คน - ขยะ ดิฉันเกิดมาในครอบครัวคนจีน พ่อมีร้านค้าขายของหลากหลาย คล้ายๆ ห้างสรรพสินค้า แต่เป็นร้านตึก แถวห้องเดียว อยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ขายตั้งแต่เข็มเย็บผ้าจนถึงกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ ส่วนแม่ ก็มีร้านตัดเสื้อสตรี ตั้งแต่เด็ก ดิฉันไม่เคยต้องซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่อื่น เพราะที่บ้านมีขายแทบทุกอย่าง ส่วนเสื้อผ้า แม่ก็จะตัดให้ จากเศษผ้า ที่เหลือ ในร้านของแม่ อันที่จริงดิฉันซึ่งเป็นพี่สาวคนโตและน้องอีกสองคน นับได้ว่าเป็นลูกเถ้าแก่จะใช้ของหรือใช้เงินอย่างไร ก็ได้ แต่พ่อมีนโยบาย ชัดเจนมากว่า เราทุกคนในครอบครัวต้องใช้ของที่ขายไม่ออก คนไม่นิยม เพราะของ ที่ขายได้ดีนั้น ทำเงินให้ร้าน เราไม่ต้อง ไปช่วยใช้ ส่วนของที่ขายไม่ได้จะเอาไปไหนหากพวกเราไม่ใช้กันเอง ดังนั้น เรา ๓ คนพี่น้องจึงไม่เคยได้ใช้ของตามที่ T.V. โฆษณา นับว่าพ่อได้สร้างค่านิยมใหม่ ที่ดียิ่งให้ครอบครัว ยึดถือปฏิบัติ ทำให้เราไม่ยึดติดกับสินค้ามียี่ห้อ จนเมื่อโตขึ้น นิสัยนั้น ก็ยังติดตัวมาตลอด เพราะเราเคย มีประสบการณ์ ตรงว่า สินค้าบางอย่างคุณภาพดี แต่ขายไม่ดี เพราะเขาไม่ได้โฆษณา หรือ การตลาดไม่เก่ง และราคา ก็มักจะถูกกว่า สินค้าที่ขายดี พ่อจะสอนให้ดูคุณภาพของสินค้าแต่ละอย่าง ว่าเป็นอย่างไร เวลาจะเลือก เราจึงมีเกณฑ์พิจารณา ที่ไม่ได้ยึด ยี่ห้อเป็นหลัก พ่อมีวิธีในการนำสิ่งของต่างๆกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ เช่น นำถุงพลาสติก ที่หุ้มเสื้อเชิ้ตผู้ชาย มาห่อปก สมุด หนังสือ ให้ลูกๆทุกคน นำด้ามปากกา มาต่อดินสอที่สั้น ให้ใช้ต่อไป ได้ถึงที่สุด นำกระป๋องแป้ง ที่ใช้หมดแล้ว มาดัดแปลง เป็นที่โกยร่องน้ำ นำกระดาษปฏิทินด้านหลัง มาให้หัดเขียน หรือคัดลายมือ และอื่นๆ อีกมากมาย พ่อประดิษฐ์เครื่องใช้ขึ้นมาใหม่จากเก่าที่บางคนอาจไม่เห็นคุณค่า หรือไม่รู้จะเอาไปทำอะไร แต่พ่อทำมัน ขึ้นมาใหม่ ใช้การ ได้ดี มีความเป็นเอกลักษณ์(ของครอบครัว) พ่อจึงเป็นต้นแบบของการ REUSE, RECYCLE ให้แก่ดิฉัน อย่างแท้จริง ดิฉัน เรียนรู้เรื่องการประหยัดและเห็นคุณค่าของสิ่งเล็กน้อยมาจากพ่อ ค่อยๆ ซึมซับ จนเป็นปกตินิสัย และเกิดความเข้าใจ เชื่อมโยง ได้ว่า การใช้ของอย่างรู้คุณค่า การนำสิ่งของต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ เป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ อันมีอยู่อย่างจำกัด ไม่ให้หมด ลงไป ก่อนเวลาอันสมควร และด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงไม่มีนิสัยชอบจับจ่าย ใช้สอย นอกเหนือไปจาก ความจำเป็น เท่านั้น ดิฉันไม่นิยมการช้อปปิ้ง หากจะเข้าห้างสรรพสินค้าก็เพราะตั้งใจไปซื้อของอย่างใดอย่างหนึ่ง เสร็จแล้ว ก็กลับ ไม่ได้เดิน ตากแอร์ หรือดูอะไรเพลินๆต่ออีก เพราะธุระซื้อของเรียบร้อยแล้ว เคยได้ยินหลายคนบอกว่า บางครั้ง เข้าไปไม่ได้ตั้งใจ จะซื้อของอะไร แต่เดินไปเดินมา เห็นก็อยากซื้อ บางทีซื้อกลับมาบ้านแล้ว ไม่ได้ใช้ ก็มี (สร้างสมบัติที่จะเป็นขยะ ให้บ้าน เพิ่มขึ้นด้วย) หลายคนอาจคิดว่า เราคนเดียว จะช่วยได้เท่าไร กันเชียว และเราคนเดียวสร้างขยะก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เราเคยคิด กันบ้างไหมว่า ขยะที่ออกจาก ตัวเรา แม้จะเพียงชิ้นเดียว มันเริ่มเดินทางอย่างไร และไปจบลงที่ไหน ขั้นตอน การขนส่ง สร้างปัญหาอย่างไร สิ้นเปลือง พลังงานขนาดไหน แน่นอนว่า เราแต่ละคนคงไม่ได้ผลิตขยะเพียงชิ้นเดียวเท่านั้นในแต่ละวัน (แค่คนละชิ้น ประชากรเรา เกือบ ๗๐ ล้านคน ก็ได้ขยะเกือบ ๗๐ ล้านชิ้นแล้ว) ลองเริ่มต้นตั้งแต่เราตื่นนอน รับประทานอาหาร ๓ มื้อ ไปโรงเรียน หรือไปทำงาน แม้กระทั่ง ไปเที่ยว จนถึงเข้านอน หากลองทำบันทึกดูว่าวันหนึ่งๆเราทิ้งอะไรบ้าง เป็นจำนวน เท่าไร เราสร้างขยะกี่ชนิดในแต่ละวัน เราจะอัศจรรย์ใจมาก กระดาษแต่ละแผ่นที่เราใช้ เคยนึกถึงไหมว่า มันมาจากต้นไม้ ผ่านกระบวนการผลิตที่มีน้ำเสีย (แถมโรงงาน บางแห่ง ยังปล่อยลงแม่น้ำคูคลองอีกด้วย) ข้อมูลที่ดิฉันได้จากมูลนิธิฉือจี้ประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นองค์กร ทางพุทธศาสนา ที่มีภารกิจ ช่วยเหลือมนุษยชาติหลายด้าน และหนึ่งในภารกิจที่เขารณรงค์ ช่วยกันทำ อย่างจริงจัง และเป็นล่ำ เป็นสัน คือ การแยกขยะ แล้วนำไปขาย (ทำเงินได้มหาศาลอย่างไม่น่าเชื่อ) พร้อมกับรักษา สิ่งแวดล้อม ไปในขณะเดียวกัน เขาแสดงแผนผังให้เราดูว่า กระดาษ ๕๐ กิโลกรัม ได้มาจาก ต้นไม้หนึ่งต้น ที่มีอายุถึง ๒๐ ปี กว่าเราจะปลูกต้นไม้สักต้น รอจน ๒๐ ปี นำมาทำกระดาษ ได้เพียง ๕๐ กิโลกรัม เราจึงควรใช้กระดาษอย่างรู้คุณค่ายิ่ง แล้วพลาสติกล่ะ กระดาษยังย่อยสลายได้ พลาสติกต้องใช้เวลากี่ร้อยปี หลอดดูด ถุงพลาสติก และ ขวด ที่ตกลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล ได้สร้างปัญหาให้กับสัตว์และพืชเท่าใด รากของพืช ไม่อาจไชชอน ผ่าน พลาสติกได้ สัตว์ที่กลืนพลาสติกเข้าไป ก็ตายมานักต่อนัก สถานที่ทางธรรมชาติหลายแห่ง เมื่อมีพลาสติก เข้าไปแปลกปลอม จะทำลายและทำให้ทัศนียภาพ ไม่น่าดูอย่างยิ่ง ยังมีขยะอีกมากมายหลายชนิด ที่เมื่อเราเลิกใช้หรือเสียก็ไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร เช่น มือถือ วิทยุ พัดลม คอมพิวเตอร์ เครื่องดูดฝุ่น แอร์ ตู้เย็น และอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน ล้วนแล้วแต่เราต้องไปเสียเงินซื้อมาเข้าบ้าน บางอย่างเสีย ก็ขี้เกียจไปซ่อม เพราะเสียเวลา หรือค่าซ่อมแพงกว่าซื้อใหม่เลย ประเด็นนี้ ก็ต้องกลับมา ทบทวนดูว่า บางครั้งเราซื้อของถูกโดยไม่ดูคุณภาพ มันจะกลายเป็นของแพง เพราะใช้ไม่กี่ครั้งก็เสีย ทำให้ ต้องซื้อใหม่ ของเก่าที่ทิ้งก็จะกลายเป็นขยะ การฝึกนิสัยประหยัด ไม่จำเป็นยังไม่ซื้อ ถ้าจะซื้อ ก็ให้คำนึง ถึงอายุ การใช้งาน จะทำให้สร้างขยะในระยะยาวน้อยลง ขยะกองโตๆที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทุกหนทุกแห่งในบ้านเมืองเรา ล้วนมีที่มาทั้งสิ้น ขยะไม่อาจเกิดขึ้นเองได้ ถ้าไม่มีผู้ทิ้ง และคนที่ทิ้งก็ไม่อยากให้ขยะอยู่ใกล้ตัว เพราะเป็นของสกปรก ของต่ำ ของเสีย ไม่มีบ้านใด ชุมชนใด ที่อยากอยู่ใกล้กองขยะ หากเลือกได้ เขาอยากอยู่ในที่อากาศสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากกลิ่นรบกวน ถ้าเป็น เช่นนี้แล้ว เราคงต้องย้อนกลับ มาถามตัวเองว่า ใครคือผู้ผลิตขยะ ? สำหรับตัวดิฉันเองคิดว่า การจะลดปริมาณขยะได้นั้นเราต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ ถึงคุณค่าของ สิ่งของต่างๆ ต้องตระหนัก อย่างแท้จริงว่าเราก็เป็นผู้หนึ่งที่สามารถช่วยรักษา ทรัพยากรธรรมชาติได้ ในการดำรงชีวิต ประจำวัน อย่างมีสติ ไม่ฟุ่มเฟือย แม้ของนั้น เราไม่ต้องซื้อหามา หรือเป็นของหลวง ก็ตาม การประหยัด ระวังแม้เพียงน้อยนิด อย่าคิดว่า ไม่มีประโยชน์ หรือ ไม่มีคุณค่า เพราะท้ายที่สุด ทรัพยากร ที่เรามีโอกาสใช้อยู่นี้ ไม่ใช่เป็นแค่เพียงของชุมชนเรา ประเทศเรา เท่านั้น ทว่ามันคือทรัพยากรของโลก (ที่เราเบิกลูกหลาน มาใช้ล่วงหน้า อย่างไม่บันยะ บันยัง) หยุดคิดสักนิดก่อนทิ้งขยะ เริ่มต้นที่ตัวเราเอง ตั้งแต่วันนี้ดีไหมคะ -สารอโศก อันดับ ๒๔๗ กันยายน ๒๕๔๘ - |