โพธิรักษ์ กับโพธิกิจ ๖

๓๔
สืบสานศาสนานานเท่านาน

ถ้าเราไม่เข้าใจชีวิต ไม่รู้หลักสัจธรรม เราก็จะดิ้นรน แสวงหาเงา ไขว่คว้าหามายา แล้วก็หลงนึกว่า เป็น "ความสุขวิเศษ"

เมื่อเริ่มเข้าใจชีวิต ได้ปลดปล่อยปลงวางสู่ "โลกุตระ" เป็นความสุขสงบจาก การตัดขาดสิ่งติดยึด หลุดพ้น จากสิ่งอร่อย ของชอบ ตั้งแต่อะไร? ก็แล้วแต่บุคคล ลดละมาได้เรื่อยๆ จนหมดภาระ ไม่ต้องวนเวียน เกี่ยวข้อง ไม่ต้องอาลัย อาวรณ์ ไม่เอาทรัพย์สมบัติใดๆ ในโลกอีก ไม่เกิดรสอร่อยยินดีปรีดาอีก และ ไม่ หลงพฤติกรรม -วาจากรรม -มโนกรรม ยังเป็น "ทุจริต" อยู่ ก็รู้เท่าทัน

แม้จะต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุต่างๆ ตั้งแต่ ข้าวของ เงินทอง สมบัติ บ้านเมือง แผ่นดิน ฯ ก็ไม่หลง ไม่แย่งชิง ทำให้เราเป็น"ทาส" อีกไม่ได้แล้ว จึงเป็นผู้ชนะแล้ว อยู่เหนือ ตั้งแต่วัตถุโลก จนถึงพฤติกรรม

อย่างอาตมาไม่เอาจริงๆ แม้จะให้เป็น "เจ้าแผ่นดิน"! อาตมาจะบำเพ็ญธรรม เป็นพระโพธิสัตว์ ที่ยิ่งใหญ่ ขึ้นๆ ต่อไปเป็นมหาโพธิสัตว์ เป็นบรมโพธิสัตว์ จนเป็น "พระพุทธเจ้า" มีพฤติกรรมอันดี มีความรู้อันยิ่ง มีบทบาท อันเยี่ยม เป็นคุณค่าแก่ มนุษยโลก ก็จะหลงว่า "สิ่งนี้ เป็นของเราไม่ได้"

"พระพุทธเจ้า" มีพฤติกรรมอันเยี่ยมยอดที่สุด ก็ทรงพฤติกรรมนั้น เท่าอายุขัย ที่จะทำงานไป แล้วพระองค์ ก็ไม่ได้ติดยึดว่า "เป็นของเรา"

"ดี" ก็ "ดี" อยู่ในโลก ฝากฝังไว้ในโลก ไม่อาลัยอาวรณ์อีก

ผู้รู้ตัวจบ มี "อรหัตตผลของตัว" จะตั้งจิตเกิดอีก ก็นิมนต์!

อรหันต์ และ โพธิสัตว์ ไม่ใช่สิ่งที่แยกกัน แต่เป็นสิ่งเสริมกัน

ถ้ายังไม่ได้อรหัตตผล มาสอน ก็สอนผิด บิดเบี้ยวไปตามกิเลส ที่ยังเหลืออยู่

ผู้ใดมี อรหัตตผล แล้ว แม้ขนาดโสดา -ก็สอนโสดา เป็นสกิทา -ก็สอนสกิทา เป็นอนาคา -ก็สอนอนาคา เป็น "พระอรหันต์" ก็สอนได้หมดทุกระดับ

ระดับ "อรหันต์" ก็สอนไปตามความสามารถ ของแต่ละเจ้าของ จิตวิญญาณ รู้ความจริงในตนให้ได้ อย่าให้ผิดเพี้ยน ก็จะเป็นสิ่งที่สืบทอด งานศาสนาไปเรื่อยๆ

เพราะ "ศาสนาพุทธ" เป็นศาสนาที่ดีเยี่ยมยอดแล้ว ก็ยังมีวันเสื่อม! จึงไม่มีปัญหาอะไร สำหรับผู้รู้ว่า "ศาสนาพุทธ นั้น ไม่ใช่ศาสนา ที่จะมีอยู่ตลอดไป ชั่วนิรันดรกาล" ก็จำเป็น ต้องช่วยกัน สืบสานให้ยาวนาน ที่สุด

"ศาสนาพุทธ" จึงมีนัยะที่ละเอียด ลึกซึ้งแยบคาย รู้แม้แต่อายุกัปกาล จะตั้งอยู่ และเสื่อมไป เป็นครั้ง เป็นคราว ชัดแจ้ง ไม่ได้หลงใหลว่า "จะต้องอยู่นิรันดร์"

พุทธบริษัท จึงต้องช่วยกัน ประคับประคอง บูรณะ ให้เป็นบูรณภาพ ให้เกิดพุทธะเสมอๆ ด้วยสุด ความสามารถ ของเราไปเรื่อยๆ ก็จะก่อเกิด "พุทธบริษัท" ต่อเสริมไปเรื่อยๆ เท่าที่เรามีบารมี ผู้ใดสอนได้ ก็จงสอน! ผู้ใดยังเป็นนักเรียนอยู่ ยังสอนไม่ได้ ก็อย่าอวดเก่ง ให้พลาดพลั้ง

ผู้ที่มี "ภูมิธรรม" แล้ว สามารถสอนได้ตามภูมิ ตามระดับ แต่ไม่สอน! เพราะ ขี้เกียจ เบื่อ นี่สิ! เป็นกิเลส แท้ๆ ยังมีตัวตน ยังเห็นแก่ตัว

"วิมุติ" ที่ไม่สมบูรณ์ ยังมีตัวตนอยู่ ยิ่งถูกต่อต้าน ย้อนแย้งตอบโต้ ไม่ได้สมใจ และ ใจยอมไม่ได้ ก็จะยิ่ง เบื่อระอา ไม่อยากสอน เป็น "อิตถีภาโว"

"ผู้วิมุติ" สมบูรณ์แล้วจริง เป็น "อรหัตตผลสมบูรณ์" ต้องสอนคนอื่น

โพธิสัตว์ โพธิกิจ ต้องเกิดต่อทันที เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

สอนไม่เก่ง จนโดนเขาด่าว่าอย่างไร "พระอรหันต์ ก็ไม่มีปัญหาเลย!" นอกจากรู้ว่า "เออ! เราไม่เก่ง สอนไม่ค่อยได้ ก็เราไม่เก่ง"

เพราะฉะนั้น อาตมา "ไม่โกรธ" หรอก ที่สอนพวกคุณ แล้วคุณไม่พอใจ มาย้อนแย้ง มาต่อต้าน มาด่าเอาบ้าง มาตำหนิเอาบ้าง!

ถ้าตำหนิถูก ก็ไม่เป็นไร อาตมาก็ขอ "ขอบคุณ" แล้วคุณก็ได้ "บุญ" แต่ผู้ที่ด่าผิดๆ สิ! บาป! ผู้ใดเพ่งโทษ พระอาริยเจ้า ก็ได้นรกไป ๑๑ ขุม

อาตมารู้สึกสงสาร ทั้งพระ และ ฆราวาส ที่เพ่งโทษ เห็นอาตมาบกพร่อง สิ่งนั้น สิ่งนี้ อย่างโน้น อย่างนี้ แล้วก็แพ้ภัยตัวเอง ไม่อยากอยู่ด้วยแล้ว

อาตมาก็พยายามย้อนถามว่า "คุณเก่งกว่า ดีกว่าอาตมา แล้วหรือ?"

ก็ยอมรับนะว่า "ยัง!" ก็เอา "สิ่งดี" ของอาตมาสิ!

ทำไมไม่เพ่ง "สิ่งดี" ไปเพ่ง "สิ่งเลว" ของอาตมาทำไม?

 

๓๕
งานศาสนา ไม่สั้น

อาตมาไม่ได้ทำงานศาสนาที่สั้นๆ จู๋ๆ เป็นเถรวาทสุดโต่ง ออกป่า-เขา-ถ้ำ อยู่เฉยๆ อย่างนี้ไม่เหนือโลก แต่หนีโลก หลุดโลกออกไปสู่อวกาศ ออกไปจากวงโคจร ความดึงดูดของโลก ทิ้งห่าง ทิ้งขาด แตะไม่ติด ไม่เกี่ยว -ไม่เกาะอะไร

"หลุดพ้นโลก" ต้องหลุดพ้นด้วยวิธีอยู่เหนือ ไม่ใช่พรากห่างกัน ยังมีคุณค่าประโยชน์ -เกื้อกูล -สร้างสรร เป็น "พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ" อนุเคราะห์ เกื้อกูลโลกอยู่จริงๆ ขอยืนยัน "ศาสนาพุทธ" เป็นเช่นนั้น

อาตมาไม่มีเรื่องอื่นในชีวิต ก็พูดวนเวียนซ้ำซาก อยู่ในเรื่องของมนุษย์ เรื่องของคุณค่า เรื่องของความดีงาม เรื่องของ ความทุกข์ -เหตุแห่งทุกข์ เรื่องของการ ลดละล้าง กิเลส ตัณหา อุปาทาน โลภ โกรธ หลง

ทุกวันนี้พวกเราอยู่สบาย งานส่วนนั้นส่วนนี้ เข้าระบบ ทุกคนเอาใจใส่ ขวนขวาย ช่วยกัน คนละไม้ คนละมือ ไม่หนักไปที่ คนใดคนหนึ่ง มีความก้าวหน้า มีความเจริญ ใครทำ ก็ได้บุญ สร้างเสริมบุญขึ้น ก็ทำไป "กรรมเป็นของ ของตน" ใครไม่ได้ทำ ก็ไม่ได้ก่อบุญ ไม่ได้สร้างบุญ

สุคโต สุคติ หมายความว่า "ดำเนินไปดีได้เรื่อยๆ" ไม่ต้องมาอวยพร ขอให้ไปสู่สุคติ เพราะทุกคน ก็ต้อง เป็นไป ตามกรรม "ทุคติ หรือ สุคติ" ก็ของเขาเอง ยังไม่ถึง "ปรินิพพาน" เมื่อไหร่ ก็ยังมีวิบาก แม้ตายแล้ว ก็ต้องดำเนินไปต่อ

เรื่อง "วิญญาณ" อยู่ยังไง ไปยังไง ไม่รู้จะชี้ยังไง ก็พูดได้บ้าง เล็กๆ น้อยๆ จะให้ตรงจริง สมบูรณ์ ชัดเจน ทั้งหมด ยาก!!!

วิถีทางเดินของแต่ละคน ใครๆ ก็แล้วแต่ เมื่อแน่ใจชัดๆ เป็นสัมมาอริยมรรค เป็น "สุคติ" ที่จริงแล้ว จงเพียร อย่าหยุดยั้ง เพียรทำต่อไป ดำเนินไปอย่างดี

แม้อาตมาตายแล้ว รุ่นต้นๆ นำหน้าไปก่อน ก็ตายหมดแล้ว พวกคุณรุ่นหลังๆ ที่เห็นจริงว่า "ควรจะบากบั่น ต่อไปอีก - สร้างต่อไปอีก ก็จงทำต่อไปอีก" ถ้าแน่ใจว่า "ควรจะ สุคโต ควรจะสัมมัคคโต ควรจะดำเนินไป อย่างนี้ ให้ดีต่อไปอีกยิ่งๆ ขึ้น" ก็จงทำต่อไป เท่านั้นเอง ไม่มีทางเลือกอื่น ดีกว่านี้อีกแล้ว

จงยืนยันพิสูจน์ว่า "เราอบรมฝึกฝนตน -ปฏิบัติประพฤติตน ด้วยทฤษฎีอย่างนี้ เราก็ได้อย่างนี้ ถ้าดี... ก็ดี อย่างนี้"

คือ เรามักน้อย-สันโดษ-เลี้ยงง่าย -อยู่ง่าย -มีศีล -มีธรรม -มีศีลเคร่งได้ (ธูตะ) มีอาการที่น่าเลื่อมใส คือ อาการที่ ...ไม่โลภ -ไม่โกรธ -ไม่หลง

หรือ มีการขัดเกลา... โลภ-โกรธ-หลง ลงไปเรื่อยๆ ไม่สะสม แต่เป็นคนขยัน หมั่นเพียร สร้างสรร (วิริยารัมภะ) แล้วก็แจกจ่าย -เจือจาน มีทาน -มีบริจาค -มีการเกื้อกูล -เสียสละ ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ อย่างนี้ ให้ยิ่งๆ ขึ้น ให้จริงจังขึ้น จริงใจขึ้น แล้วคุณคิดว่า "ดีอย่างนี้ ดี ไหมล่ะ?"

ยิ่งจิตใจไม่มีกิเลส ก็ยิ่งจริงขึ้น ให้จริงๆ สละจริงๆ ไม่ต้องการอะไรตอบแทน แต่ใครจะตอบแทน - หมุนเวียน - มีกตัญญูกตเวที ตามโอกาส บริจาคให้มา ก็รับไป แล้วก็สร้างสรรต่อไป เพราะเรา ไม่สะสม กักตุน มีอะไรจะระบายออก ก็ระบายไป พัฒนาไป สร้างสรรไป กระจาย-เผื่อแผ่ -เกื้อกูล - ทานออกไป ให้ทั่วถึงกัน

การทำทาน ก็ต้องทำด้วยปัญญา ให้ได้ประโยชน์ตน - ประโยชน์ท่าน ผู้รับส่วนทาน ก็ต้องพัฒนาขึ้นด้วย เจริญขึ้นด้วย พร้อมๆ กัน

"ให้" ไม่ได้หมายความว่า "ให้...ให้เขาเลวลง"

"ทาน" ก็ไม่ใช่ว่า "คนได้รับส่วน "ทาน" นั้น เลวลง"

เราดีแล้ว ก็ต้องทำให้คนอื่นดี อย่างที่เราดี ต้องมีวิธีการ -มีปัญญา ที่จะให้คนอื่นๆ เห็นดีตาม เพิ่มพูนทวี คนดี มีเนื้อหาแห่ง "พุทธธรรม" ขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็มาเป็นคนดี อย่างนี้ ตามไปเรื่อยๆ (ศาสนาพุทธ จะรุ่งเรืองหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับ พุทธบริษัท ๔)

อายุกาลศาสนา ก็จะสืบต่อไปอีกยาวนาน!

 

๓๖
ไม่ประมาทในโพธิกิจ

อาตมาขอบอกว่า "อาตมาทำงานศาสนา อาตมาไม่ได้ทำเล่นๆ"
อาตมาพยายามทำจริงๆ อาตมาจะมีภูมิรู้ แค่ไหน อาตมาจะมีปฏิภาณ มีความสามารถอย่างไร อาตมาก็มี จิตเจตนา ทำให้ "ดีที่สุด" ด้วยเลือดเนื้อ และ จิตวิญญาณ อย่าง "ประมาท" ไม่ได้ จริงๆ

อาตมาก็ได้พยายามไม่ "ประมาท" แล้ว พยายามกระทำงานมาให้ "ดีที่สุด" แม้มีมรสุม อย่างไรๆ ผู้ที่มาอยู่ด้วย ผู้ที่ได้ฝึกปรือ ผู้ที่ได้พากเพียร เรียนรู้ตามมา ก็จะรู้จะเห็น มาตลอดเวลาว่า "อาตมานำพา ผ่านมรสุม อย่างนั้นอย่างนี้มา อาจดูจะแรง อาจจะหนัก ดูจะหนักนักหนา เท่าที่เป็นไปก็ผ่านมาได้" แต่... ทุกอย่างไม่เที่ยง ต่อไปอาจจะแรง อาจจะหนัก

ฉะนั้น อาตมาไม่ "ประมาท" ทุกคราวไป อาตมาจะต้อง กระทำไปด้วยความ สุขุมประณีต ให้ "ดีที่สุด" พยายามใช้ "ปัญญา" สูงสุด เท่าที่อาตมาจะทำได้

แม้บางทีตัดสินแล้ว ยังต้องตัดสินใหม่ เมื่อได้ข้อมูลใหม่มา "อย่างนี้ๆ" ก็ต้องเอาข้อมูล เหล่านั้น มาไตร่ตรอง มาคิด ไม่ใช่ช่างมัน ข้อมูลนี้ไม่เอา ยึดมั่นถือมั่นว่า "ตัดสินแล้ว" ทั้งๆ ที่ ข้อมูลใหม่ มีเหตุผล สูงแรงพอสมควร

อาตมาก็จะเป็นคน "ประมาท" อย่างนี้ไม่ได้เป็นอันขาด

 

๓๗
โพธิสัตว์ โพธิกิจ

อาตมาชื่อว่า "โพธิรักษ์" เกิดมาชาตินี้ เมื่อรู้ตัวว่า "เป็นโพธิสัตว์"
ก็เริ่มออกทำงาน ด้วยความตั้งใจ เพื่อที่จะสร้างสรร มนุษยชาติขึ้นมาให้ดี ให้มีภูมิปัญญา รู้จักคุณความดีงาม ของมนุษย์

เมื่อได้ก่อกลุ่ม ก่อหวอด ก่ออะไรๆ ขึ้น โดยไม่ได้ไปเกณฑ์ใคร ไม่ได้ล่า ไม่ได้ล่อ ไม่ได้หลอกให้มา อาตมาก็ได้ "เปิดเผย" ตัวเอง สูงขึ้น

อาตมาประกาศเปล่งกล่าว "อาสภิวาจา" มาแต่ต้นแล้วว่า... "อาตมาเป็นโพธิสัตว์" คำนี้เป็นสุจริต ไม่ได้เสแสร้ง

อาตมาขอยืนยันว่า "อาตมาทำงานโพธิกิจ ทำงานโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์จริงๆ" มีภารกิจมา "กอบกู้ศาสนา" โดยความเป็นจริง ไม่ได้ทำเล่น อาตมาทำงาน โพธิสัตว์มาแล้ว ไม่รู้กี่ชาติ ชาตินี้ ก็ต้องมาทำอีก ชาตินี้ทำหนัก ชาตินี้ทำยาก

อาตมาเป็น "โพธิสัตว์" ต้องทำงานขัดแย้งสังคม หลายอย่าง โดยผู้ที่ไม่มีภูมิปัญญา จะไม่รู้เลย ทำไม อาตมาไม่เป็น ดังที่เขานึกคิดว่า "ควรจะเป็นคน สุภาพเรียบร้อย ตามนัย ที่สอดคล้องกับ แม้คำตรัสของ พระพุทธเจ้า ก็ไม่เป็น"

แต่อาตมาขอยืนยันว่า "อาตมาสุภาพเรียบร้อย ที่สุดแล้ว เหมาะแก่กาละ หน้าที่ ความสมส่วนของ ความมีจริง เป็นจริง"

อาตมาสอดคล้องในความเป็น "สารีบุตร" อาตมาจึงยัง หลุกหลิก ลุกลี้ ลุกลน

อาตมาก็นึกถึง "พระอัสสชิ" อยู่เสมอ ระลึกจริงๆ ว่า "อาตมาจะต้อง ทำให้สงบ เรียบร้อย กว่านี้หนอ" อาตมา รู้อยู่ อย่างที่ทุกคนรู้ว่า "เรียบร้อย สงบเสงี่ยม กว่านี้ ดีจริงๆ" แต่ใครๆ ไม่รู้ อย่างที่อาตมารู้หรอกว่า "ทำไม? พระสารีบุตร ต้องหลุกหลิก ยังกะหนุมาน ทหารเอก ของพระราม!"

อาตมาเห็นงานอยู่ตรงหน้า อาตมาก็ต้องปรุงสร้างงาน เครื่องยนต์แห่งกรรม ของอาตมาต้องเดิน แม้แต่ กลางคืน แม้แต่นอนพัก สุดทนเท่านั้น อาตมาถึงจะพัก อย่างสนิท ถ้าไม่สุดทน อาตมาต้องเดินเครื่อง และ ทำงาน!

อาตมาเป็นบุตรของ "พระพุทธเจ้า" สุดจิต สุดใจ

อาตมาเป็นบุตรจริงๆ มาหลายกัป หลายกัลป์ อาตมาไม่ใช่ "ราหุล"

อาตมาเป็นบุตรที่แท้จริง เป็นบุตรอย่าง "สารีปุตโต" (สารีบุตร) อาตมากำลังกล่าว "ธรรมโดยธรรม" อาตมา ไม่ได้กล่าว "ปุคคลาธิษฐาน" ไม่ได้เล่นลิเกนะ

อาตมาเป็น "สารีบุตร" ของ "พระพุทธเจ้า" โดยแน่แท้ อาตมาได้ทำงานนี้มา หลายชาติแล้ว ไม่ใช่ชาตินี้ เป็นชาติแรก และชาตินี้ก็มาทำต่อ และยังจะทำ ต่อไปอีก อาตมาทำด้วยเลือด ด้วยเนื้อ ด้วยจิตวิญญาณ อาตมา ไตร่ตรอง เก็บรายละเอียดมาพิสูจน์ เพื่อกระทำงานนี้ให้ "ดีที่สุด" ด้วยจริงใจจริงๆ ด้วยเมตตา

อาตมามี "สติสัมปชัญญะ" ไม่ใช่โม้แหลก แต่ก็กล่าวขึ้น ตามขั้นตอน ตามเรื่อง ตามกาละ-เทศะ -ฐานะ พวกคุณ จงสังเกต ทุกอย่างมีเหตุ มีปัจจัย กล่าวตามฤกษ์ ตามกาล ตามสิ่งแวดล้อม องค์ประกอบ ที่สมบูรณ์ ผู้ที่เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย จงพิสูจน์...!!!

พื้นฐานเดิม อาตมาไม่ได้สนใจศาสนา ไม่ได้ใส่ใจธรรมะ มาก่อนเลย และชาตินี้ ก็ไม่ได้ไปเอา ความรู้ทาง "ธรรม" ของใคร ไม่ได้เรียนรู้ "ธรรมะ" จากอาจารย์ไหนๆ มาเลย อาตมา ก็มีวิถี เป็นไปตามกระแสโลกีย์

พอเริ่มสนใจทางด้าน "จิต" ก็ไปเล่นไสยศาสตร์ ไม่ใช่ "ศาสนาพุทธ" แล้วก็ถูกครอบงำ ไปอย่างนั้น เป็นเรื่องธรรมดา ฐานะของ "โพธิสัตว์" ต้องมีอะไรต่างๆ ที่ต้องไปเรียนรู้ พอสมควรอยู่ ก็เป็นไป จะว่า "ไม่ติด-ไม่ดูด ก็ติด-ก็ดูด อยู่บ้าง มากกว่าพระพุทธเจ้าแน่" เพราะอาตมา บารมีไม่เท่า "พระพุทธเจ้า"

จนกระทั่ง ต้องมาทบทวน ต้องมาตรวจสอบ จึงรู้ว่า "ตนเองเป็นใคร และจะต้อง มาทำหน้าที่อะไร" เมื่อรู้แล้ว อาตมาก็สลัดออก สลัดคืนทางโลกีย์ หันมาทำงาน ทำหน้าที่ทางศาสนา อย่างจริงใจจริงๆ เป็นจริง ของอาตมาจริงๆ ในอาริยคุณของพุทธ "โสดาบัน -สกิทาคามี -อนาคามี" ก็มี "โพธิกิจ" ได้

"พระอรหันต์" ก็ยิ่งแน่นอน ยิ่งมีโพธิกิจได้ เป็นโพธิกิจของโพธิสัตว์ ที่ยังไม่ตาย มีรูปนาม ขันธ์ ๕ จะหมด ชาตินี้ แล้วสูญ ปรินิพพานไปเลยก็ได้ แต่ก็ต้องทำหน้าที่โพธิกิจ "อรหันต์กับโพธิกิจ" จึงเป็นเรื่องเดียวกัน

"พระอรหันต์" ไม่เห็นแก่ตัว "พระโพธิสัตว์" เห็นแก่ผู้อื่น ก็คือ เรื่องเดียวกัน เป็นประโยชน์ตน-ท่าน ที่ สมบูรณ์แบบ เป็นเหรียญ ๒ ด้าน ที่แยกกันไม่ออก ต้องอยู่ด้วยกัน แล้วทำหน้าที่ สอดคล้องกันด้วย เป็นแต่เพียง คนละลักษณะ

ไม่ใช่ มีแต่ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านไม่มี หรือ มีแต่ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ตนไม่มี ก็ไม่ใช่

"สังขารปรุงสร้าง" ให้แก่คนอื่นจริงๆ "โพธิสัตว์" เป็นอย่างนั้น

"ปรินิพพาน" เป็นสภาพที่สูญจริง สูญสูงสุด ไม่เหลืออะไร ที่จะวนเวียน ในโลกหยาบ -กลาง - ละเอียด โลกนี้ - โลกหน้า - โลกไหนๆ ก็ไม่มีหมดทุกโลก

"พระโพธิสัตว์" ยังมีโลกหน้า

"พระอรหันต์เจ้า" ไม่มีโลกหน้า มีแต่โลกปัจจุบัน

สำหรับอาตมา ก็ต้องทำงานศาสนาอย่างนี้ ตลอดไป แม้จะอยู่ผู้เดียว ก็ทำ

และอาตมาพยายาม จะมีอายุ "ยืนยาวนาน" ให้มากที่สุด ไม่ใช่เพราะกลัวตาย

แต่เพราะ อาตมาไม่กลัวเหนื่อย และ ไม่เข็ดต่อการทำดี

 

๓๘
ชีวิตประเสริฐวิเศษสุด

วิถีชีวิตอย่างที่ "พระพุทธเจ้า" พาเป็นนี้ "วิเศษสุดยอด" เป็นจริงๆ ได้ยาก

แต่ เป็นจริงได้...ก็ดี คนเป็นได้อย่างนี้ ได้ช่วยตัวเอง ให้ปลอดภัย หมดภาระ หมดกังวล หมดเรื่องวุ่น หมดเรื่องยาก

ที่สุดแห่งที่สุดแห่งคน คือ "ปรินิพพาน" สูญ ชีวิตหมดเชื้อ ที่จะหมุนเวียนอีก เลิกวัฏสงสาร หมดสันตติ ไม่มีอะไร ต่อเชื่อม พลังงานส่วนที่ เป็นตัวเป็นตน เป็นสภาพสุดท้าย ก็ต้องสูญสลายเลิกไป เป็นสุดยอด วิชาที่ "พระพุทธเจ้า" ค้นพบ

คนที่หมดอัตตา เข้าถึงอนัตตา จะสูญสลายเมื่อไร ก็ได้แล้ว

ฉะนั้น ชีวิตของ "พระอรหันต์" ผู้ได้จุดสุดสูญ ได้นิพพาน ไม่กลัวสูญสลาย แล้ว อย่างชัดแจ้ง ยินดีที่จะ สูญสลาย แล้วจะกลัวตายทำไม

ถ้าต้องมีชีวิตอยู่ ก็จะรู้ว่า คนเรามีชีวิตอยู่ไปทำไม อยู่แบบไหนประเสริฐ

๑. มีชีวิตอยู่อย่างเสพสุขโลกียบำเรอ

๒. มีชีวิตอยู่อย่างเป็นประโยชน์ คุณค่าต่อโลก มักน้อย สันโดษ หมดอัตตา สร้างสรร -ขยันเพียร - ช่วยเหลือ "เราไม่พัก - เราไม่เพียร เราข้ามโอฆสงสารได้"

๓. มีชีวิตอยู่เฉยๆ ว่างๆ ไม่ทำอะไร ปล่อยให้สังขารร่างกาย ผ่าน วัน เดือน ปี แก่ไปๆ จนกว่าจะตาย

คิดดูสิ คนประเภทไหน ดีที่สุด ประเสริฐที่สุด มีค่าที่สุด

อาตมาขอยืนยันว่า "มีคนประเภทที่ ๒ นี้ เป็น "พระอรหันต์" "สร้างสรร -ขยัน -เพียร -เสียสละ" ตายก็ตาย ไม่ตายก็อยู่ สร้างสรรประโยชน์ และ รู้จักวัฏสงสาร คนจะมีจิตใจ อย่างนี้ได้ ก็ต้องฝึกฝน เรียนรู้จริงๆ แล้วต้องได้ สภาพนี้จริงๆ

เมื่อจบภพชาติได้แล้ว กิเลสไม่เกิดเป็นฐานแล้ว จะเวียนมาเกิดอีก ก็ได้

ตั้ง "พุทธภูมิ" ต่อไปอีกก็ได้ เป็น "มหากรุณา" ของท่าน ต่อภพมาอีก ก็เพื่อรื้อขนสัตว์ ช่วยไปอีก อาจจะมีวิบาก มาเล่นงานบ้าง แต่ก็จะน้อยลงๆ เรื่อยๆ เพราะได้สร้างกุศลอยู่ ตลอดทุกชาติ ก็ย่อมไม่มีปัญหาอะไร อดทนได้

ยังเมตตาเห็นแก่มนุษยโลกอยู่ ก็รื้อขนสัตว์ต่อไป แต่ถ้าจะไม่ทำต่อ ก็ไม่เป็นไร เป็นสิทธิของท่าน ขณะที่มีชีวิตอยู่ ท่านมีประโยชน์ต่อโลก อย่างยิ่ง

คนมีประโยชน์อย่างนี้ เกิดอีกเมื่อไรๆ ก็เป็นบุญแก่โลก เมื่อนั้นๆ

ฉะนั้น "พระโพธิสัตว์" ย่อยๆ ก็ต้องมีเกิดวนเวียน ช่วยโลกต่อไป

 

๓๙
จากโพธิสัตว์ สู่ อนุตรอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า

(จากหนังสือ คน คือ อะไร...ทำไมสำคัญนัก? โดย สมณะโพธิรักษ์)

ผู้ตั้งจิตบำเพ็ญ อีกพวกหนึ่ง ที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ว่า จะปฏิบัติพากเพียรเอา "อนุตรอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า" ทีเดียว ผู้นี้จึงเรียกว่า "พระโพธิสัตว์"

ก็มี ๒ ประเภท คือ "พระอนิยตโพธิสัตว์" กับ "พระนิยตโพธิสัตว์"

"พระอนิยตโพธิสัตว์" คือ ผู้ตั้งจิตปรารถนาจะเป็น "พระโพธิสัตว์" ที่จะไต่เต้าขึ้นเป็น "พระพุทธเจ้า" และ ตั้งใจ บำเพ็ญตน ตามศีล -ตามจริยาของ โลกุตรภูมิ

แต่ยังไม่เที่ยงแท้ว่า "จะเป็นผู้ได้ข้ามภูมิไปถึง "พุทธภูมิ" หรือเปล่า"

อาจอยู่แค่ "โลกียภูมิ" นี้ หรือ อยู่แค่ "โลกุตรภูมิ" ก็ได้ หรือ อาจจะขึ้นถึงเขต "พุทธภูมิ" มีภูมิเลยขั้น "อรหันต์" สำหรับตนจบแล้วก็ได้ เป็นแต่ว่า "ยังไม่แน่นอน ยังไม่มีภูมิถึงขั้น เที่ยงแท้พอ ที่จะได้เป็น 'พระพุทธเจ้า' เท่านั้น"

ดังนั้น "พระอนิยตโพธิสัตว์" ที่เลิกบำเพ็ญบางรูป ที่ได้แต่ละขั้นบ้าง ไม่ได้สักขั้นบ้าง จึงอาจจะเป็น ผู้ที่มี จิตต่ำกว่า "ปุถุชน" ธรรมดาบางคนก็ได้ อาจจะสูงกว่า สมณะบางองค์ ก็ได้เช่นกัน แต่ก็คือ ผู้ยังไม่เที่ยงแท้ ต่อ "พุทธภูมิ"

"พระนิยตโพธิสัตว์" คือ ผู้มี "จิตบรรลุ" แล้ว เป็น "พระโพธิสัตว์" แท้ มี "อรหันตคุณ" สั่งสมไป ตามลำดับๆ เที่ยงแท้ ต่อการได้สู่ "พุทธภูมิ" การดำเนิน หรือเป็นไป ก็คล้ายกับ การจะไปเป็น "พระอริยเจ้า" ที่หมาย จะบรรลุ "พระอรหันต์" เช่นกัน โดยนัยเดียวกัน เป็นแต่ว่า "ภูมิธรรมมีจุดสูงสุด คนละระดับขั้น"

การบำเพ็ญของ "พระนิยตโพธิสัตว์" นั้น จะต้องเวียนตายเวียนเกิด อีกนานับชาติ วัฏฏะลึกซึ้ง ยิ่งใหญ่มาก มาเกิดเป็นมนุษย์อีกบ้าง เกิดเป็นเทพบ้าง พรหมบ้าง และ ซับซ้อน กลับไปอยู่ในรูปของ สัตว์เดรัจฉานบ้าง (แต่ภูมิธรรม ของท่านไม่ได้ต่ำ เช่นเดรัจฉาน) ตามคุณธรรม และ ตามวาระ

เมื่อมาเกิดเป็น "มนุษย์" อีกนั้น ท่านก็จะไม่ติดหนักกับ "โลกียะ" เหมือนคนธรรมดามากนัก คือ "ไม่มัวเมา หรือ ไม่ติดอยู่นาน เป็นแต่เพียง อยู่เพื่อสำรอกกรรม"

ถ้าท่านมี "ภูมิธรรม" สูงเลยเขตความเป็น "อรหันต์" ไปมากๆ แล้ว ท่านก็ไม่จำเป็น ต้องไปเป็นลูกศิษย์ ของใคร เพื่อจะเรียน หาความบรรลุ "อรหันต์"

ท่านบรรลุของท่านเองได้แล้ว ท่านตรัสรู้สิ้นทุกข์ ของท่านเองได้ โดยไม่ต้องเรียนรู้ธรรม จากอาจารย์ องค์ใดอีก เพราะในอดีต ท่านมี "ภูมิธรรม" สูง เลยการทำตัวให้พ้น ทุกข์อริยสัจ มาได้แล้ว ท่านมีบารมีจิต สั่งสมมาแล้วจริง (กัมมทายาท)

ท่านจึง "บำเพ็ญตนพ้นทุกข์อริยสัจ" ได้เอง และ พร้อมกันนั้น ก็บำเพ็ญบารมีอื่น อันเป็นบารมีที่ "พระโพธิสัตว์" จะต้องสั่งสมต่อไปด้วย บำเพ็ญบารมีหนึ่ง จนสำเร็จบารมีนั้น ก็ได้บารมีนั้น ผู้นี้แหละคือ "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" หรือ "พระปัจเจก สัมมาสัมพุทธ" บำเพ็ญชาติหนึ่งไปเรื่อยๆ จนตรัสรู้ได้ขั้นหนึ่ง ก็ได้เป็น "พระปัจเจก โพธิพุทธเจ้า" ไปครั้งหนึ่ง

อย่าไปแปลคำว่า "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" แต่เพียงว่า "ผู้ตรัสรู้เอง ไม่อาศัยธรรมะ ของผู้ใดเท่านั้น"
ต้องแปลว่า "ผู้ยังตั้งศาสนาพุทธเองไม่ได้ด้วย" ซึ่งมีอยู่มาก

หรือ "ตั้งศาสนาเองได้" ก็มีแต่ "ศาสนา" นั้น หรือ "ลัทธิ" นั้น ยังไม่ใช่ หรือ ยังไม่เทียบเท่า "พุทธศาสนา" คือ "ยังไม่ถึงแก่นแท้" ยังโยนความไม่รู้ ไปให้สิ่งลึกลับ ซึ่งส่วนมาก ก็สมมุติเป็น "พระเจ้า" หรือ "เทพเจ้า"ต่างๆ อยู่

และที่ว่า "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" รู้ได้แต่ตัวเอง สอนคนอื่นไม่ได้นั้น เป็น "พระปัจเจกพุทธเจ้า" แบบฤๅษี หรือ ของลัทธิอื่นๆ ที่ไม่สมบูรณ์ด้วย "สัมมาอริยมรรค" ย่อมสอนคนอื่นไม่ได้ ก็มีอยู่จริง นั่นไม่ใช่ "พระปัจเจก" ของศาสนาพุทธ ไม่ใช่ "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" ไม่ใช่ "พระปัจเจกสัมมาสัมพุทธ"

ซึ่งต่างกันกับ "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" หรือ "พระปัจเจกสัมมาสัมพุทธ" ที่มีภูมิถึงขั้นเป็น "พระนิยตโพธิสัตว์" แท้ ในโอกาสข้างหน้า

ท่านผู้นี้จะต้องมาเกิด "ตรัสรู้" เป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แน่นอน และอีกอย่างก็คือ ท่านยังเป็นผู้สั่งสม "บารมีธรรม" ต่ออยู่อีกด้วย

"พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" ก็จะเวียนอุบัติ -เวียนนิพพาน เพื่อบำเพ็ญบารมี อยู่อีกหลายชาติ แต่แท้จริง ท่านก็เป็น "พุทธชาติ" เวียนเกิดมา เพื่อบำเพ็ญ "โพธิกิจ" ทุกชาติ ท่านสามารถ "บรรลุพุทธธรรม" ได้ด้วย ตนเองจริง จึงชื่อว่า "พระปัจเจก" (แม้ต้องไปเป็น ลูกศิษย์ใคร ท่านก็ไม่ได้ "บรรลุพุทธธรรม" กับ อาจารย์ ผู้นั้น)

และหากชาติใด ท่านได้เผยแพร่ธรรม ถึงขั้น "ตั้งศาสนา" ได้ ศาสนานั้น ก็เป็นไปเพื่อ "ความดีงาม" เพื่อ "ความสงบสุข" และ เพื่อ "ความแท้จริง" ในแนวเดียวกัน เป็นแต่ว่า "ยังไม่ละเอียดลออเท่า "พุทธศาสนา" เท่านั้น" และ "ศาสนา" นั้น ก็เรียกไปตามกาลเทศะ ดังที่มีอยู่แล้ว ในโลก ขณะนี้

เมื่อมาเกิดบำเพ็ญธรรมแห่ง "พระนิยตโพธิสัตว์" นั้น จะเห็นได้ว่า "ท่านจะต้องใช้ "กรรม" ต่างๆ มากมาย" เช่น "ต้องสละทรัพย์สมบัติชาติหนึ่ง ต้องสละลูกตา ชาติหนึ่ง สละชีวิตทั้งชีวิต ชาติหนึ่ง หรือ บำเพ็ญธรรม อันมนุษย์ธรรมดา จะกระทำได้ยากยิ่งต่างๆ นานา" จนไม่มีอะไรติดข้อง เป็นการ "ผูกพันกรรม" จนเหลือแต่ "ความหมดจด" ทุกประการ!

และพร้อมๆ กันนั้น ท่านก็ย่อมได้เรียนรู้ "จิตขั้นละเอียด" หรือ เรียนรู้พลังงาน หรือ อณูขั้นละเอียด ลงไปอีก เรื่อยๆ ตามลำดับ จนหมด "อวาสนา" อย่างเต็มครบ เป็น "วาสนาบารมี"! "บริสุทธิ์พร้อม บริบูรณ์พร้อม" นั่นคือ "สำเร็จพระโพธิญาณ"

ก็เป็นอันถึงซึ่ง "อนุตรอรหันตสัมมาสัมโพธิญาณ" พร้อมที่จะเกิดอีก ครั้งสุดท้าย คือ เกิดมาเป็น "มนุษย์" นี่แหละ และก็เป็น "พระอนุตรอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า"

ซึ่งก็เป็นชื่อ เป็นตำแหน่งของ "พระผู้มีสัพพัญญุตญาณ" ...ฯ

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ก็ให้เข้าใจด้วยว่า "ภาษาศัพท์ที่เรียกกันว่า ไม่เกิดอีกนั้น" ต้องเข้าใจให้สำคัญ!

เพราะ "พระอรหันต์" ที่เป็น"พระโพธิสัตว์" ท่านยังต้องเกิดอยู่ดังนี้ จนกว่า จะบำเพ็ญ บารมีครบ ๑๐ ทัศ หรือ ๓๐ ทัศ อย่างละเอียด จึงจะครบ "บารมีธรรม" สำหรับการเป็น "พระพุทธเจ้า" ได้ตรัสรู้ "สัพพัญญุตญาณ" เป็นผู้รู้รอบแจ้งสิ้น ทุกโลก ทุกภูมิ

ถ้าไม่มีผู้ตั้งจิตปรารถนาเป็น "พระพุทธเจ้า" ก็ย่อมจะไม่มี "พระพุทธเจ้า" อุบัติกันได้ต่อๆ ไปอีก "พระพุทธเจ้า" ก็จะสูญสิ้นไปจาก พิภพภูมิ หรือ สากล จักรวาลใดๆ เท่านั้นเอง

ด้วยเหตุว่า "มีผู้ปรารถนาจิตไว้ และ มุ่งมั่นจะเป็น "พระพุทธเจ้า" อยู่"

"พระพุทธเจ้า" จึงจะเกิดได้ มีได้!!!

 

๔๐
เกิดมาเพื่อสะสม "สัพพัญญุตญาณ"

คนเรามาปฏิบัติธรรมเพื่อหวังอะไร ยังหวังวิมุติ-นิพพาน ก็เท่ากับ ยังมีสิ่ง แลกเปลี่ยน จะว่าเป็น อามิสล่อ ก็ไม่ว่าอะไร ขอให้เป็นวิมุติ -นิพพานแท้

เราล้าง "โลกียสุข" ทั้งปวงที่มี จนสูญ หมดเกลี้ยง ถึงขั้นนิพพาน -วิมุติจริง แล้วรสสุขก็ไม่มี ทุกข์ก็เลย พลอยไม่มีไปด้วย แล้วอย่างนี้ ได้อะไรมาแลกเปลี่ยน

สิ่งเหล่านี้สูงสุดแล้ว ไม่มีภาษาเรียก แต่เป็นสิ่งจริง

อัตตภาพของ "พระโพธิสัตว์" ชั้นสูง ไม่ติดโลกธรรม ไม่มียินดีกับสรรเสริญ ไม่มียินร้ายกับ ทุกข์-นินทา - กล่าวร้าย เฉยได้ วางได้ เหลือแต่สภาพ อุดมคติแท้ๆ เป็น "วิภวตัณหา" ที่เป็นอุดมการณ์ชัดๆ

มี "วิภวตัณหา" ปรารถนา "พุทธภูมิ" ก็เป็นอัตภาพ เป็นจิตวิญญาณ เป็นความปรารถนา อย่างถูกธรรม ทำงานด้วยความรู้ มี "โลกวิทู" มีความรู้รอบ เท่าทันโลกธรรม ได้มากมาย ไม่ยินดี -ยินร้าย ว่าง สิ่งไม่เคยพบ - ไม่เคยเห็น ก็ได้ผ่าน-ได้พบ มีสติปัญญา มี "สัพพัญญุตญาณ" มี "โพธิญาณ" มากขึ้น กว้างขวางขึ้น ซ้อนเชิง ลึกลงไปในนั้นอีก ก็จะทำงานได้มาก เป็นประโยชน์ก้าวหน้า สูงส่งขึ้นไปอีก

ได้ "สัพพัญญุตญาณ" แล้ว ฟูใจไหม หรือ ติดใจ จนปล่อยไม่ได้

เป็น "โพธิสัตว์" อย่าง "อวโลกิเตศวร" ไม่ยอมเป็น "พระพุทธเจ้า" จะเป็น "พระโพธิสัตว์" นิรันดร์ จะเป็นอย่างนั้น ก็ว่ากันไป ก็เป็นความจริง ของผู้นั้น

"พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร" จะมาทำงานกับ โลกมนุษย์ ทุกยุคสมัย อย่างนี้ นิรันดร์ หนักหนา เหน็ดเหนื่อย อย่างไร ก็สู้ ก็นิมนต์เถอะ เพราะไม่ได้สร้าง ความเดือดร้อนอะไร แก่โลก เป็นบุญ -เป็นคุณแก่โลก

ศาสนาที่มีอัตตาเป็นปรมาตมัน ไม่ได้ทำลายโลก เพียงแต่ว่า "นิพพานของตน ไม่มีเท่านั้น" ยิ่งเป็น "อัตภาพ" ที่ไม่ละเอียดลอออย่าง "พุทธศาสนา" ก็จะไม่มี "นิพพาน" ให้แก่ตน แล้วจะถูกทาง สมบูรณ์ หรือไม่ ก็ยังไม่รู้

เรื่องซับซ้อนซ่อนเชิง ที่เป็นอามิสแลกเปลี่ยน อย่างลึกซึ้งเป็นธรรม ก็ใช้สิ่งนี้ ประโลมใจ ฟูใจ เป็นความสุขใจ จะมาก หรือน้อยก็ตาม เหลือน้อยๆ ก็ยังไม่หมด บำเรอตนอยู่ เป็นอัตภาพที่แท้ ฟูใจนิดๆ ก็อิ่มใจ ได้สร้างสรร สิ่งดีงาม เพื่อพระเจ้า ก็เป็น "วิภวตัณหา" เป็นอุดมการณ์ ใช้ประโยชน์ในโลกได้อยู่

จิตวิญญาณพระเจ้า ส่งให้มาเกิด ก็เป็นพระบุตร มาทำหน้าที่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นหน้าที่ พระพรหม ก็เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกันกับ "พระเจ้า"

ถ้ายังวนเวียนเกิดอยู่ ก็เป็นพระบุตรอยู่อย่างนั้น เป็นจิตวิญญาณ ที่ยังมีอยู่ ไม่หมดอัตภาพ ยังเป็นอัตภาพ ยังไม่มีนิพพาน

มี "สอุปาทิเสสนิพพาน" แต่สังสารวัฏ ยังไม่หมด

ร่างกายนี้ ตาย "อนุปาทิเสสนิพพาน" ก็ยังไม่ปรินิพพาน ก็จะยังวนเวียน มาเกิดเป็น พระโพธิสัตว์ ทำประโยชน์ -ท่านต่อไป ประโยชน์ตน ก็คือ ตนเองเก่งขึ้น ยังยินดีใน "โพธิญาณ" สะสมไปๆๆ มากเท่าไร ก็แล้วแต่ จะไม่ปฏิญาณ ขอเป็น "พระโพธิสัตว์" อย่างพระอวโลกิเตศวร ก็เชิญ

ถ้าไม่ปฏิญาณอย่าง "พระอวโลกิเตศวร" สะสมโพธิญาณมาก จนถึงขีดขั้นเป็น "พระพุทธเจ้า" จริง จะปฏิญาณตนเป็น "พระพุทธเจ้า" เมื่อไร ก็ปฏิญาณได้เมื่อนั้น ก็ทำได้! เมื่อถึงกาละเทศะ ที่ควรจะทำ

ถึงขีดสูงสุด เป็น "พระพุทธเจ้า" จะเลิก -จะอยู่ -จะดับอย่างไร ก็รู้ สูงสุด เรียกว่า "โลกุตระ" เหนือโลกจริงๆ เหนือภพชาติ เหนือสังสารวัฏ

สุดท้ายแล้วก็ "ปรินิพพาน" จบจริงๆ สูญไปเลย เลิกกัน

แต่ถ้ายังไม่จบ ก็ยังไม่จบก่อน เป็นธาตุรู้ ที่ต้องรู้ตัวตน มีสติสัมปชัญญะ ไม่มีบังเอิญ รู้ว่า "ควรอย่างไร ไม่ควรอย่างไร" ก็พยายามทำ ให้แม่น คม ชัด

จะเกิดก็เกิดอย่างที่รู้ จะดับก็ดับอย่างที่รู้ รู้ความเกิด-ดับสูงสุด เกิดดีที่สุด ดับก็ดับอย่าง ไม่มีอะไรเหลืออีก ดับอย่าง "ปรินิพพาน" เรียนให้จริง แล้วจะรู้ แม้ลึกซึ้ง ก็จะพูดถูก ไม่สับสน

สุดสิ้นความเป็นอัตภาพ อย่างพุทธศาสนา ก็จะเป็นพระโพธิสัตว์ ที่ไม่มีสภาพของ โลกียะเลย เป็นสุญภาพ เป็นอัตภาพ ที่สุญตวิหาร เป็นเมตตาวิหาร เป็นเมตตา ที่ไม่ต้องการอะไร แลกเปลี่ยน มีความเป็น "พรหม" อย่างสมบูรณ์

"พราหมณ์ หรือ พรหม" หมายถึง "จิตบริสุทธิ์ หมดสิ้นอนุสัยอาสวะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์" คำว่า "พราหมณ์" จึงหมายถึง "อรหันต์" ด้วย

อาตมาพูดเรื่องลึกซึ้งให้ฟัง ระดับ "เบื้องต้น -ท่ามกลาง -บั้นปลาย" แต่ละคน จะทำฐานะไหน ก็ทำไป ตามความเป็นจริง อย่าหลงตนก็แล้วกัน

อย่าทำผิดขั้นตอน ต้องให้ถูกสัดส่วน เหมาะเจาะกับตนเอง

 

 

 

๔๑. การตรัสรู้ เป็น พระพุทธเจ้า

(อ่านต่อหน้า ๗)