จากโลกียะสู่โลกุตระ
       น.ส.ปานปั้น ศรัญยกูล
       ชื่อเดิม          กุลยา แซ่ตัน          
       เกิด              ๒ พฤศจิกายน  ๒๔๙๓   
       ภูมิลำเนา      ภูเก็ต
       สถานภาพ    โสด           
       พี่น้อง           ๙ คน เป็นคนที่ ๔
       การศึกษา      - ศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาษาอังกฤษ)
                             มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
                           - ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การสอนภาษาอังกฤษ
                             เพื่อวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี)
                             มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี
       อาชีพเดิม        รับราชการ ที่ โรงเรียนสตรีภูเก็ต
                             - สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                             - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

ปี๒๕๒๖ เมื่อไปชมรมมังสวิรัติฯ ที่สวนจตุจักร และถามพี่สาวว่า นั่นพันเอก จำลอง ศรีเมือง (ยศในตอนนั้น) ใช่ไหม ที่กำลังจัดหนังสืออยู่ บังเอิญท่านได้ยิน ก็หันมายิ้ม ถามว่า รู้จักผมหรือ แล้วก็เรียกคุณศิริลักษณ์ ภรรยาของท่าน มาแนะนำให้รู้จักด้วย หลังจากนั้น ท่านมอบหนังสือ ของชาวอโศก ให้หลายเล่ม รู้สึกประทับใจ ในอัธยาศัย และความกรุณา ของท่านมาก กลับไปอ่านหนังสือ เหล่านั้นอยู่ ๖-๗ เดือน ก็ตัดสินใจ เป็นนักมังสวิรัติ ตลอดชีวิต

ต่อมา เมื่อมาเรียนต่อ และย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯ ก็แวะเวียนมาสันติอโศก เพื่อฟังธรรม และซื้อเท็ป ซื้อหนังสือ ไปศึกษาธรรมะ และพยายามถือศีลห้า ให้เคร่งครัดขึ้น ไปร่วมงาน พุทธาภิเษกฯ และงานปลุกเสกฯ บ้างเท่าที่จะจัดสรร เวลาได้ ประทับใจ คำสอนของพ่อท่าน ที่ไม่เหมือนใคร เพราะท่านพูด จากสภาวะจริง ที่ท่านมี แม้จะฟังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็คลายสงสัย ได้หลายเรื่อง และเมื่อฟังซ้ำ หลายครั้งๆ ก็เข้าใจมากขึ้น จนเกิด ความมั่นใจว่า พุทธธรรม อย่างนี้เท่านั้น ที่จะช่วย ให้เราพ้นทุกข์ พ้นวัฏสงสารได้ ถ้าเราปฏิบัติได้ถูกตรง และจริงจัง

ปี ๒๕๔๔ ได้รับการอนุมัติ ให้ลาออก จากราชการได้ หลังจากยื่นใบลาออก เป็นครั้งที่ ๓ ที่ลาออก ก็เพราะ กลัวว่าตนเอง จะตายก่อน ที่จะได้เข้ามาปฏิบัติธรรม กับชาวอโศก จากนั้น ก็มาสมัครทำงาน ที่บริษัทฟ้าอภัย ได้ช่วยพิสูจน์อักษร อยู่ไม่กี่วัน ก็เจอศิษย์เก่า ที่เคยสอน ตอนอยู่ที่สตรีภูเก็ต มาขอร้อง ให้ไปช่วยงานของเขา ซึ่งเป็นงานสะสางบัญชี ที่บ้านราชฯ เมืองอุบล เขาบอกว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องทำ จึงไปกับเขา จำได้ว่า ช่วงนั้น ไปช่วย งานบัญชี เป็นหลัก ตั้งแต่เช้ายันดึก และสอนภาษาอังกฤษ ใหันักเรียนบ้าง ไม่ได้เน้น เรื่องการศึกษา ปฏิบัติธรรม อย่างที่คิดหวังเลย

ปี ๒๕๔๕ ได้ไปสังฆสถานทักษิณอโศก (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ทะเลธรรม) ที่จ.ตรัง พี่น้อง ญาติธรรม ขอร้องให้ไป อยู่ประจำที่นั่น เพราะเป็นช่วง ที่กำลังอบรม เกษตรกรของ ธ.ก.ส. นับเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ต้องลุยงานหนัก กับสิ่งที่ไม่เคย ทำมาก่อน ทั้งขุดดิน ขนทราย ดำนา เกี่ยวข้าว ล้างส้วม ฯลฯ และงานเป็นวิทยากร เป็นพิธีกร ที่ต้องทั้งพูด ทั้งร้อง ทั้งรำ ซึ่งไม่เคยคิดว่า ตัวเองจะทำได้ เพราะไม่เคยกล้า แสดงออกขนาดนี้ แต่คิดว่า น่าจะเป็น อานิสงส์ จากการฟังธรรม และการปฏิบัติธรรม ท่ามกลาง หมู่มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ที่ทำให้สามารถ พัฒนาตน เพื่อทำประโยชน์ แก่ส่วนรวม ได้มากขึ้น

ปี ๒๕๔๘ งานอบรมต่างๆ เริ่มน้อยลง จึงย้ายมาทำงาน ที่ศูนย์ข้อมูล ที่สันติอโศก งานที่ทำ มีทั้งงาน พิสูจน์อักษร แปลเอกสาร ที่ใช้ในงานวิจัย เก็บประวัติชาวอโศก สอนภาษาอังกฤษ นักเรียนสัมมาสิกขา กลุ่มพิเศษ และรับโทรศัพท์ รวมทั้งช่วยกันทำ หลักสูตร ที่จะใช้ ในระดับ อุดมศึกษา ที่กำลังดำเนินการก่อตั้ง ต่อมาคณะทำงาน ศูนย์ข้อมูล เริ่มลดจำนวนลงเรื่อยๆ จาก ๕ คน เป็น ๓ เป็น ๒ ตามลำดับ เพราะความจำเป็น ของครอบครัว และปัญหาสุขภาพ และสุดท้าย ก็เหลือคนเดียว จึงมีบ่อยครั้ง ที่ต้องทั้งสอน ถอดเท็ป เรียบเรียงบทความ และรับโทรศัพท์ไปด้วย หรือทำงาน เก็บประวัติ ชาวอโศกไปด้วย รวมทั้ง แปลเอกสารให้ด้วย เท่าที่เวลาอำนวย 

วันนี้ ยังมีความผาสุกดีกับ การช่วยทำงานฟรี และเชื่อว่าการมีงานหลายอย่าง มีข้อดีตรงที่ ช่วยให้ ไม่ค่อยรู้จัก กับความเหงา และอาการวัยทอง ก็ไม่มายุ่งกับเรา ตอนเช้า หลังจาก สวดมนต์เสร็จ ก็ไปช่วยงาน จัดเตรียมผัก ให้แม่ครัวที่ ชมร. หรือช่วยจัดผัก เพื่อเตรียมขาย ที่ร้านกู้ดินฟ้า และถ้ามีโอกาส ก็จะไปช่วยงานแยกขยะ ที่ สขจ. (สถาบันขยะวิทยา ด้วยหัวใจ)ด้วย เพราะงานเหล่านี้ ช่วยให้มีโอกาส พบปะพูดคุย เพิ่มพูนมิตรภาพ กับญาติธรรม ทั้งเก่าและใหม่ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ ในการปฏิบัติธรรม

ปัญหาและอุปสรรค ในการปฏิบัติธรรม
ขาดการปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ในหลายเรื่อง เช่น การกินมื้อเดียว เนื่องจาก ติดนิสัย กินจุบจิบ และติดขนมหวาน การบันทึก การตรวจศีล การจัดข้าวของเครื่องใช้ ให้เป็นระเบียบ เรียบร้อย การเข้าร่วมประชุม และความอ่อนน้อมถ่อมตน ฯลฯ และ อุปสรรค ที่สำคัญที่สุด คือชอบอ้างเหตุผล เข้าข้างกิเลสตน ในการทำ สิ่งที่ไม่ควรทำ และไม่ทำ สิ่งที่ควรทำ

แนวทางแก้ไข
หมั่นฟังธรรม และตรวจกิเลส ตามไปด้วยเสมอ ฝึกล้างกิเลส เช่น กำหนดกิน ไม่เกินวันละ ๒ มื้อ บันทึกการตรวจศีล สัปดาห์ละครั้ง ไปทำงานที่ชมร.ทุกวัน เพื่อฝึกยอม ทำตามคำสั่ง ของทุกคน  พยายามมีสำนึก ให้สติรู้เท่าทันอารมณ์ และปรับเปลี่ยน มโนกรรม ให้สุจริต ให้มากที่สุด เป็นต้น แม้การกระทำทั้งหลายทั้งปวงนี้ จะยังล้มลุกคลุกคลาน แต่ก็จะพยายามต่อไป เพราะมั่นใจแล้วว่า ไม่มีธรรมะใด เสมอด้วยพุทธธรรม ในการนำพาสัตว์ ให้พ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง

ข้อปฏิบัติที่คิดว่ายากที่สุด
การมีสติรู้เท่าทันอารม ณ์และการเอาชนะ กิเลสของตน เห็นจากตัวเอง ที่ขนาด ตั้งใจฝึก ความอ่อนน้อม ถ่อมตน จะยอมให้คนอื่นใช้ โดยไม่โต้แย้ง แต่หลายครั้ง ก็ยังปฏิเสธ งานนั้นงานนี้ หรือบางที ก็แสดงอาการ ไม่ให้ความร่วมมือ กว่าจะคิดได้ กิเลสก็เริ่ม จะโตอีกแล้ว ขนาดอารมณ์ชัง ที่รู้เห็นง่าย ยังแก้ไม่ค่อยทัน จะกล่าวไปไยกับ การแก้ไข อารมณ์ชอบใจ ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะแม้แต่จะรู้เห็น มันก็ยังยากยิ่งนัก

คติประจำใจ
ทำงานให้เกิดประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ทุกเวลา ด้วยจิตที่รู้ตื่น เบิกบานเสมอ

เป้าหมายชีวิต
พากเพียรลดละกิเลส เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณ สู่ความเป็นพุทธบริษัท ที่แท้จริง

ข้อคิดข้อฝากให้หมู่กลุ่ม
อยากให้ทุกคนได้อ่าน  “คนคืออะไร ทำไมสำคัญนัก”  เพราะยิ่งอ่านซ้ำ จะยิ่งเข้าใจกิเลส และจิตวิญญาณ ของตนมากขึ้น ประทับใจ ที่พ่อท่านอธิบาย ด้วยภาษา ที่ไม่ซับซ้อน และ เรียบเรียง เป็นขั้นเป็นตอน ตามลำดับ ใครมีไว้แล้วยังไม่ได้อ่าน จะยิ่งน่าเสียดายที่สุด

 

สารอโศก อันดับ ๓๓๖ ต.ค.-พ.ย.๒๕๕๗ หน้า ๖๒-๖๔