พระสิคาลมาตาเถรี

สั่งสมศรัทธาบารมี
ไล่ผีกิเลสหมดไป
ระลึกพุทธคุณเป็นใหญ่
ทำได้ใช่เลยอรหันต์

ในอดีตชาติของพระสิคาลมาตาเถรีนั้น เคยเกิดอยู่ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ คราวนั้นได้เกิด ในตระกูล อำมาตย์ ที่มั่งคั่งร่ำรวย รุ่งเรืองด้วยทรัพย์มหาศาลในนครหังสวดี ประกอบด้วยข้าทาสบริวารมากมาย

วันหนึ่ง มีโอกาสติดตามบิดาผู้เป็นอำมาตย์ไปฟังธรรมของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า แล้วบังเกิดศรัทธาอย่างยิ่ง จึงขอบวชใน พระพุทธศาสนา

ครั้นได้บวชเป็นภิกษุณีแล้ว ก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียรละเว้นบาปกรรมทางกาย เว้นจากทุจริตทางวาจา ชำระจิตให้มีความเป็นอยู่ ที่บริสุทธิ์ โดยเคารพศรัทธายิ่งในพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสอน และพระสงฆ์ทั้งหลาย มีความขวนขวายมาก ในการฟังธรรม เสมอๆ

ครั้งหนึ่ง ได้เห็นพระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งภิกษุณีรูปหนึ่ง เอาไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในด้านสัทธาธิมุติ (พ้นกิเลส ด้วยศรัทธา) จึงปรารถนาตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง โดยยิ่งบำเพ็ญเพียรในไตรสิกขา(ข้อศึกษาปฏิบัติ ๓ อย่างคือ อธิศีล - อธิจิต -อธิปัญญา) พระศาสดาจึงได้ตรัสว่า

"หากผู้ใดมีใจศรัทธาอย่างไม่หวั่นไหว มีใจตั้งมั่นดีในพระตถาคต มีศีลงามที่พระอริยะรักใคร่สรรเสริญ มีความเลื่อมใส ในพระสงฆ์ มีความคิดเห็นที่ถูกตรง เช่นนี้นักปราชญ์เรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ขัดสน มีชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นหมัน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงหมั่นประกอบความเชื่อมั่นในศีล และ ความเลื่อมใส ในการเห็นธรรมเถิด"

แล้วพระศาสดาทรงพยากรณ์ให้อีกว่า
"ท่านเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า มีธรรมอันงาม จะได้ตำแหน่งนั้นตามที่ปรารถนา ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม จะได้เป็นสาวิกา (ศิษย์ผู้หญิง) ของพระศาสดาพระองค์นั้น"

ได้ฟังคำพยากรณ์อย่างนั้นจึงมีความยินดียิ่ง ตั้งจิตเมตตาบำเพ็ญด้วยการปฏิบัติทั้งหลาย จนตลอดชีวิต

หลังจากชาตินั้นแล้ว ก็ได้เวียนตายเวียนเกิดด้วยจิตตั้งมั่นในธรรม และด้วยกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ ในที่สุด... ก็ได้เกิด เป็นธิดา ในตระกูลเศรษฐีแห่งนครราชคฤห์อันอุดมสมบูรณ์ ในแคว้นมคธ

เมื่อนางเจริญวัยแล้ว ก็ได้แต่งงานมีครอบครัว ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง เลี้ยงดูจนกระทั่งเติบใหญ่ชื่อว่า สิงคาลมาณพ แต่บุตรของนาง เป็นผู้มีความคิดเห็นที่ผิด ยินดีในทางที่ผิด บูชากราบไหว้ทิศต่างๆอย่างงมงายหลงทิศผิดทาง โดยกระทำ ตามคำสั่งเสียก่อนตายของผู้เป็นบิดา

มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่พระพุทธเจ้าองค์สมณโคดมเสด็จบิณฑบาตในนครราชคฤห์ ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลมาณพ กำลัง กราบไหว้ทิศทั้งหลายอยู่ ด้วยพระเมตตาจึงทรงแสดงธรรมโปรด ให้สิงคาลมาณพรู้ถึงการบูชาทิศทั้งหลาย อย่างถูกต้อง โดยการถือศีล ละทำบาป ไม่เสพทางเสื่อมคืออบายมุข ๖ รู้จับคบมิตรแท้ อย่าคบมิตรชั่ว และให้กราบไหว้บูชาบุคคล ที่ควรบูชาทั้ง ๖ แทนที่จะไปกราบไหว้ทิศทั้ง ๖ พอจบคำตรัสสอน สิงคาลมาณพก็แจ่มแจ้งเห็นธรรม ประกาศตนเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต

ซึ่งครั้งนั้นเอง มารดาของสิงคาลมาณพก็อยู่ในที่นั้นด้วย พอนางได้ฟังธรรมที่เปรียบเสมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องไฟในที่มืดให้เห็นได้ ทำให้นางถึงกับเกิดปัญญาสว่างไสว บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ในที่นั้น ทันที

ไม่เนิ่นช้าเลย นางจึงได้ขอบวชเป็นภิกษุณี ซึ่งใครๆก็เรียกว่า ภิกษุณีสิคาลมาตา(ภิกษุณีผู้เป็นมารดาของสิงคาลมาณพ)
บวชแล้ว ยิ่งได้ฟังธรรม ได้พบเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสมอๆ มิได้เบื่อหน่ายในการเห็นพระรูปของพระศาสดา ที่บังเกิดจาก พระบารมีทั้งปวง อันมีพระลักษณะงามไปทั่วด้วยสิริ(มงคล)เป็นที่ศรัทธายิ่งนัก จึงได้อาศัยเป็นพุทธานุสสติ (ตามระลึกถึง คุณของพระพุทธเจ้า) ในการปฏิบัติธรรมยิ่งๆขึ้น

ไม่นานนัก ก็ได้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงบรรลุอรหัตตผล เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งด้วยอาศัยศรัทธาอันแรงกล้านั้น เพราะเหตุนี้เอง พระศาสดาจึงทรงตั้งพระสิคาลมาตาเถรีไว้ในตำแหน่งของ ผู้เลิศยอดกว่าภิกษุณีทั้งปวงในด้านสัทธาธิมุติ

พระเถรีนี้จึงเป็นผู้มีอภิญญา ๖ แล้ว (คือ ๑. อิทธิวิธี = มีฤทธิ์สู้กิเลสได้ ๒. ทิพพโสต = หูทิพย์แยกแยะกิเลสได้ ๓. เจโตปริยญาณ = รู้วาระจิตว่ามีกิเลสอื่นใดบ้าง ๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ = รู้แจ้งระลึกชาติการเกิดของกิเลสได้ ๕. ทิพพจักขุ = ตาทิพย์มองทะลุกิเลสได้ ๖. อาสวักขยญาณ = ความรู้แจ้งว่ากิเลสหมดสิ้นแล้ว) และมีปฏิสัมภิทา ๔ (คือ ๑. อัตถปฏิสัมภิทา = รู้แตกฉานในเนื้อหาสาระ ๒. ธัมมปฏิสัมภิทา = รู้แตกฉานในธรรมะ ๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา = รู้แตกฉาน ในภาษา ๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา = รู้แตกฉานในไหวพริบ) อีกด้วย

- ณวมพุทธ -
จันทร์ ๕ ธ.ค. ๒๕๔๘
(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๑๗๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๗๔)

- สารอโศก ฉบับที่ ๒๘๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ -