ก็ไม่เห็น เสียหายอะไร อย่าไปขีดแวดวง ให้พุทธศาสนาแคบ ของเราต้อง เปิดกว้างทั้งหมด

คุณประพจน์ : จากเรื่องดังกล่าวครับ พ่อท่านครับ หลายคนเขาตั้งข้อสังเกตมา ทำไมถึงมี ความพยายาม ที่จะให้ ศูนย์คุณธรรม หรือชื่อเต็มๆนี่ บอกว่าศูนย์ส่งเสริม และพัฒนา พลังแผ่นดิน เชิงคุณธรรม หรือ ศูนย์คุณธรรม ที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นประธาน หรือเป็นแกนหลัก ในการ จัดงาน แล้วก็ในการจัดงาน ครั้งนี้ ก็ไม่ได้แจ้ง มหาเถรสมาคมว่า ทางศูนย์คุณธรรม จะเป็นแกนนำ ในการจัดงาน

พ่อท่าน : อ้า! มันจะเป็นเรื่องที่ พระเจ้าลืมหรือเปล่า อาตมาก็พูดให้มันไม่เครียดกันไป คือเหตุการณ์ มันเกิด เป็นไป โดยไม่เจตนานะ เรื่องของเรื่องก็คือว่า ท่านนายกฯ ท่านมุ่งมั่นว่าจะจัดงาน วิสาขบูชา ให้ดี ให้มีประโยชน์ และให้กว้าง ไปถึงนานาประเทศ ก็ไหนๆวันวิสาขบูชา ก็ได้รับ การยกย่อง จากทางสห ประชาชาติ ยกย่อง ทำเป็นวัน ศาสนาสากล แล้วก็อยากจะให้มันกว้าง ทีนี้เมื่อดำริอย่างนั้นแล้ว ก็พอดี กับคุณจำลอง ก็สนิทกันกับนายกฯ ก็เลยเปรยๆ ปรายๆกัน ทีนี้ท่านก็นึกถึง ศูนย์คุณธรรมนี่ จริงๆแล้ว ศูนย์คุณธรรมนี่ เป็นหน่วยองค์การเอกชน ที่ท่านนายกฯ เป็นผู้ตั้ง และมี พล.ต.จำลอง เป็นประธาน ของศูนย์คุณธรรมอยู่แล้ว ก็จัดเสียเลยสิ ก็ไปดูซิ คุณจำลองก็รับคำปรารภนั้นมา เมื่อรับมา แล้วก็มาคุยกัน โอภาปราศรัยกัน แล้วจึงรวบรวม เรียบเรียงกันเอาใครบ้าง ก็นึกถึงทุกกลุ่มแหละ ที่เกี่ยวกับ พุทธศาสนา ล้วนมีพระ ของเถรสมาคม ก็กลุ่มพุทธเถรสมาคมทั้งนั้นแหละ ที่มาร่วมกันจัด พระจากกลุ่มนั้น ฆราวาส จากกลุ่มนี้ จะมีสมณะ ที่ไม่ใช่เถรสมาคม ก็สันติอโศกเท่านั้น ที่มาร่วมงานกัน ประชุมกัน จะทำอย่างไร ก็ทั้งพระ ทั้งแม่ชี ทั้งฆราวาส จากที่ต่างๆ ล้วนพุทธเถรสมาคมทั้งนั้น ที่ปรึกษาก็ระดับขั้นพรหมขั้นเทพ ก็ตั้งกัน หมดแล้ว ไม่ได้ระแวงว่า ท่านจะถือว่า ที่ทำนี่ผิด เพราะไม่ยกให้เถรสมาคมเป็นใหญ่ เป็นผู้จัดการใหญ่ ก็จัดไปตามที่เคยทำมาแล้ว พระเถรสมาคม ก็มีมาร่วมงานแล้ว แม้พระผู้ใหญ่ เถรสมาคม ก็เป็นที่ปรึกษา ตั้งมากมาย คือไม่ได้ระแวงเลยว่า ทำอย่างนี้ผิด ที่งานนี้ ไม่ยกให้ เถรสมาคม เป็นใหญ่ และต้องเป็น ผู้สั่งการจัดการแต่ผู้เดียว เป็นการนึกไม่ถึงจุดนี้จริงๆ

คุณประพจน์ : ไม่ได้นึกถึง

พ่อท่าน : อ้า ! อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ในความเป็นจริง มันไม่ได้ระแวง ตกหล่นอย่างไรก็ไม่รู้ได้ แต่ก็นึกว่า ไม่ได้แยก เถรสมาคม ไม่ได้ไม่ให้เกียรติอะไรเลยนะ ก็พยายามแล้ว และเคยทำมาแล้ว เราเคยทำ เมื่อครั้งหนึ่ง งานวิสาขบูชา ปี ๒๕๒๔ ซึ่งครั้งนั้นกลุ่มจัดงาน เล็กกว่าครั้งนี้ด้วยซ้ำ ไม่ถึงขั้น มีองค์การ เอกชนอย่างศูนย์คุณธรรม องค์กรสำนัก พุทธศาสนาแห่งชาติ และองค์กร อะไรอื่นๆ อีกอย่างครั้งนี้ด้วย ก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย ก็ทำกันประสบผลสำเร็จ ร่วมกันทำ ช่วยกันทำ ไปได้ดียิ่ง

คุณประพจน์ : ร่วมกับใครครับ

พ่อท่าน : ร่วมกับพระต่างๆ สำนักต่างๆ นี่แหละ เอามารวมกัน จัดกันยิ่งใหญ่เชียว ปีนั้น ปี ๒๕๒๔ ถ้าใคร ยังจำได้ ที่สวนลุม ที่เกาะลอย ท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ไปเป็นประธานเปิดงาน ตอนนั้น คุณจำลอง ก็เป็น เลขาธิการ นายกรัฐมนตรี ท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนต์ เป็นนายกฯ ปีนั้น ก็จัดกันเกรียวกราว กันดี มากเลย ก็พระต่างๆ ทั้งพระทั้งฆราวาส ต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทยนี่แหละ พระก็มากัน เราส่งข่าว ส่งคราวถึงกัน วิธีจัดก็ ดูเหมือนอาจารย์ระวี ภาวิไล เป็นผู้ดูแล เรื่องนี้ด้วยซ้ำ ตอนนั้น แล้วก็มารวมกัน เราก็ไปร่วมด้วย พระธุดงค์ พระโน่น พระนี่ พระในวัดที่ในกรุงเทพฯ นี่ก็มี ก็ไปรวมกัน มีหลายสี เลยเหลืองอร่าม สีกรักอะไรต่ออะไรก็ไปรวมกัน ทีนี้แนวคิดนี้ มันก็ไปรวมกัน คุณจำลอง เป็นเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีตอนนั้น เป็นตัวจักร จัดอยู่เหมือนกัน ตอนนั้น ปี'๒๔ พอมาคราวนี้ ก็นึกถึงคราวนั้น ของเก่า อันนี้ขึ้นมา แหมถ้าทำอย่างนี้ได้ ก็คงจะดี ก็เลยเอา รูปรอยเดิม มาเป็นเค้า ว่างั้นเถอะ ก็เชิญสำนักต่างๆมา ๑๖ สำนัก ที่มาคราวนี้ ๑๖ สำนัก แล้วก็ไม่ได้ นึกว่าผิด ว่าพลาด อะไรหรอก ก็สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่มีหมอจักรธรรมอยู่ ก็มาร่วมกันแล้ว ก็มาร่วมกันคิด ร่วมกันจัด แล้วก็ตั้งกรรมการผู้ดำเนินงาน ก็ตั้ง หมอจักรธรรม นั่นแหละ เป็นประธาน กรรมการ จัดงานคราวนี้ คุณจำลองเอง ก็ไม่ได้เข้ามาเป็นกรรมการ ไม่ได้เข้ามาอะไร เป็นที่ปรึกษาโน่น กับใครต่อใครอีกเยอะแยะ เป็นที่ปรึกษา ตัวกรรมการ ที่ดำเนินงานนี้ จริงๆ คือ หมอจักรธรรม เป็นประธาน จัดงานวิสาขบูชาคราวนี้ ผู้อำนวยการ ศูนย์คุณธรรม คือ อาจารย์ นราทิพย์ เป็นรองประธานจัดงาน และรองประธานจัดงานคนที่ ๒ ก็คนของ หมอจักรธรรม นั่นเอง เป็นรองประธาน จัดอีกคน รวมเป็นรอง ๒ คน หมอจักรธรรม เป็นประธาน นอกนั้นก็มีกรรมการ นี่คือ ประชุมกันแล้ว ก็ทำอย่างนี้

คุณประพจน์ : ทำไมลืมกันไปแล้วล่ะ ครั้งนี้ทำไมมาเป็นประเด็น ถ้าพ่อท่านบอกว่า เคยเกิด ปรากฏการณ์ ในการจัดงาน ร่วมกัน

พ่อท่าน : ใช่ โอ้โห! คราวโน้นยิ่งใหญ่มากเลยคนไปเป็นหมื่นเป็นแสน ฝนตกก็สนุก แล้วคนได้รับ อิทธิพล จากศาสนา ในคราวนั้นมาก คราวนี้คุณจำลองคงจะ แหม!ความหลังอันนี้คงขึ้นมา ก็เลยคิดแบบเดิม เลยเชิญสำนักต่างๆ มารวมกัน ๑๖ สำนัก แล้วก็ประชุม แม้แต่แม่ชีศันสนีย์ แห่งเสถียรธรรมสถาน ก็มารวมกัน ต่างๆนานา ๑๖ แห่งที่ว่านี่

คุณประพจน์ : มีคนเขามองว่ามันมีการเมืองเข้ามาแทรกกับการจัดงานวันวิสาขบูชาครั้งนี้ด้วย พ่อท่านเห็น อย่างไรครับ

พ่อท่าน : เราจะแปลคำว่าการเมืองว่าอะไร ในเรื่องนี้

คุณประพจน์ : เขาบอกว่ามีคนหวังประโยชน์ว่าจะได้ญาติธรรมที่จะมาร่วมงาน จะได้ใจ จะได้ คะแนน เสียง ตามมา เป็นผลพลอยได้นี่ครับ หนังสือพิมพ์เขาเขียนไว้

พ่อท่าน : ไม่ค่อยชัดอะไรนะ

คุณประพจน์ : หนังสือพิมพ์เขาเขียนไว้น่ะครับ นี่เขาบอกว่าที่จริงแล้ว การทำงานครั้งนี้นี่ ไม่ได้เป็น แนวคิด ของท่าน โพธิรักษ์ แต่เป็นเส้นทางของนายทุนการเมือง ที่หวังใช้เครือข่าย โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง เขาหวัง เขาคิดว่าสันติอโศก กับธรรมกาย จะร่วมกันด้วย แล้วก็หวังผลพลอยได้ ทางการเมืองด้วย พ่อท่านจะตอบเรื่องนี้อย่างไร

พ่อท่าน : อาตมาไม่ค่อยเข้าใจว่า ใครจะเป็นคนได้

คุณประพจน์ : เขาบอกว่านายทุนการเมือง ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน

พ่อท่าน : นายทุนการเมือง งานนี้จะมีการเมืองมาได้ด้วยเหรอ

คุณประพจน์ : นั่นน่ะสิครับ

พ่อท่าน : อาตมาก็คงโง่น่ะนะ ไม่รู้ว่านายทุนการเมืองที่จะได้ประโยชน์จากการจัดงานนี้คือใคร อาตมาคงโง่ คงไม่รู้จริงๆ

คุณประพจน์ : อาจารย์สุลักษณ์เห็นอย่างไรครับ

อ.สุลักษณ์ : ผมว่าต้องแยกประเด็นให้ชัดนะครับ หนึ่งเรื่องของมหาเถรสมาคม ถ้าให้ชัดเจน มหาเถรสมาคม เป็นสถาบันระดับสูงสุด ในการบริหารงานคณะสงฆ์ ทีนี้งานคณะสงฆ์นี่ ถ้าเผื่อว่า มีอะไรผิดพลาด ในทางพระธรรมวินัย มหาเถรสมาคม มีสิทธิที่จะลงโทษได้ หรืออะไรก็ตาม ที่มาเกี่ยวข้อง กับมหาเถรสมาคม จะต้องรายงานเถรสมาคม แต่บางอย่าง บางประการ ไม่จำเป็น ต้องรายงาน เถรสมาคม แจ้งให้ชัดเจนนะครับ ถึงตอนนี้เราไขว้เขว สอง จัดงานครั้งนี้ ใครจะได้แต้ม หรือไม่ได้แต้ม มันเป็นเรื่อง ของปัจจัตตัง แต่ละหน่วยงานแต่ละคน มีใครจะได้แต้ม ในทางโฆษณา ชวนเชื่อ ในทางหากิน หาอะไรก็เป็นเรื่องของเขา นี่ถ้าเผื่อเราจะต้องการบูชาพระพุทธเจ้าแท้ๆ เราก็ต้องการเพียง นำพระธรรม คำสั่งสอน มาช่วยให้ชาวโลกร่มเย็น ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนิก หรือไม่ก็ตาม ถ้าเราจะมาคิดเพื่อจะหา ผลประโยชน์ เพื่อสำนักของเรา เพื่อพวกของเรา เจตนาเรา ไม่บริสุทธิ์ มันไม่เป็นคุณในการบูชาคุณ พระพุทธเจ้า ใครมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ก็เรื่องของเขา ปล่อยเขาไป เพราะเจตนาเราตัดสินไม่ได้ หรือใคร เขาจะมาหาเงินหาทอง ก็เรื่องของเขาอีก เพราะการจัดงาน จะต้องเปิดกว้าง นะครับ และเปิดกว้าง ผู้ที่จะจัดงานจะต้องคิด ในทางที่บริสุทธิ์ ในทางที่มีสติ

ในทางที่มีปัญญา ส่วนใครจะฉวยโอกาส นายกฯอาจจะฉวยโอกาสก็ได้ เรื่องของนายกฯ ไม่ใช่เรื่องของเรา นายกฯ เขาอาจ จะจัดระดับโลกด้วย เขามีสิทธินี่ แต่เมื่อนายกฯ ทำในฐานะ ผู้บริหาร ประเทศ เราก็ต้อง ถือว่า เขาหวังดีก่อน ในเรื่องนี้ ต้องให้โอกาสเขา อย่าไปประณามเขา ล่วงหน้า ถ้าเผื่อว่าเขาทำอะไร ผิดพลาด เราก็โจมตีเขาได้

คุณประพจน์ : พวกเขาไปตั้งข้อสังเกตหรือเปล่าว่าภาคีที่มาร่วมจัดงานในครั้งนี้นี่ มีทั้งสันติอโศก ด้วย มีทั้ง ธรรมกายด้วย ซึ่งทั้งคู่นี่ มีปัญหากับ มหาเถรสมาคม

อ.สุลักษณ์ : เดี๋ยวนะฮะ ผมบอกแล้วชัดเจนเมื่อกี้นี้นะครับ กรณีของธรรมกายกับมหาเถรสมาคม ก็ยังไม่สามารถ ตัดสินอะไร ไปล่วงหน้าได้ ตอนนี้ของสันติอโศกนั้น ชัดเจนไปแล้ว แยกกันไป ต่างหากแล้ว ในเรื่องของ สังฆกรรม ในเรื่องของ การปกครองของมหาเถรสมาคม แต่งานนี้ ไม่ได้มาร่วมสังฆกรรม ไม่ได้มาร่วมเกี่ยวข้องกับ มหาเถรสมาคม เพราะผมบอกแล้วไง แม้คริสต์ ศาสนิกชน เขาอยากจะมาร่วม ก็ให้เขามาร่วมได้ มุสลิมอยากมาร่วม ก็ร่วมได้ อันนี้เป็น ความใจกว้าง ของศาสนาพุทธ ถ้าเราไปทำให้แคบ เราทำโทษกับศาสนาพุทธนะครับ ฟังให้ชัดเจน ผมเองนี่พูดได้ อย่างไม่เกรงใจ ผมออกจะรังเกียจธรรมกาย แต่งานอย่างนี้ เขามาร่วมก็ร่วมซิครับ ต้องให้เขาร่วม แล้วเขาจะมาฉวย ประโยชน์อะไร ก็เรื่องของเขา อีกแหละ เราต้องแยกนะครับ ถ้าเราจะทำถวายพระพุทธเจ้าแล้วนี่ จุดยืนของเรา ย่อมบริสุทธิ์ ผุดผ่อง เมื่อธรรมกาย เขาจะมี เล่ห์เหลี่ยม สันติอโศกมีเรื่องของเขา เราอย่าไปตัดสินเขาล่วงหน้า แล้วก็ดู พฤติกรรมของเขา ถ้าเขาเก่ง ก็เรื่องของเขา แม้กระทั่งจีนนิกาย หรือไต้หวันอะไร ก็อาจจะมาโฆษณา เจ้าแม่ของเขา เป็นเรื่องของเขาเถอะครับ แสดงว่า เราแหยเอง ถ้าเขาสามารถโฆษณาว่า เจ้าแม่กวนอิม ดีวิเศษยังไงๆ เราก็น่าจะทำยังไง ให้ดีวิเศษ เท่ากับเขา หรือ ยกย่องเขาสิ เพราะเจ้าแม่กวนอิม ก็ไม่ใช่ ใครอื่นครับ คือพระกรุณาคุณพระพุทธเจ้านั่นเอง แต่ท่านเป็น ปุคลาธิษฐาน ตามวิธีการ ของจีน วิธีการ ของอินเดียดั้งเดิมนั้น เป็นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ คือเป็นปุคลาธิษฐานของ พระกรุณาคุณ พระพุทธเจ้า นั่นเอง วันวิสาขบูชา เราก็ต้องเผยแผ่ พระกรุณาคุณพระพุทธเจ้า เท่าๆกับเผยแผ่ พระปัญญาคุณ พระพุทธเจ้า ถ้าเราไปทำอะไร คับแคบ เราทำลายพระกรุณาคุณ พระพุทธเจ้า เราทำลายพระปัญญาคุณ พระพุทธเจ้า

คุณประพจน์ : คุณผู้ชมก็สามารถที่จะโทรศัพท์เข้ามา แสดงความคิดเห็นได้นะครับ เปิดสาย ตลอดเวลา นะครับ ๐-๑๙๐๙-๕๐๐๐ คุณผู้ชมคิดอย่างไรกับการจัดงานวันวิสาขบูชา ที่เป็นปม เป็นประเด็นแห่ง ความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้น รวมทั้ง หมายเลขโทรศัพท์ ๐-๒๕๓๐-๕๖๒๑ เราเปิดสาย ที่จะเข้าร่วมรายการ สนทนากันได้ ขณะนี้เลยนะครับ ถ้าอย่างนั้น ทำไมสันติอโศก ถึงประกาศ ถอนตัว เสียละครับ ถ้าหากว่า มองว่า ประเด็นนี้ ก็ไม่น่าที่จะมีปัญหา แล้วก็เคยทำมา เมื่อ ๒๔ ปีที่แล้ว พ่อท่านครับ

พ่อท่าน : ก็ทางด้านโน้น พอข่าวออกไปว่า จะมีสันติอโศกร่วมงาน จัดที่พุทธมลฑล แล้ว มีสันติอโศก เข้าร่วม พอข่าวออกไป อย่างนั้นแหละ ก็มีผู้ที่เห็นว่าสันติอโศกมาร่วมไม่ได้ ไม่ต้องการให้สันติอโศก มาร่วม ประกาศชัดเจนเลย กลุ่มนี้กลุ่มหนึ่ง ที่เกิดขึ้นตอนแรก ก็คือกลุ่มที่จริงเรียกตนเองว่า ศูนย์พิทักษ์ พุทธศาสนา นั่นน่ะก็ไปร้องเรียนต่อ ส.ว. แล้วก็ไป ร้องเรียนต่อ ม.ส. ต่อมหาเถรสมาคม อะไรนี่เรื่อยไป เรื่องก็เลยเป็นข่าวออกมามาก เขาเริ่มต้น เคลื่อนไหวว่า จะไม่ให้ สันติอโศกไปร่วม เราก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่ให้ร่วมก็ไม่ร่วม ถ้าถามว่า ทำไมไม่ร่วม ก็ทางโน้นแสดงว่า ไม่อยาก ให้เราร่วม ก็ต้องยอมถอย ก็เท่านั้นเอง ทีนี้ก็พูดกันยาวความ อะไรต่ออะไร จนกระทั่ง นานหลายวัน แล้วนะนี่ เป็นข่าวคราวออกมา เป็นอาทิตย์แล้ว เราก็ไม่ว่าอะไร ให้เราร่วมตอนนั้นเราก็บอกว่า เออ! ให้เราร่วมไปร่วมทำ เป็น ๑ องค์กร กับอีก ๑๕ องค์กร ร่วมกัน เราก็ร่วม เราก็ทำ แต่เสร็จแล้ว ไม่ให้ร่วม เราก็ไม่ว่าอะไร เราก็ไม่ร่วม ก็เท่านั้นเอง สำหรับเรานะ แต่อันอื่นไม่รู้สิ มีอะไรต่ออะไรมัน แหม !

คุณประพจน์ : อ.สุลักษณ์เห็นว่าสันติอโศกควรจะถอนตัวไหมครับ

อ.สุลักษณ์ : อันนี้ก็เป็นสิทธิของสันติอโศก ก็คือท่านไม่อยากให้เกิดร้าวฉาน เขารังเกียจเรา ก็ถอน ออกมา ผมว่าเป็น อุปายโกศล อนุโมทนา แต่ขณะเดียวกันผมเห็นว่า ผู้ที่มากีดขวางสันติอโศก นั้นเป็นฝ่ายผิด แต่คุณตั้งตัวเป็นองค์กร พิทักษ์พุทธศาสนา ต้องพิทักษ์พุทธศาสนา ในทางที่เป็น พุทธศาสนา ไม่ใช่ ทำให้พุทธศาสนาแคบ ต้องเปิดให้กว้าง ถ้าคุณบอกว่า คุณรังเกียจสันติอโศก รังเกียจธรรมกาย รังเกียจ ไต้หวัน รังเกียจมหายาน พิทักษ์พุทธศาสนา ก็หมายความว่า มีเพียง ธรรมยุติ กับมหานิกาย อันนี้ มันเป็นพิทักษ์พุทธศาสนา ในระบบของราชการ ถ้าคุณจะพิทักษ์ พุทธศาสนา ต้องพุทธศาสนา ไปให้พ้นระบบราชการ และไปพ้นระบบความเป็นชาติด้วย พระพุทธเจ้า ไม่มีชาตินะ ท่านเป็นสากล อันนี้คือ พุทธศาสนา อันนี้คือ วิสาขะ วิสาขะนั้นน่ะ พูดกันอย่างไม่เกรงใจ ท่านจะประสูติวันนั้น ตรัสรู้ วันนั้นหรือไม่ เราไม่รู้เรื่องกับท่าน แต่ว่าเราทำ ถวายพระพุทธเจ้าแล้ว ทุกอย่างต้องกว้าง เปิดเผยเต็มที่ อย่าเอากิเลส อย่าเอาอัตตา มาตัดสิน คนนั้นผิด คนนี้ถูก

พ่อท่าน : ห้ามได้หรือ ห้ามไม่ให้มีอัตตา?

อ.สุลักษณ์ : อันนี้สอนไงครับ ผมก็มีนะครับ แต่ผู้ที่มาตั้งตัวเป็นพุทธศาสนาต้องพิทักษ์ศาสนา ไม่ใช่พิทักษ์ พุทธศาสนา ระบบพระนิยม ไม่ใช่พิทักษ์ศาสนาประเภทมีเป็นสถาบัน เป็นศาสนา ที่มีเนื้อหาสาระ ที่เป็นคุณธรรม ออกมาจาก พระปัญญาคุณ ออกมาจากพระกรุณาคุณพระพุทธเจ้า

(มีโทรศัพท์จากภายนอก)

คุณประพจน์ : สวัสดีครับ คุณอะไรครับ ชื่ออะไรครับ

คุณเฉลิมฤทธิ์ : ชื่อเฉลิมฤทธิ์ครับ

คุณประพจน์ : เชิญครับ เชิญครับ

คุณเฉลิมฤทธิ์ : ผมจะพูดประเด็นว่าที่เรามาทะเลาะกันนี่นะ เราลืมประเด็นว่า เราจัดงาน อันนี้เพื่ออะไร จัดงานอันนี้ ประเด็นอยู่ที่ว่า เพื่อวิสาขบูชาใช่ไหมครับ ผมก็ไม่รู้ว่าชาวพุทธ รุ่นใหม่ เขาจะรู้หรือเปล่าว่า วิสาขบูชาที่แท้ คือวันอะไรนะ ผมตั้ง ประเด็นอันนี้ไว้ ทีนี้พอมาทะเลาะอันนี้ ก็เลยไม่รู้เรื่องเลย ซึ่งกลาย เป็นว่าทะเลาะ เพื่อไม่ให้สันติอโศกเข้า ไม่ให้วัดธรรมกายเข้า แต่ประเด็น สำคัญคือ วันวิสาขะคือวันอะไร ไม่รู้เรื่องเลยตอนนี้ อ่านหนังสือพิมพ์ ก็เจอแต่ ประเด็นอันนี้ ไม่เจอประเด็นว่า วันวิสาขะคืออะไร อันที่สอง พระพุทธเจ้าไม่ได้ฝากศาสนาพุทธ ไว้กับใคร คนใดคนหนึ่ง ท่านฝากไว้กับ พุทธบริษัททั้ง ๔ ครับ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นะครับ ไม่ได้ฝากไว้กับองค์กรใด องค์กรหนึ่ง แล้วก็หน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง ศูนย์ใดศูนย์หนึ่ง เท่านั้น ท่านฝากไว้กับ พุทธบริษัททั้ง ๔ การจัดงานนี้นะฮะ ถ้าเราเอา ประเด็นว่า จัดงานครั้งนี้ เพื่อวันวิสาขบูชา เพื่อเป็นการประกาศให้ชาวโลก ไม่ใช่ชาวไทย ชาวไทยบางส่วนนี้ ที่เกิด ในศาสนาพุทธ บางคนนี่เป็นแค่ ในสำมะโนครัวเท่านั้น ยังไม่รู้เลยว่า วันวิสาขะวันนี้ คือวันอะไร เกิดมาก็ ผมเป็นชาวพุทธ แต่ว่าวันนี้ไม่รู้วันอะไร วันมาฆะคือวันอะไร วันวิสาขะคือวันอะไร ไม่รู้ แต่พอมาอ่าน หนังสือพิมพ์ ก็คือ วันวิสาขะ คือวันที่ วันทะเลาะกัน ไม่ให้วัดธรรมกายเข้า ไม่ให้ สันติอโศกเข้า เพราะว่า ฉันเป็นชาวพุทธที่ถูกต้อง อยู่หน่วยงานเดียวครับ ผมฝากประเด็นไว้ ตรงนี้ครับ

คุณประพจน์ : ครับ ขอบพระคุณครับ ๐-๒๕๓๐-๕๖๒๑ เราเปิดสายให้กับท่านผู้ชมแสดง ความคิดเห็น ของ กรณี การจัดงาน วันวิสาขบูชา ที่จะจัดขึ้นที่พุทธมลฑล มีหลายความเห็น มีหลายประเด็นที่ คุณผู้ชม ต้องมีคำถาม และมีเหตุผล เราอยากเปิดสาย และถามความเห็น คุณผู้ชมนะครับ ๐-๒๕๓๐-๕๖๒๑ ทีนี้อาจารย์สุลักษณ์ครับ ในเรื่องของการจัดงาน (มีสายเข้า)

คุณประพจน์ : สวัสดีครับ

คุณชัยพร : สวัสดีครับผม

คุณประพจน์ : คุณชัยพรกรุณาหรี่เสียงโทรทัศน์นิดหนึ่งนะครับ เชิญครับ

คุณชัยพร : เกี่ยวกับกรณีนี้นะฮะ ผมเห็นด้วยกับคนเมื่อกี้นี้นะครับ

คุณประพจน์ : เห็นด้วยยังไงครับ

คุณชัยพร : คือผมก็เป็นพุทธบริษัทเหมือนกัน คืออยากให้ไปรวมกัน แล้วแต่ใครจะชอบ จริตแบบไหน ใครจะ ปฏิบัติแบบไหน คือสายใครก็แล้วแต่นะครับ เราเป็นเมืองเสรีเมืองพุทธ แต่จุดเป้าหมายก็คือ การหลุดพ้นจากทุกข์ เหมือนกับคำสอน พระพุทธเจ้า ทุกวันโลกนี้ วันนี้ มันวุ่นวาย แต่จริงแล้ว ก็อยาก ให้พุทธศาสนาของเรานี่ รวมกันเป็นพลัง สายไหน ก็ช่างเถอะ สรุปแล้วก็คือว่า ให้ปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ มันไม่ได้ปฏิบัติ เพื่ออย่างอื่น ถ้าเราคิดตามแนวของ คำสอนพระพุทธเจ้า ก็คือจบ ใครจะเป็นอะไรก็ช่าง องค์กรที่....อะไรพุทธศาสนาแห่งชาติอะไรนี่ ต้องเปิดใจกว้างครับ เพราะว่า จริงๆ แล้วอย่าไปบอกว่า อย่างนี้อย่างนั้น คือ เราทำตาม พระธรรมวินัย ก็จบแล้ว

คุณประพจน์ : ถ้าอย่างนั้นสันติอโศกก็ไม่น่าจะต้องถอนตัวใช่ไหมครับ เพราะว่าจะต้องร่วมจัดงาน และ งานนี้ ก็ต้องเป็น เพื่อพระศาสนาด้วยใช่ไหมครับ

คุณชัยพร : ครับผม ผมก็อยากให้ท่านอาจารย์โพธิรักษ์ และก็ผมก็เคยไปที่สันติอโศกบ่อย แต่จริงๆแล้ว ผมไม่ใช่ ลูกน้องใคร ลูกศิษย์ใคร ผมเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า แล้วคือผมได้ไปเห็น ปฏิปทาของแต่ละองค์ โอเค เราก็มี ความเลื่อมใสอยู่แล้ว แล้วก็ค้นหาเอาเองตรงนี้ ถ้าเราได้ยิน แต่คนพูด แต่เราไม่ไปดูปฏิปทา ของแต่ละท่าน ทำยังไง เราก็ไม่เห็น แล้วก็กรณีพระบ้าน ผมไม่อยาก จะพาดพิงหรอก ผมอยู่ต่างจังหวัด ยิ่งแย่กว่านี้เยอะ พระตามบ้านนี่ บางที ทำผ้าป่า ไปที่วัดนี่ ศาลายังไม่เสร็จเลย แต่บ้านเจ้าอาวาสเสร็จแล้ว เปลี่ยนรถตามสไตล์เลย เดี๋ยวนี้แย่เลย ผมทำผ้าป่า ไปบ้านนี่นะ เด็กรุ่นใหม่ เขาไม่ทำหรอก ไปวัด เขาจะไปทำเป็นโรงเรียน หรืออย่างอื่น มากกว่า เพราะกรณีพระสงฆ์ อาศัยผ้าเหลือง ทำมาหากินก็เยอะ แต่จริงๆแล้ว พระที่ปฏิปทาดี ผมก็ขออนุโมทนาเลื่อมใส อยากให้ไปเถอะครับ ไม่ต้องไปกลัวอะไร ทั้งสิ้นครับ

คุณประพจน์ : ขอบพระคุณครับ ขอบพระคุณ แหม! ยังมีอีกหลายสายที่จะโทรเข้ามาด้วย นะครับ ท่านสุลักษณ์ครับ จากปรากฏการณ์ การจัดงานวันวิสาขบูชาที่เกิดขึ้น อาจารย์ไม่รู้สึกเห็นใจ มหาเถรสมาคม บ้างหรือ

อ.สุลักษณ์ : เห็นใจ ทำไมจะไม่เห็นใจครับ แต่อย่าลืมนะครับ มหาเถรสมาคมนั้น มันเป็นองค์กร สูงสุด กว่าเรื่อง จะไปถึงท่านนี่ มันจะมีการกลั่นกรอง แล้วเช่นเดียวกันอะไรจะลงมา ก็ต้องมี การกลั่นกรองลงมา ต้องพยายาม ปกป้องท่าน ไม่ให้ท่านเสีย ตอนนี้ผมเกรงว่า จะมีการใช้มหาเถรฯ เป็นเครื่องมือของ การดำเนินงาน ของบางคน เพราะมหาเถรสมาคม ส่วนใหญ่นี่ เป็นสมเด็จ อายุท่านเกิน ๗๐ ทั้งนั้น ก็ต้องเห็นใจท่าน ปกป้องท่านด้วย ปกป้องศาสนาพุทธ ก็ต้องปกป้อง มหาเถรฯ แล้วอะไรที่ว่าไป ทำให้ท่าน ผิดพลาดเสื่อมเสีย ท่านก็เลยแคบ เมื่อกี้มีคนบอกมา อยากให้สันติอโศก กลับเข้าไปร่วม พ่อท่านบอก ถอนแล้ว ท่านก็ต้องรักษาคำพูด ทีนี้จะให้เข้า ไปร่วมนี่ ผมเห็นไม่มีทางอื่น ท่านนายกฯเอง ก็ต้องมา แก้ปัญหาเรื่องนี้ ท่านนายกฯ ต้องมาอาราธนา พ่อท่าน นี่พูดตรงไปตรงมา ท่านนายกฯ อย่าเห็น ว่าเป็นเรื่อง ความเสื่อมเสีย ท่านนายกฯ ก็ต้อง มาประสานกับมหาเถรฯ เพราะท่านนายกฯทำได้ โดยเนื้อหา ท่านเป็น ประธาน ทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น ท่านทำได้นะครับ เมื่อท่านหวังเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ระดับโลก ท่านก็ต้องทำระดับโลก ระดับชาติ แล้วท่านอยู่ในสถานะ ที่ทำได้ ใช้ความนุ่มนวลแนบเนียน อย่าไปใช้ อำนาจนะฮะ ใช้สติ ใช้ปัญญา ซึ่งผมมองเห็นว่า ถ้าท่านเปลี่ยน เหล่านี้นะครับ ผมว่าท่านจะเป็นรัฐบุรุษ จะหมด ความเป็น ความ....ที่ถูกโจมตีมานัก หยิ่งผยอง ตัดสินใจเร็ว อะไรต่างๆ ท่านนายกฯ จะเปลี่ยน เพื่อถวายพระพุทธเจ้า แล้วท่านก็จะเป็นคนที่น่ารัก

คุณประพจน์ : สวัสดีครับ ชื่ออะไรครับ

คุณศิวบุตร : ศิวบุตรครับ

คุณประพจน์ : คุณศิวบุตรฮะ กรุณาเสียงดังนิดหนึ่งครับ คิดอย่างไรครับจากกรณีการจัดงานวันวิสาขะ ดังกล่าวครับ

คุณศิวบุตร : เห็นดี เห็นงาม เห็นชอบด้วย พุทธศาสนิกชนควรจะร่วมกันในการจัดงานดังกล่าว แต่ว่าผมเพิ่ง จะมาดู รายการของท่าน ผมไม่เข้าใจว่า คนกลางคือใคร แล้วคนชุดขาวคือใคร

คุณประพจน์ : ไปดูก่อนดีไหมครับ ไปดูรายการก่อนดีไหมครับ เดี๋ยวค่อยแสดงความคิดเห็นนะครับ ถ้าเพิ่งเปิด มาดูนี่ แหม ! เดี๋ยวจะแสดงความคิดเห็น ไม่ตรงประเด็นที่เราคุยกัน แล้วไม่ได้ฟัง ความเห็น ที่เรานำเสนอกันนะครับ ๐-๒๕๓๐-๕๖๒๑ ถามอาจารย์สุลักษณ์ เมื่อสักครู่ แล้วถาม พ่อท่านบ้าง ไม่รู้สึกเห็นใจมหาเถรสมาคม บ้างหรือครับ

พ่อท่าน : เห็นใจสิ อาตมาเห็นใจถึงได้บอกว่าเมื่อท่านแสดงว่าไม่ให้ร่วม อาตมาก็น้อมรับ ไม่ให้ร่วม เราก็ไม่ร่วม ถึงแม้ว่า อาตมาจะไม่ฉลาดเท่าไหร่ ก็คงพอจะเข้าใจว่า สังคมคืออะไร มหาเถรสมาคม คืออะไร อาตมายอมมหาเถรสมาคม มาตลอดเวลาเลย แต่ไหนแต่ไรมาเลย อาตมาจำเป็นออก คำแถลงการณ์ คราวนี้ เพื่อชี้สัจธรรม ขึ้นมายืนยัน จะเห็นได้ อาตมายอม มหาเถรสมาคมมาตลอด แม้ท่านจะทำอย่างไร อาตมาก็ยอม รู้ทั้งรู้ว่า แหม ! ท่านไม่น่าทำเรา ขนาดนี้เลย อะไรๆ ก็รู้อยู่ แต่ก็ยอม เพราะเข้าใจอยู่ว่า มหาเถรสมาคมคือมหาเถรสมาคม เราก็ต้องยกให้ อย่างที่อาจารย์ สุลักษณ์ว่า ก็เป็นองค์กร ที่ดูแลศาสนาอยู่ในประเทศไทย อาตมาก็ไม่ได้หมายความว่า แหม ! หูป่าตาเถื่อน จนกระทั่ง ไม่รู้ว่า อะไรเป็นอะไร

คุณประพจน์ : ครับ ไปที่สายท่านผู้ชมนิดหนึ่งนะครับ สวัสดีครับ คุณอะไรครับ

คุณศยาพร : ศยาพรค่ะ ก็เห็นว่าอยากให้คนไทยเป็นเหมือนกับแหล่งที่รวมความเชื่อทางความศรัทธา ในพุทธศาสนา นะคะ ให้หลากหลาย อันนี้พูดเฉพาะศาสนาพุทธเรานะคะ ถ้า คือ ยกเว้นกรณีที่ผิด พระธรรมวินัย ในเชิงที่เรา เห็นกันชัดๆ ที่ออกเป็นข่าวแบบนั้น ก็คือว่าอันนั้น ตัดสินไปเลย นะคะ แต่ในเรื่อง รายละเอียดปฏิบัติ น่าจะเปิดให้กว้าง เพราะดิฉันมองว่า อย่างการจัดงาน วันวิสาขบูชา มันเหมือนกับ การเป็น ตลาดธรรมะ น่ะค่ะ เพื่อให้คนไปเดินเลือก สิ่งที่เหมาะ ตรงกับตัวเรา อย่างนี้ นะคะ ถ้าออกมา ลักษณะนั้น น่าจะดี เพราะว่าดิฉันมองว่า ในวงการต่างๆ พอมาถึงจุดหนึ่ง มันจะมีจุดตัน ของกระแสหลัก ยกตัวอย่างทางสายทางแพทย์กระแสหลัก ถึงจุดหนึ่งก็ตัน มันก็จะมีคน ที่ดิ้นรน ที่จะไปหาการแพทย์ ทางเลือก อันนี้ดิฉันก็มองว่า ศาสนาพุทธของเรานี่ พอปฏิบัติกันมานานๆแล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปี มันก็จะมี ถึงจุดหนึ่ง ที่ผิดเพี้ยนหรืออะไรไป มันก็จะเกิด กลุ่ม หรือเกิดคนที่ทำในเชิงเรียกว่า ปฏิวัติ หรือปฏิรูป อะไรขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับ ผู้คน ซึ่งดิฉัน มองว่า อันนี้เป็นเรื่องปกติ แล้วน่าจะเปิดกว้าง เพราะว่า จะทำให้คน เกิดปัญญา นะคะ

คุณประพจน์ : ครับๆๆ ขอบพระคุณครับ

อ.สุลักษณ์ : เอ๊ะ ! ผมว่าคุณที่พูดเมื่อกี้นี้ มีประเด็นสำคัญนะควรจะรับมาพิจารณา อย่างงาน วิสาขบูชา ที่จัดใน ระดับใหญ่นี่ครับ ควรจะ ถ้าเผื่องานถึง ๑ สัปดาห์ ควรจะมีคณะกรรมการ พิจารณาเลยว่า การบูชาคุณ พระพุทธเจ้านั้น เราน่าจะปรับปรุง อะไรกันบ้าง แล้วยิ่งต่างนิกาย ต่างเยอะนี่ เป็นของดีเลย เราจะตกลงอะไรร่วมกัน นะครับ บางอย่าง เราไม่สามารถร่วมได้ สังฆกรรมไม่ร่วมได้ แต่บางอย่าง พิธีกรรมบางอย่าง เราร่วมได้ไหม มหายานเขาอาจจะมี ดนตรี นะครับ หรือทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นนี่ พูดกัน ตรงไปตรงมา เริ่มตั้งแต่พระจอมเกล้าทรงผนวช น่าจะเปลี่ยนได้มั่ง เช่น แม้กระทั่ง อภิณหปัจจเวกขณ์ ที่ว่าเรามีความแก่ธรรมดา เจ็บธรรมดา เราน่าจะมาดูว่า คนที่แก่ส่วนใหญ่ ไม่ได้รับการเหลียวแล นี่ช่วยตรงนี้ได้อย่างไร

คุณประพจน์ : ความหลากหลายมันจะดีอย่างไรครับ

อ.สุลักษณ์ : ดีสิครับ เพราะว่าความหลากหลายเราจะเรียนจากกันและกัน มันจะทำให้เรา เติบโตนะครับ มิฉะนั้น เราจะแคบ แล้วเซล [cell] มันจะตาย นี่เราก็พร้อมที่จะเรียน จากคนอื่น นะครับ แต่เราไม่ได้ต้องการ เปลี่ยนหลักฐาน ของเรานะครับ นี่ผมอยากจะมองในรูปนี้ ยกตัวอย่าง ง่ายๆเลย ศาสนาพุทธในเมืองไทย นั้น เติบโตมากับ สังคมกสิกรรม เดี๋ยวนี้เราเป็น สังคม อุตสาหกรรมแล้ว มีความซับซ้อนในทาง โครงสร้าง อยุติธรรมในสังคม ถ้าจะถวาย พระพุทธเจ้า ให้ตื่นจากกิเลสนี่ จะต้องสามารถเข้าใจโครงสร้างทางสังคม ซึ่งมันช่วยคนรวย จำนวนน้อย เอาเปรียบคนจน จำนวนมาก และคนรวย จำนวนน้อยนั้น ก็ไม่มีความสุข เราจะช่วยคนรวย จำนวนน้อย ให้มีความสุขอย่างไร เจือจานความสุข ระหว่าง คนรวยกับคนจน ได้อย่างไร และ ศีลของเราที่ว่า ไม่ฆ่าสัตว์นั้น เดี๋ยวนี้เรา ไม่ต้องฆ่า เราปล่อยให้คนอื่นฆ่า แม้กระทั่ง สัตว์ที่เราไม่กิน มีบางบริษัททรมานสัตว์อย่างมาก ประเด็นเหล่านี้ ควรจะเอามาพิจารณาครับ ผมว่าอันนี้แหละ มันจะเป็น วิสาขบูชาระดับโลก ระดับชาติ ระดับส่วนตัว และมองลึกลงไป อย่างที่พระองค์ผู้ตรัสรู้ ท่านมองลึก ลงที่สุด จนสามารถ ตัดอัตตา ทิ้งไปหมด ส่วนไอ้ที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ผมไม่ว่า อะไรหรอก เป็นธรรมดา ครับ เพราะสังคมไทย ตอนนี้ กำลังสับสน ไขว้เขว เพราะฉะนั้น ผมถึง บอกให้ใช้ กาลามสูตรเข้าไว้ แล้วหนังสือพิมพ์ บางทีเขาก็หวังดี บางทีเขาก็หวังไม่ดี บางทีเขาหวังดี แต่เขารู้ไม่พอ ก็มาประโคมข่าว เยอะแยะไป ให้อภัยเขาเถอะนะครับ แล้วมาหาเนื้อหาสาระ ให้ถือว่า ทุกอย่าง มันจะนำไปสู่สติ นำไปสู่ปัญญา

พ่อท่าน : สามัคคีนั้นคือความขัดแย้งอันพอเหมาะ นะ สามัคคีที่จะต้องเหมือนกันหมดเลยทุกอัน จะต้อง ไม่มี ความขัดแย้งกันเลย มันไม่มีหรอกในโลก ออ! ก็มี มีในกลุ่มควาย สามัคคีกลุ่มควายนี่ มีหัวหน้า อยู่ตัวเดียว เสร็จแล้ว นอกจากนั้น ไม่ขัดแย้งกันเลย มีตัวเดียว หัวหน้านำแล้ว ไป ไงไปเลย นั่นคือ สามัคคีควาย แต่สามัคคีจริงๆ นี่มีขัดแย้ง อันพอเหมาะ

คุณประพจน์ : ครับไปที่สายท่านผู้ชมนิดหนึ่ง สวัสดีครับ วางสายไปแล้วมังครับ

อ.สุลักษณ์ : ขอขัดแย้งพ่อท่านนิดหนึ่งนะครับ คือผมออกจะนับถือควายนะครับ

พ่อท่าน : อ๋อ! ไม่ได้ดูถูกควายนะ ที่พูดอาตมาไม่ได้ดูถูกควาย (พูดปนหัวเราะ)

อ.สุลักษณ์ : เดี๋ยวฟังผมก่อน สัตว์ทั้งหลายนี่ เขามีสัญชาตญาณหลายอย่างซึ่งมนุษย์ควรจะเอาอย่าง แล้ว มนุษย์เรานี่ ลึกๆ เราอวดฉลาด กว่าสัตว์ มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวนะครับ ที่แสดงความบัดซบ ออกมา สัตว์มันไม่แสดง ความบัดซบเลยนะครับ

พ่อท่าน : อันนี้เห็นด้วย

อ.สุลักษณ์ : อันนี้สำคัญมากนะ ที่เรานับถือพระพุทธเจ้านี่ เพราะท่านสามารถเอาชนะความบัดซบ ทั้งหมดได้ ได้ตรัสรู้ ตื่น แล้วนี่ ที่ออกมาตอนนี้คือ ด้วยความเคารพนะครับ คือความบัดซบทั้งนั้น ผมก็แสดงความบัดซบออกมา ต้องเข้าใจ อันนี้นะครับ

พ่อท่าน : เอาประเด็นนั้นเท่านั้นเอง ไม่ได้ไปนึกถึงขนาดนั้น

อ.สุลักษณ์ : แย้งๆๆๆ แย้งพระ

คุณประพจน์ : มีท่านผู้ชมแสดงความคิดเห็นมาทาง ๐-๑๙๐๙-๕๐๐๐ นะครับ บอกว่า ขอแสดง ความยินดี กับ สมณะโพธิรักษ์ ที่แก้ปัญหาด้วยความสงบ คุณณรงค์ ปิยะสัจเดช นะครับ / แล้วก็มี ความเห็นว่า ไม่น่าต้องออกมาแก้ตัว แก้ขัด น่าจะรวมกันทำความดี จากคุณภาดีนะครับ / มีคน บอกว่า ประนาม TTV ๓ ที่นำนักบวชนอกศาสนาพุทธ มาออกรายการ คุณศิวบุตรนะครับ / แล้วก็สุดท้าย ความเห็นคุณนิตยาพร อยากให้เปิดกว้าง ทำเหมือนตลาด ให้คนสามารถเลือกได้ ควรจัดงานใหญ่ปีละ ๑ ครั้ง ให้คนเลือกได้ จากคุณนิตยาพรครับ

พ่อท่านครับ ถ้าหากว่าสันติอโศกได้เข้าไปร่วมจัดงานวันวิสาขบูชา ที่พุทธมลฑล วางแผน ที่จะจัดงาน อย่างไรครับ

พ่อท่าน : อ้า! จริงๆนั้น เริ่มต้นประชุมกันมา อาตมาก็รับซับทราบ อาตมาไม่ได้ไปร่วมประชุม อะไรด้วยนะ พวกเรา ส่วนมาก ที่ไปประชุมก็มี ท่านเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ นี่แหละ ท่านจันทร์นี่แหละ ร่วมประชุมด้วย อาตมาก็ไม่ได้ไปหรอก แล้วก็มี ฆราวาสไปร่วมประชุม เมื่อประชุมกันมาแล้ว ก็ได้ความว่า เราคิดจะทำอะไร อย่างไรกันบ้าง ประเด็นหนึ่งที่คุยกันมา ที่คุณจำลอง มุ่งหมายกับ ท่านนายกฯมา ก็คือว่า อยากจะทำ คุณงามความดีอะไรอันหนึ่ง อยากจะให้มันเป็นเรื่อง ที่มัน กระจาย ไปทั่วประเทศ คือคิดว่า ให้มาตั้งจิต อธิษฐานกัน ในวันวิสาขบูชา ใครจะอยู่บ้านเรือน ไหนๆๆๆก็ได้ ทุกแห่ง ในทั่วประเทศ ออกโฆษณากัน ออกโฆษณาไปว่า วันวิสาขบูชานี่ ขอให้ทุกคน ตั้งจิต ตั้งจิตอธิษฐาน อธิษฐานนี่ ไม่ได้แปลว่า ขอนะ ศาสนาพุทธเรามัน อเทวนิยม แปลว่าการตั้งจิต คือตั้งเพื่อที่จะทำประโยชน์ ทำคุณงามความดี เราตั้งใจว่า จะทำอะไรถวายเป็นปฏิบัติบูชา ในวัน วิสาขบูชา เราจะปฏิบัติเลิกละอันนั้น เราจะปฏิบัติสิ่งดีอันนี้ เราจะปฏิบัติอะไร ที่เราควรจะกระทำ อะไรที่ไม่ดีจะเลิก อะไรที่ดีให้ทำให้ยิ่ง อะไรอย่างนี้ก็ตั้งขึ้นมา ทั่วประเทศนี่ ตั้งกันจริงๆ เขากะกันว่า จะทำเป็นการ์ด แล้วก็แจกไปทั่วประเทศเลย แล้วก็ให้ทุกคน เขียนๆๆๆ แล้วก็ส่งเข้ามาที่ สำนัก นายกฯ ส่งเข้ามาที่ทำเนียบ มาหานายกฯ นั่นเอง เพื่อที่จะให้นายกฯ เป็นจุดศูนย์กลาง ที่จะรับ อธิษฐาน ใครจะทำอะไร คนนี้จะเลิกเหล้า คนนี้จะเลิก ด่าเมีย คนนี้จะอะไร ก็แล้วแต่ คนนี้ จะไม่ฟุ่มเฟือย คนนี้จะอะไรก็ตามใจ หรือ จะถือศีล ๕ ศีล ๘ อะไรให้สำคัญ ละก็ สูงขึ้นไป เป็นลำดับๆ ศีล สมาธิ ปัญญา อะไรก็เชิญ เพื่อปฏิบัติบูชาถวาย พระพุทธเจ้า ในวันวิสาขบูชา เมื่อประกาศ ออกไปแล้วในปีหนึ่ง ปีต่อไปเราทำอีกๆๆๆ เราจะได้คนอย่างนี้ แล้วเราจะได้ ความตั้งใจว่า ปีนี้ไปถึงปีหน้า เราตั้งใจ ทำให้ได้เท่าไหร่ ปีหน้ามาดูกัน ถ้าปีหน้าตั้งอีก มันล้ม ก็ตั้งใหม่ หรือว่าตั้งแล้ว ได้ดีเพิ่มขึ้นๆ

อย่างนี้ก็จะเป็นการเสริมหนุนให้สร้างขึ้นมา อะไรขึ้นมาได้อย่างดี อันนี้ก็เป็นวิธีการที่เราคิด แล้วก็คงคิดว่า จะทำอยู่ แม้ว่า จะไม่ได้ไปจัดที่พุทธมลฑลอันนี้ก็จะทำที่ไหนก็ได้ แต่มันต้องลงทุน ที่จะต้อง ทำการ์ดนี่ แจกไปทั่วประเทศอะไรอย่างนี้ หรือว่า จะต้องประกาศทางสถานีโทรทัศน์ ทางวิทยุ ทางหนังสือพิมพ์ ช่วยประกาศ เพื่อจะให้ประชาชนทุกคน ที่ปรารถนาดี ที่คิดว่า อันนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคน ก็ทำ นอกนั้น ก็จัดกันก็เป็นงานที่อะไรต่ออะไรที่พูดกันไป แบ่งงานกัน ทางเราก็รับมาว่า จะดูแลทางด้านเลี้ยงอาหาร มังสวิรัติ ว่างั้นนะ ตกลงกันวันแรก แล้วเรารับ ผิดชอบ ทางอาหาร ก็ตกลงอะไรอย่างนี้ เป็นต้น จัดนิทรรศการอะไร อย่างนี้เป็นต้น นอกนั้น เราก็จะมี กลุ่มหมู่ผู้ที่จะไปจะเป็นพระมาจากทุกทิศทุกแดน เข้ามานั่งปักกลด กันที่นั้น แล้วก็จะมาคุยโอภาปราศรัยธรรมะ เหมือนกับอย่าง ปี ๒๕๒๔ ที่สวนลุมฯ นั่นแหละ แล้วก็จะมาพบ พระพบเจ้า เพื่อจะได้ ถามไถ่ธรรมะ ปรึกษาทางออกจากทุกข์ จะพาปฏิบัติ อย่างไร ใครจะพา นั่งสมาธิ ใครจะพาคุย หรือถกธรรมะ อย่างนั้น อย่างนี้กัน โอโห ! จะทำให้เกิด บรรยากาศ ที่ดีทีเดียว

คุณประพจน์ : แล้วพอถอนตัวอย่างนี้แล้วงานวันวิสาขบูชาที่ทางสันติอโศกจะจัดจะทำอย่างไรครับ

พ่อท่าน : อาตมาคิดอย่างนี้นะ เมื่อทางด้านโน้นท่านไม่อยากให้ทำแล้ว แล้วก็เกิดเหตุการณ์ ขึ้นมาแล้ว ถ้าเผื่อว่า เราไม่ไป จัดที่พุทธมลฑล แล้วทางสันติอโศกก็มาจัดขึ้นไช่ไหม มันก็จะเป็น การแข่งขัน เป็นการ อวดดี อาตมาก็เลยบอกกัน บอกว่า อย่าจัดเลย ตกลงปีนี้ถึงแม้อย่างไร เราก็สงบเถอะ เมื่อทางเรา เคยจัด บ้างก็ตาม ถ้าปีนี้มันเกิดเหตุการณ์ อย่างนี้แล้ว ทางโน้น จัดขึ้นมาแล้ว ทางนี้ก็เลยคิดว่า หยุดไปเลย ปีนี้ไม่จัดอะไรเลย

คุณประพจน์ : ไม่จัดเลย

พ่อท่าน : ใช่ วิสาขบูชาก็จะทำแค่ ก็เทศน์กันในหมู่ภายในเท่านั้นเอง เงียบๆ ถ้าไปทำอะไร มากมาย เกินไป ประเดี๋ยว มันจะกลายเป็นว่า นี่อวดดี ทำแข่งขัน มันจะเกิดการขัดแย้ง หรือว่าการอะไรไม่ดี เราก็เลยไม่

อ.สุลักษณ์ : ผมก็ถึงบอกน่าเสียดายไง

คุณประพจน์ : ครับเสียโอกาส

อ.สุลักษณ์ : ผมถึงบอกว่า คราวนี้ท่านนายกฯ ท่านต้องแสดง ท่านตั้งคณะกรรมการ และประสาน รัฐบาล ประสานพุทธศาสนาแห่งชาติได้ เรื่องนี้ท่านน่าจะทำได้ ท่านนายกฯ ท่านสามารถ ควรจะ ปรองดอง ท่านก็อยู่ในฐานะว่า พูดกัน อย่างไม่เกรงใจ คนเขาหมั่นไส้คุณจำลอง หาว่าคุณจำลอง มาทางนี้ ท่านนายกฯ จะต้องไปให้พ้นทางนี้ เขาไม่รู้นะ ว่าท่านนายกฯ ไม่ใช่สันติอโศก ไม่ใช่ธรรมกาย ไม่ใช่อะไร ทั้งหมด ท่านนายกฯก็ อันนี้จะแสดง ความเป็นผู้นำรัฐบาล ท่านนายกฯ ก็ต้อง ไปหามหาเถรสมาคม อธิบายให้เข้าใจเสีย อย่าให้หน่วยงานไหน มาใช้มหาเถรสมาคม เป็นเครื่องมือ เป็นสัญญาณอันตราย

คุณประพจน์ : ถ้าเขาคาดหมายว่าเขากลัว หรือว่าเขาหวั่นเกรงวัตถุประสงค์ซ่อนเร้น หรือ วาระ ซ่อนเร้นของ คุณจำลอง ก็เปลี่ยน คุณจำลองไม่ดีเหรอ

อ.สุลักษณ์ : อันนี้เรื่องของคุณจำลอง ไม่ใช่เรื่องของผม ผมเชื่อนะคุณจำลองพร้อมที่จะถอน เพราะ คุณจำลอง ที่ผมรู้จักมา เขาไม่ใช่คนดื้อรั้นอะไร แต่ว่าเรื่องต่างๆนี้ เราอย่าไปสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ ผมเชื่อท่านนายกฯ ท่านสามารถ ในเรื่องนี้ ท่านควรจะฟังควรจะคุย ผมว่า ผมว่าน่าเสียดาย ถ้าสันติอโศก เงียบไป เพราะความหวังของท่าน จะให้ใน ระดับโลก ระดับชาติยังทำไม่ได้ แล้วระดับโลก จะทำได้อย่างไร สำคัญนะฮะเรื่องเพราะเล็กๆน้อยๆ มันต้องแก้แล้ว แก้ไม่ยากหรอก ถ้าต้องการจะแก้

คุณประพจน์ : มีคุณผู้ชมโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นนะครับ ที่ ๐-๑๙๐๙-๕๐๐๐ คุณดำรงค์ บอกว่า ทำไมศาสนา ไม่คิดจะสามัคคีกัน เหมือนเพลงที่เขาเปิดให้ชาวใต้สามัคคีกันทุกวัน เดี๋ยวผม อ่านไปก่อน แล้วกันนะครับ ท่านใด จะแสดงความเห็น เพิ่มเติมก็เชิญครับ สำนักอโศกเป็นศิษย์ พระพุทธเจ้า เหมือนกัน แต่ทำไมไม่ห่มเหลือง เหมือนพระทั่วไป จุดนี้น่าจะเป็นจุด ที่ทำให้ มหาเถรสมาคม ไม่ยอมรับ จากคุณกิตติ อันนี้ต้องไปอ่าน ประวัติศาสตร์

พ่อท่าน : ตอบหน่อยได้ไหม ที่ว่าทำไมไม่ห่มเหลืองนี่น่ะ ต้องขออภัยนะ อันนี้มันจะต้องพูด

คุณประพจน์ : ไม่โกนคิ้วด้วย

พ่อท่าน : หนึ่งอาตมาต้องมาห่มให้แตกต่างจากมหาเถรสมาคม เพราะว่ามันมีเรื่องกันมา แล้วก็ แยกกันมา ถ้าไปทำ อะไรเหมือน เดี๋ยวจะไปลอกเลียน เดี๋ยวก็ถูกจับอีก ไม่ดี สอง...ที่จริงแล้วลึกๆ ก็คือว่า อาตมา ก็ไม่เคย นุ่งห่มเหลือง มาตั้งแต่บวช เพราะว่าในวินัย พระไตรปิฎก วินัยเล่ม ๕ นี่ ท่านบอกไว้ชัดเจนว่า จีวร สีที่ไม่ให้ภิกษุห่มนี่ มันมีอยู่ ๗ สี ใน ๗ สี มีสีเหลือง อยู่ในนั้นด้วย

คุณประพจน์ : อ้อ! นี่จากพระไตรปิฎกนะฮะ

พ่อท่าน : เป็นหลักฐานเลย ระบุไว้ชัดๆ ท่านบอกว่าเป็นสีของฆราวาส สีเหลือง สีแดง สีแสด สีชมพู สีจำปา สีดำ สีคราม ๗ สีด้วยกัน ไม่ให้ใช้

คุณประพจน์ : มีคุณสุชาติบอกว่าให้กำลังใจรายการ ว่าใครจะนอกศาสนาพุทธอย่างไร แต่ปฏิบัติ ตัวดี ก็น่าจะดีแล้ว คุณผู้ชาย ไม่ทราบชื่อนะครับบอกว่า ท่านรู้ได้อย่างไรว่า สามัคคีควาย เป็นอย่างไร

พ่อท่าน : ขออภัยพูดเปรยๆ ไปอย่างนั้นแหละ ถ้าจะมานั่งตั้งถกตั้งเถียงกัน คิดว่าอาตมาคงไม่คิด จะโต้เถียง อะไรด้วยหรอก เปรียบเทียบให้ฟังเท่านั้นเอง ถ้าเข้าใจอย่างที่อาตมาพูดนั้น มันก็น่า จะจบ แต่ถ้าไม่เข้าใจ พลิกแพลงอะไรอีกก็ได้

คุณประพจน์ : ครับ จะขอถามอาจารย์สุลักษณ์เป็นความรู้ครับ อาจารย์ครับ เรื่องของ พระไตรปิฎกนี่ หลายสำนัก ก็มี ศาสนาพุทธเรา ก็มีหลายนิกาย มีหลายสำนัก มีแบ่งย่อย ออกไป อีกนี่ หลักๆมันอยู่ที่ การตีความ ใช่ไหมครับ แล้วก็นำหลัก ของการตีความ พระไตรปิฎกนั้น มาสู่การปฏิบัติ ตรงนี้จะให้ความรู้ กับผู้ชมอย่างไรครับ อาจารย์ครับ

อ.สุลักษณ์ : นี่แหละครับที่แตก แตกเป็นนิกายไปมาก ท่านจะสังคายนา ครั้งที่ ๒ คือการตีความ ที่แตกต่าง กันครับ แต่ทางฝ่ายเถรวาท หมายความว่าพระภิกษุสงฆ์ในประเทศไทย ลังกา พม่า มอญ ลาว เขมร ถือหลัก เดียวกัน พระไตรปิฎก ซึ่งอ้างว่าเป็นพระพุทธพจน์ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ แต่อย่างน้อยนี่ สังคายนาหลายต่อหลายครั้ง ยอมรับ แล้วยอมรับ โดยเฉพาะวินัย ซึ่งมีพระ พุทธานุญาต ให้ปรับปรุง แก้ไขได้ แต่ทางฝ่ายเถรวาท ไม่ยอมปรับปรุงแก้ไข เพราะสังคายนา ครั้งที่ ๑ พระมหากัสสัปปะ ขอเถรานุมัติว่า แม้จะมีพระพุทธานุญาตให้แก้ไขได้ ด้วยความเคารพ ในพระพุทธเจ้า จะไม่แก้ไข ฝ่ายเถรวาท ถือตามนี้ไม่แก้ไข ทีนี้เรื่องนี้ไม่ใช่พระไตรปิฎกอย่างเดียว มันแง่อรรถกถามีฎีกา ตีความ เหล่านั้นอีก ซึ่งสืบทอดมา ตั้ง ๒,๕๐๐ ปี อันนี้ก็ต้องเดินตามนี้นะครับ ต้องมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ คนที่มีความรู้ แล้วอวดฉลาด ไปตีความ ทำให้เกิดเรื่อง แต่โดยทั่วๆไปนี่ ใน ๔-๕ ประเทศนี่ก็ตีความ เกือบจะไม่แตกต่างเท่าไหร่ ในเรื่องพระวินัย นะครับ อาจจะตีความ แตกต่างกันบ้าง ในเรื่องของธรรมะ โดยเฉพาะในเรื่องพระอภิธรรม อันนี้ก็เป็นเรื่องของ ผู้ปฏิบัติธรรม เท่านั้นเอง ศาสนาพุทธก็ไม่ถือว่า การตีความ ในธรรมะเป็นเรื่องสำคัญ สำคัญที่ ปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วลด ความโลภได้ โกรธได้ หลงได้ ก็ถือว่าเดินถูกทางแล้ว

คุณประพจน์ : ทำไมเวลาเราพูดถึงประเทศไทยนี่ หลายคนบอกว่าเราอยู่บนท่ามกลาง ความหลากหลาย มีทั้งพุทธ ซิกส์ มุสลิม คริสต์ อู๊ย! หลายศาสนา

อ.สุลักษณ์ : มีความใจกว้าง

คุณประพจน์ : แต่เวลาพูดถึงศาสนาพุทธนี่มันต้องเป็นหนึ่งเดียวนี่ เออ! ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ อ.สุลักษณ์ พ่อท่านจะตอบก่อน ก็ได้นะครับ

พ่อท่าน : เป็นหนึ่งเดียว แต่โดยธรรมชาติมันก็ไม่พ้นความแตกต่างกัน เรื่องความเห็นที่แตกต่างกันนี่ มันห้าม ไม่ได้หรอก พระพุทธเจ้านี่ สุดยอดแห่งผู้ยอดรู้ พระองค์ทรงรู้ซึ้งในความแตกต่างนี่ ท่านได้ บัญญัติ หลักเกณฑ์สุดยอด ไว้ให้ปฏิบัติ ในเรื่องความแตกต่าง หรือว่าการกระทำไว้เป็นหลักของ ธรรมวินัย สุดยอดเลยคือ นานาสังวาส เพื่อกัน ความจะต้องแตกกัน จนถึงเป็นนิกาย เพราะนั่น มันเป็น อนันตริยกรรม เป็นเรื่องหยาบ เป็นเรื่องชั่ว เป็นเรื่องเลว เหลวไหล นิกายไม่ใช่ นานาสังวาส นานาสังวาสกับนิกายนี่ต่างกัน นิกายนี้เป็นการกระทำที่อวดดี เห็นแก่ตัว แล้วก็จองหองกันจริงๆ ก็แตก เป็นนิกายไป ส่วนนานาสังวาสนั้น พระพุทธเจ้าท่านอาศัยเหตุแห่งการบัญญัติ นานาสังวาส ซึ่งเป็นพระปัญญาคุณ เป็นพระสัพพัญญุตญาณแท้ๆ วิเศษที่สุดเลย นานาสังวาสนี่ เพราะว่า พระพุทธเจ้านี่แน่นอน ย่อมรู้จักวิสัย ของมนุษย์ วิสัยของ ความเป็นคนอย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ท่านเอง ท่านจะรู้เลยว่าในอนาคต จะต้อง มีการขัดแย้งกัน ในประเด็นนี้ พระองค์ทรงหาทางออก ที่สุดแห่งวิสัยสุดท้ายว่า เมื่อมันมีศรัทธา ต่างกัน ปัญญาต่างกัน มันบังคับไม่ได้นะ ศรัทธาของ มนุษย์ ปัญญาของมนุษย์ มันบังคับไม่ได้ มันจะต้อง มีศรัทธาต่างกัน ปัญญาต่างกัน เมื่อมีศรัทธา และปัญญา ต่างกันแล้ว ต่างคนต่างเชื่ออย่างนี้ ศรัทธาคือ ความเชื่อ ปัญญาคือความเห็น มันเห็นอย่างนี้ จริงๆ เหตุที่เกิด นานาสังวาส ต้นเรื่องนี่ ไม่ใช่ เรื่องใหญ่เลย พระพุทธเจ้าท่านตัดสิน ตั้งแต่ตอนนั้นก็ได้ แต่ท่านก็อาศัย อันนี้เป็นเหตุ เพื่อที่จะตั้งหลัก อันวิเศษยิ่งใหญ่ นานาสังวาส นี้เอาไว้ เพื่อตัดสินความเห็น ของเรื่อง ที่ต่างกัน ต้องอยู่กันอย่าง นานาสังวาส เหตุที่ว่านี่ ก็ขอพูด นิดหน่อย เหตุตอนนั้นก็พระเถียงกัน แค่ใช้น้ำ ในส้วม แล้วต้องคว่ำอ่าง หรือหงายอ่างน้ำ เท่านั้นเอง คนหนึ่งว่า ต้องหงาย อีกคนหนึ่งว่าต้องคว่ำ เท่านั้นเองทะเลาะกัน พระพุทธเจ้าท่านจะชี้ ตัดสินด้วย พระองค์เองก็ได้ เรื่องแค่นี้ แต่ท่านถือว่า เออ!ต่างคนต่างยึด แล้วก็เถียงกันจริงๆเลย ไม่มียอมกัน ต่างก็ยึดกัน จนพระพุทธเจ้า ท่าน แหม! มันไม่ไหวแล้ว ก็เลยต้องใช้พระปฏิภาณ เพื่อการณ์นี้ ท่านมี วิธีอะไร เอาละไม่เล่าต่อไป ในประวัติล่ะ สุดท้าย ท่านก็เลยเอาเหตุอันนี้ มาตั้งเป็นหลัก นานาสังวาส ว่า เมื่อต่างคน ต่างเห็นต่างกันแล้ว ท่านก็บัญญัติว่า เออ! ถ้ามีกรรมต่างกัน อุเทศ ต่างกัน ศีลไม่เสมอสมาน กันอย่างนี้ ไม่สมานสังวาสแล้ว ก็ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างประกาศ แยกกันเสีย วิธีแยกมีอยู่ ๒ อย่าง ผู้ที่เป็นตัว ที่ไม่เอาแล้วหมู่นี้ฉันจะขอแยก ก็ประกาศออกมาว่า ขอแยก นานาสังวาส นะ แต่ก็ยังเป็นพุทธ ด้วยกันได้ ไม่ใช่นิกายนะ นั่นหนึ่ง หมายความว่า เราทำตนเป็น นานาสังวาส ด้วยตนเอง นี้ข้อที่หนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง ก็หมู่ใหญ่ประกาศ ให้ผู้ที่แตกต่าง แยกเป็นนานาสังวาส ไปเถอะ ไปทำของคุณเองเถอะ ไม่ต้อง สังฆกรรม กับหมู่ แต่ไม่ใช่ ปกาสนียกรรม ไม่ใช่พรหมทัณฑ์ ไม่ใช่นิกาย ต้องเข้าใจนะว่า อันนี้ มันมีรายละเอียด ที่ลึกซึ้งมาก ทีนี้เมื่อแยกกันแล้ว เป็นนานาสังวาส กันแล้ว ห้ามไปท้วงกันข้ามฝ่าย ห้ามปฏิกโกสนา ห้ามไปพูดคัดค้านจังๆ อีกฝ่ายหนึ่ง เขาจะทำอย่างไร อย่าไปค้านจังๆ ไปแย้งกัน อย่างเอาเรื่อง ไปท้วง ขั้นจนเกิดเรื่อง ไปฟ้องไปร้องอะไรเขาไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น ก็ต่างคน ต่างอยู่ พระนางโคตมี เห็นอย่างนี้ เอ๊ะ! เป็นอย่างนี้แล้วจะทำยังไง แยกเป็น สองฝ่ายเสียแล้ว จะทำยังไง พระพุทธเจ้า ท่านก็บอกว่า ให้ไปฟังธรรมทั้ง ๒ ฝ่าย ฟังแล้วเห็นว่า ธรรมของฝ่ายใดดี ท่านใช้ศัพท์คำว่า ธรรมวาที เราก็เอาธรรมะฝ่ายนั้น หากเห็นว่าฝ่ายใดเป็นอธรรมวาที คือเห็นว่าไม่ดี เราก็ไม่เอา นี่เป็นอิสร เสรีภาพ สูงสุด ที่พระพุทธเจ้า ให้แก่มนุษยชาติ ทั้งฝ่ายภิกษุ และ ทั้งฝ่ายฆราวาส นี่แหละ สุดยอดแห่ง สิทธิ และอิสรเสรีภาพ เยี่ยมสุด ที่พระพุทธเจ้า ทรงให้ไว้แก่มนุษย์ ตั้งแต่เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว นี่เป็น หลักธรรมอันยิ่งใหญ่ ถ้าไม่มีอันนี้ มันไปไม่รอด มันจะเกิดนิกาย มันจะเกิด การข่มเหง คะเนงร้าย กันได้ เกิดเผด็จการได้ หมู่ใหญ่รังแกผู้น้อย ก็จะเกิดขึ้น หมู่น้อยก่อ ความวุ่นวาย ก็จะเกิดได้ ไม่มีที่จบ ก็จะไม่มีทางออก แย่ไปเลย เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์ จึงทรง บัญญัติ หลัก นานาสังวาส เป็นทางออกไว้ ให้แก่ศาสนา และมวลมนุษยชาติ นี่คือหลักการ ที่สุดยอด วิเศษ แห่งความเข้าถึง ความเป็นมนุษย์ ของพระพุทธเจ้า ที่ได้บัญญัติอันนี้ขึ้นมา

คุณประพจน์ : ครับ มีคุณผู้ชมแสดงความคิดเห็นมา ที่ ๐-๑๙๐๙-๕๐๐๐ นะครับ ถามอาจารย์ สุลักษณ์ เผื่ออาจารย์ สุลักษณ์ จะตอบด้วยนะครับ คุณรังสิต ถามว่าใครเป็นเจ้าของ พระพุทธศาสนา มหาเถรสมาคม เป็นเจ้าของ พระพุทธศาสนาหรือไม่ อาจารย์ตอบตรงนี้ดีมั้ยครับ

อ.สุลักษณ์ : มหาเถรสมาคมท่านก็ไม่เคยบอกท่านเป็นเจ้าของพุทธศาสนา ท่านมีหน้าที่ ในการ บริหาร คณะสงฆ์ สูงสุด เท่านั้นเองนะครับ ท่านสามารถจะชี้ว่า พระภิกษุสงฆ์ ในสังฆมณฑล ไทยนั้น ผิดถูก อย่างไร หรือจะอุดหนุน ให้เลื่อนยศถา บรรดาศักดิ์อย่างไร ท่านดูแลปกป้อง ความถูกต้องดีงาม ของ คณะสงฆ์ในเมืองไทย เท่านั้นเอง ไม่ใช่เจ้าของศาสนา ทุกคนที่เรียกว่า บริษัท ๔ ทุกคนเป็นเจ้าของ ศาสนา ไม่ว่าเป็นอุบาสก ไม่ว่าเป็นอุบาสิกา ไม่ว่าเป็นภิกษุสงฆ์ ภิกษุณี เป็นเจ้าของ ศาสนา ทั้งนั้นครับ

คุณประพจน์ : ครับ คุณรังสิตมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ถ้าสมมติว่าต่างประเทศ เป็นผู้จัดงาน วันวิสาขบูชา แล้วทั้ง สันติอโศก และธรรมกายไปร่วมงานได้ ถามว่ามหาเถรสมาคม จะรู้สึก อย่างไร ในขณะที่ ถือตัวว่า พุทธศาสนาของไทย เป็นของตนเอง

อ.สุลักษณ์ : อันนี้ผมว่าเพื่อความเป็นธรรมนะ อย่าเพิ่งไปโจมตีมหาเถรสมาคมอย่างนั้น เราไปฟังมา จากสื่อ ผมไม่เชื่อว่า ท่านพูดอย่างนั้น สื่อเอามาพูด เพราะฉะนั้น ผมบอกให้ใช้หลักกาลามสูตร อย่าเพิ่ง ไปเชื่อสื่อ

คุณประพจน์ : ต้องหนักแน่น

อ.สุลักษณ์ : และมหาเถรสมาคมนั้น เป็นสถาบันบริหารสูงสุด ต้องพยายามเคารพท่าน และอย่าให้ เกลือกกลั้ว จนเสีย ไม่แน่ใจ สอบถามให้ชัดเจนก่อน อย่าไปเหมาท่านง่ายๆ

คุณประพจน์ : คุณสมชาติบอกว่าอ่านจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ บอกว่าทางเถรสมาคมไม่รู้เรื่อง การจัดงาน วิสาขบูชา ไม่รู้ใครใส่ชื่อเข้าไป ผมเกรงว่าคนดูจะเข้าใจผิดว่า ไม่ร่วมสังฆกรรมกัน อันนี้ เป็นความเห็นแล้วกันนะครับ คุณอัญชลี ค้นมาจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ว่า เดียรถีย์แปลว่า นักบวช ภายนอกพุทธศาสนา อลัชชีแปลว่า ภิกษุผู้มักจะละเมิด พุทธบัญญัติ ดังนั้น พุทธศาสนิกชน จึงไม่ควร ร่วมทำสังฆกรรมด้วย ผมมีคำถามสุดท้าย อยากถามพ่อท่าน จากข่าว ที่ปรากฏ แล้วก็จากคนที่บางครั้ง อาจจะติดตามประวัติศาสตร์ หรือไม่ติดตามบ้าง ออกมา นัยะออกมา กลายเป็น บอกว่าพ่อท่าน และ ก็สำนักสันติอโศกนี่ เป็นสำนักที่มีความดื้อรั้น มีอัตตาสูง แล้วก็ยึดถือตัวเอง ยึดมั่น ถือมั่น ความจริง เป็นอย่างไรครับ

พ่อท่าน : ความจริงก็คือ จะว่ายึดนั่นก็เป็นภาษา จะบอกว่า ผู้ที่แน่วแน่ มั่นคง ยืนยัน ยืนหยัด ก็เป็นภาษา จะว่า อย่างไรล่ะ อาตมาว่า อาตมาได้เป็นผู้ยอม ยอมถอย ยอมแพ้ ยอมสารพัด จนไม่รู้จะยอมอย่างไรแล้ว เขาหาว่าอาตมา ดื้อรั้น อัตตาสูง อาตมาเอง อาตมารู้นะ อาตมาขอพูด แหม....มันอาจจะต้องรีบพูด จริงๆแล้วอาตมารู้ว่า อาตมาไม่ได้ผิดเลย แต่อาตมา เป็นผู้แพ้ อาตมา ไม่ได้เป็นผู้ผิด แพ้ คืออาตมา ลาออกมา จากมหาเถรสมาคม แบบนานาสังวาส อาตมาประกาศ ออกจากหมู่สงฆ์ อย่างเป็นทางการเลย มีหมู่สงฆ์ถึง ๑๘๐ รูป พร้อมทั้งเจ้าคณะอำเภอ รับการ ขอแยกเป็น นานาสังวาส ของเรา หมู่สงฆ์สันติอโศก อย่างถูกธรรมวินัย ลาออกมาแล้วเรียบร้อย ทางโน้นก็ยอมรับแล้ว ด้วยโดยมี หลักฐานจริงจัง เป็น นานาสังวาส สำเร็จแล้ว ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๑๘ แต่มหาเถรสมาคมก็มา ปกาสนียกรรม อาตมา ใน พ.ศ.๒๕๓๒ อาตมา ลาออกตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘ แล้วมหาเถรสมาคม มาประกาสนียกรรม อาตมา เอาใน พ.ศ.๒๕๓๒ มันทำไม่ได้หรอก มันโมฆะ เพราะว่า เราเป็นนานาสังวาส กันแล้ว จะมา ปฏิกโกสนา หรืออธิกรณ์ ซึ่งตามธรรมวินัยทำไม่ได้ อะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่มหาเถรสมาคม ก็ยังทำ อาตมาก็ยอม ฟ้องอาตมา ให้ขึ้นศาล อาตมาก็ยอม ให้เปลี่ยนไปนุ่งผ้าขาว อะไรๆ ก็ยอม เปลี่ยน ไม่ให้ เรียกตัวเองว่า พระ ก็ยอม ยอมทุกอย่าง แล้วอย่างนี้เรียกว่าอาตมาดื้อรั้นนี่ อาตมาก็ไม่ทราบว่า คำว่า ดื้อรั้นดันทุรัง มันใช่อาตมา กับ สันติอโศกหรือ? ลักษณะของการดื้อรั้นนั้น มันอย่างไร ทำอย่างไรคือดื้อรั้น และการดื้อรั้น กับ การยืนยัน ยืนหยัด มันมีความต่างกันนะ อาตมาว่า อาตมายืนหยัดยืนยันในธรรมะ ในสัจธรรม ตลอดมา ถึงทุกวันนี้ ไม่ได้ดื้อรั้นเลย ในพฤติกรรม ที่เป็นมา ถ้าติดตามอาตมามาดีๆ

คุณประพจน์ : ครับท่านอาจารย์สุลักษณ์ล่ะครับ ในอดีตถ้าคนติดตามนี่ ท่าน อ.สุลักษณ์ ก็วิพากษ์ วิจารณ์ สันติอโศก มากพอสมควร และไม่เห็นด้วยบางเรื่อง ทำไมคราวนี้มาเห็นด้วยกับ สันติอโศกครับ

อ.สุลักษณ์ : ก็เห็นด้วยบางเรื่อง ไม่เห็นด้วยบางเรื่อง เช่นเดียวกันครับ มหาเถรสมาคม เห็นด้วย บางเรื่อง ไม่เห็นด้วย บางเรื่อง ไม่ได้แปลว่าผมวิเศษนะ ผมก็มีข้อบกพร่อง สิ่งซึ่งผมมองเห็น สันติอโศก โดยเฉพาะ พ่อท่าน หลายเรื่อง ท่านเปลี่ยนมากเลย เปลี่ยนมาทางยืดหยุ่น เปลี่ยนมา ทางเชิงน่ารัก เปลี่ยนมาทาง เป็นธรรมมากขึ้น ผมว่าเป็น นิมิตหมายที่ดี ผมก็หวังเป็นเช่นนั้น มหาเถรสมาคมก็ต้องเปลี่ยน ยืดหยุ่น อย่าดื้อรั้น ที่จริงคนแก่ ดื้อรั้นทั้งนั้นนะ

พ่อท่าน : ว่าอาตมาดึงดันดื้อด้านมาตั้งแต่ต้น เดี๋ยวนี้อ่อนลงมาแล้วใช่ไหม

อ.สุลักษณ์ : ใช่ เดี๋ยวนี้น่ารักขึ้นเยอะ

พ่อท่าน : แต่ก่อนนี้อาตมาต้องยืนหยัด เพราะอาตมาเดี่ยวและเล็กมาก เพราะฉะนั้น ต้องทำ แข็งมาก ยืนหยัดมาก อันนี้ เป็นเรื่องลึก แต่เดี๋ยวนี้อาตมามีหมู่ มีกลุ่มเยอะขึ้น อาตมาจึงนิ่มลงมาได้

อ.สุลักษณ์ : ไม่เป็นไรหรอก แต่ผมเห็นว่ามันงอกงาม และที่สำคัญนี่ สันติอโศกเป็นหน่วย งานเดียว ในทางพุทธศาสนา ที่สามารถต่อต้าน ลัทธิบริโภคนิยมได้สำเร็จ สามารถมีทางเลือกอยู่ข้างล่าง ถ้าเผื่อว่า คนข้างบน คนชั้นกลาง ดูคนข้างล่าง ว่าเขาอยู่ อย่างเรียบง่ายอย่างไร ดูสันติอโศก เป็นตัวอย่าง พระพุทธเจ้า ท่านอยู่ข้างบนสูงสุด ท่านอยู่ข้างล่างสุดเลย ผมว่าอันนี้ สำคัญมากนะฮะ อีกอย่างหนึ่ง สิ่งซึ่งมหาเถรสมาคมจะต้องเรียน ถ้าเราจะต้องถือศาสนาพุทธ ในบ้านเรา ต้องดูที่ ประเทศอื่นด้วย ต้องดู ศาสนาอื่นด้วย ศาสนาคริสต์ในประเทศอังกฤษยืนยัน มีนิกายเดียวคือ นิกายอังกฤษ แต่ก็แตกมาเป็น เมโทลิส แตกมาเป็นแพททิสต่างๆ เพราะว่าเขาไม่สามารถ จะให้อยู่ในระบบชาตินิยมมาคุม ไม่สามารถ ให้ระบบศักดินาอัตตยาธิปไตยมาคุม บางอย่าง เขาก็ดีขึ้น บางอย่างเขาก็เลวลง ต้องเปิดโอกาส ให้กว้างขวาง แล้วเรื่องนี้นะ ผมว่า พระพุทธเจ้า ท่านเปิดโอกาส ให้กว้างกว่านั้น เพราะฉะนั้นผมเห็นว่า กรรมการเถรสมาคม ต้องเดินตาม พระพุทธเจ้า วาง มันจะเห็นว่า มันเป็นความงอกงาม น้ำ....มันจะ แยกสาย ไผ่มันจะต้องแยกกอ ถ้ามีอยู่กอเดียวแล้ว ก็ไม่งอกงาม แล้วก็ไม่โต มันจะเฉาตาย

คุณประพจน์ : ครับ เชิญพ่อท่านครับสุดท้าย

พ่อท่าน : โอ! เวลาหมดแล้วนะ ก็ไม่มีอะไร อาตมาก็....ให้มาออกทีวีเพื่อที่จะพูดก็พูด มีอะไรที่จะพูด ก็พูด ไปแล้ว อีกอย่าง เวลาเขาก็หมดแล้ว ก็คงจะไม่พูดอะไร

คุณประพจน์ : คุณผู้ชมครับ วันนี้เราได้เห็นธรรมะผ่านความคิดเห็นของวิทยากรทั้ง ๒ ท่านนะครับ การตัดสินใจ ขึ้นอยู่กับท่านผู้ชม ที่คิดว่าการจัดงาน หรือว่าชาวพุทธควรจะปฏิบัติในฐานะเป็น พุทธบริษัท อย่างไร ด้วยนะครับ วันนี้ต้องกราบ นมัสการพ่อท่าน แล้วก็ขอบพระคุณ อาจารย์ สุลักษณ์ ที่มาร่วมรายการ รายการทุกข์ปัญหาชีวิต คงต้องลาท่านผู้ชม แต่เพียงเท่านี้ พบกันใหม่ ในครั้งถัดไป สวัสดีครับ

พ่อท่าน : เจริญธรรม

กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าสิ่งที่น่าจะได้เตรียมไว้ตั้งแต่บัดนี้ก็คือ ควรจะมีคณะทำงาน แถลงการณ์ ที่เป็นกิจจะลักษณะ จริงๆจังๆ ด้วยมีความเป็นไปได้ว่า ข่าวที่พาดพิงมาถึงพ่อท่าน และ องค์กรอโศก อย่างผิดๆ ยังคงมีอยู่เช่นนี้ไปอีกนาน

๑. เพื่อพ่อท่านจะได้ไม่เปลืองตัวมากไป ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า พ่อท่านต้องไปเหนื่อย เถียง กับใคร ก็ไม่รู้ ไม่ว่า จะพูดอธิบายอย่างไรๆ เขาก็คิดเหมือนเดิม เสียเวลาเปล่า เช่น รายการ วิทยุ ของสถานีหนึ่ง ติดต่อ ขอสัมภาษณ์ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ว่าจะมี พล.ต.ทองขาวร่วมด้วย เมื่อได้เวลา เข้ารายการ ถึงได้ทราบ รูปลักษณ์ดูไม่ดีเลย เหมือนพ่อท่าน ต้องไปเถียงกับฆราวาส วันนั้น พ่อท่าน ถึงกับมีอาการพ้อๆๆ โดยเปรยๆ ว่า ไม่ว่าจะพูดอธิบายอย่างไร เขาก็มองเป็นเลว เป็นร้ายไปหมด ก็เลยพ้อๆว่า เอ....เราจะพูดกับเขาอย่างไรเขาจึงจะเข้าใจ

๒. การให้ข่าวจะได้ออกมาจากแหล่งเดียวไม่สะเปะสะปะ อย่างกรณีที่นักข่าวไปสัมภาษณ์ สมณะ รูปหนึ่ง แล้วท่านพูด โยงไปถึงเรื่อง บริษัทน้ำเมาหนึ่ง แล้วยังพาดพิงไปถึงสำนักปฏิบัติ อีกแห่งหนึ่ง ผลก็คือ ภาพลักษณ์ของอโศก ก็จะเป็น เช่นเดียวกับเขา คือคิดอะไร ก็เป็นเกมการเมือง มองอีกฝ่าย ในแง่ร้าย มีผลประโยชน์แฝง รวมทั้งพูดถึงอีกฝ่าย อย่างป้ายสี เลื่อนลอย ขาดหลักฐานความจริง

๓. การแก้ประเด็นข้อกล่าวหาต่างๆ จะได้มีการชี้แจงเป็นแถลงการณ์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ รวดเร็ว และ กระชับ ดีกว่า รอให้มาสัมภาษณ์ ซึ่งบางทีพ่อท่านก็ไม่ได้ติดใจที่จะพูดแก้อะไร แถมไม่ได้จำอีกด้วย เช่น พระศรีปริยัติโมลีพูด ในรายการ ไททีวี ๓ เป็นทำนองว่า สันติอโศก ปฏิเสธ พระธรรมวินัย ข้าพเจ้าฟังแล้ว ออกจะรู้สึกงงๆๆ เพราะเท่าที่เคยสัมผัส พบเจอท่าน หลายครั้ง ดูแล้วท่านไม่น่าจะเข้าใจพวกเรา เป็นอย่างนั้นเลย ต่อเมื่อได้มาอ่านข่าว ย้อนทวนในหลายที่ หลายแห่ง พบว่าพระเทพดิลก (มหาระแบบ ฐิตญาโณ) กล่าวว่า สันติอโศกไม่ยอมรับ พระธรรมวินัย ปฏิเสธไม่ยอม กราบไหว้พระพุทธรูป อ้างว่าเป็น วัตถุ ไม่ยอมรับสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก หรืออย่างกรณี พล.ต.ทองขาว ที่ได้ไป ออกรายการ กับคุณไชยวัฒน์ ทีวี ๑๑ ของเนชั่น พูดถึงพ่อท่านที่ประกาศ ความเป็น นานาสังวาส กับคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม ถ้าเป็น นานาสังวาส ก็ต้องสึกออกไป แสดงว่าการกล่าว ด้วยความ อันเป็นเท็จอย่างนั้น มีคนเชื่อตาม เหมือนกัน

๔. คณะทำงานแถลงการณ์จะได้เป็นกันชน หากจะต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีอีก อย่างกรณีที่ มีการให้ข่าว ขู่ๆว่า ต้องดูแถลงการณ์ ของท่านโพธิรักษ์ว่า ล่วงเกินมหาเถรสมาคมหรือไม่ ถ้าล่วงเกิน ก็จะต้องดำเนินคดีฟ้องร้อง เพราะมีกฎหมาย คุ้มครองอยู่

ถ้าถามผู้เขียนว่ากรณีอย่างนี้เห็นอะไรบ้าง
หนึ่ง สำนวนที่ว่ามิตรแท้ และศัตรูถาวร กับผู้ที่เข้าใจชาวอโศก จะอย่างไรก็เข้าใจ ก็ได้เห็นว่า เป็นผู้ใด ส่วน ผู้ไม่เข้าใจ จะอย่างไรๆ ก็ไม่เข้าใจ ต่อต้านพันธุ์แท้ขาประจำ ยุคดึกดำบรรพ์ ยังคงมี อยู่จริงๆ แน่นเหนียว เหลือเกิน ที่จะมองกัน ให้เป็นเลว เป็นร้ายไปได้ทุกเรื่อง ถึงขั้นพระโพธิสัตว์ ก็ยังพ้อๆได้

สอง เมื่อต่างฝ่ายต่างมีอคติ การใช้ถ้อยคำส่อเสียดก็เกิดขึ้น เช่นการโยงอ้างบริษัทน้ำเมา อยู่เบื้องหลัง การ ต่อต้าน หรือ สันติอโศก จะยึดพุทธมณฑล (ระดับลูกวัด) ที่ส่อเสียดอย่างเนียนๆ (ระดับท่านเจ้าคุณ) อ้างหลักการ อ้างประวัติศาสตร์ เช่นการแย้ง...."ที่ท่านนายกฯ บอกว่า นับถือพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ก็น่าจะร่วมกันจัดได้ เท่านั้นไม่พอ เพราะถ้าเกิด มีกลุ่มนักบวช ที่มี ครอบครัวแล้ว" อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งทำ ให้ผู้ฟัง คิดเปรียบเทียบว่า สันติอโศก เป็น....ดุจเดียวกับ นักบวช มีครอบครัว จึงเอามาร่วมกัน จัดไม่ได้ หรือการยกตัวอย่างกลุ่มลัทธิมรณะ (จิมโจนส์) ที่มีความแปลกไปจาก สังคมส่วนใหญ่ ขึ้นมาอ้างอิง เปรียบเทียบ ราวกับกลุ่มอโศก ก็เป็นอย่างนั้น ทำให้ผู้ฟังก็คิดคล้อยตามว่า สันติอโศก ก็ใกล้ๆกับอย่างนั้น หรือ เป็นอย่างนั้นกันเลย วิธีพูดอย่างนี้ ชาวอโศกก็ถูกเข้าใจผิด เท่ากับ ทำร้ายชาวอโศก

สาม ข้าพเจ้าขำสำนวนภาษาที่คุณโสภณ สุภาพงษ์ พูดกับท่านจันทร์ว่า หนทางของชาวอโศก ยังจะต้องไป อีกไกล อย่าไปมัวใส่ใจกับ โก๋มอเตอร์ไซด์ ที่ขับรถปาดหน้าเลย นอกจากนี้ ยังได้ ประโยชน์จาก อาจารย์ สุลักษณ์ ที่ให้ข้อคิดที่ดีๆ ไว้หลายประเด็น

สี่ ข้าพเจ้านึกถึงหนังจีนโบร้าณโบราณ ที่มีเรื่องเกี่ยวกับสำนักฝ่ายเทพและสำนักฝ่ายมาร ยุคหนึ่ง ที่ผู้อ้างตน เป็นฝ่ายเทพ แต่กลับ ประพฤติตนเยี่ยงมาร ขณะที่ผู้ถูกขนานนามว่ามาร กลับ ประพฤติตน เยี่ยงชาวเทพ เขียนอย่างนี้รู้นะ ว่าท่านกำลังคิดอะไรอยู่ ผู้เขียนเพียงอยากจะบอกว่า ใครจะเป็นเทพ ใครจะเป็นมาร ก็เป็นเรื่องของกรรม และสัจจะ จะเป็นผู้ตัดสินเอง เราและท่าน ไม่ใช่ผู้พิพากษาจริงๆเลย ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติธรรม เรามาลดละความเป็นมาร ในตัวเรา กันดีไหม หรือจะเข้าโครงการของ ศูนย์คุณธรรม ๑ คน ๑ สัจจะก็ได้ ทำดี ไม่ต้องเดี๋ยว

ในส่วนพ่อท่านนั้นดูเหมือนจะวางตัวแบบสบายๆ ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรกับข่าวต่างๆ หรือโลกธรรม ที่เกิดขึ้น เช่นเรื่อง ที่สมณะรูปหนึ่ง พูดคุยกับคนรู้จัก ที่เคยมาจัดรายการวิทยุชุมชน เกี่ยวกับ กรณีที่ เกิดขึ้น แล้วพาดพิงไปถึง บริษัทน้ำเมา โดยที่ไม่รู้ว่า เขาเป็นนักข่าว เมื่อเขานำไปเขียนเป็นข่าวขึ้นมา ก็ไม่รู้ จะทำอย่างไร เพราะไม่ได้เป็นเจตนา ที่จะให้สัมภาษณ์ สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ สมณะผู้ใหญ่ ที่อยู่ใน ชุมชนนั้น เกิดเดือดเนื้อร้อนใจมาก ว่ามันเป็นความรับผิดชอบ ที่จะต้อง เขียนหนังสือ ไปขอโทษ บริษัทน้ำเมานั้น เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ที่ข่าวออกไปเช่นนั้น เมื่อโทรมาปรึกษา พ่อท่าน ผลก็คือ พ่อท่านให้อยู่เฉยๆดีกว่า แล้วก็แล้วกันไป ทีพวกเราเอ งถูกว่าให้เสียหาย มากกว่านี้อีก ก็ยังไม่เห็น มีใครมาขอโทษ ขอโพยอะไร พวกเราเลย มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ของสังคม ที่ยังมีความไม่จริง มากกว่าจริง

อีกเรื่องหนึ่งที่จะถือเป็นยุทธวิธีของการศาสนาก็คือ เมื่อเกิดความขัดแย้งเห็นกันคนละฝ่าย ต้องพยายาม หลีกเลี่ยง การเผชิญหน้า การโต้เถียง แบบเขาพูดมาเราก็พูดโต้กลับไปทันทีเลย มันจะเป็นการขัดแย้ง ที่รุนแรง อย่างนี้โอกาส ที่จะเกิดอารมณ์ จะมีสูงมาก ถ้าอีกฝ่ายคุม อารมณ์ ตนเองไม่อยู่ มันจะเป็นผลเสีย ต่อศาสนา พ่อท่านเห็นว่า ทางออก ที่ดีที่สุด คือทำหนังสือ ชี้แจง ออกไป แม้มันจะไม่ทันการณ์ ทันทีทันใด ถ้าประชาชนจะเข้าใจเราผิดๆ เชื่อตามกระแสข่าวนั้น พวกเราก็ทนๆ เอาหน่อย กว่าที่หนังสือจะออกไป เขาก็อารมณ์สงบลงมาแล้ว

พ่อท่านยอมรับว่า ไหวพริบปฏิภาณในการโต้เถียงอย่างตรรกะ ด้วยเรื่องของสมมุติสัจจะนั้น สู้เขาไม่ได้ พ่อท่าน จึงใช้เวลา ในการเขียน เพื่ออธิบายสิ่งที่พ่อท่านเห็นและเข้าใจว่าเป็นอย่างไร ดีกว่าการเผชิญหน้า โต้เถียงกัน หรือแม้จะ ไม่เผชิญหน้า แต่การพยายาม หาเหตุผลเพื่อโต้เถียง เอาชนะ คะคาน อีกฝ่าย พ่อท่าน ก็ปฏิเสธ ที่จะทำเช่นนั้น พ่อท่านเคยให้ข้อคิด กับหมู่สมณะ มหาเถระว่า เรื่องสมมุติสัจจะเป็นเรื่องที่ ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ จึงไม่ควรเสียเวลา ไปถกเถียง เอาชนะคะคานกัน ด้วยเรื่องของ สมมุติสัจจะเลย

เช่น กรณีพระศรีปริยัติโมลี(สมชัย กุสลจิตโต) ที่ยกตัวอย่างอุปมาเหมือนพ่อแม่ลงโทษลูกที่ดื้อรั้นฯ หรือ กรณี พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) โดยยกตัวอย่างกลุ่มลัทธิศาสนาต่างๆ ที่ก่อเรื่อง เลวร้าย มาเปรียบเทียบ ให้ผู้อ่าน เห็นคล้อยว่า สันติอโศกก็เหมือนๆอย่างนั้น จึงให้มาร่วมจัดงาน วิสาขบูชาไม่ได้ หรือ ยกเอาการลาออกจากมหาเถรสมาคมมาเปรียบเทียบว่า มันก็เหมือนกันกับ การลาออกจาก รัฐบาลไทย ท่านเจ้าคุณ ช่างชาญฉลาด ในการเปรียบเทียบ ถามกลับไปที่ รัฐบาลว่า จะยอมไหม ให้มีเมืองพิเศษ ที่จัดตั้งขึ้น เป็นอิสระฯ ทั้งๆที่องค์ประกอบหลักเกณฑ์ และสถานะ ต่างกัน แต่ท่านเจ้าคุณก็ฉลาด ที่จะทำให้คนหลงว่า เป็นอย่างเดียวกัน ราวกับ จะยุแหย่ ภาครัฐว่า ถ้าสันติอโศก เกิดคิด และทำเถื่อนๆ ขอแยกเป็นเมืองอิสระ ไม่ยอมอยู่ ภายใต้ การปกครองของรัฐไทยบ้าง จะว่าอย่างไร

เมื่อยังอยู่ในแผ่นดินไทย การลาออกจากกฎหมายการปกครองของรัฐบาลไทยน่ะลาไม่ได้อยู่แล้ว แต่การลาออก จากการเป็นคนไทย แล้วยังอยู่ในประเทศไทย เป็นเรื่องที่ลาออกได้ เพียงแต่ทำให้ถูก กฎเกณฑ์ ของกฎหมาย เช่น ไปโอนสัญชาติ เป็นต่างชาติไป แต่เมื่อยังอยู่ในประเทศไทย ก็ต้อง ปฏิบัติ ตามกฎหมายไทย ส่วนการลาออก จากการปกครอง ของมหาเถรสมาคม เป็นเรื่องที่ทำได้ คนละเรื่อง กับการปกครองของรัฐบาลไทย เอามาเทียบกันไม่ได้ เพราะกฎหลักเกณฑ์ มันไม่ เหมือนกัน เรื่องศาสนา ก็ลาออกให้ถูกต้องตามธรรมวินัย หรือกฎหมายของ ศาสนาพุทธ ที่พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติไว้ ชาวอโศก ลาออกตามหลัก นานาสังวาส ดังที่คณะสงฆ์ชาวอโศก ได้ยืนยันมา ตลอดว่า ได้กระทำ นานาสังวาส อย่างถูกธรรมวินัยแล้ว ตามธรรมวินัยนั้น แม้จะลาออกแบบลาสึกด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่แค่ ลาออก แบบ นานาสังวาสเลย ก็ไม่เห็นจะต้อง ออกจาก การปกครองของประเทศไทย หรือ ต้องออกนอก ประเทศไทย

เมื่อลาออกจากมหาเถรสมาคมอย่างนานาสังวาส คณะสงฆ์ชาวอโศกก็ยังคงปฏิบัติตามธรรมวินัย หรือกฎหมาย ของศาสนาพุทธ และยังปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมายไทย ไม่ได้กระทำ ผิดกฎหมาย ไทยเลย ด้วยยังอยู่ใน ประเทศไทย รัฐบาลไทย ดูแลพื้นที่ทุกตารางนิ้วของประเทศไทย แต่มหาเถรสมาคม ไม่ใช่รัฐบาลไทย ซึ่งรัฐมีหน้าที่จะต้องดูแล คนที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะ นับถือศาสนาใด หรือแม้ ไม่ใช่คนไทย แต่เมื่อเข้ามาในประเทศไทย ก็ต้องดูแล มิให้เขาทำผิด กฎหมายไทย นั่นถูกต้อง เป็นเรื่อง ของรัฐบาลไทย แต่มหาเถรสมาคมไม่มีหน้าที่ จะต้องไปดูแล คณะสงฆ์อื่น หรือ ลัทธินิกาย ศาสนาอื่น ดูแลแต่เฉพาะคณะธรรมยุติกนิกาย และมหานิกายเท่านั้น ส่วนคณะสงฆ์อื่น หรือ ลัทธินิกาย ศาสนาอื่น ก็มีกฎกระทรวงฯ หรือกฎหมายคนละฉบับ กับ กฎหมาย ของมหาเถรสมาคม (หรือ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ๒๔๘๔, ๒๕๐๕, ๒๕๓๕)ดูแล ซึ่งทั้งหมด ก็อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย สำหรับกรณีของ คณะสมณะชาวอโศกนี้ โดยจริง ตามสัจจะ ก็คือ คณะสงฆ์อื่นคณะใหม่ ซึ่งยังไม่มี กฎกระทรวงใหม่ หรือกฎหมายใหม่ ที่ออกมา ดูแลเฉพาะ แต่ก็ได้รับ การคุ้มครอง ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ใครมาย่ำยี ใครรอนสิทธิและเสรีภาพ ในการนับถือศาสนา

ในการปฏิบัติศาสนา รัฐบาลต้องคุ้มครองตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย แม้จะต่างความเชื่อ ไปจาก คณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม ก็ตาม แต่ชาวอโศกก็ถูกย่ำยี ถูกรอนสิทธิจากคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม ไม่หยุดหย่อน เป็นเวลาร่วม ๓๐ ปีแล้ว (๒๕๑๘-๒๕๔๘) ซึ่งสมณะชาวอโศก ก็อดทนมาตลอด ด้วยเข้าใจว่า ผู้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็คือ ผู้ไม่รู้ไม่เข้าใจจริงๆ

เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจฝ่ายรัฐที่ไม่มีความรู้ในเรื่องธรรมวินัย โดยเฉพาะเรื่องนานาสังวาส อีกทั้ง คณะมหาเถร สมาคม ล้วนเป็นพระราชาคณะ ชั้นผู้ใหญ่ มีกันมาตั้งแต่สมัย ร.๕ (สมัยพระพุทธเจ้า ไม่มี) รัฐย่อม ต้องเคารพ ยำเกรง เป็นธรรมดา จึงยังไม่กล้า ที่จะทำอะไร ไปได้มากกว่านี้

แต่มหาเถรสมาคมนั้นล้วนเป็นผู้รู้ธรรมวินัยเป็นอย่างดีทั้งนั้น แถมยังมีท่านที่เคยได้ร่วมลงนาม ขอลา ออกจาก คณะมหานิกาย มาเป็นคณะธรรมยุติกนิกาย โดยอาศัยหลักนานาสังวาส มาแล้วด้วย จะอ้างว่า ไม่รู้ไม่ได้ ถามว่าถ้ารู้แล้ว ทำไมเรื่อง จึงเป็นเช่นนี้ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่คงต้องมีการค้นคว้า หาความจริง กันต่อไป ว่า ทำมั้ย....ทำไม มหาเถรสมาคม จึงเป็นเช่นนั้น

อันที่จริงคณะสงฆ์มหาเถรสมาคมสมัยนั้นได้ยอมรับแล้วว่าเราลาออกไปแล้ว ดังปรากฏ ในหนังสือ ของกรม การศาสนา ที่ ศธ.๐๔๐๗ / ๘๕๓๗ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ตอบข้อหารือ ของการรถไฟ แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับ ค่าโดยสารรถไฟ ของสงฆ์ชาวอโศก ว่า "กรมการศาสนา ได้นำเรื่องเสนอ มหาเถรสมาคมพิจารณาแล้ว ที่ประชุมลงมติ เห็นชอบด้วย ตามเหตุผล ที่กรมการศาสนา เสนอว่า เนื่องจากในปัจจุบันนี้ พระภิกษุสามเณรในสำนักสันติอโศก มิได้ขึ้นอยู่ ในปกครอง ของคณะสงฆ์ไทย ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๕๐๕ และไม่ได้อยู่ใน ความอุปการะ ของทางราชการ......"

มหาเถรสมาคมมากลับคำว่า ลาออกไม่ได้ ยังอยู่ในปกครองตามความเห็นที่ท่านเจ้าคุณ พระเทพเวที ในสมัยนั้น หรือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)ในปัจจุบัน ได้แสดงความเห็น ไว้ในหนังสือ กรณี สันติอโศก โดยเบี่ยงเบน เฉไฉ ที่จะกล่าวถึง นานาสังวาส ตามธรรมวินัย ของพระพุทธเจ้า หันไปใช้อำนาจ หาแง่เชิงของข้อกฎหมาย ที่มีอยู่ในมือ มากล่าวโทษเอาผิด คณะสงฆ์ชาวอโศก ไม่ว่าจะเป็นข้อไม่มีที่อยู่ เป็นหลักแหล่ง (เพราะไม่สังกัดวัด) หรือแต่งกาย ลอกเลียนแบบพระ เพราะบวชไม่ถูกต้อง ด้วยพ่อท่าน ไม่ได้เป็นอุปัชฌาย์ ที่มหาเถรสมาคม แต่งตั้ง (ทั้งๆที่เจตนา ของกฎหมาย มุ่งเพื่อผู้ประพฤติมิชอบ แสวงหาลาภ และเรี่ยไรหลอกลวงชาวบ้าน) หรือล่วงละเมิด พระธรรมวินัย เป็นอาจิณ

จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่าการลาออกหรือการประกาศนานาสังวาสของคณะสงฆ์ชาวอโศก ๖ ส.ค. ๒๕๑๘ ถูกต้อง ตามธรรมวินัยหรือไม่ และผิดกฎหมายมหาเถรสมาคม (พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ๒๕๐๕) หรือเปล่า ขณะที่คณะสงฆ์ ชาวอโศกเชื่อว่า กระทำได้ถูกต้องตามกฎหมายของศาสนาพุทธ หรือ ธรรมวินัย และ ไม่ได้ผิดกฎหมายของ มหาเถรสมาคม ในขณะนั้น ด้วยไม่มีข้อห้ามการลาออก และ ไม่ได้เขียนไว้ว่า การลาออกคือต้องสึก อย่างที่ได้มีผู้กล่าวอ้างกัน หากเขียนเช่นนั้นจริงๆ ก็ผิด ธรรมวินัย ของศาสนาพุทธอีก ซึ่งกฎหมายของมหาเถรสมาคม ก็ได้ระบุไว้ว่า กฎระเบียบใด จะค้านแย้งกับ พระธรรมวินัย หรือ กฎหมายของศาสนาพุทธไม่ได้ เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะพระธรรมวินัย เปรียบเหมือน กฎหมาย รัฐธรรมนูญ หรือคือกฎหมายแม่ ส่วนกฎหมาย ของมหาเถรสมาคม เปรียบเหมือนกฎหมายลูก

อนึ่งการขอลาออกจากการปกครองฯนั้น พ่อท่านและคณะสงฆ์ชาวอโศกในครั้งนั้น (๒๕๑๘) มิได้รู้ มาก่อนว่า นานาสังวาส ตามพระธรรมวินัย และกฎหมายของมหาเถรสมาคม(พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ๒๕๐๕) เป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่เป็นไป โดยธรรมจริงๆ เมื่อถูกบีบคั้น กลั่นแกล้งต่างๆนานา มายังอุปัชฌาย์ วัดหนองกระทุ่ม (เจ้าคณะตำบล) และการปฏิบัติธรรม ของคณะสงฆ์ชาวอโศก จึงคิดและเห็นควรกันว่า เพื่อตัดตอนการใช้อำนาจ ที่ไม่เป็นธรรมของสงฆ์ ฝ่ายปกครอง (เจ้าคณะ อำเภอ, เจ้าคณะจังหวัด) การขอลาออกเป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปได้ เพิ่งจะมาทราบภายหลังว่า ในพระธรรมวินัย มีเรื่องเกี่ยวกับ นานาสังวาส และในกฎหมายของมหาเถรสมาคม มิได้มีข้อห้าม การลาออก แม้แต่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ข้อที่ให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา การปฏิบัติ ศาสนา นิกายของศาสนาฯนั้น ก็ไม่ได้รู้มาก่อน เพิ่งจะมาทราบภายหลังจากที่ถูกกล่าวหา ฟ้องร้อง ดำเนินคดี จึงได้ใช้เป็นข้ออ้างอิง เพื่อยืนยัน ความถูกต้อง เป็นธรรม เผื่อผู้มีจิตใจรักความเป็นธรรม จะเห็นใจ

เมื่อไม่ผิดทั้งธรรมวินัยหรือกฎหมายของศาสนาพุทธ และไม่ผิดทั้งกฎหมายของมหาเถรสมาคม การประกาศ เป็น นานาสังวาส ของคณะสงฆ์ชาวอโศกจึงเป็นเรื่องที่ชอบธรรมแล้ว แต่มหาเถร สมาคม กลับเลี่ยงและ กลบเกลื่อน ที่จะยอมรับ ความชอบธรรมนี้ แล้วหันไปหยิบเอาอำนาจ ที่มีอยู่ในมือ คือ กฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ มาใช้เป็นเครื่องมือ ในการกล่าวโทษเอาผิด คณะสงฆ์ชาวอโศก ดังเหตุการณ์ที่เป็นมาแล้ว (๒๕๓๒) อย่างอยุติธรรม และ ขาดความเคารพ ยำเกรง ในพระธรรมวินัย หรือกฎหมายของศาสนาพุทธ ไม่ต่างจากการใช้กฎหมาย ของ มหาเถรสมาคม เหนือกฎหมายของ ศาสนาพุทธหรือเหนือพระธรรมวินัย

๑. ล่วงละเมิดหลักการนานาสังวาส ถือเป็นความผิดชั้นที่หนึ่ง

๒. การทำสังฆกรรมพิจารณาโทษพระโพธิรักษ์ ผิดหลักสัมมุขาวินัย คือพิจารณาความลับหลัง ไม่ได้เรียก จำเลย ไปชี้แจง หรือรับฟังการพิจารณา ขนาดศาลสถิตยุติธรรมทั้งหลาย จะตัดสิน โทษจำเลยได้ต่อเมื่อ จำเลยได้ร่วมอยู่ รับรู้ รับฟัง และได้ชี้แจง ข้อกล่าวหาก่อน จึงจะตัดสินได้ นี่ถือเป็นความผิดธรรมวินัย ชั้นที่สอง

๓. การใช้กฎหมายของมหาเถรสมาคม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ สั่งหรือบังคับให้พระโพธิรักษ์ สึก ภายใน ๗ วัน โดยที่ ไม่ได้กระทำผิด ถึงขั้นให้สึกตามพระธรรมวินัย หรือกฎหมายของศาสนาพุทธ ถือเป็นการ ล่วงละเมิด พระธรรมวินัย ชั้นที่สาม

๔. การกระทำปกาสนียกรรมหรือปัพพาชนียกรรมต่อพระโพธิรักษ์และคณะสงฆ์ชาวอโศก ถือเป็น สังฆกรรม ซึ่งสังฆกรรมครั้งนั้น (๒๕๓๒) มีพระทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ซึ่งเป็นสงฆ์ ต่างสังวาสกัน มาทำ สังฆกรรม ร่วมกัน นี่ก็ถือเป็น การล่วงละเมิด หลักการนานาสังวาส ล่วงละเมิด พระธรรมวินัย ชั้นที่สี่

แต่เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนาจักร เพราะการจะยอมรับหลักการนานาสังวาส และยอมรับ คณะสมณะชาวอโศก ว่าเป็นคณะสงฆ์อื่น ที่จะต้องมีกฎหมายออกมาคุ้มครองดูแล เป็นเรื่องยากมากๆๆ จะด้วยเพราะ ไม่มีความรู้จริงๆ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรือเชื่อและเห็นเช่นนั้น จริงๆว่า กระทำไม่ได้ด้วยบริสุทธิ์ใจ หรืออำนาจ และศักดิ์ศรี บังอัตตา จึงยอมรับไม่ได้ หรือเกรงว่า กลุ่มคณะอื่นๆ จะลอกเลียน ประกาศนานาสังวาส ขอปกครองตนเองบ้าง จะทำให้ สังคม ศาสนาพุทธ ในไทยเละเทะ ประการหลังนี้เป็นมุมมองด้วยความวิตกกังวล และห่วงใย กับสิ่งที่ อาจจะเกิดขึ้น ตามมา โดยคิดเพียง แค่ว่า จะมีกลุ่มคณะอื่นๆ ลอกเลียนเอาอย่าง ถ้าได้คิดไป ให้ตลอด ก็จะพบว่า เป็นไปได้ยากมาก ที่จะเกิด กลุ่มคณะ เช่นนี้อีก เพราะการจะประกาศเป็น นานาสังวาสได้ จะต้องมีเหตุปัจจัย ที่จริง คือกลุ่มคณะนั้น ต้องมีความจริง ที่แตกต่างกับ คณะสงฆ์ใหญ่จริงๆ คือมีศีล ไม่เสมอสมานกัน มีกรรมที่ต่างกัน มีอุเทศ ต่างกัน กับคณะสงฆ์ใหญ่ เพราะถ้า เหตุปัจจัยไม่จริง ไม่สมพร้อม กลุ่มใดจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ง่ายๆเลย ประชาชนไม่เอาด้วย ก็ฝ่อไปเอง ที่สำคัญจะต้อง เสียสิทธิ ประโยชน์หลายอย่างที่เคยได้ ไม่ว่าจะเป็นพัดยศ ตำแหน่ง นิตยภัต รวมถึงไม่ได้รับ การอุปถัมภ์ ทั้งจาก ศาสนจักร และอาณาจักร แม้แต่การเดินทาง โดยสาร ต่างๆ ก็ต้องเสียเต็มราคา เช่นเดียวกับฆราวาส ไม่ได้รับส่วนลดพิเศษ เช่น อยู่ในปกครองของ มหาเถรสมาคมเลย และเสี่ยงอย่างมาก ที่จะถูกข้อกล่าวหา ว่าเป็นขบถ ต่อศาสนา ถึงขั้น ผูกโยงไปว่า เป็นขบถต่อสถาบันทั้งสาม คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังที่ชาวอโศก โดนยัดเยียด ข้อกล่าวหา นี้มาแล้ว ดีที่การยุยง ปลุกปั่นกระแสนี้ไม่ขึ้น และได้ฝ่อหายไปเอง ด้วยผู้มีจิตใจเป็นธรรม ยังพอมีอยู่

สรุปแล้วความวิตกกังวลว่าจะมีหลายกลุ่มลอกเลียนแบบ นับเป็นความห่วงใยที่ดี แต่ความเป็นจริง เป็นไป ได้ยาก นอกจาก จะเสียสิทธิประโยชน์ต่างๆนานาแล้ว ใครจะกล้าเสี่ยงกับข้อหาเป็นขบถ มีโทษถึงขั้น ติดคุกติดตะราง ยิ่งถ้าไม่มีความจริง แห่งธรรม ก็จะกลายเป็นสังฆเภท อันเป็น อนันตริยกรรม ซึ่งเป็นโทษ ที่หนักมากๆในทางพระศาสนา

สุดท้ายพ่อท่านมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องดี ทำให้สังคมได้เรียนรู้ค้นหาคำตอบ อันใดจริง อันใดดี อันใดถูก อันใดผิด แม้จะมีผู้ที่เหนียวแน่นไม่เข้าใจพวกเราก็ตาม แต่ผู้ที่เข้าใจพวกเรา ก็มีมากขึ้น เรื่อยๆ ถ้าเปรียบเทียบกับ ปี'๓๒ ครั้งนั้น มีแต่คนจะเหยียบเรา ครั้งนี้ยังมีคนช่วยเถียง แทนเราบ้าง มันเป็นโอกาส ให้ได้เขียน ได้อธิบายเรื่อง นานาสังวาส ขณะที่เกิดเรื่องราว คนสนใจ อย่างนี้แหละดี ถ้าไม่เช่นนั้น เราเขียนไป พูดออกไป แต่มันไม่เกิดเหตุการณ์ คนก็ไม่ได้ ใส่ใจอะไร

ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าผู้รู้ ผู้ใหญ่ออกอย่างนั้นจะทำผิดได้ เหตุการณ์อย่างนี้ เท่ากับว่า เราได้เห็น กิ้งกือ มีขา นับเป็นร้อยๆ พันๆขา แต่หกล้มได้ ต่อหน้าต่อตาเราเลย

จากเหตุการณ์นี้พ่อท่านได้ให้ข้อคิดกับพวกเรา ในการประชุมชุมชนที่ปฐมอโศก ๑๘ เม.ย. ๒๕๔๘ ซึ่งเป็น โอวาท ปิดประชุมดังนี้

ยิ่งนับวันยิ่งชัดเจน ทั้งฝ่ายเราเองที่ทำงานไป ก็รู้ความจริงของการเกิดเป็นมนุษย์ ที่เป็นไปเพื่อ ความมักน้อย ก็เห็นว่า พวกเราทำได้

งานพุทธมณฑลเป็นทั้งคำตอบและเป็นโจทย์ให้เรา ที่จะได้ปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องเหตุการณ์จริง ที่มากระทบ สัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเราก็ได้รู้จิตใจเราเป็นอย่างไร อะไรเกิดขึ้น พัฒนา จิตใจเราให้ดีขึ้น เจริญขึ้น สุดยอด ที่มันจะเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่สุดยอด ที่มันจะจบ เพราะมันยังมี ดีกว่านี้อีกที่จะควรเป็น

อาตมาภาคภูมินะ ถ้าสังคมประเทศเขาประกาศว่า หมู่บ้านตัวอย่างของประเทศ หมู่บ้านไหน ที่ไม่มี อบายมุข อย่างแน่นอน อย่างจริงที่สุด มันจะมีหมู่บ้านไหนถ้าไม่ใช่หมู่บ้านของชาวอโศก ไม่มี ความหยาบ ไม่มีอาชญากรรม มีแต่ หมู่บ้านอโศก เท่านั้น ซึ่งพิสูจน์ธรรมะของพระพุทธเจ้าว่า ถ้าปฏิบัติธรรมของ พระพุทธเจ้าแล้ว จะทำให้คนลดละ รู้จักสารสัจจะ ทำให้คนรู้จัก วิถีชีวิต ที่ควรจะกิน จะอยู่ รู้คุณค่าของคน คุณงามความดีที่เป็นสัจจะ

คนทำงานที่มีพลัง คือ คนที่ทำงานด้วยอิทธิบาท

ทุกวันนี้การทำงานหลายอย่างเป็นชิ้นเป็นอันแล้ว แต่ยังไม่แข็งแรงพอที่จะอวดอ้าง



๕. ปลายประสาทอักเสบ

ศุกร์ ๒๒ เม.ย. ๒๕๔๘ เช้านี้พ่อท่านลุกตื่นตั้งแต่ตีสอง เนื่องจากเมื่อคืนตั้งแต่สี่ทุ่ม ก็รู้สึกมีอาการ ปวดเจ็บ ที่ปลายเท้า ทั้งคืน เข้าใจว่าเมื่อเจ็บนอนหลับไม่ได้ ก็จึงออกกำลังกายตั้งแต่ ตีสองนั้น ปกติพ่อท่าน จะออกกำลังกาย ประมาณตีห้า

ต่อมาจึงได้รับการฉีดวิตามินบี ๑, ๖, ๑๒ และทำอุลตร้าซาวด์ที่บริเวณขาซ้าย ปวดเจ็บข้างเดียว ขาขวา ไม่เป็น

ค่ำนี้เครื่องคอมพิวเตอร์ของพ่อท่านมีอาการรวน เฉพาะไฟล์งานชื่อ ประนีประนอมกัน ด้วย นานาสังวาส ตั้งแต่ หน้าที่ ๔ มีเส้นยึกยัก ลากไม่เป็นตัวหนังสือ คล้ายเด็กขีดเขียนอะไรเล่น ไปมา ไม่ว่าจะขยับเปิด ไปหน้าไหนๆ ก็จะมีอาการเช่นนี้ ไปหมด ไม่ใช่ไวรัสแน่ แต่ไม่รู้เกิดจากอะไร เป็นเฉพาะ ไฟล์งานนี้ด้วย งานอื่นไม่เป็น ตามท่านธัมมาวุโธให้มาช่วยตรวจดู อาการอย่างนี้ ก็ไม่เคยเจอ เมื่อลองปิดแล้วเปิดใหม่ ก็เหมือนเดิม ส่วนลายเส้นขีดเขียนยุ่งๆนั้น แต่ละหน้า ก็ไม่เหมือนกัน เป็นลาย ต่างๆ กันไป ท่านธัมมาฯ ลองแก้ดูอยู่เป็นพัก ยังไม่สามารถแก้ได้ จึงต้องปล่อยทิ้งค้างไว้ก่อน

อาการปลายประสาทอักเสบนี้ พวกเราหลายคนได้ทราบข่าว จึงติดต่อกันหลายสาย เพื่อจะให้ มาตรวจ รักษา โฮมีโอพาธี โดยหมอแก้ง และคุณเพ็ญเพียรธรรมเอง ก็ติดต่อหมอที่เชี่ยวชาญเรื่อง ปลายประสาท อักเสบไว้หลายที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ ร.พ. วิชัยยุทธ และหมอที่คลินิกสีลม [ซึ่งเป็นแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ระบบประสาทที่ รพ.รามาธิบดี] ฟังจาก คำบอกเล่าว่า มีหมอที่ใช้วิธีการปัจจุบัน ผสมกับ การฝังเข็มด้วย หมอได้แสดงความเห็นว่า ถ้าฝังเข็ม จะดีกว่าการใช้วิตามินฉีด หรือ กินเข้าไปแน่ เพียงแต่ต้องใช้เวลา รอนาน และไม่สามารถให้คิว เวลา การนัดตรวจ ที่แน่นอนได้

นอกจากนี้คุณปัทมาวดีหรือธรรมชาติก็ได้ติดต่อหมออื่นด้วย คุณน้อมขวัญก็เช่นกันได้ติดต่อหมอ เกี่ยวกับ กายภาพบำบัด ไว้ด้วย ส่วนหมอฟ้ารัก ก็อยากจะให้อบสมุนไพรและถวายยาสมุนไพร ที่ช่วยเรื่องเลือดลม ไหลเวียน มาถวายให้ฉัน พ่อท่านรับฉันยาสมุนไพรที่ทำมาจากต้นฝาง ส่วน การอบสมุนไพร พ่อท่านปฏิเสธ เนื่องจากงานของ ไฟล์เครื่องคอมฯ มีปัญหา จึงต้องอยู่ดู

ขณะกำลังรอท่านธัมมาฯมาตรวจแก้เครื่องให้ คุณขาวได้นำเครื่องอุลตร้าซาวด์มาช่วยบำบัดอาการ ที่ขาซ้าย ซึ่งมีอาการเจ็บ

คุณปัทมาวดีได้ส่งยาโฮมีโอพาธีมาให้พ่อท่านฉัน วันละ ๓ เม็ด ซึ่งมีสีขาวเล็กๆ อย่างกับเม็ดงา เล็กกว่า เม็ดงาอีก เพียงแต่เป็นเม็ดกลมๆ อย่างกับเม็ดสาคู ชื่อยามีว่า CAUSTICUM 1 LM มีคำแนะนำการใช้ ให้ฉันวันละ ๓ เม็ด ต่อหนึ่งครั้ง

ก่อนสองทุ่มพอดีหมอหลิวมาตรวจท่านสิริฯ จึงได้นิมนต์พ่อท่านให้หมอหลิวช่วยตรวจดูด้วย หมอหลิว ตรวจชีพจร และความดัน ชีพจร ๗๒ ครั้ง/นาที ความดัน ๑๑๐/๗๕ mm.Hg. เป็นเรื่อง ที่หมอหลิว มีอาการแปลกใจ เพราะปกติ พ่อท่านจะมีชีพจรอยู่ที่ ๘๐ ครั้ง/นาที นี้เมื่อคืน ไม่ได้นอน เต็มที่ ก็น่าจะลง ในเรื่องของความดัน และแนะนำว่า น่าจะตรวจหาสาเหตุ แล้วแก้ที่เหตุ ไม่ใช่เพียงแค่ไปฝังเข็ม เพราะ การฝังเข็มเป็นเพียงการบำบัดอาการ ช่วยให้ไม่ต้อง ใช้ยาแผน ปัจจุบัน หรือไม่ต้องใช้วิตามิน พรุ่งนี้ คุณเพ็ญเพียรธรรม ได้นัดให้ไปหาหมอผู้เชี่ยวชาญ โรคระบบ ประสาท

๓๐ เม.ย. ๒๕๔๘ เช้านี้พ่อท่านลุกตื่น ๖ นาฬิกา บอกว่าพักได้ยาวนาน โดยไม่ต้องฉันยาของ โฮมีโอพาธี ที่เตรียมไว้ให้ หากพักได้ไม่เต็มที่ หรือมีอาการเจ็บ คุณเพ็ญเพียรธรรม ได้เข้าขอวัด ตรวจความดัน และชีพจร วัดความดันได้ ๑๒๐/๘๘ mm.Hg. ส่วนชีพจรวัดสองครั้งได้ ๗๕ ครั้ง/นาที เท่ากัน พ่อท่านบอกเล่าว่า เมื่อคืน นอนลุกตื่นตอนปัสสาวะ เท่านั้น หลับได้ยาว หรือเต็มที่ ๑๐ ชั่วโมง ตอนตีสองครึ่ง ได้ยินเสียง มีใครเลื่อยอะไร ก็จึงลุกขึ้นมาดู แล้วก็นอนต่อ จนถึง ๖ นาฬิกา

คุณเพ็ญเพียรธรรมได้ติดต่อ ศ.นพ.ประเสริฐ บุญเกิด หมอเชี่ยวชาญระบบประสาท รพ.รามาธิบดี อยู่แถว สีลม เป็นคลินิก ชื่อว่า ภัทรเวช และนิมนต์พ่อท่านให้ไปตรวจที่คลินิก เพราะเป็นวันหยุด ราชการ

นั่งรออยู่ที่นั่งรอผู้ป่วยอยู่เป็นพักใหญ่ เกือบได้เวลาเที่ยงแล้ว จึงถูกเรียก เนื่องจากเรียกตามคิว ไม่มีใครรู้จัก ใครมาก่อน หมอเอง ก็ไม่รู้ว่าพ่อท่านคือผู้ป่วย ให้หมอตรวจดู เนื่องจากคุณ เพ็ญเพียรธรรม ติดต่อทาง โทรศัพท์ โดยไม่ได้แจ้งว่า ผู้ป่วยเป็นใคร

หมอซักถามอาการที่เป็น และถามถึงประวัติที่เคยเป็น รวมถึงถามถึงการรักษาที่ผ่านมา และ ที่ได้ทำมาแล้ว โดยมี คุณเพ็ญเพียรธรรม คอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ และการรักษา อาการป่วย ที่ผ่านๆมา เสร็จแล้ว ก็เป็นการตรวจ ดูอาการของพ่อท่าน โดยนิมนต์ให้พ่อท่านนอนบนเตียง แล้วหมอก็ใช้อุปกรณ์เคาะ เพื่อตรวจการตอบรับ ของระบบประสาท ที่บริเวณขา ทั้งสองข้าง จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นใช้ไม้จิ้มฟัน แหลมๆ จิ้มบริเวณขา และนิ้วเท้าขา ถามอาการที่รู้สึก ปรากฏว่า บริเวณ หัวนิ้วเท้าทั้งสอง พ่อท่านรู้สึกว่า จะมีอาการชาๆ

ต่อมาหมอให้พ่อท่านนอนแล้วเตะขาขึ้นทีละข้าง ปรากฏว่าขาซ้ายเตะได้สูงกว่า ขาขวามีอาการติด มากกว่า และ ยกได้น้อยกว่า จากนั้นให้พ่อท่านลองใช้มือขวา เอื้อมไปแตะที่ปลายเท้าซ้าย และสลับกัน มือซ้าย เอื้อมไปแตะ ที่ปลายเท้าขวา และให้ยกขึ้นค้างไว้ บอกว่าเป็นวิธีบริหาร ให้กล้ามเนื้อ ตลอดแนวขา ข้างสองข้าง ได้ยืดคลาย เนื่องจาก พ่อท่าน นั่งทำงานต่อ เนื่องกัน นานมากเกิน ต้องหมั่นลุก เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง อาจจะทุก ๒ ชม.ก็ได้ ถ้าไม่เดินไปมา ก็ใช้ท่า ที่ได้แนะนำ ให้ทำนี้แทน เพื่อจะได้ แก้ปัญหาการกดทับแนวการทำงานของเส้นประสาท และ ช่วยกระตุ้น ให้เลือด ได้ไหลเวียน การนั่งทำงานนานๆ มันจะไปกดทับเส้นประสาทที่บริเวณก้น และกล้ามเนื้อ ตลอดแนว ด้านหลังขาพับ

จากการตรวจแล้ว หมอเห็นว่าพ่อท่านไม่ได้เป็นอะไรมาก เพียงแต่การนั่งทำงานนานๆ มันทำให้การ ไหลเวียน เลือด ไม่สะดวก และกดทับแนวการทำงานของระบบประสาทที่ไปเลี้ยงส่วนปลายด้วย จึงเกิดอาการ ปลายประสาท อักเสบ หากปล่อยไว้ ไม่แก้ไขอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การรักษา ไม่มีทางอื่น นอกจาก การขยับเคลื่อนไหว อยู่บ่อยๆ ซึ่งดีกว่า การกินวิตามิน

หมอไม่ได้ให้ยาใดๆ และไม่ได้คิดค่ารักษาแต่อย่างใดด้วย

- รักข์ราม. -
๒๙ พ.ค. ๒๕๔๘

- สารอโศก อันดับ ๒๘๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘ -