จัดระเบียบขายดื่มเหล้า
จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมน์หมายเหตุประเทศไทย ๒๒ ก.ค.'๔๘


วันนี้เป็น"วันเข้าพรรษา" เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา นอกจากการทำบุญตักบาตร หล่อเทียน พรรษาแล้ว เรื่องที่มีการรณรงค์เป็นประจำในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาก็คือ "งดดื่มเหล้า วันเข้าพรรษา" ก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง เพราะเป็นการเรียกร้องที่ปลายเหตุ แต่ไม่แก้ที่ต้นเหตุ

เช่นเดียวกับ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ที่ออกมาต่อต้านคัดค้านเบียร์ช้างไม่ให้เข้าไปจดทะเบียน ในตลาด หลักทรัพย์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ ก็เป็นการเรียกร้อง

ที่ปลายเหตุ ซึ่ง พล.ต.จำลองก็รู้ดี ทำแล้วดังดี

แต่การสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมและเด็ก ด้วยการ-เรียกร้องให้มีการออกกฎหมาย มาจำกัด ช่องทาง การขายเหล้า และดื่มเหล้ากลับไม่มีใครสนใจ ทั้งๆที่เป็นช่องทางป้องกัน การดื่มเหล้า ได้ดีที่สุด

การคัดค้านไม่ให้เบียร์ช้างเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นการคัดค้าน ที่ไม่มีใคร ได้ประโยชน์ นอกจากการได้เป็นข่าว

เพราะถึงแม้เบียร์ช้างจะไม่ได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย เพื่อระดมทุน จากคนไทย ด้วยกัน กลุ่มเบียร์ช้างก็ยังผลิตและขายเหล้าเบียร์ต่อไปได้อย่างเสรี และยัง สามารถที่จะไปจดทะเบียน ในตลาด หลักทรัพย์ฮ่องกงและสิงคโปร์ ระดมทุนจาก ต่างประเทศ เข้ามาลงทุนขยายโรงงาน ในเมืองไทย ได้อย่างสบาย ตามแผนเดิม

การคัดค้านของ พล.ต. จำลอง จึงเกาไม่ถูกที่คัน

ประเด็นที่ผมอยากเสนอไว้ตรงนี้ และเคยเขียนไว้ตรงคอลัมน์นี้มาหลายครั้ง นั่นคือ "มาตรการ สร้าง ภูมิคุ้มกัน ให้กับสังคม" เช่นเดียวกับที่เขาทำในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผมขอยกตัวอย่างมาให้ดูกันคร่าวๆ อีกครั้ง เช่น

ห้ามขายเหล้าเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเสรี เช่น ขายในร้านสะดวกซื้อ ขายในร้าน โชห่วย ทุกตรอกซอกซอย ขายตามร้านอาหารข้างถนน อย่างที่ขายอยู่ในเมืองไทย แต่ให้ขาย ในร้านขายเหล้าเบียร์ ประเภทนี้โดยเฉพาะ หรือตามห้างซุปเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่เท่านั้น

ในสหรัฐฯ เขาห้ามขายเหล้าเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า ๒๑ ปี และห้าม เยาวชน ที่มีอายุต่ำกว่า ๒๑ ปี ดื่มเหล้าเบียร์ด้วย ถือว่ามีความผิดทางอาญา ทั้งผู้ขาย และผู้ดื่ม

แต่เมืองไทยเราห้ามขายเหล้าเบียร์ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี แต่ไม่ได้ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ดื่มเหล้า เบียร์ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะแก้กฎหมายขยับขึ้นมาที่อายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี และ ห้ามดื่มด้วย ถือเป็นความผิด ทางอาญาเช่นกัน

การดื่มเหล้าในเมืองไทย ต้องถือว่าดื่มกันอย่างเสรีที่สุดในโลก จะตั้งวงนั่งดื่มที่ไหนก็ได้ หน้าบ้าน ตัวเอง ริมทางเท้า ริมถนน ตามตรอกซอกซอย ไปจนถึงสวนสาธารณะ สามารถ ตั้งวงดื่มได้หมด

แต่ในต่างประเทศห้ามเด็ดขาด เพราะถือเป็นการรบกวนและละเมิดสิทธิคนอื่น การดื่มเหล้า เบียร์ จะต้องดื่ม ในร้านที่มีใบอนุญาตขายนั้น จะซื้อมาดื่มกันเองก็ต้องดื่มในบ้าน ที่มิดชิด จะออกมาตั้งวงดื่ม เฮฮา หน้าบ้านไม่ได้

ผมเห็นข่าวพวกวัยรุ่นตั้งวงดื่มเหล้าตามซอย พอเมาได้ที่เห็นผู้หญิง เดินผ่าน ก็ฉุดไปข่มขื่น ด้วยความเมา ความคึกคะนองทีไร ก็ให้เศร้าใจเป็นที่สุด และอยากเห็นภาครัฐ ให้ความสนใจ สร้างกรอบขึ้นมา คุ้มครอง ประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้มากกว่านี้

การสร้างกรอบบังคับอย่างที่ผมร่ายยาวมานี้ ผมเชื่อว่าจะช่วยป้องกัน และคุ้มครอง สังคม ส่วนหนึ่ง ได้อย่างแน่นอน ในต่างประเทศทำสำเร็จมานานแล้ว

ลำพังการรณรงค์เลิกเหล้าวันเข้าพรรษาแค่วันเดียว หรือตลอดพรรษา หรือห้ามไม่ให้ บริษัท เหล้า เบียร์ เข้าไป จดทะเบียนในตลาดหุ้น ช่วยป้องกันอะไรสังคมไม่ได้ การสร้างกรอบ มาป้องกันสังคม ส่วนรวมต่างหาก ที่สำคัญ ที่สุด

- ลม เปลี่ยนทิศ -


ขอคิดด้วยคน

การเสนอจะขอให้ออกกฎหมายจำกัดการดื่มเหล้า ยังค่อนข้างไกลตัวเหมือนความฝัน ลมๆ แล้งๆ โอกาส คลอดกฎหมายนี้เป็นไปได้ยาก เพราะต้องฝ่าด่านพวกพ่อค้านายทุนเหล้า และ พวกนักการเมืองคอเหล้า ทั้งหลาย หรือต่อให้คลอดกฎหมายทำนองนี้ ได้สำเร็จ ก็ใช้ได้ผลจริง ยาก เพราะรู้ๆนิสัยคนไทยกันอยู่ ว่าไม่ค่อย ทำตามกฎหมาย สักเท่าใดนัก

แล้วการใช้กฎหมายแก้ปัญหาแบบนี้ ก็เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เป็นการบังคับภายนอก คือ ไม่ได้แก้ถึง จิตใจเขา ใจเขาไม่ยอมจริง เพราะไม่เห็นทุกข์โทษภัยจากเหล้า จะหาโอกาส ดื่มเหล้า เสมอๆ เมื่อมีโอกาส

ฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหานี้ให้ดีที่สุด ก็ควรแก้ให้ถึงต้นเหตุ ต้นตอจริงๆ คือความหลงผิดติด ของมึนเมา ให้โทษ ต้องแก้ให้ถึงจิตใจของเขา ไม่ว่าจะใช้วิธีการรณรงค์งดเหล้า จะใช้ธรรมะ กล่อมเกลา จิตใจ ให้คลายความ หลงติดเหล้าก็ตาม นี้จึงจะเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุโดยตรง

ส่วนกฎหมายก็ควรรีบช่วยกันหาทางให้คลอดออกมาไวๆ เพื่อแก้ปลายเหตุ ไปด้วยกัน ทั้งสองส่วน

- ทีมงานสารอโศก -

-สารอโศก อันดับที่ ๒๘๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ -