- แม่น้ำ ลักขิตะ -


ยอมรับผิดแล้วแก้ไข

ความผิดพลาดไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย เราแก้ไขได้
แต่อย่าทำผิดจนเป็นนิสัย
เพราะหากตกผลึกเป็นสันดาน
ก็ยากจะปรับเปลื่ยนเสียใหม่

เราทุกคนล้วนเคยผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น จะมากจะนัอยนั้นเป็นเรื่องปลีกย่อยของแต่ละคน

จะมองหาคนดีบริสุทธิ์ โดยส่วนเดียวบนโลกนี้ไม่มีหรอก อย่างน้อยช่วงชีวิตหนึ่ง ต้องมีแน่ที่ประพฤติผิด หากบรรลุธรรม ในวันแรกคลอด ก็ว่าไปอย่าง แต่จากที่ศึกษามาไม่เคยมีนะ...แม้พระอรหันต์เองก็เถอะกระทำผิดพลาดได้เหมือนกัน เพียงไม่มี อกุศลจิตร่วมด้วยเท่านั้น เพราะสิบเท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ไม่แปลกอันใดเลยหากเราจะผิดพลาดบ้างสักคน

แม้มหาบุรุษอย่างพระพุทธเจ้าก็เถอะ ก่อนบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ยังหลงทางทรมานสังขารหลายปี เข้าป่าเป็นฤาษีชีไพร ไปโน่น บำเพ็ญทุกข์สาหัสสากรรจ์ กว่าจะวกกลับสู่ทางสัมมาในภายหลัง ล่วงเวลาสูญเปล่า ๖ ปี

หากมองในแง่ร้าย เราจะรู้สึกห่อเหี่ยวเมื่อกระทำผิด
แต่หากมองในแง่ดี เราจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตจากความผิดนั้นๆ
ผิดพลั้งบ้างเป็นการศึกษา แต่ผิดเคยชินจนเป็นนิสัย นั้นคือความโง่อย่างอวิชชาแล้ว

ข้าพเจ้าคิดว่า ประเด็นสำคัญที่เราพึงให้ความสนใจมิได้อยู่ที่ความผิด หากอยู่ที่การแก้ไข.... ผิดแล้วแก้หรือว่า ผิดแล้ว ปล่อยเลยตามเลย ไม่มีเก็บมาพิจารณาข้อบกพร่องผิดพลาดแต่ประการใด

การเพิกเฉยเช่นนี้ เป็นสิ่งเลวร้ายยิ่งกว่ากระทำผิดเสียอีก เพราะความผิดจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ...ตกผลึกเป็นสันดาน ฝังลึก ลงจิตวิญญาณในที่สุด

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ผู้เห็นผิดว่าเป็นผิด ยอมรับแต่โดยดี บอกกล่าวแก้ทำคืน บัณฑิตย่อมสรรเสริญ"
คนเราประเสริฐกว่า ส่ำสัตว์ตรงที่มี สำนึก

เพราะสำนึกทำให้คนรู้จักยั้งคิด เพราะยั้งคิดจึงสามารถแยกแยะดี-ชั่ว เพราะรู้ดีรู้ชั่วจึงได้ชื่อว่าเป็นคน หากละชั่วทำดีได้ จึงเข้าถึงซึ่งอาริยชน และหากหลุดพ้นการยึดดียึดชั่วหมดอัตตาตนได้ ก็เป็นอรหันต์

สำหรับคนไม่มีสำนึก คิดเองแล้วกันว่าจะเป็นอะไร?.....

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ -