พระนันทเถระ ใช้ราคะล้างราคะ พระนันทเถระได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วในอดีต แม้สมัยของพระพุทธเจ้าองค์ปทุมุตระ เคยถวายผ้าทอ ด้วยเปลือกไม้ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น แล้วพระองค์ทรงพยากรณ์ว่า "ด้วยการถวายผ้านี้ ท่านจะเป็นผู้มีผิวพรรณงามดังทองคำ จะได้สมบัติทั้งสอง(ทั้งทางโลกและ ทางธรรม) จะได้เป็น พระอนุชา (น้อง) ของพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม แม้ท่านถูกราคะ ย้อมด้วยความกำหนัด ในกาม พระพุทธเจ้า จะตักเตือนท่าน ด้วยการ ให้บวช ท่านจะได้นิพพานเป็นที่สุด" ครั้นต่อมาชาติหนึ่ง ในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์อัตถทัสสี เกิดเป็นเต่าตัวใหญ่ อาศัยอยู่ในแม่น้ำ ธัมมตา ได้พบเห็น พระพุทธเจ้า ประทับยืนใกล้ฝั่งหมายข้ามแม่น้ำ จึงเข้าไปหมอบ แทบพระบาทของพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบ ความประสงค์ของเต่า จึงทรงประทับขึ้นบนหลังของมัน เต่าปีติยินดียิ่งนัก แหวกว่าย ตัดกระแสน้ำ ข้ามไป ถึงฝั่งโดยเร็ว พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสอนุโมทนา ในบุญกุศลนี้แก่เต่า แล้วเสด็จหลีกไป กระทั่งมาถึงชาติสุดท้าย ได้กำเนิดในพระครรภ์ของพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระอัครมเหสีของ พระเจ้าสุทโธทนะแห่ง กรุงกบิลพัสดุ์ หมู่ญาติขนานพระนามให้ว่า นันทะ ครั้นทรงเจริญวัยแล้ว เจ้าชายนันทะมีรูปร่างสง่างามผิวพรรณดังทองคำ รูปพรรณสัณฐานคล้าย พระพุทธเจ้า องค์สมณโคดม ยิ่งนัก เพียงแต่ต่ำกว่า พระพุทธองค์แค่ ๔ นิ้วเท่านั้น เมื่อถึงวันมงคลสมรสกับเจ้าหญิง สากิยานีนั้นเอง พระพุทธเจ้าเสด็จ บิณฑบาตเข้าไปยัง พระราชนิเวศน์ พบเจ้าชายนันทะ จึงประทานบาตร ให้เจ้าชาย นันทะถือไว้ พอตรัสถ้อยคำ อันเป็น มงคลแล้ว ก็มิได้ทรงรับบาตร คืนมา แต่เสด็จกลับ สู่พระวิหารทันที ทำให้เจ้าชาย นันทะ ต้องถือบาตรตามไปยังพระวิหาร พอถึง พระวิหารแล้ว พระศาสดาทรงให้ เจ้าชายนันทะ บวชเสีย เจ้าชาย จำต้องบวช ด้วยใจไม่ยินดีเลย ได้บวชแล้วด้วยอาการไม่เต็มใจอย่างนี้ ทำให้ภิกษุนันทะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ มีใจฟุ้งซ่าน ถูกราคะ เบียดเบียนหนัก ด้วยความคิดถึงเจ้าหญิงสากิยานีนั่นเอง จึงเที่ยวบอก เพื่อนภิกษุทั้งหลายว่า "ผมไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์อยู่ต่อไปได้ ผมจะบอกคืนสิกขาลาเพศ" ข่าวนี้ไปถึงพระศาสดา ทรงให้เรียกภิกษุนันทะเข้าหา แล้วตรัสถามว่า "ดูก่อนนันทะ เธอได้บอกกับภิกษุเป็นอันมากว่า ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถทรงพรหมจรรย์ ไว้ได้ จะบอกคืน สิกขาลาเพศ จริงหรือ" "จริงพระเจ้าข้า" "ก็เพราะเหตุไรเล่า" "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ออกจากวังมา เจ้าหญิงสากิยานีผู้ชนบทกัลยาณีได้กล่าวคำ อันไพเราะว่า ข้าแต่ พระลูกเจ้า ขอให้ด่วน เสด็จกลับมาหาหม่อมฉันเร็วไวเถิด ข้าพระองค์ จึงครุ่นคิดระลึกถึงคำของนาง อยู่เสมอ ไม่ยินดี ประพฤติ พรหมจรรย์เลย อยากแต่จะคืนสิกขา ลาเพศ พระเจ้าข้า" พระศาสดาทรงสดับเช่นนั้นแล้ว ทรงจับแขนของภิกษุนันทะไว้ ทรงจูงจิตให้ไปปรากฏในสวรรค์(สภาวะจิตสุข ของผู้มี จิตใจสูง) ได้เห็นเหล่านางอัปสร (นางฟ้า) ประมาณ ๕๐๐ นาง ซึ่งมีเท้างาม ดุจนกพิราบ (เรียวเล็กสีชมพู) "ดูก่อนนันทะ ระหว่างนางสากิยานีผู้ชนบทกัลยาณี กับ นางฟ้าเหล่านี้ ใครมีรูปงามกว่า น่าดูกว่า น่าเลื่อมใสกว่า" "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากเอามาเปรียบกับนางฟ้าเหล่านี้แล้ว นางสากิยานีก็เสมือนกลายเป็นนางลิง ที่มีอวัยวะ ใหญ่น้อย ถูกไฟไหม้ หูก็ขาด จมูกก็แหว่ง หาความงาม ได้ไม่ถึงเสี้ยวหนึ่ง ของนางฟ้าเหล่านี้เลย ที่แท้นางฟ้า ทั้ง ๕๐๐ นี้มีรูปงามกว่า น่าดูกว่า น่าเลื่อมใสกว่า พระเจ้าข้า" "ถ้าอย่างนั้น เธอจงยินดีเถิดนันทะ จงดีใจยิ่งเถิดนันทะ เราเป็นผู้รับรองเธอ เพื่อให้ได้นางฟ้าอย่างนี้" "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับรองให้ได้นางฟ้าเหล่านี้ ข้าพระองค์จะยินดี ประพฤติ พรหมจรรย์ พระเจ้าข้า" ภิกษุนันทะตกลงเช่นนั้นแล้ว พระศาสดาจึงทรงจูงจิตกลับคืนสู่สภาวะปกติ ณ พระวิหารเชตวันตามเดิม นับตั้งแต่วันนั้นมา ภิกษุนันทะเริ่มเพ่งเพียรบำเพ็ญสมณธรรม(ธรรมของผู้สงบระงับกิเลส)ทันที ข่าวนี้กระจายไปในหมู่ภิกษุ ทำให้ภิกษุผู้เป็นสหายพากันพูดเย้าว่า "ท่านนันทะเป็นลูกจ้างหรือ ประพฤติพรหมจรรย์จึงต้องมีค่าจ้าง.....ท่านเป็นผู้ที่พระศาสดาทรงไถ่ตัวมาหรือไร......ท่านประพฤติ พรหมจรรย์ เพราะ ปรารถนา นางฟ้า โดยที่พระศาสดา ทรงเป็นผู้รับรองให้" ได้รับฟังคำพูดเหล่านี้เข้าแล้ว ภิกษุนันทะก็อึดอัดระอา เกลียดชังถ้อยคำเช่นนั้น จึงหลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ปฏิบัติคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย(ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ) หากจะเหลียวไปทิศใด ก็สำรวมจิต เหลียวดูทิศนั้น ด้วยคิดว่า บาปอกุศลคืออภิชฌา (ความโลภ) และโทมนัส (ทุกข์เสียใจ) ไม่อาจครอบงำ จิตเราได้ เป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร พิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย แล้วจึงฉันอาหาร โดยมิใช่เพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อประดับ เพื่อตกแต่ง แต่ฉันเพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อเยียวยา อัตภาพ เพื่อขจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์ แก่พรหมจรรย์ ด้วยการ ทำในใจว่า เราจะขจัด เวทนาเก่าเสีย จะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความคล่องแคล่ว ความหาโทษมิได้ และ ความอยู่ผาสุก จะมีแก่เราได้ เป็นผู้กระทำความเพียรอันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่ คือ ในตอนกลางวันก็ชำระจิตให้สะอาดจากนิวรณ์ (กิเลสที่กั้นจิต ไม่ให้ บรรลุธรรม) ด้วยการ จงกรม ด้วยการนั่ง พอถึงเวลากลางคืน ปฐมยาม (๑๘.๐๐-๒๒.๐๐ น.) ก็ชำระจิต ให้สะอาด จากนิวรณ์ ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง พอถึงมัชฌิมยาม (๒๒.๐๐-๐๒.๐๐ น.) ก็พักนอนสีหไสยาสน์ (ตะแคงขวา) กำหนดเวลา ตื่นลุกขึ้น พอถึงปัจฉิมยาม (๐๒.๐๐-๐๖.๐๐ น.) ลุกขึ้นแล้ว ก็ชำระจิตให้สะอาดจากนิวรณ์ ด้วยการ จงกรม ด้วยการนั่ง เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ รู้จิตชัดในเวทนา-สัญญา-สังขารที่เกิดขึ้น ที่ตั้งอยู่ ที่ดับไป ประพฤติพรหมจรรย์อย่างนี้ ไม่นานนักก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดของพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ด้วยปัญญาอันยิ่ง ของตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็น อย่างนี้ มิได้มี พระนันทเถระ ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในโลกแล้ว ดังนั้นจึงได้ไปเข้าเฝ้าพระศาสดา ทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงรับรองข้าพระองค์ให้ได้นางฟ้าเหล่านั้น บัดนี้ข้าพระองค์ ขอปลดเปลื้อง พระผู้มี พระภาคเจ้า จากการรับรองนั้นด้วยเถิด" "ดูก่อนนันทะ เรากำหนดรู้ใจของเธอด้วยใจของเราว่า นันทะจะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ (หลุดพ้นกิเลส ด้วยกำลังจิต) และ ปัญญาวิมุติ (หลุดพ้นกิเลส ด้วยกำลังปัญญา) ก็เมื่อใด ที่จิตของเธอ หลุดพ้นแล้ว จากอาสวะ (กิเลสที่ หมักหมม ในสันดาน) ทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น เมื่อนั้นเราก็พ้นแล้วจากการรับรองนั้น" จากนั้นทรงประกาศแก่เหล่าภิกษุว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้นันทะจะมีราคะกล้า แต่เป็นผู้มีกำลัง เป็นผู้ก่อให้เกิดความเลื่อมใส นันทะเป็นผู้ เลิศยอด ในสาวก ของเรา ที่คุ้มครองสำรวมอินทรีย์ ทั้งหลาย ทั้งรู้จัก ประมาณในโภชนะ กระทำความเพียรใ ห้ตื่นอยู่ มีสติ สัมปชัญญะ อยู่เสมอ เหล่านี้ เป็นเหตุให้นันทะ สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้" - ณวมพุทธ - - สารอโศก อันดับที่ ๒๘๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ - |