เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ
แห่งประเทศไทย :
คกร.
Organic Farming Network of
Thailand : OFNT

กลับไปหน้าสารบัญ

ปรุงยาสมุนไพรไว้ใช้เอง


สะระแหน่

สรรพคุณ

ช่วยขับเหงื่อ ขับลม รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยผายลม ช่วยย่อยอาหาร

วิธีใช้

๑.เด็ดใบแก่มาตากแห้งทำเป็นใบชา ชงดื่ม จะช่วยย่อยอาหารได้ หรือช่วยขับความร้อนและเหงื่อ

๒.กลิ่นจากใบสะระแหน่จะช่วยให้คนที่เป็นหวัด คัดจมูก หายใจได้คล่องขึ้น

๓.รับประทานเป็นผัก แกล้มกับอาหาร จะช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ


ไพล

สรรพคุณ แก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก เส้นตึง ลดอาการอักเสบและบวม เป็นยาขับลม ขับประจำเดือน มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้บิด สมานลำไส้

วิธีใช้

๑. แก้ท้องอืด ท้องขึ้น ขับลม ใช้เหง้าแก่ล้างให้สะอาด ฝานเป็นชิ้นๆ ตากแดดให้แห้ง นำมาบดเป็นผงละเอียด ใช้ผงบดประมาณ ๑ ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน ผสมเกลือเล็กน้อย รับประทาน

๒. แก้โรคบิด ใช้เหง้าสดฝานเป็นแว่น สัก ๔-๕ แว่น ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ เติมเกลือครึ่งช้อนชา ใช้รับประทานหรือใช้ฝนกับน้ำปูนใสรับประทาน

๓. โรคหืด ใช้เหง้าไพล ๕ ส่วน พริกไทย ดีปลี อย่างละ ๒ ส่วน กานพลูและพิมเสน อย่างละ ๑/๒ ส่วน บดผสมรวมกัน ใช้ผงยารวม ๑ ช้อนชา ชงรับประทานหรือปั้นเป็นยาลูกกลอนเก็บไว้รับประทานก็ได้

๔. แก้เคล็ดขัดยอก สามารถสกัดเป็นยาหม่องหรือน้ำมันไว้ใช้ทาเมื่อเกิดอาการได้


เสลดพังพอนตัวเมีย

สรรพคุณ

เป็นสมุนไพรที่มีรสจืด ใบสดใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แมลงกัดต่อย ผื่นคัน ลดอาการอักเสบของผิวหนัง หรือจากการแพ้สารสเตอรอยด์ ผิวหนังอักเสบแห้ง ลอก จากการใช้ยาปฏิชีวนะ รักษาโรคเริมและงูสวัดอย่างได้ผล

วิธีใช้

การใช้มีหลายรูปแบบ ถ้าเป็นไม่มากนักก็ใบสด ๕–๑๐ ใบ ตำให้ละเอียด หรือขยี้ให้ละเอียด แล้วนำมาทาทับบริเวณที่เกิดอาการ หรือใช้ใบเสลดพังพอนสด ๑ กิโลกรัม ต่อเหล้าขาว ๑ ลิตร คนบ่อยๆให้ตัวยาละลาย หรือใช้ใบเสลดพังพอนแห้ง ๑ กิโลกรัม ต่อเหล้าข้าว ๔ ลิตร ใส่ขวดโหลดองทิ้งไว้ เก็บไว้ใช้ได้เป็นปี


พลู

สรรพคุณ

รักษาแผลบวมช้ำ เช่น ฝีอักเสบ เคล็ดขัดยอก รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ

ส่วนที่ใช้เป็นยา

ใบนำมาตำผสมกับเหล้า ทาตัวแก้ลมพิษ


มะระขี้นก

สรรพคุณ

เป็นยาระบาย ช่วยเจริญอาหาร ขับลม บำรุงธาตุ ถ่ายพยาธิ รักษาโรคผิวหนัง ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้ตับและม้ามพิการ ต้านไวรัส HIV

วิธีใช้

๑. ผลและใบลวกจิ้มน้ำพริก หรือใช้ปรุงอาหารทานเป็นประจำ เหมาะสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน หรือต้องการลดน้ำตาลในเลือด ทางการแพทย์ใช้รักษาโรคเบาหวานมาตั้งแต่โบราณ

๒. สารสกัดจากเมล็ดมะระ ซึ่งสกัดด้วยเมทานอลสามารถรักษาอาการปวดข้อในรายที่เป็นโรคเก๊าท์

๓. ใช้ใบแห้งนำมาบดให้ละเอียด ผสมกับนำดื่ม กินเป็นยาขับพยาธิ ขับลม บำรุงธาตุ

๔. ใบสดและผลสด ตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำ กินเป็นยาแก้จุกเสียด แน่นท้อง ขับลม บำรุงธาตุ และเป็นยาถ่ายพยาธิ

๕. ใช้ผลตากแห้งบดให้ละเอียด แล้วนำมาโรยบริเวณที่เป็นแผล ใช้ทาแก้คัน หิด และโรคผิวหนัง

๖. ใช้ผลสดตำให้ละเอียด นำไปพอกบริเวณที่เป็นฝี บวมอักเสบ จะช่วยดูดพิษ ลดอาการอักเสบและเป็นหนองได้

๗. น้ำคั้นจากมะระ ช่วยลดน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และลดการเกิดต้อกระจก

๘. สาร MAP 30 ซึ่งเป็นโปรตีน สกัดได้จากผลและเมล็ดของมะระ ช่วยรักษาโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งสมอง นอกจากนั้นสารนี้ยังสามารถออกฤทธิ์ต้านไวรัส HIV ในผู้ป่วยโรคเอดส์ได้ด้วย


ใบเตย

สรรพคุณ

ใบช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ส่วนต้นและรากใช้เป็นยาแก้กษัยน้ำเบาพิการ หรือเป็นยาขับปัสสาวะ และรักษาโรคเบาหวาน

วิธีใช้

๑.ใช้ใบสดตำ คั้นเอาน้ำ จะได้น้ำสีเขียวใช้นำมาผสมอาหาร จะช่วยให้อาหารมีสีสวย น่ารับประทานและมีกลิ่นหอมของใบเตย

๒.ใช้ในในรูปของใบชา ชงกับน้ำร้อน หรือใช้ใบสดต้มกับน้ำจนเดือด เติมน้ำตาลเล็กน้อยก็ได้ ดื่มเป็นประจำช่วยบำรุงหัวใจ

๓.นำส่วนต้นและราก ต้มกับเนื้อหรือใบไม้สัก จะช่วยรักษาโรคเบาหวาน


ช้าพลู

สรรพคุณ

ลดเสมหะในทรวงอก ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ

วิธีใช้

ใช้ลำต้นในการรักษาหรือลดเสมหะในทรวงอก นิยมนำไปประกอบอาหาร หรือรับประทานใบสดๆ แกล้มกับน้ำพริก หรือกินกับเมี่ยงคำ


ตะไคร้

สรรพคุณ

แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่น ลดความดันโลหิตสูง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว บำรุงธาตุไฟ ดังกลิ่นคาว บำรุงเส้นผม ป้องกันผมแตกปลาย

วิธีใช้

๑.เอาต้นตะไคร้สดแก่ ๑ กำมือ ทุบให้แหลก เอาไปต้มน้ำดื่ม ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด

๒.เอาตะไคร้ทั้งต้นทั้งราก ล้างให้สะอาดสัก ๕ ต้น สับเป็นท่อนๆ นำไปต้มกับเกลือ และน้ำ ๓ แก้วต้ม ให้ได้น้ำ ๑ แก้ว ดื่มเป็นประจำวันละ ๑ แก้ว จะช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ


ขิง

สรรพคุณ

สรรพคุณอันโดดเด่นของขิงที่คนทั่วไปรู้จัก คือช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด นอกจากนี้ขิงยังสามารถย่อยอาหารได้ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากธาตุไม่ปกติ เมารถเมาเรือ สรรพคุณของขิงแตกต่างกันไปตามความอ่อนแก่ รวมถึงเปลือกและเนื้อก็ให้สรรพคุณแตกต่างกันด้วย เพราะมีสารสำคัญเป็นองค์ประกอบตามส่วนต่างๆ และตามความอ่อนแก่ แตกต่างกันไป

วิธีใช้

๑. แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด รวมถึงโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นแผล อาการเมารถเมาเรือ ให้ใช้ขิงแก่สดสัก ๕๐ กรัม ล้างให้สะอาดทุบให้แหลก นำไปต้มกับน้ำ ๒ แก้ว รินดื่มแต่น้ำประมาณวันละ ๓ ครั้ง

๒. พยาธิตัวกลมจุกลำไส้ ใช้น้ำขิงผสมน้ำผึ้งดื่ม

๓. กำจัดกลิ่นรักแร้ ใช้น้ำขิงทารักแร้เป็นประจำ จะช่วยกำจัดกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนาได้

๔. อาเจียนและมีเสมหะเป็นฟอง ดื่มน้ำขิงบ่อยๆ หรือถ้าเป็นมากให้ใช้น้ำขิง ๑ ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำผึ้ง ๒ ช้อนโต๊ะ เติมน้ำ ๓ ช้อนโต๊ะ อุ่นให้ร้อน ดื่มวันละ ๔-๕ ครั้ง

๕. ปวดกระเพาะอาหาร ใช้ขิง น้ำตาลทรายแดง พุทรา ต้มดื่มวันละครั้ง

๖. เป็นหวัด ตัวร้อน มีไข้ ใช้ขิงทุบให้แหลกหรือหั่นเป็นฝอย(พอประมาณ) ชงกับน้ำตาลทรายแดงดื่มขณะร้อนๆ หรือผสมหัวหอมแดงลงไปด้วย จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น ที่สำคัญต้องห่มผ้าใส่เสื้อให้หนาด้วย

๗. แก้ไอ ขับเสมหะ ใช้ขิงฝนกับน้ำมะนาว หรือใช้เหง้าสดตำ คั้นเอาน้ำ ผสมกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ

๘. ผมร่วง หัวเริ่มล้าน ใช้เหง้สดนำมาผิงไฟให้อุ่น ตำพอกบริเวณที่ผมร่วง วันละ ๒ ครั้ง ประมาณ ๓ วัน ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้พอกต่อไปสักระยะ

๙. หนังมือลอกเป็นขุย ให้ใช้เหง้าสดมาหั่นเป็นแผ่น นำมาแช่เหล้า ๑ ถ้วยชา ทิ้งไว้นาน ๒๔ ชั่วโมง เอาแผ่นขิงที่ผ่านการแช่มาถูกตามบริเวณที่เป็นวันละ ๒ ครั้ง

๑๐. บาดแผลสด ให้ใช้เหง้าสดล้างให้สะอาดนำมาตำคั้นเอาน้ำมาทา

๑๑. แผลเริมบริเวณหลัง ใช้เหง้า ๑ หัว เอามาเผาจนผิวนอกเป็นถ่าน คอยปาดถ่ายที่ผิวนอกออก เผาและปาดไปเรื่อยๆ นำผงถ่านที่ได้ผสมกับน้ำดีหมู ใช้ทาบริเวณที่เป็น

๑๒. ฟกช้ำจากการหกล้ม หรือกระทบกระแทก ให้ใช้เหง้าสดนำมาตำกับเหล้าพอก หรือใช้น้ำคั้นจากใบสด ๑ ถ้วย ตังกุย ๑๐๐ กรัม บดเป็นผงผสมกับเหล้ากินติดต่อกันประมาณ ๓ วัน


หนุมานประสานกาย

สรรพคุณ แก้ช้ำใน หวัด แพ้อากาศ หอบหืด ร้อนใน

วิธีใช้

๑.เอาหนุมานประสานกาย ๕–๑๐ ช่อ ต้มกับน้ำประมาณ ๗–๑๐ แก้ว แล้วดื่มต่างน้ำ หรือดื่มวันละหนึ่งครั้ง แก้หวัด ภูมิแพ้ หอบหืด

๒.ใช้หนุมานประสานกาย ๑-๓ ช่อ ตำให้ละเอียด ต้มกับน้ำครึ่งแก้ว แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง ใช้น้ำยานี้กินทุกเช้า-เย็น เป็นตัวยาที่ค่อนข้างเข้มข้น เหมาะกับการรักษาอาการช้ำใน

๓.รับประทานใบสด ๑-๒ ใบ เคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลืน เช้า-เย็น เหมาะกับอาการแผลในปากที่เกิดจากการร้อนใน

๔.ใช้ใบสด ๑๐ ใบ ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำผสมกับเหล้าขาว ใช้เป็นยาแก้ไอ แก้หอบหืด แก้อาเจียนเป็นเลือด

๕.ใช้ใบสดตำให้ละเอียด เอากากมาพอกหรือทาสมานแผล และห้ามเลือด


เพชรสังฆาต

สรรพคุณ

แก้ริดสีดวงทวาร แก้กระดูกแตก หัก ซ้น และขับลมในกระเพาะ แก้โรคลักปิดลักเปิด นิยมนำเพชรสังฆาตมาใช้ในการรักษาริดสีดวงทวาร แต่จะรักษาให้ดีในระยะที่อาการยังเป็นไม่มาก ถ้าเป็นมานานแล้ว การรักษาอาจจะไม่ดีเท่าไรนัก

วิธีใช้

๑.นำเถาเพชรสังฆาตมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ใช้รักษาโรคลักปิดลักเปิด

๒.นำเถาเพชรสังฆาตมาล้างให้สะอาด หั่นบางๆ นำไปตากแดดให้แห้งประมาณ ๔-๕ วัน นำไปบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวาร


รางจืด

สรรพคุณ

เป็นยาที่มีรสเย็น ใช้ถอนพิษเบื่อเมา หรือใช้ปรุงเป็นยาเขียว ถอนพิษไข้ พิษผิดสำแดง(อาการแพ้อาหาร) แก้พิษเบื่อเมาจากเห็ด

วิธีใช้

ใช้ได้ทั้งแบบแห้งและแบบสด
แบบสด เลือกใบใหญ่ๆสัก ๕ ใบ ตำกับน้ำซาวข้าวให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม จะช่วยแก้พิษ
แบบแห้ง ใช้ใบตากแห้ง ชงเป็นชาดื่ม


ว่านหางจระเข้

สรรพคุณ

ตำราไทยใช้น้ำยางสีเหลืองจากใบ เคี่ยวให้แห้ง เรียกว่า ยาดำ เป็นยาระบาย นอกจากนี้ยังใช้วุ้นสดจากใบปิดขมับแก้ปวดหัว และสรรพคุณที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปเป็นอย่างดีก็คือ ใช้วุ้นสดรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลไหม้เกรียมจากแสงแดดและรังสี แผลสด และแผลเรื้อรัง หรือจะกินเพื่อใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารได้

นอกจากนี้แล้วในวงการเครื่องสำอาง ก็ยังนำว่านหางจระเข้มาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอางกันมากมายหลายชนิด เช่น แชมพูสระผม สบู่ ครีมกันแดด เป็นต้น

วิธีใช้

ให้เลือกใช้ใบล่างสุดของต้นก่อน ล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างน้ำยางสีเหลืองออกให้หมด เพราะน้ำยางตัวนี้อาจจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง และอาการแพ้ได้ ขูดเอาวุ้นใสปิดพอกบริเวณแผลหรือฝานเป็นแผ่นบางๆปิดแผล พันด้วยผ้าพันแผลที่สะอาด เปลี่ยนวันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าแผลจะหาย ถ้าจะบรรเทาอาการปวดศีรษะก็ฝานตามขวาง แล้วเอาปูนแดงทาบนวุ้น เอาด้านที่ทาปูนแดงปิดบนขมับ

ข้อควรระวังอีกอย่างของการใช้ว่างหางจระเข้ คือต้องใช้สดๆ และไม่ควรทิ้งวุ้นไว้นานเกิน ๒๔ ชั่วโมง และควรเก็บในที่เย็น เพระตัวยาจะสลายได้ง่ายมากเมื่อถูกความร้อน


บอระเพ็ด

สรรพคุณ

บอระเพ็ดมีรสขมจัด เย็น ตำราไทยใช้เถาเป็นยาแก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้กระหายน้ำ แก้ร้อนใน เป็นยาขม เจริญอาหาร ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมผลิตทิงเจอร์บอระเพ็ดเพื่อใช้แทน Tincture Gentian ซึ่งเป็นส่วนผสมของยาธาตุที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ

วิธีใช้

แก้ไข้ให้นำเถาสดขนาด ๓๐–๔๐ กรัม ตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือต้มกับน้ำ ๓ ส่วน แล้วเคี่ยวให้เหลือ ๑ ส่วน ดื่มก่อนอาหารวันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น หรืออาจจะใช้วิธีดองกับน้ำผึ้ง หรือปั้นเป็นยาลูกกลอนเก็บไว้รับประทานก็จะสะดวกขึ้น


ขมิ้นชัน

แก้โรคกระเพาะ โรคท้องอืด ท้องเฟ้อ

สรรพคุณ

ขมิ้นชันมีรสฝาด มีกลิ่นหอม จึงมักนิยมนำมาประกอบอาหารโดยเฉพาะในภาคใต้ ในตำรับตำรายาบอกไว้ว่า ขมิ้นชันรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน รักษาโรคท้องอืด ท้องเฟ้อ และแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการจุกเสียด ท้องร่วงท้องเดิน นอกจากนี้ยังมีการนำขมิ้นชันไปทดลองทางเคมี พบว่ามีน้ำมันหอมระเหยและสาร curcumin ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อหนองได้ดี ซึ่งมีคุณสมบัติเทียบเท่ายาปฏิชีวนะทีเดียว

วิธีใช้

๑.ถ้ามีอาการท้องร่วงท้องเดิน ให้ใช้เหง้าสดยาวประมาณ ๒ นิ้ว นำมาปอกเปลือกล้างน้ำให้สะอาด แล้วตำให้ละเอียด เติมน้ำสะอาดลงไป แล้วคั้นเอาแต่น้ำรับประทานครั้งละ ๒ ช้อนโต๊ะ ๓-๔ ครั้ง

๒.รักษาอาการเม็ดผดผื่นคัน ใช้เหง้าสดฝนหรือตำผสมน้ำเล็กน้อย หรือถ้ามีเหง้าแห้ง ให้ใช้เหง้าแห้งบดเป็นผงละเอียด ผสมน้ำเล็กน้อย ทาผิวหนัง

๓.รักษาโรคท้องอืด ท้องเฟ้อ และโรคกระเพาะอาหาร ให้นำเหง้าแก่สดล้างน้ำให้สะอาด (ไม่ต้องปอกเปลือก) หั่นเป็นชิ้นบางๆ ตากแดดจัดๆ สัก ๒-๓ วัน แล้วนำมาบดเป็นผงให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้ง หรือปั้นเป็นยาลูกกลอนไว้รับประทานวันละ ๔ ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน


ฟ้าทะลายโจร

สรรพคุณ

ใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ท้องเสีย แก้ไข้ เป็นยาขม เจริญอาหาร โรคอุจจาระร่วงและบิดไม่มีตัว

วิธีใช้

ถ้ามีอาการของโรคท้องเสีย ก็ใช้ใบฟ้าทะลายโจรมาปั้นเป็นยาลูกกลอนไว้รับประทาน คือนำใบสดมาล้างให้สะอาด ตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปบดเป็นผงละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน รับประทานครั้งละ ๑.๕ กรัม วันละ ๔ ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน

อีกวิธีหนึ่ง คือใช้ดองกับเหล้าขาว เอาใบตากแดดให้แห้ง ใส่ขวดผสมกับเหล้าขาว แช่ให้ท่วมยาเล็กน้อยเขย่าขวดหรือคนยาวันละ ๑ ครั้ง จนครบ ๗ วัน ก็กรองเอาแต่น้ำรับประทานครั้งละ ๑-๒ ช้อนโต๊ะ วันละ ๓-๔ ครั้ง ก่อนอาหาร

มีข้อควรระวังอยู่บ้าง สำหรับท่านที่ใช้ยาฟ้าทะลายโจร เพราะอาจเกิดอาการข้างเคียงคือ คลื่นไส้ หรือแพ้ยา มีอาการปวดท้อง หลัง เอว ให้รีบหยุดรับประทานทันที ส่วนในท่านใดที่ไม่เกิดอาการแพ้ยาก็ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้มือเท้าชาและอ่อนแรงได้ และไม่ควรเก็บตัวยาลูกกลอนและยาดองไว้เกิน ๓ เดือน


มะแว้งเครือ

สรรพคุณ มะแว้งเครือมีรสขม ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ ขับปัสสาวะ แก้ไข้ และเป็นยาขม เจริญ อาหาร

วิธีใช้

ผลสดสามารถรับประทานร่วมกับน้ำพริกต่างๆได้ ถ้ามีอาการไอและมีเสมหะ ให้นำเอาผลแก่ ๕–๑๐ ผล โขลกพอแหลก คั้นเอาแต่น้ำผสมเกลือ จิบบ่อยๆ หรือเคี้ยวกลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขมเฝื่อน และนานจนกว่าอาการจะหาย


บัวบก

สรรพคุณ

ใบสดใช้รักษาโรคปากเปื่อย ปากเหม็น เจ็บคอ ร้อนใน กระหายน้ำ ลดไข้ ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย แก้ปวดศีรษะข้างเดียว เป็นยารักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ลดอาการอักเสบของแผลและหนอง

วิธีใช้

๑.โดยปกติ เราใช้ใบบัวบกนี้รับประทานคู่กับน้ำพริกต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้ว เสมือนหนึ่งอาหารเป็นยา ถ้ารับประทานอยู่สม่ำเสมอก็สามารถป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ที่ต้องอาศัยการบำบัดด้วยวิธีการรับประทานได้เป็นอย่างดี เช่น อาการปวดศีรษะข้างเดียว

๒ หรือ นำใบสดมาต้มเป็นน้ำใบบัวบก ผสมกับน้ำตาลเล็กน้อย ใส่น้ำแข็งหน่อย(ตามใจผู้ดื่ม) ก็สามารถใช้เป็นยารักษาอาการปากเปื่อย ปากเหม็น ร้อนใน กระหายน้ำ ลดความดันได้ผลดีทีเดียว

๓.นอกจากนั้น ในการรักษาแผลสด แผลเป็นหนองต่างๆ แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ให้ใช้ใบสด ๑ กำมือล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ทาบริเวณแผลบ่อยๆ สรรพคุณของยาในใบบัวบกจะค่อยๆบรรเทาอาการ ทำให้แผลแห้งหายเป็นปกติได้เร็ว ด้วยคุณสมบัติในการรักษาและการฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพของใบบัวบกนี้เอง วงการแพทย์จึงกำลังพัฒนาตัวยามาเป็นรูปของครีม เพื่อให้สะดวกต่อการใช้รักษามากยิ่งขึ้น

๔.รักษาอาการช้ำในโดยทำเป็นน้ำดื่มหรือกินใบสดก็ช่วยได้เช่นกัน บัวบกจะช่วยให้เลือดกระจายตัว


ชุมเห็ดเทศ

สรรพคุณ

ทากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง แก้อาการท้องผูก

วิธีใช้

๑.ใช้เป็นยาระบาย ใช้ช่อดอกต้ม รับประทานกับน้ำพริก หรือนำเมล็ดแห้งมาคั่วให้เหลือง บดให้ละเอียดชงกับน้ำร้อนดื่ม หรือนำใบมาหั่นต้มกับน้ำดื่ม แต่ไม่ควรดื่มติดต่อกันเป็นประจำ เพราะจะทำให้ระบบลำไส้ทำงานผิดปกติ

๒.ใช้เป็นยารักษากลากเกลื้อน ใช้ใบสดย่อย สัก ๓-๔ ใบ ขยี้เอาน้ำผสมเกลือเล็กน้อย ใช้ผิวไม้ไผ่ที่สะอาดขูดบริเวณที่เป็น แล้วจึงใช้ใบชุมเห็ดเทศทาเบาๆ วันละ ๒ ครั้ง หรือใช้ใบสดตำละเอียด แช่เหล้าขาว ทาวันละ ๒-๓ ครั้ง จนกว่าจะหาย

๓.ใช้ใบสด ๘–๑๒ ใบ อังไฟให้เหลือง หั่นเป็นฝอยต้มกับน้ำ ๑ ถ้วย เติมเกลือเล็กน้อย รินเอาแต่น้ำ ใช้ดื่มเป็นยาระบาย

๔.ใช้รักษาแผลฝี แผลเน่าพุพอง ใช้ใบสด ๑ กำมือ ต้มกับน้ำพอท่วม เคี่ยวให้เหลือน้ำ ๑ ใน ๓ ใช้ล้างแผลที่เป็นหนองวันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น ถ้าเป็นมากให้ใช้ใบสด ๑๐ กำมือ ต้มอาบ

กลับไปหน้าสารบัญ
   Asoke Network Thailand
asoke information | asoke community | fhae party | คกร. | ชาวอโศก | ผลิตภัณฑ์ | แนะนำ | ถาม-ตอบ | ข่าว