เงา...."มหาจำลอง" นิยามความเป็นนาย ..... คอลัมน์: ข้างหลังเซียน

บุคคลทางการเมืองที่ถูกบันทึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์ ผู้มีบุคลิกชอบไว้ผมทรงลานบิน สั้นเกรียน ใส่เสื้อม่อฮ่อม ยึดมั่นในหลักธรรม สมถะ ซื่อสัตย์ ประหยัด อาบน้ำ ๕ ขัน กินข้าวมื้อเดียว

จะเป็นใครไม่ได้ นอกจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หรือ "มหาจำลอง" เจ้าของฉายา "กระบี่มื้อเดียว" และ "วีรบุรุษภูผาที" บุคคลที่ผ่านสมรภูมิการเมือง มาอย่างโชกโชน

และในทุกก้าวย่างที่ "มหาจำลอง" เดินในถนนการเมือง มักจะปรากฏเงาข้างกาย ที่มีบุคลิกคล้ายๆกัน บุคคลผู้นั้น จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากคนชื่อ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ประสานงานกองทัพธรรม และนายทหารคนสนิท ที่ซื่อสัตย์ภักดีต่อนาย มากว่า ๒๐ ปี

เงาข้างกาย "พล.ต.จำลอง" ผู้นี้ถอดแบบวัตรปฏิบัติมาจากนาย แทบทุกกระเบียดนิ้ว แม้แต่ทรงผม การใส่เสื้อม่อฮ่อม ยังเหมือนกัน จนสามารถเรียกใช้เป็น "สแตนด์อิน" แทน "พล.ต.จำลอง" ในบางโอกาสก็ยังได้

ย้อนกลับไปเมื่อวันวาน ก่อนที่ "แซมดิน" จะรู้จักนายผู้เป็นที่รักนั้น

เดิมที "แซมดิน" เคยเป็นนายทหารเรือ ทำงานอยู่ที่กรมสรรพาวุธ กองทัพเรือ ด้วยความที่เป็นนายทหารเรือ มักจะมีนิสัยชอบขี้เหล้าเมายา และเที่ยวเตร่

แต่แล้วในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ก็ทำให้เป็นจุดพลิกผันของชีวิต ครั้งสำคัญ "ในวันนั้นผมจำได้ว่า ผมเมามาก เพิ่งกลับมาจากฝั่งธนฯ ก็เลยลงรถเมล์ ไปสวนลุมด้วยความเมา เพราะต้องการอากาศบริสุทธิ์ในตอนเช้า เมื่อลงไปก็เจอซุ้มหนังสือ เขาชวนให้ซื้อหนังสือธรรมะ ทั้งที่เดิมที ผมไม่ได้สนใจ และไม่คิดจะซื้อ แต่ถูกคะยั้นคะยอให้ซื้อ เมื่อซื้อแล้วไปก็นั่งอ่านบนเตียง เพื่อนก็บอกว่า ถ้าสนใจธรรมะ ให้มาสันติอโศก ผมจึงมา ที่แห่งนี้ และเมื่อมาเห็นพฤติกรรมของนักปฏิบัติธรรม ก็เลยเกิดศรัทธา"

จนเมื่อปี ๒๕๒๘ ภายหลัง พล.ต.จำลอง ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. สมัยแรก

ในปีนั้น "แซมดิน" ถูกเพื่อนชักชวนให้มาเป็นวิทยากร อบรมด้านคุณภาพชีวิตของกทม. เป็นผลให้ "พล.ต.จำลอง" ทำหนังสือถึง ผู้บังคับบัญชาการ ทหารเรือ ขณะนั้น เพื่อให้ "แซมดิน" มาเป็นวิทยากร ทุกรุ่น

ตั้งแต่นั้นมา "แซมดิน" ต้องกลายเป็นคนติดตามใกล้ชิด พล.ต.จำลอง เพราะผู้ว่าฯ กทม.คนนี้ ขาดคนติดตาม จึงทำให้เขา ได้เป็นเงาตามตัวตลอดมา ต้องทำงานเป็นเลขาฯส่วนตัว หรือคนรับใช้ และยังต้องใส่เสื้อม่อฮ่อม เหมือนผู้เป็นนายด้วย

"พล.ต.จำลอง" เป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยแรก อยู่ครบวาระ ๔ ปี สร้างความประทับใจ ให้แก่คนกรุงเป็นอย่างมาก เป็นผลให้วง "คาราบาว" ต้องแต่งเพลง "มหาจำลองรุ่น ๗" โดยชนะเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.สมัยแรก ๔๐๘,๒๓๓ คะแนน

และในปี ๒๕๓๓ พล.ต.จำลองจึงลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. อีกสมัย และสามารถชนะคู่แข่งอย่างท่วมท้น ๗๐๓,๖๗๑ คะแนน

"แซมดิน" บอกถึงจุดที่ทำให้คนกรุง เทคะแนนอย่างถล่มทลาย จนเกิดกระแส "จำลองฟีเวอร์" ว่า บุคลิกของ พล.ต.จำลอง ขัดกับบุคลิกของผู้ว่าฯ กทม. คนก่อนๆ

ฉะนั้นการหาเสียงของ พล.ต.จำลอง จะสมถะลงทุนน้อย

"แทนที่ท่านจะไปจ้างคนรถ ออกตระเวนหาเสียง แต่กลับมีประชาชนมาช่วยกัน โดยเฉพาะญาติธรรม มาช่วยท่านหาเสียง ซึ่งต่างจาก ที่พรรคการเมืองหาเสียง ขนาดป้ายหาเสียงยังใช้ฝาเข่ง ทำให้คน กทม. มีความหวังว่า ถ้าได้คนที่มีความฉลาด ประหยัด ซื่อสัตย์ เสียสละ และ จุดขายของ พล.ต. จำลองก็คือ เป็นคนมีธรรมะ เชื่อว่างบประมาณกทม. ไม่ถูกโกง ให้เสียหายไปกับโครงการต่างๆ ทำให้คนกทม. ทุ่มคะแนน ให้ท่านจำนวนมาก"

กระทั่งในปี ๒๕๓๑ พล.ต.จำลอง จึงรวมพลังกับสมัครพรรคพวกก่อตั้ง "พรรคพลังธรรม" ภายใต้สโลแกน "คุณธรรมนำการเมือง" ถือเป็นการตัดสินใจ เบนเข็มเข้าสู่การเมืองระดับชาติ กระแส "จำลองฟีเวอร์" เห็นได้ในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๕ พรรคพลังธรรม กวาด ส.ส.ใน กทม.ไปถึง ๓๒ คน จาก ๓๕ ที่นั่ง

จุดที่ทำให้ "แซมดิน" เกิดความประทับใจ ในความเป็นนายของ "พล.ต.จำลอง" อย่างยิ่ง คือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕

เพราะ "พล.ต.จำลอง" เป็นผู้นำมวลชนต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๙ ในครั้งนั้น

โดยครั้งนั้น "แซมดิน" อยู่ใกล้ชิด เกาะติดทุกฝีก้าวนายของเขา ในสนามรบราชดำเนินครานั้น

แม้กระทั่งวินาทีที่ "พล.ต.จำลอง" ถูกสารวัตรทหาร (สห.) หิ้วปีกล็อคกุญแจมือ

"พล.ต.จำลองอยู่กลางถนน ตอนนั้นทหารยิงเคลียร์มาเรื่อยๆ ท่านก็ตะโกนว่า ผมอยู่ตรงนี้ อย่ายิงประชาชน คือเหมือนกับเอาตัวเองไปรับว่าอย่ายิง ไอ้เราก็กลัวถูกยิง ก็ดึงมือท่านลงมา ผมก็บอกว่า ไม่ต้องบอกเขาหรอก เขารู้แล้วว่า เราอยู่ตรงนี้ ผมก็โหมตัวไปคร่อมท่าน ตอนนั้นทหารก็ยิงเข้ามา และทหารก็เห็นท่าน ทำให้ผมและ พล.ต.จำลอง ถูกจับกุม" แซมดินเล่า ภาพนาทีระทึก อย่างออกรส

นอกจากนี้ "แซมดิน" ยังเสียใจไม่น้อย เมื่อครั้งที่ พล.ต.จำลองอดอาหาร ประกาศจะยอมตาย เคียงข้าง เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร หน้าสภา

ครั้งนั้นท่านพุทธทาส มีหนังสือมาถึงว่า "อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ ท่านเตือนมา บอกว่าตายไป ก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น" ทำให้มหาจำลองเลิกอดข้าว "ผมรู้สึกผิดหวัง จึงหนีไปเลย เพราะผมก็อดด้วยเหมือนกับ พล.ต.จำลอง อดจนจะหมดแรง ผมตัดสินใจเดินกลับไปบางกระบือ พอถึงบางกระบือ ก็บอกตัวเองว่า เดินกลับไปแล้วจะได้ประโยชน์อะไร กลับมาช่วยกันใหม่ดีกว่า ที่ท่านกินเพราะจะต้องนำ"

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กระแสจำลองเริ่มตกต่ำลง การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ๒๕๓๙ ครั้งนั้น "พล.ต.จำลอง" กลับลำ ลงสนามทวงคืนเก้าอี้ผู้ว่าฯ เมืองกรุงอีกครั้ง แต่พ่ายแพ้อย่างหมดรูปให้กับ พิจิตต รัตตกุล เพียงแค่ การหาเสียง โปรยยาหอมให้คนกรุงว่า จะทำรถราง เลียบคลองแสนแสบได้ คนกรุงจึงเทคะแนนให้นายพิจิตต แต่ พล.ต.จำลองบอกทันทีว่า ไม่มีทางทำได้

"คนที่โกหกเพื่อหาเสียง เขาจะพูดได้หมด ใครทำไม่ได้เขาทำได้ จะเห็นได้ว่าสังคมเอาตัวรอด พอได้แล้ว ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คน กทม. ก็ลืม ถ้าลืมบ่อยๆ เราจะได้มนุษย์แบบโกหกมาเรื่อยๆ ดังนั้น เราต้องจำไว้ สังคม กทม. ถ้ายังตามกระแส ผมเห็นว่าเป็นปัญหาเหมือนกัน" แซมดินแจง ด้วยน้ำเสียงจริงจัง

จนถึงช่วงที่ "พล.ต.จำลอง" ตัดสินใจชักนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่การเมือง ต้องถือว่า "พล.ต. จำลอง" คือผู้ทำคลอด และยังทำแท้ง "ทักษิณ" ในทางการเมือง

"ท่านรักคุณทักษิณมาก บอกเสมอว่าน้องผม ผมเป็นคนชวนมา ซึ่งก่อนออกมาขับไล่ ท่านก็ขอข้อมูลต่างๆ เยอะมาก จนมาถึงจุดที่ คุณทักษิณไม่เสียภาษี แม้แต่บาทเดียว ทำให้ถึงเวลา ที่จะต้องออกมาต่อต้าน จากมติ ที่หารือกัน ภายในกองทัพธรรม และสันติอโศก ครั้งนั้นท่านคิดหนักมาก เพราะเป็นผู้พาคุณทักษิณ เข้าการเมือง"

"แซมดิน" ย้ำว่า "มองศัตรูหรือมองมิตร ต้องมองให้ลึกซึ้ง การต้านไม่ให้คนทำไม่ดี นี่คือมิตรแท้ การห้ามเราไม่ให้โดดลงเหว นี่คือเพื่อน"

แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยฟัง พล.ต.จำลอง ?

"เพราะว่าคุณทักษิณไม่เข้าใจธรรมะ พล.ต.จำลองไม่ได้โกรธคุณทักษิณ แต้ถ้าทำผิดต่อแผ่นดินขนาดนี้ เราก็ต้องให้ออกไป"

โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ต่อเนื่อง ก่อนถึง ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่มีการสลายการชุมนุมคนเสื้อเหลือง หน้ารัฐสภา ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน "พล.ต.จำลอง" ต้องถูกจับกุมในข้อหา "กบฏ" เข้าไปนอนในเรือนจำอีกครั้ง เพราะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.ในวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๑

"แซมดิน" ปฏิเสธทันที ว่าไม่ใช่แผนการใดๆ หรือน้ำผึ้งหยดเดียว

แต่เป็นเพราะ พล.ต.จำลอง เคยเป็นผู้ว่าฯ กทม.มาก่อน สนับสนุนการใช้สิทธิเลือกตั้ง มาโดยตลอด จึงต้องออกจากทำเนียบรัฐบาล และทิ้งจดหมายสั่งลาไว้

"แซมดิน" โต้ทันที เมื่อถูกย้ำถึงข้อหา คนดื้อและหัวรั้นของ "พล.ต.จำลอง"

"เป็นธรรมดาสำหรับคนมีระเบียบวินัย บางคนจะมองเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ได้ทำผิด กินมื้อเดียว ไม่ได้ทำผิดศีล ดังนั้น คนหัวรั้น จะให้มากินสองมื้อ ตามใจเขา ก็ทำไม่ได้ ท่านก็ดื้อพอสมควร หากเห็นว่าถูกต้อง ไม่งั้น ถ้าไม่แข็งจุดนี้ ก็จะเป๋ตามประชาชน อย่างที่เขาอยากให้เป็น แต่ถ้าดื้อ แล้วเอาผลประโยชน์ให้ประชาชน จะเอาไหมล่ะ"

ทั้งนี้ เขายังปฏิเสธแทนนาย ที่มักปราศรัยบนเวทีพันธมิตร เสมือนเชื้อเชิญให้ทหาร ออกมารัฐประหาร

"ที่จริงเป็นหน้าที่ของทหารนะ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ประชาชน ความที่เห็นประชาชนเรือนแสน ถูกยิงทุกวัน มันถึงเวลา ที่ทหารเข้ามาดูแล รักษาความสงบเรียบร้อย ทำให้ประชาชนปลอดภัยหรือยัง หรือจะปล่อยให้ประชาชน ต้องตายไปอีกเรื่อยๆ แต่การเข้ามายึดอำนาจ ไม่อยู่ในหัวท่านหรอก"

แม้บุคลิกของ "พล.ต.จำลอง" เป็นคนดื้อพอสมควร แต่หากเอ่ยถึงหลังบ้านอย่าง ศิริลักษณ์ ศรีเมือง ศรีภรรยา ผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุข มาโดยตลอดนั้น

คนนี้คือคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ และเคียงข้าง "พล.ต.จำลอง" อยู่เสมอ

"แซมดิน" เล่าว่า คุณศิริลักษณ์ คือหลังบ้านตัวจริงของ พล.ต.จำลอง ถ้าหลังบ้าน เอาประโยชน์จากประชาชน ก็จะมีปัญหาด้วย แต่เผอิญคุณศิริลักษณ์ เป็นคนที่ชอบทำบุญ และรับประทานมังสวิรัติ ปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ทำให้ พล.ต.จำลอง ก็มักทำตามคุณศิริลักษณ์บ้าง

ส่วนฉายา "มหา ๕ ขัน" นั้นยังเหมือนเดิมหรือไม่?

"พล.ต.จำลองอาบน้ำเหลือ ๓ ขันแล้ว โดยใช้ผ้าชุบเช็ดเอา เพราะท่านเห็นความสำคัญของน้ำ ที่เหลือน้อย ยิ่งโลกร้อนขึ้น คนเราจะฟุ่มเฟือย จะอาบน้ำมากขึ้น นักปฏิบัติธรรมก็จะฝึกแบบนี้ กินน้อยใช้น้อย ทำงานมาก ที่เหลือ จุนเจือสังคม เป็นคำนิยามท่าน" เขาเล่าอย่างยิ้มแย้ม

"ผมไม่ผิดหวังที่เราอยู่กับผู้นำ ที่มีความกล้าหาญ กล้าต่อสู้เพื่อประชาชน เพื่อผลประโยชน์ประชาชน ท่านเป็นแบบนี้มา ตั้งแต่พฤษภาทมิฬ จนมาถึง การชุมนุม ๑๙๓ วันของกลุ่มพันธมิตร และท่านก็ยังเป็นเหมือนเดิม สมถะ เรียบง่าย จนบางที ผมก็หงุดหงิด"

นี่คือ "นิยาม" ความเป็น "มหาจำลอง" ที่มิแปรเปลี่ยนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่การันตีได้ จากเงาข้างกาย "ชายหัวเกรียน"ผู้ภักดี "แซมดิน เลิศบุศย์"

จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ หน้า ๑๑
การเมือง [email protected]

(สารอโศก อันดับ ๓๑๗ หน้า ๒๓-๒๗ มีนา-พฤษภา ๒๕๕๓ )
https://www.asoke.info/Sanasoke/sa317/317_023.html