ใต้ร่มอโศก

โรงบุญฯ ๕ ธันวามหาราช
มีสิ่งใดเยี่ยมยอดกว่า "การให้"
เมื่อสูงในระดับหนึ่ง
"ทรัพย์สินสิ่งของ" เริ่มน้อยลง
แต่การบริการรับใช้ผู้อื่นกลับหนาแน่น
บริการตนเริ่มลด
บริการผู้อื่นเริ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ยิ่งบริการ ยิ่งมีโอกาสลดละ
เพราะได้ปรับกาย-วจี-มโน ให้ตรงชัด
และเราจะเพิ่มการรับใช้เพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้นๆๆ
เกิดมาทำไม?
คำตอบก็คือ เพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์
มิใช่หาที่เงียบๆอยู่สงบๆ ไม่ยุ่งกับใคร
นี้เป็นปณิธานสานต่อพระพุทธองค์


อาหารเป็นใหญ่ในโลก

วันนี้อโศกกำลังพัฒนาในเรื่องของการกิน
ระดับที่ ๑ ปลูกผักไร้สารพิษ
ระดับที่ ๒ กินอาหารหลากหลาย (หลายรส-หลายสี)
ระดับที่ ๓ ปลูกผักอายุยืน
ระดับที่ ๔ กินตามตลาด (ตลาดมีอย่างไรก็ให้กินอย่างนั้น)
ระดับที่ ๔ คนปลูกจะสบายใจที่สุด แต่ถ้าเราไม่ฝึกเปลี่ยนพฤติกรรมในการกิน ข้อนี้ก็คงยากมาก
ตลาดในโลกมนุษย์ คนกินก็เป็นผู้กำหนดเหมือนกัน ใครจะพัฒนาส่วนตัวไปก่อนก็ขอเชิญ จุ๊ย์ๆๆ



นโยบายร้านค้าชุมชนชาวอโศก (ตอนที่ ๒)

๒๖ กันยายน ๒๕๔๘ ในที่ประชุมพาณิชย์บุญนิยม
ต.อ.ได้เสนอแนวทางการรับสินค้าจากข้างนอกมาจำหน่าย พอสรุปได้ดังนี้
บทบาทของร้านค้าชุมชน คือ ขายสินค้าชุมชนชาวอโศก และขายสินค้าจำเป็นให้กับชาวบ้านแถวนั้น โดยมีข้อพิจารณาดังนี้
๑. เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ชุดนักเรียน เครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์เครื่องมือการเกษตร เมล็ดพันธุ์พืช เครื่องไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม หมอน มุ้ง เสื้อ ผ้าห่ม รองเท้า ฯลฯ
หรือไม่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่กระตุ้นการบริโภค เช่น เครื่องประดับ เครื่องสำอาง ของเล่นเด็ก ขนมกินเล่น
๒. เป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี ระดับปานกลางขึ้นไป ที่มีความคงทนใช้ได้นาน
๓. เป็นสินค้าที่มีลักษณะรูปแบบสีสันเรียบง่าย ไม่ฉูดฉาด ไม่เป็นสินค้าตามกระแสความนิยมหรือรสนิยมของตลาด



สิ่งที่เรียกว่า "ปฏิบัติธรรม"
จากญาติธรรมผองพุทธ พวงจันทร์(อ.เมือง จ.ตาก)
"ตอนนี้ผมก็ตั้งใจปฏิบัติตามที่เคยทำ เช่น ใส่เสื้อผ้าให้น้อยลง ส่วนมากเป็นชุดม่อฮ่อม ตอนแรกจิตไม่เข้มแข็งพอ ใส่ชุดตามโลกๆเขา ตอนหลังมองดูแล้วเราโง่หรือเปล่า ขนาดรู้ว่าสิ่งไหนดี หรือสิ่งไหนไม่ดีก็ยังทำอีก บาปสองเท่า ทั้งๆที่รู้อันไหนควรไม่ควร ตามกระแสโลกๆ ไปเหมือนกัน เพราะเราไม่มีสติ ปล่อยให้กิเลสกามต่างๆมาควบคุมจิตใจ เหมือนกับลูบๆคลำๆ ไม่แน่วแน่ ไม่มั่นคง แต่ก็พยายาม ลดละ เลิกลงมา เคยท้อนะครับ เพราะเราไม่เอาจริงกับมัน ผัสสะมันเยอะมาก มาโดยไม่รู้ตัว ทั้งความโกรธ โลภ และหลง เหนื่อยครับ แต่ผมก็ จะพยายามสู้ ฆ่ามันให้ตายให้ได้ เพื่อสู่ทางธรรมให้ถึงที่ดีที่สุดครับ......"

ปฏิบัติธรรม มิใช่ มุ่งหาความสงบ
ปฏิบัติธรรม คือ "ละชั่ว" และต่อด้วย "ทำดี" และ "ปรับอารมณ์"
เราจึงต้องเริ่มที่ "เปลี่ยนพฤติกรรม" สิ่งที่ใกล้ตัวจึงคือ "กินอยู่หลับนอน"
มิใช่มุ่ง "นั่งสมาธิ"
"สมาธิ" เป็นอุปกรณ์เสริมได้ แต่มิใช่ตัวหลัก จุ๊ย์ๆๆ



ลักษณะของสมถะและวิปัสสนา

จากญาติธรรมจิตราภรณ์ แก้วทะชาติ(ราชเทวี กทม.)
"ชีวิตการทำงานก็มีผัสสะมากระทบบ้าง ก็พยายามอ่านจิตอ่านใจตัวเอง พยายามตามกิเลสตัวเองให้ทัน อย่างบางที ถูกคนที่ทำงาน ต่อว่า ด้วยถ้อยคำ ที่ไม่ดี ข้าพเจ้าก็คิดเสียว่านั่นคือโจทย์มาลองใจเราว่า จะโกรธหรือไม่ ก็ปรากฏว่าแอบแวบ ในใจนิดๆ และก็พยายาม ขจัดออกไป จากใจ ไม่ให้ติดใจนาน คิดเสียว่าเขาคงมีปัญหาส่วนตัว ไม่มีที่ระบาย ก็เลยมาลงที่เรา (ซึ่งจริงๆ เขาก็มีปัญหาครอบครัวอยู่) ก็ได้แต่ สงสารเขาไป"

การต่อสู้กับกิเลสมี ๒ วิธีที่ควบคู่กันไป
๑. ถ้าแรงนัก อาจจะต้องนิ่งไว้ก่อน คิดแล้วยิ่งแพ้ จึงจำเป็นต้องใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะผิดหรือถูก....นิ่งไว้ก่อน นี่ก็สมถะ

๒. การนำเหตุการณ์ที่เกิดมาพิจารณาเดี๋ยวนั้น เพื่อให้เกิดจิตยอม นี่ก็วิปัสสนา

แต่การพิจารณา หัดเข้าใจเขา ก็ยังเป็นแนวสมถะ

การเจาะจิตของตัว อ่านจิตของตัวเอง เข้าใจจิตของตัวเอง นี่ก็วิปัสสนา (ส่วนใหญ่เวลาพิจารณาโทสะ มักเป็นแนวสมถะ จึงไม่ค่อยก้าวหน้า)

๓. ส่วนการพิจารณา เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว เขาเรียก วิปัสสนึก ซึ่งก็ต้องทำบ่อยๆ จุ๊ย์ๆๆ



เกลียดคนหรือเกลียดการกระทำ ?
จากญาติธรรมมลิวรรณ แต่งสุริยารังษี (ดอนเมือง กทม.) ".....รู้สึกจะเกลียดเขามากกว่าเดิม เพราะเขาชอบลักขโมยเงินของบริษัทฯ อยากจะลา ออกจากงาน แต่ก็แก่เกินกว่าที่จะไปสมัครงานเริ่มต้นที่อื่นได้......"

จิ้งจกมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมดังนี้
๑. ทำใจ โดยเห็นเป็นเรื่องของวิบาก
๒. ล้างใจ ด้วยการหัดประทับใจในพฤติกรรมเล็กๆน้อยๆมีไหม?
๓. เข้าใจ เพราะไม่มีใครอยากชั่ว ลงนรก แต่อำนาจโมหะ ทำให้ไม่กลัว กล้าทำ
๔. ถามใจ เกลียดอะไร อย่าเป็นคนพาล อย่าเหมาเข่ง ถ้าเกลียดก็ต้องเกลียดที่การกระทำ
แล้วรู้มั้ย คนที่มีนิสัยแบบนี้มีอยู่รอบตัว แต่เราไม่รู้ แล้วถ้ารู้ เรามิต้องเกลียดคนทั้งหมดหรือ? หรือเกลียดเฉพาะคนที่รู้ คนที่เราไม่รู้จะเลวแค่ไหนก็ไม่เกลียด? จุ๊ย์ๆๆ



การประชุม : ยุทธศาสตร์การบริหาร
จิ้งจกเกาะอยู่ข้างฝาบาตร ท่านธัมมาวุโธ ใต้ตึกฟ้าอภัย เห็นคณะผู้บริหารบริษัทพลังบุญ มาประชุมกันทุกวันอาทิตย์
แอบถามเหตุผล ก็ได้เหตุผลว่า คณะผู้บริหารในบริษัท จะประชุมกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เรียบร้อย ก่อนที่จะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ซึ่งจัดเดือนละ ๑ ครั้ง
วิธีการนี้ทำมาได้ ๒-๓ เดือนแล้ว ปัญหาได้รับการแก้ไขเร็วขึ้นมา ไม่หมักหมม
"เราได้ฝึกใจกว้าง ฟังคนอื่นคิด และใช้กลุ่มตัดสิน ทำให้พวกเราไม่อยู่ในภพ" ประธานพลังบุญ ซึ่งห้อมาจากกาญจนบุรีแทบทุกครั้ง กล่าวเสริมขึ้น

จิ้งจกก็ได้แต่ สาธุๆๆ



กิจวัตร-กิจกรรม-กิจการ (๓ ก.)
"ดิฉันเป็นคนแก่ สองคนต้องดูแลกันจึงไม่ได้มีโอกาสมาเข้าหมู่กลุ่ม แต่ดิฉันจะมาที่สันติอโศกบ่อยๆ มาฟังธรรม มาทำบุญ ซื้อหนังสือ และอาหารแห้ง ถั่ว งา ข้าว ดิฉันก็จะมาซื้อที่นี่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่นี่น่าชื่นชม ดิฉันจะพยายามปฏิบัติตามค่ะ ทุกวันนี้ ดิฉันทานอาหาร ๒ มื้อ และไปปฏิบัติธรรมที่วัดใกล้บ้านทุกวันพระค่ะ"

ญาติธรรมวิไลวรรณ ทับสาร (อ.เมือง จ.ชัยภูมิ) เล่า ๓ ก.ของตัวเองสู่กันฟัง

แม้อายุมากก็อย่าท้อ อายุเป็นแค่ตัวเลข ทำสิ่งไหนได้ก็ทำไป ค่อยๆสั่งสมบารมี ปฏิบัติธรรมคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กาย-วจี-มโน ทั้งหมดนี้คือ กิจวัตร

แล้วก็ต้องหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทำให้ชีวิตมีคุณค่า ให้มีการเคลื่อนไหว นี่คือ กิจกรรม
รวมกันมากๆ ทำเยอะๆ นี่ก็ กิจการ จุ๊ย์ๆๆ



ศีลข้อ ๑ ต้องไม่กินเนื้อสัตว์
จากญาติธรรม สนิท ทรัพย์มาก (อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา)
"ผมได้ฝึกปฏิบัติธรรม กินมังสวิรัติมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๔ แล้วนั้น และก็กินมาอย่างล้มลุกคลุกคลาน มาจนถึงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ จึงกินได้จริงมาตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ แล้วผมก็คิดว่าจะกินไปตลอดชีวิต จะไม่ได้หวนไปกินเนื้อสัตว์อีกเลยครับ"

ก่อนจะทำความดี ใส่ตัว
ควรเลิกชั่วให้ได้ก่อน
เบียดเบียนผู้อื่นต้องรู้เท่าทัน
เบียดเบียนตัวเองให้ทุกข์ ให้เหน็ดเหนื่อยต้องกระจ่าง
หากเข้าใจ "จุดมุ่งหมาย" ของศีล ๕ โดยเฉพาะศีลข้อ ๑ เราจะรีบเลิกกินเนื้อสัตว์
บำเพ็ญความดี โดยอาศัยเลือดเนื้อผู้อื่น มันตลกดีออก! จุ๊ย์ๆๆ
(หมายเหตุ แต่นี่ก็ไม่ใช่จุดที่ญาติธรรมจะโจมตีผู้อื่น เอาไว้โจมตีตัวเองดีกว่า)



ละครโลกุตตระ.....เรื่องเงินเดือนเท่ากัน
ฉาก ๑ ณ ชุมชนสีมาอโศก
เกริ่น โรงงานพลาสติกภายหลังการขาดแรงงานอย่างมาก จึงได้มีมติให้จ้างลูกหลานหมู่บ้านจนดีมาช่วยงาน
ฉาก ๒ คนงานถาม เงินเดือนไม่น้อยไปเหรอครับ?
ฉาก ๓ นี่เงินเดือนเท่ากับผู้จัดการแล้วนะ
ฉาก ๔ ใบหน้าคนงานดีใจ ได้เท่ากับผู้จัดการ ! .....



การหล่อหลอมจิตวิญญาณด้วยการอ่านหนังสือ
จากญาติธรรมปฐพี ถาวรบรรจบ (อ.เมือง จ.สงขลา)
"เวลาได้รับสารอโศกจากสันติอโศก มีความรู้สึกว่าเหมือนกับได้น้ำทิพย์หยดลงกลางใจครับ จะอ่านทันที ชอบทุกคอลัมน์ บางครั้งอ่านแล้วก็อ่านอีก......"

จิ้งจกพยายามลงทัศนคติของญาติธรรมที่อ่านหนังสือ เพื่อที่เราจะได้ตรวจตัวเองว่า มีความรู้สึกนี้หรือไม่ อย่างไร
เพื่อการแก้ไขที่ดีขึ้นๆ

คนอื่นคิดอย่างนี้ ทำไมเราคิดอย่างนั้น การปรับความคิดก็เป็นเรื่องสำคัญ เขาเห็นทำไมเราไม่เห็น ต้องมีอะไรผิดปกติแน่? อะไรอย่างนี้เป็นต้น
กระจกเงา จะทำให้เราแต่งตัวดีขึ้น จุ๊ย์ๆๆ



ชีวิตที่มีกิจกรรม
"ช่วง ๗-๘ เดือนที่ผ่านมา มีโอกาสเข้าไปทำงานที่กทม.เลยใช้เวลาในวันอาทิตย์ไปช่วยงานที่ชมร. สาขาหน้าสันติอโศก ในขณะที่ทำงานไปก็ได้รับคำแนะนำ และแนะแนว จากพี่น้องชาวชมร. ....."

ญาติธรรมสุเทพ งามนนท์ (อ.เมือง จ.ตาก) เล่ากิจกรรมขณะปฏิบัติธรรมที่กรุงเทพฯ แต่อยู่จังหวัดไหน ก็ต้องหาเรื่องที่เป็นกุศลทำ

กิจกรรมทำประโยชน์ให้คนอื่น ถือเป็น"ทานบารมี"
ทานมิใช่แค่วัตถุข้าวของ ทรัพย์สิน
งานบริการรับใช้ช่วยเหลือ ก็เป็นทาน
ก้มลงหยิบขยะบนถนนใส่ถังขยะ ก็ได้ทำทานแล้ว จุ๊ย์ๆๆ



ถือ "ศีล" ต้องให้ถึง "อธิศีล"

"ผมและครอบครัวก็ยังยืนหยัดตัวเองอยู่บนพื้นฐานของศีลห้า ซึ่งต้องหมั่นสำรวจตรวจตราตัวเองอยู่เสมอว่าศีลห้า ที่ยึดถือปฏิบัติไว้นี่ ขาดตก บกพร่องหรือเปล่า ตกหล่นไปมากหรือเปล่า....."

ญาติธรรมสุรศักดิ์ สุตะปัญญา (อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่)
ตั้งตนอยู่ในศีล ๕ มาตลอด
แต่การเข้าถึงมรรคผล เราจะต้องเข้าถึงเป้าหมายของศีลแต่ละข้อ
การรู้เป้าหมายเหมือนมีเข็มทิศจะทำให้เราไม่พลาดอานิสงส์ขนานแท้ของศีล
ว่างๆลองทำการบ้านให้ตัวเอง ศีลแต่ละข้อมีเป้าหมายเพื่ออะไร?
แล้วเราจะชัดเจนว่า ทำไมเพื่อนเราไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังชอบกินเนื้อเพื่อน!
หรือยิ่งถือศีล ก็ยิ่งถือสา ยิ่งยอมคนไม่เป็น อะไรทำนองนี้ จุ๊ย์ๆๆ



ปฏิบัติธรรมคือการลดละ
"ปัจจุบันนี้ผมพยายามปฏิบัติธรรมให้ได้มากเรื่อยๆ ได้บ้างไม่ได้บ้างแต่จะพยายามเริ่มต้นใหม่เสมอ จะฝึกฝนต่อไป
สิ่งที่ทำได้มีดังนี้
๑. เลิกดื่มเหล้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
๒. เลิกบุหรี่, น้ำอัดลม, เครื่องดื่มชูกำลัง
๓. ปลูกผักกินเอง (ผักพื้นบ้านไร้สารพิษ)
สิ่งที่จะพยายามทำต่อไปคือ รับประทานอาหารมังสวิรัติ สม่ำเสมอ...."

จ.ส.อ.สมจิตร สรดอก (อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา)

"ผลที่ได้รับจากการอ่านทำให้การสำรวมกรรมสามคือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมดีขึ้น ความโกรธง่ายหายเร็วลดลง โดยใช้หลักโพชฌงค์สาม คือ สติ ธรรมวิจัย วิริยะ ฝึกเพียรให้อยู่ทุกลมหายใจ สติเป็นตัวจับ บางครั้งพลั้งเผลอไปก็กลับมาได้เร็ว...."
สมบูรณ์ หาญมนตรี (อ.ภูพาน จ.สกลนคร)

"ขณะนี้ผมเริ่มดูทีวีน้อยลง......."
สุรศักดิ์ สุตะปัญญา (อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่)

จิ้งจกนำ ๓ ชีวิตของญาติธรรมมาเป็นกรณีศึกษา
วันนี้ที่เขากลัวอโศก ก็เพราะอโศกนั้นการลดละเขาว่าเป็นทุกข์
หลายคนหันไปศึกษา "การทำใจ" ด้วย "สมาธิ" เพราะง่ายกว่า ซึ่งผิดฝาผิดตัว
ความจริงแล้ว กายสักขีเป็นต้นทาง เป็นด่านแรกของมรรคผล คือจะเรียนลัด หลุดพ้นทำที่ใจ จึงเป็นวิธีคิดของนิสัยเล่นหวย จุ๊ย์ๆๆ



ไฟเผาขยะ ตบะเผากิเลส
วาระที่ ๖ ตั้งตบะธรรม
คุณประสพ : จะพยายามละความโกรธ
คุณลุงสมมาตร : สวดมนต์และนั่งสมาธิก่อนนอนทุกคืน
คุณกาญจนา : กินอาหารมังสวิรัติบริสุทธิ์ สังวรศีลข้อ ๔ และขอเพิ่มอีก ๑ ข้อ คือ มาวัดทุกครั้งจะไม่ใส่รองเท้า
คุณสมศรี : ไม่กินไข่ ถือศีล ๘ กินอาหารมื้อเดียวทุกวันพระ
คุณอุบล : ถือศีล ๘ ทุกวันพระ
อ.เทียนฟ้า : ตั้งใจไว้ ๓ ข้อ คือ ๑. สวดมนต์ทำวัตรเช้าอธิษฐานทุกวัน และก่อนนอนจะตรวจสอบผล ๒. ถอดรองเท้ามาวัด ทุกครั้ง ๓. จะอ่านหนังสือธรรมะวันละ ๑๐ หน้า อ่านทางเอกภาค ๒ จบแล้ว จะอ่านหนังสือทางเอกภาค ๓ ต่อ, ถือศีล ๘ กินอาหาร มื้อเดียวได้สัปดาห์ละ ๑-๒ วัน
ขอตั้งตบะใหม่ว่า จะไม่ขี้บ่น
คุณป้าผ่องศรี : จะมาวัดทุกวันอาทิตย์
คุณป้าลำน้ำ : กินอาหาร ๒ มื้อ ทุกวันพระ
(เก็บตกแฟ้มรายงานการประชุมกลุ่มญาติธรรมปราการอโศก ปีที่ ๒๑ ครั้งที่ ๕/๒๕๔๘ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘ พุทธสถานสันติอโศก)



คติประจำเดือนนี้
กระจกเงาทำให้เราแต่งตัวดีขึ้น
ผัสสะทำให้เราแต่งใจดีขึ้น.

- สารอโศก ฉบับที่ ๒๘๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ -