- ป.ปรีดา - email: [email protected]


ฤาถึงยุคข้าวยากหมายแพง ?

ยุคข้าวยากหมากแพงคำที่คนโบราณพูดกันมาจนทุกวันนี้ แม้ประชาชนจะไม่นิยมกินหมากกันแล้วก็ตาม ในยุคที่ผู้เขียน ยังอยู่ ในวัยเยาว์ จำได้ว่าทองบาทละ ๔๐๐ บาทเท่านั้นเอง ค่าครองชีพยุคนั้นมีเงินเพียงหกสลึงก็กินก๋วยเตี๋ยวได้ ชามขนาดกลาง ชามละ ๒ บาท ชามใหญ่ราคาเพียง ๓ บาท มีเงินสลึงเดียวสามารถซื้อพริกขี้หนูได้ ขนมหวาน ถ้วยละห้าสิบสตางค์ ถึงหนึ่งบาท น้ำแข็งเปล่าแก้วละสลึงเท่านั้น

หากถามคนรุ่นคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายคุณทวด หรือผู้ที่มีอายุเกิน ๘๐ ปีขึ้นไป สมัยที่ยังใช้ครึ่งสตางค์, หนึ่งสตางค์ เป็น สตางค์แดง, สตางค์เงิน บรรพชนรุ่นนั้นเล่าให้ฟังว่าสมัยโบราณเขาใช้เงินเป็นเฟื้อง เป็นเบี้ย ๑ เบี้ยมีราคาเท่ากับ ๑๐ สลึง ราคาสินค้า ๑ อัฐต้องใช้เบี้ยถึง ๑๐๐ เบี้ย หากคิดเป็นเฟื้อง ๑ เฟื้องเท่ากับ ๘ อัฐ จึงเท่ากับ ๘๐๐ เบี้ย จึงมีสำนวนไทยว่า "อัฐยายซื้อขนมยาย" "อัฐ"คำนี้หมายถึงเงินนั่นเอง คนรุ่นใหม่หากไม่ใส่ใจภาษาไทย ฟังคำนี้อาจเขียนผิดเป็นอัด หรือ อัต ก็ได้ ซ้ำร้ายกว่านั้น เขียนเป็นอัฐิ(กระดูกที่เผาแล้ว)เลยก็มี ทำให้สำนวนไทยเขียนผิดเพี้ยน ทั้งๆที่คำแต่ละคำในสำนวนไทยมีที่มา ฉะนั้น หากรู้ที่มาของคำย่อมสามารถเข้าใจความหมายและเขียนไม่ผิด

ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าคอลัมน์นี้กลายเป็นเวทีภาษาไทยไปแล้วหรือไร ยังคงเป็นเวทีตามชื่อคอลัมน์นี้อยู่ เนื่องจาก ทุกวันนี้ เห็นความลำบากของคนมีรายได้น้อย โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานรายวันขั้นต่ำ แค่ร้อยกว่าบาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับ ราคาสินค้าทั้งอุปโภค บริโภค สาธารณูปโภคทั้งหลายต่างขึ้นราคากันเป็นว่าเล่น โดยอ้างเหตุว่าน้ำมันแพง คนที่มีรายได้น้อย จะกินอยู่กันอย่างไร ลำพังเลี้ยงตนเองก็แย่อยู่แล้ว หากต้องมีภาระหาเลี้ยงครอบครัว และบุตรที่ยังเล็กอยู่คงลำบากกันน่าดู

แม้คนที่มีฐานะระดับกลางอย่างเราๆท่านๆ ยังรู้สึกเลยว่า ค่าครองชีพสูงขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และ เขตปริมณฑล หรือในเมืองใหญ่ แม้ในหมู่บ้านเล็กๆ สินค้าก็มีราคาแพงเช่นกัน เพราะบวกค่าขนส่งเข้าไปอีก ราคาสินค้า ช่างไม่ปรานีปราศรัย เอาเสียเลย ทั้งที่ภาครัฐบอกว่า จะพยายามควบคุม แต่โดยความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

ผู้เขียนฟังผู้สื่อข่าวท่านหนึ่งบ้านอยู่แถวพุทธมณฑล วันหยุดไปกินก๋วยเตี๋ยวที่พาต้าปิ่นเกล้า ชามละ ๓๕ บาท กิน ๒ ชาม (ถึงจะอิ่ม) และซื้อกลับบ้านอีก ๒ ถุง แค่นั้นก็ปาเข้าไป ๑๔๐ บาทแล้ว นักข่าวถึงกับพูดในรายการว่า ยุคนี้ก๋วยเตี๋ยว เป็นของ คนมีสตางค์ ไปเสียแล้ว คนจนๆไม่มีสิทธิ์กิน เพราะสู้ราคาไม่ไหว อะไรจะปานนั้น

ท่านผู้ดำเนินกิจการค้าโดยเฉพาะด้านอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต เป็นปัจจัย ๔ ข้อแรก ไม่น่าจะขึ้นราคากันถึงขนาดนี้ หากจะขึ้นบ้างก็ไม่ว่ากัน (ถ้าสมเหตุสมผลจริงๆ) แต่กรณีที่เล่ามาข้างต้น ขึ้นครั้งละ ๕ บาท หรือกว่านั้น ประชาชนตาดำๆ จะสู้ราคาไหวหรือ

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนทราบข่าวว่าแม่ค้าขายข้าวหมูทอด ขายในราคา ๑๐-๑๒-๑๕ บาท เป็นที่พึ่งของคนจน และทราบ อีกว่า ลูกค้าเข้าแถวรอซื้อกันยาวเหยียด

อีกร้านหนึ่งแม่ค้าพ่อค้าใจดี ส่วนใหญ่โชเฟอร์แท็กซี่จะรู้จักดี เพราะขายถูกให้ตักกินกันจนอิ่ม บางเจ้าถึงกับเปิดร้านแจก ก็มี แบบนี้ซิได้ช่วยคนจน ได้บุญมหาศาล ยังมีร้านค้าย่านถนนนวมินทร์ เยื้องตลาดอินทรารักษ์ ที่นั่นส่วนใหญ่เป็นแหล่งรวม อาหารมังสวิรัติติดถนนใหญ่ มีอยู่ร้านหนึ่งชื่อ ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขาหน้าสันติอโศก(ศูนย์มังสวิรัติ) ให้ลูกค้า ตักอาหารบริการตนเอง แบบบุฟเฟต์ ๑ จาน เพียง ๑๕ บาทเท่านั้น หากซื้อกลับบ้าน ข้าวบรรจุถุง ถุงละ ๓ บาท กับข้าวถุงละ ๑๕ บาท เครื่องดื่มในร้านนี้จำหน่ายถ้วยละ ๓ บาท ไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะตูม ฯลฯ หากวันใด ร้านชมรมฯ ปิด เช่น ปิดทุกวัน จันทร์และทุกวันในช่วงเย็นหลังจากที่ร้านชมรมฯปิดบริการ จะมีแม่ค้ามาจำหน่ายแทน อาทิ ก๋วยเตี๋ยว ในราคา ชามละ ๑๐ บาท เป็นต้น

ในซอยจำเป็น(นวมินทร์ ๕๐) เดินเข้าไปไม่กี่เมตร เห็นร้านชื่อข้าวแดงแกงร้อน ตกแต่งบรรยากาศแบบไทยๆ ขายไม่แพง ก๋วยเตี๋ยว ชามละ ๑๕ บาทเหมือนกัน ยกเว้นก๋วยเตี๋ยวราดหน้าจานใหญ่มีทั้งข้าวโพดอ่อน เห็ดหอม แครอท ผัก ราคาจาน ละ/ถุงละ ๒๕ บาท กินจานเดียวก็อิ่มได้ และยังรับสั่งอาหารปิ่นโตส่งถึงบ้านในละแวก ๑๐ กม. ราคาก็ประมาณนี้ ยกเว้น จะสั่งพิเศษ

ส่วนส้มตำไฮเทคพบได้ในร้านพลังบุญ เป็นส้มตำเพื่อสุขภาพจริงๆ สามารถเก็บในตู้เย็น หากจะรับประทานเมื่อไร ค่อยผสม คลุกเคล้ากัน บรรจุถุงมีป้ายบอกราคาทุน ๑๐ บาท ขาย ๑๒ บาท (ถุงขนาด ๖x๙ นิ้ว) ซื้อ ๑ ถุง ข้าวอีก ๑ ถุง มื้อนั้นก็อิ่มได้ ไม่ยาก ใครได้ชิมส้มตำขนานนี้ ต้องถามหาเพื่อซื้อมากินอีก รสชาติอร่อยอย่าบอกใคร มีทั้งส้มตำปู จะใส่สาหร่ายแทนปูดอง ไม่ต้องกลัว พยาธิตัวจี๊ด รสปลาร้า ผสมปลาร้าเจ ซึ่งหมักจากถั่วเหลือง ได้วิตามินบี ๑๒ หรือ ส้มตำไทย รสชาติถูกปาก คนภาคกลาง เป็นต้น

ภายในร้านของบริษัทพลังบุญจำกัด ได้พยายามหาสินค้าที่ปลอดจีเอ็มโอ(GMOs = Genetically Modified Organisms สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ที่เกิดจากการตัดเอายีนของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งมายิงใส่เข้าไปในยีนของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งปกติ ไม่เคยผสมพันธุ์กันได้ในธรรมชาติ เพื่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่มีคุณลักษณะตามต้องการ) มาจำหน่าย อาหาร ประเภทบริโภค สามารถรับประกันคุณภาพได้ เพราะมีหน่วย ต.อ. (หน่วยตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพผลผลิตชาวอโศก) คอยตรวจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นซาลาเปา โจ๊กข้าวกล้อง ขนมถั่วแปบ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง สลัดผัก เมี่ยงญวน ขนมเปี๊ยะ โปรตีน ผัดพริกขิง ข้าวยำปักษ์ใต้ น้ำพริกสมุนไพร รำปิ้งกล้วย ฯลฯ

ที่เอ่ยถึงร้านนี้ เพราะที่นี่จำหน่ายสินค้าในราคายุติธรรม มีป้ายแสดงไว้ที่บรรจุภัณฑ์บอกราคาทุนและราคาขายไว้ชัดเจน ทำให้ ลูกค้ามั่นใจว่าไม่เอาเปรียบผู้บริโภคแน่ๆ

มีผู้เล่าให้ฟังว่าไปสั่งน้ำปั่นมีแครอทผสมน้ำผลไม้อื่นๆ เห็นเขานำแครอท ชิ้นเท่านิ้วก้อยปั่นรวมกัน ตอนแรกคิดว่า จะไม่ใส่ น้ำเชื่อม ชิม ดูแล้วรสชาติไม่เอาไหนเลยขอเติมน้ำเชื่อมเล็กน้อย ถ้วยขนาด ๘ ออนซ์เห็นจะได้ ราคาถ้วยละ ๓๐ บาท เมื่อเทียบ กับการดื่มน้ำแครอท ที่ปั่นสดๆโดยไม่ผสมน้ำ ที่ร้านสวนไผ่สุขภาพ ย่านพหลโยธินใช้แครอทชิ้นใหญ่กว่านิ้วก้อย แน่นอน ตั้งหลายชิ้น ได้น้ำแครอทปริมาณพอๆกับที่สั่งน้ำปั่นหน้าศูนย์การค้าแห่งนั้น ราคา ๓๐ บาทเท่ากัน แต่ที่นี่ทั้งสด มีคุณภาพ และปริมาณที่ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค

ที่ร้านของบริษัทพลังบุญ จำกัด ยังมีเครื่องดื่มหลากหลายชนิดวางจำหน่ายอยู่ในตู้แช่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำกาแฟถั่วเหลือง (ไม่มี คาเฟอีน) น้ำลูกเดือย น้ำเสาวรส น้ำเสาวรสผสมแครอท น้ำข้าวแดง น้ำกระเจี๊ยบ น้ำสำรอง ฯลฯ ล้วนจำหน่าย ในราคาขวดละ ๑๐ บาท

ปัจจัยสี่อีกอย่างหนึ่งคือยา ที่ร้านยาของบริษัทพลังบุญ จำกัด ขายได้ถูกกว่าที่ไหนๆ ผู้เขียนเคยซื้อวิตามิน ปรินซีบีฟอรท ที่องค์การ เภสัชกรรม ประมาณ ๑๐๐ เม็ด เมื่อเทียบกับราคาของร้านยาบริษัทพลังบุญ ซึ่งจำหน่ายปลีกด้วยซ้ำยังถูกกว่าอีก หากร้านใด ทำได้ควรช่วยกันจำหน่าย ในราคาที่พอสมควร เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามนี้

ตามสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือแม้แต่ที่รามคำแหง สถานที่เหล่านี้จำหน่ายอาหาร ไม่แพงเลย จานละ ๑๕ บาทก็อิ่มได้ แถมห้องอาหารโอ่โถง ใครได้อ่านคอลัมน์นี้จะแวะไปชิมอาหารที่ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งเป็นการช่วย ผู้มีรายได้น้อย แม้ผู้มีรายได้มากจะแวะไปอุดหนุนก็ไม่ว่ากัน เผื่อจะเกิดแนวความคิดว่า จะช่วยสังคม ให้มีแหล่ง จำหน่าย อาหารราคาประหยัดเพิ่มขึ้นในทุกจุดได้อย่างไร ภาครัฐและกรุงเทพมหานคร น่าจะได้ร่วมมือกัน เพื่อให้ประชาชน ได้บริโภคอาหาร ในยุคที่อะไรๆก็แพง โดยอาจเก็บค่าเช่าสถานที่ในราคาถูก หรือไม่เก็บเลย ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่มีที่ดิน ว่างเปล่า ไม่ได้ใช้สอยประโยชน์ให้พ่อค้าแม่ค้าที่ประสงค์จะขายในราคาถูก มีสิทธิ์ก่อนผู้ที่จำหน่าย ในราคาที่แพงกว่า (ในปริมาณ ที่เท่ากัน)

หากสามารถกระทำได้ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในระดับหนึ่ง ผู้เขียนทราบว่า ย่านพาหุรัดเปิดโรงทาน บนโบสถ์ (มันดิร) ชั้น ๔ โดยศาสนิกฮินดู ผู้คนทุกเพศวัย แม้ต่างลัทธิศาสนาสามารถเข้าไปบริโภคอาหารได้ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ น. เป็นต้นไป ตลอดช่วงเช้า และย่านเสาชิงช้าใกล้ๆโรงเรียนเบญจมราชาลัย เป็นอีกแห่งหนึ่ง ที่ชาวฮินดู ไปเปิด โรงทาน บนโบสถ์ชั้น ๒ เช่นกัน แต่เปิดเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น ส่วนย่านอโศก สุขุมวิท ซิกข์ศาสนิกชนเปิดโรงทาน แจกอาหาร มังสวิรัติ โรงทานเช่นนี้ น่ายกย่องจริงๆ เป็นที่พึ่งของคนทุกเพศวัย

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประชาชนเข้าคิวรับปิ่นโตอาหารพระราชทาน ในงาน"น้อมเกล้าฯเฉลิมพระเกียรติ น้ำพระทัย พระราชทาน ทั่วไทย เลี้ยงอาหารพระราชทาน" เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ(หมอชิต)

หากสังคมไทย จะเปิดโรงทานขึ้นมาบ้าง เพื่อบริการแก่ผู้ยากไร้ให้คนเหล่านี้อิ่มท้องก็ยังดี โดยเปิดบริการทุกวัน หากกระทำได้ ย่อมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในระดับหนึ่ง หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ด้านสังคมสงเคราะห์ น่าจะเข้ามา มีบทบาท เฉกเช่นหลายๆแห่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

แม้จะทำได้อย่างที่มีผู้เสนอให้เปิดโรงทานแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทางที่ดีผู้เกี่ยวข้องทั้งตัวแทนจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า หรือเจ้าของกิจการ ไม่ควรฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า เพราะทุกวันนี้ประชาชนก็เดือดร้อนมากโข อยู่แล้ว แม้ประชาชนเอง ก็ให้ลดละเลิกในสิ่งที่เกินความจำเป็น โดยเฉพาะสิ่งเสพติดทั้งหลายไม่ว่าสุรา บุหรี่ หรือเครื่องดื่ม กล่อมประสาท ทั้งหลาย ที่เสียทั้งเงินทำลายทั้งสุขภาพ หากสามารถร่วมใจกันทั้งสองฝ่าย ปัญหาความเดือดร้อน จะบรรเทาลง อย่างแน่นอน

ขอบคุณผู้ให้ข้อมูลประกอบบทความ ส.ฝุ่นฟ้า, ผู้จัดการ บจ.พลังบุญ, ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขาหน้าสันติอโศก, น.ส.บุญนาค ชาญเชาว์, น.ส.ตะวันธรรม ข่าทิพย์พาที, นางเพชรา ลีพิบูลย์สวัสดิ์ น.ส.ลมระริน นาคเครือ น.ส.สลิลทิพย์ แสงโรจน์รัตน์

หากท่านผู้ใดมีประสบการณ์จริงจากชีวิต สามารถส่งมายังคอลัมน์นี้ หรือส่งมาทาง e-mail ข้างต้นได้

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ -