บันทึกจากปัจฉาสมณะ


บุญนิยมหรือโลกุตระเท่านั้น คือหนทางรอดจากไฟประลัยกัลป์
ทุนนิยม อำนาจนิยม บริโภคนิยม หรูหรานิยม วิตถารนิยม เป็นวิถีสู่ไฟประลัยกัลป์

ตุลาคม ๒๕๔๘

ตุลาคมนี้เป็นช่วงปลายของพรรษา พ่อท่านยังคงลุกตื่นบริหารกายตั้งแต่ตีสี่ ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง จากนั้น จึงออก ไปร่วม บิณฑบาต กับหมู่สมณะแทบทุกวัน อย่างเป็นปกติ แม้จะมีฝนตกก็ตาม เสียดายที่ยังไม่ได้บันทึกภาพ ขณะบิณฑบาต เปียกฝนไว้เลย

กลับจากบิณฑบาตแล้วจึงสรงน้ำ แล้วทำงานต่อจนได้เวลาฉันอาหาร โดยต้นพรรษาที่ผ่านมานี้ พ่อท่านได้เปลี่ยนเวลา ฉันอาหาร จากเดิมที่เคยฉันประมาณ ๑๑ นาฬิกาเศษ มาเป็น ๙ นาฬิกา ด้วยเหตุผลว่า การฉันอาหารแต่เช้า จะมีผลดี ต่อสุขภาพ มากกว่า ฉันในช่วง สายใกล้เที่ยง

หลังฉันแล้วถ้าไม่มีกิจอื่นก็จะอยู่ทำงานที่เรือที่พักนั้น ไปจนถึงเวลาสองทุ่มจึงได้พักนอน จะเป็นอย่างนี้แทบจะทุกวัน นอกจาก วันที่มี ประชุมชุมชน มีลงอุโบสถ์ทบทวนพระปาติโมกข์ มี ทำวัตรเช้า มีทำวัตรเย็น หรือไปเทศน์ที่อุทยานบุญนิยม ในวันอาทิตย์ ทุกอาทิตย์ที่อยู่ หรือออกตรวจดูงานต่างๆที่กำลังปรับปรุง ก็เป็นกิจที่เสริมขึ้นมานอกเหนือจากงานเขียน ที่ต้อง อยู่กับหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์

ปลายเดือนก็จะสัตตาหะกรณียะไปร่วมประชุมที่สันติอโศกและที่ปฐมอโศก ซึ่งจะมีการประชุมขององค์กรมูลนิธิ สมาคม ชุมชน รวมถึง บริษัทร้านค้าการพาณิชย์ต่างๆของชาวอโศกประชุมกันเดือนละครั้ง

ข้างต้นนี้เป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดาสามัญของพ่อท่านในการทำกิจวัตรที่บ้านราชฯ

ส่วนเหตุการณ์ที่น่าจะนำมาถ่ายทอดในที่นี้ เริ่มจากการเทศน์โปรดหมู่สมณะ หลังจากจบการทบทวนพระปาติโมกข์แล้ว (๓ ต.ค.) ต่อด้วย การสนทนาโปรดสมณะที่กำลังพิจารณาต่อสู้เรื่องราคะ (๕ ต.ค.)

เนื่องจากเป็นช่วงเดือนที่มีเทศกาลเจ (๓-๑๓ ต.ค.) พ่อท่านได้ไปสังเกตการณ์การทำงานในช่วงเวลาขายอาหารอยู่บ้าง ทั้งที่ อุทยานฯ และที่ร้านมังฯบุฟเฟ่ต์ รวมถึงได้เทศน์ที่อุทยานฯในวันอาทิตย์ (๙ ต.ค.) ช่วงเทศกาลเจนี้เหมือนกัน เพื่อให้ลูกค้า ได้รับ อาหารใจด้วย นอกไปจาก อาหารกาย โดยส่งเสียงตามสายไปให้ได้รับฟังกัน ในขณะนั่งรับประทานอาหาร ลูกค้า บางราย สนใจมาถามหาแผ่นซีดี "จะรอดพ้น ไฟประลัยกัลป์ได้อย่างไร" เป็นชื่อหัวข้อในการแสดงธรรมครั้งนี้ พ่อท่าน เริ่มอธิบายการเกิดของชีวิต การเกิดของศาสนา ซึ่งทุกศาสนา ก็จะพูดถึงยุคต้น ยุคกลาง และยุคปลายของโลก การเกิดขึ้น ของโลก และสิ่งมีชีวิตมีมานับกัปไม่ได้ คำว่า ไฟประลัยกัลป์นั้น เป็นอย่างไร มีศาสนาพุทธเท่านั้น ที่อธิบายถึง การพ้นไปจาก ไฟประลัยกัลป์ มีเกร็ดเล็กๆ ที่หลายคน อาจจะไม่เคย ได้ยินที่ไหนมาก่อน พ่อท่านอธิบายคำว่าเวไนยสัตว์ กับ อเวไนยสัตว์ และ อบายมุขที่มีความลึกซึ้ง ต่างไปจากที่เคยได้ยินมา รายละเอียด ของการแสดงธรรมนี้ น่าสนใจยิ่ง ผู้สนใจติดตามได้จาก ฝ่ายเผยแพร่

หลังเทศกาลเจแล้วมีการประชุมสรุปผล ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงสิ่งที่ควรจะต้องแก้ไขปรับปรุงของฐานงานต่างๆ ทั้งที่ อุทยานฯ และร้านมังฯ บุฟเฟ่ต์ พ่อท่านได้ให้โอวาทปิดท้ายการประชุมสรุปงานไว้ด้วยเหมือนกัน (๑๓ ต.ค. ๒๕๔๘)

รายการ "มันแปลกดีนะ!" ของช่อง ๙ สนใจเรื่องชื่อคนที่อยู่ในหมู่บ้านราชธานีอโศก ที่ต่างไปจากชื่อของคนส่วนใหญ่ ในสังคม จากกรณีของ "นายตายแน่ มุ่งมาจน" ที่เป็นข่าวเมื่อเดือนที่แล้ว ยังคงเป็นที่สนใจของนักข่าวกลุ่มนี้ โดยติดต่อ มาขอ สัมภาษณ์ ผู้ที่มี ชื่อแปลกๆ (๑๔ ต.ค.'๔๘) และได้ขอสัมภาษณ์พ่อท่าน ในฐานะที่เป็นผู้ตั้งชื่อแปลกๆ ให้แก่ใคร ต่อใคร มากมาย แต่ชื่อ "ตายแน่" นี้ จริงๆแล้ว พ่อท่านไม่ได้เป็นคนตั้ง เจ้าตัวเขาคิดขึ้นเองและเขาชอบ เขาจึงมาขอปรึกษา พ่อท่านว่า จะขอเปลี่ยนชื่อเป็น "ตายแน่" นี่แหละ จะดีไหม ก็ได้วิจัยชื่อนี้กันจนเป็นที่กระจ่างในความด้อย ความดี สุดท้าย ก็สรุปได้ว่า "ดีมากเลย" ใช้ได้ เขาก็ไปขอเปลี่ยน มันก็เป็น ชื่อที่แปลก แต่ความแปลกนี้มันมองได้ทั้งตื้นและลึก โดยเนื้อหาของ การเปลี่ยนชื่อ เป็น "ตายแน่" นี้ เจ้าของชื่อ เขาไม่ได้คิด แค่ว่า เป็นความแปลกแบบเห็นวัว ๒ หัว ๕ ขา หรือเห็นหมามีเขา อะไรแค่นั้น แต่ในเจตนารมณ์ ในเนื้อหา มันมีลึกซึ้ง ยิ่งกว่านั้นอีกนัก

หรือวิธีอ่านนัยะของความแปลก ที่แปลกยิ่งกว่าชื่อแปลกๆ มีเนื้อหาสาระยิ่งกว่าความแปลกเปลือกๆนี้ พ่อท่านก็ลองเสนอ ความแปลกอื่น แก่นักข่าวให้คิดดู ว่าสิ่งที่แปลกกว่า น่าสนใจกว่าชื่อแปลกๆนี้ ไม่สนใจบ้างหรือ? เช่นว่า... หมู่บ้าน ราชธานีอโศก ที่คุณ มายืนอยู่เห็นอยู่ขณะนี้ มันแปลกยิ่งกว่าชื่อแปลกๆอีกนะ เพราะเป็นหมู่บ้านที่ไม่มีอบายมุขเลย คนทั้ง หมู่บ้าน ไม่มีใครดื่มเหล้า สักคนเดียว แม้แต่สูบบุหรี่ก็ไม่มีสักคน คนมีศีลทั้งหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเด็กเล็ก ไปถึงคนแก่เฒ่า ถือศีล กันทั้งหมู่บ้าน อย่างต่ำศีล ๕ คือคนทั้งหมู่บ้าน ไม่มีใครฆ่าสัตว์กันทั้งหมู่บ้าน ไม่มีการลักทรัพย์ ไม่มีกามที่ผิดศีล เป็นต้น แม้ถือศีล ๘ ในหมู่บ้านก็มีกันเยอะ ถึงขนาดเป็นฆราวาสนี่แหละถือศีล ๑๐ ก็มีไม่น้อยในหมู่บ้านนี้ เป็นหมู่บ้าน ที่ไม่มี อาชญากรรมเลย ตลอด ๑๐ ปีมาแล้ว และที่สำคัญ สามารถดำเนินชีวิต กันอยู่ได้ถึงขั้นเป็น "สาธารณโภคี" ทีเดียว คือทุกคน ในหมู่บ้าน ทำงานไม่เอาเงินเดือน ทำงานฟรี ใครจะทำงานอะไร ทำมาหาได้ ก็นำมารวมเข้าส่วนกลางของหมู่บ้านหมด ไม่เอาเป็นสมบัติ ส่วนตัว ส่วนตัวก็แบ่งกินแบ่งใช้แบ่งอาศัย เป็นอยู่แบบ คนสันโดษ มักน้อยตามธรรมขอ งพระพุทธเจ้า ที่ปฏิบัติมา เป็นคน"กล้าจน" เป็นคนปฏิบัติละตัวตน ละความเป็นของตัว ของตน ไม่ยึดอะไร เป็นของตัวของตน กล้าที่จะ เป็นคน ไม่สะสมทรัพย์ศฤงคารเป็นของตน มีสมบัติร่วมกันเป็นสาธารณะ คือของทุกอย่าง เป็นของเราร่วมกันหมด กินใช้ร่วมกัน ทั้งหมู่บ้าน เหมือนครอบครัวเดียวกัน แม้จะต่างพ่อต่างแม่ ต่างตระกูล แต่เข้ามาอยู่ใน หมู่บ้านนี้ ก็เป็นญาติธรรม เป็นพี่น้องกัน ช่วยกันเลี้ยงดูลูกเล็กเด็กแดงคนแก่คนเฒ่า เงินทองข้าวของสมบัติทุกอย่าง เป็นของทุกคน ร่วมกัน กองเดียวกัน อย่างนี้เป็นต้น

มันแปลกประหลาด!! น่าสนใจกว่าชื่อแปลกๆ เป็นไหนๆ

แต่ดูเหมือนว่านักข่าวเขายังไม่รู้สึกว่าแปลกไปด้วยเลย เขาฟังก็พยักหน้า แต่ไม่ได้สนใจจะถ่ายทอด.. สิ่งที่น่าอัศจรรย์ และ แปลกประหลาดยิ่ง อย่างที่กล่าวแนะนี้เลย ปัญญาชนคงยังไม่ต้องการสังคมชุมชนคนที่เป็นอยู่กันอย่างนี้

นี่คือ ความเข้าใจของผู้รายงานสังคม ที่นำเสนอความมีความเป็นในสังคมต่อประชาชน

๑๖ ต.ค. ๒๕๔๘ ศูนย์บุญนิยมสิกขาราชธานีอโศก จัดกิจกรรมเชื่อมร้อยเครือแหเพื่อเพิ่มศักยภาพ กลุ่มสมาชิกเกษตร อินทรีย์ จังหวัด อุบลราชธานี มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวน ๒๑๗ คน จาก ๑๘ หมู่บ้าน แล้วได้นิมนต์พ่อท่าน เทศน์โปรดสมาชิก ที่ได้มาอบรม

ออกพรรษาแล้ว ๒๑ ต.ค. ๒๕๔๘ ได้รับนิมนต์ให้ไปร่วมอภิปรายเรื่อง "ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี" ในการจัดประชุมวิชาการ เรื่อง "วาระแห่งชาติ เกษตรอินทรีย์เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง" ณ ห้องประชุมโรงเรียนคลองไผ่วิทยา อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ก่อนการ ไปร่วมอภิปรายได้แวะพักค้างที่วัดเขาวันชัยนวรัตน์ ปากช่อง ซึ่งเป็นสาขาที่ ๘๒ ของวัดหนองป่าพง ได้รับการต้อนรับ เป็นอย่างดี จากท่านเจ้าอาวาส

๒๒ ต.ค. ๒๕๔๘ ที่สันติอโศก คุณพิทยา สิทธิโชติ ได้มาปรึกษาเกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง ปฏิรูปการศึกษา ตามหลัก พุทธศาสตร์

เรื่องการศึกษาบุญนิยมยังมีปัญหา เกี่ยวกับการจัดบูรณาการการศึกษา การจัดเวลาเรียนในห้องเรียนตามตารางเวลาเรียน กับการเรียน ในฐานงานกับคุรุฐานงาน ผู้ปฏิบัติงานในระดับล่างกับระดับบนยังเห็นต่างกัน เมื่อระดับบน ซึ่งเป็นนักบวช มีความเห็นอย่างไร ผู้อยู่ในระดับล่าง ที่เห็นต่าง รู้สึกอึดอัด ยิ่งเด็กนักเรียนที่ยังไม่เข้าใจในการปรับระบบการศึกษาอย่างนี้ เกิดความรู้สึก สับสน ในการปรับเปลี่ยน เวลาการเรียนและการทำงาน นักเรียนที่ชอบเรียน หลายคนรู้สึกว่า ตนได้เรียน น้อยไป ขณะที่ คุรุฐานงานเอง ก็ยังไม่สามารถ ให้ความรู้ร่วมไปกับการทำงาน นักเรียนหลายคนคิดจะออกไปเรียนกับ โรงเรียน ทั่วไป ทำให้ฝ่ายการศึกษา เห็นว่า น่าจะให้พ่อท่าน ช่วยมาแก้ปัญหานี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐาน ว่าการจัดการศึกษาแบบ บูรณาการ ในสภาพความเป็นจริงขณะนี้ ควรเป็นอย่างไร พ่อท่านได้ให้เวลากับการพูดเรื่องการศึกษา ในทิศทางที่ควร จะเป็นไป และได้ตอบปัญหาทั้งช่วงเย็นค่ำของ วันที่ ๒๒ ต.ค. ๔๘ และทำวัตรเช้า ๒๔ ต.ค. ๔๘

ปลายเดือนนอกจากประชุมองค์กรต่างๆ รวมไปถึงชุมชนสันติอโศกและปฐมอโศกแล้ว ยังมีการประชุมผู้ซื้อสิทธิในโครงการ สวนบุญ ผักพืช เนื่องจากตั้งแต่เริ่มเปิดโครงการมา ยังไม่เคยมีการประชุมกันมาก่อนเลย เพื่อให้พ่อท่านได้ช่วยแนะ ให้ทิศทางว่า หมู่บ้าน สวนบุญผักพืช ควรเป็นเช่นใด (๒๙ ต.ค. ๔๘)

ปิดท้ายบันทึกด้วยโอวาทปิดประชุมชุมชนสันติอโศกและพาณิชย์บุญนิยม ที่พ่อท่านได้บอกเล่าถึงความยอมรับจากสังคม ทั้งฝ่ายพระ และนักวิชาการ ที่มีต่อชาวอโศก


สอนหมู่สมณะ
๓ ต.ค. ๒๕๔๘ ที่โบสถ์น้ำ ราชธานีอโศก หลังการทบทวนพระปาติโมกข์แล้ว พ่อท่านได้พูดให้ข้อคิดกับหมู่สมณะ จากเนื้อความ บางส่วนดังนี้ เมื่อเรามาบวชมาเป็นสมณะแล้วนี่ ก็คงจะรู้ตัวกันดีทุกคน เพราะเรามาบวชนี่ เราไม่ได้มาบวช อย่างที่เขาบวช บวชเล่น บวชหัว บวชตามประเพณี บวชอะไรก็ไม่รู้ บวชแก้บงแก้บน ก็ไม่ใช่ทั้งนั้น พวกเรานี่มาบวช ตามเป้าหมายเดิม ของพระพุทธเจ้า แน่นอน บวชเพื่อ ที่จะดับกิเลส เพราะชีวิตมันทุกข์เพราะกิเลสจริงๆ

ผู้ที่เข้าใจเรื่องบวช เนกขัมมะ แล้วก็พยายามปฏิบัติให้เป็นเนกขัมมะ หรือปฏิบัติให้เป็นบวช หรือ"ออกจาก"กันจริงๆ จังๆ เนกขัมมะ นี่แปลว่า การออกจาก ปลดปล่อยออก ออกหมดเลย ปลดปล่อยทั้งวัตถุ ปลดปล่อยทั้งกิเลส และปลดปล่อย ทั้งขันธ์ ไม่ติดแม้แต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ติดไม่ยึด ไม่มีอุปาทาน ปล่อยออกหมด เข้าใจธรรมะ ตามลำดับ ๆๆ แล้วปลดปล่อยมา ตั้งแต่ โอฬาริกอัตตา อันมีทรัพย์ศฤงคารบ้านช่องเรือนชาน โภคักขันธาปหายะ และผู้คน ญาติโก โยติกา ญาติปริวัฏฏังปหายะ

ผู้มาบวชนี่ต้องถือว่าเป็นผู้มาตั้งใจตัดภาระอันคือญาติแล้ว ญาติปริวัฏฏังปหายะ เราก็จะไม่ผูกพันวุ่นวายรับผิดชอบ กันแล้ว กับญาติโก โยติกาทางโลก นี่เราจะต้องตัด เรื่องญาติที่จะผูกพันต่อเชื้อต่อภาระอะไรที่จะต้องรับผิดชอบ ตามแบบโลกๆ และ โภคักขันธาปหายะ ทรัพย์ศฤงคาร เราก็ต้องไม่ผูกพันเกี่ยวข้องอีกเช่นกัน เราก็จะต้องละ ต้องวาง ต้องปลดปล่อยเหมือนกัน เหมือนกับ เครือญาติ ก็มีอยู่ อย่างนั้นแหละ ซึ่งเป็นสมมุติสัจจะของโลกเขาอย่างหนึ่ง ใครยังมีพ่อก็พ่อ ยังมีแม่ก็แม่ บางคน มีลูกด้วยซ้ำไป เมื่อมาบวชแล้ว ก็ต้องปลดปล่อยปลงวาง และโภคักขันธาปหายะ ทรัพย์ศฤงคาร เราก็ต้องไม่ไปยุ่ง ไปเกี่ยวข้อง อีกเช่นกัน เราก็จะต้องละ ต้องวาง ต้องปลดปล่อย เหมือนกัน เหมือนกับเครือญาติก็มีอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่เป็น ปลิโพธ ไม่ติด ไม่เป็นห่วง เหมือนขาดจากกันแล้วจริง เข้าใจความจริงว่า ทุกอย่างต้องพรากจากกัน ไม่มีอะไรที่จะไม่พราก จากกัน แล้วก็ไม่มีอะไรเป็นของตัวของตน ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ซึ่งเป็นปรมัตถสัจจะ อันลึกซึ้งของพระพุทธเจ้า

สุดยอดของการเกิดมาเป็นคนก็จะต้องมีความรู้ แล้วปฏิบัติให้ถึงที่สุด ปฏิบัติถึงความจริงอันสุดยอดจริงๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มาบวช จะต้อง ตั้งใจจริงๆ ตั้งใจและพยายาม

ผู้ที่มาบวชตั้งแต่อายุยังน้อยก็กำไร แทนที่เราจะต้องไปเสียเวลา ไปสร้างวิบากต่อ เพราะวิบากคือวิบาก ไปหาภาระ คุณไป ทำงาน ทำการ เอาเงินเอาทองเขามา มันก็เป็นวิบากนะ เป็นหนี้ คุณไปเอาของเขามามาก เอามาเกินกว่าสัจจะก็เป็นหนี้ เป็นวิบาก อกุศล แน่นอน หรือ แม้แต่ไม่เป็นหนี้หรอก ไม่ได้เอาของเขามาหรอก คุณไปมีบุญมีคุณ ไปติดบุญติดคุณเขามา มันก็ยัง เป็นหนี้ เพราะฉะนั้น ในทางโลก มันก็เท่านั้นน่ะ กี่ชาติๆๆ มันก็เหมือนกันหมด คนในโลกนี้เกิดมาเท่าไร เกิดมาอีก กี่ชาติก็เหมือนกันหมด ที่ไม่ได้ศึกษา โลกุตระ ของพระพุทธเจ้า

ผมถึงได้พยายามอธิบายชี้ให้ฟังว่า พระพุทธเจ้านี่ก็เป็นคน ท่านก็ได้พยายามศึกษาว่า เอ๋....คนมันคืออะไร คนมันเกิดมา ทำไม เกิดมาแล้ว มันจะเอาอะไร อะไรเป็นสุดยอดแห่งความเป็นคน ฟังให้ชัดๆ และพระองค์ก็ตามศึกษามาโดยตลอด พิสูจน์มา ไม่รู้กี่ล้านๆ ชาติ พิสูจน์ๆๆ จนกระทั่งรู้จุดจบของ"ความเป็นคน"แล้ว ทำความเป็นคน ให้หมดสิ้นอัตภาพ ไม่เหลือ อัตภาพ ไม่เหลืออัตตา สูญ เป็นอรหันต์ เป็นนิพพาน เป็นการเลิกละปลดปล่อย ไม่เหลืออัตภาพ ทำลายอัตตาได้ เป็นอนัตตา สูญเลย ไม่เหลือได้ แต่ก็ยังไม่เป็น "สุดยอดของความเป็นคน" อยู่นั่นเอง ท่านก็พิสูจน์จนกระทั่งถึง "สุดยอดของความเป็นคน" คือ สำเร็จเป็น "อนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า" นั่นเอง สำหรับการรู้จุดจบของ "ความเป็นคน" นั้นก็แค่ความรู้ "ใบไม้กำมือเดียว" นี่คือจบเป็นอรหันต์ สามารถที่จะดับ อัตภาพ ทำลาย ให้ตนเอง สุดสิ้น ไม่มีอะไรเชื่อมต่อ ไม่มีอะไรเป็นตัวเกิดอีกแล้ว ตาย ร่างกายแตกตายลงถ้าตั้งจิตปรินิพพาน ตั้งจิตไม่ต่อภพ ไม่ต่อภูมิ อะไรอีก ก็จบสิ้นไม่มี "เรา" หรือ "อัตตาในความเป็นตัวเรา" เหลือวนอยู่ในวัฏสงสาร และในเอกภพนี้อีกแล้ว นี่คือ "ใบไม้กำมือเดียว" เพราะอรหันต์ ที่ได้ใบไม้กำมือเดียวนี่ มีความรู้ กิเลสของตน แล้วก็ล้างกิเลสาสวะสิ้นเกลี้ยงชัดเจนว่า อ๋อ.. รูปนามขันธ์ ๕ คืออะไร จิตวิญญาณ คืออะไร ไม่ได้ติดในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รู้นามธรรมเหล่านั้น อย่างรู้แจ้ง รู้จริง มันก็ทำหน้าที่ของมัน เวทนาก็คือ ความรู้สึก สัญญา ก็คือ ความจำ ความกำหนดรู้ สังขารก็คือความปรุงแต่ง ปรุงแต่งไป ก็สักแต่ว่าปรุงแต่ง ไม่ได้หลงผิดอะไรต่อไปอีก ไม่ได้ติดใจ อะไรต่อไปอีก ในวิญญาณ ปล่อยวางวิญญาณได้ แต่ถ้าไม่ปล่อย ยังจะศึกษา"ใบไม้ทั้งป่า" เพิ่มต่อไปอีก ก็สมาทาน "พุทธภูมิ" ต่อไปได้

ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงพิสูจน์ต่อจนจบมาแล้ว กระทั่งได้เป็นพระพุทธเจ้า รู้ใบไม้ทั้งป่า รู้ว่า"สูงสุดในความเป็นคน"ล่ะ ปลดปล่อย ตัวเองได้ก็รู้แล้ว จะ"สูงสุดในความเป็นคน"บนมหาจักรภพนี่จะเป็นอย่างไร ท่านก็พัฒนาตัวเอง จนพิสูจน์ สัมมาสัมพุทธภูมิ -สัมมา สัมพุทธชาติ จนถึงที่สุดแห่งความเป็น พระอนุตตร อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้ว่าสุดยอด แห่งคนในมหาจักรวาลนี้ ก็เป็นได้เท่านี้ ถ้ายังจะเกิดเป็น สัตวโลกที่เป็น "สุดยอดแห่งความเป็นคน" ก็อย่างพระพุทธเจ้า ไม่มี อะไรแล้ว ท่านก็ท้าทายไว้ ไม่มีใครจะเกิน พระองค์ท่าน ไปได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ที่เวียนเกิดมา ในโลกมนุษย์ ท่านก็ตรัสอย่างนี้ทุกองค์น่ะ จะพูดท้าทาย อย่างนี้ทุกองค์ เป็นคนมันก็แค่นี้ สุดยอดไม่มีใคร เท่าเทียม ท่านหรอก ท่านก็ตรัสอย่าง อาสภิวาจา เป็นวาจาองอาจ แกล้วกล้าท้าทาย ท่านทรงยืนยันว่าไม่มีใครจะเท่าเทียมท่านหรอก ถ้าใครจะเท่าท่าน ก็ต้องเป็นพระพุทธเจ้าท่านให้ได้นั่นแหละ ผู้เป็นโพธิสัตว์ ก็คือ ผู้เดินทางสู่ "พุทธภูมิ" ก็พัฒนาตน ตามท่านไป ซึ่งเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์สูงขึ้นๆ คนก็ตามท่านไม่ทันได้ง่ายๆ เป็นอนุโพธิสัตว์ เป็น อนิยตโพธิสัตว์ เป็น นิยตโพธิสัตว์ เป็นมหาโพธิสัตว์ขึ้นไป จนกระทั่งเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สุดยอดแต่ละยุค แต่ละสมัย ที่จะมาปรากฏ นี่คือ "สุดยอดแห่งความเป็นคน" แล้วท่านก็จะสอนเอาความรู้ ที่รู้สัจธรรมนี้ มาเผยแพร่ให้คนได้รู้ตาม ได้ปฏิบัติตาม ใครจะไป ทางนี้ก็ไป ใครจะเอาก็เอา ใครไม่เอาก็วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี่ สุขทุกข์เดือดร้อนทรมานไป ไม่จบ ไม่สิ้นหรอก ได้เสวย โลกียสุข แต่ก็มีคู่คือทุกข์ เพราะมันเป็นทวิลักษณ์ มันไม่ได้เป็นสภาพเดี่ยว มีสุขก็มีทุกข์ ถ้าเป็นสุขโลกีย์นะ ต้องมาพัฒนาสู่ "สุขแบบโลกุตระ" จึงไม่มีสุขไม่มีทุกข์ เป็นอทุกขมสุข วูปสโมสุข เป็นอุเบกขาแบบโลกุตระ หรือจะตรวจสอบกัน จนละเอียดด้วย อากาสานัญจายตนสัญญา -วิญญาณัญจายตนสัญญา และต่อไปจนสุดสัมบูรณ์ ผมก็ได้อธิบายไป จนไม่รู้ จะอธิบาย อย่างไรแล้ว

ผมก็ได้พิสูจน์คน ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าทุกวันนี้ ไม่ว่าเด็กไม่ว่าเล็ก ไม่ว่าคนแก่คนเฒ่า ไม่ว่าฆราวาส ไม่ว่าจะเป็น นักบวช พิสูจน์ ตามทฤษฎี ของพระพุทธเจ้าจริง เรียนรู้ลดละ มันก็เป็นมาจนกระทั่งทุกวันนี้ มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ผมว่า มหัศจรรย์นะ กลุ่มคนที่อยู่ ท่ามกลางโลก อันจัดจ้านด้วยโลกียะมากมายเหลือเกิน ทุกวันนี้ แต่ผมก็เอาคนมารวมกลุ่มกัน มาท้าทาย มนุษยชาติ ว่าคนกลุ่มนี้ ไม่ไปแย่งชิง โลกีย์เขา อย่างพวกคุณ คนกลุ่มนี้มาอยู่รวมกันตามธรรมะของ พระพุทธเจ้า เป็นพุทธบริษัท ๔ ไม่ไปแย่งลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ของใคร ทำไปตามประสาพออาศัย ใครเหลือกิเลสอะไร ก็ละล้าง ของตัวเองไป ใครที่หมดแล้วก็อยู่กันอย่างเป็นสุข เห็นได้ชัดว่า เป็นคนมีศีล ทั้งศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล โอวาทปาติโมกข์ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล อย่างเรานี่เอาจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลของภิกษุ มาจับได้เลย แม้แต่ฆราวาสของเรา ก็มีจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ในวงการพุทธส่วนใหญ่ เขาไม่ศึกษา จึงมีไสยศาสตร์ มีเดรัจฉานวิชา หรือวิชาโลกๆ ที่ติดเป็น เทวนิยม ต่างๆ แต่ของพวกเราไม่มี

หมู่มวลของพวกเรามันเป็นรูปลักษณ์ของศาสนาพุทธโดยตรง ซึ่งสังคมส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นรูปลักษณ์ของ พุทธแล้ว มีรูปลักษณ์เป็น "เทวนิยม" กันเกือบทั้งประเทศ ศาสนาพุทธแท้ๆเป็น"อเทวนิยม" แต่เมื่อไม่เข้าใจว่าศาสนาพุทธ แต่เดิม ที่พระพุทธเจ้าท่านใช้ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล เป็นตัวธรรมนูญ สร้างศาสนามาตั้งแต่ประกาศศาสนา แล้วพระองค์ ก็บอกว่า อย่างนี้ ต้องไม่มี ต้องเว้นขาด ใครมาบวชแล้ว จะเป็นตัวสืบสานศาสนา ก็ต้องไม่มีอย่างนี้ ละเว้น เว้นขาดตาม จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ตั้งแต่ยังไม่มีวินัย ซึ่งในพระไตรปิฎก ก็มีหลักฐานให้ตรวจสอบกัน แต่เขาก็ทำให้กลับคืนมา เป็นอย่าง ศาสนาพุทธไม่ได้ ผมถึงบอกว่า นี่เป็นอกาลิโก จริงๆ ไม่จำกัด กาลเวลา ผมเอาศาสนาพุทธมาหยั่งลง ตั้งลงได้ เกิดได้ เป็นกลุ่มเป็นหมู่ เป็นพุทธบริษัท ๔ อุบาสก อุบาสิกา ไม่มีภิกษุณี ก็เอาแค่เป็น สิกขมาตุก็ตาม ซึ่งเอาจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล มาจับได้เลย

ถ้าภิกษุ ถ้าสมณะไม่รักษาความเป็นพุทธ ให้อยู่ในลักษณะความเป็นพุทธอเทวนิยมอย่างนี้ ถ้าไม่รักษาไว้ มันก็ไม่มีพุทธ อย่างมหายาน หรือ เถรวาทก็ตาม มันก็เป็นพุทธเละๆ "อริยะ"ก็ โอ้โฮมีฤทธิ์มีเดชอย่างที่เขาเผยแพร่โฆษณากัน ในวงการพุทธ ซึ่งออกนอกเขต ของพุทธ ไปหมด ไปหลงเก่งอิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์กันทั้งนั้น พอพูดทักท้วงกัน ตั้งสติ ก็พอรู้กัน แต่แล้วก็หลงวน กลับไปงมอยู่กับ ความเก่งนอกเขตของพุทธอย่างเดิม หนังสือพิมพ์เขาก็หากิน หน้ากระดาษโฆษณาสินค้า พระเครื่องราง ของขลัง แม้แต่ในหน้า ศาสนาแท้ๆ ก็มีแต่เรื่องของพลังไสยศาสตร์ เดรัจฉานวิชา ทั้งนั้น มันน่าสังเวชใจ ทั้งๆ ที่เป็นเมืองพุทธ แต่ทำไมไม่เข้าใจ ความเป็นพุทธ เอาเสียเลย ผู้รู้ว่าพุทธเป็นอย่างไร ก็มีแต่ทำให้เกิดกลุ่ม พุทธบริษัท ๔ อย่างเห็นได้ เป็นรูปลักษณ์ของคนมีศีล-สมาธิ-ปัญญา -วิมุติ -วิมุติญาณทัสสนะ ไม่ได้ อันนี้แหละ ที่ผมเห็นว่า มันเป็น ปาฏิหาริย์ เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ เป็นปาฏิหาริย์ตามคำสอนของ พระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนไว้ อันนี้จงทำ อันนี้จงทำให้ยิ่ง อันนี้จงทำให้สัมบูรณ์ เด็ดขาด นี่เป็นปาฏิหาริย์แท้ๆชัดๆ แล้วเราก็ทำได้กัน ขึ้นมาบ้างแล้ว เป็นกลุ่มหมู่และอยู่กันอย่างเป็น วูปสมสุขด้วย ไม่ได้มีเรื่องอบายมุข ไม่ได้มีเรื่องไสยศาสตร์ ไม่ได้มีเรื่อง เดรัจฉานวิชา ก็เป็นสุขดี



สอนสมณะที่กำลังต่อสู้กับกามราคะในจิต

๕ ต.ค. ๒๕๔๘ ที่ราชธานีอโศก หลังกลับจากบิณฑบาตแล้ว มีสมณะ ๔ รูป เดินตามพ่อท่านมาที่เรือที่พ่อท่านทำงาน ข้าพเจ้า ไม่ทัน เฉลียวใจ ว่าจะมีการสนทนาเป็นกรณีพิเศษ จึงปลีกตัวไปซักผ้า กลับมาอีกทีได้ยินเสียงพ่อท่านพูดจึงรู้ว่า พลาดโอกาส ไปอีกแล้ว จึงรีบกด บันทึกเสียงไว้ การสนทนาช่วงต่อจากนี้ไปจึงโผล่มาแบบไม่มีหัวเรื่องเลย ต้องขออภัยด้วย แต่ก็พอจับ ความสำคัญ ของเรื่อง ได้บ้าง จากบางส่วนที่พอจะนำออกถ่ายทอดเป็นการศึกษาสู่กันดังนี้

พ่อท่าน : แต่หักหลังผมนี่เอาเรื่องน้า !
สมณะ ก : หักหลังกิเลสนี่ได้บุญ
พ่อท่าน : เอ้อ..หักหลังกิเลสนี่ได้บุญ แต่หักหลังผมนี่ เฮ่อะ.....คิดให้ดี คิดอีก ๑๐๘ เที่ยว (เสียงหัวเราะ)
สมณะ ข : เมื่อคืนผมก็คิด มันเหมือนใจจะขาดครับ ผมไม่คิดว่ากิเลสมันจะ...มันจะทุกข์ขนาดนี้
พ่อท่าน : นี่แหละทุกข์อาริยสัจแท้ๆเลยนี่

สมณะ ข : ชีวิตไม่เคยทุกข์ขนาดนี้เลย
พ่อท่าน : นี่แหละ ถ้าเผื่อว่าสู้กับกิเลสจริงๆ มันจะอย่างนี้แหละ ทรมาน เป็นทุกข์ เห็นชัดๆเลยว่ามันเป็นทุกข์ ถ้าเราปล่อยไป ตามอำเภอใจ สึกเลย ไปสมสู่อย่างนี้เลยนะ เราก็จะสุข แต่ไม่ใช่สุขอาริยสัจนะ เป็นสุขโลกีย์แท้ๆ ส่วนที่คุณเห็นทุกข์ตอนนี้นี่ เห็นทุกข์อาริยสัจ แล้วฝืนได้นี่ ผู้ที่สู้ทุกข์อาริยสัจไม่ได้ แล้วจะวิ่งหนีจากทุกข์หรือไปหาทางบำเรอ บำบัด จนได้เสพสุข แต่ถ้า วิ่งไปแล้ว ผู้หญิงเขาไม่เอาด้วย ก็ไม่ได้บำเรอ ก็ทุกข์ ก็ไปหากินเหล้า อกหักไป ไปหาเต้นรำ หรือไปหา อะไรก็แล้วแต่ ตามเรื่อง ตามราว บำบัด กลบเกลื่อนน่ะ ก็เป็นสุข เพื่อที่จะคลายทุกข์ที่พลาดเป้าแรก แต่สุขทุกข์พวกนี้มันไม่ใช่สุข หรือทุกข์ อาริยสัจ ไม่ใช่บำบัดอย่างอาริยสัจ ก็คือ เรื่องสุขทุกข์โลกีย์ธรรมดาๆ ถ้าเป็นทุกข์อาริยสัจต้องเรียนรู้ คือ ทุกข์ที่มันอยากได้โลกีย์ หรืออยากได้ โลกธรรม แล้วเราต่อสู้ การไม่ให้มันบำเรอ มันก็ทุกข์ หากเพียงแก้ทุกข์ด้วยบำเรอได้สมใจ นั่นคือ สามัญโลกีย ปุถุชน แต่ถ้าแก้ด้วยวิธีฌานหรือสมาธิ แบบโลกีย์ หรือ ยิ่งแบบทำลืมๆ มันให้ได้ หาคาถาหาคำปรัชญามาปลอบใจ มาแก้ ให้หายทุกข์ ไปได้ชั่วครั้งคราว ก็ยังไม่ใช่อาริยสัจ ต้องแก้ด้วยฌาน หรือ สมาธิแบบพุทธ ซึ่งสูตรใหญ่ก็คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ เริ่มตั้งแต่ ศีล สำรวมอินทรีย์ โยนิโสมนสิการ มีสติสัมปชัญญะ ฯลฯ จนเกิดฌาน เกิดวิมุติ นั่นเอง ขณะต่อสู้ ด้วยวิธี ของพุทธ นี่แหละ เจ้าตัวจะเห็นทุกข์อาริยสัจ และขณะต่อสู้กับกิเลส มันยังไม่บรรลุผล มันยังสู้กันอยู่มันย่อมทุกข์ หรือเกิด เนกขัมมสิต โทมนัสเวทนา แน่ๆ นี่คือ ทุกข์อาริยสัจ กระทั่งคุณดับเหตุมันได้ จึงจะเกิดเนกขัมมสิตโสมนัสเวทนา และ ผลสูงสุด ก็คือ เกิดเนกขัมมสิต อุเบกขาเวทนา เวลาคุณทุกข์ คุณต้องรู้ว่า นี่คือทุกข์อาริยสัจ และเวลาปฏิบัติ ก็จะเห็นอ าการของเหตุ ก็พยายาม วิปัสนา พิจารณา จัดการกับเหตุ ทั้งพยายามทั้งมีสติ ถ้าสติมันอ่อน สติมันไม่แข็งแรง ความพยายาม อ่อนด้วย ก็จะง่อกแง่กๆ ไม่มีปัญญา เข้าไปตามสติ เพราะสติสัมปชัญญะ ปัญญา หรือญาตปริญญา-ตีรณปริญญา -ปหานปริญญา จะทำงานเจริญ ไม่ครบครัน หรือ ถ้าสติไม่มี สัมปชัญญะตัวต่อ -ตัวเนื่อง ตัวที่จะต้อง พิจารณา เป็นตัวที่จะต่อให้เกิด ปัญญา มันไม่มี มันอ่อนแอ สติก็ไม่ตั้งอยู่เลย เพราะฉะนั้นสัมปชัญญะจึงไม่ตั้งหลัก แต่ถ้า ยังมีสัมปชัญญะอยู่บ้าง ตรงที่รู้ว่า เราเป็นสมณะ สัมปชัญญะนี่เป็นตัวเตือน เราเป็น สมณะ ที่มาทางนี้แล้ว แต่ยังไม่เกิด ปัญญาเห็นกิเลส สู้กิเลส ก็แพ้แน่ เพราะฉะนั้น ต้องอ่านให้ได้ ให้เกิดปัญญาเห็นกิเลส โอ้.. อาการทางใจ มันร้อนเร่า มันร้อนรน วูบวาบๆๆ มีอาการดิ้น เห็นอาการ มันให้ได้ อาการมันไม่มีตัวตนนะ มันไม่มีรูปร่าง ไม่มีหัว ไม่มีหาง แต่มันมีอาการ เห็นอาการมันไหม?

สมณะ ข : เห็นครับ

พ่อท่าน : เอ้อ..นั่นแหละ ดีแล้ว มีปัญญา เห็นอาการมันนั่นแหละ แล้วต้องทำอาการนั้นให้มันบรรเทา ให้มันเบาบาง จะด้วย พิจารณา เห็นความจริงให้ได้ว่า ขืนแพ้มันก็จะมีทุกข์อย่างนี้ ไม่จบ จะหาเหตุผลมายืนยัน หรือจะด้วย เอาตัวอย่าง ผู้ที่เรานับถือ ผู้ที่ท่านบรรลุแล้ว จะด้วยสัญญาต่างๆ จะด้วยความจริงต่างๆ ที่นำมาใช้ ว่าเอ้อ..ถ้าเราไม่มีอารมณ์กาม เมื่อไร ตอนไหน เอามาเทียบเอามาเคียง มันไม่ทุกข์ อย่างนี้นา มันโล่ง มันสว่าง มันเบาสบาย ยิ่งจะเอาสัจจะความจริง เมื่อใด อย่างไร ก็แล้วแต่ โดยเฉพาะอารมณ์ธรรมะ อารมณ์ จิตวิญญาณ ที่ว่างจากกิเลส อารมณ์นิโรธ อารมณ์นิพพาน อารมณ์ สุญญตา อารมณ์อนัตตา อารมณ์จางคลาย อารมณ์ที่ไม่ถูกกิเลส มันรุมเร้านี่ เอาอารมณ์อันนั้นมานึก มาเทียบเคียง ให้เห็นว่า ทำไมเราจะต้องมีอาการอย่างนี้ ถ้าอาการอย่างนี้ก็ใจเรา อาการทุกข์ร้อนนี่ ก็เราเอง อาการเบาบางที่เราทำได้ก็เราเอง แล้วเรา ทำอาการ ให้มันเบาให้ได้ พยายามเข้า ถ้าทำได้มันก็จะเกิดขึ้นมาเรื่อยๆๆๆ จนชำนาญ จนเก่ง จนแข็งแรง แล้วก็เร็วขึ้น เป็นปหาน มีตั้งแต่ วิกขัมภนปหาน ตทังคปหาน สมุจเฉทปหาน ปฏิปัสสัทธิปหาน นิสสรณปหาน ต้องทำนะ เราจะปล่อย ให้มันครอบงำ เราไปเรื่อยๆ ไม่ได้นา

สมณะ ข : เวลาตอนนี้มันก็เข้าใจครับ มันก็ไม่มี แต่เวลาต่อสู้คนเดียว....มัน
พ่อท่าน : โอ้ย....ต้องต่อสู้ ไม่มีใครทำแทนหรอก ต่อสู้ก็ต้องคนเดียว ไม่มีใครไปช่วยได้เลย แม้เพื่อนอยู่ข้างๆนี่ มันอาจจะช่วยเ บาได้บ้าง แต่ก็ชะลอ เท่านั้นแหละ เพราะละอายเพื่อน หรือว่าเพื่อน ก็ช่วยด้วยให้บรรเทาอย่างไร มันก็อาศัยคนอื่น มันไม่ได้ อาศัยตน แต่ถ้าคนเดียว นี่แหละ เด็ดขาดแน่

สมณะ ข : เมื่อวานนี้ พอได้ฟังหมู่ จิตใจผมก็มีพลังดี ผมก็กล้าตัดจิต แต่พอพูดไปแล้วมันเหมือนกับกระชากหัวใจ ตนเอง
พ่อท่าน : แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ เลือดไหลหรือเปล่า มันก็ไม่เห็นมีเลือด
สมณะ ก : น้ำตาไหลครับ
พ่อท่าน : น้ำตาไหล (หัวเราะ)
สมณะ ข : มันทรมานครับ ผมไม่คิดว่ากิเลสมันจะทุกข์ขนาดนี้ ใจจะขาด เหมือนกับลงแดงครับ
พ่อท่าน : มันเจ็บหลอก ไอ้พวกนี้มันไม่เจ็บจริงหรอก มันไม่ใช่ของจริง

สมณะ ข : มันเหมือนไม่หาย
พ่อท่าน : นั่นแหละมันเป็นสัจจะหนึ่ง สมมุติสัจจะไง คนเขาถึงฆ่าตัวตาย หรือทำอะไรต่ออะไรเลอะเทอะ บ้าๆบอๆ ได้ เพราะไม่มีกำลัง ไม่มีปัญญา แล้วก็สู้ผี สู้มารไม่ได้ ถ้าหนีไปอยู่ใกล้หมู่มารหรือจะหนีไปอยู่กับผีมาร ผีมารเอาไป เป็นบริวารหมดแน่ อยู่กับมิตรดี สหายดี ยังมีหวังรอด

สมณะ ข : ยิ่งผมคิดว่าผมบวชมา ๑๕ ปี ที่ผ่านมาผมว่ากิเลสพวกนี้ผมลดแล้วนะ พอมาเจอแล้ว มันรู้สึกเหมือนกับ ต้องมาเริ่มต้นใหม่
พ่อท่าน : ไม่ มันมีพลวปัจจัย มันไม่ได้เริ่มต้นใหม่ทีเดียวหรอก มันมีส่วนได้

สมณะ ค : รู้สึกสงสารเขาที่เขาโทรมาแล้วเขาเงียบ สงสารเขาตอนที่พูดไปแล้วเขาเงียบ
พ่อท่าน : คุณจะสงสารเขาหรือคุณจะสงสารคุณน่ะ

สมณะ ข : มันก็ทั้งสองอย่าง
พ่อท่าน : โอ้ย..เขาเองเขาก็ต้องพยายามช่วยตัวเอง เราไปสงสารเขาแล้วเราก็ทรุด เราก็เสีย แล้วก็ดึงลงต่ำด้วยกันทั้งคู่ แล้วมัน จะไป สงสารทำไมล่ะ สงสารแล้วมันก็ไม่ได้หมายความว่ามันเจริญขึ้นมา มันไปสู่หินเพศอย่างเก่า มันจะได้เรื่อง อะไรล่ะ นี่คือเหตุผล นี่คือ ความจริง คุณก็ต้องพยายาม

สมณะ ข : ผมมันเหมือนกับจะไม่มีแรง กลัวว่าจะไม่ได้อยู่ช่วยงานพ่อท่าน มันหมดพลัง
พ่อท่าน : ได้ หายได้ ผมก็เคยอกหัก ไม่เห็นมันจะเป็นอะไร ก็เคยกันมา คนละเล็กคนละน้อย คนละมาก ก็แล้วแต่ บางคน มาก จนกระทั่ง แทบตาย แล้วไม่เห็นจะมีอะไร เหมือนหนังแต่ละเรื่องแต่ละเรื่อง (เสียงหัวเราะ) ถึงวินาทีนี้ถามหน่อย คิดว่า จะชนะไหมนี่

สมณะ ข : ก็ดีขึ้นครับ แต่เมื่อคืนเหมือนจะตาย เวลาตอนที่เขาไม่มาบอก จิตใจก็ดีขึ้น แต่เวลาที่เขามาบอกก็เหมือน จะไม่ไหว
พ่อท่าน : ไหวอยู่ ก็ดีแล้วล่ะ เอาเถอะ....ไม่เป็นไร เอาตัวเองบ้าง แล้วก็ให้เพื่อนช่วยบ้าง อยู่คนเดียวบางทีสู้เต็มที่ มันก็เปลี้ยๆ ได้ ก็สลับไป

สมณะ ข : โลกทั้งโลกเหมือนกับหมดความรื่นรมย์
พ่อท่าน : (เสียงหัวเราะ) แหม....เอาเพลงชื่นรักไปร้องก็ดีอ๊ะ รื่นรมย์สมอุรา
สมณะ ข : ผมกลัวว่ามันจะกลับลำ
พ่อท่าน : ย้อนแย้งนะ ตีกลับไปเลย
สมณะ ข : เวลามันคิดขึ้นมาก็กลัวว่าจะทำให้หมู่ผิดหวัง รู้สึกอายตัวเองด้วย บวชมาตั้งนาน ทำไม เหมือนกับอ่อนแอ

พ่อท่าน : มันเป็นวิบาก ดีแล้วหละที่เราเจอวิบาก ก็ล้างวิบากมันไป ชาติหน้า ชาติโน้นอะไรมันก็จะได้หมดไปเป็นขั้นๆ ชาตินี้ ก็เอา เจอมันก็เจอ สู้มันไป จนชนะ ถ้าไม่ชนะคุณก็ต่อไปอีก ในชาติหน้าคุณก็ไปอีก ทีนี้ต่อไปนี่นะ ถ้าเราแพ้ ชาติหน้า มันก็ยิ่ง จะหนาขึ้น มากขึ้น มันก็ยิ่งหนักกว่าเก่า ถ้าเราชนะชาตินี้ ชาติหน้าก็เบาบาง หรือชาติหน้าก็ลอยลำ ถ้าชนะไป มันก็ขาด ไปเรื่อยๆๆ ก็เบา เมื่อชนะแล้ว ก็ชนะไปเรื่อยๆ ก็เบา ก็ง่ายไปเรื่อย แต่ถ้าแพ้นี่มันจะแพ้หนักหน้าลงไปเรื่อยๆ ทุกข์ก็ยิ่งหนัก ยากทับทวีขึ้นๆ ดำมันก็จะ ดำลงไปเรื่อยๆ ถ้าขาวมันก็จะขาวขึ้นไปเรื่อยๆ จะเอาทิศไหนล่ะ

สมณะ ข : ตอนที่มันเกิดมันก็ไม่ยึดครับ แต่มันก็กลัว กลัวตรงที่หักหลังหมู่
พ่อท่าน : (เสียงหัวเราะ) ดีแล้วหละ เอาตรงนี้ไปพิจารณาก็ดี หักหลังผมกับหักหลังผู้หญิงนี่ ผมว่าหักหลังผู้หญิงนั้น ไม่เท่าไร หรอก ได้บุญ ด้วยนา หักหลังกิเลส มันช่วยผู้หญิงในตัวเลย แต่หักหลังผมนี่ หักหลังอะไรล่ะ หักหลังสัจจะเชียวนะ มันไม่ดี น๊า เห็นชัดแจ้ง ดีไหม?

สมณะ ข : ไม่มีเจตนาที่จะคิดอย่างนั้น อารมณ์มันมาแล้วมันกลัวว่าจะทนไม่ไหว
สมณะ ค : ตัวอะไรที่มันคอยเตือนไว้ เพราะเราเคยให้สัญญา ถ้าหมู่จะทำอะไร ก็ต้องไม่ทำอะไรตามใจมัน
สมณะ ข : ผมถึงไม่กล้าให้สัญญากับพ่อท่าน เพราะกลัว ผมรู้ว่ากิเลสมันขึ้นๆลงๆ มันพร้อมที่จะตีกลับอยู่เรื่อย

สมณะ ค : เมื่อวานมีประชุมอปริหานิยธรรม ว่าจะชวนมาหาพ่อท่านก่อนประชุม มาแล้วก็อาจจะลาเลยก็ได้ เมื่อวาน ประชุมกัน ๔ ชั่วโมงครึ่ง
สมณะ ง : ถ้าไม่บอกหมู่ก็คงจะไม่รู้

สมณะ ข : ที่ผ่านมาผมก็บอกฝ่ายหญิงตลอดว่า มันทรมานมากเลย ตอนนั้นผมยังแข็งแรง ผมก็บอกให้เขาตัดใจ หลายครั้ง เขาก็ตัดใจ ผมก็พยายามที่จะไม่พูดด้วย พยายามที่จะเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด สุดท้ายเขาก็ทรมานใจ เขาทนไม่ได้ เขาก็พูด มาก่อน หลายเที่ยวครับ ผมก็ไม่คิดว่ามันจะทรมานใจขนาดนี้ ผมเพิ่งมาเข้าใจสภาวะเขาตอนนี้ครับ เอ๊..แต่ก่อน ผมก็ไม่ได้คิด ขนาดนี้ ผมเข้าใจว่า มันเป็นสภาวะ ที่ผมจะต้องผ่าน แต่พอคิดว่าจะสึก มันก็ไหลลงเลยครับ กิเลสเก่าๆ มันมาหมดครับ

พ่อท่าน : (หัวเราะ) กิเลสมันมาหมด ก็เลยเห็นว่ามันยังไม่หมดยังงั้นเหรอ

สมณะ ข : มันเหมือนกับแต่ก่อนเราเอาชนะมันได้ เรามีกำลังเหนือกว่า เราสามารถที่จะคุมมันได้ พอเรายกธงขาว มันเหมือนกับ มันหมดสภาพเลย มันก็เลยคิดมาทางนี้ ผมฟังคำพ่อท่านตลอด ฟังกี่ทีมันก็ยอมจำนน มันก็เข้าใจ พออารมณ์มา มันก็อ่อน ที่ผมมานี่ ผมไม่แน่ใจว่า ใจมันสามารถที่จะคลายได้ มันดูเหมือนกับมันคลายไม่ได้ แต่ตอนนี้ มันก็ดีขึ้น

พ่อท่าน : นึกถึงอย่างองค์อื่นสิ องค์อื่นเขาใช้คาถานี้ ผมบอกเขาว่า โธ่เอ้ย ขนาดพระพุทธเจ้านี่นา มีพระนางพิมพา สุดแสนดี ประเสริฐสุด ทั้งสวยทั้งงาม ทั้งพร้อมไปด้วยเบญจกัลยาณี เป็นสุดยอดผู้หญิง ท่านก็ยังทิ้งเลย เมื่อจะต้องมาบวช ท่านก็ต้องทิ้ง ถึงอย่างไง มันก็ต้องทิ้ง ไม่มีอะไรที่จะไม่พรากจากกัน ทุกอย่างก็ต้องพรากจากกัน ในอภิณหปัจจเวกขณ์ พระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้ ไม่มีอะไร ที่จะไม่พรากจากกัน จริง..เมื่อเรามาทางโลกุตระนี่แล้วนี่ มันแน่นอนที่สุดเลยว่า ต้องทางนี้ เพราะถ้า เราไม่ชนะ เราก็แพ้ เพราะฉะนั้น เราต้องเอาชนะให้ได้ ต้องชนะให้ได้ ให้มันตายดูซิ ไอ้เจ็บปวดนั้น มันของปลอม คุณหายแล้ว คุณจะรู้สึกว่า โธ่เอ้ย!.... ทำไม แต่ก่อนนี้เราถึงไปหลง เป็นจริงเป็นจังอะไรกันนักหนา มันของปลอมจริงๆ มันไม่ใช่ ของจริงหรอก มัน"อลิกะ"(ไม่จริง) มันคือ "กามสุขัลลิกะ"

สมณะ ข : มันของปลอม แต่มันก็เจ็บปวดจริงๆครับ
พ่อท่าน : เจ็บใจมันไม่มีไง! มีแต่เจ็บกาย เพราะมันเป็นเรื่องของฟิสิกส์ เรื่องของธาตุเคมี เมื่ออวัยวะเจ้าการมันไม่สมดุล มันก็เกิด ปฏิกิริยา ปฏิกิริยานั่นคือความเจ็บความปวดทางกาย แต่จริงที่สุดขั้นสุดยอด หรือขั้นปรมัตถ์นั้น ใจมันไม่มีเจ็บ ใครยัง "เจ็บใจ" อยู่ คือ คนที่ยังมี ของหลอกอยู่ในตน

สมณะ ข : ผมก็นึกถึงคำนี้ของพ่อท่าน แต่มันเจ็บจริงๆครับ
พ่อท่าน : (หัวเราะ) ไหนเอามีดมาเฉือนดูซิ เอาค้อนมาทุบดูซิ มันเจ็บเหมือนกันหรือเปล่า ไม่ใช่ มันไม่เหมือนนา เจ็บกายนี้ มันเจ็บ มีแหล่งมีที่ มันเจ็บเห็นๆเลยนา แต่ใจนั้นมันเจ็บไม่จริงหรอก มันเจ็บเอง โอ้ยยยย.... แต่หายก็หาย แผลไม่มี พอหายแล้ว ไม่มีอะไร เหลือเลย ไม่มีร่องรอยอยู่ ณ ที่ไหน ถ้าหายเร็วก็วับเดียวเลย หายปั๊บก็หาย มันไม่มีตัวตน ไม่มีที่อยู่ ไม่มีแผล ไม่มีรอยหรอก แต่กายนั้น ปฏิกิริยาของมัน มีตัวตน มีรูปรอย รูปธรรมสรีระ ปฏิกิริยาทางฟิสิกส์-เคมี มันมี แต่ใจนี้ ไม่มีหรอก

สมณะ ก : มันเหมือนพายุครับพ่อท่าน พัดมาวื้บแปล้บเดียว หายไปแล้วก็ไม่มีอะไรแล้ว
พ่อท่าน : เอ้อ อันนี้ก็ดี ไม่รู้ไม่ชี้ อยู่ๆก็พัดวูบเข้ามา พายุไม่มี ไหนตัวพายุไม่มี มันสลายไปหมดแล้ว
สมณะ ค : แค่มันมีต้นไม้หักอยู่ข้างใน (เสียงหัวเราะ)

พ่อท่าน : ต้นไม้เหรอ ต้นไม้ก็เอามาทำฟืน เอาไปพิจารณา ต้องมีสติ ตั้งสติให้ได้ พิจารณา เห็นความจริงในทางอสุภะ ในทาง ที่มัน ไม่ได้เจริญ ไม่ได้ดี ไม่ได้งาม ไม่ได้มีอะไรที่จะรุ่งเรือง มีแต่ทางเสื่อม ทางทรุด หนักไปเรื่อย ทางโน้นมีแต่ตกไปเรื่อย แหละ ต้องพยายาม พิจารณา ให้มันคลาย ไอ้ที่มันเจ็บปวดมันก็จะคลาย ต้องทำอย่างนั้นให้มันเกิดผล ถ้าไม่ทำ ปล่อยไป มันก็จะซ้ำซาก ไม่จบสิ้น แต่ถ้า ทำได้แล้ว มันก็จะเกิดผลชนะ รุกขึ้นไปๆๆ เรื่อยๆ ต้องตั้งสติสัมปชัญญะ แล้วพิจารณา สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ นี่เป็นตัวปฏิบัติที่จะเกิดสัมโพชฌงค์ ถ้าตั้ง สติสัมปชัญญะ เป็นสติ ที่เป็นตัวปฏิบัติที่มันมีการปฏิบัติจริงๆ แล้วก็มี ธัมมวิจัย วิจัยๆๆๆ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เอาธรรมะมาแทรกซ้อน ใส่เวทนา -อารมณ์ อารมณ์มันเจ็บมันปวด เวทนามันเจ็บ มันปวด พิจารณาแล้วหาต้นราก ของกิเลส ในจิต สราคะ สโทสะ สโมหะ พิจารณาจิตในจิต มันเป็นกิเลสอยู่ในจิตอย่างนั้น จริงๆเลย เห็นตัวมัน ให้ได้ โถ..ไอ้ตัวนี้ เห็นอาการของ ไอ้ตัวนั้นน่ะ ตัวเจ็บมันเป็นอัสสาทะ ตัวที่มันจะต้องเอาให้ได้ ให้เป็นอย่างนี้ ให้ได้อย่างนี้ ให้อยาก อย่างนี้ อยากให้เกิด อย่างนี้ นั่นแหละ ตัวเป็นเหตุแท้ เป็นตัวสราคะ สโทสะ สโมหะ แล้วจัดการมัน ไอ้ตัวเจ็บตัวปวด มันเป็น อัสสาทะ มันเป็นรส ปล่อยมันก่อน เพราะท่านไม่ได้ให้ไปดับรส ท่านให้ไปดับเหตุ ดับราคะ ดับโทสะ ดับโมหะ ดับอาการ ที่มันเกิด ในปัจจุบัน แล้วไอ้ตัวสราคะ จะหาย ตัวอัสสาทะจะหาย รสชาติมันจะจืดจาง มีรสก็น้อยลงๆๆๆ มันไปด้วยกัน สุดท้าย มันก็เหลือ น้อยลงๆๆ ไอ้ตัวของ เหตุนี่ ตัวของตัณหา มันจะค่อยๆ เล็กลงๆๆ จนกระทั่งต่อไปมันจะเร็ว มันจะเหลือแต่ รสอัสสาทะ เอ่อ.... รสสุข - รสทุกข์ ถ้าถึงขั้นอนาคามี จริงๆ ยิ่งจะไม่มีตัณหา ไม่มีกิเลสแล้ว มันจะมีแต่รส มันจะมีแต่ เอ้อ..เราได้กินรสเก่า รสเก่ามันระริกระรี้ ชื่นมื่น อะไรอยู่ลึกๆเท่านั้นเอง มันจะไม่แรงไปแบบกิเลสหนา แต่มันจะเหลือรส นั่นคือ อารมณ์ของฐานอนาคามี

สมณะ ข : ผมนึกถึงสภาวะของเจ้าชายนันทะ ที่ตอนลาเจ้าหญิงตอนไปส่งพระพุทธเจ้า คำพูดของเจ้าหญิงที่บอกว่า เสด็จไป แล้วรีบกลับ ผมเข้าใจสภาวะ มันเหมือนกับมันหลอน เหมือนกับมันหลอนตลอด อย่างเจ้าชายนันทะ ยังมีความรู้สึก เหมือนกับ มีหวัง แต่ผม มันเหมือนกับ มันไกลน่ะครับ เหมือนกับมันต้องสู้ไกล มันเหมือนกับมันหลอน แล้วมันก็ใจหาย

สมณะ ก : เจ้าชายนันทะก็เชื่อพระพุทธเจ้า ก็อยากจะสึกเหมือนกัน แต่เชื่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าว่า ถ้าอยากได้ดีกว่านี้ ต้องให้ บวชนานๆ สุดท้ายก็เลยได้บรรลุธรรม

พ่อท่าน : มันไม่เที่ยง มันไม่จริงหรอก สมมุติสัจจะมันของหลอกทั้งสิ้น สมมุติสัจจะนั้น "ไม่เที่ยง(อนิจจัง) -เป็นทุกข์ (ทุกขัง) - ไม่ใช่ตัวตน ของจริงเลย (อนัตตา)" ทำให้หายไปจากเราได้ เชื่อพระพุทธเจ้าไหมล่ะ เชื่อผมไหมล่ะ ผมก็ได้พิสูจน์มาแล้ว สู้เถิดน่า สู้แล้ว จะรู้ปรมัตถสัจจะชัดเจน พอบรรลุได้ชัยชนะแล้วจะเห็นว่า โอ้..อ..อ..อ... มันไม่จริงอย่างนี้เอง หนอ-อ-อ-อ!!!

สมณะ ข : มันรู้สึกเหมือนพ่อท่านหลอกให้ผมทิ้ง

พ่อท่าน : อ้าว ถ้าจะว่าผมหลอก พระพุทธเจ้าก็หลอกนะ คุณก็ต้องโทษพระพุทธเจ้าด้วยนะ เพราะผมไม่ได้พูด นอกแนว พระพุทธเจ้า นะ แล้วผมก็ว่า ผมไม่ได้หลอก เพราะว่าผมได้จริงหงะ คนอื่นก็ได้จริง ตั้งเยอะตั้งแยะ หลอกที่ไหนเล่า เรื่องทุกข์ ที่คุณมีนั้น มันเป็น โลกีย์ ก็จริงนะ ถ้าจะว่าไปแล้ว มันมี"จริง"กัน ๒ อย่าง โลกุตระก็จริง โลกียะก็จริง..เอ้า แต่ต้องรู้ใน "จริง" กันทั้ง ๒ อย่างนั้น ให้แจ้งชัด ถูกต้องคมแม่น ตรงถ้วนครบ "จริง"ของโลกีย์นั้นเป็นทุกข์เป็นสุขไปตลอดกาล ไม่มีจบทุกข์จบสุข ถาวร เด็ดขาด ส่วน"จริง" ที่เป็นโลกุตระ อันนี้สิ้นทุกข์ สิ้นสุข เด็ดขาดถาวร คุณจะเอาโลกีย์หรือจะเอาโลกุตระล่ะ โลกีย์นั่นมัน "จริง" แบบสมมุติสัจจะ ไม่ใช่ "จริง" แบบปรมัตถสัจจะในโลกุตระ



จะรอดไฟประลัยกัลป์ได้อย่างไร
๙ ต.ค. ๒๕๔๘ ที่อุทยานบุญนิยม เป็นช่วงเทศกาลอาหารเจ และตรงกับวันอาทิตย์ ปีนี้ขายดีกว่าปีที่ผ่านๆมามาก ถึงกระนั้น ก็มีผู้เสนอ อยากจะนิมนต์พ่อท่าน ได้มาเทศน์ เพื่อให้ลูกค้าได้อาหารใจด้วย แรกทีเดียวจะจัดให้พ่อท่านได้นั่งเทศน์ ที่เวทีร้องเพลง และแสดง หน้าน้ำตก แต่มีเสียงทักว่าดูไม่เหมาะ คนนั่งกินอาหารอยู่ที่เฮือนถ่ามูแน แล้วพ่อท่าน นั่งเทศน์หันหน้า เข้ามาที่เฮือนถ่ามูแน ขณะที่คน กำลังกินอาหารอยู่อย่างนั้น ถ้ามองอย่างปรมัตถสัจจะ คนนั่งกินอาหาร ฟังไปด้วย ก็ได้ประโยชน์แน่ แต่ในแง่สมมุติสัจจะ จะมีคน มองได้ว่า เสียธรรม เป็นการไม่เคารพธรรม จึงต้องกลับไปเทศน์ ที่เฮือนเซามีแฮง เหมือนอาทิตย์อื่นๆที่ผ่านมา เพราะแยกเป็น คนละส่วน กันเลย ห่างจากกัน ได้แต่ส่งเสียงมาให้ลูกค้าได้ฟัง ไปด้วยเท่านั้น แล้วก็ย้ายอุปกรณ์ที่นอนของผู้มาช่วยงานเจ ออกไป ชั่วคราว ในช่วงที่ใช้พื้นที่แสดงธรรม ส่วนคนที่จะมาฟัง ก็มีญาติธรรม กลุ่มอุบลฯ รุ่นเก่าแก่เป็นขาประจำ ส่วนลูกค้า และชาวบ้านราชฯ ที่มาช่วยงาน ก็รับฟังจากเสียงตามสายไป

พ่อท่านให้ชื่อหัวข้อในการแสดงธรรมครั้งนี้ว่า "จะรอดไฟประลัยกัลป์ได้อย่างไร" จากเนื้อหาบางส่วนที่ขอนำมาถ่ายทอด ดังนี้
วันนี้ หัวข้อเรื่อง ที่เราจะได้ฟังกันก็ตั้งเอาไว้ง่ายๆ แต่ว่ากว้าง และไม่ไกล ถ้าฟังแล้วอาจไกล แต่จริงๆแล้วจะไม่ไกล หัวข้อเรื่องว่า "จะรอดไฟประลัยกัลป์ได้อย่างไร"

"คำว่า 'ไฟประลัยกัลป์' นี่เป็นสำนวนในทางศาสนา ศาสนาหลายศาสนาเขาเข้าใจว่าในปลายยุค มันจะเดือดร้อน มีเรื่อง ทารุณ โหดร้าย วุ่นวาย เป็นทุกข์เป็นภัย ทำให้คนลำบาก สัตว์เดรัจฉานมันไม่ฉลาดแกมโกงเท่าคน เดรัจฉาน มันก็เอาเปรียบ สัตว์อื่นเหมือนกัน แต่ว่า เล่ห์เหลี่ยม สมอง ความเฉลียวฉลาดในเชิงเอาเปรียบนี่ เดรัจฉานมันมีไม่มากเท่าคน คนนี่แหม มีเล่ห์เหลี่ยม เอาเปรียบ เห็นแก่ตัวมาก มีกิเลสมาก

ต้นยุคนะ...คนก็จะยังไม่ค่อยมีกิเลสเท่าไหร่ ความเดือดร้อนก็จะไม่มาก เพราะว่าโลกเรานี่มันมีวัตถุดิบ มันมีธรรมชาติ มีดิน น้ำ ลม ไฟ แร่ธาตุ มีแม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ อากาศ สรรพสัตว์ต่างๆ อุดมสมบูรณ์ มากมาย คนเกิดในยุคโน้นใหม่ๆก็ยังไม่มาก ความแย่งชิง มันจึงยังไม่มาก ยังไม่ได้มอมเมากันเท่าไหร่ พอนานเข้าๆ คนก็จะสร้างความติดยึด สร้างความหลอก ขึ้นมาให้หลงติดยึด อันนั้นก็ติด อันนี้ก็ยึด ตั้งแต่วัตถุธรรมชาติ วัตถุปรุงแต่ง พฤติกรรม ท่าทางลีลาของวัตถุ สัตว์และมนุษย์ ปรุงแสง -สี -เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัสสารพัด แล้วก็นามธรรม ที่นับไม่ถ้วนในทางอารมณ์ในทางจิต เป็นรสเป็นชาติ เป็นความเห็น เป็นความเชื่อ เป็นความรู้ เป็นศักดินา สิ่งเหล่านี้ เป็นนามธรรม แล้วก็เกิดจริง พอคนถูกครอบงำทางความคิด ก็เชื่อ เชื่อแล้วก็ยึด ยึดก็ติดซิ แล้วมันก็แตกไม่ได้ ล้างไม่ได้ ทำลายไม่ได้ ทำให้คลายจาง ออกจากจิตไม่ได้ กลายเป็น ก้อนกิเลส ตัณหา อุปาทาน แล้วก็เป็นบทบาท เป็นพฤติกรรมอยู่ในคนจัดจ้านยิ่งขึ้นๆๆๆ

ภาษาอภิธรรมก็เรียกว่าอกุศลจิต เรียกภาษาโลกๆ ก็เรียกว่า ผี ผีห่าซาตาน ผีมาร อะไรก็เรียกกันไป มันเป็นนามธรรม มันไม่มีตัวตน หรอก มันเป็นพลังงาน อาตมาไม่มีภาษาอะไรเรียกดีๆกว่านี้ แต่พลังงานอันนี้ ไม่ใช่พลังงานทางวัตถุ เป็นพลังงาน ทางนามธรรม แล้วพลังงานอันนี้ ไม่อาศัยวัตถุอื่น อาศัยคูหาสยัง คูหาสยังนี่เป็นภาษาบาลี คูหาสยัง นั้นคือ ร่างกาย ยาววา หนาคืบ กว้างศอก ของคน นั่นเอง นี่คือคูหาสยัง จิตหรือมโน หรือจิตวิญญาณ หรือวิญญาณ อยู่ใน คูหาสยังนี้ ถ้าเรียกเป็นขันธ์ ๕ ก็เรียกว่า วิญญาณ ถ้าเรียกว่า มโน ก็เรียกได้ทั่วไป ถ้าเรียกว่า จิต ก็เป็นอาการ ซึ่งก็คือ ธาตุรู้ นั่นเอง... อยู่ในจิต อยู่ในภายในร่างกายของเรานี่ นี่แหละ จิตวิญญาณ

พลังงานที่เป็นกิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นพลังงานเหมือนกัน คล้ายกันมาก อาศัยจิต เกิดที่จิต ดับที่จิต อยู่ที่จิต มีฤทธิ์มีเดช อยู่ที่จิต ที่อื่น อยู่ไม่ได้ จิตวิญญาณจะไปอยู่ในรูกระบอก อยู่ในโน่นในนี่ที่เป็นวัตถุไม่ได้ ที่ไม่ใช่ร่างกายสัตว์โลก อยู่ไม่ได้ อยู่ได้ในเดรัจฉาน หรือคน เท่านั้น แม้ออกจากคูหาสยังไปแล้วคือออกจากร่างกายของสัตว์โลกแล้ว ก็เข้าไปสิงสู่ อยู่ใน มหาภูตรูป อื่นไม่ได้ เขาบอกว่า มีจิตวิญญาณ อยู่ที่ต้นไม้ มีจิตวิญญาณอยู่ที่โบสถ์ มีจิตวิญญาณอยู่ที่ภูเขา มีจิตวิญญาณ อยู่ที่แม่น้ำ หรืออยู่ในสิ่งที่ไม่ใช่ชีวะ เป็นความเห็นผิด จิตวิญญาณอยู่กับสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ พลังงาน จิตวิญญาณ จะไปแฝงฝัง อยู่ในสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ เพราะมหาภูตรูป เหล่านั้น มันมีพลังงานที่เป็นพลังงาน ระดับแค่ "อุตุ" เท่านั้น อยู่ในดิน ในน้ำ ในโบสถ์ วิหาร ภูเขา แม้พลังงานยิ่งใหญ่ระดับพระอาทิตย์ ระดับ แกแล็คชี่ มันก็เป็นพลังงานธรรมชาติขั้น"อุตุ" มันเป็นพลังงานระดับชีวะไม่ได้ พลังงานระดับ"อุตุ" จะมีความยิ่งใหญ่ วิเศษสุด ขนาดไหน ก็เป็นพลังงาน ที่ไม่ใช่พลังงาน ระดับชีวะ เหมือนพลังงานขั้น "พีชะและจิตวิญญาณ" แต่กระนั้นพลังงานขั้น"พีชะ" ก็ยังเป็น พลังงาน คนละตระกูลกับ พลังงานขั้น "จิตวิญญาณ" แม้จะเป็นชีวะเหมือนกันก็ตาม พลังงาน"จิตวิญญาณ" นั้นอยู่ได้ใน ร่างกาย ที่เป็นชีวะระดับ "สัตว์โลก" เท่านั้น ซึ่งมีความเป็นชีวะที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าพลังงาน"พีชะ" และแน่นอนต่างกันกับ พลังงาน "อุตุ" คนละตระกูล

พระอาทิตย์เป็นต้น มีพลังงานมหาศาลก็จริง พลังงานความร้อน แสง เสียง ยิ่งใหญ่กว่าสัตว์โลก หรือไฟฟ้า แม่เหล็ก อันเป็นพลังงาน ทางฟิสิกส์อยู่ในดวงอาทิตย์นี่เยอะ แรงสูงมาก แต่ ไม่ใช่ ชีวะ เป็นพลังงานตระกูล"อุตุ"เท่านั้น แม้แต่ใน ระดับพลังงานเลื่อนขึ้นมา จากพลังงาน ของอุตุ มาเป็นพลังงานที่มีชีวะ เรียกว่า"พีชะ" สูงขึ้นไป ก็เป็นพลังงานที่เรียกว่า "จิต" พลังงานพีชะ ก็มีชีวะแล้ว เป็นชีวะ ขั้นต่ำ เป็นชีวะในพืช หรือเป็นชีวะในสัตว์ชั้นต่ำ สัตว์เซลล์เดียวเป็นต้น

พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วว่าชีวะเหล่านี้ ไม่มีเวทนา มีแต่เพียงสัญญา-ความจำ และสังขาร-มีการบันทึกรหัสในพลังงาน มันมีสัญญา มันจำได้ว่า นี่คือแสง นี่คือธาตุที่มันรู้จัก นี่คือธาตุที่ไม่ต้องใช้ ไม่ต้องใช้มันก็ไม่เอา ถ้าต้องใช้มันก็เอามาใช้ พลังงาน ทางฟิสิกส์ ดูด ผลัก เป็นเหมือนแม่เหล็กดูด เอามาสังเคราะห์ เหมือนไฟ ไฟธาตุอะไรพวกนี้เป็นต้น

ใน"พีชะ"มีพลังงานขั้นชีวะ แต่เป็นชีวะที่ยังไม่ถึงขั้น"จิต" มันยังไม่มี"ความรู้สึกที่เรียกว่าอารมณ์หรือเวทนา" พลังงานระดับนี้ จะเรียกว่า รู้ ก็เหมือนรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ในระดับหนึ่งเท่านั้น เช่น ร้อนก็รู้ร้อน หนาวก็รู้หนาว อาหารก็รู้ว่าอาหาร เป็นต้น แต่อารมณ์ชอบหรือชัง โกรธหรือรัก รู้สึกทุกข์ รู้สึกสุข มันยังไม่มี พีชะที่เป็นพืชทั้งหลาย พืชต้นใหญ่ขนาดไหนก็ตาม มันก็ไม่สามารถ ที่จะมีความรู้สึก สัตว์เซลล์เดียว ก็ไม่มีความรู้สึก ยังไม่มีอารมณ์ ความโกรธ เกลียด ชัง รัก เศร้า พยาบาท อย่างนี้เป็นต้น มันยังไม่มี จึงไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข ถ้าพลังงานสูงขึ้นมาอีก กว่าระดับพีชะ เป็นระดับจิตวิญญาณ จึงจะมีเวทนา คืออารมณ์ ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือมีรสชอบผูกพัน รสชังผลักไส พยาบาทอาฆาต และมีอัสสาทะต่างๆ ความรู้สึกที่เรียกว่า อิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ โดยเฉพาะ อารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ ยึดติดผูกพัน มุ่งทำลายอาฆาต หรือสุข ทุกข์นี่ เพราะฉะนั้น จิตวิญญาณ ตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานจะรู้สึกทุกข์ รู้สึกสุขบ้าง และ ยิ่งมาเป็นจิตวิญญาณ ในระดับของมนุษย์ โอ้โฮ..ทีนี้ จิตวิญญาณมนุษย์นี่ ยิ่งมีสุข มีทุกข์ ปรุงแต่งสุข ปรุงแต่งทุกข์ สมมุติ อย่างนี้สุข สมมุติอย่างนี้ทุกข์ เป็นทุกขเวทนา สุขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา โอ้โห....ยิ่งมากมายก่ายกอง พิสดาร นับไม่ถ้วน ซับซ้อนหลากเหลือ สั่งสมเข้าไป อุปาทาน เข้าไป เรียกว่า"ยึด" จนกระทั่ง ใครไปยึดไปติดไว้มาก คนนั้น ก็ทรมานมาก ล้างออกยาก วนเวียนอยู่ในโลก แห่งวัฏสงสาร ที่มีสุข มีทุกข์ ก็วนกันนาน...อีกนานเท่านาน

ในจิตวิญญาณ นอกจากจะรู้สุข รู้ทุกข์แล้วก็ยังแบ่งเป็นโง่ เป็นฉลาดอีก ก็ยังมีอีกหลายชั้น ฉลาดอย่างประเภทสามัญ ทั่วไป ก็จะเป็น ความฉลาดแบบโลกๆ เรียกในภาษาบาลีว่า "เฉกะ" แล้วก็จะแย่งชิงแบบโลกๆ มีกิเลสเข้ามามากก็แย่ง ก็ชิง

ในระดับธรรมะ ระดับโลกีย์ทั่วไป ก็มีดี มีชั่ว มีบาป มีบุญ กรรมอย่างนี้เป็นกุศลกรรม กรรมอย่างนี้เป็นอกุศลกรรม สามารถ ที่จะ แยกแยะออก สำหรับคนที่สอนได้ เรียกว่า เวไนยสัตว์

คนที่สอนไม่ได้ก็มี แม้แค่ระดับโลกีย์นี่แหละ เรียกคนชนิดนี้ว่า อเวไนยสัตว์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในโลก ก็จะรู้ และเรียนรู้กัน พัฒนาชีวิต กันในขั้น "โลกียธรรม"อยู่ทั่วไป

เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาในโลก "ธรรม" จึงมีพิเศษขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง คือมี"โลกุตรธรรม" ซึ่งต่างไปจาก"โลกียธรรม" อันมีเป็นสามัญ ในสังคมโลก

ผู้เข้าสู่ภูมิโลกุตรธรรม คือ ผู้รู้จักเรื่อง"กรรม"อย่างดี รู้จักทุกข์-สุขอย่างดี โดยเฉพาะรู้จักจิตวิญญาณอย่างดี อย่างเป็น วิทยาศาสตร์

ธรรมะสูงสุดแห่ง "โลกุตรธรรม" คือ นิพพาน ไม่ใช่จิตวิญญาณที่ดีสุดสูงสุด หรือพระเจ้า

โลกุตรธรรม รู้ว่า "จิตวิญญาณเป็นประธานสิ่งทั้งปวง" และจัดการที่"จิตวิญญาณ" เพื่อให้ตนหมดการทำกรรมชั่ว อย่างเด็ดขาด ทำแต่กรรมดี อย่างเดียว และสูงสุดเป็นอรหันต์นี่ ยิ่งไม่ยึดว่าเป็นกรรมของเรา คือไม่ยึดว่าเป็นของเรา ทั้งๆ ที่กรรมที่เราทำทุกกรรม เป็นของเรา ทั้งสิ้น แต่ไม่ยึดว่าเป็นของเรา ถ้าเรายังเวียนวนอยู่ในวัฏสงสารอยู่ เราจะต้องเป็น ทายาทของกรรมของเราตลอดไป จะดีหรือชั่ว เป็นกรรมของเรา เป็นมรดกของเราหมด ทว่าผู้บรรลุอรหันต์แล้ว ไม่มีการทำ กรรมชั่วอีก ทำแต่กรรมดีเท่านั้น จึงไม่เป็นภัย ต่อโลก ต่อสังคม มนุษยชาติเด็ดขาด

พระอรหันต์เนี่ย ท่านทำกรรมกัน แต่ท่านหยุดทำกรรมชั่ว สัพพปาปัสสะ อกรณัง ท่านจะไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำแต่ดี กุสลัสสูปสัมปทา และ ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านก็... สจิตตปริโยทปนัง สำเร็จสัมบูรณ์ ท่านก็จิตสะอาดผ่องใส หมดแล้ว ถาวร จิตสะอาดถาวร จิตไม่เปื้อนกิเลสอีกแล้ว ฉะนั้น จิตวิญญาณพระอรหันต์นั้น จึงไม่มีกรรมอะไรอื่น เพราะมีแต่ กุศลกรรม อย่างเดียว แต่กรรมนี่ ยังเป็น โลกียะ กรรมมีวิบาก กรรมมีฤทธิ์ มีเดช มีบวก มีลบ แต่กรรมของพระอรหันต์ นับแต่เป็นอรหันต์ ไปแล้ว ไม่มีลบ มีแต่กรรมบวก และท่าน ก็ไม่ยึดกรรมเป็นตน -เป็นของตน แต่ที่จริงมันเป็นของท่าน เมื่อท่านทำ กุศลกรรม นั้นๆ ก็เป็นทรัพย์ของท่าน ไม่มีใครแย่งไปได้หรอก แต่ท่านไม่ยึดว่า เป็นของท่าน ท่านปล่อยวางได้จริงๆ นี่เป็นนามธรรม

ธรรมะในขั้นระดับวางหมด ไม่ยึดเป็นเรา นี่เป็นธรรมะขั้นโลกุตระ ทีนี้ธรรมะขั้นโลกียะ มีในระดับโลกโลกีย์ รู้ดี รู้ชั่ว ยึดดี ไม่เอาชั่ว ก็เป็น สิ่งดีในโลก เป็นคนปรารถนาดี ทำแต่สิ่งดี สั่งสมแต่สิ่งดี เลิกสิ่งชั่วให้หมด จนแข็งแรง ไม่ทำชั่วทั้งชีวิต ทำแต่ดี-ดี-ดี ตายไป ก็มีวิบากดี เกิดใหม่ก็ได้เสวยผลดี แต่ต้องมาศึกษาอีก เพราะมันไม่เที่ยง โลกก็จะมีใหม่ เป็นโลก แบบใหม่ มีความดีแบบใหม่ มีความชั่ว แบบใหม่ มีความหลอกแบบใหม่ รสนิยมใหม่ ค่านิยมของโลกไม่เหมือนเดิมหรอก ยิ่งเข้าใกล้ๆกลียุคไปทุกที-ทุกที ก็จะปรุงแต่งกัน เป็นค่านิยม แบบโลกีย์มากมหาศาล ซับซ้อน ซ่อนเชิงหนักหนาสาหัส

เพราะฉะนั้นที่ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายในโลกีย์นี่ ต่อให้ทำความดี หยุดความชั่ว ทำแต่ความดีชาตินี้ ชาติต่อๆไป วิบากกรรม ของ แต่ละบุคคลนั้น จะสังเคราะห์กันขึ้นมา

พอเกิดมาแล้วยังจำความเดิมไม่ได้ ระลึกชาติไม่ได้ ก็จะหลงไปตามโลกมอมเมา โลกครอบงำ เพราะฉะนั้น คนทุกคน ที่เกิดมา แม้จะเป็น พระอาริยะสูง เป็นอรหันต์ก็ตาม จะถูกโลกครอบงำ และวิบากของตนจะผสมโรง แล้วก็จะพาตัวเอง ไปในโลก อยู่พักหนึ่ง ดังที่จะเห็นได้ แม้ชีวิตพระพุทธเจ้า

ฉะนั้นในโลกีย์นี่ มันไม่มีหลักประกันของโลกุตระคือ ความดีที่ถาวร คือรู้ดี ทำแต่ดี แต่ไม่ติดดี ถ้าติดดี เวลาตายแล้ว เปลี่ยนภพ เปลี่ยนชาตินี่ มันจะคลาย มันจะจำไม่ได้ เหมือนอย่างที่เราเกิดมานี่จำไม่ได้ชาติที่แล้ว เมื่อจำไม่ได้ มันก็เปลี่ยน แปลงได้ง่าย ดีเป็นอย่างไร ก็เคยทำมา จำไม่ได้ แต่ก็จะมีพอลางๆเลือนๆ ผู้ที่ได้ทำดีมามาก ก็จะมีพลวปัจจัย แห่งวิบาก ตามจริง แต่มันก็ยังมีฤทธิ์ มีเดชของวิบากอื่น ที่ตามมาทัน แกนวิบากทั้งหมดยังมีอีกมาก วิบากชั่วมันตามมาทัน มากกว่า ฤทธิ์ดีที่เราได้เคยทำ และฤทธิ์ดี สู้ไม่ได้ วิบากบาป ก็จะมาเสริมเติม ทำให้เราทำชั่วได้อีกไม่เที่ยง อย่างนี้เป็นต้น

เพราะคุณภาพของกุศล มันไม่บริสุทธิ์ มันไม่แข็งแรง มันไม่สะอาดเหมือน....โลกุตระ เพราะโลกุตระนี้มันไม่ซับซ้อน มันหนึ่งเดียว จริงๆ ส่วนโลกียะนั้น แม้ดีอย่างไรมันก็เป็นทวิลักษณ์ มันยังมีสภาพสอง มันจะไม่เป็นลักษณะเดียวๆ โดดๆ เพราะกิเลส ไม่ได้ล้างออก จากจิต จึงทำงาน อยู่ในจิต ยังมีผีร้ายแฝงทำงานโดยตนก็ไม่รู้จักมัน

สรุปแล้วคนเกิดในโลกเนี่ย เกิดแล้วก็เวียนตาย เวียนเกิดไปตามวัฏสงสาร ตั้งแต่ต้นยุคมาหากลางยุค มาหาปลายยุค ใกล้กลียุค หรือใกล้ ยุคท้าย ยุคปลายขึ้นมาแล้วนี่ มันจะยิ่งเดือดร้อนมากขึ้นมาเรื่อยๆ ห้ามไม่ได้ โลกยุคไหนๆ ก็จะวนเวียน อยู่ในรอบอย่างนี้ เป็นแต่ เพียงว่ายาวบ้าง สั้นบ้างเท่านั้นเอง บางยุคสั้น บางยุคเป็นหมื่นปี แสนปี หลายแสนปี บางยุค หลายล้านปี ถึงปลายยุคนี่ ท่านเรียกว่ากัป

กัปหนึ่งก็มีต้นยุค และก็มีปลายยุค เรียกว่ากัปกัลป์ เพราะในช่วงยุคต้นกัป ปลายกัปของแต่ละยุคๆ ไม่เที่ยง หมื่นปี หลายหมื่นปี แสนปี หลายแสนปี ล้านปี หลายล้านปีมีได้ แต่ละกัปๆ แต่ละยุค ไม่เสมอ ไม่เท่ากัน

แต่ไม่ว่ากัปไหนๆ เหมือนกันหมด เหมือนกันตรงที่ปลายกัปมันจะต้องมีไฟประลัยกัลป์ ไม่ว่ากัปนั้นจะสั้น จะยาว เพราะฉะนั้น คนที่เกิด เวียนตายเนี่ย ถ้ายังสามารถที่จะเวียนเกิด เวียนตายอยู่ไม่ไกลออกไป จนกระทั่งหลุดกัป ก็จะวนเวียนอยู่ในกัป ต้นกัปถึงปลายกัป ถ้าใครไม่ได้สั่งสม บุญบารมีมา มีหวัง จะเป็นเหยื่อไฟประลัยกัลป์

เรื่องของกัปวนเวียนนี่ ศาสนาเทวนิยม ศาสนาอื่นๆ เรียนรู้เหมือนกัน แต่เขาไม่มีทางป้องกัน เขาไม่มีการต้านพลังงาน ที่มันจะ .. หลุดรอด หลุดพ้น เพราะเขาไม่รู้ในความเป็นวัฏสงสาร และไม่รู้การหลุดพ้นออกจากวัฏสงสารได้ เหมือนของ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ตรัสรู้ ท่านรู้ยาวรู้ไกลในวัฏสงสารต่างๆ รู้วัฏสงสารนับรอบไม่ถ้วน ร้อยชาติ พันชาติ หมื่นชาติ แสนชาติ ล้านชาติ สังวัฏฏกัป วิวัฏฏกัป ท่านรู้ละเอียดไปหมด แม้แต่....สังวัฏฏวิวัฏฏกัป หมายความว่า ที่เป็นกัป คือ สังวัฏฏกัป และ ที่ไม่เป็นกัป คือ วิวัฏฏกัป สั้นบ้าง ยาวบ้าง สังวัฏฏกัป วิวัฏฏกัป ปนๆกัน กัปที่มันมีทั้งนับได้บ้าง นับไม่ได้บ้าง มันมีมากมาย นับไม่ถ้วน

พระพุทธเจ้าท่านตรวจสอบรู้กัปต่างๆพวกนี้ ท่านบอกว่าเราไม่รู้ที่ต้น นั่นแสดงว่าท่านไม่รู้หมด แต่ท่านรู้มาก มากเสียจน.. นับไม่ถ้วน มากจน สามารถเอาข้อมูลเหล่านั้น มาประมวล รู้ว่ากรรม รู้ว่าชีวิตของคนนี้มีกรรมเป็นตัวกำเนิด มีกรรมเป็นของ ของตน มีกรรม เป็นตัวพาเกิด กัมมโยนิ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย มีกรรมจำแนกสัตว์ไปต่างๆ กัมมัง สัตเต วิภัชชติ จำแนกเป็น สัตว์เดรัจฉาน จำแนกเป็นเทวดา จำแนกเป็นมนุษย์ จำแนกเป็นพระพรหม จำแนกเป็นสัตว์นรกกี่ชั้นๆ จำแนกเป็นอาริยชน เป็นกัลยาณชน เป็นปุถุชน กรรมทั้งนั้นเป็นตัวจำแนก

พระพุทธเจ้าจึงตรัสรู้แล้วก็มาประกาศศาสนาของท่านว่า จริงๆแล้วในโลกนี่ มันไม่ใช่ว่ามนุษย์เกิดมาเพราะพระเจ้า มาสร้าง ขึ้นมา บันดาล ขึ้นมา ไม่ใช่ เกิดเพราะกรรมตัวเองสร้าง และกรรมตัวเองจำแนกให้เป็นไปต่างๆ พระพุทธเจ้านี่.... อุบัติขึ้น ในท่ามกลางศาสนา เทวนิยม ที่อินเดีย มีศาสนาเยอะแยะ ไม่มีหรอกศาสนาที่เป็น"อเทวนิยม" หากจะไม่เป็นเทวนิยม ก็เป็น ศาสนา อุจเฉททิฐิ

อุจเฉททิฐิ คือไม่นับถือพระเจ้า ไม่นับถือเหตุอะไรทั้งนั้นหละ ตายแล้วสูญไปเลย ถือว่าชีวิตมีเพียงชาติที่เป็นอยู่ ตายแล้วสูญ สูญด้วนๆ เช่น พวก นัตถิกทิฐิ พวกอกิริยาทิฐิ เป็นต้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้หมด ทิฐินี้มีทิฐิ ๖๒ อยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๙ สูตรที่ ๑ พรหมชาลสูตร ไปอ่านดูเถอะ เป็นเทวนิยมกันแทบทั้งนั้น อเทวนิยม ก็ไม่ใช่อเทวนิยมแท้ๆอย่างของพระพุทธเจ้า อาจเป็น พวก อเหตุกะ เป็นพวก อกิริยาทิฐิ เป็นพวก นัตถิกทิฐิอะไรไปหมด เป็นพวกไม่มีกิริยา ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีอะไร ตายสูญ อุจเฉททิฐินะ ไม่มีที่ไป ไม่มีที่มา เพราะเขาไม่รู้ เขาคิดว่าตายชาติเดียวแล้วสูญ ตายแล้วไม่มีอะไรต่อ ไม่ใช่เทวนิยม แต่ก็ไม่ใช่ อเทวนิยม ที่อย่างที่พระพุทธเจ้า ตรัสรู้

พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา ประกาศ"อเทวนิยม" ท่านบอกท่านไม่ใช่อย่างศาสนาที่นับถือพระเจ้า แต่ท่านไม่ใช่พวกอุจเฉททิฐิ ท่านก็มา ประกาศของท่าน ท่ามกลางศาสนาหลากหลายล้วนเป็นเทวนิยมกันเกือบทั้งนั้น มีเจ้าลัทธิ มีบริวาร โอ้โห.. เต็มไป หมดเลย

ตอนนี้ปลายยุคแล้ว ใกล้ไฟประลัยกัลป์แล้ว คืออาตมาก็บอกพวกเราว่า ตอนนี้นี่อาตมา มานี่เอาศาสนาพุทธมาสืบทอด มาสืบสานต่อ คือ อาตมาประกาศไปตามจริง ไม่ได้อวดอ้าง ไม่ได้อยากเด่นอยากดังอะไรหรอกจริงๆ แต่ใครจะเชื่อไม่เชื่อ ก็ไม่มีสิทธิไปบังคับใคร

อาตมาประกาศว่าอาตมาเป็นโพธิสัตว์ จะมาสืบทอดศาสนา จะมานำศาสนานี้ไปให้ถึงยุคปลาย ให้ถึงยุคสิ้นกัป สิ้น พุทธศาสนา ซึ่งพุทธศาสนา ของพระพุทธโคดมนี้ ๕,๐๐๐ ปี อาตมาจะมานำพาไปให้ศาสนานี้ไปถึง ๕,๐๐๐ ปี ก็จะต้อง สืบทอด จะต้องเอา เนื้อแท้ๆ ของพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าที่อาตมาพูดถึงมาก่อนแล้วว่าเป็น"โลกุตระ" ซึ่งพลังงาน จิตวิญญาณนี่ ผู้ที่เป็นเวไนยสัตว์ เมื่อกี้ อาตมาอธิบายเวไนยสัตว์ กับอเวไนยสัตว์ มันมีสองชั้น

โลกียะนี่ อเวไนยสัตว์ คือสัตว์ที่สอนให้ดีไม่ได้ แค่ดีกับชั่วนะเป็นโลกีย์ มันก็ทำไม่ได้ สอนไม่ขึ้น มันก็ชั่วของมันอยู่ อย่างงั้นน่ะ พากเพียร อย่างไง มันก็ชั่ว บางคนไม่รู้ชั่ว ไม่รู้ดีด้วย เข้าใจผิดด้วย สอนแล้วก็งกๆเงิ่นๆ ไม่รู้ชั่วรู้ดี นั่นเรียกว่า "อเวไนยสัตว์โลกีย์"

คนที่สอนดีได้ แล้วมาประพฤติดีได้ เป็น"เวไนยสัตว์โลกีย์" สอนเป็นกัลยาณชนได้ เป็นกัลยาณบุคคล นั่นเป็น "เวไนยสัตว์โลกีย์"

ทีนี้ "เวไนยสัตว์กับอเวไนยสัตว์"ในชั้นที่เป็นโลกุตระ ก็มีอีกชั้นหนึ่ง ชั้นที่เป็นโลกุตระก็คือ สัตว์ที่สอนโลกุตระไม่ได้ เรียกว่า "อเวไนยสัตว์" ในระดับ โลกุตระ ไม่รู้เรื่อง ฟังไม่เข้าใจ สอนยังไงก็รับไม่ได้ นี่คือ "อเวไนยสัตว์"แท้

ส่วน"อเวไนยสัตว์"อีกระดับหนึ่ง คือเอาโลกุตระไม่ได้ ปฏิบัติเอาโลกุตรธรรมใส่ตนเองไม่ได้ ตลอดชีวิต เรียนรู้เข้าใจได้ รู้เรื่อง แต่ปฏิบัติ ไม่ได้ ไม่บรรลุเป็นอาริยะในชาตินี้ พวกนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกว่าเป็นพวก"ปทปรมบุคคล" พวกนี้รู้ดี สอนคน อยู่ก็มาก แต่ตนเอง ไม่บรรลุธรรม

ปทปรมบุคคล คือบุคคลที่แม้จะเรียนรู้ธรรมพระพุทธเจ้าได้มาก ทรงจำไว้ได้มาก สอนคนอื่นมากด้วย แต่ในชาตินี้ไม่สามารถ บรรลุธรรม นี่ก็ถือว่าเป็นอเวไนยสัตว์ ไม่ได้ธรรมะของพระพุทธเจ้า ได้แต่รู้ เมื่อไม่ได้ธรรมะ ไม่ได้โลกุตรธรรม มันก็ไม่มีแก่นแท้ พวกนี้ ได้แต่แค่รู้ เหมือนฉาบไว้ผิวๆ พอตายแล้วชาติหนึ่งเนี่ย มันจะลบเลือนทิ้งหายไปได้มากเลย มันไม่ยั่งยืน ของพระพุทธเจ้านี้ จะมีลักษณะนิยตะ หรือมีลักษณะยั่งยืน มีลักษณะนิจจัง ธุวัง สัสสตัง อวิปริณามธัมมัง อสังหิรัง อสังกุปปัง

ไฟประลัยกัลป์ก็คือปลายยุค ที่มันเกิดความเดือดร้อนก็เพราะคนไปสร้างกิเลส ตัณหา อุปาทาน แล้วก็มาสมมุติ หลอกกัน ให้ติด ให้ยึด ให้หลง หลอกกันให้ทรมานตัวเอง แล้วก็ไปเบียดเบียนตน เบียดเบียนคนอื่น เพราะมันเป็นอุปาทานในจิต สั่งสมยึดติด

อุปาทานนี้เป็นพลังงานที่มีลักษณะแม่เหล็ก มันดูดผนึกอยู่ในจิตของตน ละลายพลังงานแม่เหล็กออกยากมาก และตนก็ยิ่ง อยู่ใน สนามแม่เหล็ก แห่งกิเลสของสังคมที่เป็นโลกีย์ด้วยกัน โอ้โฮ..ทีนี้ก็ยิ่งเสริมแรงกันเข้าไปอีก ของตัวเองก็เป็นเชื้อโลกีย์ นี้อยู่แล้ว พร้อมที่จะเป็น โลกีย์ตามแบบโลกีย์อยู่อย่างเต็มใจ แถมอยู่ในสนามแม่เหล็กแห่งโลกีย์ที่จัดจ้านอีก โอ้โฮ.. ถูกแรง เหนี่ยวนำ ของสนามแม่เหล็ก นี่เหนี่ยวนำ เราเป็นอณูหนึ่งเท่านั้น นึกว่าเราแน่เหรอ ที่จะไม่ตกอยู่ในอำนาจโลกีย์ สนาม แม่เหล็ก แห่งโลกียะ นี่มันเหนี่ยวนำ มันดึงดูด มันข่ม มันกลมกลืน-ครอบงำคุณให้ไปกับมัน เสร็จง่ายๆ เห็นไหม

ถ้าผู้ใดจะทำตัวเองอยู่ในสนามแม่เหล็กแห่งโลกีย์นี้ จะทำตนให้เป็นกลาง หรือให้ไม่อยู่ใต้อำนาจดึงดูดของสนามแม่เหล็ก แห่งโลกีย์ ให้ตนเป็นสภาพที่แรงแม่เหล็กโลกีย์ดูดไม่ได้ สนามแม่เหล็กแห่งโลกีย์นี้ ไม่ทำปฏิกิริยากับอณูของเรา หรือ ปรมาณู ของเรา พลังงาน ในตัวของเรานี่ จิตวิญญาณของเรานี่ พลังงานแม่เหล็กของสนามแม่เหล็กโลกีย์ดูดไม่ได้ นับตั้งแต่ อบายมุข สนามแม่เหล็ก แห่งอบายมุขโลกีย์นี่ โอ้โฮ..เดี๋ยวนี้วิตถารนิยม หรูหรานิยม อำนาจนิยม บริโภคนิยม ทุนนิยม อำนาจ ของโลกีย์ ทุกวันนี้ จัดจ้าน รุนแรง เลวร้าย หลอกไม่เสร็จ รวยไม่เสร็จ แล้วไม่เคยพอ คอรัปชั่นซับซ้อน

เข้าใจให้ได้ว่าอบายมุขนั่นคือสิ่งที่เลยขอบเขตความพอเหมาะ รูปมากเกินไปยิ่งแล้ว เสียงมากเกินไปยิ่งแล้ว รสมากเกินไป ยิ่งแล้ว รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่มันจัดมากเกินไปยิ่งๆแล้วอบายมุขทั้งนั้นน่ะ ที่เต้นกันที่ร้องกันอยู่ทุกวันนี้นี่ โอ้โฮ.. เจ้าประคุณเอ๊ย.. กระดูก จะหลุด หัวสั่นหัวคลอน นอกจากหัวสั่นหัวคลอน แล้วก็ท่าลามกสารพัด แล้วท่าวิตถารพิสดาร อีกต่างหาก นั่นคืออบายมุขทั้งสิ้น มันจัดจ้านเกิน ที่เหมาะที่ควรยิ่ง แม้แต่เด็กอายุน้อยๆ พ่อแม่ ลูก พี่ ป้า น้า อา ก็หลงดีใจ ที่ลูกน้อยของเรา มันเด้งหน้าเด้งหลัง ได้เหมือนกับ เหล่า ชาวอบายมุขเขาเด้ง เด็กแท้ๆแต่ทำให้แก่แดดเท่ากับผู้ใหญ่ มันวิตถาร ผิดรุ่น มันน่าสมเพชเวทนา นี่คือ ความรู้ของ คนยุคนี้ นี่ยุคประลัยกัลป์เป็นอย่างนี้

อาหารอร่อย อร่อย..เสียจนไม่รู้จะอร่อยอย่างไรแล้ว ปรุงเข้าไป หลอกเข้าไป

สิ่งที่ใหญ่เกิน มากเกิน แปลกเกิน บ้าเกิน จนเกิน อบายมุขทั้งสิ้น สิ่งที่เกินขอบเขตนั่นน่ะ คืออบายมุข อบายมุขคือ สิ่งที่ มันทรมานแล้ว ผลาญพร่าแล้ว มันเฟ้อ มันเป็นสิ่งที่เกินจนล้น สูญเสีย จึงคือความเสียหาย เป็นสิ่งที่จูงดึงกันไปในหลุมลึก ที่จะต้องทรมาน ทรกรรม ลำบาก ยากเย็น หนักหนาสาหัส

คนรวยก็ตามหาวิธีซับซ้อนในวิธีการเล่นเงิน เล่นหุ้น โซรอสเข้ามาประเทศไทยปึ๊บเดียว เขาก็เอาไปตั้งไม่รู้กี่พันกี่หมื่นล้าน วิธีหาเงิน ของเขาซับซ้อน วิธีพวกนี้มีเชิงกลคนรู้ไม่เท่าทัน นี่แหละอบายมุข คือมันเอาเปรียบไป ทรมานคนอื่น ให้คนอื่น เดือดร้อน ตัวเอง ก็ได้ความโลภ สมใจในความโลภ ที่เกินขอบเขต ผู้ที่โลภเกินขอบเขตอบายมุขทั้งสิ้น ผู้ที่โทสะ เกินขอบเขต ก็อบายมุขทั้งสิ้น ผู้ที่คลั่งไคล้ หลงใหล นั่นแหละคืออบายมุขทั้งสิ้น จำความเป็นอบายมุขให้ได้

ทุกวันนี้ปรุงแต่งกันเกินทั้งนั้น ไม่เคยมีในยุคพระพุทธเจ้าเลย มันจัดจ้านกว่ายุคพระพุทธเจ้า จนเข้าขั้นซาดิสม์ มาโซคิสม์ โอ้ย.. มันทรมานตน มันทรมานคนอื่น หนักหนาสาหัส เกินกว่าอบายมุขไปอีก มันก็เกิดเดือดร้อน ไอ้ร้อนนี่แหละคือไฟ ไฟประลัยกัลป์ ประลัย ก็คือ บรรลัย ไฟที่มันบรรลัยอยู่ในกัปนี้ ก็คือปลายกัป ความร้อนของราคะ ความร้อนเป็นอัคคี ราคัคคี โทสัคคี โมหัคคี

เริ่มมาจากโมหัคคีก่อน คือหลง ไม่เข้าใจ รู้ไม่ทัน ไม่มีปัญญา ไม่มีวิชชา ไม่มีภูมิรู้ว่าอะไรพอเหมาะพอดี อะไรที่ไม่ต้องมีก็ได้ น้อยก็ได้ พระพุทธเจ้า ท่านสอนน้อยลง ราคะคุณน้อยลงๆๆๆ

เพราะงั้นปลายกัปนี้ ถ้ายังไม่เรียนรู้ ไม่รู้เท่าทัน คนที่เกิดมาแต่ต้นกัป กลางกัป ปลายกัป ไม่ได้เรียนรู้ธรรมะเลย จะเป็นเหยื่อ ของไฟ ประลัยกัลป์ ในปลายกัป จะถูกไฟประลัยกัลป์ไหม้ตายหมด จะตายด้วยโรคเอดส์นี่ก็เป็นไฟประลัยกัลป์ เป็นต้น หรือ ไฟราคะ-โทสะ-โมหะ เกินเฟ้อ นั่นคือไฟโลกีย์

กัปนี้ท่านก็ว่าเอาไว้ว่ามีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ พระสมณะโคดมนี่เป็นผู้ที่อยู่ตรงกัปที่จะถึงขั้นพุทธันดร พุทธันดร หมายความว่า ช่วงระหว่าง ที่ไม่มีศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธจะไม่มีในสองกาล คือ ในช่วงกลียุค ที่คนเลวร้ายกัน จนศาสนา พุทธ ช่วยคนเหล่านั้น ไม่ได้เลย กับอีกช่วงที่สังคมคน ยังเป็นคนดี คนยังไม่เลว คนยังไม่สร้าง กิเลสขึ้นมา หลอกกัน มากพอ สังคมจึงยัง ไม่มีทุกข์ คนยังอยู่กัน เป็นสุข สังคมยังไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือ พระพุทธเจ้า ก็ไม่ต้องเกิด จนกระทั่ง คนสร้าง กิเลส ขึ้นมาสู่สังคม สังคมเสื่อมลง จนมีทุกข์ จึงจะเกิดพระพุทธเจ้า ขึ้นมาช่วยเหลือมนุษย์

ศาสนาพุทธนี่ไม่ใช่ศาสนาจะมีประจำโลกตลอด ไม่ใช่นะ ศาสนาพุทธจะมีเป็นช่วงๆ แต่ละช่วง ที่โลกเป็นทุกข์ โลกเสื่อม ถึงขั้น ที่ต้องช่วย แล้วศาสนาพุทธก็จะอุบัติเพื่อช่วยมนุษยชาติ ช่วยตั้งแต่ขั้นธรรมะที่เป็นโลกุตระ ไปจนกระทั่ง คนในสังคม รับโลกุตรธรรมไม่ได้ ก็จะช่วยในระดับโลกียะ ไปจนสิ้นยุค

ซึ่งโลกสามัญจะมีศาสนา"เทวนิยม"เป็นศาสนาอยู่ประจำโลกจะไม่มีช่วงที่ขาดศาสนา "เทวนิยม"เลย จะไม่เหมือน ศาสนาพุทธ ที่มีช่วง "พุทธันดร" คือศาสนาพุทธที่เป็น"อเทวนิยม"จะขาดช่วงหายไปจากโลกเป็นครั้งคราว ศาสนาเทวนิยมนั้น จะมีตั้งแต่ เทวนิยมแบบ "ศาสนาที่นับถือผี" แล้วจึงค่อยเป็นศาสนาเทวนิยม ที่พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ กระทั่งมีศาสนาเทวนิยม ที่เจริญสูงสุด แล้วจึงเสื่อมไป ตามยุคคนเสื่อม แล้วศาสนาแต่ละศาสนา ก็จะสิ้นไป มีศาสนาเทวนิยมแบบใหม่ เกิดขึ้นมา เชื่อมต่อกัน ไม่มีขาดสาย

เช่น ในยุคนี้ ศาสนาพุทธของพระสมณะโคดม จะมีอายุยืนยาวไปถึง ๕,๐๐๐ ปี ในยุคต้นๆก็ช่วยคนด้วยโลกุตรธรรมได้ เต็มที่ คนได้รับ มรรคผลมาก กระทั่งศาสนาพุทธยืนยาวมาถึง ๒,๕๐๐ ปี โลกุตรธรรมจะค่อยๆเสื่อมจนถึงขั้นเกือบจะไม่มี มรรคผล กันแล้ว แต่ก็จะได้รับ การสืบสาน ฟื้นฟูให้พุทธมามกะ ได้รับโลกุตรธรรมขึ้นมาอีก แต่โลกุตรธรรมนั้น จะมีกันได้ต่อไปอีก ไม่ถึงสองพันปี โลกุตระก็จะยืดไปอีก ประมาณ พันกว่าปี โลกุตระจะค่อยๆเลือนจากสังคม ซึ่งจากวันนี้ไปโลกุตรธรรม จะเริ่ม รุ่งเรืองไปเรื่อยๆ อีก ๕๐๐ ปีจะรุ่งเรืองสูงสุด ซึ่งเป็น การรุ่งเรือง สำหรับยุคนี้นะ แล้วเชื้อโลกุตระก็จะมีต่อไปได้ อีกช่วงหนึ่ง ซึ่งแน่นอน หลังจาก ๕๐๐ ปีไปแล้วเชื้อก็จะจาง ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง สุดท้าย ก็ไม่มีโลกุตระเลย จะเหลือแต่ โลกียธรรม ก็ช่วยกันประพฤติดี-ละชั่ว กันไปจนสิ้นยุค ของศาสนาพุทธ

ก็อีกพันกว่าปีไปโน่นแหละศาสนาพุทธจะไม่มีใครบรรลุโลกุตรธรรม ซึ่งจะเหมือนๆกับทุกวันนี้ ก็เกือบจะพูดโลกุตรธรรม ไม่รู้เรื่อง กันแล้ว คล้ายๆกัน แต่ก็ยังพูดได้ เพราะยังไม่ถึงยุคปลายจริง พิสูจน์แล้วว่าทุกวันนี้มีคนรับโลกุตรธรรมได้ สามารถ บรรลุโลกุตรธรรม

คนที่มาโลกุตระแล้วนี่ จะเป็นคนที่รอดพ้นจากไฟประลัยกัลป์ เพราะจะมีไฟอบายมุข ไฟแห่งราคะกามารมณ์ที่จัดจ้าน ไฟแห่งโทสะ ความรุนแรงอำมหิต ไฟแห่งความหลงคลั่งไคล้งมงาย ล้วนเป็นไฟนรก ไฟที่จัดจ้านของราคะ-โทสะ-โมหะทั้งสิ้น ไหม้ลาม ลุกท่วม ไปเต็มสังคม คนที่อยู่ในโลกียะต้องถูกไฟเหล่านี้ไหม้ อย่างน้อยก็ถูกลวกลนต้องทนทรมานแน่นอน คนที่ เข้ามาในแดน โลกุตระได้แล้ว จึงจะพ้นไฟ ดังกล่าวนี้ โลกยุคนี้คือโลกแห่งไฟประลัยกัลป์แท้ๆ ซึ่งนับวัน จะรุกร้อน รุนแรง ยิ่งขึ้นๆ แน่ๆ สังคมที่หลุดพ้น จากไฟ ประลัยกัลป์นั้น จะเห็นได้แม้แต่ทางรูปธรรม สังคมชาวอโศกเป็นต้น หมู่บ้าน ราชธานีอโศก หมู่บ้านศีรษะอโศก หรือชุมชนชาวอโศก ทั้งหลาย ไม่มีอบายมุขเลย คนกินเหล้า หรือสูบบุหรี่ แม้คนเดียว ก็ไม่มี จริงๆ ถือศีลกันทั้งหมู่บ้าน อย่างต่ำศีล ๕ ศีล ๘ ก็มีกันเต็ม หมู่บ้าน แม้แต่ศีล ๑๐ ชาวบ้านของ ชาวอโศก นี่แหละ ก็ยังมี ไม่น้อยเลย ไม่มีเดรัจฉานวิชา ไม่มีไสยศาสตร์ทั้งชุมชน

โกงนี่ เป็นอบายมุขแท้ๆ คือ นรกต่ำน่ะ วิธีโกงก็โกงจัดจ้านซับซ้อนซ่อนเชิง เก่ง นี่พวกนี้พวกสัตว์นรกทั้งนั้นหละ พวกอบายมุข ทั้งนั้นหละ พวกนี้จะไม่หลุดพ้น พวกนี้คือพวกอยู่ในสภาพไฟประลัยกัลป์ไหม้ตัวเองอยู่ไม่รู้ตัว คือเขาไม่รู้จักทุกข์ อาริยสัจ ไม่รู้จัก กลัวบาป ไม่กลัวชั่ว ไฟนรกนี้ไหม้ทั้งตัวเขาอยู่และไหม้สังคมให้เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ความเดือดร้อน หรือ ทุกข์อาริยสัจนี้ เกิดแล้วอย่าง ยิ่งในสังคมไทย เห็นคาตา แต่คนตาสั้น ตามัว ตาบอด จะไม่เห็น คนตาดีสามัญ มีปัญญา มีปฏิภาณ เห็นชัดเจน ในความจริงนี้

นี่ไฟประลัยกัลป์อย่างนี้ มันอยู่ในโลก ใครจะหลุดพ้น จะทำอย่างไรจะหลุดจากไฟประลัยกัลป์ได้ ไฟประลัยกัลป์ มันไม่ต้อง เป็นรูป กลุ่มก้อน ของไฟปรมาณูไหม้ มีเปลวเพลิงร้อนเป็นหมื่น เป็นแสนองศา หรือน้ำท่วมโลก ก็ต้องมีเรือโนอา มาให้อาศัย หนีน้ำ จะต้องเข้าไปยัดเยียดกันอยู่ในเรือโนอา แล้วน้ำก็ท่วม น้ำลดแล้วผู้รอดพ้ นก็ถึงออกมาจากเรือโนอา หรือไฟไหม้ก็ โอ้โห .. ลุกโชนเลย มันไม่ใช่อย่างนั้น ทีเดียวหรอก ไอ้อย่างนั้นจะเกิดเป็นไฟทางวัตถุไหม้ ทำลายจริง ฆ่าแกงทำร้ายกันทาง กายภาพ ก็ร้ายกาจรุนแรง เห็นๆกันอยู่ แต่ที่เป็นไฟประลัยกัลป์ที่ร้ายกาจทางจิตภาพ ตามที่อาตมากล่าวมานั้นแหละ จริงแท้ และ แรงร้าย โหดลึกยิ่งกว่า ทางกายภาพ และมันก็ส่งเสริมสนับสนุนกันร้ายแรง

ไอ้ปืน ไอ้ลูกระเบิดนี่มันไฟไหม ไฟทั้งนั้นแหละ ดูซิมันบึ้ม ! บึ้มบึ้ม ! บ้อมบ้อม ! กันอยู่เนี่ย นั่นละมันเกิดมาจากจิตราคะ โทสะ โมหะ เกิดมาจากจิต กามกับพยาบาทที่โมหะ อกุศลจิตที่เป็นต้นเหตุ เป็นประธานทั้งสิ้น พูดกันไม่รู้เรื่อง สามัญ สำนึกคน จะไม่รู้ หรือว่า การฆ่าคนนั่น ไม่ดี รู้ทั้งนั้นแหละ แต่มันมีอื่นที่ใหญ่กว่านั้น กิเลสตัณหาไง มันเป็นเจ้านาย ของคน มันก็เอาชนะคะคาน บอกให้ไป ลดกิเลสบ้าง เขาไม่ฟังเสียงหรอก เขาก็จะทำ ร้ายหนัก-ร้ายลึกอย่างไร เขาไม่รู้ตัว เอาดังใจ ให้ได้ ที่จริงดังที่ กิเลสมันสั่ง กิเลส มันอยู่เหนือ สำนึกดีของคน รู้ทั้งรู้ว่าชั่วแต่คนผู้นั้นก็ยังทำ เขาสู้กิเลสของเขา ไม่ได้

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของโลกๆ หรือโลกีย์ที่มันเป็นกันอยู่ เพราะงั้นตราบใดที่คนไม่มาเรียนรู้ลดละกิเลส จนกระทั่งสำเร็จจริง ไม่ต้อง มีราคะ ไม่ต้องมีโทสะ ไม่ต้องมีโมหะ คนก็แพ้กิเลสอยู่จริง ไม่มากก็น้อย เพราะกิเลสมันคืออำนาจที่ยิ่งใหญ่ ที่มันมีจริง ในตัวคน และมันคือ ตัวการก่อ ไฟประลัยกัลป์

คนที่ไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ คนนั้นคือคนรอดพ้นไฟประลัยกัลป์ และไม่ใช่ผู้เป็นเหตุก่อไฟประลัยกัลป์ เพราะดับไฟ ราคะ ดับไฟโทสะ ดับไฟโมหะในตนแล้ว ไฟข้างนอก มันจะไหม้ มันจะลาม มันจะร้อนอย่างไง มันก็ร้อนไป คนที่ไม่มี ภูมิคุ้มกัน ก็ถูกไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะไหม้เอา มันร้อนยิ่งกว่าไฟพระอาทิตย์เชียวนะ แต่ผู้ที่เข้าสู่ภูมิโลกุตระได้แล้ว ก็มีภูมิคุ้มกัน หรือไฟประลัยกัลป์ ไหม้ไม่ได้ เพราะไฟที่เข้ามาสู่โลกุตรจิตจะหมดฤทธิ์ลงไปพลัน ฤทธิ์ทั้งหลาย จะกลายเป็น "กลาง" ทันที

คนที่พ้นไฟประลัยกัลป์ คือ คนที่ไม่ไปเป็นศัตรูกับฝ่ายไหน ในโลก แม้แต่ศัตรูเราก็ไม่เป็นศัตรูกับเขา เราก็เป็นมิตรกับเขา แม้เขา จะตั้งหน้า เป็นศัตรูเราก็เรื่องของเขา เราก็เป็นมิตรกับเขาอยู่เสมอตลอดไป แล้วเราก็ดีกับเขา เกื้อกูลเขา ช่วยเหลือเขา เมื่อเราไม่เป็น ศัตรูกับเขา ถ้าเขายังมีจิตอยากจะมีศัตรู เขาก็ไปหาศัตรูคู่ต่อสู้กับคนอื่น เราไม่เป็นศัตรูคู่ต่อสู้ของใครหรอก เรายอมแพ้ เราไม่สู้ ถ้าจะทำร้ายเรา เราก็หนี เราจะเอาแต่ช่วยคน ก็ช่วยไปหมดทุกคนแหละ แม้แต่ศัตรู เราก็ตั้งหน้า ทำประโยชน์ต่อเขา เกื้อกูลเขา ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ไอ้โจรก็ต้องกินข้าวนะ ไอ้โจรเจ็บป่วยมาก็ต้องการคนรักษานะ เพราะฉะนั้น เราหาอาหารไว้ อ้าว.... พวกนี้มันรบกัน ฆ่ากัน มันกำลังหิว ยกอาหารไปให้มันกิน มันไม่ฆ่าเราหรอก เราก็เอาแต่ หาข้าวหาน้ำ ให้เขากิน เขาเจ็บมาเราก็ช่วย รักษาให้ เขาจะมีแต่เวลาไปรบกันฆ่ากัน มีเวลาไปคิดปรมาณู เขาไม่มีเวลา ปลูกข้าว เราปลูกข้าว ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร เขาเจ็บป่วย เต็มไปด้วยบาดแผลมา เราก็ช่วยรักษา เขาไม่มีเวลา รักษากัน หรอกเน๊าะ เราก็รักษาเราก็หาอาหารให้ คนที่เกื้อกูลเขา ไม่ว่าอาหาร ช่วยรักษา ช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรต่างๆ ไม่ว่าฝ่ายแดง ไม่ว่าฝ่ายน้ำเงิน เราช่วยทั้งสองฝ่าย คนทั้งสองฝ่ายก็เลยไม่ทำร้ายเรา เราก็รอดพ้น ไฟประลัยกัลป์ นี่ไง!

สุดท้าย สองฝ่ายที่เขาฆ่ากัน มันก็ตายไปๆ ก็คือมันเอาไฟประลัยกัลป์ไหม้กัน ไฟประลัยกัลป์ไหม้กันเรื่อยๆไป ฆ่ากันด้วย ลูกระเบิด ฆ่ากัน ด้วยปืน นั่นหละไฟประลัยกัลป์ ฆ่ากันไป ฆ่ากันมา สุดท้ายหมดโลกแล้ว ผู้ที่รอดพ้นจากไฟประลัยกัลป์ ก็คือ ผู้ที่มีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อ มีประโยชน์ต่อโลก รู้จักสาระแห่งความเป็นคน รู้จักสาระแห่งความเป็นสังคม รู้จักสาระ แห่ง วัฒนธรรม รู้จักสาระ แห่งเศรษฐกิจ รู้จักสาระแห่งรัฐศาสตร์ แล้วก็ทำตามความรู้ความเข้าใจดังกล่าว อยู่ในสังคมนี้ คนเหล่านี้ จะรอดพ้นไฟประลัยกัลป์ ของโลก ของมนุษยชาติ ส่วนผู้มีแต่สร้างไฟ ก็จะถูกไฟไหม้ตายเป็นที่สุด

นี่คือบุญรักษา ฟังมาถึงตรงนี้แล้วนี่ ก็คงจะพอเข้าใจแล้วว่า จะรอดพ้นจากไฟประลัยกัลป์ได้อย่างไร คำตอบ "จงมา ปฏิบัติธรรม โลกุตระ ให้ได้"



มหกรรมเทศกาล เจ-มังฯ ของชาวบ้านราชฯ
เทศกาลเจ ๒-๑๒ ต.ค. ๒๕๔๘ ปีนี้ดูสื่อจะกล่าวถึงน้อยกว่าปีที่ผ่านๆมา แต่ร้านค้าขายอาหารเจ กลับมีเพิ่มขึ้น ในหลายๆ พื้นที่ ของประเทศ แม้แต่ที่อุบลราชธานีร้านค้าอาหารเจก็ผุดเกิดมากขึ้นอย่างเห็นๆได้ชัด ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับ ๘-๙ ปีที่แล้ว เมืองอุบลฯ แทบไม่เห็น ร้านอาหารเจในเทศกาลเจเลย มาถึงวันนี้ร้านอาหารเจคึกคักมากขึ้น อย่างผิดตา คนกินเจก็มากขึ้น ทั้งๆ ที่คนจีนจริงๆ ก็ไม่มาก อย่างจังหวัดอื่น ที่เทศกาลกินเจ คึกคักกันมาก่อนแล้ว อาจจะเป็นเพราะกระแสของสื่อ ที่โหม กระพือ ให้ความสนใจ กับเทศกาลกินเจ อย่างต่อเนื่อง มาหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงความเติบโตขึ้นของร้าน อุทยานบุญนิยม ทำให้เทศกาลเจ ที่อุบลฯปีนี้ ร้านค้าอาหารเจ ก็ดูคึกคักมากขึ้น

พ่อท่านพยายามแนะให้พวกเราใช้คำว่า "มังฯ" ควบคู่ไปกับคำว่า "เจ" เพื่อให้ติดปากติดตลาดเหมือนคำว่าเจ แต่ดูเหมือน กระแสนี้ ยังไปไม่ได้ถึงไหนนัก ปีนี้ที่ร้านค้าทั้งอุทยานบุญนิยม และที่ร้านมังบุฟเฟ่ต์ ก็ใช้คำนี้ทำเป็นธงสีเขียวบ้าง แต่ก็ไม่มาก อะไร ไม่ได้สอบถามว่าพิธีกร หรือประชาสัมพันธ์ของร้านทั้งสอง ได้พูดถึงคำว่า เจ-มังฯ บ้างหรือเปล่า

อาจจะกล่าวได้ว่าร้านอุทยานบุญนิยม เป็นร้านอาหารเจที่ใหญ่ที่สุดของชาวอโศก สูงขึ้นไปอีก เป็นร้านอาหารเจ ที่ใหญ่ ที่สุด ของภาคอีสาน และก็น่าจะเป็นร้านอาหารเจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วย (ส่วนนี้ยังไม่ขอรับรองยืนยัน แต่ก็น่าจะเป็น เช่นนั้น) ที่สำคัญ เป็นร้านอาหาร ที่มีความแปลกในหลายๆด้าน ยากที่จะหาร้านค้าใดเลียนแบบได้ ตั้งแต่คนช่วยทำงาน มีเป็น จำนวน ๓๐๐ กว่าคน หรือทั้งหมู่บ้าน ลูกเด็กเล็กแดง ไปจนถึงคนสูงวัยผมสีดอกเลา ทุกคนทำงานฟรี ไม่มีรายได้ ตอบแทน ขั้นตอน และพื้นที่ ในการล้างผัก อลังการมาก ประมาณ ๔ x ๑๕ เมตร ใช้ฟักทอง ๑,๗๐๐ กิโลกรัม ข้าวโพดกว่า ๑๕,๐๐๐ ฝัก มะละกอ ๒ ตัน (๒,๐๐๐ กิโลกรัม ) เห็ดประมาณวันละ ๑๐๐ กิโลกรัม มีเด็กตัวเล็กตัวน้อยคอยบริการน้ำอุ่น และน้ำสมุนไพรให้กับพี่ๆ อาๆ ป้าๆ ลุงๆ ที่ช่วยทำงานตามแผนกต่างๆ ขยะ ๔๐ ตันที่ได้ สามารถเอามาทำปุ๋ยได้ถึง ๒๐ ตัน กากถั่วเหลืองเอามาทำโบกาชิ ๒๐ ตัน มีเจ้าหน้าที่ จากสาธารณสุขจังหวัด ได้มาทำการสุ่มตรวจผักพืชที่ใช้ ผลปรากฏว่า มีผักไร้สารพิษ ๑๒ ชนิด ใบมะกรูด, บุษบาริมทาง, ผักเป็ด, ถั่วฝักยาว, มะเขือเปราะ, มะเขือพวง, ตะไคร้, ผักพาย, ชะพลู, ผักกาดหอม, แตงกวา, เห็ดฟาง ตรวจไม่พบฟอร์มาลีน ผักปลอดสารพิษ ในขั้นปลอดภัย ๔ ชนิด พริกสด, ใบเตย, ใบบัวบก, สะระแหน่ ตรวจอาหาร ๓๓ ชนิด พบจุลินทรีย์ ๓ ชนิด น้ำข้าวโพด, ซุปมะเขือ, ป่นเจ

จากข้อมูลที่ทางบ้านราชฯได้จัดทำรายงาน บอกให้เห็นถึงการจัดงานเทศกาลเจของชาวบ้านราชฯไม่ธรรมดา ดังนี้

หมู่บ้านราชธานีอโศกจัดกิจกรรมมหกรรมอาหารเจ'๔๘ บริการอาหารเจแก่ชาวอำเภอวารินชำราบที่สหกรณ์บุญนิยม และ บริการ แก่ชาวเมือง อุบลราชธานี ที่อุทยานบุญนิยม ตั้งแต่วันที่ ๑_๑๒ ต.ค. เป็นการบูรณาการการศึกษาแบบองค์รวม ภายใต้ชื่อ ค่ายพาณิชย์ บุญนิยม เพื่อพัฒนาบุคลากรในหมู่บ้านโดยมีเป้าหมายการทำงานคือ ๕ ส. , ๖ ส.(สาราณียาธรรม ๖) และ ๗ อ. (อิทธิบาท ๔, อารมณ์, อาหาร, อากาศ, ออกกำลังกายหรืออิริยาบถ, เอนกาย, เอาพิษภัยออก) ปีนี้มีผู้สนใจ มารับประทาน อาหารเจ จำนวนมากขึ้น เป็นเท่าตัว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

การเตรียมงานได้มีการระดมสมองของนิสิตสัมมาสิกขาลัยราชธานีอโศกตั้งแต่วันที่ ๑๕ ก.ย. และมีการระดมสมอง จัดสรรงาน ทั้งชุมชน ในวันที่ ๑๘ ก.ย. ในช่วงนั้นน้ำเริ่มท่วมถนนทางเข้าหมู่บ้านและมีโปรแกรมการอบรมเกษตรกรอีก ๒ รุ่น ซึ่งจะเสร็จสิ้น การอบรม ในวันที่ ๓๐ ก.ย. จึงเป็นช่วงที่กระชั้นชิดมาก ในวันที่ ๒๐_๒๔ ก.ย. มีผู้เข้าอบรมจำนวน ๑๔๕ คน และ ในวันที่ ๒๖-๓๐ ก.ย. มีการอบรมเกษตรกร อีกชุดหนึ่ง จำนวน ๑๖๕ คน ทีมงานอบรมได้จัดกิจกรรม ในหลักสูตร และปรับการทำงาน ให้สอดคล้องกับ การเตรียมงาน เทศการอาหารเจ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้เข้ารับการอบรมเป็นอย่างดี คุรุใบลาน ได้เปิดใจว่า "รู้สึกประทับใจ กับพลังรวมของ ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ของผู้ประสานงาน ทีมพี่เลี้ยง และผู้เข้าอบรม สัมผัสได้ถึงวิญญาณ ที่หล่อหลอม วัฒนธรรมโฮมแฮง ความมีน้ำใจ และความเป็นพี่เป็นน้อง ผู้เข้าอบรม เต็มใจและบอกว่าดีใจที่ได้ทำบุญ" ในช่วงภาคค่ำของวันที่ ๒๙ มีการประชุม ก่อนงาน ทั้งเด็กนักเรียน ที่เพิ่งเปิดเทอม โดยเด็กนักเรียน ประชุมที่ศาลาเฮือนฝั่นเซียว ส่วนผู้ใหญ่ประชุมที่ ศาลา เฮือนเพิงกัน แล้วรวมกันรับฟังโอวาท จากสมณะ - สิกขมาตุ

ตั้งแต่วันที่ ๑_๑๑ ต.ค.ร้านทั้งสองแห่งเริ่มเปิดบริการ ที่สหกรณ์บุญนิยมเปิดขายด้านหน้าร้านซึ่งอยู่ใกล้ย่านตลาด อำเภอ วารินชำราบ เปิดบริการ ๐๖.๐๐_๑๙.๐๐ น. ส่วนอุทยานบุญนิยมเปิดบริการตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐_๑๙.๓๐ น. บริการแบบ บุฟเฟ่ต์ ในราคาจานละ ๑๕ บาท บรรยากาศเป็นสวนอาหารที่มีความรื่นรมย์ บริการอาหารรสชาติอร่อย และบทเพลง ที่ไพเราะ จากดีเจหลายคน ที่บริการ ธรรมะ และให้ความรู้เรื่องพืชผักรวมทั้งความบันเทิงตลอดวัน ในช่วงเวลา ๑๗.๓๐ - ๑๙.๓๐ น. เป็นการแสดงดนตรี บนเวทีธรรมชาติ อาหารที่ทำในปีนี้ ยังคงเน้นการนำผักพื้นบ้านเป็นหลัก มาปรุงเป็นทั้ง อาหารเจ รสชาติอีสาน หรืออาหารรสชาติไทยๆ ในวันที่ ๒ ต.ค. โสภณเคเบิลทีวี จังหวัดอุบลราชธานี มาถ่ายทำ บรรยากาศ ของงาน และสัมภาษณ์ทั้งแม่ค้าและลูกค้า ที่มารับประทาน ที่อุทยาน บุญนิยม วันที่ ๓ ต.ค. คุณพรตะวัน ธนะโภค และคุณตรงเตือน นาวาบุญนิยม ได้ไปร่วมรายการที่โทรทัศน์ช่อง ๑๑ ซึ่งได้มาถ่าย บรรยากาศงานเจ ของอุทยานบุญนิยม ไปประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอด ๙ จังหวัดในภาคอีสาน และในวันเดียวกันนี้มีเจ้าหน้าที่จาก สาธารณสุขจังหวัด มาตรวจพืชผัก และอาหาร ซึ่งผลจากการตรวจตัวอย่าง เป็นผักไร้สารพิษถึง ๑๒ ชนิด ที่เป็นผักปลอดสารพิษ ในระดับปลอดภัย ๔ ชนิด ในวันที่ ๙ ต.ค. พ่อท่านได้ไปบิณฑบาตและแสดงธรรมที่ศาลาเซามีแฮง ในช่วงเวลา ๐๙.๐๐_๑๑.๐๐ น. ในหัวข้อเรื่อง "จะรอดพ้น ไฟประลัยกัลป์ได้อย่างไร" มีการออนไลน์ (on line) ถ่ายทอดเสียงสดๆ ไปยังพุทธสถาน และสังฆสถานต่างๆ รวมทั้งวิทยุชุมชน ทั้งหมด ๑๒ แห่ง

บรรยากาศการทำงานในปีนี้มีความลงตัวสูง มีการประณีต-ประหยัดมากขึ้น เรื่องวัตถุดิบ และประหยัดพลังงาน อารมณ์ กันได้ดี นอกจาก จะได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านราชฯ อย่างเต็มที่ทุกคนแล้ว ยังมีญาติธรรมกลุ่มอุบลอโศก และ กลุ่ม สวนส่างฝัน นอกจากนี้ ชาวเครือแห แม่ค้าตลาดไร้สารพิษ นำผักมาส่งแล้วก็อยู่ปักหลักช่วยกันอย่างเหนียวแน่น วันที่ ๑, ๓, ๙ ต.ค. มีการประชุม การทำงาน ส่วนวันที่ ๑๐_๑๑ ต.ค. มีการประชุมนักเรียนโดยมีท่านสมณะและสิกขมาตุ ได้แสดงธรรม เพื่อให้กำลังใจ และพี่น้องชาวอุบลฯ นอกจาก จะสนใจอาหารเจแล้ว ยังให้ความสนใจสื่อธรรมะ ที่นำมาจำหน่าย ในงานนี้ สามารถจำหน่ายหนังสือพิมพ์ "เราคิดอะไร" ฉบับพิเศษ แถมหนังสือนักรบเท้าเปล่า หมดจำนวน ๒๐๐ เล่ม ก่อนที่งานเจ จะสิ้นสุด

นับเป็นความโชคดีที่ปีนี้น้ำไม่ท่วม จึงมีเฉพาะนักเรียนทั้งชั้นประถมศึกษาชั้นมัธยมศึกษาและคุรุนอนประจำที่ร้าน ส่วนผู้ใหญ่ จะเดินทางไปกลับ โดยมีรถคอยบริการเป็นเวลา และทีมงานได้เดินทางกลับหมู่บ้าน ในวันที่ ๑๒ ต.ค. เย็นของวันที่ ๑๓ ต.ค. ตั้งแต่ เวลา ๑๘.๐๐_๒๐.๓๐ น. มีกิจกรรมระดมสมองสรุปงานทั้งหมด มีผู้ร่วมกิจกรรมนับร้อยชีวิต โดยมีพ่อท่าน เป็นประธาน การระดมสมอง ให้ทุกคนช่วยกันคิดมองหาอุปสรรคและปัญหา บรรยากาศการทำงาน รวมถึงข้อเสนอแนะ แล้วนำมาสรุป ให้ที่ประชุม ได้รับรู้ร่วมกัน โดยแบ่งเป็น ๔ ทีมคือ

- ทีมงานร้านอุทยานบุญนิยมรวมแผนกหน้าร้าน
- ทีมงานร้านอุทยานบุญนิยมรวมแผนกหลังร้าน
- ทีมงานสามอาชีพกู้ชาติ
- ทีมร้านสหกรณ์
เมื่อเสร็จสิ้นการรายงานของแต่ละกลุ่มจึงรับฟังโอวาทจากพ่อท่าน

นอกจากนี้มีบทสัมภาษณ์ถึงความรู้สึกของผู้มาร่วมงานบางส่วนดังนี้

คุณชัย สะท้านภพ ชาวสวนส่างฝัน "ที่สวนส่างฝันมีพี่น้องที่มาช่วยกัน ๑๘ คน ทีมแรกมาตั้งแต่วันที่ ๓_๗ ต.ค. เป็นคณะ แม่บ้าน ที่ช่วยครัว อยู่สวนส่างฝัน แล้วคณะนี้ก็กลับไปก่อน ช่วงที่ ๒ วันที่ ๗_๙ ก็จะเป็นคณะครูอาจารย์ หมอลำหมอแคน คิดว่า เป็นกิจกรรม ที่เป็นบุญ จึงอยากจะมาช่วยทางพี่ใหญ่ เพื่อเก็บประสบการณ์ การบริหารจัดการ ในแต่ละจุด เพื่อไปใช้ที่ สวนส่างฝัน เมื่อเรามี ความพร้อม ที่จะบริการที่จังหวัด อำนาจเจริญ บรรยากาศคนเมืองอุบลฯ น่าทึ่งเป็นคนที่ใจบุญ และศรัทธา ในอาหารเจมาก คนมากินเยอะ คณะหั่นเตรียมหั่นไม่ได้หยุด ตั้งแต่ ๗ โมงเช้าถึง ๕ โมงเย็น จะหยุดก็ช่วง กินข้าว คณะหลังร้าน ก็อบอุ่น สนุกสนานกันดี ได้เห็นว่าเป็นการทำงาน กันอย่างเหนียวแน่น แต่ละจุด ก็มีความสามัคคี และ รับลูกกันได้ดี การที่ทำงานแบบบูรณาการ เป็นการมองเห็น ความสำคัญ ของการศึกษา ได้ทั้งประโยชน์ตน และ ประโยชน์ท่าน"

น.ส.ขวัญทิพย์ บุระพวง นักเรียน สส.ธ. "ในงานเจทำตำแหน่งแม่ครัว ทำงานปีนี้สนุกค่ะ เพราะมีเพื่อนร่วมงานที่ดี มีเพื่อน ในทีม ๙ คน ทั้งปรุงอาหารและยกอาหาร ทีมเพื่อนเป็นทีมที่เคยร่วมงานกันและสนิทกัน ส่วนทีมผู้ใหญ่ก็ไว้วางใจ กับพวกเรามาก ไม่มาจู้จี้ อะไรมาก ท่านปล่อยให้เราบริหารกันเอง อาหารที่ทำก็มีประเภทแกงและผัด ผัดวันละประมาณ ๕๐ ถาด ส่วนแกง ทำวันละ ๑๕ อย่าง ปริมาณอย่างละ ๒ หม้อเบอร์ ๔๕ ปัญหาที่พบคือขาดคนยกไปหน้าร้าน เราทำงานกัน เบิกบานดี ประทับใจเพื่อนร่วมงาน ในการทำงานครั้งนี้ เราได้ฝึกความอดทน แม้กำลังกินข้าวถ้ามีการสั่งอาหารมา เราก็ต้อง รีบทำให้ นอกจากนี้ เรื่องสุขภาพ ก็จะดื่มน้ำอุ่นในช่วงเช้า จะมีสมุนพระราม นำไปบริการในช่วงเช้า และมีน้องๆในทีมงาน นำน้ำธัญพืช มาบริการ ส่วนการกินอาหาร จะกินข้าว กับน้ำพริกผักลวก เป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีของทอดบ้างเป็นบางวัน และทำงานไป ก็ออกกำลังกายไป ในตอนเย็น ก็มีการสลับกันไป ร้องเพลงที่เวที เรื่องปฏิบัติศีลก็มีผิดศีลเรื่องจุบจิบ รู้สึกว่า การเรียนรู้แบบนี้ทำให้เราได้ปฏิบัติจริง ได้เรียนรู้จริง ถ้าเราจะเรียนแต่ในหนังสือ เราก็จะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องแก้ปัญหา อย่างไร แต่จากที่พวกหนูได้ทำงานตั้งแต่ปีแรก มาจนปีนี้ มีประสบการณ์ว่า จะวางแผนงานอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร และ รู้วิธีว่าควรจะทำอารมณ์ให้เบิกบานอย่างไร ปีนี้ทำได้ดี ไม่ทะเลาะกับผู้ใหญ่"

คุณสุวิทย์ ธานี ลูกค้า "ผมตั้งใจจะกินอาหารเจในช่วงเทศกาลอาหารเจ การไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ก็ทำให้จิตใจดีขึ้น และดีต่อ สุขภาพ ผมชอบ กับข้าวพื้นเมืองอีสาน เมื่อผ่านพ้นเทศกาลงานเจถ้ามีโอกาสผมก็จะมากิน ผมเห็นคนมากินอาหารเจเยอะ ผมว่าคน ให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะเรื่องสุขภาพ ผมเคยไปที่ราชธานีอโศก ๒ ครั้ง ในช่วงงานปีใหม่ และไปในโครงการ โรงเรียนวิถีพุทธ ผมอยู่โรงเรียน บ้านมะเขือ อำเภอเมือง ผมไปเห็นแล้วก็เห็นวิถีชีวิตที่ดี ที่ไม่ไปยึดวัตถุนิยม เป็นวิถีชีวิต แบบหนึ่ง ที่น่าสนใจ แม้ใคร ทำได้ก็ดี แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ว่ากัน ผมก็ทึ่งที่เขาทำได้"

คุณวัชรี ศรีบุรัมย์ ลูกค้า "ดิฉันจะมารับประทานอาหารที่นี่บ่อย แต่ในช่วงเทศกาลกินเจนี้จะมากินทุกวัน ช่วงนี้จะงดเนื้อสัตว์ ๑๐ วัน ที่ตั้งใจอย่างนี้ก็เพราะทำแล้วสบายใจและเพื่อสุขภาพด้วย ที่นี่บรรยากาศก็ดีอาหารก็อร่อย และคนที่นี่ก็ช่วยเหลือ กันดี เห็นแล้ว ปลื้มใจ การเก็บจานเองก็ดี ฝึกให้ได้ช่วยเหลือตัวเอง ไม่เป็นภาระกับคนอื่น ตอนแรกมาเห็นคนอื่น เขาทำได้ เราก็ต้องทำได้ มาทานที่นี่ สามปีแล้วค่ะ แต่ก่อนไม่เคยทานข้าวกล้อง พอได้ทานเรื่อยๆก็ดีค่ะ ดิฉันชอบอาหารผัด เช่น ผัดกะเพรา"

คุณปะสร้อยแก้ว อโศกตระกูล "อยู่อโศกมา ๒๐ ปี ยังไม่เคยเห็นที่ไหนจะขายอาหารเจจนมืดค่ำ การทำงานแบบเรียนรู้ ร่วมกัน ทำให้เด็ก ได้พัฒนา เด็กมีความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ เด็กๆได้เรียนรู้ระบบผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ก็กล้าปล่อยให้เด็กได้ทำงาน เด็กๆ มีศักยภาพ และมีความรับผิดชอบสูง และเขาก็เบิกบาน เขาทำงานได้ด้วยตัวเขาเองเขาจะภูมิใจในตัวเอง ไม่ใช่เพราะ คำสั่ง ของผู้ใหญ่ มันเป็น วิถีชีวิตของเขา ที่ได้ทำงานไปพร้อมๆกับผู้ใหญ่ แต่จุดที่ต้องระวัง คือเมื่อทำงานเก่งแล้ว ตัวมานะอัตตา มันจะใหญ่ ตัวเอง ก็เคยเป็นมา ก็ต้องหมั่นฟังธรรมและ ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ทำงานอย่างเดียว"

จากบางส่วนที่พ่อท่านได้ให้โอวาทปิดการประชุมสรุปงานเทศกาลเจของชาวบ้านราชฯ ๑๓ ต.ค. ๒๕๔๘ ดังนี้ "งานพาณิชย์นี่ มันเป็นงาน ที่ยิ่งใหญ่ในโลก ขึ้นไปเรื่อยๆ หลายพันปีมาแล้วงานพาณิชย์ยังไม่เป็นภาษาอะไรหรอก ตั้งแต่พันปีที่แล้วมา เป็นต้น แต่เดี๋ยวนี้งานพาณิชย์ ที่มันหมุนเวียนหมุนวน โอ้โฮ....มันซับซ้อนและมันยิ่งใหญ่ และมีอำนาจ มันครอบงำคน อย่างหนักหนา สาหัส และบังคับคน ให้คนจะต้องทำ ถ้าไม่ทำอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างพวกเรา ที่อยู่กันเป็นสังคม ชุมชน สาธารณโภคี ที่ส่วนตัว ไม่ได้สะสม สมบัติ เป็นของตนเองแล้วนี่ เราจะไม่ทำพาณิชย์ไม่ได้เลย งานพาณิชย์นี่ จึงเป็นงาน ที่จะต้องช่วยกัน อย่างหนัก การประชุม ที่สันติอโศก นี่ ประชุมโน่นประชุมนี่ ประชุมอะไรต่ออะไร อาตมาไปมองเห็นแล้วว่า "การประชุมพาณิชย์บุญนิยม" เป็นการประชุม ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะมันรวมเอาทั้งฝ่ายผลิต ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายวิจัย ฝ่ายตามเก็บข้อมูล ฝ่ายวางแผน ฝ่ายตรวจสอบ ฝ่ายอะไรต่ออะไร ต่างๆนานา สารพัดรวมเอาไว้ที่นั่นหมดเลย มันจะต้องติดตามถึงแหล่งผลิต ติดตามถึงวัตถุดิบ จะต้องติดตามสังคม จะต้องพัฒนา ยังไง จะต้องดูแลไปถึง วงกว้าง เสร็จแล้ว เวลามาขายก็เป็นเรื่องของพาณิชย์ ก็จะต้องติดต่อกับการพาณิชย์ การภาษีอะไรต่างๆนานา เพราะฉะนั้น ความเป็น สังคม สัมพันธ์ต่างๆ จะรวมอยู่ในการพาณิชย์นี่ทั้งนั้นเลย เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ขอให้พวกเราฟังให้เข้าใจ จะต้อง ร่วมมือ ช่วยกัน ต้องพยายาม ปีนี้ดูแล้วก็เห็นว่าพวกเราเข้าฝัก ดีขึ้น เก่งขึ้น ชำนาญขึ้นมันก็ดีแล้ว ปีหน้า จะหนักกว่านี้อีก ปีที่แล้ว เราลุ้นวันละแสน จะขายให้ได้แสน เอาไปเอามาขายได้แสนไม่กี่วัน นอกนั้นวันละ ๘ หมื่น ๙ หมื่น ปีนี้ลุ้น วันละ สองแสน ปรากฏว่า ได้สองแสนอยู่สี่วัน นอกนั้นแสนเก้า แสนแปด แสนหก ก็เป็นไปได้ งานมันก็ต้องเพิ่มขึ้น เพราะว่า เราขาย ในราคาเดิม แต่ว่าได้เงินเพิ่มขึ้น งานมันก็ต้องเพิ่มขึ้น แต่เราก็ไปกันไหว คนไม่ค่อยเพิ่มเท่าไหร่นะ เพราะได้ข่าวว่า บางคน จะออกไปขายของข้างนอก โดยมีความคิดว่า "มันก็เหมือนกันนั่นแหละ ขายของข้างนอกกับในนี้ มันก็เหมือนกัน นั่นแหละ" ขอบอกว่า ไม่เหมือนเลย ขายของข้างนอก ก็ขายของเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง แม้จะขายอย่างบุญนิยม คือ ขายให้ถูก ก็เถอะ ขายแล้วคุณก็ยังไม่สาธารณะ แต่ที่นี่มาขายของ เป็นสาธารณโภคี พลังกุศลมันต่างกัน และที่สำคัญ ได้ขัดเกลา ตัวเอง มากกว่า เพราะสัมผัส มันมีมากกว่า และ ลึกซึ้งกว่า แต่ถ้าขายข้างนอกไม่ได้ มีสัมผัสอย่างคน ในกลุ่มนักปฏิบัติธรรม ด้วยกันหรอก ถ้าขายข้างนอกแล้วนี่ ตัวเอง ก็จะถูกครอบงำ แล้วจะต้อง ต่อสู้กับข้างนอก แล้วแรงดูด หรือ พลังสนาม แม่เหล็ก ข้างนอกนี่มันก็เป็นอย่างโลกีย์ ถึงจะขายอย่างเรา ก็แล้วแต่ แล้วมัน ก็ว้าเหว่ มันจะไม่เหมือนกับ ที่เราขายอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้นการต่อสู้หรือว่าการพัฒนาตนเอง พลังที่จะพัฒนา ตนเองนั้น ไปปฏิบัติธรรม หรือว่าปฏิบัติ อยู่ข้างนอกนั้น มันเจริญได้ไม่ดี เท่าในนี้หรอก อาตมาเห็นสิ่งวิเศษ ก็คือ คณะใหญ่ ที่เราร่วมกันทำงาน เป็นมวลใหญ่มาก มีทั้งเด็กเล็ก เด็กน้อย ๕ ขวบ ๖ ขวบ และทุกรุ่นไปจนคนแก่ ๗๐_๘๐ ปี ที่ร่วมทำกันอย่างสามัคคีอบอุ่น เบิกบาน แจ่มใส ไม่มีการ แก่งแย่ง ทุกคนทำเพื่อส่วนรวม ทั้งๆที่ไม่ได้อะไรกันเลย เหนื่อยแต่ก็ต่างรู้ว่าทำเพื่องานเพื่อให้แก่สังคม นี่สิ.. มันคิดเป็นตัวเงินเท่าไหร่ ก็ประเมินไม่ได้ มันเป็นเศรษฐศาสตร์บุญนิยมแท้ๆ มันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ที่ชาวเศรษฐศาสตร์ ทุนนิยม เขาไม่สามารถ หยั่งถึง และ ทำไม่ได้เหมือน เอาล่ะ....อาตมาก็คงไม่วิเคราะห์มากกว่านี้ จริงๆแล้ว เราก็ต้องการ คนมาช่วยเพิ่ม ขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ ฉะนั้น คนที่คิด ออกไปทำส่วนตัว ควรที่จะต้องมาผนึก งานปีหน้านี่ อาตมาว่า จะเป็นงาน ที่ยิ่งกว่าปีนี้อีก มันจะเพิ่ม อะไร เข้ามาอีกเยอะแยะ"



วิทยานิพนธ์ ปฏิรูปการศึกษา ตามหลักพุทธศาสตร์
๒๒ ต.ค. ๒๕๔๘ ที่สันติอโศก คุณพิทยา สิทธิโชติ ได้มาสนทนาปรึกษา เกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ของตน ในหัวข้อ "ปฏิรูปการศึกษา ตามหลักพุทธศาสตร์" จากบางส่วนของการสนทนาดังนี้

คุณพิทยา : ผมทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ปฏิรูปการศึกษา ตามหลักพุทธศาสนา อาจารย์ดูแล้วเขาก็บอกว่าไม่เหมาะ มันกว้างไป คำว่า พุทธศาสนาเนี่ย โดยหลักที่ผมจะทำคือเจาะไปที่คำว่า อริยสัจสี่ เริ่มต้นจากสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นะครับ คือเรื่องของ ความทุกข์ ที่มีสองส่วน คือความทุกข์กาย กับความทุกข์ใจ

ความทุกข์กายก็คือเริ่มจากปัจจัยสี่ครับพ่อท่าน ก็เลยอยากจะมาปรึกษาพ่อท่าน

การปฏิรูปการศึกษามันก็ มันเหมือนกับ คอมพิวเตอร์ครับ มีฮาร์ดแวร์ มีซอฟแวร์ ที่ทำส่วนใหญ่เป็นเรื่องของโครงสร้าง คือ การจัดการ ระบบบริหารงานอยู่ ยังไม่ได้ลงถึงการเรียนรู้จริงๆ ของการศึกษานะครับ แล้วก็รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.๒๕๔๐ นะครับ ระบุเลยว่า จะต้องสนับสนุน ทั้งภาครัฐ แล้วก็เอกชน ให้ประชาชนมีความรู้คู่คุณธรรม ผมก็เปรียบความรู้เสมือนดาบ ถ้าเราขาดคุณธรรม ที่เปรียบเสมือน ฝักนี่ มันก็จะเป็นอันตรายต่อตนเอง แล้วก็ผู้อื่นนะครับ

การศึกษาที่จัดกันปัจจุบันนี่ครับพ่อท่าน เขาจะแบ่งการศึกษาออกเป็น ๓ ส่วน การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ แล้วก็ตาม อัธยาศัย ซึ่งผมเห็นว่าอันนี้มันไม่ยืดหยุ่นต่อสังคมนะครับ เป็นการจัดการศึกษาตามหลักงบประมาณ

ผมเลยเสนอเป็นเรื่องของว่า การจัดศึกษา ตามความถนัด หรือตามวรรณะ แต่ตรงนี้นี่อาจารย์เขาก็แย้งมาว่า คำว่าวรรณะ นี่มันเป็นของ ฮินดู มันมียศตำแหน่งสูงศักดิ์ ผมให้ความหมายนี้ในเชิง ในแนวระนาบคือวรรณะ คือความถนัดของคนเนี่ย ก็มี ๔ อย่าง อย่างที่พ่อท่าน เคยพูดน่ะครับ เรื่องผลิต เรื่องบริการ เรื่องบริหาร แล้วก็นักวิชาการหรือนักบวช ก็เป็นวรรณะพราหมณ์ นะครับ

พ่อท่าน : คุณใช้ภาษาอังกฤษกำกับสิ วรรณะ เออ..The classes เป็นชั้น เป็นระดับ ถ้าเผื่อว่าไม่รู้จักการเรียน แบ่งชั้นวรรณะ แบบความรู้ ตามฐานความจริง The classes ที่เป็นชั้นของคุณค่า-คุณภาพและคุณธรรมตามความจริง ที่ชาวพุทธเขามี เขาเป็นได้ คุณจะพูดกับอาจารย์ ก็ยากแหละ

เพราะเข้าใจกันอยู่แต่ในวรรณะแบบอินเดียก็ใช่ นั่นมันทำไม่ได้ แต่ถ้าวรรณะอย่างที่พูดนี้เดี๋ยวนี้เข้าใจกันแล้ว ก็จัดโดย ความหมาย อันนี้ อย่างผู้ผลิต ผู้บริการ ผู้บริหาร ตามฐานะของความเป็นจริงแห่งมนุษยชาติ ทีนี้ถ้าเผื่อว่า คนไม่เข้าใจ คนฐานรากส่วนใหญ่ ที่เป็นโลกีย์ เป็น The masses ก็อย่างหนึ่ง ส่วน The classes ก็อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งความเป็นจริงของคน ที่มีคุณค่า -คุณภาพ โดยเฉพาะ คุณธรรม ต่ำสูง ไปตามลำดับ ซึ่งมีต่างชั้น ต่างระดับกันจริงๆ และทุกวันนี้ก็มีคนมีคุณธรรม ขั้นโลกุตระ ที่เป็นไปได้ เป็นไปจริง คือบริสุทธิ์ใจจริง สะอาดใจจริง ซื่อสัตย์จริง มักน้อยสันโดษจริง เพราะปฏิบัติธรรม อย่างสัมมาทิฏฐิ ขี้โลภมาก ขี้โลภ ก็ลดลงๆๆๆ เหลือเล็กน้อย หรือไม่มี เป็นลำดับ ที่แท้จริง นี่คือชั้นของความจริงอย่างนี้ นี่คือวรรณะแบบ The classes แต่ถ้าเอาคน ที่มีกิเลสสามัญ หรือคนที่ไม่มีชั้น ไม่มีวรรณะ ตามที่กล่าว ก็เป็นคนโลกีย์ ที่เป็นเหมือนกัน ก็เรียกว่า The masses คนส่วนใหญ่ คนทั่วไป ที่เป็นกันอยู่ ก็อยู่กับกิเลส สามัญ การศึกษา ก็วนอยู่ใน ระนาบเดิม หรือวงจรเดิม

คุณพิทยา : พ่อท่านครับ ตรง"วรรณะ"เนี่ยในพระไตรปิฎกมีนะครับ

พ่อท่าน : อ๋อ..ในพระไตรปิฎกเขามีวรรณะ ๙ มีชัดเจนเลย ท่านใช้คำภาษาบาลีว่า "วัณณัง-อวัณณัง"เลย เป็นคนเลี้ยงง่าย สุภโร บำรุงง่าย สุโปส มักน้อย อัปปิจฉ สันโดษ สันตุฏฐิ เป็นต้น คนมีวรรณะ มีการศึกษา มีชั้น มีความรู้ แล้วปฏิบัติ บรรลุธรรมจริง เมื่อบรรลุจริงแล้ว จะมี ๙ ชั้น ๙ ระดับหรือมี ๙ คุณภาพดีสมบูรณ์สูงสุด แต่ถ้าใครมีความไม่ดี ก็อวรรณะ มี ๖ ชั้น มันต่างกันชัดเจน

คุณพิทยา : แต่ แต่วรรณะตามนี้นี่ ศูทร แพศย์ พราหมณ์ กษัตริย์ พระพุทธเจ้าตีทิ้งใช่ไหมครับ ลักษณะที่ว่า แบ่งระดับ สูงต่ำ...

พ่อท่าน : อ๋อ ใช่ๆ ท่านตีทิ้งเลย แต่การตีทิ้งนี่ ที่จริงมันเกิดมาจากความจริงที่คนอินเดียยึดกันจริงๆอย่างนั้นจริงๆ แม้ปัจจุบันนี้ ก็ยังเป็นอย่างนั้น การแบ่งวรรณะอย่างนั้นเป็นเรื่องของกิเลส ของคนดั้งเดิม ถือว่าเป็นเรื่องความเสื่อม ของมนุษยชาติ ที่กำหนด ความได้เปรียบ เป็นกฎ เป็นระเบียบ โดยผู้มีอำนาจผู้มีตำแหน่งปกครองนั่นเองตั้งหลักเกณฑ์ ตั้งอัตราสูง ให้แก่ตน ยึดตำแหน่งสูงเอาไว้ ให้ลูกหลานตน พวกที่ได้เปรียบที่เป็นนายทุนหรือผู้มีอำนาจปกครองทุกวันนี้ ก็เหมือนกัน มีความได้เปรียบเป็นบัลลังก์เป็นอำนาจ ก็ยึดติดฐานะ อยู่อย่างนั้นหละ สามารถตั้งอัตราค่าตัวให้ตน ตั้งส่วนที่ตน จะได้เปรียบให้แก่ตัวเอง ชนิดที่ได้เปรียบทวีขึ้นๆยิ่งๆขึ้นเสมอ แล้วก็หาทาง ตั้งกฎเกณฑ์เพื่อถ่ายทอด ไปให้แก่คน ของตนเอง ลูกของตนเอง หลานของตนเอง ก็ทำกันมา อยู่ตลอดกาลนาน ก็เป็นอย่างนั้น คนระดับล่าง ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไป อยู่ในบัลลังก์นั้นได้ง่ายๆ แม้จะเป็นยุคประชาธิปไตย ยุคแห่งความเสมอภาค ทุกคน มีสิทธิมนุษยชน เท่าเทียมกัน ก็พูดๆไป ก็เป็นแค่คำพูด แท้จริงเป็นอื่นไม่ได้หรอก ถ้าไม่ล้างกิเลสกันให้ได้อย่างมีมรรค มีผล จริงๆ ทรัพย์สมบัติ ก็มีอิทธิพล ยศตำแหน่งก็มีอิทธิพล ที่ช่วยส่งช่วยเสริม และคนใช้มันให้มีส่วนได้เปรียบอยู่ตลอดกาลนาน แม้แต่ ประชาธิปไตย อเมริกา นายบุชพ่อเป็นประธานาธิบดี นายบุชลูกก็เป็นระธานาธิบดี ตอนนี้ก็กำลังจะทำให้นายบุชรุ่นน้อง เป็นประธานาธิบดี ต่อๆไปอีก มันก็เกิดก็เป็นไปสู่ความเป็นธรรมชาติของสังคม จนกลายเป็นสังคมหลงเข้าใจว่า ยุติธรรม คือ ภาวะเช่นนั้น จบแล้ว ต้องยอมรับและถือว่านั่นคือดีที่สุดแล้ว ทั้งๆที่มันไม่ดี เช่น วรรณะ ๔ ของอินเดียนี่เป็นต้น ก็ได้
เป็นธรรมชาติ แห่งสังคมอินเดียไปแล้ว

คุณพิทยา : ตอนนี้พระราชบัญญัติการศึกษา ๒๕๐๒ นะครับ ที่ให้ความหมาย เก่ง ดี มีสุข นี่นะ ผมจะเขียนในหัวข้อ วิทยานิพนธ์ว่า ดีคืออะไร มีสุขนี่ ความหมายของคำว่า มีสุขที่แท้จริงนี่ มันคืออะไรนะครับ และการศึกษาปัจจุบันนี่ครับ มันแยกส่วน เรื่องของ จิตวิญญาณนี่ มันไม่มีอยู่ในระบบการศึกษาปัจจุบันนะครับ ถ้าเป็นเรื่องของกายนี่ ก็เป็นเรื่องวิศวกรรม สร้างอะไรที่อำนวย ความสะดวก สร้างอาหาร ดูแลร่างกายอะไรพวกนี้ครับ แต่ภูมิปัญญาชุมชนเราลืมไปแล้ว ปัญหาสังคม ที่เราเข้าไม่ถึงนะครับ เพราะเป็น การศึกษา ที่แยกส่วน และคำว่า มีสุข สุขของเขา คือสุขจากสัมผัส สุขจากอะไรแบบนี้ครับ

พ่อท่าน : สุขโลกธรรม บำเรอโลกธรรม ถ้าไม่สมใจในโลกธรรมก็ทุกข์ กามของเขาลดลงเขายังทุกข์เลย จะตายให้ได้ ต้องไปหา ยาโด๊ป ทั้งๆ ที่มันควรจะดีใจ ที่กามลด กิเลสลด เป็นวูปสมสุขแท้ๆ

คุณพิทยา : ครับ มันเป็นสิ่งที่ยิ่งกว่าตรงกันข้ามกับความจริงของชีวิต เพราะการศึกษาแบบทุนนิยมนี่ครับ เริ่มตั้งแต่ เรียนกันมา เพื่อที่จะมา หางาน และเพื่อหาเงิน หาเงินมาเพื่อแลกปัจจัย ๔ ทั้งๆที่จริงๆแล้วชีวิตมันสามารถเข้าถึงปัจจัย ๔ ได้ ผมว่า การศึกษา ตรงนี้เราถูกหลอกมานาน หลอกให้ทุกคนนี่เรียนๆๆๆมา ทำงาน มาหาเงิน แล้วก็มาแลกกับตรงนี้ มันเลย สร้างความเดือดร้อนได้นะครับ ยกตัวอย่าง ผลของการศึกษาปัจจุบัน เช่นผู้ส่งออก อันนี้ในหนังสือของคุณบุญชู โรจนเสถียร ว่ามีครอบครัว อยู่ไม่กี่ร้อยครอบครัว มีรายได้ในการส่งออก หกพัน ถึงหกหมื่นล้านบาท ส่วนคนระดับล่างนี่ มีถึงสี่ล้าน ครอบครัว มีรายได้เพียง เจ็ดร้อยล้านบาท เนื่องมาจาก การศึกษาปัจจุบัน ได้บอกถึงองค์ประกอบ ของศัพท์ หรือนิยาม ของการจัดตั้งบริษัทเลยครับ คือกลุ่มบุคคล ที่จะสามารถ แสวงหา ผลตอบแทนสูงที่สุด

พ่อท่าน : นั่นแหละ อาตมาจึงได้พยายามตั้ง"บริษัทขอบคุณ"ขึ้นมายืนยัน โดยให้ลงบัญชีจริงทั้งหมดเลย เป็นบริษัทที่ ไม่ต้อง แสวงหากำไร ตั้งบริษัทขอบคุณนี้ขึ้นมาเพื่อชี้ให้ชัดว่า เป็นบริษัทที่จะต้องขาดทุนให้ได้ทุกปี แต่บริษัทก็ยังดำเนินการอยู่ได้ ไม่ล้มละลาย บอกเจตนาสรรพากรเขาอย่างนี้ เขาก็ว่า ไม่มีหรอกบริษัทในโลกนี้ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อขาดทุน เราก็ยืนยันว่า ก็บริษัทนี้ไง เขาก็ไม่เชื่อ พูดกันเท่าไรเขาก็ไม่เชื่อ เขาก็บอกไม่มีในโลก ไม่มีบริษัทที่ตั้งใจตั้งมาเพื่อขาดทุน ไม่มี! ก็นี่แหละ บริษัทที่ตั้งขึ้นมา เพื่อขาดทุน เขาก็ว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ ตั้งไม่ได้ อ้าว....มันมีกฎหมายห้ามไม่ให้ตั้งบริษัท เพื่อไม่หวัง ผลกำไร ด้วยหรือ? ตั้งบริษัทมา จะต้องตั้งมา เพื่อกำไรอย่างเดียวเท่านั้นหรือ? จึงจะถือเป็นบริษัทได้ ก็มันไม่มีกฎหมาย ไม่มีเงื่อนไข นี้เลย ภาษากฎหมาย ในภาษาพาณิชย์ ก็ไม่มี แต่เจ้าหน้าที่ไปคิดกันเอง

เอาเถอะ.. ใช่.. เราก็เข้าใจอยู่ ว่าทุกบริษัทในโลกนี้ มันตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะหากำไรทั้งนั้น แต่นี่ ตั้งจะมาขาดทุน มันก็ ประหลาดนะ ที่จริง.. เมื่อเขาตั้งแล้วทำได้ ขายขาดทุนแล้วบริษัทเขาอยู่ได้ ก็เป็นไรไปล่ะ ก็ปล่อยเขาสิ แต่เจ้าหน้าที่สรรพากร ก็บอกว่า ไม่ได้ ต้องมีกำไร ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นบริษัทไม่ได้ เราก็ว่า "เขาอยู่ได้ของเขาก็แล้วกันน่ะ เขาจะขาดทุน ให้สังคม ให้แก่ลูกค้าเสียหายอะไร" พูดเท่าไรๆ สรรพากรก็ไม่รู้เรื่อง ไม่ยอม

ทั้งๆที่มันเป็นวิธีการให้ประโยชน์กับประชาชน เขาขายต่ำกว่าทุน ประชาชนได้ตรงเลย นี่รับประโยชน์ direct เลย ให้ประชาชน เต็มๆเลย ก็ให้แล้ว จบแล้วในตัว คือถ้าบริษัทในประเทศไทยนี้ มีหลายๆบริษัทที่ขาดทุนแล้ว เขาอยู่ของเขาได้ ยังดำเนิน กิจการ ของเขาไปได้ เขาตั้งใจ ให้กับประชาชน สรรพากรก็ไม่ต้องไปนั่งตั้งกฎเกณฑ์จัดเก็บภาษีอะไรกับบริษัทเช่นนี้ เพราะเขา ขาดทุน เขาช่วยประชาชนแล้ว ช่วยทันที เก็บภาษีไปก็เอาไปช่วยประชาชนอยู่ดี ก็ไปเก็บเอากับบริษัทที่กำไรโน่น นี่เขาช่วยแล้ว ช่วยประชาชน ช่วยเจ้าหน้าที่ด้วย เจ้าหน้าที่ ก็ไปทำงานอื่นได้ ไม่ต้องมานั่งปวดหัว เรื่องภาษีกับเจ้านี้

คุณพิทยา : เขาสร้างคนมาอยู่ข้างบนน่ะครับ แสวงหากำไรไม่ว่านะครับให้เลี้ยงตัวเองได้ โรงสีชาวนาเพราะนั้นคนฐานราก ก็มีรายได้ จะสร้าง ความสมดุลให้แก่สังคม เพราะว่าคนข้างล่างเยอะกว่าคนข้างบน

พ่อท่าน : โดยฐานนี่จะต้องรู้ตั้งแต่ต้นเลยว่า "ฐาน ๔"ของบุคคลในสังคม คือ นักผลิต นักบริการ นักบริหาร นักบวช นั้น ผู้ที่รวยที่สุด ก็จะต้องเป็นฐานราก หรือฐาน"นักผลิต" ผู้กระทำโดยตรง ฐานกรรมกร ผู้ลงทุนสร้างแท้ๆ ทำแท้ๆ จะต้องมีเงิน มากที่สุด และผู้มีเงินมาก รองลงไปก็ฐาน "นักบริการ" ซึ่งเป็นพ่อค้า ผู้ขนส่งสิ่งผลิตนำไปแจกจ่ายสู่มือประชาชน หรือ คนรับจ้าง ผู้ผลิตอีกที เป็นผู้ช่วยผู้ผลิต อีกที ไม่ใช่ผู้ลงทุน ไม่ใช่ผู้ลงมือที่ทำเองแบกหามทำเอง เป็นผู้อยู่ในฐานะที่ ๒ หรือเป็นผู้ฉลาด เป็นผู้รับจ้าง ผู้ผลิตอีกที ช่วยคิดช่วยสร้าง ก็นับว่าเป็นคนระดับสูงขึ้นไป ก็ต้องมีคุณธรรมมากกว่านักผลิต ก็เสียสละ มากกว่า มีเงินน้อยลงไป ส่วน"นักบริหาร"นั้นยิ่งเป็นคนระดับสูงขึ้นไปอีก เป็นผู้มีคุณธรรมมากกว่า ๒ ฐานะที่แล้ว เป็นผู้จัดการ ได้มาก มีความรู้มาก ภูมิสูงมาก ทั้งทางธรรม ทั้งภูมิความรอบรู้ในทางสร้างสรรบริหาร ผู้มีฐานะที่ ๓ นี้ จะเป็น ที่เคารพ ของอีก ๒ ฐานะ เป็นผู้สูงจริง ไม่ต้องมีเงินมาก ไม่ต้อง สะสมมาก เพราะเป็นคนที่ช่วยคนอีก ๒ ฐานะนั้น ได้อย่างเก่ง อย่างมาก และเป็นผู้ที่มักน้อยสันโดษ กิเลสน้อยกว่าอีก ๒ ฐานะล่าง นั้นแล้ว ดังนั้น คน ๒ ฐานะล่าง ก็จะเคารพ อุปถัมภ์ค้ำชูท่านไว้ ให้ท่านทำประโยชน์ให้ คนฐานะที่ ๓ นี้จึงมีเงิน น้อยลงไป ยิ่งกว่า ๒ ฐานะล่างอีก ถ้าว่าไปแล้ว จริงๆก็คือ ผู้รับใช้ ๒ ฐานะล่างอย่างแท้จริง

ไม่ใช่มือปืนรับจ้าง แต่เป็นผู้มีประโยชน์ ที่ช่วยเหลืออีก ๒ ฐานะอย่างแท้จริง และฐานะสุดท้ายสูงสุด คือ "นักบวช" นี่คือ ผู้ไม่มีเงินเลย อยู่อย่างผู้ช่วยคนทุกฐานะ เพราะเป็นผู้รู้ เป็นผู้มีคุณธรรมสูงสุด มักน้อย สันโดษ กิเลสน้อยถึงขั้นไม่มีกิเลสเลย จึงคือ ผู้ช่วยโลก ช่วยสังคมแท้ๆ คนทั้ง ๓ ฐานะล่าง จะต้องอุ้มชูอุปถัมภ์ เคารพบูชาท่านผู้ฐานะ ๔ นี่แท้ๆ

คุณพิทยา : อย่างน้อยที่สุด ต้องยกระดับผู้เสียสละ ผู้เสียสละมากก็คือวรรณะที่อยู่ข้างบน (ภาพสามเหลี่ยมแบบปิระมิด)

พ่อท่าน : วรรณะที่อยู่ข้างบน คือผู้มีฐานะสูง คนรวยทางภูมิธรรมและจิตวิญญาณเจริญก็จะเป็นส่วนที่อยู่บนยอดปิระมิดนี้ ก็จะมีน้อย เห็นไหมว่า มีส่วนน้อย ทั้งปริมาณคนในสังคมผู้เจริญสูงส่ง ฐานะ ๔ ก็น้อยกว่าเพื่อน (ฐานบนปลายของปิระมิด) ฐานต่อลงมา ก็ไล่ระดับลงมา ก็โตขึ้น มีมากขึ้นๆ ก็เป็นธรรมดาชั้นสูงกว่าก็มีน้อยกว่าลงมาเรื่อยๆ แต่ผู้มีน้อยนี่สูงนะ ส่วนข้าง ด้านล่าง ลงมาๆ ถึงพื้นคือ ผู้มีฐานะอุปถัมภ์ค้ำชูข้างบน ก็จะมีมาก (ฐานล่างของปิระมิด)

คนที่อยู่ในฐานะ"รวยภูมิธรรม-รวยความรู้" เป็นผู้พอแล้ว สันโดษไม่โลภไม่เอาอีกแล้ว ผู้ไม่ต้องลงทุนใช้จ่ายการผลิต อะไรแล้ว มีแต่เอาความรู้ช่วยคนที่ทำที่ผลิต ยอดปิระมิดก็เป็นยอดจริง ไม่ได้อยู่อย่างขี่ข่มฐานะข้างล่างเลย แต่ถ้ามันกลายเป็น คนบนยอด ก็กลับโลภเอาไปมาก มีแต่คิดหาทางจะดูด จะข่ม จะขี่ฐานล่าง จะโลภเอาไปจากฐานล่างมากๆๆ ฐานล่าง ก็ไม่มีแรงผลิต ไม่มีแรงค้ำ ยอดบน ให้ตั้งอยู่ได้ ความสูงก็ล้มลงมา หรือความสูงก็ไม่ถาวรหรือไม่สูงจริง

คุณพิทยา : อันนี้ก็คือการศึกษาที่จะต้องเข้าถึงรากเหง้าของปัญหา ปัญหาตอนนี้ก็แก้กัน แต่ไม่เข้าถึงว่า ความทุกข์ที่เกิดจาก จิตใจจริงๆ ไม่มีการศึกษากันแล้ว ก็เลยแก้ไม่ได้ ตอนนี้รัฐพยายามที่จะให้ประชาชนนี่ เข้าถึงแหล่งทุนนะครับ ซึ่งพอเข้าถึง แหล่งทุนแล้ว เสร็จแล้วนี่ มันอุดรูรั่วไม่ได้ นายทุนก็เอาไปหมด

พ่อท่าน : หมด หมุนเวียนกลับมาหานายทุนหมดนั่นแหละ เพราะคนด้านล่างก็ไม่รู้จักชีวิต ด้านบนก็ไม่หยุดโลภกอบโกย ผู้ฉลาด ผู้มีอำนาจ ทุกวันนี้ ก็ใช้วิธีหมุนเงิน เงินก็หมุนผ่านประชาชน หมุนจากกองกลาง หมุนจากด้านล่าง ขึ้นไปสู่ด้านบน ไปเข้ากระเป๋าด้านบน มากขึ้น ทุกวันนี้มันแก้ปัญหาไม่ได้

คุณพิทยา : ผมก็เลยบอกว่า การศึกษาแบบพุทธนิยม....ว่างั้นฮะ ผมไม่ใช้คำว่าบุญนิยม เดี๋ยวเขาจะเคืองเอา มันก็หมายถึง เป็นการฝึกกัน แหย่เล่นหยาบๆ อา....ยุงกัดมันก็ต้องตบ นี่มันก็คือสร้างนิสัยให้ต้องฆ่า แก้ปัญหาปุ๊บต้องฆ่านะครับ ใครล่วงล้ำ อธิปไตย ก็ต้องฆ่า ใช่ไหม อะไรเป็นของละเอียดขึ้นน่ะครับ เป็นความหมายที่ละเอียดขึ้น

อันนี้เป็นมิติที่เราถูกค้านมาก คือเรื่องของความสันโดษ ความสันโดษนี่พอพูดถึงพระพุทธศาสนานี่ ...มันเกี่ยวอะไร กับเรื่องของ สังคม มันเกี่ยวอะไรกับเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะว่าพอพูดสันโดษ....คุณก็ไปอยู่ส่วนของคุณ

พ่อท่าน : เขายังไม่เข้าใจสันโดษกันเลย เขาไม่มีสันโดษ ไม่มี"พอ" แปลสันโดษกันว่า โดดเดี่ยว สันโดษแปลว่าความพอ แล้วคน ที่มีความพออยู่ ในสังคมนี่แหละ จะบังเกิดความมักน้อย สันโดษ สงบแล้วตัวเองเอาไว้น้อยๆก็พอ คุณมีน้อย คุณก็พอ นอกนั้น คุณก็สะพัดๆ ไป แต่ถ้าคุณไม่มีใจพอ และไม่มีมักน้อย แม้น้อยก็พอได้ คุณไม่อยู่ในฐานะเป็นคน "สันโดษ" จริงหรอก

เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ฝึกสละ-ฝึกให้-ฝึก"กล้าจน" นี่ มันก็เป็นคนที่ขาดการศึกษาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะฝึก"มักน้อย" ไม่หลงใหญ่ ไม่หลงฟุ้งเฟ้อ นี่ สำคัญมาก ซึ่งในสังคมแห่งความเป็นปุถุชนหายากมาก ที่จะฝึกอบรมเรื่อง "มักน้อย" กันอย่างเป็นจริง มีแต่จะหลง "มักมาก -มักใหญ่ -มักฟุ้งเฟ้อ" ไปตามกระแสธรรมชาติ แห่งคนโลกีย์ที่เต็มไปด้วยกิเลส มอมเมาชักจูง ครอบงำ นำพากันให้จัดจ้าน สุดฤทธิ์ สุดเดช

คุณพิทยา : คราวนี้หลักการปฏิรูปการเรียนรู้นี่คือหัวใจ หัวใจของการที่ต้องปฏิรูปการศึกษาคือ ปฏิรูปการเรียนรู้ เรียนรู้อย่างไร นะครับ ผมเลยนำเสนอว่า มันต้องชักนำปัญหา เป็นศูนย์กลาง ตอนนี้เขามาถกกันมากเลย จะเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง หรือ จะเอาผู้ใหญ่ เป็นศูนย์กลาง ผมเลยคิดว่าต้องนำปัญหาเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ปัญหาของแต่ละที่ ปัญหาของสังคม ปัญหาของ ชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ และสร้างการเรียนรู้ในมิติสัมพันธ์กับครอบครัว-ชุมชนและสังคม แล้วก็ประเทศนะครับ โดยการเรียนรู้ และความเข้าใจ ในกระบวนการของจิต ต้องเข้าไปร่วมด้วยนะครับ ผนวกเข้ากับการแก้ปัญหา เพราะว่า ปัญหานี่ พอเข้าถึง จิตวิญญาณแล้วนี่ คนจะรู้สึกว่าอยากจะแก้ไขที่จิตวิญญาณตัวเองมากกว่าที่จะไปโทษคนอื่น ถ้าคิด จะแก้ปัญหาได้ ก็คือผนวกๆ เรื่องของปัญหา กับจิตวิญญาณ ให้เข้ากัน เป็นการบูรณาการร่วมกัน

อย่างระบบการศึกษานี่เขาก็มีระบบตรวจสอบ มาตรฐานการศึกษาควรจะเป็นอย่างไง อันนี้ยิ่งทำการศึกษามากขึ้นนะครับ จากการศึกษา แบบระบบทุนนิยมนี่ ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้นนะครับ แต่ถ้าเราจัดการศึกษาแบบพุทธนิยมเนี่ย มันจะต้อง ตรวจสอบด้วย

ยิ่งถ้ามีการศึกษาเนี่ย ระบบเศรษฐกิจแล้วก็สังคมมันต้องลดลง ดังนั้น ต้องเอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง คือเอาตัวปัญหาของสังคม และก็ปัญหา เศรษฐกิจเนี่ย เป็นตัวเช็ควัดเลยว่า ทำการศึกษาแล้วนี่ ปัญหามันต้องลดลง ไม่ใช่ปัญหามันเพิ่มขึ้น ยิ่งการศึกษา สูงๆขึ้น แต่ปัญหา มันมากขึ้น มันแก้ปัญหาไม่ได้ อันนี้ก็คือ การปฏิรูปการศึกษาคือ เราก็ไม่ได้ปฏิเสธ เรื่องวิชาการ เรื่องประกอบอาชีพ แต่เรียนรู้คุณธรรม เพื่อประกอบอาชีพ อย่างมีจริยธรรม แล้วก็อยู่บนพื้นฐานของ ปัจจัย ๔ แล้วก็อุดรูรั่ว ของชีวิต อย่างนี้ครับ

อันนี้ถามพ่อท่าน คือผมไปตั้งหลักตรงที่อ่า....คำว่าอริยสัจ ๔ คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เนี่ย คำว่าทุกข์กาย กับทุกข์ใจ ผมจะแตก ตัวทุกข์กาย ออกไปนี่ เป็นเรื่องของอ่า...ปัจจัย ๔ ครับว่ามนุษย์นี่ควรเรียนรู้เรื่องปัจจัย ๔ แล้วศึกษา แล้วก็ทำ

พ่อท่าน : ต้องรู้สิ่งที่สังคมในโลกนี้มันหลงใหล ซึ่งคนพากัน create ขึ้นมามอมเมาโลกตลอดเวลา ต้องรู้ทันอันนี้ แล้วเรา จะต้อง ตัดกิเลสอันนี้ เราไปติดเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นที่เขาเสริมสร้าง ปรุงแต่งขึ้นมา มอมเมาแล้วตัวเองก็ติด อันนั้น ต้องเรียนรู้ เพื่อละ ถ้าเรา ไม่ติดอะไร ก็บุญไปแล้ว ถ้ายังติดอยู่ต้องล้างๆ ล้างความติดนั้น สุดท้ายก็จะรู้แจ้งในความเป็นปัจจัยได้ แล้วมันก็ไม่หนักไม่มาก

คุณพิทยา : ถ้าพูดถึงอริยสัจ ๔ หนังสือส่วนใหญ่พูดถึงว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีใครพูดถึงตัวทุกข์ ทุกข์กายที่เกิดจากปัจจัย ๔ ผมเลย ต้องอ้าง ว่าพระนี่ก็คือมีนิสัย ๔ สร้างตัวเองให้เป็นคนมักน้อย-สันโดษ ตามหลักปัจจัย ๔

พ่อท่าน : คำว่ามักน้อย-สันโดษ คุณก็อธิบายออกซิว่า มาลดสิ่งที่ติด ที่เฟ้อออกไปเรื่อยๆ จนสู่ความเป็นสันโดษ จึงจะใกล้ เข้ามารู้แจ้ง ว่าปัจจัย ๔ คืออะไร สำคัญจริงชัดๆอย่างๆ รู้ว่าชีวิตมันอยู่ได้แค่ปัจจัย ๔ ก็พอ ก็อยู่ได้จริงๆ สิ่งอื่นๆ มันสำคัญ รองลงมาๆๆ จนเป็น ของเฟ้อ ของเปลือง เพราะฉะนั้นคุณเฟ้ออะไรนั่นแหละ สิ่งที่ผู้รู้แจ้ง ท่านก็ปลดปล่อย ละล้าง กระทั่ง ไม่ติด ได้สำเร็จ

แต่ทุกวันนี้ มันเป็นกาละกาลีของสังคมโลก โลกปรุงแต่งจัดจ้านหนักหนาสาหัสมาก เมื่อเรียนรู้ความจริงของสิ่งเฟ้อ สิ่งเกินแล้ว มันติดอะไรอยู่ก็ลดลงมา ลดลงมา มันเป็นอบายมุขไง สอนหมดแล้ว อบายมุข โลกธรรม กามารมณ์ ก็ลดลงมา ตามๆนั่นแหละ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอะไรต่างๆลดลงมา มันก็จะไล่ลงมาหาปัจจัยสำคัญถูกสัจจะได้เรื่อยๆ สุดท้าย เหลือปัจจัย ๔แม้แต่ปัจจัย ๔ มันก็ยังมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็ของปรุงแต่งบนโลกที่เราจะต้องรู้เท่าทัน แล้วก็เหลือปัจจัย ๔ ที่พอยังชีพ พึ่งตนเองรอดได้ อย่างเหลือเฟือ

คุณพิทยา : แล้วตัว ตัวจิตเล่าครับพ่อท่าน
พ่อท่าน : ตัวจิตนั่นแหละ เป็นตัวเรียนรู้และตัวละลด พร้อมไปกับสร้างสรร

คุณพิทยา : แล้วผมต้องพูดสองภาคนี่ครับ ภาคทุกข์กาย กับภาคทุกข์ใจ ภาคทุกข์ใจนี่ผมไปโยงถึงนิวรณ์ ๕ แล้วนะครับ
พ่อท่าน : ก็ตัวนั้นหละตัวนิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นตัวกิเลสทั้งหมด

คุณพิทยา : ผมไปเอาเริ่ม"คบสัตบุรุษ"แล้วก็ว่าไป อย่างนี้ใช่ไหมครับ ก็คือมีแค่สองส่วน ทุกข์กาย กับทุกข์ใจ

พ่อท่าน : โพชฌงค์ ๗ สติปัฏฐาน ๔ เป็นตัวล้างนิวรณ์ ๕ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอวิชชาสูตร ซึ่งมีนิวรณ์ ๕ เป็นอาหาร ของอวิชชา และมีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่เป็นทุจริต ๓ เป็นอาหารของนิวรรณ์ ๕ ทุจริต ๓ ก็มีการไม่สำรวมอินทรีย์ ๖ เป็นอาหาร คือ ไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น สัมผัสกาย สัมผัสใจ สัมผัสรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอะไรก็ตามแต่ แล้วคุณไม่รู้เรื่อง ปฏิบัติสำรวม ไม่เป็น มันก็มีกิเลส ปรุงไปเรื่อย คุณก็รับเละไป เพราะคุณไม่มีการสำรวมอินทรีย์ ไม่มีสติ สัมปชัญญะปัญญา คุณไม่มี โยนิโสมนสิการ คุณก็ไม่มี การปฏิบัติธรรม มันต้องมีพื้นความรู้ว่า "อาหาร" ทั้งหมดนี่ เป็นอย่างไร ทำอย่างไร แต่คุณ โยนิโสมนสิการไม่เป็น ก็เพราะคุณ ไม่ศรัทธา แม้คุณจะศรัทธา ศาสนาพุทธขนาดไหน แต่ถ้าคุณไม่ได้ฟังสัทธรรมจาก สัตบุรุษ มันก็ไม่มีทางปฏิบัติที่ถูกต้อง แล้วคุณจะให้เป็น สุจริต ๓ ให้เป็นสติปัฏฐาน ๔ ให้เป็นโพชฌงค์ ๗ อย่างมีมรรค มีผล ไม่ได้ การได้รับความรู้ การศรัทธา จึงสำคัญมาก ไม่เช่นนั้น โยนิโสมนสิการ, สติสัมปชัญญะ, สำรวมอินทรีย์ ไม่ถูกถ้วนแน่

โยนิโส มนสิการ, สติสัมปชัญญะ, สำรวมอินทรีย์ ๖ นี่เป็นตัว ปฏิบัติทั้งหมด ในชีวิตเมื่อมีสัมผัสทางกาย-วาจา-ใจ แล้วไม่รู้ว่า สำรวมอินทรีย์ ๖ ปฏิบัติอย่างไร การสัมผัส แล้วมันเกิด กิเลสอย่างไร วิธีปฏิบัติเพื่อ ลดละทำอย่างไร ละกิเลสออกได้ จึงจะเข้า ไปสู่กรรมที่เป็นสุจริตกายกรรม สุจริตวจีกรรม สุจริตมโนกรรม สุจริตก็คือ เป็นการปฏิบัติกรรม ที่มันปราศจาก กิเลสไปเรื่อยๆ เป็นกุศลโลกุตระ

ส่วนมากปฏิบัติกายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรมกัน ก็มักจะมีแค่เป็นกุศลโลกียะ มันก็มีความดี แต่ไม่รู้จักรู้แจ้งรู้จริง ตัวตน ของกิเลส คือ สักกายะ ธรรมที่ได้จึงเป็นแค่กุศลโลกียะ แถมดีอก ดีใจ หลงบุญ ไม่รู้จักปรมัตถธรรม ก็เลยได้บุญได้กุศล แล้วก็หลง ติดบุญ หลงกุศล อื้อหือ..ทำบุญทำทานกันจัง มโหฬารพันลึก ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน บางคนไปโลภมา ให้ได้มากๆ จะได้มาทำบุญกับคุณพ่อ หลวงพ่อ มากๆ จะได้บุญใหญ่ๆ ทำบุญใหญ่ๆ ปลุกเร้ากันให้หลงใหญ่ๆ ปีติเบิกบาน ร่าเริง สวรรค์ของเรา จะได้สวรรค์ใหญ่ โอ้โฮ.. ตายแล้ว ชาติหน้าเราจะสุข จะไปสู่ภพสวรรค์ คนก็มากันใหญ่ มาทำบุญ สุขสำราญ เบิกบานบุญบารมีมากมายกัน ขยันหมั่นเพียรกันไป สร้างสรรค์ มาแล้วก็มาทำบุญ ทำบุญแล้ว ก็เท่ากับ ได้ใบเบิกทาง แล้วก็ไปกินในสวรรค์ ก็ทำกันอย่างนี้ทั้งนั้น

คุณพิทยา : แล้วธรรมะทั้งหมดนี่ครับพ่อท่าน ผมสรุปอย่างนี้ได้ไหมว่า จริงๆแล้วก็คือธรรมะนี่คำว่ากำมือเดียวนี่ คือธรรมะ ที่อยู่ในอริยสัจ ๔ คือทุกข์กาย กับทุกข์ใจ

พ่อท่าน : ทุกข์กาย ทุกข์ใจ มันมีทุกข์อาริยสัจ กับทุกข์โลกีย์สามัญ และสุขมันก็มีสุขแบบวูปสมสุขหรือสุขโลกุตระ กับสุขแบบ โลกียสุข ก็ต้องมีภูมิ แบ่งทุกข์ออก-แบ่งสุขออก จะสุขกาย สุขใจ หรือทุกข์กาย ทุกข์ใจ ในทางโลกีย์ก็รู้ๆกันอยู่ และบำบัดทุกข์ บำรุงสุข กันทั้งนั้น แต่ยังไม่รู้ ทุกข์อาริยสัจ ไม่รู้สุขโลกุตระ ว่าแตกต่างกับทุกขโลกียะ สุขโลกียะอย่างไร เพราะเข้าใจ โลกุตรสัจจะไม่ได้

เช่น ทุกข์โลกียะก็คือทุกข์ไม่ได้สมใจในโลกธรรม ไม่ได้บำเรอกิเลส พอได้บำเรอกิเลสก็สุข ก็สุขๆทุกข์ๆวนไปวนมาอยู่อย่างนั้น ไม่มีการหลุดพ้น สุขทุกข์ เพราะทุกข์กับสุข สองอันนี่ มันเป็นของคู่

ส่วนโลกุตระนั้นน่ะ เมื่ออยากได้ขึ้นมาก็เป็นทุกข์ กิเลสตัณหาเกิดขึ้นมาเป็นทุกข์ เรียนรู้เหตุ แห่งทุกข์ แล้วล้างเหตุนั้นๆได้ กิเลส ตัณหา ลดลงๆ ก็เป็นสุข ทุกข์ก็น้อยลง ถ้าดับเหตุตายสนิทเลย ก็ไม่สุขไม่ทุกข์เลย อทุกขมสุข หรือ อุเบกขานี่แหละ "สุขโลกุตระ" หรือเรียกว่า เนกขัมมสิตโสมนัสเวทนา ส่วนสุขโลกีย์เรียกว่า เคหสิตโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น เคหสิตเวทนา คือสุขทุกข์แบบโลกๆ เมื่อทุกข์ คุณก็กิเลสโต แม้ได้สุขคุณก็บำเรอกิเลสของคุณ กิเลสคุณก็อ้วนใช่ไหม ซึ่งเมื่อได้รับ ความบำเรอ กิเลส มันก็โตขึ้นหนาขึ้น สุขนี่ล่ะตัวดี ที่หลอกคนสนิทนัก .... อยากได้อะไร เมื่อได้บำเรอกิเลส กิเลสอ้วนขึ้นไหม ดังนั้น ทุกข์กิเลสก็โต สุขกิเลสก็โต ปุถุแปลว่า โต อ้วน หนา ปุถุชนจึงคือ คนที่กิเลสหนาขึ้นๆ ทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่ทางโลกุตระนี้ จะต้องรู้กิเลสตนเอง แล้วละกิเลสให้ลดลงๆ จนหมดทุกข์ ทุกข์คือ พาให้ไปหา สุขโลกีย์นั่นแหละ เพราะฉะนั้น จากการดับ เหตุนี่ ทุกข์ก็สูญหมดเลย ไม่มีกิเลสที่จะให้บำเรอกันอีกแล้ว มันหมดทั้งทุกข์ ทั้งสุข มันก็ไม่มีด้วย แต่ใช้ภาษา เรียกว่า "วูปสมสุข หรือ ปรมัง สุขัง" สุขของโลกุตระ มันสุขสงบในใจ ส่วนสุขของโลกียะ มันสุข ระริกระรี้ เพลิดเพลินใจ มันคนละ อย่างกัน เพราะฉะนั้น ทุกข์สุข ถ้าแยกสุขโลกุตระ ทุกข์โลกุตระ หรือสุขโลกียะ ทุกข์โลกียะ แยกทั้งความต่าง สองอย่างนี้ ออกจากกันไม่ได้ คนที่ไม่มีความรู้เรื่องนี้ก็ไปโลกุตระไม่ได้ ภาษาตัวเดียวกัน

คุณพิทยา : อย่างนี้เราพอสรุปได้ไหมครับว่าระหว่าง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตัวมรรคทั้งหมดนี่คือ ตัวอธิบายทั้งหมด มันก็รวมลง อยู่ในคำว่ามรรค ใช่ไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นมรรคมีองค์ ๘ หรือว่าโพธิปักขิยธรรมอะไร มันก็คือตัวมรรคใช่ไหมครับ

พ่อท่าน : ภาคปฏิบัติชัดเจนอยู่แล้ว ในมรรคมีองค์ ๘ องค์ธรรมที่ชี้การปฏิบัติในทุกๆอิริยาบถคือ ความดำริ-สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ไง ก่อนอื่นก็ศึกษาให้สัมมาทิฐิ คุณต้องเริ่มตรงนี้ก่อน ทำความรู้ความเห็นให้ชัดเจน เป็นความถูกต้อง เสียก่อน ส่วนตัวปฏิบัติ นั้นก็คือ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ นั่นแหละ โดยมีวายามะ มีสติสัมปะชัญญะ เป็นองค์ประกอบ สำคัญ อยู่กับสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นประธาน แล้วทำทุกองค์เป็น"สัมมา"ให้ได้นะ จึงสั่งสมลงเป็น"สัมมาสมาธิ" ตามที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน มหาจัตตารีสกสูตร

สัมมาสมาธิ คือ"จิตมันตั้งมั่นแข็งแรง" ตั้งมั่นเพราะว่าได้สั่งสมการปฏิบัติได้ลดละกิเลสเรื่อยๆ เมื่อกิเลสหมดลง หมดลงๆๆ มากเข้า จิตมัน ก็แข็งแรงตั้งมั่น ก็จะตกผลึกเป็นกำลังใหญ่ เป็นปึกแผ่น

คุณพิทยา : พ่อท่านแล้วเมื่อกี้ที่พ่อท่านพูดถึงคำว่า สัมมาสมาธิ มันมีอยู่สองส่วนนะครับที่คำว่าสมาธิ ตามที่เขาเอามา พูดกันนี่ มันเรื่องขอ งกรรมฐานใช่ไหมครับ กรรมฐาน ๔๐ อย่าง อย่างที่ไปนั่งสมาธิกัน

พ่อท่าน : กรรมฐาน ๔๐ นั้นในวิสุทธิมรรค สอนไว้ กรรมฐาน ๔๐ ไม่ใช่ทางเอกของพุทธ
คุณพิทยา : แล้วๆในส่วนการศึกษาเนี่ย มิติที่หลังความตายนี่ มันจะต้องทำการศึกษาด้วยไหม
พ่อท่าน : หลังความตายไม่มีการศึกษา ตายแล้วศึกษาอะไรไม่ได้
คุณพิทยา : ก็พระพุทธเจ้าก็มีพูดถึงนี่ครับ นรก สวรรค์อะไรอย่างนี้

พ่อท่าน : นรก สวรรค์ มันก็คือสิ่งที่คุณจะต้องไปรับผลนั้น ไม่มีการศึกษา ศึกษาอะไรไม่ได้ หลังจากการตาย

คุณพิทยา : แต่..ปัจจุบันเรา เราก็รู้ซิครับพ่อท่านครับ ตายแล้วมันไปไหน พระพุทธเจ้าก็พูดถึงไม่ใช่หรือครับ มีนรก มีสวรรค์

พ่อท่าน : พูดถึง ก็บอกแล้วว่าคุณจะต้องไปรับผล ไม่ได้พูดถึงว่าคุณจะไปศึกษาอยู่ในภพสวรรค์ ภพนรก มีแต่จะไปรับทุกข์ รับสุข อยู่เท่านั้น เมื่อตายแล้ว ศึกษาอยู่ในภพนั้น ภพนี้ ไม่มี

คุณพิทยา : แล้วพ่อท่านเห็นว่าระบบการศึกษาเนี่ย มันควรจะมีส่วนนั้นด้วยไหมครับ

พ่อท่าน : ไม่จำเป็นหรอกเสียเวลา ให้รู้จักทฤษฎีที่ชัดเจนเท่านั้นพอแล้ว เพราะว่าคนที่เขาขู่ด้วยนรก ล่อด้วยสวรรค์กันนั้น มีเต็มโลก อยู่แล้ว มีเต็มประเทศอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงหรอก ศาสนาอื่นเขาก็ขู่ก็ล่อกัน นรกสวรรค์ศาสนาอื่นเขาก็สอนทั้งนั้น แม้เขาจะอธิบาย ไม่เหมือนเรา ก็ตาม เพราะงั้นก็ต้องให้กลัวนรก ให้บุกสวรรค์ ไม่ว่าศาสนาไหนทั้งนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก เน้นกันเฟ้อ..เยอะแยะ แต่สอนโลกุตระ ให้เข้าใจ แล้วก็มาบุกเอาโลกุตระนี่สิ ต้องมาระดมกัน คนที่จะรู้ว่า โอ้..ไม่ต้องเสียเวลา ไปแย่งสวรรค์ ทำโลกุตระ นี่แหละ จะได้ทั้งสวรรค์ทั้งนิพพานไปในตัว ไม่เป็นไร นรกสวรรค์นี่ หากปฏิบัติเข้าขั้นโลกุตระแล้ว ไม่ต้อง ไปสั่งสมนรกเลย สวรรค์ คุณก็ได้ นิพพานคุณก็จะถึง

สวรรค์โลกุตระคือมันสุขอย่างสงบ คุณก็ยังต้องทิ้งเลย ไปติดอยู่อย่างนั้น เหมือนคนไปติดป่า ป่ามันสงบ คุณก็ติดป่าอยู่ อย่างงั้นน่ะ คุณก็อยู่อย่างงั้น คุณจะไปไหน ติดแล้วไม่ออกหรอก พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้หมดแล้ว ที่สุดสวรรค์ต่อให้ดี ขนาดไหน ก็ต้องทิ้ง ขนาดพระพุทธเจ้า ท่านมีสวรรค์วิเศษแค่ไหน ยิ่งใหญ่ไหม สุดท้ายท่านยังต้องทิ้ง แล้วก็ปรินิพพาน หมดสิ้น อัตภาพ ไปแล้ว

แต่ถ้าคนที่ไม่มีภูมิพอ ก็คงเสียดาย โอ้ย..ทิ้งทำไม คนยังถามว่าทำไมพระพุทธเจ้ามีคุณค่ามีประโยชน์ตั้งมาก ตั้งมายนะ ปรินิพพาน ไปทำไม ตายแล้วเกิดมาอีกไม่ได้หรือ นี่แหละคือ คนที่ยังตัดไม่ขาด ยังติด ยังห่วงหวงจริงๆ ก็จะไม่มีจบเด็ดขาด

- รักข์ราม. -
๒๗ พ.ย. ๒๕๔๘

- สารอโศก ฉบับที่ ๒๘๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ -