ย้อนรำลึกถึงอดีตสมัย ๓๐ ปี "แดนอโศก"
โดย....ขรัวตาคง
จากหนังสือชีวิตในผ้าสีหม่น
(เป็นเรื่องราวชีวิตของพระชาวอโศกในยุคแรก ที่เขียนเล่าชีวิตการปฏิบัติธรรมของตัวเอง ให้โยมพ่อ โยมแม่ ทางบ้าน ได้รับซับทราบ จนต่อมาได้มีผู้นำมารวบรวมจัดพิมพ์เป็นเล่ม ใช้ชื่อว่า "ชีวิตในผ้าสีหม่น")


เค้ามืดที่เริ่มมา

แดนอโศก
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๑๘
เจริญพร มายังโยม

โยมคงจะแปลกใจ ที่จดหมายของอาตมาขาดหายไปนาน การเข้าพรรษาปีนี้ ทางสำนักของ อาตมา มีเรื่องยุ่งยาก พอสมควร เลยไม่ได้เขียนจดหมายมา

ปีนี้ทางพระฝ่ายปกครอง ทั้งเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ กำลังประชุมกัน เล่นงาน คณะอาตมา ตอนนี้พระของคณะอาตมาทั้งหมดต้องย้ายไปรวมกันอยู่ที่วัดหนองกระทุ่ม เพราะมิเช่นนั้น ตำแหน่งอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองกระทุ่ม พระผู้ใหญ่ฝ่ายปกครอง เขาก็จะปลด ตำแหน่ง อุปัชฌาย์ออก โดยอ้างว่าไม่สามารถดูแลควบคุมสัทธิวิหาริกได้ และอ้างสุขภาพ เสื่อมโทรม คือหูตึง ไม่สามารถควบคุมสังฆกรรมได้

อาจารย์ของอาตมา ก็เลยต้องไปตกลงกับ รองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม (เป็นองค์ที่จัดการ เกี่ยวกับเรื่องนี้) ก็ไปทำนองขอร้องว่า ตำแหน่งอุปัชฌาย์นั้นขอให้มีการยับยั้งก่อน อย่าเพิ่ง มีการปลดกันเลย เพราะ หลวงอานั้นเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของชาวบ้านที่นี่ ท่านเป็นอุปัชฌาย์มา ก็ร่วม ๓๐ กว่าพรรษาแล้ว ชาวบ้าน เขาก็เคารพนับถือกัน และขณะนี้ตัวหลวงอาเอง ก็กำลัง อาพาธ จึงไม่สมควรที่จะไปกระทบกระเทือน จิตใจ ในช่วงนี้

ซึ่งท่านรองเจ้าคณะจังหวัด ก็ตกลงโดยเงื่อนไข คือ ต้องย้ายพระของคณะอาตมา ไปรวมกัน อยู่ ที่วัด หนองกระทุ่มด้วย อาจารย์ของอาตมาท่านก็เลยต้องตกลง ในฐานะที่เป็น สัทธิวิหาริก (สัทธิวิหาริก หมายถึง ลูกศิษย์ที่อาจารย์บวชให้โดยตรง สำหรับอาตมานั้น อยู่ในฐานะ ที่เรียกว่า อันเตวาสิก คือไม่ได้บวช โดยตรง จากหลวงอา เป็นเพียงมาฝากฝังตัว ให้ดูแล ถ้าเป็น อาจารย์ มหาสว่าง อาตมาก็อยู่ในฐานะ เป็นสัทธิวิหาริก)

เมื่ออาจารย์ของอาตมาต้องเป็นสัทธิวิหาริกของหลวงอา ก็เลยไม่อยากให้อุปัชฌาย์ ต้องกระทบ กระเทือนใจ เพราะตอนนี้ ท่านกำลังไม่สบายและเป็นวัณโรค ซึ่งหาโอกาส ที่จะรอด ได้ยาก

เกี่ยวกับการสอบนักธรรม ตอนนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน บางครั้งก็ต้องสอบที่นี่ เพราะโดย ทั่วไป เขาก็ถือ กันว่า เป็นเกียรติยศของวัด ทำชื่อเสียงให้แก่หมู่บ้าน ปัญหาของพวกอาตมา ขณะนี้ ก็คือ พยายามที่จะ เข้ากับชาวบ้านให้ได้มากที่สุด

การที่เขามีคำสั่งจะปลดอุปัชฌาย์ของพวกอาตมา ก็เพราะเขาต้องการให้ชาวบ้านแถวนี้ ขับแห่ คณะอาตมา ซึ่งก็มีหวัง โดนขับแน่ๆ เหมือนกันถ้าอุปัชฌาย์โดนปลด เพราะชาวบ้าน แถวนี้ เขามีอคติ ต่อคณะอาตมา อยู่แล้ว ที่แดนอโศก ไม่มีพระพุทธรูป ไม่ใช้ดอกไม้ธูป เทียน เขาก็ว่า อาจารย์ของอาตมา กำลังจะตั้งตัว เป็นพระพุทธเจ้าเอง และถ้าอุปัชฌาย์ ของพวกเขา ถูกปลด พวกอาตมาก็หมด ปัญหาเป็นอันว่า อยู่ที่นี่ไม่ได้ แน่ๆ

ตอนนี้พวกอาตมาก็พยายามทำความเข้าใจให้กับชาวบ้านได้มากที่สุด ทางหมู่ที่นี่ก็เลย เห็นกันว่า ควรจะ สอบที่กำแพงแสนกัน แต่อาตมาก็ไม่ค่อยจะแน่ใจเท่าไหร่ว่า จะไปกันได้ ตลอดหรือไม่ เพราะมีบทบาท ขัดแย้งกันในวัดหลายอย่าง ฉบับหน้า อาตมาก็จะเขียน มาเล่าให้โยมฟัง

ขอเจริญพร


 


วิกฤตกาลก่อนจากกัน
ธรรมสถานแดนอโศก
๓ สิงหาคม ๒๕๑๘
เจริญพร มายังโยม

เมื่อวันเสาร์ที่ ๒ โยมย่า พร้อมกับแดง พิเชษฐ์ ธงชัยได้พากันมาเยี่ยมที่แดนอโศก มานอน ค้างอยู่คืนหนึ่ง แล้วก็เดินทางกลับในวันอาทิตย์ อาตมาก็เลยได้เล่าเหตุการณ์นั้น จะเกิดขึ้น ในเร็วนี้ ให้โยมย่าฟัง เพื่อโยมย่า จะได้สบายใจ

ตอนนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นขนาดไหน ซึ่งอาจารย์ของอาตมา ท่านจะ ไม่ยอม ให้พระ ฝ่ายปกครอง มาบีบคั้นอีกต่อไป เพราะไม่เช่นนั้น การที่เราจะยัง กงล้อ ของพุทธจักร ธรรมจักร และสังฆจักร ให้เคลื่อน ก้าวหน้าออกไป ย่อมเป็นการยากยิ่ง นับมาตั้งแต่ คำสั่งห้ามออกจาริก จะไปก็ต้องขออนุญาต ต่อเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด ก่อน ห้ามสอบนักธรรม จะสอบได้ก็ต้องใช้ผ้าจีวรสีเหลือง ต้องรื้อสำนัก ไว้ในเขตวัด หนองกระทุ่ม

 

ศาลาวัดหนองกระทุ่ม

ซึ่งคำสั่งต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อธรรมวินัย มีแต่พยายามขัดขวางต่างๆ นานา เมื่อเป็นเช่นนี้ คณะของอาตมา ก็เลยพิจารณากันเห็นว่า ถ้าเรายังคงยอมไปอยู่เช่นนี้ เรื่อยๆ เขาก็ย่อม เข้ามาบีบบังคับ เราอยู่ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด การเผยแพร่สัจธรรมของเรา ก็ยาก ที่จะเผยแพร่ออกไปได้ เขาก็ต้องขัดขวาง อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมันเป็นการขัดผล ประโยชน์ อันได้แก่ ลาภ สักการะ ที่พระผู้ใหญ่ได้พากันเสพย์ ได้พากันแสวงหาอยู่ ทุกวันนี้

ปัญหาหนึ่งที่พวกอาตมาจะโดนโจมตีก็คือ การทำ "สังฆเภท" ความจริงแล้วจะว่า พวกอาตมา ทำ "สังฆเพศ" ก็เหมือนกัน แต่ "เพศ" ตัวหลังนี้มิได้หมายถึงแตกแยก (เภท หมายถึง การแบ่งแยก)

การทำสังฆเพศ ของพวกอาตมา หมายถึงการทำเพศใหม่ จากเพศของ คน ให้เป็น พระ เป็นเพศของ สงฆ์ สมกับเป็น "สาวกสังโฆ" เป็นสาวกขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างแท้จริง

การทำ "สังฆเภท" อันเป็นอนันตริยกรรมนั้น หมายถึง การทำให้สงฆ์ต้องแตกแยกกัน หรือว่า การปลีกตัว แบ่งแยกออกมาจากหมู่สงฆ์ ก็ถือเป็นสังฆเภทได้เหมือนกัน แต่หมู่สงฆ์ของ พระพุทธเจ้านั้น จะต้องเป็น หมู่ที่มีการประพฤติดี ปฏิบัติชอบ มีการปฏิบัติศีลตามวินัย

ดังนั้นภิกษุรูปใดก็ตาม ที่ได้ละทิ้งธรรม ละทิ้งวินัย มีศีลที่ด่างพร้อยไม่ปฏิบัติตามคำสอน ของ พระบรม ศาสดา ภิกษุรูปนั้นก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้ทำตนแยกออกมาจากหมู่สงฆ์ ขององค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เรื่องปัญหาที่ว่า พวกอาตมาเป็นพระทำ "สังฆเภท" นั้น ถ้าจะมีพระรูปใดกล่าวโจท ขึ้นมา ก็ควรจะให้ พระรูปนั้น ท่านได้สำรวจตัวของท่านดูก่อนว่า ท่านมีศีลบริสุทธิ์ดีแล้วหรือ? ท่านได้ประพฤติ ตามธรรมวินัย อยู่เท่าไหร่? ปฏิปทาการประพฤติของท่าน ได้เปลี่ยนแปลง แยกออกจาก หมู่สงฆ์เดิมแท้ มีอยู่หรือไม่? ถ้ามี ก็แสดงว่าท่านนั้นแหละ เป็นผู้แยกจาก หมู่สงฆ์

เมื่อท่านได้สำรวจตัวของท่านแล้ว จะมาสำรวจพวกอาตมาบ้างก็ยินดี พวกอาตมามีศีล มีวินัย มีการ ประพฤติ อันใด ที่ยังขัดต่อคำสอนของพระบรมศาสดาก็ว่าเลย อาตมาเอง ก็อยากรู้ เหมือนกันว่า พวกอาตมา มีการประพฤติอันใดบ้างที่แบ่งแยก แตกต่างออกไปจาก หมู่สงฆ์ ที่มีองค์สมเด็จ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า เป็นประมุข

เหตุการณ์วันที่ ๖ ก็ใกล้เข้ามาเต็มที จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง? โยมก็คอยฟังข่าวอยู่ทางบ้าน ก็แล้วกัน

ขอเจริญพร


 


วันประกาศอิสรภาพ
แดนอโศก
๖ สิงหาคม ๒๕๑๘
เจริญพร มายังโยม

วันนี้เป็นวันที่คณะอาตมาได้ประกาศอิสรภาพเรียบร้อยแล้ว ต่อหน้าเจ้าคณะอำเภอ พระสังฆาธิการ และ พระที่มาประชุมรวมกันอีกประมาณ ๑๘๐ รูป

หลังจากที่เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ได้อบรมเรียบร้อยแล้ว อาจารย์ของอาตมา ก็ได้ ขออนุญาต ขึ้นแถลงการณ์ ตามเนื้อความที่ได้พิมพ์มาให้โยมอ่านแนบมากับจดหมาย ฉบับนี้

นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พระฝ่ายปกครองทางเถรสมาคม กับพระคณะอาตมา ก็จะไม่ขึ้น ต่อกันต่อไป พระคณะอาตมา ก็จะไม่โกนคิ้ว เพื่อให้ถูกต้องตามธรรมวินัย จีวรก็จะใช้ จีวรสีคล้ำ อย่างที่อาจารย์อาตมา ท่านใช้ รองเท้าไม่ใส่ ย่ามไม่ใช้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องแสดง ให้เห็นถึง ความแตกต่างกันได้ชัด ซึ่งก็นับว่า สมควรแล้ว ที่จะแยกตัวออกมา เพื่อจะได้ยก สัจธรรม ของพระพุทธเจ้า ออกมาให้เห็นปรากฏชัด ได้เต็มที่

เหมือนเพชรอยู่ในกองทราย ก็จำเป็นที่จะต้องเอาแยกออกมาจากกองทราย เพื่อให้เห็น เด่นชัด มิเช่นนั้นแล้ว กองทรายก็ย่อมกลืนทับถมหมด เพชรก็ไม่สามารถจะส่องแสงได้ ธรรมะ ก็เหมือนกัน ถ้าขืนอยู่ด้วยกัน นานๆ เข้า อธรรมก็ย่อมกลืนธรรมะ สาบสูญหายไปหมด เพราะ อธรรมนั้น มีมากมายเหลือเกิน เปรียบเหมือนกับ กองทราย ย่อมกลบทับถมเพชร ให้หายสาบสูญ ไปฉันนั้น

ความพยายามของคณะอาตมา ขั้นต่อไปก็คือ พยายามเผยแพร่สัจธรรมออกไปให้ได้มาก ที่สุด ระหว่างนี้ ก็เน้นหนัก เรื่องของหนังสือ โรงพิมพ์ของโยม ถ้าจะช่วยย้ายมาไว้ที่ "สันติอโศก" จะได้ประโยชน์มากทีเดียว เพราะระบบ การพิมพ์เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่ ใช้ในระบบ "ออฟเซท" คือ พิมพ์ออกมาเพียงใบเดียว ต่อจากนั้นไป ก็เข้าเครื่องถ่ายออกมา (ในทำนอง เดียวกันกับ การโรเนียว) ช่วงนี้เป็นช่วงแรกของการเผยแพร่ธรรมะ ของคณะอาตมา ดังนั้น ทุนในการเผยแพร่ธรรมะ จึงมีน้อย เพราะมีโยมอุดหนุนอยู่ ไม่กี่ราย ดังนั้นตอนนี้ พวกอาตมา ก็เหมือนกับรุ่นบุกเบิก ก็ต้องฝ่าฟันกันทั้งแรงกาย แรงใจ พยายามนำทุนที่มีอยู่ ทำประโยชน์ ให้ได้มากที่สุด ถ้าโยมช่วยสงเคราะห์ด้วย จะสามารถทำให้พวกอาตมา ขยายงานออกไป ได้มากทีเดียว เพื่อที่จะได้ เผยแพร่สัจธรรมเป็นธรรมทานแก่ปวงชนทั่วไป

ขอเจริญพร



หนังสือของคณะสงฆ์ชาวอโศก
ประกาศลาออกจากภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม

แถลงการณ์จากคณะสงฆ์ "ชาวอโศก" ถึงฝ่ายปกครองสงฆ์

ก่อนอื่นก็จะเท้าความถึงจำเดิมแต่อาตมาได้เข้ามาสู่เพศบรรพชิต โดยมีเจตจำนง ที่จะทำงาน เพื่อศาสนา ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งก็ได้ประสบว่ามีอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะ พระทางฝ่าย ปกครองส่วนใหญ่ ไม่เอื้อเฟื้อธรรม แต่กลับจะกดขี่ บีบรัด ตัดแรง มิให้อาตมา เผยแพร่ธรรมะ แก่สาธุชนได้สะดวก เช่น เมื่อมี คนเลื่อมใส จะเข้ามาบวช ก็พยายามกีดกัน ไม่ให้ได้บวช หรือผู้ที่บวชเป็นพระแล้วเล่าเรียนศึกษา จะสอบ นักธรรมตรี-โท-เอก ตามธรรมเนียมบ้าง ก็ออกคำสั่ง ห้ามไม่ให้สอบ ฯลฯ

ครั้นอาตมาได้เข้าสอบถามเอาความว่า อาตมากับหมู่คณะมีความผิดหรือชั่ว -เลวอะไร? ก็ขอให้บอก แต่ก็กลับ ได้คำตอบว่า "ไม่ได้เลว-ไม่ชั่วอะไร" มิหนำซ้ำ ยังกลับ อนุโมทนาสาธุ อีกด้วย แต่แล้วก็ใช้เพทุบาย ไปบีบบังคับ ขู่จะปลดอุปัชฌาย์ ผู้บวชให้อาตมา ถ้าหากยินยอม ให้อาตมา ออกเผยแพร่ธรรมะ นั่นก็คือ มาตรการ ที่จะกีดกัน การเผยแพร่ธรรมะ ของอาตมา กับหมู่คณะ มีผลพลอยให้ประชาชนผู้ไม่รู้ความจริง หลงผิด คิดว่าอาตมากับคณะ เป็นต้นเหตุ ให้อุปัชฌาย์เดือดร้อน จะต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง ทำให้ ประชาชนเสื่อมความศรัทธา อาตมา กับหมู่คณะ

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ชอบอ้างกฎสมาคมหรือระเบียบปลีกย่อยที่ตั้งขึ้นใหม่ๆ มาเป็นเครื่อง กีดกันอาตมากับ หมู่คณะ ทั้งๆที่กฎใหม่ๆบางข้อนั้นขัดกับธรรม-วินัยเอาด้วย และแท้จริงแล้ว ถึงแม้ธรรม หรือวินัยนั้น ก็ย่อมมี ข้อยกเว้นและยกไว้ เมื่อพ้นสมมุติหรือ อยู่ในฐานะอันควร แต่พฤติกรรม ดังกล่าวนี้ หาได้เอื้อเฟื้อ ธรรมะ ตามธรรมตามวินัยอันควรอย่างยิ่งไม่ จึงเป็นไป ได้ยากเหลือเกิน ที่อาตมากับหมู่คณะ จะร่วมอยู่ ภายใต้กฎข้อบังคับต่างๆนั้นได้ เพราะได้อนุโลม โน้มน้อมให้จนถึงที่สุดแล้ว

เสียทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะนั้นผู้มีทรัพย์นั้นก็จะทำ เสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ทุกคนก็จะทำ เพราะถูกต้อง "เสียชีวิตเพื่อรักษาธรรม" เราก็จะต้องทำเพราะไม่มีอะไรจะเหนือไปกว่า"ธรรม" แม้ชีวิต เลือดเนื้อ มันก็เป็น เพียง ความประชุมของธาตุ ที่ควรจะก่อประโยชน์อันสูง และดีงาม เท่านั้น เมื่อมันจะรักษาธรรม ป้องกันธรรม ให้คงอยู่และเจริญไป มันก็คุ้มค่า และ ควรแลกที่สุด

ดังนั้น เมื่ออาตมากับหมู่คณะได้พยายามอนุโลมโน้มน้อมมาหลายปี เพื่อจะได้ร่วมกัน เข็นกงล้อ แห่ง พุทธจักร ธรรมจักร สังฆจักรให้ดำเนินไป แต่ก็เป็นไปได้ยาก และยากยิ่ง ทุกๆวัน ยิ่งนานวันก็ยิ่งยาก หนักขึ้นๆ จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิเสธเงื่อนไขต่างๆตามได้อีกต่อไป เช่น ตามที่ฝ่ายปกครองสงฆ์มีคำสั่งมา ให้รื้อกุฏิที่ "แดนอโศก" นั้น อาตมาไม่อยู่ในฐานะ ที่จะรื้อ เพราะเสนาสนะเหล่านี้ อาตมาไม่ได้ถือว่าเป็น กรรมสิทธิ์ ของตนเอง เป็นกรรมสิทธิ์ ของญาติโยมที่ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่อาศัยพำนักสำหรับพระสงฆ์ ซึ่งเป็น "สุปฏิปันโน" ที่เขาศรัทธาเลื่อมใส และผู้เป็น "สุปฏิปันโน" ก็ย่อมจะไม่ยึดครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ ของตนเองด้วย

เพราะแม้แต่"ตัวตน" (อัตตา) ก็ยังจะต้องละทิ้งในที่สุด

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดต้องการจะให้รื้อ ก็จะต้องไปตกลงกับญาติโยมผู้ที่เขาสร้างกันเอาเอง ซึ่งโดย "นิตินัย" แล้ว ที่ดินนี้ก็ไม่ใช่"ธรณีสงฆ์" สิ่งก่อสร้างต่างๆ ก็ย่อมไม่ใช่สมบัติ ของทาง คณะสงฆ์ด้วย เป็นกรรมสิทธิ์ โดยชอบธรรม ของเจ้าของที่ดิน ซึ่งเขาก็ยินยอมให้พักอาศัย อยู่ได้ ถ้าหากว่าใครจะไปรื้อถอนโดยพลการ ก็จะถือได้ว่า เป็นการบุกรุก -ทำลายทรัพย์สิน ซึ่งเป็นความผิด ทางกฎหมายบ้านเมือง

สำหรับเรื่องการขออนุญาตในการออกเดินทางจาริกนั้น ก็ไม่อาจที่จะปฏิบัติตามได้ เพราะว่า การออกจาริก เพื่อประกาศสัจธรรม เผยแพร่พระพุทธศาสนา บำเพ็ญประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่านนั้น ไม่อาจกำหนด ระยะเวลา แน่นอนได้ เพราะขึ้นอยู่กับประโยชน์ และ เหตุปัจจัยอื่นๆอีกมาก และจะต้องมีอยู่เสมอๆ บ่อยๆ ครั้ง เพราะการจาริกนั้นเป็น "งาน" ของ "นักบวชชาวพุทธ" ที่แท้จริง ที่จะต้องพากเพียรกระทำ เพื่อบรรลุ ถึงเป้าหมาย ที่สมบูรณ์ ในการบวช ซึ่งอาตมาและคณะถือเป็นกิจวัตรที่จะต้องกระทำกัน เป็นประจำ ตลอดชีวิต จึงเป็นไปได้ยากและเนิ่นช้า ถ้าหากว่าจะต้องรอรับการอนุญาตตามลำดับขั้นตอนเสียก่อน "ธรรมเหล่าใด ที่เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ย่อมมิใช่ธรรมวินัยของตถาคต" เป็นแน่แท้

และถ้าจะว่ากันไปแล้วละก็ ผู้ที่อ้างตนเป็น"นักบวชชาวพุทธ" ที่พำนัก"ประจำ" อยู่ในอาวาส ต่างหากเล่า ที่ควร จะต้องได้รับการอนุญาตเสียก่อน เพราะการบวชเข้ามา อยู่ในบวร พุทธศาสนานั้น คือ การเข้า"ทำงาน" จรรโลง ศาสนา โดยการบำเพ็ญประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อม เพื่อจะร่วมรังสรรค์สันติภาพ และ ภราดรภาพ ให้เกิดมีขึ้น แก่ปวง สรรพสัตว์สืบไป ไม่ใช่บวชเพื่อที่จะเข้ามาพักผ่อน นั่งกินนอนกิน เสพย์สุข สำราญอยู่กับ ชีวิต อันแสนสะดวกดาย อันเป็นการบ่อนทำลาย เศรษฐกิจของชาติ และทำให้ค่านิยม ของศาสนา เสื่อมลง ด้วยการแสวงหาผลประโยชน์(ลาภ-ยศ-สักการะ)บนความงมงายของผู้คน โดยอาศัย รูปแบบพิธีกรรมต่างๆมาอำพราง เพื่อเอารัดเอาเปรียบประชาชนอยู่เช่นนั้น

ชีวิตของ"นักบวชชาวพุทธ" ที่แท้จริง ผู้อุทิศตนให้กับงานทางศาสนานั้น จะต้องมีความเป็นอยู่ อย่าง เรียบง่าย ไม่ติดยึดในที่อยู่ พร้อมที่จะเดินทางไปเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ทางธรรม แก่ตนเอง และ ผู้อื่นเสมอ มีอิสรภาพ อันไพบูลย์ ที่จะโบยบินไปเหมือนนกน้อยปีกแข็ง เพื่อประโยชน์ เกื้อกูลแก่ปวงชนตามรอย ยุคลบาท ดังในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญผลสูตร ข้อ ๑๒๔ มีข้อความ ตอนหนึ่งว่า........

".......ฯ ดูกร มหาบพิตร นกมีปีกจะบินไปทางทิสาภาคใดๆก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไปฉันใด ภิกษุก็ ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทาง ทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกร มหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้สันโดษ" และ ข้อความ ดังกล่าวนี้ ก็มีอยู่ในพระสูตรอื่นๆ อีกหลายๆ สูตร ในสีลขันธวรรค ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้

อีกทั้งการออกจาริกรุกขมูล นั้น ยังเป็นการสร้าง"นิสัย" อันเป็นอนุศาสน์ที่สำคัญยิ่ง ซึ่งนักบวช ชาวพุทธ ทุกรูป จะต้องสังวรประพฤติปฏิบัติให้ได้ก่อนอื่น การไม่ส่งเสริมแต่ขัดขวางนั้น เป็นการขัดต่อ พุทธประสงค์ ขัดต่อ พุทธบัญญัติ ไม่เคารพในพระบรมศาสดาจริง ศาสนา จึงกลายเป็นเพียง "สีลัพพตปรามาส"

ฉะนั้น อาตมาและคณะจึงถือความบริสุทธิ์ใจ ในการที่จะมุ่งจรรโลง พระพุทธศาสนา ให้ดำรงอยู่ มิได้มี เจตนา เคลือบแฝงที่จะกระทำการทุจริตใดๆ อันเป็นการบ่อนทำลาย หรือ ทำความเสื่อมเสีย ให้กับบวร พุทธศาสนา จึงอาศัยพุทธานุญาตโดยธรรม ตามพระสูตร จาก พระไตรปิฎก เล่ม ๓๓ อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ข้อ ๑๒๗ "อัปปกาสสูตร" ทรงมี พุทธานุญาต แก่ภิกษุผู้สันโดษด้วยปัจจัยสี่ ตามมีตามได้ และ เป็นผู้มากด้วยความดำริ ออกจากกาม ให้หลีกออกจากหมู่ได้ หรือไม่ผู้พ้นสมมุติก็ย่อมจะยกเว้น หรือยกไว้

ส่วนเรื่องจะให้เปลี่ยนจีวรเป็นสีเหลืองนั้นก็ไม่ได้อีก เพราะผิดพระวินัย มหาวรรค จีวรขันธกะ ข้อ ๑๖๙ มีใจความ โดยย่อว่า มีภิกษุทรงจีวรสีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีดำ สีแสด สีชมพู....ฯ ประชาชน พากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนกับพวกคฤหัสถ์ ผู้บริโภคกาม พระพุทธองค์ จึงทรงบัญญัติ ไม่ให้ใช้ จีวรสีต่างๆ ดังกล่าวนั้น ผู้ใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าเงื่อนไขต่างๆที่ทางฝ่ายปกครองสงฆ์เสนอมาดังกล่าวข้างต้น และเงื่อนไข ปลีกย่อยอื่นๆ ที่มิได้กล่าวในที่นี้ รวมทั้งเงื่อนไขหนักเบาอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้ อาตมากับ หมู่คณะไม่สามารถ ปฏิบัติ ตามได้ ทั้งนี้มิใช่ว่าจะต้องการให้เกิดความแตกแยกในหมู่สงฆ์ ตรงกันข้าม อาตมาได้พยายามอนุโลม ตามข้อเสนอ ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัยเสมอมา แต่เมื่อข้อเสนอนั้น ขัดต่อพระธรรมวินัย ก็เป็นการยาก ที่จะปฏิบัติตามได้ เพราะอาตมา ไม่บังอาจ ที่จะหมิ่น "พระบรมคุณานุภาพ" ขององค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า โดยการ ล่วงละเมิด ธรรมวินัย ที่พระองค์ทรงบัญญัติขึ้นได้ เพราะแม้แต่หมู่สงฆ์ที่เป็น พระอริย สาวก ซึ่งร่วมทำสังคายนาพระธรรม-วินัย หลังพุทธปรินิพพาน ก็ยังมิบังอาจเพิกถอน สิกขาบท แม้เพียง เล็กน้อย ถึงแม้จะมีพุทธานุญาตไว้ก่อนแล้วก็ตาม ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ท่านเหล่านั้น เป็นผู้บรรลุธรรม จึงย่อม แจ้งใจ และซาบซึ้งในพระบรมคุณขององค์สมเด็จพระศาสดา จนเกินกว่า ที่จะอาจเอื้อม ลบหลู่ โดย การเพิกถอน หรือแก้ไข ธรรม-วินัยอันเป็นการ "บัญญัติ ในสิ่งที่พระพุทธองค์มิได้ทรงบัญญัติ"

อาตมาเองก็ขอยืนยันว่า อาตมาเป็น"พระ" เป็น"สาวกสังโฆ" เช่นกัน เพราะได้ปฏิบัติตาม พระธรรมวินัย จนเกิดผล และแจ้งใจในพระธรรมคุณ จึงไม่อาจกระทำการใดๆ ที่ฝ่าฝืน หรือ ขัดต่อธรรม-วินัยได้ ทั้งได้ ตั้งปณิธานแล้วว่า จะขออยู่โดยธรรมและขอตายกับธรรม ชีวิตนี้ จะขอทำงานทางธรรม พลังใจและ พลังปัญญา เท่าที่มีอยู่ จะขออุทิศเป็นพลีแก่งานที่จะรับ ภารกิจ ในการอภิวัฒน์พระพุทธศาสนา เพื่อจะ ธำรงไว้ ซึ่งสัจธรรมอันเป็น"อมต" ซึ่งจะยัง สันติสุข ให้เกิดมีขึ้นแก่โลกสืบไป

ฉะนั้น เมื่อการที่จะหมุนกงล้อแห่งพุทธจักร ธรรมจักร สังฆจักร ไม่อาจจะดำเนินไปได้ โดยสะดวก เพราะ ขัดข้องด้วยกฎและข้อบังคับต่างๆ ตามที่ฝ่ายปกครองสงฆ์ บัญญัติขึ้น อันไม่เอื้อเฟื้อ พระธรรมวินัย จึงทำให้ ไม่อาจที่จะร่วมสังฆกรรมกันต่อไปได้ ทั้งที่โดยจริงแล้ว ไม่มีเจตจำนง ที่จะให้เกิดความร้าวฉานขึ้น ในวงการ พุทธศาสนาเลย แต่เมื่อถูกสถานการณ์ บีบบังคับ ให้ต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม ก็จำเป็นต้องขอประกาศตน เป็นเอกเทศ ไม่อยู่ภายใต้ อาณัติของทางฝ่ายคณะปกครองสงฆ์อีกต่อไป จะปกครองตนเอง โดยอาศัย พระธรรม -วินัย เป็นหลัก ตามพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระศาสดา

อนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่ทางเจ้าคณะตำบล ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์อาตมา รวมทั้ง สัทธิวิหาริก ที่บวช โดย "พระครูสถิตวุฒิคุณ" จึงขอ "คืนนิสัย"(โดยสมมุติ) แก่พระครู สถิตวุฒิคุณ เพื่อที่จะไม่ต้อง เป็นภาระ ซึ่งกันและกันอีกต่อไป ฉะนั้นความผิดใดๆ ก็ตาม ที่จะพึงเกิดขึ้น เนื่องจากอาตมาและหมู่คณะ "พระครู สถิตวุฒิคุณ" จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับความผิดนั้น ด้วยประการทั้งปวง เพราะหมดพันธกรณีกันแล้ว จึงเป็น อันว่า ถ้าหาก ทางฝ่ายปกครองสงฆ์ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดมีความประสงค์จะสอบสวน หรือ ดำเนินการใดๆ ก็ขอให้ ติดต่อมาโดยตรงที่อาตมาและหมู่คณะ ซึ่งจะพำนักอยู่ ณ ธรรมสถาน "แดนอโศก"

จากเรา คณะสงฆ์ "ชาวอโศก"
ธรรมสถาน "แดนอโศก" หมู่ที่ ๑๐ บ้านรางหว้า ตำบลทุ่งลูกนก
อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘


อธิบดีกรมการศาสนารับทราบ
คณะสงฆ์อำเภอกำแพงแสนให้คณะสงฆ์ชาวอโศกออกจากสังกัด

ที่นฐ.๒๓/๑๓๔๓๐                                                        ศาลากลางจังหวัดนครปฐม
๑๐ กันยายน ๒๕๑๘
เรื่อง คณะสงฆ์แดนอโศกได้ประกาศตนเป็นเอกเทศ
เรียน อธิบดีกรมการศาสนา
สิ่งที่ส่งมาด้วย
๑. แถลงการณ์ของคณะสงฆ์ "ชาวอโศก" จำนวน ๑ ฉบับ
๒. สำเนาลิขิตของเจ้าคณะอำเภอกำแพงแสน จำนวน ๑ ฉบับ (อ่านในหน้า ๒๐)
๓. สำเนาหนังสือของผู้ใหญ่บ้าน จำนวน ๑ ฉบับ

ด้วยจังหวัดได้รับหนังสืออำเภอกำแพงแสน ด่วนมาก ที่ นฐ.๕๒/๔๕๑๓ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๑๘ รายงานว่า มีคณะสงฆ์ธรรมสถานแดนอโศก ปัจจุบันมีภิกษุจำนวน ๒๑ รูป มีสามเณร จำนวน ๒ รูป มีชีกรัก จำนวน ๑๓ คน และมีผู้ปฏิบัติธรรมอีกจำนวน ๕ คน ได้ประกาศตน เป็นเอกเทศ ไม่ยอมอยู่ภายใต้อาณัติ ของฝ่ายคณะปกครองสงฆ์ โดยจะปกครองตนเอง โดยจะอาศัยพระธรรมวินัยเป็นหลัก ตั้งแต่วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ เป็นต้นไป

อนึ่ง คณะสงฆ์แดนอโศก มีภิกษุรัก โพธิรกฺขิโต ซึ่งเดิมได้พำนักอยู่ที่วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ต่อมา ได้มาตั้ง ธรรมสถานอยู่ในที่ดินประมาณ ๔ ไร่ ของนายโจน หนูนันท์ ราษฎร หมู่ที่ ๑๐ ต.ทุ่งลูกนก อ. กำแพงแสน ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ อยู่ในความปกครอง ของคณะสงฆ์ ต.ทุ่งลูกนก โดยสังกัด อยู่ในวัดหนองกระทุ่ม ที่พระครู สถิตวุฒิคุณ เป็นเจ้าอาวาสและเป็นเจ้าคณะตำบล คณะสงฆ์แดนอโศก ส่วนหนึ่ง ได้รับ การอุปสมบท จากพระครูสถิตวุฒิคุณ อีกส่วนหนึ่งได้อุปสมบทมาจากที่อื่น ส่วนที่เป็น สัทธิวิหาริก ของพระครูสถิตวุฒิคุณ พร้อมด้วยผู้อุปสมบทมาจากที่อื่น ได้ขอสังกัด อยู่กับ วัดหนองกระทุ่ม ได้รับปากว่ายินดีจะปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเจ้าอาวาส อุปัชฌาย์ และ ระเบียบการปกครอง และอยู่ใน ระเบียบวินัยของสงฆ์ทุกประการ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ เวลา ๑๓.๐๐ น. คณะสงฆ์อำเภอ กำแพงแสน ได้กำหนด ให้มีการประชุม พระนวกะ ประจำปี ๒๕๑๘ ขึ้นที่ ณ วัดหนองกระทุ่ม ซึ่งมีพระนวกะ มาประชุมประมาณ ร้อยกว่ารูป พระเถรานุเถระที่มาร่วมประชุม มีเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เจ้าคณะอำเภอ กำแพงแสน เจ้าคณะตำบลกระตีบ พร้อมด้วย พระเถรานุเถระ อีกหลายรูป การประชุมอบรม ได้ดำเนินไป นานพอสมควร ได้มีภิกษุแดนอโศก ภายใต้การนำของ ภิกษุรัก โพธิรกฺขิโต ได้นำแถลงการณ์ ของคณะสงฆ์ แดนอโศก มาประกาศในที่ประชุมสงฆ์ว่า "นับตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป คณะสงฆ์แดนอโศก จะไม่ขอขึ้นอยู่ ในสังกัดคณะสงฆ์ไทย ได้แก่ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ตลอดจนถึงเถรสมาคม และ สมเด็จพระสังฆราช เพราะ ขัดข้อง ด้วยกฎ และข้อบังคับต่างๆ ที่ฝ่ายปกครองสงฆ์บัญญัติขึ้น โดยไม่เอื้อ อำนวย พระธรรมวินัย จึงไม่อาจจะร่วมสังฆกรรมกันต่อไปได้" คณะสงฆ์อำเภอกำแพงแสน จึงได้ให้ออก เสียจากสังกัด ตั้งแต่วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๘ เป็นต้นไป

จังหวัดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อความเป็นธรรมของภิกษุสงฆ์ทั้งสองฝ่าย จึงเห็นควร ได้พิจารณา จัดส่ง เจ้าหน้าที่ของกรมการศาสนาไปร่วมกับจังหวัด เพื่อออกไปสืบสวน ข้อเท็จจริง ในเรื่องนี้ จึงขอส่งแถลงการณ์ คณะสงฆ์ แดนอโศก สำเนาลิขิตเจ้าคณะอำเภอ กำแพงแสน และสำเนาหนังสือผู้ใหญ่บ้าน มาพร้อม หนังสือนี้ เพื่อประกอบ การพิจารณา ต่อไป

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
................(ลายเซ็น)...............
(นายคล้าย จิตพิทักษ์)
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม

สำนักการศึกษาธิการจังหวัด
นครปฐม โทร.๒๕๔๘๔๕



จดหมายยืนยันจากมหาเถรสมาคม

- สำเนา -
ที่ศธ ๐๔๐๗/๘๕๓๗                                                                          กรมการศาสนา
                                                      ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๕
เรื่อง การซื้อตั๋วรถไฟลดราคาของภิกษุสามเณรจากสำนักสันติอโศก
เรียน ผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ

ตามหนังสือที่อ้างถึงแจ้งว่า ในปัจจุบันการรถไฟฯ ให้สิทธิการลดค่าโดยสารให้แก่พระภิกษุ สามเณร ในพุทธศาสนา ทุกนิกาย รวมทั้งพระภิกษุสามเณรจากสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว และกัมพูชา โดยมีหลักฐาน คือหนังสือสุทธิหรือหนังสือสุทธิบรรณ ในการนี้ มีพระภิกษุสามเณรจากสำนักสันติอโศก มาขอซื้อตั๋ว ก็จำหน่ายให้โดยไม่แน่ใจว่า จะอยู่ในข่าย ได้รับสิทธิลดค่าโดยสาร เช่นเดียวกับ พระภิกษุ สามเณร ในพุทธศาสนาหรือไม่ จึงหารือไปยัง กรมการศาสนา เพื่อจะได้นำไปประกอบการพิจารณาต่อไป ความละเอียด แจ้งอยู่แล้วนั้น

กรมการศาสนาได้นำเรื่องเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณาแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วย ตามเหตุผลที่ กรมการศาสนาเสนอว่า เนื่องจากในปัจจุบันนี้ พระภิกษุสามเณร ในสำนัก สันติอโศก มิได้ขึ้นอยู่ในปกครอง ของคณะสงฆ์ไทย ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และไม่อยู่ในความอุปการะ ของทางราชการ จึงไม่ควรมีสิทธิ ลดค่าโดยสาร เช่นเดียวกับ พระภิกษุสามเณร ที่อยู่ในปกครองของคณะสงฆ์ไทย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
ลงนาม........(ลายเซ็น)...........
(นายธนู แสวงศักดิ์)
อธิบดีกรมการศาสนา

สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม
โทร ๒๘๑๒๖๔๐



คณะสงฆ์อำเภอกำแพงแสนให้คณะสงฆ์แดนอโศกออกจากสังกัด

ที่ ๖๖/๒๕๑๘ วัดใหม่ปิ่นเกลียว นครปฐม
๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘
เรื่อง คณะสงฆ์แดนอโศก
เจริญพร ท่านนายอำเภอกำแพงแสน

คณะสงฆ์แดนอโศก ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน โดยได้ขอสังกัด อยู่กับ วัดหนองกระทุ่ม ตำบลทุ่งลูกนก อันมีท่านพระครูสถิตวุฒิคุณ เป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบล คณะสงฆ์ แดนอโศกนี้ ส่วนหนึ่ง ได้รับการอุปสมบท จากพระครูสถิตวุฒิคุณ อีกส่วนหนึ่งได้อุปสมบท จากถิ่นอื่น ส่วนที่เป็นสัทธิวิหาริก ของพระครู สถิตวุฒิคุณ พร้อมด้วยผู้อุปสมบทมาจากถิ่นอื่น เดิมทีขอสังกัด อยู่กับวัดหนองกระทุ่มนั้น ได้รับปากว่าจะยินดีที่จะปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเจ้าอาวาสอุปัชฌาย์ และ ระเบียบ การปกครองคณะสงฆ์ ทุกประการ จึงได้รับไว้ในปกครอง แต่บัดนี้คณะสงฆ์แดนอโศก ได้ประกาศ แยกตัว ออกจากการปกครองคณะสงฆ์ ทุกระดับชั้นของการปกครอง โดยกล่าวว่า จะปกครองตนเอง ตามธรรมวินัย ไม่ยินดี ที่จะปฏิบัติตามระเบียบการปกครอง คณะสงฆ์ทุกประการ ดังนั้น คณะสงฆ์ อำเภอกำแพงแสน จึงให้ออกไปเสียจากสังกัด โดยมิได้สังกัด วัดใดวัดหนึ่ง ตามประสงค์ ตั้งแต่วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๘ ต่อแต่นี้ไป คณะสงฆ์ แดนอโศกก็เป็นอยู่โดยเอกสิทธิ์ ผิดจากระเบียบการปกครอง คณะสงฆ์ ในปัจจุบัน และ ไม่อยู่ในความรับผิดชอบ คณะสงฆ์ อำเภอกำแพงแสน อีกต่อไป เพื่อให้ทางฝ่าย บ้านเมือง ได้รับทราบ และเพื่อ การสอดส่อง ดูการเป็นอยู่ของคณะสงฆ์แดนอโศกต่อไป พร้อมกันนี้ ได้มอบ สำเนาคำแถลงการณ์ การประกาศตัว แยกออกจากการปกครอง มาด้วย ๑ ชุดแล้ว

ฉะนั้น จึงขอเจริญพรมาเพื่อทราบ และเพื่อดำเนินการต่อไป

ขอเจริญพร
(ลงชื่อ) พระครูปราการลักษาภิบาล
(พระครูปราการลักษาภิบาล)
เจ้าคณะอำเภอกำแพงแสน

ศึกษาธิการอำเภอ
พิจารณาแล้วอย่างละเอียด คิดว่าควรจะสำเนาหนังสือและประกาศแจ้ง
๑. ผบก.สภ.อ.กำแพงแสน
๒. กำนัน ต.ทุ่งลูกนก

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ -