- กอไผ่ -


เรียนรู้จากภูมิปัญญาแพทย์ทิเบต

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ศูนย์สุขภาพไทย ซึ่งเป็นสถานพยาบาลแผนโบราณของมูลนิธิสุขภาพไทย ได้มีโอกาสต้อนรับแพทย์ชาวทิเบต คนสำคัญ ชื่อ ท่านเปมา ดอร์เจ (Pema Dorje) ผู้ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาสตร์การแพทย์ทิเบต ทั้งภาคทฤษฎี และ ภาคปฏิบัติ ไว้อย่างน่าสนใจมาก

เราได้พบว่า ภูมิปัญญาแพทย์ทิเบต มีรากฐานมาจากพุทธศาสนาโดยตรง เห็นได้ชัดจากการที่กล่าวถึงมูลเหตุของโรคว่า เกิดจาก อกุศลพิษ หรือพิษร้ายทั้ง ๓ คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ปัจจัยทางจิตใจนี้เอง เป็นสาเหตุพื้นฐาน ของโรคทั้งปวง เพราะทำให้เกิดการเสียสมดุล ของธาตุทั้ง ๕ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ ส่งผลให้พลังทั้ง ๓ ของชีวิต อันได้แก่ วาตะ (พลังการเคลื่อนไหว) ปิตตะ(พลังความร้อน) และกฝะ (พลังความเย็น) เกิดอาการแปรปรวน จนบังเกิด เป็นโทษทั้ง ๓ ที่เรียกว่า ตรีโทษ

กล่าวคือ ความโลภ ก่อให้เกิดโทษเกี่ยวกับวาตะ(ธาตุลมและอากาศ) ความโกรธก่อให้เกิดโทษเกี่ยวกับปิตตะ (ธาตุไฟ) และ ความหลง ก่อให้เกิดโทษ เกี่ยวกับกฝะ (ธาตุดินและน้ำ หรือที่แพทย์แผนไทยเรียกว่าเสมหะนั่นเอง) โดยทั้งนี้แพทย์ทิเบต ให้ความสำคัญ กับวาตะ ว่าเป็นโทษ ตั้งต้น ที่ก่อให้เกิด โรคทั้งปวง และเป็นตัวการทำให้โทษตัวอื่นกำเริบขึ้น ยกตัวอย่าง คลาสสิค ที่มักนำมาสาธกในหมู่หมอทิเบต คือกรณีของ ความโลภมาก อยากได้ของอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องใช้พลังความคิด หรือพลังวาตะมาก เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาเป็นของตน ครั้นมีอุปสรรคขัดขวาง ไม่ได้สิ่งนั้นดั่งใจ พลังวาตะ ที่สะสมไว้ จะเกิด ความปั่นป่วน ผนวกกับความโกรธ ความไม่พอใจซึ่งเป็นพลังลบของปิตตะ ก็จะเกิดภาวะที่วาตะกระพือ ให้ปิตตะกำเริบ ก็จะทำให้ พลังความร้อน พวยพุ่งสูงกว่าขีดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดหัว ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมอง และใน หัวใจตีบ ร้อนใน ผิวหนังพุพอง เป็นแผล ในปาก จิตใจหงุดหงิด ร้อนรน กระสับกระส่าย เกิดโรคตับ และถุงน้ำดีอักเสบ เป็นต้น ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เมื่อวาตะกระพือพัด กฝะ ก็จะทำให้ความเย็น แผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์ ทำให้เกิดอาการ อัมพฤกษ์ อัมพาต ปวดเมื่อย เนื้อตัวหนัก เซื่องซึม ขาดความกระตือรือร้น ความดันต่ำ แพ้อากาศ เป็นโรคปอด และ โรคในระบบ ทางเดินหายใจอื่นๆ เป็นต้น

แล้วหมอทิเบตท่านก็สรุปรวบยอดว่า ในที่สุดแล้ว มูลเหตุของความเจ็บป่วยมาจากอวิชชาเพียงตัวเดียว ในทาง ปรมีตกธรรมนั้น ถือว่า อวิชชา เป็นห่วงโซ่แรก ของปฏิกิริยาลูกโซ่ปฏิจจสมุปบาทาติ(เกิด) ชรา(แก่) มรณะ(เจ็บตาย) เพียงแต่ ชาวไทยพุทธ มองอวิชชา เฉพาะในแง่ที่เป็น ต้นเหตุ ของทุกข์ ทางจิตใจ แต่ชาวพุทธทิเบตเขาใช้ตัวอวิชชา มาเป็นทฤษฎี อธิบายสาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งก็เป็นสภาวะทุกข์อย่างหนึ่ง นั่นเอง พูดง่ายๆ แต่ทำได้ยากกว่า หากดับอวิชชา ลดละ ความโลภ ความโกรธ ความหลงเสียได้ ก็จะปลอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือสามารถอยู่เหนือ ความทุกข์ อันเกิดจาก ความเจ็บป่วยนั้น

ที่คนไข้ไทยอาจจะรับได้ยากคือ ในวัฒนธรรมการแพทย์ทิเบตนั้น ไม่นิยมระงับความเจ็บปวดให้คนไข้เขาเห็นว่า ความเจ็บปวด เป็นของดี เป็นเทวทูต ที่ช่วยสื่อสาร บอกความผิดปกติที่แท้จริง ภายในร่างกาย เพราะถ้ามุ่งใช้ยาระงับปวดเพียงอย่างเดียว ก็จะไม่รู้ ต้นตอของโรค เมื่อไม่รู้สมุฏฐาน ของโรค ก็รักษาโรค ไม่หายขาด

หมอทิเบตท่านมุ่งรักษาที่ต้นตอของโรค นอกจากแนะนำการบำบัดทางใจให้คนไข้ถือศีลทำสมาธิ ลดละอกุศลจิตอันเป็น มูลเหตุหลัก ของโรคแล้ว ท่านยังมีหลัก การตรวจรักษาอวัยวะสำคัญที่ทำให้เกิดโรคด้วย ได้แก่ การแมะตรวจจับชีพจร หยั่งรู้ ความผิดปกติภายในร่างกาย ยิ่งไปกว่านั้น หมอทิเบต ยังมีวิธีตรวจสุขภาพ โดยสังเกต อวัยวะภายนอก เช่น ลิ้น เป็นดอกไม้ ที่บ่งบอกสุขภาพของหัวใจ และช่องท้อง ดวงตาเป็นดอกไม้ของตับ หูเป็นดอกไม้ของไต ริมฝีปากเป็นดอกไม้ของม้าม จมูก เป็นดอกไม้ของปอด เป็นต้น และที่สำคัญหมอทิเบต ยังเชี่ยวชาญ การตรวจปัสสาวะ เพื่อวินิจฉัย โรคต่างๆด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนไข้เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล หมอทิเบตจะไม่วางยาแก้อาการที่จมูกน้ำมูกไหล หายใจฟึดฟัด แต่จะมุ่ง รักษาปอด ให้แข็งแรง อันเป็นต้นตอ ของโรคทางเดินหายใจ หรือถ้าหูได้ยินเสียงหึ่งๆเหมือนเสียงผึ้ง ท่านจะมุ่ง รักษาที่ไต หรือถ้าลิ้นเจ็บ หนาเป็นฝ้า ท่านจะไม่มัวแต่ หายาทาแก้ลิ้นเป็นฝ้า แต่จะมุ่งรักษาที่หัวใจ เป็นต้น

สิ่งที่เป็นขุมทรัพย์ในวัฒนธรรมการแพทย์ทิเบตนั้น ก็คือ เขาถือว่าทุกคนเป็นหมอรักษาตัวเองได้ ถ้ารู้จักเผชิญหน้ากับ ความเจ็บปวด อย่างมีสติ สังเกต สัญญาณความผิดปกติ จากภายในร่างกายตนเอง และไม่มีหมอคนใด ที่สามารถ ลดละกิเลส แก้อวิชชาให้เราได้ นอกจากตัวเราเอง ถ้าแก้โรคทางจิตได้ ก็มีชัยเหนือโรคทางกาย ไปกว่าครึ่ง ซึ่งทุกคน สามารถ เป็นจิตแพทย์ประจำตัวเองได้ น่าเสียดายที่วัฒนธรรมพุทธ ของสังคมไทยเวลานี้ อ่อนแอลงมาก มัวเมาอยู่ใน กระแส บริโภคนิยม ซึ่งกระตุ้นความอยาก ความต้องการเสพอย่างขาดสติ สร้างนิสัยและพฤติกรรมบริโภค ที่เสี่ยงต่อการเสีย สมดุล ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ของชีวิต และโลกธาตุ ซึ่งในที่สุด ก็จะฉุดสังคมไทย ไปสู่สังคมที่อมโรค ยากที่จะเยียวยา

อันที่จริง ภูมิปัญญาพุทธในการแพทย์ทิเบตก็เคยมีอยู่ในภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย เพราะแต่ก่อน พระมีหน้าที่ให้ทั้ง ธรรมโอสถ เยียวยา ชาวบ้าน เจริญรอยตาม พระบรมศาสดา ผู้ทรงเป็นบรมครูแพทย์สูงสุด ศูนย์สุขภาพไทยเอง ก็ใช้หลัก สุขภาพองค์รวม หรือหลักกายจิตสมดุล ของพุทธศาสนา มาเป็นแนว ในการดูแลรักษาสุขภาพ โดยผสมผสาน กับวิธีบำบัด แบบอายุรเวทของอินเดีย ซึ่งเป็นการเสริมภูมิปัญญา การแพทย์แผนไทย ให้มีประสิทธิผล ยิ่งขึ้น

หากเป็นไปได้ ทางมูลนิธิสุขภาพไทย อาจจะร่วมมือกับทางแพทย์ทิเบต เพื่อนำเอาแนวทางของภูมิปัญญาแพทย์ทิเบต มาผสาน กับการแพทย์ แผนไทย ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์และความสุข ของคนในสังคมไทยสืบไป

(จากสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย น.ส.พ.มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๓๒๙)

- สารอโศก ฉบับที่ ๒๘๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ -