โดย...ณวมพุทธ

พระทัพพมัลลบุตรเถระ

คลอดจากครรภ์ อัศจรรย์ พันลึก
เกินนึก เจ็ดขวบลุ อรหันต์
แต่วิบาก บาปกรรม ก็ตามทัน
ใส่ไคล้กัน ได้แม้ ไม่มีมูล

ในอดีตชาติของพระทัพพมัลลบุตรเถระ ได้สั่งสมบุญไว้แล้ว ดังเช่นได้ฟังธรรมบังเกิดจิต ศรัทธายิ่ง และ ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าองค์ปทุมุตระพร้อมหมู่สงฆ์ ให้ฉันอาหารตลอดทั้ง ๗ วัน

แต่ครั้นได้เกิดในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์วิปัสสี แม้ได้ทำบุญถวายข้าวสุก ที่หุงด้วยน้ำนม (ข้าวปายาส) แก่พระเถระทั้งหลาย แต่ได้พลาดพลั้งกระทำบาปด้วยจิตขัดเคือง กล่าวตู่ (กล่าวอ้างผิดๆ) ต่ออรหันตสาวก ของพระพุทธเจ้า พระองค์นั้น ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าท่านเป็นผู้บริสุทธิ์

จนกระทั่งถึงยุคสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม ท่านได้เกิดเป็นพระราชโอรสของ พระเจ้า มัลลราช แห่งนครกุสินารา เมืองหลวงของแคว้นมัลละ แต่ขณะที่ยังอยู่ใน พระครรภ์ของ พระมารดานั้น เมื่อพระครรภ์แก่ ถึงเวลาคลอด พระนางคลอดลูกยาก ต้องทุกข์ทรมานมากจนทนไม่ไหว ถึงแก่ความตาย ในที่สุด ผู้คนทั้งหลาย จึงช่วยกันยกขึ้น สู่เชิงตะกอน ปรากฏว่าพระโอรส ได้หลุดออกมา ตกลงที่กองไม้ บนเชิงตะกอนนั้นเอง ดังนั้นกุมารจึงได้รับนามว่า ทัพพะ(ไม้ฟืน) มีชีวิตรอดด้วยบุญบารมีแท้ๆ

พอพระโอรสมีอายุได้ ๗ ขวบ พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ได้เสด็จจาริกมาที่แคว้นมัลละ ประทับอยู่ใน อนุปิยัมพวัน วาสนาบารมีชักนำให้ทัพพกุมารได้พบเห็นพระศาสดา เพียงแค่ ได้พบเห็นเท่านั้น ก็บังเกิด ความศรัทธาอย่างแรงกล้า หมายใจจะบวชกับพระศาสดาในทันที

ในที่สุดเมื่อได้รับอนุญาตจากพระราชบิดาแล้ว จึงได้ขอบวชกับพระผู้มีภาคเจ้า พระองค์ก็ได้ ตรัสกับ ภิกษ ุรูปหนึ่งว่า

"ดูก่อนภิกษุ เธอจงนำทัพพกุมารนี้ไปบรรพชาเถิด"

ภิกษุนั้นจึงพาทัพพกุมารไปเตรียมตัวบวช ขณะที่กำลังปลงผม(โกนหัว)จุกแรกเสร็จ ทัพพกุมาร ก็ได้ บรรลุธรรม เป็นพระโสดาบันแล้ว ด้วยการพิจารณาปลงวางในสังขาร ร่างกาย ทั้งปวง พอปลงผม จุกที่สองเสร็จ ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระสกิทาคามี พอปลงผม จุกที่สามเสร็จ ก็ได้บรรลุธรรมเป็น พระอนาคามี พอปลงผมทั้งหมดที่หลงเหลืออยู่เสร็จ ก็ได้บรรลุธรรมเป็น พระอรหันต์ แล้ว

เมื่อบวชแล้ว พระทัพพมัลลบุตรเถระก็ได้ตามเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ ซึ่งพระศาสดา ประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร

ที่นั้นเอง พระทัพพเถระบังเกิดความคิดอย่างหนึ่งอันเป็นกุศล จึงเข้าเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดขึ้นมาว่า ข้าพระองค์ มีอายุ เกิดเพียง ๗ ปี ได้ทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผลแล้ว กิจส่วนตนใดๆทำเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น ข้าพระองค์จึงปรารถนา ช่วยเหลือหมู่สงฆ์ในการจัดแจงสถานที่พักอาศัย(เสนาสนะ) แก่สงฆ์ และ ในการจัดแจกอาหารแก่สงฆ์ พระเจ้าข้า"

"ดีล่ะ ดีล่ะ ทัพพะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงทำหน้าที่จัดแจงที่พักแก่สงฆ์ และแจกอาหารแก่สงฆ์เถิด"

แล้วทรงหันมารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงฆ์จงสมมุติ(ตกลงกัน)ให้ทัพพมัลลบุตร เป็นผู้จัดเสนาสนะ และ แจกอาหาร แก่สงฆ์"

พระทัพพเถระจึงจัดที่พักแก่สงฆ์ คือ

ภิกษุพวกทรงพระสูตร ให้พักอยู่ร่วมกัน เพื่อว่าจะได้ซักซ้อมพระสูตรกัน

ภิกษุพวกทรงพระวินัย ให้พักอยู่ร่วมกัน เพื่อว่าจะได้วินิจฉัยพระวินัยด้วยกัน

ภิกษุพวกพระธรรมกถึก ให้พักอยู่ร่วมกัน เพื่อว่าจะได้สนทนาธรรมร่วมกัน

ภิกษุพวกบำเพ็ญฌาน ให้พักอยู่ร่วมกัน เพื่อว่าจะได้ไม่รบกวนกัน

พระเถระจัดแจงที่พักให้ดังนี้ แม้ในที่ใกล้หรือไกล ก็จัดให้ได้อย่างดี ทำให้ภิกษุในที่ต่างๆ มาทดลอง ความสามารถของท่านเสมอๆ บ้างก็มาในยามค่ำคืน บ้างก็ขอให้จัดพักที่ภูเขาบ้าง พักที่ถ้ำบ้าง เหวบ้าง แต่พระทัพพเถระก็มีฤทธิ์จัดให้ได้ทั้งหมด ยิ่งนานวันชื่อเสียง ก็ลือ กระฉ่อน ไปทั่ว เป็นที่ยกย่องของภิกษุ ทั้งหลาย รวมทั้งพระศาสดาก็สรรเสริญ แล้วได้ แต่งตั้งท่านไว้ในตำแหน่งของ ภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งปวง ในด้านการจัดแจงเสนาสนะ

ส่วนการเอาภาระเป็นภัตตุทเทสก์(ผู้ทำหน้าที่จัดภิกษุไปฉันอาหารตามกิจนิมนต์ในที่ต่างๆ) พระทัพพเถระ ก็ทำหน้าที่ ได้ยาวนานเป็นอย่างดี

แต่มีอยู่คราวหนึ่ง.....คหบดี(ผู้มีอันจะกิน)พร้อมด้วยบุตรภรรยา นิมนต์ถวายอาหารทุกวัน แก่สงฆ์ ถวาย วันละ ๔ รูป

วันหนึ่งพระทัพพเถระได้จัดให้พระเมตติยะ และพระภุมมชกะ ซึ่งเป็นภิกษุบวชใหม่ อยู่ใน กลุ่มพวกภิกษุ ฉัพพัคคีย์ ที่ประพฤติไม่เหมาะสมต่างๆ ให้ไปฉันอาหารที่เรือนของคหบดีนั้น เพราะปกติของภิกษุใหม่ ทั้งสอง มักได้ฉันแต่อาหารธรรมดา พวกปลายข้าว และน้ำส้ม เป็นกับเท่านั้น พระเถระจึงปรารถนา ให้ได้ฉันอาหารอันประณีตที่มีรสอร่อยบ้าง

แต่ปรากฏว่า เมื่อคหบดีรู้ว่าเป็นภิกษุบวชใหม่สองรูปนี้จะเป็นผู้มาฉันอาหารที่เรือนของตน ก็เกิดจิต ไม่ศรัทธา แล้วคิดน้อยใจว่า

"ไฉนจึงให้ภิกษุลามก(ไม่น่าชื่นชมในด้านความดีงาม) มาฉันอาหารที่เรือนเราเล่า"

คหบดีจึงสั่งหญิงรับใช้ให้จัดที่นั่งฉันไว้ที่ซุ้มประตู แล้วให้ถวายอาหารหยาบพวกปลายข้าว มีน้ำผักดอง เป็นกับ ทำให้ภิกษุทั้งสองบังเกิดความเสียใจ ฉันไม่อิ่ม พูดคุยกันว่า

"เมื่อวานนี้ คหบดีไปหาพระทัพพเถระ พวกเราคงถูกพระทัพพเถระยุยงให้ร้ายเป็นแน่ จึงได้เป็นอย่างนี้"

หลังอาหารแล้วกลับอาราม ด้วยความเศร้าโศก จึงนั่งรัดเข่าอยู่ที่ซุ้มประตูอาราม นิ่งอึ้ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่พูดจาเลย

บังเอิญภิกษุณีเมตติยามาพบเข้า ได้ทักทายภิกษุทั้งสองรูปนั้น แล้วปรารถนาจะช่วยเหลือ ภิกษุทั้งสอง จึงกล่าวว่า

"เธอจงไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ทิศนี้มีภัย มีจัญไร มีอันตราย บัดนี้หม่อมฉัน ถูกพระคุณเจ้า ทัพพมัลลบุตร ประทุษร้าย (ข่มขืน) คล้ายดั่งถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า"

ภิกษุณีเมตติยาก็รับคำไปกระทำตามนั้น พระศาสดาจึงรับสั่งประชุมสงฆ์ แล้วทรงสอบถาม พระ ทัพพเถระว่า

"ดูก่อนทัพพะ เธอเป็นผู้กระทำตามที่ภิกษุณีนี้กล่าวหาหรือไม่"

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ย่อมทรงทราบดีว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า"

พระศาสดาตรัสถามถึงสามครั้ง พระทัพพเถระก็ตอบอย่างเดิมทั้งสามครั้ง ทำให้พระผู้มี พระภาคเจ้า ต้องตรัสบอกว่า

"ดูก่อนทัพพะ บัณฑิตไม่ควรกล่าวแก้ข้อกล่าวหาเช่นนี้ ถ้าเธอกระทำก็จงบอกว่ากระทำ ถ้าไม่ได้กระทำ ก็จงบอกว่า ไม่ได้กระทำ"

"พระพุทธเจ้าข้า ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้ว แม้โดยความฝันก็ยังไม่รู้จักเสพเมถุนธรรม (ร่วมประเวณี) เลย จะกล่าวไปไยถึงเมื่อตื่นอยู่เล่า"

เมื่อพระทัพพมัลลบุตรเถระประกาศสัจจะอย่างนี้แล้ว พระศาสดาจึงตรัสกับหมู่สงฆ์ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงให้ภิกษุณีเมตติยาสึกไปเสีย แล้วจงสอบสวน ให้ถึงสาเหตุ เรื่องนี้"

หมู่สงฆ์จึงให้ภิกษุณีนั้นสึก แม้ภิกษุเมตติยะกับภิกษุภุมมชกะจะได้สารภาพผิดต่อหมู่สงฆ์ว่า

"ขอหมู่สงฆ์อย่าให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเลย นางไม่ผิดอะไร พวกผมผิดเองที่แค้นเคือง ไม่พอใจ จึงได้ให้ ภิกษุณีเมตติยาใส่ไคล้ให้ร้าย ด้วยหวังว่าจะให้พระทัพพเถระ ต้องเคลื่อนจาก พรหมจรรย์ (สึก) ไปเสีย"

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเรื่องแล้ว ทรงบัญญัติอาบัติสังฆาทิเสส(ความผิดหนัก) แก่ภิกษุ ผู้กล่าวตู่ ใส่ร้ายภิกษุอื่น ด้วยอาบัติปาราชิก(ความผิดหนัก)ที่ไม่มีมูล

ส่วนพระทัพพมัลลบุตรเถระ เมื่อพ้นจากข้อกล่าวหาได้แล้ว ก็กล่าวว่า

"เราประพฤติพรหมจรรย์ อายุได้ ๗ ขวบ ก็หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว แต่เพราะวิบากบาป ที่เคยกล่าวตู่ พระอรหันต์ เราจึงต้องถูกคนกล่าวหาผิดๆมากมาย บัดนี้เราได้บรรลุสันติ (ความสงบ) ชั้นสูงแล้ว"

- ณวมพุทธ -
ศุกร์ ๑๐ มิ.ย. ๒๕๔๘
(พระไตรปิฎกเล่ม ๖ ข้อ ๕๘๙
พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๒๔
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๐ หน้า ๗๙)

- สารอโศก อันดับ ๒๘๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘ -