เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ
แห่งประเทศไทย :
คกร.
Organic Farming Network of
Thailand : OFNT

กลับไปหน้าสารบัญ

สู่ชัยชนะของชาวนาไทย

โดย... เกิด ขันทอง

ฟ้ามืดย่อมมีได้ ก็ฟ้าใหม่ย่อมคงมี
แสงทองเหนือธรณี จะท้าทายอย่างทรนง
เมื่อนั้นแหละคนนี้ จะยืดตัวได้หยัดตรง
ประกาศดว้ยอาจอง กูใช่ทาส หากเป็นไทย

จิตร ภูมิศักดิ์

บทเรียนจากประวัติศาสตร์

[1] การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์สังคมไทย ได้ชี้ให้เราเห็นว่า ความยากจนของประชาชนผู้ใช้แรงงานได้ถูกกำหนดโดยโครงสร้างแห่งอำนาจอย่างถาวร ชนชั้นปกครองไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ยุคใดก็ตาม ไม่มีวันจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแห่งอำนาจโดยความสมัครใจภายใต้สถาณการณ์เช่นนี้เรามีตัวเลือกเพียง 2 ทางเท่านั้นสำหรับผู้ใช้แรงงานและผู้ยากจน คือ

1.เรายอมจะมีชีวิตอยู่อย่างยากจน หรือจะ

2.รวมพลังกันเคลื่อนไหวจัดตั้งองค์กร ของตนเองขึ้นเพื่อขจัดความยากจนให้หมดไปจากสังคมไทย

ปัจจุบันเงื่อนไขค่าครองชีพที่บีบคั้น ประชาชนผู้ใช้แรงงานจะทนอยู่ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ไม่ได้นาน ประชาชนเริ่มสำนึกว่า ความทุกข์ยากนี้ไม่ใช่เรื่องของชะตากรรม แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจาก นโยบายเศรษฐกิจของสังคมไทยที่ล้มเหลว การกดขี่ขูดรีดได้ผลักดันให้ ประชาชนลุกขึ้นต่อสู้ คัดค้านอำนาจรัฐ และความไม่เป็นธรรมอย่างกว้างขวาง รูปธรรมที่เกิดขึ้น ชาวนาจะต้องแสวงหาองค์กรของตัวเอง โดยมีทิศทางที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลง เงื่อนไข เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ชาวนาต้องมีองค์กรอิสระเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาวนา

[2] ความหวังจากการเคลื่อนไหวของชาวนา

การแก้ปัญหาของชาวนา รัฐบาลไม่อาจจะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมได้ มีแต่ความเคลื่อนไหวของชาวนาเองเท่านั้น จึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชาวนาเองได้ ปัญหาชาวนาจะต้องได้รับการแก้ไขโดยชาวนาเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดที่สังคมจะได้รับจากการเคลื่อนไหวของชาวนา นั่นคือ การปลดปล่อยพลังการผลิตของผู้ใช้แรงงานให้หลุดพ้นจาก “แอก” (อำนาจ) ของผู้ได้เปรียบ (ผู้กดขี่) นำไปสู่การพัฒนาในชนบท

“การปลดปล่อยพลังการผลิต” (แรงงาน ที่ดิน ภูมิปัญญา ทุน ฐานทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม) เป็นเป้าหมายที่สำคัญของการเคลื่อนไหวของชาวนา

[3] รากฐานในการเคลื่อนไหวของชาวนา

เพื่อการเคลื่อนไหวจะได้รับชัยชนะ จำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขขึ้นที่สำคัญ 2 ประการ คือ

1. เปลี่ยนแปลงความคิดและสร้างจิตสำนึกทางการเมืองของชาวนา

2. ส่งเสริมให้ชาวนาเข้าร่วมขบวนการทางการเมือง โดยการจัดตั้งองค์กรชาวนา

การเปลี่ยนแปลงความคิดเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน อาจนำไปสู่การก่อเกิดการเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิทางเศรษฐกิจทางสังคม จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสัมพันธภาพทางการผลิต จะต้องล้มล้างระบบเก่าให้หมดสิ้น แต่ทั้งนี้จะต้องเริ่มต้นโดยสร้างจิตสำนึกทางการเมือง เสริมสร้างจิตสำนึกทางชนชั้น ในขณะเดียวกันยังจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวนาจะต้องมีองค์กรเป็นของตนเอง

[4] ภารกิจขององค์กรชาวนา

ภารกิจทางประวัติศาสตร์ขององค์กรชาวนาคือ การแก้ไขปัญหาไม่เป็นธรรมทางสังคม โดยการสร้างอำนาจเมืองของชาวนา เพราะถ้าไม่มีอำนาจการเมืองของชาวนา ก็ไม่อาจมีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมของชาวนาได้ องค์กรชาวนาคือ องค์กรต่อสู้ในชนบทเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมชนบท

องค์กรชาวนาต้องแสดงออกถึงความต้องการที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมคือ ต้องเริ่มต้นขึ้นจากการปฏิบัติงาน โดยให้การศึกษาในชนบท หน้าที่สำคัญคือ การขุดคุ้ยความคิดแบบล้าหลัง ทำให้ชาวนาเกิดความตื่นตัว วิพากษ์ระบบคนกินคนให้ถึงที่สุด เปิดโปงระบบการขูดรีดชาวนา ล้มล้างกลุ่มอิทธิพล นายทุนผูกขาดทั้งในชาติและข้ามชาติอย่างมีจังหวะ การทำงานต้องมีขั้นตอน ขยายตัวจากขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูง สะสมชัยชนะเป็นขั้นๆ ไป ข้อสำคัญที่สุดในการเคลื่อนไหวคือ “ต้องได้รับการสนับสนุนจากชาวนาส่วนใหญ่”

ข้อเท็จจริงประการหนึ่ง อำนาจนำน่าจะตกอยู่ในมือขอ

ชาวนายากจน ชาวนารับจ้าง ถ้าหากให้ชาวนากลุ่มอื่นๆ มีอำนาจนำแล้ว พวกเขาอาจโน้มเอียงไปทางเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ได้เปรียบและนายทุน นายหน้า จะทำให้การเคลื่อนไหวอยู่ในขอบเขตจำกัด หรือต้องประสบความล้มเหลวจนได้

[5] การนำของชาวนา

ในองค์กรชาวนา การดำเนินงานและการบริหารงาน ไม่ใช่ของชาวนากลุ่มน้อย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำชาวบ้านผู้ยากจนอันไพศาล ให้เข้าร่วมงานอย่างคึกคัก ชาวนาผู้ยากไร้ต้องสู้อย่างเด็ดเดี่ยว ห้าวหาญ จึงจะสามารถกำชัยสามารถเปลี่ยนแปลงสัมพันธภาพทางการผลิตให้เป็นของชาวนา และผลักดันพลังทางการผลิตของชนบทให้พัฒนาก้าวไป ในฐานะผู้นำต้องลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้อย่างมานะบากบั่น มีจิตใจที่เสียสละปักใจ ดำเนินการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรม โดยไม่เกรงกลัวการขมขู่และการคุกคามด้วยอำนาจป่าเถื่อน

[6] สู่ชัยชนะของชาวนา

เพื่อให้การทำภารกิจของชาวนาบรรลุเป้าหมาย จึงต้องยึดหลักการต่อไปนี้

1. ปัจจุบันการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของประชาชนได้รับความสำเร็จมากขึ้น พวกเรานับวันจะเข้าใจธาตุแท้ ของระบบการเอารัดเอาเปรียบ เข้าใจที่มาของความยากลำบาก และความล้าหลังยิ่งขึ้น

2. ปัจจุบันพลังของการต่อต้านสังคมที่ไม่เป็นธรรมทวีความรุนแรง มีความยุ่งยากลำบาก และซับซ้อนขึ้นตามลำดับ การกดขี่และการบิดเบือนของผู้อำนาจ จะส่งผลเร่งเร้าให้เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนขึ้นสู่กระแสสูงอย่างไม่หยุดยั้ง

3. เงื่อนไขภายนอก เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวของชาวนายิ่งขึ้น อิทธิพลภายนอกได้คุกคามค่านิยมของประชาชน เงื่อนไขภายนอกที่สำคัญคือ จักรพรรดินิยมอเมริกาสมคบกับสมุนกลุ่มอิทธิพลเศรษฐกิจและการเมืองปล้นทรัพยากรของชาติ อย่างน่าอัปยศอดสู และยังมีการเผยแพร่วัฒนธรรมลามก การสร้างความเหลวแหลกเสื่อมโทรมให้กับสังคมไทย

4. เป้าหมายคือปัจจัยที่นำมาซึ่งความล้าหลัง ความทุกข์ยากของสังคม ประชาชนผู้เสียเปรียบได้มองเห็นชัดเจนแล้ว ก่อให้ประชาชนทำงานอย่างมีชีวิตชีวา และเชื่อมั่นกันว่า ประชาชนลำบากยากจนไม่ใช่เพราะโชคชะตาหรือบุญกรรม หากเป็นการกระทำที่เอารัดเอาเปรียบของกลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจ และการเมือง

5. การเคลื่อนไหวจะต้องนำโดยอุดมการณ์ ถ้าไม่มีอุดมการณ์การรวมตัวกันต่อต้านก็จะประสบความล้มเหลว อาจจะถูกศัตรูกวาดล้างในที่สุด อุดมการณ์ที่คัดค้านการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น ต้องทำลายการกดขี่ขูดรีดทุกชนิด ต้องสังคมที่ยุติธรรม สังคมที่ไม่มีความทุกข์ยาก และไม่มีความล้าหลัง มีความซื่อสัตย์ต่อภารกิจของ ชาวนา ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชาวนาอย่างเด็ดเดี่ยว แนวทางนี้ “เป็นแนวทางที่มาจากชาวนา กลับไปสู่ชาวนา และไม่ห่างเหินชาวนา” ทำให้ชาวนาผู้ถูกกดขี่ขูดรีด เข้าร่วมการต่อสู้ในองค์กรชาวนา โดยสมัครใจยั่งยืนถาวร

---------------------------------------------

ที่จะเป็นทุนทางสังคม

บทวิเคราะห์ โดย ... วิเชียร แก้วนิยม

การพัฒนาชุมชนในปัจจุบัน เปลี่ยนทิศทางจากอดีตไปชนิดที่เรียกว่า "หน้ามือเป็นหลังมือ" จากเดิมที่การพัฒนาชุมชนในแต่ละพื้นที่ มักจะเป็นการมอบจากผู้ที่เป็นข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ในสายงานต่างๆ ซึ่งตัดสินใจแล้วว่าบ้านนี้ ชุมชนนี้ ต้องพัฒนาเรื่องนี้ เสร็จแล้วก็โยนนโยบาย โยนโครงการ ลงไปให้ชาวบ้านโดยที่หลายครั้งที่โครงการที่ดำเนินการไปนั้น ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนได้ จนกระทั่งในช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ที่เริ่มมีการการปรับทิศทางการพัฒนา โดยมองไปที่ ตัวของคนในชุมชน สิ่งที่ชุมชนมี ความรู้ ความสามารถ ความคิด ความเชื่อ หรือที่เรามักได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ คือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน และทุนชุมชน

ด้วยแนวคิดที่ว่า คนในชุมชนเองย่อมมีความรู้ความเข้าใจในปัญหาของตนเอง มองเห็นความสามารถของตนเอง ว่าสามารถทำอะไรได้ขนาดไหน จะปัญหาของตนเองได้อย่างไร มีเงื่อนไขเฉพาะท้องถิ่นได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ หากคนในชุมชนช่วยกันคิด ช่วยกันมอง สรุปปัญหาและแนวทางแก้ไขของตนเอง ย่อมนำมาซึ่งวิถีทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมสำหรับตนเองมากที่สุด

แต่…แนวทางที่กล่าวมาข้างต้น จะยังเกิดผลก็ต่อเมื่อ ชุมชนเข้าใจในแนวทางและวิธีคิด ดังกล่าวอย่างถ่องแท้ มีความตั้งใจจริง ที่จะพัฒนาตนเอง มีความขยันขันแข็ง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นหัวใจที่จะนำมาซึ่งผลสำเร็จที่ปรารถนา

หากแต่หลายๆ ชุมชนที่ได้มีโอกาสลงไปสัมผัสนั้นยังพบว่า การดำเนินงานและการทำโครงการพัฒนาในชุมชนของตนเอง ยังเป็นเพียงการทำโครงการเพื่อ ดึงเอางบประมาณเข้าหมู่บ้านเท่านั้น หลายหมู่บ้านเป็นการจัดตั้งกลุ่มอาชีพเพื่อรองรับ กิจกรรมที่คิดขึ้นโดย กรรมการหรือผู้นำชุมชน โดยที่สมาชิกที่มีชื่อในโครงการเองไม่รู้ และไม่เข้าใจวิธีการทำงาน หรือการทำงานเลย

กิจกรรมและโครงการเหล่านี้ สุดท้ายก็เป็นเพียงการโยนงานให้สมาชิก โดยสมาชิกเองมองไม่เห็นทิศทาง และทางออกที่แท้จริง เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับอาชีพ ที่ต้องมีการหาตลาดรองรับผลผลิต หลายชุมชนเสนอกิจกรรมให้สมาชิก โดยที่ยังไม่มีตลาดรองรับผลผลิต ไม่รู้จะหาที่ไหน อย่างไร ปัญหาเหล่านี้สมาชิกจะต้องช่วยกันหาทางออก เพื่อช่วยเหลือตัวเองให้ได้ ก่อนจะทำกิจกรรมใดๆ มิฉะนั้นสิ่งที่ได้ก็จะไม่สามรถแก้ปัญหา ของคนในชุมชนเองได้

หลักวิธีคิด พิจารณาตนเองที่ชุมชนควรได้ลองนำไปประกอบการคิดกิจกรรม เพื่อค้นหาตนเอง มองดูทุนและภูมิปัญญาของตน เพื่อสร้างงานที่เหมาะสมกับปัญหาของตนเอง

1. ความต้องการ ความจำเป็น

ปัญหาแรกที่เราต้องคิดก็ ปัญหาที่เราประสบอยู่นั้น ส่งผลอะไรต่อเรา แล้วเราจะแก้ไขโดยวิธีการไหน มีความจำเป็นเพียงไร ที่จะต้องแก้ปัญหานั้น เราต้องมองให้ออก และตอบคำถามตนเองให้ได้

ส่วนใหญ่คำตอบของปัญหามักจะเป็นความยากจน …ไม่มีเงิน แต่ถามว่า นั่นคือปัญหาจริงหรือ เราจนจริงหรือหรือความจนของเราเกิดจาก เรามองว่าเราไม่มีในสิ่งที่กระแสสังคมเมืองที่ครอบงำ ที่เรารับเอาจากทีวี ภาพยนตร์ จากละคร ในขณะที่เราบอกว่าเราไม่มีเงิน เราควรมามองดูว่า ตอนนี้เราทำอะไร ดำเนินชีวิตอย่างไร เราจะเห็นว่าทุกวันนี้ชีวิตของคนในชุมชนส่วนใหญ่ จะแข่งขันกัน ไม่แตกต่างจากสังคมเมือง

มีการแข่งขันการผลิต แข่งขันกันขาย เช่น ข้าว อ้อย ต่างแข่งขันเร่งปลูก แข่งกันหาปุ๋ย หาฮอร์โมนมาเร่ง เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มากและได้ผลเร็ว แล้วก็แข่งขันเร่งจ้างแรงงานเก็บเกี่ยว เพื่อจะได้ขายเร็วๆ เงินทุนที่มีหมดไปกับค่าปุ๋ย ค่าจ้างรถไถ ค่าจ้างแรงงานเก็บเกี่ยว เพื่อผลผลิตมากๆ สุดท้ายราคาตกต่ำ ซึ้ง…..เข้าไปอีก

ดังนั้นเราควรหันมามองตัวเราว่า เราต้องการอะไร ขนาดไหน แล้วทำให้เหมาะกับตัวเอง แล้วเราจะมองเห็นว่า จริงๆ แล้วเราขาดอะไร ต้องการอะไร ปัญหาแท้จริงอยู่ที่ไหน เพื่อนำไปสู่การคิดหาแนวทางแก้ปัญหาของตนเองที่เหมาะสม

2. ภูมิปัญญาของชุมชน

ภูมิปัญญาต่างที่มีอยู่ในชุมชนนั้นมีอยู่มากมาย เพียงแต่ที่ผ่านมาคนในชุมชนมักจะมองข้ามไป ภูมิปัญญาเหล่านั้นได้แก่

2.1 ความรู้ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถทางช่างฝีมือต่างๆ ความสามารถในการผลิต การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ จักสาน ถักทอ ปั้น หล่อ แกะสลัก ความสามารถในการแปรรูปอาหาร อย่างการทำอาหารหมักดอง ตากแห้ง และอื่นๆ อีกหลายอย่าง ที่เราทำเป็นทำได้ และรู้จักการแก้ปัญหาในแต่ละกระบวนการผลิต ล้วนเป็นความสามารถที่มีในหลายชุมชน แต่ถูกมองข้าม เพราะในปัจจุบัน เรามองเรื่องความรู้ ต้องเป็นสิ่งที่ได้จากโรงเรียน หรือสถานศึกษา

2.2 ประสบการณ์ นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาซึ่ง ความสำเร็จในการดำเนินงาน เพราะงานสิ่งใดที่เราเคยทำมาแล้วเราย่อมจะมีความรู้ และมองเห็นลู่ทาง ของอุปสรรคปัญหา และวิธีที่จะแก้ไข ปัญหา แม้จะเคยล้มเหลว แต่หากมีการสรุปความล้มเหลวเพื่อเป็นบทเรียน ย่อมเป็นประสบการณ์สำคัญ ที่เราจะนำมาใช้ในการพัฒนางานต่อไป

3. ทรัพยากร

ดังนี้หรือว่ากันให้เข้าใจง่ายๆ คือ สิ่งต่างๆ ปัจจัย วัตถุดิบ ที่เรามีในชุมชน หรือปัจจัยการผลิตที่มีอยู่รอบตัวเรา ซึ่งพอจะแบ่งง่ายๆ
3.1 คน คนนับเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนา เพราะ คนที่มีคุณภาพดีย่อม ทำงานให้สำเร็จได้ โดยคุณภาพดังกล่าวควรมีคุณลักษณะดังนี้

ก. มีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างจริงจัง

ข. มีความขยันอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้น

ค. มีความซื่อสัตย์ เพราะการทำงานย่อมตรงไปตรงมา จะสามารถตรวจสอบข้อผิดพลาดได้ง่ายและแก้ไขได้ตรงจุด

ง. มีความพร้อมเพรียง เพราะการทำงานสิ่งใด ย่อมไม่สามารถสำเร็จได้ ด้วยคนคนเดียว เพราะคนเราย่อมมีความสามารถที่แตกต่างกัน การพร้อมเพรียงร่วมมือกัน ย่อมช่วยเติมจุดอ่อนของกันและกันได้

3.2 วัตถุดิบ ได้แก่สิ่งต่างๆ ที่จะนำมาผลิต หรือมาใช้ในการงานแต่ละอย่าง เราลองมามองดูรอบตัวเราดูว่าอะไรบ้าง เช่น ไหม ข้าว มัน อ้อย ปลา เป็ด ไก่ มูลวัว มูลควาย ฟางข้าว เศษมัน เศษวัชพืช น้ำ ก้านตาล ก้านมะพร้าว ไม้ไผ่ ใบเตย กก ผือ และอีกมากมายนับไม่ถ้วน รอบตัวเราที่สามารถแปรเปลี่ยนและประยุกต์เป็นผลผลิตมากมาย เช่น

กลุ่มทอผ้า อาจมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นวัตถุดิบอยู่แล้ว

กลุ่มผลิตปุ๋ย อาจมองหาเศษวัชพืช เศษมัน เศษอ้อย ฟางข้าว ผักตบชวา จอกแหน มูลวัว มูลควาย ที่มีอยู่และหาได้ในชุมชน

กลุ่มทำขนม หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร ก็ควรมองหาวัตถุดิบ ที่สามารถใช้ได้ในชุมชน เช่นชุมชนที่มีการปลูกอ้อยมากก็ค้วยหาวิธีการแปรรูปอ้อย ชุมชนที่มีการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่มาก ก็ควรคิดหาวิธีที่จะนำสิ่งเหล่านี้ มาแปรรูปทำอะไรได้บ้าง เหล่านี้เป็นต้น

ที่สำคัญ ต้องคิดเสมอว่า ควรเป็นวัตถุดิบหาได้ง่ายในชุมชน

3.3 เครื่องมือและอุปกรณ์ สำหรับเครื่องมือคงต้องแบ่งออกเป็น 2 พวก คือพวกมี่สามารถหาได้ในชุมชนเช่น มีด พร้า จอบ เสียม เลื่อย โม่ หม้อ กระทะ เหล่านี้ล้วนเป็นอุปกรณ์ที่ชุมชนสามารถจัดหาและนำมาใช้ได้ อีกพวกคือ เครื่องมือที่ต้องจัดหาเฉพาะชิ้น ได้แก่ เครื่องจักรกลต่างๆ หรืออุปกรณ์เฉพาะงาน อย่างอื่นที่ต้องซื้อหาเฉพาะ และต้องไม่ลืมที่จะคิดเสมอว่า กิจกรรมที่จะทำนั้นต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์อะไรในชุมชน มีหรือไม่ เพราะคนในชุมชนเอง ต้องรู้ตัวเองดี

3.4 สถานที่ แหล่งที่ตั้งโครงการ หรือสถานที่ที่จะใช้ในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สำหรับโครงการที่มีลักษณะกิจกรรมร่วมกัน หรือกิจกรรมที่แยกกันทำ ตามความเหมาะสมของงาน เราต้องมองหาความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น กิจกรรมร้านค้า เราจะใช้ตรงไหนที่จะเป็นจุดรวมได้ เป็นจุดจำหน่าย เจ้าของสถานที่เต็มใจให้ ใช้ประโยชน์หรือไม่ กิจกรรมที่ต้องใช้ พื้นที่เฉพาะส่วนตัว ที่ต้องอาศัยบ่อน้ำ บ่อเลี้ยงปลา ที่ไร่ที่นา พื้นที่สูงต่ำ ที่ราบสูง ลุ่มน้ำ ตรงไหนเหมาะสมกับการทำอะไร เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ คนในชุมชนเองรู้ และมีข้อมูลเต็มที่ที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและชุมชนได้

3.5 เงินทุน นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่สามารถเอื้ออำนวยในงานต่างๆ ลุล่วงไปได้อย่างสะดวก แต่เงินทุนหาใช่ สิ่งสำคัญสูงสุด หลายกิจกรรม ซึ่งความไม่ต้องอาศัย เงินมากมาย ก็สามารถที่จะขยายผลได้ ต่อเนื่องมากมาย อาทิ การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ แปลงสาธิตการเกษตรปลอดสารเคมี กิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีหลักการและทิศทาง ที่จะลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะเงินทุน ซึ่งหลายชุมชน กลับมองเรื่องการผลิตปุ๋ย นั้นต้องใช้เงินทุนเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อซื้อหาวัตถุดิบ ซึ่งความจริงสามารถหาได้ง่ายๆ ในชุมชน หากตั้งใจจริงที่จะค้นหาและขยันพอ และหากมีความพร้อมด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ ประสบการณ์ ความตั้งใจ ความขยัน ความพร้อมเพรียง มีเครื่องมือ มีสถานที่ มีวัตถุดิบ ดังที่กล่าวมาแล้ว เงินจะเป็นเพียงแค่น้ำมันหยดเล็กๆ ที่จะช่วยหล่อลื่น ให้ง่ายสะดวกรวดเร็วขึ้นเท่านั้นเอง

4. ตลาด

สำหรับกิจกรรมหรือโครงการที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การผลิตเพื่อการค้าขาย ต้องมองให้ไกล ต้องเตรียมความพร้อมในการหาตลาด จำหน่ายให้ดี หรือมีตลาดรองรับอยู่แล้ว จึงควรทำการเพิ่มผลผลิต สิ่งที่ควรมอง สำหรับกิจกรรมเหล่านี้คือ

1. ผู้ซื้อ ต้องตอบตัวเราเองให้ได้ ว่าเราจะขายให้ใคร แล้วผู้ซื้อของเราอยู่ที่ไหน มากน้อยเท่าไหร่

2. การขยายตัวของตลาด ต้องมองและคาดการด้วยว่า สินค้าที่ผลิตจะจำหน่าย ได้ขนาดไหน อนาคตผู้ซื้อจะเป็นอย่างไร ความต้องการของตลาด จะมากขึ้นหรือน้อยลง

3. แหล่งจำหน่าย หรือวิธีการจำหน่าย ต้องประเมินและมองให้เห็นว่า โอกาสในการจำหน่ายสินค้ามีมากน้อยเพียงใด หากน้อยเกินไป ควรจำหน่ายอย่างไร และแหล่งจำหน่ายสถานที่จำหน่ายควรเป็นอย่างไร หลายแห่งผลิตผลผลิตออกมา มีโอกาสจำหน่ายเพียงสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง คือช่วงวันที่มีตลาดนัด อันนี้ต้องระวังให้ดี

5. คุณภาพ

นับเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับกิจกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่าย ชุมชนต้องรู้ว่า คุณภาพของผลผลิตของตนนั้น เป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ เราสามารถพัฒนาคุณภาพของผลผลิต ได้ตามความต้องการของตลาดไหม หากคุณภาพไม่เป็นที่พอใจ เราจะมีวิธีการเรียนรู้เพิ่มพูนประสบการณ์ ความสามารถเพื่อพัฒนาคุณภาพอย่างไร ชุมชนต้องนำไปคิด และวางแผน มิฉะนั้น กิจกรรมที่ทำขึ้นแล้วล้มเหลว ก็จะกลายเป็นรอยแผล ในชุมชน และหากไม่มีการสรุปบทเรียน และประสบการณ์ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงแล้ว ยิ่งเป็นแผลที่ ยากจะลบของคนในชุมชน

จากหลักการที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น หากชุมชนได้ลองนำไปทบทวนและพิจารณาตัวเอง พิจารณาองค์กร แล้วประเมิน ศักยภาพความเข้มแข็งของตัวเองออกมา และมองทิศทางของโครงการตนเอง อย่างเหมาะสมแล้ว คิดว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้น คงจะสร้างประโยชน์ได้มากพอสมควร และพึงระลึกเสมอว่า ความตั้งใจ ความเพียร ความซื่อสัตย์ ความพร้อมเพรียง คือหัวใจสำคัญในการดำเนินงานใดๆ หากชุมชน และองค์กรใด สร้างความพร้อมตรงนี้ได้ ความเข้มแข็ง ที่จะยืนอยู่ด้วยตัวเอง จะไม่ไกล

----------------------------------------------

ของดีอีสาน ผญาขะลำ

โดย... กวี ลุ่มน้ำโขง


ตอนขะลำน้อย

ผญา อ่านว่า ผะ – หยา แปลว่า ปัญญา

ผญา เป็นคำอีสาน เป็นการเขียนขึ้นจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ การปกครอง ความเชื่อ คำสอนของศาสนา ค่านิยม จริยธรรม ในยุคในสมัยนั้น ถ่ายทอดออกมาเป็นวัฒนธรรม ที่นาหวงแหน การเขียนผญาของคนโบราณ จะได้มาจากการเล่านิทาน สอนลูกหลาน คนอีสานจะเล่าเรื่องไปแล้วจะมีผญาปะปนเข้ากับเนื้อเรื่อง สอดแทรกให้คนฟังเกิดอารมณ์ร่วม เพิ่มอรรถรส ให้น่าฟัง แล้วจะมีนักปราชญ์ที่รักความรู้ ได้สะสมเขียนไว้ตามหนังสือผูกใบลาน เมื่อมีงานศพ หรืองานเทศกาล พระหรือผู้เคยบวชเรียนมา จะอ่านให้ลูกหลานฟัง อีกส่วนไม่สามารถเขียนได้ เพียงแต่จดจำ เล่าสืบต่อกันมา ด้วยเหตุผลการเมือง บดบัง ไม่สามารถแสดงอย่างโจ่งแจ้งได้

ของดีอีสานที่เป็นผญา ถือเป็นวัฒนธรรมที่น่าหวงแหน ซึ่งบรรพบุรุษได้สะสมสิ่งดีงามไว้ ถ้าสิ่งใดดีมีประโยชน์ ทำให้สังคมมีความสันติสุข แต่ละยุค ปราชญ์ก็จะคิดค้นหาถ้อยคำ ที่มีความหมายลึกซึ้ง เป็นคำจำได้ง่าย กินใจ แม้ว่าจะเกี่ยวกับความรัก เกี่ยวกับธรรมชาติ แวดล้อม การกินอยู่ ซึ่งดำรงชีพในยุคของตน การปกครองบ้านเมือง การสู้รบข้าศึกศัตรู หรือกระทั่งมีความรื่นเริงใจตามฤดูกาล ปราชญ์จะพูดขึ้น หรือเป็นหมอลำ จะผูกเรื่องให้เป็นนิทาน มีคำกลอนที่คล้องจอง เป็นการสอนจริยธรรม ถ้าท่อนใด คำกล่าวใดละเมียดละไมล้ำลึก สละสลวยงดงามเขาก็จะได้เก็บมาใช้ โดยเล่าเสริมปะปนกับนิทาน หรือนำมาสอน ลูกหลาน

ผู้เขียนได้ศึกษาจากคนเม่าคนแก่หลายคน หลายกลุ่ม เช่นคนเล่านิทาน ศิลปินหมอลำ หมอไท้ (หมอรักษาคนป่วยด้วยเครื่องเซ่น) หมอธรรม (หมอรักษาคนป่วยด้วยการไล่ผี) หมอผี หมอมอ (หมอดู) หมอเฒ่า (หมอที่เที่ยวสั่งสอนคน) หมอยา (หมอรักษาฟรี) หมอเอ็น (หมอนวด) หมอต่างๆ เหล่านี้จะเห็นความลึกของภาษา และบทบาทผญา จะรับไปใช้ สังคมฐานล่างจะรับไปใช้ในแง่คิด ส่วนใหญ่จะข้นอยู่กับหมอเฒ่า หมอยา คนเล่านิทาน (เว้าพื้น)

ส่วนผญาเกี่ยวกับความรัก หรือจริยธรรมพื้นๆ มักจะเป็นพวกหมอลำ หมอมอ หมอเป่า (หมอผี) ส่วนใหญ่พื้นฐาน แนวความคิดมักจะรับใช้กลุ่มคนมีอำนาจ และเป็นผญา ค่อนข้างมากกว่าแนวแรก

ผู้เขียนได้อยู่ใกล้ชิดกับพ่อมาตั้งแต่เด็กๆ พ่อจะค่อยพูดค่อยจา เอาผญาผสมกับคำสอนเสมอ ถ้าพ่อได้คราดกวาดใบไม้และเศษตอกที่เหลาทำตะกร้ามากองรวมกันแล้วเผา ก็จะปลุกผู้เขียนลุกขึ้น เล่าเรื่องปู่ฟัง ปู่เป็นคนพูดผญาเก่ง แต่บางบทพ่อไม่ให้เอาไปพูดเล่น เพราะถือว่าขะลำ หรือห้ามนำไปใช้ พ่อมักจะพูดว่า “สร้างบ่ลุ บุบ่ขึ้น” เช่น “แหล่งให้กินขา พระยาให้กินขี้” คือคำเปรียบเปรยว่า แหล่งคือทาส คือคนใช้ให้กินเนื้อขาสัตว์ พระยาไม่ได้ทำอะไร วันๆ กินเหล้าเคล้านารีให้กินขี้สัตว์จึงจะเหมาะสม แต่ก็ถือว่าไม่สุภาพ มีคนมาห้ามปราม ไม่ให้พูดจึงเป็นกดขะลำ

คำผญาที่เกี่ยวข้องเรื่องจริยธรรมพื้นบ้าน จะหาได้ไม่ยาก มีมากมาย หลายๆ ท่านได้รวบรวมไว้ ผู้เขียนจึงอยากเสนอผญาที่เป็นของขะลำ ที่ผู้เขียนได้รวบรวมไว้ ซึ่งยากเย็นที่จะเห็นปราชญ์เหล่านั้น เขามักจะอยู่ในทีห่างไกล ความเจริญทางแสงสี ดำรงอยู่อย่างสมถะ พูดน้อย ระมัดระวัง ไม่ค่อยไว้ใจคนแปลกหน้า เขาเหล่านั้นจดจำไว้ในสมอง มากกว่าบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และพูดไปแล้วไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัย อาจจะถูกเสี้ยมสอนให้เก็บวิชา หวงวิชา (ตายคาขอด) ที่จริงเขาเหล่านั้นอาจมีประสบการณ์การเอารัดเอาเปรียบมามาก ถูกกดสิทธิตลอดมา

“เดี๋ยวนี้แผ่นดินเฮาเป็นไข้ไอคิ้งฮ้อนหวู่หวู่
ไผสิมาซุบน้ำ แผ่นดินไข้จั่งสิเย็น”

สมัยก่อน ความเดือดร้อนของแผ่นดิน คงมาจากข้าศึกศัตรู หรือไม่ผูปกครองบีบบี้ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ หรือไม่ก็ต้อง ข้าวยากหมากแพง แผ่นดินจึงร้อน ร่างกายร้อนผ่าว รอแต่จะมีอาการระเบิดแล้ว กวีคงจะคร่ำครวญหาผู้กล้าพาพวกพ้องต่อสู้ กับสิ่งที่จะดับร้อนให้แผ่นดิน หรือป่าวประกาศไปยังผู้กล้าได้ออกมาช่วยชุบน้ำให้ร่างกายเย็นลงบ้าง

บางครั้ง แม่ถือเผือกมา เด็กๆ รุมล้อมกองไฟ วิ่งไปรับเอาเผือก ที่แม่หิ้ว ต้นเผือกยังไม่ตายแห้ง แม่ก็มักพูดเสมอว่า

“ควมฮักของแม่”
แม่ได้ชิ้นกะเอามาป้อนให้หำ
แม่ได้กินคำ แม่กะยื่นให้เจ้า
ยามเมื่อแม่เฒ่าแล้ว ไผสิยื่นส่งกิน

หมายความว่า แม่รักลูกมาก แม่ได้เนื้อมา แม่ก็เอามาฝากลูกชาย (หำ) แม่เคี้ยวอาหารคำ แทนที่แม่จะกลืนกิน ก็มองเห็นหน้าลูก เคี้ยวแหลกแล้วก็ยื่นใส่ปากลูก ทีแม่เฒ่าแก่ชราไปใครเล่าจะส่งอาหารให้กิน จะมีบ้างหรือ

บางครั้งการปลุกลูกหลานให้ลุกจากที่นอน ก็เป็นผญาที่น่าฟัง

“ปลูกลูกตื่น” ลุกลุกถ้อนซุมลูกหลานเฮา
ยักษ์ตาขาวสิเข้าครองเมืองแล้ว
มันสิไถม้างกองพรเหยียบกระดุก แม่นา
มันสิคุมลูกเต้า เป็นข้อยพวกหมู่มัน

หมายความว่า ถ้ามัวเอาแต่นอน ยักษ์ตาขาว (อาจจะเป็นฝรั่ง) มาเอาบ้านเมืองเรา เราจะเป็นทาส

บางมื้อที่เผาเผือกข่อย ก็เปลี่ยนมาเป็นเผาข้าวหลาม โดยพ่อจะตัดไม้ไผ่อ่อนลง แบ่งให้ลูกหลานเอาข้าวใส่ เอาน้ำใส่ในกระบั้ง ให้ได้น้ำสูงกว่าข้าวอยู่สองข้อนิ้วมือ แช่ไว้หนึ่งคืน ตอนเช้าเออามาเผา พร้อมผิงไฟ ก็มีผญาข้าวหลาม

“ผญาข้าวหลาม”
ข้าวเหนียวเม็ดเดียวนั้น บ่อมีวันสิกินอิ่ม
แต่ถ้าโฮมใส่บั้ง สิกินอยู่เขิ่งเมือง

หมายความว่า ถ้าข้าวเหนียวเม็ดเดียวจะให้ใครกินก็กินไม่อิ่ม แต่ถ้าเอามารวมกันใส่บั้ง แล้วจะมีประโยชน์มาก กินกันนำได้ครึ่งเมือง

คนโบราณอีสานจะไม่ฆ่าวัว ฆ่าควาย แต่ต่อมามีการฆ่าวัวในช่วงทำงานหนัก คือตอนดำนา เกี่ยวข้าว การฆ่าวัวมักจะไปเข้าหุ้นกัน คือตามสภาพของฐานะ ใครมีเงินก็ซื้อมากหน่อย คนมีเงินน้อยก็ซื้อตามอัตภาพ เขามักแบ่งเนื้อเป็นกองมาตรฐาน หุ้นใหญ่ครึ่งตัว แล้วหลายคนเข้าหุ้น แบ่งออกตามหุ้น เช่น สิบคนก็แบ่งออกเป็นสิบกอง หรือถือมาตรฐาน เช่น ราคา 1,000 บาท ก็แบ่งเป็นกองละ 100 บาท 10 กอง ในหนึ่งกองจะมีหุ้นส่วนอีกเป็น 10 คน คนอีสานถือว่า บี หรือดี เป็นอาหารวิเศษ ถ้าใครได้ “ดี” ถือว่าได้ครบ ส่วนใหญ่ถ้าคนถือหุ้นเป็นคนมีฐานะเท่ากัน คือเป็นชาวนาด้วยกันจะได้กิน “ดี” ทุกคน “ดี” นั้นถึงจะน้อย เขามีวิธีแบ่งคือ เทดีลงใส่ถ้วยได้ประมาณ หนึ่ง เอาน้ำปลาเติมหนึ่งถ้วย เป็นสองถ้วย แล้วแบ่งกันคนละช้อนแกง โดยแบ่งผสมในน้ำเพลี้ย ( เพลี้ย คือ หญ้าที่ย่อยละเอียด เป็นน้ำสีเทา มีรสขม อยู่ในลำไส้เล็ก ถ้าได้ดีไม่มาก ก็เอาผสมปนกับเพลี้ย) ถ้าชาวนามาเข้าหุ้นชิ้น จะได้กินดีเท่ากัน แต่ถ้ามีคนมีฐานะเป็นผู้ปกครอง เช่นข้าราชการมาเข้าหุ้นด้วย เช่น ตำรวจ ครู เสมียน ปลัด ชาวบ้านเกรงใจ จะมีคนหนึ่งที่เป็นสมุนข้าราชการพูดว่า “ ขอดีให้นายน้ะ” ทุกคนก็ไม่อยากโต้แย้ง และแล้ว สมุนก็เอาดี ไปแบ่งกับนายด้วย

กองเนื้อกองหนึ่ง เขาเรียกว่า “พูดชิ้น” หนึ่งพูด มีผญาเกี่ยวกับพูดว่าดังนี้

“ปันพูดชิ้น”
ผู้ปกครองปันพูดชิ้น
เอามาแบ่งกันกิน
พวกซุมเขากินสัน
ใส่ดีขมพร้อม
ซาวนาเฒ่าเหลือเขากิน จ้ำถ้วยเปล่า
ยามเขาเก็บค่าชิ้น ชาวนาให้ผู้เดียว

หมายความว่า ผู้ปกครอง (อาจจะเป็นรัฐมนตรี หรือ ผู้ถืออำนาจรัฐ ข้าราชการ) ไปฆ่าวัวเอาเนื้อสันงามๆ ส่วนเนื้อติดกระดูก เหลือไว้ให้ชาวน ได้เนื้อสันแล้ว ยังได้ดีทั้งพวง ชาวนาเหลือเขากินจึงเปรียบเหมือน เอาข้าวจ้ำถ้วนเปล่า ได้แต่ลืมตาดูกัน เวลาเขาเก็บหุ้น ก็ออกเงินให้เขา

เหมือนกับสมัยของการวิกฤติของบ้านเมือง นักการเมืองเข้าไปโกงกินบ้านเมืองทำให้บ้านเมืองติดหนี้ ล้นพ้นตัว เสร็จแล้วก็บีบประชาราษฎร์ (เปรียบดั่งชาวนาเฒ่า) เก็บภาษีมากขึ้น จนต้องเดือดร้อน ส่วนใหญ่ นักปกครองจะเป็นอย่างนี้เสมอ ผญาเกี่ยวกับเนื้อ หรือชิ้น ยังมีอีกว่า

“เป็นหนี้ชิ้นกะยังว่าได้กิน เป็นหนี้ดินกะยังว่าได้อยู่
เป็นหนี้หมู่กู้เงินเขานอกบ้าน มาให้ใช้สอยเขา (แม่นบ่ )”

คนอีสาน โดยทั่วไปมักการพนัน เช่น เล่นไก่ตี (ไก่ชน) เวลาจะไปตีไก่ก็ชวนเอาพรรคพวกไปเชียร์ไก่ และลงขันกัน บางคน บางกลุ่มยังไม่พอไปกู้เงินจากเจ็กดอกเบี้ยแพงๆ ก็เอา แล้วมาลงพนันไก่ บางคนเสียพนันจนล่มจม ลูกเมียอยู่บ้านไม่รู้เรื่อง เมียจึงบ่นให้ลูกฟังว่า ถ้าเป็นหนี้ซื้อเนื้อก็ยังได้กิน ถ้าเป็นหนี้ซื้อดินก็ยังมีดินไว้ให้ลูกเต้าอยู่ ปลูกบ้านเรือนได้ แต่หนี้ไปกู้เขามาจากนอกบ้าน ลูกเมียไม่รู้ แต่เจ้าหนี้เขามาเอาข้าวค่าดอกเบี้ย ทุกๆ ปี หากบมาเขาก็เอา รับจ้างมาเขาก็เอา ซ้ำเวลาเขามีงานในบ้านเขา เขาก็ก็เกณฑ์เอาลูกหนี้ ไปใช้เหมือนทาส แม่จึงบ่นให้ลูกฟัง ผู้ไม่รู้อะไรอย่างลูกๆ ก็พลอยเป็นทาสเขา เพราะพ่อเอาเงินไปใช้คนเดียว ยังมีคำบ่นของแม่ให้ลูกฟังอีกว่า

เหมิดแล้วเด้อ...
แผ่นดินเฮาผืนนี้ เขาสิขายเกี้ยงเอิดเติด
บ้านเกิดเฮาม่องนี้ สิโอนให้ผู้อื่นไป
อีตนเด้
อีตนซุมหลานน้อยๆ สิหากินหาบกะต่า
ไฮนาเฮาขาสิม้าง หลานน้อยสิจ่อยตาย ถ่านเอย

หมายความ พ่อผู้ไปก่อหนี้ ไม่มีปัญญาใช้เงินเขาเขาก็จะมายึดนา ยึดที่ดิน สงสารลูกน้อยๆ ไม่รู้ว่าจะหาอะไรกิน โตมาจะไปขอข้าวใครที่ไหนได้ ถ้าที่ดินยังเหลือ ทำนาทำสวนพอได้กินข้าวสืบมื้อไป ยังดีกว่าอยู่อย่างหิวโหย ต้องดั้นด้น ไปทำงานทำการในเมืองหลวงที่แออัด ลูกหลานในอนาคตจะเป็นคนไม่มีศักดิ์ศรี (พลเมืองชั้นสองก็ได้) บากหน้าทำงานในโรงงาน ขายแรงงาน ค่าจ้างตามใจเฒ่าแก่ ที่ต่ำจนสุดจะทนดู

แผ่นดินเหี้ยน

ถ้าแผ่นดินสิ้นไป หมดไป ประชาชนหรือชาวบ้านก็หมดไปด้วย ประชาชนก็กลายเป็นเผ่าอื่น ถ้าไม่มีประชาชนคนโกงชาติบ้านเมืองก็คงไม่มีโอกาสโกง จะไปโกงใคร มีแต่คนอื่นเขาจะมาโกงตนในที่สุดลูกหลาน เขาก็จะเป็นคนจนคนสุดท้ายเหมือนกัน คิดหรือว่าชาติอื่น เขาจะยกย่องสรรเสริญ ยากมาก ตราบใดที่ไม่ได้ทำประโยชน์ให้เขา เขาคงไม่เหลียวแล เหมือนกับปู่ไปเห็นฝั่งน้ำมันขาดออก เพราะน้ำโขงไหลเชี่ยวฝั่งเลยออกปีละน้อยๆ แต่ปู่คิดดว่าถ้าขาดทุกๆ ปี แผ่นดินจะเหี้ยนเข้าแล้วหมดไป ที่จริงปู่อาจจะพูดถึงคนขายดิน ขายนา ขายที่ ขายแผ่นดินก็ได้ แต่สุดที่จะหยั่งรู้ ผญากล่าวไว้ว่า

คันแผ่นดินมันเหี้ยน
ซุมเฮาสิเหมิดซาติ
คันหากซาติล่มแล้ว
ไผสิย้องหมู่เขา

หมู่เขาในที่นี้ คือคนสร้างหนี้สินให้ครอบครัว ให้สังคมให้แผ่นดิน ปู่พูดเสมอว่า ครูมีเงินเดือน เพราะสอนลกชาวบ้านคือคน ถ้าไม่มีลูกคนแล้วมีหรือเขาจะจ้างเงินเดือน ตั้งหลายร้อยหลายพัน พวกฝึกสุนัขสงคราม เงินเดือนไม่ถึงหมื่นหรอก แต่ฝึกคนให้รัฐให้เป็นหมื่นทีเดียว ถ้าย้อนดูข้าราชการทุกกองๆ ก็เหมือนกับครู ถ้ามีประชาชนเขาถึงจ้าง เกิดชาติล่มจมจะเอาเงินที่ไหนมาให้เรา รอชาติอื่นเขาจะมาช่วย คงยากเสียเหลือเกิน อย่าหวังว่าจะ ยศฐานบรรดาศักดิ์

ผญา “มีซุมเฮาจั่งมีเขา”
เขามียศย้อน มีลูกหลานเฮา
เขาซำบาย ย้อนซุมเฮาเกื้อ
ยามเขาไข้ส่ำเหื้อ บ่อตายย้อนยาซุม

ผญาบทนี้บทนี้มีคำเก่าๆ เช่น ซัมบาย คือ สบาย เกื้อ คือ เกื้อกูล ไข้ส่ำเหื้อ คือไข้ป่า ยาซุม คือ ยาสมุนไพร เป็นรากไม้หลายๆ ราก เอามาฝนใส่ ปนกันรับประทาน เหมือนกับที่ปู่พูดข้างต้น เขาหมายถึงผู้ที่เป็นผู้ปกครอง เป็นนักกการเมือง นักธุรกิจที่ เอาเปรียบคนจน มีคนจนจึงมี เขา เขาอาศัยคนจน เหมือนเห็บอาศัยหมา หมาตายเห็บตายแน่ เห็บนั่งดูดเลือดอยู่เฉยๆ คำคำนี้ นักวิชาการไทย ผู้อาวุโส เปรียบเปรยเหมาะแท้ๆ ยาซุมก็มีความหมายถึงประชาชนจึงจะถูกต้อง

หน้าเกลี้ยง
หน้าเจ้าเกลี้ยง ย้อนไทไห่ หาบน้ำมา
ขาเจ้าเกลี้ยง ย้อยไทนา หาบน้ำส่ง
เมียสาว…ขาวปานหงส์หยวกกล้วย
ย้อนไทบ้านเข้าส่งซู เจ้านา

ผญาบทนี้ ชี้ถึงคนสองกลุ่มคือ กลุ่มผู้มีอันจะกิน มีอำนาจรัฐในมือ กับคนฐานล่างหรือเรียกว่า นายกับบ่าว

นายสุขสบายเพราะบ่าว หน้าเกลี้ยงเพราะอาบน้ำในห้องน้ำ บ่าวหาบน้ำจนบ่าปูด หน้าด้านเพราะต้องทนขึ้นเนินลงเนิน คนอีสานไปตักน้ำไกลจากบ้านเฃ่นสระหรือหนองน้ำสาธารณะ ฝ่าแดดฝ่าลม ใช้ "คุ"หรือ กระป๋องน้ำ

กลับไปหน้าสารบัญ
   Asoke Network Thailand
asoke information | asoke community | fhae party | คกร. | ชาวอโศก | ผลิตภัณฑ์ | แนะนำ | ถาม-ตอบ | ข่าว