แถลง ทุกๆวันที่ ๕ ธันวาฯ นอกจากชาวประชาจะพากันทำบุญใส่บาตรจนพระสงฆ์องค์เจ้าอิ่มหนำสำราญกันทั่วหน้าแล้ว ชาวอโศก ทั่วประเทศก็ยังได้พร้อมใจช่วยกันจัดโรงบุญมังสวิรัติตามหมู่บ้านย่านชุมชนต่างๆ อย่างเนิ่นนานมากว่า ๒๐ ปีแล้ว นับเป็น วันมหาปีติ มหากุศลแก่ชนชาวไทยทั่วประเทศ จากการเสียสละที่เริ่มจากในหลวงของเรา ก่อให้เกิดกุศลผลบุญ ขยายแวดวง ออกไปอีก อย่างกว้างขวางมากมาย พระราชดำรัสในแต่ละปีๆ มีผลต่อสังคมเศรษฐกิจและจิตใจยิ่งไปกว่าตัวเลขที่บ่งบอกถึงความเติบโตทางเศรษฐกิจ (จี.ดี.พี.) เพราะตราบใดที่คนยังไม่เปลี่ยนจิตใจของการเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ ต่อให้มีเงินกันเป็นพันๆล้านก็ยังยากจน อยากๆๆๆ ได้อยู่ ต่อไป ถ้าไม่ได้มีวิถีชีวิตที่เป็นเศรษฐกิจพอเพียง พระราชดำรัสที่ได้ตรัสถึง "ใครๆก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ในหลวงได้" เป็นเสมือนเพชรเม็ดงามที่ทรงประทาน ให้กับพสกนิกร โดยทั่วหน้ากัน เป็นการแสดงถึงอัจฉริยภาพของความเป็นปราชญ์ที่จะไม่สร้างอำนาจ ให้กับตัวเอง จนคนเกรง ไม่กล้าติง ไม่กล้าติ แต่คนที่ไม่ฉลาด(เผด็จการ) มักจะสร้างอำนาจให้กับตัวเอง เพื่อคนจะได้กลัวเกรงไม่กล้าติ นับวันๆ แม้จะไม่มีใครพูดกันมากถึงความยิ่งใหญ่ของในหลวง แต่ความที่ทรงยิ่งเล็กยิ่งไม่ถือพระองค์มากเท่าใด ก็เป็น ความยิ่งใหญ่ โดยสัจจะมากเท่านั้น ในวาระโอกาสมหามิ่งมงคลเช่นนี้ ชาวเราผู้ได้อยู่อาศัยภายใต้ร่มโพธิสมภาร ควรจะได้ แสดงความกตัญญูรู้คุณ ด้วยการร่วมกันทำความดีจนให้ทุกๆวินาทีเป็นวินาทีแห่งบุญ ซึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นั้น เราสามารถ ทำบุญได้ทันที โดยไม่ต้องไปซื้อหาวัตถุข้าวของที่ไหนเลย เพราะบุญสามารถสำเร็จได้ด้วยการแบ่งปัน ให้แก่กัน และกัน (ทานมัย) ๑ บุญสำเร็จได้ด้วยการประพฤติกาย วาจา ใจให้มีศีล(ศีลมัย) ๒ บุญสำเร็จได้ด้วยการปฏิบัติทาน ศีล จนเกิดผล (ภาวนามัย) ๓ บุญสำเร็จได้ด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน (อปจายนมัย) ๔ บุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวาย รับใช้ ช่วยเหลือ (เวยยาวัจจมัย) ๕ บุญสำเร็จได้ด้วยการยังบุญให้เข้าถึงการบรรลุ ๖ บุญสำเร็จได้ด้วยการยินดีถึงผลที่ได้ บรรลุ (ปัตตานุโมทนามัย) ๗ บุญสำเร็จได้ด้วยการศึกษาฟังธรรม (ธัมมัสสวนมัย) ๘ บุญสำเร็จได้ด้วยการสั่งสอนธรรม (ธัมมเทสนามัย) ๙ และบุญสำเร็จได้ด้วยการทำความเห็นและการกระทำให้ถูกตรง(ทิฏฐุชุกัมม์) ๑๐ จะเห็นได้ว่าบุญเหล่านี้ไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง และสามารถทำได้ทุกๆวินาที เพื่อให้ทุกๆขณะของชีวิต ล้วนแล้วแต่เป็น วินาทีแห่งบุญ - คณะผู้จัดทำ - - สารอโศก ฉบับที่ ๒๘๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ - |