เมื่อคณะสงฆ์ธรรมยุตอ้าง นานาสังวาส
มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ตามพระธรรมวินัย ใน ๖๐ ปีที่แล้ว

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๔ และจะครบกำหนด ๘ ปี ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๙๒ ซึ่งคณะสงฆ์มหานิกาย และ ธรรมยุติกนิกาย จะต้องมายุบรวมเป็น อันหนึ่ง อันเดียวกัน ตามความในมาตรา ๖๐ ของ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔

แต่ก่อนจะถึงวาระสำคัญดังกล่าวนั้น พระมหาเถรานุเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้เซ็นชื่อ ร่วมกัน ยื่นหนังสือ กราบทูลแด่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆ ปริณายก โดยชูธงแห่งสิทธิ เสรีภาพ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อต้านอำนาจรัฐมิให้ดำเนินการรวม นิกายสงฆ์ ให้เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน ตลอดจนได้อ้างหลัก "นานาสังวาส" ตามพระธรรมวินัย ขึ้นมาเป็น ประเด็นสำคัญ ในการต่อสู้

สำหรับเนื้อหาเฉพาะ "นานาสังวาส" ที่พระมหาเถรานุเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ยกใช้มาอ้าง เพื่อคัดค้าน การรวมสงฆ์ ให้เป็นนิกายเดียวกัน เมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว มีดังต่อไปนี้


(สำเนา หนังสือร้องเรียนฯ)

วันที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๐
เรื่อง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
ขอประทานกราบทูล สกลมหาสังฆปริณายก ทรงทราบ

จำเดิมแต่ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาจนบัดนี้ เป็นเวลา ย่างเข้า ๗ ปีแล้ว เกล้ากระหม่อมทั้งหลาย ผู้เป็นพระภิกษุในคณะธรรมยุติกนิกาย ซึ่งมีหน้าที่ เกี่ยวกับการคณะสงฆ์ ได้สังเกต การปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.นี้ ปรากฏว่ามีผลเสียหาย แก่การ พระศาสนา เป็นอย่างมาก กล่าวคือ เสียหลักการปกครอง ตามพระธรรมวินัย เสียเวลา เสียแรง ทั้งเพิ่มความสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ และเมื่อกล่าวด้วยความเห็น ก็ไม่เป็น ที่พึงประสงค์ ของคณะธรรมยุติกนิกาย ที่จะรับปฏิบัติตามพ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีข้อผิดพลาดบกพร่อง หลายประการ มีอาทิ คือ

๑. ขัดแย้งกับพระวินัย ผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาโดยตรง มุ่งอุทิศพระสัมมาสัมพุทธะ ครั้นบวชแล้ว จะทรงภาวะ ภิกษุอยู่ได้ ก็ด้วยเคารพปฏิบัติตามพระวินัย พระวินัยจึงเป็นที่เกิด และ เป็นชีวิตของ ความเป็น ภิกษุ พระสงฆ์ดำรง ยั่งยืน มาได้ถึง ๒๕๐๐ ปีเศษ และการปกครอง สังฆมณฑล ซึ่งเป็นไปด้วยดี ก็เพราะ ผู้บวชยึดพระวินัยเป็นหลักปฏิบัติ โดยเฉพาะ ประเทศไทย เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่มาถึง ชาวไทยก็ได้มี ศรัทธาปสาทะ ต้อนรับ นับถือ และอุปถัมภ์ สังฆมณฑล ให้เป็นไปด้วยดีตามพระวินัย

ในชั้นเดิม การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปแต่ลำพังพุทธจักร ด้วยอาศัยพระวินัยเป็นหลัก ดังกล่าว และอนุวัตร ศาสนประเพณี ที่เป็นไปตามพระพุทธจรรยาหรือวินัยนิยม แต่ต่อมา มีผู้บวช ที่เป็นอลัชชี ปราศจากหิริ โอตตัปปะ ประพฤติ ล่วงพระวินัย ทำให้พระศาสนา เศร้าหมอง เพื่อรักษาไว้ซึ่งพระวินัย ทางฝ่ายอาณาจักร จึงเข้าสนับสนุน จนถึงตั้งกรมธรรมการ และตรากฎหมายพระสงฆ์ขึ้นช่วย การปกครองสังฆมณฑล จึงเป็นมา ด้วยดี เมื่อกล่าว โดยสรุป ก็คือ ยึดพระวินัยและศาสนประเพณีเป็นหลัก และมีกฎหมายบ้านเมือง เป็นเครื่อง สนับสนุน การออกกฎหมาย บ้านเมือง ด้วยไม่คำนึงถึงพระวินัยนั้น ไม่เป็นทางที่จะให้ บรรพชิต เป็นพระที่ดีได้

ผู้ออกกฎหมายให้พระปฏิบัติขัดแย้งกับพระวินัย ย่อมได้ชื่อว่าบั่นทอนพระพุทธศาสนา ไม่งาม ในทาง ประวัติศาสตร์ ทำความยุ่งยาก ให้แก่คณะสงฆ์ เพราะเมื่อออกกฎหมายแล้ว ถ้าไม่ปฏิบัติ ตามกฎหมาย ก็เป็นขัดกฎหมาย ถ้าปฏิบัติ ตามกฎหมาย ก็เป็นการฝ่าฝืน พระวินัย เป็นการทำลายตนเอง ทำลาย พุทธศาสนา เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จำต้องเลือกปฏิบัติ ในทางที่ ไม่ขัดกับพระวินัย เพราะฉะนั้น การออกกฎหมาย บ้านเมือง ท่านจึงให้เป็นไป ในรูป สนับสนุนพระวินัย ไม่ใช่เป็น การตัดรอนพระวินัย

ตามพระวินัย มีบทบัญญัติไว้โดยความว่า เมื่อภิกษุยังเป็นนานาสังวาสก์กันอยู่ ห้ามไม่ให้ ทำสังฆกรรม ร่วมกัน ถ้าขืนทำ ผู้ทำก็มีโทษ คือต้องอาบัติตามพระพุทธบัญญัติ ถ้านับภิกษุ ที่เป็นนานาสังวาสก์ เข้าเป็น องค์สงฆ์ด้วย กรรมที่ทำนั้นก็เสีย ถ้าร่วมกันทำอุปสมบทกรรม ผู้อุปสมบทก็ไม่เป็นอุปสัมบัน และในทาง ตรงกันข้าม เมื่อภิกษุ เป็นสมานสังวาสก์กัน ห้ามไม่ให้ ทำสังฆกรรมแยกในสีมาเดียวกัน ถ้าขืนแยกทำ ผู้ละเมิด ก็มีโทษต้องอาบัติ กรรมนั้น ก็เสีย ใช้ไม่ได้เช่นเดียวกัน (วินัยปิฎกเล่ม ๔ หน้า ๒๑๔ และหน้า ๒๖๕ และเล่ม ๕ หน้า ๒๕๙) พระวินัยมีบัญญัติ อย่างนี้

แต่ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ มีบทบัญญัติและวัตถุประสงค์เพื่อรวมนิกายทั้งสอง ซึ่งเป็น นานาสังวาสก์ กัน ให้เป็น นิกายเดียว เรียกว่า คณะสงฆ์ไทย ไม่ให้มีธรรมยุติกนิกาย และ มหานิกาย ทั้งได้ให้ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ นั้น ในการบางอย่างมาแล้วด้วย วัตถุประสงค์ และการทำเช่นนั้น เป็นการทำให้พระต้องฝ่าฝืนพระวินัย แม้จะยกหลัก มหาปเทศ ทั้ง ๔ (หลักใหญ่ สำหรับพิจารณาเทียบเคียง วินัยปิฎกเล่ม ๕ หน้า ๑๓๑) มาพิจารณา อนุโลมเข้า ในข้อที่ว่าควร ก็อนุโลมเข้าไม่ได้

การที่ประเทศไทยต้องมีนิกายสงฆ์ ๒ นิกายนั้น ก็เพราะมีเหตุผลและความจำเป็น ในทางศาสนา แม้ใน ประเทศอื่น ก็มี มากกว่านิกายหนึ่ง และในศาสนาอื่น ก็เช่นเดียวกัน การที่มีหลายนิกาย ไม่ใช่เป็นเหตุ ที่ทำให้ การพระศาสนาเสื่อม หรือ ก่อความไม่สงบเรียบร้อย แก่บ้านเมือง แต่ตรงกันข้าม เพราะเมื่อมี นิกายเดียว ได้ปรากฏ ผลเสื่อม มาแล้ว โดยเฉพาะ ในประเทศไทยปรากฏว่าการมี ๒ นิกาย กลับเป็นการฟื้นฟู พระศาสนา เพราะได้ช่วยกัน ตรวจสอบ ในทางศึกษา ในทางปฏิบัติ ให้เป็นไปในทางเจริญ ดังที่คณะ ธรรมยุต ได้ค้นคว้า หาความถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย เผยแผ่ให้แพร่หลาย เป็นการฟื้นฟูการศาสนา ทั้งในด้าน ปริยัติ ทั้งในด้านปฏิบัติ ตลอดจนถึงแต่งตำหรับตำรา แบบแผน ฝ่ายมหานิกายก็ได้เข้าร่วมมือ จัดทำ ดังที่เห็นได้ในการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งเจริญแพร่หลายทั่วไป อยู่ในบัดนี้

เพราะฉะนั้น การที่จะบังคับให้รวมกันจึงเป็นทางให้เกิดความผิดพลาดเสื่อมทรามแก่การพระศาสนา และ เป็นการ ฝืนธรรมดา และฝืนประวัติศาสตร์ศาสนา ที่เป็นไปไม่ได้มาแล้ว

...........ฯลฯ........

ในฐานะที่ฝ่าพระบาททรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ขอให้ทรงพระกรุณา โปรดหาทาง ปลดเปลื้อง ความอากูล เสื่อมเสียเนื่องจาก พ.ร.บ. นี้ เพื่อเกล้ากระหม่อม ทั้งหลาย จะได้รับความชอบธรรม ในการประพฤติ พรหมจรรย์ และการปกครองควบคุมกันอยู่ โดยลัทธินิยมตามพระธรรมวินัย สมกับที่มุ่ง มาบวชอุทิศ พระสัมมา สัมพุทธะ เพื่อความ เป็นอยู่ ด้วยความสงบสุข และความวัฒนาถาวร แห่งบวร พุทธศาสนาสืบไป

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
พระศาสนโศภน
พระธรรมปาโมกข์
พระเทพกวี
พระราชกวี
พระปริยัติเวที
พระรัชชมงคลมุนี
พระศรีวิสุทธิวงศ์
พระนิรันตรญาณมุนี
พระอมรเวที
พระโศภนคณาภรณ์ *
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
พระธรรมโกศาจารย์
พระเทพโมลี
พระอมราภิรักขิต
พระราชเมธี
พระญาณรักขิต
พระอริยคุณาธาร
พระอมรมุนี
พระจินดากรมุนี
พระสุมงคลมุนี
พระศรีวิสุทธิญาณ **

สำเนานี้ถูกต้องแล้ว
พระมหาวิชมัย

* ปัจจุบันคือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร
** นายสุชีพ ปุญญานุภาพ
คัดจากบางส่วนของหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ จากหนังสือ การปกครอง คณะสงฆ์ไทย โดย แสวง อุดมศรี

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ -