สิบห้านาทีกับพ่อท่าน - ทีม สมอ. -

เข้าพรรษา'๔๘


มาถึงวันนี้ คงปฏิเสธกันยากถึงความทุกข์ที่กำลังย่างกรายเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น กระชั้น เข้ามา ทั้งปัญหา เศรษฐกิจ น้ำมันถีบราคาสูงขึ้นๆ ทำเอาค่าครองชีพต่างๆสูงขึ้นตาม นำเอา ความเดือดร้อนยากเย็น แสนเข็ญเข้ามา ปัญหาสังคม ความปลอดภัยในชีวิตไม่มี นักเรียน ตีกัน ฆ่ากันตาย ความรุนแรง อำมหิต ยังคุกรุ่นในหลายจังหวัดภาคใต้ อีกทั้งความโศกเศร้า สูญเสียลูก ในวัยศึกษา ให้กับค่านิยมในการรับน้อง ที่ไร้สติปัญญา และนับวันหนักข้อขึ้น ในแง่ของ ความลามก อนาจาร หลายคนเซ็งจัด เครียดจัด ทุกข์จัด กับปัญหา ไม่เห็นทางออก "คนเห็นทุกข์ จึงเห็นธรรม" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ๒๕๐๐ กว่าปี นี่เป็น ทางออก เป็นทาง แห่งสัมมาอาริยมรรค จากบทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ย้ำเน้น "มีแต่ทางนี้ ทางเดียว เท่านั้น ที่จักนำสู่ความพ้นทุกข์" และอีกคำถามที่น่ารู้ "สำนึกรับผิดชอบต่อการทำงาน ในระบบ บุญนิยม จะสร้างให้มีให้เกิดได้อย่างไร?"

ถาม จากบทความของวสิษฐ เดชกุญชร ใน น.ส.พ.มติชน วิจารณ์ความรุนแรงเชิงซาดิสม์ และ มาโซคิสม์ ในการรับน้องตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จนเกิดเป็นข่าวดังเมื่อเร็วๆนี้ มีข้อสรุป ที่น่าสนใจว่า "......ถ้าจะให้ ความสุขสงบคืนมาสู่โลก จึงไม่มีทางอื่น นอกจากฟื้นฟูโลก ให้ความเมตตา กรุณา กลับคืนมาสู่ใจคนเท่านั้น ก่อนโลกจะกลายเป็นโลกของ สัตว์เดรัจฉาน ....." ตรงนี้คำตอบน่าจะอยู่ที่นักการศาสนา

ตอบ คำตอบมันก็ตายตัวอยู่แล้ว มีอยู่คำเดียว ต้องมาปฏิบัติธรรมะ ให้คนมาเผยแพร่ธรรมะ จะต้อง พยายามให้ทำอย่างไรที่จะให้ธรรมะโลกุตระ หรืออาริยธรรมของพระพุทธเจ้า มาเป็น ที่รู้กันอย่างกว้างขวาง และเห็นจริงเห็นจัง ใช้กันอย่างทั่วถ้วน ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ขอยืนยันเลยว่า ไม่มี ไม่มี ไม่มี และไม่มีหนทาง อย่างอื่นเลย ที่กล้าพูดอย่างนั้นก็เพราะว่า เหตุที่คนซาดิสม์ ก็ดี มาโซคิสม์ ก็ตาม หรือแม้ว่าคนมันจะก่อ ความรุนแรง มันจัดจ้านหมดทั้งกามและพยาบาท หรือ ราคะและโทสะ

นอกจากราคะและโทสะแล้ว ก็ยังมีโมหะ คือ ไม่รู้เรื่อง โมหะหมายความว่า ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ปนกัน ไปหมด มันวน มันวุ่น มันสับสน โมหะคือ มันหลงผิด หลงถูก หลงเละปนเปกันไปหมด เพราะ ซับซ้อนจนเหลือที่จะซับซ้อน จึงแยกไม่ออกว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควร อะไรไม่ควร คนเรา มันคิด มันปรุง มันแต่ง มันสร้าง มันทำอะไร ครอบงำกันและกันมานาน จนถึงขณะนี้แล้ว จึงเหลือ กำลังวังชา ที่มันจะซับซ้อน เพราะฉะนั้นคนจึงโมหะ เขาไม่รู้ตัว และเขาก็ไม่รู้ว่า เขาหลงสิ่งเหล่านี้ โมหะคือ ความหลง หรือความปนเปที่เขาแยกไม่ออก ราคะกับโทสะ พูดกันชัดง่าย ลักษณะของราคะกับโทสะ ๒ ด้านของความรุนแรง โทสะรุนแรงโดยตรง อย่างที่เรียกว่า ทำร้ายรุนแรงอย่างทำลาย

ส่วนกามหรือราคะนั้นรุนแรงจัดจ้านด้วยความที่จะดูดดึงเอามาเสพ มาติด มายึด อันหนึ่งดูด อันหนึ่งผลัก ทำร้ายทำลายกันเป็น ๒ ด้านใหญ่ๆ หรือเป็นพลังงาน ๒ ด้าน ที่เป็นพลังงาน แม้แต่ในโลก แม้แต่ในวัตถุ จนกระทั่งถึงพลังงานทางจิตวิญญาณ เพราะฉะนั้น ทางจิตวิญญาณ ที่ไม่เรียนรู้ ความจริงอันนี้ และก็ไม่เห็น ความจริงว่า มันต้องลด ถ้าไม่ลด แล้วมันจะทุกข์ ไม่ลดแล้วมันก็สร้าง ความเสียหาย เสื่อมโทรม อย่างที่มัน เป็นอยู่ โดยมันจะ เลวร้ายลงทุกวันๆ ทุกชั่วโมง ทุกวินาที ถ้าจะพูดอย่างกวาดคนอื่นทิ้ง หรือ ยกตน ข่มท่าน อะไรก็ตาม ก็จะพูดแบบยืนยันว่า ศาสนาพระพุทธเจ้าเรียนรู้ความจริงในจิตวิญญาณตัวนี้อย่างชัดเจน ทั้งราคะ โทสะ โมหะ เรียนรู้อย่างมีเจโตปริยญาณมีวิชชามีความรู้มหัศจรรย์ เจโตปริยญาณก็คือ วิชชา หรือ ญาณ ในวิชชา ๘ ประการของพุทธ เข้าไปหยั่งรู้สราคะ สโทสะ สโมหะ และก็รู้วิธีปฏิบัติ รู้ว่า มันลดละ ได้จริง เป็นวีตราคะ วีตโทสะ วีตโมหะ จนกระทั่งถึงขั้นหมดอาสวะได้ อันนี้เป็น ความจริงที่เป็น วิทยาศาสตร์ทางจิตของพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าเรียนรู้ไม่ถูกทาง เรียนรู้โดย ไม่เกิดตาทิพย์ ไม่เกิดญาณ เห็นความจริงพวกนี้ มันก็พูดไม่ได้มาก แต่ถ้าเห็นความจริงอันนี้ และ พอจะพูดกันได้ ก็จะเห็นความจริง เลยว่า ไม่มีศาสตร์ใดๆหรอก ที่เขาจะสามารถ เรียนรู้ อย่างชัดเจน เหมือนศาสตร์นี้ของพระพุทธเจ้า และเมื่อเรียนรู้ พิจารณา จึงจะลดกาม ลดพยาบาทได้ ถ้าลดทั้งกาม ลดพยาบาท ก็จะลดความรุนแรง ทั้งในด้านดูด และด้านผลัก เพราะฉะนั้น จริงๆแล้ว มาโซคิสม์คือกาม เป็นการเกิดรสชาติเอร็ดอร่อยสุขใจ เมื่อตัวเอง ทำร้ายตัวเอง ให้ทุกข์ทรมานได้สำเร็จ ทั้งๆที่ตัวเอง ได้รับความเจ็บปวด ส่วนซาดิสม์ เป็นความสุขใจ ชอบใจที่เห็นคนอื่นเจ็บปวดแล้วสะใจ เป็นสุขถึงไคลแมกซ์ ซึ่งมาโซคิสม์ นั่นก็คือ กาม หรือราคะแท้ๆ พวกเดียว กันกับคนกินพริกเผ็ดๆ ซดน้ำร้อนร้อนๆ แล้วสุข แล้วอร่อย ทั้งๆที่ตนแสบร้อนเจ็บปวด มันจะสุขใจ ได้อย่างไร แต่เขาสุขเพราะมีอุปาทานนั้น ในใจจริงๆ เห็นไหมว่า มันซับซ้อน ก็มันเจ็บปวดตัวเองแท้ๆ แต่มัน กลับสุขได้ นี่คือ ความซับซ้อน ที่เขาไม่เข้าใจ แต่ถ้าศึกษาแล้วจะเข้าใจ โดยสรุปก็มี ๒ ด้านนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น คำตอบคือจะทำอย่างไร ก็ต้องมาเรียนรู้ให้ชัดเจน แล้วก็ปฏิบัติ ให้บรรลุ และต้องเผยแพร่ ต้องพยายาม ซึ่งมันไม่ง่าย อย่างที่พวกเราทำงานอยู่ทุกวันนี้ ก็คือ การเผยแพร่ สิ่งจริงเหล่านี้

เมื่อพวกเราได้เรียนรู้พุทธธรรม หรือศาสนาพุทธจนเข้าใจสัจธรรม พวกเราก็ไม่มีความรุนแรง พิสูจน์ได้ ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี พวกเราอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นคณะ อยู่กันอย่างอดอยากด้วยซ้ำไป ถ้าจะว่ากันแล้ว เพราะมักน้อย สันโดษ เราไม่ไปบำเรอกันด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ได้บำเรอ กันด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่ได้หรูหราฟู่ฟ่า ไม่ได้ระริกระรี้ เหมือนอย่าง ข้างนอกเลย ไม่มีอามิสเหล่านี้ ถ้ามิใช่เป็นเพราะ กิเลสลด ใจไม่ปราศจากกิเลส หรือกิเลส น้อยลงจริงๆ มันก็จะกดดันอยากได้ๆๆๆ อยากได้ลาภ อยากได้ยศ อยากได้รูปรสกลิ่นเสียง แล้วเราก็กดข่มๆๆๆ มันก็จะกดดัน วันใดวันหนึ่งมันระเบิดแน่ ในคนที่อดทนไม่ไหว ก็ระเบิด ได้เร็ว กดดันไม่ถึง ๑๐ ปี ก็ระเบิด กดดันไม่ถึง ๒๐ ปี ก็ต้องระเบิดแล้ว กดดันไม่ถึง ๓๐ ปี ก็ต้องระเบิด แต่นี่พิสูจน์มาแล้ว พวกเราไม่กดดัน พวกเราไม่รุนแรง จนถึงกับต้อง แย่งชิง ทำร้าย ทำลายกัน ทั้งด้านสายรุนแรงทางโทสะ หรือสายกามราคะ พวกเราก็ไม่มีคดีเรื่อง พวกนี้เลย อยู่อย่างสงบกันดี พอสมควร เพราะฉะนั้นรัฐก็ดี สังคมส่วนใหญ่ก็ดี ถ้าเข้าใจ และ มาช่วยกันรณรงค์ เพื่อให้ศึกษาความจริง อันนี้ และแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ได้จริงๆ สิ่งนี้เป็นสัจธรรม ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ค้นพบ โดยไม่ใช่พระองค์ ทรงค้นพบ ในชาติเดียว แต่ได้ทรงศึกษาค้นคว้ามาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ สุดท้าย ก็ต้องสรุปผลจำนน ต่อความจริงตัดสิน ว่านี่ก็คือสุดยอดของมนุษยชาติ เพราะฉะนั้น ใครจะเชื่อ หรือไม่เชื่อ ก็เรื่องของเขา แต่เราจะพยายามพิสูจน์ๆให้เห็น ซึ่งก็พิสูจน์มาแล้ว ๒๐-๓๐ ปี ก็ได้ขนาดนี้ คำตอบ คืออย่างนี้ จะบอกว่าเราอวดดี จะบอกว่ายกตนข่มท่าน เอาเด่นคนเดียว ก็ขอรับ โดยดุษณี เพราะศาสนาพุทธ เป็นอย่างนี้จริงๆ



ถาม การทำงานในระบบทุนนิยม พนักงานจะมีความรับผิดชอบสูง เพราะถ้าทำให้เกิด ความผิดพลาด สูญเสีย เขาจะเรียกค่าเสียหายชดเชยคืน แต่การทำงาน ในระบบ บุญนิยม ของเรา ความรับผิดชอบ ขึ้นอยู่ที่ สำนึกของแต่ละคน ว่าจะมีมากน้อยเพียงไร เคยมีตัวอย่าง คนที่มีสำนึก และพอมีฐานะ เมื่อทำให้เกิด ความผิดพลาดสูญเสีย เขาก็ชดเชยให้ บางคน มีสำนึก แต่ไม่มีฐานะพอจะชดเชย เขาก็ได้แต่เสียใจ และมี สำนึกมากขึ้น ที่จะแก้ไข ไม่ให้เกิด ความผิดพลาดอีก แต่ก็มีบางคนเหมือนกันที่ไม่รู้สึกว่า ต้องรับผิดชอบอะไร กับความผิดพลาด สูญเสีย ที่ตัวเองทำ อาจคิดว่ามาทำงานให้ฟรี มาทำงานเงินเดือนน้อยๆ ก็ได้เสียสละ เป็นบุญอยู่แล้ว เมื่อเขาทำผิดพลาดสูญเสียโดยเขาเองก็ไม่ได้เจตนา ทำไมต้อง รับผิดชอบ หรือ แม้แต่ มาว่าอะไรกัน

ตอบ เรื่องนี้มีคำตอบเดียวคือ มีสำนึก มีความรู้แจ้ง เห็นความจริงในสิ่งที่ควรว่าคืออะไร ไม่ควร คืออะไร คนที่ยังไม่เข้าใจไม่มีจิตสำนึกและถ้าเขาคิดแต่ในแง่ของโลกีย์ตื้นๆ ว่าฉันทำอย่างนี้ มันก็ผิดพลาดได้ เมื่อผิดพลาดแล้ว จะทำยังไงล่ะ ฉันก็รับเงินเดือนน้อย ฉันก็ทนทำให้ มันทำถูกได้แค่นี้ ผิดพลาด จะมาว่า อะไรกัน แสดงว่าอัตตาเขายังมี เขายังถือตัวถือตน และเขาก็ยัง ไม่เข้าใจ การปฏิบัติของเรา ซึ่งเป็นการ ลดละกิเลส ไปในตัว การที่จะมีเงินเดือน น้อยๆ เหมือนที่บริษัทของเราให้กัน มันไม่ได้หมายความ เป็นการ กดขี่แรงงาน เป็นการเอาเปรียบ มันไม่ใช่

ในสังคมของพวกเรา มาอยู่วัดมาทำงานร่วมกัน มารับเงินเดือนบ้าง ไม่รับเงินเดือนบ้าง ทุกคน ปฏิบัติธรรม เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นถ้าเรามาทำงานเพื่อที่จะเอาเงินอันนี้ ไม่ใช่เลย ในสังคม ของพวกเรา ขอยืนยัน ถ้าจะเอาตัวเงินมาเป็นตัวอวดว่า ฉันมาเสียสละเท่านั้นเท่านี้ และ มาว่าฉันทำไม แล้วเกิดอาการไม่ชอบใจ ความไม่ชอบใจ นั่นคือ การไม่สำนึก และ ไม่ได้เรียนรู้ว่า อัตตาคืออะไร อัตตาของเรามันใหญ่ขึ้น ถ้าเรารู้ว่า เราผิดพลาด ใช่ไหม เราเข้าใจไหมว่า เราทำบกพร่อง ผิดพลาด ถ้าบกพร่องผิดพลาด มันก็ไม่ควร ด้วยประการ ทั้งปวง เราก็ต้องสำนึกว่า อันนี้ผิดพลาด ก็จะต้องยอมรับ จะต้องแก้ไขกิเลสของเรา โดยเฉพาะ กิเลสอัตตา ที่มันมาย้อนแย้ง มาว่าฉันทำไม ทั้งที่ฉันเสียสละขนาดนี้แล้ว ซึ่งมันก็คือ อัตตาตัวถือดี ของตัวเอง ถึงเรามีดี แต่ถ้าเรามีความผิดพลาด ก็ต้องยอมรับ สิ่งที่ผิดพลาดนั้น ความดีที่เรามีก็ดีแล้ว เท่ากับได้ทำกุศลด้านโน้นด้านนี้ก็ดีแล้ว แต่ไม่ควร เอาสิ่งนั้นมาแลกเปลี่ยน โต้แย้งเพื่อที่เราจะเอาชนะ คะคาน ลบล้างสิ่งที่เราทำผิด มันคนละ กรณีกัน เราทำผิดโทนโท่ เราทำผิดพลาด เราทำเสียทำสูญหาย เราก็ต้องรับผิดชอบ เราก็ต้อง รู้ว่า นี่มันผิดประเด็นนี้มันผิดชัดๆ ถ้าจะเอาความดีอันอื่นมาลบล้างเฉยๆก็คือ การแก้ตัว เพื่อที่จะอวดดี ในอัตตาของตัวเองเท่านั้น แม้เราจะมีดีมาก แต่เราผิดนิดเดียว คนอื่นจะถือสา หรือไม่ถือสา เขาจะรู้เอง คนอื่นเขาจะรู้เอง ถ้าเรามีชั่วแยะ มีดีนิดเดียว ทำชั่วอีก ก็เหมือนกับ หนัก คนอื่น เขาก็จะรู้เอง คนอื่นเขาจะให้ค่าเองในสังคม สิ่งเหล่านี้ มันเป็นเรื่องของ สัจธรรม ทั้งสิ้น

เราจะอยู่ที่นี่ ถือว่าเอารายได้น้อย หรือคนในส่วนกลางที่ทำงานฟรีก็ตาม พวกเราก็ต้อง สำนึกเอง ทั้งนั้นแหละ ไม่ควรมานั่งคิดว่า ฉันมาทำให้ฟรีแล้ว ฉันจะทำอะไรผิดพลาดบ้าง เล็กน้อย จะมาว่าอะไรกัน จริงๆแล้วเป็นความโง่ของคนๆนั้น เป็นความไม่ฉลาด ไม่เข้าใจ ในสัจธรรม และเอาข้อแก้ตัวนั้น มาทำให้เกิด ความสูญเสียประโยชน์ ที่เราควรจะได้ ให้แก่ตัวเอง คือการลดละอัตตา ก็สะเพร่า ตัวเองก็เลินเล่อ ตัวเอง ก็ไม่มีนิสัยที่ดีขึ้น นอกจาก นิสัยไม่ดีขึ้นแล้ว มันก่อให้เกิดความสูญเสีย ความสูญเสียนั้น ถ้าสูญเสีย มันก็คือ สูญเสีย แทนที่เราจะเป็นผู้มีคุณค่า หรือได้ความดีเป็นมูลค่า หรือตีเป็นคุณค่าก็ตาม ความสูญเสียนั้น จะลดมูลค่า ลดคุณค่าของเรา ซึ่งอันที่จริงมันไม่ควรจะลด แต่ถ้ายิ่งไปลด จนกระทั่ง มูลค่า หรือคุณค่า ที่เราทำให้เกิดความสูญเสียนั้น มันเกินที่เราสร้าง เราทำ มันก็เป็นหนี้ เท่านั้นเอง โดยสัจจะ มันก็เป็นอย่างนั้น อย่างน้อย การที่เรานิสัยเสียโดยจริงก็คือ มูลค่าหรือคุณค่านั้น ลดแล้ว ทำไมเราทำให้มันลดล่ะ ตัวเราเอง เป็นคนทำเอง ลดมูลค่า หรือ ลดคุณค่า ของเราเอง แท้ๆเลย



ถาม สำนึกอย่างนี้จะสร้างได้อย่างไร ?

ตอบ ที่เราปฏิบัติธรรมนี่แหละ แต่เราต้องเข้าใจ และรู้จักการสร้างจิตสำนึก รู้จักว่านี่คือ ความควร ไม่ควร สิ่งที่ดีสิ่งที่ไม่ดีอะไร ให้มันชัดๆเจนๆ และทุกคนก็ต้องพยายามทำสิ่งที่ดี ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ ถ้าเราเข้าใจ กรรม เข้าใจวิบาก เราทำสิ่งดีที่สุดแล้ว ก็ไม่ต้อง หวังอะไรตอบแทน เพราะมันเป็นทรัพย์ของตน อยู่แล้ว



ถาม ในวาระเข้าพรรษา พ่อท่านจะมีอะไรให้เป็นข้อคิดแก่ลูกๆ

ตอบ เข้าพรรษาหรือไม่เข้าพรรษา มันเป็นประเพณีเท่านั้นเอง เราก็ปฏิบัติธรรมตลอด กาลนาน อยู่แล้ว แต่เมื่อผู้ใดที่จะยึด จะเอาฤกษ์งามยามดี เช่น วันเกิดของฉัน ฉันจะทำอะไรดี วันขึ้นปีใหม่ วันเข้าพรรษา ฉันจะทำดีขึ้นอย่างนี้ มันก็เป็นประโยชน์ ผู้ใดที่เข้าใจ และ จะใช้สิ่งนี้ ให้เป็นประโยชน์ ประโยชน์แก่ตน ก็เป็นประโยชน์ที่แท้จริง ก็ทำเข้าไปซิ ไม่เสียหายอะไร จะตั้งตบะอะไรก็เชิญ ดี! บางคนก็ว่าวันเกิด จึงจะตั้งใจ ทำดีทีหนึ่ง โถ... วันเกิด ปีละครั้ง คุณควรเอาวันเกิด ที่เป็นวันจันทร์ หรือวันอังคาร และทุก วันจันทร์ หรือ วันอังคาร เราก็ตั้งใจทำดี มันจะได้มีวันทำดีๆทุกอาทิตย์ จะได้กำไรกว่าไปเอาวันเกิด ปีหนึ่ง เกิดหนเดียว เช่น ๑๐ กันยายน ปีหนึ่งจึงมาทำดีทีหนึ่ง ไม่เข้าท่าเลยแบบนี้ ถ้าเราฉลาด ที่จะใช้ฤกษ์ ใช้เหตุการณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวที่จะกำหนดให้เราเอง ทำอะไรที่พัฒนาตนเอง เป็นประโยชน์ ให้ตนเอง เจริญขึ้นสูงขึ้น มันก็เป็นสิ่งดี เป็นความฉลาดของคนนั้นๆ

มนุษย์มีหน้าที่เกิดมาเพื่อทำแต่ความดี
ไม่ควรใช้สิทธิทำชั่วใดๆเลย
แม้ความชั่วนั้นจะไม่ผิดกฎหมาย
ไม่ควรใช้สิทธิสร้างทุกข์ใดๆทับถมตัวเอง
ให้ตัวเองทุกข์มากขึ้นๆ
เพราะความทุกข์โดยธรรมชาติรอบๆตัว
เราหลีกเลี่ยงไม่พ้นอยู่แล้ว
เรามีทุกข์โดยธรรมชาติอยู่แล้ว
จงรักตัวเองด้วยการลดละกิเลส
ด้วยตบะหรรษา สนุกกับความอดทน
เพื่อเข้าถึงต้นเหตุ เพื่อพ้นทุกข์อย่างจริง

-สารอโศก อันดับที่ ๒๘๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ -