ตอน.... แม้นม้วยดินสิ้นพ่อ มิถุนายน ๒๕๔๘ # โฮมไทวัง งานโฮมไทวังที่บ้านราชฯ กิจกรรมเด่นๆเป็นเรื่องของสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต(ม.วช.) ซึ่งถือได้ว่า เป็นการ รวมตัว ของนิสิตสัมมาสิกขาลัยทั้งหมดที่มี ส่วนเรื่องการทำบุญหมู่บ้านราชฯ และ วันคล้ายวันเกิด ของพ่อท่าน แทบไม่มีใครกล่าวถึง หรือไม่มีกิจกรรมใดพิเศษ ที่บอกถึง ความสำคัญ ของสองส่วนหลังนี้เลย ปีที่ผ่านๆมากิจกรรมสำคัญคือ การสอบสัมภาษณ์ผู้สมัครเป็นนิสิตสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต โดยมีสมณะ สิกขมาตุ และคุรุจากที่ต่างๆ เป็นผู้ทำการสอบสัมภาษณ์ อีกกิจกรรม ที่เด่นของงาน ก็คือ การแจกเข็มสำหรับ นิสิตใหม่ที่ผ่านการสอบสัมภาษณ์แล้ว แต่ปีนี้ เป็นปีที่พ่อท่าน มีอายุ ย่างเข้าปีที่ ๗๒ พ่อท่าน ได้นำของ ที่ระลึก "หยาดน้ำใจ" เพิ่มเข้ามาแจกด้วย นอกจากนี้ ยังมี กิจกรรมพิเศษ ที่ริมมูล ด้วยการ ร่วมกันกล่าว คำปฏิญญา พร้อมกันต่อหน้าพ่อท่าน โดยมีสมณะ เดินดิน ติกขวีโรเป็นผู้นำกล่าว (ซึ่งต่อมา ก็ได้นำมาใช้ ในงานวันอโศกรำลึกด้วย) ต่อด้วยพ่อท่าน ให้ข้อคิดหรือธรรมะที่ริมมูลนั้น แต่ยังมีกิจกรรมหนึ่งที่น้อยคนจะเห็นว่าเป็นกิจกรรม คือการให้โอวาทกับคุรุ ก่อนจะเริ่ม การสอบ สัมภาษณ์ ผู้สมัครเป็นนิสิต ม.วช.ใหม่ ข้าพเจ้าจึงขอนำบางส่วนมาถ่ายทอดดังนี้ "เรื่องของ ม.วช. นี่ เป็นเจตนารมณ์ของอาตมาที่จะให้มารวมกัน มีหลายคน ที่บางคน ยังเข้าใจ ผิดว่า นิสิต ม.วช.นี่ คือ ผู้อยากจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ไปอยู่ชุมชนนั้นที ชุมชนโน้นที ตามที่อยาก จะย้ายไปเรื่อยๆ ทำอย่างนั้น ไม่ได้ นิสิตคือผู้ที่อยู่ประจำ เป็นนิสิตในชุมชนไหน ก็ต้องอยู่ประจำ ที่นั่น เพราะฉะนั้น เมื่อมา เป็นนิสิตแล้ว จะเป็นคนวัดที่ไหน ก็เป็นคนประจำ อยู่ที่นั่น ไม่ใช่จรไป ตะลอนไปเที่ยวที่นั่นก็ได้ เที่ยวที่นี่ก็ได้ อยู่ที่นั่นเดือนหนึ่ง อยู่ที่นี่ สองเดือน อะไรอย่างนี้ไม่ใช่ นิสิตจะต้องอยู่ประจำที่ เพื่อที่จะเป็น คนหลัก เป็นคน ที่จะต้องเข้าใจ ถึงที่เราอยู่นี้ ทั้งหมด ทั้งผู้คนที่รวมอยู่ อย่างหมู่บ้านนี้ ชุมชนนี้ เราก็จะต้อง รู้จัก แล้วเรา ก็จะทำงานร่วมกัน อยู่ร่วมกัน เป็นพี่ เป็นน้องกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จะต้องรู้ทั้งคนทั้งสถานที่ สิ่งแวดล้อม นิสิตหรือว่านักศึกษา ก็คือผู้ศึกษา ผู้เจริญขึ้นๆๆ ผู้พัฒนาพากเพียรศึกษา การศึกษา ไม่ใช่นัก อ่านตำรา การศึกษาคือนักเรียนรู้และอบรมฝึกฝนตนเอง จนหยั่งเข้าไปรู้ความเป็นจริง เรียนรู้ ในสิ่งที่ใกล้ตัวไปก่อน ศึกษาให้ชัดเจน สิ่งใดที่ห่างไปก็ศึกษาน้อยลงๆเป็นลำดับ ที่ไกลเกิน ก็ละเว้นก่อน ปล่อยให้คนที่เขา ศึกษา เฉพาะกิจ เขาศึกษากัน จนกว่าเราจะพร้อม มีฐานะ เหมาะสม จึงค่อยศึกษาเพิ่ม
การอ่านตำรานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการหาความรู้เสริมเข้ามาใช้ประโยชน์ ร่วมกับ การศึกษา ของเรา เท่านั้น คนที่เขาเขียนตำราก็ต้องเขียนด้วยความตั้งใจ ให้คนอื่นรู้ตาม การได้รับความรู้ จากคนอื่น เรียกว่า ปรโตโฆษะ จากการอ่านตำรา เมื่อได้แล้วตัวการศึกษาจริงก็คือ โยนิโส มนสิการ ปรโตโฆษะ นี่เป็นของเสริม จะได้รู้กว้างรู้มาก และตรวจสอบผล แต่ตัวจริงคือ โยนิโสมนสิการ โยนิโส มนสิการ แปลว่า มาย่อยให้มันเข้าใจลึกขึ้น เท่านั้นยังไม่พอ ต้องให้ถ่องแท้ถูกแท้ หรือว่าให้ "ถึงความจริง ที่อยู่ในก้นบึ้งของใจอย่างละเอียดลออ" ให้ถูกแท้ถ้วนทั่ว หรือแม้ที่สุด โยนิโสแปลว่า "ลงไปถึงที่เกิด-ลงไป ถึงต้นเหตุ" ถูกถ้วนละเอียดลออ ใช่แต่เนื้อแท้คือ มนสิการ มนสิการแปลว่า "ทำใจในใจของเรา" ทำให้มันได้ ถึงขั้นฆ่ากิเลสในใจถูกตัวจริง กระทั่งใจเกิดใหม่ เป็นการเกิด ในแบบ "โอปปาติกโยนิ" การศึกษาที่สำคัญ ของชาวพุทธเราก็คือ "ไตรสิกขา ที่มีคุณภาพ พัฒนา ปรมัตถธรรม" กล่าวคือ รู้จักรู้แจ้งรู้จริงถึงจิตถึงใจ หรือ ถึงวิญญาณของเราจริงๆ ถ้าคนไหน อ่านไม่ได้ ถึงตัวเหตุ ซึ่งมันเป็นกิเลสของเราเองอยู่ที่ใจ ตามจับสมุทัย ไม่ลงไปถึงที่เกิด มันก็ไม่มี นิพพาน ไม่ดับสนิท มันยังเกิดอยู่ ยังไม่จบ ถ้าจะจบ ก็ทำลายให้ดับเหตุสนิทได้ ให้เกิดก็ได้ ให้ตายก็ได้ แม้ปล่อยให้มันเกิดเราก็ยังต้องไม่ยึดสิ่งที่เกิดที่เป็น ว่า เป็นเรา-เป็นของเรา นั่นก็คือ การตาย อีกเหมือนกัน การวางไม่ยึดว่า "เป็นเรา-เป็นของเรา"ได้เด็ดขาดนั้นคือ "การตาย" ชนิด สุดท้ายเลย เพราะว่ากิเลสเราฆ่าให้ตาย ไม่ฟื้น กิเลส ตัณหา อุปาทาน ถึงอาสวะ ส่วนสิ่งที่ดี สิ่งที่ให้เกิดอยู่นั้น เราอาศัย เรียกว่า อาลยวิญญาณ ที่ยังอาศัย คำว่า อาลัย นี้คนไทยเข้าใจดีว่า หมายถึง ห่วงใย ระลึกถึงด้วยความห่วงหา จากบาลีเดิมนั้น แปลว่า เครื่องอาศัย ถ้าอาศัยอย่างไม่มีญาณปัญญา มันก็จะติดเครื่องอาศัย อาลัยอาวรณ์สิ่งนั้น ก็เป็น.. อาลยวิญญาณ วิญญาณสุดท้าย ถ้าเราไม่วาง "อาลยวิญญาณ" สุดท้ายนี้ ก็ไม่ได้ "อรหัตตา" เพราะ การทำใจในใจ ของเรา ถ่องแท้แยบคาย ถึงขั้นวาง.. อาลยวิญญาณ ได้กระทั่ง" ไม่มีอาลัย" เป็นแต่เพียงอาศัย ไม่ห่วงหาอาวรณ์ ไม่เหลือแม้แต่จะติดยึดว่า "เป็นเรา -เป็นของเรา" แล้วแท้ เป็นสุดท้ายเลย เราอาศัยสิ่งที่ดี วิญญาณที่ดี ธาตุรู้ที่ดี ปัญญาก็ตาม เจโตที่แข็งแรงก็ตาม สมรรถนะ ความสามารถ ของเรา อะไรก็แล้วแต่ ความเก่งกาจของเรา เราก็อาศัยทำงาน อาศัยใช้เป็น ประโยชน์ผู้อื่น แม้แต่รูปนามขันธ์ ๕ เราก็อาศัยใช้ แต่ก็ไม่ยึดว่า เป็นเรา-เป็นของเรา และ สุดท้ายไม่เหลือ แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ ไม่ยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) ว่า ขันธ์ ๕ เป็นเรา-เป็นของเรา อย่างนี้เป็นต้น เพราะงั้น ม.วช.นี่ ผู้มาศึกษาจึงไม่ได้หมายความว่า แค่เราจะเรียน ๖ ปีแล้วจะจบเอาใบปริญญา หรือใบ "ปัญญาบัตร" เท่านั้น ถึงวันนี้อาตมาขยายความได้มาก ตอนใหม่ๆแรกๆไม่ค่อยเข้าใจกัน เพราะการศึกษา เก่าๆ มันติดมันยึดมา เราเรียนเพื่อเอาใบประกาศนียบัตร เอาใบปริญญา เอาใบรับรอง เพื่อยืนยันว่า ฉันจบ การเรียนขั้นนั้นขั้นนี้ มีใบรับรองการศึกษา และฉันก็เอาใบอันนี้ เป็นเครื่องอาศัย เป็นเครื่องหากิน แต่ใบ "ปัญญาบัตร" นี่เอาไปหากินที่ไหนไม่ได้หรอก กพ. ไม่รับรอง นอกจาก กพ. ไม่รับรองแล้ว ห้างร้านต่างๆ บริษัทต่างๆ สังคมภายนอก ก็ไม่ยอมรับ เพราะยังไม่มีใครรู้จัก คนที่จะได้ใบปัญญาบัตรไปนี่ คือ คนที่ไม่อยากได้ใบปัญญาบัตร แล้ว นั่นคือผู้ที่เหมาะสมที่จะได้ ใบปัญญาบัตร ผู้มีภูมิถึงขั้นได้ปัญญาบัตร คือคนที่มีจิตใจเข้าใจความอยาก และได้ลดละ ความอยาก ถึงขั้นหนึ่งแล้วจริง คือคนผู้มั่นใจในสิ่งนั้นแล้ว คนที่ไม่อยากได้เงินคือ ผู้มั่นใจแล้วว่า เงินคืออะไร และ ไม่สงสัย ว่าเราจะได้เงินหรือไม่ได้เงิน หรือจะมีเงินหรือไม่มีเงิน คนไม่อยากได้ยศ ก็เพราะว่าไม่สงสัยแล้วว่า เราจะได้ยศหรือไม่ได้ยศ หรือจะมียศหรือไม่มียศ ยศของเรา คือคนติดดิน ก็ได้ คือคนที่ไม่มีตัวตน ไม่ต่ำไม่สูง อะไรแล้ว คนที่ไม่อยากได้สรรเสริญ ก็เพราะว่า คนมั่นใจแล้วว่าสรรเสริญหรือนินทาก็เป็นเรื่องของคน เราจะไม่ได้รับสรรเสริญ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้า คนจะสรรเสริญคนดี ที่มีความดีตามความจริง มีสิ่งที่ดี ที่งาม ที่ประเสริฐจริง อันน่าสรรเสริญ ถ้าเรามี เราไม่เห็นมีปัญหา คนเข้าใจไม่ได้ในสิ่งที่ดีแล้วก็นินทาว่าร้าย ก็เป็นจริงเพราะเขาไม่รู้ แม้รู้ก็ว่าร้ายเราได้ เพราะกิเลสของเขา ไม่มีปัญหาเลย มันเป็นความจริง ตามธรรมชาติ ของคน ที่ยังอวิชชา แต่เราต้องมีความจริงว่า สิ่งที่น่าสรรเสริญ สิ่งที่ดีจริงนั้น คือความจริง ไม่ใช่หลงตัว เราไม่มี-หลงว่ามี อย่างนั้นก็เป็นคนเลอะเทอะ คุรุ เป็นผู้ที่ยังจะนำพา คุรุไม่ใช่ผู้ที่จะไปใหญ่ ไปเบ่ง กับผู้ที่เราจะช่วยเขา ถ้าเรามีความรู้ ก็แจกความรู้ให้เขา ถ้าเราไม่มีความรู้ เราก็ช่วยเขามีความรู้ได้หลายทาง หาหนังสือให้อ่าน หาผู้รู้มาช่วยบอก หรือว่าพาไปสัมผัส ไปเรียนรู้ ไปฝึกฝนให้เกิดความรู้ความเป็น เหมือนพ่อ เหมือนแม่ เพราะคุรุคือพ่อคือแม่ การเป็นคุรุ จึงเป็นได้ แม้ผู้ไม่มีความรู้เอง แม้เราจะมีความรู้ ก็ไม่ต้องไปเบ่ง เราจะให้เขาด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้ด้วยความปรารถนาดี ทุกวันนี้ คนทั้งหลายเข้าใจว่าการสอนคือการมานั่งกรอกๆความรู้ให้เขาเท่านั้น ถ้าคุรุไม่สามารถ ที่จะทำ ให้นิสิต หรือ นักศึกษาเขาเกิดฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรือเกิดอิทธิบาทนี่ นั่นเป็น ความล้มเหลว ของครูโดยแท้ นอกจาก ให้รู้แล้วที่สำคัญต้อง"ให้เป็นตามที่รู้"ด้วย จึงจะชื่อว่าสำเร็จ การสอนการถ่ายทอดวิชา มันต้อง นำพากันด้วยความเต็มใจและมุ่งมั่นถ่ายทอดเต็มที่ ทั้งให้รู้ และให้เป็นได้ด้วย การศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องผิวเผิน อย่างของ ม.วช. เรานี่ มันเป็นครูหรือคุรุกัน ตลอดเวลา ทั้งบอก ทั้งสอน ทั้งเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นพ่อ เป็นแม่ บางครั้งนี่เป็นน้องด้วยซ้ำไป บางครั้งเป็นลูกด้วยซ้ำไป แต่จริงๆแล้วครูจริงๆก็เป็นผู้ที่รู้กว่าใหญ่กว่า เหนือกว่า โดยสัจจะ เป็นอย่างนั้น แต่อย่าทำตนใหญ่ข่มเบ่งกดกันเท่านั้น ถ้าทำตนเป็นอย่างนั้นแล้ว ศิลปวิทยา-จิตวิทยาล้มเหลว แต่ก็อย่าให้เขาลดความนับถือหรือไม่เคารพ ถ้าเขาลบหลู่นั่นก็คือเสียธรรม เสียสัจจะ เสียสภาพ มันไม่ใช่คุรุแล้ว การเรียนของ ม.วช. เราเรียนเพื่อที่จะช่วยกันไปตลอดชีวิต ตัว ม.วช.เองก็ต้องรับรู้ เราเป็นคุรุ ต้องให้ นักศึกษา เขารู้ว่าเขาเป็นนิสิตเป็นนักศึกษาอย่างไร ความจริงแล้วนิสิต ม.วช.นี้ มันเหมือน นักบวชไปในตัว ขั้นหนึ่ง เป็นนักบวชขั้นต่ำ ที่จริงเครื่องแบบก็มีแล้ว ยังไม่เป็น เครื่องแบบ นักบวช เท่านั้น ถือศีล ๘ เป็นต้น จะต้อง กินมื้อเดียวให้ได้ แม้ไม่ได้ก็ต้องพยายาม เป็นคนวัด อยู่ในระบบ สาธารณโภคีเต็มๆ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น หรือทำตนให้เป็นแก่นแกน ของสังคมบุญนิยม ระดับยอด คือระดับสาธารณโภคี เพื่อที่จะมาศึกษา เอาสมบัติ ความเป็นมนุษยสาธารณโภคีนั้น อยู่ในรูป บุญนิยม ในเกรดเอ การเรียน คุรุก็ต้องรู้ก่อนว่า เรียนอะไร ที่จริงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครได้ปัญญาบัตรซักใบ แต่ก็เหมือนกับ จุดเริ่มต้น ของทุกสิ่งในโลก ก็ต้องมีของจริงก่อน ใบรับรองมาทีหลัง ในใบ ปัญญาบัตรนี่ จะมี คนเซ็นต์อยู่ สองคน ประธานสัมมาสิกขาลัย และวิชชาธิบดี ในขณะนี้ อาตมายังอยู่ อาตมารั้งตำแหน่งวิชชาธิบดี ส่วนประธานตอนนี้ ก็คงจะเป็นคุณจำลอง เพราะรั้ง ตำแหน่งประธาน มาตั้งแต่ก่อตั้งคนแรก ปรมัตถ์ที่เกี่ยวกับความเป็นคุรุก็ดี เป็นนักเรียนหรือนิสิตก็ดี สรุปแล้วจริงๆ ชีวิตของคนนี่ เกิดมา เพื่อศึกษา เกิดมาเรียน แม้เราจะอยู่ในฐานะครู ในฐานะคุรุก็ตาม ก็คือนักเรียนด้วย เรียนไป ด้วยกัน อาตมาก็เรียนกับ พวกเรา บางทีนึกไม่ถึงว่าเราจะได้เรียนได้รู้ โอ้โห.... มันเป็นได้ ถึงขนาดนี้ หนอคน ก็เกิดการรู้จากการสอน โลกทุกวันนี้ช่วยมันได้ยาก มันแย่ลงไปทุกที พิษภัย ความดื้อด้าน กิเลสหนา จัดจ้าน ทุกอย่างมันยิ่งแย่ เพราะงั้นเรายิ่งจำเป็นต้องขวนขวาย ต้องยิ่งอุตสาหะ ต้องยิ่งพยายามจะทำอย่างไร ถึงจะช่วยเขาได้น้อ .... ต้องๆมีความรู้สึกอย่างนั้น ต้องขวนขวาย อย่างนั้น ถ้าไม่คิดอย่างนั้น ความเห็นแก่ตัวก็กุดสุดยอด อยู่ตรงนั้น เท่านั้นเอง สังคมโลก มันก็ไปไม่รอด" ในงานโฮมไทวังนี้ การแสดงธรรมของพ่อท่านทั้งที่ริมแม่น้ำมูล หลังจากรับฟังการเปล่งกล่าว ตั้งปฏิญญา ร่วมกัน ที่ริมแม่น้ำมูลแล้ว พ่อท่านได้แสดงธรรมรวมถึงการทำวัตรเช้า แต่ในที่นี้ ข้าพเจ้าขอข้ามผ่าน ผู้สนใจ ติดตามได้จากฝ่ายเผยแพร่ และขอนำบางส่วนของรายการ เอื้อไออุ่น มาถ่ายทอด สู่กันดังนี้ "เมื่อเช้าอาตมาคิดว่า ช่วงนักษัตรนี้อายุจาก ๗๒-๘๔ ปี ถ้ายังมีชีวิตอยู่ อาตมาจะต้องเร่ง เขียนหนังสือ เสียก่อน เพราะยังมีหลายสิ่งหลายออย่างที่น่าจะได้บอกกัน เช่น รายละเอียด ของพระโสดาบัน หรือ ศาสนาพุทธ เป็นอย่างไร แตกต่างจากศาสนาอื่นอย่างไร และถ้ายังมี ชีวิตอยู่ ไปจนถึงอายุ ๘๔-๙๖ จะพัก การเขียนหนังสือ แล้วจะออกตระเวนไปตามที่ต่างๆ ถึงวาระนั้น ชุมชนต่างๆของชาวอโศกก็คงจะเยอะกว่านี้" อีกคำถามหนึ่งถามว่า จะทำอย่างไรให้เบิกบานแจ่มใส เวลาเจ็บป่วย แล้วสามารถที่จะแยกกาย แยกจิตได้ พ่อท่านตอบว่า "คนป่วยที่สามารถจะแยกกายแยกจิตได้ ก็ต่อเมื่อได้ฝึกเจโตสมถะได้เก่ง หมายความว่า จิตไม่รับความรู้สึก อย่างเจ้าคุณนรรัตน์ฯ ท่านเก่งเจโตสมถะ แล้วท่านทำสมถะ ตลอดชีวิต ของท่านฯ ท่านปวดเจ็บขึ้นมา ท่านก็ทำสมาธิหรือทำนิโรธแบบเจโตสมถะ จิตมัน ก็ไม่รับรู้ ไม่เกี่ยวกับร่างกาย หรือ สามารถ จัดการระงับประสาทสัมผัสทางกาย คือ สะกด ความเจ็บปวดไว้ได้ ถ้าคนธรรมดาทนพิษบาดแผล ไม่ได้ อย่างท่านหรอก มันจะเจ็บจะปวด มากมาย อาตมาเองก็ไม่ได้เก่งเจโตสมถะ ยิ่งไม่ค่อยได้ฝึกมันก็เรื้อ เพราะเจโตสมถะเป็นโลกียฌาน โลกียสมาธินี่ ต้องฝึกอยู่นั่นแหละ ถ้าไม่ฝึกมันก็ไม่เป็น มันก็เรื้อ มันไม่จบ ไม่เสร็จถาวร ไม่เหมือน โลกุตรสมาธิ ที่มี ความถาวร และจบแล้วไม่ต้องปฏิบัติอีก ซึ่งเป็นของพุทธแท้ๆ พอได้สัมบูรณ์แล้ว เป็นแล้วมันก็จบเลย อย่าง อาสวะอนุสัยถอนสิ้นเลย ไม่ต้องมานั่งทำอีก แต่ของฤๅษี มันเป็น โลกียสมาธิ มันจะต้องฝึกอยู่เรื่อย มันจะต้อง ทำตลอด จนแก่ จนตาย แต่ของพุทธนี่ การนั่งสมาธิ เพื่อใช้เป็นอุปการะ อย่างของพระพุทธเจ้า เคยตรัสไว้ว่า เจโตสมถะ นั้นต่างจากโลกุตระ เป็นต้น เจโตสมถะนั้น มีประโยชน์ หนึ่งเกิดสุขวิหารธรรม สองเป็นการศึกษา สามใช้ทำเตวิชโช ซึ่งอันนี้ เป็น ประโยชน์มาก สี่สร้างฤทธิ์สร้างเดช เจโตสมถะเก่งๆก็จะสร้างฤทธิ์เดช ทางอิทธิปาฏิหาริย์- อาเทสนา ปาฏิหาริย์ได้ อาตมาไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ในเรื่องพวกนี้แล้ว ก็เลยไม่ได้ฝึก มันก็เรื้อ" ถาม สมมุติว่าถ้าพ่อท่านสิ้นอายุขัยจะให้ลูกๆทำอย่างไรต่อไป ทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน พ่อท่านตอบว่า "ก็ให้เป็นผู้ที่เจริญในธรรม เพราะชีวิตไม่มีอะไรอื่นดีไปกว่าเจริญในธรรม พัฒนาธรรมะ สำคัญมากคืออย่าทำสังฆเภท อย่าแตกกัน อยู่รวมกันให้ได้ พรั่งพร้อมกันประชุม พรั่งพร้อมกันเลิก ไม่ไป บัญญัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติ อย่างที่เราได้ทำมานี่ อปริหานิยธรรม มันจะมีอะไรขัดแย้งกันบ้าง ก็พยายามเข้ากันให้ได้ ถ้าแตกกลุ่มแตกหมู่ หรือ ดังแล้วแยกวง รับรองไม่เหลือ อีกหน่อยอาตมาตายไป พวกเรา จะดังกันขึ้นมาหลายคน ระวังเถอะ ตอนนั้นน่ะ ถ้าแยกวงเมื่อไหร่ สังฆเภทเมื่อไหร่ พระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่านี้เป็นอนันตริยกรรม มันเป็น การทำลายศาสนา ทำลายตน ทำลายสังคม ทำลายประโยชน์ โดยเฉพาะของศาสนา" ซึ่งต่อมามีผู้ซักถามแทรกขึ้นมา คำว่าสังฆเภทที่พ่อท่านกล่าวถึงหมายถึงเฉพาะนักบวช หรือเปล่าครับ พ่อท่านได้ตอบเพิ่มเติมในประเด็นซักแทรกนี้ว่า "รวมถึงฆราวาสด้วย ฆราวาสนั้นแหละสำคัญ การแตกกลุ่ม แตกหมู่ อย่างทุกวันนี้การเมืองก็มีสังฆเภทอยู่ในพรรคเดียวกัน" ถาม การทำงานที่ได้รับผิดชอบก็ทำได้อย่างดี แต่พอจะต้องให้เวลากับการไปร่วมงานส่วนกลาง ทำได้ ยากมาก ต้องทำใจหลายตลบ การที่เราต้องทำใจอย่างนี้ จะบ่งบอกได้หรือไม่ว่า เราเริ่มยึด งานนั้น พ่อท่าน "ก็เป็นได้ถ้าจะมองในแง่ว่าเรายึดงาน หรือเราเองไม่ชอบที่จะไปทำงานอื่น หรือ งานส่วนกลาง ที่ควรไป มันเป็นได้ทั้งสองอย่าง ถ้าเรายึดงานโน้นแล้วไม่ชอบงานนี้ หรือไม่ถึงขั้น ไม่ชอบ มันก็ยังพอ ประมาณ เราก็ดูที่ความสำคัญ จริงการรับผิดชอบงานเป็นเรื่องดี แต่เมื่อ มีจังหวะเวลา ที่สามารถ ไปช่วย งานส่วนนั้น ส่วนนี้ของส่วนกลางได้ ถ้าเราเห็นเป็นความจำเป็น ที่จะแบ่งเวลาไปช่วย เราก็ไปทำ หรือ ควรจะช่วยเหลือเกื้อกูลงานอื่นๆได้มันก็ดี ใช่ไหม อย่าทำด้วยชอบ ต้องทำด้วยควร" ถาม ได้ข่าวว่าอโศกกำลังจะทำการค้ากับต่างประเทศ เป็นความจริงไหมคะ พ่อท่าน "จริง เราทำสัญญา เขาก็ทำสัญญา แล้วเราก็มาแก้ไขกัน แก้ไขกันแล้วก็ส่งไปให้เขารู้ ให้เขาเซ็นมา ถ้าเขาโอเค เพราะตอนหลังนี้เราไม่ได้แก้อะไร เขาแก้มาแล้วเราก็ส่งไป เช่น เขาขอ เป็นผู้แทนจำหน่าย แต่ผู้เดียว เราก็โอเค ไม่มีปัญหาอะไร เราก็ส่งกลับไปให้เขา เขาก็ยังไม่ส่งตอบ กลับมาเท่านั้น ที่จริงเรา ไม่ได้ค้าหรอก เราเป็นเพียงผู้ผลิตให้เขา" ถาม แล้วจะให้ลูกๆเตรียมตัวอย่างไรบ้างครับ พ่อท่าน "ก็ดูงานว่ามันจำเป็นไหม ถ้าเขาเซ็นสัญญาแล้วเขาก็จะมี order มา แล้วเราจะมาดูว่า เราจะรับ ได้แค่ใด เราก็ต้องมาดูกำลังของเรา คนทำงานของเรา วัตถุดิบของเราจะพอไหม จะทำได้ไหม เวลาเขา กำหนดมาไหม แล้วแรงงานของเราพอไหม ถ้าเราทำได้เท่านี้ เราก็ตอบ เขาไปว่า เราทำได้เท่านี้ เวลาเท่านี้ ถ้าเขาส่งงานมา เราก็จะตกลงกับเขาว่า คุณมี order มา คุณจ่ายเงินมาเลย เขาก็โอเค เขาดีใจ เพราะฉะนั้น ถ้าเขาส่ง order มา ๑,๐๐๐ หน่วย แล้วเขาส่งเงิน มาด้วย แต่เราดูแล้วเราทำไม่ได้ เราทำได้ ๗๐๐ หน่วย เราก็คืนเงินเขาไป ส่วนที่เกิน จากที่เราจะทำได้ การค้าอย่างนี้แหละในอนาคต อาตมาว่า มันจะเป็นตัวอย่าง การค้าของโลก เจ้าที่มาทำการค้ากับเรา เขาเคยทำการค้าอย่างทุนนิยมมาแล้ว เขาก็จะ ประหลาดใจ ไอ้พวกนี้ มันบ้าดีนะ ให้เงินมันก็ไม่เอา แล้วมันก็ไม่เคยเหนียวหนี้ ทีนี้เราอย่าทำให้เสียชื่อ เป็นเด็ดขาด ลองดู เป็นการทดสอบดูซิว่าจะเป็นอย่างไร ทำตรงๆเราไม่ได้ไปขายเพื่อจะกำรี้กำไรอะไร ส่วนเขา จะไปขายเอาเปรียบเอารัดอะไร ซื้อจากเราถูกแล้วไปขายแพง ก็ปล่อยไปก่อน เพียงแต่เราก็ปราม เขาว่า อย่าเอาไปขายเอากำไรมากนักนะ เราจะทำลองดู ตอนนี้ก็บอกให้บ้านราชฯรู้ตัว ใครจะทำ มาช่วยบ้านราชฯ ก็เอา ตอนนี้กำลังทำสัญญาสินค้าเจลว่านหางจระเข้ ทางศีรษะอโศก กำลัง เตรียมตัว ปลูกว่าน หางจระเข้ป้อนบ้านราชฯ ใครจะทำช่วยก็เอา"
ใครที่ได้มาร่วมงานคงจะได้เห็นป้ายข้อความ บูชาพระบรมสารีริกธาตุ...ปิตุบูชา ๗๒ ปี พ่อท่าน สมณะ โพธิรักษ์ ที่จริงพ่อท่านเพิ่งจะย่าง ๗๒ ปี คือครบ ๗๑ ปีเต็ม เมื่อ ๕ มิ.ย. ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา หลายคน เข้าใจว่า พ่อท่านเต็ม ๗๒ ปีแล้ว แม้แต่สมณะหลายรูปก็เข้าใจเช่นนั้น ในใบคำปฏิญาณ จึงใช้คำว่า "วันครบรอบ ๗๒ ปีของพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์" ในงานอโศกรำลึกครั้งนี้ ได้มีพิธีกล่าวคำปฏิญาณร่วมกันของลูกๆชาวอโศกต่อหน้าพ่อท่าน โดยมี สมณะ เดินดิน ติกขวีโร เป็นผู้นำกล่าว จริงๆแล้วพิธีกรรมนี้ได้ทำกันมาก่อนแล้ว ในงานโฮมไทวัง วันที่ ๕ มิ.ย. ที่ริมแม่น้ำมูล บ้านราชฯ ท่ามกลางธรรมชาติบรรยากาศยามเช้านั้นดูดีมาก แต่สำหรับ งานอโศกรำลึกนี้ ทำกัน ในค่ำของวันที่ ๑๐ มิ.ย. ท่ามกลางลูกหลานชาวอโศก ที่มาร่วมงาน กว่าสองพันคน ก็ขลังไปอีกแบบ ด้วยจำนวนปริมาณคนมาก กล่าวเป็นเสียง ความเดียวกัน ที่มีความหมายบอกถึงความตั้งใจที่ดี ทำให้พลัง ของกุศลธรรมที่กล่าวนั้น มีฤทธิ์ ต่อจิตใจของผู้คน ในที่นั้นไม่น้อย ผู้เขียนขอนำคำกล่าวนั้น มาถ่ายทอด ดังนี้ "ขอนอบน้อม แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ซึ่งเป็นแสงสว่างของโลก ผู้ทรงประทาน เส้นทาง แห่งความพ้นทุกข์ ให้แก่มวลมนุษยชาติ ด้วยการประกาศ อาริยสัจ ๔ และมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมีสัมมาทิฐิ ๑๐ เป็นกุญแจ สำคัญ ที่จะไขนำไปสู่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ได้ก้าวพ้นความสงสัย และมีความเชื่อมั่นกันว่า และบัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ก็ได้พึ่งพาอาศัยสมณพราหมณ์ผู้นั้น คือ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ผู้นำสัมมา ปฏิบัติ จนส่งผลให้ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ได้เกิดแสงสว่างในชีวิต มีสัมมาทิฐิ ๑๐ และ สัมมามรรค สัมมาผล ตามธรรม สมควรแก่ธรรม เกือบตลอดชีวิต ของการกอบกู้ศาสนาที่ผ่านมา พ่อท่านได้ทุ่มเท ทั้งแรงกายแรงใจ ด้วยเลือด ทุกหยด และ เหงื่อทุกหยาด เพื่อประโยชน์และความสุข ของมวลมนุษยชาติมาตลอด จวบจน วาระสำคัญ ในโอกาสนี้ ที่พ่อท่านได้มีอายุ ครบรอบ ๗๑ ปี ข้าพเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นลูกๆ ที่ได้ ถือกำเนิด ทางจิตวิญญาณ ขอปฏิญาณ ตนร่วมกันว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะขยันหมั่นเพียร ตั้งใจศึกษา ฝึกฝนอบรมตน ให้เกิดมรรค เกิดผล ยิ่งๆขึ้นไป ด้วยความไม่ประมาท ในโทษภัย แม้มีประมาณน้อย พวกข้าพเจ้าทั้งหลาย จักสมัครสมานสามัคคี ด้วยการปฏิบัติตาม สาราณียธรรม ๖ คือ ๑. เมตตากายกรรม ๒. เมตตาวจีกรรม ๓. เมตตามโนกรรม ๔. สาธารณโภคี ๕. ศีลสามัญญตา ๖. ทิฏฐิสามัญญตา และให้ เข้าถึงคุณธรรมตาม พระพุทธพจน์ ๗ ได้แก่ ๑. สาราณียะ ระลึกถึงกัน ๒. ปิยกรณะ รักกัน ๓. ครุกรณะ เคารพกัน ๔. สังคหะ เกื้อกูลช่วยเหลือกัน ๕. อวิวาทะ ไม่วิวาทกัน ๖. สามัคคียะ พร้อมเพรียงกัน ๗. เอกีภาวะ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอตั้งสัจจาธิษฐานว่า ถ้าหากข้าพเจ้าทั้งหลาย จะต้องเกิดมาอีก กี่ชาติ กี่ชาติก็ตาม ขอได้มีโอกาส มาร่วมบุญบารมี กับพ่อท่านในทุกๆชาติ เพื่อให้เข้าถึง ในสิ่งที่ ยังไม่ได้เข้าถึง เพื่อให้ได้บรรลุ ในสิ่งที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อเป็นธรรมทายาท แบ่งรับมรดกธรรม ที่พ่อท่าน ได้สืบทอดมาจาก องค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะได้ช่วยกันทุ่มเท แรงกายแรงใจ อุทิศชีวิตที่เหลือนี้ ให้กับ พระศาสนา ให้ได้มากที่สุด เท่าที่ข้าพเจ้าแต่ละคน จักทำได้" สิ่งสำคัญมากๆที่ต้องกล่าวถึงคือ ของที่ระลึกจากพ่อท่าน ซึ่งพ่อท่านให้เรียกของสิ่งนี้ว่า "หยาดน้ำใจ" ไม่ใช่ "หยด" ที่ไหลแปะๆ เป็นหยดๆ แต่นี่ไหลเป็นสาย จึงเรียกว่า"หยาด" และ อย่าไปเรียกว่าเป็น "ของชำร่วย" ซึ่งมันเป็นการลดค่าของ "ของที่ระลึก" ความเป็นมาของ "หยาดน้ำใจ" นี้ เนื่องมาจากดำริที่พ่อท่าน คิดจะทำของที่ระลึกสักชิ้นหนึ่ง สำหรับแจก ให้ลูกๆชาวอโศก ในวาระย่าง ๗๒ ปีนี้ พ่อท่านได้คิดและเขียนร่างแบบด้วยตัวเอง ให้ช่างลองไปทำมาให้ดู จนกระทั่งได้แบบที่พอใจแล้ว ก็จึงให้คุณสุนีย์ บำรุง และครอบครัว ของคุณ ปะนรินทร์ บำรุง ซึ่งมีอาชีพ เป็นช่างทองรูปพรรณ ได้นำไปช่วยทำ นอกจากช่วยทำให้แล้ว ยังช่วยออกค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ให้ ถือเป็น การทำบุญสร้าง "ของที่ระลึก" ถวายให้พ่อท่านด้วย อีกส่วนหนึ่ง พ่อท่านเติมให้จากผู้ที่ได้มาบริจาค พ่อท่าน ระมัดระวังอย่างมาก ที่จะกล่าวถึง เรื่องราคา ค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยต้องการเน้นสำคัญต่อผลทางจิตวิญญาณ ที่เนื่องมาจากวัตถุ เท่านั้น ไม่ต้องการเน้นสำคัญเรื่องราคาของสิ่งของ เพราะถ้าผู้ที่รู้สึกว่าแพง ก็จะมีผลเสีย ทางจิตใจได้ อาจจะมองว่าฟุ้งเฟ้อ แทนที่จะมองว่าพ่อท่านแม้ไม่มีสมบัติเป็นส่วนตัว แต่ก็อุตส่าห์ จัดทำ ของมีราคาให้ได้ หรือผู้ที่ยึดถือว่าถูก ก็จะไปลดค่าทางจิตใจของสิ่งของไป ผลทางจิตใจ แทนที่จะอยู่ที่ สิ่งของ อันเนื่องมาจากสิ่งแทนตัวตนของพ่อท่าน กลับกลายไปอยู่ที่ราคาสิ่งของ ซึ่งนั่น ไม่ใช่สาระสำคัญ ของการทำหยาดน้ำใจแจก หยาดน้ำใจมีแบ่งเป็น ๓ แบบ ๑. สำหรับบุคคลพิเศษจำนวน ๗๒ ชิ้น ๒. นักบวช และ ผู้เตรียมตัวบวช ๗๒๐ ชิ้น ๓. สามัญกับญาติธรรม ๗,๒๐๐ ชิ้น แบบพิเศษนั้น เพิ่งแจกไปชิ้นเดียว กับญาติผู้ใหญ่ ผู้มีบุญคุณ คือ โยมป้าส้มจีน พรหมพิทักษ์ ซึ่งเคยเลี้ยงดูพ่อท่านตั้งแต่ยังเด็กๆ พ่อท่านตั้งใจทำให้เกิดผลทางจิตวิญญาณ สำหรับลูกๆชาวอโศกโดยเฉพาะ ไม่ได้คิดจะแจก กับคนทั่วไป ที่ยังไม่ได้ลดละ ปฏิบัติธรรมอะไร ที่ตรงข้อต่อของตัวใบโพธิ์กับห่วงด้านบน มีกระบอก เล็กๆ บรรจุเส้นผม ของพ่อท่านไว้ให้ โดยมีเดือยเล็กๆยื่นออกมา (คล้ายปากนกแร้ง) เพื่อให้เป็นสิ่งแทนตัวพ่อท่าน หากลูกๆ ชาวอโศกที่ได้รับไปจะใช้เป็นกำลังใจ ในการปฏิบัติธรรม เป็นสาราณียธรรม ลดละกิเลสของตน เมื่อใด ที่กิเลสจะเกิด ก็ระลึกถึงสิ่งนี้ เสมือนมี พ่อท่าน อยู่ด้วย จะได้เกิดหิริโอตตัปปะ งดเว้นอกุศลเหล่านั้น มิให้เกิดขึ้น เพราะคำว่า"ผม"นี้ คือ สรรพนาม บุรุษที่ ๑ จึงหมายถึงคำเรียกตัวพ่อท่านเอง "ผม, ฉัน, ข้าพเจ้า, อาตมา" นี้คือ ความหมายหนึ่ง แทนตัวพ่อท่าน และเส้นผมซึ่งเป็นส่วนแห่งสรีระแท้ๆของพ่อท่าน ที่คงทน อยู่ได้ยิ่งกว่าชีวิตคน ก็แทน ตัวพ่อท่าน ไปอีกนานแสนนาน เนื่องจากพ่อท่านได้ปลูกฝังให้เกิดสัมมาทิฐิ สอนเทวนิยมและอเทวนิยมกับลูกๆ ชาวอโศก มามาก จึงเห็น ควรทำสิ่งนี้ ให้เกิดผลทางจิตวิญญาณ เสริมการปฏิบัติธรรมด้วย โดยให้ลูกๆ ชาวอโศก ที่ได้สิ่งนี้ไป แล้วให้ หัดสังวรระวัง จะไม่เอาไปใช้อย่างเทวนิยม หรือหลงเป็นของขลัง มีฤทธิ์เดช ช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน ทำมา ค้าขึ้น เมตตามหานิยม หรือเอาไปใช้ในการอ้อนวอนขอโน่นขอนี่ อย่างที่ทั่วไป เขาใช้วัตถุมงคลกัน เพื่อผล ตามแบบ เทวนิยมนั้น จึงไม่ได้คิดแจกคนทั่วไป ที่ยังไม่มี สัมมาทิฐิ แต่อะไรๆย่อมจะมียกเว้นบ้างเป็นธรรมดา พ่อท่านก็จะพิจารณาเป็นรายๆไป ทว่าไม่มีการ รับแทนกัน ไม่มี การเอาไปฝากกัน ต้องมารับกับมือเองทุกคน ใครรับไปแล้วถ้าทำหาย ก็มา รับใหม่อีกไม่ได้ หรือรับไปแล้ว เอาไปให้คนอื่น แล้วจะมาเอาใหม่ย่อมไม่ได้ มีผู้สงสัยว่าพ่อท่านได้เก็บรวมรวมเส้นผมที่ปลงไว้เองหรือ คำตอบคือ ใช่ แล้วให้ปัจฉาสมณะ เช่น สมณะ ชัดแจ้ง วิจักขโณ สมณะหนักแน่น ขันติพโล เป็นผู้เก็บรวมรวมรักษาไว้ โดยที่ตอนนั้น ก็ไม่ได้คิด มาก่อน ว่าจะมีการทำของที่ระลึกอย่างนี้ เพียงแต่พ่อท่านคิดว่า เป็นสิ่งหนึ่ง ที่น่าจะทำ ประโยชน์ได้ ในอนาคต อีกคำถามหนึ่ง พ่อท่านเอาเวลาที่ไหนไปบรรจุเส้นผมลงในกระบอก คำตอบคือพ่อท่าน ไม่ได้ทำเอง เวลา ไม่พอที่จะเจียดมาทำงานนี้แน่ เพราะเป็นงานเล็กละเอียด ที่ต้องกินเวลามาก ซึ่งทำได้ช้า สมณะหนักแน่น ขันติพาโล เป็นผู้บรรจุเป็นหลัก ในช่วงแรกๆ มีสมณะชัดแจ้ง มาช่วยบ้าง ก่อนงานอโศกรำลึก ข้าพเจ้าเป็นกังวลว่า การแจกในงานอย่างนี้ จะกันคนนอกที่ไม่ใช่ญาติธรรม ไม่ให้ ผสมโรงเข้ามารับด้วยได้ยาก เพราะสถานที่เปิดโล่งคนทั่วไปผ่านไปได้ง่าย ยิ่งมีงานเทศกาล อย่างนี้ มีอาหาร แจกหลากหลาย อีกทั้งสิ่งของที่แจกก็ดูมีราคา สวยงาม ก็สวยไม่แพ้ เครื่องประดับ มีราคา เป็นใครก็อดใจยาก แม้แต่เด็กๆ เล็กๆข้างซอยก็จะเข้ามาขอรับด้วย ถ้าเข้ามาขอรับ จะปฏิเสธก็ยากแล้ว จะใช้คำพูดอย่างไร ไม่ให้เสียความรู้สึก จึงได้เสนอว่า น่าจะมีการออกบัตร จากฝ่ายลงทะเบียน ผู้มาร่วมงาน แล้วให้ฝ่ายทะเบียน ซักถาม ถ้าไม่คุ้นหน้า ส่วนญาติธรรม ก็ออกบัตรให้ รับรองว่าได้ผ่านการลงทะเบียนแล้ว และนำบัตรนี้ มาแสดง เพื่อขอรับ ของที่ระลึกจากพ่อท่าน ก็จะช่วยควบคุมได้ ส่วนคนที่ยัง ไม่ใช่ญาติธรรม ท่าทีดูยัง ไม่เข้าใจ อะไรนัก ไม่สมควรที่จะได้รับของที่ระลึก ก็ให้ลงชื่อ มาร่วมงานธรรมดา พ่อท่านก็เห็นด้วยที่ควรจะมีวิธีการคัดเลือก แต่ให้ข้อคิดว่า อย่าทำให้ดูรู้สึกว่ายุ่งยาก ขั้นตอนมาก ให้ดู เป็นกันเองง่ายๆ เหมือนลูกกับพ่อที่อบอุ่น ข้าพเจ้าได้ฝากเรื่องนี้ให้หลายคนช่วยคิดวิธีการ คุณแซมดินเสนอว่าให้แจกเป็นเวลา เฉพาะหลัง ทำวัตรเช้า และค่ำ ซึ่งจะไม่ค่อยมีคนนอก ส่วนทางด้านสมณะหลายรูปไม่ได้คิดเสนออะไร มีสองรูป ที่เสนอให้ปล่อยฟรี ด้วยเหตุผลว่า คนนอกจะเข้ามารับก็คงไม่กี่ราย ข้าพเจ้า ไม่มีเวลา ไปคิด หรือจัดวิธีการอะไรได้อีก เพราะแค่งาน ที่ทำอยู่ ก็จะไม่ทันอยู่แล้ว จึงปล่อยให้ มันเป็นไป โดยธรรม เมื่อถึงเวลางานจริงๆ พ่อท่านเลือกที่จะแจกในช่วงฉันอาหารเป็นหลัก เวลาอื่นมีแจกบ้าง แต่น้อย แม้จะมี เสียงท้วงว่า ดูไม่งาม สายอนุรักษ์จะถือสาได้ แต่พ่อท่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง ใครจะศรัทธา หรือ จะเสื่อมศรัทธา เพราะเหตุนี้นัก บอกเพียงว่าเวลาอื่นมันไม่เหมาะ และไม่มี เวลาให้ แจกในห้องอย่างนี้แหละ คนจะได้ไม่กรูเกรียว ประเจิดประเจ้อเกินไป วันนั้นคนที่มาเข้าคิวรอรับของที่ระลึกแถวยาวสองแถว ตั้งแต่บันไดไปจนถึงประตูทางออก ข้างห้อง ศูนย์ฝึก อบรมฯ จะด้วยเพราะกลัวของหมด หรือศรัทธามาก หรืออย่างไรก็สุดจะบรรยาย เข้าใจว่า บรรยากาศ มันชวนใจให้เข้าแถวด้วย ขนาดชาวปฐมอโศกรู้อยู่แล้วว่า จันทร์ ๑๓ มิ.ย. พ่อท่านจะไป ปฐมอโศก และ จะไปแจกที่นั่นด้วย ก็ยังอุตส่าห์มาเข้าแถวรอเหมือนกัน เขาบอกว่า เข้าแถวรออย่างนี้ มันได้บรรยากาศดี อีกรายรีบบึ่งรถจากโคราชมาเพื่อจะรับ และที่รีบขึ้น รถโดยสาร จากอุบลฯมาก็มี ที่โทรศัพท์ บอกกัน ปากต่อปาก ถึงคนที่ตนรู้จักแล้วยังไม่ได้มา เพื่อแจ้ง ชวนกันให้รีบมารับก็มาก บ้างก็ไป ขนกันมาทั้งครอบครัว ยกโขยงกันมา ทั้งอุ้มลูก จูงหลาน ลูกเด็กเล็กแดงแบเบาะอยู่ ก็ยังอุตส่าห์อุ้มเอามา ขอรับด้วย บ้างก็ขอ จะรับแทน คนที่ตนรู้จัก แรกๆพ่อท่านใช้มาตรการเข้ม ไม่อนุโลมให้รับแทนกันได้ ต่อมา ก็มีบางราย ที่ต้อง อนุโลมบ้าง สำหรับ รายที่สุดวิสัย จนต้องยกเว้นให้ พ่อท่านตำหนิสมณะที่ได้ไปเที่ยวชักชวนญาติโยมที่ใส่บาตรให้มารับ รวมทั้งญาติธรรม ที่ได้ไป ชักชวน ใครต่อใคร ซึ่งยังไม่คบคุ้นรู้จักมักจี่กันเท่าไรนัก เพิ่งจะรู้จัก เขาเพิ่งจะสนใจ ปฏิบัติธรรม ก็ไปลากจูง ชวนกัน มารับ ของนี้อาตมาต้องการแจกให้กับลูกๆ ชาวอโศก ไม่ใช่แจกดาษดื่น กับใครก็ไม่รู้ แรกทีเดียวพ่อท่านตั้งใจว่าจะทยอยแจกทั้งปี ๗,๒๐๐ ชิ้นนี้ แต่มาถึงวันนี้หมดไปใกล้จะ ๕,๐๐๐ ชิ้นแล้ว ญาติธรรม ต่างจังหวัดที่ยังไม่ได้รับก็มาก ถ้าขืนแต่ละคน ไปบอกใครต่อใคร มารับกันอย่างนี้อีก หมดเร็วแน่ ในอนาคต ถ้าจะมีกลุ่มธุรกิจเข้ามาปั่นราคาของที่ระลึกนี้ เหมือนกับที่ได้มีการปั่นราคา พระเครื่อง รุ่นต่างๆ แล้วโฆษณากันว่าเหนียว ว่าขลัง ต่างๆนานา พ่อท่านแช่งไว้ล่วงหน้าแล้ว
# รัฐศาสตร์แนวพุทธ "วันนี้ผู้ที่จัดงานได้กำหนดให้อาตมาเทศน์ในเรื่องว่า "รัฐศาสตร์แนวพุทธ" คำว่ารัฐศาสตร์นี่ เป็นภาษา วิชาการ รัฐศาสตร์ตามความหมายโดยปฏิภาณของอาตมา เป็นศาสตร์ที่ว่า ด้วยการจัดการ ความเป็นอยู่ ของประชาชนในรัฐ คำว่ารัฐนี่เหมือนกับดินแดนแคว้นหนึ่ง ที่อยู่กัน อย่างมีข้อตกลงเป็นกลุ่มหมู่ อย่าง อเมริกา เขาก็มีรัฐแต่ละรัฐๆ แต่เขาก็รวมกันอยู่ เป็นสหรัฐ อีกทีหนึ่ง รัฐศาสตร์นี่ไม่ใช่เรื่องของดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น คือ คนนี่แหละเป็นผู้จัดสรร เป็นผู้จัดการ จะดิน น้ำ ลม ไฟ ของพื้นที่ไหน คนในถิ่นนั้นเป็นผู้จัดการ เกี่ยวกับที่ดิน เกี่ยวกับสิทธิ จะมีวิธีการอย่างไร เขาก็จัดสรรกัน ออกกฎ ออกระเบียบกัน รัฐศาสตร์ก็คือความรู้เกี่ยวกับรัฐ ซึ่งเขานิยามไว้สั้นๆว่า วิชาการว่าด้วยการเมือง ว่าด้วยการบริหาร ปกครอง ประเทศ แล้วว่าด้วยความสัมพันธ์กับต่างประเทศ อาตมาเอาความหมายจากสามความหมายนี้มาอธิบายถึงมนุษย์ ตั้งแต่สองคนขึ้นไป จนขยาย ออกไป สู่กลุ่มหมู่ จะขยายจากเล็กนี่ไปจนกระทั่งถึงใหญ่ เชื่อมไป จนกระทั่ง ถึงต่างประเทศ ถ้าคนมีคุณลักษณะ แบบพระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ คือเป็นคนที่มีการบรรลุ โลกุตรธรรม รับรองว่า รัฐศาสตร์นั้น ยิ่งใหญ่ เป็นอยู่สุข เป็นรัฐศาสตร์ที่เจริญยิ่งๆ คำว่า การเมือง อาตมาจะละไว้ เพราะเดี๋ยวนี้มันมีทั้งความหมายแฝง อาตมาว่าไม่ต้องพูดก็ได้ จะพูดถึง การบริหารปกครองประเทศ ก่อนจะถึงประเทศก็ย่อยลงมาหาคน ตั้งแต่ครอบครัว จนกระทั่ง ถึงกลุ่มหมู่ ถึงหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ขยายออกไปเป็นกลุ่มโตขึ้นๆ แต่สัมพันธ์กัน จนกระทั่งเป็นประเทศ จะขยายสัมพันธ์ไปต่างประเทศ ก็อาศัยเนื้อคุณลักษณะ เดียวกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า คนใน ครอบครัวนี้ ทั้งครอบครัว ๕ คนหรือ ๘ คน มีพุทธธรรม ไม่มีอบายมุข ไม่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยแบบโลกีย์ เป็นคน มีศีล อย่างน้อยศีล ๕ เป็นต้น มีธรรม ทั้งโลกียธรรม ทั้งโลกุตรธรรม ศีล ๕ คือ หนึ่ง..เป็นคนที่จิตใจไม่มีความโหดเหี้ยมรุนแรง ลดกิเลสโทสมูลได้ ไม่ฆ่า ไม่ทำลาย อย่าว่า แต่ฆ่าคนเลย สัตว์ก็ไม่ฆ่าจริงๆ คนมีศีลคือ คนที่ใจไม่โหดเหี้ยมถึงขั้นฆ่าสัตว์ ที่เป็นชีวะ ชีวิตคน ชีวิตสัตว์ ไม่ทำลายเขา จะโกรธอย่างไร โทสะอย่างไรก็ไม่ทำลายเขา เป็นคนมีจิตใจ อย่างนั้นเป็นปกติ นี่คือคนมีศีล ข้อที่ ๑ มี กายกรรม-วจีกรรม ไม่ร้ายถึงฆ่าสัตว์ โดยเฉพาะ มโนกรรม ของคนมีศีลข้อ ๑ นี้ มีใจเมตตาเป็น "ปกติ" ใจเป็นตัวชี้บ่งความ"ปกติ" กล่าวคือ คนผู้นี้ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องลำบากใจ ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องควบคุม ระมัดระวังตัวแล้วนั่นเอง จึงชื่อว่า "ปกติ" หรือ "ศีล" คนปฏิบัติศีล เป็นคนมี"ศีล"หรือมี"ปกติ" ต้องปฏิบัติทั้ง "กาย-วาจา-ใจ" ให้บรรลุผล ไม่ฆ่าสัตว์ จนเป็นปกติถึง "ใจ" มิใช่ปกติแค่"กายและวจี" เท่านั้น ที่ปกติ ไม่ฆ่าสัตว์ ตามที่สอน กันมาผิดๆ สอง..เป็นคนมีจิตใจไม่โลภถึงขั้นทุจริต เป็นคนโลกุตระ ไม่เอาของผู้อื่นที่ไม่ใช่ของๆตน ศีลข้อ ๒ ความโลภ น้อยแล้ว ไม่เอาเปรียบ ไม่โกง ไม่ทุจริตจริงๆ จิตวิญญาณเป็นอย่างนั้นจริงๆ โลภะ ไม่อกุศลรุนแรงแล้ว ใจเป็นตัวชี้บ่งความ"ปกติ" กล่าวคือ คนผู้นี้ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องลำบากใจ ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องควบคุม ระมัด ระวังตัวแล้วนั่นเอง จึงชื่อว่า "ปกติ" หรือ "ศีล" คนปฏิบัติศีล เป็นคนมี"ศีล" หรือมี"ปกติ" ต้องปฏิบัติทั้ง"กาย-วาจา-ใจ" ให้บรรลุผลไม่มีโลภะ จนเป็นปกติถึง"ใจ" มิใช่ปกติแค่"กายและวจี"เท่านั้น ที่ปกติไม่โลภ ตามที่สอน กันมาผิดๆ ศีลข้อสาม....เรื่องราคะ หรือเรื่องกาม ไม่จัดจ้าน ไม่กระสันรุนแรงแล้ว อยู่กันอย่างสงบสมฐานะ ผัวเดียว เมียเดียว ไม่สำส่อน ไม่ดิ้นรนแส่หากามเกินฐานะ เป็นต้น จิตใจ"ปกติ"ไม่เดือดร้อนเกิน "สันโดษ" แห่งตนแล้ว ไม่ทำเรื่องเสียหายในเรื่องของเพศ ในเรื่องของกาม และการมีศีล ก็ต้องใจ เป็นตัวชี้บ่งความ "ปกติ" เช่นเดียวกันกับ"ศีล" ข้อ ๑-๒ ศีลข้อนี้ทุกวันนี้มันแย่เต็มทีแล้ว สังคมไทย ที่เป็นพุทธ พากันหลงทาง ออกนอกลู่ นอกทางแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า มีแต่มอมเมา ปลุกเร้ากาม กันเต็มบ้านเต็มเมือง จนจัดจ้าน และวิตถารไปเท่าไรๆก็ไม่รู้สึกกัน แถมส่งเสริมกัน ยิ่งๆขึ้น ไม่ว่าผู้บริหารหรือนักวิชาการ ดังนั้น ถ้าทำให้คน ในรัฐมี "ศีล"ดังกล่าวนี้ รัฐก็สงบสันติ แสนสุขแน่ ใช่ไหม ศีลข้อ ๔ ไม่โกหก ข้อนี้จะไม่ขยายความมากมายล่ะ เพราะตรงตัวอยู่แล้ว ต้องเรียนรู้ฝึกฝน จนเป็นคนมี"ศีล" หรือมี"ปกติ"ที่จะไม่โกหกจริงๆ แล้วคิดดูเถอะว่า รัฐที่มีคนไม่โกหกนั้น จะสงบสุข สันติกันแค่ไหน แต่โดย ความเป็นจริง มีจริงของคนในรัฐที่ชื่อว่าไทยเป็นชาวพุทธแท้ๆ มีใครบ้าง ที่แต่ละวัน ไม่ได้โกหก หรือ ในชีวิต ไม่โกหก แม้จะโกหกอยู่ก็ยังไม่รู้สึกละอาย ไม่รู้สึกผิดอะไรเลย ด้วยซ้ำ แล้วสังคมหรือรัฐที่มีแต่คนโกหก ฉะนี้ จะหาความสงบสุขสันติได้อย่างไร? ข้อ ๕ ไม่เสพของเมา ตั้งแต่ของเมาหยาบๆ แม้กระทั่งที่ทำแฝงๆมา ให้กิน ให้สูบ ให้ดื่ม ให้ดม กระตุ้น ประสาททุกแบบ เป็นน้ำ เป็นก้อน เป็นผง มีธาตุสารที่พาให้มึนเมาอยู่ในส่วนผสม คนที่มี "ศีล" ข้อนี้ แล้วก็มี จิตใจแข็งแรง โลกเขาเอาสิ่งต่างๆดังที่กล่าวมายั่วยวน มอมเมา ปรุงด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อย่างไร ก็แล้วแต่ ก็ยั่วยุไม่ขึ้น เพราะจิตหลุดพ้นด้วย"ศีล"แล้วเป็นปกติ เข้าใจแล้วว่า มันเป็นโทษเป็นภัยเป็นพิษ แล้วก็ไม่มีจิตที่จะต้องไปอยาก กิเลสตัณหาที่มีนั้น ได้ถูกล้าง ได้ถูกสอน ได้ถูกฝึกฝนเล่าเรียน จนจิตนั้น รู้ยิ่งเห็นจริง มีปัญญารู้ยิ่ง เห็นจริง กิเลส ก็ไม่มีที่จะไปบังคับ ให้ตัวเอง จะต้องไปละเมิด หรือไปเสพ ไปติด สิ่งเหล่านั้นอีก ในคุณลักษณะของศีล ๕ ตามที่อาตมาพูดไปแค่นี้ เข้าถึงศีล ๕ แบบนี้แล้วจริง ครอบครัวนี้บ้านนี้ ก็เป็น บ้านที่สุขสงบ ๕ คน ๘ คนก็ตาม นี่คือรัฐศาสตร์ชนิดย่อลงมาหากลุ่มคน แค่กลุ่มคน ที่เป็นครอบครัว เมื่อมีศีล อย่างนี้แล้ว เป็นศีลที่มีคุณภาพล้างกิเลสได้จริง คนนั้นบรรลุธรรม คนในบ้านนี้ เป็นโสดาบันแล้ว อย่างต่ำ มีศีล ๕ ศีลสัมปทา คนกลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ จะมีอำนาจ จะมีเชื้อ สัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน สัมพันธ์กับ มิตรสหาย นี่คือ ความหมายของรัฐศาสตร์ ในความหมายที่ว่า ความสัมพันธ์ต่างประเทศ คือ แทนที่จะสัมพันธ์ อยู่กัน ในหมู่กลุ่มของในครอบครัวเอง ก็สัมพันธ์กับมิตรสหาย เพื่อนฝูง ขยายออกไป นี่อาตมาอธิบายโดยจับเอา "กลุ่มคน" จากเล็กๆ แล้วก็ขยายออกไปให้ฟัง ท้าทายให้พิสูจน์ได้เลยว่า รัฐศาสตร์หรือศาสตร์ของพระพุทธเจ้า ที่สอนคนให้มีคุณธรรม ระดับวิเศษ เป็นอาริยะ ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว จะขยายผลเป็นวิชารัฐศาสตร์ สัมพันธ์กับคนข้างนอก ขยายผล พาคน ข้างนอกเป็นตาม แข็งแรงตาม เพราะคนที่บรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วนี่ จิตแข็งแรง คนอื่นหรือ อำนาจภายนอก มาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทั้งปัญญาและเจโต ปัญญา คือรู้เท่าทัน รู้จักรู้แจ้งรู้จริงแล้ว เจโต คือ แข็งแรงยั่งยืน แข็งแรง เหมือนที่ท่านพุทธทาสว่าเอาไว้ โอ้โฮ....อันนี้อาตมาเอามาใช้บ่อย "เหมือนก้อน น้ำแข็ง กลางเตาหลอมเหล็ก" มันจะมีฤทธิ์ ขนาดไหน ความร้อนของเตาหลอมเหล็ก จะร้อนรุนแรง เผาผลาญ ให้ละลายเป็นไอไปได้เลย แต่ความสามารถของคนที่บรรลุธรรม จิตที่บรรลุธรรม ของศาสนา พุทธนี้ มันเหมือนก้อนน้ำแข็ง วิเศษ ที่บอกว่า โอ้....น่าจะละลายต่อความร้อนสูงๆ แต่ไม่เลย เพราะไม่ใช่ ก้อนน้ำแข็ง อย่างก้อน น้ำแข็งโลกๆสามัญ นั่น....ละลายแน่ แต่นี่เป็นก้อนน้ำแข็งวิเศษ มรรคผลของพุทธ มีประสิทธิภาพ ปานฉะนี้ ทีเดียว โลกีย์นี่มันจะจัดจ้านร้อนเร่า ร้อนรน ปลุกคนให้ร้อนตามห้ามไม่อยู่หรอก แต่ถ้าเผื่อว่าผู้รู้ ผู้บริหาร ประเทศ มีความเข้าใจ ในคุณลักษณะดังกล่าวนี้ แล้วก็เน้นโน้ม ทุกวิถีทางที่จะเอาทุกๆ ศาสตร์มาปรับ แล้วก็ให้ใช้ ศาสตร์เหล่านั้น เน้นเข้าไปสู่จุดให้คนพัฒนาได้ ให้คนพัฒนา เข้าไปสู่ คุณลักษณะที่พระพุทธเจ้าท่านสอน คือให้กิเลสของคนลดเป็นหลัก จะเอาศาสตร์อะไร มาช่วย ก็ตาม ทุกด้าน รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ อะไรศาสตร์ๆ ทำอย่างไรมาร่วมกัน คนละมุม คนละแง่เชิง ที่จะทำให้หล่อหลอมคน จนเกิด พฤติกรรม ทางกาย วาจา ใจ เปลี่ยนไป เป็นคนที่ลดกิเลสได้ โดยแท้จริง เพราะศาสนาพุทธนั้นปฏิบัติได้กับ ทุกๆ ศาสตร์ ปฏิบัติอยู่ ทุกพฤติกรรม ในทุกๆงาน ศาสตร์อย่างนี้แหละ ที่รัฐศาสตร์จำเป็นและต้องการอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ รัฐศาสตร์ที่สอนนี่ เป็นแต่เพียงว่า จะทำอย่างไร ที่จะแก้ปัญหา บริหารคน เพื่อที่จะให้คนนี่ไม่ทุกข์ร้อน อยู่ดีกินดี ความหมายอย่างนี้ เข้าใจ กันหมด เจตนาเหมือนกันหมด นักรัฐศาสตร์ทุกแห่งหนก็จะทำอย่างนี้ แต่จะทำอย่างไรล่ะ ให้คน เหล่านั้นน่ะ กินดีอยู่ดี ไม่ตีรันฟันแทง ไม่ฆ่าแกง ไม่แย่งชิง แต่เผื่อแผ่ เกื้อกูลกัน ขยันหมั่นเพียร เฉลียวฉลาด ปราชญ์เปรื่อง แต่ผู้ฉลาดผู้สามารถนั้น อุ้มชูผู้ด้อยกว่า ไม่เอาเปรียบ แต่กลับช่วยเหลือผู้ด้อย อยู่ด้วย ความสงบ เรียบร้อย อบอุ่น สามัคคี มีกินมีอยู่ สุขภาพดี ชีวิตดี สุขสบาย เป็นสุขไม่ทุกข์ร้อน ซึ่งความหมาย กว้างๆ อย่างนี้รู้กันทั้งนั้น จะทำอย่างไรนะ ซึ่งสังคมทุกวันนี้ แม้รัฐศาสตร์โดยเฉพาะของไทยก็ไปเน้นวิธีใช้กฎ เรียกว่ากฎหมาย มากกว่าเน้น วิธีใช้ ศาสนา จะเห็นได้ชัดว่า เน้นหลักเกณฑ์ เพื่อที่จะเป็นกรอบบังคับ อันนี้ไม่ให้ทำ เพราะทำแล้ว มันจะเสียหาย ให้ทำได้แค่นี้ มีกรอบกำหนด บังคับมาก บังคับกลาง บังคับน้อย บังคับมากถึงขั้นว่า ถ้าผิดกฎ ฆ่า ประหารชีวิต และขั้นไล่เรียงลงมาก็ติดคุก ปรับไหม มีระยะ มีกำหนดมาก หนัก หรือกลางๆ หรือน้อยๆ ก็ตามลำดับมา เพราะงั้นกฎระเบียบ วิธีการพวกนี้ ก็เป็นวิธีการที่โลกเขาใช้ ศาสนา ก็ใช้ ไม่ใช่ไม่ใช้ กฎระเบียบ หลักเกณฑ์ เรียกว่า ศีล เรียกว่า วินัย ทีนี้คนเรานี่จะทำตามกฎระเบียบวินัยนี่ได้ ก็คือคนที่เห็นแก่ตัวน้อย หรือไม่มีความเห็นแก่ตัว ก็จะทำตามกฎ ต่างๆเหล่านี้ได้ ยกตัวอย่างประหลาดๆ ออกกฎระเบียบมาให้คนกินข้าว วันละมื้อ กฎหมายประเทศนี้ ให้คน กินข้าววันละมื้อ คนที่ได้ปฏิบัติธรรมฝึกมาดีแล้ว ทำได้เลย แม้มัน จะประหลาด แม้มันจะรุนแรง โอ้ฮู.... บังคับกันมากเกินไป นี่บังคับกันนี่หว่า ผู้ยึดสิทธิมนุษยชน หรือยึดตัวตน ฉันจะกิน ๕ มื้อ เรื่องของฉัน เงินของฉัน ปากของฉัน ฉันจะกิน ๑๐ มื้อ ให้พุงฉันกาง มันจุกอกตายก็ช่างฉันเถอะ มันสิทธิของฉันน่ะ แต่รัฐบางรัฐเขาออกได้ เขาจะทำอย่างนี้ เขาทำได้ บางรัฐเขาก็ออกแรงๆ เคร่งๆ บังคับ อย่างนี้ก็เป็นความเห็น ของแต่ละรัฐ อย่างของเราชาวอโศกนี่ ใครๆก็ว่าเคร่ง แต่เราไม่ได้บังคับใคร ใครจะมาปฏิบัติตามกฎ ก็สมัคร มาเอง สมัครมาเลือกเอากฎข้อบังคับมันจัดหน่อย เคร่งหน่อย นี่มาอยู่ที่นี่แล้วนี่ กินมื้อเดียวนะ ไม่กินเนื้อสัตว์ ผู้ใด เห็นว่าตนเองทำได้ก็มา และถ้าเราไม่กินเนื้อสัตว์ เรากินวันละมื้อเดียวนี่ เราดีขึ้น หรือเราเจริญขึ้น หรือ เราเลวลง หรือว่าเราแย่ลง ถ้าคนที่เขาปฏิบัติมาฝึกฝนตนเองมา อบรมศึกษามาได้ดีแล้ว มันดีนี่ พระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้ว่า ฉันมื้อเดียวมีคุณประโยชน์ตั้ง ๕ ประการ ท่านตรัสไว้ตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปี มาแล้ว ใครเห็นความดีอันนี้ ก็มาทำเอา ฝึกตน จนกระทั่ง มาเป็นได้ ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นกฎหมาย หรือหลักเกณฑ์ หรือหลักศีลอะไรก็แล้วแต่ ออกมาแล้วก็เข้มงวด กวดขัน ดูจะรุนแรง อย่างไง คนที่จะปฏิบัติเป็นคนดี เป็นคนที่สูง เป็นคนเจริญแท้จริงแล้วนี่ ทำได้ เป็นได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ บางประเทศเขาบอก แต่งงานแล้วหย่าไม่ได้ กฎระเบียบอย่างนี้ไม่ง่าย ของเรา มีจัดกว่านั้นอีก มาที่นี่แล้ว ไม่ต้องแต่งงานเลย คุณสมัครใจไหมล่ะ คนกลุ่มนี้มาปฏิบัติ เพื่อไม่แต่งงานเลย ไม่แต่งงาน แล้วมันดี หรือเปล่า ดีอย่างไร คนที่จะสมัครมาก็ต้องรู้แล้วว่า เอ้อ..อยู่กลุ่มนี้ไม่แต่งงานดีกว่า ยิ่งกว่านั้นอีกนะ.. ประเทศไหน ก็รับรองว่า ไม่เหมือนประเทศนี้ ไม่มีประเทศไหน กล้าที่จะออกหลักเกณฑ์ว่า อยู่ที่นี่ทำงานฟรี ไม่มีเงินส่วนตัว โอ้โฮ..ประเทศนี้ รัฐนี้นี่ มันอุกฤษฏ์ขนาดหนัก เหลือเกินเลย โอ้โฮ ! รัฐศาสตร์ในรัฐนี้ ชนกลุ่มนี้ มีหลักเกณฑ์ มีวัฒนธรรม ได้ถึงปานฉะนี้ แล้วการไม่ต้องมีเงินเลย การมีเงินก็ของส่วนกลาง แล้วก็มาอยู่กันช่วยเหลือเฟือฟายกันไป ใครหาได้มาก สมรรถนะสูง สร้างสรรได้มากๆ ก็ไม่เป็นของเราหรอก เราไม่ต้องรวย เอาเข้า กองกลางหมด แล้วก็เกื้อกูลกัน ใช้จ่ายร่วมกัน เลี้ยงประชากรหมู่กลุ่ม และส่งออกต่างประเทศ คือ ส่งออกไปต่างกลุ่มด้วย เรียกว่า มีความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ช่วยเหลือเฟือฟาย ออกต่างประเทศด้วย ซึ่งที่จริงเราก็แค่ส่งออกไปเกื้อกูล คนนอกกลุ่มเรา เท่านั้นแหละ ตอนนี้ เราทำได้เท่านี้ เราเรียกว่า ความสัมพันธ์ต่างประเทศแบบเล็กๆ ยังไม่ใช่ต่างประเทศ ที่เป็น คนละชาติจริงๆ เรายังทำไม่ได้ถึงขนาดนั้น เกื้อกูลคนนอกกลุ่มนั่นเอง นี่คือ ลักษณะ ที่เราจะ สัมพันธ์กับ ต่างประเทศ ไม่ใช่ไปเอาเปรียบเขา ไปล่าเขา ไปเก่งโกง เก่งข่มเหงเขา เบียดเบียนเขา เราจะสัมพันธ์ ด้วยการร่วมกันสร้างร่วมกันช่วยผู้อื่นไปเรื่อยๆ เราช่วยตนเองรอดก่อน พึ่งตนเอง ได้แล้ว จึงจะเอื้อเฟื้อคนภายนอก เราพยายามจะไม่เบียดเบียนคนนอก พยายามพึ่งแรงงาน ของพวกเราเอง ให้ได้ให้อยู่รอด จนเหลือเฟือแล้วจึงค่อยเอื้อมเอื้อสัมพันธ์สู่ภายนอก คนที่เข้ามาในหมู่เรานี้ กลุ่มนี้ก็เข้าใจ ว่าโอ้....คุณลักษณะของคนของสังคมอย่างนี้ มันเป็น ความประเสริฐ ของมนุษย์ มันเป็นคุณค่า เป็นคุณงามความดี เราพอใจเต็มใจเหลือเกิน ที่มาอยู่กับ คนกลุ่มนี้ สบาย ผู้ที่ได้ ฝึกฝนตนเอง ศึกษาเรียนรู้ตัวเองแล้ว จะเรียกวิชานั้นว่า รัฐศาสตร์ จะเรียกว่าสังคมศาสตร์ จะเรียกว่า ศาสนศาสตร์ จะเรียกว่าคือศาสตร์อะไรก็ตามใจ แต่คน ที่ฝึกได้ เป็นคนที่มีคุณลักษณะอย่างนี้ มีคุณสมบัติ แบบนี้แล้วนี่ อาตมาว่านี่คือ รัฐศาสตร์อย่างยิ่ง การบริหารประเทศนี่ ถ้าเผื่อว่า เข้าใจหลักอย่างที่อาตมากล่าวนี้แล้ว สามารถที่จะเน้นการ "สร้างคน" คำตอบ อยู่ที่ "คน" จะหาวิธีการอย่างไร จะมีศาสตร์อะไรก็ตามใจเถอะ เอาศาสตร์ เหล่านั้นมาใช้"สร้างคน" หล่อหลอมคน เกิดกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เน้นให้เกิด จิตวิญญาณ นั่นแหละ สำคัญมาก พัฒนาขึ้นมา เจริญขึ้นมา ปรับปรุงขึ้นมา เป็นคน "อาริยะ" เป็น "โลกุตระ" ได้จริงๆ อาตมาว่าอย่างนี้เป็นรัฐศาสตร์ แนวพุทธ เป็นรัฐศาสตร์ที่จะเคยมีหรือไม่เคยมี ในตำรา มาก่อนก็ไม่รู้ล่ะ ชาวอโศกเราปฏิบัติ ประพฤติฝึกฝน ตามแนวรัฐศาสตร์ดังที่อาตมากล่าวนี้ นี่คือรัฐศาสตร์ ซ้อนอยู่ใน รัฐศาสตร์ ของประเทศ เรียกว่ารัฐศาสตร์แนวพุทธ ทีนี้เรานี่ร่วมกับโลกเขาอยู่ เราก็เป็นคนร่วมกับ ประเทศเขา เขามีหลักเกณฑ์ หลักเกณฑ์ว่าด้วยการเมือง ว่าด้วย การรัฐศาสตร์ เขามีพรรคการเมืองกัน เราก็ทำถึงขั้น เรามีพรรคการเมืองบ้าง แต่ว่าพรรคการเมือง ของเรานี่ขอให้ยืนยันว่าแบบรัฐศาสตร์แนวพุทธ ไม่เหมือนเขาหรอก เพราะเราไม่แข่ง ไม่แย่ง ตำแหน่งลาภยศ ร่วมกันเป็นพรรคเพื่อทำงาน"สร้างคน" ช่วยเหลือคน และสังคมไปตามมี ตามได้ ด้วยความขวนขวายอุตสาหะจริงใจ เมื่อวานนี้อาตมาก็ดูถ่ายทอดสดที่เขาอภิปรายกัน โอ๋....ซัดกันเละ ยวนกันไป ยวนกันมา สถาบัน ระดับชาติ เถียงกันอยู่นั่นแหละ เอากฎมาซัดกัน ต่างคนต่างเก่ง จิตใจคนนี่เมื่อไม่ได้ฝึก จะเอา แต่ใจตน เอาชนะ คะคาน และผนวกโลกธรรมเพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ เพื่ออะไรของตนเอง ที่ตนเอง ยังติดอยู่ มาเป็น ตัวเหตุปัจจัยในการที่จะต้องเอาชนะ ถ้าไม่ชนะนี่....ไม่ได้นะ ลาภ ยศ สรรเสริญฉันด้อยไป เสพบำเรอใจกู อัตตา ของกูนี่น้อยไป เขาทนไม่ได้ ไม่มีการซื่อตรง มันจะต้อง เป็นฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ซึ่งแน่นอนที่สุด แม้สภานั้นจะใหญ่อย่างไร มันก็จะเถียงกัน แย่งกัน มันก็จะทะเลาะกันอยู่อย่างนั้น เพราะใจ ไม่หมดอคติ ไม่หมดกิเลส ตราบใด ที่คนเหล่านั้น ไม่มาฝึกฝนตนเอง ให้เป็นคนลดกิเลส ยิ่งกิเลสมากขึ้น ยิ่งได้อำนาจ ได้ฐานะ ตำแหน่ง เขาก็ยิ่งจะข่มกันขึ้นไป เพราะกิเลสมันไม่ยอม โดยเฉพาะคนที่ขึ้นไปสูง แล้วมีกิเลส ไปใช้อำนาจที่ตัวเองได้ กิเลสนี่แหละที่ทำให้คนข่มกัน คนที่อยู่ข้างล่างที่โดนข่ม โดนเอาเปรียบ เอารัด มันก็ไม่ยอม โทสะก็บดบังความถูกต้องก็จะเพี้ยน โมหะนี่คือ ความหลงผิดเลย เห็นกงจักรเป็น ดอกบัว ยิ่งรัฐศาสตร์เป็นศาสตร์เกี่ยวข้อง กับการบริหาร มนุษยชาติ ถ้าเผื่อว่าไม่พยายามที่จะทำให้มีคน เปลี่ยนแปลงชีวิต เปลี่ยนกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ให้ถึงขั้นคนยินดีพอใจต่อระบอบที่ใช้กันอยู่ ไม่ได้ ถูกบังคับ ก็ไม่สงบ คอมมิวนิสต์มีหลักเกณฑ์ในการจัดสรรการบริหารสังคม บริหารรัฐด้วยอำนาจเผด็จการหมู่ เป็นพรรคเดียว ไม่มีการเลือกตั้ง สืบทอดกันโดยบุคคลอยู่ในพรรคนี้พรรคเดียว แล้วใช้อำนาจ ทั้งรัฐ ทั้งประเทศ ออกกฎหลัก มาควบคุม คนก็ถูกบังคับ ความเห็นแก่ตัวของคนเขา จะไม่รู้ตัว จนขนาดคนชั้นล่างพูดไม่ได้ คนชั้นสูงขึ้นมา ก็พูดไม่ค่อยได้ด้วย สรุปแล้วก็คือ เผด็จการหมู่ เขาต้องการ ที่จะควบคุม การบริหาร โดยการไม่เสียเปรียบ ได้เปรียบกันมาก คนมีสมรรถนะสูง คนที่มีความสามารถมาก ก็ควรเฉลี่ยให้คนมีความสามารถน้อย เกื้อกูลกัน ทีนี้จะให้เขา แจกกัน เขาไม่แจก คนที่มีสมรรถนะมาก มีนิสัยทุนนิยม ข้าทำได้มาก ข้าก็เอามาก ข้ามีปัญญามาก ฉลาดมาก แม้ทำไม่ได้มากข้าก็จะเอามากๆ นี่คือ กิเลส มันหาวิธีที่จะโลภ ได้มากๆ ก็เอาเปรียบเอารัดกันไป เพราะฉะนั้นวิธีของเผด็จการก็ตาม วิธีของประชาธิปไตย ทุนนิยม ก็ตาม เขาเห็นว่ามันเฉลี่ยกันไม่จริง คอมมูนิสต์ ก็เอามาจัดการ แต่คอมมิวนิสต์ เขาก็ไม่ได้ ปฏิบัติธรรม เขาไม่ได้ลดกิเลส เขาก็เห็นแก่ตัวอยู่ เห็นแก่พวก เห็นแก่ลูกเต้าเหล่าหลาน ของพวก อยู่อย่างเดิม และที่สำคัญคือ ยังเป็นระบอบที่กดขี่ บังคับจิตใจ มากด้วย ให้อิสระเสรี แม้แค่เท่า ประชาธิปไตย ก็ยังไม่ได้ หรือแม้ให้อิสระเท่าทุนนิยมเสรีก็ไม่ได้ ระบอบคอมมูนิสต์เอามาใช้กับรัฐ เอามาใช้กับประเทศไม่นาน.....ก็...บรรลัย ล้มละลายไปแล้ว เพราะคน ถูกกดขี่ทางจิตวิญญาณ ประชาชนไม่ยอมรับ ลัทธินั้นก็ไปไม่รอด คอมมูนิสต์ไม่มีศาสนา ไม่มีแนววิธีที่ จะมาล้างกิเลสเลย ดูถูกศาสนาด้วย หรือแม้รัฐใดจะมีศาสนา แต่ศาสนาไม่ช่วยล้างกิเลสได้จริงมากพอ ก็ดูเอาเถิด จะมีความรุนแรง จะมีความจัดจ้านในโลกธรรมอย่างเห็นได้ ส่วนศาสนาพุทธที่ "สัมมาทิฏฐิ" ล้างกิเลส ถูกตัวตนจริงๆ ก็จะมีรัฐศาสตร์แบบพุทธ ที่เห็นในกลุ่มคนหรือในสังคมนั้นๆได้ แต่ถ้ากลุ่ม ศาสนาพุทธเองก็ตาม ที่ล้างกิเลสไม่ได้จริง มันก็จะเห็นได้จริงว่า กลุ่มนั้น จะไม่มี อิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ บูรณภาพ ชัดเจน ทีนี้รัฐศาสตร์อย่างแนวพุทธ เป็นรัฐศาสตร์ที่เน้น"คน" คำตอบอยู่ที่คน ตั้งแต่หนึ่งคน สองคนขึ้นมา เป็นกลุ่ม สามารถที่จะฝึกฝนตนเองให้เป็นอาริยบุคคล ตรงตามพระพุทธเจ้าท่านสอน อย่างแท้จริงได้ เป็นคน เลี้ยงง่าย บำรุงง่าย เป็นคนมักน้อย-เป็นคนกล้าจน ครบวรรณะ ๙ มีความเข้าใจ จริงๆเลยว่า โอ้....เราเป็น คนจนนี่แหละ ทำมาหาได้ สร้างสรรได้มากๆ ก็เอาแบ่งแจก คนอื่น เฉลี่ยบริจาคคนอื่นไป มันเป็นคุณค่า ของเรา เราเป็นคนมีประโยชน์ต่อคนอื่นแท้ ประเด็นนี้ สำคัญนะ ทุนนิยมนี่ทำได้มากๆๆๆ แล้วเอาไป เป็นตัวต่อ โลภมาให้ตัวเองมากกว่าเก่า ให้ได้ มาก ๆๆๆๆๆ ได้มากเท่าไหร่ๆๆ ก็เอามาให้ตัวเอง ไม่มีจบ ไม่มีเสร็จ ไม่มีพอ นั่นแหละคือ ความสำเร็จ ทางทุนนิยม แต่บุญนิยมนี่ ก็พยายามทำให้ได้มากๆๆ จะได้มี บริจาค จะได้เสียสละ จะได้ช่วยเหลือ คนอื่น เพราะรู้ว่าการให้ คือ ความมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น แล้วมีวัฒนธรรม หรือมีระบบมีวิถีการดำเนินอยู่กันอย่างรวมกันเกื้อกูล รวมกันอยู่แล้วก็ช่วยกันทำทุกอย่าง ที่ควรทำ ซึ่งเป็นสัมมากัมมันตะของมนุษย์จะพึงกระทำ รัฐศาสตร์นี่คือเรื่องของมนุษยชาติที่จะอยู่กันเป็นกลุ่ม เราใช้พุทธศาสตร์ รัฐศาสตร์แนวพุทธ เข้ามา บริหารรัฐ อาตมาได้ใช้พุทธศาสตร์เข้ามาบริหารให้เกิดการเป็นอยู่ร่วมกัน เป็นพุทธบริษัท เป็นกลุ่มหมู่ รวมกันขึ้นมา จนกระทั่ง มีจารีต ประเพณี มีวัฒนธรรม มีวิถีการดำเนินชีวิต มีพฤติกรรม มีกิจกรรม รัฐศาสตร์ที่อาตมาพาทำนี้ มันเป็นนวัตกรรมจริงๆ ในโลกปัจจุบันนี้แหละ เป็น นวัตกรรมรัฐศาสตร์ แนวอโศก หรือรัฐศาสตร์แนวบุญนิยม หรือจะเรียกว่ารัฐศาสตร์แนวพุทธนี่แหละ มันเป็นไปได้ สามารถ ที่จะอยู่กัน โดยหลักเกณฑ์ และความสมัครใจ หลักเกณฑ์เหล่านั้น ก็เป็นข้อกำหนด ระเบียบ คือวินัย เหมือนกับ กฎวินัย ของกลุ่มหมู่อื่นๆนั่นแหละ แต่เป็นอิสรเสรีภาพด้วย ใครจะไม่อยู่ ไม่เอา ก็ออกได้ คุณไม่ต้องลาออก จาก ความเป็นคนไทย คุณเป็นคนไทย อยากจะมา อยู่ในอโศกก็มา ไม่อยากมาอยู่ ในอโศก คุณก็ลาออกไป เป็นคนไทยข้างนอก ถ้าคุณเป็นคนไทยข้างนอก คุณว่าไม่ดีน่ะ....มาอยู่อโศกดีกว่า ก็มาอยู่ในอโศก ข้าวมีกิน ดินมีเดิน ตะวันมีส่อง พี่น้องมีเสร็จ เห็ดมีเก็บ ป่วยเจ็บมีคนช่วยรักษา ไม่ต้องเสีย ๓๐ บาท ส่วนกลางจ่าย แน่ะ.... เยี่ยมกว่าของรัฐเสียด้วย ไอ้นี่ป่วยเจ็บมีคนช่วยรักษา ขี้หมามีคนช่วยกวาด ผ้าขาด มีคนช่วยชุน บุญมีมาก ให้เก็บให้เกี่ยว สันติอโศกนี่ใช้รัฐศาสตร์แนวพุทธ ปฐมอโศกก็ดี ศีรษะอโศก ราชธานีอโศก ศาลีอโศก ภูผาฟ้าน้ำ ดอยรายปลายฟ้า ที่ไหนๆที่เป็นกลุ่มชุมชนอโศกอยู่ขณะนี้ ใช้รัฐศาสตร์แนวพุทธทั้งนั้น ถ้ารัฐศาสตร์หมายถึงการเมือง ก็การเมืองแนวพุทธ การเมืองแนวบุญนิยม การเมือง ที่ไม่แสวงหา อำนาจ ไม่หาเสียง เพราะการหาเสียงยังไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่แย่งลาภยศสรรเสริญ โลกียสุข ทำงานอยู่กับ ประชาชน ที่จะอยู่ในรัฐ อยู่กับสังคมอย่างพี่น้องภราดร เป็นอยู่อย่างช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน ไม่ก่อความวุ่นวาย ให้แก่สังคมประเทศชาติ เป็นประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ ช่วยประชาชนไม่ให้เป็นภาระสังคม ต่างคน ต่างช่วยกัน ด้วยน้ำใจ เห็นคุณค่า ที่คนได้ช่วยคน นั่นคือ หน้าที่ของ นักการเมือง ที่เป็นชาวอโศก คือพลเมือง ช่วยพลเมือง การเมืองของชาวอโศก เป็นการเมือง ชนิดนี้ เพราะจะช่วยคนให้เป็นพลเมืองดีของรัฐ โดยเรา เป็นคนดี คือเป็นอาริยบุคคล เสียก่อน แล้วจึงจะไปช่วยคนอื่นต่อๆไป รัฐศาสตร์แนวพุทธก็คือการสร้างบุคคลขึ้นมาให้เป็นคนอย่างนี้ ให้แก่รัฐ ให้คนลดกิเลสได้จริงๆ จึงจะเป็น บุญนิยม แล้วรัฐจึงจะมีทั้งระบบการบริหาร มีระบบการเมือง มีทั้งระบบ การสัมพันธ์ กับต่างประเทศ อย่างเป็น ชนประเสริฐ ชนพัฒนาที่แท้จริง ไม่ใช่พัฒนาแฝงๆ พัฒนาแต่วัตถุ มีแต่การเอาเปรียบ เขาได้เก่ง แบบทุนนิยม พวกทุนนิยมนี่ ใช้อำนาจบาตรใหญ่ ใช้อำนาจ ความสามารถ ความเก่งในการผลิต ในการใช้ จิตวิทยาก็ตาม สามารถที่จะแผ่อิทธิพล อำนาจ ให้คนอื่นนี่มาเป็นบริวาร เป็นอาณานิคมที่เขาพูดภาษาโก้ๆ ว่า เขาจะช่วยดูแล ช่วยสร้าง ปกครอง ให้ดี แต่ภาวะความจริงของคนโลกียะปุถุชนนั้น ก็คือต้องเป็น นายทุน นายทาสให้ได้ เพื่อที่จะสร้าง ผลประโยชน์ ให้แก่ตนเองที่เป็นเมืองนาย เป็นจ้าวอาณานิคม สมัยโบราณ ทำอย่าง เจงกีสข่าน ทำอย่างอเล็กซานเดอร์มหาราช ใช้อิทธิพลด้วยการล่าด้วยเลือด ด้วยเนื้อ ฆ่าให้ตาย จนเขาไม่กล้าหือ แต่สมัยนี้ล้าสมัยแล้ว ไม่ล่าอย่างนั้นแล้ว แต่เขาล่าเมืองขึ้นอาณานิคม สมัยใหม่ ล่าด้วยวิธีการทางรัฐศาสตร์นี่แหละ ทางการเมืองนี่แหละ ล่าด้วยทางเศรษฐศาสตร์ ล่าด้วยวิถี วัฒนธรรม ตอนนี้ประเทศไทยนี่ตกเป็นเมืองขึ้นอย่างเนียนสนิทแล้ว คนรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่นี่ ยกเว้น พวกเด็กอโศก พ้นจากอโศกไปแล้วนี่ไม่แน่ใจ ถ้าออกไปก็ไปถูกครอบงำทางวัฒนธรรม ทางเศรษฐกิจ กลายเป็น ทาสของคนต่างประเทศ สรุปว่า รัฐศาสตร์ที่ดี ก็คือคนที่ดี รัฐศาสตร์ที่ดีก็คือคนที่ดี คำตอบอยู่ที่"คน" แล้วจะทำอย่างไร ที่จะบริหาร ก็ดี การเมืองก็ดี หรือแม้แต่การต่างประเทศก็ดี เช่นที่เป็นเป้าหมาย ของรัฐศาสตร์ ที่ศึกษา และเอาไป ปฏิบัติกัน จะทำให้เกิดการเมืองที่มีบุคคลเจริญ บริหารประเทศชาติ ให้บุคคลเจริญ ออกไปสัมพันธ์นอกรัฐ ของเรา สัมพันธ์กับต่างประเทศไปอีก แล้วก็ให้เกิดบุคคล ที่เจริญอีกเหมือนกัน ไม่ใช่ไปเป็นราชทูตแบบไส้ศึก หาทางได้เปรียบ อย่างที่กล่าวแล้ว ถ้าสามารถ ทำได้อย่างนี้ อันนั้นแหละเรียกว่ารัฐศาสตร์แนวพุทธ หรือ รัฐศาสตร์บุญนิยม เอ้า....สำหรับวันนี้ ก็ขอเทศน์แต่เพียงเท่านี้ เอวัง.
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นตระกูลเผ่าพันธุ์แห่งความเป็นอาริยบุคคล เมื่อใครได้อาริยธรรม ก็สืบเผ่า สืบพันธุ์ สืบสกุลของพระพุทธเจ้าเอาไว้ เป็นการเกิดแบบ"โอปปาติกโยนิ" เกิดทาง จิตวิญญาณ โดยมีแม่ มีพ่อ มี"มาตา-ปิตา"พาเกิด พระพุทธเจ้าตรัสว่า อัตถิ มาตา-อัตถิ ปิตา และ สิ่งที่เกิดคือ "อัตถิ สัตตา โอปปาติกา" คือ การผุดเกิดในจิตวิญญาณ แม่พ่อชนิดนี้ ไม่ได้มีตัวตน บุคคลเราเขา เหมือนกับอย่างวัตถุโลก แต่มีภาวะ มีองค์ประกอบลักษณะ ซึ่งอธิบายยากมาก เช่น อย่างที่อาตมาเคยยกตัวอย่าง "ศีล" เป็นแม่ "ปัญญา" เป็นพ่อ อย่างนี้เป็นต้น ปัญญาที่ว่านี้ ต้องเป็นปัญญา แบบพุทธ ขั้นภาวนามยปัญญา จึงจะเป็น พ่อได้ ศีลเป็นแม่โอบอุ้มขัดเกลา ให้เราเกิด ศีลจะคลุกคลีเกี่ยวข้องกินอยู่กับเรา ควบคุมขัดเกลาเรา จู้จี้จุกจิก อยู่กับเรา นั้นแหละศีล นั่นคือ จริตส่วนของความเป็นแม่ ส่วนจริตของความเป็นพ่อ ก็คุมอยู่โดย ไม่มีใคร รู้เห็นโต้งๆ เหมือนแม่ ทว่าก็เป็นหลักตั้งแต่สัมมาทิฏฐิไปทีเดียว จนถึงขั้นปัญญา-ปัญญินทรีย์-ปัญญาพละ นั่นเอง ที่ฟูมฟักการเกิดของจิตในจิตผู้ปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้ เป็นองค์ประกอบของ ความเป็นแม่ เป็นพ่อทั้งสิ้น ขอให้พวกเราได้รู้ว่าที่อาตมาได้พยายามกระทำนี้เป็นการสร้างสรร เป็นการกระทำ เผ่าพันธุ์ เผ่าพันธุ์ มนุษยชาติ ที่เป็นเผ่าพันธุ์อันประเสริฐเยี่ยมยอด เป็นคนอาริยะ เกิดได้ทางจิตวิญญาณ เกิดจริงๆ ไม่ได้ พูดเล่นเปล่าๆ เป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ เกิดจริงเป็นจริง สิ่งเหล่านี้เป็น วิทยาศาสตร์ พระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า พระโพธิสัตว์มีลูกจำนวนพันเป็นอเนก ถ้าใครอ่าน พระไตรปิฎก อันนี้แล้ว ก็บอกว่า เอ๊ะ.. ทำไม พระโพธิสัตว์อะไร มีกามมากมาย นี่มันเป็นเรื่อง ของโลกุตระ เป็นเรื่องของโลกอาริยะ ไม่ใช่เป็นอย่างที่เป็นๆ กัน แต่มันเป็นจริงที่แปลก มาถึงวันนี้ อาตมาเชื่อว่าพวกเราไม่สงสัย พระโพธิสัตว์มีลูกจำนวนพันเป็นอเนก ลูกคืออะไร อ้อ..ลูกอย่างนี้ และต้องเป็นลูกจริงๆ อาตมาทุกวันนี้นี่ก็พยายามที่จะผลิตลูกให้ได้มากๆ ก็ตั้งใจ ฟูมฟัก ทำความเป็นแม่ เป็นพ่อ คนไหนที่ได้เข้ามาสมัครจะเป็นลูก ก็พยายามทำตัวเป็นลูกให้ดีๆ อย่าให้ผี มันดึงกลับไปเป็น ลูกผีลูกมาร อย่างเก่าอีกล่ะ เอาให้รอดให้ได้ ถ้าจะมีความหวัง อาตมาก็คงจะต้องหวังว่า สังคมจากวินาทีนี้เป็นต้นไปนี่ คงจะเป็นสังคมที่มีคนดี มีคนประเสริฐ มีคนที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อตนต่อโลกยิ่งๆขึ้น ยิ่งๆขึ้น ขอให้ความหวัง ของอาตมา เป็นจริงด้วยเทอญฯ สาธุ" ในงานอโศกรำลึกมีการประชุมสถาบันบุญนิยม(๑๐ มิ.ย.) ประชุมวิทยุชุมชน(๑๐ มิ.ย.) ประชุม กรรมการ บริหารพรรค เพื่อฟ้าดิน(๑๑ มิ.ย.) ประชุมแกนนำเครือแห(๑๑ มิ.ย.) ประชุมพาณิชย์ บุญนิยม(๑๒ มิ.ย.) รวมถึง การแสดงธรรม ทำวัตรเช้า (๑๑-๑๒ มิ.ย.) ซึ่งในที่นี้ขอข้ามผ่าน
# สัมมนาจังหวัดนำร่องเกษตรอินทรีย์ สำหรับรายละเอียดของการอบรมและเนื้อหาการแสดงธรรมของพ่อท่านในที่นี้ข้าพเจ้าขอข้ามผ่าน ผู้สนใจ รายละเอียดติดตามได้จากฝ่ายเผยแพร่ และข่าวอโศก รวมถึงสารอโศก ที่ได้นำเสนอ ไปก่อนแล้ว
"งานที่อาตมาทำนี่ มันเกิดผลให้พวกเรากลุ่มภายในได้ประโยชน์ แล้วก็ต่อเนื่องไปถึง กลุ่มภายนอกด้วย ทีนี้เขาก็เห็นดีเห็นด้วย ทั้งๆที่แต่ก่อนนี้เขาไม่เห็นดีเห็นด้วยเลย เขาจะปราบ ด้วยซ้ำไป จะจัดการให้ หายสูญไปในโลกนี้ โดยวิธีการต่างๆ ที่เขาจะกำจัด แต่พุทธธรรม ที่เราพึงเพียร ก็ดำเนินไป และเราก็ได้ พิสูจน์ตัวเราเอง จนกระทั่งยืนหยัดยืนยันมาเรื่อยๆ ความจริง ที่เราได้กระทำ และการแสดงออกด้วยชีวิต โดยการเป็นคนมีกายกรรม มีวจีกรรม มีมโนกรรม มีพฤติกรรมความเป็นพวกเราชาวอโศกเนี่ย มันก็ปรากฏ ออกไปทั้งตัวที่เราเป็นอยู่ แล้วเรา ก็เกี่ยวข้องกับสังคม ว่า เราเป็นอยู่อย่างไร เราไม่ได้ไปรบกวนสังคม ไม่ได้เอาเปรียบสังคม ไม่ได้ไปก่อความวุ่นวายอะไรในสังคม ไม่มีเรื่อง เหลวไหล ไม่มีบทบาทที่ไปทำอะไรกระทบกระเทือนให้แก่สังคม นอกจากเราเป็นตัวของเรา เป็นอย่าง ที่เราเป็น เรามักน้อย เราสันโดษ เราพอ เราไม่ไปแย่งไปชิง ไม่ไปแข่งขัน ไม่ไปอวดโอ่ ไม่ไปข่ม ไม่ไปเบ่ง ไม่ไปทำ ความกระทบกระเทือนอะไรให้แก่สังคมเขา สิ่งเหล่านี้ บ่งบอก ความจริง ที่เป็นจริงมันก็ปรากฏ หรือมันก็ จะเกิด วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ความจริงก็จะ ยืนยันผล ยืนยันสภาพจริงนั้น ขึ้นมาเรื่อยๆ เขาก็จะรู้ตามจริง ในสังคม ที่มันเป็นจริง เราก็ประกาศ เราก็บอก แล้วเราก็เป็นจริงเราก็แสดงจริง ไม่ใช่ประกาศโฆษณา ประกาศ อวดอ้างอะไรไปเฉยๆ แต่เราเป็นอย่างไร เราก็เป็นจริงอย่างที่เราพูด เขาจะแย่งแข่งลาภกัน เราก็ไม่ไปแข่งลาภ แข่งร่ำแข่งรวย เขาแข่งยศกัน แย่งชิงยศกัน เราก็ไม่ ไปแข่งแย่งชิง ยศชั้นอะไร เขาจะมียศชั้นสรรเสริญเยินยอ ได้รับความยกย่อง เราก็ไม่แสดงว่า เราจะไปแย่งเอา ความเด่น ความดัง หรือแม้แต่แย่งอัตตา แย่งความถือดีถือตัว ความเป็นคนใหญ่ คนมีค่าอะไร แต่จะมีบ้าง อันหนึ่ง ก็คือ เรายืนยันว่าเราดี คำว่าดีนี่เป็นคำรวม เราว่าเราดี เรามาจนนี่ มามักน้อยสันโดษนี่ เราว่าเราดี เราไม่ไป แข่งดีแข่งเด่น เพราะไม่แย่งรวย ไม่ไป เบียดเบียนเขา นี่เราว่าเราดี เราจะพูดว่าอันนี้ดี ซ้อนๆกันอยู่ เราก็เหมือน กับอวดดี แต่เราก็ ไม่พยายาม จะอวดหรอก เราก็ประกาศ เราก็บอกว่าอย่างนี้ดีนะ มันก็เลี่ยง ไม่ได้ ว่าเราอวดดี มันก็มีตรงนี้เท่านั้นแหละ ความจริงแล้วเราบอกว่าสิ่งเหล่านี้ดี เช่น จนนี่ดี ไม่แย่งชิง นี่ดี ไม่ไปหลง ในรูปรส กลิ่น เสียง สัมผัสนี่ดี เราบอกอย่างนี้ แล้วเราก็ประพฤติอย่างนี้ ทำอย่างนี้จริงๆ คนเขา จะขัดแย้งในใจ ว่าจนมันจะดีอย่างไร เขาเองเขาก็แย่งลาภ แย่งร่ำแย่งรวย เขาก็แย่งรูป แย่งรส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เขาโฆษณากันโครมๆ เขาแย่งอยู่ เราบอกว่า ไม่แย่งนี่แหละดี ไม่ต้องไปมี อย่างนั้นแหละ ดีกว่า เราก็ประกาศอย่างนี้ไป มันก็อวดตัวเรา เราก็เป็นอย่างนั้น เราไม่สวย ไม่รวย ไม่แข่งรูป รส กลิ่น เสียงอะไร เราก็ไม่เป็น เราไม่ได้ไปแย่งจริงๆ สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ประกาศ จากความจริงใจว่า อย่างนี้ดี มอซออย่างนี้ แต่ก่อนแต่ไรเขาสับสน เขาบอก..มันมาพูดอะไรวะ มันจะแต่งตัว มอซอ ก็บ้าไปสิ ดีตรงไหน แต่ทุกวันนี้ เขารู้สึกว่า เออ..ไอ้มอซอนี่ ดีเหมือนกันนะ ลึกๆ ก็มักน้อย สันโดษ ความพอ ความไม่แย่งชิง ความไม่โลภ ความไม่ไปแข่งไปเบ่งอะไร ในสิ่งทั้งหลาย ที่เรียกว่า ธรรมะ หรือคุณธรรมจริงๆ เขาพอรู้กันขึ้นมาแล้ว เราทำจริงๆ ยืนหยัดยืนยัน ปีแล้วปีเล่า ๒ ปี ๕ ปี ๘ ปี ๑๐ ปี นี่ ๓๐ ปี ที่อาตมาพาทำอย่างนี้มา จนมีมวล มีคนมอซอ ไม่ใส่รองเท้า แต่ก่อนนี่เขารับไม่ได้ เข้าที่ไหน เจ้าไม่ใส่รองเท้า....ออกไป เข้าประตูนี้เข้าไม่ได้ ผ่านย่านนี้ไม่ได้ แต่งตัวมอซอกะเร่อกะรัง ผู้หญิงก็ดูซินุ่งผ้านุ่งยังกะคนใช้ คนใช้บ้านฉันยังนุ่งกระโปรงเลย อะไรต่างๆพวกนี้ แต่ก่อนนี้เขาขัดแย้งสับสน แต่พอนานปีเข้านี่ ทุกวันนี้พอจะยอมรับขึ้นมาบ้าง เป็นการ ยอมรับที่ค่อยๆซึมซับ ยอมรับขึ้นมาเรื่อยๆ ทุกวันนี้ ก็หลายที่ หลายแห่งไม่มีปัญหา แม้แต่ รปภ. ก็ยอม ให้เข้าแล้ว มาถึงวันนี้แล้ว คนจะเข้าใจถึงเรื่องอาริยธรรม หรือว่าธรรมะที่แท้จริงเป็นความไม่โลภ ไม่เอาเปรียบ มักน้อย สิ่งอย่างนี้แหละเป็นคุณค่าที่แท้จริง ลึกๆเขารู้แต่เขาสับสน เพราะเขา ก็ไปปฏิบัติแย่งลาภแย่งยศกันอยู่ อีกอย่างหนึ่งที่เขาไม่ยอมรับก่อนก็คือ เขาไม่เชื่อว่า เราจะมักน้อย สันโดษได้จริง อย่างคุณจำลองนี่ แต่งตัว เรียบร้อย ไม่หวือหวา ไม่พยายาม จะให้มันใหญ่ มันหรู เหมือนอย่างที่เขาทำ เขาบอกว่ามันสร้างภาพ ทำเป็น มักน้อยสันโดษ ขี่รถกระบะไปทำเนียบ หิ้วปิ่นโตไปทำเนียบ สร้างภาพ จนคุณจำลองต้องยอม อำนาจโลก อำนาจสังคม ถึงขั้นยอมไม่หิ้วปิ่นโตไปทำเนียบแล้ว อย่างนี้เป็นต้น ก็พยายามที่จะประนี ประนอม ทั้งที่ ทำด้วยใจจริงว่ามันดีนะ จนกระทั่งเรายืนหยัดยืนยันมาปีแล้วปีเล่า ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี เราก็ยืนยันมาเรื่อยๆ เขาจึงค่อยยอม มาตาม ลำดับๆ เออพวกนี้มันคงจริง มันคงมักน้อยได้จริง แต่ก็คงยังต้อง พิสูจน์อีกต่อไป เด็กๆ อาตมาก็พามาปฏิบัติ มาเล่าเรียน มาฝึกหัด ก็ให้นุ่งผ้าถุง นี่เป็นชุดนักเรียน ไม่ใช่เป็น ชุดลำลอง อยู่ในบ้าน ออกนอกบ้านก็ชุดนี้ ไปงานพิธีการ งานใหญ่ๆโตๆก็ชุดนี้แหละ นุ่งผ้าถุง ไม่ใส่เกือกนี่แหละ ขอยืนยัน นี่เป็นชุดที่จดทะเบียนแล้ว กระทรวงฯรับรองแล้วว่าเป็นชุดนักเรียน ที่พามาทำเพื่อฝึกฝนชีวิต ให้รู้จัก มักน้อยรู้จักสันโดษ ให้รู้จักมีวัฒนธรรม นุ่งผ้าถุงนี่ของไทย ไอ้นุ่งกระโปรงนี่มันของไทยที่ไหน เด็กๆ ยุคนี้อาจจะนึกไม่ออก แต่ผู้ใหญ่อายุ ๑๐๐ ปีไปแล้วนี่ จะรู้ดีว่ากระโปรงนี่ยังไม่มีหรอก พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ไม่ได้เคยนุ่งกระโปรง มันเพิ่งมาทีหลัง จากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมไทยแต่ก่อนก็นุ่งผ้าถุง เดี๋ยวนี้ เราก็มีวัฒนธรรม เอาความเป็นไทย มายืนหยัดยืนยัน ซึ่งก็ต้องต่อสู้นะกว่าจะได้ชุดนุ่งผ้าถุง ให้เด็กผู้ชาย มานุ่งกางเกงไทยๆ แบบนี้ ชุดนักเรียนข้างนอกเขามีกางเกง แบบสากลมีเป้า ผู้หญิงก็นุ่ง กระโปรง เดี๋ยวนี้ กระโปรงนักเรียน บางโรงเรียนสั้นเลยนะ เป็นจีบๆ สวยอะไรของเขา ไปตามประสาเขา แต่ของเรา ยืนหยัด วัฒนธรรมนี้ อาตมาพาพวกเรามาทำงาน ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา ศีลเด่นให้มาถือศีล เขาว่ามันเชยมากแล้ว เดี๋ยวนี้นี่ ถือว่า ถือศีลนี่เชยมาก อาตมาว่าคนในโลกนั่นต่างหากที่เชยมาก เพราะไม่ถือศีลกัน คนถือศีล เป็นคน ทันสมัยมาก เพราะการถือศีลเป็นความวิเศษ เป็นความประเสริฐ เป็นความฉลาด เป็นความยิ่งยอด เป็น ความดีเยี่ยมของมนุษย์ เป็นเรื่องที่ควรอวดอ้าง ไม่ถือศีล ก็คือ คนที่เสื่อม คนที่โง่ คนที่ไม่ทันสมัย คนที่ ไม่ฉลาด คนที่ไม่รู้จักความดีความประเสริฐ เพราะฉะนั้น อาตมาพามาทำศีลเด่น ให้มาถือศีล ศีลข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ ไม่ให้มาถือเล่น ให้มาปฏิบัติจริง ถ้าเราไม่ฆ่าสัตว์ได้จริง ใจเกิดเมตตา เราก็เป็นคน ไม่ทำร้ายใคร สังคมก็จะได้ มีคนอย่างนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆในสังคม ประเทศไทยมีคนไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ แล้วมันจะเป็นยังไง มันก็ไม่ต้องมีตำรวจ มันก็ไม่ต้องมีอาชญากรรม อย่าว่าแต่ฆ่าคนเลย ฆ่าสัตว์ มันไม่ฆ่าแล้ว มันจะไป ฆ่าคนทำไม ฆ่าคนมันลำบากกว่านัก ติดคุกด้วย ศีลข้อ ๒ ก็ดี ไม่ขโมย ไม่ลักทรัพย์ ไม่โลภโมโทสัน ที่นี่สอนให้ถึงขนาดไม่ยินดีในเงิน
ไม่ต้อง สะสมเงิน คนไม่ต้องมีเงินเป็นของตนก็ได้ แต่ใช้เงินเป็น เงินผ่านมือเหมือนเราใช้วัตถุ ตามหน้าที่ ของมัน
มันผ่านมา ผ่านไป ไม่ต้องไปยึดไปถือ ไม่ต้องไปสะสมเงิน โอ้โฮ....เป็นคนยอดคนเลยนะ
คนที่ไม่ต้อง สะสมเงิน แต่ก็มีเงิน ผ่านไปผ่านมา เหมือนจานเหมือนชาม เหมือนผ้าเหมือนผ่อน
เหมือนผัก เหมือนหญ้า เราใช้งาน แล้วก็ผ่านไป แล้วไม่ต้องไปหลงใหลสะสม ไม่ต้องกอบโกย
ไม่ต้องเห็นว่า มีได้มากๆแล้วจะประเสริฐ ไม่ต้องไปหลงใหลอย่างนั้น สังคมเราฝึกมา เพื่อเป็น อย่างนี้
เมื่อเราไม่โลภ ไม่เห็นแก่เงิน เราก็ไม่เดือดร้อน แล้วเรา ก็จะสงบสุข"
(ผู้สนใจรายละเอียด ติดตามได้จาก ฝ่ายเผยแพร่) ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้ จากเนื้อหาบางส่วนที่พ่อท่านได้ให้โอวาทปิดการประชุมของสมณะ มหาเถระ ๗ มิ.ย. ๒๕๔๘ ก่อนงานอโศกรำลึกที่ผ่านมาดังนี้ "หมั่นประชุมบ่อยๆนี่ ไม่เสื่อมอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้แน่นอน เราหมั่นกันประชุม มีอะไร เชิญกันมา ร่วมกันคิด ร่วมกันประชุม ช่วยกันตัดสิน มีมติอะไรมันจะไม่ผิดพลาด หลายหัว มันดีกว่าหัวเดียว แน่นอน เพราะพวกเราไม่ใช่หัวเผือกหัวมัน ยังไงๆ ก็หัวสมองคน คนที่ได้เล่าเรียน ศึกษา ฝึกฝนด้วย ไม่ใช่คนอะไร ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็หมั่นประชุมกันพรั่งพร้อมกัน ทำอยู่อย่างนี้ ก็ดีแล้วพยายามให้เป็นหมวดเป็นหมู่ เป็นปึกแผ่น เมื่อวานนี้ใครน้อ! เป็นระดับผู้ใหญ่อยู่นะ ถามผมว่า ท่านได้เตรียมใครไว้ไหม เมื่อท่านสิ้นไปแล้ว ท่านได้ทำ อย่างไร แล้วอโศกจะไปได้หรือ จะอยู่รอด จะเป็นไปได้อย่างไร ท่านได้เตรียมใครไว้ ทำหน้าที่แทน ผมก็บอกว่า ได้เตรียมไว้แล้ว เตรียมไว้ตามธรรมพระพุทธเจ้า คือ ไม่ได้ตั้งใคร ไม่ได้ไป กำหนดใครหรอก นี่คือการเตรียมที่ถูกต้องตามธรรมพระพุทธเจ้า ไม่ได้ไปตั้งคนหนึ่ง คนใด ขึ้นมาเป็นหัวหน้า พระพุทธเจ้า ก็ไม่เคยสอน ให้ไปตั้งคนเป็นหัวหน้า ท่านให้อยู่รวมกัน อย่าแยกกัน ใช้ธรรมเป็นหัวหน้าเป็นผู้นำ กำหนด อย่างนั้นต่างหาก ช่วยกันปฏิบัติตามธรรม อย่าแยกกัน เป็นอันขาด ธรรมวินัยมีหลักการที่ใช้บริหารปกครอง ละเอียดดีแล้ว นอกนั้น ทุกคน ก็หัดฝึก เรียนรู้ รับรู้ รับผิดชอบ เข้าใจอยู่แล้วว่าหน้าที่การงานที่จะทำ กับหมู่ กับกลุ่มกับคณะ ที่เราจะทำต่อไปอย่างไร นี่คือความจริงที่ตอบตลอดมา ซึ่งพวกเราก็ได้ปฏิบัติ ประพฤติ อยู่ตามที่ว่านี้ ไม่น่าจะต้องมีปัญหาอะไร เราจะเห็นได้ว่าข้างนอกเขาทุกวันนี้เกิดความแตกแยกกันมาก แข่งดีแข่งเด่นกัน แย่งชิงกัน ตั้งก๊ก ตั้งเหล่ากัน ทั้งๆที่ไม่แยกกันก็ตั้งก๊กตั้งเหล่ากันอยู่นั่นแหละ ก็เห็นกันอยู่ ขัดแย้งกัน ทะเลาะกัน แย่งอำนาจ แย่งอะไร ก็แล้วแต่เขาแย่งกันสาหัส แล้วมันจะไปรอดอะไร ถ้าเรามาปรึกษา หารือกัน อะไรผิด อะไรถูก อะไรเหมาะ อะไรควร ถ้าได้ร่วมตกลงกันดีๆมันได้ทั้งมติ-ได้ทั้งการละอัตตา แต่ถ้า ไม่ได้ใช้หลักธรรม ไม่ได้ประชุม วิเคราะห์วิจัยกันอย่างดีนะ โอ..มันไปไม่ได้หรอก มันจะคลุมเครือ มันจะอมพะนำกัน มันจะขัดแย้งกันอยู่ เรื่อยไป แล้วมันก็ไปไม่รอด มันจะหมักหมม เน่าใน ที่สุดพังทลาย เมื่อวานผมขึ้นเครื่องบินมา ที่สนามบินมีพระทางเถรสมาคมในเที่ยวนั้น ๔-๕ รูป รูปหนึ่งเดินอาดๆ เข้ามา เลยนะ ดูท่าทางก็คงจะมีตำแหน่งฐานะอยู่หรอก มารู้ทีหลังว่าพระวัดทุ่งศรีเมือง อุบลฯ ผมก็นั่งอยู่ที่ ม้านั่งพักของผู้มาส่ง รวมๆกับญาติโยม ท่านเข้ามายืนอยู่ไม่ไกลนัก แล้วก็พูดว่า โอ..อยากพบตัวจริง อยากคุยด้วย เอาละ..ได้คุยแล้ว ได้ทักทายปราศรัยแล้วก็พอใจแล้ว ยินดีด้วย สนับสนุน เสร็จแล้ว ท่านก็เดิน เข้าไปข้างในห้องผู้โดยสารก่อน คณะเรายังไม่ได้เข้าไป ก่อนเข้า ก็หันมาแถมพูดอีกว่า เดี๋ยวผม มานั่งคุยด้วย ขึ้นไปบนเครื่องบิน พอดีได้ที่นั่งแถวเดียวกัน ท่านได้ ที่นั่งแถวใน ผมนั่งแถวนอก เมื่อเครื่องบิน ขึ้นแล้ว ท่านก็เอาบัตรเชิญมาให้ผม เชิญไปเผาศพ เจ้าอาวาส วัดทุ่งศรีเมือง จะเผาวันที่ ๑๗ มิ.ย. เขียน จ่าหน้าซองนิมนต์ผม กำชับกำชา ท่านไป หน่อยนะ ไปปรากฏตัวหน่อย อ่านดูแล้ว ก็นึกในใจว่า จะไปยังไง เราไม่รู้จักใครสักคน ท่านก็มา ถามไถ่ นั่งคุยซักไซ้ไล่เลียง ดูท่าทีแล้วก็ศรัทธา เลื่อมใส ตอนจะลง จากเครื่องบิน พระอีก ๓-๔ รูป ก็มาโอภาปราศรัยด้วย บ้างก็ยิ้มแย้มทักทาย ก็ขณะนั้นกำลังมีข่าว กระแสต้าน การร่วมจัดงาน วิสาขบูชา ที่พุทธมณฑลแท้ๆ แต่ได้พบกับบรรยากาศอย่างนี้ ก็เป็นที่น่าสังเกต ตอนนี้ผมไม่ต้องเป็นคนแก้ต่างหรือเป็นคนที่จะชี้แจงแถลงความคนเดียวแล้ว พวกเราแต่ละคน เก่งๆ กันทั้งนั้น เดี๋ยวนี้ อย่าง ไฟธรรม ว.ชัยภัค นี่ อ้างพระไตรปิฎกหมวดนั้นข้อนั้น ยืนยันเอามาให้ ตรวจสอบ เอาน่า.. เชิญไปตรวจสอบกันจริงๆได้ ใครที่ทำให้ธรรมวินัยวิปริตกันแน่แท้ เท่าที่เป็นม าถึงป่านนี้ ผมก็ว่า ใช้ได้นะ คือ หลักฐานหรือพฤติกรรมแท้ มันปรากฏ มันเป็นหลักฐาน ของจริง ที่ปรากฏ แล้วมันก็เป็น เครื่องยืนยัน มันจะชนะหรือแพ้ มันอยู่ที่ความจริงที่ปรากฏ พวกคุณเป็นมหาเถระกันแล้วนี่ ถ้าเผื่อว่าทำให้ดี มีคุณธรรมของแต่ละบุคคลกันคนละมาก คนละน้อย พอผม ประกาศยืนยันความจริง ไม่ใช่ธรรมดานะ ประกาศว่าเป็นสังคม ศรีอาริย เมตไตย คือ สังคมของ มนุษย์ที่เป็นคนมีศีล มีธรรมของพระพุทธเจ้ากันทั่วทั้งสังคม พุทธบริษัทนี้ เป็นอาริยบุคคล เพราะในสังคมนี้ ไม่มีอบายมุข อบายมุขข้างนอกเขาครืนๆกัน แต่ที่นี่ไม่มี หนึ่ง ไม่มีอบายมุข สอง คนในสังคมนี้ทุกคน มีศีลห้า เป็นอย่างต่ำ เห็นเป็นรูปธรรมเลยศีลห้า คือ ทุกคน ไม่ฆ่าสัตว์ ทุกคนไม่ลักทรัพย์ ทุกคนไม่ผิดผัวเขา เมียใคร ทุกคนไม่พูดปด ไม่พูดหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ทุกคนไม่ดื่มเหล้า อย่างนี้เป็นต้น และยังมีคนอีก ไม่น้อย ที่มีศีล ๘ ศีล ๑๐ ลึกไปกว่านั้น ก็คือ อยู่กันอย่างเห็นพฤติกรรมกันได้เลยว่า มีวิถีการดำเนินชีวิต ไม่มีอาชญากรรม ต่างๆ นานา เหมือนอย่างโลกข้างนอกเขาเป็น ไม่เดือดร้อน อย่างที่เขาเดือดร้อน เขาไม่สงบ เขาวุ่นวาย ต้องว่าความกัน ต้องต่อสู้กัน ไม่ต้องไปพูดถึงขั้นฆ่าแกง แย่งชิง หนักหนา สาหัสเลย เราไม่มีสิ่งเหล่านั้น เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่า สังคมนี้สงบสุข ไม่วุ่นวาย พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า โสดาบันนั้นคือ ยิ่งกว่าเอกราชทั่วทั้งแผ่นดิน เพราะเราไม่ได้เป็น ทาสใคร เราไม่ได้ เป็นหนี้สิน หรือไม่ได้เป็นอะไรอยู่ใต้บังคับใต้อาณัติ ใต้อิทธิพลของสังคม ของโลกีย์ โดยเฉพาะ หลุดพ้นจาก ความเป็นอบายมุขในโลก เป็นเอกราชจริงๆ โลกทั้งโลก ไม่ได้เป็นเอกราชกันหรอก ถ้าไม่ชัดเจน ในคำว่า "เอกราช" แห่งความเป็นคนในสังคม แล้ว"ดับเหตุ" ที่ทำให้เราเป็นทาสนั้นๆได้จนสำเร็จจริง เมืองไทย ใครว่าเป็นเอกราชมั่งทุกวันนี้ อย่างน้อย ก็เป็นทาส ทางวัฒนธรรม ทาสทางเศรษฐกิจ ทาสทาง การเมือง มันเป็นทาสเขาอยู่ชัดๆเลย แต่ชุมชน ชาวอโศกเราเป็นเอกราชทั่วทั้งแผ่นดินได้จริง เพราะ อย่างน้อย คนทั้งชุมชน ไม่มีอบายมุข และทุกคนมีศีล ๕ เป็นอย่างต่ำ และ ๒ ท่านตรัสอีกว่า โสดาปัตติผลนั้น ยิ่งกว่าสวรรคาลัย มันเป็นสวรรค์ของโลกุตระ ไม่ใช่สวรรค์ โลกียะ คือ จิตสุขสงบ อทุกขมสุขหรืออุเบกขา เป็นวูปสมสุข เพราะมันสงบสบายมาก สิ้นภาระ สุขเย็น สวรรคาลัย ก็คือ สวรรค์ กับอาลัย อาลัยก็คือ ที่อยู่ ที่อยู่ที่อาศัยของจิต ยิ่งกว่าสวรรค์ของ ชาวมนุษยโลกสามัญ ปรมัง สุขัง อันสุดท้ายท่านตรัสว่า โสดาบันนี้ ยิ่งกว่าอธิปไตยใดๆในโลกทั้งปวง อธิปไตยคือ
ความมีอำนาจ ความเป็นใหญ่ นั่นคือ ความมีอำนาจแข็งแรง ไม่แปรปรวนไปตามกระแสสังคม
โดยเฉพาะสังคม ที่ล้มเหลว เลวร้าย มีทั้งปัญญารู้ทันอย่างเป็นโลกุตระ และทั้งจิตที่แข็งแกร่ง
ดังนั้น ยิ่งกว่า อธิปไตยใดๆในโลกทั้งปวง กลุ่มคนที่มีอธิปไตยดังกล่าวนี้
คือ ผู้มีอำนาจแข็งแรง อย่างเห็นได้ เป็นรูปธรรม ที่ยืนยันชี้ชัด มีอยู่ในโลก
ขณะนี้แล้ว เราพูดอย่างนี้ได้ เพราะเราทำมาจนได้ และยืนยัน ยืนหยัดมายี่สิบ-สามสิบปีแล้ว
พอผมพูดขึ้น ทุกคน ฟังแล้วก็คงเห็นจริง เข้าใจได้ เพราะฉะนั้นหมู่กลุ่มสังคมเราทุกวันนี้
เป็นถึงขนาดนี้ พวกคุณระวังนะ อย่าเพิ่งเอาคำพูด อย่างที่ผมพูดนี้ ไปพูดในที่ทั่วไป
ต้องดูว่าคุณเอง เหมาะควรจะพูดไหม กาละนี้ พูดได้ห รือยัง เดี๋ยวพูดแล้ว เขาเกิดหมั่นไส้อะไรเกินการณ์
มันก็ไม่ดีนะ นอกนั้นก็คงต้องกำชับกำชากันเรื่องดูแลงานการกันหน่อย ว่าต้องนำพาญาติโยมเขา ถ้าไม่เช่นนั้น ก็ไม่มี อะไรเป็นหลัก เพราะอย่างไรเราก็เหมือนเป็นพ่อเป็นพี่ เป็นหลักของทุกแห่งแหละ แล้วเขาก็ให้ ความเคารพ ความศรัทธา จริงด้วย ก็ต้องทำอันนี้ให้มันสอดคล้องความจริงให้มันดี ในชั่วระยะเวลาที่จะทำให้มันดี เท่านี้ ก็อยากจะเตือนอีกอันหนึ่งคือว่า อย่าเห็นว่ารายได้จากการอบรมเป็นรายได้หลักเลี้ยงตนเป็นอันขาด ต้องพึ่งตน ในสัมมาอาชีพ ที่เป็นการสร้างงาน อันเป็นปัจจัยสี่ งานที่จะทำอยู่กับสังคม ชุมชนของตนเอง ให้เป็นหลัก แม้ไม่อบรม เราก็มีผลผลิตทำเลี้ยงตนรอด ส่วนการอบรมนั้นบางทีเราต้องจ่ายด้วยซ้ำ ก็ต้องจ่าย ขาดทุน ต้องควักกระเป๋า แต่มันเป็นงานที่เราต้องทำ เพราะนั่นเป็นการสร้างมนุษย์ มันจะมีเงิน ได้มาบ้าง ก็เอา แต่อย่าไปหลงใหลได้ปลื้มกับเงินอบรม มากันเยอะๆ จะได้เงินเยอะๆ จะได้เอามา เลี้ยงชุมชน สร้างชุมชน อย่า! ก็ขอให้พวกเราได้เข้าใจประเด็นนี้ให้ชัดๆ ถือว่าเงินที่ได้จาก การอบรม เป็นเงิน ผลพลอยได้ อย่าถือว่าเป็นเงินเลี้ยงชีพ ฆราวาสเราบางคน ไปแปลความว่า การอบรมแล้ว รับเงิน เป็นมิจฉาชีพ มันก็ไม่ใช่ ถึงขั้นนั้น จะบอกว่าไม่เป็นสัมมาอาชีพ ก็ไม่ใช่ เป็นสัมมาอาชีพแน่ แต่ไม่ใช่งานอาชีพหลักที่เราจะเอามา เลี้ยงตน เงินจะได้หรือไม่ได้ เราก็ต้องทำ ถ้าเข้าใจ ตรงนี้ไม่ได้แล้ว มันจะพาให้เราเห็นเงิน เป็นตัวหลัก แล้วอบรม ก็ไปมุ่งแต่เรื่องเงิน พอมุ่งเรื่องเงินปั๊บ ก็เหมือนกับ ครูทุกวันนี้ อาจารย์มหาวิทยาลัยทุกวันนี้ จะเป็น มือปืนรับจ้าง ไม่ได้ มันต้องมีความรัก ต้องมีการมุ่งหมายจริงๆ ที่จะช่วยคน ให้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ให้พัฒนาขึ้นมา เป็นชีวิตที่เจริญ ประเสริฐขึ้นมาจริงๆ ติดตามผล ดูแลชีวิตของลูกศิษย์ เราชื่นชม คนที่ติดตามลูกศิษย์ ดูแลไปถึงบ้านครอบครัว ตามไปถึงพ่อแม่ ไปเห็นครอบครัวนั้น ลำบาก ลำบน ควรช่วยเหลือ เราน้ำตาซึมเลยเห็นไหม ทางโทรทัศน์เขาก็ถ่ายออกมา มันน่าซาบซึ้ง ยังกะอะไรดี อันนี้ก็นัย อันนั้นแหละ นัยเดียวกัน เราต้องช่วยเหลือมนุษยชาติอย่างนั้น" - รักข์ราม. - - สารอโศก อันดับที่ ๒๘๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ - |