แถลง
- สมณะโพธิรักษ์ - ขยะนั้น จะสำคัญและลึกซึ้งไฉน? ขยะ คือ เศษของที่ต้องทิ้งแล้ว ขยะ คือ สิ่งที่ควรทิ้งหรือควรสละออกแล้ว แต่ตนยังต้องการอยู่ แถมบางคนอาจจะหวงแหนเสียอีก ทว่าของนั้น ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับตนแล้ว เพราะมันเฟ้อแต่ตนก็ยังหวง ยังรักมัน แม้จะเป็นกรณี อย่างนี้ ก็ตาม หรือจะเป็นกรณีที่ว่า สิ่งนั้นๆ มันเป็นส่วนเกิน มันมีไว้เพื่ออวดอ้างว่าตนมีมาก มีเกินกว่าใครๆ จะอย่างนี้ ก็ตาม แต่มันไม่ได้ก่อประโยชน์ ให้แก่ตน แก่ผู้อื่นเลย มันเป็นแค่กิเลสที่หลงรักหลงหวงแหน หรือหลงบำเรอ อัตตา ว่า ตนมีความมาก ความใหญ่ ความหรูหรา ความอลังการ ที่เกินความเหมาะสม ของคนผู้นั้นๆ (ไม่มัชฌิมา) ขยะ คือ สิ่งที่ตนไม่เอา สิ่งที่ตนไม่ต้องอาศัยมันแล้ว ซึ่งตนต้องทิ้งมันแล้ว หรือไม่ก็ต้องกำจัดทำลาย ให้ไม่เหลือ อยู่กับตนอีก หรือ ต้องแจกจ่ายไปให้แก่ผู้อื่น ต้องสละออก เพราะถ้าขืนมีไว้เปล่าๆไปอย่างนั้น ต่อไปก็จะมีสิ่งอื่นแบบนี้อีกเพิ่มมาๆๆ ก็รังแต่จะหนัก จะหนา จะมากๆๆๆๆ จะเป็นภาระ จะกลายเป็นทับถม ที่บางคนอาจจะเรียกมันว่า "สะสม" ก็จะเยอะ จะเลอะ จะรก จะเปล่าประโยชน์ ไ ร้ค่าอยู่ หรือ จะทำลายตน - ทำลายส่วนรวมอยู่ และจะเสื่อม จะโทรม จะผุ จะพัง จะเน่า จะเสีย จะเป็นพิษเป็นภัยแก่ตนแก่ผู้อื่นได้ จึงต้องทิ้ง ต้องกำจัดออก หรือต้องแจกจ่ายไปให้แก่ผู้อื่น ต้องสละออกไปจากตน แต่ใครบ้างหนอ! จะมองให้ลึกซึ้ง และเห็นถึงความลึกซึ้ง ซับซ้อน ในความเป็น"ขยะ"
ดังกล่าวนี้ แต่ละขั้น แต่ละชั้นตอน แต่ละองค์ประกอบของความ ตามความหมายง่ายๆที่ว่า.. "ขยะ" คือ "เศษของที่ต้องทิ้งแล้ว"นั้น ก็คงพอจะเข้าใจกันได้ถ้วนทั่วทุกคน เพราะมันแค่ ความหมาย ทางวัตถุ หรือรูปธรรม และที่ว่า... "ขยะ" คือ "สิ่งส่วนที่ชำรุดเสียหาย ใช้ไม่ได้แล้ว" นั้น ก็อาจจะพอเข้าใจไม่ยากนักว่า เป็น....... "เศษของที่ตนต้องทิ้งแล้ว" หรือเป็น... "ของที่ตนต้องกำจัดออก - ต้องสละออกไป" หรือเป็น... "ของเสีย ที่ต้องทิ้งต้องทำลายไป ไม่เช่นนั้นจะเกิดเป็นเชื้อโรคหรือเป็นพิษภัย" ทีนี้ พอลึกซึ้งขึ้นมานิดหน่อย ที่ว่า... ขยะ คือ สิ่งของที่ถูกทิ้ง โดยไม่เจตนาทิ้ง (ยังดีๆหรือยังใหม่ๆก็เป็นได้) แต่เจ้าของไม่นำพาแล้ว หรือที่ว่า... ขยะ คือ สิ่งส่วนที่เหลือ ที่เกิน ที่มากแล้วสำหรับตน [ซึ่งอาจจะเป็นของที่ยังใช้ได้ดี ยังไม่ชำรุด เสียหาย แม้จะเก่า] ซึ่งสมควรทิ้งหรือสมควรสละออกอย่างยิ่ง ก็ชักจะมีปัญหา หรือเข้าใจยากขึ้นมาแล้ว จึงจะขออธิบายขยายความกัน เพราะ สิ่งของนั้นอาจจะไม่ใช่ของที่ชำรุดเสียหายเสื่อมโทรม จนใช้ไม่ได้ อาจจะชำรุดนิดๆหน่อยๆแต่ก็ยังใช้ได้ หรืออาจจะเป็น ของดีๆอยู่แท้ๆ ทว่าเจ้าของเบื่อแล้ว หรือยิ่งกว่านั้น บางสิ่งอาจจะเป็นของแสนรัก แสนที่ จะเห็นว่า "มันมีค่ายิ่งล้ำ สำหรับตน" เสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อเป็นสิ่งส่วนที่เหลือ ที่เกิน ที่มากแล้วจริงๆสำหรับตน มันเฟ้ออยู่ที่ตนแท้ๆ มันก็ต้องทิ้งออกไปจากตน หรือต้องกำจัดออกไปจากตน ต้องแจกจ่ายให้แก่ผู้อื่นไป ต้องสละออกไปจากตน ให้ไปมีคุณค่า มีประโยชน์กับที่อื่น ผู้อื่น (ถ้าของนั้นยังมีคุณค่าอยู่) จะได้ไม่ทิ้งไว้เสียเปล่า เมื่ออยู่กับเรา เพราะมันจะนับวันก็ไม่เป็นประโยชน์ เกิดค่าอะไรกับใคร หรือกับคน กับสังคม อย่างสมควรยิ่ง มันจะเสื่อม จะโทรม จะเสียอยู่กับเรา ตามหลัก "เศรษฐศาสตร์" และหลัก "อนิจจัง" อย่างน่าเสียดาย ขยะ ตามนัยดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะคนร่ำรวยและคนฐานะดีพอสมควร หรือแม้ฐานะไม่ดีนัก แต่เป็นคน ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย ขยะตามนัยนี้ จะมีกันอยู่มาก ที่ทำความสูญเสียประโยชน์อย่างยิ่ง สิ่งดังกล่าวนี้ อยู่ในข่ายแห่งความเป็น"ขยะ" เพราะของนั้นมันอยู่ในฐานะที่"ต้องทิ้งแล้ว" ควรอย่างยิ่งที่จะ "ต้องกำจัดออก ต้องแจกจ่ายไปให้แก่ผู้อื่น ต้องสละออกไปจากตน" นั่นเป็นนัยของความเป็น"ขยะ" ที่กล่าวแยกแยะคร่าวๆอย่างรวมๆไปถึงขั้น "นามธรรม" "ขยะ"ที่เป็นวัตถุทั้งหลายประดามี
น่าจะแยกออกได้ง่ายๆสัก ๔ ประเภท เมื่อใครเห็นความเป็นจริงได้เช่นนี้ สิ่งนั้นก็ได้ชื่อว่า "ขยะ" แล้วจริงๆสำหรับตน ดังนั้น ของบางสิ่ง แม้จะเป็นของที่นานๆตนจึงจะใช้สักที จะเพราะตนมีมากชิ้น หรือจะมีชิ้นเดียว แต่นานๆ ตนจะใช้จริงๆ สักที ก็ตาม เมื่อไม่คุ้มกับค่าที่มันมีค่ามีประโยชน์ สมกับความมีคุณค่าตามประสิทธิภาพของมันจริงๆ เพราะมันจะเกิด ประโยชน์ เกิดคุณค่า ก็ต่อเมื่อ ใครได้ใช้มันในกาละใดกาละนั้น แต่นี่กลับปล่อยให้มันไม่เกิดคุณค่า ไปกับ กาลเวลา เนื่องจากมันไม่ได้ถูกใช้ อย่างสมเหมาะ สมควรแก่กาล และตามคุณภาพ มันก็จะเสื่อม จะโทรม จะผุพัง ก็จะลดค่า หมดประโยชน์ไปตามอายุกาลนั่นเอง เมื่อทำให้มันอยู่ในฐานะ "ขยะ" มันจึงไร้ค่า มันจึง ไม่เป็นคุณ ไม่เป็นประโยชน์ และทั้งตัวมันเองก็แก่เก่าผุพัง มันก็ไม่คุ้มคุณค่า ไม่ก่อประโยชน์ เท่ากับให้ไปอยู่กับผู้อื่น ที่เขาจะใช้มันคุ้มค่า คุ้มเวลา ก่อนมันจะผุพัง เสื่อมสลาย ไปเปล่า ของนั้นจึงเหมาะที่จะต้องแจกจ่ายให้แก่ผู้อื่นไป หรือต้องสละออกไปให้ผู้ที่เหมาะควรกว่า เพราะมันชื่อว่าเป็น"ขยะ"แล้ว สำหรับเราจริงๆ เราทำให้มันไม่มี"คุณค่า" ทั้งๆที่มันจะมี"คุณค่า"สำหรับผู้อื่น ผู้ที่เห็นคุณค่าของความจริงตามนัยะที่ลึกซึ้งขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ดังที่ได้อธิบายคร่าวๆแค่นี้ขั้นนี้ แล้วรีบสละออก ให้ได้ ให้เร็ว โดยไม่มัวแต่อ้างโน่นอ้างนี่ ไม่เอาแต่หาเหตุผลเข้าข้างตน ก็จะเจริญทาง"เศรษฐกิจ" ขั้นตอน ที่หนึ่ง และยิ่งสละให้ผู้ที่เหมาะสม ถูกตัว เท่าใดๆ ก็จะเกิดคุณค่าประโยชน์ตามควรแก่กรณีแต่ละสิ่ง ได้ดีจริงยิ่ง เท่านั้นๆ ฉะนี้ ก็ยิ่งจะเจริญทาง "เศรษฐกิจ" เพิ่มขึ้นอีก ถ้าผู้ใดสามารถรู้"คุณค่า"ในการปฏิบัติกับ"ขยะ"ถึงขั้นลึกเข้าไปถึง"นามธรรม" ก็ได้ชื่อว่า เข้าข่ายเป็นผู้มี เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ หรือมี เศรษฐศาสตร์แบบ"บุญนิยม" ซึ่งต้องคำนึงคำนวณถึง ทั้งผู้ที่เหมาะสมควรจะได้รับ และทั้งตัวผู้ให้นั้น จะเสียสละได้มาก ได้เร็วยิ่งเท่าใด ก็ยิ่งเป็น"บุญ" เป็นคุณค่ามาก เท่าที่เป็นไปตามประโยชน์ที่เกิดอย่างถูกต้องนั้นๆเท่านั้นๆ จิตใจของคนที่ทิ้ง"ขยะ" หรือสละ"ขยะ"ออกไปจากตนนั้น ย่อมไม่ต้องการอะไรตอบแทน แม้แต่ค่าแห่ง เสียงสรรเสริญ และ ไม่หวงแหน โหยหา หรือไม่มีแม้แต่ค่าของอารมณ์เสพสมใจ ฉันใด จิตใจของผู้ที่เห็น"สิ่งส่วนที่ตนเหลือ-ตนเกิน" โดยเฉพาะ ตนสำนึกว่า เราเหลือ เราเกิน เรามีน้อยก็พอแล้ว ไม่มีสิ่งนี้เลยก็ได้แล้ว หรือเห็นว่าสละให้แก่ผู้ที่ควรได้รับเพราะเขาจะก่อคุณค่า-ก่อมูลค่าได้มากกว่าอยู่กับตน แล้วผู้นั้นก็แจกจ่ายให้ผู้อื่น ที่สมเหมาะ สมควรไป และสละออกด้วย จิตใจที่เหมือนสละ"ขยะ" ซึ่งมีจิตใจ ไม่ต้องการ อะไรตอบแทน แม้แต่ค่าแห่งเสียงสรรเสริญ และ ไม่หวงแหน โหยหา หรือไม่มีแม้แต่ค่า ของอารมณ์ เสพสมใจ ฉันนั้น ทั้งๆที่"ขยะ" ดังกล่าวนี้ เป็น"สิ่ง"มีค่าสูง มีราคาแพง มีคุณค่ามากปานใด ก็สละได้ ผู้ปฏิบัติได้ถึงขนาดนี้แหละ ชื่อว่า ผู้มีเศรษฐศาสตร์บุญนิยม หรือ เศรษฐศาสตร์แบบพุทธ ผู้นั้นเป็นผู้มีจิตอาริยะ ถ้าแม้นสละ อย่างไร้กิเลส ยึดเป็นตน (อัตตา) เป็นของตน (อัตตนียา) จิตนี้คือ"เจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ" ที่ครบความเป็น "อุภโตภาควิมุติ" ทีเดียว อันเป็นเป้าหมายสุดสูง ของศาสนาพุทธ เยี่ยมยอดตามที่เป็นจริง หากปราศจาก กิเลสได้มากยิ่ง สุดสูงเท่าใดๆ ก็เป็นวิมุติ จิตว่าง ที่ยิ่งจริงยิ่งแท้ สูงสุด เท่านั้นๆ แต่ถ้าผู้ใด แม้จะรู้แสนรู้ตามรายละเอียดของหลักเศรษฐศาสตร์ ดังกล่าวนี้ ทว่าไม่ได้ทำตามที่รู้นี้จริง ยังคง หอบหวง หรือมีมาก มีเกิน อยู่เช่นเดิม แถมยังแก้ตัวให้ตนเองเสียอีกว่า... ฉันไม่ติดไม่ยึดสิ่งเหล่านี้หรอกน่า! มันอยู่ที่ใจ ใจฉันปล่อยได้ วางได้แล้ว ฉันรู้ตัวฉันดี มันวางกันที่ใจ ของที่มีก็มีไป มันมากก็เป็นสิทธิ์ของฉันนี่ ! แล้วคนผู้นั้น ก็คงประพฤติอยู่ และคงเป็นอยู่ ด้วยความมีวัตถุมาก-มีวัตถุเกิน หรือแม้สละออก ก็สละ อย่างมีนัยแฝง ไม่เช่นนั้น ก็จ่ายมันเพื่อ เสพสมสุขสม"โลกียสุข"อยู่ตามวิสัยปุถุชนเช่นเดิม และหรือ สละบ้าง แต่ก็ยังมีมาก-มีเกินอยู่อีกไม่น้อยกว่า ที่สละเลย ดั่งนี้ ก็ตาม หรือผู้ที่ยิ่งไม่รู้เช่นนี้เลย รู้แต่โลภยิ่งๆขึ้น รู้แต่จะสะสมให้แก่ตนมีมาก มีเกิน มีเหลือเฟือกว่าใครๆได้เป็นดี ก็ตาม นั้น...ก็ล้วนคือ ผู้มีเศรษฐศาสตร์แบบ"ทุนนิยม"อยู่ทั้งสิ้น หากแม้นผู้ใดเข้าใจเนื้อหาสาระเท่าที่กล่าวมานี้ ได้ดีแล้ว ไม่ติดอยู่แค่ภาษาคำว่า "ขยะ" ที่หมายเอา ความเพียงหยาบๆ ตื้นๆ แค่วัตถุรูป ก็คงจะรู้จักความเป็น"ขยะ"ประดับปัญญาตน และปฏิบัติกับขยะนั้นๆ ให้ถูกสัจจะกันได้แน่ๆ ไม่มากก็น้อย เท่าที่จะมี ความตั้งใจเพียรพยายาม ตามภูมิบารมีอินทรีย์พละของตนๆ เว้นเสียแต่ว่า คนผู้นั้นจะเป็นผู้มีความโลภ(โกรธ-หลง)มากอยู่ จัดอยู่ จนขัดแย้งไม่มีสิ้นสุด หรือไม่ก็เป็น ผู้ที่ฟังแล้ว ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่องจริงๆ(คือยังอวิชชา) และหรือแม้จะรู้เรื่องเข้าใจดี แต่ยังมี"อัตตา ๓" (กิเลส ที่ยึดอยู่ในตัวตน ได้แก่ โอฬาริกอัตตา, มโนมยอัตตา, อรูปอัตตา) กล่าวคือ อาจจะมีมานะ คือเป็นคนที่ถือดี ในตัวเองสูง จนไม่ยอมเสียศักดิ์ศรี น้อมตาม ทำตาม ถึงแม้จะทำตามก็ทำชนิดที่"ไว้ศักดิ์ไว้ศรี" หรือ ทำแบบ เออๆ ออๆ ไปอย่างนั้นเอง หรือไม่ก็ทำเล่นๆ ทำประชดๆ ไม่เช่นนั้นก็ทำ อย่างเสียไม่ได้ ที่สุด ทำเพราะจำนน และอาจจะยังอวิชชาไม่รู้ว่าควรทิ้ง"ขยะ"นั้นได้แล้ว ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ใช่กระทำอย่างครบครันด้วย"อิทธิบาท ๔"แท้ๆเป็นเด็ดขาด คนผู้นี้ ก็ย่อมจะรู้ จะทำกับ แต่ "ขยะ" ตามที่เขา รู้ได้ -ทำได้ เท่านั้น และก็คงปฏิบัติกับสิ่งที่เขาเห็นว่า เป็น"ขยะ" หรือไม่เป็น"ขยะ" ตามที่เขาคิดว่า ควรจะทำ เท่ากับความรู้ ที่เขารู้ กับความ"ถือตัว"ที่เขา"ถือดี" และตาม "ความไม่รู้โลกุตรธรรม" (อวิชชา) นั่นเอง ดังนั้น "ขยะ"ที่ชื่อว่า "สิ่งส่วนที่เหลือ ที่เกิน ที่มากแล้วสำหรับตน" หากเขาจะมีมาก มีเกินปานใดๆ หรือ ยิ่งสิ่งนั้น ยิ่งมีค่าสูง มีราคาแพงยิ่งๆตามราคาของโลกีย์มากเท่าใดๆ เขาผู้นั้นก็ยิ่งจะไม่เห็นว่า มันเป็น"ขยะ" หรือ ยิ่งจะไม่เห็นว่า มันจะต้อง แจกจ่ายออก ทิ้งออก สละออกไป มากยิ่งเท่านั้นๆ เพราะเขายังไม่เดียงสา (พาล) ยังมืดบอด (อันธ) ยังโง่(อวิชชา) ยังเข้าใจผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ฯลฯ ซ้ำมิหนำ เขายิ่งจะกลับภาคภูมิ ในความมีมาก มีเกิน และยิ่งจะหวงแหน หนักยิ่งขึ้นๆ มากเท่าที่เขายิ่งมี "อวิชชา" (โง่ในเรื่อง โลกุตรธรรม, ไม่สามารถมีปัญญาเห็นจริงในอาริยธรรม) หนักหนาเท่าใดๆ ก็เท่านั้นๆ และเขาก็ยิ่งจะหลงสะสมตกผลึกเป็น"ของของตน" แล้วก็จะกลายเกิดเป็น"อุปาทาน" จนสนิทเนียนเป็น "ตัวตน" (อัตตา) ของเขา ต่อไป ให้ติดตัวเป็นตัวตนของตน ที่ยิ่งแนบ ยิ่งแน่น เป็นหนึ่งเดียวกันเท่านั้นๆ ก็นั่นแหละ คือ สัจจะที่เรียกว่า "อาทาน" คือ "การถือเอา" ที่ยิ่งถือก็ยิ่งยึดมั่น และแล้วก็เป็น "อุปาทาน" ของตัวผู้นั้น คือ "การยึดมั่น" ที่ยิ่งยึดมั่น ก็ยิ่งแน่นยิ่งแนบ จนสุดท้าย ก็เป็นตัวตนแท้ๆ ของผู้นั้นๆ ที่เรียกขานว่า "สักกายะ" หรือ "อัตตา" หรือ "อาสวะ" เพราะฉะนั้น "ขยะ" กับคนผู้หลงสะสม"ขยะ"นั้นๆเป็นของตน หรือเป็นตน จึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คนผู้นั้น จึงชื่อว่า "คนขยะ" หรือ "ขยะ" ตรงๆแท้ๆในความเป็น"คน" ที่กลายเป็นเศษสวะอันไร้ค่า ต้องทิ้งกันแล้ว เพราะคน ชนิดนี้ เป็น "สิ่งส่วนที่ชำรุดเสียหายที่ไม่ควรใช้แล้ว แถมเป็นพิษร้าย ที่เขาหลงตนว่า เขาเป็นผู้มี ประโยชน์ยิ่ง" จริงๆในสังคม เมื่อสังคมใช้คนชนิดนี้(คนขยะ)อยู่ หรือขืนใช้กันอยู่ ก็รังแต่จะทำให้สังคม เสียหาย บรรลัย เดือดร้อน พังพินาศ ยับเยิน อย่างที่ เป็นจริงอยู่ในสังคมแห่งโลกทุนนิยม ซึ่งเห็นๆกันได้ โจ่งๆ แจ้งๆ ไม่ยากอะไร แต่ความโง่ (อวิชชา) - ความเข้าใจผิด(มิจฉาทิฐิ) หรือความไม่เดียงสา-ความมืดบอดของคน(อันธพาล) ก็ยังทำ ให้คนทั้งหลาย หลงบูชานับถือยกย่อง"คนขยะ" หรือแม้แต่พยายามทำตนเองให้เป็น "คนขยะ" ด้วยความหลง (โมหะ) เห็นว่าเป็นดี เป็นคนเจริญ กันอยู่ถ้วนทั่วเกือบทั้งโลกอยู่นั่นเอง เพียงแต่ว่า ใครจะมีความเป็น "คนขยะ" มากน้อยกว่ากัน เท่านั้น "คนขยะ"ดังกล่าวนี้ ทั้งที่ได้เป็น"คนขยะ"แล้ว ครบพร้อมด้วยรูปธรรม-นามธรรม และทั้งที่เป็น"คนขยะ" ได้แค่เพียง นามธรรมนั้น มีมากมาย เป็น"มลพิษ" สร้างทุกข์ให้แก่โลก แก่สังคมมนุษย์ ร้ายกาจหนักยิ่ง เหลือเกินแล้ว ทุกวันนี้ ทีนี้ ขยับขึ้นไปอีกถึงคำว่า "ขยะ" คือ "สิ่งที่ตนไม่ต้องการแล้ว" นี่ก็เช่นเดียวกัน ถ้าความหมายของมันแค่ขั้นหมายถึง "สิ่งส่วนที่ชำรุดเสียหาย ใช้ไม่ได้แล้ว" มันเป็นเศษ ของที่เรา ต้องทิ้ง เป็นของเน่าเปื่อย ผุพัง ไร้ค่าแล้วจริง ถ้าแค่นี้มันก็เพียงขั้นพื้นฐาน ขั้นง่ายๆตื้นๆ ก็คงพอ จะเข้าใจกันได้ถ้วนทั่วอยู่ทุกคน และก็คงสละออก หรือกำจัดทำลายไม่ให้เหลืออยู่กับตน หรือต้องทิ้งไปแล้ว ถ้าไม่ทิ้งไป มันก็เป็น"ขยะ" อยู่กับตนนั่นแหละ นอกเสียจากว่า แม้จะเป็นสิ่งส่วนที่ชำรุด ทรุดโทรม หรือเน่าเปื่อย ผุพัง แต่เขาก็ยังใช้มันได้ และเขาก็ยัง ไม่มีทางหาใหม่ ที่ดีกว่านี้ได้ นั่นเขาก็ยังต้องการมันด้วยความจำนน ไม่ทิ้งมันแน่ ดังนั้น แม้มันจะยังพอใช้ได้ หรือยังใช้ได้ดี ยังใหม่เอี่ยม ยังทรงสภาพดีเยี่ยมอยู่ก็ตาม แต่เมื่อผู้ใดผู้นั้น เห็นว่า มันเป็น "สิ่งที่ตนไม่ต้องการแล้ว" หรือเห็นว่า มันเป็น"สิ่งที่ตนไม่เอา สิ่งที่ตน ไม่ต้องอาศัยมันแล้ว" มันก็ควรจะต้องทิ้งออกจากตนไป (ซึ่งจะมีคนเก็บไปใช้ต่อเอง ถ้ามันยังดี) หรือไม่ก็ต้องกำจัด ไม่ให้เหลือ อยู่กับตนอีก หรือ ต้องแจกจ่าย ไปให้แก่ผู้อื่นอย่างเหมาะสม ต้องสละออกนั่นเอง เพราะมันอยู่ในสภาพ"ขยะ"แล้วสำหรับตน แต่มันจะไปเป็น"คุณค่าประโยชน์"สำหรับผู้เหมาะสมอื่น ตามหลัก เศรษฐศาสตร์ ที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่นั่นแหละ ในบรรดา "สิ่งที่ตนไม่ต้องการแล้ว" ก็ดี "สิ่งที่ตนไม่เอา"ก็ดี หรือแม้แต่"สิ่งที่ตนไม่ต้องอาศัย มันแล้ว "ก็ตาม ถ้ามันพอใช้ได้ หรือยิ่งใช้ได้ดี ทรงสภาพดีเยี่ยมอยู่ คนผู้นั้นก็มักจะยังเอามันไว้อยู่นั่นแหละ ยังไม่ทิ้ง หรือยังไม่อยากทิ้ง ยังไม่กำจัดออกไปให้ไม่เหลืออยู่กับตน หรือยังไม่แจกจ่ายไปให้แก่ผู้อื่น อย่างเหมาะสม ยังไม่ยอมสละออกไปอยู่นั่นเอง นี้คือ ผู้ทำลาย "เศรษฐกิจ" เพราะยังหวงแหน ยังเสียดาย ยังติดในการสะสม ยังไม่มีความรู้ใน เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ หรือ เศรษฐศาสตร์ "บุญนิยม" ดี และหรือ ยังไม่ขวนขวาย ขยันหมั่นเพียรพยายามเล่าเรียนพุทธศาสตร์ แล้วฝึกฝนตน จน "มัชฌิมา" สูงสุดจริงๆ จิตใจที่ยังมีอาการหวงแหน ยังเสียดาย ยังติดในการสะสม ยังทำ"มัชฌิมา"ไม่สูงสุด หรือยังไม่ดีสมบูรณ์พอ ตามที่กล่าวมา ข้างบนนั้น ล้วนคือ กิเลส คือ ตัณหา อุปาทาน คืออวิชชา ฯลฯ ซึ่งแต่ละล้วนชื่อว่า "ขยะ" ในจิตใจของมนุษย์ ที่พึงทิ้ง พึงกำจัด ทำลายไม่ให้เหลืออยู่กับตนอีก พึงสละออกไปจากตนให้หมด ทั้งนั้น หรือ ยิ่งผู้ใด ยิ่งหลงสะสมให้มีเหลือ มีมาก มีเกิน และยิ่งหลงว่า ตนยิ่งมีมาก มีของแพง มีของมีคุณค่า กอบกองไว้ ที่ตนมากๆ เฟ้อๆ ก็ยิ่งหลงลำพองภาคภูมิใจว่า ตนยิ่งใหญ่ ยิ่งโก้ ยิ่งหรู ยิ่งสูงส่ง มีศักดิ์ มีศรี แล้วก็ยิ่งหลง หวงแหน ยิ่งเสียดาย ฯลฯ นั่นก็ยิ่งเป็นคนที่มี "ขยะเน่า-ขยะร้าย" ในจิตใจ ทั้งหนักทั้งหนา (ปุถุ) ย้ำซ้ำร้ายยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เท่าที่มันมี มันเป็นจริงเท่านั้นๆ และ ยิ่งสะสมเป็น"ของๆตน" ยิ่งกลายเกิด"ความเป็นตน" ก็ยิ่งตกผลึกเป็น"ตัวตน"ของตน ที่ยิ่งแนบ ยิ่งแน่น เป็นหนึ่งเดียวกัน เป็น "อุปาทาน" เป็น"สักกายะ" เป็น"อัตตา"ของคนผู้นั้นๆ คนผู้นั้น ก็คือ ผู้ที่เต็มไปด้วย"ขยะ" ทั้ง วัตถุธรรมหรือรูปธรรม และ นามธรรม ครบครันถ้าสมบัติวัตถุต่างๆนั้น ตนใช้อาศัย พร้อมกับครอบครัว แวดวงเพียงพอและมีสำรองก็พอเหมาะแล้ว แต่ตนก็ยังกักตุน ยังหวงแหน ครอบครองไว้แต่แก่ตัว ให้เป็นการขัดข้องขาดแคลนกันในสังคม ไม่สละออกไปเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม ไม่ว่าบ้านใหญ่บ้านโตของคนผู้นี้ สถานที่หรูหรา ของคนผู้นี้ ทรัพย์ศฤงคารต่างๆของคนผู้นี้ ฯลฯ ก็คือ กอง"ขยะวัตถุ" ที่ยิ่งมหึมา ก็ยิ่งเป็น"ขยะจิตใจ" อันแสนเน่า แสนร้าย เป็นตัวการสำคัญ หรือคือ มีอวิชชา-มิจฉาทิฐิ -อันธะ-พาละ-กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน ฯลฯ เป็นรากฐานสำคัญนั่นเอง เศษของที่ต้องทิ้งแล้วก็ดี สิ่งส่วนที่ชำรุดเสียหาย ใช้ไม่ได้แล้วก็ดี สิ่งของที่ถูกทิ้ง โดยไม่เจตนาทิ้ง (ยังดีๆ หรือ ยังใหม่ๆ ก็เป็นได้) แต่เจ้าของไม่นำพาแล้วก็ดี สิ่งส่วนที่เหลือที่เกินที่มากแล้วสำหรับตน [ซึ่งอาจ จะเป็นของ ที่ยังใช้ได้ดี ยังไม่ชำรุดเสียหาย แม้จะเก่า] ก็ตาม สิ่งที่ตนไม่ต้องการแล้วก็ตาม สิ่งที่ควรทิ้ง หรือควรสละ ออกแล้ว แต่ตนยังต้องการอยู่ก็ตาม สิ่งที่ตนไม่เอา ก็ตาม สิ่งที่ตนไม่ต้องอาศัยมันแล้ว ซึ่งตนต้อง ทิ้งมันแล้ว หรือไม่ก็ต้องกำจัด ทำลายให้ไม่เหลืออยู่กับตนอีก หรือต้องแจกจ่าย ไปให้แก่ผู้อื่น ต้องสละออก หรือ แม้อาศัย ใช้มัน ก็ใช้มันอย่างของเหลือๆเกินๆ จึงเป็นการใช้ที่ไม่คุ้มคุณค่าประโยชน์ เท่าที่มันมีประสิทธิภาพ อย่างนั้น ก็ตาม หรือสิ่งส่วนที่หลงสะสมไว้ด้วยอำนาจความโลภ-โกรธ-หลง อย่างไม่หมั่นเพียรตรวจตรา แล้วพึงลดละ จนเกิด "ประโยชน์สูง -ประหยัดสุด" ได้ดีถูกสัจธรรม ให้เจริญยิ่งๆขึ้นก็ตาม ที่สุดแม้กระทั่งถึง....อวิชชา-มิจฉาทิฐิ-อันธ -พาล -กิเลส -ตัณหา-อุปาทาน-มานะ-ทิฐิ-สักกาย-อัตตา-อาสวะ ฯลฯ ที่มีในผู้หนึ่งผู้ใด ก็ล้วนนับเนื่องได้ว่า เป็น "ขยะ" ทั้งสิ้น ด้วยประการฉะนี้ ซึ่งจะต้องพิจารณา จัดการกับมัน ด้วยหลักเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ หรือหลักเศรษฐศาสตร์บุญนิยม ให้เกิด คุณค่าประโยชน์ ต่อตน ต่อสังคม เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติทั่วแหล่งหล้า เศษของกินเหลือของคน เป็น"ขยะ"ของคน แต่มันยังเป็นอาหารอย่างดีของหมาของหมูได้ ของกินส่วนเกินของคนรวย เป็น"ขยะ"ของคนรวย ที่เขาทิ้งขว้างได้ แต่มันยังเป็นอาหารอย่างดีของคนยากไร้ เสื้อผ้าส่วนเกิน ส่วนเกินของบ้านเรือน ของกินของใช้ส่วนเกิน เงินทองส่วนเกิน ของเล่นส่วนเกิน ของคน ของผู้มีอันจะกิน ฯลฯ คือ "ขยะ"ของเขา ที่เขาปล่อยให้สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย มันคือการผลาญพร่า เสื่อมเสีย โทรมทราม แต่มันล้วนสามารถ เป็นเนื้อจริงๆ เป็นปัจจัยแท้ๆแก่ชีวิตของคนยากไร้ ได้อย่างดี อย่าง ไม่น่าเสีย เศรษฐกิจ เศษเงิน หรือเงินส่วนที่มีมากเกินของ"กระฎุมพี" (แปลว่า "คนร่ำรวย" ไม่ใช่หมายถึง"เศรษฐี") ที่ยิ่งมี ความขี้เหนียวเท่าใดๆ ก็ยิ่งนับเป็น "ขยะร้าย-ขยะเน่า" เท่านั้นๆ หรือแม้จะไม่ขี้เหนียว ก็นับเป็น"ขยะ" ได้แล้ว สำหรับคนร่ำรวย "กระฎุมพี" ที่มีมาก มีเกินจริงๆ ซึ่งควรกำจัดออก ควรแจกจ่ายให้แก่ผู้อื่น ควรจะสละออก ให้เป็นทาน เพราะมันก็เป็น"บุญ"เป็น"คุณค่า" แท้ๆ แก่ตนนั่นเอง คือ เป็นการชำระกิเลสโลภของตนแน่ๆ หากปฏิบัติถูก เป็นคนมีคุณค่าประโยชน์ต่อผู้อื่นจริงๆ และย่อมได้รับ ความนับถือบูชา จากผู้รู้แจ้งเห็นจริง แท้เทียว น่าจะเห็นเป็น "สิ่งเศษที่ตนต้องทิ้งออกจากตน" เสียบ้าง จะได้มี"คุณธรรม" ก้าวเข้าสู่ความเป็น"เศรษฐี" กับเขาสักนิด สักส่วน เพราะ"เศรษฐี"นั้น คือความดีเลิศ หรือความเป็นคนประเสริฐ มิใช่หมายถึง คนมั่งคั่ง ด้วยทรัพย์สิน สมบัติวัตถุ ที่ว่า....กระฎุมพี(คนร่ำรวย) ผู้ยิ่งขี้เหนียวเศษเงินหรือยิ่งขี้เหนียวเงินส่วนเกินของตนๆนั้น ยิ่งนับเป็น"ขยะ" ที่แฝงฝังไว้ด้วย พิษร้าย ยิ่งๆขึ้น ก็เพราะ....วัตถุของคนร่ำรวย ซึ่งได้อธิบายแล้วว่าเป็นส่วนเกิน เป็นเศษ ที่ควรต้องทิ้ง ต้องสละออก ได้แล้ว อันเรียกว่า "ขยะ"ทางวัตถุ สำหรับคนร่ำรวยกระฎุมพีจริง แต่ก็ยังหอบหวง "ขยะ" นั้นไว้ให้สกปรก ให้เป็นพิษ ให้เป็นแบบอย่าง ทางเศรษฐกิจแก่สังคมอยู่ร่ำไป นี่ก็เป็นความร้ายแล้ว จิตวิญญาณ ที่ขี้เหนียว ขี้ตระหนี่โลภโมโทสันให้แต่แก่ตัวนั้น ก็ยิ่งเป็น "ขยะ" ทางนามธรรม ที่เลวร้ายใหญ่ เพราะมัน เป็นกิเลส เป็นของเลวในมนุษย์ ซึ่งควรทิ้ง ควรกำจัดออกไปจากตนอย่างยิ่ง นี่ก็เป็นความร้าย อีกด้วย กระฎุมพี ที่ยิ่งขี้เหนียวเงินส่วนเกิน จึงยิ่งชื่อว่า "คนขยะ"ตัวร้าย เพราะมี"ขยะ" ทั้งที่เป็นวัตถุหรือรูปธรรม ก็กองโต มี"ขยะ" ทั้งที่เป็นนามธรรม ก็ตัวเลว คือ ผี มาร ซาตาน ฯลฯ ตัวจริง คนร่ำรวย(กระฎุมพี) ส่วนมาก เป็นคนไร้ความประเสริฐ คือ ไร้ความดีเลิศ หรือ ไม่ใช่คนดีที่เข้าข่าย"ดีเลิศ-ดีที่สุด" ตามความหมาย ของคำว่า ประเสริฐ (เศรษฐี) เพียงแต่เขามีความร่ำรวยวัตถุทรัพย์ ซึ่งส่วนมาก ร่ำรวยได้ เพราะตน"เอาเปรียบ" หรือ "ได้เปรียบ" ผู้อื่นมาด้วยความฉลาดซับซ้อนซ่อนเชิง(เฉกตา,เฉโก) ยิ่งร้ายกาจ ก็ยิ่งปกปิดชนิดที่คนผู้ถูกเอาเปรียบนั้น ต้องจำนนพ่ายแพ้ "จำยอมให้เอาเปรียบ" แล้วเขาก็ ดูดเลือด เอาเปรียบคนพ่ายแพ้ผู้สิ้นท่าอันเป็นแนวทางของระบบทุนนิยม แบบไม่รู้จักจบ จักพอ เป็นการสะสม ทับถมแรงดูด เติมแง่ซับซ่อนซ้อนเชิงให้ตนได้เปรียบ จนร่ำรวยไม่เสร็จ การสะสม กักตุน กอบโกยสมบัติวัตถุให้แก่ตนไว้ จนเป็นส่วนมากส่วนเกินนั้น ตามทฤษฎี เศรษฐศาสตร์ เชิงพุทธ หรือ เศรษฐศาสตร์บุญนิยม ที่มีหลัก"สัมมา" หรือ "มัชฌิมา" อันประเสริฐลึกซึ้ง ก็ได้กล่าวมาแล้ว ว่าเป็น "ขยะ" ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้อง เอาออกจากตน ถ้าแม้นไม่พากเพียรพิจารณาสละออก หรือแจกจ่าย ให้แก่ ผู้อื่นไป โดยเห็นจริงเห็นแจ้งประจักษ์ชัดว่า หากเอาออกได้ ก็เป็น"บุญ"จริงๆ ก็จะเกิดความเสียหาย เลวร้ายขึ้น ทั้งตนทั้งสังคมได้จริงๆ ดังที่เป็น-ที่เห็นๆกันชัดๆ อยู่ในสังคมทุกวันนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้มีความฉลาดลึกซึ้งซับซ้อนแบบบุญนิยม (อธิปัญญา,วิปัสสนาญาณ,ยถาภูตญาณ ฯลฯ) ที่ยิ่งเห็น ยิ่งรู้เชิงชัด จะยิ่งเปิดเผยเชิงบุญ-เชิงบาป,เชิงเสียสละ-เชิงเอาเปรียบ ให้ใครๆรู้เท่าทันกัน ถ้วนทั่ว และ ผู้ที่ยิ่งฉลาดแบบนี้ ยิ่งเก่ง ยิ่งสามารถ ก็ยิ่ง เป็นผู้สละออกได้จริง ยิ่งเป็นผู้มักน้อยได้จริง ยิ่งเห็นแก่ตัว น้อยได้จริง มีสมบัติวัตถุน้อยได้จริงยิ่งๆขึ้น มีใจพอ (สันโดษ) ได้จริงยิ่งขึ้น มีการเกื้อกูล ช่วยผู้อื่นได้จริง มากยิ่งๆขึ้น มีการกล้าเสียเปรียบ อย่างรู้ๆได้จริง มากยิ่งๆขึ้น จะเป็นผู้ฉลาดชนิดประจักษ์แจ้ง(อธิปัญญา,วิปัสสนาญาณ,ยถาภูตญาณ ฯลฯ) ว่า การให้ -การสละ-การไม่ได้เปรียบ คือ "รายได้" (อัตถ) ที่อาริยชนแท้ต้องพยายามสะสม"รายได้"ชนิดนี้ อย่างลึกซึ้ง บริสุทธิ์ เพราะมันคือคุณค่าของคน คือสิ่งที่ควรได้ ควรสะสมให้ยิ่งๆแก่ตนๆ ซึ่งคนผู้ประเสริฐ(เศรษฐี) คนผู้เจริญ ในเศรษฐกิจ (ประเสริฐในกิจต่างๆ) ย่อมกระทำการไม่ได้เปรียบ-การสละ-การให้ ให้ยิ่งๆขึ้น ย่อมสะสม การประพฤติ ความประเสริฐดังกล่าวนี้ ให้จริง ให้เป็น"รายได้"จริง ให้มากๆยิ่ง ชนิดเห็น แจ้งประจักษ์สิทธิ์ ชัดจริง อย่างมั่นใจ แม่นจิตตรงสภาพ ทั้งรูปวัตถุ และนามธรรม เพราะฉะนั้น ขยะที่เป็น"สิ่งที่ตนไม่ต้องการแล้ว" จึงมีนัยะลึกซึ้งซับซ้อนต่างๆนานาหลากหลายเชิงชั้นทีเดียว ก็ขอสรุป อีกเล็กน้อย ว่า.... สิ่งที่ตนไม่ต้องการแล้ว และเป็นสิ่งที่ใครๆก็ใช้ไม่ได้แล้ว นั้น นั่นต้องนับเป็น"ขยะ"จริง เป็นเศษที่ต้องทิ้ง หรือ ต้องกำจัด ทำลายประตูเดียว สิ่งที่ตนไม่ต้องการแล้ว และเป็นสิ่งที่ตนใช้ไม่ได้แล้ว ก็นับเป็น"ขยะ"แล้วสำหรับตน เป็นสิ่งที่ตนต้องสละ ออกไป เป็นเศษที่ตน ต้องทิ้ง แต่อาจจะเป็นสิ่งที่ผู้อื่นใช้ได้ สิ่งที่ตนไม่ต้องการแล้ว(เป็นส่วนเกินส่วนเหลือ) แม้เป็นสิ่งที่ตนใช้ได้อยู่ก็ตาม ก็นับเป็น"ขยะ" แล้วสำหรับตน จึงเป็นสิ่งที่ตน ต้องทิ้ง ต้องสละออกไป สิ่งที่ตนไม่ต้องการแล้ว แต่เป็นสิ่งที่ตนใช้ได้อยู่ และเป็นสิ่งจำเป็นที่ตนต้องใช้ไม่ใช่ส่วนเหลือส่วนเกินอะไร อาจจะเป็นส่วน ขาดพร่อง สำหรับตนเอาเสียด้วยซ้ำ นั่นคือจิตเป็น"ขยะ" คือวิภวตัณหา คือกิเลส ทั้งโทสมูล และโมหมูล ที่ยังโง่เง่า ไม่รู้ความจริง ตามควรที่เป็นจริง สิ่งที่ตนต้องการ แม้เป็นสิ่งที่ตนใช้ได้อยู่ เพราะเป็นของดีๆอยู่ แต่เป็นสิ่งที่ตนไม่จำเป็น เป็นส่วนเหลือ ส่วนเกิน ของตน ทว่า ตนไม่สละออก ไม่แจกจ่ายไปให้แก่ผู้อื่น นั่นคือ จิตเป็น"ขยะ"คือ กามตัณหา คือ กิเลสโลภมูล ที่ตน อาจจะไม่รู้ตัว ไม่รู้สัจธรรม หรืออาจจะรู้ แต่หวงแหนเสียดาย จึงกลายเป็นคนที่ทั้งยังขี้โลภ ทั้งยอด ไร้เอื้อเฟื้อ เจือจาน ไร้เมตตาเผื่อแผ่เกื้อกูล และ ทั้งยอดเห็นแก่ตัว ตระหนี่ โง่เง่าโมหะทำลาย เพราะพฤติกรรมเยี่ยงนี้ นั้น เป็นการทำลายที่ร้ายกาจชนิดซ่อนซ้อน เนื่องจากกิเลสความโลภ ความเห็นแต่แก่ได้ของตน ผนวกกับความแล้งไร้ในจิตที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น และ รวมทั้ง ความขี้เกียจ จะจัดการ ซึ่งมีประจำสันดานส่วนลึกของตน ทั้งๆที่มันเป็นกันอยู่มากจริงๆ ในสังคม ก็ไม่ค่อยรู้สึกกัน ว่า... การหวงแหนไว้ที่ตน ให้สูญเปล่าเยี่ยงนี้ เท่ากับทำลายสิ่งของตามหลักอนิจจัง ซึ่งจะเสื่อมไปตามกาล นั้นหนึ่ง และเป็น การทำลายทั้งประโยชน์ที่ควรเกิด ไม่ควรปล่อยให้อยู่เปล่านี้สอง อีกทั้ง มีความผิด ที่บิดเบือน ความจริง ในสิ่งที่มี (ซึ่งมันยัง ใช้ประโยชน์ได้ด้วย) ให้ตกอยู่ในสภาพเหมือนไม่มี (ทำลายสัจธรรม) นี้สาม จึงเกิดทั้งความเสื่อม (โทรม) - ความเสีย (ประโยชน์) - ความสูญ (ทั้งที่มันยังไม่สูญ) รวมแล้วเป็นความเสื่อมทราม เป็นอกุศล-อสัจธรรม อยู่ในหมู่คนส่วนใหญ่ส่วนมาก ทั้งคนมั่งมี -พอมี -ยากจน ที่ยังไม่รู้สึกว่า กรณีเช่นนี้ เป็นกรณีสำคัญ ทางเศรษฐศาสตร์ อันน่าศึกษา น่าพัฒนา ซึ่งมันมีอยู่มากจริงๆในหมู่มนุษย์ ทั้งที่ยังไม่เจริญ และทั้งที่หลงตนว่า เป็นผู้เจริญแล้ว โดยเฉพาะ เจริญทางวัตถุ ทั้งประชาธิปไตย ทั้งสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ และเผด็จการ กรณีนี้แหละ สำคัญนัก เพราะมันทำลายเศรษฐกิจรุนแรง หรือเป็นความสูญเสียมหาศาล ที่ไม่พากันอุตสาหะ ไม่พากัน ขวนขวาย สำเหนียกสังวรศึกษา และกระทำกันให้จริงจัง ไม่เร่งรัดจัดการกัน ในสังคม ให้ถ้วนทั่ว ทุกสังคม เพื่อสร้างความอุดม สร้างความสุข ให้แก่สังคมให้แก่โลก และยิ่งเป็น "สิ่งที่ผู้มีภูมิรู้เห็นว่า ไม่น่าสะสม ไม่น่าต้องการให้แก่ตน น่าจะสละออกไป" เพราะ เป็นพิษเป็นภัยต่อ "ผู้ต้องการเป็นของตน" อยู่นั้นเอง เพราะทำลายตนอย่างลึกซึ้งเองอยู่ เช่น เงินทอง ในผู้เป็นภิกษุ ของพุทธ, สิ่งเฟ้อสิ่งเกินในผู้มีพอเหมาะพอสมแล้ว, ทรัพย์ศฤงคาร ที่ไม่ควรมากไป ในผู้มี บุญญา บารมี หรือผู้มีความสามารถสูง มีความรู้ดี มีความดีมาก, สิ่งเสพสิ่งติดที่ทำร้ายตน ตามฐานะ ในผู้เสพผู้ติด แต่ละฐานะ เป็นต้น ผู้ยังดื้อต้องการเป็นของตน ผู้ยังดื้อสะสม ในสิ่งที่ผู้มีภูมิรู้ หรือสัตบุรุษชี้แนะให้ละความต้องการ ให้เลิก สะสมนั้น ก็ยิ่งเป็น ผู้เต็มไปด้วย"ขยะ" ทั้งทางจิต ทั้งทางพฤติกรรม ทั้งทางวัตถุ ที่เต็มไปด้วย โมหะ หลงใหลหลงผิด โลภะเห็นแก่ตน โทสะเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนโลก ซึ่งคนผู้เป็นดังว่านี้ ย่อมยังเป็นตัวอย่างเลวอยู่ในสังคม เพราะเขามีพฤติกรรม "เป็นอยู่" กับสิ่งที่ไม่น่ามี ไม่น่าทำอยู่ ไม่น่า ต้องการ ไม่น่าสะสม ไม่น่าทำลายตน-ทำลายผู้อื่น ให้คนอื่น ผู้โง่เขลาอื่น เขาเอาอย่างตาม หลงผิด หลงใหลตามเลย เนื่องจาก ความ"เป็นอยู่" ดังกล่าวมาคร่าวๆนั้น ล้วนยังเบียดเบียนตน ยังเบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งยิ่งเพิ่ม ความเป็นภัย เป็นบาป ไปตามขั้นฐานะของคนผู้ยังดื้อต้องการ ผู้ยังดื้อสะสม ที่ยิ่งดื้อ ยิ่งสะสมมาก ก็ยิ่งตรงกันข้าม กับ "บุญ" คือ ยิ่งเป็น "กระฎุมพี" (ผู้ร่ำรวย) ที่ยิ่งห่างยิ่งไกลออกไปจากความเป็น"เศรษฐี" (ผู้ประเสริฐ) จากความเป็น"อาริยะ" (ผู้เจริญ, ผู้ประเสริฐ) เพราะ มันยิ่งเป็นผู้ทำลายเศรษฐกิจชนิดซับซ่อนซ้อนเชิง ยิ่งเป็นผู้สร้างค่านิยมเลวร้าย ยิ่งเป็นผู้สร้างหมู่พวก สร้างระบบ เครือข่าย ซึ่งล้วนมีเป้ามุ่งเป็น"กระฎุมพี"(ผู้ร่ำรวย) ด้วยความหลงเห็นดีเห็นชอบกันทั้งนั้น แถมยิ่งมี ชั้นเชิงโฆษณา ยั่วยวน มอมเมาปลุกเร้า ชวนผู้ไม่รู้ทัน(ปุถุชน,ผู้มีอวิชชา) ให้หลงเห็นดี เห็นงาม ตามอย่าง เอาอย่าง ซ้ำไปเสียอีก ชนิดไม่ยอมสิ้นฤทธิ์ สิ้นแรง ลงได้ง่ายๆเลย ความเห็น"บุญ" เห็น"บาป" ที่ยิ่งลึกซึ้งมากๆถึงขั้น....ต้องรู้ว่า ความพอเหมาะพอดี ความชอบแล้ว ควรแล้ว (สัมมา) ความลงตัว ความเป็นกลาง(มัชฌิมา)แล้ว นั้น มันก็ยิ่งยาก เพราะมันไม่ใช่ว่า จะตื้นๆ ง่ายๆ ตามที่หลงรู้สึกๆกัน ซึ่งจะรู้"สิ่งขาด-สิ่งเกิน" ที่ยังชื่อว่าเป็น"ขยะ"ของตนๆ ทั้งรูปธรรม -นามธรรมนั้น ก็ต้องศึกษา และปฏิบัติพิสูจน์ ละลด ปลดปล่อยทิ้งจริง สละจริงกัน จนเกิดมรรคเกิดผล พ้นความเป็น"ขยะ" ถึงขีดถึงขั้น....มีของจริง มีความเป็นได้จริง ให้ตนรู้จาก "สภาพจริง" จากความเป็นได้จริงนั้น ทั้งรูปวัตถุ ทั้งนามธรรมของตน ด้วยตนเอง ตั้งแต่ "รู้" หรือ เกิดความเห็น เกิดความเข้าใจ(ทิฐิ) ใน"เป้า" ใน "ความเป็นขยะ" ของตน แล้วแบ่งทำ เท่าที่ตน จะสละละล้าง ได้แต่ละขนาด และวิธีการกระทำให้ถึงเป้านั้นๆแต่ละขั้นตอน อย่างถูกต้อง พอเหมาะ พอดีกับตน (มัชฌิมา) ชอบแล้วควรแล้ว (สัมมาทิฐิ) แล้วก็ลงมือปฏิบัติ พิสูจน์ให้จริงให้ถูกถ้วน (สัมมาปฏิปทา) จนได้เดินทางก้าวไปสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามทางนั้น (สัมมาอาริยมรรค) เป็นอาริยชน เป็นอาริยบุคคลแท้ (ไม่ใช่เป็นได้แค่ผู้เจริญทางวัตถุเท่านั้น) ก้าวขึ้นสู่ความเป็น"เศรษฐี" จริง (มิใช่เป็นได้แค่ "กระฎุมพี" หรือแค่ผู้สูงส่ง เลิศลอยด้วยโลกธรรมเท่านั้น) ตราบกระทั่งช่ำชองในมรรค ตั้งมั่นแข็งแรงในผล(สัมมาสมาธิ) และสามารถรู้จริงจาก"ของจริง ที่ทำให้ ปรากฏได้" (ปาตุสัจจะ) แม้ถึงขั้น นามธรรม อย่างประจักษ์แจ้ง (สัมมาญาณ, อธิปัญญา, วิปัสสนาญาณ, ยถาภูตญาณ ฯลฯ) ในความเป็นได้ จนลงตัวตาม สุตมยปัญญา-จินตามยปัญญา หรือ สัมมาทิฐิ ที่ได้เรียน ได้รู้มานั้นๆ เกิดเป็น "ภาวนามยปัญญา" หรือ "สัมมาญาณ" ขั้นสมบูรณ์ คือ ทำให้เกิดผล ทีละสัดทีละส่วน สะสมผลนั้นๆ จนถึงผล ที่สุดของ "ความเป็นกลาง" (มัชฌิมา) หมายความว่า ถึงความพอดีสมบูรณ์ สมดุลนั้นๆ ได้แล้วจริง (มัชฌิมา) ถึงความไม่ขาด-ไม่เกิน ถึงสภาพไม่ลบ-ไม่บวก ถึงสภาพไม่ผลัก-ไม่ดูด ถึงสภาพไม่ชัง-ไม่ชอบ ถึงสภาพ neutron ถึงสภาพไม่โลภ-ไม่โกรธ (อย่างไร้โมหะ ไม่มีความหลงเหลือ) ถึงสภาพไม่เหลือ ความเป็น "ขยะ" ทั้งรูปวัตถุธรรม-นามธรรม ทั้ง"สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นขยะ ก็ไม่เป็นอยู่ อย่างขยะ" ทั้ง"สิ่งที่ชื่อว่าขยะแล้ว ก็ขจัดออก สละออกหมดแล้ว" "ความเป็นกลาง" ที่มีลักษณะเช่นที่กล่าวคร่าวๆนี้ คือ "มัชฌิมา" ที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่ง่ายๆตื้นๆ ผิวเผิน ดังที่เข้าใจ กันอยู่ทั่วไป ดาษดื่น แต่เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เห็นตาม-รู้ตามได้ยากเอาการอยู่(คัมภีรา, ทุททสา, ทุรนุโพธา) หรือ แม้บางคน จะฉลาดหลักแหลมเข้าใจได้ รู้ความหมายได้ดี แต่จะ"รู้ตัว"นั้นแสนยาก เพราะมันเป็น "ปรมัตถสัจจะ" แต่ก็สอดคล้องกับ"สมมุติสัจจะ" อย่างลงตัว อย่างสมดุลเป็น "สัจจะ" ที่มีของจริง-สภาพจริง ครบสมบูรณ์ "มัชฌิมาปฏิปทา" ที่แปลกันว่า "ทางสายกลาง"นั้น คือ ทางสายที่เดินไปสู่"ความเป็นกลาง" จริงๆ ซึ่งมีหมายความว่า ทางปฏิบัติ หรือทางเดินนั้น จะต้องเรียนรู้ทั้งเป้าหมายทั้งทิศทางทั้งวิธีปฏิบัติ และ ต้องจัดสัดส่วนความเคร่งความยาก ให้ตนได้ฝึกฝน ชนิดที่มี"ความลำบาก" เหมาะสมกับตน อย่างสัมมาทิฐิ นั่นคือ ต้องเคร่งครัด-ต้องตึง ไม่ใช่ค่อนไปข้าง"ตามสบายของตน" (ยถาสุขัง โข เม วิหรโต) กุศลจึงจะเจริญ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า "ตั้งตนเพื่อความลำบาก(ทุกขายะ ปนะ เม อัตตานัง ปทหโต) กุศลธรรมเจริญยิ่ง" และแล้วก็สังวร ปฏิบัติให้เดินให้ก้าวสูงขึ้นๆไปสู่ "ความเป็นกลาง" (มัชฌัตตตา) อันเป็นจุดสูงสุด ให้สำเร็จ ดังที่ได้ อัตถาธิบาย ผ่านมาแล้วนั้น "สัมมาปฏิปทา" หรือ"สัมมาปฏิบัติ" ก็คือ การปฏิบัติให้ถูกทางไปสู่ความเป็นอาริยะ ให้พอเหมาะพอดี กับตนแต่ละคน แต่ละฐานะ และจะต้องมีหลักไตรสิกขาเป็นเครื่องประกอบในการปฏิบัติสมฐานะ เช่น โสดาบัน ก็ปฏิบัติในฐานศีล ๕ สกิทาคามี ปฏิบัติในฐานศีล ๘ อนาคามี ปฏิบัติในฐานของอนาคาริกชนจริงๆ คือ ศีล ๑๐ ขึ้นไป เป็นต้น และจะต้องเข้าใจ การปฏิบัติ "ศีล-สมาธิ-ปัญญา" อย่างพ้นทั้ง"สีลัพพตุปาทาน" ซึ่งหมายถึงยังไม่เข้าใจ"ไตรสิกขา"อย่างสัมมาทิฐิ ยังปฏิบัติ"ศีล-สมาธิ-ปัญญา"ตามแบบฤาษีเก่าๆ เดิมๆ อันเป็นจารีตที่หลงผิดสืบทอดแบบอย่างกันมาและเป็นคนส่วนใหญ่ด้วย หรือแม้จะ "สัมมาทิฐิ" แล้ว ก็ต้องตั้งตนไว้ชอบ (อัตตสัมมาปณิธิ) ต้องเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก(ทุกขายะ ปนะ เม อัตตานัง ปทหโต) ซึ่งจะไม่ใช่ "เป็นอยู่" ไปตามสบายๆ(ยถาสุขัง โข เม วิหรโต) เป็นอันขาด ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ใน "เทวทหสูตร" พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๑๕ นั่นคือ ต้องตั้งใจเอาจริงพากเพียรจนบรรลุธรรม ตามศีลพรต ที่ตนสมาทานนั้นๆให้ได้ จึงจะพ้น "สีลัพพตปรามาส" ไม่ใช่สักแต่ว่าปฏิบัติเหยาะๆแหยะๆ ลูบๆ คลำๆ ศีลพรตนั้นๆไปอย่างไม่ตั้งตนไว้ชอบ หรือไม่พากเพียร จนสามารถ มีมรรคผล การปฏิบัติถึง ปานฉะนี้ จึงจะชื่อว่า "สัมมาปฏิปทา" เจริญเกิดกุศล ตามแบบพุทธ เช่น ผู้กำลังประพฤติหรือผู้เดินทางเพื่อสู่"ความเป็นกลาง" สู่ความลงตัว สู่ความสมดุล (มัชฌัตตตา) ยังไม่บรรลุ "ความเป็นกลาง" เรียกว่า มี "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือมี "สัมมาอาริยมรรค อันมีองค์ ๘" เป็นต้นว่า ปฏิบัติเพื่อบรรลุ "โสดาบัน" ผู้ปฏิบัติก็ต้องรู้ความหมายของศีล-ของธรรม ตามฐานะ ของตน ที่กำหนด สำหรับตน ชัดเจน เพื่อขัดเกลาตน และต้อง "ตั้งตนอยู่บนความลำบาก" ตามขนาดที่พอเหมาะสม ตรงสภาพ พอกับฐานะ แห่งตน ตามขีดตามขั้นนั้นๆ ซึ่งในขณะที่ ยังปฏิบัติอยู่ เดินอยู่ในทาง แต่ละขั้นแต่ละฐานะ ที่ยังไม่"ลงตัวบริบูรณ์" (ยังไม่มีผล มัชฌัตตะบริบูรณ์) ยังต้องสังวร ฝืดฝืนอยู่ กิเลสระดับที่ตนกำลังปฏิบัตินั้น ยังมีฤทธิ์ ทำทุกข์ทำความลำบากให้ตนอยู่ ยังไม่สบายเบาง่ายถึงขั้นมี"จิตเฉยๆ-จิตกลางๆ" (มัชฌัตตตา) ยังไม่ถึง"ความเป็นกลางในจิตใจ"(มัชฌัตตตา) อย่างนี้ก็คือ ผู้ยังประพฤติ หรือผู้กำลังเดินทางเพื่อสู่ "ความเป็นกลาง" อยู่ (มัชฌิมาปฏิปทา) ยังมิใช่คนมี "ความเป็นกลาง" (มัชฌัตตตา) ผู้ศึกษา ต้องกำหนดรู้ ให้ชัด ให้แม่นสภาพ ให้ตรงสถานะแท้ๆกันดีๆว่า ยังอยู่ระหว่าง "กำลังเดินอยู่ในทาง" ที่ต้องเพียร ต้องตั้งตน อยู่บนความลำบากอยู่ ยังไม่มี "ความเป็นกลาง" ส่วนผู้ถึง"ความเป็นกลาง" (มัชฌัตตตา)แล้ว จะไม่ต้อง "ตั้งตน เพื่อพ้นความลำบากนั้นอีก" เพราะเป็นผู้ สบายแล้ว บรรลุผลแล้ว นัยะเดียวกัน ผู้ประพฤติหรือผู้กำลังพากเพียรเดินทางเพื่อสู่ "ความเป็นกลาง" (มัชฌิมาปฏิทา) เพื่อจะเป็น "สกิทาคามี" ก็ต้องรู้ ความหมายของศีล ของธรรมที่กำหนดรู้ตามขั้นตาม ขนาดของตน ชัดเจน แล้วก็พากเพียร ขัดเกลาตน และต้อง "ตั้งตนอยู่ บนความลำบาก" ตามขนาดที่พอเหมาะพอสม พอกับฐานะของตนๆ ขั้นนี้ ขีดนี้ และเมื่อเกิดผลจนเป็น "ความลงตัว -ความวางเฉยได้" (มัชฌัตตตา) ผู้นี้ก็ถึง"ความเป็นกลาง" (มัชฌัตตตา) ครบรูป ครบนามได้จริง ก็จะรู้"ของจริง" นั้นๆ ตามความเป็นจริงเอง ฐานะ"อนาคามี" หรือฐานะ"อรหัตตมรรค" ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องมีศีลมีธรรมที่ยึดถือปฏิบัติ เพื่อขัดเกลาตน ให้เดินทางสู่ "ความเป็นกลาง" (มัชฌัตตตา)ให้สำเร็จบริสุทธิ์บริบูรณ์ ตามขั้นตามขนาดที่พอเหมาะ พอสม พอดีกับฐานะของตนๆ ทั้งนั้น ข้อสำคัญ คือ ผู้กำลังประพฤติ ผู้กำลังดำเนินไปในทาง เพื่อสู่"ความสมดุล-ความลงตัว" สู่ "ความเป็นกลาง" สู่ "มัชฌัตตตา" นั้น ต้องสังวร ต้องสำรวมอบรมตนตามศีลตามหลักธรรมที่ตนยึดถือสมาทานนั้นๆอยู่ จึงจะชื่อว่า ผู้กำลังประพฤติ หรือ กำลังเดิน ไปในทาง ซึ่งก็ต้องพยายาม(วายามะ) ตั้งตนไว้ชอบ ต้องตั้งตน บนความลำบากอยู่ และเรียกว่า ผู้กำลังมี "มัชฌิมาปฏิปทา" นี่คือ ความหมายของคำว่า "มัชฌิมา" ในผู้เป็นอาริยชนแท้ๆ แต่ละฐานะก็จะบริสุทธิ์บริบูรณ์ได้มากน้อย ตามขนาด นั้นๆ ซึ่ง "มัชฌัตตตา" ต่างกันกับ "มัชฌิมาปฏิปทา" ด้วยประการฉะนี้ ส่วนฐานะของปุถุชนหรือโลกียชน ที่ถือเอา"ความพอเหมาะพอดี" ตามความชอบ(อิฏฐารมณ์) ความไม่ชอบ (อนิฏฐารมณ์) ของตน เป็นเครื่องกำหนดตัดสิน นั้นก็เป็น"ความเป็นกลาง"ที่ยังมีความชื่นชอบ -มีความไม่ชอบ ผสมประกอบอยู่ หรือเป็น "ทางสายกลาง" ของปุถุชน ของโลกียชน ปกติธรรมดาทั่วๆไปในโลก แม้แต่คน ในศาสนาอื่นๆ เขาก็ปฏิบัติอย่างนี้กันทั้งนั้น ยังไม่ใช่เอาหลักของศีล ของความมีขั้นมีขีด ตามหลักปฏิบัติ "ทางสายกลาง แบบโลกุตรธรรม" เป็นเครื่องกำหนดตัดสิน จึงไม่ใช่ "ทางเดินสู่ความเป็นอาริยะ" (มัชฌิมาปฏิปทา) ตามขั้น ตามขนาด ตามลำดับของผู้ปฏิบัติ ที่มีหลัก ไตรสิกขา หรือ มรรค อันมีองค์ ๘ ประพฤติอยู่อย่างสังวรประจำตน ซึ่งมีการ "ตั้งตนไว้ชอบ" มีการ "ตั้งตน อยู่บนความลำบาก" ที่ต้องลำบาก ก็เพราะยังอยู่ในระหว่างกำลังปฏิบัติ ยังไม่"ลงตัว" ยังไม่"สมดุล" ยังไม่ถึง "ความเป็นกลาง" ตามความหมายของ พระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นเอง ซึ่งปุถุชน หรือคนโลกีย์ แม้จะมีคุณธรรมในตนเท่าใดๆ เขาก็จะสำนึกสังวรตัดสิน"ถูก-ผิด" หรือกำหนด "ความสมควร -ไม่สมควร" ไปตามใจของเขา ไปตามภูมิตามคุณภาพของเขาเอง อันมีกิเลส เป็นตัวบงการอยู่ เพราะยังไม่รู้ แนวทางที่เป็นทฤษฎีของ พระพุทธเจ้าอย่าง "สัมมาทิฐิ" เขาก็จะพอเหมาะพอสม พอใจไปโดย..ไม่มีหลักไตรสิกขาอย่างเป็น"สัมมาทิฐิ" หรือไม่มีสัมมาอาริยมรรค องค์ ๘ ไม่มีโพชฌงค์ ๗ หรือไม่มีโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ไปตามฐานะของปุถุชน ของโลกียชน หรือแม้ "กัลยาณชน" เป็นผู้แสวง "โลกียสุข" เสพอาศัย ไปตามวิสัยโลกีย์ และมี"ทุกข์ตามธรรมชาติที่ตนมีภูมิพอรู้ทุกข์ ที่เป็น สามัญโลกีย์" ก็"สุขๆ-ทุกข์ๆ"สลับกันไป เป็นสังสารวัฏ ไม่มีทางจบสิ้น ไปตลอดกาลนาน ถ้าผู้ใดบำเพ็ญบุญ ได้มาก ก็ได้เสวยสุขมาก และอยู่กับ"สุขโลกีย์"ได้นาน อาจจะนาน จนหลงผิดกันว่า "สวรรค์ที่ยิ่งใหญ่ หรือสวรรค์ของพระเจ้า เป็นนิรันดร์" ก็มี เพราะไม่มีการพัฒนาสู่"อาริยธรรม"หรือ"โลกุตรธรรม" ก็จะไม่รู้"ทุกข์ที่เป็นอาริยสัจ หรือเป็นโลกุตระ" แม้ที่สุดไม่มีทาง "หมดทั้งทุกข์หมดทั้งสุข" ที่คือ ภาวะของ "ความเป็นกลาง" หรือ "ความไม่มีทุกข์ไม่มีสุข" ที่มีลักษณะดังที่เรียกขาน ด้วยภาษาว่า "อทุกขมสุข หรือ อุเบกขา หรือ มัชฌัตตะ" เป็นอันขาด ความเข้าใจที่ไม่ถูกแท้(มิจฉาทิฐิ) ไม่ถูกถ้วน(ไม่สัมมาทิฐิ) ในความหมายอันเป็นสัมมาทิฐิจริงของคำว่า "มัชฌิมา" ก็ดี "มัชฌิมาปฏิปทา" ก็ตาม หรือแม้คำว่า "มัชฌัตตะ" ก็ด้วย ฯลฯ นั้น ได้ทำให้ผู้ไม่แยบคาย ไม่ถ่องแท้นั้นๆ ย่ำเท้าเป็นปุถุชนที่.... ยิ่ง"หลงตน" (นึกว่าตนรู้ดีรู้ถูก) แต่ยิ่งประมาทเพิ่มกิเลสให้ตน เพิ่ม"ขยะ"ให้ทั้งแก่ตน และแก่ผู้อื่น เป็น"ปุถุชน"แท้ ที่ยิ่งเติมกิเลส เติมขยะให้"หนา"(ปุถุ)ขึ้น ยิ่งขึ้นๆ อยู่ตามจริง ของผู้มีภูมิ "ปุถุชน" จริงนั้นๆ อย่างน่าสมเพช เพราะกิเลสที่"หนา" แล้วนั้น ก็ไม่เที่ยง คือ ไม่อยู่เท่าเก่า ไม่เท่าเดิม ตามหลักอนิจจัง แต่มันกลับยิ่ง"หนา"ขึ้นๆ นี้คือ ความหลงตัว อวดดี มีมานะ เป็นเหตุ เนื่องจาก ตนก็หลงระเริง "บำเรอตน"ด้วยโลกียสุขอยู่อย่างไม่รู้สึกตัวได้ง่ายๆดอก และ ตนก็ไม่ได้เข้าข่าย" ผู้ตั้งตนไว้ชอบ (ถูกทางอาริยะแล้ว)" ไม่ได้เข้าข่าย"ผู้ตั้งตนอยู่บนความลำบาก(ตามสภาพผู้ประพฤติไตรสิกขา)" แถมยังพากันยืนยัน ความเข้าใจ ของตน หรือยังพากันนำมาอธิบายขยายความ ตาม "ความเห็นของตน" ให้เลื่อนเปื้อน พาลพาผู้ไม่รู้อื่น พลอยเข้าใจเพี้ยน จากภพอาริยะ จากภูมิโลกุตระ จากความหมายที่ถูกต้องไป จนกลายเป็น "หลงผิด" แล้วก็หลงยึดถือ เอาความหมาย เพี้ยนๆผิดๆนั้นว่า "ถูก" ซึ่งก็เห็นๆกันอยู่เต็มสังคม เป็นที่ประจักษ์กันอยู่ ในทุกวันนี้ คนทั่วไปส่วนใหญ่ในชาวพุทธนี้เอง เมื่อจะกล่าวจะชี้ จะยืนยันกันถึงสภาพของ"มัชฌิมา" (ความเป็นกลาง ตามที่ตนเชื่อว่า ใช่พุทธแล้ว ก็ตาม) หรือ"มัชฌิมาปฏิปทา" (ทางสายกลาง) ก็เช่นกัน ก็มักจะกล่าว จะให้ความหมาย กันอยู่แค่ ความหมาย ของขั้น "ปุถุชน"หรือขั้น"โลกีย์" ที่ต่างก็เข้าใจกัน ได้ง่ายๆ หาได้เป็น ความหมายที่เป็น "มัชฌิมา" หรือ "มัชฌิมาปฏิปทา" ของผู้ใฝ่เพียร เพื่อความเป็น "อาริยบุคคล "ที่จะสูงขึ้นๆสู่ "โลกุตระ" กันไม่ มันจึงดู เข้าใจกันได้ง่ายๆไปเสียจริงๆ แต่มันไม่ตรงกับ ที่พระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงยืนยัน ไว้เลยว่า มันลึกซึ้ง(คัมภีรา) เห็นตามได้ยาก(ทุททสา) รู้ตามได้ยาก(ทุรนุโพธา) สงบอย่างผู้รู้-ผู้ตื่น-ผู้เบิกบาน (สันตา) สุขุมประณีต (ปณีตา) ไม่ใช่วิสัยที่จะคาดตรึกนึกเดาเอาได้ง่ายๆ (อตักกาวจรา) ละเอียด มีฝีมือในปรมัตถ์ (นิปุณา) รู้ได้เฉพาะบัณฑิตแท้ (ปัณฑิตเวทนียา) "มัชฌิมา" หรือ"มัชฌิมาปฏิปทา"ของปุถุชน ของโลกียชน จึงคือ "การบำเรอตน"ธรรมดาๆนั่นเอง ยังคงสร้าง "ขยะ" ให้แก่ตน ให้แก่สังคมแก่โลกอยู่ เป็นปกติธรรมดา ทั้งวัตถุธรรมและนามธรรม ตามธรรมชาติ ของสังสารวัฏ แห่งปุถุชน ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเข้าใจให้ถ่องแท้แยบคาย อย่างดีอย่างถูกต้อง ในความแตกต่างกันของสภาวะ "บำเรอตน" หรือ "ตามสบาย" (ยถาสุข) กับ สภาวะ "ตั้งตนอยู่บนความลำบาก" เพราะพากเพียรด้วยศีลด้วยธรรม ตามพระพุทธพจน์ ที่ทรงสอนไว้ว่า "ทุกขายะ อัตตานัง ปทหติ" ซึ่งต้องไม่ใช่สภาวะ ทำความลำบากให้ตนแบบ "อัตตกิลมถานุโยค"นั้นแน่ๆ จึงจะปฏิบัติมีมรรค มีผล เจริญก้าวขึ้นสู่ความเป็น"อาริยบุคคล-เศรษฐชน" หรือ คนที่ชื่อว่า "เศรษฐี" ได้แท้จริงถูกจริง อนึ่ง ผู้ที่"บำเรอตน" หรือเป็นอยู่"ตามสบาย"นั้น จะมองตน มองผู้ที่อยู่ในทิฐิความเห็นคล้ายกัน มองผู้ที่ตก อยู่ในภพ ในภูมิโลกีย์ เดียวกัน เห็นไปใน ทิศทางเดียวกัน เพราะมองภูมิ"โลกุตระ"ไม่ออก จึงไม่เห็นแง่ผิด เนื่องจากเข้าใจ"ความสุข"ได้แค่ "สุขโลกีย์" เท่านั้น และต่างก็"บำเรอตน"อยู่ ไม่ตั้งตน อยู่บนความลำบาก หรือ แม้จะตั้งตน พากเพียรอยู่บนความลำบาก ก็เป็น "อัตตกิลมถานุโยค" เพราะไม่สามารถรู้แจ้งใน "เคหสิต โทมนัสเวทนา" ว่า ต่างจาก "เนกขัมมสิตโทมนัสเวทนา" อย่างไร จึงเข้าใจว่า "ตามสบาย" คือ ความพอเหมาะ แล้วหลงว่า นั่นคือ "มัชฌิมา-มัชฌิมาปฏิปทา" คือ ทางสายกลางแล้ว ความเป็นกลางแล้ว พอเหมาะแล้ว สมดุลแล้ว ลงตัวแล้ว หรือบางคนถึงกับหลงว่า สำเร็จสมบูรณ์แล้ว พ้นทุกข์แล้ว ด้วยซ้ำ ส่วนผู้ที่"ตั้งตนอยู่บนความลำบาก"นั้น มักจะถูกมองว่า เป็นพวก"ตึงเกินไป" เป็นพวก "เคร่งเครียด" เพราะเขา เคร่งเกิน ซึ่งที่จริงนั้น คือ เขามี"ศีลเคร่ง" นั้นได้แล้ว ดังนั้นคนที่มี "ศีลเคร่งได้แล้ว" ก็เป็น"ปกติ" สบายแล้ว คือมีศีลได้อย่างเป็นปกติในชีวิตของเขาแล้ว เขาก็ ไม่ได้เคร่ง ได้เครียด อะไรแล้ว เขามี"ศีลที่เคร่ง" นั้นเป็นสามัญ แต่ก็ไม่วายจะถูกมอง ว่า นั่นแหละ "เราเคร่งอยู่" ซึ่งที่จริงมันเป็นความรู้สึกของ ผู้มองเอง ที่เขาปฏิบัติ"ศีล"นั้นไม่ได้ เมื่อเขาปฏิบัติไม่ได้ ถ้าให้เขาปฏิบัติ เขาก็ต้องรู้สึกว่า "ยาก" ว่า"เคร่ง"แน่นอน ด้วยเหตุฉะนี้ เราจึงมักจะถูกกล่าวหาว่า เป็น"พวกสุดโต่ง" เป็นพวก เคร่งเกินไป เป็นพวก "ไม่เป็นกลาง" ปฏิบัติ ไม่มัชฌิมา เป็นพวกไม่มอง คนส่วนใหญ่ ซึ่งที่จริง คนส่วนใหญ่นั้น ก็คือ ปุถุชน หรือเป็นผู้ที่ไม่มี"ศีล" แม้ศีลง่ายๆ ศีลต้นๆ จริงไหม? หรือแม้จะมีบ้าง ที่สมาทาน ศีล ปฏิบัติธรรม แต่ยังไม่สัมมาทิฐิในหลักไตรสิกขา ปฏิบัติอย่าง เป็น"สัมมาอาริยมรรค"ยังไม่ได้มรรคได้ผล เมื่อเราไม่เอา ตามคนส่วนใหญ่ หรือไม่อนุโลม(ซึ่งหมายใจให้"เราหย่อนยาน"ลงมา เป็นคนปฏิบัติศีลที่ไม่เคร่ง) ตามที่คน ทั้งหลาย "เป็นกัน"ส่วนใหญ่ ตาม"ความเห็น" ของคนส่วนใหญ่ เมื่อเราไม่ทำตาม จึงกล่าวหาว่า"เราสุดโต่ง" เราไม่ "มัชฌิมา" ถึงกระนั้นก็ดี ผู้ที่นึกว่า ตนได้ "ตั้งตนอยู่บนความลำบาก" แล้ว แต่ทว่าทำไป ปฏิบัติไป ก็ไม่มีมรรคมีผล คนเช่นนี้ก็หลากหลาย มากมาย แม้ใน นักปฏิบัติธรรม ชาวพุทธที่แน่ใจว่าตนก็เป็นพุทธที่"สัมมาทิฐิ"กันแล้ว ทั้งหลายนี้เอง ป่วยการไม่ต้องกล่าวถึง ผู้ทรมานตน หรือผู้ตั้งตน อยู่บนความลำบาก พากเพียรแต่ยิ่งมี "อัตตา" (พวกอัตตกิลมถานุโยค) ผู้ตั้งตนอยู่บนความลำบาก ที่นอกรีต เช่น ผู้ที่ได้แต่เพ่งเพียร หนีออกสู่ป่า ปฏิบัติสมาธิ แบบฤาษี หนีสังคม ซึ่งเป็นพุทธสายเจโต สายอัตตกิลมถะ ได้แก่ เถรวาทที่ทำกันอยู่ เอาแต่อยู่กับ จิตของตนๆ เอียงโต่งไปข้างหลง เอาแต่ประโยชน์ตน ให้ความสำคัญผู้อื่น หรือสังคม ภายนอก ต่ำมาก หรือพุทธสายปัญญา สายกามสุขัลลิกะ ได้แก่ มหายาน ที่ชอบแต่ศึกษาเล่าเรียน ขบคิดผกผัน แล้วก็อุตสาหะ พยายามนำความคิดมาเผยแพร่หาพวก หรือไม่ก็เอาแต่เพ่งเพียรมีสติๆ เอาแต่ตรรกะว่า อย่ายึดมั่น ถือมั่น ประโลมใจ สายนี้ เอียงไปข้าง หลงประโยชน์ผู้อื่น ทำงานช่วยสังคม เป็นต้น และยังมีแยกย่อย ไปแบบอื่นๆอีกมาก เหตุเพราะ ไม่เข้าใจอย่างถูกต้องในทฤษฎีวิเศษ "สัมมาอริยมรรค อันมีองค์ ๘" ส่วนมาก หลงผิดไปเน้นการปฏิบัติเอาที่การนั่งหลับตาทำ "สมาธิแบบฤาษี" ไม่มาเน้นปฏิบัติ"มรรค อันมีองค์ ๘" เพื่อให้เกิด "สัมมาสมาธิ" ซึ่งพระพุทธองค์ ทรงยืนยันว่า เป็น "ทางเอกทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น"(เอเสว มัคโค นัตถัญโญ) เพราะเป็น "อาริยสัจ ข้อที่ ๔" เป็นทางเดิน-ทางปฏิบัติ(มรรค) สู่ความพ้นทุกขอาริยสัจ พ้นความมี "ขยะ" หรือทางสู่นิพพาน ที่ผู้ตรัสรู้ สัมมาสัมโพธิญาณทุกพระองค์ เท่านั้น จึงจะนำ "สัมมาอาริยมรรค อันมีองค์ ๘" มาเปิดเผย นำพาผู้คนเดินทางสู่ "สัมมาสมาธิ ของพระอาริยะ" (อริโย สัมมาสมาธิ) สู่เป้าหมายสูงสุดได้ หรือไม่ก็ปฏิบัติกันได้แค่"สีลัพพตุปาทาน" กล่าวคือ เป็นผู้ถือศีลถือธรรมปฏิบัติเหมือนกัน(โดยเฉพาะ นักบวช) แต่ปฏิบัติ ได้เพียงตามจารีต ตามประเพณี ที่พากันสักแต่ว่า ยึดๆถือๆกันไปอย่างนั้นเอง บ้างก็กินๆ นอนๆ วุ่นนั่นวายนี่ ไปวันๆ เหมือนชาวบ้านธรรมดาๆ บ้างก็แสวงหาทางพัฒนาลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข บ้างก็อุตสาหะ พัฒนาตน หรือมุ่งศึกษาเล่าเรียน อย่างพากเพียรขยันเอาด้วย ทว่า... ชีวิตแต่ละวัน แต่ละขณะ ก็ปล่อยตัวไป "ตามสบาย" ไม่ได้เข้าข่าย "ตั้งตนอยู่บน ความลำบาก" ตามพระพุทธพจน์แต่อย่างใด อันใดไม่ชอบ -อันใดชอบ ก็"บำเรอตน"ไปตามชอบ ตามไม่ชอบนั้นๆ มีศีลก็มีบ้าง บางคน ถึงขั้นถือธุดงควัตร หรือ "ศีลเคร่ง" ปานนั้นก็มี แต่ปฏิบัติไม่ถูกทาง ไม่รู้จักกิเลส ไม่รู้จักตนว่า อยู่ในฐานะแค่ใด อะไรเป็น "สักกายะ" เป็น "ตัวขยะ" ที่จะต้อง สังวรละลดปลดปล่อย ก็ไม่รู้จริงรู้แจ้งอะไร สรุปชัดๆก็คือ เป็นผู้ถือศีล บำเพ็ญพรต เหมือนกัน อาจจะเคร่งเสียด้วย แต่ศีลหรือพรตนั้น ไม่พาให้เจริญเป็น "อาริยธรรม"ได้ ได้แต่ "โลกียธรรม" อย่างเก่งแค่ "กัลยาณธรรม" เพราะแม้จะเป็นผู้เคร่งศีล เคร่งธรรม แต่เคร่งอย่าง ไม่มี"สัมมาทิฐิ" ซึ่งเป็นประธานของ "มรรค อันมีองค์ ๘" ดังนั้น มรรคข้ออื่นๆ จึง "ไม่สัมมา" ไปตามประธานด้วย เมื่อปฏิบัติไม่ถูกทฤษฎี (ทิฏฐิ) ไม่ถูกตัว ถูกตน จึงละตัวตน ที่ชื่อว่า "สักกายะ"ไม่ได้ แม้แค่สภาวะ ลำดับต้นสู่ความเป็นโสดาบัน ยิ่งผู้มีคาถาที่ใช้ท่องประจำตนว่า "อะไรๆก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน" หรือ "ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" ก็ยิ่งจะเป็น ผู้ปล่อยวางไปด้วย "คาถา" นั้นๆแต่ยิ่งเต็มไปด้วย"อุปาทาน" เขาผู้นี้ก็ยิ่งจะ"ตามสบาย" ส่วนอะไรคือ" บำเรอตน" อะไรคือ "เสพสมสุข" ซึ่งเป็นโลกียสุขอยู่ ก็ยิ่งจะรู้ยาก หรือไม่รู้ เพราะมีแต่ จะสบายกับ "อุปาทาน"ที่ตนปล่อยวางด้วยคาถานั่นเอง ไม่ได้สำรวมสังวร ไม่ได้หัดแยกแยะ วิจัยธรรม (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ที่เป็นกาย-เวทนา-จิต-ธรรม อันใด ไม่ได้หัด "ตั้งตนอยู่บน ความลำบาก" ได้แต่มุ่งสู่ "สบาย -สบาย" ได้แต่"บำเรอตน"ให้ตรงอุปาทานของตน หรือตรงอารมณ์ประสงค์ของตน เป็น "ฤาษีกรุง" ที่ได้คาถาสำคัญนี้ แก้ทุกข์ไปชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็น"ฤาษีเมือง"หรือ"ฤาษีป่า" เดี๋ยวนี้ล้วน นิยมกันไป อย่างแพร่หลาย เพราะแค่ทำความเข้าใจได้แล้วก็จบ ก็ง่าย สะดวกดายสบายดี เพราะใช้แค่คาถา ประโลมใจ เท่านั้น ก็สบายแล้ว ไม่ต้องไปปฏิบัติอะไรให้ลำบาก ความยัง"ไม่เป็นกลาง" จนบริสุทธิ์บริบูรณ์สูงสุด ตามที่ได้กล่าวอธิบายมาเพียงคร่าวๆนี้ ล้วนยังคือ "ขยะ" ที่จะต้อง ละล้าง ซึ่งต้องเรียนรู้ และปฏิบัติขจัดออกให้หมดสิ้นหมดสูญกันทั้งนั้น เกิดเป็นคน เมื่อรักความเจริญ ความประเสริฐ(เศรษฐี) ต้องไม่สะสม"ขยะ" แต่ต้องสะสม "ผลกรรม" ที่เป็นกุศลให้สูงให้สุด ให้มาก ให้ต่อเนื่องจนเป็น"อัตโนมัติ" ให้ได้ คือ จนเป็นไปได้ในตัวของมันเอง หรือ "เป็นเช่นนั้นเอง" (ตถตา) โดยที่ตนไม่ต้อง ควบคุมดูแลอะไรมันอีก มันก็เป็นได้เอง(ตถตา) เพราะพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ "กรรม"เป็นของของตน (กัมมัสสโก) เราเป็นทายาทต้องรับ"กรรม" ของเราเอง "กรรม" ที่ตน ทำทุกกรรม.. คือมรดก ตกทอดต่อเนื่องเป็นของตนๆ (กัมมทายาโท) คำสอนของพระพุทธเจ้านี้ มีความลึกซึ้งยิ่งนักในเรื่อง "กรรมเป็นของของตน ตนเป็นทายาทของกรรม" มิใช่ทรงสอนแค่ "สรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ใช่ของตัวของตน" เท่านั้น แต่ทรงสอนว่า สมบัติ คือ "กรรม" คือ "วิบาก" นั้น เป็นของตัวของตน ที่ลึกซึ้ง สำคัญ เป็นสมบัติที่ไม่เป็นภาระ เมื่อเราทำ กรรมใดก็เป็น "ทรัพย์ของเรา" โดยเฉพาะ "กุศลกรรม" ย่อมเป็นสมบัติ ให้เราได้อาศัย ใช้สอย ช่วยชีวิตเราแน่ ไม่ต้องแบกต้องหาม ไม่ต้องหนัก ต้องยาก โจรปล้นไม่ได้ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ และจะทำเป็น แบ่งบุญ (กุศล) -แบ่งบาป (อกุศล) ให้แก่ใครๆก็ไม่ได้ เพราะเมื่อตนทำ ก็ต้องเป็น"ของตน" ไม่ว่า.... กุศลหรืออกุศล ตามที่ตน ได้กระทำ นั้นๆ จริง จะทำพิธีแบ่งบุญแบ่งกุศลแบ่งบาปแบ่งชั่วกันอย่างไร ก็แบ่งไม่ได้ เพราะค้านแย้ง กับคำสอนของ พระบรมศาสดา อยู่โต้งๆ ตามที่มีพระบัญญัติยืนยันว่า "กรรมเป็นของๆตน กรรมที่ตนทำ ทุกกรรม เป็นมรดก ที่ตนต้องเป็น ทายาท แบ่งให้คนอื่น เป็นทายาทไม่ได้" เพราะเขาไม่ได้เป็นคนทำด้วยเลย จึงไม่ใช่ของเขา แบ่งให้เขาให้ใครก็ไม่ได้ ตาม"สัจจะ" กรรมที่ตนทำทั้งปวงก็ต้องเป็นของตนเท่านั้น ดังนั้น "อกุศลกรรม" นั่นแหละ ที่เป็น "ขยะ" อันไม่ควรสะสมเลยแม้แต่น้อย มันเป็นสมบัติของเรา ที่มันต้องออกฤทธิ์ให้เรา ทุกข์ร้อน แน่นอน จะแบ่งใครก็ไม่ได้ "กรรม"ที่ควรสะสม ควรกระทำให้ยิ่ง จึงคือ "กุศลกรรม" โดยเฉพาะ "กุศลโลกุตระ" จะเจริญด้วย"กุศลกรรม" ก็ต้อง "ตั้งตนอยู่บนความลำบาก" ตามพระพุทธเจ้าทรงยืนยัน อย่าสะสม ความเป็น "ขยะ" เลย แม้แต่ "ขยะที่เป็นโลกียะ" แต่ต้องสะสม "กุศลกรรม" ให้ยิ่ง จะมีสมบัติเป็น"กุศลกรรม" ก็ต้องมีอย่างประเสริฐ(เศรษฐีแท้, อาริยะจริง) บริสุทธิ์สูงสุด จนนับว่า ไม่เหลือ ความเป็น "ขยะ" บริบูรณ์ ถึงขั้นจบสุดแห่ง "ปรมัตถสัจจะ" และ "สมมุติสัจจะ"ให้ได้ และกุศลกรรมที่วิเศษที่สุดที่ควรได้ ก็คือ ก่อ"กุศลกรรม"นั้นๆ ด้วย"ทางเดินทางก้าวสู่ความเป็นกลาง" (มัชฌิมา ปฏิปทา หรือ สัมมาอาริยมรรค มีองค์ ๘) ให้ถูกต้องถ่องแท้ แล้วจงก่อ หรือประพฤติจนกระทั่งถึง "ความเป็นกลาง -เป็นสามัญ" (มัชฌิมะ) ที่เป็น อนัตตา และ ตถตา ให้เป็นที่สุดกันเถิดเทอญ ผู้ถึง"ความเป็นกลางหรือความเป็นสามัญ"แท้ นั้น จะ"ยืนหยัด" และรู้จัก"ยืดหยุ่น" แต่จะไม่"หย่อนยาน" เป็นอันขาด ๒๐ ธ.ค. ๒๕๓๐ [ทบทวนแก้ไข ๓ ต.ค. ๒๕๔๘] -สารอโศก อันดับ ๒๔๗ กันยายน ๒๕๔๘ - |