แถลง เป็นเรื่องน่าแปลกเอามากๆ ทั้งๆที่ ๖๐ กว่าปีที่แล้วสังคมไทยยังไม่เจริญก้าวหน้า และมีสิทธิ เสรีภาพ อย่างเต็มที่ เหมือนปัจจุบัน แต่คณะสงฆ์ ธรรมยุตในยุคนั้นกลับสามารถประกาศ นานาสังวาส เพื่อขอแยกตัว ออกจากคณะสงฆ์ไทย โดยยกอ้าง ข้อปฏิบัติที่ต่างกัน ในข้อปลีกย่อย บางประการ ซึ่งเหตุผล สำคัญๆ ที่เห็นดีเห็นงามกันในครั้งนั้นมีดังนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งเป็นพระมหาเถระ ในคณะ ธรรมยุติก นิกาย มีเกียรติประวัติ ความคงแก่เรียน ท่านได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับ การที่คณะสงฆ์ จำเป็นต้องมี หลายนิกาย ว่า "ถ้าหากมีบรรพชิตหลายนิกายเป็นเหตุให้ประชาชนแตกความสามัคคีกันจริงแล้ว การมี พลเมือง หลายเหล่า เช่น มีทหารหลายเหล่า มีข้าราชการพลเรือนหลายเหล่า มีราษฎร หลายเหล่า บางพวกเป็นชาวนา บางพวก เป็นชาวสวน บางพวกเป็นกรรมกร บางพวก เป็นพ่อค้า เป็นต้น แยกกันออกไป ตามความรู้ ความสามารถ และความนิยม มิเป็นเหตุ แตกสามัคคีกันหมดหรือ ข้อนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ ผู้ประพฤติทำลายหมู่คณะ ทุจริต ต่อหน้าที่ ของตนต่างหากเป็นผู้แตกสามัคคี" พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ให้ทรรศนะไว้ว่า "ความเป็นไปของศาสนานั้น ในศาสนาหนึ่ง มีหลายนิกายไม่ใช่แปลก เพราะไม่ปรากฏว่า ในศาสนาไหนมีนิกายเดียว ในศาสนาคริสต์ ศาสนามหมัด และศาสนาพราหมณ์ ก็มีหลายนิกาย แต่ข้อสำคัญนั้น ในทาง พระพุทธศาสนา อยู่ที่ความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ตามธรรมวินัย บัพพชิต ในพระพุทธศาสนา จะเป็นนิกายไหนก็ตาม ถ้าได้ประพฤติถูกตาม ธรรมวินัย ก็เป็นบัพพชิต ที่ดีทั้งนั้น แต่ถ้า ประพฤติชั่ว ก็ตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรแก่งแย่ง ตัดรอนกัน เพราะการทำเช่นนั้น เป็นการทำลายตนเอง และทำลายพระพุทธศาสนา ทั้งแสดงให้พวก ถือศาสนาอื่นเห็นว่าบัพพชิตในพระพุทธศาสนาไม่ดีจึงได้แก่งแย่งตัดรอนกันเอง" นายทองสืบ ศุภะมาร์ค (อดีตพระศรีวิสุทธิวงศ์ ป.ธ. ๙ หัวหน้ากองตำรามหามกุฎราชวิทยาลัย) สมาชิก สภาผู้แทนราษฎร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ว่า "ในใจของข้าพเจ้าเอง มีความประสงค์อยากจะให้แยกกัน เหมือนเรือสองลำ หรือรถสองคัน ถ้าเราผูกติดกัน แล้วให้ แล่นไป จะไปเร็วหรือช้ากว่าที่จะปล่อยให้ไปทีละลำหรือทีละคัน และคนเรา ถ้าจะผูกติดกัน เหมือนเรือแล้วปล่อยให้วิ่งไปอย่างเดียวกัน กับปล่อยให้วิ่งไปทีละคน ใครจะเร็วกว่ากัน?" นอกจากนี้ พระมหาเถรานุเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย จำนวน ๒๒ รูป ที่ลงชื่อร่วมกันคัดค้าน การรวม นิกายสงฆ์ (อ่านในหน้า ๖) พร้อมทั้งได้เสนอทรรศนะเกี่ยวกับ การที่คณะสงฆ์ จำเป็นต้องมีหลายนิกาย เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๙๐ ความว่า "การที่ประเทศไทย ต้องมี นิกายสงฆ์ ๒ นิกายนั้น ก็เพราะมีเหตุผล และความจำเป็นในทางศาสนา แม้ในประเทศอื่น ก็มีมากกว่า นิกายหนึ่ง และในศาสนาอื่นก็เช่นเดียวกัน การมีหลายนิกายไม่ใช่เป็นเหตุที่ทำให้ ศาสนาเสื่อม หรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่บ้านเมือง แต่ตรงกันข้าม เพราะเมื่อมี นิกายเดียว ได้ปรากฏผลเสื่อมมาแล้ว โดยเฉพาะในประเทศไทย ปรากฏว่า การมีสองนิกาย กลับเป็นการฟื้นฟูพระศาสนา เพราะได้ช่วยกันตรวจสอบในทางศึกษา ในทางปฏิบัติ ให้เป็นไปในทางเจริญ" ไม่น่าเชื่อว่ากาลเวลาผ่านไปจากปี พ.ศ.๒๔๙๐ มาจนถึง ๒๕๑๘ เพียงแค่ ๒๘ ปี ปรากฏการณ์ นานาสังวาส จะเกิดมาอีกครั้งกับ คณะสงฆ์ชาวอโศก โดยมีพ่อท่านสมณะ โพธิรักษ์ เป็นผู้พานำพา ทำให้เกิด การประพฤติ ปฏิบัติ ที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย จึงทำให้เกิดมีกลุ่มพระภิกษุ สามเณรจากเดิมที่ไม่มีศีล มาประพฤติศีลที่สำคัญอันได้แก่ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งเป็นหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เป็นตัวชี้วัดว่า พุทธศาสนา แตกต่างจากลัทธิศาสนาอื่น อย่างไร ศีลของพระที่ถูกละเลยกันมานาน เพราะไปเข้าใจ แต่เพียงว่า วินัย ๒๒๗ ซึ่งเป็นบทลงโทษ เป็นศีลของพระ เลยทำให้ศีลสำคัญ ได้ถูก ปล่อยปละ ละเลยกันมาอย่างยาวนาน จนแยกกันไม่ออก ว่าอะไร เป็นพุทธ เป็นพราหมณ์ เป็นเดรัจฉานวิชา เป็นเทวนิยม หรืออเทวนิยม เมื่อคณะสงฆ์ชาวอโศก ยืนหยัด ยืนยัน สมาทานใน จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลขึ้นมา จึงเกิดการแตกต่างอย่างตรงกันข้ามกับ ลัทธิของ พราหมณ์ เทวนิยม เดรัจฉานวิชา และคณะสงฆ์กระแสหลัก เมื่อนักบวชสามารถเป็นแบบอย่างของความเคร่งครัดในการรักษาศีล จึงทำให้ฆราวาส ญาติธรรม ที่เคยถือ ศีล ๕ ศีล ๘ กันแบบลูบๆคลำๆ เป็นสีลัพพตปรามาส มาชั่วนาตาปี ได้พากันเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต มาสมาทาน ศีล ๕ ศีล ๘ อย่างเคร่งครัดในชีวิตประจำวัน จนเป็นศีลสังวร จนถึงศีลสัมปทา อันเป็น ความถึงพร้อมด้วยศีล ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ และคนหนุ่มสาว ก็พากันมีศีล จนเกิดเป็นชุมชน คนมีศีล และเครือแหของคนมีศีล กระจายออกไป หลายร้อยเครือแหในสังคม ซึ่งทวนกระแสกับสังคม ที่อยู่กัน อย่างผิดศีล ผิดธรรม ไปทั่วทุกหย่อมหญ้า อย่างน่าอัศจรรย์ ข้อถกเถียงในเรื่องอาหารมังสวิรัติเป็นอาหารของพระเทวทัตก็แทบจะหมดไปในปัจจุบัน เพราะความบีบคั้น ในเรื่องของสุขภาพ - เศรษฐกิจ - และจิตใจ ที่ต้องการสังคมเมตตาชนนั้น ทำให้อาหารมังสวิรัติ สามารถ ชูธงแห่งเมตตาธรรม ไปได้อย่างแพร่หลายกว้างขวาง ซึ่งแตกต่าง อย่างมากกับเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วมา ในอดีต เราจะได้ยินชื่อของนักมังสวิรัติ ก็แต่เฉพาะ พระอาริยะที่ดังๆแต่เพียงรูปเดียวอย่างโดดเดี่ยว เช่น ครูบา ศรีวิชัย หรือ เจ้าคุณนรฯ เท่านั้น แต่การพานำพาทำของพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ สามารถทำให้ อาหาร มังสวิรัติ โรงบุญมังสวิรัติ และเมตตาธรรม สามารถแผ่ขยายกระจายออกไปสู่สังคมวงกว้าง ได้อย่าง ไม่เคยมีมาก่อน ในหลายร้อยปีที่ผ่านมา การปฏิบัติธรรมที่เคยแยกส่วนออกไปจากชีวิตประจำวัน พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ได้สอน ให้ชาวอโศก นำเอา ธรรมะของพระพุทธเจ้า ให้มาบูรณาการในวิถีชีวิต เช่น ใครถนัดทำการค้า ก็ให้ทำมาค้าขายให้เป็นระบบ พาณิชย์บุญนิยม โดยเน้นความซื่อสัตย์ ไม่ฉวยโอกาส เสียสละ และให้เป็นของดีราคาถูก หรือในเรื่อง การศึกษา ก็ให้เป็นระบบ การศึกษาแบบบุญนิยม ให้เรียนฟรี สอนฟรี มีปรัชญาการศึกษาคือ ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา มีสุขภาพบุญนิยมที่เน้นการพึ่งตัวเอง โดยใช้การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ให้ความสำคัญ ทั้งอาหาร อากาศ อารมณ์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพื่อเป็นการป้องกันมากกว่าการรักษา มีการเมืองบุญนิยม ซึ่งจะเป็นการเมืองที่ยังไม่เคยมีมาในโลก เพราะนักการเมือง จะต้องเป็น โลกุตร บุคคล (อยู่เหนือกิเลสในโลก) ให้ได้ก่อน จึงจะออกไปช่วยโลก(โลกานุกัมปายะ) ด้วยความฉลาด รู้เท่าทันโลก (โลกวิทู) และสามอาชีพกู้ชาติ (กสิกรรมไร้สารพิษ - ขยะวิทยา - และปุ๋ยสะอาด) เพื่อสามารถ พึ่งตน จนเป็นที่พึ่ง ของผู้อื่น จนช่วยกอบกู้ประเทศชาติได้ เลิกละมิจฉาอาชีวะ สู่สัมมาอาชีวะ จนถึงขั้นทำงานโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน แม้จะเป็น การเอา ลาภแลกลาภก็ตาม ทุกคนจะทำงานฟรีไม่มีเงินเดือน ซึ่งวิถีชีวิต ของคนเหล่านี้ จะมีกันอยู่ในชุมชนต่างๆ ของชาวอโศก ระบบสาธารณโภคีที่วิเศษยอดเยี่ยมยิ่งกว่าสาธารณสมบัติในสังคมประชาธิปไตย และ ยิ่งกว่า คอมมูน ที่ต้องบังคับกันในระบบสังคมนิยม แต่ระบบสาธารณโภคีจะเป็นระบบ ของกงสีใหญ่ ที่ทุกคนเต็มใจ เอาทรัพย์สินทั้งหลายเข้ามารวมกันเป็นกองกลาง เพราะสมาชิก ทุกคนต่างเข้าใจกันดีว่า "กรรมคือทรัพย์แท้ ที่ติดตัว ติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ" ความลึกซึ้งของมรรคมีองค์ ๘ ทั้งในส่วนที่เป็นสาสวะเป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ และ ในส่วนที่เป็น อนาสวะ ซึ่งเป็นโลกุตระ เป็นของอาริยะ ที่ยังไม่เคยมีใคร นำรายละเอียด มาอธิบาย ให้เกิดการปฏิบัติ จนเกิดมรรคผลขึ้นมา แต่พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ก็ได้นำมา อธิบายขยายความ ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง สามารถนำไปพิสูจน์ได้ นับตั้งแต่สัมมาทิฐิ ๑๐ ทั้งที่เป็นสาสวะและอนาสวะจนทำให้เกิดสัมมาสมาธิ อันมีระบุไว้ใน มหาจัตตารีสกสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะสามารถปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้สมบูรณ์ ได้ ก็เพราะผู้นั้นได้พบกับ "สมณะผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ (อัตถิ โลเก สมณพราหมณา สัมมัคคตา สัมมาปฏิปันนา เย อิมัญจ โลกัง ปรัญจ โลกัง สยัง อภิญญา สัจฉิกัตวา ปเวเทนตีติ) ถึงขั้นเป็นอาริยชน ผู้สามารถ รู้แจ้งโลกมนุษย์ปุถุชน ในการชาตินี้ กับโลกที่เป็นโลกุตระได้ด้วยตนเอง และสามารถ ให้ผู้อื่นรู้ตามได้" พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า ตราบใดที่ยังมีผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ตราบนั้น โลกจะไม่ว่าง จากพระอรหันต์ และในทำนองเดียวกันนี้ ตราบใดที่ยังมีผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ตราบนั้นพุทธแท้ๆ ย่อมเกิดขึ้น อย่างไม่ แตกแยก แต่เป็นความแตกต่างอย่างสมานฉันท์ ตามหลักการของ นานาสังวาส ซึ่งเป็นศานติวิถีพุทธ ด้วยประการฉะนี้. - คณะผู้จัดทำ - - สารอโศก อันดับที่ ๒๘๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ - |