บันทึกจากปัจฉาสมณะ
ตอน... ทุนนิยม มีแต่บาป กับ..บาป และ..บาป


สิงหาคม ๒๕๔๘
พรรษานี้พ่อท่านลุกตื่นบริหารกายตอนตีสี่ ก่อนออกบิณฑบาตทุกวัน เว้นวันที่ต้องแสดงธรรมทำวัตรเช้า ก็จะเลื่อนเวลา การบริหารกายไปหลังแสดงธรรมแล้ว ทุกอาทิตย์หากอยู่ที่บ้านราชฯ ก็จะไปเทศน์ ที่อุทยานบุญนิยม

เดือนนี้ต้องสัตตาหะทั้งต้นเดือน กลางเดือน และปลายเดือน แม้จะย่าง ๗๒ ปีแล้ว แต่ก็ยังดูแข็งแรง กระฉับ กระเฉง อาการ ป่วยเจ็บได้ไข้อะไรไม่มี จะมีบ้างก็เพียงไอเล็กๆน้อยๆ และที่พยาบาลผู้ดูแลเฝ้าสังเกตระวัง ก็คืออาการเต้น ของหัวใจ ที่มีจังหวะ ของการหยุด ทิ้งช่วงไปนาน หลายครั้ง ซึ่งศัพท์ภาษาทางการแพทย์ เรียกว่า พีวีซี. แต่ดูเหมือนว่าคุณหมอ ผู้ชำนาญ บอกว่าไม่น่าห่วงแต่อย่างใด ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเป็นกังวล อะไรนัก เพราะตัวคุณหมอเอง ก็มีอาการเช่นนี้ อยู่บ้าง

บรรดาศิษย์เก่าสัมมาสิกขาสันติอโศก ได้รวมตัวกันจัดงาน (๘ ส.ค.) เพื่อจะได้ไม่ห่างเหินเกินไป ฝ่ายการศึกษา และผู้ใหญ่ ในชุมชนก็ร่วมกิจกรรมของบรรดาศิษย์เก่าฯ เหล่านี้บ้าง แล้วได้นิมนต์พ่อท่าน เทศน์ และสนทนาซักถามกัน พอสมควร ที่จะรู้ว่า ใครกำลังไปทำอะไรที่ไหน ผู้สนใจรายละเอียด ติดตามได้ที่ฝ่ายเผยแพร่

เดือนนี้มีเรื่องตื่นเต้นที่ต้องร่วมสัมพันธ์กับองค์กรภายนอกเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมคัดค้านบริษัทน้ำเมา เข้าตลาด หลักทรัพย์, การร่วมสัมมนากับเจ้าหน้าที่ของ ธ.ก.ส. ในโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบ, กรณีข่าว ฮือฮา ถึงการเปลี่ยนชื่อ และนามสกุลของ นายตายแน่ มุ่งมาจน ซึ่งสังคมได้วิพากษ์วิจารณ์ และกล่าวถึงบ้าง และเรื่องตื่นเต้น สุดท้ายปลายเดือน ก็เห็นจะเป็นเรื่อง ที่นิสิตปริญญาโท มหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย (มจร.) ได้มาเยือนสันติอโศก ในวิชาศาสนาเปรียบเทียบ ซึ่งนิสิตกลุ่มนี้ ได้ศึกษา สนใจลัทธิ FUNDAMENTALISM แปลเป็นไทยว่า ลัทธิความเชื่อในคำสอนดั้งเดิม ซึ่งผลโดยรวม เป็นที่พอใจ ด้วยกัน ทั้งฝ่ายเขา และเรา แม้ก่อนหน้านี้ทางเราจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มศาสนาใหม่หัวรุนแรง แบบเดียวกับ กลุ่มศาสนา ในตะวันออกกลาง มาก่อนก็ตาม แต่จากความจริงที่นิสิต ได้ประจักษ์สัมผัส ก็คงจะทำให้เขา เหล่านั้น เห็นความจริงได้ว่า ชาวอโศก ไม่ได้เป็น อย่างที่ให้ข้อมูล มาเช่นนั้นเลย



พาณิชย์....พอเพียง
๑ ส.ค. ๒๕๔๘ ที่สันติอโศก เช้านี้มีประชุม "พาณิชย์บุญนิยม" ซี่งเป็นการประชุมประจำเดือน ของชาวอโศก ที่ทำงาน เกี่ยวข้องกับ การพาณิชย์ เดือนละครั้ง โดยใช้สถานที่ในโบสถ์ของพุทธสถานสันติอโศก ประชุมกัน ตั้งแต่ ตีห้า จนถึง ๘ นาฬิกาเศษ มีบริษัทเครือข่ายการพาณิชย์ เช่น พลังบุญ แด่ชีวิต กู้ดินฟ้า ขอบคุณ ดินน้ำฟ้า ภูมิบุญ ชมรมมังสวิรัติ แห่งประเทศไทย (หน้าสันติอโศก และจตุจักร) ธรรมทัศน์สมาคม เป็นต้น รวมถึงร้านค้าต่างๆ ในต่างจังหวัด ขอนำตัวอย่าง ของรายงาน การประชุมมานำเสนอดังนี้

โครงการนำพืชมาทดแทนสารชำระล้าง ขณะนี้มีน้ำยาขัดห้องน้ำ ๑.จากสารสกัดชีวภาพ ประคำดีควาย ของชุมชน ศาลีอโศก ออกมาจำหน่าย เป็นงวดที่ ๓ สำหรับการผลิตน้ำยาล้างจาน ๒.จากน้ำมันปาล์ม อยู่ในระหว่าง ดำเนินการ โดยได้รับ คำแนะนำ จากนักวิชาการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ

การรับผลิตภัณฑ์ และผลิตผลจากงานกสิกรรมไร้สารพิษ จะดูจากแหล่งผลิตทั้งระบบ เน้นไร้สารพิษ โดยเฉพาะ ข้าว พืชผัก ผลไม้ ถั่วเหลือง ทำกสิกรรมเพื่อการบริโภค กินใช้ภายในชุมชนให้พอเพียงก่อน แล้วจึงนำ ออกจำหน่าย ให้รณรงค์เพื่อพัฒนา ไปสู่การไร้สารพิษให้มากที่สุด

น้ำหมักชีวภาพชนิดดื่ม นอกจากน้ำหมักของคุณเจ็ดแก้วแล้ว ต.อ.(หน่วยตรวจสอบสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชาวอโศก) ได้ไปตรวจสอบ จากแหล่งอื่นอีก ๓ แห่งคือ บ้านอโรคยา วังสวนฟ้า และชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน อินทร์บุรี ผลการตรวจสอบ บ้านอโรคยา ผ่านทั้งตัวสินค้า และ สถานที่ผลิต วังสวนฟ้า ตัวสินค้าผ่าน มีปัญหาสถานที่ผลิต ซึ่งกำลังให้ทำ ๕ ส. ส่วน ชมรม เพื่อนช่วยเพื่อน อินทร์บุรี ได้ไปตรวจสอบแหล่งบรรจุ และให้ปรับปรุงเรื่องสถานที่ ทั้งสองแห่ง ที่ให้ปรับปรุงเรื่องสถานที่ จะมีการไปประเมิน ช่วงกลางเดือน สิงหาคม ๒๕๔๘ สำหรับชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน อินทร์บุรี จะไปตรวจสอบที่แหล่งผลิต ภายในเดือน สิงหาคม ๒๕๔๘

การจำหน่ายสาหร่ายทะเล มีการนำบทความที่เป็นความรู้เกี่ยวกับสาหร่าย มาเสนอให้ที่ประชุม ทราบถึง ความไม่ปลอดภัย ความเสี่ยงในการบริโภค และมีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน ที่ประชุม ให้จำหน่าย เท่าที่มีอยู่ให้หมด และ ประชาสัมพันธ์ ให้ลูกค้าได้ทราบความจริงด้วย ต.อ. ได้ส่งบทความ ให้ร้านค้าแล้ว ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ อ.ย. พร้อม แนบผล การตรวจ ให้ช่วยกวดขันการนำเข้าของสาหร่าย ซึ่งทาง อ.ย.ได้รับทราบข้อมูลแล้ว กำลังหา มาตรการอยู่ ต.อ. กำลังหา แหล่งปลอดภัย ที่จะนำมาจำหน่าย ทดแทน

การจัดระบบเงินเกื้อ("เงินเกื้อ"ต่างจาก"เงินกู้"เพราะไม่มีดอกเบี้ย นี่คือระบบบุญนิยม) การเกื้อเงิน จากส่วนกลาง มีปัญหา เช่น การส่งเงินคืนล่าช้า มีกำหนดเวลานำส่งไม่แน่นอน ที่ประชุม ให้มีการจัด ระบบเงินเกื้อ โดยให้แม่ข่ายกลั่นกรอง ให้ความเห็น มาก่อน ระดับหนึ่ง แล้วต้องผ่านการพิจารณา ของส่วนกลาง ให้มีการติดตามผล และเร่งรัดเงินหนุนด้วย ("เงินหนุน" ต่างจาก "เงินหนี้" เพราะไม่ต้องเสีย ดอกเบี้ย นี่คือระบบบุญนิยม)

การผลิตสินค้าประเทืองผิว ชุมชนสันติอโศก มีความประสงค์จะผลิตน้ำหมักชีวภาพ สำหรับประเทืองผิว จึงนำเสนอ ที่ประชุมเพื่อพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นเหตุทำให้ผิดศีล และมีสินค้าที่จำเป็น สมควรผลิต มากกว่า จึงไม่อนุมัติ

จากโอวาทปิดประชุมบางส่วนที่น่าสนใจดังนี้ "เรื่องพาณิชย์นี่ มันยิ่งใหญ่ หยุดยั้งมันไม่ได้เลย แม้ว่าสิ่งที่เรา มาประชุมกัน จะเป็นเรื่องของ การค้าการขายก็ตาม มันเป็นเรื่องของสัมมาอาชีพ เป็นเรื่องของมนุษยชาติ ทิ้งไม่ได้หรอก สมัยพระพุทธเจ้า ยังไม่เฟื่อง เท่าทุกวันนี้ เรื่อง สัมมาอาชีพโดยเฉพาะในเรื่องการค้า การแบ่งปัน จำแนกแจกจ่าย สมัยนี้มัน....โอ้โฮ ระบบจัดการ มันโหดยิ่งเหลือเกิน มันสลับซับซ้อนสุดจะกล่าว จนกระทั่ง ผู้คนได้รับทุกข์โทษภัย เดือดร้อนกันหนักหนาสาหัส นายทุน เอาเปรียบเอารัด ไม่มีจุดจบ แต่พวกเรา มาทำนี่ เราทำด้วยคุณธรรม เพื่อที่จะปลดทุกข์ให้แก่ประชาชนผู้ซื้อ ให้สังคม มนุษยชาติ มันดีขึ้น ซึ่งมันเป็น เจตนารมณ์ของอุดมคติที่สุดยอด

ชุมชนพอเพียง คืออะไร เรามาดูตัวเรา ในแขนงของการค้า เราก็พอเพียง ที่พูดประชุมกันนี้ อันนั้นหยุด อันนี้ งดได้มั้ย นี่แหละคือ ลักษณะของความพอเพียง แล้วก็มาคุยกัน มาปรึกษาหารือกันว่า นี่มันตั้งอยู่ได้แล้วนะ อันนี้มันเฟ้อหน่อยหนึ่งนี่ แม้แต่แค่ประเด็นของตัวอย่างยาประเทืองผิว กับยาขัดล้าง มันก็คือการทำให้สะสวย อันหนึ่งทำให้ส้วมห้องน้ำสะสวย อีกอันหนึ่งทำให้ผิวสะสวย ใช่มั้ย มันก็คล้ายกัน เราก็ยังมีขีดเลยว่า ไม่เอาน่ะ มนุษย์สะสวย ไปส่งเสริมเรื่องประเทือง ที่สังคมเขาจัดจ้านฟุ้งเฟ้อกันสุดฤทธิ์สุดเดชกันอยู่แล้ว ก็ไม่เอา อย่างนี้ เป็นต้น

อย่างนี้แหละที่เราจะเกิดปฏิภาณ มีความรู้ มีความเฉลียวฉลาด อันนี้เพียงเป็นตัวอย่างอย่างเดียว พอปรึกษา หารือกัน ก็เห็นว่าดี มันก็มีวัตถุดิบ มันทำก็ได้ มันก็น่าได้เงินมาเพิ่มด้วย เราก็บอกว่า เงินเพิ่มก็เถอะ เราก็ตัดไป ประโยชน์มันไป กระทบต่อประชาชน ไปมอมเมาซ้ำเสริมมากมายเกินไป เราก็ไม่เอา อย่างนี้ เป็นต้น และแนวโน้มของเราทิศทางของเรา เราก็จะไปทางอย่างนี้แหละ "พอเพียง" เราไม่โลภลาภ ยศ เงินทองมากมายอะไรแล้ว เราก็ตัดอะไรๆต่างๆนานา ที่มันมอมเมา ในโลกนี้ได้มากขึ้น เราก็รังสรรค์ ให้มนุษยชาติอยู่สุข มนุษยชาติได้สงบ ไม่ต้องแย่งชิง ไม่ต้องฟุ้งเฟ้อ ผลาญพร่า สิ้นเปลือง หนักหนา ที่จริง เครื่องประเทืองมันคือการส่งเสริมกามกันแท้ๆ ที่คนหลงกันอยู่

อาตมาได้ตั้งคำขึ้นมา เพื่อบอกถึงลักษณะของสังคมทุกวันนี้ไว้ว่า หนึ่งทุนนิยม สองบริโภคนิยม สาม อำนาจนิยม สี่ หรูหรานิยม ห้าวิตถารนิยม หรูหรานิยมก็คงพอเข้าใจกันง่าย มันฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มันหรูหรา เกินเหตุ เกินการณ์ มันมอมเมาคน มันหนักหน้าจัดจ้านไปเรื่อย แล้วก็หลงโงหัวไม่ขึ้น คุณหญิงคุณนาย พวกที่อยู่ในไฮโซ พวกที่อยู่ในวงดารานี่ งมงายเรื่อง หรูหรานิยมนี่ ต้องสะต้องสวย ต้องเด่น ต้องโก้ ต้องงาม เกินเฟ้อ เป็นภัยแก่ตัวเองด้วยซ้ำ ส่วนวิตถารนิยมนี่ ก็ไปเรื่อยเลย ทั้งเต้นทั้งดีด ทั้งพอกทาตกแต่ง หาเรื่อง ให้พิลึก แปลกแหวกแนว บ้ากันหนัก วิตถารนิยมแล้วก็สมทบเข้ามาทาง ก่ออัตตา กับกาม นี่วันนี้ หนังสือพิมพ์นี่ ขึ้นหน้าหนึ่งคอนเสิร์ตเกาหลี อุจาดตาคือ สมาชิกร็อคเขาถอดกางเกงจนล่อนจ้อน ร่วมแสดง คอนเสิร์ต กับวงร็อค มีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ นี่ภาพแก้ผ้านี่มันวิตถาร อย่างนี้เป็นต้น มันไปตัดผมกัน ในน้ำ ห้อยสลิง ตัดไม่พอ ใครเห็นข่าวมั่ง ดูจากข่าวนี่แหละ ลงไปในน้ำแล้วก็ไปตัดผมกันในน้ำ เอ้า.... จะบ้ากันใหญ่แล้ว พวกนี้ วิตถารนิยม ไม่ต้องถึงขนาดที่กล่าวยกตัวอย่างวันนี้นี่ มันก็นับว่าวิตถารกันได้แล้ว แต่นี่มันวิตถาร ขั้น "ไม่ปรีย์" ทีเดียว

พวกเรานี่มาหยุดยั้งในสิ่งที่มันเกิน มันบ้าๆบอๆ มันอะไรก็ไม่รู้งมงายกัน หนักหนาสาหัส มันไม่เป็นสุข เหน็ดเหนื่อย ผลาญพร่า สิ้นเปลืองทำลาย คนก็ยิ่งโง่เง่า จิตวิญญาณก็ยิ่งโง่หนักซับซ้อนเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น พวกเราทำอยู่นี่ เป็นเรื่อง ของบุญอย่างยิ่ง เป็นเรื่องของคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติอย่างยิ่งเลย ดีที่เรา มีพื้นฐานของการเสียสละ ได้รู้แล้วว่า เราไม่ต้อง ไปแย่งชิงอะไรเขาหรอก เราเหน็ดเหนื่อย ก็เหน็ดเหนื่อย ไม่ได้ตังส์เลย ก็ยังพยายามอุตส่าห์ทำ มานั่งประชุม เพื่อจะได้ทำงานยิ่งๆขึ้น

อาตมายังคิดชื่นใจธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่ได้หลงโลกธรรม ไม่ได้หลงลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ไม่ได้มาก ได้มายอะไร จิตมัน"พอ" มันหยุดมันพอ เราเหน็ดเหนื่อยกันนี่ เราก็ไม่ต้องไปขึ้นต่อลาภ จะได้ลาภ มากขึ้น จะได้ยศสูง จะได้สรรเสริญ ยิ่งๆ จะได้ไปเสพกาม มากขึ้น อะไรมากขึ้น ไม่ต้องไปขึ้นต่อโลกธรรม นี่แหละ คือโลกุตระที่แท้จริง

นี่ข่าว พระราชดำรัสเศรษฐศาสตร์พอเพียงของในหลวง ลงทุนมาไม่รู้กี่ล้านแล้ว แต่สรุปมาทางวิชาการบอกว่า ได้มาหนังสือ เล่มหนึ่ง ราวๆ ๕๐ หน้า ใช้เวลามาตั้ง ๑๐ ปี ใช้เงินไปไม่รู้กี่ล้านต่อกี่ล้าน แล้วตัวอย่าง ที่เป็นชุมชนพอเพียง อยู่ไหน ไม่มีเลย เขาล้มเหลวเลยนี่ แต่เขารู้บ้างเหมือนกันว่าพอเพียง มันอยู่ที่อโศก แต่อโศก คือ สะกั้งของสังคม เขารับไม่ได้ เขาจะมายกว่า นี่คือ ชุมชนพอเพียง ดังพระดำรัสในหลวง ทำได้แล้ว สำเร็จแล้ว แต่เขาไม่เอา ใครจะมารับ ใครจะกล้ายก ใช่มั้ย ไม่กล้าหรอก นี่คือสิ่งที่พะอืดพะอม ของสังคม เกิดอยู่เป็นอยู่ เสร็จแล้วก็ต้องการ ในหลวงก็จะมีพระชนม์ ๘๐ เขาก็อยาก จะมีชุมชน พอเพียง เป็นตัวอย่าง ในสังคม ทูลเกล้าฯในหลวง นี่คือสังคมพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียง ฉลอง ๘๐ พรรษาในหลวง แต่เราก็ต้อง เจียมตัว อย่างยิ่ง อย่าไปโอ่อ่ากันไม่เข้าท่าล่ะ

พวกเราทำไปเถอะ พยายามพากเพียรไปเถอะ เขาไม่รับก็ไม่มีปัญหา เขาไม่เห็นดีเห็นด้วยอะไรก็ช่าง มันเป็น เรื่องของสัจธรรม มันเป็นเรื่องของสิ่งที่เจริญ ของสิ่งที่ดีประเสริฐ เป็นสิ่งที่ดีงามของมนุษยชาติแท้ๆ เพราะฉะนั้น ยิ่งเขาไม่รับ เราก็ยิ่งต้องสร้าง ให้มันจริงจัง ให้ดียิ่งๆมากกว่านี้ ขนาดนี้เราก็ว่าพอสมควร เอาให้ดีกว่านี้ ทั้งคุณภาพ และปริมาณ"

พ่อท่านกล่าวถึงการประชุมพาณิชย์บุญนิยมว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ต่างไปจากการประชุมอื่นๆ เพราะเป็นเรื่อง สัมมา อาชีวะ โดยตรง และมีข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ในการประชุมนี้ อีกทั้ง จะเป็น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ อย่างยิ่ง บันทึกให้เห็นลำดับพัฒนาการของพาณิชย์บุญนิยม รวมไปถึง การผลิต การวิจัยค้นคว้า การเรียบเรียงบูรณาการ เชิงรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์

แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่การจัดเก็บเอกสารการประชุมนี้ ยังทำเพียงแค่เป็นเอกสารกระดาษเท่านั้น การจัดเก็บที่เป็นไฟล์ Word ทั่วไปที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ได้มีการจัดเก็บ แม้จะใช้เครื่อง คอมพิวเตอร์ ในการพิมพ์รายงานก็ตาม เมื่อสั่งพิมพ์ เสร็จ ผู้จัดทำรายงานได้ลบไฟล์รายงานการประชุมนั้น ออกจากเครื่อง โดยไม่ได้มีการจัดเก็บไว้ กับสื่ออุปกรณ์การจัดเก็บใดๆ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นซีดี หรือฮาร์ดดิสก์นอกเครื่อง เนื่องจาก เข้าใจว่า มันเปลืองพื้นที่ในเครื่อง ที่จริงแล้ว รายงานการประชุม แต่ละครั้ง ประมาณ ๖ หน้า กระดาษ A4 ประชุมเดือนละครั้ง ๑ ปีก็ประมาณ ๑๒ x ๖ = ๗๒ หน้ากระดาษพิมพ์ (ประมาณ ๒ MB) ๑๐ ปีก็เพิ่งจะแค่ ๒๐ MB เศษๆ ถ้า ๓๐ ปีก็ประมาณ ๖๐๐ MB เศษหรือประมาณ ๑ แผ่นซีดีเท่านั้นเอง



การร่วมคัดค้านเหล้าเข้าตลาดหลักทรัพย์

๑ ส.ค. ๒๕๔๘ ที่กระทรวงการคลัง มีการชุมนุมคัดค้านการเอาบริษัทน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยมีกลุ่ม องค์กร ศาสนา ต่างๆ เข้าร่วมกัน ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ชาวอโศกก็เป็นกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งที่เข้าร่วม ก่อนหน้านี้ ก็ได้มีตัวแทน ชาวอโศก เข้าร่วมประชุม ร่วมอภิปราย และร่วมชุมนุมคัดค้านมาบ้างแล้ว แต่ครั้งนี้ แกนนำ ของการชุมนุมเห็นว่า น่าจะเป็น ครั้งสุดท้าย เพื่อไม่ให้เรื่องยืดเยื้อออกไป ไม่เช่นนั้น บรรดาผู้คัดค้าน จะเสียทั้งเวลา และทุนทรัพย์กันอย่างนี้ ต่อไป เรื่อยๆ ขณะที่ทาง ผู้ที่เกี่ยวข้อง กับการนำเอาบริษัทน้ำเมานี้ เข้าตลาดหลักทรัพย์ แทบไม่ได้เหน็ดเหนื่อย หรือสูญเสีย อะไรนัก เพียงแค่ซื้อเวลา เลื่อนการพิจารณาออกไป พอสังคม เริ่มซาๆ ความสนใจในเรื่องนี้ ก็แอบเอานำเข้าพิจารณา และตัดสินกัน อย่างเงียบๆ เหมือนอย่างเช่น บรรดาผู้มีอำนาจ ทั้งหลาย กระทำกันมาแล้ว หลายต่อหลายเรื่อง หลายต่อหลายกรณี ประชาชนชาวบ้าน ถูกปิดหู ปิดตากันมา นักต่อนักแล้ว

แกนนำของการชุมนุมจึงเตรียมแผน....ที่จะดำเนินการขั้นต่อไป หากการชุมนุมที่กระทรวงการคลัง ในวันนี้ ไม่ได้มีผลคืบหน้า จากผู้มีอำนาจอีก ก็จะเคลื่อนย้ายกันไปชุมนุมกันที่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อปิดล้อมสถานที่ ไม่ให้สามารถ ทำการใดๆได้ อันเป็น การกดดัน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ให้พิจารณาตัดสินกัน อย่างสุจริต ยุติธรรม เพราะโดยเหตุผล และความเป็นจริง ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ (ทั้งกาย และจิต) โดยรวมเสียหายมากกว่าที่ได้ ซึ่งนายทุน และผู้ได้ ผลประโยชน์ ทางเศรษฐกิจจากการนี้ มีเพียงคนกลุ่มหนึ่ง เท่านั้น ถือเป็นจุลภาค[micro] ขณะที่ความเสื่อมเสียหาย ที่จะเกิด ขึ้นนั้น มีไปถึง ระดับรากหญ้า ของสังคม ซึ่งเป็นจำนวนมากมายมหาศาลกว่า [macro]

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้โดยง่าย ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เมื่อมีการเพิ่มทุนของกลุ่มทุนเพื่อขยายกิจการ ย่อมหมายถึง อำนาจ ในการดูด เอาจากชนบท ย่อมสูงตามไปด้วย นั่นหมายถึงความเสื่อมเสียทั้งสังคม เศรษฐกิจ และ สุขภาพของประชาชน ส่วนใหญ่ ย่อมทรุดเสื่อมมากขึ้น ตามไปด้วย ขนาดเท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็หนักหนา สาหัสสากรรจ์อยู่แล้ว

แกนนำของการชุมนุมจึงได้พยายามที่จะให้การชุมนุมครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการพยายาม เพิ่มจำนวน ของผู้ร่วม ชุมนุม โดยขอให้มีชาวอโศก ร่วมเป็นจำนวนเรือนพัน แต่พวกเราไม่อาจจะ จัดให้ได้แน่ เพราะต่าง ติดงานกัน โดยเฉพาะงานอบรม คงจัดให้ได้อย่างมาก ก็คงในระดับเป็นร้อยกระมัง และทางส่วนกลางโน้น แจ้งผ่าน ตัวแทนมาว่า ออกจาก กระทรวงการคลัง อาจจะต้อง นำหมู่ชุมนุมไปปิดล้อม ที่ทำการของตลาด หลักทรัพย์ ต่อไปอีก

แต่พ่อท่านไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังปิดล้อมที่ทำการนั้น ด้วยเป็นวิธีที่รุนแรงเกินเหตุปัจจัย ที่ควรจะทำ ถึงขั้นนั้น พ่อท่าน เห็นว่า เพียงแค่แสดงพลังชุมนุมคัดค้าน แล้วบอกอธิบายเหตุผลต่างๆกับสังคมเท่านี้ ก็เพียงพอแล้ว ถ้าผู้มีอำนาจ ยังคง ดึงดัน หรือแอบดำเนินการเอาบริษัทน้ำเมา เข้าตลาดหลักทรัพย์จนได้ และประชาชน สังคมส่วนใหญ่ ยังคงนิ่งเฉย ไม่ได้รู้สึก รู้สาอะไรกับเรื่องนี้ ไม่ได้เห็นถึงโทษ ไม่ได้เห็นถึงภัย ที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องปล่อยให้เรื่องที่ไม่น่าจะเกิด ต้องเกิดขึ้น ในสังคมนี้ ส่วนพวกเราเองก็ต้องวางใจ เราไม่มีอำนาจ หน้าที่ ถึงขนาดจะต้องไปแบกรับเรื่องทุกเรื่อง ที่จะเกิดขึ้นในสังคม ต้องประมาณตน เราทำเต็มความอุตสาหะก็สุดวิสัย ซึ่งต้องมีมัตตัญญุตา ตามสัปปุริสสธรรมทั้งหลาย เพราะงานอื่น ที่จำเป็น เพื่อสังคมด้านอื่น เราก็มีอีกมากที่จะต้องรับผิดชอบ เราก็ทำได้เท่าที่ทำได้ ทุกคนในสังคมมีวิบาก ของแต่ละคน แต่ละคน ต้องรับผิดชอบสังคมร่วมกัน ผู้ใจดำย่อมไม่มีกุศล ผู้เห็นแต่แก่ตัว ย่อมไม่มีกุศล เมื่อปัญญา และภูมิธรรม ของคนยุคนี้ ได้เท่านี้ ก็เท่านี้

การจะปฏิเสธวิธีการคัดค้านที่รุนแรงขึ้น ก็ต้องระมัดระวังถึงน้ำใจ อารมณ์ความรู้สึกของแนวร่วม หรือพันธมิตร ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หลักผู้ใหญ่ของชาวอโศกที่มีส่วนร่วมกับแกนนำในการชุมนุมนี้

ในระหว่างการชุมนุมได้รับโทรศัพท์ปรึกษาว่า มีแกนนำบางส่วนต้องการให้กลุ่มชาวอโศกไปปิดกั้นถนน แต่พวกเราได้ใช้ ไหวพริบปฏิภาณ ปฏิเสธที่จะไปอยู่ในจุดนั้น โดยให้เหตุผลว่าพวกเรามีทั้งเด็กและคนสูงอายุ ไม่สะดวก ที่จะอยู่ในจุดนั้น เพราะการกระทำที่ก่อผลเสียหาย กระทบต่อสังคม อีกส่วนหนึ่ง อย่างนี้ เราไม่เห็นด้วย

เมื่อถึงเวลาค่ำกลุ่มญาติธรรมที่อยู่ในจังหวัดที่ห่างไกล เริ่มทยอยกันกลับ ด้วยได้ตกลงนัดหมายกันไว้ อย่างนั้น เนื่องด้วย กลุ่มชาวอโศก ได้ถูกจัดให้อยู่ตรงกลางของกลุ่มชุมนุมร่วมกับกลุ่มของอิสลาม อาจเป็น เพราะ มีรูปแบบว่า เป็นกลุ่มคนที่ เคร่งครัดในศาสนา มีเอกลักษณ์ที่ชัดเด่น เมื่ออยู่ตรงกลาง ทำให้การ ถอนตัวออก เสียรูปการชุมนุม อย่างทันทีทันใด จึงให้ทยอย ออกทีละส่วน ในตอนออกไปรับอาหารเย็น แล้วเลยต่อไป ขึ้นรถออกไป แต่เมื่อการเคลื่อนย้ายออกมา ได้ประมาณ ครึ่งหนึ่ง ก็ได้รับการติดต่อจากแกนนำ คนสำคัญ เพื่อขอให้พวกเรา อยู่ต่อกันอีกสักพัก ด้วยต้องการมวล ในการเจรจากับ ตัวแทนจากภาครัฐ ประมาณสองทุ่ม ซึ่งที่เหลืออยู่ก็เป็นมวลของ ชาวสันติอโศก ปฐมอโศก สีมาอโศก ศาลีอโศก ซึ่งอยู่จังหวัด ไม่ไกลนัก จึงได้อยู่ร่วมกันต่อจนได้เวลาที่สมควร จึงเคลื่อนย้ายกลับกัน

๕ ส.ค. ๒๕๔๘ ที่ทักษิณอโศก รายการเอื้อไออุ่น มีประเด็นคำถามหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องการคัดค้าน การเอาบริษัท น้ำเมา เข้าตลาดหลักทรัพย์ดังนี้

ถาม : วันนี้มติชนโทรฯ มาหาผม บอกว่าวันจันทร์นี้เขาจะจัดคุย วงเล็กนะฮะ ที่ตึกมติชน อยากจะได้ตัวแทน ของสันติอโศก ไปคุยเรื่องต่อต้านเบียร์ช้างเข้าตลาดหลักทรัพย์ว่าคิดอย่างไง ก็เชิญกันมาหลายคน ผมยัง ไม่ได้ตอบว่า จะรับหรือไม่รับนะครับ ก็รอปรึกษาพ่อท่านก่อนว่าสมควรไหม

พ่อท่าน : อ้าว ก็ไปซี ไม่มีปัญหาอะไรนี่ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องสาธารณะไปแล้ว เราก็ทำกับสังคมส่วนกว้าง ไปแล้ว ก็ไป เขาก็รู้ เขาก็เห็นอยู่แล้ว เราก็ไปแล้วก็ไปพูดตามประสาเรานั่นแหละ คือพวกนี้นี่ เรื่องเบียร์ หรือ เรื่องเหล้า หรือเรื่องอบายมุขนี่นะ ความรู้สึกเขาเผินกันอยู่มาก ไม่ห่วงไปถึงจิตวิญญาณ จึงลืมผลกระทบ สังคมแนวลึก เขามองแต่แนวตื้น มองแต่แค่เงิน เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม สังคมปัจจุบันนี้ จัดจ้านรุนแรง ไปด้วยบริโภคนิยม อำนาจนิยม หรูหรานิยม วิตถารนิยม เป็นแบบนั้น ไปหมดแล้ว เขามองแนวลึก ถึงจิตวิญญาณไม่ได้ ภูมิทางบุญนิยมยังไม่มากพอ ภูมิทางโลกุตรธรรมยังไม่มากพอ เขายังมี วิสัยโลกีย์ มากอยู่ เศรษฐศาสตร์ทุนนิยมเขาเห็นแต่ว่ามันจะผันเงิน สะพัดเงินหมุนเงินเท่านั้นเอง แล้วเขาก็มอง สังคมว่า ทุกที่ทุกแห่งทั่วโลกเขาก็ยอมรับกันแล้ว เขาก็ต้องเห็นว่าอันนี้มันเป็นสากลคนส่วนใหญ่ ไม่เช่นนั้น เขาก็ค้าน ทางสังคมไม่ได้ แต่เขาไม่รู้ว่าคนส่วนใหญ่คือ กิเลสสากล

เมื่อวานนี้อาตมาดูข่าวแล้วก็ยังนึกถึงพวกนี้ คนขับรถชนรถปอเต็กตึ๊ง ซึ่งเขากำลังช่วยคน ที่ได้รับอุบัติเหตุ จากรถชนกัน ใครดู ข่าวนี้บ้าง โทรทัศน์เอามาออกข่าววิเคราะห์กันใหญ่เลย ตั้งหลายรายการ คนของ ปอเต็กตึ๊งกำลังช่วยคนสองคนที่รถชนกัน ส่งโรงพยาบาล เพราะโคม่า เพื่อผ่าตัดด่วน คนเจ็บชื่อ บุญชู กับเมีย ชื่ออะไรอ่ะ เป็นผัวเมียคู่หนึ่ง แล้วนอกนั้น ก็เจ็บหนักกันน่ะ เหตุแท้ก็คือ คนขับเมา โรงพัก เขาตรวจสอบ ปรากฏว่า วัดแอลกอฮอล์แล้ว ๖๐ ถ้าเลยสี่สิบก็ไม่ได้แล้ว นี่มัน ๖๐ ก็ผิด เขาบอกว่า กินเบียร์ ขวดหนึ่งนี่ จะมีแอลกอฮอล์ถึงยี่สิบห้า สองกระป๋องก็ประมาณ ๕๐ นี่แสดงว่ากินเกินสองกระป๋อง แอลกอฮอล์ ในเลือดนี่มันจะยังงั้น อาตมาก็ฟังที่เขาวิเคราะห์กันในโทรทัศน์นั่นแหละ เขาก็วิเคราะห์อย่างงั้น ก็เห็นชัดๆ น่ะว่า เพราะเหตุความเมานี่ตัวร้าย ไอ้ความสูญเสีย ในการกินเหล้านี่ มันไม่ได้สูญเสีย เฉพาะทำให้ คนตาย คนพิการ วัตถุข้าวของ ทรัพย์สิน มันก็สูญเสียพังทลายฉิบหาย มันสูญเสียทั้งด้านสังคม มันสูญเสีย ทั้งด้านครอบครัว มันสูญเสียทั้งด้าน บุคลิกภาพ สูญเสียสุขภาพ มันสูญเสียเงินทอง ที่ไหลเทไปเข้า กระเป๋านายทุน นั่นแหละชัดๆ มันสูญเสียอะไรต่ออะไร อีกมหาศาล ที่คิด เป็นตัวเงินไม่ได้ แต่คนที่เขา บริหารประเทศ บริหารสังคมนี่ เขาเห็นแต่ตัวเงินว่า จะผันเงิน เห็นแต่ประโยชน์ ทางเศรษฐกิจ ทุนนิยม ซึ่งผู้บริหารประเทศ ยังไม่ได้ศึกษาเศรษฐศาสตร์บุญนิยม ที่จริงแม้จะศึกษา เศรษฐศาสตร์บุญนิยม เข้าใจ ได้บ้าง แล้วก็ตาม หากจิตวิญญาณยังเป็นทุนนิยม หรือยังลดกิเลส ไม่ได้เพียงพอ ก็ต้องอยู่ฝ่ายคนส่วนใหญ่ คือ คนที่ยังมีกิเลส อยู่นั่นเอง

แม้คุณสมัคร สุนทรเวช ก็เอาไปวิจัยทางโทรทัศน์... "มันไปต้านทำไม อยากจะผ่าดูสมองจำลองดูซิ มันมีอะไร อยู่ในนั้น" เขาว่าถึงขนาดนี้ อาตมาไม่ได้ดู ฟังเขาถ่ายทอดมาอีกที เอ้า....เราไม่ต้องพูดย้อนเขาหรอกนะ เขาพูดไง ก็มาพูดสู่กันฟัง เท่านั้น



ใช้กฎหมายอย่างศรีธนญชัย ย่ำยีธรรม

ขณะกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ พอดีข่าวแกรมมี่ซื้อหุ้นของหนังสือพิมพ์มติชน ได้รับการคัดค้านอย่างมาก จากนักวิชาการ สื่อมวลชน รวมไปถึงองค์กรอื่นๆอย่างเปิดเผยแสดงตนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย บ้างก็โยงไปว่า มีไอ้โม่ง อยู่เบื้องหลัง บ้างก็ว่า เป็นการ เข้ามาครอบงำ ความอิสระของสื่อ จนถึงขั้น เสนอให้ต่อต้าน ปฏิเสธสินค้า ของแกรมมี่ ทั้งหมด ขณะที่ฝายสนับสนุน ก็ว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ตามกติกาทุกอย่าง ของการซื้อ การขายหุ้น เมื่อมติชนต้องการจะเพิ่มทุน ก็เป็นธรรมดาที่ใครก็สามารถ ซื้อขายกันได้ ตามกฎหมาย ที่สุดแกรมมี่ ต้องยอมถอยลดจำนวนหุ้น ที่จะถือครองลงมา ล่าสุดมีผู้แสดงความเห็นว่า ต่อไป คณะกรรมการ การพิจารณา ซื้อขายหุ้น น่าจะมีผู้ที่มีมุมมองในทางสังคมเข้าไปบ้าง แทนที่จะให้แต่ ผู้ที่อยู่ในแวดวง เศรษฐกิจ การเงิน อย่างเดียว เพื่อจะได้ค้านง้างกับฝ่ายคิดแบบทุนนิยมจ๋า แม้จะถูกต้อง ตามกติกา ของกฎหมาย แต่มันเหมาะสม ชอบธรรม มีคุณธรรมหรือเปล่า โอ้โฮ เป็นความคิดที่ดีมาก ควรส่งเสริมอย่างยิ่ง

นี่ขนาดเป็นเรื่องของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในสังคมไทย โดยสถานภาพยังถือว่าเล็กย่อย เมื่อเทียบกับ เรื่องของ ศาสนา สังคมยังมองกันได้ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ถ้าอุดมการณ์ของหนังสือพิมพ์จะต้องเปลี่ยนไป แต่ถ้าอุดมการณ์ ทางศาสนา จะต้องเปลี่ยนไป ก็น่าจะยิ่งกว่าอีกไม่รู้กี่เท่า

การเอาบริษัทน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มทุนขยายกิจการ ที่สุดก็คือการผลิตที่มากขึ้น บริโภค มากขึ้น เป็นกติกา ที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่การณ์อย่างนี้กลายเป็นการปฏิเสธหรือล้มล้างความคิด ความเชื่อ หรือ อุดมการณ์ของ ทุกศาสนา อย่างฉกาจฉกรรจ์ ท่านผู้มีอำนาจจะเหลียวมองแง่มุมนี้กันบ้างไหมเอ่ย โดยเฉพาะ ประชาชนทั้งหลาย

อีกข่าวหนึ่งกรณีสถานอาบอบนวดใหญ่โต ได้รับอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ให้เปิดทำการได้ แต่เป็นเรื่องขึ้นมา เมื่อมีคน จุดกระแส ศีลธรรม เนื่องจากใกล้กับสถานศึกษา ได้ผล สังคมขานรับกันดี ตั้งแต่นายกฯ สื่อมวลชน นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา และ ประชาชนชาวบ้าน กล่าวเป็นเสียงเดียวกันหมดว่าไม่ควรอย่างยิ่ง นายกฯ ถึงกับใช้ คำเก๋ไม่เบาว่า เป็นการใช้กฎหมาย อย่าง ศรีธนญชัย สุดท้าย สถานอาบอบนวดนั้น ก็ถูกถอน ใบอนุญาต

ทั้งสามกรณีที่กล่าวมานี้ เหมือนกันตรงที่ต่างล้วนคือบาปภัยของทุนนิยมทั้งสิ้น แม้การประกอบการ ถูกกติกา ของกฎหมาย ทุกอย่าง แต่ผิดอย่างยิ่งกับหลักคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม

คำว่าการใช้กฎหมายอย่างศรีธนญชัย นอกจากจะใช้เพื่อเอื้อประโยชน์กับการประกอบการ ของทุนนิยมแล้ว ผู้มีอำนาจ ก็ยังใช้ ทำลายอีกฝ่าย ที่ไม่ยอมสยบกับอำนาจของตนด้วย ไม่ว่าจะเป็นพระเยซู มหาตมะ คานธี โสเครติส พระครูบาศรีวิชัย รวมมาถึง ข้อกล่าวหาที่ว่า ประพฤติผิดธรรมวินัยเป็นอาจิณ ไม่มีที่อยู่ เป็นหลักแหล่ง เป็นอุปัชฌาย์โดย ไม่ได้รับการแต่งตั้ง แต่งกาย ลอกเลียนแบบภิกษุ ไม่ยอมสละ สมณเพศ ภายใน ๗ วันตามคำสั่ง ต่างๆนานาเหล่านี้ คือการใช้กฎหมาย อย่าง ศรีธนญชัย ต่อคณะสงฆ์ชาวอโศก โดยย่ำยี หลักการ นานาสังวาส ตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า



วิจัยธุรกิจที่ทำประโยชน์กับสังคม

๑ ส.ค. ๒๕๔๘ ที่สันติอโศก ได้มีผู้มาขอสัมภาษณ์เพื่อประกอบการวิจัย กรณีศึกษาบริษัทน้ำมันบางจาก กิจกรรมที่ทำ ประโยชน์ ให้สังคม ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมเป็นอย่างไร ขอนำบางส่วน ของการสนทนา สัมภาษณ์ มานำเสนอดังนี้

ถาม : พอมาศึกษาดูเรื่องการทำประโยชน์เพื่อสังคมของธุรกิจนี่นะคะ ก็มาเห็นลำดับความเข้มข้น ของแต่ละแห่ง ไม่เหมือนกัน บางแห่งเพียงแค่ได้เอาบางส่วนของกำไรไปบริจาค เขาก็ถือว่า เขาได้ทำ เพื่อสังคมแล้วนะคะ แต่สำหรับบางจากนี่ คุณโสภณ เป็นผู้ที่คิดเริ่มการทำประโยชน์ ว่าต้องไปปรับเปลี่ยน พนักงานที่ๆใจเลยว่า ต้องมีใจว่าเวลาทำงานนี่ ไม่ได้มุ่งสู่ผลสำเร็จ อย่างเดียว จะต้องดูว่ากระบวนการทำงาน ต้องไม่เอาเปรียบ ต้องไม่เอาไปทำร้ายคนอื่นด้วย ขณะเดียวกันก็ให้เกิดประโยชน์ ที่ไปเป็นประโยชน์ต่อ ชุมชน ต่อสังคมฮ่ะ คือว่าบางจากนี่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จะไปแยกส่วนกันไม่ได้ ก็เลยค่อนข้าง เน้นว่า ให้พนักงานลงไปทำเรื่องชุมชน ลงไปทำงานด้านสังคมแล้วก็ในเนื้องานของบางจากเองนี่ จะไม่แยก ว่างานไหน เป็นงานสังคม งานไหน เป็นงานบริษัท แต่จะทำพร้อมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันไปเลย ก็ขนาด ที่ทำงานของบริษัท ก็ต้องให้สังคม ได้ประโยชน์ ด้วยนะคะ ก็เลยว่ามันเป็นอีกระดับความคิดอันหนึ่ง ตอนนี้ ก็มาเทียบดูว่า อีกขั้นหนึ่ง คือขั้นบุญนิยมแล้ว ถ้าเผื่อจะขอ อนุญาต เอาแนวคิด บุญนิยมนี่ไปใส่ เทียบด้วย นะคะว่า การทำธุรกิจนี่ มีระดับหนึ่งก็คือระดับบุญนิยมถือว่า เป็นระดับ สูงสุดนะคะ ที่จะเสียสละ อย่างแท้จริง อย่างไม่ได้หวัง ผลตอบแทนอะไร

พ่อท่าน : นอกจากไม่หวังผลตอบแทนและเป็นผลที่เสียสละจริงๆแล้ว ก็ยังมีภูมิปัญญา เห็นว่า ทางด้าน วิธีคิด หรือแนวคิด ของทุนนิยมนั้น ถึงแม้จะเสียสละอย่างไรก็ยัง "เอาเกินทุน" นะ ต้องพูดคำ คำนี้กัน.... เอากำไร คือ ต้องโลภเอามาให้ตน ได้มากๆ ให้คนอื่นน้อยที่สุดได้เท่าใดก็ดีเท่านั้นเอง แต่ทางด้าน บุญนิยมเรานี่ เราเสียสละคือ "เอาต่ำกว่าทุน" อย่างพยายาม จริง เพราะฉะนั้นจึงเสียสละจริงๆ

ถาม : ก็เลยจะวิจัยเรื่องคุณธรรมเทียบให้เห็นว่า ระดับของการทำเพื่อสังคมมีหลายระดับ บางจากนี่ อยู่ระดับกลาง นั่นเอง นะคะ แล้วก็ระดับสูงขึ้นไปก็คือ บุญนิยม

พ่อท่าน : เมื่อกี้นี้ก็ขยายความว่าระดับ"เอาเกินทุน"กับระดับ"เอาต่ำกว่าทุน"นี่ มันมีความแตกต่างกัน แต่อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจ ความครบ ในองค์ประกอบของมัน ก็อาจจะเข้าใจไม่ได้

เกินทุน หมายความว่า "ทุน"นี่....แนวคิดทุนนิยม เขาบวกค่าแรงงาน ค่าอะไรเขาบวกหมดทุกอย่าง แต่จุดสำคัญ อยู่ตรงที่ว่า เขาบวก"ค่าแรงงานของคน"ด้วย ทีนี้บุญนิยมนี่ "ขายต่ำกว่าทุน" ก็คือ เรา"เอาค่าแรงงานของเรา"ไปลด"ราคาทุน" มันก็ขาย ต่ำกว่าทุนได้ ถ้าลด"ค่าแรงงานของตน"ได้มาก ก็ "ขายราคา ต่ำกว่าทุน" ได้มาก เราเสียสละค่าแรงงาน คิดไม่เต็มอัตรา หรือ ไม่เอาค่าตัวเลย คือลด ค่าแรงงานของตัวเราได้มากเท่าไหร่ นั่นแหละคือเราจะเอาค่าแรงงานที่ลดนั่นแหละ ไปให้ประโยชน์ ผู้บริโภค ซึ่งมัน ก็จะต่ำกว่าทุน ธรรมดาสามัญนั้น ถ้าเราคิดราคาค่าแรงงานของเราเท่าราคาสามัญ ที่ควรได้ ตามราคาตลาด บวกลงไปใน "ทุน"แล้ว แล้วเราก็"ขายผลผลิตไปในราคาเท่าทุน" ถ้าอย่างนี้ เราก็ยังไม่ได้ เสียสละ คือ ผู้ซื้อกับผู้ขาย ไม่มีใครได้ ไม่มีใครเสีย เสมอกัน นั่นก็คือ เราไม่ได้เสียสละเลย เราเห็นในสัจจะ อย่างนี้ แต่ถ้ายิ่งไป "ขายเกินทุน" นี่ เราไม่ได้เสียสละ แล้วยัง เอาเปรียบอีก ทุนนิยมคิดอย่างนี้ เราถือว่า ไม่ได้เสียสละเลย เพราะค่าแรงงานก็เอามาครบหมดแล้ว แล้วไปขาย เกินค่าแรงงาน-เกินทุน มันก็บวก เอาเกิน เอาเปรียบ ตามสัจจะ มันก็ไปดูดเอาของเขา ค้ากำไรจากเขา ดูดเอาเขาอีก เราคิดว่า อย่างนี้ ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประโยชน์ เราก็ไม่ใช่ผู้มีประโยชน์ แต่ถ้าเราได้ลดค่าแรงงานของเราลงไป นั่นคือ เราได้เสียสละ นั้นให้แก่สังคม เป็นประโยชน์แก่สังคม ยิ่งคิดค่าตัว ให้ต่ำได้เท่าใดๆ เรายิ่งมีประโยชน์มาก เท่านั้นๆ แต่คนขี้โกงโก่งตีราคา ค่าตัว ไว้ให้สูงๆมากๆ แล้วก็มาอ้างว่า"ลดค่าตัว" นั่นมันก็โกงแล้ว

นี่เป็นแนวคิดของ"บุญนิยม" เพราะฉะนั้นเราจะลดได้มากเท่าใด เท่าที่เราก็อยู่รอดได้ ก็นั่นแหละ คือ การเสียสละ ได้มากที่สุด "ประโยชน์ตน" ก็คือ "เรามีประโยชน์ต่อผู้อื่น-ต่อสังคม-เราเป็นผู้ให้" ที่สำคัญ ต้องเป็นสัจจะ ไม่มีเล่ห์ ซึ่งต้องมีภูมิรู้ ในทฤษฎี "ประโยชน์สูง - ประหยัดสุด"

วิธีการหรือระบบของเรา มันเป็น"สาธารณโภคี"แล้ว คือ ทุกคนทำมารวมกัน โดยแต่ละคนไม่คำนึงถึง รายได้ ของตนเลย ทุกคน ทำงานฟรี รายได้สูญ มีแต่พัฒนาความขยันและความสามารถ ทุกคนอาศัยกินอยู่ใช้สอย ในทรัพย์สิน ส่วนกลาง ซึ่ง สาธารณโภคี คือ กินใช้อยู่ร่วมกัน เพราะฉะนั้น อย่างนี้เราถือว่า ค่าแรงงาน ของเรานี่ สละไปหมด แล้วแต่ส่วนกลาง จะไปจัดสรร อย่างไร ที่จะไปสะพัด หรือไปพัฒนา จัดการ อะไรได้อีก อันเป็นของส่วนกลาง หรือก็ของทุกๆคนนั่นเอง มิใช่ของคนใด คนหนึ่ง

ถาม : ค่ะ เลยจะขออนุญาตเอาเรื่องแนวคิดบุญนิยมไปเทียบเคียงเอาไว้นำเสนอต่อสังคม

พ่อท่าน : ต้องอธิบายให้เห็นชัดเจนว่า ความเจริญหรือความดีของทุนนิยม หรือว่าสายโลกีย์ที่เขาเอง เขามีประโยชน์ ให้แก่สังคม เขาก็มีบ้างเหมือนกัน แต่ไม่ชัดเจน ยังสับสน ยังกลับกลอก ไม่รู้แจ้ง ตามสัจจะ ที่เป็นจริง และไม่แน่แท้ ไม่ลงตัว ถาวร ส่วนบุญนิยม ที่ว่าสูงกว่านั้น เพราะอะไร เพราะเราเจตนาทั้งในรูปของ มูลค่า และในด้านที่เป็นคุณค่าจริง มูลค่านี่ก็คือ การคิดต่ำกว่าราคาทุนนี่แหละ ส่วนคุณค่า ก็คือ เราได้รู้จริงๆ ว่าจิตของเราได้ลดละกิเลส มันเป็นปรมัตถ์ มันเป็นคุณค่า ของคน คือเป็นคุณค่าทาง อาริยธรรม คุณค่า ทางโลกุตระ ทางโลกียะนั้นเขาเข้าใจในการเสียสละด้านวัตถุ ทางรูปธรรม แต่ในโลกียะ มองจิตวิญญาณ และมองโลกุตระไม่ออก ไม่ซาบซึ้งแท้จริง ในการไม่มีกิเลส

ถาม : สังคมนี่ควรจะมีบทบาทในการผลักดันให้ธุรกิจเข้ามาร่วมอุ้มชูสังคมอย่างไร

พ่อท่าน : พูดก็พูดเถอะนะ ไอ้เรื่องของแนวคิดของชาวโลกีย์ หรือแนวคิดของทุนนิยมนี่ มันไม่มีแนวคิด ที่จะช่วยสังคม ได้จริงจังหรอก จะพูดอย่างไง ปะล่อมปะแล่มอย่างไงไป ก็พูดไปอย่างงั้นแหละ นะ ..มันไม่ได้ช่วยได้จริงหรอก เพราะ มัน เห็นแก่ตน แก่พวกของตนเป็นหลักอยู่ตลอดกาลนาน ผู้ที่จะช่วยสังคม ได้จริงนั้น ก็จะต้องเป็นกลุ่มคนที่จะศึกษา ลดละกิเลส อย่างแท้จริง เพื่อที่จะเต็มใจเสียสละจริงๆ เพราะ "การเสียสละ"นั้นน่ะ ทุกคนรู้ดีทั้งนั้นว่า มันเป็นความดีงาม แต่กิเลสเขา ไม่ได้ลดจริงๆนี่ เขาจึงไม่สามารถ ที่จะสละ อย่างเต็มเปอร์เซ็นต์ ที่ควรจะเป็น เขาจะสละแต่เพียง ทำเพื่อความดี บางทีกิเลสนี่ มันจะซับซ้อน คือ ทำดีนี่ ทำแล้วมันโก้ ทำดีแล้วมันได้รับความภาคภูมิใจ ทำดีแล้วมันมีความสุข ในด้านความภาคภูมิใจ ที่มีคนเห็น ยกย่องเชิดชูด้วย ก็ยังเป็นนามธรรมที่ต้องสละให้ได้อีก เพราะยังเป็นอุปกิเลส เพราะฉะนั้น ในทางโลกุตระ จึงสอน หรือ แจกแจงความจริงทั้งหมด แม้แต่การได้รับการยกย่องเชิดชู แล้วทำเป็นหลง ในความภาคภูมิใจ ดีใจนี่ ทางด้านโลกุตระ หรือว่าด้านศาสนาพุทธนี่ สอนให้เราไม่ต้องไปหลงยินดี อย่าหลง ติดเสพ รสความยินดีพวกนี้ เพราะยังเป็นอัตตา-เป็นภพ-เป็นชาติ หลงในสรรเสริญ หลงในสุขบำเรอจิต อะไรต่ออะไรอีก เพราะว่ามันเป็นความจริงเป็นสัจธรรมขั้นโลกุตระ คือ ความจริง เมื่อเราทำดี เราก็จบ ลงไปในตัว กรรมย่อมเป็นความจริงของมันเองแล้ว ช่วยเหลือเฟือฟายผู้อื่นแล้ว เสียสละแล้ว เราทำก็เป็น ความจริง แล้วก็จบ อะไรอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของโลกุตระ ถึงนิพพาน

ถาม : การที่ธุรกิจนี่ มาดูแล มาทำเพื่อสังคม จะสามารถช่วยเศรษฐกิจสังคม และการเมือง และสภาวะ โดยรวม ของประเทศ ได้อย่างไรบ้าง

พ่อท่าน : ถ้าไม่เป็นอาริยบุคคลหรือไม่มีภูมิโลกุตระจริง ไม่สละจริงหรอก เพราะฉะนั้นทุนนิยม จึงมีคนรวย วัตถุไปกอบกอง อยู่ที่คนรวยอย่างไม่หยุดหย่อน เป็นความรวยอยู่ในฐานบน ไม่กี่ตระกูล เขาจะรักษาฐานะ ไว้อย่างยิ่ง จนกว่าจะสุดวิสัย รักษา ฐานะรวยไว้ไม่ได้ สมบัติผลัดกันชม ก็เป็น ความจำยอม เพราะความรู้ ความสามารถวิธีคิดและระบบทุนนิยมนั้น สามารถ ที่จะเอาเปรียบ หรือดึงดูดเอาไปให้ได้เปรียบมาก อยู่ตลอดเวลา และยิ่งๆขึ้น แม้จะมีผู้ที่เสียสละ อยู่บ้าง ในการ เสียสละนั้น มันก็ไม่ทำให้เขาได้ละลา ยความรวย นั้นลงมา เขาไม่มีขีดความพอ ไม่มีสันโดษ ไม่มีความพอเพียงที่จริง ถ้าเผื่อว่า เขาจะมี อัตราการก้าวหน้า ในการรวยอยู่ เขาก็จะทำ ไม่ให้ลดอัตราการก้าวหน้าในการรวย นอกจากสุดวิสัย ที่เขาจะให้ รวยขึ้นไม่ได้ เขาก็จำนน แต่ถ้ารวยอยู่เป็นปกติมีอัตราความก้าวหน้าในการรวย เขาก็รวยขึ้นๆๆ จนเขาตาย ลูกหลาน ก็จะสานต่อรวยยิ่งๆ ไปอีก กี่ชั่วคนก็ตามใจ นี่เป็นแนวคิดของทุนนิยม

ฉะนั้นการจะสละจริงๆมันไม่มี เพราะจุดเขตความพอ ที่ภาษาพระเรียกว่า "สันโดษ"(สันตุฏฐิ)เขาไม่มีกัน เขามีซักประมาณ ร้อยล้านนี่กินได้มากได้มายแล้ว ไม่ควรจะเพิ่มอีกแล้ว เกินนี้สละให้หมด ยังไม่มีนายทุน ที่คิดเช่นนี้ จึงตอบได้ว่า ไม่มีใคร ที่ต้องการ ที่จะเสียสละจริง ตั้งแต่ขอทานยันเศรษฐี

ถาม : ท่านคิดว่าในประเทศไทยนี่ มีองค์กรใดบ้างที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริง ระหว่าง ที่จะทำวิจัยเรื่องนี้ ก็มาคิดว่า เอ้....ธุรกิจเพื่อสังคมนี่คืออะไร จริงๆมันต้องเริ่มตั้งแต่ว่า สิ่งที่เขาทำนี่ ผลิตผลที่เขาได้นี่นะฮะ คือ ธุรกิจของเขานี่ ต้องไม่ใช่ เป็น ธุรกิจที่มิจฉานะฮะ คือจะต้องไม่ทำลาย ไม่ทำร้ายสังคมสิ่งแวดล้อม อะไรเลย แล้วก็เพื่อนมนุษย์

พ่อท่าน : คำสอนของพระพุทธเจ้า สอนไว้หมด ธุรกิจต่างๆก็คือการค้าขาย การสร้างขึ้นแลกเปลี่ยนกันไปมา ธุรกิจต่างๆ การค้าขายพระพุทธเจ้าท่านกำหนดไว้แล้วว่ามิจฉา คือมิจฉาวณิชชา ๕ ค้าขายอาวุธ ค้าขายสัตว์ ค้าขายเนื้อสัตว์ ค้าขาย สิ่งที่เป็นพิษ ค้าขายสิ่งที่มอมเมา ตรงนี้ทั้งสิ่งที่เป็นพิษและมอมเมานี่ ก็จะต้อง มาทำความเข้าใจ ให้ลึกซึ้ง โดยเฉพาะคำว่า มอมเมานี่ มันมาก แต่เขาแปลกันไว้แค่ขั้นตื้นๆพื้นฐานว่า น้ำเมา ที่จริง สิ่งที่ทำให้เมา ก็ทำให้มัวเมา-มอมเมานี่แหละ มันมี มากมาย เพราะฉะนั้น เมาที่เมาโดยกดประสาทเลย ก็มีแน่ อย่างน้ำเมายาบ้ายาเมาทั้งหลาย หรือที่ไม่เรียกว่ายาก็ตาม และ เมาอย่างหลงคลั่งไคล้ เมาอย่าง งมงาย มัวเมา เป็นต้นอันคือทางจิตวิญญาณ เมาหลงติดอะไรต่ออะไรอีก ถ้าไม่รู้แจ้งว่า "เมา" คืออย่างไร ลึกซึ้งพอ ก็คงสร้างสิ่งมอมเมากันขึ้นมาอยู่ไม่มีหยุด ดังที่เป็นกันอยู่เต็มสังคมโลกีย์ จนวิตถารกันหนักหนา ก็ไม่รู้ตัวกัน ธุรกิจมอมเมาเต็มโลก

ถาม : ในยุคนี้ในกระแสโลกได้ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ ควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม ถึงกับ บรรจุไว้เป็นหลักสูตร เลยนะฮะในการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ในเรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคมนี่ฮ่ะ มีการวิจัยกัน แล้วก็ไปเรียนกันระดับ ปริญญาเอก พ่อท่านมีความเห็นอย่างไร

พ่อท่าน : นั่นแหละ อาตมาถึงบอกว่า ในแนวคิดของทุนนิยมหรือโลกีย์นี่จะเรียนถึงปริญญาเอกก็ตาม ด้วยความซับซ้อน นั้นน่ะ มันมีเชิงกลทั้งนั้น ที่ผู้มีอำนาจหรือผู้ได้เปรียบ ยังได้เปรียบอยู่เสมอ ไม่ได้เสียสละ ให้แก่สังคมจริง เรียกว่า "ผลประโยชน์ หรือประโยชน์ตน" ก็คือ การได้มาให้แก่ตน ได้มาบำเรอตน ทั้งทางวัตถุ และ นามธรรม เสพสมอารมณ์กิเลส ดังนั้น คำว่า "ประโยชน์เพื่อสังคม" จึงจริงไม่ได้ ตราบใดที่ไม่ลดล้าง กิเลสกันจริง จนกระทั่ง เหลือการทำเพื่อตน น้อยกว่า ตนเสพสม ต้องภูมิขั้น "สกิทาคามี" ขึ้นไปโน่น จึงจะเป็น ฐานะของผู้มีส่วน ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น หรือเพื่อสังคม ได้ขึ้นไปจริง

ถาม : อยากทราบว่าพ่อท่านจะมีคำแนะนำบางจากอย่างไรบ้างคะ

พ่อท่าน : ไม่มีทางใดที่จะแนะนำได้อีกหรอก ก็ทางบุญนิยมนี่แหละจะมาทำร่วมได้หรือ เพราะว่าบางจาก ก็ยังเป็น แนวคิด ทางทุนนิยมอยู่ ถ้าไม่มีบุคคล มันเกี่ยวกับบุคคล ถ้าไม่มีกลุ่มบุคคลใด ที่อยู่ในองค์การใด ก็แล้วแต่ บริษัทใดก็แล้วแต่ ที่เป็นคน บุญนิยมจริงๆ มีปริมาณที่มากพอ ทำไม่ได้หรอก พูดไปก็ป่วยการ ไม่มีใคร ทำได้อย่างเป็นสัจจะ ที่ยั่งยืนแน่ ขนาดเราทำนี่ โอ้โห.... ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ



ครบ ๑๓ ปี ชมรมมังสวิรัติฯ เชียงใหม่
๒ ส.ค. ๒๕๔๘ ที่ราชธานีอโศก ได้รับโทรศัพท์จากทางชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขาเชียงใหม่ เนื่อง ในวาระครบ ๑๓ ปี ของร้านอาหาร ชมรมมังสวิรัติ เชียงใหม่ จึงขอนิมนต์พ่อท่าน ให้พรกับสมาชิก ที่ได้มา ช่วยงาน และมาทำบุญกัน ในวันนี้ ซึ่งกำลัง นั่งรอรับฟังโอวาทของพ่อท่าน ผ่านเครื่องขยายเสียง ในร้าน จากเสียงการสนทนาดังนี้

ชมร.ชม. : ชมรมมังสวิรัตินะคะ ครบรอบ ๑๓ ปีค่ะพ่อ อยากนิมนต์พ่อให้ศีลให้พร ลูกๆทางนี้นะคะ เมื่อเช้านี่ ก็เปิดโรงบุญค่ะ ตอนนี้ฟังเฉพาะภายในน่ะค่ะ

พ่อท่าน : มีกันอยู่มากไหมนั่นน่ะ
ชมร.ชม. : เกือบ ๑๐๐ ค่ะพ่อ

พ่อท่าน : เออ ฝนตกไหม
ชมร.ชม. : ตกครับ

พ่อท่าน : เออ ฝนตกทำให้อากาศอะไรต่ออะไรเย็นน้า ก็เย็นทางฝน แต่ถ้าเผื่อว่าฝนไม่ตก หน้าร้อนอะไรพวกนี้ ที่มีพระอาทิตย์ มากๆ ฝนก็ไม่ตก อากาศก็ร้อนๆ มันก็ร้อนกาย แต่ว่าพวกเรานี่ปฏิบัติธรรมแล้วนะ เราก็ต้อง พยายามปฏิบัติให้จริง แล้วจะเห็นว่า ไอ้อาการร้อนกายก็แค่ร้อนกาย มันเชิงฟิสิกส์-เคมีธาตุ มันก็ร้อน ใครก็ร้อน พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ก็ร้อน แม้ภาคเหนือ ถ้าอากาศร้อน มันก็ร้อนเหมือนกัน แต่ว่าใจนี่มันไม่ร้อน เพราะมันไม่ใช่ธาตุมหาภูตรูป กายมันก็ร้อน แต่ใจมัน ไม่ร้อนนี่ เป็นเรื่องสำคัญ เป็นประสิทธิภาพ อันยิ่งใหญ่ ของพระพุทธเจ้า ที่ท่านสอนคน ที่ท่านพาคนปฏิบัติธรรมแล้วนี่ มันไม่ร้อนในใจ มันร้อนกายก็ร้อนไป แต่ว่า ก็มีวิธีหัดทนบ้าง จริงๆก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อนอะไรมากมาย ซึ่งรูปธาตุมันร้อน มันก็ร้อน จริงๆ เท่านั้นแหละ แต่ถ้าเผื่อว่า สามารถปฏิบัติธรรมได้แล้วนี่มันจะดีมาก ไม่ร้อนใจ ร้อนแต่กาย จะกระทบทาง หูตาจมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างไรก็ไม่ร้อน เพราะฉะนั้น เรื่องหลงโลก มันเป็นอะไรสารพัดสารเพ ที่ไม่ใช่เฉพาะที่ร้อน ทางฟิสิกส์ อย่างเดียว มีทั้งทางเข่นฆ่า เอาเปรียบเอารัด ทรมานทรกรรม แกล้งกันอย่างโน้นอย่างนี้อะไรสารพัด สิ่งเหล่านี้แหละ เป็นสิ่งที่เรา จะต้องเรียนรู้ แล้วเราก็จะต้องฝึกฝน อ่านให้จริงเลยว่า ในโลกนี้ มันมีสารพัด ที่จะมี จนใจเราไม่หวั่นไหว กับโลกีย์ เราจะชนะ โลกีย์ หรือว่าเราจะใจเย็น เราจะวางได้ เพราะเรารู้แล้ว เราก็ฝึก รู้แล้วก็ฝึก รู้แล้วก็ฝึก ดังนั้นการทำงานก็ดี กระทบสัมผัสกัน อยู่ด้วยกัน หมู่กลุ่มใหญ่ๆ มีสารพัดจริต คนละจริต คนละอย่างนั้น คนละอย่างนี้ คนละยึด นอกจากจริตแล้วยังมียึดอีก ยึดอย่างโน้น ยึดเป็นคราวๆ ก็ยังได้นะ คราวนี้ยึดอย่างนี้คราวหน้ายึดอย่างโน้น คราวโน้นกลับไปยึดอย่างที่เราไม่เคยยึด มายึด อย่างที่เรายึด อะไรกลับไปอีก ไม่ค่อยเที่ยง เพราะฉะนั้นมันแล้วแต่อารมณ์แล้วแต่โอกาสอย่างนี้เป็นต้น

สรุปแล้วก็คือ อยู่ด้วยกัน ประชุมกัน ก็ตกลงกันพูดกัน ปรึกษาหารือกัน ช่วยกันคิดช่วยกันตัดสิน จะมีมติอะไร ก็แล้วแต่ ที่เราทำ กันอยู่ในทุกวันนี่ เป็นการฝึกที่จะเรียนรู้ และก็เพื่อจะเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจทุกสิ่ง ทุกอย่าง ให้ได้ ก็ไม่มีอะไรหรอก ทุกอย่าง มันก็อย่างนี้แหละ วุ่นๆวายๆ อะไรต่ออะไร แต่ใจเราไม่วุ่น ใจเราวางได้ วางเห็นความจริงตามความเป็นจริง แล้วก็รับรู้กัน ไปตามความเป็น ความมี ฝึกฝนได้แล้ว ใจเราก็นิ่งๆ ใจเราเย็นๆ เราก็จะเป็นคนมีความสุขนะ

อยู่ทางเชียงใหม่นี่อากาศมันเย็นมากกว่าที่อื่นนะ ได้กำไรแล้ว แต่ที่จริงก็จะว่าอีกมุมหนึ่ง บางทีมันเย็นๆ กายมันไม่ค่อย จะได้ฝึก ใจมันเลยร้อนไม่ได้ฝึกด้วยก็เป็นไปได้เหมือนกันนะ เพราะฉะนั้นระวัง ยังไงๆ มันกระทบ สัมผัสกันนี่ มันก็ต้อง เกิดอาการอย่างนั้นอย่างนี้แหละ ทำงานไปแล้วก็ฝึกไป การทำงานนี่แหละ เราสามารถที่จะมีโอกาส ได้ฝึกฝนจิตใจ อย่างมาก ทีเดียว ปฏิบัติธรรมอยู่ในการทำงาน ทำงานแล้วก็ ปฏิบัติธรรม ไปด้วยกัน ซึ่งอันนี้ทุกคนพวกเราก็คงเข้าใจดี เพราะอาตมา ก็เอาธรรมะพระพุทธเจ้าอันนี้ มาสอน อยู่ตลอดเวลา ก็ให้ทุกคนขยันหมั่นเพียรขยันขันแข็งนะ ยังไงๆ ก็ฟังวันนี้ไว้ ว่าอย่างนี้แหละ ถ้าเราเข้าใจ อย่างที่อาตมาพูดไปแล้ว แล้วก็จำอันนี้ไปฝึกทุกเวลา ทุกๆวินาที ให้ได้จริงๆ รับรองว่า จะบรรลุ อรหันต์ล่ะ อันนี้แหละ วิธีฝึกให้บรรลุอรหันต์ อยู่กับโลก แล้วก็ลดกิเลส ไม่ติดยึด ที่จริงเรื่องที่พูดนี่มันคือ เรื่องของอัตตา ทั้งสิ้นเลย ที่อธิบายมาทั้งหมดเมื่อกี้นี้นี่ เป็นเรื่องของอัตตา คนเรานี่ก็ยึดในอัตตาของตัวเองเลยแหละ นี่น่ะ ถ้าเรา ปฏิบัติธรรมได้ เราก็จะมีมรรคผล อัตตาของเราก็จะลดและหมดได้ อย่างที่อาตมาอธิบายคร่าวๆนี้ พอฟังได้นะ พอเข้าใจนะ

ชมร.ชม. : เข้าใจครับ

พ่อท่าน : แล้วก็ปฏิบัติกันให้ได้ก็แล้วกัน เป็นไงที่นั่นตอนนี้ เดี๋ยวนี้ขอถามนิดหนึ่ง ประมาณเท่าไหร่ขณะนี้ วันๆ หนึ่งขายได้
ชมร.ชม. : ประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าบาทค่ะพ่อท่าน

พ่อท่าน : แต่ละวันๆน่ะนะ แต่ละวันๆ ๑๐,๐๐๐ กว่าบาท เฉพาะอาหารหรือว่าของแห้งด้วย
ชมร.ชม. : บางทีก็ประมาณสัก ๗,๐๐๐ ค่ะพ่อท่าน

พ่อท่าน : อ้อ แล้วทำไมลดลงมา ๗,๐๐๐ ล่ะ
ชมร.ชม. : เมื่อวานนี้เยอะหน่อยค่ะ เมื่อวานนี้จานละ ๕ บาท คนเยอะหน่อยค่ะ

พ่อท่าน : อ๋อ....จานละ ๕ บาท กลับได้มากเหรอ
ชมร.ชม. : ค่ะ เพราะว่าพวกที่เคยกินทำบุญคล้ายครบรอบน่ะค่ะ ก็เลยทำบุญครึ่งหนึ่ง แล้วเปิดให้สมาชิก มารับประทาน จานละ ๕ บาท คือจานละ ๘ บาท ลดเหลือ ๕ บาท คนเยอะเมื่อวานนี้ค่ะ แขกเยอะกว่า ขายปกติค่ะ พ่อท่าน

พ่อท่าน : อ๋อ อาว....ก็ค่อยๆทดลองไปว่ายังไงดีไม่ดี เราอาจจะลดราคาขาย ๕ บาทนี่มันก็เอ๊ะ มันก็อยู่รอด มันก็ไปได้ดีนะ มันน่าจะขาย ๕ บาท แต่เหนื่อยมากหน่อย เพราะต้องล้างจานมากขึ้น แล้วทางตลาด ที่จะขายพืช ขายผักไร้สารพิษ อะไรต่ออะไร เป็นไงเดี๋ยวนี้ดีไหม

ชมร.ชม. : ก็ดีค่ะพ่อ มีผักพื้นบ้านเยอะเลย ก็ได้จากเครือข่ายของเราบ้างค่ะ

พ่อท่าน : อ้อ แล้วเครือข่ายของเรานี่มีคนเพิ่มไหม

ชมร.ชม. : ก็ยังไม่เพิ่มเท่าที่ควรน่ะค่ะ แต่มีปุ๋ยมีอะไรขึ้นมา แล้วก็เกษตรกรทางนี้สนใจค่ะ พวกเราก็ตื่นตัวด้วย ด้านผัก ไร้สารพิษ แล้วก็ผักพื้นบ้าน ตื่นตัวขึ้นมาค่ะพ่อ

พ่อท่าน : เอ้อ....เราพยายามเอาใจใส่ทางนี้หน่อย มันจะได้เพิ่มปริมาณผู้ที่มาเอาใจใส่ในการผลิตสิ่งที่ดี เขาเข้ามาในหมู่เรา เขาก็ได้สัมผัสกับหมู่เรา ได้ปฏิบัติธรรมด้วย มันก็เพิ่มขึ้นไปด้วย อาตมาอยาก จะให้ขยายผล ผู้ที่มาเป็นเครือแห มาเป็นลูกแห มาเป็นมวลที่จะมาร่วมกับแม่ข่าย เราเป็นแม่ข่ายใช่ไหม แล้วก็หา ลูกแห ลูกข่ายหรือลูกแห มาเพิ่มมาเติมขึ้น ที่นั่นมีการ อบรมกันมั่งไหม

ชมร.ชม. : ไม่มีครับ มีแต่ของเชียงรายกับฮอมบุญครับ
พ่อท่าน : เหรอ เออถ้างั้นก็ต้องหาวิธีการเพิ่มผู้ที่จะมาช่วยกันขาย ผลผลิตทางด้านกสิกรรมของพวกเราเอง มันไม่เพิ่ม ปริมาณ ของผลผลิตขึ้นเหรอ
ชมร.ชม. : ผลผลิตเหรอคะ
พ่อท่าน : อื้อ ผลผลิตของพวกเราน่ะ
ชมร.ชม. : พวกเราก็ยังค่ะท่าน ยังไม่มากเท่าที่ควรน่ะค่ะ เรามีแต่พอบริโภคในชุมชนค่ะ
พ่อท่าน : บริโภคในชุมชนก็ยังดี
ชมร.ชม. : มีผักป่ามาจำหน่าย จันทร์ พุธ ศุกร์ค่ะ ผักพื้นบ้านน่ะพ่อ
พ่อท่าน : ขายได้ดีไหม
ชมร.ชม. : ขายได้ดีค่ะ
พ่อท่าน : ผักพื้นบ้านน่ะนะ
ชมร.ชม. : ค่ะ ทางชมรมฯเราก็ไปซื้อมาประกอบอาหารด้วยค่ะ

พ่อท่าน : ก็ควรทำ พยายามด้วย พยายามปรุงเป็นอาหารเป็นอะไรชวนให้เขากินของธรรมชาติ ของไร้ สารพิษแท้ พวกนี้ เข้าไปบ้าง มันเป็นบุญนะอาตมาจะบอกให้ มันไร้สารพิษด้วย แล้วมันแหม ....มันซับซ้อน หลายอย่างน่ะ อาตมาว่ามันดี เอาล่ะ.... ทุกคนก็พยายามนะ ที่อธิบายไปแล้ว ก็พยายาม จับไปทำ อาตมาว่า สำคัญเหมือนกันแหละ ที่อธิบายแต่ต้นไป เมื่อกี้นี้ จับไปทำให้ได้ ขอให้บรรลุธรรมกัน ทุกๆคนนะ

ชมร.ชม. : ค่ะ กราบนมัสการค่ะ กราบนมัสการครับ
พ่อท่าน : สาธุ



เยือนทักษิณอโศก
๕-๗ ส.ค. ๒๕๔๘ ที่ทักษิณอโศก จ.ตรัง มีงานสัมมนาข่ายแหของทักษิณอโศก รวมถึงงาน "ภราดรภาพ ซาบซึ้งใจ" ซึ่งจัดเป็น ประจำทุกปี เพื่อให้พ่อท่านได้มาเยือนญาติธรรมที่อยู่ภาคใต้บ้าง โดยผนวกเอา การประชุม ของพรรคเพื่อฟ้าดิน สาขา ๑๒ เข้ามาด้วย เพื่อต้อนรับญาติธรรม ที่เป็นกรรมการ สาขาพรรค เพื่อฟ้าดิน จากภาคอื่นๆ ให้ได้มาเยือนทักษิณอโศกบ้าง มาเที่ยวเดียว จึงเท่ากับได้มางาน ๓ งาน ไปโดยปริยาย

กิจกรรมก็ไม่ได้มีอะไรมาก เริ่มจากเอื้อไออุ่นโดยเฉพาะกับญาติธรรมชาวใต้ เป็นรายการสนทนา ซักถาม ปัญหา ตามประสา พ่อลูกครอบครัวใหญ่ ฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นหลัก มีการประชุมของพรรคเพื่อฟ้าดินบ้าง และของข่ายแห ชาวอโศก ที่มีสถาบัน บุญนิยมเป็นศูนย์กลาง

ดีที่พวกเราเข้าใจ ไม่ได้ใช้งานพ่อท่านมากเหมือนอย่างแต่ก่อน เรื่องที่ประชุมคุยกันเองได้ ก็ประชุมกันเอง ทำให้พ่อท่าน มีเวลาทำงาน เขียนที่ค้างได้บ้าง ทางทักษิณอโศกจัดโบสถ์ให้เป็นที่ทำงาน โบสถ์หลังนี้ พ่อท่านเปรยไว้ปีที่แล้วว่าให้อนุรักษ์ไว้ เพราะถือเป็น โบสถ์หลังแรกที่ดูสมถะดี ขนาดประมาณ ๕ X ๓ เมตร เห็นจะได้ สังกะสีมุงหลังคาธรรมดา ผนังฉาบปูน เพียงแค่ ระดับเอว พื้นก็เทปูนธรรมดา ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หรือสิ่งที่จะเป็นเครื่องบอกว่าเป็นโบสถ์เหมือนวัดทั่วไปเลย มีเพียง ป้ายด้านหน้าเท่านั้นบอกว่าเป็นโบสถ์ มีมุ้งตาข่ายขึงโดยรอบเพื่อกันยุง ดูผ่านๆคล้ายโรงเลี้ยงไก่อะไรทำนองนั้น มาคราวนี้ ได้ปรับปรุงทาสี ปูพื้น กระเบื้อง ใช้สีสันสว่างตามากขึ้น รูปที่คล้ายโรงเลี้ยงไก่เดิมหายไป

แม้ช่วงระหว่างพ่อท่านทำงาน ก็ยังมีผู้คนขอเข้ามาปรึกษาปัญหา ทั้งเรื่องของภายใน ทักษิณอโศกเอง รวมถึง เรื่องของ ชุมชนอื่น ล้วนเป็นเรื่องพฤติกรรมของคนในพื้นที่นั้นๆ บ้างก็เป็นความหยาบกระด้าง คนรอบข้าง วางใจได้ยาก บางแห่ง ก็เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่ทำงานรับผิดชอบมาก แต่ใช้เอกสิทธิบางเรื่อง ไม่ใช้ขบวน การกลุ่ม เช่น มีเด็กที่กระทำผิด เสียหาย หลายครั้ง ส่วนใหญ่ให้ออก แต่ผู้ใหญ่ท่านนี้ขอรับดูแลเอง ก็ยังมี พฤติกรรมผิด เกิดขึ้นอีก ซึ่งพ่อท่านก็ให้ทักท้วง คุยกันในหมู่ แล้วพิจารณาตัดสินกัน ใช้ขบวนการกลุ่ม ให้เป็นประโยชน์

มาทักษิณอโศกหนนี้ กำลังมีการปรับปรุงทั้งเสาสัญญาณและเครื่องส่งของวิทยุชุมชน ซึ่งญาติธรรม ก็ขอให้ พ่อท่าน ช่วยตั้ง ชื่อ ให้ด้วย พ่อท่านอาศัยช่วงของการแสดงธรรมให้มีการเสนอชื่อขึ้นมา มีชื่อ แบ่งปันบุญ เชิญช่วยกัน ใต้ร่มธรรม และ ศูนย์สร้างสรร และโหวตตัดสินกันเอง โดยใช้มติของเสียงส่วนใหญ่ ผลปรากฏว่า "ศูนย์สร้างสรร"ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด

ช่วงหนึ่งของการแสดงธรรม เมื่ออธิบายถึงอัตตา ๓ พ่อท่านได้วกมาวิจารณ์กลุ่มญาติธรรมชาวใต้ว่า มี อรูปอัตตาสูง ยึดติด ในความรู้ ความเห็น ศักดิ์ศรี เป็นตน เป็นของของตนกันมาก ทำให้ยากที่จะเจริญ พัฒนาไปได้ ทักษิณอโศกนี่จะมีอายุ ๑๐ ปีได้แล้วนะ ยังไปไม่ได้ถึงไหนเลย น้องๆแซงหน้ากันไปหมดแล้ว อย่ามาอ้าง ว่ามีบ้านหลายหลังนะ มีแต่บ้านไม่มีคน มันก็ แค่นั้นแหละ ตอนนี้บุญนิยมควรจะมีกงจักร ที่จะเคลื่อน ไปอีกรอบหนึ่งแล้ว เพราะตอนนี้ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานราชการ หรือ ธุรกิจ ก็หันมาเล็งแลเรา

อาตมาก็ขอย้ำกับพวกเราที่อยู่ทางใต้นี่นะ มีทักษิณอโศก ธรรมชาติอโศก ชเลขวัญธรรมราช อโศก สงขลาอีก มารวมตัวกันมั่ง เอาเถอะไอ้แหล่งที่มันมีแล้วก็มีไป จะเอาตรงไหนมันก็อันเดียวกันน่ะพวกเรา อย่าทะเลาะกัน อย่ามีพรรค มีพวกกัน มากมายนัก อยู่เป็นหมู่เป็นกลุ่ม เป็นเนื้อเดียวกัน หนึ่งเดียวกันให้ได้ อาตมาฝากฝังไว้

เตือนแล้วว่า คุณจะเอาอะไรชาตินี้ แล้วควรจะต้องเร่งรัดพัฒนาตน พัฒนากลุ่ม กลุ่มแข็งแรงขึ้น สัจธรรม มีสูงขึ้น เป็นรูปธรรม เป็นอัตตลักษณ์ เป็นลักษณะประจำตัวของพวกเรา ไม่ใช่อัตตานะ อัตตลักษณ์นี่ อโศกเรา จะมีลักษณะ จำเพาะตน เป็นอัตตลักษณ์ที่ยิ่งแน่น ยิ่งมวลเยอะ ยิ่งแน่น ยิ่งบริสุทธิ์สะอาด ราศีหรือรังสีจะออกไปมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้ เราดูด้วยตาเปล่าไม่ได้ แม้จะรู้ จะพอรู้ยังเอามาพูดยากเลย ธรรมรังสี มันไม่เป็นพิษ เหมือนอย่างกัมมันตภาพรังสี เมื่อหมด วิบาก เมื่อถึงครั้งคราว มันจะมีรังสีมีฤทธิ์ เหมือน กัมมันตภาพรังสี แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้น ธรรมรังสีของเรายังไม่มีคุณภาพ ยังไม่มีประสิทธิภาพ ถึงขั้น เหมือนอย่าง กัมมันตภาพรังสี ถ้ามันถึงรอบถึงคราวมันแล้วมันจะดี มันเป็นเรื่องนามธรรม เป็นพลัง ของจิตวิญญาณ เป็นเรื่องรายละเอียด ก็ขอเตือนพวกเราว่า อย่าช้า วันเวลาล่วงไปๆ บัดนี้ทำอะไรอยู่ สิ่งทีดีกว่านี้ ยังมีอีก ที่เราจะต้องพากเพียรกัน อาตมาก็บอกอีกทีว่าเราอยากได้หมู่ได้กลุ่มนะ อยากได้มวล อยากได้ สิ่งที่มันเป็น ปึกแผ่น... มารวมตัวกัน ก็ฝากไว้สำหรับปักษ์ใต้



ทุนนิยม คือ ลัทธิบาป
๑๒ ส.ค. ๒๕๔๘ ที่ราชธานีอโศก วันนี้เป็นทั้งวันแม่แห่งชาติ และมีชาวบ้านเกษตรกรมาอบรม นอกจาก นักเรียน และ ผู้ปกครอง ของนักเรียนแล้ว ทั้งหมดมีประมาณ ๓๐๐ คน การแสดงธรรมวันนี้ พ่อท่านเอาหัวข้อ จากหนังสือ "สรรค่าสร้างคน" เกี่ยวกับลักษณะ บุญนิยมที่สมบูรณ์ ๑๑ ประการมาอ่านอธิบาย จากบางส่วน ที่น่าสนใจ ดังนี้

วันนี้เป็นวันสำคัญของไทยเรา เป็นวันแม่ วันสำคัญนี้เราน่าจะได้รับความรู้ที่สำคัญๆ แล้วเราก็เอาไป ประพฤติ เอาไปปฏิบัติ แก่ตนๆ มันก็จะเป็นสิ่งที่ดีให้แก่ตน หลักที่อาตมาตั้งใจไว้ว่าจะเอามาบรรยายในเช้าวันนี้ คือ หลักของ บุญนิยม คำว่า บุญนิยม นี่ อาตมาตั้งขึ้นมาให้มันล้อเลียนคำว่าทุนนิยม สังคมทั่วโลกนี่เขาเป็น ทุนนิยมกัน ทั่วโลกเลย ทุนนิยมคืออะไร ทุนนิยม คือ ระบบที่จะต้องล่าทุน หาเงินมาให้มากๆ ทุนนี่ก็คือเงิน จะต้อง ร่ำรวย ลัทธิร่ำรวย

ทุกวันนี้ขอทานก็เป็นอาชีพ มีถึงขนาด... เข้าไปจดทะเบียนกับกระทรวง มีบริษัทขอทาน มีวิธีการ มีคนงาน มีพนักงาน มีตัว ปฏิบัติประพฤติ ส่งไปขอทานแล้วก็เอารายได้ขึ้นมา โอ๋...กดขี่กันมาก ตั้งแต่ขอทาน ไปจนกระทั่ง ถึงเศรษฐี มหาเศรษฐี ล้วนแล้วแต่ พยายามสะสมเงิน กอบโกย ทรัพย์ศฤงคาร ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ ประพฤติปฏิบัติอยู่ในสังคม จะเอาเปรียบ เอารัด จะมีวิธีฉ้อฉล มีวิธีซับซ้อน เล่ห์เหลี่ยม มากมาย อย่างไรก็ตาม ถ้าสามารถทำได้โดยไม่ถูกจับ และคนซื้อยอมด้วยจำนน ยอมซื้อ ยอมแลกเปลี่ยน ยอมเอาเงินไปให้ด้วยวิธีใดๆก็แล้วแต่ ต้องเลี่ยงไม่ให้ผิดกฎหมายให้ได้ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด แม้ผิด กฎหมาย แต่ถ้าสามารถไม่ให้โดนจับได้เขาก็ยังทำ เลี่ยงๆผิดกฎหมายบ้าง ไม่ผิดตรงๆ แต่ผิดเลี่ยงๆ อ้อมๆ อะไรก็ตาม สรุปแล้ว ก็คือ ขี้โลภ ขี้โลภจะต้องให้ได้มากๆ ให้ได้เปรียบมากๆ เอาให้ได้มากๆ สะสมไม่มีหยุด นั่นคือ วิธีการของ ทุนนิยม ทั่วโลก วิธีการนี้เป็นวิธีบาป เป็นวิธีที่ทารุณ โหดร้าย ทำให้สังคมเดือดร้อนกันทั่วโลก แล้วมันก็เดือดร้อนกันจริงๆ ขึ้นราคา น้ำมันทำไม ก็มันจะเอาเปรียบน่ะ มันไม่ขึ้นมันก็กำไรอยู่แล้ว กำไร น้ำมันน่ะ แต่มันก็ขึ้นๆๆ มันเป็นอำนาจ ถ้ามันฮั้วกันได้ บริษัทน้ำมัน บริษัทที่มันดูดน้ำมันขึ้นมาขาย มันสร้าง อำนาจได้ มันก็สร้าง แล้วมันก็ขึ้นราคา ใครจะทำไม เอ็งไม่ซื้อก็ช่างเอ็ง ทีนี้มีความจำเป็น มันก็ต้องซื้อกัน ราคาแพงขึ้นก็ต้องยอม อย่างนี้แหละ เมื่อมีอำนาจอยู่เหนือแล้ว ก็เอาเปรียบ คนเสียเปรียบ ก็อยู่ อย่างจำนน คนยังมีความโลภไม่มีทางที่เขาหาทางขาดทุน หรือหาทางเสียสละ คนที่มีกิเลสสามัญจะต้องไม่ขาดทุน ขาดทุนไม่ได้ ขาดทุนมันจะชักดิ้นชักงอตายยังไงก็ไม่รู้นะ เขาจะไม่ยอมเป็นอันขาด ระบบทุนนิยม ขาดทุน ถือว่าผิด ไม่ใช่ลัทธิ ทุนนิยม

ทีนี้ลัทธิของบุญนิยม บุญน่ะ บอใบไม้-สระอุ-ยอหญิง บุญนิยม ไม่ใช่ทุน ทุนน่ะ ทอทหาร-สระอุ-นอหนู บุญคือสิ่งดีงาม บุญคือคุณค่าของมนุษย์ ที่สำคัญ บุญคือเครื่องชำระกิเลส แต่เราจะแปลว่าความดีก็ได้ บุญคือ คุณธรรมความดี บุญคือ สิ่งที่ดีงามที่ทำให้ผู้มี..อยู่เย็นเป็นสุขก็ได้ สรุปแล้วคนที่มีเครื่องชำระกิเลส แล้วก็ ชำระกิเลสได้จริงๆ นั่นแหละคือ คนมีบุญ คนชำระกิเลส คือคนชำระความโลภ ชำระความโกรธ ชำระความหลง

ทุนนิยมไม่แคร์เลยว่าจะเอาเปรียบจะได้เปรียบ จะแคร์ก็แต่ว่าจะเสียเปรียบ ใครจะมีบุญมีบาปไม่เคยรู้เรื่อง ทุนนิยมนี่ทำบาป อยู่ตลอดเวลา ทำบาปยังไง คือลัทธิทุนนิยมนี่ เวลาเขาจะขายของ ทุนเขาซื้อมา ๑,๐๐๐ หรือเขาลงทุนไป เขาสร้างอะไร ขึ้นมา อันหนึ่ง คิดทุนแล้วเรียบร้อย สิ่งนี้ทุนมัน ๑,๐๐๐ เวลาเขาจะให้ของนี้ แก่คนอื่นไป หรือขายของนี้ ให้แก่คนอื่นไป เขาจะต้องขายเกินกว่า ๑,๐๐๐ ยิ่งได้เกิน ๑,๐๐๐ มามากยิ่งๆ ได้กำไรท่วมท้น ยิ่งดีใจเพิ่มขึ้นไปอีก การขายได้เกินทุน นั่นคือ การเอาเปรียบเขา ถ้าทุน ๑,๐๐๐ ขายไป ๑,๐๐๐ ก็เท่าทุน ใช่ไหม? ไม่มีใครได้ไม่มีใครเสีย ไม่มีใครได้เปรียบ-ใครเสียเปรียบ ก็ไม่มีใครได้บาป-ได้บุญ แต่ถ้าขายเกิน ๑,๐๐๐ ไปเท่าใดก็ตาม ส่วนเกินนั้นคือ ส่วนที่ได้เปรียบ หรือเอาเปรียบ แน่นอน แล้ว การได้เปรียบ เป็นบาปหรือเป็นบุญล่ะ?

การปฏิบัติจริงอยู่ในโลกทั้งหลายของลัทธิทุนนิยมเป็นสามัญนั้น ทุน ๑,๐๐๐ เมื่อขายไปนี่ เขาพยายาม ขายต่ำๆ ขายให้ต่ำ กว่าทุน หรือเปล่า ขายต่ำกว่า ๑,๐๐๐ หรือเปล่า ก็เปล่าเลย เขาขายให้เกิน ๑,๐๐๐ ให้ได้มาก เท่าที่จะมากได้ กันทั้งนั้น ใช่ไหม? นี่แหละ บาป! เมื่อทำอย่างนี้กันอยู่เสมอ ก็คือสั่งสมบาป ให้ตนเอง อยู่เสมอ ทั้งนั้นแหละ เพราะการเอา เกินทุน มันไปเอาเปรียบเขามา ยิ่งได้ ๒,๐๐๐ ได้ ๕,๐๐๐ ได้ ๒๐,๐๐๐ ยิ่งมากเท่าไหร่เขายิ่งชอบใจ แล้วก็ดีใจ ฉลองที่ ได้เปรียบ โอ้ได้กำไรมามาก พวกนี้ก็ฉลองบาปกัน! ถ้าโก่งราคาได้ เขายอม เขาก็ซื้อ ทั้งๆที่ทุนมัน ๑,๐๐๐ ขาย ๒๐,๐๐๐ คนเขา อยากได้ เขาก็จำนน หรือ เขาจำเป็น ก็ต้องซื้อ ๒๐,๐๐๐ เขาก็ต้องยอม อย่างนี้เป็นต้น เช่น เขาต้องการยา ยาที่จะเอามา รักษาโรค ยาจะเอามาฉีด ให้คนป่วยหนัก คนจะตายแล้ว มันก็ต้องยอม จะโก่งขนาดไหน ถ้าคนผู้ซื้อยอมจำนน ก็ยอม เสียเปรียบ ทุนซื้อยามานี่ ๑,๐๐๐ เอ้าขาย ๕๐,๐๐๐ จะเอาไม่เอาล่ะ เข็มนี้ ๕๐,๐๐๐ คนที่เรารัก จะตาย อยู่แล้ว คนเรา มันก็ต้อง ยอมใช่ไหม ทุนนิยมนี่ จะต้องรีดนาทาเร้น คนเขายอม จะเป็นจะตาย ยังไงก็ช่าง ข้าได้กำไร ข้ากดขี่ข่มเหง เอาทั้งนั้น โก่งราคา เยี่ยงนี้ทุกธุรกิจ นี่คือลัทธิทุนนิยม โหดร้ายมาก ทุกคนนั่ง อยู่ในที่นี้ เคยทำทั้งนั้นแหละ มากหรือน้อยเท่านั้นแหละ

นี่คือลัทธิของโลก ลัทธิบาป ยิ่งรวยเท่าใดหากเอาเกินทุนดังกล่าวก็ยิ่งบาปเท่านั้น พวกนี้ตกนรกหมกไหม้ กันทั้งนั้น คนรวยๆนี่ ส่วนมาก ไม่เหลือ ลงอบาย ไปใช้หนี้บาปกันในนรก หรือเป็นเดรัจฉาน อีกไม่รู้กี่ชาติ ต่อกี่ชาติ ตายไปก็เกิดเป็นวัวเป็นควายเยอะ ซึ่งเขาไม่รู้ สัจธรรมกันจริงๆ

แต่ถ้าทุน ๑,๐๐๐ ขายต่ำกว่า ๑,๐๐๐ นั่นแหละได้บุญ ขาย ๙๐๐ เออ..ได้บุญ ๑๐๐ เพราะเสียสละ ๑๐๐ การเสียสละ ได้บุญหรือได้บาปล่ะ? มันต้องได้บุญแน่ ทีนี้การเสียสละนี่แหละ คนเขาก็สงสัย ทุน ๑,๐๐๐ ขาย ๙๐๐ แล้วมันจะอยู่ได้ยังไง มันก็ตายพอดี ขาดทุนไปๆ วันหนึ่งมันก็หมดตัวกันเท่านั้น คนก็งง เอาล่ะ....ฟังดีๆ วิธีคิดทุนนี่เขาคิดค่าแรงงานด้วยใช่ไหม? ค่าแรงหรือค่าตัวของตัวเองนี่ คนมีอำนาจจะตั้งเองอย่างเอาเปรียบ ยิ่งมีโอกาส หรือมีฐานะ ได้เปรียบมาก ก็ยิ่งตีราคา เอาเปรียบ จนเกินสุดเกิน เพราะฉะนั้น เวลาขายขาดทุน ก็คือ ขาดทุนในส่วน"ของเรา" ค่าแรงงานหรือค่าตัวของเรานั่นแหละ ยิ่งคนบอกว่า มีความรู้มากๆ เก่งมากๆ สามารถ มากๆ เขายิ่งคิดค่าตัวเขาแพง ใช่ไหม บางทีคนไม่มีความสามารถอะไรหรอก แต่มีโอกาส มีอำนาจ ก็โก่งค่าตัว อย่างแพงได้ ในสังคมมีเยอะ ลัทธิ ทุนนิยมถือว่าการคิดค่าตัวแพงไม่ใช่ความผิด ถือว่า คนผู้นั้น ยิ่งได้แพง ยิ่งเชิดชูยกย่องกันด้วยซ้ำ

คนที่คิดค่าตัวแพงนั่นแหละยิ่งขาดทุน ยิ่งคิดค่าตัวแพงขึ้นๆ ยิ่งบาปมากขึ้นๆ ยิ่งแพงเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้บาป เท่านั้น ทุนนิยมนั้น หนักหนาสาหัสมากเรื่อง"หลง"(โมหะ)เอาเปรียบได้แล้วยิ่งดีใจ ถามจริงๆน่ะ จับเข่า ถามเลยว่า ไอ้..การเอาเปรียบเขานี่ มันดีหรือชั่ว? ใครๆก็ตอบได้ว่า มันชั่ว เออ.. แล้วทำไม เราถึงคิด เอาเปรียบเขาล่ะ กิเลสในตัวเราแท้ๆ มันบงการอยาก ได้เปรียบน่ะ เพราะฉะนั้น เขาได้เปรียบมากๆ ขึ้นเท่าไหร่ๆ เขาก็บาปมากเท่านั้นๆ แต่เขาก็ไม่รู้ตัว นี่คือความหลง ความเมา มันไม่รู้ อสัจธรรมในตัวเอง กิเลสมันครอบงำ แล้วเขาก็ทำบาป ทำบาปอย่างที่เรียกว่าไม่กลัวบาป ตั้งราคาค่าตัวให้ตัวเอง เงินเดือน แสนหนึ่งไม่พอ อย่าง ส.ว.ขอเพิ่ม อย่าง ปปช. ขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองจนโดนจับ รีบเอาเงินมาคืนเขา เพิ่มเงินเดือน ให้ตัวเองเดือนละ ๒๐,๐๐๐ กว่า เงินเดือนก็แพงอยู่แล้ว ตั้งหลายหมื่นอยู่แล้ว เพิ่มให้ตัวเอง อีกเป็น ๑๐๐,๐๐๐ ใครติดตาม ข่าวคราวของบ้านเมืองก็คงจะรู้ นี่ ส.ว. ส.ส. เขาก็ขึ้นกันอีกแล้ว คือ ตั้งให้แก่ตัวเอง สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เงินเดือนๆละ ๑๐๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ นี่เขาถือว่ามันไม่แพงเท่าไหร่หรอก เงินเดือนคนอื่นๆ อยู่ในสังคมประเทศเดี๋ยวนี้ ตั้งให้แก่ตัวเองคนละ ๕๐๐,๐๐๐ บ้าง ๗๐๐,๐๐๐ บ้าง คนละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ เดือนละกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ เดือนละ ๑,๕๐๐,๐๐๐ นั่นคือ เงินเดือน ของระดับ ผู้จัดการ ธนาคารต่างๆ ระดับอย่างผู้จัดการธนาคาร หรือผู้ที่อยู่ในระดับสูงทั้งนั้นๆ ไม่ใช่รายได้จริง มีแค่เงินเดือน นะ ยังมีเงิน ค่ารับรอง ค่าเบี้ยประชุม เงินโบนัส เงินดอกเบี้ย เงินปันผล เงินผลประโยชน์ที่แฝงอยู่ในรูปต่างๆ เงินอะไร ต่ออะไร ที่จะเลี่ยงภาษา เรียกไปอีกมากมาย นี่มันเอาเปรียบกันขนาดหนักอย่างนี้ ไม่เคยแคร์ "ความได้เปรียบมากเกิน" เหล่านี้กันเลย แม้จะเก่งนัก เก่งหนา ก็ได้เปรียบมากกว่ามากแล้ว ทำไมไม่รู้จักพอ ทำไมไม่เสียสละออกไปเสียบ้าง เสียสละมันดี มันเป็น บุญกุศล ที่ติดตัวติดตน ไปไม่รู้อีกกี่ชาติๆ ก็รู้ แต่หลงลืม แต่เมาไปจริงๆ ดังนั้น "วิธีคิดเอาเปรียบ จนคนยอมจำนน" น่ะ ถ้าเขามีทางได้ เขาก็บวกขึ้นเรื่อยๆ เอาเปรียบ ไปเรื่อยๆ เป็นปฏิภาคทวีทับทวี กอบกอง กอบโกยไปให้ตัวเองได้มากๆๆ ไม่เคยหยุด ไม่เคยพอ และยังจะหนักหนา หนักหน้าไปอีก นิรันดร์ นี้คือวิธี ทุนนิยมแท้ๆ

ส่วนวิธีบุญนิยมนั้น ลักษณะบุญนิยมที่สมบูรณ์ ๑๑ ประการ

๑. ทวนกระแส คือคนละทิศกับทุนนิยม ทุนนิยมคิดว่าได้กำไร เอาเปรียบเขาได้นี้เป็นของดี เป็นเรื่องไม่บาป ส่วนบุญนิยม คิดว่า นั่นเป็นของชั่ว เอาเปรียบเขาเป็นบาปแน่แท้ อย่างนี้เป็นต้น

๒. ต้องเข้าเขตโลกุตระ ดังนั้นชาวบุญนิยมจะต้องมีความรู้ว่า โลกุตระ คืออย่างไร
๓. ทำได้ยาก บุญนิยมนี่ทำได้ยาก ยกเว้นผู้มีบารมีจริงก็ทำได้ง่ายหน่อย แต่แม้ยากก็ต้องทำ
๔. เป็นไปได้ ไม่ใช่ฝันเฟื่อง ไม่ใช่ฝันโก้ๆ เท่านั้น บุญนิยมจะพาทำเนี่ย ทำได้จริงๆ

๕. เป็นสัจธรรม สัจธรรมหมายความว่า ของจริงของแท้สำหรับมนุษย์ในสังคม เป็นสัจธรรมชนิด มีสภาวะธรรมแท้ๆ ทั้งสมมุติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ

๖. "กำไร" ของชาวบุญนิยม หรือที่เรียกว่า"รายได้" หรือเรียกว่า "ผลประโยชน์" สำหรับตน ก็คือ "สิ่งที่ให้ออกไป คุณค่าที่ได้สละจริง เพื่อผู้อื่น เพื่อมวลมนุษยชาติและสัตว์โลกทั้งหลาย" จึงเรียกว่า "บุญ"

๗. สร้าง"คน"ให้ประสบผลสำเร็จเป็นหลัก "สร้างคน"ไม่ใช่ไปหลงมัว"สร้างทุน"

๘. ต้องศึกษาฝึกฝนกันจน"จิตเกิด-จิตเป็น" หรือ "กิเลสตาย-จิตเกิด" จิตนี่มันจะเกิดจริง จะเกิดยังไง เดี๋ยวค่อย อธิบาย ต้องศึกษา ฝึกฝนกัน จน"จิตเกิด-จิตเป็น" เรียกว่าบรรลุธรรม จิตที่มันเกิดมันเป็นนี่ เรียกว่า บรรลุธรรม ตามลำดับ จึงชื่อว่า "เป็นผลสำเร็จจริง"

๙. ความร่ำรวยอุดมสมบูรณ์ ไม่อยู่ที่ส่วนบุคคล แต่อยู่ที่ส่วนรวม หรือส่วนกลาง
๑๐. เชิญชวนให้มาดูได้ หรือพิสูจน์ได้ ดุจเดียวกับวิทยาศาสตร์
๑๑. จุดสัมบูรณ์คือ อิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ บูรณภาพ

[ผู้สนใจรายละเอียด ติดตามได้จากฝ่ายเผยแพร่]



ต้นแบบแหล่งเรียนรู้คุณธรรม
ที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน

๑๘ ส.ค. ๒๕๔๘ ที่สันติอโศก มีการประชุมโครงการสนับสนุนแหล่งเรียนรู้คุณธรรมต้นแบบที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน โดยมีกรรมการจาก หน่วยงานของรัฐ ที่ต้องการสนับสนุน"องค์กรต่างๆที่ทำงานด้านคุณธรรมจริยธรรมแล้วได้ผลกับ สังคม" เพื่อจะได้เพิ่มศักยภาพ แล้วก็เล็งเห็นว่าชาวอโศกมีคุณลักษณะที่อยู่ในเกณฑ์ อีกทั้งมีผลงาน มาอย่าง ต่อเนื่อง ขณะเดียว กับที่ทางสถาบันบุญนิยม ได้สัมมนากันมา ๖ ครั้ง เพื่อพัฒนาจาก"ศูนย์อบรม" เป็น "ศูนย์บุญนิยมสิกขา" ขึ้นมา โดยมี เกณฑ์วัดต่างๆ เพื่อเพิ่มการพัฒนาชาวอโศกเองด้วย จึงได้นัดหมาย กันมาประชุม ร่วมกันก่อนคร่าวๆ โดยนิมนต์พ่อท่าน ให้มาร่วมรับรู้และให้ข้อคิดด้วย

หลังจากได้ฟังเป้าประสงค์ของการประชุมครั้งนี้แล้ว พ่อท่านได้แสดงความเห็นเสริมว่า "เราทำมาตั้ง ยี่สิบ-สามสิบ ปีแล้ว ก็เพิ่งได้แค่นี้ มันไม่เก่งกว่านี้ไปเท่าไหร่หรอก แต่ถ้าเผื่อว่าคนในวงการ มีความคิดอยากจะช่วย หรือ เห็นด้วย เห็นดีว่า ถ้าจะพัฒนาคน หรือพัฒนาชุมชนให้เกิดในลักษณะอย่าง ที่เราทำนี่ ตามนิยาม ของเราน่ะนะ ชุมชนที่ดี เข้มแข็ง เราก็ชัดเจนว่า ควรเป็นอย่างนี้

แต่ในสังคมไทย เราก็เหมือนอีแร้งของสังคม เขาไม่ค่อยยอมรับ นอกจากไม่ชอบแล้วยังต้าน ยังถล่มทลายอีก เพราะหลาย อย่าง ในหลักเกณฑ์ของทฤษฎี หลักเกณฑ์ของความรอบรู้ ก็มีแนวคิดที่แตกต่างกัน ความหมาย ที่แตกต่างกัน มันก็เลยยาก ก็เลยไม่โตเร็ว แต่ถ้าเผื่อว่ามีความคิดอย่างนี้กัน ในการที่จะมา เสริมช่วย ร่วมไม้ร่วมมือ มันก็ดีขึ้น ก็จะเพิ่มพลัง สร้างขึ้นได้ ถ้าแน่ใจจริงๆแล้ว จะเอาก็เอา อาตมาไม่มีปัญหาหรอก แต่ว่าพวกเรา ก็มีหลักเกณฑ์มากเหมือนกันนะ

คืออาตมาสรุปได้ว่า การอบรมที่จะมีผลดีได้นั้น มีอยู่ ๓ ข้อหลักๆ
๑. ต้องมีหมู่บ้านชุมชนเข้มแข็งตัวอย่างที่เป็นแล้วจริงๆ มีสถานที่มีองค์ประกอบแวดล้อม มีทั้งคำว่าชุมชน หรือ ความมี รูปแบบ เต็มรูปอยู่แล้ว
๒. บุคคลที่จะเป็นวิทยากร หรือปฏิบัติกร แข็งขันเอาจริง ที่จะเป็นผู้อธิบายชี้นำ นำพาอะไรก็แล้วแต่
๓. หลักสูตรหรือวิชาการ เข้มข้นเพียงพอ ไม่ใช่เอาแต่อนุโลมกัน

การอบรมสร้างคน ถ้ามีสามหลักนี้อาตมาว่า นี่คือองค์ประกอบสำคัญ ข้อสำคัญ หลักสูตรต้องเข้มข้นพอเพียง ที่เราทำมานั้น มันค่อนข้างเข้มเท่านั้น จริงๆแล้วควรจะเข้มกว่านี้ คนข้างนอกไม่เข้าใจก็จะไม่เอา หาว่าเรา ทำแค่นี้ ก็สุดโต่งไป เข้มข้น สาหัสไป แหม..อาตมาว่า ขนาดที่ยอมหย่อน ยืดหยุ่นให้ขนาดนี้แล้ว มันยังได้ แค่นี้เลย แล้วจะให้ยืดหยุ่นลงไปกว่านี้อีกน่ะ โอ..อีกกี่ชาติ เราจึงจะเห็นว่าการอบรมนี้มีผล ควรจะต้อง อยู่ในหลักเกณฑ์ ที่เรากำหนด เพราะคนที่มาอบรมแล้ว และเขา ก็เข้าใจดี ซาบซึ้งด้วยดีก็มาก เพียงแต่ว่า อัตราการก้าวหน้า มันยังน้อยอยู่

ถาม : เพื่อการพัฒนาให้เป็น"ศูนย์บุญนิยมสิกขา"นี่ เราจะมีประเด็นอะไรครับที่ไปแย้งกับลักษณะของทุนนิยม

พ่อท่าน : ถ้าพูดถึงทุนมันก็ต้องใช้ในส่วนที่ต้องใช้ ก็อย่างที่เราทำนี่ มันก็ต้องมีค่าใช้จ่าย มันต้องใช้อยู่แล้วทุน มันไม่ขัดแย้ง ถ้าคนปฏิบัตินั้น ไม่มาขี้โลภ ไม่มาเห็นแก่ได้ อาตมาป้องกันคนของเรา ไปขี้โลภ ไปเห็นแก่ได้ มีทุนมาแล้วก็ขี้โลภเอา ตีราคา คิดแต่เรื่องที่จะได้เงิน คือมันเป็นปัญหาซ้อนอย่างนี้ ที่เราทำนี่เราไม่ได้ทำ เพื่อที่จะได้เงิน เงินเป็นผลพลอยได้เท่านั้น และ เมื่อได้เงินมา อาตมาก็สอนไม่ให้ไปหลงในเงินๆ ถ้าไปหลง ในเงิน แล้วมันมีภาวะซับซ้อน ในความถูกต้องนั้น ผู้อบรมนี่คือ ผู้ที่ต้องมีคุณธรรมแล้ว ก็คือผู้ที่ลดโลภ โกรธ หลงได้จริง หรือเป็นอาริยบุคคลนั่นเอง จึงจะเป็นจริงมีผลสูงจริง แต่ถ้าเผื่อ เมื่อใด ผู้อบรมไปหลง ในเงิน อบรมนั้น แล้วก็ตีราคาเงิน เช่นว่า พันบาทต่อหัวในอัตราที่พอดี เสร็จแล้ว ทางข้างนอก เขาอบรมกันนี่ พันบาท ต่อหัวไม่ได้ เขาจะต้องสองพันบาทต่อหัว เพราะฉะนั้นเขาก็เลยต้องใช้อัตราสองพัน เป็นอัตราที่ไป เบิกเงิน จากต้นทางมา แต่เราบอกว่ามันมากไป เอาหนึ่งพันพอ เขาบอกว่าหนึ่งพันไม่ได้ เพราะมันผิดจาก ที่เขา เคยจ่าย เคยให้กันมา ทั่วๆไปเขามีอัตราราคากันอย่างนี้ นี่คือปัญหา เขาก็บอกว่าสองพันต่อหัว ทางพวกเรานี่ ถ้ารับเงินมันก็จะมาก แล้วก็หลงเหลิง เริ่มวุ่นแล้ว เพราะฉะนั้นอาตมาถึงพยายามที่จะควบคุมไว้อยู่เรื่อยๆ โดยบอกพวกเราว่า อย่าเข้าใจว่า เงินที่ได้ ส่วนเกิน มาจากเงินอบรมนี่ คือเงินที่จะเอามาเลี้ยงชุมชน หรือ เงินที่จะเอามาเลี้ยงกิจการ หรือเอามาสร้างอะไร ในกิจการ ของเรา ในคณะของเรา อย่าตั้งจิตผิดเป็นอันขาด เกินนิดๆ หน่อยๆ ไม่เป็นไร เกินมากๆเดี๋ยวหลง แม้แต่ขาดทุน เราก็ยังทำ กันอยู่เลย เราอบรมคน สร้างคน กันมาแต่ไหนๆ เราหาเงินมาใช้ในการอบรมด้วยซ้ำ แต่ก่อนนี้กองทัพธรรม ตะลอนๆ จ่ายเงินเอง ทั้งนั้นแหละ ไปอบรม ทั่วทิศ เหมารถไปกัน จำได้ใช่มั้ย แต่ก่อนนี้เราไป โอ้โฮ เราก็จ่ายเงินมาตั้งแต่ไหนแต่ไร กว่ามันจะเป็น อันนี้ขึ้นมา ตอนนี้จะเอาเงินมาเสริมมาหนุนให้ก็ดี แต่ต้องระวัง อย่าเผลอ ถ้าเราขัดระบบข้างนอกไม่ได้ เราจำต้อง อนุโลม รับในอัตราสูงขึ้น ได้เงินมามากก็อย่าเผลอ"หลงเงิน"กันให้ได้จริงๆ

ถาม : พ่อท่านมีหลักเกณฑ์อะไรมั้ยครับที่จะระวังพวกเรา

พ่อท่าน : คืออย่างนี้ เมื่อมีสถาบันบุญนิยม ก็อย่างที่เราคิดกันแล้วหักให้กองบุญ บุญนิยม ให้สถาบัน หักให้ส่วนกลาง เพราะว่าทางข้างนอกโน้นเขาก็จะต้องตั้งอัตราสูง เราก็จำต้องเอาอัตราสูงนั้น ก็จะมี ส่วนเกินมาก เพราะถ้าเขาไม่ตั้ง อัตรา สูงนั้น เขาเองเขาก็ปฏิบัติงานไม่ได้ เขาต้องได้อัตรานี้ เขาจึงจะเป็น ไปได้ แต่ของเรามันประหยัดๆ ประโยชน์สูง-ประหยัดสุด จริงๆ ได้อัตราต่ำเราก็ทำได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเรา จะต้องยืนยัน ให้เขาต้องมาลดเอาอัตราต่ำอย่างเรา มันก็ดูเหมือนว่า เราจะไป ตัดราคาเขา นี่มองอย่าง พาณิชย์ ทุนนิยมนะ มันก็คล้ายๆกันแหละ ดังนั้นเราจึงต้องยอมอนุโลม เอ้า....เราจะรับก็รับได้ แต่รับแล้ว เราต้องมีวิธีการจัดสรรอย่างที่ว่ามาแล้ว คือ เราก็เอาส่วนเกินไปใช้จ่าย ในสิ่งที่เหมาะควร ที่จะเป็นประโยชน์ ต่อสังคม ซึ่งไม่ควรเป็นประโยชน์ตนละก็ดีสุด ที่จริงเราทำงานกันหลายด้าน ไม่มีรายได้หรอก ทำงานฟรี แต่ค่าใช้จ่าย ค่ารถ ค่ารา บางทีก็ค่าเครื่องบินอะไรอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่ถูกๆ ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายต่างๆ สิ่งเหล่านี้ ที่ต้องใช้ อย่างเหมาะสม ก็จัดสรร กันดีๆ อย่างนี้เป็นต้น เพราะในเรื่องของการเงินที่เราถามว่า มันจะเป็น ปัญหามั้ย ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันจัดสรร บริหารให้ดีๆ



โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบ
๑๙ ส.ค. ๒๕๔๘ ที่ปฐมอโศก มีการประชุมสัมมนาโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบ โดยธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์ การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกับเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย(คกร.) เพื่อหาข้อสรุป ร่วมกัน ในการจัดการอบรม เกษตรกร รวมไปถึงการพัฒนาชุมชนต่างๆของเกษตรกรนั้นๆ ให้พัฒนาไปสู่ การเป็นชุมชน เข้มแข็ง เช่นที่ชุมชนต่างๆ ของชาวอโศก เป็นแล้ว ขณะเดียวกับที่ชาวอโศกเอง ก็กำลัง เร่งพัฒนาชุมชน ภายในของตนเอ งขึ้นด้วย ดังที่ได้มีการสัมมนา ข่ายแหต่างๆ ของชาวอโศก มาถึง ๖ ครั้ง จากทั่วทุกภาค ของประเทศ จนเกิดกรอบกติกาในการพัฒนาชุมชน จากศูนย์อบรม ให้เป็น "ศูนย์บุญนิยมสิกขา"

คุณธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ ได้กล่าวนำก่อนนิมนต์พ่อท่านเปิดการสัมมนาครั้งนี้ว่า กราบนมัสการพ่อท่านครับ ขออนุญาต สมณะ สิกขมาตุครับ เจริญธรรมพี่น้องทุกท่านครับ สำหรับรายการวันนี้นะครับ เป็นการสัมมนา เกี่ยวกับการพัฒนา ชุมชน ต้นแบบ ซึ่งทาง ธ.ก.ส. ได้เป็นเจ้าของโครงการนะครับ ทาง ธ.ก.ส. ได้ขออนุมัติ จากผู้บริหารเรียบร้อยแล้ว แล้วก็ได้รับ อนุมัติมา ประมาณร้อยแห่ง แล้วก็มาเชื่อมกับชาวอโศก เพื่อให้ชาวอโศก นั้นร่วมทำงานนี้ด้วย ประมาณสัก ๓๐ แห่งนะครับ แล้วแต่ว่า ชุมชนไหน จะทำเท่าไหร่ แล้วเราจะคุยกันอีกที

สำหรับรายการวันนี้จะมีอย่างนี้นะครับ เริ่มต้นจะกราบนิมนต์พ่อท่านให้โอวาทเปิดประชุมแล้ว ก็แล้วแต่ท่าน จะเห็น เหมาะสม นะครับ ต่อจากนั้นเราก็จะประชุมกัน จะไปพักตอนซักประมาณ ๑๑ โมง นะครับ เพื่อ รับประทานอาหาร นะครับ หลังจากรับประทานอาหารแล้วก็จะมาต่ออีกซักระยะหนึ่งนะครับ อาจจะไปถึง บ่ายสอง ราวๆนี้นะครับ ถ้าจบก่อน เราก็จะมี กิจกรรม ของชาวอโศก ซึ่งเราได้สัมมนาข่ายแหทั่วประเทศมา ๖ ครั้งนะครับ ซึ่งก็จะมาสรุปกันในวันนี้ ก็คงจะเสร็จ ราวๆ ห้าโมงเย็นนะครับ ตอนประมาณบ่ายสองนะครับ ตอนที่เราประชุม เครือแหชาวอโศกเองครับ ในช่วงเวลานี้ ขอกราบนิมนต์ พ่อท่าน อีกครั้งหนึ่ง ให้โอวาท ปิดประชุมครับ

พ่อท่านได้ให้ข้อคิดดังนี้ "ตอนนี้ทางสังคมข้างนอกก็จะพยายามที่จะหาชุมชนต้นแบบ อาตมาเป็นแต่เพียงว่า ห่วงพวกเรานี่ จะเพลิดไปกับแรงข้างนอก ที่เขามาชื่นชม ยกยอปอปั้น

กิเลสขั้นอบาย ขั้นกาม ขั้นโลกธรรมไม่เท่าไหร่ ไอ้ขั้นลาภยศไม่เท่าไหร่ แต่ขั้นสรรเสริญ ขั้นสูง ขั้นเกียรติยศ อะไรสูงๆ มัน... มันกินลึกนะ อาตมาเป็นห่วงว่าพวกเราจะหลงไปไวนี่ ก็เลยพยายามกำชับกำชา พร้อมทั้ง กำราบบ้าง

ตอนนี้นี่ อาตมาพูดเหมือนกับโอ้อวด คือชุมชนชาวอโศกนี่ทุกชุมชนเป็นชุมชนอาริยะ อาตมากล่าวถึงขนาดนี้ ศรีอาริยะนี่ เป็นพวก อาริยบุคคล ไม่ใช่เป็นปุถุชน ชุมชนชาวอโศกนี่เป็นชุมชนที่เป็นพุทธ ที่ว่าเป็นพุทธ ก็เพราะ ชุมชนชาวอโศก หรือ หมู่บ้านชาวอโศก เป็นพุทธบริษัท ๔ มีนักบวชหญิง นักบวชชาย อุบาสก อุบาสิกา ที่ว่ามีอุบาสก-อุบาสิกา เพราะคำว่า อุบาสก- อุบาสิกา นั้นคือฆราวาสที่"มีศีล" ซึ่งอุบาสก-อุบสิกา นั้นไม่ใช่นักบวช แต่เป็นฆราวาสที่มีศีล ชุมชนชาวอโศก เรียกได้ว่า เป็นชุมชน "คนมีศีล" จริงๆมีศีลกัน ทั้งชุมชน ทีเดียว แม้เด็กๆเล็กๆก็ถือศีล เช็คศีลกัน จึงชื่อว่า"พุทธบริษัท ๔" เพราะถ้ากลุ่มคน หรือบริษัทใด ไม่มีศีล มันก็ยังไม่ใช่พุทธบริษัท ๔ หรอก เพราะฆราวาสยังไม่ใช่อุบาสก-อุบาสิกา จนมากพอ ถึงขั้นส่วนใหญ่ ในกลุ่มชุมชนนั้นจริงๆ ชุมชนชาวอโศกเป็นพุทธบริษัท ๔ จริงๆ มีศีล อย่างน้อยศีล ๕ แม้แต่ศีล ๘ และศีล ๑๐ ฆราวาส ในชุมชนชาวอโศก ก็มีจริง คือในชุมชนเรานี่ไม่ฆ่าสัตว์ทั้งหมู่บ้าน ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งถึง ผู้ใหญ่ สังวรระวัง ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดผัวเขาเมียใคร ไม่พูดปด ไม่มีน้ำเมา แม้แต่บุหรี่ก็ไม่สูบกันทั้งหมู่บ้าน ...ไม่มีจริงๆ อย่างนี้ เป็นต้น มีศีล มีพฤติกรรม ที่ยืนยันได้ว่าเป็นอาริยะ ไม่มีอบายมุข ไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นสาธารณโภคี ในระดับสาธารณโภคี กินอยู่รวมกัน เงินทอง ใช้ร่วมกันเป็นกองเดียวกัน เป็นของส่วนกลาง ซึ่งเป็น ระบบบุญนิยม เป็นสังคมแปลกใหม่ในโลก

เพราะงั้นชาวอโศกจึงเป็นชุมชนที่มีพฤติกรรมจริงทั้งกายและจิต ไม่ได้บังคับกดข่มไว้เท่านั้น ใจเป็นปกติ ศีลนี่ แปลว่า ปกติ

คนที่หลุดพ้นแล้วก็เป็นปกติ จิตสงบ-วางเฉยจริง แม้มีแสงสีสวยงาม ลาภยศสรรเสริญ อยู่ในโลก ก็ไม่ติด ไม่หลง โดยเฉพาะ อบายมุข ไม่ได้มีสุขมีทุกข์ด้วย อทุกขมสุขจริงๆ บางคนถึงศีล ๑๐ ไม่ยินดีในเงินในทอง เห็นเงินทอง เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ เท่านั้น ผ่านมือมาก็ใช้แค่เหมือนใช้ถ้วยใช้ชาม

อาตมาทำงานศาสนามาแค่ ๒๐-๓๐ ปี เกิดชุมชนอย่างนี้ ชาวอโศกทั้งหลายนั้นแกล้งทำหรือเปล่า แกล้งไม่มี อบายมุข แกล้งเป็นคนมีศีล แกล้งทิ้งสมบัติ แกล้งไม่ใช้เงินไม่สะสมเงิน แกล้งอยู่ได้โดยไม่อาศัยวัตถุกาม เป็นต้น เขาทำมากันคนละ ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง อาตมาว่าเขาไม่แกล้งนะ ถ้าแกล้ง ก็ขอให้แกล้งไปจนตาย ให้ได้ ก็แล้วกัน ที่จริงมันเป็นความตั้งใจจริง มันมีความปกติ คนไหนขัดเกลากิเลสของเขาได้ เขาก็เป็นปกติ เป็นศีล ศีลเป็นศีลสัมปทา เป็นศีล ที่เข้าถึงศีล ศีลขัดเกลา กิเลส ออกไปได้แล้ว มันยังเหลือเล็กๆน้อยๆ ตามฐานะ ของบุคคล ที่ค่อยๆจางคลาย ค่อยๆน้อยลงๆ ก็ตามจริง กิเลสน้อยลง ได้แล้ว ก็อยู่กันอย่างเป็นสุข ไม่ต้อง ไปมีมาก ไม่ต้องไปแย่งชิง แย่งลาภ แย่งยศ แย่งสรรเสริญ แย่งกาม แย่งอัตตากับคน ในโลกอีก ไม่ต้องแล้ว นี่อาตมาว่า เป็นสังคมที่พิสูจน์ยืนยันได้

ภายในหมื่นปีมานี้นี่ ในประวัติศาสตร์ ยังไม่มีหรอกสังคมแบบนี้ เป็นสังคมที่มีระบบ มีระเบียบ มีกฎ มีหลักเกณฑ์ วิถีการ ดำเนินชีวิต มีวัฒนธรรม จารีตประเพณีแบบนี้ แบบที่เราเป็นนี่ มันเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ (Alien species) เป็นนวัตกรรม (innovation) ทางเศรษฐศาสตร์-ทางรัฐศาสตร์-ทางสังคมศาสตร์ และ ศาสตร์อื่นๆ อีกทั้งนั้นๆที่เป็นแบบบุญนิยม ซึ่งประกอบด้วย อิสรเสรีภาพ (Independent) -ภราดรภาพ (Fraternity) -สันติภาพ (Peace) -สมรรถภาพ (Efficiency) -บูรณภาพ (Integrity) สุดพิเศษ

เพราะงั้น เมื่อมีผู้เข้าใจ มีผู้เห็นว่า เอ้อ....อันนี้น่าจะสนับสนุน น่าจะส่งเสริม น่าจะช่วยกันสร้าง ให้สังคม แบบนี้ มีขึ้นมากๆ ในโลก ก็น่าจะมาช่วยกันทำ เอาแค่ในประเทศไทยนี่เท่านั้นก็ได้ ไม่ต้องไปอ้าขา ผวาปีก ไกลไปถึงโลกหรอก อาตมาไม่อาจ จะพูด ไปกว้างใหญ่ได้ถึงขนาดนั้น แต่รู้เข้าใจว่าในโลกคืออะไร มนุษย์ ในโลก มีความนึกคิดอย่างไร ยังติดยึดอยู่อย่างไร รู้ เห็น เข้าใจ และตั้งใจ ช่วยโลกอยู่

อโศกเราก็ยังไม่มากเลย ถึงวันนี้มีกลุ่มชุมชนลักษณะนี้อยู่กระจายสืบสานเป็นเครือแห ยี่สิบ สามสิบกลุ่ม พอเป็นตัวอย่าง ที่จะต่อยอด จะขยายผลไปในสังคม นอกนั้นก็กำลังเกาะกลุ่มกันบ้าง สร้างกลุ่ม ให้เป็น ชุมชนบ้าง อีกร่วมร้อย ที่กระจายอยู่ ทั่วทุกภาคในประเทศ นอกประเทศก็มีสัก ๒-๓ ชมรมมั้ง

ถ้าเมืองไทยมีสังคมอย่างชุมชนอโศกนี่ซักหมื่นชุมชน มันจะเป็นอย่างไงนะประเทศไทย อาตมาก็ไม่รู้นะ ไม่รู้จริงๆ ว่าใน ประเทศไทยนี่ ตั้งแต่ผู้บริหารบ้านเมือง ผู้รู้ศาสตราจารย์นักปราชญ์ราชบัณฑิต รวมไปถึง แม้แต่พระภิกษุ ท่านจะเข้าใจไหมว่า นี่แหละคือทางที่พระพุทธเจ้าท่านพาทำแล้วให้คนเป็นคนแบบนี้ๆ แหละ ที่ชื่อว่า อาริยบุคคล เจริญ สังคมเจริญ ชุมชนอาริยะ ประเทศอาริยะ เจริญแบบอาริยะ ซึ่งมีอิสร เสรีภาพ-ภราดรภาพ-สันติภาพ -สมรรถภาพ -บูรณภาพ อย่างนี้ๆเอง จึงเป็นโลก แบบใหม่ที่เรียกว่า โลกุตระ มีนัยสำคัญ ผิดแปลกไปจากเจริญแบบโลกียะ

ขณะนี้สังคมก็ยังท้วงเราหรือต้านเราอยู่ อาตมานับพฤติภาพนี้เป็นตัวต้านทานให้เกิดพลังทด เป็น resistant เป็นตัวไม่ให้ เราเตลิด จนหลงแล้วอ่อนพลัง แต่นี่เป็นตัวต้านไว้ เป็นตัว resister มันจึงจะทำให้เกิด พลังเสริม ยิ่งขึ้น สิ่งที่จะเจริญต้องมี resistant อย่างแท้จริง แม้แต่ศาสดาของศาสนาเกือบทุกศาสนา ล้วนมี resistant มีพฤติภาพของการต่อต้านทั้งนั้น แล้วเรา ก็ต้องรู้วิธีว่าเราจะอยู่กับ resister อย่างไร ให้เกิดผล ดีที่สุด ถ้าเราไม่รู้จักทำ ไม่มีวิธี รับลูกไม่เป็น จัดการไม่ดี เราก็กลายเป็น resistless (เหลือที่จะต้านทาน) เราก็พัง ไม่อาจจะต้านทานได้"


 

ทำวัตรเช้าก่อนชาวปฐมอโศกทำนา
๓๐ ส.ค. ๒๕๔๘ ที่ปฐมอโศก ชาวปฐมอโศกนิมนต์พ่อท่านเทศน์ช่วงทำวัตรเช้า ก่อนที่ทั้งชุมชน จะออกไป ทำนา เหมือนกับ เป็นการเอาฤกษ์ หรือให้กำลังใจกับผู้จะไปทำสิ่งที่สำคัญของสังคม เนื่องจากปฐมอโศก ว่างเว้นจากการทำนามาเนิ่นนาน ด้วยพื้นที่ ไม่อำนวย ไม่มีพื้นที่ให้ทำได้เหมือน พุทธสถานอื่นๆ เป็นจังหวะ พอดี พ่อท่านมาประชุมชุมชน จึงได้นิมนต์พ่อท่าน ให้เทศน์ เพื่อให้เด็กๆ เห็นว่ากิจกรรมนี้ ก็เป็น ความสำคัญด้วย

ช่วงต้นของการแสดงธรรมพ่อท่านได้อธิบายในเนื้อหาธรรม เกี่ยวกับหลักปฏิบัติจรณะ ๑๕ ซึ่งในที่นี้ ข้าพเจ้า ขอข้ามผ่าน ผู้สนใจติดตามรายละเอียดทั้งหมดได้จากฝ่ายเผยแพร่ ขอนำบางส่วน ของการแสดงธรรม ที่เกี่ยวกับ การทำนา ดังนี้

"สังคมทุกวันนี้มันเดือดร้อนสุดๆเลย เพราะพึ่งตนเองไม่รอด จึงหาวิธีเอาเปรียบผู้อื่นกันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช "สูตรสำเร็จ แห่งการเอาเปรียบ" ที่แยบยลก็จึงเกิดขึ้นเต็มสังคมทุกวันนี้ จนกลายเป็นกลลวง ที่คนเกือบทั้งโลก หลงกันว่า "ยุติธรรม" และ ยกย่องสรรเสริญ นิยมชมชื่นสูตรสำเร็จแห่งกลลวงต่างๆทั้งหลายกัน เช่น สูตรแห่ง ทุนนิยม สูตรแห่งบริโภคนิยม สูตรแห่ง อำนาจนิยม สูตรแห่งหรูหรานิยม สูตรแห่งวิตถารนิยม เป็นต้น

เพราะพึ่งตนเองไม่รอด เพราะไม่เชื่อพระพุทธเจ้า หรือเชื่อแต่ไม่รู้แจ้งรู้จริงในสัจธรรม จนกระทั่ง พึ่งตนเอง ได้แท้ๆ อย่างบริสุทธิ์ ปราศจากบาป(อัตตา หิ อัตตโน นาโถ) จึงต้องเรียนรู้เรื่องบุญ เรื่องบาป อย่างถึงแก่นแท้ เนื้อจริง ต้องรู้ ความสำคัญ ในความสำคัญ รู้สาระที่เป็นสาระ พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อาหารเป็นหนึ่งในโลก" ปัจจัยแห่งชีวิต ที่สำคัญที่หนึ่ง คือข้าว เพราะฉะนั้น เราปลูกข้าวจึงเป็นหนึ่งในโลกที่เป็นที่พึ่งของคนแท้ ดังนี้เป็นต้น พระพุทธเจ้า ตรัสสอนคน อย่างพิสดาร ลึกซึ้ง โดยให้เรียนรู้ "เหตุแห่งความโง่ หรือความหลงผิด" แล้วฆ่า "เหตุ" ด้วย "ไตรสิกขา" จนหมดไปจากตน "ตนก็จะพึ่งตนเอง ได้สำเร็จสัมบูรณ์" และ รายละเอียดอื่นๆ พระพุทธเจ้า ก็ทรงสอนไว้ ครบหมด แล้วต้องปฏิบัติเอง ปฏิบัติให้ถูก ปัจจัยแห่งชีวิต ลำดับ ที่หนึ่ง คืออาหาร ไทยเราต้องกินอาหารที่มาจากข้าวเป็นหลัก

ดังนั้น เราจึงพึ่งตนด้วยการทำนาปลูกข้าวมาเลี้ยงตนให้ได้ให้พอเพียง เป็นอันดับแรกสำคัญที่สุด ใครทำนา เก่งนี่ ให้คะแนนดีๆ หน่อยนะ ทำงานดำนาเก่งได้ข้าวมาเม็ดงามเลย เราอยากได้ชาวนาที่เป็นคนรักนาจริง แล้วก็นำพา กันไปตลอด ชาวอโศก จะมีผู้ที่สำคัญในเรื่องไร่นา ทำนาเก่ง ทำพืชพันธุ์ธัญญาหารเก่ง ตลอดต่อเนื่องไป เป็นตระกูลเลย อโศกคือ ตระกูลชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ โอ้โห..เท่เป็นบ้าเลย ใครจะไปพูดไ ปบอกโลกทั้งโลก ว่าเราเป็นชาวไร่ชาวนา ใครจะย่ำยีดูถูก ดูแคลนว่า เราไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เป็น ดารานักร้อง ไม่ได้เป็นอะไรที่สังคมสมัยนี้เขาหลงนิยมยกย่องเชิดชูกันก็ตาม เราไม่ต้องยี่หระเลย ถ้าใคร เขามาพูดว่า อโศกนี่เป็นลูกชาวนาโดยแท้ เป็นพันธุ์แท้ของแท้เลย เยี่ยมยอดเลย อาตมาจะ ภาคภูมิใจ เป็นอันมากเลย นานไปอีก ๒๐๐ ปี ๕๐๐ ปี อโศกยังได้ชื่อว่าเป็นชาวนาชาวไร่เบอร์หนึ่ง พันธุ์แท้ อาตมา จะภาคภูมิใจมาก เราจะต้องรักษาฐานนี้ ต่อไปเราจะปลูกพืชอะไรก็ได้ก็รู้ก็เก่ง เช่นตอนนี้จะปลูกสบู่ดำ เราก็ปลูก สบู่ดำ ได้ทันที เพราะเราเก่งอย่างนี้เป็นต้น เอามาแทนน้ำมัน เพราะน้ำมันไม่มีแล้ว ปลูกสบู่ดำไปอีก ๕,๐๐๐ ไร่ หมื่นไร่ แสนไร่ แล้วเอาสบู่ดำ มาเวียนบีบน้ำมันออกมา ให้สังคมได้ใช้กัน น้ำมันอาจจะลิตรละ ๕๐๐ บาทในอนาคตแน่ เดี๋ยวนี้ลิตรละแค่ ๒๐ บาทก็เถอะ

วันนี้เราจะไปทำนากัน ในนครปฐมนี่เราเริ่มต้นมาอยู่นี่ เป็นชุมชน แรกๆเราก็เริ่มหัดทำนากัน พยายาม จะทำนากัน ไปยืมนา เขาทำ เขาก็ให้ทำ จนซื้อที่นาเองทำในที่เรา ที่นาข้างหน้าซอยมี ๙ ไร่ก็ทำ แต่ไม่เคย ประสบผลสำเร็จเลย ที่ปฐมฯนี่ หลายปี ดีดักมาแล้ว ปฐมอโศกปีนี้ทำนาข้าวได้ ๕๐ ตัน ไม่เคยเจอ ปีนี้ได้ ๕ ตัน ก็ยังไม่เคยเจอเลย ลองดูซิว่าปีนี้จะได้กี่ตัน ตันหนึ่ง พันกิโล ปีนี้จะทำกี่ไร่เท่าไหร่ล่ะ ๓๐ กว่าไร่เหรอ มีที่กี่ไร่ ทั้งหมดหนะ เห็นปลูกพืชผักไปตั้งเยอะ ที่ทั้งหมด ๔๐ ไร่ ทำนา ๓๐ เลยเหรอ แปลงหนึ่ง ๒๐ ไร่ อีกแปลงหนึ่ง ๔๐ ไร่ เอ้าลองดู อาตมาจะคอยดูผล ปีนี้เสร็จแล้ว จะประเมินว่าได้กี่ไร่ ไปเกี่ยวข้าวได้ ปรากฏว่าน ับถังได้ ๒๐,๐๐๐ ถัง แต่ถังนั้นคือถังรั่ว (หัวเราะ) เอ้าลองดู

เมืองนครปฐมนี่เป็นเมืองแห่งการเลี้ยงสัตว์ ทำพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่ค่อยจะได้เด่นเท่าไหร่ มีเหมือนกัน สวนผักก็พอมี แต่เขาก็ใส่สารเคมีกัน ทำนาทำอะไรไม่ค่อยจะเด่นนัก เราทำพอเลี้ยงตัวไม่ถึงกับเด่น การที่เรา พัฒนาชีวิตเราพัฒนาพึ่งตนเอง เลี้ยงตัวเองให้รอด พอเราสร้างสรรอะไรขึ้นมาไว้ใช้ไว้กินได้แล้ว มีเหลือมีเกิน เราค่อยเผื่อแผ่เอาไปขายให้คนอื่น จะขาย หรือจะแจก ก็แล้วแต่ ฐานะเราดี ฐานะเรายังไม่ดีเราจึงขายก่อน แลกเปลี่ยนมาอะไร คืนมาบ้าง เพราะเราต้องใช้จ่ายค่าอื่น ที่เราทำไม่ได้ ค่าไฟก็แพง ค่าไฟที่ปฐมอโศก เดือนละ เท่าไหร่ เดี๋ยวนี้เท่าไหร่ แสนกว่าบาท ค่าน้ำมันรถเท่าไหร่เดือนหนึ่ง แสนกว่า เหมือนกันเหรอ ราชธานีอโศก เดือนก่อนนี้ ค่าน้ำมันรถ สามแสนกว่าบาท เพราะว่าเครื่องกลหนักอะไร อยู่ที่นั่นเยอะ ค่าไฟ ยังไม่ถึง แสน เอ๊ะ....แต่ก็เกือบถึงแล้วนะ เดือนละแสนถึงแล้วเหมือนกัน อาตมาจำได้ไม่แม่น พวกนี้เราต้อง พึ่งเขา เราทำเองไม่ได้ น้ำมันเราทำเองไม่ได้ ต่อไปเราจะปลูกสบู่ดำ ทำน้ำมัน หรือไม่ก็จะพยายามทำน้ำมัน ไบโอดีเซลกัน ที่สันติอโศก นี่ เขากำลังทำไบโอดีเซลกัน พัฒนาใช้ไบโอดีเซล ใครจะบริจาคน้ำมันพืช น้ำมันหมู น้ำมันอะไรก็แล้วแต่ น้ำมัน ที่เขาทอดๆ อะไรนี่ เอามาทำไบโอดีเซลได้ อย่างน้อยที่สุด เรามี มรฐ. มีร้าน มรป. เรามีร้านมังสวิรัติถึง ๒ ร้าน เราใช้น้ำมัน ใช้ทอดอะไร ต่ออะไรแล้ว นั่นแหละ เราก็เอามา รวมกันทำไบโอดีเซล เป็นน้ำมัน เติมรถ

เหตุการณ์โลกตอนนี้มันบังคับ เขาบอกว่ามันจะขึ้นไปเรื่อยๆ เขาบอกว่ามันขึ้นไปถึงบาร์เรลละ ๑๐๐ ดอลลาร์ ตอนนี้ บาร์เรล ละ ๖๐-๗๐ มันจะถึงร้อยจริงๆแหละ ถ้าบาร์เรลละ ๑๐๐ เมื่อไหร่ น้ำมันจะต้องขึ้นลิตรละ ๕๐ บาท ตอนนี้ มันลิตรละ ๒๐ กว่า บาร์เรลละ ๖๐ กว่า ถ้าบาร์เรลละร้อยเมื่อไหร่ล่ะก็ ถึงลิตรละ ๕๐ บาท แน่นอน เพราะฉะนั้น เราจะหาทางประหยัด หาทาง ที่จะลดละ ปลูกสบู่ดำ ทำน้ำมันใช้ได้เลย ทั่วโลก เขารู้กันหมดแล้ว แต่เขาปลูกไม่ได้ดี เท่าเมืองไทย ตอนนี้ ทางบ้านราชฯ ก็กำลังคิดจะทำ เขาจะมาบริจาค ที่ดิน และเราจะซื้อที่ มีที่อยู่แปลงหนึ่ง ๒๐๐ ไร่ เขาจะขายล้านกว่า อาตมา ก็กำลังกัดฟัน จะให้พวกเรา ซื้อที่นี้กัน ๒๐๐ ไร่นี่ปลูกสบู่ดำ เราต้องเตรียมตัวแล้ว เราไม่เตรียมตัว เราไม่ไหวหรอก ก็กำลัง กะๆ อยู่ มีคนมาบริจาค อยู่ที่หนึ่ง ๓๐ ไร่ก็รับไว้ แต่ตรงนั้นเราจะทำสวน อีกที่หนึ่งเขาก็จะขายมี ๑๐ กว่าไร่ แต่หิน เต็มเลย เขาจะขาย แสนกว่าบาทเอง นี่ญาติโยมก็ช่วยกันซื้อ ที่แปลงนี้มีหินลูกรังเต็มเลย ดีแล้วล่ะ ขนหินออกมา ใช้ในบ้านราชฯ ที่ตรงนั้น ก็ปลูกสบู่ดำ ปลูกทิ้งไว้อย่างนั้นแหละ

เรามีชีวิตที่รู้จักสังคม เราต้องเรียนรู้"ที่พึ่ง"อย่างสำคัญ ธนบัตรเราก็พึ่งไปอย่างนั้นแหละ มันเป็นอุปกรณ์ ใช้สอย ใครหลง ธนบัตร ก็เป็นทาสธนบัตร ต้องเป็นคนที่พ้นความเป็นทาสที่แท้จริง ต้องรู้จัก"ที่พึ่ง "อย่างถูก สัจธรรม สบู่ดำเราก็พึ่ง ต้องเอา มาทำน้ำมัน ผักก็เอามารับประทานสังเคราะห์ให้ร่างกายชีวิต ข้าวก็ต้องทำ อะไรมีความจำเป็นที่ต้องทำสำคัญเอก สำคัญรอง เรามีปัญญารู้ แล้วเราก็สร้างสิ่งที่สำคัญ ข้าวเราต้องกิน ทุกวัน สำคัญที่หนึ่ง อันอื่นนานที ไม่กินทุกวันก็ได้ ผักพืช เราก็ผลัด เวียนกัน อย่างนั้น อย่างนี้ มีกินมีอะไร เลี้ยงชีวิตไป ส่วนเสื้อผ้าหน้าแพรมันไม่เดือดร้อน มันใช้ไม่เปลืองอะไร ห้าชุดนี่ใช้ไปสามปี ได้ ไม่ขาด ไม่เปื่อย ปัจจัย ๔ มีอาหาร บ้าน มีที่พัก สร้างไปแล้วก็อยู่ได้หลายสิบปี และบ้านก็ไม่ต้องเป็น ทาสบ้านด้วย ยารักษาโรค เราก็มีโรงงานทำยาจากพืชพันธ์ธัญญาหาร มียาสมุนไพรไว้ใช้รักษา เราก็ทำ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น พวกเรานี้ ปิดประเทศเมื่อไหร่ ปิดเมืองเมื่อไหร่ ต่างคนต่างอยู่ อโศกตายมั้ย ถ้าไม่ ปลูกข้าว ถ้าไม่ปลูกผักพืช เราตาย เห็นมั้ย สำคัญมั้ย แต่ถ้าปลูกผัก ปลูกพืชอย่างพึ่งตนเองได้ อย่างสำคัญ พอเพียงจริง ปิดเลย รับรองอโศก ส.บ.ม. ธ.ม.ด. ป.ก.ต. ห.ห. จ.จ. ส.บ.ม.สบายมาก ธ.ม.ด. ธรรมดา ป.ก.ต.ปกติ ห.ห.หายห่วง แล้ว จ.จ. อ้อ..จนจนเหรอ ไม่ใช่ จ.จ.นั้นหมายถึง จริงจริง อาตมา ไม่ได้พูดเล่น ก็คงเข้าใจเป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้นเราก็ทำเรื่องจริง สาระสัจจะ เอาใจใส่ทำให้ดี นานี้อาตมา ก็ตั้งชื่อ ให้แล้ว ชื่อว่า "ทุ่งนาแรงรัก" แหม"หวานซะไม่มี" นี่เกิดจากแรงแห่งความรักของพวกเรา ร่วมมือร่วมใจ นานี้เกิดจาก แรงแห่ง ความรัก ความรักของพวกเราตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ ไปรวมกันสร้างร่วมกัน ด้วยแรงแห่งรัก เยี่ยมยอด เพราะฉะนั้น ทำให้ดีนะ เอาล่ะ...ขอให้ทุกคนประสบผลสำเร็จ ในสิ่งที่พวกเราทำอยู่ทั้งหมด ทั้งมวล เอวัง"



Fundamentalism กับสันติอโศก
๓๐ ส.ค. ๒๕๔๘ ที่สันติอโศก คณะนิสิตปริญญาโท มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีพระ ๓ รูป ภิกษุณี ๑ รูป และฆราวาส ๗ คน ได้มาศึกษาหาข้อมูลในการเปรียบเทียบลัทธิ Fundamentalism กับสันติอโศก ว่าจะมี ความเหมือน หรือต่างกันอย่างไร เพื่อนำเสนอรายงานส่งอาจารย์ โดยได้เดินชมกิจกรรมต่างๆ ก่อนจะสนทนา กับพ่อท่าน จากเนื้อหาบางส่วน ของการสนทนา ดังนี้

นิสิต : กราบนมัสการนะครับ ผมเป็นกลุ่มนิสิตคฤหัสถ์ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนะครับ เป็นนิสิต เรียนสาขา พระพุทธศาสนานะครับ ระดับปริญญาโท แล้วก็วันนี้มีพระภิกษุมาด้วยเป็นพระนิสิตนะครับ ๓ รูป แล้วก็ภิกษุณีอีก ๑ รูป ที่มาวันนี้ ก็เพื่อที่จะมาถามความเป็นจริง ตามสภาพความเป็นจริงนะครับ

พ่อท่าน : ถามความเป็นจริงตอบได้ ถ้าถามความรู้นี่อาตมายังงงๆอยู่เลยนะนี่ ท่านปริญญาโท แล้วจะมา ถามอาตมานี่ไ ม่มีสักปริญญานี่ มันจะตอบกันอย่างไงไหว แต่ถ้าถามความจริงไม่มีปัญหา

นิสิต : ครับ ก็มีวิชาหนึ่งที่พวกเราเรียนก็คือวิชาศาสนาเปรียบเทียบนะครับ ซึ่งอาจารย์ก็ให้พวกเรานี่ จับกลุ่ม ทำรายงานกัน บางคนก็ได้กลุ่มศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม แต่กลุ่มของผมนี่ได้ทำเป็นศาสนาลัทธิ Fundamentalism ครับ ซึ่งฟังดูแล้ว ไม่คุ้นหู พอไปศึกษาคร่าวๆแล้วนี่ ก็ได้คำจำกัดความคร่าวๆ ว่าเป็น ความคิด ที่ปฏิวัติความทันสมัยของโลกนะฮะ ความทันสมัย ทุกๆอย่างนี่ ซึ่งก็ทำตัวให้.. ให้..ย้อน.. ย้อน.. เข้าในสภาพเดิมอย่าง..อย่าง..ของกลุ่มทางด้านอิสลามนี่ ค่อนข้างจะรุนแรง รุนแรง จนกระทั่ง ย้อนเข้า มาถึง อ่า....ปฏิวัติถึงระดับของการเมืองด้วย ซึ่งอาจารย์ที่สอนนี่ ท่านก็เลยให้เรามาศึกษาซิว่า ในพุทธศาสนา เรานี่ มีลักษณะที่ว่า อ่า....เขาเรียกว่าต่อต้านกับลัทธิที่บริโภคนิยม หรือต่อต้านกับ ความทันสมัยนี่ แล้วก็ ย้อนตัวเอง เข้ามาสู่พุทธแบบดั้งเดิมมีไหม ท่านอาจารย์ให้การบ้าน มาตรงนี้นะครับ ผมก็เล็งดูแล้วว่า เอ้.... น่าจะมี ก็คิดเอาเองนะครับ อาจจะผิดก็ได้ ก็คือ น่าจะเป็นสำนัก สันติอโศกนี่แหละ ก็เลยเข้ามา ศึกษา ดูความจริงซิว่า เป็นอย่างไง .....ครับ

พ่อท่าน : แล้วเข้ามาแล้วนี่ ถามไถ่กันแล้วบ้างนี่นะ ไม่ใช่เหรอ แล้วเป็นไง ทางโน้นตอบกันว่าอย่างไงกันล่ะ

นิสิต : เข้ามาแล้วก็รู้สึกว่า รู้สึกว่าตัวเองกลับเข้าสู่ อ่า...พุทธแท้ พุทธดั้งเดิมจริงๆครับ เหมือนกับ บรรยากาศ....

พ่อท่าน : โอ๋...อย่างนั้นเชียว โอ้โฮ...ฟังแล้วอาการน่าเกิดขนลุก

นิสิต : นี่ๆ พูดตามความรู้สึก ก็คือตอนนี้คืออยากจะให้ท่านๆ หลวงพ่อนี่ เล่า...คือตามสคริปนี่บอกว่า ครับ เรียนถาม เป็นข้อๆ ตามที่ทราบมานะครับ ข้อที่ ๑. นะครับ ถามว่า แรงจูงใจที่ท่านตั้งชุมชนสันติอโศกนี่ มีแรงจูงใจมาจากไหนครับ

ข้าพเจ้าขอสรุปคำตอบของพ่อท่านในช่วงนี้ เนื่องจากประวัติความเป็นมาชาวอโศกได้ฟังกันมามาก เริ่มจาก ไม่ได้มีแรงจูงใจ อะไร ที่เกิดได้ก็มาจากการปฏิบัติธรรม ตั้งแต่เป็นฆราวาส แล้วก็ได้บรรยายธรรมะ เขียนหนังสือ ออกเผยแพร่ จนออกบวช มีคนสนใจติดตาม สละละวางงานทางโลก จนเกิดหมู่กลุ่ม มีชุมชน มีสาธารณโภคี กินใช้ร่วมกัน มีของส่วนกลาง อยู่กัน อย่างพี่น้องครอบครัวใหญ่ มีหมู่บ้านที่ไม่มีอบายมุขเลย มีศีล ๕ เป็นอย่างต่ำตั้งแต่เด็กๆเล็กๆ เกิดเป็นพุทธบริษัท ๔ จริงๆ

หลังจากคำตอบนี้ก็ได้รับการตอบรับจากหัวหน้าคณะนิสิตที่มา ว่า อยากจะให้ประเทศไทยทั้งประเทศเป็นอย่างนี้

นิสิต : ท่านมีความคิดเห็นอย่างไง ระหว่างในพุทธศาสนาประเทศไทยนี่ มีสองนิกายนะครับ มีมหานิกาย กับ ธรรมยุต ทำไม เราต้องแบ่งกัน

พ่อท่าน : อ๋อ...มันเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติ คุณห้ามไม่ได้หรอก มันเป็นธรรมดา ธรรมชาติ เมื่อไหร่ๆ มันก็เป็นธรรมชาติ จะต้องเป็นเช่นนั้น แต่วิธีที่จะอยู่กันอย่างแยกกัน มันมีอะไรต่างกัน เกิด"นานา" เกิดการ แตกต่างกัน แล้วพระพุทธเจ้า ท่านถึงตั้ง "นานาสังวาส" เอาไว้เป็นหลักเกณฑ์ให้ใช้ ที่จริงเหตุที่ พระพุทธเจ้า ตั้ง "นานาสังวาส" ไม่ใช่เหตุใหญ่เลย สมณะ-ภิกษุ -พระทั้งหลาย ก็คงจะเรียนมาแล้ว ต้นตอ ที่ก่อให้เกิด "นานาสังวาส" ที่โกสัมพีสูตรนี่แค่คว่ำน้ำ ไม่คว่ำน้ำ เท่านั้นเอง ไม่ใช่เหตุใหญ่หรอก แต่พระพุทธเจ้าถือเป็นเหตุ เพื่อจะได้ตั้งหลัก"นานาสังวาส" เพราะจริงๆนั้น "นานาสังวาส" เป็นหลักเกณฑ์ สำคัญที่ยิ่งใหญ่ มันต่างกับ ต้นตอ ที่เป็นต้นเรื่องมากเลย ต้นเหตุนั้นนิดเดียว แต่เรื่อง"นานาสังวาส" นี่เรื่องใหญ่มาก ลึกล้ำมาก เพราะ "นานาสังวาส" นี้จะต้องใช้กับเหตุการณ์สำคัญที่เมื่อเกิดกรณี ตามสัจธรรมแล้ว จะไม่มีกฎเกณฑ์ใด ใช้ระงับ คดีนี้ได้ นอกจาก "นานาสังวาส" กล่าวคือ นานาสังวาส ท่านตรัสไว้ชัดว่า เมื่อเกิดกรรมต่างกัน อุเทศ ต่างกัน ศีลไม่เสมอสมานกัน ถึงขีดถึงขั้นจนต่างก็ยึดถือต่างกันแล้วจริง นี่คือธรรมชาติชนิดหนึ่ง ของคน เกิดขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้า ก็ให้ใช้หลัก"นานาสังวาส"(มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมที่ต่างกัน มีพุทธธรรมเดียวกัน แต่มีความ ต่างกัน) กรรมต่างกัน คือ การปฏิบัติต่างกัน -ประพฤติต่างกันแล้วนะ อุเทศต่างกัน คือ ยกหัวข้อ ธรรมะ มาอธิบาย ขยายความ ไม่เหมือนกันแล้ว มันเห็นต่างกันจริงๆ อย่างบริสุทธิ์ใจ ....มันเป็นจริงๆน่ะนะ ไม่ใช่เสแสร้ง สร้างเล่ห์เพื่อขอแยก

ศีลก็ไม่เสมอสมานกัน เช่น ศีลข้อเดียวกันที่ว่า นักบวชให้เว้นขาดการใช้เงินใช้ทอง ฝ่ายหนึ่งบอกว่าใช้ได้ แต่อีก ฝ่ายหนึ่ง บอกใช้ไม่ได้ อันนี้ก็มีคดีอยู่ในวินัย อย่างนี้เป็นต้น ศีลข้อเดียวกันนี่ แต่ตีความต่างกันแล้ว ฝ่ายหนึ่งบอกว่า ใช้ได้..ยุคนี้สมัยนี้ เงินจำเป็นมันต้องใช้ ก็ใช้เงิน อีกฝ่ายก็บอกว่าใช้ไม่ได้ แม้ยุคนี้ ก็ไม่ต้อง ใช้เงิน จึงไม่ใช้เงิน และปฏิบัติได้จริงๆ ที่ศีลไม่เสมอ สมานกันนั้นไม่ใช่มีแค่ศีลข้อนี้ข้อเดียวนะ มีเยอะ มากมาย แค่ในจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลก็เยอะแล้ว เช่น ศีลข้อที่ว่า ให้เว้นขาด การรดน้ำมนต์ พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ชัดใน มหาศีล ชัดเจน ไม่ให้รดน้ำมนต์ ให้เว้นขาดนะ หรือศีลข้อที่ว่า ไม่ให้ บูชาไฟ เช่น ไฟธูป ไฟเทียน ไม่ให้ทำ เดรัจฉานวิชา แต่อีกฝ่ายก็ละเมิดหรือบูชาด้วยไฟธูปไฟเทียนกันเป็นสามัญ ไม่เสมอ สมานกันแล้ว อย่างนี้ เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อมันไม่เหมือนกันจริง มันต่างกันแล้ว ก็ให้ยกเป็น "นานาสังวาส" ซะ มีธรรมเป็น เครื่องอยู่ร่วมที่ต่างกัน ต่างก็มีพุทธธรรมเดียวกันแต่มีความต่างกันหลายอย่าง เมื่อเป็น "นานาสังวาส" กันแล้ว ท่านก็ไม่ให้ร่วม สังฆกรรมกัน ไม่ให้อธิกรณ์กัน ซึ่งการจะทำ"นานาสังวาส"กัน ก็ทำได้ สองวิธี

วิธีที่หนึ่ง ส่วนตัวหรือฝ่ายหมู่เล็กหมู่น้อยลาออกมาเอง หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ ฝ่ายหมู่ใหญ่เห็นว่า หมู่น้อย มีความแตกต่าง ถึงขั้น ควรให้แยกกันเป็น "นานาสังวาส" ก็ประกาศบอกให้หมู่น้อย แยกไปเป็น "นานาสังวาส" เสีย จะได้ต่างฝ่าย ต่างปฏิบัติตามที่ "ไม่เหมือนกัน" (นานา) ซึ่งมันเกิดขึ้นจริงแล้วนั้นของแต่ละฝ่าย เมื่อสำเร็จ การเป็น "นานาสังวาส "กันแล้ว ก็สังฆกรรมร่วมกัน ไม่ได้ แต่สัมพันธ์กันได้ ตามธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติ คือส่วนที่สัมพันธ์กันได้ ร่วมกันได้ก็ร่วม ส่วนที่พระพุทธเจ้า ทรงห้ามไว้ ก็อย่าทำ ซึ่งนานาสังวาสนี้ ไม่ใช่สังฆเภท ยังไม่ถึงขั้นสังฆเภท และอย่าให้เป็นสังฆเภทเป็นอันขาด ถ้าสังฆเภท แล้ว บาปขั้น อนันตริยกรรม นะ คนที่บอกว่าสันติอโศกนี่เป็นสังฆเภท ระวังเถอะใครมาว่า อาตมาแตกแยกเป็น นิกาย อนันตริยกรรม จริงๆด้วย อาตมาไม่ได้ทำสังฆเภท แค่ทำนานาสังวาสจริงๆ อาตมาปฏิบัติตรงตามธรรม แค่นานาสังวาส สัมพันธ์ ในส่วนสัมพันธ์ได้ นี่....มีพระอยู่ทางเถรสมาคมก็มาที่นี่ มาร่วมเรียนรู้ร่วมพิสูจน์ จำพรรษาด้วย อยู่ที่นี่ก็ยังมีเลย ที่สันติอโศกนี่ มีรูปเดียว ที่อื่นที่ราชธานีอโศกก็มี ที่ปฐมอโศก ก็มีพระ อาคันตุกะ ทางโน้นมา แต่เราไปทางโน้นไม่ได้ ทางโน้น ถือว่า แตกกัน(เภท)เด็ดขาด ปฏิบัติกับเราแบบ สังฆเภท. .ไม่ได้ปฏิบัติแบบ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วม ที่ต่างกัน อันนี้เป็นเรื่อง ถือว่าผิด

พระนิสิต : แยกตัวออกมาอย่างนี้แล้วนี่ ถือว่าดี เด่นกว่าสองนิกายที่กล่าวถึงหรือไม่ครับ

พ่อท่าน : เราก็เห็นว่ามันถูกต้องตามธรรมพระพุทธเจ้า เราก็รู้สึกอย่างนั้น แต่เราก็ไม่ได้ไปข่ม ไปเบ่งอะไร เราก็รู้ว่าทางโน้น คณะใหญ่ คือเราไม่ได้วิปริตอะไร ไม่ได้ไปวิปลาสอะไร เราก็เข้าใจว่าท่านคือกระแสหลัก เพราะ วันที่ผมจะออกมา ลาออกมา วันประกาศ นานาสังวาส ผมประกาศต่อหมู่สงฆ์ เลยนะว่า สำนวน ที่ผม ประกาศวันนั้นว่า... ท่านก็เป็นบริษัทใหญ่ แต่พวกผม เห็นว่า ท่านปฏิบัติแล้วเหมือน ร้านทอดปาท่องโก๋ ขายให้ ประชาชนกิน เสร็จแล้วท่านใช้สูตรทำ มันผิด ผมก็ท้วงว่า ใช้สูตร นี้เถอะ สูตรนั้นมันไม่ดี คนกินแล้ว ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ลำบาก ใช้สูตรนี้เถอะ ถูก แต่ท่านก็ไม่เชื่อ ท่านก็ว่า ผมนี่ผิด ไม่เป็นไร เพราะมันขัดแย้ง กันจริงๆแล้ว บริษัทใหญ่ท่านก็อยู่ของท่านไปเถอะ ผมขอลาออกมา ตั้งบริษัทเล็กๆ ทอดปาท่องโก๋ ขายข้างทาง ถ้าบริษัทผมนี้มีคนอุดหนุน ก็ตั้งอยู่ได้ บริษัทผมก็คงอยู่รอด ถ้าผมไม่มีคนอุดหนุน ตั้งอยู่ไมได้ บริษัทผม ก็คงล้ม แต่บริษัทของท่าน ไม่มีปัญหาอะไร เพราะท่านเป็นบริษัทใหญ่อยู่แล้ว พูดอย่างนี้จริงๆ กับที่ประชุมสงฆ์ วันประกาศ นานาสังวาส

พระนิสิต : ท่านมีความคิดเห็นอย่างไงกับลัทธิ Fundamentalism แต่ว่าผมอยากจะเกริ่นนิดหนึ่งว่า ลัทธิตัวนี้ มันมาจาก ทางด้าน ทางโซนอเมริกาฮะ แล้วขยายไปยุโรป แล้วขยายมา ทางอิสลาม มีแนวคิดคร่าวๆก็คือว่า เอ่อ..กลุ่มพวก Fundamentalism นี่ฮะ เขาได้รับความกดดันจากระบบเศรษฐกิจการเมือง สังคม ส่วนใหญ่ กลุ่มพวกนี้ จะเป็นกลุ่ม ระดับ พื้นล่าง นะครับ ก็เลยรวมตัวกันปฏิวัติ ปฏิวัติระบบนี้ขึ้นมาทางด้าน.... ใช่ปฏิวัติ สังคมครับตรงนั้น แล้วทางด้าน พุทธศาสนา นี่ เห็นอย่างไงครับ

พ่อท่าน : อ่า....มันเป็นไปตามธรรมอีกแหละ ที่ถามผมตอนต้นคำถามแรกที่ว่า ทำไมตั้งอันนี้ ผมไม่ได้คิดตั้ง แต่มัน เป็นไป ตามธรรม อย่างที่ตอบไปแล้ว แล้วก็เล่า เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัย ให้ฟังนี่ ที่เล่าไปเมื่อกี้ อันนี้ ก็เหมือนกัน ถ้าจะบอกว่า ผมมีแนวคล้าย Fundamentalism นั้น ผมก็ว่าผมไม่ได้ถูกกดดันอย่างลัทธิ Fundamental เพราะว่าเราออกมาปฏิบัติ ตามธรรมดา ไม่ได้ถูกกดดันจากภาวะสังคม ความจริงแล้ว ภาวะสังคม กดดันเราไม่ได้ ปฏิบัติธรรมะเสร็จแล้วนี่ สังคม ไม่ได้กดดันเราเลย เขาแย่งลาภกัน เราก็ไม่ได้ ไปแย่งกับเขา เขาจะเอาอำนาจลาภ เอาอำนาจยศ เอาอำนาจโลกีย์ เอาอำนาจ ทางกาม เอาอำนาจอบายมุข ที่มันโอ้โห....กดดันกันมากเลยเดี๋ยวนี้ เอาอำนาจของทุนนิยม เอาอำนาจบริโภคนิยม เอาอำนาจ ของ อำนาจนิยม เอาอำนาจของหรูหรานิยม เอาอำนาจวิตถารนิยม มากดดันเรา ทุกวันนี้มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ สังคมมัน วิตถารนิยม มันหรูหรานิยม มันบริโภคนิยม มันอำนาจนิยม มันทุนนิยม มันเป็นไปหมดเลย ก็ทำอะไร เราไม่ได้ เพราะเราเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้ และเราก็ไม่หลงใหลในอำนาจ ไม่ได้หลงใหลในบริโภค เพราะเรามา ปฏิบัติ ลดละจริงๆ ไม่หลงใหลในเรื่องของลาภ ยศ สรรเสริญ เรื่องทุน เรื่องเงิน เรื่องทอง จนกระทั่ง แม้แต่ ฆราวาส พวกเรานี่ ทำงานฟรีสบายๆ ไม่ต้องไปแย่งชิงใคร ในเรื่อง กาม เรื่องอัตตาต่างๆ เราไม่ได้หลงหรูหรา ต่างๆ ไม่ได้วิตถารอะไร ไปตามอัตตามันพาเป็นวุ่นวาย เราเรียนรู้จริงๆ นะ.. อัตตา ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โอฬาริกอัตตา มโนมยอัตตา อรูปอัตตา เราเรียนจริงๆ พระพุทธเจ้าสอนไว้หมด แล้วเราก็ลดละ กันมา เพราะฉะนั้น จะบอกว่าทางโลกเขากดดันเรา กดดันเราไม่ได้ และที่เราเป็นอย่างนี้ อาตมาว่าเป็นไปตามธรรม

เพราะเราเองเราก็อยู่ของเราอย่างนี้ ก็ช่วยสังคมไป เรามักน้อยสันโดษของเราเท่านี้ก็พอ เราสันโดษจริงๆ สันโดษไม่ได้แปลว่า โดดเดี่ยว หรือออกไปอยู่ห่างสังคม สันโดษแปลว่า พอแล้ว ใจพอ เราไม่ต้องเอาเงิน เอาทองเลย เราก็พอ ก็อยู่สบาย เป็นต้น กินวันละมื้อ วันละสองมื้อ ฆราวาสชาวอโศก กินวันละมื้อนี่ เยอะแยะไป เราไม่ต้องไปหลงสังคม ฟุ่มเฟือย เสื้อผ้าหน้าแพรเรา เท่านี้ก็พอ อะไรอย่างนี้

นิสิต : ก็....จะพอสรุปได้แล้วครับตามคำตอบท่าน คือว่าลัทธิ Fundamental นี่จะปฏิรูปสังคม โดยใช้กำลัง ใช่ไหมครับ แต่ว่าที่นี่ ทางนี้ปฏิรูปสังคมโดยใช้ธรรม ไม่ได้ใช้กำลังรุนแรง ใช้ธรรมะแทน

พ่อท่าน : ใช่ ปฏิรูปสังคมโดยใช้ธรรมะ ไม่ปฏิวัติด้วย ปฏิรูปไปตามสัจธรรม ไปตามลำดับๆ ไม่เอาความรุนแรง คุณจะเห็นได้ เราถูกย่ำยีกดขี่ ตั้งหลายทีแล้ว ฆราวาสชายเรานี่โดนตบบนตำหนัก ที่วัดมหาธาตุ ตอนนั้น ไปสอบพยาน กันที่นั่น ฆราวาส ชายเรานี่ (อายุ ๓๐ เศษ) โดนฆราวาสหญิง (อายุ ๕๐ เศษ) ทางโน้นตบหน้า เรายังไม่ได้ โต้ตอบอะไร เราเฉย เราวาง อย่างนั้น ด้วยซ้ำไป เราไม่ต้องการความรุนแรง ไม่โต้ตอบ ใครจะทำอะไร เราทนได้ก็ทนไป ถ้าทนไม่ได้ เราก็เลี่ยงหนี ไม่ให้เขามา ทำร้ายเรา เท่านั้นเอง

นิสิต : สรุปแล้วก็คือไม่ใช่ลัทธิ Fundamentalism แน่นอน

พ่อท่าน : แต่มีส่วนดีของ Fundamentalism มีส่วนดีหลายๆอย่างที่คล้ายกัน เช่นว่า เห็นตามคัมภีร์เดิม ตามหลักเดิม ของพระพุทธเจ้า นี่เราเอานะ เราเป็นเหมือนกัน

นิสิต : หลักการปฏิบัติของสันติอโศกนี่ มีหลักอะไรบ้างที่เป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา ซึ่งเรามาใช้ ในการ ประพฤติปฏิบัติ ซึ่งจะส่งผลใ ห้พิเศษกว่าสำนักอื่นในการปฏิบัติและบรรลุเร็ว มีอะไรครับ

พ่อท่าน : ก็ตรงๆเลย ของพระพุทธเจ้าก็คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ หรือจรณะ ๑๕ ถ้าจะพูดกว้างก็ไตรสิกขา มันเหมือนกัน นั่นแหละ

พระนิสิต : เกี่ยวกับเรื่องการจัดองค์กรของการบริหารจัดการนี่ หลวงพ่อได้ใช้หลักพุทธธรรมอย่างไรบ้าง เช่น สังฆะ กับ องค์กร มูลนิธิ จะให้หลวงพ่อ ช่วยอธิบาย

พ่อท่าน : สังฆะก็คือคอมมูน สังฆะคือการรวมอยู่เป็นคณะ เป็นหมู่มวล แล้วเป็นหมู่มวลที่ผมดีใจมาก ที่ได้ พิสูจน์ธรรมะ ของพระพุทธเจ้า มาถึงวันนี้นี่ ดีใจที่ว่ามันเป็นคอมมูนหรือเป็นหมู่มวลถึงขั้นสาธารณโภคี มีสาราณียธรรม ๖ อย่างชัดเจน มีเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม มีสาธารณโภคี ได้ลาภ มาโดยธรรม ก็เอามารวมกัน ลาภธัมมิกา กินใช้ ร่วมกัน เอามาแบ่งกันกิน กินด้วยกัน มีศีลสามัญญตา ทิฐิสามัญญตา ชัดเจน ในหมู่ทั้งหมดเลยนี่ ชาวอโศกเรานี่ ในชุมชน สันติอโศกก็ตาม หมู่ชุมชนอื่นๆก็ตาม เงินทอง ก็รวมกันเป็นส่วนกลาง ข้าวของส่วนกลาง กินใช้ร่วมกัน ไม่ใช่แต่หมู่สงฆ์เท่านั้น สมัยพระพุทธเจ้า ทำได้ แต่ในหมู่สงฆ์เท่านั้น เพราะยุคโน้นมันยุค สมบูรณาญาสิทธิราช เป็นยุคทาส คนไม่รู้จักสิทธิมนุษยชน สมัยโน้น มันทำกับฆราวาสไม่ได้ จะให้นายกับทาส เอาทรัพย์สินมารวมเป็นของร่วมกัน กินใช้ร่วมกัน ทำไม่ได้หรอก แต่ยุคนี้ มันไม่เหมือนอย่างกับ ยุคพระพุทธเจ้าแล้ว เอาสาธารณโภคีของพระพุทธเจ้ามาพิสูจน์ เป็นธรรมะ ของพระพุทธเจ้าแท้ๆ แม้ในหมู่ฆราวาส ก็สามารถมีของส่วนกลาง ใช้ทรัพย์สินร่วมกัน เป็นส่วนกลาง คอมมิวนิสต์นี่ทิ้งไว้ข้างหลังเลย เพราะ คอมมิวนิสต์ ยังไม่ใช่ส่วนกลางแท้ แต่สาธารณโภคีนี่ เต็มใจ ใจสมัครเอามารวมกัน ไม่ได้บังคับกดขี่เหมือนคอมมิวนิสต์ ต่างเต็มใจ ทำงาน แล้วเอาเข้าส่วนกลาง ทั้งหมด แล้วก็กินใช้ร่วมกัน ทุกคนพยายาม มักน้อย สันโดษ ทุกคนศึกษา ประพฤติธรรม ให้สันโดษ ให้เป็นคน อัปปิจฉะ มักน้อยจริงๆ เป็นคนจิตไม่ดิ้นแล้ว ปวิเวกะแล้วสบาย มีกินเท่านี้ก็ใช้ไป ตามฐานะ โสดาบัน ก็เสมอ โสดาบัน สกิทาคามีเสมอสกิทาคามี อนาคามีเสมออนาคามี อย่างฆราวาสนี่ ก็สามารถเป็น อนาคาริกชนได้ แม้มีอนาคาริกภูมิ ก็เป็นได้ ฆราวาสเราชาวอโศก ก็มีศีล ๑๐ นี่เขาก็สบาย เขาไม่ต้องสะสมเงินทอง

พระนิสิต : ที่นี่มีไหมครับที่ฆราวาสบรรลุธรรม ระดับ เอ่อ..โสดา, สกิทา

พ่อท่าน : มีซี ก็อย่างที่พูดแล้ว และต้องเป็นจริง ถ้าไม่จริงเขาก็อยู่ไม่ไหวสิ สิบปี ยี่สิบปี สามสิบปี เก็บกด ไม่ไหวหรอก ไม่มี อบายมุขบำเรอ ไม่มีลาภยศสรรเสริญโลกียสุขบำเรอ ไม่บำเรอกันด้วยกามด้วยอัตตา ระยะ นานๆเข้า มันกดข่ม ไม่ไหวหรอก ตายพอดี ระเบิดให้เห็นแน่

พระนิสิต : มีเยอะไหมครับ

พ่อท่าน : ก็อยู่กันเป็นมวลหมู่ได้ เป็นสังคมชุมชนที่มีอาริยคุณเสมอสมานกันจริง ในชุมชน ฆราวาสทุกคน อย่างต่ำสุด มีศีล ๕ ซึ่งเป็น โสดาปัตติยังคะ เป็นศีลสัมปทาจริงๆ ก็คิดดูแล้วกัน

พระนิสิต : อ่า..มีวิธีการตัดสินอย่างไรว่า คนนี้เป็นแบบไหน

พ่อท่าน : ก็เอาธรรมะพระพุทธเจ้า อ่านตัวเอง ให้คะแนนตัวเอง ต้องรู้จักตัวเอง ไม่ใช่ให้ใครอื่น มานั่ง สอบญาณเรา อาจารย์ มาสอบญาณ คนนี้ได้ญาณ ๓ ญาณ ๕ ญาณ ๑๖ อย่างนี้ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าท่านบอก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ต้องรู้ได้ ด้วยตน รู้ภูมิรู้ฐานะของตนด้วยตน คนอื่นรู้ภูมิคนอื่น....จริงยาก อย่าเที่ยว ได้สอบญาณ ให้คนนั้นคนนี้ ต้องรู้ตน ด้วยตนเอง ธรรมะพระพุทธเจ้า ก็มีหลักเกณฑ์ต่างๆอยู่พร้อม สังโยชน์ ๑๐ โดยเฉพาะมีวิชชา ๘ เป็นปัญญาพิเศษ ในความเป็น อาริยะ ของพุทธ ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรม สัมมาทิฏฐิ ก็จะมีอาริยภูมิ รู้จักรู้แจ้งรู้จริง กายในกาย -เวทนาในเวทนา -จิตในจิต -ธรรมในธรรม ดังนั้น จึงสามารถรู้ว่า กาย-เวทนา-จิต-ธรรมในตน มันลดละกิเลสได้เท่าใดๆ จึงเป็นของแท้ หากไม่มีวิชชา ๘ ที่ต้องเกิดเป็น อธิปัญญาจริง ก็ไม่สามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริง นั่นคือ ไม่มีสัจจญาณ -กิจจญาณ -กตญาณ ก็ไม่บรรลุธรรมจริง ต้องรู้จิต ของเราจริง รู้อกุศลธรรม -กุศลธรรม โดยเฉพาะ "โลกียธรรม-โลกุตรธรรม ว่า จิตของเรา มีอาการเป็นกิเลสอย่างไร นี่เป็นกิเลส เป็นตัณหา อ๋อ..กิเลสอย่างนี้ ตัณหาอย่างนี้ มันลด มันจาง มันบาง มันไม่มี มันหมด ก็ต้องรู้ อย่างยกตัวอย่าง ง่ายๆ อย่าง อบายมุขนี้ อย่างพวกเรานี้ เขาสบายแล้ว เขาปกติแล้ว มีศีลเป็นสามัญแล้ว เป็นความปกติของจิตแล้ว จิตของเขา เขาเห็น ใครจะกินเหล้ากัน จะเล่นไพ่ เล่นโป จะเล่นหวยพนัน คนพวกนี้ก็ปกติ เฉยๆ มันอทุกขมสุขแล้ว จิตมันอุเบกขาแล้ว มันมีจิตเป็น ฌาน ระดับ ๔ ขึ้นไปแล้ว ถ้าไล่ตรวจสอบด้วยอรูปฌานอีก ก็ตรวจไป ซึ่งการอธิบาย รูปฌาน -อรูปฌาน แบบฤาษี ก็อย่างหนึ่ง อธิบายแบบพุทธก็อีกอย่างหนึ่ง ของพุทธก็อธิบายรูปฌาน -อรูปฌาน ก็ต้องอธิบายให้ชัดเจน แต่ถ้าอธิบายผิด มันก็ถึงเป็น มิจฉาฌาน มันก็เลยไม่เข้าเรื่อง เป็นฌานแบบอาฬารดาบส -อุทกดาบสไปหมด มันก็ไม่มีทางรู้ มันก็ไม่จริง

แต่ถ้ารู้สัมมาทิฏฐิจริง ฌานต้องรู้จิตนะ เจ้าตัวต้องรู้จิตของตนในขณะที่จิตขึ้นสู่วิถีนี่แหละ แล้วก็ไม่ใช่ ฌานนั่ง หลับตากัน เท่านั้น ลืมตาปฏิบัติมรรค ๗ องค์ แล้วก็จะเกิดสัมมาสมาธิ เกิดฌานเกิดสมาธิ เพราะปฏิบัติ จรณะ ๑๑ แล้วก็จะเจริญ เป็น จรณะ ๑๒,๑๓,๑๔,๑๕ เกิดฌานทั้งสี่เอง จรณะ ๑๕ คือความประพฤติ ก็ปฏิบัติ โพธิปักขิยธรรม ปฏิบัติไตรสิกขา ปฏิบัติมรรค อันมีองค์ ๘ นั้นแหละ หลักปฏิบัติหลายชื่อ แต่ขยายความแล้ว เหมือนกันหมดหละ ซึ่งแต่ละหลัก ล้วนเป็น องค์รวม แต่ทุกวันนี้ก็แยก ศีลก็ปฏิบัติ อย่างหนึ่ง สมาธิก็ไปนั่งปฏิบัติหลับตาเอา สะกดจิตเอา ปัญญาก็ไปเรียนรู้อะไร ก็ไม่รู้ จนกระทั่ง ต้องไปเรียน ในมหาวิทยาลัยเอา อะไรอย่างงี้ ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้นเลย ปัญญาก็จะต้องร่วม ฌานอยู่ที่ไหน ปัญญา อยู่ที่นั่น ศีลอยู่ที่ไหน ปัญญาอยู่ที่นั่น ฌานไม่มีปัญญาไม่ใช่ฌาน หรือศีลกับปัญญาอยู่ด้วยกัน ศีลอยู่ที่ไหน ปัญญาอยู่ที่นั่น เหมือนมือ กับเท้า ที่ล้างมือด้วยมือ ล้างเท้าด้วยเท้า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก็ชัด อันนี้ใน โปฏฐปาทสูตรหรือไงนี่ พระไตรปิฎก เล่ม ๙

พระนิสิต : อย่างกรณีหลวงตามหาบัว อ่า....หลวงพ่อมีความเห็นอย่างไรครับ ท่านเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า

พ่อท่าน : ท่านก็เป็นไปตามท่าน ให้ตอบว่าเป็นอรหันต์หรือไม่ ก็ตอบว่าไม่ใช่ ยังไม่ถึงอรหันต์หรอก เพราะว่า ยังไม่เข้าใจ สัมมาทิฐิ ทีเดียว บำเพ็ญแบบฤาษี แบบอาฬารดาบส อุทกดาบส ก็ได้ธรรมะอย่างอาฬารดาบส อุทกดาบส ไม่ใช่ไม่มีธรรมะ มีส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่สัมมาทิฐิทีเดียว

นิสิต : ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเรียนถามเรื่องธรรมกายน่ะค่ะ

พ่อท่าน : ถ้าจะให้พูดธรรมกายก็อย่าโกรธกันนะ คือธรรมกายนี่ยังมี "มโนมยอัตตา" อยู่เต็มประตูเลย มีรูปพระพุทธเจ้า มีรูป พระโสดา -สกิทา ซึ่งเป็นตัวเป็นตนอยู่เต็มไปหมด คือปฏิบัติ เป็นประเภท อัตตา ไปหมดแล้ว ออกนอกทาง ศาสนา พระพุทธเจ้า ไปเป็น "เทวนิยม" เต็มสภาพ ไม่มีที่สุดเป็นอนัตตา ไม่ใช่ "อเทวนิยม" เป็นศาสนาอัตตา อยู่เต็มรูป นี่ก็พูดกันตรงๆ อย่าได้โกรธเคืองกัน

นิสิต : จะเรียนถามนิดหนึ่งน่ะค่ะ เอ่อ....Fundamentalism นี่นะคะ มีส่วนหนึ่งก็คือเอ่อ....ผู้นำ ดิฉัน จะพูดเกี่ยวกับ ธรรมกาย นี่นะคะ คือผู้นำนี่สามารถติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ ทางธรรมกายเขาบอกว่า มีคน ที่ธรรมกายนี่ สามารถ ติดต่อกับ พระพุทธเจ้าได้ ไม่ทราบว่า อยู่ในข่ายของ Fundamentalism ไหมคะ

พ่อท่าน : อาตมาไม่ได้ศึกษาละเอียดลออทีเดียวนะเรื่องนี้ เป็นแต่เพียงพอรู้คร่าวๆ ว่ามีสิ่งนี้ แต่ก็ไม่ได้ ศึกษามาก แต่เข้าใจ แล้วนะ ..เข้าใจแล้วหละ ถ้าจะให้อาตมาตอบ ตามความรู้ ความรู้ที่อาตมามี ลักษณะ อย่างนั้น คำว่า Fundamentalism นี่ มันไม่ได้ หมายถึงพุทธ มันหมายถึงศาสนาทั่วไป เป็นเทวนิยม ซะส่วนใหญ่ แต่พุทธนี่เป็น อเทวนิยม เพราะฉะนั้น มีสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ มีพระพุทธเจ้า หรือสิ่งสูงสุดเป็นตัวตน เหลืออยู่ในโลกนี่ เป็นเทวนิยมทั้งสิ้น ศาสนาพุทธนั้น หมดตัวตน ไม่มีสรีระ อสรีรัง อนัตตาไม่มีเหลือตัวตน ธรรมกายนี่เป็นเทวนิยม ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ใช่พุทธเลย ออกนอกพุทธ เป็นเทวนิยม ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งสอน โลกียธรรม ละบาป -บำเพ็ญบุญ เหมือนศาสนาเทวนิยม ทั้งหลายทั่วไป เท่านั้น

นิสิต : ก็ เมื่อพูดถึงธรรมกายแล้ว ถ้ามาดูการเปรียบเทียบการเผยแผ่ของธรรมกายนี่ ตอนนี้ การเผยแผ่เขานี่ ทำได้ดีมาก ตอนนี้ ไปถึงทั่วโลกแล้ว

พ่อท่าน : คุณทักษิณก็ทำได้ดีเหมือนกัน พัฒนาสังคมได้ดี ไปกว้างไกลทั่วโลกเหมือนกัน

นิสิต : ครับ ระบบปัจจัย ระบบเรื่องระบบการเงินอะไรนี่เขาบริหารดีมาก แล้วก็เอื้อ เอื้อต่อการเผยแผ่ พุทธศาสนา ซึ่งมาดู ในสันติอโศกแล้วนี่ กลับตรงกันข้ามกันเลย

พ่อท่าน : ใช่ ใช่

นิสิต : ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของสันติอโศกหรือเปล่าครับ

พ่อท่าน : ถ้าจะคิดเช่นนั้น ใช่ แต่ต้องตั้งใจฟังดีๆ ศาสนาที่ทำไปเพื่อมาก -เพื่อใหญ่ ยังไม่ใช่พุทธ อโศกนี่ บอกได้เลยว่า อย่าไปพูดว่า ของคนนั้นคนนี้ ใหญ่กว่ากว้างกว่า พูดว่าของอโศกใหญ่กว่านะ อันนี้จะตรงๆ เลยนะ อโศกนี่ไม่อ้าขา ผวาปีก จะกว้าง จะใหญ่ ไม่เลย จะพากเพียรให้เป็นไปดีที่สุด เท่าที่เราจะอุตสาหะ วิริยะ ทำเต็มที่เต็มใจ ทำไปได้เท่าไหร่ ก็เท่านั้น ได้เท่าไหร่ ก็เท่านั้น ไม่เดือดร้อน ไม่มุ่งเรื่องใหญ่เรื่องกว้าง เราจะรู้แต่ว่า เอ....เราปฏิบัติอย่างไร มันถึงไม่มีปฏิภาคทวี ในมรรคผล ไม่เกิดอัตราการก้าวหน้า เราก็ดูว่า บกพร่องอย่างไง เราปฏิบัติไม่เดินหน้า เราก็พยายาม แต่ทุกวันนี้ ยังมีอัตรา การก้าวหน้าอยู่ แต่เราไม่ได้ อยากใหญ่ อยากโตอะไร ไม่ได้คิดว่า มันจะใหญ่โต จะไปได้เท่าไหร่ แต่ถ้าหากว่า จะใหญ่ จะกว้าง ไปตาม อัตรา การก้าวหน้ามนุษย์รับได้ มนุษย์ได้ประโยชน์ถูกต้องจริง ได้มากขึ้นๆ ก็ดี เราชอบเหมือนกัน แต่ได้เท่าไหร่ เราก็เท่านั้น ไม่คิดจะใหญ่ จะโตอะไร ที่สำคัญคือ ศาสนาพุทธนั้น เป็นศาสนาที่ไม่ใหญ่ ขอยืนยันว่า ไม่ใช่ศาสนา ที่จะกว้าง จะใหญ่ กว่าใครในโลก

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เกิดมาเป็นครั้งคราว และช่วยมนุษย์ช่วยโลกอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็จะไม่มี ศาสนาพุทธ ในโลก เป็น พุทธันดร มีช่วงที่ว่างจากศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาที่จะมีอยู่ในโลกตลอดกาล จะมี ศาสนาเทวนิยม เท่านั้น ที่เป็น ศาสนา ประจำอยู่ในโลก ตลอดกาล และยิ่งใหญ่ มีหลายลัทธิ มีหลายแบบมาก และมีมวลเยอะ ใหญ่กว้าง รวมกันแล้ว ใหญ่มาก กว้างมาก นั่นเป็นความจริง แต่ศาสนาพุทธ ไม่ใช่ศาสนาใหญ่ ไม่ใช่ศาสนาจะไปครองโลก ไม่ใช่เลย ท่านไม่เคย สอน ให้ไป เที่ยวได้ ครอบครองโลก ใหญ่โตมโหฬาร นั่นไม่ใช่คุณลักษณะ ไม่ใช่บุคลิกของพุทธเลย ศาสนาพุทธ ไม่ล่าบริวาร ไม่หลงใหล ในปริมาณ ขอยืนยันว่า พุทธไม่มุ่งความใหญ่ความมาก จะใหญ่จะมากแค่ตามฐานานุฐานะ แห่งสัจธรรม ที่เหมาะสม ไปตามสภาพเท่านั้น นัยสำคัญนี้ทวนกระแสโลกีย์ ต้องแม่นคมชัดลึก กันให้จริง

นิสิต : คือ ฟังแล้วนี่ดูคล้ายกับสันติอโศกนี่ ย้อนกลับเข้าไปสู่พุทธกาล

พ่อท่าน : มันย้อนไม่ได้ แต่เอาของพุทธกาลที่เป็นไปได้มาใช้ในยุคนี้ ที่เป็นไปได้ ที่เป็นไปไม่ได้ก็ไม่ได้ เช่นที่นี่ มีโทรทัศน์ดู เปิดโทรทัศน์ให้ดู อยู่กลางวัดเลย แต่ส่วนตัวไม่มี กุฏิแต่ละกุฏิมีโทรทัศน์ส่วนตัวไม่ได้ มีแต่ ส่วนกลาง เซ็นเซอร์มา เลือกที่ควรจะดู แล้วก็มีหลัก ของการจะดู จะดูละคร ก็ต้องดูให้เกิดอาริยญาณ - ทำการปฏิบัติ - อัดพลังกุศล - ฝึกฝนโลกวิทู - เพิ่มพหูสูตไป อย่างนี้เป็นต้น

นิสิต : สภาพปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ ระบบอะไรต่างๆที่เป็นอยู่ของสันติอโศกตอนนี้นี่ อยากถาม หลวงพ่อว่า หลวงพ่อ พอใจ กับมันแล้วหรือยังคะ

พ่อท่าน : ก็พอใจ พอใจในสัจจะที่มีแล้ว ดีขนาดหนึ่ง แต่ดีกว่านี้ยังมีอีก ยังไม่พอในสิ่งเจริญ

นิสิต : แล้วที่สุดที่หลวงพ่อต้องการนี่ เป็นอย่างไงคะ

พ่อท่าน : ที่สุดแล้วนี่ ที่จริงมัน...มัน...เป็นรูปร่างแล้วนะ มันมีความจริงที่ใช้ได้เป็นรูปธรรมขนาดหนึ่งแล้ว แต่ว่า มันยัง ไม่เจริญอะไร มากมายนัก เท่านั้นเอง เห็นรูปลักษณ์ของคนมีศีลมีธรรมเป็นที่อาศัย แล้วก็มีชีวิต มักน้อย สันโดษ อาตมาเอา หลักธรรม "วรรณะ ๙" ของพระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสไว้ว่า วรรณะของคนนี่ ท่านตรัส วรรณะ ๙ มีตั้งแต่ สุภระ สุโปสะ อัปปิจฉะ สันตุฏฐิ สัลเลขะ ธูตะ ปาสาทิกะ อปจยะ วิริยารัมภะ นี่เป็นหลัก วรรณะ ๙ เป็นวัณณังของพุทธ คนจะต้องมีวรรณะ นี่เป็น คนชั้นสูง วรรณะนี่คือ The classes เป็นเรื่องของ คนชั้นสูง อวรรณะเป็นเรื่องคนธรรมดาสามัญทั่วไป ปุถุชน พวก The masses นี่ก็อีกต่างหาก ผู้เป็นคน ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสได้ The classes วรรณะ ๙ คือ วรรณะของพุทธ

ข้อ ๑. เป็นคนเลี้ยงง่าย อ่า....เลี้ยงง่าย สุภระ ที่นี่เลี้ยงง่าย กินรวมกัน มีข้าวอาหารมาก็เลื่อนไป เหมือนให้ อาหารหมูน่ะ ซึ่งเหมือน ใส่รางไหลไป เลื่อนๆไป ก็ตักกินกัน กินกันแล้วก็เรียบร้อย นั่งง่าย นอนง่าย อยู่ง่าย ไม่ติดไม่ยึด ที่นั่ง ที่นอน จะไป จะมา ง่าย ไม่มากเรื่อง

๒. เป็นคนบำรุงง่าย สุโปสะ คือพัฒนาให้เจริญได้ง่าย คนเจริญคือคนว่านอนสอนง่าย

๓. อัปปิจฉะก็ เป็นคนมักน้อย หรือกล้าจน คือมีมาก-ได้มากก็เอาไว้น้อย ไม่โลภมาก ไม่ต้องสะสมมาก เห็นว่า การเสียสละ ออกไป เป็นสิ่งประเสริฐ เป็นประโยชน์ทั้งตนและผู้อื่น ฝึกมักน้อยกระทั่งถึงขั้นสาธารณโภคี ถ้าถึงขั้น ไม่สะสม เป็นของตัว ของตน ก็เป็น "วรรณะข้อที่ ๘" ทีเดียว ซึ่งเป็นคุณวิเศษของคน มักน้อย ไม่โลภโมโทสัน ไม่ต้องเอาเปรียบเอารัดใคร ไม่กอบโกย ไม่สะสม เสียสละ

๔. สันโดษ คือ พอ สันตุฏฐิ เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้ที่"พอ" ..ใจพอ ถ้าไปแปลสันโดษว่า พึงพอใจในของของตน อันนี้ผิด คุณไปถาม คนที่ร่ำรวยซิว่า เขาพึงพอใจในสิ่งที่เป็นของเขาไหม คนร่ำรวยทุกคน ต้องพอใจ ในสิ่งที่ เป็นของเขาแน่ แถมจะหวง เอาด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือ คนรวยที่เขาพอใจในสิ่งที่เป็นของเขานั้น ใจเขายังไม่ "พอ" ด้วยซ้ำ เขายังอยากได้เพิ่มมากขึ้นๆอีก ไม่หยุด -ไม่พอ คำแปลนั้นจึงไม่ใช่เนื้อหาของ "สันโดษ" เด็ดขาด เพราะงั้นหากคนรวยจะสันโดษ ก็ต้องรู้จัก"พอ" สันโดษคือ "ใจมันพอ" แม้น้อยก็"พอ" และมักน้อยนั้นก็คือน้อยลงก็"พอ" เอาแต่น้อยก็พอ มันพอแล้ว ใจมันไม่โลภ อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น คนที่มีน้อย เขาก็พอเพียง ชีวิตเขาพอ ใจเขาพอ แม้ได้น้อยไปกว่านี้เขาก็พอ นี่คือ คนสันโดษ แต่ไม่ได้หมายความถึง ..คนเซ็ง คนที่ไม่เอาถ่าน คนไม่อยากได้ใคร่ดี ที่เป็นเชิงอกุศล สันตุฏฐิคือ คนที่ขยัน คนทำดีมีอุฏฐาน เป็นคน อยากได้ใคร่ดีแท้ๆ สร้างสรร แต่เสียสละ เป็นคนสงบสันติ กล้าจน-อัปปิจฉะ

๕. เป็นคนที่ขัดเกลา ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ต้องขัดเกลาอยู่เสมอ เป็นสัลเลขะ ขัดเกลากาย ขัดเกลาวาจา โดยเฉพาะ ขัดเกลาใจตนเอง ไม่ใช่"ประโลม"หรือ"บำเรอ"ตนเองอยู่เสมอ หรือถ้าจะสามารถช่วยผู้อื่น ให้เขา ขัดเกลาตนเองบ้าง ด้วยวิธีใด ถ้าทำได้ก็ทำด้วย ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาที่คนต้องอดทน ต้องข่มฝืนอยู่เสมอ ไม่ปล่อยตัว อยู่ตามสบาย ยถาสุขัง โข เม วิหรโต ถ้าทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า อกุศลธรรม เจริญยิ่ง นี่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๑๕ ว่าไว้อย่างนั้น พุทธ จึงไม่ใช่ศาสนา ที่ได้แต่หวานจ๋อย ได้แต่ อนุโลม ได้แต่ประเล้าประโลมใจ หรือเอาแต่บำเรอ อารมณ์ แต่เป็นศาสนา ที่มีคุณลักษณะ.."สัจธรรม สัลเลขธรรม นิยยานิกธรรม สันติธรรม" เป็นเครื่องยืนยันแท้จริง

๖. ธูตะ มีศีลเคร่งได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ฆราวาสที่นี่ศีล ๑๐ เขาก็เป็นได้จริงๆ มีศีล ๑๐ ไม่รับเงินทอง กินข้าวมื้อเดียว เป็นต้น ซึ่งถือว่ายาก เคร่งสำหรับฆราวาสแน่ๆ แต่เขาก็ทำได้ เหมือนนักบวชที่มีธุดงควัตร ซึ่งเป็นศีลเคร่งของนักบวช นั่นคือ ธูตะ ผู้มี"ธูตังคะ" จึงคือผู้ที่เข้าถึงศีลเคร่งๆได้ บรรลุธรรมตามศีล ที่เคร่ง ที่สูงนั้น ได้จริง ไม่ว่าฆราวาส หรือนักบวช ก็ปฏิบัติศีล ที่เคร่งๆได้

๗. มีอาการที่น่าเลื่อมใส ปาสาทิกะ ได้แก่ อาการทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็มีพฤติกรรม อยู่ในศีลในธรรม เป็นที่น่าเลื่อมใส เพราะได้อบรมฝึกฝนมาแล้ว ยิ่งได้บรรลุธรรมด้วยก็ยิ่งมีอาการที่น่าเลื่อมใสแน่แท้ เช่น เป็นคน เลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ มีความขัดเกลา เคร่งอยู่ในศีลในธรรม และ

๘. เป็นคนไม่สะสม อปจยะ นี่แหละคือ คนที่มีอาการที่น่าเลื่อมใสแท้ ไม่สะสม ทั้งวัตถุทรัพย์ ไม่สะสม ทั้งกองกิเลส เมื่อไม่สะสมทรัพย์ ก็ต้องเป็นคนจน คนจนจึงเป็นคนที่น่าเลื่อมใส ซึ่งเป็นความแปลก เพราะ ตรงกันข้ามกัน คนโลกๆ สามัญ ทั่วไป ที่เขาเลื่อมใสคนรวย เขานับถือคนรวย และเขาทึ่งคนรวย เขาไม่ได้ เลื่อมใสคนจน สำหรับเรื่อง "คนไม่สะสม" ซึ่งก็คือ คนจน นั่นแหละ หรืออนาคาริกชน ผู้ไม่มีบ้านช่องเรือนชาน ทรัพย์ศฤงคาร นั่นเอง แต่เป็นคนที่น่าเลื่อมใส ศาสนาอื่น เขาก็รู้ ก็สอนเรื่องนี้ เขาก็ฝึกฝนเป็นคนจน เหมือนกัน พุทธก็มี คุณลักษณะนี้ด้วย แต่มีนัยสำคัญ แบบโลกุตระ

๙. วิริยารัมภะ ข้อสุดท้าย เป็นคนปรารภความเพียร มุ่งมั่นในความขยัน ผู้ปฏิบัติธรรมของพุทธ ต้องขยัน หรือมุ่งมั่น ในความเพียร ยิ่งบรรลุธรรม ยิ่งหมดความขี้เกียจ เป็นมรรคผลจริง ดังนั้น จึงเป็นผู้ทำงาน เป็นผู้มี กัมมนิยะ กัมมัญญา คือ มีการงาน อันเหมาะควรดีงามในชีวิตอยู่เสมอ ผู้บรรลุธรรมของพุทธ จึงไม่ใช่คน อยู่เฉยๆ เปล่าๆ ปลี้ๆ หรือเป็นคนปล่อยตัว เรื่อยเฉื่อย ไปวันๆ แต่เป็นคนขวนขวาย ในการงาน ที่เป็น ประโยชน์ อย่างคนมีพลังสร้างสรรทีเดียว คือมีอนวัชชพลัง เมื่อเป็นคน ไม่สะสม ไม่โลภ-ไม่พยาบาท-ไม่หลงผิดแล้ว ก็เป็นคนสร้างสรรแล้วเสียสละ ช่วยผู้อื่น ช่วยโลก โลกานุกัมปาจริง

หลักเกณฑ์อันนี้แหละสำคัญ หรือแม้หลักเกณฑ์อื่นจะเป็นหลักเกณฑ์เอาธรรมวินัย เครื่องตัดสิน ธรรมวินัย เอาสังโยชน์ ๑๐ เอากถาวัตถุ ๑๐ หรือเอาหลักตัดสิน ธรรมวินัย ๘ อะไรพวกนี้มาสอบทานดูก็ได้ ทั้งนั้นแหละ เช่นอย่าง กถาวัตถุ ๑๐ นี่เป็นไป เพื่อ.... ถ้าจะพูดกันแล้ว ก็ล้วนเป็นไปเพื่อผล คือ อัปปิจฉะ สันตุฏฐิ ปวิเวกะ อสังสัคคะ วิริยารัมภะ มีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัศนะ อะไรอย่างนี้เป็นต้น ก็คุณลักษณะ ครรลองเดียวกัน ทั้งนั้น จะลงกันได้ สมคล้อยกันไปหมดแหละ คือถ้าเป็น หลักธรรมของ พระพุทธเจ้าแล้วนี่ เอาหลักธรรม หมวดใดข้อใด ก็แล้วแต่ มาสอบทานพิสูจน์แล้ว ลงกันได้หมด

สรุปง่ายๆ ก็เป็นคนไม่ยุ่งยาก เรียบง่าย มักน้อย สันโดษ ไม่ติด ไม่ยึด แต่เอาจริง มุ่งมั่น ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง แต่ขยัน สร้างสรร -เสียสละ อย่างชุมชนชาวอโศกทั้งหลายนี่ อยู่กันมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ไม่มี อาชญากรรม ตีกัน ข่มขืนฆ่า แม้ทะเลาะกัน หยาบคายรุนแรง ไม่มี ไม่เคยมีคดี หมู่บ้านนี้ไม่เคยมีคดี เรื่องราคะ ก็เป็นเรื่องที่ แหม...ทุกวันนี้นี่ ข้างนอกนี่ น่ากลัวมากเลย สังคมเราก็อยู่รวมกัน เหมือนสังคม ข้างนอก....นักเรียนหญิง นักเรียนชาย ผู้หญิง ผู้ชาย อยู่กันสงบ ก็ไม่มีปัญหาอะไร มาหลายสิบปีแล้ว อบายมุขนั้น แม้เหล้าสักขวด บุหรี่สักมวนที่นี่ ไม่มีเลยจริงๆ อย่าไปพูดถึงขั้น ยาเสพติด

เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่าพอใจไหม พอใจมากเลย แต่ว่ายังไม่สมบูรณ์ อาตมาถึงบอกว่า อยากจะอยู่ อายุยาวๆไป อีกซัก ๑๕๑ ปี

นิสิต : แล้วปัจจุบันมันจะมีการศึกษาในแนวของพระอภิธรรม หลวงพ่อคิดอย่างไงเกี่ยวกับ จิต เจตสิก รูป นิพพาน คะ คือ...ยังเป็นแนวทางที่ศึกษา เพื่อนำมาปรับปฏิบัติได้ใช่ไหมคะ

พ่อท่าน : ได้ซี แต่ว่าในพระอภิธรรมที่เรียนๆกันนั้น มันมีคำเกินอยู่ก็ไม่น้อย ที่อาจารย์รุ่นหลังมาเสริมเข้าไป ก็ไม่เป็นไร ไม่เสียหาย อะไร แต่บางอันก็มากไปหน่อย เราก็อย่าไปกังวล มันจะมากไปเราก็อย่าไปกังวล อันที่ใช้ได้นี่เยอะ ที่จริงในพระ อภิธรรม ก็ไม่ใช่ว่าจะมีภาษาคำเรียกสภาวธรรม-ลักษณธรรมครบครัน ไปทั้งหมด แต่ก็ต้องขอบคุณ ที่ท่านผู้รู้ ได้รวบรวม คำตรัสของพระพุทธองค์ไว้

นิสิต : แต่แนว...แนวทางในพระอภิธรรมก็ยังเป็นแนวทางที่ดี และสามารถเอามาศึกษา

พ่อท่าน : ต้องเรียนรู้ เวลาปฏิบัติคุณไม่รู้จักอภิธรรม คุณไม่รู้จักจิต เจตสิก รูป นิพพาน คุณจะรู้จักกิเลส เป็นอย่างไง ราคะ สราคะ สโทสะ สโมหะ มันเป็นอย่างไง คุณไม่รู้จักแล้วคุณจะไปล้างกิเลส ราคะ โทสะ โมหะได้ไง คุณจะต้องมีญาณ มีวิชชา ๘ จะต้องมีปัญญา หรือญาณ ที่อ่านจิตของตัวเองออก และมีวิชชา รู้แจ้งจริง ในสภาวะของจิต เจตสิก รูป นิพพาน จึงจะเป็น ผู้รู้แจ้ง เห็นจริง ถ้าไม่มี "วิชชา ๘" ก็ไม่สามารถ อ่านจิต -เจตสิก -รูป -นิพพานได้ ถ้ามีก็อ่านลีลาของจิตออกด้วย โอ้....อย่างนี้ เป็นราคมูล อย่างนี้เป็นโทสมูล อย่างนี้ เป็นโมหมูล แล้วเราจะลดอย่างไง ปฏิบัติอย่างนี้ถูกไหม แล้วลดได้ไหม โอ๋..ลดได้แล้ว แต่ยังไม่ได้มาก ยังแค่สังขิตตัง จิตตัง หรือแค่วิกขิตตัง จิตตัง มันยังไม่ดี มันมีสองลักษณะ สังขิตตัง กับ วิกขิตตัง ทำให้มันดี ให้มันสูงขึ้น เป็นมหัคคตะให้ได้ อะไรอย่างงี้ เป็นต้น ทำไปเรื่อยๆ จนเป็นอนุตตรัง จิตตังให้ได้

นิสิต : ถ้าอย่างนั้น อย่างพวกเรานี่เข้ามาเรียนปริยัติในมหาจุฬาฯ นี่ไม่ผิดทางใช่ไหมคะ เราควรจะทำอย่างไร

พ่อท่าน : ถ้าเรียนเรื่องโลกมากเกินไป แล้วก็เรียนไม่มีปฏิบัติไปด้วยนี่ ไม่มีชุมชนที่เป็นองค์ประกอบของ มิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดี ที่เอื้อให้ปฏิบัติสมบูรณ์ ก็ปฏิบัติ-ก็เรียนแต่ภาษากันไป ก็เหมือนกับ มหาวิทยาลัย โลกๆ ทั้งหลายนั่นแหละ เรียนแล้ว ก็เอาไปตีราคา ได้เงินเดือน ได้ราคา ตามอัตราโลกน่ะ ปริญญาตรี เท่านี้ โทเท่านี้ เอกเท่านี้ ก็เท่านั้นเอง มีลาภมียศ มีสรรเสริญมีโลกียสุขไป

นิสิต : นั่นหมายถึงว่าการเรียนของพวกเราควรจะมีแนวปฏิบัติควบคู่ไปด้วย

พ่อท่าน : ใช่ ต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติก็เรียนรู้เป็นโมฆบุรุษ คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมะพระพุทธเจ้า หรือ แม้จะปฏิบัติ แต่ไม่บรรลุ มรรคผล ในชาตินี้ ต่อให้รู้ธรรมะของพระพุทธเจ้า ชนิด.."รู้พระพุทธพจน์ก็มาก จำพระพุทธพจน์ ได้มาก สั่งสอนคนก็มาก แต่ตนเอง ไม่บรรลุธรรม ในชาตินี้" พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนชนิดนี้คือ "ปทปรมบุคคล" คนบัวเหล่าที่ ๔ คือบัวใต้โคลนตม ก็เป็นคนสูญเปล่า เกิดมาเป็นพุทธปานฉะนี้ ยังเป็น "โมฆบุรุษ" คือเกิดมาสูญเปล่า ไม่ได้อะไรไปเลย ก็คิดดูดีๆกันนะ มันควร จะต้อง มีมรรคมีผล ติดตัวไป ในชาติหนึ่งๆ จะน้อยจะมากก็แล้วแต่ ถ้าไม่ได้บรรลุเลยนั่นคือโมฆบุรุษ เรียนแต่ปริยัติเลยนี่เ กิดอัตตา คนรู้ปริยัติ เยอะแยะ ปฏิบัติไม่เป็น แล้วมันจะไม่สอดคล้อง

นิสิต : พวกเรากำลังห่วงเหมือนกันค่ะว่า เรากำลังสร้างอัตตามากขึ้นหรือเปล่านะฮะ

พ่อท่าน : อ้าว..เป็นจริง แล้วคนเราเกิดอัตตาหรือเกิดกิเลสนี่มันไม่รู้ตัวหรอกนะ ถ้าไม่ศึกษา ไม่ฝึกปฏิบัติ จะไม่รู้ตัว มันไม่รู้ จริงๆ ขนาดปฏิบัติแต่ไม่สัมมาทิฏฐิ ก็ไม่สามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริงเลย ไม่รู้หรอกว่าเกิดมีอัตตา มีไปใหญ่โตปานไหนก็ไม่รู้ หลงผิด ด้วยซ้ำ อย่าง "มโนมยอัตตา"ที่นักปฏิบัติสมาธิหลับตาพากันหลงนี่ มากมายเลย มันไม่รู้กันได้ง่ายๆ ต้องมาศึกษาปริยัติ ให้สัมมาทิฏฐิก่อน แล้วปฏิบัติให้สัมมาอีก ถึงจะรู้ว่า อ๋อ..อัตตา เป็นอย่างนี้ นี่คือโอฬาริกอัตตา นี่คือมโนมยอัตตา นี่คือ อรูปอัตตา เป็นอย่างนี้ๆเองนะ... แล้วก็จะมีวิชชา หรือ มีญาณหยั่งรู้ดีขึ้นๆ สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

เมื่อเรามีวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณ วิชชา ข้อที่ ๑ ไม่ใช่ไปนั่งหลับตาปฏิบัติแล้วก็ค่อยยกจิตขึ้นสู่ วิปัสสนา อย่างที่สอนๆ กันมานั้น ไม่ใช่อย่างนั้น นั่นมันไม่ใช่"อธิปัญญาสิกขา"ที่ปฏิบัติมรรคอันมีองค์ ๘ วิปัสสนา ก็แปลว่า "ญาณที่เห็นของจริง ตามที่เป็นอยู่จริง" ต้องมี"ญาตปริญญา -ตีรณปริญญา -ปหานปริญญา" ตามหลักปริญญา ๓ และมีอนิจจานุปัสสี มีวิราคานุปัสสี มีนิโรธานุปัสสี มีปฏินิสสัคคานุปัสสี ตามหลักอนุปัสสี ๔ เป็นต้น ต้องตามเห็น ความไม่เที่ยง ตามเห็น ความลดละ จางคลาย แล้วปฏิบัติ ได้มรรคผล ตามเห็นความดับของกิเลสหรือของเหตุของมัน ต้องมีจิตตามไปรู้เลย เป็นญาณธาตุ ที่ตาม ไปรู้จริงๆ เป็นวิปัสสนาญาณ ญาณที่ตามเข้าไปรู้ ตามไปเห็น ปัสสา ปัสสี นี่เป็นการเห็น มันไม่ใช่ ตาเนื้อเห็น แต่มีญาณธาตุไปเห็น เห็นลักษณะของมันแท้ๆ มีอาการ-ลิงค-นิมิต มีเครื่องหมายให้รู้ มีลิงคะ ก็เอ้อ.. อาการ อย่างนี้ มันคือโทสะ อาการอย่างนี้คือราคะ มันมีลิงคะ มันต่างกันนะ อาการมันต่างกัน นิมิต มันมีบอกเรา เครื่องหมาย บอกให้เรารู้ว่าอย่างนี้คืออะไร อย่างนั้นคืออะไร เป็นต้น ต้องรู้นามรูป ด้วยอาการ -ลิงคะ -นิมิต -อุเทศ อุเทศคือยกหัวข้อมาชี้แจง อธิบายให้ฟัง คุณฟังเข้าใจแล้วก็ไปปฏิบัติ ต้องปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติแล้วก็ถึงจะรู้จักตัวของจริงความจริง แล้วจึงจะลดละ ตัวกิเลส ที่จริงได้ อาสวะ เราก็ต้องเห็น อาสวะ สิ้นของเรา มีญาณรู้อาสวะสิ้น เป็นอาสวักขยญาณ ต้องรู้ชัดเจนว่า อาสวกิเลส คืออย่างนี้ ปริยุฏฐานกิเลส คืออย่างนี้ วีติกกมกิเลสคืออย่างนี้ อนุสัยกิเลสคืออย่างนี้ หมดแล้ว ดับสิ้น อนุสัย-อาสวะ คือ อย่างนี้ มันต้องรู้เห็น ด้วยญาณด้วย "วิชชา ๘" ถ้าไม่รู้ มันก็ไม่จริง เพราะมันไม่มี กิจจญาณ หรือมี แต่ไม่สัมมา ก็ไม่รู้แจ้งถึง กตญาณ มันต้องปฏิบัติ เห็นความจริง มีสัจจญาณ เห็นจริงๆเลย เรามีญาณเห็น ญาณรู้ ปฏิบัติอยู่ เป็นกิจจญาณ ว่า เออ.... เราปฏิบัติได้ก็ได้ ยังไม่ได้นะตอนนี้ สู้มันอยู่ ต้องมีสภาวะที่เราเห็น เออ.. นี่เสร็จแล้ว จบแล้ว กตญาณ มันต้องรู้แจ้ง จริงด้วยญาณ มีญาณตัวจบของเรา เรารู้ว่าโอ้.. อย่างนี้ สมบูรณ์แล้ว เสร็จกิจแล้ว อาตมาเขียนไว้ในหนังสือพวกนี้ไว้ ก็ลอง อ่านดูบ้าง ก็..แม้กระทั่งที่สุด เวทนา ๑๐๘ นี่ ท่านให้รู้จัก แม้แต่กาละขั้น อดีต -ปัจจุบัน -อนาคตของเวทนา อดีต ๓๖ ปัจจุบัน ๓๖ อนาคต ๓๖ เกิดจาก อะไร ๓๖ เกิดจากอะไร แล้วทำไม จึงรู้จักอนาคต หรือทำไมจึงรู้ความจบ ถ้าไม่รู้อันนี้ ไม่รู้ความจบ ด้วย ถ้ามีญาณ รู้เวทนาถึง ๑๐๘ นี่จะรู้ความจบได้ เพราะเราจะรู้อนัตตา อนัตตานี่ มันคือสูญ ความไม่มีตัวตน ของกิเลส เพราะฉะนั้น เราทำสูญ จนกระทั่ง สั่งสมเป็นอดีตได้ ร้อยสูญ พันสูญ หมื่นสูญ แสนสูญ พอถึง ปัจจุบันใด เราก็สามารถทำ "สูญ" คือ กิเลสสูญ ได้ตลอด เหตุนี้เราก็สูญ สูญจนเที่ยงแท้ จนมั่นคง จนตั้งมั่น จนเรามั่นใจเลย เป็นนิจจัง ธุวัง สัสสตัง อวิปริณามธัมมัง อสังหิรัง อสังกุปปัง พระพุทธเจ้า ตรัสบอกไว้ หมดเลย เป็นเครื่องวัด ต้องนิจจัง ต้องเที่ยงแท้ ต้องธุวัง ต้องมั่นคง ต้องสัสสตัง ต้องเป็นไป อย่างนี้ ตลอดกาล อวิปริณามธัมมัง ไม่มีเป็นอื่น อสังหิรัง ไม่มีอะไรมาหักล้างได้ อสังกุปปัง ไม่กลับ กำเริบอีก เด็ดขาดเลย ต้องรู้แจ้งเห็นจริงว่าของเรามั่นคงอย่างนี้จริงๆนะ เพราะงั้น ตัวที่มันเป็น นิพพานแล้ว ที่สมบูรณ์ นี่ได้แล้ว ได้เลย เป็นกตญาณ ต้องมีกตญาณที่ตรัสรู้เลยว่า จบกิจ ไม่ต้องทำอีก อย่างนี้เป็น ตถตา มันเป็นเองเลย เป็นเช่นนั้นเอง คือเป็น "สูญ" อย่างอัตโนมัติเลย ไม่ต้องไปทำอะไรมันอีก จะตีลังกาหกคะเมน เป็นอรหันต์ จี้กง กินเหล้าก็สูญ จะตีลังกา หกคะเมนอย่างไง ก็ไม่มีใคร จะมายั่ว มายวน มากระทุ้ง กระแทก ได้อีกแล้ว "สูญ" สูงสุดคืนสู่สามัญ เหมือนคน สามัญ แต่จิตของท่าน สูญดับ ไม่มีเกิดอีก ตายสนิท ไม่มีฟื้น เพราะฉะนั้น อรหัตผล ไม่มีการฟื้น

ที่พูดเมื่อกี้บอกว่า พระอรหันต์เจ้า ตายแล้วกลับมาเกิดอีกได้ไหม? อรหัตผลไม่มีการเกิดอีก แต่เรื่องของ ร่างกาย ของพระอรหันต์ แม้พระอรหันต์ ตายทางร่างกาย แตกตาย คือ กายัสสะ เภทา นั้นจะมาเกิดอีก เกิดได้ ต่อพุทธภูมิได้ เพราะจบวิชาอรหันต์นั้น มันแค่ใบไม้ กำมือเดียว แต่ถ้าจะเรียน ให้ถึงพุทธภูมิ สู่ความเป็น "อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า" นั้นในใบไม้ทั้งป่านะ อย่างนี้.. ทางร่างกาย เกิดมาอีกได้ สำหรับ ผู้ที่มีผลถึง อรหันต์แล้ว อรหัตผลเป็นอรหันต์แล้วนี่ เกิดมาอีกกี่ชาติ โลกไม่ได้ขาดทุน แล้วพระอรหันต์ ส่วนมาก ท่านบรรลุอรหันต์แล้วส่วนมาก ท่านก็ตั้ง พุทธภูมิ เพราะท่านต้อง กตัญญูกตเวที ต่อศาสนา ต่อพระพุทธเจ้า และท่านก็ไม่มีทุกข์อีกแล้ว เกิดอีก มันก็ไม่มีทุกข์อีกแล้ว มีแต่จะสร้างประโยชน์ แต่มันเหนื่อย มันหนัก หรือ มันทรมานสาหัส เท่านั้นเอง มันไม่มีทุกข์หรอก แต่มันก็ไม่ง่ายเลย ท่านต้องเรียนรู้ เพิ่มเติม เป็นโพธิสัตว์นี่ ยากมาก ไม่ทุกข์แต่ยาก ทรมาน สุดแสนสาหัส เพราะงั้น พระโพธิสัตว์นี่ ปฏิบัติบำเพ็ญไป นานๆ เข้า เป็นอนุโพธิสัตว์ เป็นอนิยตโพธิสัตว์ไป ไม่นานไม่ช้า ก็ขอ retire บ๊ายบาย กันเยอะแยะ ก็ตัดช่องน้อย หนีไป ปรินิพพานไป ไม่ต่อภพภูมิอีก ก็ retire ตนเองไป ส่วนพระอนิยตโพธิสัตว์ ที่ทนต่อสู้ไหว ก็สู้ไป จนกว่าจะเลื่อนชั้นเป็น นิยตโพธิสัตว์ เป็นมหาโพธิสัตว์ กว่าจะเข้ารอบ ที่จะเป็น นิยตโพธิสัตว์ มันไม่ใช่ แค่เรียน ร้อยชาติ พันชาติ มันนับชาติไม่ถ้วน ดังนั้น ผู้ได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่ก็ โอ้ย..อีกไม่รู้ กี่ล้านๆปี ก็เป็น เรื่องจริง ศึกษา ใบไม้ทั้งป่า ก็ว่ากันไป แต่เป็นประโยชน์ต่อโลก เพราะคนนี้ ไม่มีทุกข์ ไม่มีภัย ไม่มีทุกข์ ของตนเอง และไม่มีภัย ให้ใครๆในโลก ท่านไม่มาทำบาป ทำเวรให้ใคร แต่ท่านมาช่วยโลก จึงเรียก โพธิสัตว์ เป็นผู้ มาช่วยโลก ผู้รื้อขนสัตว์ ก็มีของจริงนะ..ต้องศึกษา ต้องเห็นจริง เห็นเอง ปัจจัตตัง เป็นตถตา เป็นเช่นนั้นเองเลย จนกว่าจะได้เป็น ตถาคตา ได้แล้ว มันไม่ต้องไปทำอีก อย่างฤาษี นั่งสมาธิ สะกดจิตนี่ ไปถามท่านหลวงตา ที่เชี่ยวชาญสมาธิฤาษี ทุกองค์ซิ ท่านก็ยังต้อง นั่งสมาธิของท่าน อยู่ทุกวัน มันไม่จบ กิจหรอก ท่านไม่นั่งไม่ได้ ไม่นั่งเดี๋ยวก็เรื้อ เดี๋ยวไม่สงบ แต่ของพระพุทธเจ้า ที่เป็นโลกุตระ สัมมาทิฏฐินี่ ไม่ต้อง ไปนั่งสมาธิอีก ไม่ต้องไปทำอีก จบแล้ว ก็จบเลย มีดับทุกข์ได้ สลัดคืนได้ ปฏินิสสัคคะ สูงสุดคืนสู่สามัญได้ ครบอาริยสัจสี่ ครบสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ จบปริวัฏฏ์ ๑๒ แล้วไม่ต้องปฏิบัติอีกเป็น ตถตา มันเป็น ในตัว ผู้นั้นเองเลย เป็นเองแล้ว ตถตา นี่แปลว่า เป็นอย่างนั้นเอง ซึ่งอาตมามีนัยสำคัญ ต่างกันกับ ท่านพุทธทาส คำว่า ตถตานี่ เป็นเช่นนั้นเอง ตถตานี่คือ คุณธรรมที่ได้แล้ว เป็นโดยอัตโนมัติ ของผู้นั้นแล้ว จบกิจแล้ว เป็นแล้วเป็นเลย เป็นตถตา พระพุทธเจ้า ก็เรียกว่า ตถาคตา เป็นเช่นนั้นเอง เป็นความจริง ที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่า ตถตา ระดับพระสาวกก็เป็นตถตา ส่วนพระพุทธเจ้า ก็เป็น ตถาคตาไปเลย ตถาคต ท่านก็เป็นอย่างนั้นเอง ของท่านเลย เป็นไปเอง เป็นในตนเอง เป็นเช่นนั้นเอง เป็นความแท้จริง นั้นแล้ว ไม่ต้อง ไปปฏิบัติอีก


เสร็จจากการสนทนาซักถามกับพ่อท่านแล้ว คุณไฟงานหรือวิศิษฏ์ จิตตนุปัสน์ ได้สัมภาษณ์พระนิสิตรูปหนึ่ง จากส่วนที่ได้ สัมภาษณ์สั้นๆ ดังนี้

"อาตมาภาพพระมหาบุญนภัสร์ ถิรปุณโญ นิสิตมหาจุฬาลงกรณ์ ระดับของปริญญาโท ได้มาศึกษาดูงาน ของพุทธสถาน สันติอโศก ก็ได้เห็นความเป็นอยู่ของชาวอโศกว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยหลักพุทธธรรม เรียกว่าการใช้ระบบ สาธารณโภคี การบริโภคใช้สอยแบบพี่น้อง แบบองค์รวม นำระบบของสังฆะ แห่งพุทธะ มาปรับใช้ หรือว่าประยุกต์ใช้ด้วยดี มีคุณภาพ มีทั้งหลักการบริหารทางด้านสาราณียธรรม การประชุมองค์กร กิจกรรมต่างๆ มีการประชุม แล้วก็การเป็นอยู่ ที่เรียกว่า ไร้มลพิษภาวะ ถึงแม้สังคมโลกก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยี แต่ว่าสังคมของอโศกนั้น อยู่แบบธรรมชาติ เรียกว่า เป็นระบบ รากหญ้าของชุมชน ที่จะสร้างพลังที่ว่า ความเป็นอยู่ ของตนเอง หรือว่านำทฤษฎีของในหลวง หลักเศรษฐกิจ พอเพียง หลักการ พึ่งตนเอง โดยถึงแม้ สังคมโลก จะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ว่าการใช้ชีวิตอย่างพึ่งตนเอง ตามระบบของธรรมชาติ สังคมโลก จะเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม แต่ว่าชุมชนนี้สามารถดำรงอยู่ ด้วยตามหลักของความพอเพียง เป็นอยู่ตาม ธรรมชาติ กฎเกณฑ์ต่างๆที่ใช้ก็ใช้หลักพุทธธรรมตามพระไตรปิฎกนำมาปรับใช้ ก็คือว่าพัฒนาชุมชนได้ดี เรียกว่า การนำ ศรัทธาของชุมชน ของคนที่เห็นว่าชุมชนนี้เขาอยู่กันอย่างพี่น้อง อยู่กันอย่างศรัทธา อยู่กันอย่าง เรียกว่า ไม่เบียดเบียน ธรรมชาติเลย เราก็จะพบได้จากชุมชนของชาวอโศก ที่สามารถ เป็นอยู่ได้ จริงๆ ตามวิถีชีวิตของคนเมือง ซึ่งชุมชนอโศกตรงนี้ ซอยนวมินทร์ ๔๔ หรือว่า ๔๖ แถวนี้ เป็นชุมชนเมืองแท้ๆ ถ้าเราดูภาพ ด้านนอก มีกลุ่มชุมชนหนึ่ง อยู่แบบสมถะ และสันโดษ พอเพียง มีความจริงใจ มีความเอื้ออาทร มีความสามัคคี เรียกว่า ภราดรภาพ ความเป็นพี่เป็นน้อง จะเห็นได้จาก ชุมชนอโศก ความประสาน สามัคคี ทำงานร่วมกัน การประชุม การจัดสรรองค์กร หรือว่าบูรณาการครบองค์รวม ตามหลักของธรรมะ ที่สามารถ ประยุกต์ใช้ได้ อย่างดีเยี่ยม ชุมชนนี้จะตั้งอยู่ได้ ถึงแม้เศรษฐกิจสังคม จะพัฒนาไปขนาดใดแล้ว ชุมชนนี้ จะไร้ อุปสรรค ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม เพราะว่าสังคมโลกเกิดมลพิษภาวะสิ่งแวดล้อม แต่มาดูชุมชนอโศก แม้แต่ ความเป็นอยู่ ทางด้านการบริโภค การใช้สอยนี่ ก็จะใช้ระบบธรรมชาติ โดยเกื้อกูลธรรมชาติ จะไม่เบียดเบียนกัน เราจะเห็น ชุมชนนี้เป็นชุมชนมังสวิรัติ หยุดการเบียดเบียนสรรพสัตว์ การใช้พืชพันธุ์ ธัญญาหาร ในการดำรงชีวิต ซึ่งทำได้จริงๆ ในวิถีชีวิต ไม่ใช่ว่า ทำไม่ได้ แล้วชุมชนนี้มีคนเป็นจำนวน ๑๐๐ จำนวน ๑,๐๐๐ และเป็นอยู่กันได้จริง แล้วก็ชื่นชมว่า ชุมชนนี้ ทำได้จริงๆ ตามหลักของธรรมชาติ ถือว่า เป็นทางสายกลาง ก็ว่าได้ ก็เป็นได้จริง"

คุณวิศิษฏ์ : แล้วตรงนี้นี่ฮะ ตรงเป้าที่ท่านได้มาศึกษาไหมครับ ตามหลัก Fundamental

พระมหาบูรภัทร : เป็นการศึกษาดูว่าชุมชนของชาวอโศกจะเป็นไปตามหลักนั้นไหม ว่าเป็นไปไหม หรือเป็น การเปลี่ยนแปลง เพราะว่าการสืบทอดอายุทางศาสนา ทุกคนมีความคิดและทัศนคติไม่เหมือนกันเท่าไหร่ แต่ว่าใคร จะปรับใช้อย่างนั้น ก็เป็น สิทธิเสรีภาพ ตามบทบาทของการนับถือศาสนาว่า เราจะนับถือศาสนาใด ก็ได้ ซึ่งสังคมโลก จะเริ่มเปิดกว้าง แล้วใน ประเทศไทย ก็เปิดสังคมเป็นเวทีกว้างขวาง ในยุคของ ประชาธิปไตย แล้วก็เป็น เส้นทางเลือก แล้วก็ตรงนี้ เป็นการปรับใช้ หลักพุทธธรรมมากกว่า ตามหลักนั้น เป็นสังคมที่ถูกกดดันทางด้านศาสนา มีแรงผลัก เกิดอาการเบียดเบียน อีกชุมชนหนึ่ง ก็จะแสวงหาว่า วิถีทาง ของการจะรวมกลุ่มต่อต้าน เพื่อไม่ให้มีการเบียดเบียนกัน แล้วก็ปรับประยุกต์ใช้ ให้มันเกิด ผลประโยชน์ ทางด้าน สันติสุข มันเป็นตัวนั้นมากกว่า ซึ่งต่างกัน

คุณวิศิษฏ์ : อืม....ฮะ ท่านจะมีข้อฝากอะไรกับชาวอโศกบ้างไหมครับ

พระมหาบูรภัทร : ข้อฝากชาวอโศกก็คือ ก็ขอให้ชาวอโศกนั้นได้มีพลังใจ แล้วก็สร้างชีวิต วิถีชีวิตนี้ ให้เป็น ส่วนหนึ่ง ของสังคมไทย ถึงแม้ไม่ได้เป็นไปทั้งหมด ตามบทบาทหรือกลไกอะไรก็ได้ แต่วิถีชีวิตนี้ถือว่า เป็นทางเลือก ที่ดี แล้วก็มอง ภาพรวม ของชุมชนอโศก มีความสุขอยู่แล้ว ก็รักษาความสุขนี้เอาไว้ อย่างน้อย ก็เป็นส่วนหนึ่ง หรือว่าเป็น ประทีปดวงน้อย ถ้าหากใครบางคน เขาสิ้นหวัง หมดหวัง แต่ชาวอโศก สามารถ พึ่งพาตัวเองได้ ประทีปดวงนี้ อาจจะจุดประกายไฟ แห่งชีวิต ให้อีกหลายชีวิต ที่กำลังสิ้นหวัง กลับมีพลัง ฟื้นขึ้นมาใหม่ แล้วก็ชุมชนจะเติบโตได้อย่างมั่นคง แล้วก็ไม่ล่มสลาย เป็นส่วนหนึ่งของไทย ตลอดไปก็แล้วกัน

- รักข์ราม. -
๒๙ ก.ย. ๒๕๔๘

-สารอโศก อันดับ ๒๔๗ กันยายน ๒๕๔๘ -