พระสาคตเถระ

ศรัทธา มาบวช มากฤทธิ์
พิชิต งูพิษ ช่างง่าย
แต่พ่าย สุรา เมามาย
เหล้าร้าย กว่างู เยอะเลย


พระสาคตเถระได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ดังในสมัยของ พระพุทธเจ้า องค์ปทุมุตตระ ท่านได้เป็นพราหมณ์มีนามว่า โสภิตะ พอได้พบเห็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เกิดจิตศรัทธาอย่างยิ่ง กล่าวชื่นชม ด้วยจิตกุศล อย่างเลื่อมใส จริงใจว่า

"ต้นไม้ทุกชนิดงอกงามบนแผ่นดิน ฉันใด สัตว์ผู้มีความรู้ก็ฉันนั้น ย่อมงอกงามในศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงถอนคน เป็นอันมากให้ออกจากทางผิด แล้วตรัสบอกทางที่ถูก ทรงฝึกพระองค์ แล้วแวดล้อมด้วย ผู้ฝึกตน ทรงเพ่งฌาน แล้วแวดล้อม ด้วยผู้เพ่งฌาน ทรงมีความเพียร แล้วแวดล้อมด้วย ผู้ส่งตนไปดี สงบระงับและคงที่"

พระปทุมุตตรพุทธเจ้าทรงเห็นโสภิตพราหมณ์มีจิตเลื่อมใสแท้จริง ทั้งทำบุญด้วยการกล่าววาจาอันเป็นกุศลอย่างนั้น จึงได้ทรงพยากรณ์ว่า

"พราหมณ์ผู้มีจิตศรัทธาเราอย่างยิ่งนี้ จะได้บวช จะได้บรรลุธรรมในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม ในกาลภายภาคหน้า"

ครั้นโสภิตพราหมณ์ละจากชาตินั้นแล้ว ได้รื่นรมย์อยู่ในเทวโลก(โลกของผู้สุขสบาย)ตลอดแสนกัป(แสนชาติ) จนกระทั่ง เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้นตักเตือน จึงได้มาเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม เป็นพราหมณ์ อยู่ในนคร สาวัตถีของแคว้นโกศล บิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า สาคตะ(ผู้ถึงดีแล้ว)

วันหนึ่งได้มีโอกาสฟังธรรมของพระศาสดา ก็บังเกิดจิตเลื่อมใสแรงกล้าในทันที จึงขอบวชใน พระพุทธศาสนา ฝึกฝนบำเพ็ญ เพียรอย่างยิ่ง เพื่อละกิเลสทั้งหลาย โดยละการกระทำอันลามกด้วยกาย ละวจีทุจริต และมโนทุจริต ทั้งภิกษุสาคตะ ก็ยังเป็นผู้ชำนาญ ในเตโชธาตุมีฤทธิ์มาก อันเป็นฤทธิ์ทางโลกีย์อีกด้วย

มีอยู่คราหนึ่ง ภิกษุสาคตะได้เป็นอุปัฏฐาก(ผู้รับใช้ดูแล)ของพระศาสดา พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอยู่ใน เจติยชนบท ถึงตำบล บ้านภัททวติกา(บ้านรั้วงาม) ที่นั่นพวกคนเลี้ยงวัว พวกทำปศุสัตว์(สัตว์เลี้ยง) ชาวนา และคนเดินทาง พอได้พบกับ พระศาสดา แล้ว ต่างพากันถวายบังคม กราบทูลเตือนว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าได้เสด็จไปที่ท่าอัมพะ(ท่ามะม่วง)เลย เพราะมีนาค(งูใหญ่)ตัวหนึ่งชื่อ อัมพติฏฐกะ อาศัยอยู่ในอาศรมของชฎิล(ฤาษีมุ่นผมเป็นมวยสูงนิยมบูชาไฟ) เป็นอสรพิษที่ฤทธิ์มาก มีพิษร้าย มันจะเบียดเบียน ทำร้ายพระองค์ได้ พระเจ้าข้า"

แม้พวกเขาจะกราบทูลอย่างนั้น พระองค์ก็ทรงทำอาการดุษณี(อาการนิ่งไม่พูด) พวกเขาจึงย้ำเตือน แก่พระศาสดาอีกถึง ๒ ครั้ง แต่พระองค์ยังคงเสด็จไป แล้วประทับอยู่ ณ ราวป่าใกล้ๆท่าอัมพะนั้นเอง

ภิกษุสาคตะซึ่งคอยติดตามรับใช้พระศาสดา จึงได้ไปยังท่าอัมพะด้วย แล้วเข้าไปในอาศรมของชฎิล ปูลาดหญ้า เป็นที่รองนั่ง ตรงโรงบูชาไฟ อันเป็นที่อยู่ของนาคนั้น นั่งลงคู้บังลังก์(นั่งขัดสมาธิ) ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้ เฉพาะหน้า

นาคพอเห็นภิกษุสาคตะกระทำท้าทายเช่นนั้น ก็ขุ่นเคืองดุร้ายขึ้นมาทันที พ่นควันหวนตลบขึ้น แม้ภิกษุสาคตะ ก็แสดงฤทธิ์ ข่มนาคบ้าง ทำให้เกิดควันหวนตลบขึ้นเช่นกัน เสมือนโดนลบหลู่นาคยิ่งทนไม่ได้ จึงพ่นไฟ ร้อนแรงเข้าใส่ ภิกษุสาคตะ ก็เพ่งจิตเข้าสู่เตโชธาตุกสิณ บันดาลไฟพุ่งออกต้านทานไว้ ฤทธิ์เดชของนาค ไม่อาจข่ม ภิกษุสาคตะได้ แต่ฤทธิ์ของภิกษุสาคตะ กลับข่มนาคไว้ได้ ในเวลาเดี๋ยวเดียว... ก็กำราบนาคนั้น ให้เชื่องได้ แล้วจึงกลับไปคอยรับใช้พระศาสดาตามเดิม

วันรุ่งขึ้น พระศาสดาเสด็จจาริกไปสู่นครโกสัมพีเมืองหลวงของแคว้นวังสะ

พวกชาวนานครโกสัมพีซึ่งได้รู้ข่าวว่า ภิกษุสาคตะต่อสู้ด้วยฤทธิ์ชนะนาคดุร้ายตัวนั้นแล้ว ต่างพากัน มุ่งหน้า มารับเสด็จ พระศาสดา แล้วเข้าไปหาภิกษุสาคตะด้วยความเคารพศรัทธายิ่ง โดยไถ่ถามและปวารณา (เปิดโอกาส ให้ขอ) ว่า

"พระคุณเจ้าผู้เจริญ สิ่งใดที่ท่านปรารถนาและหาได้ยาก นิมนต์บอกสิ่งนั้นเถิด พวกเราจะจัดมาถวาย ให้แก่ท่าน"

แต่ภิกษุสาคตะนิ่งเฉยเสีย มิได้ว่ากล่าวอะไร มีแต่พวกภิกษุฉัพพัคคีย์(ภิกษุกลุ่มหนึ่งมีกัน ๖ รูป) พากัน กล่าวว่า

"ดีสิ ! จงนำสุราใสสีแดงดังสีเท้านกพิราบมาถวายเถิด เพราะเป็นของหาได้ยาก และเป็นของน่าชอบใจ อีกด้วย"

ชาวนครโกสัมพีได้ยินเช่นนั้นก็รับคำ แล้วกลับไปจัดเตรียมสุราเอาไว้ยังเรือนของพวกตน (ในเวลานั้น พระพุทธเจ้า ยังมิได้ ทรงบัญญัติห้ามดื่มสุรา)

ครั้นรุ่งเช้า.....ภิกษุสาคตะเข้าไปบิณฑบาตในพระนคร แต่ละครัวเรือนพอได้เห็นภิกษุสาคตะมา ต่างพากันกล่าว อัชเฌสนา (นิมนต์) ว่า

"นิมนต์พระคุณเจ้าสาคตะ เชิญดื่มสุราใสสีแดงดังสีเท้านกพิราบนี้เถิด เจ้าข้า

นิมนต์ดื่มสุราใส.....

นิมนต์ดื่ม....."

ภิกษุสาคตะจึงได้ดื่มสุราไปทุกๆครัวเรือน ครั้นเวลาขากลับออกจากเมือง ก็เมาสุราจนเดินทรงกายไว้ไม่อยู่ ล้มกลิ้ง นอนฟุบอยู่ ตรงประตูเมืองนั้นเอง

พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับทางประตูเมืองนั้น พร้อมด้วยภิกษุอีกเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตร เห็นภิกษุ สาคตะ ล้มฟุบอยู่ จึงรับสั่งกับภิกษุว่า

"ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงช่วยกันหามเอาท่านสาคตะไป"

ภิกษุเหล่านั้นช่วยกันหามภิกษุสาคตะกลับคืนสู่อาราม แล้วให้นอนหันศีรษะไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่เพราะความเมา ไม่มีสติ ที่สุดภิกษุสาคตะก็กลับนอนเหยียดเท้าหันเท้าทั้งสองไปทางพระศาสดา เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นอย่างนั้น ได้ตรัสถาม กับหมู่ภิกษุว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านสาคตะปกติมีความเคารพเรา มีความยำเกรงเราตคาคต มิใช่หรือ"

"เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า"

"ก็แล้วบัดนี้ ท่านสาคตะมีความเคารพเรา มีความยำเกรงเราตถาคตอยู่หรือ"

"ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า"

"ก็ท่านสาคตะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก สามารถต่อสู้กำราบนาคที่ท่าอัมพะได้ มิใช่หรือ"

"ใช่ พระพุทธเจ้าข้า"

"ก็แล้วเดี๋ยวนี้ท่านสาคตะสามารถสู้ได้ แม้กับงูเล็กๆสักตัวหรือไม่"

"ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า"

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย น้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วมึนเมา ถึงแก่วิสัญญีภาพ(หมดสติ)นั้น ควรดื่มหรือไม่"

"ไม่ควรดื่ม พระพุทธเจ้าข้า"

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตำหนิว่า

"ฉะนั้น การกระทำของท่านสาคตะจึงไม่เหมาะ ไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไม่ควรดื่มน้ำ ที่ทำให้ผู้ดื่ม เมามาย การกระทำของท่านสาคตะนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ไม่เป็นไป เพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดดื่มสุรา(น้ำเมาที่กลั่นมา) และเมรัย(น้ำเมาที่หมักหรือแช่มา) ภิกษุนั้น ต้องอาบัติ (มีความผิด) ปาจิตตีย์(ชื่ออาบัติเบาอย่างหนึ่ง)"

นั่นคือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ ห้ามภิกษุดื่มน้ำเมาไว้แล้วตั้งแต่นั้นมา และเพราะเหตุการณ์ นั้นเอง ทำให้ภิกษุสาคตะ บังเกิดความสังเวชสลดใจในการกระทำไม่ดีของตน จึงตั้งใจเจริญวิปัสสนา กัมมัฏฐาน (พิจารณาให้รู้แจ้งตามจริง ในสิ่งที่ กระทำ) กำหนดรู้อาสวะ(กิเลสที่หมักหมมในสันดาน)ทั้งปวงแล้ว กระทั่ง เป็นผู้ไม่มีอาสวะ เหลืออยู่ บรรลุธรรม ได้สำเร็จ เป็นพระอรหันต์ มีคุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ (ความรู้ แตกฉาน ๔ ด้านคือ ๑. เนื้อหา ๒.ธรรมะ ๓.ภาษา ๔.ไหวพริบ) วิโมกข์ ๘ (สภาวะจิตหลุดพ้น ๘ ขั้นตอน) และ อภิญญา ๖ (ความรู้ยิ่ง ๖ อย่าง)

ดังนั้นพระศาสดาทรงยกย่องพระสาคตเถระว่า

"พระสาคตะนี้ เป็นผู้เลิศยอดกว่าภิกษุสาวกของเราทั้งปวง ในความเป็นผู้ฉลาดในเตโชธาตุ"

- ณวมพุทธ -
พุธ ๕ ต.ค. ๒๕๔๘
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๕๗๕ พระไตรปิฎกเล่ม ๔๐ ข้อ ๑๔๙ พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๓๔)

-สารอโศก อันดับ ๒๔๗ กันยายน ๒๕๔๘ -