สิบห้านาทีกับพ่อท่าน - ทีม สมอ. -



โรงบุญ ๕ ธันวาฯ มหาราช'๔๘

เส้นทางสู่ความรวยและความจน
ระหว่าง อภิมหาเศรษฐี และ คนจนมหัศจรรย์
เป็นเส้นขนานสู่จุดหมาย
ที่สวนกระแสกันอย่างสิ้นเชิง
และบนเส้นทางนี้ ก็ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ
พวกเขาต้องใช้ความอดทนอย่างสูง
พวกเขาต้องมีความพากเพียรอย่างแรงกล้า
พวกเขาต้องสู้ สู้ สู้
พวกเขาสู้เพื่อใคร
พวกเขาสู้เพื่ออะไร
พวกเขาย่อมเหนื่อยเปล่า
ถ้าพวกเขาไม่สู้เพื่อความพิสุทธิ์แห่งชีวิตพรหมจรรย์

จากบทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ถึงความมหัศจรรย์ของคนจน และข้อสรุปจากบทวิทยานิพนธ์ ของนักศึกษา ปริญญาเอก วิเคราะห์เจาะลึก ๓ กลุ่มพุทธศาสนา ว่าชาวอโศกได้ข้อคิดอะไร และอีกหลายคำถามที่ชวนติดตาม เพื่อรู้ เข้าใจ และ ปฏิบัติได้ทันที เพราะทุกวินาทีเป็นวินาทีแห่งบุญ

ถาม : นัยโศลกปีใหม่ '๔๙ "คนจนมหัศจรรย์ คือ ผู้กอบกู้สังคมให้ไปรอด" มีความมุ่งหมายอย่างไร ?
ตอบ : ความหมายของมัน มีนัยที่เปิดโลกเปิดตัว และอวดอ้างตัวไปมากทีเดียว เป็นการชี้ให้เห็นจุดสำคัญ และทิศทาง ของคน ในโลกนี้ ใครๆก็รู้ว่า ทั้งนั้นๆแหละอยากจะเป็นคนรวย ไม่มีใครคิดเป็นคนจนง่ายๆหรอก แต่จะว่าไม่มีก็ไม่ได้นะ มีคนที่คิด อยากจะจน ตั้งใจจะมามักน้อยสันโดษอย่างพวกนักปฏิบัติธรรม ก็มีอยู่เยอะในประเทศไทย ในโลกก็มีทั้งนั้นแหละ แต่พูดถึง นิสัยสามัญของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ก็อยากรวยกันทั้งนั้น ตั้งแต่ขอทานไปจนมหาเศรษฐี-อภิมหาเศรษฐี และ อยากรวย ต่อไปไม่มีสิ้นสุดด้วย ยังไม่มีใครอยากจนเลย เพราะฉะนั้น ในทิศทางของนักปฏิบัติธรรม ที่มองโลกในอีก ลักษณะหนึ่ง คือจะทำตนให้เป็นคนกล้าจน หรือมักน้อยสันโดษ ซึ่งเราก็รู้ๆกันอยู่ แล้วก็มีวิธีการต่างๆแตกต่างกันไป พระพุทธเจ้า ท่านก็ปรารถนาจะเป็นคนมักน้อยสันโดษ และทรงเห็นว่า การเป็นคนมักน้อยสันโดษ เป็นความดีงาม ยิ่งกว่า ไปเป็นคนรวย การมีมากมีมาย ไปกอบโกยไม่มีวันสิ้นสุด ไม่ใช่สิ่งประเสริฐ ถ้าตั้งสติใช้ปัญญาดีๆก็รู้กันอยู่ทั่วโลก ว่า หากใคร กวาดกอบโกย เอาของในสังคมมาไว้เป็นของตนมากๆ คนอื่นๆในสังคมก็ต้องขาดแคลนอดอยาก มันก็ไม่ดีต่อสังคม อันเป็น การเห็นแก่ตัวอยู่ชัดๆ หรือการกอบโกยเอาเปรียบ มันก็เป็นความไม่ดีอยู่โทนโท่ พูดกันลึกๆก็รู้กันทั้งนั้นแหละ แต่มันห้ามใจ ไม่ได้ มันหยุดไม่ได้ เพราะกิเลสโลภมันเป็นจริง คนเป็นทาสมันจริงๆ กิเลสเป็นมันเป็นเจ้าเป็นนายปุถุชนจริงๆ เป็นอำนาจ บาตรใหญ่ ที่บีบคั้นให้ปฏิบัติตามที่มันต้องการ ข้าต้องเอา ข้าต้องรวย แม้จะรวยโดยวิธีที่ไม่ดี ข้าก็จะทำ

คนจนจะมี ๓ ลักษณะ
ลักษณะ ๑. คือ คนจนที่จนจริงๆ ปุถุชนซึ่งอยากรวย แต่ก็รวยไม่ได้ มันจนตั้งแต่ขอทานไปจนถึงผู้กระจอกงอกง่อย ขี้เกียจ ขี้คร้านงอมืองอเท้า หรือเป็นคนที่ไม่มีสมรรถนะ ไม่มีความสามารถ หรือเป็นคนผลาญพร่าฟุ่มเฟือย ไม่ประมาณตน หรือคนทะเยอทะยานทุ่มเสี่ยงเกินตัว จนล้มละลาย กลายเป็นหนี้เป็นสินล้นพ้นตัว มันก็จนกันได้ทั้งนั้น สุดท้ายฆ่าตัวตายก็มี เป็นต้น

คนจนลักษณะนี้ ทุกคนเข้าใจได้ดี เพราะเป็นสามัญโลกๆ ไม่ใช่"คนจนมหัศจรรย์"แน่ เป็นเพียงคนจนดกดื่นธรรมดาๆ ที่เขาจน กันอยู่ทั่วไป เป็นคนจนที่ไม่ได้เรื่องได้ราว ไม่น่านับถืออะไร

ลักษณะที่ ๒. คือ คนจนที่"มีคุณธรรม" เป็นคนจนที่ปฏิบัติตัวมักน้อยสันโดษ หรือปฏิบัติธรรม จนกระทั่งเป็นคนมักน้อย สันโดษ ความมักน้อยสันโดษชนิดนี้หลายลัทธิศาสนามักน้อยสันโดษได้มากๆ มากยิ่งเกินกว่าศาสนาพุทธซะอีก เช่น บางลัทธิ มักน้อยสันโดษกันจนกระทั่งผ้าก็ไม่นุ่ง ไม่มีสมบัติอะไรติดตัว อย่างพวกเชน พวกนิครณถ์ เป็นมนุษย์ทิฆัมพร นุ่งลมห่มฟ้า มีแค่ภาชนะสำหรับใส่อาหารกินชิ้นเดียว แล้วก็ปัดเช็ดกันอยู่นั่นแล้ว ให้มันปราศจากสัตว์เล็กๆ มีไม้ปัดนุ่มๆ คอยใช้ปัดสัตว์ไม่ให้ตายไปทุกที่ที่ตนจะนั่งจะนอน ไม่เบียดเบียนสัตว์อย่างสุดๆ มีชีวิตมักน้อยสันโดษยิ่งจริงๆ แถมอยู่ ปลีกเดี่ยว ไม่เกี่ยวกับใคร แต่บิณฑบาตขอเขากินไปวันๆ ไม่สะสมอะไรยิ่งกว่านักปฏิบัติชาวพุทธมากเลย

คนจนชนิดนี้ แม้ชาวพุทธที่ยังไม่สัมมาทิฏฐิ ก็มีการปฏิบัติเอาอย่างลัทธิดังกล่าวนี้อยู่มากในวงการศาสนาพุทธ แม้จะไม่ถึงขั้น ไม่นุ่งผ้า นุ่งผ่อนก็พยายามมักน้อยให้ยิ่งๆ โดยฝึกกันไปตามประสาที่รู้ที่เรียนไม่สัมมาทิฏฐินั่นแหละ ก็สามารถมักน้อย สันโดษ ได้เหมือน ศาสนาอื่นเขาทำ ก็เป็นคนจนที่ถือว่า"มีคุณธรรม"เช่นกัน แต่ยังไม่ใช่"คนจนมหัศจรรย์" ที่เข้าขั้นอาริยชน และ เป็นโลกุตระ ของพุทธแท้

คนจนลักษณะที่ ๓ ที่ชื่อว่า "คนจนมหัศจรรย์" ก็คือ คนจนที่ปฏิบัติตามทฤษฎีของศาสนาพุทธอย่างสัมมาทิฏฐิ ซึ่งแน่ ยิ่งกว่าแน่ ว่าไม่ใช่คนจน ในลักษณะที่ ๑ แต่มีคุณสมบัติมักน้อยสันโดษคล้ายลักษณะที่ ๒ เขามีแน่นอน ทว่าไม่สุดโต่ง ไปถึงขนาดนั้น เป็นคนจนเป็นคนมักน้อยสันโดษที่เป็นไปตามลำดับ มีเบื้องต้นท่ามกลางบั้นปลาย ไม่ได้บังคับทุกคน เป็นไปตาม ฐานานุฐานะ เท่าที่จะสามารถจัดสรรจิตวิญญาณของเราได้ดี อยู่ได้ขนาดนั้นขนาดนี้ จนกระทั่ง มีขีดเขตของมัน เช่น ขั้นพื้นฐานก็ศีล ๕ สูงขึ้นก็ศีล ๘ สูงขึ้นไปอีกก็ศีล ๑๐ ซึ่งถึงขั้นไม่ต้องมีเงิน ไม่รับเงินรับทองเลยในชีวิตก็ได้ ไม่ต้อง สะสมสมบัติ มีแค่ปัจจัยที่ใช้สอยอาศัยในชีวิตนิดๆหน่อยๆก็พอเพียง เป็นต้น ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังพิสูจน์ ความเป็นไปได้นี้ กันอยู่ ยืนยัน อกาลิโก

"คนจนมหัศจรรย์" เป็นแบบของพระพุทธเจ้า ไม่จนจนเกินขอบเขต เหมือนกับลัทธิศาสนาอื่นที่ปฏิบัติมากเกินสุดโต่ง จนไม่มี ประโยชน์ต่อสังคม ไม่รู้จักการอยู่กับสังคมอย่างชัดเจน เพราะไม่เข้าใจฐานะของสังคม เป็นโลกวิทู ไม่มีเบื้องต้น-ท่ามกลาง-บั้นปลาย อย่างมีลำดับ มีสัดส่วน ที่รู้ยืดหยุ่นอนุโลมให้แก่ความเป็นจริงของแต่ละฐานะ ปรับตัวและพัฒนาขึ้นมาสู่ทิศทาง ที่สูงขึ้นๆ เป็นทิศทางความเจริญของมนุษยชาติ ซึ่งรู้ว่ามนุษยชาติคืออะไรอย่างชัดเจน คนจนในลักษณะของพุทธ ที่เราเรียกว่า "คนจนมหัศจรรย์" ก็คือ จนอย่างชนิดที่เต็มใจจน และมีบุญบารมี จนอย่างมีปัญญาในสัจธรรม จนชนิด ที่พึ่ง ตนเองได้แล้ว ก็พอเพียง และจนชนิดที่แจกจ่ายทำทานช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นชนิดรู้จักความพอเหมาะแห่งตนแห่งท่าน เป็นคนจนที่ทำทานชนิดที่ไม่ต้องล่อด้วยบุญ ไม่งมงายในทาน ไม่ค้าบุญขายบุญ แต่มีปัญญาที่เป็นปัญญินทรีย์-ปัญญาพละ สามารถ "กล้าจน" ด้วยศรัทธินทรีย์-ศรัทธาพละ

สัจธรรมของศาสนาพุทธมีวิบาก ทั้งวิบากบุญวิบากบาป โดยเฉพาะวิบากบุญ สามารถสั่งสมได้ในแต่ละชาติ จนมีบุญ สนับสนุน อย่างแท้จริง เพราะเชื่อในกรรมในวิบากและในความมีกรรมเป็นของของตน ชนิดที่เชื้อเชิญให้มาดูมาพิสูจน์ได้ อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น คนจนชนิดนี้ จะเห็นได้ว่า ในชีวิตปัจจุบันจนจริงๆนะ ถึงขั้นกล้าที่จะไม่สะสมทรัพย์ศฤงคาร บ้านช่องเรือนชาน เป็นอนาคาริกชน เป็นคนจนที่ขยันหมั่นเพียร มีความรู้ความสามารถ เป็นคนจนที่ถ้าเป็นแบบคนโลกๆโลกีย์ ก็เป็นคนที่มีกิจการมาก มีงานมาก มีบริษัทหรือกลุ่มสร้างสรรพัฒนาอยู่ในสังคมเยอะแยะ แต่ท่านก็ไม่เอาอะไร ไม่ยึดอะไร เป็นของตัวของตนเลย นี่คือลักษณะยอดๆของคนจนมหัศจรรย์ เพราะฉะนั้นคนจนที่มีลักษณะอย่างนี้ จะมีหลายระดับ ลดหลั่น รองๆกันลงมา เป็นคนจนที่เป็นหมู่เป็นมวลเป็นบริษัท ทำงานร่วมกันร่วมมือสอดประสานกันอยู่อย่างเป็นปึกแผ่น

สรุปแล้ว คนจนคือคนที่ปฏิบัติธรรม เป็นคนละเลิกโกรธหลง ละกิเลสในตัวออกไปได้จริงๆ ขั้นโลกุตระ และก็ประพฤติปฏิบัติ จนเป็นวัฒนธรรม เป็นวิถีการดำเนินชีวิตอยู่อย่างคนบริษัทเดียวกัน มีฐานานุฐานะ เป็นเครือแหสอดประสานกันอยู่ อย่างมี ลำดับเป็นระบบ ถึงขั้นไม่สะสม อยู่อย่างเป็นอนาคาริกชน เป็นคนที่ไม่ต้องมีเงินทอง ทรัพย์สฤงคารของตนเอง แต่อยู่ในสังคม ได้โดยมีสาธารณโภคี มีส่วนกลาง และก็อาศัยอยู่กับส่วนกลาง จะกินจะอยู่ จะไปจะมา จะทำงานทำการ ก็สามารถ มีเครื่องทุ่นแรง มีเครื่องมือเครื่องใช้ให้ทำงานได้ไม่ด้อย อยู่ในเกณฑ์มืออาชีพ แต่ท่านก็ไม่ได้ทำงานเพื่อตัวเองเลย คนจนชนิดนี้จะเป็นแบบอย่างและเป็นหลักให้แก่มนุษยชาติ เพื่อให้คนอื่นมาประพฤติเหมือนท่านที่ทำได้ ไม่ได้ฝืน เป็นคนจน ที่มีความสุขสบาย เบิกบานร่าเริง ไม่อึดอัดขัดเคืองมีน้อยใช้น้อยก็ได้ มีมากให้ใช้ก็ใช้ เพื่อประโยชน์คนอื่นสะพัดไปสู่คนอื่น ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงปากพูด เป็นปรัชญาลอยลมสวยๆหรูๆเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ ยืนยันได้ และมีคนชนิดนี้ ในลักษณะ เดียวกันนี้ เป็นคนที่มุ่งมาจน และก็มาจนได้สำเร็จตามลำดับ คนจนเหล่านี้เป็นกลุ่ม "คนมหัศจรรย์" ที่จะกอบกู้สังคม มนุษยชาติ ให้ไปรอด ไปอย่างแท้จริง



ถาม : คนจนมหัศจรรย์คนแรกในโลกคือใคร ?
ตอบ : พระพุทธเจ้าเป็นคนจนที่สุดยอดมหัศจรรย์คนแรก คนต่อๆมาเป็นสาวกต่างๆทั้งระดับที่เป็นนักบวช ที่เป็นฆราวาส ซึ่งสืบทอดมาตามลำดับ แม้ถึงวันนี้ ปัจจุบันนี้ในโลกสมัยใหม่นี้ อาตมาก็ได้นำธรรมะของพระพุทธเจ้า ให้พวกเรามา ปฏิบัติ พิสูจน์ยืนยัน เป็นคนที่กล้าจน มุ่งมาจน ทำตัวเองให้สามารถจนอย่างมหัศจรรย์ได้แท้จริง จนกระทั่งสำเร็จ รวมกันอยู่ เป็นชุมชน "คนจนมหัศจรรย์"



ถาม : กรณีที่มีนักศึกษาปริญญาเอก ทำวิจัยกลุ่มศาสนา ฉือจี้ สรรโวทัย และสันติอโศก พวกเราน่าจะได้ข้อคิดอะไร จากงานวิจัย ชิ้นนี้ ?
ตอบ : งานวิจัยของดร.สุวิดา แสงสีหนาท ที่นำมาจากวิทยานิพนธ์มาเผยแพร่ ซึ่งเนื้อหาเป็นการศึกษาชุมชนคน ๓ กลุ่ม คือ ฉือจี้ สรรโวทัย และสันติอโศก อาตมาพอสรุปได้ว่า ใน ๓ แบบนี้ สังคมฉือจี้ซึ่งเป็นกลุ่มศาสนากลุ่มหนึ่ง ที่อยู่ในประเทศ ไต้หวัน เป็นกลุ่มคนที่ปฏิบัติต่อวงกว้าง เป็นการทำงานกับสังคมรอบกว้างมากเลย และเป็นไปได้ ลักษณะหนึ่งของเขาก็คือ ตัวคนที่ปฏิบัติของเขา จะมักน้อยสันโดษ ประหยัด มัธยัสถ์ ขยันพากเพียร และมุ่งทำประโยชน์ท่าน หรือประโยชน์ แก่สังคมมาก ก็คล้ายกับศาสนาส่วนใหญ่ทั่วไป แต่การเข้าถึงประโยชน์ตนในแนวลึก ยังไม่ค่อยจะได้เท่าไร เท่าที่อาตมารู้สึก และเข้าใจ เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นแนวกว้าง เป็นแนวระนาบ เมื่อเป็นแนวกว้างแนวระนาบ มันก็จะบางๆแบนๆหลวมๆ แผ่กว้างเหมือนเปลือกที่หุ้มนอก โดยยังไม่ใช่เนื้อไม่ใช่แก่น แต่ก็ดีเท่าที่สามารถจะทำได้ เพราะสังคมต้องมีประโยชน์ชนิดนี้ ไม่เช่นนั้นอยู่ไม่ได้ ซึ่งทุกคนเข้าใจและทุกศาสนา ต่างก็ทำตามภูมิธรรมตามปัญญา ความเห็นแก่ตัวจะมีเล็กมีน้อยเท่าไร ก็จะพยายามไม่เห็นแก่ตัวให้ได้ ด้วยแนวตื้นๆ บอกตัวเอง บังคับตัวเอง ฝึกฝนตัวเอง แต่ไม่หยั่งเข้าถึงปรมัตถ์ ไม่หยั่งเข้าถึง เนื้อหาจิต เจตสิก รูป นิพพาน ไม่ทำถึงขั้นมีลักษณะการประพฤติอ่านจิตวิญญาณ ปรมัตถ์คือการอ่านรู้เจตสิก อ่านจิตวิญญาณ มีวิชชา ๘ เริ่มตั้งแต่วิปัสสนาญาณไป วิเคราะห์วิจัยอ่านจิตวิญญาณออกอย่างแท้จริง เรียนรู้กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม แยกธรรมะที่เป็นโลกุตระกับโลกียะออก จับจิตได้ มีเจโตปริยญาณ ๑๖ เป็นต้น และสามารถทำให้มันลดลงไปได้ เป็นขั้นเป็นตอนจนถึงขั้นสมบูรณ์ มีการอ่านรู้จริงๆ มีญาณมีวิปัสสนาหรือมีวิชชา ๘ มีมโนมยิทธิ มีอิทธิวิธี เป็นต้น สามารถอ่านจิตอ่านใจ และก็ปฏิบัติจนมีอำนาจกำจัดกิเลสได้จริงๆ อย่างถูกตัวถูกตน ละลด ได้น้อยก็รู้ว่าน้อย ละลดได้มากก็รู้ เป็นสมาธิหรือเป็นสมาหิตะแล้วก็รู้ จนจิตใจแข็งแรงขึ้น มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริง รู้ชัด รู้เจน ไม่ใช่หลงๆลืมๆ ไม่ใช่เลอะๆ เทอะๆ เบลอๆ พร่าๆ มัวๆ

ลักษณะที่จะรู้จักธรรมะขั้นปรมัตถธรรมอย่างแจ้งๆนี้ ทางด้านฉือจี้ยังไม่เข้าลึกในแนวนี้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ สรรโวทัย กลุ่มนี้ อยู่ประเทศศรีลังกา ก็มีความมักน้อยสันโดษเหมือนกัน จะเห็นได้ว่าธรรมะของที่ไหนก็แล้วแต่ มีความมักน้อยสันโดษ กันทั้งนั้นแหละ เป็นหลัก ถ้ามีแต่ความโลภโมโทสัน กอบโกย ทำใหญ่ ทำเปลือง ทำผลาญ อย่างนั้นไม่ได้หรอก มันต้อง มักน้อยสันโดษ ถึงจะเผื่อแผ่ออกไปได้ ตัวเราเองมีความสามารถมาก มีสมรรถนะสูง เมื่อรวมกันก็มีผลได้มาก เราจึงสามารถ ขยายขอบเขตให้กว้างขึ้นตามลำดับได้ แต่ก็ต้องทำตนเองให้มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยคนอื่นให้มากขึ้นๆ โดยตัวเราต้องมีแกน ที่แท้จริง ที่จะเข้าเกณฑ์เป็นอาริยะ อ่านรู้ มีจิตวิญญาณที่ถูกล้างกิเลสออกจริงๆ มีเจโตปริยญาณ มีจุตูปปาตญาณ อย่างแท้จริง ดังที่กล่าวแล้ว

ลักษณะของสรรโวทัยนี้ ไม่มีความกว้างเท่าไร ไม่ได้สัมพันธ์กับสังคมเหมือนฉือจี้ แต่มีแนวที่เป็นตรรกะเป็นความคิดเยอะ มีปรัชญามีความรู้ มีความเข้าใจเหตุและผลแนวลึก แนวคิดเชิงลึกแยะ และก็สาธยายให้คนใช้ความรู้ ใช้เหตุผล ใช้อะไร เป็นตรรกศาสตร์เยอะ นิยมปัญญา ใช้เหตุผลตรรกะต่างๆเป็นคาถาบันเทาทุกข์ จะปฏิบัติทางเจโต ก็เป็นสมาธิ แบบฤาษี โบราณ หรือกดข่มด้วยวิธีต่างๆ เพื่อช่วยทางด้านระงับจิตเอาไว้ได้บ้างก็ทำประกอบเท่านั้นเอง แต่การปฏิบัติธรรมสร้างสรร ลงแรงช่วยสังคม สงเคราะห์สังคม ลงมือกระทำลุยแหลกไม่เท่าฉือจี้ เพราะฉะนั้นผลที่จะสู่สังคมจึงมีน้อยกว่าฉือจี้ แต่มีความรอบรู้ มีประโยชน์ต่อสังคมเหมือนกัน ในลักษณะหนึ่ง

ส่วนของเราชาวอโศก เป็นลักษณะที่เราเชื่อว่าเป็นได้ทั้งแนวกว้างและแนวลึก โดยเฉพาะเน้นแนวลึกให้พึ่งตนเองได้ อย่างแท้จริงก่อน เรามักน้อยสันโดษ ลดละตัวเองเป็นอาริยบุคคล เป็นโสดาฯ สกิทาฯ อนาคาฯ อรหันต์ ตามลำดับ และมีความมุ่งมั่น เอาจริงเอาจังอย่างเด็ดเดี่ยวอย่างชัดเจน ดำเนินไปอย่างไม่สงสัยลังเล

ทุกวันนี้เราก็มีการช่วยสังคมภายนอกได้เพิ่มขึ้นแล้ว จากการที่เราทำแกนในแก่ตนแก่กลุ่มหมู่ก่อน แล้วก็ค่อยๆช่วยข้างนอก ขยายออกไป ไม่เหมือนฉือจี้ที่ตั้งหน้าตั้งตาทำข้างนอก มีเครือข่ายสานข้างนอกมาก แล้วค่อยพัฒนาหันเข้ามาหาใน ซึ่งการ จะทำได้ก็ต้องอาศัยเวลา ถ้ามีความชัดเจน มีสัมมาทิฐิแท้ ก็อาจจะเข้าถึงแกนได้ แต่ตอนนี้กล่าวได้ว่า ยังไม่ถึงแกน เพราะยัง ไม่ถึงปรมัตถ์ แต่ของเราทำแกนไปก่อน เมื่อทำแกนไปก่อนจะไม่มีล้ม มันเป็นของจริง มันเป็นแก่นแท้ ฉะนั้นก็จะขยายไป ตามสัดส่วน ที่ทำได้ มันก็จะอาศัยเวลา ถ้าได้เนื้อหาตามเวลาที่ยาวไปในอนาคต ถึงขั้นถึงขีดจริง อโศกจะได้มั่นคงกว่า เพราะอโศกมีแกนที่ทำสำเร็จแล้ว ส่วนฉือจี้ทำข้างนอก ทำเปลือกมาหาแกน แต่กว่าจะมาถึงแกน อาจล้มก่อนก็ได้ จริงๆ มันจะไปได้ยาก ถึงได้ก็กลายเป็นศาสนาพิธีการอย่างที่มหายานทั้งหลายเป็นๆกันมา

สรุปแล้วฉือจี้ก็ดี สรรโวทัยก็ดี อโศกก็ดี จะว่าเราเข้าข้างตัวเองก็แล้วแต่ เราก็ดู ดร.สุวิดา ก็วิจัยวิจารณ์ไปในเชิงนั้น ใครอยากรู้ ก็หาอ่านเอา



ถาม : ภาวะทางสังคมนับวันๆจะมีความรุนแรงขัดแย้ง แตกความสามัคคีขึ้นทุกที พ่อท่านคิดว่า ชาวอโศกควรวางตนอย่างไร ?
ตอบ : เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ จะวางตนอย่างไร ในภาวะสังคมแตกแยก ทุกวันนี้มันแตกแยกออกไปอย่างชัดเจน ในสถาบันชาติ ก็แตกเป็นสองฝ่าย กำลังเผชิญหน้ากันแล้ว ฝ่ายผู้บริหารกลุ่มหนึ่งและที่พยายามยึดมวลประชาชน อีกกลุ่มหนึ่ง กลายเป็นแตกแยกระหว่างประชาชนและผู้บริหาร ชาติก็แย่ ศาสนาก็ฝ่ายหนึ่ง จนกระทั่งมีคำกล่าวว่า สังฆราช สององค์ อย่างนี้เป็นต้น ยังเหลือสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ที่ยังเป็นหลักอยู่ แต่ทุกฝ่ายก็พยายามยึดเกาะพระมหากษัตริย์กัน สรุปแล้ว ขณะนี้กำลังเกิดวิกฤติ เกิดการเผชิญหน้า หรือปะทะกันรุนแรง ถึงขั้นจะโค่นจะล้มกันทุกด้าน

ชาวอโศกเป็นคนกลาง เราไม่เข้าฝักเข้าฝ่าย แต่เราต้องมองส่วนที่ดี อะไรที่เป็นสัจธรรม ที่มองได้ว่าอันนั้นถูกต้องดีงาม เราก็ส่งเสริมอันนั้น ช่วยอันนั้นเท่าที่ช่วยได้ ช่วยไปตามที่เราใช้วินิจฉัย ใช้วิจารณญาณของเราตรวจสอบความจริงว่า เออ.. เราควรจะร่วมมือช่วยเหลือเฟือฟายเกื้อกูลฝ่ายใดขณะใดเราก็ทำเท่าที่ควร ส่วนเรื่องการช่วยเหลือเกื้อกูลสามัญ เช่น ให้ข้าว ให้น้ำ ให้อยู่ให้กิน เจ็บไข้ได้ป่วยมา เราก็ช่วยกันดูแลรักษา เราช่วยทุกฝ่าย เพราะมันทุกข์อย่างชัดๆแล้ว ไม่มีกิน ไม่มีอยู่ มันอด มันอยาก มันทรมานทรกรรม มันเจ็บ มันป่วย เราไม่มีปัญหา เราช่วยในเรื่องอย่างนี้ทุกฝ่าย ไม่จำกัด แต่ก็เท่าที่เรา จะมีแรง มีทุน และเราก็เน้นเนื้อหาของเรื่องเป็นสำคัญ เพราะอันนี้เป็นปัจจัยแก่ชีวิต

ส่วนเรื่องของนโยบาย เราก็ร่วมคิดร่วมวินิจฉัย เพื่อจะเลือกเฟ้นในสัดส่วนของสาระ ที่มันดีมันงามเราก็เอา ถ้ายังไม่ดี ไม่งาม เราก็ไม่เอา เราตัดสินของเราเอง อันนี้ขอวินิจฉัยส่วนตัวแบบชาวอโศกเรา ก็มาช่วยกันวินิจฉัย ไม่ใช่ส่วนตัวคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เผด็จการส่วนตัว ในหมู่เราเราใช้วิธีการขบวนการกลุ่ม ร่วมรู้ร่วมประชุมช่วยกันคิดวินิจฉัย ผู้รู้ผู้ที่เป็นปราชญ์ หรือ เป็นกรรมการ เป็นคณะกรรมการช่วยกันดูแลตัดสิน ว่าเราจะร่วมไม้ร่วมมือกับฝ่ายไหน เราไม่เข้าฝักไหนฝ่ายไหน แต่เราช่วย ทุกฝ่ายตามสัจจะ เราขออยู่ฝ่ายกลางๆส่วนเป็นเรานี่แหละ โดยช่วยโลกช่วยสังคมด้วยวิธีการอย่างนี้

นี่เป็นแนวคิดหรือนโยบายของทางอโศกเรา ที่บอกว่าจะทำตัวอย่างไร ก็ดูสังคม แล้วช่วยใน สิ่งที่เป็นสัจธรรมที่ถูกต้อง ในส่วน ที่ดีงาม ตามที่เราพอจะมีความเฉลียวฉลาดที่จะรู้และเลือกเฟ้น เช่น เราออกไปต้านเรื่องการนำน้ำเหล้า เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะถ้าอย่างนั้น เท่ากับไปเพิ่มกำลังแรงในการผลิต ในการกระจายของที่เป็นอบายมุข มอมเมาคน อันนี้เราไม่เห็นด้วย เราก็ออกมาต้านเลย แสดงตัวอยู่ฝ่ายที่ไม่เอาด้วย ชัดเจนอย่างนี้เราก็ทำ หรือต่อต้านซื้อทีมฟุตบอลมาบริหารระดับประเทศ เราไม่เห็นด้วย มันเป็นอบายมุขแท้ๆ อย่างนี้เราก็ต้าน หรือฝ่ายดีที่เราเห็นว่าถูกต้องชัดเจน เราก็ช่วยหนุน แต่ถ้าเรายังไม่แน่ใจ เราก็ยัง เพราะทุกคนก็แสดงภาพพจน์ออกมาดี แต่ลึกๆเรายังล้วงไม่ถึง สรุปคือจะว่าเป็นอาริยะจริงๆ จนกระทั่งเป็นแกน ได้หรือเปล่า ก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้น เราจะเข้าข้างก็ต้องระวัง

แต่ในยุคกาลในบางครั้งบางขณะจำเป็นต้องรีบตัดสิน ก็เอาแค่ข้อมูลปัจจุบันที่มีเท่าที่ได้ จะช่วยฝ่ายไหน ถ้าถึงคราว อย่างนั้น เราก็อาจจะต้อง เข้าข้างใดข้างหนึ่ง ที่เห็นว่าถูกต้องหรือดีกว่าเท่าที่เราพอรู้ก็อาจจะเป็นได้ อย่างนี้เป็นต้น นี่คือหลักวินิจฉัย ในการที่เรา จะอยู่กับสังคมอย่างไร



ถาม : ตอนนี้ในหมู่พวกเรารับข้อมูลจากสื่อมาก ถ้าเราเชื่อข้อมูลฝ่ายหนึ่ง เราก็รู้สึกไม่พอใจอีกฝ่าย
ตอบ : ความพอใจหรือไม่พอใจฝ่ายนั้นฝ่ายนี้เป็นทุกข์ มันเป็นบาปเป็นเวร เราจะไปสร้างจิตของเราให้มีทั้งอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ทั้งชอบและไม่ชอบ มันเป็นความผิดทางธรรมแล้ว ทางโลกุตระต้องให้ลดทั้งนั้น เราไม่เอาอารมณ์ชอบ หรือ ไม่ชอบ เราเอาสาระความจริง เอาเหตุผล เอาหลักฐาน เมื่อ ความจริงนั้นเราสรุปผลได้แล้วว่า อะไรดีกว่า อะไรถูกต้องกว่า อะไรควรกว่า เราก็สนับสนุนอันนั้น-ลดอันนี้ตามภูมิปัญญา เพราะฉะนั้นต้องห้ามอารมณ์ ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช้ความรู้สึก เข้าร่วมตัดสิน อย่าวินิจฉัยโดยอารมณ์ชอบ-อารมณ์ชัง มันจะเกิดอคติ ถ้าเราตัดสินเรื่องอะไร มีฉันทะความรัก มีโทสะ ความไม่ชอบ มีโมหะความหลง หรือมีภาวะกลัว คือยังไม่รู้อารมณ์ในจิตของตน เข้าไปประกอบการตัดสิน ทำให้สิ่งนั้น ไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม เราต้องพยายามวินิจฉัยตัดสิน อย่าให้มีอารมณ์ของเราที่เป็นฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ อคติ ๔ ที่พระพุทธเจ้าสอนเรา คนที่ไม่มีอคติ ๔ จริงๆ ท่านก็จะตัดสินอย่างบริสุทธิ์ดี เห็นได้ง่ายชัดเจน ต้องปฏิบัติ ประพฤติจริง และตัวเราก็จะได้ทำความสะอาด เรียกได้ว่า ตัดสินอย่างยุติธรรม สุจริตดีด้วย



ถาม : ชาวอโศกกับการรับข้อมูลข่าวสาร
ตอบ : เราต้องสนใจข้อมูลข่าวสารต่างๆ เมื่อทำงานขยายผลออกไปสู่สังคมรอบกว้างขึ้น เราก็ต้องมีปัญญารู้เท่าทันสังคม รู้จักข่าวคราวสังคมในรอบที่เราควรรู้ อย่างทุกวันนี้อาตมารู้ข่าวคราว ดูข่าวคราวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถึงแม้ ต่างประเทศอาตมาจะไม่ได้เอามาเป็นข้อมูลร่วมวินิจฉัยมากนัก เพราะอาตมายังไม่ก้าวคืบออกไปสู่ต่างประเทศ แต่อาตมา ก็เอามา เป็นข้อมูลประกอบ เพราะทุกวันนี้โลกเป็นยุคโลกาภิวัตน์ โลกไม่มีพรมแดนแล้ว มันต่อถึงกันหมด ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านรัฐศาสตร์ และด้านสังคมศาสตร์ เราจะไม่เอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นเหตุปัจจัยในการตัดสินไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม อาตมา ก็มีนโยบายหลักอยู่ว่า อาตมายังไม่ขยายขอบเขตออกไปสู่ต่างประเทศ อาตมาจะทำงานในประเทศไทย และแม้แต่ ในประเทศไทยก็ตาม อาตมาจะขยายกรอบออกไปกว้างขึ้น มากขึ้นเท่าใดในสังคมไทย อาตมาก็มีเขต มีกรอบของอาตมา เหมือนกัน



ความเป็นกลาง คือเราไม่ยึดสุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง
แต่ความเป็นกลาง ต้องเข้าข้างความถูกถ้วนดีงาม
ความเป็นกลาง เป็นครรลองชีวิตที่งดงาม
เป็นเส้นทางแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
อันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงค้นพบกว่า ๒,๕๐๐ ปี
พร้อมอาวุธวิเศษสุดยอด คือ ปัญญาที่เป็นธรรม

- สารอโศก ฉบับที่ ๒๘๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ -