ลดเลว - เพิ่มดี

ปัจจุบันสังคมจะมากไปด้วยผู้จ้องเพ่งร้ายป้ายโทษคนอื่น แทนที่จะจ้องจับผิดและเพ่งโทษ ตนเอง แล้วหันมา แก้ไขปรับปรุงมุ่งพัฒนาตนเอง กลับคอยแต่จะแก้ไขผู้อื่นหรือแก้กฎกติกา ความจริงกฏกติกา ทุกอย่าง วางไว้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ยิ่งแก้ ก็ยิ่งยุ่ง เพราะกิเลสคนไม่เหมือนกัน ทางที่ดีควรจะแก้ไขที่คน ปรับระดับกิเลสให้ยอมรับ กฎกติกา ระเบียบวินัย เข้ากับส่วนรวมเสีย ทุกอย่าง จะเรียบร้อย มิใช่เพราะกิเลส เหตุแห่ง ปัญหา ดอกหรือ? ที่ทำให้เรามองหน้ากันไม่ติด ร่วมงานกันอย่าง สนิทใจไม่ได้ อยู่ร่วมกัน ด้วยความหวาดระแวง ขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น มานะทิฐิ ความอหังการ มมังการ จำต้องแก้ไขละลายให้หมดไป เรียกว่า "ลดเลว - เพิ่มดี" โดยวิธี "ปรับ - เปลี่ยน" ดังนี้

เปลี่ยนความร้าย เป็น ความดี
เปลี่ยนตระหนี่ เป็น เสียสละ
เปลี่ยนโลภะ เป็น รู้จักพอ
เปลี่ยนความหลง เป็น ความรู้ (แจ้ง)
เปลี่ยนความเห็นแก่ตัว เป็น เห็นแก่ส่วนรวม
เปลี่ยนความโกรธ เป็น เมตตา
เปลี่ยนความริษยา เป็น ยินดี
เปลี่ยนรังเกียจ เป็น ให้เกียรติ
เปลี่ยนพยาบาท เป็น ให้อภัย
เปลี่ยนเหลวไหล เป็น จริงจัง
เปลี่ยนอยากดัง เป็น อยากดี
เปลี่ยนลำเอียง เป็น เที่ยงธรรม
เปลี่ยนพูดมากกว่าทำ เป็น ทำมากกว่าพูด
เปลี่ยนแก้แค้น เป็น แก้ไข
เปลี่ยนระเบียบวินัยไม่มี เป็น มีระเบียบวินัย
เปลี่ยนทำลาย เป็น สร้างสรรค์
เปลี่ยนกระด้าง เป็น อ่อนโยน
เปลี่ยนแตกแยก เป็น รู้รัก - สามัคคี
เปลี่ยนฟุ้งเฟ้อ เป็น ประหยัด
เปลี่ยนประมาท เป็น ระวัง
เปลี่ยนหวาดระแวง เป็น ไว้วางใจ
เปลี่ยนมักง่าย เป็น รอบคอบ
เปลี่ยนอ่อนแอ เป็น เข้มแข็ง
เปลี่ยนขัดคอ เป็น ขัดสี
เปลี่ยนขัดใจ เป็น เข้าใจ
เปลี่ยนเปราะบาง เป็น หนักแน่น
เปลี่ยนเกียจคร้าน เป็น หนักเอาเบาสู้
เปลี่ยนศัตรู เป็น มิตร
เปลี่ยนนินทา เป็น สรรเสริญ
เปลี่ยนนิ่งดูดาย เป็น ขวนขวายช่วยกัน
เปลี่ยนมองโลกแง่ร้าย เป็น มองโลกในแง่ดี
(จากคอลัมน์คุยกับพระ น.ส.พ.ประชาวิจารณ์ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๓๓)


 

อาหารหน้าฝน

สภาพอากาศเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการไม่สบาย อากาศหน้าฝนทำให้เกิดโรคหวัด ไข้ เกิดเสมหะ ในลำคอ ไอ หายใจลำบาก ฯลฯ ซึ่งก็คือโรคทางเดินหายใจทั้งหมด

หากเราปรับตัวเองให้สู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปให้ได้ ที่เราพอทำได้ ได้แก่ทำตัวให้อบอุ่น เสื้อผ้าใส่ให้ เพียงพอ อย่าใส่เสื้อเปียกๆ หรือทำตัวให้ชื้นแฉะ จัดอาหารการกินให้เหมาะสม จึงจะแก้ชื้น เพิ่มความร้อน ให้กับร่างกาย และเพิ่มภูมิต้านทานต้านเชื้อไวรัสที่มากับฝนได้

คนไทยโบราณแนะนำว่าให้กินเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย ได้แก่ พริกไทย พริกไทยอ่อน พริกขี้หนูสด พริกชี้ฟ้า กะเพรา โหระพา ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง กระเทียม กระชาย ขิง ข่า ลูกผักชี ดอกกานพลู เป็นต้น เหล่านี้จะไล่ความเย็นชื้นจากร่างกาย เวลาฝนตกติดๆกัน ให้กินอาหารที่มีส่วนประกอบของ สมุนไพรต่างๆ จะป้องกันไม่ให้ป่วยได้ เช่น ต้มยำ แกงเลียง แกงส้ม เป็นต้น แกงไทยๆที่ว่ามา หากซด น้ำร้อนๆ เหงื่อจะออก ทำให้สบายตัว

นอกจากนี้ อาหารที่กิน ควรเป็นกลุ่มที่เพิ่มภูมิต้านทาน ได้แก่กลุ่มที่มีวิตามินซีสูงๆ เช่น มะขามป้อม ยอดมะกอก ผักเม็ก ผักติ้ว ยอดกระโดน ส้มทุกประเภท(ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ส้มเช้ง) และควรกินผักสด หรือน้ำคั้นจากผักสด ผลไม้สด เป็นประจำในระยะนี้ เช่น น้ำส้มคั้น น้ำแครอท อย่างน้อยวันละ ๑-๒ แก้ว

หากเกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัวในวันที่โดนฝน ทำท่าจะเป็นหวัด เกิดอาการแสบคอ แนะนำว่า ให้กิน วิตามินซี (๑,๐๐๐ มก.) ๒ เม็ด และขมิ้นชัน ๕ เม็ด แล้วทำตัวให้อบอุ่นเข้าไว้ พักผ่อน ให้เพียงพอ

ถ้าจะให้สบายเร็ว ให้เอากะละมังใส่น้ำอุ่น แล้วแช่เท้าทั้งสองสักพัก

การแช่เท้าในน้ำอุ่นจัดๆ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงแถวโพรงจมูกเพิ่มมากขึ้น และทำให้จมูกโล่ง หายใจ สะดวกขึ้น ดังนั้นการนั่งเอาเท้าแช่น้ำอุ่นๆ ง่ายๆในเวลาที่ฝนตกปรอยๆ ชื้นแฉะทั้งวัน บางครั้ง ก็ช่วย ป้องกันหวัดได้

-สารอโศก อันดับที่ ๒๘๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ -