โดย...ณวมพุทธ


พิชิตกิเลสสิ้นแล้ว
ใจแก้วเมตตามหาศาล
คู่ควรได้รับผลทาน
สำราญเลิศไร้ข้าศึก

พระสุภูติเถระ

พระสุภูติเถระได้สั่งสมบุญทั้งหลายไว้แล้ว แม้ในชาติก่อนๆ ดังในสมัยของพระพุทธเจ้า องค์ปทุมุตตระ

สมัยนั้น ท่านได้บวชเป็นชฎิล (นักบวชที่เกล้าผมมุ่นเป็นมวยสูง ถือลัทธิบูชาไฟ บางครั้ง จัดเป็น พวกฤๅษี) สร้างอาศรมพำนักอยู่ที่ภูเขานิสภะ ซึ่งไม่ไกลจากภูเขาหิมพานต์

ท่านมีชื่อว่า โกสิยะ บำเพ็ญตบะ(ความเพียรเผาผลาญกิเลส)อยู่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อน อาศัยใบไม้ และผลไม้ ที่หล่นเองเลี้ยงชีวิต ไม่บริโภคใบไม้และผลไม้ที่เด็ดจากต้น หรือแม้เง่ามันที่ขุด จากดิน นำจิตของตน ให้ยินดีในการยังชีพ อย่างนักบวช แม้ต้องสละชีวิต ก็ไม่ยอมเลี้ยงชีพ ในทางที่ ไม่สมควรแก่ นักบวช (อเนสนา)

มีอยู่วันหนึ่ง จิตของโกสิยชฎิลบังเกิดราคะ(กำหนัดยินดีในกาม)ขึ้นมา จึงอบรมเตือนตนเองว่า

" เราผู้เดียวเท่านั้น ที่จะทรมานกิเลสตนได้ แต่ถ้าเรามีกำหนัดในอารมณ์ อันเป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัด ขัดเคืองในอารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง หลงใหลในอารมณ์ อันเป็นที่ตั้ง แห่งความหลงใหล จงออกไปเสียจากป่านี้เถิด

แม้ที่อยู่นี้ ก็เป็นที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ ไม่มีมลทิน มีแต่ตบะ จงอย่าประทุษร้ายผู้บริสุทธิ์เลย จงออกไปเสีย จากป่านี้ เป็นผู้ครองเรือนเถิด

เราอย่ายินดีแม้ทั้งสองอย่างนั้นเลย เพราะเปรียบเสมือนฟืนเผาศพ ที่เขาไม่ใช้ทำกิจอะไรอื่นๆแล้ว ไม่ใช่ทั้งไม้ในบ้าน ไม่ใช่ทั้งไม้ในป่า ฉันใด

เราก็ฉันนั้น เป็นดุจฟืนเผาศพ ไม่ใช่ทั้งคฤหัสถ์ ไม่ใช่ทั้งสมณะ(ผู้สงบระงับกิเลส) พ้นจากเพศทั้งสอง สิ่งนี้ พึงเกิดมีแก่เราหรือหนอ

วิญญูชน(ผู้รู้ผิดรู้ถูก) จะรังเกียจเรา เหมือนชาวเมืองรังเกียจของสกปรก ฤๅษี (นักบวชผู้แสวงธรรม) ทั้งหลายจะเอา ความผิดของเราไปโพนทะนา จะประจานเราว่า ล่วงละเมิดผิดต่อศาสนา ราวกับ ช้างแก่อายุ ๖๐ เสื่อมถอยกำลังแล้ว โดนขับออกจากโขลง ย่อมทุกข์เศร้าโศก ซบเซาอยู่ ฉันใด

แม้เราผู้มีปัญญาทราม มีศีลเสื่อมแล้ว ก็ฉันนั้น จะโดนชฎิลทั้งหลายขับไล่ ต้องทุกข์เศร้าโศก ทั้งกลางวัน และกลางคืน ไม่ได้ความสุขสำราญ

แม้เราอยู่ครองเรือน จะเป็นอยู่อย่างไร เพราะทรัพย์ทั้งหลายก็ไม่มีแล้ว คงต้องทำงาน อาบเหงื่อ ต่างน้ำ ซึ่งเราไม่ยินดีเลย ฉะนั้น เราต้องห้ามใจที่หมักหมมด้วยกิเลสเศร้าหมองนี้เสีย"

เมื่อพิจารณาธรรมนั้น แล้วบังคับจิตข่มใจ จนสามารถห้ามจิตจากบาปชั่วได้ โกสิยชฎิล จึงมีจิต คืนสู่ปกติ บำเพ็ญธรรมอาศัยอยู่ในป่าใหญ่นั้น ด้วยความไม่ประมาทสืบไป

กระทั่งวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าองค์ปทุมุตตระเสด็จมายังที่อาศรมนี้ โกสิยชฎิลพอได้เห็นพระองค์ ก็เกิดความคิดอย่างนี้ขึ้นทันที

"นักบวชนี้แลดูน่าเลื่อมใสยิ่งนัก เป็นเทวดา(ผู้มีจิตใจสูง) หรือมนุษย์(ผู้มีใจประเสริฐ) หนอ เราไม่เคย ได้ฟัง หรือได้เห็นมาก่อนเลยในแผ่นดินนี้ หรือผู้นี้จะเป็นพระศาสดา"

คิดดังนั้นแล้ว จิตก็ยิ่งศรัทธาแรงกล้า จึงรวบรวมดอกไม้หอมต่างๆในที่นั้น นำมาปูลาด เป็นอาสนะ (ที่นั่ง) ดอกไม้อันวิจิตร เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ แล้วทูลนิมนต์ว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาสนะดอกไม้นี้สมควรแก่พระองค์ ข้าพระองค์จัดถวายไว้แล้ว โปรดทรง ทำจิตของข้าพระองค์ ให้ร่าเริง โดยประทับนั่ง บนอาสนะดอกไม้นี้เถิด"

พระศาสดาทรงรับ ด้วยอาการนิ่งอย่างดุษณีภาพ แล้วประทับนั่งสมาธิบนอาสนะ ดอกไม้ นั้น ๗ วัน ๗ คืน

เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้โกสิยชฎิลก็ได้แสดงความนอบน้อม เคารพแด่พระองค์อย่างยิ่ง โดยกระทำ นมัสการ (กราบไหว้) พระองค์ตลอด ๗ วัน ๗ คืนเช่นกัน

ครั้นพระศาสดาทรงออกจากสมาธิแล้ว ได้ตรัสกับโกสิยชฎิล

"ท่านจงกระทำให้มากในพุทธานุสสติ(ระลึกถึงพระพุทธเจ้า) อันยอดเยี่ยมกว่าภาวนา (การทำให้ เกิดผล) ทั้งหลาย จะทำใจให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ แล้วท่านจะได้รื่นรมย์อยู่ในเทวโลก (โลกของคน จิตใจสูง) ๒๐,๐๐๐ กัป(ชาติที่เกิด) จะได้เป็นจอมเทพ(หัวหน้าของคนจิตใจสูง) ๘๐ ครั้ง จะได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ครั้ง จะได้เป็นพระเจ้าประเทศราช(เจ้าแห่งเมืองขึ้น) นับครั้งไม่ถ้วน และใน ๑๐๐,๐๐๐ กัป จะได้ชื่อว่า สุภูติ เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า โคดม เป็นสาวก ผู้เลิศในสองด้าน คือ เป็นทักขิไณยบุคคล (บุคคลผู้ควรได้รับการทำบุญ) และเป็น ผู้อยู่โดยไม่มีข้าศึก (อรณวิหาร)"

ตรัสจบแล้ว พระศาสดาก็เสด็จจากไป

โกสิยชฎิลมีจิตเบิกบานยิ่งนักในคำพยากรณ์ของพระศาสดา ได้กระทำให้มาก ในพุทธานุสสติ ทุกเมื่อ จวบจนตลอดชีวิต ด้วยกุศลกรรม ที่ทำดีไว้แล้วนั้น จึงได้เวียนตายเวียนเกิด อยู่ในภพน้อย ภพใหญ่ ด้วยสุคติ (ทางดำเนินไปดี) เป็นดังที่พระศาสดาตรัสไว้

จนกระทั่งถึงยุคสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม ก็ได้เกิด เป็นบุตรของ สุมนเศรษฐี ในนคร สาวัตถี ของแคว้นโกศล แล้วก็เป็นน้องชาย ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขาได้ชื่อว่า สุภูติ

มีอยู่คราวหนึ่ง เป็นวันที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ถวายวัดเชตวัน แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในวันนั้น สุภูติ ก็ร่วมอยู่ด้วย เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนา ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็บังเกิด ความเลื่อมใส ยิ่งนัก จึงขอบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา

บวชแล้วก็พากเพียรบำเพ็ญสมณธรรม(ข้อปฏิบัติของสมณะ) เจริญวิปัสสนา (ฝึกอบรมปัญญา ให้เกิด ความรู้แจ้งเห็นจริง) และกรรมฐาน (วิธีปฏิบัติลดละกิเลส อย่างเหมาะสมกับฐานะ) กระทำฌาน (อาการจิตแน่วแน่ สงบจากกิเลส) อยู่

วันหนึ่ง สุภูติภิกษุได้นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง เข้าสมาธิอันไม่มีวิตกอยู่ ในที่ไม่ไกลพระผู้มี-พระภาคเจ้า ครั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรแล้ว ทรงเปล่งอุทานออกมา

"ผู้ใดกำจัดวิตกทั้งหลายได้แล้ว ถอนขึ้นด้วยดีแล้ว ไม่มีส่วนเหลือในภายใน ผู้นั้นพ้นกิเลส เครื่องข้องเกี่ยว ได้แล้ว มีความสำคัญนิพพานเป็นอารมณ์ พ้นโยคะ ๔ (กิเลสที่ผูกใจไว้ในความเกิด คือ ๑.กาม ๒.ภพ ๓.ทิฏฐิ ๔.อวิชชา) ได้แล้ว ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก"

นั่นคือพระสุภูติเถระได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งแล้ว มีคุณวิเศษคือ ปฏิสัมภิทา๔ (รู้แตกฉาน ๔ ด้าน) วิโมกข์๘ (สภาวะจิตหลุดพ้นจากกิเลส ๘ ขั้นตอน) และอภิญญา ๖ (ความรู้ อันวิเศษยิ่ง ๖ อย่าง ที่ทำให้กิเลสหมดไป)

หลังจากพระสุภูติเถระได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ก็ออกจาริก(เดินทาง) ไปตามชนบทต่างๆ เพียรบำเพ็ญ ประโยชน์แก่ชนหมู่มาก กระทั่งถึง กรุงราชคฤห์ นครหลวงของแคว้นมคธ

พระเจ้าพิมพิสารราชาแห่งแคว้นมคธ ทรงสดับการมาของพระสุภูติเถระแล้ว เสด็จไปหา ด้วยความเคารพ เลื่อมใส ทรงนิมนต์พระเถระว่า

"นิมนต์พระคุณเจ้าผู้เจริญ โปรดพำนักอยู่ในที่นี้เถิด ข้าพเจ้าจะสร้างที่อยู่ถวาย"

แต่หลังจากเสด็จกลับไปแล้ว พระราชาก็ทรงลืมเรื่องสร้างที่พำนักนี้ พระเถระต้องอาศัยอยู่อย่าง ไม่มีที่ พำนัก ตากแดดตากลม ทั้งวันทั้งคืน ในที่แจ้ง ลำบากยิ่งนัก

ด้วยผลแห่งเหตุนี้ ทำให้ฝนไม่ตก

เมื่อฝนแล้ง ชาวนาชาวไร่ก็ลำบาก พากันเดือดร้อนไปทั่ว จึงรวมตัวกันร้องทุกข์กับ พระราชา พระองค์ ก็ทรงใคร่ครวญหาเหตุนั้น

"ทำไมหนอฝนจึงไม่ตกเลยระยะนี้"
พอดีทรงฉุกคิดขึ้นมาได้
"ชะรอยพระเถระต้องอยู่กลางแจ้ง ฝนจึงไม่ตก เพราะเราลืมสร้างกุฎี (กระท่อมที่อยู่ของนักบวช) เป็นแน่แท้"

ทรงดำริเช่นนั้นแล้ว รีบรับสั่งให้สร้างกุฎีมุงด้วยใบไม้ถวายพระเถระโดยเร็ว เสร็จแล้ว ได้นิมนต์ พระเถระว่า

"พระคุณเจ้าผู้เจริญ นิมนต์ท่านพำนักในกุฎีนี้เถิด"

พระเถระก็รับคำ แล้วเข้าพำนักในกุฎี นั่งขัดสมาธิบนที่นั่งซึ่งปูลาดด้วยหญ้า ตั้งจิตกำหนดใจเมตตา หมายบำบัดทุกข์ภัยแก่มหาชน แล้วจึงกล่าวว่า

"ดูก่อนฝน กุฎีของเรามุงบังดีแล้ว มีเครื่องป้องกันอันสบายมิดชิดดี ท่านจงตกลงมา ตามสะดวกเถิด จิตของเรา ตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง เราเป็นผู้มีความเพียรอยู่ เชิญตกลงมาเถิดฝน"

สิ้นคำประกาศ หยาดฝนก็โปรยปรายตกลงมาทันที ทำให้แผ่นดินชุ่มฉ่ำ ทั่วถึง มหาชน พากันดีใจยิ่ง

ก็ด้วยความมีเมตตา(จิตปรารถนาให้คนอื่นเป็นสุข)นี้เอง ไม่ว่าไปที่ใด พระเถระก็แสดงธรรม แก่มหาชน ทั่วหน้าอย่างเมตตายิ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้ าจึงทรงแต่งตั้งท่านไว้ ในตำแหน่ง ผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งปวงในด้าน เป็นผู้อยู่โดยไม่มีข้าศึก (อรณวิหาร)

และก็ด้วยการเที่ยวบิณฑบาต อย่างมีเมตตายิ่งทั้งกายวาจาใจ ปรารถนาให้ผู้ทำบุญ ทั้งหลาย ได้รับ ผลบุญมาก นี้เองพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแต่งตั้งท่านไว้ในตำแหน่ง ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งปวง ในด้าน ทักขิไณยบุคคล (บุคคลผู้ควรได้รับการทำบุญ)

ณวมพุทธ
อาทิตย์ ๕ ก.ย.๒๕๕๓
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ "สุภูติสูตร" ข้อ ๑๔๓
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ "สุภูติเถรคาถา" ข้อ ๑๓๘
พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ "สุภูติเถราปทาน" ข้อ ๒๓
อรรคกถาแปลเล่ม ๗๑ "สุภูติเถราปทาน" หน้า ๖๗)

(สารอโศก อันดับ ๓๑๗ หน้า ๙๔-๙๗ เดือน มีนา- พฤษภาคม ๒๕๕๓)