สิบห้านาทีกับพ่อท่าน เมื่อศาสนาคือ สัจจะความจริง ความถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ และความดีงามทั้งปวง ศาสนาจึงสมควร เข้าไปมีบทบาท ในทุกกรรมการงาน โดยเฉพาะงานการเมือง ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับ การบริหาร ดูแลประเทศ และประชาชนให้เกิดความสงบสุข เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ มีพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ มีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกของโลก และ เรามีในหลวง ซึ่งทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ แต่บ้านเมืองเราวันนี้ เหลียวมองไปทางไหนพบแต่ปัญหาทุกข์ร้อนมากมาย ความไม่ชอบมา พากล ในสังคม ที่ถูกหมกเม็ด ความผิดถูกที่ไม่ชี้ชัดเจน เมฆหมอกแห่งความคลุมเครือ ปกคลุมไปทั่ว จากผู้มีอำนาจ ที่ขาดความกล้าหาญ ทางจริยธรรม กฎหมายจึงมีไว้อย่างไร้ศักดิ์ศรี และ ความศักดิ์สิทธิ์ ที่จะสร้าง ความเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นในสังคมได้ บทสัมภาษณ์จากพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ชี้ให้เห็นถึงศาสนาที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวการเมืองอย่างไร และศาสนา ได้ทำหน้าที่ ชี้สัจจะความจริงความถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ และความดีงามทั้งปวง แล้วอย่างไร และอีกคำถาม คลายสงสัย ถึงลูกเจโตและปัญญา ที่ลูกทุกคนควรรู้ จากเหตุการณ์ที่ผ่านมามีกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU43 ซึ่งคาดว่า ถ้าไม่เป็นไป ตามนั้น อาจเกิดการประท้วง เพื่อบีบรัฐบาลต่อ แต่เมื่อ พ่อท่านประกาศ ยกเลิกการต่อสู้ โดยยอมถอย จึงมีคำถามว่า พ่อท่านคิดอย่างไร ? นั่นเป็นการมองมาจากผู้ที่มองข้างนอก แล้วก็มองอ่านจากพฤติกรรมที่อาตมาร่วมประพฤติ ร่วมกระทำอยู่ ก็มองว่า อาตมาให้หยุดการต่อสู้ ตามโจทย์ที่พูดมา จริงๆแล้วในการทำงานอย่างนี้ อาตมา ไม่เรียกว่า เป็นการต่อสู้ อาตมาเรียกว่า เป็นการทำงาน เพื่อที่จะช่วยกัน ไม่ได้ไปต่อสู้ รบรา ฆ่าฟันกันเลย เป็นการช่วยกัน ด้วยวิธีการ หรือจะเรียกว่า เป็นยุทธวิธีก็ได้ เป็นวิธีการที่กระทำ ประพฤติโดยออกไป แสดงการชุมนุม เป็นมวล ไปประท้วง เพื่อที่จะให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ทำเช่นนั้น ทำเช่นนี้ ที่ท่านทำอยู่ หรือทำไปนั้น เราไม่เห็นด้วย หรือเพื่อบอกความประสงค์ ที่เห็นสมควรของประชาชน เราในฐานะประชาชน เราไม่เห็นด้วย ในการกระทำ เช่นนั้น แม้ท่าน มีหน้าที่กระทำ เราก็เห็นว่า มันไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ควรจะทำเช่นนี้ เราก็ออกสิทธิ ออกเสียง เป็นการแสดงสิทธิ ตามสิทธิมนุษยชนที่มี ไม่ได้เป็นการรบราฆ่าฟัน ทำร้าย ทำลายอะไรกัน เป็นการแสดง ความเห็น ตามฐานะสามัญของสังคม ที่ควรช่วยกัน แสดงความคิดเห็น แล้วเราก็ทำไป ตามกฎเกณฑ์ ของกฎหมาย สันติ อหิงสา ไม่มีอาวุธ ทีนี้เมื่อทำไปแล้ว พวกเราเกิดภาวะที่อาตมาเห็นว่า เอ...มันเกิดมีความเห็นต่างขึ้นมา มีความเห็นแย้ง กันขึ้นมา แล้วมันก็รวมตัว รวมพลกันไม่ค่อยเป็นหนึ่งเดียวกันเท่าไร มันดูว่า ถ้าปล่อยให้ทำกัน ต่อไป มันจะเกิดสภาพ ที่จะทำให้เกิดการเข้าใจผิด ประชากรที่เขามองอยู่ข้างนอกนั้น ก็จะเข้าใจผิดด้วย อีกข้อ อาตมารู้สึกว่า พวกเราทำงาน พอมีผลได้พอสมควรแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่ออาตมาดูในพฤติกรรมองค์รวม ที่ทำไปแล้ว ปรากฏผล ขนาดนี้ และก็มีเหตุปัจจัย ดังกล่าวเป็นต้น เกิดขึ้นหลายๆอย่าง ถ้าปล่อยให้ทำต่อไป อาตมา ก็ไม่เห็นว่า จะเกิดผลดี มันจะเกิดผลเสีย มากกว่า ก็เลยปรามออกไป จะว่าปรามก็ปรามสำหรับพวกเรา ที่อาตมาอยู่ในฐานะ เป็นครูบาอาจารย์ จะว่าแสดงความเห็นก็ใช่ ก็เป็นการแสดงความเห็นออกไป ว่าเราควรจะหยุดนะ ดังที่พูดไป ถ้าใครฟังอยู่ตอนนั้น ก็จะรู้ว่า อาตมา ไม่ได้ไปบังคับ หรือว่าไปออกคำสั่ง หรือไปทำอะไร ที่ไปแสดง อิทธิพลอะไร เป็นแต่เพียงว่า ควรแสดงความเห็น ให้เข้าใจกันดูซิ จะทำตาม หรือไม่ทำตาม ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็ปรากฏว่า เขาก็เห็นด้วย ทำตามกันอยู่ แล้วก็ลดราวาศอก ลงมา ระงับกันไป มันก็เป็นบทบาทอย่างนั้นเท่านั้น มันไม่ได้หมายความอย่างที่เข้าใจตื้นๆง่ายๆ อาตมาว่า ยังเข้าใจ ไม่ถูกต้องนัก ที่มองว่า อาตมาเป็นผู้สั่งการ เป็นเจ้ากี้เจ้าการ จัดการทำอะไรโดยเผด็จการ หรือ โดยเป็นผู้คุมกลุ่มจริงๆ ความจริง มันไม่ใช่ จริงอยู่ ในความเป็นจริง ก็มีผู้ที่เคารพนับถือ เชื่อถือในการแสดงความเห็น ของอาตมาอยู่ เขาก็ยอมรับฟัง ยอมรับไปพิจารณา บางคน เขาก็ทำตามที่เขาเห็น อาตมาก็เห็นอยู่ ว่าเขาทำสิ่งที่เขาจะทำ ตามความเห็นของเขา ว่า ดีกว่า เขาก็ทำอยู่ ไม่ใช่ว่าสิ่งที่อาตมา ออกความเห็น เขาจะทำตาม ๑๐๐ % หรอก ก็ไม่ใช่ นี่เป็นไป ตามความเป็นจริง เป็นสัจธรรมที่แสดงออกไปอยู่ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ใช่ว่าเราไปต่อสู้หรือไปทำอะไรที่มันจะดูเข้าใจผิดว่า เราเป็น นักปฏิบัติธรรม แล้วออกไปทำอย่างนั้น แสดงอย่างนั้น มันเป็นหน้าที่ เป็นเรื่องสมควร หรือเหมาะสม ที่จะทำไปหรือ อาตมาเข้าใจในค่านิยมของสังคม และความเชื่อถือของสังคมไทย โดยเฉพาะ ในสังคมชาวพุทธ สังคมของธรรมะ ทางศาสนานี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนักบวช เป็นภิกษุ สมณะ เขาห้ามขาดเลย ไม่ให้ออกไปแสดงตัว ออกไปแสดงตน ไม่ให้ไป ออกความคิดเห็นอะไร ไม่ให้ออกไป ยุ่งไปวุ่นวาย เรื่องที่เขาเรียกว่า การเมืองนี้เลย เขาตีทิ้ง เขาตัดขาดว่า อย่าไปยุ่งเกี่ยว นั่นเป็นเรื่องของการเมือง ความจริงแล้วในคณะประชาชนคนไทยที่มีหัวใจรักชาติ ที่ไปชุมนุม ไปประพฤติปฏิบัติ ลักษณะของ การชุมนุมประท้วง หรือการชุมนุมเสนอความเห็นออกไป ในฐานะประชาชน เจ้าของประเทศ คนหนึ่ง เขาไปทำ ตามหน้าที่ของมนุษย์ ของพลเมือง ของสังคม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๐, ๗๑ พวก เขาไม่ได้ไป เล่นการเมือง เขาไม่ได้เข้าไปแสวงหาประโยชน์ จากการเมือง เพราะฉะนั้น นั่นก็อันหนึ่ง ว่านี่ไม่ใช่ เรื่องของการเมือง ตามนิยามคำว่าการเมืองที่เขาหมาย แต่อาตมาเองนี่แหละ เป็นคนบอกว่า เป็นเรื่องการเมือง อาตมากลับพูดว่า นี่เป็นเรื่องของการเมือง อาตมานี่แหละ เป็นนักการเมือง ที่จะทำ การเมืองจริงๆ ไม่ใช่การเมืองแสลงๆ เหมือนที่พูดกัน เป็นคำเสีย เป็นความหมาย ที่เหลวไหลเละเทะ ไม่ใช่ แต่นี่เป็นการเมือง ซึ่งอาตมา นิยามแล้วว่า การเมือง หมายถึง การทำงานให้แก่มวลประชาชน รับใช้มวล ประชาชน หรือ พยายามที่จะช่วยสังคม บ้านเมือง ให้เจริญพัฒนา อยู่เย็นเป็นสุข อะไรผิดพลาด ก็ต้องช่วยทำ ให้ดีขึ้น ด้วยจิตใจ ที่บริสุทธิ์ ตามภูมิธรรม เท่าที่มี ด้วยความจริงใจ ก็ไปทำอันนั้นโดยตรง คำว่าการเมือง ตามที่อาตมานิยามนี้ ไม่ได้มุ่งทำเพื่อ ลาภยศสรรเสริญ เพื่อกาม เพื่ออัตตาเลย แต่ทำเพื่อ มวลประชาชน ให้ได้รับ ประโยชน์โดยแท้ ไม่มีความแฝงอะไร อยู่เบื้องหลัง เพราะฉะนั้นการกระทำอันนี้ยังเข้าใจกันไม่ได้ในความเชื่อถือของสังคม ก็โดนท้วงโดนว่า โดนติเตียน หรือบริภาษผ่าน SMS อยู่บ้าง ซึ่งอาตมาเข้าใจ ไม่ได้ว่าอะไรเขา เพราะเข้าใจว่า เขาเอง เข้าใจได้ขนาดนี้ ก็ต้องให้เกียรติเขาในความเชื่อถือของเขาในปัญญาและภูมิของเขา ไม่ลบหลู่อะไร เมื่อความเห็นต่าง เราเห็นควร เขาเห็นไม่ควรมันก็ไม่ตรงกันเท่านั้นเอง แต่เราเห็นควร เราพิจารณา ใช้ปัญญาไตร่ตรองดู มันควรทำ มันเป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อประชาชนบ้านเมือง เราก็ตั้งใจทำลงไปเท่านั้นเอง เราเสียเวลา เสียทุนรอน เสียแรงงานด้วยซ้ำ เราไม่ได้เป็นผู้ได้ เราเป็นผู้เสีย คือเสียสละจริงๆ เราเห็นว่า การกระทำนี้ เป็นความงดงาม ความดี เพราะฉะนั้น งานนี้จึงเป็นเรื่องของมนุษย์ ที่พึงกระทำต่อมนุษย์ เท่านั้นเอง ก็มีความเห็นต่าง กันอยู่อย่างนี้ ก็ย่อมมีความขัดแย้งกันบ้าง แต่ผลก็เกิดกับสังคมเอง เราไม่มีปัญหาอะไร ผู้ไม่เข้าใจ เช่นว่านี้ ก็ย่อมมีปัญหา ก็เป็นธรรมดา พ่อท่านพูดว่า เมื่อเห็นความไม่ถูกต้อง เราก็ต้องออกมาพูด ออกมาห้าม ออกมาประท้วง แต่ในที่สุด ห้ามก็ไม่ฟัง ประท้วงก็ไม่หยุด เมื่อห้ามไม่ไหว ก็ต้องยอมให้เขาทำ บาปใครบาปมัน เพราะเราจะ ไม่เป็นต้นเหตุ แห่งความรุนแรง ใช่ เราเอาขีดของความรุนแรงตามที่เราเข้าใจ ขนาดนี้มันรุนแรงหรือยัง หรือถ้าเราเพิ่ม น้ำหนัก อันนี้ออกไป เพิ่มการประพฤติอันนี้ต่อไป มันจะเกินขีดแดง มันจะเกินขีดที่จะก่อความรุนแรง ซึ่งเราก็ประมาณ ตามภูมิปัญญ าของเราแล้วว่า การกระทำนี้ อยู่ในเกณฑ์ของสันติ อหิงสา ความสงบ ไม่ให้เกิด ความรุนแรง และอาตมา เติมคำว่า ซื่อสัตย์ บริสุทธิ์เข้าไปอีก เพื่อที่จะให้มีสำนึกกัน ให้เตือนสติกัน เตือนสำนึกกันจริงๆว่า อย่าเล่นเลศ เล่นเล่ห์ ให้ซื่อสัตย์นะ ให้บริสุทธิ์สะอาด อย่าไปผิด ไปเพี้ยน ทำให้จริง เพราะฉะนั้น ที่กลัวจะเกิด ความรุนแรงนั้น เราระมัดระวังอย่างยิ่ง ป้องกันจะไม่ให้เกิดอย่างยิ่ง ดังที่ อาตมา กล่าวไปแล้วว่า ถ้าเผื่อ มันจะเกินขีดแล้ว เรายอมได้ เรายอมเสียสละ ใครจะว่าเราแพ้ เราก็ไม่มีปัญหา เราจะแพ้หรือชนะ เราไม่ได้ ต้องการให้เป็น เป้าเอาเป็นเอาตายกัน เราต้องการจะทำ ในสิ่งที่ควรทำ ก็ทำให้เต็มที่ แต่เราก็ประมาณว่า นี่จะเกิน ขีดแดงแล้ว เราไปไม่ได้แล้ว เราก็ต้องหยุด ยอมหยุด ยอมแพ้ ยอมแม้ จะเสียหายอะไร ก็จำเป็น เสียหน้าเราก็ไม่มีปัญหา ถ้าเราเห็นอยู่ว่า เขาทำอย่างนี้มันผิด ทำไปแล้ว มันจะเกิดความเสียหาย เป็นบาป เป็นสิ่งที่สูญเสีย เกิดความเสื่อมเสียหาย หรือเกิดการพังทะลาย ขึ้นจริงๆ มันก็สุดวิสัย ก็บาปใครบุญมัน ก็รับผิดชอบกันไป ก็แล้วกัน เราก็พูดบอกไป ตามสัจธรรม ที่เราคิดเห็นอย่างไร ก็อย่างนั้น แต่ถ้าที่เราคาดหมายอย่างนั้น ผลออกมากลับไม่ได้เป็นอย่างที่เราว่า เพราะเราคาดการณ์ไว้ผิด เช่นออกมาดี ไม่ออกมาเสียหายอย่างที่เราคิด เราก็ผิด เราก็คาดผิดเท่านั้นเอง แสดงว่าจุดนี้เราโง่ เราไม่ฉลาดพอ เพราะผล ที่ออกมา จริงๆแล้ว มันเป็นผลดีด้วยซ้ำ แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามันตรง อย่างที่เราคิดคาดแล้ว แล้วเราก็ยอมหยุด ยอมแพ้ สังคมจะดันทุรังไป ตามที่คุณเห็นว่า มันถูก ว่ามันดี เสร็จแล้ว มันเกิดเสียหาย ผิดพลาด พังทะลาย อะไรขึ้นมา ก็บาปใครบุญมัน พ่อท่านเทศน์ว่าระหว่างลูก สายเจโตและสายปัญญา พ่อท่านจะเอาลูกสายเจโต มากกว่าลูกสายปัญญา ตรงนี้ มีนัยะอย่างไร ? อาตมาใช้สำนวนว่าเอาลูกสายเจโตมากกว่าลูกสายปัญญา เพราะว่า อาตมาเป็นสายปัญญา การแสดงออก ของอาตมาก็จะมีเชิงปัญญาแยะ เพราะฉะนั้นลูกสายปัญญาเขาก็จะรับได้ เขาก็จะเข้าใจ เขาก็จะสามารถรับรู้ ส่วนลูกสายเจโต ก็จะรับช้า หรือรับยากกว่า อาตมาก็จะต้อง พยายามที่จะช่วยเหมือน น้องคนเล็ก กับพี่คนโต ที่เขาพอเป็นไปได้ พอช่วยตัวเองได้ เราก็ต้อง ดูแลน้องคนเล็ก จะไปบอกว่า พูดอย่างนี้ คล้ายกับไปลบหลู่ สายเจโต ก็ไม่ใช่ แต่ว่าสายเจโตนั้น เมื่อยังไม่เข้าใจอะไรถูกต้องแล้ว ขืนปล่อยให้ทำไป สายเจโตนี่ มันแรงด้วยนะ มีพลังมากด้วยนะ มันก็จะเกิดผล ทำให้เกิดความเสียหายอะไรขึ้นมา เราก็ต้องป้องกัน เพราะฉะนั้น เราก็ต้องใช้พลังงาน ต้องใช้ความพยายาม ที่จะทำให้เจโตนั้น ได้รับปัญญา เพราะอาตมาเอง ก็เป็นสายปัญญา อย่างนี้ เป็นต้น ก็ต้องให้ปัญญา แก่ทางโน้นมากกว่า พวกสายปัญญาอยู่แล้ว ก็จะรับง่าย อย่างที่ว่า จึงต้องให้น้ำหนัก ในการดูแลลูก สายเจโตมากหน่อย ลูกบางคนเกือบน้อยใจว่า พ่อท่านรักลูกสายเจโต เพราะช่วยทำงานมากกว่า ลูกสายปัญญา อ๋อ...ไม่ใช่ ถ้ารักก็รักเท่ากันหมด เพราะลูกสายปัญญาก็ช่วยงานในด้านที่ใช้ปัญญา ลูกสายเจโต ก็ช่วยงาน ด้านใช้เจโต มันเป็นธรรมดา ธรรมชาติ ไม่มีปัญหาอะไร มันถนัดกันคนละอย่าง ทำงาน กันคนละด้าน แต่จริงๆแล้ว ทั้งสายเจโตและสายปัญญา ก็ต้องฝึกเพิ่ม ในสิ่งที่ตัวเองขาด เช่นสายเจโต ก็เพิ่มพูนปัญญา สายปัญญา ก็เพิ่มเจโต ให้ตัวเองมากขึ้น จุดอ่อนของทั้งสองสายอยู่ตรงไหน ? ว่ากันจริงๆแล้ว สายเจโตพลังเยอะ ถ้าปัญญายังเข้าใจไม่ถ้วนรอบ เมื่อทำอะไรได้มาก เวลาเกิด ผลเสียหาย ก็เสียหายได้มากขึ้น ส่วนสายปัญญาก็ได้แต่พูดคิดเก่ง เลยไม่ค่อยได้ทำอะไร เพราะฉะนั้น ผลที่ออกไป ก็จะน้อยกว่า สายเจโต ซึ่งสายเจโต หรือสายศรัทธา จะทำมากกว่า แต่ทั้งสองด้าน ทั้งเจโตและปัญญา อาตมา ก็ต้องเทศน์ สอนและปราม เพราะขณะที่สายปัญญา ก็จะมากไปทางหนึ่ง สายเจโต หรือสายศรัทธา ก็จะมากไปอีกทางหนึ่ง จึงต้องคอยประนีประนอม คอยจัดสรร จัดการ เพื่อให้สมดุลขึ้นเรื่อยๆ
(สารอโศก อันดับ ๓๑๗ หน้า ๔๑-๔๖ สิบห้านาทีกับพ่อท่าน เดือนมีนา-พฤษภา๕๓) |