ขยะเมืองญี่ปุ่น คนที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นมักออกปากชมว่า เมืองญี่ปุ่นสะอาด ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางสายใหญ่ ตรอกเล็กซอยน้อย ไปจนถึงบริเวณ พื้นที่สาธารณะกว้างๆ อย่างเช่น สถานีรถไฟ ชุมทางรถเมล์ ที่มีผู้คนเดินสับสนขวักไขว่ จะหา ตั๋วรถเมล์ รถไฟ หรือ เศษกระดาษ เปลือกผลไม้ หล่นตามพื้นสักชิ้นก็ยาก ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย เคยเห็นบ้าง เหมือนกัน แต่ชั่วครู่เดียว ก็จะมีคน มาเก็บกวาดเกลี้ยงเกลา เมื่อเดินไปตามซอกเล็กซอยน้อยที่ลัดเลาะผ่านหน้าบ้านหลังบ้าน อย่างเช่นในเมืองเกียวโต ก็ยากที่จะเห็น ถังขยะ พูนล้น หรือ ถุงขยะ วางรอคนเก็บ แรมวันแรมคืน (หรือแรมเดือนอย่างบ้านเรา) เขาทำกันอย่างไร มีระบบระเบียบหรือกำหนดกฎเกณฑ์อะไร ถึงได้สามารถควบคุม"ขยะ" ไม่ให้เป็นสิ่งที่น่า "แขยง" จนถึงขั้น "ขยาด" อย่างที่เป็นอยู่ในบ้านเมืองเรา เรื่องขยะที่จะเล่าต่อไปนี้ มาจากประสบการณ์และข้อสังเกตส่วนตัวของข้าพเจ้า ตลอดเวลาที่พำนักพักพิง อยู่ใน จังหวัด โอซากา อำเภอมิโน เป็นเวลารวมทั้งสิ้น ๖ ปี ในที่พักแห่งเดียวกันโดยตลอด แม้ช่วงเวลา จะไม่ต่อเนื่องกัน ก็ตาม ขยะแยกประเภท ก่อนที่จะทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลมูลฝอยหรืออะไรก็ตามที่ประสงค์จะทิ้งนั้น ผู้ทิ้งจะต้องรู้จักลักษณะ และธรรมชาติ ของขยะ แต่ละชิ้น และจำแนกแยกแยะอย่างละเอียดถี่ถ้วน เริ่มตั้งแต่ประเภทใหญ่ๆ คือ -ขยะเผาได้ (burnable garbage/combustible) ขยะเผาได้ คือขยะจากในครัว(ขยะเศษอาหาร) และขยะเล็กๆน้อยๆในบ้านในชีวิตประจำวัน ขยะประเภทนี้ นอกจาก จะมีธรรมชาติ เป็นวัสดุที่เผาไฟได้แล้ว ยังต้องมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป คือต้องบรรจุลงได้ในถุงพลาสติก เนื้อหนา ขนาด ๒ ลิตร หรือ ๓ ลิตร ซึ่งเป็นถุงขยะมาตรฐานที่รัฐหรือเทศบาลญี่ปุ่นกำหนดใช้ทั่วประเทศ ถ้าเป็นขยะ ที่เผาได้ แต่ขนาดใหญ่ เกินจะบรรจุลงถุง มาตรฐานนี้ ก็จะถือเป็นขยะขนาดใหญ่ ต้องแยกออกไปต่างหาก หรือ ซื้อถุงขยะ ขนาดใหญ่ ประเภทถุงดำ เนื้อหนา มาบรรจุให้เรียบร้อย ขยะเผาไม่ได้ ก็คือ พวกขวดแก้ว ภาชนะแก้ว กระป๋องเครื่องดื่ม กระป๋องเหล็กวิลาส (เช่นกระป๋องบรรจุ อาหาร) ขวดพลาสติก ทั้งชนิดบาง (pet bottle) และพลาสติกหนาเช่นขวดบรรจุเครื่องสำอาง น้ำยาซักล้าง ซักฟอก โฟม และเม็ดพลาสติก ภาชนะ ที่ใช้บรรจุสารเคมี ยา กระป๋องฉีด แบบสเปรย์ ของใช้ที่ทำจากยาง เครื่องหนัง แผ่นซีดี แผ่นดิสเก็ต ม้วนเท็ปบันทึกภาพ และเท็ปบันทึกเสียง ฯลฯ ถ้าเป็นขยะที่มีส่วนประกอบทั้งที่เผาได้และเผาไม่ได้ ก็จะต้องถือเป็นขยะเผาไม่ได้ ขยะประเภทนี้ ต้องจ่ายเงิน ซื้อถุงขยะ ที่มีข้อความ ระบุหน้าถุงชัดเจนว่า ขยะเผาไม่ได้ (unburnable garbage) ซึ่งราคานับว่าไม่ถูกเลย ขยะประเภทที่สามคือ ขยะขนาดใหญ่ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเรือน ที่นอนหมอนมุ้ง ไปจนถึง รถจักรยาน จักรเย็บผ้า ฯลฯ ขยะ ประเภทนี้ อาจมีทั้งที่เผาได้และเผาไม่ได้ แต่ที่ต้องแยกประเภทออกมา ก็เพราะรถเก็บขยะ บรรทุกไปไม่ได้ หรือเอาไปเผา รวมกับขยะธรรมดา จากครัวเรือนไม่ได้ นอกจากขยะสามประเภทนี้แล้ว ก็ยังจำแนกออกเป็นขยะมีพิษหรือขยะอันตราย เช่น พวกภาชนะบรรจุสารเคมี ที่เป็นพิษ ขยะติดเชื้อ (ขยะโรงพยาบาล) กระป๋องที่มีหัวฉีดแบบสเปรย์ ซึ่งอาจระเบิดได้ และขยะที่ถือเป็น วัตถุระเบิด เช่น ดอกไม้ไฟ แก๊สกระป๋อง รวมทั้งแบตเตอรี่ (dry cell) หลอดฟลูออเรสเซนต์และขยะประเภท ของมีคม เช่น มีด เศษแก้ว เศษวัสดุ แหลมคม ต่างๆ ฯลฯ ขยะอีกประเภทหนึ่งคือ ขยะที่นำไปหมุนเวียนใช้ในการผลิตใหม่ได้ (recycle) เช่นกระดาษชนิดต่างๆ ตั้งแต่ หนังสือพิมพ์ หนังสือเล่มนิตยสาร ไปจนถึง กล่องกระดาษ ลังกระดาษ กระดาษเคลือบมัน เช่น พวกกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ และ ขวดพลาสติก ขวดเครื่องดื่ม กระป๋องเครื่องดื่ม ที่เป็นอลูมิเนียมบาง (บีบได้) ขยะเหล่านี้ ถือเป็นขยะ รีไซเคิล แต่ในการทิ้งขยะ ประเภทนี้จะต้องแยกย่อยลงไปอีก ไม่ทิ้งรวมกัน และถือว่าเป็น ความรับผิดชอบ (หรือเป็นผลประโยชน์) ของบริษัทผู้ผลิต ที่ใช้วัสดุประเภทนี้ ขยะประเภทสุดท้ายคือขยะที่ต้องแจ้งหน่วยงานพิเศษของรัฐหรือเทศบาลให้มาเก็บ หรือนำไปส่งที่หน่วยงาน ผู้รับผิดชอบ เช่น คอมพิวเตอร์ และวัสดุ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องดนตรีขนาดใหญ่ รถจักรยานยนต์ และ มอเตอร์ไซค์ รวมทั้งรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ขนาดใหญ่ และซากสัตว์ ฯลฯ การจำแนกขยะเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับวิธีการบรรจุเพื่อนำไปทิ้ง ถุงหรือภาชนะที่ใช้บรรจุ วันเวลาและสถานที่ทิ้ง ตลอดจน รายละเอียด ปลีกย่อย บางประการ เช่น การผูกป้าย สำหรับทิ้งขยะบางประเภท (ป้ายเหล่านี้ต้องซื้อจาก ซุปเปอร์มาร์เก็ต มีราคาต่างๆตามลักษณะ และขนาดของขยะ ที่จะทิ้ง) ถ้าผู้ทิ้งขยะทำไม่ถูกวิธี หรือ จำแนก ประเภท ไม่ถูกต้อง ทิ้งผิดวันเวลา ทิ้งผิดสถานที่ ฯลฯ ก็อาจเกิดปัญหา เช่น ถูกตักเตือนจากเทศบาล ไปจนถึงขั้น ถูกปรับ หรืออาจเป็นการลงโทษ ทางสังคม เช่น เพื่อนบ้าน ติฉินนินทา ฟ้องเทศบาล หรือ หน่วยงานที่รับผิดชอบ
นอกจากนั้น ก็จะให้คูปองขนาดโปสการ์ด หนึ่งใบสำหรับไปแลกถุงขยะฟรีจากร้านค้า ในบริเวณที่พักอาศัย ของแต่ละบ้าน ถุงฟรีนี้ เป็นพลาสติก เนื้อหนาแต่ใส มีขนาดจุ ๒ ลิตรและ ๓ ลิตร ใช้สำหรับขยะเผาได้เท่านั้น แต่ละปีจะได้รับโปสการ์ดหนึ่งใบ แลกถุงขยะได้ ๑๐๔ ถุง รวมกันทั้งสองขนาด แล้วแต่ความต้องการเฉพาะ ครัวเรือน ว่าต้องการ ชนิดเล็ก ชนิดใหญ่ อย่างละกี่ใบ จำนวนกำหนด ๑๐๔ ใบนั้นก็คำนวณง่ายๆ คือ เทศบาล อนุญาตให้ทิ้งขยะ ประเภทนี้ได้ สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ครั้งละ ๑ ถุง ถ้าบ้านไหน ผลิตขยะปริมาณมาก จะทิ้ง มากกว่านั้น ก็ย่อมได้ แต่ก็ต้องหาซื้อ ถุงขยะมาเพิ่มเอง บ้านที่มีขยะน้อย ก็อาจจะมีถุงขยะเหลือสะสม หรือแจกเพื่อนบ้านได้ ดังบ้านของข้าพเจ้า ซึ่งอยู่คนเดียว และไ ม่ค่อยขยัน ทำกับข้าว เท่าไรนัก ในตำบลโอโนะฮาระ ตะวันออก อำเภอ มิโน กำหนดให้ทิ้งขยะ ขยะเผาได้จำพวกขยะครัว และขยะทั่วไป ในวัน อังคาร และ วันศุกร์ ก่อน ๐๙.๐๐ น. รถเก็บขยะจะมาถึงจุดทิ้งขยะประมาณ ๑๐.๐๐ น. ไม่เคยขาด ไม่มีวันหยุด พักผ่อน พักร้อน หรือ หยุดประท้วงใดๆทั้งสิ้น วันพุธที่สองและวันพุธที่สี่ของเดือน กำหนดเป็นวันทิ้งขยะประเภทขวดแก้ว และกระป๋องเครื่องดื่ม (glass/can) วันพฤหัสบดีที่สองและที่สี่ของเดือน เป็นวันทิ้งขยะขนาดใหญ่ วันจันทร์ที่สามของเดือน เป็นวันทิ้งขยะรีไซเคิลประเภทหนังสือพิมพ์ กล่องกระดาษ ลังกระดาษ รวมทั้งเสื้อผ้าชำรุด หรือ ใช้ไม่ได้แล้ว (แต่ถ้าเป็นเสื้อผ้า ที่ยังมีสภาพดี เจ้าของอาจเอาไปบริจาคตามจุดรับบริจาคต่างๆก็ได้ หรือ เอาไปขาย ให้แหล่ง รับซื้อ ที่จะนำเอาไปซ่อมแซม และขายต่อก็ได้ ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความอุตสาหะหรือจิตศรัทธา หรือประสงค์ จะได้ทรัพย์คืนมาบ้าง สักนิดหน่อย) วันทิ้งขยะกระดาษนี้ ถ้าเกิดมี ฝนตกตอนเช้า ก็จะเลื่อนไป เป็นจันทร์ที่สี่ คืออีกสัปดาห์หนึ่ง กำหนดวันเวลาทิ้งขยะเหล่านี้ ต้องกำหนดจดจำกันให้แม่นยำ หรือเอาแผ่นพับ/ปฏิทิน ติดข้างฝาไว้ให้ชัดเจน ที่จริง ถ้าจะพลาด วันไปบ้าง ก็คงไม่ถึงกับ เดือดร้อนนัก แต่จะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เอาขยะประเภทไหนก็ตาม ไปกองทิ้ง (หรือแอบทิ้ง) ไว้ ข้ามวันข้ามคืนหรือผิดวันเวลา เป็นได้เกิดเรื่อง แน่นอน จุดทิ้งขยะสำหรับอาคารที่ข้าพเจ้าพักอาศัยนั้น มีขนาดค่อนข้างเล็ก ราวๆหนึ่งตารางเมตร เป็นพื้นซีเมนต์ และ ก่อขอบ ขึ้นมา สามด้าน สูงประมาณเอว ด้านหน้าเปิดให้เดินเข้าไปทิ้งขยะได้สะดวก ทางด้านซ้ายและด้านขวา มีถัง แบบถังน้ำมัน วางไว้แนวนอน และมีฝาเลื่อน เปิดปิดได้ สำหรับใส่ถุงขยะ แต่ถ้าสองถังนี้เต็มแล้ว ก็เอาถุงขยะ วางไว้ ตรงพื้นที่ว่าง ระหว่างสองถังนี้ได้ คนที่เอาขยะมาทิ้งก่อนเวลาเก็บขยะ จะต้องใส่ไว้ในถัง มิฉะนั้นตอนกลางคืนหรือเช้ามืด อาจมีอีกาดำตัวใหญ่กว่า อีกา บ้านเรา สักเท่าครึ่ง มาจิกทึ้งถุง จนขยะเรี่ยราด เลอะเทอะ และผู้ที่ใช้พื้นที่บริเวณนั้น คนใดคนหนึ่ง ก็จะต้องรับผิดชอบ (หรือทนไม่ได้) มาเก็บกวาดให้เกลี้ยงเกลา ขยะประเภทขวดแก้ว และกระป๋องเครื่องดื่มจะทิ้งแยกกัน ในตะกร้าขนาดใหญ่สองใบ ที่เจ้าหน้าที่จะมาวางไว้ ก่อนวัน ทิ้งขยะ ดังกล่าว เมื่อเก็บขยะ ขึ้นรถไปแล้ว พนักงานเก็บขยะก็จะคว่ำตะกร้า ซ้อนไว้ในบริเวณ ทิ้งขยะนั้นเอง จนกว่า จะถึงวันเก็บครั้งต่อไป ขยะขนาดใหญ่ ก็จะทิ้งไว้ในพื้นที่เดียวกันนี้ ส่วนขยะรีไซเคิล โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ อาจจะวางไว้ ในบริเวณ ตัวอาคาร เช่น ใต้บันไดทางขึ้น ชั้นล่างสุด หรือข้างผนังตึก เพื่อไม่ให้เปียกฝน หรือปลิวกระจัดกระจาย หนังสือทุกชนิด ต้องมัด หรือใส่ถุงหิ้วให้ยกไปได้ง่าย กล่อง หรือลังกระดาษแข็ง ต้องฉีก หรือตัด หรือพับให้เป็นชิ้น ขนาดเล็ก และมัดไว้ ให้เรียบร้อย เช่นเดียวกัน ส่วนเสื้อผ้าก็ต้องใส่ถุง ให้เรียบร้อย ขยะที่เป็นขวดพลาสติกชนิดบาง บีบให้แตกหรือฉีกได้ รวมทั้งภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นพลาสติกอย่างบาง และ ภาชนะ ประเภทโฟม ต้องเอาไปทิ้ง ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ใกล้บ้าน ซึ่งจะตั้งถัง หรือภาชนะรับขยะขนาดใหญ่ไว้เป็นประจำ แยกเป็นถัง สำหรับขยะพลาสติก ขยะโฟม และกล่องนม ภาชนะที่กลายเป็นขยะเหล่านี้ ต้องล้างมาให้เรียบร้อย(แต่ไม่ถึงขั้นต้องขัดถูให้สะอาดหมดจด) เช่นเดียวกับ การทิ้งขยะ ในจุด ทิ้งขยะ ตามอาคารที่พัก ก็ต้องล้างขวดเทน้ำในกระป๋องทิ้งหมดเกลี้ยง บีบกระป๋องให้แบน ฯลฯ กระป๋องเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ที่กดจากตู้ที่ซื้อชนิดหยอดเงิน ตามริมถนนหรือในพื้นที่สาธารณะบางแห่ง ก็จะทิ้งได้ ในถัง หรือ ภาชนะ ที่จัดไว้แถวๆตู้ ที่ซื้อนั้นเอง แต่ขยะอื่นๆ จะแอบเอาไปหยอดทิ้งไม่ได้ เพราะเขาทำช่อง ที่จะทิ้ง ให้มีขนาดเท่ากับ กระป๋องพอดี จะยัดเยียดสิ่งอื่น ลงไปคงลำบาก หรือ ไม่ก็มีคนมาเห็นเสียก่อน ในระหว่าง ปฏิบัติการ พื้นที่ทิ้งขยะของอาคารพักอาศัยนี้ อาจมีเนื้อที่และลักษณะต่างกันไป ตามจำนวนของคนพักอาศัย ในบริเวณ ที่ใช้พื้นที่ ทิ้งขยะ ร่วมกัน บางแห่ง ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ มีห้องพักเป็นร้อยๆห้อง อาจล้อมรั้วตาข่ายโปร่งและสูง มีประตูปิด เปิด หรือ ถ้าเป็นอาคารเล็กๆ สองสามหลังรวมกัน ก็อาจเป็น พื้นที่ขนาดเล็ก แบบอาคารที่พัก ของข้าพเจ้า แต่ใช้ตาข่ายคลุม เพื่อไม่ให้ถุงขยะ กระจัดกระจายเรี่ยราด จุดทิ้งขยะเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของอาคาร แต่ในการรักษาความสะอาดเรียบร้อย เป็นหน้าที่ ของผู้พักอาศัย ร่วมกัน กลุ่มอาคารบางแห่ง อาจจ้างคนทำงานพิเศษ ในตอนเช้าวันเก็บขยะ ทำหน้าที่ จัดให้เรียบร้อย ก่อนรถเก็บขยะจะมา รวมทั้งกวาด และชำระล้างเป็นครั้งคราว คนทำงานพิเศษเหล่านี้ บางทีก็จะเป็นคนชราในบริเวณแถบนั้น มารับจ้างทำงานเล็กๆน้อยๆ เพื่อเป็นการออก กำลัง มากกว่า จะหวังค่าจ้าง ในจุดทิ้งขยะ ของข้าพเจ้า สามีภรรยาคู่หนึ่งขับรถมาปฏิบัติงานตั้งแต่เช้าเป็นประจำ ได้ทักทาย ปราศรัยกัน จนคุ้นเคย (ด้วยภาษาญี่ปุ่น กระท่อนกระแท่นของข้าพเจ้า และภาษาอังกฤษ สี่ห้าคำ ของผู้ชราทั้งสอง) บางทีผู้เฒ่า ก็บ่นให้ฟังนิดหน่อย ว่ามีคนทิ้งขยะ ที่ใส่ในถุงพลาสติก อย่างบาง ที่มาจาก ร้านขายของ หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วถุงก็แตก ทำให้ต้องเก็บขยะ ที่เรี่ยราดกระจัดกระจาย และล้างพื้น ให้สะอาด ดูเหมือนการบ่นนี้ไม่ได้เป็นเพราะเหนื่อยหรือไม่อยากทำงาน แต่เป็นเพราะรังเกียจคนที่ไม่รับผิดชอบ ปฏิบัติตาม กฎระเบียบ ร่วมกันของชุมชน ข้าพเจ้าเคยนำถุงขยะไปทิ้งผิดที่ คือบริเวณทิ้งขยะตรงถนนหน้าบ้าน ฝั่งตรงกันข้าม เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นเขตของ อาคาร ที่พักอยู่ ตกตอนเย็น เจ้าหน้าที่เทศบาล ก็มาเคาะประตู แจ้งให้ทราบว่าข้าพเจ้าทำผิดระเบียบ และ เพื่อนบ้าน ตึกตรงข้าม (เจ้าของพื้นที่ ทิ้งขยะ) เป็นผู้โทรศัพท์ไปแจ้ง แต่จะยังไม่ถูกปรับ ถือว่าเป็นการตักเตือน แต่หลังจากนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่เคยทิ้งขยะผิดที่อีกเลย นอกจากในกรณีที่เพื่อนฝูงจากเมืองไทย มีแก่ใจ แอบเอาขยะ ในบ้าน ไปทิ้ง ตามจุดต่างๆ ตามความเข้าใจ (แบบไทยๆ) หรือทิ้งผิดวันผิดเวลา เป็นเหตุให้เจ้าของบ้าน(คือข้าพเจ้า) ต้องตะเกียก ตะกาย ตามไปเก็บคืนมา และเพื่อนฝูงก็ตั้งข้อกล่าวหาว่าข้าพเจ้าเป็นโรคหวงขยะ
ไม่มีการห้อยโหน ไม่มีถุงขยะผูกรุงรังหรือเปิดโร่อย่างท้าทาย ให้เป็นที่หวาดเสียวแก่คนที่ขับรถตามหลัง ว่าขยะ จะหล่น ลงมา บนหน้ารถของตน ในนาทีใด นาทีหนึ่ง...เหมือนในบ้านเรา.... ในวันเก็บขยะขวดและกระป๋อง รถจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เพราะขยะประเภทนี้มีปริมาณมาก และเก็บ เดือนละ สองครั้ง เท่านั้น ในบางเขต ข้าพเจ้าเคยเห็น รถจักรยาน บรรทุกขยะกระป๋องเครื่องดื่ม ที่ใส่ถุงตาข่าย ขนาดใหญ่ เข้าใจว่า คนขี่จักรยาน คงต้องจูงไป (แต่ก็ไม่แน่นัก เพราะคนญี่ปุ่นทั่วไป ขี่จักรยานชำนาญมาก) รถขนขยะชนิดลำลองแบบนี้คงเกิดจากการที่ทางเขตเทศบาลหรืออำเภอ พยายามเก็บขยะ ในพื้นที่ของตน ให้หมดจด เรียบร้อย และตรง ตามกำหนดเวลา เข้าได้ถึงทุกพื้นที่ เช่นเดียวกับรถเก็บขยะที่เป็นรถบรรทุกเล็ก ซึ่งเข้าได้ใ นตรอกซอกซอย ทุกแห่ง แม้ว่าคนญี่ปุ่น จะไม่ได้ตั้งถังขยะ ตามหน้าบ้าน แต่ละบ้านก็ตาม รถขนาดใหญ่หรือรถที่มีเครื่องบดขยะในตัว จะเห็นออกวิ่งปฏิบัติงานอยู่บ้างก็ในเขตกลางเมืองบางแห่ง แต่ก็ไม่ได้เห็น บ่อยนัก โดยเฉพาะ ในชั่วโมง เร่งรัด จะไม่มีรถขยะประเภทไหนออกมาวิ่งแย่งพื้นผิวจราจร กับรถ ประเภทอื่นๆเลย พนักงานเก็บขยะที่นั่งคู่มากับคนขับจะแต่งตัวทะมัดทะแมงรัดกุม ส่วนมากมีถุงมือ ซึ่งจะใส่เมื่อเวลาลงมา เก็บถุงขยะ โยนขึ้นรถ เก็บเสร็จ ก็จะถอดถุงมือ กลับขึ้นไปนั่งประจำที่ รถก็จะถอยหลัง หรือเดินหน้าออกไป ปฏิบัติงาน ในจุดต่อไป อย่างรวดเร็ว กระฉับกระเฉง ไม่มีการอ้อยอิ่ง ชมนกชมไม้ หรือเลือกสรรขยะ ว่าถุงไหนจะทิ้ง ถุงไหน จะวางไว้ สำหรับ มาเก็บวันหลัง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะเก็บขยะโยนขึ้นรถโดยไม่ใช้ความสังเกต เพราะถ้ามีการทิ้งขยะผิดประเภท หรือผิดวัน หรือ แม้แต่ผิด ระเบียบ เช่น ไม่ผูกป้ายทิ้งขยะ ที่มีราคาตามชนิด และขนาดของขยะ ประเภทพิเศษ เขาก็จะไม่เก็บขึ้นรถ (แล ะอาจไป รายงานเจ้าหน้าที่เทศบาล มาดำเนินการต่อ) รถที่มาเก็บขยะรีไซเคิลประเภทกระดาษ หนังสือเอกสาร และกล่องหรือลังกระดาษแข็ง เท่าที่เคยเห็นจะเป็น รถบรรทุก แบบเปิด พนักงาน (ข้อลำล่ำสัน เพราะขยะกระดาษนั้น หนักกว่าที่คนทั่วไปคิด) จะยกขึ้นรถเป็นมัดๆ หนังสือพิมพ์ ที่มีสมาชิก บอกรับนั้น เวลาพนักงานส่งหนังสือ มาเก็บเงิน รายเดือน มักจะแจก ถุงพลาสติก ขนาดพอดี ที่จะใส่หนังสือพิมพ์ได้ และ รับน้ำหนักกระดาษได้ รถเก็บขยะประเภทนี้ก็จะสะอาดและไม่มีเศษกระดาษปลิวเกลื่อนกระจายเมื่อเวลาแล่นไปตามถนน เหมือนบ้านเรา (อีกแล้ว) และข้าพเจ้า ก็ยังไม่เคยเห็นใคร ในแถวบ้านที่พัก ขายกระดาษ ไม่ว่าประเภทใด ไม่เคยเห็นรถ สามล้อแดง รับซื้อขยะ ไม่ว่าชนิดไหน โดยเฉพาะลังกระดาษ หรือกล่องกระดาษ ซึ่งตามซุปเปอร์มาเก็ตจะวางลัง(ที่เคยใช้บรรจุสินค้า) พับใส่กล่องใหญ่ๆ ไว้ให้ลูกค้าเลือกหยิบเอาไปใช้ ได้ตามใจชอบ แถมยังวาง แถบกระดาษกาว เอาไว้ให้สำหรับ ประกอบกลับคืนเป็นลังเรียบร้อย บรรจุของได้เลย ถ้าต้องการ หรือจะหอบหิ้ว กลับไปประกอบที่บ้าน ก็แล้วแต่สะดวก เพียงแต่อย่า เอาม้วนกระดาษกาว ของเขากลับไปบ้าน ด้วยเท่านั้น แล้วอย่างนี้ รถรับซื้อกระดาษใช้แล้ว จะไปหาขยะมาจากไหน และข้อสำคัญจะเอาไปขายใครได้ ข้าพเจ้าเคยไปยืนคอยรถประจำทาง และเห็นรถมาเก็บขยะในถังบริเวณป้ายรถ ซึ่งไม่มีถุงขยะบรรจุ เพราะเป็น ขยะ ที่คนคอยรถ หรือคน ที่ผ่านไปมา ทิ้งเอาไว้ พนักงานก็จะยกถังขยะ เทใส่ท้ายรถ เก็บขยะที่อาจตกหล่น อยู่ตามพื้น รวมทั้ง ก้นบุหรี่ เศษกระดาษชิ้นเล็กชิ้นน้อย ใส่รถไปจนหมด แม้จะไม่ถึงขั้นกวาดพื้นให้ (เพราะเป็น หน้าที่ ของหน่วยอื่น ที่จะมา ล้างถนน เป็นครั้งคราว) งานเหล่านี้ทำอย่างแคล่วคล่อง ชำนิชำนาญ และ รวดเร็ว สรุปลงได้ ในคำเดียวว่า "ประสิทธิภาพ" ขยะพลาสติกหรือขยะภาชนะโฟม ที่ทิ้งในถังหน้าซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นหน้าที่ของพนักงานในร้าน จะต้องมีเวร ผลัดกันมา ถ่ายขยะ ออกใส่ถุง ตาข่ายใหญ่ แยกชนิด และนำไปกำจัดต่อไป ถังขยะหน้าซุปเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้ จะต้องพร้อม ให้คนทิ้งขยะได้เสมอ ไม่ใช่ปล่อยไว้พูนล้น เพราะถือว่า ร้านค้าหรือบริษัทผู้ผลิต และจำหน่าย สินค้า ที่ทำให้เกิดขยะ แต่ละประเภท จะต้องรับผิดชอบขยะ ที่มาจากแหล่งผลิตของตน ฉะนั้น ร้านขายกล้องถ่ายรูปและฟิล์ม ก็จะต้องรับผิดชอบกับแบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนของสินค้าที่จำหน่าย บริษัท ขายเครื่อง ไฟฟ้า จะต้องรับหน้าที่ เก็บสินค้า (เมื่อวันก่อน)ของตนที่กลายเป็นขยะ(ของวันนี้)ไปแล้ว และป้าย ที่คนทิ้งขยะ ต้องซื้อ มาผูกกับขยะ บางประเภท ในราคาต่างๆกัน ตามชนิด และ ขนาดของขยะ ก็คือ ค่าขนขยะ ที่เทศบาลถือว่า เป็นความรับผิดชอบ ของผู้ผลิต ไม่ใช่ขยะธรรมดาสามัญ ที่เกิดจากการดำรงชีวิตประจำวัน ถ้าไม่อยากจ่ายค่าป้ายผูกขยะก็ต้องแจ้ง ให้บริษัทผู้ผลิตมารับคืนเอาไป(ถ้าบริษัทยอมรับคืน) และขยะ เหล่านี้ โดยเฉพาะ พวก เครื่องไฟฟ้า จะต้องเก็บ ลงกล่องเดิม ก่อนที่จะนำไปวางทิ้งหรือส่งคืน รวมทั้งหลอดไฟชนิดต่างๆ ด้วยเหตุนี้ เมื่อซื้อของพวกนี้มา จึงโยนกล่องทิ้งไปไม่ได้ง่ายๆ จนกว่าจะแน่ใจว่า ไม่ต้องการกล่องบรรจุเหล่านั้น แน่นอน ไม่ว่า ในวันนี้ หรือวันหน้า
เหล่านี้ถือเป็นขยะใหญ่ที่ไม่ใช่ "สิ่งสกปรกน่ารังเกียจเมื่อพบเห็นหรือนึกถึง" หรือขยะในความหมายของ "สิ่งปฏิกูล" (ตามพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน) เจ้าของไม่อยากครอบครองต่อไปแล้ว แต่คนอื่นอาจจะถือเป็นของ ต้องประสงค์ก็ได้ ในวันพฤหัสบดีที่สองและที่สี่ของเดือน จะเป็นวันเก็บขยะใหญ่(incombustible) และขยะเผาไม่ได้ (unburnable) ซึ่งใน สมัยที่ เศรษฐกิจญี่ปุ่น กำลังรุ่งเรือง รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้คนทิ้งขยะใหญ่ประเภทนี้ ปีละครั้งสองครั้ง เช่น ในช่วงเดือน กรกฎาคม และธันวาคม ซึ่งเป็นระยะที่รัฐ และ บริษัทเอกชน จะแจกโบนัสประจำฤดูร้อนและฤดูหนาว เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องเรือนที่ยังมีสภาพดีหรือค่อนข้างดี จะวางทิ้งไว้ล่วงหน้าก่อนวันเก็บขยะใหญ่ประจำฤดู สักสอง สามวัน และ คนที่อยาก จะได้ของใช้ (ที่ยังไม่อยู่ในสภาพเป็น "ขยะ")เหล่านี้ ก็อาจจะมาเลือกขน เอาไปได้ อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าใครจะมาดูถูกดูแคลน เรียกว่า เป็นการหมุนเวียน ใช้ของให้คุ้มค่า และ ทำให้บริษัท ผู้ผลิต สามารถ ขายสินค้า ในประเทศได้ ไม่อย่างนั้น ก็คงจะขายไม่ออก หรือขายได้น้อย จนอยู่ไม่ได้ กิจกรรมการเก็บ"ขยะชั้นดี"แบบนี้ เป็นความบันเทิงใจอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะของบรรดานักเรียน นักศึกษา และ คนต่างชาติ (ซึ่งมัก จะมีรายได้ น้อยกว่าคนญี่ปุ่น ในระดับเดียวกัน) เพื่อนฝูงจากเมืองไทยของข้าพเจ้า ถ้าบังเอิญ มาเยี่ยมเยียน ในช่วงนี้ ก็มักจะออกเดินสำรวจขยะ กันเป็นที่ครึกครื้น และพากันเก็บอะไรต่อมิอะไร เข้ามาสะสม ไว้ในบ้านข้าพเจ้า เป็นเหตุให้ข้าพเจ้า ต้องขนเอาไปทิ้ง ในตอนเย็น หรือวันรุ่งขึ้น ไม่ใช่เพราะรังเกียจของทิ้งแล้ว(ซึ่งบางชิ้นสภาพดีกว่าของในบ้านเสียอีก) แต่เพราะของในบ้าน ไม่ได้ทิ้งออกไป จึงไม่มีเนื้อที่ จะมาสะสม ของดีได้ฟรีประเภทนี้ แต่ในช่วงหลังเศรษฐกิจฟองสบู่แตก (ประมาณ ค.ศ.๑๙๙๕ เป็นต้นมา) กิจกรรมนี้ก็แทบจะหมดไป เพราะไม่มีใคร ยอมทิ้ง กันง่ายๆ แต่จะเก็บ เอาไปวางขาย ในตลาดแบกะดิน หรือ free market ตามลานของศูนย์การค้า ในวันเสาร์ อาทิตย์ หรือ วันหยุดของฤดูร้อน ส่วนขยะใหญ่ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เตาปิ้งขนมปัง หรือเครื่องเรือนชิ้นใหญ่ๆ นั้นปัจจุบันนี้ เทศบาลห้าม เอามาวางทิ้งกันง่ายๆ แต่จะต้อง ไปซื้อป้าย จากซุปเปอร์มาร์เก็ต ราคาต่างกัน ตามขนาดของ สิ่งที่จะทิ้ง เช่น ๓๐๐ เยน, ๕๐๐ เยน และ ๘๐๐ เยน เอามาผูกไว้กับ ของที่จะทิ้ง ไม่อย่างนั้น รถเก็บขยะก็จะไม่เก็บเอาไป อีกสักสองสามวัน เจ้าของก็จะต้องมาเก็บ ถ้าไม่เก็บ ก็จะเป็นที่เดือดร้อน ในหมู่ ผู้ร่วม ใช้สถานที่ทิ้งขยะ อีกเช่นกัน ความบันเทิงของผู้เลือกสรร "ขยะที่เจ้าของไม่พึงประสงค์จะครอบครองต่อไป" จึงหมดไปในปัจจุบัน และยังก่อ ให้เกิด สถานการณ์ แอบทิ้งขยะใหญ่ เช่น รถจักรยาน และเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ไว้ในจุดลับตาต่างๆ กลายเป็นข้อวิวาทะระหว่างประชาชนผู้เสียภาษีกับรัฐบาลท้องถิ่นหรือเทศบาล
แต่เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่น้อยรวมทั้งชนบท ในประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่งที่ข้าพเจ้าได้เคยพบเห็นมา รวมทั้ง ประเทศไทย อันเป็น ที่อาศัยถาวร ญี่ปุ่นก็เป็นเมืองที่สะอาด ปราศจากขยะ อย่างน่าประหลาดใจว่า เขาทำกัน อย่างไร แน่นอนว่า ไม่ใช่เพราะ "ญี่ปุ่นเขารวยมาก" อย่างที่มีคน ชอบพูดเสมอๆ แต่ข้าพเจ้าคิดว่า น่าจะเป็นเพราะประชากรมีระเบียบวินัย ที่ฝึกฝนกันมาหลายรุ่นหลายชั่วอายุ และฝึกกันมา ตั้งแต่เด็กจนแก่ สิ่งที่ฝึกก็คือ ความรับผิดชอบ ทุกคนรับผิดชอบในส่วนของตน และรัฐก็รับผิดชอบ ในส่วนของรัฐ (เช่น การเก็บขยะ, การกำจัดขยะ และความเอาจริง เอาจังใน "เรื่องขยะ") เมื่อประสานกันเข้าทุกคนทุกฝ่าย ระเบียบวินัยก็กลายเป็นระบบชีวิตประจำวัน ที่ทุกคนปฏิบัติเหมือนๆกัน เป็นของธรรมดา เมื่อมีงานเทศกาลฤดูร้อนในลานสนามขนาดใหญ่หน้าปราสาทฮิเมจิ เมืองฮิเมจิ (อันเป็นปราสาทแห่งแรก ของญี่ปุ่น ที่ยูเนสโก ประกาศให้เป็น มรดกโลก ทางวัฒนธรรม) งานมีตลอดวัน ตั้งแต่เช้าจนหกโมงเย็น ผู้คนไปร่วมงาน มากมาย นับหมื่นคน ข้าพเจ้าคิด (เอาเองตามประสาเคยชิน กับบ้านเมืองไทย)ว่า พอเลิกงาน คงต้องเก็บขยะ กันหน้ามืด ไม่ก็คงมีเศษกระดาษ เศษขนม เปลือกผลไม้ เกลื่อนสนาม แต่หลังหกโมงเย็น เมื่อผู้คนทยอยกันออกจากบริเวณงานจนบางตา ข้าพเจ้าก็เห็นว่า สนามกว้างใหญ่ไพศาลนั้น สะอาดโล่ง เรียบ เกือบจะเหมือน ก่อนเริ่มงาน บรรดาขยะต่างๆนานาประเภทนั้น บรรจุรวมไว้ในถุงขยะ หรือถุงตาข่าย ขนาดใหญ่ ทางมุมหนึ่ง ของสนาม พร้อมจะขนไป กำจัดได้ทันที นี่ไม่ใช่เรื่องของ"เงิน" หรือแม้แต่"กฎหมาย" แต่เป็นเรื่องของ "คน" ที่ฝึกฝนแล้ว ในแง่ของความรับผิดชอบ และหน้าที่ ร่วมกัน ในสังคม ขยะเมืองญี่ปุ่นจึงไม่ใช่เป็นเพียง "สิ่งปฏิกูล น่ารังเกียจ" หากยังเป็นภาพสะท้อนถึงผู้คนและวัฒนธรรม ในสังคมญี่ปุ่น อย่างน่า สนใจยิ่ง (จากมติชนสุดสัปดาห์ ๑๐-๑๖ มิ.ย.๒๕๔๘ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๙๕) -สารอโศก อันดับ ๒๔๗ กันยายน ๒๕๔๘ - |