งานมหาปวารณา '๔๘ ครั้งที่ ๒๔

ในกระแสสังคมปัจจุบันคนเรารับฟังกันน้อย สังคมจึงเกิดปัญหา สังคมชาวพุทธเป็นสังคมที่มีปัญหาน้อย เพราะรับฟัง คำติติงได้ รับฟังคำบอกกล่าวได้ ปวารณาคือ การที่ปวารณาตัวว่า จะเป็นคนที่น้อมตัวลงไปรับฟังสิ่งที่ผู้อื่นบอกกล่าว แม้ได้ยินมาก็ดี ได้ฟังมาก็ดี จะจริงหรือไม่จริงผู้รับต้องพิจารณาเอาเองโดยไม่ต้องมีเหตุผลโต้ตอบ ถ้าถูกต้องควรแก้ไข แม้ไม่ถูก ต้องวางใจ กิจกรรมของสงฆ์ชาวอโศกในปีหนึ่งจะมาประชุมร่วมกันโดยสงฆ์ชาวอโศก สรุปเรื่องราวกิจกรรมของ สมณะที่ทำมาในเวลา ๑ ปี แล้วมาบอกกล่าวกันในข้อบกพร่องมาและวางแผนพัฒนาการของกลุ่มชาวอโศกในรอบ ๑ ปีถัดไป

งานมหาปวารณาครั้งที่ ๒๔ จัดในระหว่างวันที่ ๔-๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ที่ปฐมอโศก จ.นครปฐม เริ่มเตรียมงานจาก การเข้าค่ายบูรณาการ การศึกษาบุญนิยม ของนักเรียนโรงเรียนสัมมาสิกขาทั่วประเทศ ระดับชั้น ม. ๔ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ ต.ค. - ๒ พ.ย. โดยนักเรียนมีการทำงานในภาคเช้าและภาคบ่าย ส่วนภาคค่ำเป็นการเรียนรู้วิชาการ ในช่วงนี้มีการปรับปรุง สถานที่ ในชุมชน บริเวณน้ำตก หาดทราย และถนนในหมู่บ้านเททรายปรับพื้นที่ มีการลอกคลองและจัดทัศนียภาพให้สวยงาม ทำให้ตึกพลาภิบาล ที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆดูโดดเด่น รายล้อมด้วยธรรมชาติที่น่ารื่นรมย์ กิจกรรมในงานมหาปวารณา แต่ละกิจกรรม ในแต่ละวันมีดังนี้



วันที่ ๔ พฤศจิกายน
เช้าตรู่ ๐๓.๓๐ น. สมณะเข้าสู่พิธีมหาปวารณาที่ศาลาวิหาร ส่วนฆราวาสมีกิจกรรม สัมมนาวิทยากรเครือข่ายกสิกรรม ไร้สารพิษ แห่งประเทศไทย(คกร.) ในโครงการจัดเตรียมเกษตรกรและชุมชน(อาสาสมัครเศรษฐกิจพอเพียง) สนับสนุนโดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดระหว่างวันที่ ๔-๕ พ.ย. ในช่วงเช้ากิจกรรมเริ่มในเวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ชั้นล่างศาลาวิหาร เป็นการฟังการบรรยาย เรื่องการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์เชิงบูรณาการตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดย คุณเบญจรัตน์ อนันต์พงษ์สุข ผอ. สำนักตรวจราชการ กรมพัฒนาที่ดิน หลังจากนั้นในช่วงเวลา ๑๐.๐๐-๑๐.๔๕ น. ฟังการบรรยายเรื่อง แนวทางการทำเกษตรอินทรีย์โดยใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดิน โดย คุณเสียงแจ๋ว พิริยพฤนต์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านบำรุงดิน ด้วยอินทรียวัตถุ กรมพัฒนาที่ดิน


เวลา ๑๐.๔๕-๑๑.๓๐ น. ฟังการบรรยายเรื่อง การแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดย ว่าที่ ร.ต.สมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ ผอ. ส่วนช่วยเหลือเกษตรกร หลังจากเสร็จสิ้นการบรรยาย สมณะได้เข้าสู่พิธี มหาปวารณา ที่ศาลาวิหารต่อ ฝ่ายฆราวาสรับประทานอาหารที่โรงครัวและโรงบุญ

ภาคบ่ายเริ่มในเวลา ๑๓.๐๐ น. ณ หอประชุมชาวบ้าน ซึ่งมีสมาชิก คกร. ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก จนต้อง ออกมานั่งนอกห้องประชุม ในช่วงแรกเป็นการบรรยายของ ผอ.ศูนย์คุณธรรม คุณนราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ให้ความกระจ่าง ในบทบาท ของศูนย์คุณธรรม ซึ่งได้ทำงานร่วมกับสถาบันบุญนิยม หลังจากนั้น เป็นการทำความเข้าใจร่วมกัน ของศูนย์ บุญนิยมสิกขา แต่ละแห่ง ๒ ประเด็นคือ ๑. พัฒนาคน ๒. ปรับปรุงฐานงานที่มีอยู่เดิม มีการหาวิธีทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เรียนรู้ กระบวนการจัดการการปรับปรุงศูนย์อบรมให้เป็นศูนย์บุญนิยมสิกขา ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก ศูนย์คุณธรรม กิจกรรม ได้เสร็จสิ้นในเวลา ๑๖.๑๐ น. แยกย้ายกันไปทำภารกิจส่วนตัวและรับประทานอาหารเย็น กิจกรรมในภาคเย็น เป็นการบรรยายเรื่อง นโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดย คุณสุนัย เศรษฐบุญสร้าง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ หอประชุมชาวบ้าน เครือข่ายได้เข้าใจเพิ่มขึ้น ว่าจะทำงาน ประสานกับหน่วยราชการอย่างไร กิจกรรมเสร็จสิ้นในเวลา ๒๑.๐๐ น.

วันที่ ๕ พฤศจิกายน
ในช่วงเช้ากิจกรรมฝ่ายสงฆ์ทำพิธีมหาปวารณา ส่วนฆราวาสมีกิจกรรมโรงบุญ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ชุมชนบุญนิยม ที่ต่างๆ บริการอาหารบริเวณถนน ระหว่างศาลาวิหารไปโรงครัว ในปีนี้โรงบุญเปิดบริการในเวลา ๐๗.๐๐-๐๙.๐๐ น. และ ๑๑.๐๐-๑๕.๐๐ น. และที่โรงครัวเป็นอีกจุดหนึ่งที่บริการอาหารแก่ญาติธรรม เช้าของวันนี้เป็นบรรยากาศพักผ่อนสบายๆ พบปะ พูดคุยกัน ฉันพี่น้อง ส่วนภาคบ่ายเวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น. มีกิจกรรมประชุมการวางแผนงานปีใหม่และ งานเพื่อฟ้าดิน โดยมีพ่อท่าน เป็นประธาน บรรยากาศการประชุมคึกคัก แต่ละศูนย์ช่วยกันเอาภาระมีความสนใจ และ กระตือรือร้น ปีนี้เน้นเรื่อง สาธารณโภคี รวมเงินรวมของให้เป็นกองกลางมากขึ้นกว่าเดิม ในปีที่แล้วมีอยู่ ๔ ร้านคือเครื่องครัว พลาสติก น้ำมัน น้ำตาล เพิ่มขึ้นเป็นเครื่องจักรสาน เสื้อผ้า ไม้กวาด เงินกองกลาง ถูกจัดสรรไปตามข้อคิดเห็น ของที่ประชุม ว่าจะไปลงกับ สินค้าอะไร เป็นการถอดตัวถอดตน คณะทำงานมีคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น โดยมีทีมงานเดิมเป็นที่ปรึกษา งบประมาณกลาง ทางเครือข่ายย่อย ออกมาช่วยกันเพิ่มขึ้น งานปีใหม่ตลาดอาริยะ'๔๙ ที่จะถึงจึงเป็นการประกาศระบบ บุญนิยม โดยมีการบริหารด้วยระบบ สาธารณโภคี ที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในภาคเย็นเวลา ๑๘.๓๐-๒๑.๐๐ น. มีกิจกรรม การแสดงที่เวทีธรรมชาติ รายการภาคค่ำ ในวันนี้มีอุปสรรคฝนตกปรอยๆ แต่รายการต่างๆ ยังคงดำเนินไป แบบไม่ยี่หระ ต่อสายฝน กางร่มแสดง ทีมเวทีขวนขวาย หาผ้ายางคลุมเครื่องดนตรีเครื่องเสียง และคลุมกล้อง ที่ถ่ายทำ รายการ ผู้ชมนั่งหน้าเวทีเอาผ้ายาง หรือ กางร่ม ชมรายการจนการแสดงเสร็จสิ้น บรรยากาศในคืนนี้ จึงแตกต่างจาก รายการ ภาคค่ำ ในปีที่ผ่านๆมา ได้รับความกรุณา จากพ่อท่านนั่งกางร่มอยู่ร่วมรายการกับลูกๆ จนกิจกรรมเสร็จสิ้น แม้สภาพร่างกาย ท่านไม่ค่อยสบาย มีอาการไอ

รายการในคืนนี้มีการแสดงดนตรีไทย รีวิวพญาแร้ง รายการบูชาเชิดชูครูเพลงโลกุตระ ของทีมงานสื่อบุญนิยม นำบทเพลง ของพ่อท่าน มาขับร้องและพ่อท่านพูดคุยให้ลูกๆฟังถึงสภาวะของท่านหรือความเป็นมาของแต่ละเพลง รายการสุดท้าย เป็นรีวิว ประกอบเพลงที่ดูสวยงามตระการตาจากกลุ่มเพื่อนบุญอโศก กิจกรรมเสร็จในเวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น.



วันที่ ๖ พฤศจิกายน
ทำวัตรเช้าในเวลา ๐๓.๓๐-๐๕.๓๐ น. มีผู้มาร่วมฟังธรรมเป็นจำนวนมากแน่นศาลา พ่อท่านแจ้งผลการประชุมของหมู่สงฆ์ ดังนี้

๑. กำหนดให้ภูผาฟ้าน้ำมีสภาพเป็นแดนอโศก ๒ มีความเคร่งครัด สุขุม สำรวม เป็นพุทธสถานสมถะศึกษา ในส่วนของ ชุมชน ให้เป็นชุมชนเล็กๆ ถือศีล ๘ การศึกษาปรับเปลี่ยนคือในชั้นประถมศึกษามีทั้งนักเรียนหญิงชายได้ ส่วนมัธยมศึกษา ในปีต่อไปให้รับเฉพาะนักเรียนชาย สำหรับนักเรียนหญิงที่มีอยู่เดิมให้คงไว้ และเรียนต่อไปจนกว่าจะจบการศึกษาหรือลาออก หรือขอย้ายไปเรียนที่อื่นได้

๒. แจ้งปฏิทิน งาน พฟด. ที่หมู่บ้านราชธานีอโศกจัดในระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ ม.ค.'๔๙, งานฉลองหนาว ที่ภูผาฟ้าน้ำ จัดใน วันที่ ๒๗-๒๙ ม.ค.'๔๙, งานมหาปวารณาครั้งที่ ๒๕ ที่ชุมชนปฐมอโศก จัดในวันที่ ๓-๗ พ.ย.'๔๙

๓. ปรับวัฒนธรรมเรื่องกิน สมณะไม่ดื่มน้ำปาณะนอกมื้ออาหาร แม้น้ำสมุนไพรไม่ใส่น้ำตาล ก็ไม่ฉัน ฉันแต่น้ำเปล่า ยกเว้น สมณะอาพาธ

๔. พระอาคันตุกะดูตัวต้องบวช ๕ พรรษาขึ้นไป จึงจะสมัครดูตัวได้ พระดูตัวต้องเปลี่ยนผ้าจีวรให้สีแตกต่างจากสมณะ รวมทั้ง พระอาคันตุกะที่อยู่ปฏิบัติในหมู่ชาวอโศกเกิน ๑ เดือนก็ต้องเปลี่ยนสีผ้าจีวรเช่นกัน

๕. แต่งตั้งสมณะร่มเมือง ยุทธวโร เป็นอาจารย์ ๒

๖. งานฉลองหนาว งานปลุกเสกฯ งานพุทธาฯ งานอโศกรำลึก ในปี ๒๕๔๙ จะเป็นการฉลองปัญญาสมโภชน์ร่วมในงานด้วย

หลังจากนั้นพ่อท่านแจ้งรายชื่อสมณะที่ลงอารามต่างๆ โศลกธรรมปีนี้พ่อท่านให้ไว้ว่า "เอาแต่ใจตัว คือชั่วโดยอัตโนมัติ จะดีได้ต้องหัดให้ หัดเห็นใจคนอื่นเสมอ" ในช่วงท้ายพ่อท่านได้เล่าถึงเรื่องที่ท่านนำเสนอเศรษฐศาสตร์บุญนิยมออกสู่สังคม ซึ่งสามารถติดตามในหนังสือพิมพ์เราคิดอะไร หลังทำวัตรเช้าญาติธรรมตักบาตรเทโวและรับประทานอาหารที่โรงบุญ เวลา ๐๖.๓๐-๐๙.๐๐ น. เป็นการสัมมนากรรมการพรรคเพื่อฟ้าดินและสถาบันบุญนิยม ที่บริเวณชั้นล่างศาลาวิหาร พ่อท่าน เป็นประธาน ได้เน้นย้ำเป้าหมายการเมืองอาริยะ คือการมุ่งทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม โดยไม่มุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ มาให้กับตนเอง ยุทธศาสตร์สำคัญของพรรคเพื่อฟ้าดิน

ปี'๔๙ เน้น ๓ เรื่องหลักคือ ๑. เกษตรอินทรีย์ ๒. การพัฒนาคลังแก่นเชื้อ เพื่อเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ๓. พลังงานทดแทน การประชุมครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ กกต. จังหวัดนครปฐมร่วมสังเกตการณ์ หลังจากนั้นเป็นรายการธรรมะก่อนฉัน เรื่องขุมทรัพย์ มีประโยชน์อย่างไร? ดำเนินรายการโดยสมณะบินบน ถิรจิตโต ข้อคิดจากสมณะที่ร่วมรายการมีดังนี้ สมณะเลื่อนฟ้า สัจจเปโม ท่านได้เล่าว่า เมื่อได้รับขุมทรัพย์ ท่านจะพิจารณาว่าหมู่สมณะหรือโยม เป็นคนที่ดีที่ท่านเลือกแล้ว ความไม่ชอบใจ ของท่านที่เขาว่า มันเป็นของท่าน ต้องจัดการเอง แต่เป็นความหวังดีของเขา ท่านเจริญได้เพราะสิ่งเหล่านี้ สมณะฟ้าไท สมชาติโก ได้เล่าประสบการณ์ให้ญาติโยมฟังว่า ในช่วงแรกที่ท่านได้รับขุมทรัพย์ใจอาจจะปฏิเสธ รับไว้แล้ว มาทบทวนว่า มีประโยชน์ ต่อมาจึงสร้างความยินดีในการรับขุมทรัพย์ ถ้าไม่ผิดก็คิดว่าให้ผู้อื่นด่าฟรีบ้าง เป็นคนสาธารณะ การมาสู่ศาสนา มาเพื่อลดตัวลดตน วิธีการอะไรที่จะช่วยได้ควรทำ ได้ประโยชน์คือได้ทบทวนตัวเองบ่อยๆ ได้ตั้งศีล การเป็นผู้แพ้ดีกว่า เป็นผู้ชนะ ท่านเจริญเพราะคำตำหนิ สมณะร่มเมือง ยุทธวโร ได้ฝากข้อคิดจากประสบการณ์ของท่านว่า การจะเห็นคุณค่า ต้องมีดวงตารู้ค่า สังคมอโศกเป็นวัฒนธรรม ของการขัดเกลาเพื่อพัฒนา เมื่อเรายอมรับเส้นทางนี้ยอมรับว่า วัฒนธรรมนี้ ทำให้เราแข็งแรง รับขุมทรัพย์แล้วได้ประโยชน์ ถ้ารับขุมทรัพย์ได้เก่งจะทำให้สามารถอยู่กับหมู่ที่ดีได้ ควรฝึกรับขุมทรัพย์ให้เก่ง หลังจากนั้นถวายภัตรสมณะ แล้วรับประทานอาหารที่โรงบุญและโรงครัว

ในเวลา ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ น. เป็นรายการ "บินให้ไกลไปให้ถึง" (ขุมทรัพย์ฆราวาส) ดำเนินรายการโดย สมณะเดินดิน ติกขวีโร มีผู้ร่วมรายการคือ คุณสมพงษ์ ฟังเจริญจิตต์, น.พ.วีรพงศ์ ชัยภัค, ผศ.รัศมี กฤษณมิษ และ คุณขวัญดิน สิงห์คำ ปฏิบัติกร ได้บอกข้อบกพร่อง ที่ชาวอโศกควรแก้ไขตนเอง เรื่องที่ใครแตะไม่ได้ เอาแต่ใจตัวเอง เรื่องสุขภาพที่พร้อมจะไหลไป ตามกระแส ใหม่ๆ คนอโศกมีความเก่งหลายอย่าง มีความอดทน มีความตั้งใจที่เต็มร้อย แต่น่ารักน้อยคือความแข็งกระด้าง มุ่งงานบุญ มาก จนหน้าไม่ยิ้มแย้ม ความรู้สึกที่คิดว่าตนเก่งทำให้เกิดสภาพเป็นน้ำชาล้นถ้วย ควรเปิดใจกว้างขึ้นเพื่อรับสิ่งดีๆ เข้ามาอีก และควรตระหนักเรื่องบริหารจัดการงานและเงินเสียหายจะเกิดบาปมากกว่าบุญ บุคลิกที่แข็ง แน่กว่าคนอื่น ถือศีล กินมังสวิรัติ ทำงานไม่เอาเงิน จุดนี้จึงบังจุดอื่นๆ จุดดีมีอยู่แล้ว แต่ถ้าอ่อนน้อมสักนิด ฟังคนอื่นให้มากขึ้น ชาวอโศก จะเป็นมิตร กับคนมากขึ้น ทำให้พัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ได้มากขึ้น

ภาคค่ำในวันนี้ช่วงประมาณ ๑๗.๐๐ น. ฝนตกหนักกว่าวันที่ผ่านมากิจกรรมจึงเปลี่ยนมาจัดที่ใต้ศาลาวิหาร การเตรียม สถานที่ ทำแบบร่วมแรงกันในเวลาประมาณใกล้ ๑๙.๐๐ น. กิจกรรมจึงได้เริ่มขึ้น มีรายการแสดงจากหลายชุมชนดังนี้

- เพลงพวงมาลัยและรีวิวประกอบเพลง "กสิกรรม" จากศาลีอโศก
- รำบายศรีฯและรำลำน้ำมูล จากราชธานีอโศก
- การแสดงเพลงบอก จากทักษิณอโศก
- สารคดี "๗๒ ปีพ่อท่าน" จากศีรษะอโศก
- ร้องเพลงแหล่ชาวอโศก และเพลงคนจนมหัศจรรย์ จากชุมชนเพชรผาภูมิ
- ละครเรื่อง "ลองคิดดู" จากสันติอโศก
กิจกรรมเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น.



วันที่ ๗ พฤศจิกายน
วันนี้มีผู้คนมาทำวัตรบางตากว่าวันที่ผ่านมา ในเวลา ๐๓.๓๐-๐๕.๓๐ น. ทำวัตรเช้าพ่อท่านอธิบายแจกแจงรายละเอียด องค์ ๖ ในสัมมาทิฐิ เครื่องมือจับจิตวิญญาณคือญาณของตนเอง จิตวิญญาณของตนเป็นกล้องส่องวิญญาณตน ต้องอยู่ใน โลกนี้เท่านั้น จึงจะแก้วิญญาณได้ ความเป็นโลกมนุษย์มีรูปธรรมและนามธรรมคือชมพูทวีป การนั่งกดข่มไม่เสร็จกิจ ไม่มี กตญาณ แต่พุทธมีวิชชา ๘ รู้ได้ด้วยตน เป็นปัจจัตตังเวทิตัพโพวิญญูหิ และพ่อท่านได้ขยายมิจฉาอาชีวะ ๕ ดังนี้

๑. กุหนาคือ ทุจริตหยาบๆ
๒. ลปนาคือ ทุจริตที่เป็นวาจา มีการตลบตะแลง
๓. เนมิตตกตา ในอาชีวะระดับนี้ตั้งใจจะเลิกบาปแล้วแต่ยังไม่แข็งแรง ไม่ดีพอ ล้มลุก ยังทำในสิ่งที่เป็นการเสี่ยงโชค เหมือนๆ การพนันอยู่
๔. นิปเปสิกตา เป็นผู้ปฏิบัติธรรมได้แล้ว ตัวเองแข็งแรงแต่ยังไม่หลุดจากโลก รายได้ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ยังทำงาน กับคนเปื้อน ต่อให้เราบริสุทธิ์เราก็ยังมีกรรมร่วม
๕. ลาเภนะ ลาภัง นิชิคิงสนะตา ถ้าออกจากระบบมาทำงานส่วนตัวจะพ้นระดับที่ ๔ แต่ไม่พ้นมิจฉาอาชีวะระดับที่ ๕ คือ ลาภแลกลาภ จะพ้นมิจฉาอาชีวะข้อนี้ได้จะต้องเข้ามาอยู่กับหมู่

หลังจากนั้นได้ชมวีดีทัศน์ศูนย์พลาภิบาลปฐมอโศก แหล่งเรียนรู้สุขภาพองค์รวม บุญญาวุธหมายเลข ๔ ช่วงท้าย พ่อท่าน ได้เล่าเรื่องการทำพระพุทธรูปหิน ปางตรีลักษณ์ ที่หมู่บ้านราชธานีอโศก หลังจากทำวัตรเช้าแล้วตักบาตรทำบุญหมู่บ้าน เวลา ๐๖.๓๐-๐๙.๐๐ น. มีการสัมมนาการศึกษาบุญนิยม ณ บริเวณชั้นล่างศาลาวิหาร โดยมีพ่อท่านเป็นประธาน ทิศทาง ในการแก้ปัญหาการศึกษา คือสมณะ-สิกขมาตุและคุรุ หันมาเพ่งตนเองแก้ไขตนเอง หลังจากนั้นเป็นการแสดงธรรม ก่อนฉัน โดย สมณะเดินดิน ติกขวีโร ท่านได้ฝากพรก่อนเดินทางกลับแก่ญาติธรรม ๔ ประเด็นคือ

๑. ให้ความรักแก่ตนเอง โดยคิด พูด ทำ แต่สิ่งดีๆให้กับตัวเอง การคิดเอาแต่ใจตัวคือชั่วโดยอัตโนมัติ เป็นการคิดร้าย ให้กับตัวเอง การคิดให้ คือการคิดดี ทำให้ตัวเองมีความสุข

๒. การให้ความรักกับเพื่อนมนุษย์ จุดอ่อนของชาวอโศกคือการปฏิสันถาร รีบทำบุญจนหน้าบอกบุญไม่รับ พ่อท่านติงว่า การปฏิสันถารของชาวอโศกแย่กว่าสำนักดังๆ หลายๆแห่ง

๓. ให้ความรักกับโลก โดยไม่สร้างขยะออกมาทับถมโลก จนขยะกำลังจะล้นโลก ชาวอโศกรักโลกได้ ๓ วิธีคือ

๑. ไม่ทำตัวเราเองให้เป็นขยะ ไม่สะสมสิ่งของจนเป็นขยะ สิ่งใดที่ไม่ได้ใช้ สิ่งนั้นคือขยะ
๒. หลีกเลี่ยงการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น เช่น มีภาชนะติดตัว ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก
๓. ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ไม่ทำให้เกิดขยะ เช่น ถุงพลาสติกใส่อาหารควรล้างให้เรียบร้อย
๔. ฉลองปัญญาสมโภชด้วยการปฏิบัติ ตามพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญญา ๘ ประการ คือ
      ๑. ทำตนเป็นสะใภ้ใหม่ ให้ความเคารพแรงกล้าต่อครูบาอาจารย์
      ๒. ขอรับฟังภาษิตของท่านเอามาปฏิบัติ
      ๓. ทำความสงบกาย สงบจิต
      ๔. เพิ่มอธิศีล
      ๕. มีความบากบั่นอันมั่นคง
      ๖. เป็นพหูสูตที่แทงตลอดทิฐิไว้ด้วยดี
      ๗. เก็บประโยชน์จากที่ประชุม
      ๘. พิจารณาความเกิดดับของอุปาทานขันธ์ ๕

หลังจากนั้นรับประทานอาหาร ในช่วงนี้ที่ศาลาวิหารจะมีภาพที่น่าอบอุ่นประทับใจ บ่งบอกถึงวัฒนธรรม ครอบครัวใหญ่ ของชาวอโศก คือการไปลามาไหว้ คนหลากหลายวัยเป็นกลุ่มของแต่ละชุมชนบุญนิยม ทยอยมากราบลาสมณะ เพื่อเดินทาง กลับชุมชนของตน เป็นภาพสุดท้ายในงานมหาปวารณา หนึ่งในงานของสังคมบุญนิยม ที่ประกอบไปด้วยสารศิลป์ และ สุนทรียศิลป์.

- บุญตุ้มโฮม รายงาน -

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ -