มนุษย์สีขาว ปฏิบัติธรรม

ตอน... ยามยาก

“ช่างเป็นเวรบ่าย ที่สนุกสนาน อบอุ่น และ โกลาหลอะไรอย่างนั้น!”

คนไข้ ที่แผนกหลังคลอด และ นรีเวช วันนี้มาก จนล้นออกมา เต็มระเบียงหอพักผู้ป่วย เรื่อยไป จนถึง บันใด

หลังจากรับเวร ฟังรายงานอาการ จากเวรเช้าเสร็จแล้ว ไม่ทันไร พายุฝนก็กระพือโหม เข้ามาในแผนก อย่างรวดเร็ว จนต้องเปิดไฟฟ้าใช้ ตั้งแต่ห้าโมงเย็น

ฟ้าแลบ แปลบปลาบ เป็นริ้วๆแฉกๆ บางทีก็สว่างจ้า ตามมาด้วย เสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ดังคำรน กึกก้อง

“แว่บ…เปรี้ยง!” เป็นระยะๆ ตลอดเวลา

บางคนก็ตกใจกับเสียง ดังสะท้านนี้ จนสะดุ้ง แต่บางคนพอฟ้าสว่างแว่บ ก็สะดุ้งรอไว้ก่อน!

สายฝน เริ่มเทกระหน่ำ เข้ามาในแผนก อย่างแรง ฉันกับผู้ร่วมงานอีกคน และ บรรดาญาติ ของคนไข้ เร่งรีบ ช่วยกัน ปิดหน้าต่าง และ เข็นเตียงคนไข้ ที่มีอยู่เต็มระเบียงห้อง หนีพายุฝน เข้าไปเบียดเสียด หลบฝน อยู่ภายในแผนก อย่างโกลาหลชุลมุน ที่สุดเลย

คนไข้ ที่พอลุกได้ ก็ลงจากเตียง มาช่วยกันขนของ และ เข็นเตียงอีกแรงหนึ่ง บ้างก็ช่วยกัน จัดเตียงในห้อง ให้ติดๆกัน จะได้มีที่ว่าง ได้รับเตียงข้างนอกอย่างเต็มใจ

“แว่บ…เปรี้ยง !”

ดังสนั่นอยู่เป็นระยะๆ เสียงผู้หญิงและเด็ก หวีดร้องกัน ด้วยความตระหนก

ครู่เดียวไฟฟ้าก็ดับ เกือบทั่วโรงพยาบาลมืดไปหมด เห็นจะมีอยู่เพียง สี่แผนก ที่ยังใช้กระแสไฟฟ้าฉุกเฉินได้ คือ ห้องคลอด ห้องผ่าตัด ห้องอุบัติเหตุ และ ห้องผู้ป่วยหนักเท่านั้น เพราะถ้าไฟฟ้าดับ อาจหมายถึง ชีวิตคนไข้ ดับตามไปด้วยก็ได้ !

แผนกหลังคลอด และ นรีเวชขณะนี้ ตกอยู่ในความมืด ฉันควานหาเทียน ในตู้เก็บของมาจุด ลมก็พัด แรงเหลือเกิน จุดได้ไม่นาน ก็พัดดับอยู่เรื่อย ทันใดนั้น ฉันก็นึกถึง ตะเกียงเจ้าพายุขึ้นมา ไม่ได้ใช้เสียนาน เมื่อเอามาจุดแล้ว ค่อยดูสว่างขึ้น ( ที่มันชื่อว่า “เจ้าพายุ” คงเป็นเพราะ พายุพัดมันให้ดับไม่ได้ เนื่องจาก มีเกาะแก้วพิเศษ ปกป้องล้อมไว้นี่เอง)

พวกเราพยายามเข็นเตียงเข้ามา “อัด” ในห้องอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะยากดี มีจนอย่างไร คนไข้ และญาติ ที่อยู่ เตียงเสริม ข้างนอก ต่างก็อยู่ในความรับผิดชอบ ของเราทั้งนั้น เขาต่างมีสิทธิ์ หลบพายุฝน และ ฟ้าดุๆอย่างนี้ เหมือนคนไข้ ภายในแผนกเช่นกัน เพราะเขาต่างก็เป็นมนุษย์ เหมือนกัน

ฉันอดชื่นใจไม่ได้ ที่แลเห็นน้ำใจ จากทุกๆฝ่าย ทุกคนต่างช่วยกัน สมานสามัคคี อย่างเต็มใจจริงๆ

ขณะที่จะให้เลือด คนไข้ตกเลือดหลังคลอด ที่ส่งมาจาก โรงพยาบาลบางปลาม้า ฉันตรวจชื่อ และ กรุ๊ปเลือด อย่างละเอียด “…เราจะพลาดไม่ได้ แม้อยู่ท่ามกลางความมืดสลัว” สามีคนไข้ กุลีกุจอ เข้ามาส่องไฟฉายให้ ด้วยท่าทีกระตือรือร้น เต็มอกเต็มใจ

“หมอน้ำเกลือเตียง ๓ หมดแล้ว” ญาติเตียง ๓ มาสะกิดข้างหลัง ทั้งๆ ที่ยังหาเส้นเลือดเตียง ๕ ไม่พบ

“หลบมาทางนี้ลูก อย่าไปเกะกะทางหมอนะ” เสียงยายแก่ๆ บอกหลานตัวกระจ้อย

“หมอ! เมื่อกี้ ใครดันเปลลูกฉัน ไปไว้ ที่ไหน ก็ไม่รู้? !” สสารย่อมไม่สูญหายไปจากโลก ลูกไม่ไปไหนหรอก อยู่ในห้องนี้แหละ เดี๋ยวไฟฟ้าสว่าง ก็เจอเอง ฉันตอบในใจ

“หมอ! น้ำเกลือเตียง ๒๗ หมดแล้ว” เตียง ๒๗ อยู่ตรงไหนนะ อัดกันแน่นไปหมดอย่างนี้ ดูลานตาไปหมด

“หมอ! จำเรียงปวดแผลมากเลย ฉีดยาให้ก่อน สักเข็มได้ไหม? !” วันนี้ คนไข้ผ่าตัดหน้าท้อง หลายคนซะด้วย

ฉันต้องวิ่งเป็นหนุมานเลย บางปัญหา ก็เกิดขึ้นมานานแล้ว เพิ่งจะมาได้ฤกษ์ มาตาม ตอนยุ่งๆนี่พอดี!

“หมอ! ขอยาแก้ไอหน่อย ไอมาตั้งแต่กลางวันแล้ว ยังไม่ค่อยยังชั่วเลย” บางปัญหา ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น ยามฉุกละหุก อย่างนี้เลย

“หมอ! หมอ! เร็วเข้า! คนไข้เป็นลมในห้องน้ำ!!”

สิ่งที่เราหวังไว้ อาจไม่ใช่สิ่งที่เราจะได้รับ เสมอไป… ฉันบอกกับตนเอง พลางรีบแก้สถานการณ์ต่างๆ อย่างว่องไว… บางทีจิตก็คิดวิตกขึ้นมาแว่บหนึ่ง เกรงว่างานจะไม่สมบูรณ์เรียบร้อย ก็สอนตัวเองว่า “ไม่ว่าผลจะได้แค่ไหน แต่เราก็พยายามทำ ให้สุดฝีมือ สุดแรง ของเรานั่นแหละ แม้ว่าผลอาจไม่ดี ดังที่เราคิด ก็ช่างมันเถอะ เราทำได้ดี ที่สุดเท่านี้แหละ… เราไม่ใช่พระเจ้านี่…”

ไหนจะงานประจำ ที่ต้องวัดความดันโลหิต-วัดปรอท-ชีพจร-อัตราการหายใจ ฟังเสียงหัวใจเด็ก ในครรภ์ ของมารดา ที่ยังไม่คลอด ว่ายังปกติดีไหม แล้วนำมาลงรายงาน ในแฟ้มประวัติคนไข้แต่ละราย แจกยากิน ฉีดยาประจำชั่วโมง ซึ่งมีหลายเข็ม และ จะให้ยาสับกันไม่ได้ (แม้ในบรรยากาศมืดสลัว) ไหนจะต้องคอยต่อขวดเลือด และ น้ำเกลือ ไม่ให้ผิดคน คอยปรับอัตราหยดให้พอดี กับสภาวะอาการ ของคนไข้แต่ละราย ไหนจะปัญหาฉุกเฉิน เฉพาะหน้าอีก ขณะนี้บุญ “ผุด” พรั่งพรูเข้ามาให้ทำมากมาย จนลายตาไปหมด!

หมอ หมอ มียาลมบ้างมั้ย? !”

“ใครเป็นอะไร ?”

“เตียง ที่เพิ่งคลอดใหม่น่ะ เขาขอ” พลางชี้เข้าไปกลางห้องสลัวๆ ฉันมองตามมือชี้ไป เห็นเงาลางๆ นอนแบ็บอยู่บนเตียง อย่างอ่อนแรง

“แบ่งกันคนละครึ่งนะ พยาบาลก็กำลังจะเป็นลมด้วยเหมือนกัน!” ฉันพูดความจริง

“โธ่… หมอก็พูดเป็นเล่นไปได้”
แน่ะ ! … หาว่าพูดเล่นซะอีก!

“ถ้าหมอเป็นอะไรไป แล้วใครจะช่วยคนป่วยล่ะหมอ?“
จริงๆด้วยแหละ ลืมนึกไป เอาเป็นว่า พยาบาลเป็นลมไม่ได้ก็แล้วกัน

เสียงเพลงหวาน ดังขึ้นอย่างปลอบโยน ในยามยากอย่างนี้ “เหงื่อพรูหลั่งรินไหล แพ้ใจเรา ทุกข์ลำบากยากเย็น เพื่องานเด่น รับเอาสร้างตัวเรา ให้แกร่งกายใจ”

แม้จะยุ่งอย่างไร แต่ศีลของเรา ยังบริสุทธิ์อยู่เสมอ ยังระวังกายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม ให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ยุ่งๆนี่แหละดี เราจะได้ฝึกความว่องไว และ แววไว ทั้งกาย และ จิตวิญญาณ ฉันบอกตนเอง ให้กำลังใจตนเอง เงียบๆ

“สงสารหมอจังเลย ตั้งแต่ขึ้นเวรมา วิ่งตลอดเลย ยังไม่เห็นหยุดพักกินข้าวเลย” ฉันได้แต่ยิ้ม ไม่ได้ตอบว่ากระไร อานิสงส ์การกินมื้อเดียวนี้ มากมายนัก นี่ถ้ายังกินมื้อเย็นอยู่ ป่านนี้ท้องคงเรียกร้องว่า เมื่อไหร่ จะได้กินข้าว ซักที (วะ!)

“หมอครับ ผมช่วยส่องไฟให้นะครับ” ญาติคนไข้ ขันอาสาอย่างเห็นใจ

“แม่หมอ… หิวหรือยังละ แม่คุณ”
คนเรียก “แม่หมอ” แก่หง่อมคราวยาย!

“หมอจะกินอะไรบอกเลยนะ เดี๋ยวฝนหยุด ผมจะออกไปซื้อมาให้”

“หมอจะให้ช่วยอะไร บอกมาเลยนะ”

อบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก ถึงจะแสนยุ่ง และ เหนื่อยยากอย่างไร หากมี”กำลังใจ” ก็สามารถฟันฝ่า อุปสรรคไปได้ การไม่ทับถมตนเอง ในยามยาก และ การหัดให้กำลังใจตนเองนี่ จะทำให้เรา ไม่ย่อท้อ และ มีพลังในชีวิต ตลอดเวลา และ นี่ฉันยังได้กำลังใจ จากรอบข้าง อย่างมากมาย มาช่วยเสริมอีก

เกือบ ๔ ทุ่ม พายุเงียบสงบ และ ฝนขาดเม็ด ลมเย็นพัดโชย เอาอากาศบริสุทธิ์เข้ามา ในแผนก ญาติหลายๆเตียง เอาปิ่นโต เอาห่อข้าว ของตน ออกมาแบ่งปันกันกิน ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน คนไข้บางคนไร้ญาติ แต่ญาติเตียงอื่นๆ ต่างแบ่งปันอาหาร คนละเล็กคนละน้อย ให้กินจนอิ่ม

“น้ำใจช่างงดงามกันเหลือเกิน” ฉันนึกอนุโมทนา และ ชื่นชมอยู่ในใจเงียบๆ คิดถึงบทกวี ที่เขียนไว้สั้นๆ แต่กินใจมากว่า “ยามยากจะเห็นใจมิตร ยากศึกประชิด จะเห็นใจทหาร”

จริงสินะ คนเราจะรู้น้ำใจกัน ก็เมื่อยามทุกข์ยาก เดือดร้อน และ มีภัย นี่แหละ

เร็วๆนี้ ที่”ปฐมอโศก” มีการประชุมสี่องค์กร ยามนี้… คณะกรรมการ มากันเกือบครบ คนที่ขาดประชุม คือคน ที่ติดธุระจำเป็นจริงๆ และ นอกจาก “คณะกรรมการ”แล้ว ยังมี “คณะกรรมเกิน” ที่มาร่วมฟังประชุม อย่างเต็มใจ ห่วงใย สามัคคี และ อบอุ่นอีกด้วย

ขณะนี้พวกเราชาวอโศก ยิ่งรวมพลังกันเหนียวแน่น สามัคคีกลมเกลียวกัน เรื่องระหองระแหง จุกจิก แทบจะไม่มีปรากฏ ต่างร่วมยืนหยัดยืนยัน ในสัจธรรม

ห้าทุ่มกว่า แม้พายุฝนจะสงบไปแล้ว แต่ไฟยังดับอยู่ แสงเทียนยังวอมแวบ อยู่ในแผนก ฉันเพ่งมอง ฝ่าความมืด แห่งรัตติกาล ไปยังต้นโพธิ์ใหญ ่ใกล้ห้องเก็บศพ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ ของโรงพยาบาล ภายหลังพายุร้าย… สายฝน ที่กระหน่ำ กระแทกลงมา… ท่ามกลางแผ่นฟ้า ที่กึกก้องคำรน สะท้านสะเทือน ฉันรู้สึกว่า ใบโพธิ์แต่ละใบ สดใส สดชื่น แข็งแรง มีชีวิตชีวาขึ้นด้วยซ้ำ ต้นโพธิ์ใหญ ่ก็ยังคงยืนตระหง่าน อย่างมั่นคง จะมีก็แต่ใบสีเหลืองๆ และ สีน้ำตาล ที่หลุดจากขั้ว ร่วงหล่นจากต้น เมื่อถูกแรงพายุกระพือพัด ส่วนสิ่งที่จะเจริญต่อไป เป็นแก่นแกน ยังคงเหนียวแน่น คงทนต่อมรสุมร้าย อย่างยืนหยัด แต่บางที “กาฝาก” บนต้นโพธิ์ ก็เหนียวแน่น ไม่ยอมหลุดไปง่ายๆ ด้วยเหมือนกัน จริงๆด้วย ต่างกันแต่วัตถุประสงค์ ของมันคือ การคอยเบียดเบียน ดูดแย่งอาหาร จากต้นโพธิ์ กิ่งโพธิ์ และ ใบโพธิ์นั่นเอง

ฉันเองก็พยายาม ระมัดระวังพฤติกรรม และ ถามตนเองอยู่เสมอ ถึงวัตถุประสงค์ในชีวิต เพื่อ ที่จะได้ ไม่มีพฤติกรรม เช่นเดียวกับกาฝาก บนต้นโพธิ์นั่น! บางทีกาฝาก ก็ช่วยให้ใบโพธิ์แต่ละใบ ฝึกวางใจ ฝึกเสียสละ อาหาร ที่รากดูดขึ้นมาให้ตน ออกไปบ้าง หากไม่มีคนไม่ดี คนดีจะเห็นตัวอย่าง ที่พึงละเว้นได้ จากที่ไหน จะฝึกเสียสละให้แต่เพียงคนดีด้วยกัน เท่านั้นหรือ ? ที่จริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ล้วนเป็นอุปการะ ให้แก่กันทั้งสิ้น

ยามสองกว่าแล้ว

ขณะที่ถีบจักรยานลงเวรบ่ายมา โคลงบทหนึ่ง ที่เคยผ่านตา ก็ผุดขึ้นมาในภวังค์…

When you walk through the storm, hold your head up high.
And don’t be afraid of the dark. Behind the dark is the golden sky.

แต่ตอนนี้ มันเป็นเวลากลางคืน พรุ่งนี้เช้าเถอะ จะดูซิว่า หลังพายุร้ายสงบแล้ว ท้องฟ้าจะงามสดใส อย่าง ที่โคลงเขาว่า หรือไม่

แต่ถึงแม้จะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ฉันก็จะเป็นคนหนึ่ง (ในอีกหลายๆคน) ที่จะมั่นคง ยืนหยัดยืนยัน ห่างจากอบายมุข กินมังสวิรัติ และ ใช้ศีลเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ให้ออกไปจากจิตวิญญาณ จะพยายามระมัดระวัง กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม ให้บริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอินทรีย์พละ จนชั่วชีวิต

เพราะได้พิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วว่า พุทธธรรม ที่แท้นี้ ก่อให้เกิดสันติสุข และ คุณประโยชน ์ทั้งต่อตนเอง และ มวลมนุษยชาต ิตลอดมา ทั้งอดีต และ ปัจจุบัน ( ที่ได้พิสูจน์แล้ว) ไม่เลือกยุคกาลสมัย

และ ไม่ว่า จะอยู่ภายใต้ฟ้าสีหม่น มืดครึ้มด้วยเมฆดำ หรือ ฟ้าสีครามงามสดใสก็ตาม…

ก่อนจะหลับลงไป เมื่อย่างเข้าหนึ่งนาฬิกา ของวันใหม่ เมื่อทบทวนเหตุการณ์ ที่ผ่านมา ในช่วงขึ้นเวรบ่ายนี้ อดบอกกับตนเองไม่ได้ว่า

“ช่างเป็นเวรบ่าย ที่สนุกสนาน อบอุ่น และ โกลาหล อะไรอย่างนั้น!”

“พร้อมกันนี้ ฉันได้อะไรๆ จากเหตุการณ์ในวันนี้ อย่างมากมาย

“โอ! … ทุกอย่าง ล้วนเป็นอุปการะ ต่อการปฏิบัติธรรม ของเราทั้งสิ้น!”

๑๓ กันยายน ๒๕๓๑

หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 131 เดือนตุลาคม 2531