# ซับขวัญชาวใต้กับสถาบันบุญนิยม
ในอดีตประทับใจที่ได้อ่านหนังสือของสันติอโศก ชอบมาก ชอบนั่งสมาธิสวดมนต์ เมื่อปฏิบัติแล้ว ทำให้มี ความสุข (ปฏิบัติมาเมื่อ ๑๘ ปีที่แล้ว) ตอนนั้นอยู่ที่ จ.ระนอง มีพี่ๆ หลายคนเขาเป็นสมาชิกของ สันติอโศก กินอาหารมังสวิรัติ เขาแบ่งอาหารมาให้กินด้วย ประทับใจเขามากที่เขากินได้ ตอนนี้ตัวเองก็ไม่ได้กิน หมู เนื้อ ไก่ มาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ได้ กินมังสวิรัติเต็มตัว

วันที่ ๑๒ ม.ค. ๒๕๔๘ พ่อท่านโพธิรักษ์มาพักอยู่ที่สวนสาธารณะอุทยานพระนารายณ์ ทราบจากสามี แล้วขอตัวไปดูก่อนว่าจริงไหม? ไปประมาณ ๓ โมงเช้า ได้พบเจอหลายๆท่าน เมื่อได้คุยกันแล้วตัวเอง ร้องไห้เลย "ถามว่าร้องทำไม" เกิดปีติคิดไม่ถึงว่าจะได้พบเจอ กองทัพธรรม ที่ยิ่งใหญ่ โบราณท่านกล่าวว่า "น้ำไหลไปหาน้ำฉันใด" เมื่อตัวเองไปอยู่ ในที่ตรงนั้น ก็สามารถทำอะไรทุกอย่างได้เหมือนกัน เมื่อกินข้าว เสร็จแล้วประชุมกันที่ หน้าลานพระรูป พระนารายณ์ ในที่ประชุมนั้น มีส่วนเกินอยู่คนหนึ่ง เข้าประชุมด้วย ทุกคำ ที่พ่อท่านพูด จะใช้คำว่าพวกเราชาวอโศก ตอนแรกก็คิดเหมือนกันว่า ทำไมถึงพูดแต่คำว่า พวกเรา ชาวอโศก (แต่คิดในจิตว่าไม่เป็นไร ท่านไม่รับเราแต่เรารับท่าน) แต่ถึงตอนนี้ เข้าใจแล้ว แล้วก็ชอบชุมชน ชาวอโศกมากด้วย

ในความรู้สึกของตัวเองชุมชนชาวอโศกเป็นชุมชนที่ดี ทุกคนที่ได้เข้ามาอยู่จึงเป็นคนที่โชคดี ได้มีโอกาส ฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจ พ่อท่านสอนทุกอย่างเหมือนพ่อสอนลูก สอนให้คิด สอนให้ทำ สอนให้ ปฏิบัติธรรม "พ่อท่านเป็นทั้งครูทั้งพ่อ" อยู่ที่อุทยานพระนารายณ์หลายวัน ตัวเราก็ได้โอกาสตรงนั้นด้วย อาจจะเคยได้สั่งสมบารมีกับท่านมา จึงได้มาพบเจอท่านอีก โดยตี ๔ ของทุกวัน ที่นั่นจะทำวัตรเช้า ตัวเอง ไปทำวัตรด้วย ไปตี ๓ ครึ่ง ไปถึงอุทยาน พระนารายณ์

ความประทับใจความทรงจำอันนี้จะไม่มีวันลืม ไปนั่งแถวที่สามอากาศเย็นสบาย ทำวัตรเช้า ร่วมกัน ทั้งการ แสดงธรรม นั่งเจโตสมถะ ๑๐ นาที ได้ไปนั่งทุกวัน นี่คือความโชคดีของตัวเอง ยังไม่ทราบ เหมือนกันว่า โอกาสดีๆ จะมาเยี่ยมแบบนี้อีกเมื่อไหร่
* มนชยา ไชยศรี จ.พังงา

- ฟังธรรมแล้วเอาไปทำ อย่าฟังธรรมแล้วเอาไปทิ้ง
ธรรมใดๆ ก็ไร้ค่า ถ้าไม่ทำ.... - บ.ก.



# ไม่ใช่เพียงแค่รู้ หรือแค่คิด
ดิฉันมีสติในการดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ซึ่งมีแต่ความทุกข์และสุข แต่ในการปฏิบัติธรรม ดิฉันยังอ่อนหัด ในทางความคิดดิฉันว่าดิฉันคิดดีแต่ก็ยังแพ้กิเลส ทั้งๆที่ไม่อยากทำ แต่ต่อไปนี้ ดิฉันจะพยายามปฏิบัติ ตามคำสอนชาวอโศก ถึงแม้จะเริ่มนับหนึ่งไปเรื่อยๆ ดิฉันก็จะต่อสู้ กับกิเลสของตัวเองต่อไปค่ะ

ข้อปฏิบัติในการอ่าน
๑. ดิฉันเป็นคนที่มักจะท้อแท้ และไม่สู้กับปัญหา แต่เดี๋ยวนี้ดิฉันเข้มแข็งขึ้น หัดใช้ความคิด และ มีสติ ในการกระทำ
๒. ดิฉันเป็นคนขี้เกียจไม่ค่อยขยัน ได้อ่านและได้ดูภาพของหมู่กลุ่มชาวอโศก ทำให้ดิฉัน มีความกระตือ รือร้น
๓. ดิฉันได้อ่านและได้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง ในการดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้
* ทัศนีย์วรรณ ผิวผ่อง จ.เชียงราย

- การได้อ่านทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้ระดับหนึ่ง เราจะประทับใจ จะรู้สึกชื่นชมกับเรื่อง ดีงามต่างๆ ที่ได้รับรู้นั้น แต่สิ่งดีงามต่างๆนี้จะไม่คงอยู่นานในจิตใจของเราเลย หากเรา ไม่สร้าง ให้มีขึ้นกับตัวเราเอง วิธีการสร้างความดีเบื้องต้นก็คือ การลด ละ เลิกทำ ความไม่ดี หรือ อบายมุขนั่นเอง อีกทั้งฝึกฝนตน ให้เป็นผู้มีศีลห้า อันเป็นคุณลักษณะพื้นฐาน สำคัญ ของความเป็นชาวพุทธ หากได้ฝึกหัดทำดู จะได้รู้ และเข้าใจตนเองมากขึ้น... - บ.ก.



# ทำไมต้องเป็นอีแร้งด้วย ?
ได้รับหนังสือสารอโศก ฉ. ๒๘๓ แล้วครับ รูปปั้นนกอีแร้งยืนอยู่เหนือหัวสมณะ สื่อความหมาย อะไรครับ ทำไมต้องเป็นอีแร้งด้วย ที่ราชธานีอโศกก็มีอีแร้ง ไม่เข้าใจจริงๆ
* จันทร์ศิริ คำแสน จ.อุบลราชธานี

- "นกอีแร้ง"เป็นสัตว์ที่ไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร อีกทั้งยังช่วยกำจัดซากสัตว์ตาย ด้วยการกิน เป็นอาหาร มีผู้เล่าว่า หัวหน้าฝูงหรือพญาแร้ง จะได้รับการปฏิบัติจากนกอีแร้งในฝูง ด้วยการ ให้พญาแร้ง จิกกิน อาหารก่อน แล้วจึงจะลงกินกันในหมู่นกอีแร้งด้วยกัน

พ่อท่านยกอุปมาตัวท่านเองเป็นดั่งนกอีแร้งของสังคม ที่ผู้คนทั่วไปมักจะรังเกียจว่า มันเป็นสัตว์ ที่มีกลิ่นเหม็น อาจจะด้วยเพราะมันกินซากศพเป็นอาหาร ทั้งที่ในอีกมุมมองหนึ่ง ที่กล่าวมาแต่ต้นว่า มันไม่ได้ เบียดเบียน ทำร้ายใคร อีกทั้งยังช่วยกำจัดซากสัตว์ตายอีกด้วย หมู่ชาวอโศกทั้งมวล เมื่อได้ฟังพ่อท่าน ยกอุปมา ดังนี้ ก็ระลึกย้อนเทียบเคียงตนเองว่า แม้จะได้รับการยอมรับจากสังคมบ้าง ในคุณค่าประโยชน์ ที่เขาปฏิเสธไม่ได้ ในความเป็น ชาวอโศกของเรา ที่มีจริงเป็นจริง แต่สังคมก็ยอมรับเราชาวอโศกยาก โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ด้วยแล้ว อุปมาดั่งคล้ายพญาแร้งเลยทีเดียว นี้แหละคือ คำตอบ ของคำถามนี้.... - บ.ก.



# ขอน้อมรับ...ด้วยความขอบพระคุณ

ข้าพเจ้าอยากจะมีความคิดเห็นต่อการเขียนหนังสือสารอโศกดังนี้
๑. ขอให้ลงเรื่องราวชีวิต การมาพบอโศกของสมณะที่ยังไม่เคยเขียนลง เพราะอยากรู้ทัศนะ ความคิดของ สมณะที่บวชใหม่ๆ

๒. การลงรูปถ่ายของสมณะ ฆราวาสต่างๆ ขอให้ลงคนอื่นที่ยังไม่ได้ลงบ้าง เพราะคนอื่น ก็น่าสนใจ ไม่ใช่ ลงแต่คนเก่าคนดัง ซ้ำๆซากๆ

๓. หัวข้อเรื่อง"บันทึกจากปัจฉาสมณะ" ข้าพเจ้าเห็นว่าผู้เขียนได้เขียนแบบเล่นสำนวนมากเกินไป แทนที่ จะเป็นข้อความเล่าเรื่อง ธรรมดาๆ กลับไปเขียนเป็นสำนวน ซึ่งต้องมาแปลสำนวนเป็นคำพูดธรรมดาอีกครั้ง ทำให้อ่าน เข้าใจยาก ขอให้ปรับปรุงแก้ไขด้วย

๔. ส่วนเนื้อเรื่องทั่วไปทั้งคอลัมน์ประจำ และคอลัมน์ที่มีเป็นประจำงานพิธีต่างๆ ก็เขียนได้ดี และ ขอชมเชย ในความขยันจัดทำ
* วิทยา ชาลี จ.นครราชสีมา

- ช่วยติกัน บอกกัน เตือนกัน อย่างนี้ ทำให้คณะผู้จัดทำมีกำลังใจมากยิ่งขึ้น เพราะแสดงว่า ผู้อ่าน เป็นผู้เห็น ความสำคัญของคุณภาพ ต้องการให้"ดี"จึงบอกกันให้ปรับปรุง เพื่อประโยชน์ ทั้งผู้จัดทำ และ ผู้อ่าน ไปพร้อมๆกัน

อย่างไรก็ตาม บางคอลัมน์เป็นบทสัมภาษณ์ หรือเป็นการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนนั้นๆ ซึ่งบางเดือน ก็มีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นมากมาย การสื่อสารต้องกระชับมาก บางท่าน ที่ไม่คุ้น ก็อาจจะรู้สึกเข้าใจยาก เป็นธรรมดา หากลองอ่านคอลัมน์นั้นๆเป็นประจำดู อาจจะเข้าใจง่ายขึ้นก็ได้นะ เพราะท่านผู้เขียนเอง ก็มีความตั้งใจ ที่จะสื่อความ ให้ตรง และกระชับอยู่แล้ว เพียงแต่บางทีเรื่องอาจจะมีเข้ามามากมาย ต้องประมาณ อย่างมาก ทีเดียว... - บ.ก.



# พุทธเป็นอเทวนิยมอย่างนี้

กระผมได้รับหนังสือทั้งสามเล่มที่ทางสมาคมส่งมาให้แล้วนะครับ และขอขอบพระคุณ ทางสมาคม เป็นอย่างสูงด้วย ก่อนที่จะเขียนจดหมายมานี่ กระผมได้อ่านหนังสือ ทั้งสามเล่ม หมดแล้ว ได้รับรู้เรื่องราว ของสำนักปฏิบัติธรรมสันติอโศก และตัวของท่านสมณะ โพธิรักษ์ ด้วย เมื่อก่อนนั้นรู้เรื่องนี้น้อยมาก ที่ศรัทธานับถือก็แบบที่เห็นการปฏิบัติซึ่งเป็นปัจจุบัน เท่านั้น เมื่อได้รู้ถึงสาเหตุที่มาตั้งแต่ต้น ก่อนจะเป็น สำนักสันติอโศก กระผมรู้สึกมีความอิ่มเอมใจ เป็นอย่างมาก ที่รู้ว่าสิ่งที่กระผมเคยคิดและเข้าใจ เอาตาม ที่ตัวเองเห็นมานั้นถูกต้อง และ เป็นความจริง หมายถึงกรณีของมหา-เถรสมาคมกับท่านสมณะโพธิรักษ์ นะครับ แต่ที่ทำ ให้กระผม ได้รับความรู้และเข้าใจ ถึงประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมได้มากก็คือ "หนังสือพุทธ เป็นอเทวนิยม อย่างนี้" ก่อนนั้นกระผมเคยมีความคิดข้องใจและไขว้เขวมาก ในเรื่อง การปฏิบัติของศาสนา ที่ตัวเองนับถืออยู่ สาเหตุที่กระผมได้สมัครเป็นสมาชิกสมาคม ก็เพราะ อยากรู้จริง ในเรื่องของการปฏิบัติธรรม เพื่อให้ตัวเองได้พ้นจากความทุกข์ ทรมานใจ ที่ได้รับอยู่ ในปัจจุบันนี้ ซึ่งถูกจองจำมาเป็นสิบๆปีแล้ว ทั้งสมัคร เรียนธรรมศึกษาไปด้วย จนตอนนี้ กระผมก็สอบได้ธรรมศึกษาชั้นเอกแล้วด้วย แต่กระผมยอมรับ ครับว่า ก่อนหน้านี้ ยังคลุมเครือกับคำตอบปัญหาธรรมอยู่ว่า ยังไม่มีคำตอบที่เป็นที่สุด หรือว่า พิสูจน์ได้ทาง วิทยาศาสตร์ (เป็นเพราะตัวของกระผมเรียนรู้จำกัดเอง)

แต่เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ของสมณะโพธิรักษ์ อ่านถึงบทที่ ๘ ศาสดาของ"อเทวนิยม" เป็นคนสามัญ จึงได้คำตอบที่เป็นที่สุด คือพุทธสามารถสัมผัสได้จริง พิสูจน์แบบ วิทยาศาสตร์ได้ บทที่ ๙ คุณวิเศษของ "อเทวนิยม" คืออนุสาสนีปาฏิหาริย์ ไม่จำเป็นต้องมี การแสดงปาฏิหาริย์ สำหรับผู้ที่ ปฏิบัติธรรมแบบ "อเทวนิยม" ตรงนี้เพิ่งจะเข้าใจนี้เอง บทที่ ๑๐ ที่พึ่งของ"อเทวนิยม"คือกรรมนั่นเอง อ่านแล้วเข้าใจแล้ว ความทุกข์ใจ ก็คลายลงได้บ้าง เพราะรู้ว่าตัวเอง มีกรรมที่กระทำเอาไว้นั้นเอง สรุปแล้วกระผมได้ประโยชน์ จากหนังสือเล่มนี้ ทั้งหมดเลย ก็ขอขอบพระคุณทางสมาคมอีกครั้งหนึ่งครับ
* ศักดิ์ชาย ปะน้อย

- "พุทธเป็นอเทวนิยมอย่างนี้" เป็นหนังสือที่ให้ความกระจ่าง เป็นคำตอบสำหรับความเชื่อ ความศรัทธา ในการดำเนินชีวิตของชาวพุทธในปัจจุบันเป็นอย่างดี ผู้ที่ยังไม่ได้อ่าน ควรหามาอ่านนะ มาขอรับฟรีได้ที่ สันติอโศก....... - บ.ก.



# ผู้มีศีลห้า คือครูที่โลกต้องการ
ดิฉันได้อ่านสารอโศกอันดับที่ ๒๘๒ แล้ว ชอบงานอบรมสัมมนากสิกรรมไร้สารพิษเพื่อฟ้าดิน ครั้งที่ ๑๒ ได้รับความรู้และข้อคิดที่ดีๆมากมาย และเรื่องค่ายยุวพุทธทายาท มีกิจกรรม ที่ฝึกเด็กๆให้มีระเบียบวินัย มีคุณธรรมหลายๆด้าน

ความคิดเห็นเรื่องกสิกรรมไร้สารพิษ สำหรับตัวดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก และรู้ว่ามันเป็น สิ่งที่ยากมาก เหมือนกันที่จะเริ่มปลูกฝังให้นักเรียนปลูกผักไร้สารพิษ ยังคิดไม่ออกว่า จะเริ่มต้น ตรงไหน อย่างไร ตอนนี้ มีความรู้สึกว่า เวลากลางวัน ๑๒ ชั่วโมงมันเร็วมาก ทำงานอะไรไม่ทันไม่เสร็จ ตกค้างไปถึงกลางคืนอีก ทั้งๆ ที่พยายามไม่ให้งานคั่งค้าง ไปเบียดเบียน เวลาพักผ่อนอีก ถึงเวลาประมาณ ๒๒.๐๐-๒๔.๐๐ น. ทุกๆคืน ดูคนอื่น ไม่เห็นเขายุ่ง วุ่นวายเหมือนเราเลยหนอ พยายามคิดและพิจารณาดูคนอื่น (เพื่อนร่วมงาน) พร้อมทั้ง มองตัวเอง ก็เข้าข้างตัวเองว่ายิ่งทำยิ่งได้ ได้ประสบการณ์ ได้ชนะใจตัวเอง ได้รับ สิ่งที่ดีๆ เข้ามาในจิตใจ ได้พัฒนา จิตวิญญาณของตัวเอง ให้สูงขึ้น

ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนมีหนังสือวิธีทำเกษตรอินทรีย์อย่างง่ายๆถึง ๔ เล่ม ซึ่งดิฉันกำลัง ต้องการมาก ความจริงแล้ว ดิฉันก็พอรู้จักและคุ้นเคยกับ ผู้ที่สามารถ ทำปุ๋ยอินทรีย์ และ น้ำหมักชีวภาพ อีกทั้งเขาทั้งหลาย ก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน ติดที่เรื่องระยะทาง เวลา การประสานงาน ติดต่อ การรับ-ส่ง เลยสรุปว่า นำเวลา ทั้งหมด มาศึกษา ค้นคว้าทดลอง ปฏิบัติด้วยตนเอง จะดีกว่า และต้องขอขอบคุณทุกๆท่าน ที่มีส่วนร่วม ในการจัดทำ วารสาร ดอกหญ้า และสารอโศก เพราะเป็นวารสารที่ให้สาระพร้อมกับ ความบันเทิง แฝงอยู่ด้วย ทำให้ดิฉันได้ข้อคิดอะไรๆหลายอย่าง ที่ต้องนำมาประพฤติ ปฏิบัติ เพื่อขัดเกลา กิเลส ของตัวเอง พร้อมกับปลุกจิตวิญญาณของเด็กนักเรียนในโรงเรียน สำหรับเพื่อนครูด้วยกัน เห็นที จะยากมาก หมดแรงเปล่า แต่พยายามจะลอง ตอนนี้ โรงเรียนของดิฉัน เข้าโครงการ โรงเรียนวิถีพุทธ แล้วค่ะ สนุกมาก เด็กๆเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเห็นได้ชัด จากพฤติกรรม ที่ค่อนข้าง ไม่รับผิดชอบ มาเป็น พฤติกรรม ที่ดี ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ (พฤติกรรมของครู เหมือนเดิม) ตอนนี้ดิฉันบังคับกึ่งจูงใจ ให้คณะครู เข้าร่วม สอบธรรมศึกษาได้แล้ว ๙ คน (รวมทั้งดิฉัน) ยังขาดอีก ๔ คน ถ้ามีโอกาสจะพยายาม

อีกเรื่องที่ดิฉันสนใจก็คือเรื่องค่ายยุวพุทธทายาท ดิฉันต้องการทราบรายละเอียด เรื่อง การเข้าค่าย เพราะ ต้องการให้นักเรียนเข้าค่ายแบบนี้บ่อยๆ ทำให้เขามีจิตสำนึก ที่ดีเกิดขึ้น ดิฉันได้ขออนุญาตผู้บริหาร นำนักเรียน ชั้น ป.๔-ม.๓ จำนวน ๑๕๗ คน ไปเข้าค่าย ครอบครัวอบอุ่น ด้วยพระธรรมของสำนักงาน พุทธศาสนาแห่งชาติ (ใช้งบของสำนักพุทธฯ คนละ ๘๐ บาทต่อวัน เข้าค่าย ๓ วัน ๒ คืน) ท่านผู้บริหาร หลุดปากออกมาว่า อยากให้ นักเรียน เข้าค่ายอีกครั้ง (หลังจากท่านกล่าวปิดการอบรม) ที่ดิฉันเขียนคำว่า หลุด เพราะผู้บริหาร ส่วนใหญ่ จะจัดสรรงบประมาณภายในโรงเรียนไปเน้นหนักด้านวิชาการ ปีละ ไม่ต่ำกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท เช่น งานนิทรรศการ แข่งขันความเป็นเลิศทางวิชาการ ตกแต่ง ห้องเรียน อย่างสวยหรู ห้องหนึ่ง/ปี ประมาณ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ บาท อนุบาล-ม.๓ มี ๑๑ ห้อง คูณ ๓,๐๐๐ บาท แต่ถ้าจะนำ งบประมาณ มาเพื่อสร้างจิตสำนึกให้เกิดกับนักเรียน เช่น กิจกรรม วันแห่เทียน จำนำพรรษา สื่อการเรียน การสอน ทางพุทธศาสนา ใช้งบ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ก็ยากมาก เพราะทางโรงเรียนไม่ได้วุฒิบัตร จากการ ลงทุน ไปทางนี้ เป็นเรื่องที่ แปลกแต่จริง ที่ทุกๆคนในวงการราชการภูมิอกภูมิใจกับวุฒิบัตร เกียรติบัตร ที่แสดงถึง การผ่านการศึกษา การอบรม การถูกยกย่องชมเชยจากผู้บริหารเบื้องบน ทั้งที่จริงๆ แล้ว เบื้องหลัง คือความสูญเปล่า การทำลายงบประมาณของราชการ จบการอบรม จบการแสดงงาน ทุกสิ่งทุกอย่าง ถูกทิ้งไว้ ณ ที่นั้น เหลือแต่เกียรติบัตรใบเดียว ที่บรรจง ใส่กรอบทอง ตั้งไว้ให้แขกผู้มาเยือน ได้เอ่ยปากชม (บางครั้งก็ต้องเกริ่นนำให้เขาชม)
* ครูรัชนี จ.อุทัยธานี

- โรงเรียนวิถีพุทธจะสามารถดำเนินไปได้อย่างมีคุณค่าประโยชน์ ต้องมีคุณครูที่ปรับเปลี่ยน พฤติกรรม ตนเอง ให้สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักเรียนให้ได้ก่อน คุณครูตัวอย่างที่ดี มีมากหรือน้อย หรือคุณภาพ ดีระดับใด ผลพัฒนาการของโรงเรียน ก็จะเกิดตามเหตุ ตามปัจจัย ที่มีตามจริงนั้นๆ ผู้มีศีลห้า ผู้ละเลิก อบายมุขได้ นี่แหละคือ คุณครูที่โลกต้องการ เพราะจะเป็นตัวอย่างจริง ที่คนเห็นได้ สามารถยืนยัน พิสูจน์ ได้ว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้า มีฤทธิ์ ทำตามแล้วชีวิตพ้นทุกข์ได้เป็นลำดับๆ..... ชาวอโศก ก็มีพัฒนาการ กันมาอย่างนี้ .....เหมือนกัน ... - บ.ก.



# โลกย์ กับ ธรรมะ ยืนยันตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ช่วงนี้ได้มีเวลาหยุดอยู่บ้าน ๒-๓ วัน พอดีใกล้เลือกตั้ง อ.บ.ต. มีญาติ ๒ คนลงสมัครแข่งกัน ก็เลยไม่รู้ว่า จะเลือกใครดี ทั้งนายก อ.บ.ต.ก็ต้องเลือก แต่ก่อนไม่ค่อยมีญาติ ขนาดญาติ ใกล้ๆ นามสกุลเดียวกัน แต่ก่อนก็ยังไม่รู้จักกัน พอลงอ.บ.ต.ก็มีญาติทันที คนนั้นก็ญาติ คนนี้ก็ญาติ จนเลือกไม่ถูกจะนับญาติ ฝ่ายไหน ก็มีการหาเสียงพอสมควร เตรียมเงินไว้ ล่วงหน้า คนละ ๔-๕ หมื่น สำหรับการหาเสียง แต่ไม่รู้ จะพอหรือเปล่า ช่วงนี้มีการวิ่งเต้น ทุกรูปแบบ เห็นแล้วก็เหนื่อยแทน เงินเดือน อ.บ.ต.จะพอสำหรับใช้หนี้ หรือเปล่าก็ไม่รู้ ขนาดหาเสียงก็มีการว่ากัน ใส่ความกัน ทำไปทำมา คนที่เคยสนิทกัน กลับจะมาเป็น ศัตรูกัน เพราะเรื่องลง อ.บ.ต. เขาพากันตัดกิเลสไม่ได้จริงๆ ลงแข่งกัน ญาติกันก็กลายเป็นศัตรูกันไป โดยปริยาย

ไม่ค่อยได้อยู่บ้านนานๆจะกลับสักที พอกลับมาถึงทางบ้านก็บอกทันที ต้องเลือกคนนี้ อ.บ.ต. นายก อ.บ.ต. ก็ต้องเลือกคนนี้นะ โดยที่ไม่ถามเราเลยว่า จะเลือกหรือชอบใจหรือเปล่า เราก็ได้แต่หัวเราะ และยิ้ม ไม่รู้ จะว่ายังไง ก็เฉยเสีย ถึงวันเลือกตั้ง ก็ค่อยตัดสินใจ ว่าจะเลือก ใครดี แต่ที่แน่ๆก็คือมีการจ่ายกันแน่ๆ ขนาดท้องถิ่นนะนี่ จ่ายเหมือน ส.ส.เลย แล้วจะหา คนที่ไม่ซื้อเสียง จะมีมั้ย รู้สึกว่า จะกลายเป็นแบบนี้ กันไปหมดแล้วค่ะ

วันอาสาฬหบูชามีโอกาสไปทำบุญที่บ้าน ใส่บาตร เพราะไม่ได้ทำบุญที่บ้านนานแล้ว อยากไป ดูบรรยากาศ ด้วยว่าวัดแถวบ้านตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ชาวบ้านไปเยอะ มีเทียนพรรษา สังฆทาน ไปถวาย อาหารการกิน ก็เยอะค่ะ ใส่บาตรเสร็จพอพระเทศน์เรื่องวันอาสาฬหบูชา ก็ดีพอควร เด็กคุยกันบ้าง ส่วนผู้ใหญ่ก็ฟังดีอยู่ แต่บรรยากาศไม่เหมือนชาวอโศกเลย ไม่เงียบ ไม่สงบ ต่างกันลิบลับ พอถวายของเสร็จก็ออกมา มีการคุย จ้อกแจ้กจอแจตลอด กลับมาถึงบ้าน พ่อกับแม่ ก็ตามมาเล่าให้ฟัง มีการแย่งอาหารกัน บางคนก็เอาเต็ม ตะกร้า ใส่ถุงอีกต่างหาก กินอยู่วัดยังไม่พอ เอากลับมากินที่บ้านอีก อีกหลายอย่างมากมาย ที่เอามา เล่าให้ฟัง เราเอง ก็นั่งฟังไป ยิ้มไป บอกแม่ว่า ชาวอโศกไม่เห็นเป็น อย่างแม่เล่าเลย ถ้าจะบอกว่า อโศกไม่ดี ลองไปดู แล้วมาเปรียบเทียบกันไหมว่า ใครสมควรเป็นพระกว่ากัน ทุกคนอึ้ง และบอกว่า ชาวอโศก ดีกว่าอยู่แล้ว แต่กิเลสยังหนา เลยมาไม่ได้ เฮ้อ! เวรกรรม

เข้าพรรษาปีนี้ตั้งตบะไว้จะอ่านหนังสือคนคืออะไรที่พ่อท่านเขียนให้จบ และจะทำตัวเอง ให้ขยัน กว่าเดิม เพราะรู้ว่า ตัวเองเป็นคนขี้เกียจมากค่ะ
* ผืนภูไพร จ.อำนาจเจริญ

- พุทธศาสนาไม่ได้สอนคนให้ทิ้งโลกย์ ในขณะที่ศึกษาธรรมก็อยู่กับโลกย์ไปด้วย จึงได้รู้จัก โลกย์ รู้จักธรรม ในเวลาเดียวกัน เพราะวัน-เวลาที่หมุนไป เหตุการณ์ต่างๆแปรเปลี่ยน ตลอดเวลา เหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามา ในชีวิตเรานี่แหละ คือบทเรียนที่ช่วยให้เราชัดเจน ในชีวิต ยิ่งขึ้นๆ - บ.ก.

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ -