หอมดอกพุทธา - แม่น้ำ ลักขิตะ -


จิตวิญญาณต้องมีการพัฒนา

"คนยังคงทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
แม้มีตำราประวัติศาสตร์ให้ศึกษานับพันเล่ม
เพราะปัญหามิได้แก้ในอดีต
หากแต่มันเกิดในปัจจุบัน"

"ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมอีกแล้ว" เราจะได้ยินคำนี้กันบ่อย หลังเกิดเหตุการณ์ร้ายๆขึ้น

และเป็นที่น่าคิดว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย ต่อเมื่อเหตุการณ์นั้นๆกลายเป็นอดีต เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ไปอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมันจะยังซ้ำซากอยู่เช่นนี้ อย่างไม่มีวันจบสิ้น

มีตำราประวัติศาสตร์นับพันๆเล่มให้คนศึกษา กระนั้นยังมิอาจหยุดปัญหาที่เกิดซ้ำๆได้ เพราะอะไร?

เพราะจุดเกิดปัญหาไม่ได้อยู่ที่กระบวนการตามบันทึกประวัติศาสตร์...แกนเกิดของปัญหามาจากคน จากจิตใจโง่งม ของคน คนหนึ่ง หรือคนโง่ร่วมตัวกันก่อปัญหาขึ้นมา ด้วยอวิชชาเป็นตัวขับดัน

คนเกิด_ตายหมุนเวียนตามกาล แต่กระบวนการก่อปัญหายังคงเกิดซ้ำๆอย่างเดิม
ตราบใดที่เรามิได้แก้ปัญหากันที่จิตวิญญาณคนให้พ้นอวิชชา ก็ยากจะหยุดการซ้ำรอยประวัติศาสตร์ได้
ตัวเราเองก็เช่นกัน...ในอดีตเราทำผิดซ้ำๆนับไม่ถ้วน แต่เราก็ยังจะทำผิดต่อๆไปอีก
ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่มีใครอยากกระทำผิดซ้ำสอง โดยเฉพาะเรื่องร้ายๆ ก่อความเจ็บปวดให้กับชีวิตและจิตใจ

แต่อย่างว่า เหตุแห่งกรรมกับกาละนั้นต่างกัน หากจิตวิญญาณเราไม่พัฒนา เรื่องเคยเกิดแล้วก็จะเกิดขึ้นอีก เป็นต้นว่า... เรามี เรื่องทะเลาะรุนแรงกับคนคนหนึ่ง ใจเราผูกพยาบาทไว้ ผ่านไปห้าปีเจอหน้าคนคนนั้นอีกครั้ง เรายังต้องทะเลาะกับเขา เช่นเคย และ ตราบใดเราไม่ล้างใจพยาบาท อาจผูกพันทะเลาะกันข้ามภพข้ามชาติก็เป็นได้

ดังพระเทวทัตตามพยาบาทพระพุทธเจ้านับห้าร้อยชาติ จองล้างจองผลาญพระองค์มาโดยตลอด กระทั่งชาติสุดท้าย ร่างพระเทวทัต ต้องจมปฐพี เพราะผลแห่งบาปหนัก พยายามฆ่าพระพุทธเจ้า

ก่อนพระเทวทัตสิ้นใจ พลันได้สำนึกผิด...จึงขอพระพุทธเจ้าอภัยโทษให้แก่ตน

พระองค์ทรงอภัยให้ และกล่าวอีกว่า อนาคตข้างหน้าอันไกลโพ้น....หลังพระเทวทัตชดใช้บาปกรรมจนหมดสิ้น ยังมีโอกาส ได้กลับ มาเกิดเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะปรับจิตเลิกพยาบาทได้ก่อนตาย

ดังจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันบ่งชี้ได้ว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่.....

หากปัจจุบันเรามีการพัฒนาไปดี แน่นอนว่าความเสียหายเก่าๆ จะไม่เกิดขึ้นอีก และความเสียหายใหม่ๆ จะเพลาลง ไม่หนักหนา เกินเราแก้ไขได้

ส่วนสำคัญอยู่ที่จิตวิญญาณเรา หากไม่มีการพัฒนา เรื่องทุกข์ใจจะวนเวียนเกิดกับเราไม่มีจบสิ้น

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ -