น้ำฉี่ ดีจริงหรือ ตอน...
น้ำปัสสาวะรักษาโรคได้จริง หรือ ?
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 231ฉบับ เดือนธันวาคม 2543
หน้า 1/1

ฉบับนี้ เป็นบทความพิเศษ จากหนังสือ “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ ๒๔๐ เม.ย. ๒๕๔๒ น้ำปัสสาวะรักษาโรคได้จริง หรือ ?

ในช่วงหลายปีมานี้ มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เปิดเผยตัวเองว่า ดื่มน้ำปัสสาวะเป็นประจำแล้วรู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น ในหลายประเทศก็มีกระแสตื่นตัวในเรื่องนี้ จนมีการกล่าวอ้างกันว่าในปัจจุบัน มีผู้คนทั่วโลก นับล้านๆ คนที่ปฏิบัติในเรื่องนี้ มานำเสนอให้ได้รับทราบกัน

ในทีนี้จึงใคร่รวบรวม เรื่องราวต่างๆ และทัศนะ ของ ผู้คนที่เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

ความเชื่อแต่โบราณ

มีบันทึกนับย้อนหลังนานนับพันปี ว่าตำรับยาโบาราณในประเทศจีนและอินเดีย มีการใช้น้ำปัสสาวะเด็กมาทำเป็นยากระสาย หรือ ตัวละลายยา

ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุก็มีการใช้น้ำปัสสาวะ (น้ำมูตร) ดองลูกสมอ หรือ มะขามป้อม ไว้ฉันเป็นยารักษาโรค

ในวัฒนธรรมกรีกและโรมัน ก็มีบันทึกว่ามีการใช้น้ำปัสสาวะเป็นยารักษาโรค

ในสารานุกรมที่ตีพิมพ์ในเยอรมนีเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๐ ก็มีการกล่าวถึง สูตรยาผสมน้ำปัสสาวะใช้ทารักษาอาการผมร่วง ใช้หยอดตารักษาอาการเจ็บตา ใช้กลั้วคอ แก้อาการเจ็บคอ ใช้ดื่มรักษาโรคดีซ่าน เป็นต้น

ความเชื่อของคนไทยแต่โบราณก็มีในทำนองเดียวกัน ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน และมีการปฏิบัติกันอยู่ในคนบางกลุ่ม เช่น การใช้ผ้าอ้อมชุบน้ำปัสสาวะเด็กแล้วกวาดลิ้นเด็กเพื่อแก้อาการฝ้าขาว เพื่อบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ก็ค่อยๆ จางหายไป ท่ามกลางความก้าวหน้าทางวิทยาการแผนใหม่

หากมีใครกล่าวอ้างว่า น้ำปัสสาวะเป็นยารักษาโรค ผู้คนก็จะมองว่า เป็นสิ่งสกปรก ไร้สาระ

แล้วอยู่ๆ ทำไมจึงเกิดกระแสนิยมระลอกใหม่เกิดขึ้นในช่วงนี้กันเล่า

นับย้อนหลังเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ ท่านนายกรัฐมนตรีของอินเดียในขณะนั้น ที่มีชื่อว่าโมราลจี เดซาย วัย ๘๑ ปีประกาศว่า ท่านได้ดื่มน้ำปัสสาวะบำรุงสุขภาพมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และญาติพี่น้องของท่านก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน

ท่านผู้นี้ได้มีอายุยืนยาวต่อมาอีกหลายปี และได้ให้การสนับสนุนแก่ขบวนการรณรงค์ดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อสุขภาพ ท่านมีอายุ ๙๙ ปี (ถึงแก่กรรมเมื่อปี ๒๕๓๘)

ในวงการดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อสุขภาพ หรือ ”ปัสสาวะบำบัด” (urine therapy) ทั่วโลกจึงยกท่านเป็นตัวอย่าง และถือว่าท่านเป็นบิดาแห่งวงการปัสสาวะบำบัดในยุคโลกาภิวัตน์

ต่อมาในปี ๒๕๓๕ มีนายแพทย์อาวุโส (อายุ ๘๐ ปี) ชาวญี่ปุ่น ชื่อนายแพทย์เรียวอิจิ นากาโอะ ผู้ซึ่งสนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องปัสสาวะบำบัด ได้เดินทางมาเผยแพร่ที่กรุงเทพฯ ยืนยันว่า น้ำปัสสาวะเป็นยาวิเศษ การดื่มน้ำปัสสาวะตนเอง สามารถรักษาโรคได้สารพัด รวมทั้งโรคยากๆ เช่น มะเร็ง และโรคเอดส์ ทำให้กลายเป็นข่าวเกรียวกราวในสังคมอยู่พักใหญ่ และมีการโต้แย้งอย่างคึกคัก ระหว่างฝ่ายที่เชื่อกับฝ่ายที่ไม่เชื่อ

ในปัจจุบัน ถ้าเปิดอินเตอร์เนต จะพบข้อมูลเกี่ยวกับน้ำปัสสาวะบำบัดอยู่มากมาย โดยจัดอยู่ในแขนงหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า ”การแพทย์ทางเลือก” (alternative medicine) อันหมายถึงระบบการแพทย์ที่อยู่นอกระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่กว่า ๒๐๐ แขนงด้วยกัน (เช่น เรื่องของแมกโครไบโอติกส์ การฝังเข็ม โยคะ สมุนไพร พลังจักรวาล การสัมผัสรักษาโรค เป็นต้น)

มีการกล่าวอ้างกันว่า ในปัจจุบันมีผู้ที่หันมาปฏิบัติในเรื่องปัสสาวะบำบัดเป็นประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น (กล่าวว่ามีอยู่ ๒ ล้านคน) , เยอรมนี (๕ ล้านคน) , สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

มีหนังสือเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งไทยและเทศตีพิมพ์ออกมาเผยแพร่อยู่หลายเล่ม ซึ่งกล่าวอ้างว่าปัสสาวะเป็นยามหัศจรรย์ สามารถรักษาโรคได้สารพัด ตั้งแต่อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (เช่น ตาอักเสบ บาดแผลไฟไหม้ ฟกช้ำดำเขียว โรคแพ้อากาศ โรคเชื้อราที่ผิวหนัง โรคหืด ฯลฯ) ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย สามารถเอาชนะโรคหวัดเรื้อรัง ไข้หวัดใหญ่ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ โรคกระเพาะ จนกระทั่งสามารถรักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคหืด โรคหัวใจ วัณโรค หรือ โรคร้าย เช่น มะเร็ง และเอดส์ได้

หนังสือเหล่านี้ได้ยกตัวอย่างผู้คนที่หายจากโรคด้วยการดื่มน้ำปัสสาวะตนเอง ทำให้น่าเชื่อถืออย่างยิ่ง

นอกจากนี้ มีหลายประเทศได้มีการประชุมสัมมนาระดับชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อปี ๒๕๓๙ และมีการประชุมนานาชาติ ว่าด้วยปัสสาวะบำบัดเป็นครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย มีผู้เข้าประชุม (รวมทั้งแพทย์แผนปัจจุบันบางท่าน) ร่วม ๖๐๐ คน และกลางปีนี้จะมีการประชุมนานาชาติครั้งที่ ๒ ที่ประเทศเยอรมนี

ท่ามกลางกระแสนิยมนี้ ก็มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เชื่อและหันมาลงมือปฏิบัติในเรื่องนี้ ดังคำให้สัมภาษณ์ของบุคคลต่างๆ ในหนังสือ “สิ่งมหัศจรรย์แห่งยุคสมัย” ของคุณมานพ อุดมเดช และใน หมอชาวบ้านฉบับนี้

ความเชื่อที่ยังหาข้อยุติไม่ได้

เฉกเช่น กระแสนิยมในเรื่องชีวจิต และพลังจักรวาลที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา การดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อสุขภาพ (ปัสสาวะบำบัด) ก็ยังเป็นเรื่องที่โต้เถียงขัดแย้งไม่มีข้อยุติ ในที่นี้ขอนำทัศนะของ ๒ ฝ่าย มาสรุปเปรียบเทียบให้เห็น

ฝ่ายที่เชื่อในเรื่องนี้ มีข้อสรุปดังต่อไปนี้

๑. น้ำปัสสาวะเป็นของสะอาด มีสารประกอบนับร้อยชนิด ทั้งเกลือแร่ ฮอร์โมน เอนไซม์ สารต้านทานโรค (เช่น อินเตอร์เฟรอน) ที่กลั่นมาจากเลือด จึงไม่มีพิษต่อร่างกาย สามารถใช้ดื่ม หยอดตา หยอดจมูก บ้วนปาก ทานวด รักษาโรคได้แทบทุกระบบ รวมทั้งเป็นยาอายุวัฒนะ ใช้บำรุงสุขภาพของคนปกติทั่วไป

๒. มีความเชื่อและสมมุติฐานว่า น้ำปัสสาวะมีสารต่างๆ ที่สามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ แม้ว่าสารเหล่านี้จะมีเจือจาง แต่ดื่มเข้าไปแล้วจะเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการปรับดุลจนสามารถเยียวยารักษาโรคที่มีอยู่ในร่างกายได้

๓. มีตัวอย่างของคนไข้มากมายที่หายจากโรคต่างๆ ยืนยันถึงประสิทธิผลของน้ำปัสสาวะให้เห็นจริงๆ

๔. น้ำปัสสาวะเป็นยาราคาถูกที่สุดในโลก (ไม่ต้องซื้อต้องหา) ผู้คนสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองอย่างง่ายดาย ไม่ต้องให้หมอสั่ง หรือ ตรวจรักษา จึงเป็นวิธีการที่ช่วยให้ประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างเต็มที่

๕. ทราบดีว่า มีข้ออ่อน คือ ยังขาดการทดลองวิจัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ในการยืนยันผลดีของปัสสาวะบำบัด จึงมีความพยายามจะหาทางพิสูจน์ในเรื่องนี้ต่อไป โดยหลายประเทศได้มีการตั้งศูนย์วิจัยในเรื่องนี้กันแล้ว

ส่วนฝ่ายที่ยังไม่เชื่อ หรือ มีความกังขาในเรื่องนี้ ก็มีข้อสรุปได้ดังนี้

๑. ยอมรับว่าน้ำปัสสาวะของคนปกติทั่วไป มีสารต่างๆ ที่ออกมาจากเลือด ไม่มีเชื้อโรคเจือปน (ซึ่งแตกต่างจากอุจจาระที่มีเชื้อโรคอยู่มากมาย) ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ก็จะมีเชื้อโรคอยู่ ดังนั้น การดื่มน้ำปัสสาวะของคนปกติทั่วไปจึงไม่มีอันตรายต่อร่างกาย (หากไม่รู้สึกรังเกียจว่าเป็นสิ่งขับถ่าย)

๒. แต่สารต่างๆ ในน้ำปัสสาวะ แม้แต่สารต้านทานโรค (เช่น อินเตอร์เฟรอน ดังที่กล่าวอ้าง) นั้น ก็มีปริมาณที่เจือจางมาก ยังน้อยกว่าที่มีอยู่ในเลือด ดังนั้นการดื่มน้ำปัสสาวะกลับเข้าไปในร่างกาย จึงไม่น่าจะมีผลต่อการบำบัดรักษาโรค ส่วนความเชื่อ หรือ สมมติฐานที่นักปัสสาวะบำบัดสันนิษฐานกันนั้น ยังเป็นเพียงความเชื่อยังไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นความจริง

๓. ตัวอย่างคนไข้ที่เล่าขานกันนั้นอาจหายจากโรคจริง แต่ก็ไม่มีน้ำหนักพอเพียงที่จะบอกว่า หาย เพราะผลของการบำบัดด้วยน้ำปัสสาวะ

การหายของโรค หรือ ความรู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้นนั้น อาจเป็นผลมาจากจิตใจ (พลังจิต) ซึ่งวงการแพทย์ ยอมรับว่าเป็นปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพอยู่ไม่น้อย พลังจิตนั้นอาจมาจากการฝึกสมาธิ การมองในเชิงบวก การปลุกเร้าจิตใจตัวเอง ความศรัทธาต่อวิธีการ (พิธีกรรม) อะไรบางอย่าง

วงการแพทย์มีคำว่า ”ผลยาหลอก” (placebo effect) ซึ่งหมายถึง การให้คนไข้กินยาหลอกๆ แต่ถ้าเชื่อว่าเป็นยาจริงๆ ก็ทำให้เกิดพลังจิตกล้าแข็ง ทำให้โรคทุเลา หรือ หายได้

นอกจากนี้คนไข้บางคนอาจมีการรักษา โดยวิธีอื่นร่วมกันไป การหายของโรคจึงบอกไม่ได้ชัดว่ามาจากปัสสาวะบำบัด โดยตรงเพียงอย่างเดียว

กลุ่มคนที่มีจิตใจแก่กล้าถึงขั้นลงมือดื่มปัสสาวะ (ที่คนทั่วไปขยะแขยง) ได้นั้น ย่อมเป็นผู้ที่มีความสำนึกในเรื่องสุขภาพสูง มักมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีเป็นพื้นฐาน เช่น ออกกำลังกาย ทำสมาธิ กินอาหารสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่เที่ยวกลางคืน ฯลฯ จึงเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีเป็นทุนเดิม การที่ดื่มน้ำปัสสาวะแล้วรู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น อาจเป็นเพียงอุปาทานเท่านั้นเอง

๔. หนทางที่จะทำให้เกิดการยอมรับในเรื่องปัสสาวะบำบัด (รวมทั้งการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ ) นั้น อยู่ที่ต้องหาทางพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ตามแบบการทดลองยาของแพทย์แผนปัจจุบัน มิใช่พิจารณาจากกรณีคนไข้เฉพาะรายเพียงไม่กี่คน

ซึ่งเรื่องนี้คงต้องอาศัยนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจ ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยจนพิสูจน์ให้ได้ชัดเจน บางครั้งคำตอบอาจบอกว่า ปัสสาวะบำบัดมีประโยชน์ในบางแง่มุม และความเชื่อในบางด้านก็อาจเป็นความเท็จก็ได้

ทิ้งท้ายให้คิด

เรื่องนี้ก็เฉกเช่น เรื่องชีวจิต พลังจักรวาล และการแพทย์ทางเลือกต่างๆ ที่ต้องอาศัยการไตร่ตรองอย่างมีวิจารณญาณ ต้องใช้หลักกาลามสูตร (ที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ) จนกว่าจะมีการพิสูจน์ยืนยันจากข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน

การดูแลสุขภาพในคนปกติทั่วไป ยังต้องอาศัยพฤติกรรมสุขภาพหลายๆ ด้านประกอบกัน มิใช่ พึ่งพาวิธีการอันใดอันหนึ่งเพียงอย่างเดียว.

 

น้ำฉี่ดีจริง หรือ ? (สารอโศก อันดับ ๒๓๑ หน้า ๕๑ - ๕๔ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๓)