เขาคิดอะไร (ต่อเรา)


แรกเริ่มเดิมที มีคนคิดกันว่าชาวอโศกควรจะเก็บข้อมูลการทำงานด้านต่างๆ ไว้เป็นองค์ความรู้ของชุมชน อุบาสิการินธรรม อโศกตระกูล จึงชิมลางด้วยการส่งแบบฟอร์มให้ชุมชนต่างๆกรอกข้อมูลให้ และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากชุมชน ปฐมอโศก ทักษิณอโศก ดินหนองแดนเหนือ เป็นต้น แต่ก็ยังมีหลายชุมชนไม่ได้ส่งข้อมูล ข้อมูลที่ได้ก็เป็นข้อมูล ไร้ชีวิตวิญญาณ อีกทั้งแบบฟอร์มยังไม่ครอบคลุมกิจกรรมทุกด้านของชุมชน เมื่อได้ทราบว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีส่วนงานที่เกี่ยวข้องการสร้างเสริมสุขภาวะจิตวิญญาณ จึงคิดว่าเป็นโอกาสดี ที่จะได้เริ่มต้น ด้วยการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาวะจิตวิญญาณของชาวอโศก โดยมีบุคคลภายนอกให้คำแนะนำด้วย คำแนะนำที่ได้รับ นอกจาก จะเป็นประโยชน์ต่อการรวบรวม เรียบเรียง และถ่ายทอดข้อมูลแล้ว ยังทำให้ได้ทราบความคิดเห็นของแต่ละท่าน ต่อชาวอโศกด้วย แล้วก็อดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าสู่พี่น้องชาวอโศกได้ร่วมรับรู้ด้วย

เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๔๖ ชุมชนสันติอโศกได้ขอทุนจาก สสส. เพื่อทำวิจัยเรื่อง "การสร้างเสริมสุขภาวะจิตวิญญาณ : ศึกษา กรณีชุมชนชาวอโศก" โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัย ๒ ประการ คือ

๑. ศึกษาแนวทางของชุมชนชาวอโศกในการสร้างเสริมสุขภาวะจิตวิญญาณ ได้แก่ ค่านิยมและความเชื่อ บรรทัดฐาน ทางสังคม วิถีชีวิตประจำวัน การงานอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี การศึกษา และการบริหารปกครอง

๒. ศึกษาสุขภาวะจิตวิญญาณซึ่งเป็นเป้าหมายของสมาชิกชุมชนชาวอโศก คือ ความเป็นคนเลี้ยงง่าย(ใช้ชีวิตเรียบง่าย) บำรุงง่าย (สอนง่าย พร้อมที่จะพัฒนาตนเอง) มักน้อย มีใจพอ(ยินดีในสิ่งที่ได้ที่เป็นอยู่) มีการขัดเกลากิเลสของตนเอง และ ผู้อื่น มีศีลเคร่ง มีอาการน่าเลื่อมใส ไม่สะสมกอบโกย และขยัน

โครงการวิจัยนี้มีที่ปรึกษาโครงการ ๒ ท่าน คือ ศาสตราจารย์ ดร.สุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวยการสถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานวิจัย ๕ คน ได้แก่ อุบาสิการินธรรม อโศกตระกูล นางสาวเสรี ทองพันธุ์ นางสาวอุทัยวรรณ ตั้งมั่นสกุล นางสาวจิระวรรณ กตัญญุตานันท์ และ อุบาสิกาพรน้ำคำ ป้องกันภัย ได้เก็บข้อมูลในกลุ่มและชุมชนชาวอโศกทั้งหมด ๙ กลุ่ม/ชุมชน โดยมี สมาชิก กลุ่ม/ชุมชน ที่ผ่านการอบรมการวิจัยเชิงคุณภาพ เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๔๗ ช่วยเก็บข้อมูลเบื้องต้นด้วย

หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลและเขียนร่างรายงานการวิจัยแล้ว เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๘ คณะทำงานจึงนำเสนอ ผลการวิจัย เพื่อรับฟังคำแนะนำจากที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ ๑๖ ท่าน คือ พระดุษฎี เมธังกุโร วัดทุ่งไผ่ จ.ชุมพร ผศ. ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณทิตย์ ดร.จุรีพร กาญจนการุณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้า ธนบุรี นางจุฬา สุดบรรทัด มูลนิธิสื่อสร้างสรรค์ ผศ.ดร.ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ผศ.ณัฏฐ์ษา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ วุฒิสมาชิกจังหวัดอุบลราชธานี และประธาน คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา น.พ.บัญชา พงษ์พานิช ประธาน คณะกรรมการ บริหารเครือข่าย ความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน และกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการอิสระ เพื่อความ สมานฉันท์ แห่งชาติ ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน ผศ.ณรงค์ ขำวิจิตร์ ผศ.รัศมี กฤษณมิษ ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ศ.สุกัญญา สุดบรรทัด ดร.สุชาดา รัชชุกุล และ ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ

นอกจากนี้ยังได้เชิญชาวอโศกร่วมให้คำแนะนำด้วย ได้แก่ ดร.ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย วิทยุชุมชนสันติอโศก เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ ประธานชุมชนสันติอโศก นายสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง นายกสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม นางสาวลัดดา ปิยะวงศ์รุ่งเรือง สถาบันบุญนิยม นางสาวกุลยา แซ่ตัน ชุมชนทักษิณอโศก นางสาวจันทนา แก้วชนะ และนางสาวพิจิตรา จันทร์ประภาพ จากชุมชน สันติอโศก โดยมีเจ้าหน้าที่ประสานงานจาก สสส. และแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ คือ นางสาวแก้วตา วิศวบำรุงชัย นายธีระพล เต็มอุดม และนายวรพงษ์ เวชมาลีนนท์

อุบาสิการินธรรม อโศกตระกูล เป็นผู้รายงานผลการวิจัย โดยใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการวิจัย ชาวอโศกและชีวิตในระบบบุญนิยม การพัฒนาจิตวิญญาณของชาวอโศก และความเข้าใจเรื่องจิตวิญญาณของชาวอโศก หลังจากนั้นผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อเสนอแนะหลายประการเพื่อให้ผลการวิจัยมีความชัดเจน สมบูรณ์ และเป็นประโยชน์ต่อ สังคมด้วย ส่วนนี้จะไม่นำมาเล่าในที่นี้เนื่องจากหน้ากระดาษจำกัด จะตัดตอนมาให้อ่านเฉพาะ ส่วนที่เป็นความคิดเห็น ต่อชาวอโศก เพื่อให้รู้ว่า "เขาคิดอะไร" ซึ่งล้วนเป็นมุมบวกทั้งสิ้น และเราจะได้พยายามรักษาความดี ที่ทำได้แล้ว กับเพิ่มพูน ความดีให้ยิ่งๆขึ้น



น.พ.บัญชา พงษ์พานิช :
ผมคิดว่าทั้ง ๑๑ กิจกรรมบุญนิยม (ศาสนา การศึกษา การสื่อสาร กสิกรรม อุตสาหกิจ บริโภค สุขภาพ พาณิชย์ การเงิน การเมือง และวัฒนธรรม) ที่คุณรินธรรมเล่าให้ฟังนี่ เป็นปฏิบัติการสร้างสุขภาวะของชุมชนชาวอโศก เป็นทั้งรายปัจเจก อยู่ในนั้น ขณะเดียวกันก็เป็นของรายชุมชนด้วย ซึ่งนี่เป็นจุดแข็งมากคือปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาวะถึงความสุขในมิติลึกๆ ที่ทำกันเป็นกลุ่มก้อนอย่างเป็นกระบวนนี่ ในสังคมไทยเรามีน้อย ผมเชื่อว่าชุมชนอโศกไม่เพียงแค่ปฏิบัติหลักบุญนิยม ๑๑ ประการ ที่ว่ามานะครับ จริงๆแล้ว รวมทั้งประเพณี (งานปีใหม่ตลาดอาริยะ พุทธาภิเษกฯ ปลุกเสก คืนสู่เหย้าเข้าคืนถ้ำ เพื่อฟ้าดิน โฮมไทวัง อโศกรำลึก มหาปวารณา และฉลองหนาว) ที่เสริมไปเมื่อสักครู่นี้ด้วย ผมว่าทั้งหมดนั้น คือปฏิบัติการ ของกลุ่มคณะ เป็นเชิงชุมชน ซึ่งหายไปเลย ไม่เฉพาะในสังคมไทย ผมว่าทั้งโลกนี่มันมีอยู่น้อยมาก

ในความเห็นของผม ที่พูดมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องของงานศาสนา งานการเงิน งานวัฒนธรรม งานการศึกษา งานการเมือง ผมว่ามีมิติของความสุขลึกๆ ทางด้านจิตวิญญาณอยู่ด้วย แต่การนำเสนอเหมือนกับเป็นเพียงอารัมภบท ว่าชาวอโศก อยู่กัน อย่างนี้ แต่ไม่ได้บอกว่านี่แหละคือกระบวนการของชุมชนในการสร้างความสุข ซึ่งผมว่าอันนี้เป็นน้ำหนัก ที่มีคุณค่า เหลือเกิน แล้วมันหายไปนะครับ ผมจึงอยากให้มีนิยามความหมาย การให้ค่า กระบวนการสร้างรายชุมชนด้วย ไม่ใช่ราย ปัจเจก เท่านั้น รายปัจเจกก็มีคุณค่าเพราะว่าได้ขัดเกลาด้วย แต่รายชุมชนนี่มีคุณค่ามหาศาล นี่คือเหตุผลหนึ่ง ที่ผมแม้ติดงานอื่น ผมก็ต้องมา นะครับ เพราะว่าผมเชื่อว่างานชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่งนะครับ



น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ :
ผมมีข้อเสนออยู่ ๕ ส่วนนะครับ
ประการที่ ๑ สิ่งที่ผมคิดว่า เป็นจุดดีของงานวิจัยนี้ คือทำให้เห็นความเชื่อมโยงว่า จิตวิญญาณสามารถที่จะเชื่อมโยง ระหว่าง คนกับสังคม สุขภาวะที่เราต้องการมีอยู่สองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือคน หมายความว่าคนนั้นต้องมีความสุข ทั้งในแง่กายและใจ กายก็ต้องดี ไม่ทุกข์ ไม่ป่วยไม่เจ็บ ใจก็ต้องไม่ป่วยด้วย คนคนนั้นถึงจะเป็นคนที่มีความสุข แล้วก็สามารถถ่ายทอด ความสุข นั้น ให้แก่สังคมได้ ไม่เป็นภาระต่อสังคม จิตวิญญาณจะต้องเชื่อมโยงให้เห็นเป็นภาพใหญ่มากกว่าคน คือความเป็นสังคม สังคมก็ต้องสะท้อนถึงการมีจิตวิญญาณเป็นตัวกำกับ จุดหลักก็คือทำให้เห็นว่า สุขภาวะจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่จะต้อง ทำให้เกิดให้ได้ในทางรูปธรรม และชุมชนอโศกคือรูปธรรมที่แท้จริงที่ใครจะมาบอกว่า เป็นเรื่องอุดมคติ เป็นเรื่องอุดมการณ์ เป็นเรื่องความฝัน ไม่ได้ครับ อันนั้นประการที่ ๑ ที่ผมคิดว่าต้องการตอกย้ำ

ประการที่ ๒ ที่เรานำความคิดทางศาสนธรรมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะพุทธ คริสต์ ฮินดู หรือว่าอิสลามก็ดี ผมคิดว่าตรงนี้ มีจุด ที่สำคัญมาก เพียงแต่ว่าผมอยากให้ขยายตรงนี้ให้มากขึ้น ในตัวที่เป็นอารัมภบทว่า สิ่งสุดท้าย ที่เราต้องการในการให้ถึง จิตวิญญาณ ของศาสนธรรมไม่ว่าชาติศาสนาใด โดยไม่เลือกปฏิบัติ นั่นคือสิ่งที่นำไปสู่สันติสุขของโลก ผมอยากให้เห็น ให้ชัด ว่าศาสนธรรมทุกศาสนามีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการชักจูงถึงเรื่องจิตวิญญาณ นี้คือสิ่งที่ผมต้องการโยง ให้เห็นความเป็นจริงในบทที่ ๑

ประการที่ ๓ สิ่งที่ผู้วิจัยได้นำมาถึงเรื่องชาวอโศกนี่ ผมคิดว่าเป็นมุมมองที่เฉียบแหลม และทำให้เห็นหลักคิด ในทางปฏิบัติ ที่เรียบง่ายของท่านสมณะโพธิรักษ์ ๓ อย่าง คือมังสวิรัติ รักษาศีล การปฏิบัติตามอริยมรรค ผมคิดว่านี่คือ สิ่งที่เป็น ความเป็นจริง ที่คนไทยหรือแม้คนทั่วโลกเห็นผลได้ ตรงนี้นำมาสู่ระบบบุญนิยม ผมสนใจแล้วก็ตื่นเต้นขนลุกนะครับ พอเห็น คำนี้ ตรงนี้คือสิ่งที่งานวิจัยต้องให้รายละเอียด มากขึ้น บุญนิยมต่างจากทุนนิยมอย่างไร ต่างจากอำนาจนิยมอย่างไร ต่างจาก อุปถัมภ์นิยมในสังคมไทยอย่างไร ผมคิดว่าสามอย่างนี้ ทุนนิยม อำนาจนิยม อุปถัมภ์นิยม จะมาทำลายบุญนิยม เพราะฉะนั้น ผู้วิจัยทำให้เห็นความสมบูรณ์ ๑๑ ประการของบุญนิยม ผมคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะอะไรครับ ในฐานะของบุญนิยม สามารถ ทำให้เห็นแนวคิดทางด้านเศรษฐกิจว่าต้องไม่นึกถึงการกำไรและขาดทุน ตรงนี้ชัดเจน มันตรงกันข้ามกับหลักคิด ที่เอาเงิน เป็นตัวตั้ง เอาจีดีพีเป็นตัวตั้ง และหลักคิดตรงนี้มันจะเข้าทุกอย่าง ไม่ว่าสุขภาพ การศึกษา .......

เรื่องสาธารณโภคีหรือแม้กระทั่งลักษณะ ๑๓ ประการนี่คือวิธีคิดในบุญนิยมที่พูดถึงวิถีชีวิตสังคมเศรษฐกิจ และการดำรง ชีวิต ผมคิดว่าตรงนี้เป็นหลักคิดที่ดี ที่เป็น pattern การมองที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนและสังคม ฉะนั้นต้องขยาย เชื่อมโยงให้เห็น ทำให้เกิดการคู่ขนานที่มองระหว่างทุนนิยม อุปถัมภ์นิยมและอำนาจนิยมสังคมไทยว่า หลักคิดในบุญนิยม นำไปสู่ วิธีที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจที่ถูกต้อง สังคมที่ถูกต้อง สอดคล้องต่อแนวคิดจิตวิญญาณ การมีชีวิตที่ทำให้เกิดความสุข สังคมที่เกิด ความสุขสันติได้ไว

ในส่วนที่ ๔ ผู้วิจัยพูดถึงลักษณะของสุขภาวะจิตวิญญาณและการพัฒนาสุขภาวะจิตวิญญาณ ผมเห็นว่าตรงนี้คือ สิ่งที่ทำให้เห็น ความเป็นตัวตนของคน ที่ต้องการพัฒนาจิตวิญญาณ มีขั้นตอนนะครับ ลักษณะทั้งหมด ๑๖ ลักษณะ และ การพัฒนาอีก ๑๕ ลักษณะ ตรงนี้เหมือนเป็น guide line ในการที่จะสร้างตนให้เป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณ มีสำนึก ในเรื่อง ความรัก ความเอื้ออาทร ความช่วยเหลือเกื้อกูล โดยที่ไม่ต้องการเรื่องกำไรขาดทุน งานวิจัยฉบับที่ผมได้ ยกความเป็นตัวตน ของไทกับเดือน (นามสมมติ) ซึ่งผมคิดว่าดี ในแง่ที่เป็น case study มีตัวคนเข้ามา แต่อย่าลืมว่า ไทกับเดือน สามารถหล่อหลอม ในเรื่องของ ตัวตนที่มีจิตวิญญาณเข้ากับการพัฒนา เพราะอยู่ในชุมชนอโศก ถามว่าถ้าไทกับเดือน ออกจาก ชุมชนอโศก ไปอยู่ที่วุฒิสภาจะเป็นอย่างไร เอาเรื่องจริงของผมเลย เมื่อวานนี้ผมประชุมกับน้องที่อุบลฯ เขาบอก หมอนิรันดร์ ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว มาเป็น สว. ๕ ปีกว่านี่ ๑. เครียด ๒. ใช้อารมณ์ ๓. เผลอๆจะบ้าอำนาจ นี่คือความจริง ผมยอมรับว่าจริงครับ เพราะมันมีส่วนท้าทายเราตลอด กระตุ้น สำนึกจิตวิญญาณว่า ใครจะมาลอบทำร้ายเรา ใครด่าเรา เราต้องสะกด ฉะนั้นตรงนี้คือสิ่งที่ผมต้องการให้มองออกไปถึงสังคมข้างนอกว่า สังคมข้างนอกขณะนี้เป็นอย่างไร ชุมชนอโศก เป็นชุมชนที่ดี งานวิจัยนี้ทำให้เห็นของดี แต่ของดีต้องทำให้เกิดในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นที่สภา ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นบริษัทธุรกิจ ต้องให้เห็นว่าตรงนั้นสามารถหล่อหลอม การพัฒนาลักษณะ จิตวิญญาณ ที่ดีได้อย่างไร ตรงนี้จะทำให้งานวิจัยเกิดประโยชน์ ทำให้งานวิจัยของเรา ต่อยอดในสิ่งที่สอดคล้องกับ ความเป็นจริง

ประการที่ ๕ ในเอกสารที่ส่งไปให้ผม ไม่มีรายละเอียดเรื่องสังคม และมิหนำซ้ำค่อนข้างไปยกในเรื่องของตัวตนคือไทกับเดือน แต่ความเป็นสังคมเกิดขึ้นในเรื่องงานประเพณี นี่คือกุสโลบายที่ทำให้วิธีคิด ออกมาเป็นกิจกรรม และมีผลในการ เปลี่ยนแปลง สังคม เอกสารที่ผมได้รับในวันนี้มีการอ้างถึงการงานที่มีรายรับ ๕ ข้อ ไม่มีรายรับ ๖ ผมคิดว่าตรงนี้คือ หัวใจ ของสังคม ที่ขยายจากการพัฒนาจิตวิญญาณคนไปสู่สังคมได้โดยรูปธรรมของงานศาสนา โดยรูปธรรมของงานการศึกษา งานการเงิน การคลัง งานวัฒนธรรม งานการเมืองก็ยังได้ งานสุขภาพก็ได้ งานสื่อสารก็ได้ งานต่างๆเหล่านี้อยู่ที่ชุมชน นี่คือ องค์รวมของการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์

เพราะฉะนั้นในเอกสารควรจะมีรายละเอียดที่โยงการพัฒนาจิตวิญญาณจากคนไปสู่ชุมชน โยงไปสู่การพัฒนาสังคม และ ความมั่นคงของคน ในชุมชนอโศก ผมเชื่อครับ เพราะผมไปสัมผัสด้วยตัวเองว่า ในขณะที่ข้างนอกร้อนเป็นไฟ ผมเข้าไป ที่ร้านอุทยานบุญนิยม ที่อุบลฯ ผมเย็นทันทีเลยครับ เพราะไม่มีเงินก็กินได้ ผักที่ผมกินที่นั่น ผมไม่กลัวเลยว่าจะมีสารพิษ แค่นี้ผมก็เย็นแล้วครับ แล้ววันไหนเกิดมีพ่อท่านไปพูดให้ฟัง ผมก็เย็นมากขึ้น ผมถึงต้องการแสดงให้เห็นว่า งานวิจัยนี้ ยังขาดมิติที่สำคัญ คือโยงให้เห็นมิติของการทำงานทางด้านของสังคมของชุมชนอโศกว่าทำด้วยวิธีอะไร กระบวนการอย่างไร วิเคราะห์ว่า การพัฒนาคนมาสู่พัฒนาสังคม ทำอย่างไรให้คนไปทำงานที่ร้านบุญนิยมโดยไม่ต้องเอาเงินเดือน และร้านนั้น ไม่ขาดทุน เพราะอะไร ผมอยากให้ชุมชนอโศกดึงวิธีคิดในเชิงสังคมตรงนี้ออกมาให้ชัด นี่คือสิ่งที่ผมว่าเรามีของดีอยู่ แล้วเป้าหมาย ในงานวิจัย จะมีประโยชน์มากและจะเป็นหนังสือที่มีคุณค่าและสามารถนำไปทำทั้งในเชิงข้างบน และ สังคมได้ ขอบคุณครับ



ดร.วิลาสินี พิพิธกุล :

ดิฉันตั้งคำถามเยอะมากว่า ในฐานะ สสส.นี่เราอยากได้อะไรจากงานวิจัยชิ้นนี้ เราอยากได้องค์ความรู้อะไรบ้าง สิ่งแรก ดิฉัน ก็บอกตัวเองว่า แนวคิดเรื่องระบบบุญนิยมเป็นระบบที่มหัศจรรย์มากๆน่าสนใจนะคะ โดยเฉพาะมันเป็นความพยายาม ที่จะออกไปท้าทายทุนนิยม ซึ่งต้องบอกด้วยว่าเป็นเหตุผล หรือเป็นเงื่อนไขใหญ่ ของการสร้างทุกขภาวะหรือปัจจัยเสี่ยงนะคะ ตอนที่ สสส. ทำแผนยุทธศาสตร์ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ตอนที่เรา list กันว่าเรากำลังถูกคุกคามด้วยภาวะอะไรบ้าง ทุนนิยม เป็นภาวะแรก ที่ถูก list ขึ้นมาจากภาคีทั้งหมดที่มารวมตัวกัน เพราะฉะนั้น การที่ชุมชนอโศกได้สร้างกลไกของบุญนิยมขึ้นมา มันคือ การออกไปท้าทาย แล้วก็พยายามที่จะออกไปสกัดกั้น แล้วก็สยบ ตัวคุกคามที่เป็นทุนนิยมอันนี้ คำถามก็คือว่า ทำอย่างไร รายงานฉบับนี้จะ highlight ได้ชัดเจน ว่าบุญนิยมมีส่วนช่วยสร้างสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้อย่างไร

ประเด็นที่สอง ชุมชนอโศกมีกระบวนการในการอบรมขัดเกลาแล้วก็ถ่ายทอดสั่งสอนกลุ่มเยาวชนอย่างไร และเยาวชนเหล่านี้ เมื่อต้องออกไปเผชิญกับโลกข้างนอกที่ไม่ใช่ชุมชนอโศกนี่ เขามีความเข้มแข็งที่จะท้าทายสิ่งที่เขาต้องเจอในโลก ของความ เป็นจริง แค่ไหน แล้วนำมาสู่ความยั่งยืนให้เยาวชนเหล่านี้ในด้านสุขภาวะอย่างไร คุณรินธรรมบอกว่ามีการทบทวน การระลึกรู้ การควบคุมตัวเองตลอดเวลา อันนี้น่าสนใจนะคะว่าใช้อย่างไร แล้วได้ผลกับเยาวชนของชุมชนอโศกเอง อย่างไรบ้าง แล้วการได้ผลในเรื่องของการทบทวนควบคุมตัวเองจะมีผลช่วยในการควบคุมตัวเองของเยาวชนคนอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือ ชุมชนนี้ ได้อย่างไรหรือไม่

ประเด็นที่สาม เมื่อปลายเดือนที่แล้ว สสส. เพิ่งออกยุทธศาสตร์ใหญ่ คือ สสส.จะขับเคลื่อนด้วยพลังยุทธศาสตร์ ๓ พลัง คือ พลังทางปัญญา หรือพลังทางความรู้ พลังของความเคลื่อนไหวทางสังคม และการขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย สิ่งเหล่านี้ พบในรายงานวิจัยชุดนี้ ทั้งหมดเลย เพียงแต่ยังไม่ถูกเขียนให้ชัด

ดิฉันคิดว่าจริงๆแล้ว งานของชุมชนอโศก มีผลเปลี่ยนนโยบายเยอะมาก คือนโยบายในระดับชุมชนของชาวอโศกเองนะคะ การใช้ศีลเป็นตัวกำหนดทุกอย่างถือเป็นโยบายสำคัญทีเดียว ถ้าเรามอง เหมือนศีลเป็นกฎหมายที่ใช้ในการรักษาความสงบ ของชุมชนอโศก นโยบายเหล่านี้สร้างขึ้นมาได้อย่างไร ทำให้คนยอมรับนโยบายได้อย่างไร แล้วก็ถอยออกมา ในนโยบาย ที่ใหญ่ขึ้นมาอีก ก็คือเข้าไปผลักดันเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับชาติ เช่นในเรื่องของการต่อสู้คัดค้านในเรื่องของเหล้า การที่ไป เป็นพลังสำคัญ ในเครือข่าย องค์กรงดเหล้า นี่คือผลของการขับเคลื่อนเชิงนโยบายทั้งสิ้น ตรงนี้เราอยากเห็น การถอด บทเรียน ของทั้งสามพลังนี้ออกมาให้เห็นเป็นภาพ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ ในการพัฒนาเรื่องของ สุขภาวะจิตวิญญาณ ต่อนะคะ

มีประเด็นหนึ่งที่ดิฉันสนใจมาก ในเรื่องของการพัฒนาสุขภาวะจิตวิญญาณของชาวอโศก คิดว่าเป็นหัวใจของงานชิ้นนี้ เลยนะคะ ที่พูดถึงว่า ชาวอโศกพยายามทุกวิถีทางที่จะพัฒนาจิตวิญญาณให้มีอำนาจเหนือสิ่งที่กระทบอารมณ์จิต ก็เลย อยากรู้จริงๆว่า สิ่งที่มากระทบ มันมาจากไหนบ้าง มันมากระทบในระดับใดบ้าง ทั้งต่อปัจเจกทั้งต่อชุมชน แล้วชาวอโศก มีวิธีจัดการ กับมันอย่างไร มีอะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวหรือพึ่งพิง และในชุมชนมีกระบวนการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไร เพื่อที่จะมีอำนาจ ในการจัดการ กับสิ่งที่มากระทบเหล่านี้



ศ.ดร.สุกัญญา สุดบรรทัด :
วันนี้ได้เรียนรู้เรื่องของสันติอโศกมากแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ มีความรู้สึกว่าที่นำเสนอมันไม่ใช่การสร้างเสริมสุขภาวะ แต่ค่อนข้าง จะเป็นสภาวะทางจิตวิญญาณของชาวสันติอโศก ซึ่งฟังแล้วรู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหว มันมี social movement อยู่ในตัวของมันเอง เพราะว่าสันติอโศกไม่อยู่นิ่ง ไม่ปิดตายอยู่กับที่ ทั้งๆที่เป็นคนที่เคร่งศีลมากนะคะ แต่ว่า ไม่หยุดนิ่ง อย่างเช่นเรื่องเทเหล้า เรื่องการเอาเหล้าเข้าตลาดหลักทรัพย์หรืออะไรต่างๆ จะมีการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งเป็น เรื่องที่น่าสนใจมาก มันทำให้เห็นลักษณะที่เหมือนคลื่น มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่ขณะที่เคลื่อนไหว ก็มองเห็น ความนิ่ง ในฐานะที่ตัวเองเป็นชาวพุทธ ก็พยายามรักษาศีล จะมองเห็นความนิ่งในตัวของอโศก ซึ่งเป็นประเด็น ที่น่าสนใจ มาก อยากให้เขียนออกมาให้เห็นตรงนี้ แล้วจะทำให้มองเห็นความมีจิตวิญญาณของชาวอโศก


 


พระดุษฎี เมธังกุโร :
อโศกเป็นคนแบบที่ต่อต้านกระแสหลัก แล้วพอแยกตัวออกจากคณะสงฆ์ไป อโศกก็ฟูมฟักข้างใน เขาทำงานข้างในมาก มีจิตวิญญาณ ที่นุ่มนวล มีเรื่องการเกษตรธรรมชาติ คือเขาไม่ค่อยทะเลาะกับรัฐบาล แล้วก็ไม่ทะเลาะกับคณะสงฆ์ มันทำ ให้พลังที่เขามี มันไม่ออกไปทางด้านลบ มันออกไปทางด้านบวก ด้านสร้างอาชีพ อย่างเรื่องเกษตรธรรมชาตินี่ จริงๆแล้ว มูลนิธิโกมลคีมทอง มีคนนำเข้ามาในเมืองไทย แต่ทำแล้วมันไม่ออกมาเป็นรูปธรรม เพราะว่าพวกเราทำนาไม่เป็น แต่เขามี ชาวนาทำ มันเป็น ผลผลิตที่ออกมาเชื่อได้ว่า มันใช่ เพราะฉะนั้นมันเลยมีพลังเยอะ แล้วก็เป็นจุดเด่นของสันติอโศก น้ำมันแพง แล้วเราจะอยู่ไม่ได้ อโศกเขาจะอยู่ได้ เพราะว่าเขามีปัจจัยสี่ครบ สำคัญที่สุด เขาไม่จำเป็นต้องคบค้า กับพวกเรา เลยนะจริงๆ เขาก็ทำได้ แต่พวกเราสิ จะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีคนอย่างพวกสันติอโศก

เมื่อเราจับตามา ๓๐ ปี ท่าทางกระบวนการมันดีขึ้น ก็เป็นคำถามว่าทำไม หรือว่าอะไรเป็นองค์ประกอบที่ทำให้อโศก ไม่เป็น เผด็จการ อาตมาไม่ได้ไปอยู่ใกล้ชิด แต่เราก็เห็นว่าเขามีสังฆะ มีการประชุมกันบ่อยมาก ในทุกระดับ หมายถึงว่า ไม่มีพ่อท่านอยู่ เขาก็ทำของเขาต่อได้ พ่อท่านอยู่เขาก็ทำต่อของเขาได้ การที่เขาคิดแบบคนธรรมดาหลายๆ ความคิดนี่ มีการปรับปรุงอยู่เรื่อยๆนะ อาตมาเห็นเขาคิด บางอย่างนี่เฉียบแหลมมากและประหยัดมาก เพราะว่าเขามีแรงจูงใจ ไม่เอาของใคร ไม่มีข้ออ้างเรื่องกำไร เพราะฉะนั้นเขาจะทำบางทีเหมือนกับถูกเอาเปรียบ ทำของในราคานี้แล้วก็ขายในราคานี้ พวกพ่อค้า ก็ไปซื้อมาเยอะๆ มาขายต่อ แต่ทำอย่างนี้ได้ไม่เท่าไหร่ เพราะมันไม่คุ้ม คิดว่าจริงๆแล้ว คนที่อยู่หรือทำเพื่อเงิน คบอโศกแล้วไม่ได้เงินหรอก

ประเด็นต่อมา อาตมาคิดว่ามีความสำคัญ คือว่า โลกเราไม่มีสันติภาพเป็นเพราะอะไร หมวดธรรมในศาสนาพุทธ มีหมวดหนึ่ง เรียกว่า "ปปัญจธรรม" แปลว่าธรรมที่ทำให้เนิ่นช้าในการเข้าถึงเป้าหมายในชีวิต คือ ตัณหา มานะ แล้วก็ทิฏฐิ เรื่องตัณหานี่ สันติอโศกเก่งมาก ในการที่พยายามจะสู้ พยายามจะรบกับสิ่งเหล่านี้ แต่ว่าตัวมานะ ตัวทิฏฐิ นี่ไม่แน่ใจ แล้วกลุ่มนี้ เขาก็พยายามเตือนตัวเองนะว่า เขาสูงกว่าเขาจะไม่ข่มคนอื่น เขาต้องไม่อวดตัวเขา เขาก็พัฒนาไปเยอะ . . . .



ส่วนที่ยกมาถ่ายทอดสู่กันอ่านนี้ เป็นความคิดเห็นต่อหลักคิดและการปฏิบัติของชาวอโศก ส่วนคำแนะนำเกี่ยวกับรายงาน การวิจัยนั้น มีเนื้อหารายละเอียดมาก และมีผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านกรุณาชี้แนะ เป็นภาระหน้าที่ของคณะทำงานวิจัย ที่จะต้องนำไปแก้ไขรายงานการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาสุขภาวะจิตวิญญาณ : ศึกษากรณีชุมชนชาวอโศก" ต่อไป และเป็นภาระ หน้าที่ของเราชาวอโศกทุกคนที่จะพัฒนาสุขภาวะจิตวิญญาณของเราให้ยิ่งๆขึ้นอีก เพื่อจะได้ส่งผลต่อการพัฒนา ชุมชน ของเรา และสังคมส่วนรวม

- ปานพรธรรม รายงาน -

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ -