พระอุบลวรรณาเถรี

พวกเศรษฐี อีกทั้ง พระราชา
ต่างหมายมา ติดต่อ ขอครองคู่
เพราะโฉมงาม สุดสวย รวยน่าดู
ช่างไม่รู้ นางชอบ บรรพชา


พระอุบลวรรณาเถรี ได้เคยสั่งสมบุญกุศลมาแล้วในหลายๆชาติ กว่าจะได้มาเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตระ นั้น ได้มีโอกาสเห็นพระศาสดาทรงให้ภิกษุณีรูปหนึ่ง แสดงฤทธิ์หลายอย่าง ด้วยความคล่องแคล่ว จึงเกิดจิตยินดียิ่ง ตั้งจิตปรารถนาเป็นเช่นภิกษุณีนั้นบ้าง แล้วทำบุญด้วยการทูลเชิญพระศาสดา กับหมู่สงฆ์ ให้เสวยและฉันอิ่มหนำสำราญด้วยอาหารอันประณีต สุดท้ายบูชาพระศาสดาด้วยดอกอุบล (บัวสายมีสีขาว, สีชมพูแดง) อันเป็นดอกไม้งดงามอย่างดี โดยตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ผิวพรรณมีสีสวยงามเช่นกับดอกอุบล

ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ได้เกิดเป็นธิดาของเศรษฐีในเมืองพาราณสี กระทำบุญ ด้วย มหาทาน กับพระศาสดา พร้อมหมู่สงฆ์ แล้วบูชาพระศาสดาด้วยดอกอุบลเป็นอันมาก

ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ได้เกิดเป็นพระธิดาองค์ที่ ๒ ของพระเจ้ากาสี พระนามว่า กิกี ในเมืองพาราณสี อันอุดมสมบูรณ์ ชาตินี้ได้นามว่า สมณคุตตา ซึ่งพอได้ฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว ก็เกิดศรัทธาแรงกล้า หมายออกบวช ด้วยใจยินดียิ่งนัก แต่พระราชบิดามิได้ทรงอนุญาต จึงตั้งใจ ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งแต่ยังเล็กอยู่อย่างมีความสุข

มีอยู่สมัยหนึ่งได้เกิดอยู่ในตระกูลใหญ่ มีโอกาสได้ถวายผ้าจีวรเนื้อเกลี้ยงอย่างดี แก่พระอรหันต์องค์หนึ่ง

บางชาติ ได้เกิดอยู่ในตระกูลเศรษฐีแห่งเมืองอริฏฐะ เป็นธิดาของพราหมณ์ชื่อ ติริฏิวัจฉะ นางมีชื่อว่า อุมมาทันตี ซึ่งมีรูปร่าง หน้าตาสวยเลอเลิศ ผิวพรรณงดงามนัก น่าดูน่าชมปานเทพธิดาชั้นฟ้า หากใคร ได้พบเห็น จะถึงกับเคลิบเคลิ้มลืมตัว ไม่อาจ ตั้งสติอยู่ได้ จะเกิดจิตลุ่มหลงมัวเมา คล้ายดังได้ดื่มน้ำเมาเข้าไป ฉะนั้น

ต่อมาชาติหนึ่ง ได้เกิดในตระกูลขัดสน อาศัยอยู่ในชนบทที่ไม่เจริญ ต้องขวนขวายทำนาข้าวสาลี ยังดี ที่ได้ทำบุญ ถวาย ข้าวตอก กับดอกปทุม (บัวหลวง) แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง

มีอยู่ชาติหนึ่ง ได้เกิดอยู่ในหมู่บ้านข้างภูเขาอิสิคิลิ ได้ทำบุญถวายยาคู(ข้าวต้มเหลวที่ดื่มซดได้) ด้วยมือ ของตน แก่พระปัจเจก พุทธเจ้าถึง ๘ องค์

ได้เวียนตายเวียนเกิดในภพน้อยภพใหญ่ บ้างก็ได้รับสุข บ้างก็ต้องทุกข์ จนบ้าง รวยบ้าง กระทั่งในที่สุด ถึงชาติสุดท้าย ..... ยุคสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม นางเกิดเป็นธิดาในตระกูลเศรษฐี แห่งนคร สาวัตถี ของแคว้นโกศลมีชื่อว่า อุบลวรรณา เพราะผิวพรรณของนางสวยงามราวกับสีดอกบัว นางจึงเติบโต เป็นสาวที่ประกอบด้วยความสุข ในทรัพย์สมบัติ มากมาย และมั่งคั่งด้วยรูปสมบัติที่งดงามยิ่งนัก

ก็เพราะความมีรูปสวยรวยทรัพย์นี่เอง ทำให้ชาวเมืองทั้งหลายต่างพากันกล่าวขานถึง พวกบุตรเศรษฐี หลายร้อยคน ต่างหมายนาง เป็นคู่ครอง พระราชาทั้งหลายในชมพูทวีป(ประเทศอินเดีย) พากันส่งทูต มาสู่ขอนาง เป็นพระมเหสี ไม่มีพระราชาองค์ใดไม่ส่งทูตมา

เป็นเหตุให้ท่านเศรษฐีลำบากใจนัก เพราะไม่อาจทำให้เศรษฐีทั้งหลาย และพระราชาทั้งหมดพอพระทัยได้ จึงหาทางออก โดยคิด ให้อุบลวรรณาบวชเสีย เพียงพอเป็นอุบายเท่านั้น พอดีตรงกับที่นางสะสมบารมีมา คือมีความพอใจออกบวชอยู่แล้ว จึงรับคำบิดา แล้วบวชเป็นภิกษุณีด้วยศรัทธาอย่างจริงจัง

เมื่อบวชได้เพียงครึ่งเดือนเท่านั้น พระอุบลวรรณาเถรีก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง เป็นผู้มี ความชำนาญ ในอภิญญา (ความรู้ยิ่ง) ทั้งหลาย คือ ชำนาญในฤทธิ์(อิทธิวิธี) มีหูทิพย์แยกแยะกิเลสได้ (ทิพพโสต) สามารถรู้วาระจิต มีกิเลสใดบ้าง (เจโตปริยญาณ) รู้แจ้งระลึกชาติการเกิดของกิเลสได้ (ปุพเพนิวาสานุสติญาณ) มีตาทิพย์มองทะลุกิเลสได้(ทิพพจักขุ) รู้แจ้งชัด ว่ากิเลสหมดสิ้นแล้ว (อาสวักขยญาณ) แล้วยังมีความรู้แตกฉาน(ปฏิสัมภิทา)อื่นๆอีก คือรู้แตกฉาน ในเนื้อหาสาระ (อัตถปฏิสัมภิทา) รู้แตกฉานในธรรมะ(ธัมมปฏิสัมภิทา) รู้แตกฉานในภาษา(นิรุตติปฏิสัมภิทา) รู้แตกฉาน ในไหวพริบ (ปฏิภาณปฏิสัมภิทา)

พระศาสดาทรงแต่งตั้งพระอุบลวรรณาเถรีไว้ในตำแหน่ง ผู้เป็นเลิศสุดในเหล่าภิกษุณีผู้มีฤทธิ์ และยกย่อง ให้เป็น อัครสาวิกา ฝ่ายซ้ายอีกด้วย

เช้าวันหนึ่ง ขณะที่พระเถรีนี้ยืนอยู่ที่โคนต้นสาละ(ต้นรัง) ในมือถือบาตร ได้ปรากฏ มารผู้มีบาป (คนมีกิเลสสหนา) ต้องการ ให้พระเถรี หวาดเสียว สะดุ้งกลัว จะได้เคลื่อนจากสมาธิ(จิตตั้งมั่น) จึงเข้าไปหา แล้วกล่าวว่า

"ดูก่อนภิกษุณีรูปงาม ท่านตัวคนเดียวมาสู่ที่โคนไม้รังอันมีดอกบานสะพรั่ง มิได้มีใครเป็นเพื่อนเลย ช่างโง่เขลานัก ท่านไม่กลัว พวกนักเลงเจ้าชู้หรือ"

พระเถรีได้ฟังเช่นนั้น จึงประกาศว่า

"ต่อให้นักเลงตั้งแสนคนมาที่นี้ เราก็ไม่หวั่นไหวหวาดกลัว ดูก่อนมาร นี่มีเพียงเจ้าผู้เดียวจะทำอะไรเราได้ เรามีฤทธิ์มาก ชำนาญ ในจิต อิทธิบาท(ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสำเร็จ)เราได้กระทำไว้ดีแล้ว เราพ้นจาก กิเลสเครื่องผูกทั้งปวงแล้ว เราไม่กลัวเจ้า

เจ้ากล่าวถึงความยินดีในกาม กามทั้งหลายก็เหมือนกับหอกและหลาว ขันธ์(รูปนาม)ทั้งหลายก็คล้ายกองไฟ บัดนี้เราไม่มี ความยินดีในกาม ไม่มีความเพลิดเพลินในอารมณ์ทั้งปวง เรากำจัดได้แล้ว กองมืดเราทำลาย ไปแล้ว ดูก่อนมารผู้ลามก เจ้าจงรู้อย่างนี้ เจ้าจงไปเสียเถิด"

ได้ยินอย่างนั้น มารผู้มีบาปก็เสียใจเป็นทุกธ์ ด้วยคิดว่า

"ภิกษุณีนี้รู้จักเรา ไม่หลงตามเรา" จึงได้อันตรธานไปจากที่นั้นทันที

- ณวมพุทธ -
ศุกร์ ๙ ก.ย. ๒๕๔๘
(พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๕๙
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๔ หน้า ๓๑๕)

- สารอโศก อันนดับ ๒๘๖ สิงหาคม ๒๕๔๘ -