มนุษย์สีขาว ปฏิบัติธรรม |
วันเวลาได้ล่วงเลยไป อย่างไม่เคยหยุดยั้ง ดุจเดียวกับกระแสน้ำ ที่ไหลล่อง ลงสู่มหาสมุทร ชั่วนาตาปี เช่นกัน พ่อท่านเคยสอน ลูกๆอโศกไว้ว่า ทุกอย่าง ในมหาสากลจักรวาล มันล้อเลียนกันทั้งสิ้น พระพุทธองค์ จึงทรงให้เราศึกษา โลกเล็กๆ คือ กาย ยาววา หนาคืบ กว้างศอก นี่แหละ (แทนการไปศึกษา โลกที่กว้างใหญ่ ซึ่งเราจะไม่สามารถ ศึกษาได้หมด ในชีวิตชาติหนึ่งๆ)
และเมื่อวันวาร ผ่านผันไป วัยของฉัน ก็เริ่มเข้าสู่วัยกลางคน อย่างไม่รู้ตัว! ทุกๆวินาที ที่วิ่งผ่าน ก็ได้พาเอาชีวิต เข้าสู่ความชรา ไปทุกขณะ ผมบนศีรษะของฉัน ก็ดูละล้อเลียนกับวัย ที่ล่วงเลยไป เช่นกัน มันจึงเริ่ม มีผมหงอก แซมขึ้นมา ประปราย
ใครคนหนึ่งกล่าวไว้ อย่างน่าประทับใจ ทีเดียวว่า
"ชีวิตนี้น้อยนัก ชีวิตนี้สั้นนัก ดุจสายฟ้าแลบ เพราะฉะนั้น ทุกขณะที่ผ่านไป ควรยังกุศล ให้ถึงพร้อม และไม่ประมาท ในโทษภัย อันมีประมาณน้อย
หวนกลับมาคิดถึงชีวิต แห่งการปรับปรุง กรรม ๓ ของฉัน บางครั้ง ก็รู้สึกละอาย ที่จะพูดว่า เราเป็น นักปฏิบัติธรรม เพราะยิ่งนานวัน ก็ยิ่งเห็น กิเลสของตนชัดขึ้น จนบางที ถึงกับอุทานว่า โอ...นี่ เราน่าเกลียด อย่างนี้เชียวหรือ ยังบกพร่องมาก ขนาดนี้เชียวหรือ!
แม้จะเหลือเวลา อยู่บนโลกอีกน้อยนิด แต่กิเลสก็ยังเหลืออยู่ อีกมากมายเหลือเกิน ที่รุนแรงที่สุด คือจิตตัวถือสา เรียกร้อง จะให้คนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ และเหตุการณ์ต่างๆ เป็นไปอย่างที่ ใจเรายึดเอาไว้
ฉันได้ซาบซึ้งว่า สภาพจิตที่ถือสา เรียกร้องนี้ ทำให้เราเป็น ผู้มีอารมณ์เปราะบาง ง่ายต่อการ สั่นสะเทือน พร้อมจะแตกสลาย ได้ทุกเมื่อ ทำให้จิตใจคับแคบ และสร้างทุกข์ แผดเผาจิตใจ ให้ทรมาน มานานแสนนานแล้ว
"เอ๊ะ! ทำไมผู้ร่วมงานคนนี้ คอยหลบงาน อยู่เรื่อยเลย"
"ทำไมหมอคนนี้ ไม่เอาใจใส่คนไข้เลยนะ (ทำยังงี้ได้ยังไง!)
"ทำไมคนนี้ ไม่มีความจริงใจเลย" ฯลฯ
เวรบ่ายวันหนึ่ง หลังจากฉีดยา ให้คนไข้ในแผนกแล้ว ฉันก็มานั่งพัก ที่เคาน์เตอร์พยาบาล ทอดสายตา ไปเบื้องหน้า ตรงม้านั่งหินอ่อน หน้าแผนกสูติ-นรีเวช ชายชรา วัยห้าสิบกว่า ร่างผอม ผิวดำเกรียม แขนและขา ที่โผล่พ้นออกมาจาก เสื้อผ้าเก่ามอมแมม ที่สวมอยู่นั้น มีเส้นเอ็นขึ้น เป็นปุ่มปม สะพรั่งไปหมด อะไรก็ ไม่น่าสะดุดตาเท่ากับ ศีรษะที่โกร๋นของลุง มีผมขึ้น หร็อมแหร็ม สีขาวโพลน อยู่เป็นหย่อมเล็กๆ เท่านั้น ภาพของ นกตะกรุม ผุดลอยขึ้นมา ให้จินตนาการของฉันทันที โดยอัตโนมัติ
ข้างๆชายชรา เป็นบุตรสาววัยรุ่น ซึ่งเป็นคนไข้ในแผนก ถัดมาคือหญิงชรา ซึ่งเป็นมารดาของคนไข้ ผมสีดอกเลา ของป้านั้น ดกเต็มศีรษะ ถูกหวีรวบตลบขึ้นไป และสับไว้ด้วย หวีโค้งเก่าๆ ป้าสวมเสื้อผ้าเก่าๆ เช่นเดียวกัน เนื่องมาจาก มีฐานะยากจน
ครอบครัวนี้ มาจากบ้านป่า กิ่งอำเภอหนองหญ้าไซร คนไข้ผู้เป็นลูก มารับการผ่าตัด คลอดบุตร ประวัติของเธอ แปลกกว่า คนไข้รายอื่น เพราะเธอมีอาการ จิตวิปริตร่วมด้วย
เมื่อกลับมาจากห้องผ่าตัด พอฟื้นขึ้นจาก ฤทธิ์ยาสลบ เธอก็เอะอะอาละวาด ดึงสายน้ำเกลือทิ้ง ดึงสาย สวนปัสสาวะ ที่ใส่คาไว้ออก
พยาบาลหลายคน พยายามเปลี่ยนหน้ากัน เข้าไปพูดปลอบ ไปให้น้ำเกลือ หรือฉีดยาให้ เธอก็จะให้รางวัล กับทุกคน โดยถ้วนหน้ากัน โดยการพ่นน้ำลายใส่ น้ำลายของเธอมีมาก พ่นเท่าไร ไม่รู้จักหมด จนทำให้ฉัน นึกไปถึง นกนางแอ่น (ที่มันใช้น้ำลายทำรัง) ปากก็ด่าด้วยถ้อยคำ ที่หยาบคายมาก ซึ่งถ้าฟังแล้วถือสา ก็คงโมโหแน่ๆ
พอเธอลุกนั่งได้ ก็ใช้สองมือ กระชากผ้าก๊อส ที่ปิดแผลผ่าตัดไว้ จนหลุด กระจุยกระจายไปหมด สักครู่ ก็ร้องปวดแผล พยาบาลจึงเข้าไปปลอบ และฉีดมอร์ฟีนให้ เพื่อระงับปวด
"อี...นี่ฉีดยาเจ็บฉิ...เลย" ให้พรเสร็จ เธอก็หลับไป
สองวันต่อมา เธอแข็งแรงขึ้น ลุกเดินได้ พูดด้วยพอรู้เรื่อง เป็นบางครั้ง แต่เวลาคลุ้มคลั่งขึ้นมา ก็หยิบไม้ ไล่ทุบตี พ่อแม่ของเธอ อย่างรุนแรง (ไม่รู้ไปเอากำลัง มาจากไหน ถึงได้มากมายอย่างนี้) บางครั้ง ลุงกับป้าแก่ๆ ก็ต้อง หนีไปแอบ
วันแรก ที่ฉันอยู่เวรและพบเธอ ใจยังหวาดๆอยู่ เพราะเป็นคนเดียว ที่ยังไม่ได้รับ "โบนัส"จากเธอ ฉันค่อยๆก้าว ไปยังเตียง ๑๓ ที่เธอนอนอยู่ ด้วยท่าทีเป็นมิตร พูดด้วยอย่างอ่อนโยน ส่วนในใจนั้นน่ะ กะว่า เดี๋ยวถ้าเธอ แจก"รางวัล" เมื่อไหร่ละก็ ฉันเองก็พร้อม จะโกยแนบ ออกมาทันที บอกกับตนเองว่า
"เป็นไงเป็นกัน ให้มันรู้กันไปซิว่า พยาบาลกับคนไข้ ใครจะเร็วกว่ากัน!"
วันนี้เธออารมณ์ดีจริง ป้อนข้าวก็กินได้มาก ฉันนำเสื้อผ้าใหม่ๆ มาให้เธอ โชคดีจริง... หลายวันต่อมา เธอไม่เคยด่า หรือพ่นน้ำลาย ใส่ฉันเลย อาจเป็นเพราะฤทธิ์ยา หรือเพราะเธอคิดว่า ฉันเป็นพวกเดียว กับเธอก็ได้!
ป้าผู้เป็นมารดาคนไข้ เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมเธอเป็นเด็กเรียนเก่ง พอจบ ป.๖ ก็ไม่ได้เรียนต่อ เพราะฐานะยากจน ต้องออกจากโรงเรียน มารับจ้างตัดอ้อย เลี้ยงพ่อแม่ ต่อมาเมื่อ ๒ ปีก่อน มีชาย ผู้ลุแก่อำนาจอารมณ์ คนหนึ่ง ขึ้นมาหาเธอ ในตอนกลางคืน เธอตกใจ และหวาดกลัวมาก จนจิตวิปริต คุ้มดีคุ้มร้าย ตั้งแต่นั้นมา ไม่เป็นอันรับจ้าง เลี้ยงพ่อแม่ บางทีก็ทุบตีพ่อแม่ เวลาโมโห บางทีก็นุ่งลมห่มฟ้า ไม่อายชาวบ้าน
ต่อมา มีหมอกลางบ้าน เป็นชายสูงอายุ ซึ่งอยู่อีกตำบลหนึ่ง มาคะยั้นคะยอ ขอรับเธอไปรักษา โดยกินยาหม้อ ที่บ้านตน ไม่กี่เดือนต่อมา ก็มาเร่งลุงกับป้า ให้ไปรับลูกกลับบ้าน พอรับกลับมาไม่นาน ก็รู้ว่าเธอตั้งครรภ์ เสียแล้ว!
ลุงผู้เป็นบิดาบังเกิดเกล้า แค้นมาก แต่เพราะความยากจน และความชรา ลุงจึงไม่สามารถ แก้แค้นได้ เกือบทุกคืน ลุงนอนไม่หลับ คิดมาก จนผมสีเทา กลายเป็นสีขาว อย่างรวดเร็ว และหลุดร่วงมาก จนน่าตกใจ มีใบหน้า หมองหม่น อยู่เป็นนิตย์
"แล้วป้าล่ะ ทุกข์ใจคิดมาก เหมือนลุงหรือเปล่าจ๊ะ" ฉันถาม เมื่อป้าเล่าจบลง
"โอ๊ย...ตอนนี้ ฉันทำใจได้แล้ว อะไรมันจะเกิด มันก็ต้องเกิด นี่ก็นึกว่า เกิดมาใช้กรรมเก่า ฉันอาจเคยทำ ไม่ดีไว้ แต่ชาติก่อนก็ได้ ตอนนี้ก็ต้องคอยหนี เวลาลูกเขามาไล่ทุบเอาน่ะ กลัวเขาจะมีบาป ติดตัวไปอีก"
ฉันฟังแล้ว อยากจะกราบป้าสักครั้ง โธ่...ป้า นี่ขนาดป้า ไม่ได้ปฏิบัติธรรมนะ ยังสามารถวางใจ ได้ถึงขนาดนี้ ส่วนฉันนี่สิ ฟังแล้วอยากจะไปตาม ชายหน้ามืดคนนั้น กับตาหมอศีรษะงู มาดูผลงาน ที่น่าอัปยศของตน จะได้คิดบ้างว่า อารมณ์ชั่ววูบของตน สร้างความทุกข์ทรมาน ซ้ำเติมหลายชีวิต ที่น่าสงสารอยู่แล้ว ให้ทุกข์ทรมาน มากขึ้นอีก อย่างแสนสาหัสเพียงไหน
พยายามสอนใจตนเอง อย่างรวดเร็วว่า เขาทั้งหลาย อาจเคยสร้างกรรม ร่วมกันมาก่อน จึงต้องมาตามทวงหนี้ ใช้หนี้ กันนั่นเอง อา...สัตวโลก ย่อมเป็นไปตามกรรม ที่ตนได้ก่อ ไว้แล้วทั้งสิ้น... คิดได้ดังนี้ จิตถือสา จึงคลายลง
ชีวิตที่ได้มาปฏิบัติธรรม ฝึกแก้ไขปรับปรุง กรรม ๓ ได้พยายามเตือนตน สอนตน ให้เป็นผู้มีความคิด กว้างขวางขึ้น กว่าเดิม (ไม่คับแคบมาก เหมือนก่อน) จึงสามารถให้อภัย และเข้าใจผู้อื่น มากขึ้นมาบ้าง
มันก็เป็นสิทธิของแต่ละคน ที่จะทำตามภูมิปัญญา ของตน พูดตามความคิดเห็น และเหตุผลของตน เพราะคน ทุกคน มี"ต้นทุนก่อนเกิด" มาไม่เท่ากัน และการได้อยู่ ในสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ที่แตกต่างกันออกไป ย่อมจะหล่อหลอม พฤติกรรม และความคิดเห็น ให้แตกต่างกัน ออกไปด้วย พยายามบอกตนเอง เสมอว่า ทุกคนทำอะไร เขาก็ย่อมมีเหตุผลของเขา ถ้าเราเป็นเขา เราก็คงทำอย่างเขา นั่นแหละ (และบางที อาจไม่ดี เท่าเขาก็ได้!)
จากการปฏิบัติที่ได้ผล อีกอย่างหนึ่ง คือการได้มองตน และการเชื่อ เรื่องของวิบากกรรม
"เอ...เราไปถือสาเขาน่ะ ตัวเราเองล่ะ ดีพร้อมแล้วหรือยัง"
"เราอาจเคย ทำไม่ดีกับเขามาก่อน (ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว) ก็ได้ จึงมาได้รับผลกรรม ตอบสนองอย่างนี้"
เมื่อมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม จะสามารถใช้ การเคารพเหตุผลของผู้อื่น การมองตน และการเชื่อ ในเรื่องของ วิบากกรรม มาสลายตัวถือสา ได้ผลเป็นที่น่าพอใจทีเดียว
เย็นวันนี้ ฉันเอาของกินของใช้ บางอย่าง มาให้ลุงและป้า ผู้อาภัพคู่นั้น ลุงยกมือไหว้ แล้วรับของไป มือสั่นระริกคู่นั้น ลูบคลำ ขวดซอสถั่วเหลือง อย่างดีใจ
"ชั่วชีวิต ผมไม่เคยคิดเลยว่า ผมจะได้กินของดีๆ แพงๆอย่างนี้"
ฉันตื้นตันใจ จนพูดไม่ออก ทีแรกก็คิดว่า เราจะทำยังไงนะ เพื่อให้ลุงผู้แบกทุกข์ไว้ ตลอดเวลานี้ ได้มีช่วงชีวิต ที่พบกับ ความดีใจบ้าง แม้ชั่วแวบเดียวก็ยังดี แต่บัดนี้ คำพูดของลุงผู้ยากจน ทำให้ฉันสะเทือนใจจริงๆ เราก็ว่า เราเป็นคนจน มักน้อยสันโดษ ระดับหนึ่งแล้วเชียวนะ แต่เทียบกับลุงแล้ว เราก็ยังมีมากอยู่อีก ฉันบอกกับลุงในใจว่า
"ลุงจ๊ะ ซอสนี่ ฉันใช้ประจำอยู่แล้ว แพงกว่านี้ ก็มีอีกนะจ๊ะ ที่เพื่อนๆญาติธรรมของฉัน บางคนใช้กันน่ะ ซอสเห็ดหอมไงล่ะ! ลุงเคยเห็นหรือเปล่า?!... สงสัยถ้าฉันซื้อมาให้ลุงละก็ ลุงคงจะดีใจ จนช็อค แน่ๆเลยนะเนี่ย!"
พอนึกถึงเรื่อง"ช็อค" อดนึกถึงเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อเร็วๆนี้ไม่ได้
เช้าวันหนึ่ง ฉันซึ่งอยู่ในชุดมอซอ ฉันจึงพยายาม ระมัดระวัง ถีบรถให้ชิดซ้ายมือ ให้มากที่สุด แต่คงเป็นคราว เคราะห์ร้าย รถปิ๊กอั๊พคันหนึ่ง แล่นมาข้างหลัง ด้วยความเร็ว ชนรถจักรยาน ที่ฉันถีบอยู่ อย่างจัง!
ฉันและรถล้มกลิ้ง กระแทกกับพื้นถนนทันที ขาข้างหนึ่ง เข้าไปขัดกับกำล้อรถ จิตที่เคยฝึกมาเสมอ คิดอย่างรวดเร็วว่า
"เขาไม่มีเจตนา จะชนเราหรอกนะ ญาติของเขา อาจกำลังป่วยหนักอยู่ในรถ (นี่ไม่ได้แช่งนะ) หรือ เขาอาจจะกำลัง มีธุระรีบด่วนอยู่ก็ได้" เมื่อคิดดังนี้ จิตจึงมิได้ถือสาเลย... แต่ขวัญกระเจิง!
ฉันเดินไปสั่งของในร้าน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก ที่เกิดเหตุนัก ด้วยกิริยาสงบ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่หัวใจ ยังสั่นระริก อย่างเสียขวัญ เสียงที่สั่งของอยู่นั้น เหมือนไม่ใช่เสียงของฉันเอง
ครึ่งชั่วโมงต่อมา บนรถโดยสาร ที่จะไปบ้าน ซึ่งห่างจากตัวเมือง ประมาณ ๑๖ กม. หัวใจของฉัน ยังเต้นแรง และเร็วอยู่ พยายามทำใจให้สงบ หายใจเข้าออกยาวๆ มีสติอยู่กับลมหายใจ เอาละ... ถึงแม้โจทย์ครั้งนี้ ยังสงบ ไม่ผ่านร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่ก็ดีใจละ ที่จิตถือสา ลดลงไปอีก นิดหนึ่งแล้ว
ฉันเดินจากลุง ผู้กำลังยินดีกับของกินของใช้ ที่เพิ่งได้รับไป กลับไปยังระเบียง ด้านทิศตะวันตก ของแผนก สูติ-นรีเวช ลำน้ำท่าจีน ซึ่งไหลผ่านตัวโรงพยาบาล กระแสน้ำ ไหลล่องไปทางทิศใต้ โดยไม่หยุดยั้ง ดุจเดียวกับ กาลเวลาเช่นกัน ลำแสงสุดท้ายแห่งวัน ทางทิศตะวันตก ทอดกระเพื่อมเป็นประกาย บนระลอกคลื่น ในสายน้ำ สีทองแถบม่วง ที่ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า และดวงดาว ที่เริ่มทอแสง ระยิบระยับ ในขณะนี้ ทำให้ฉันนึกถึง บทเพลงหนึ่งที่ว่า
"...ก่อนสิ้นแสงตะวันจะจากลับไกล
โปรดจำไว้ คือวัยล่วงไปพร้อมกัน
จึงควรตรวจเสียก่อน อย่านอนหลงมั่น
"วัย" และ"วัน" จะผ่าน"
ฉันเดินกลับมาต่อน้ำเกลือ ให้กับ คนไข้หลังผ่าตัดมดลูก รายหนึ่ง พร้อมกับบอกตนเอง อย่างมุ่งมั่น และเบิกบานว่า
แม้สีของผม และริ้วรอยแห่งความชรา จะผุดขึ้นมา เตือนบอกถึงความเสื่อม แห่งร่างขันธ์ เพื่อล้อเลียน ตามกาลเวลา และกระแสน้ำ แล้วก็ตาม แต่จิตวิญญาณของฉัน ที่มีฉันทะ มุ่งล้างกิเลส เพื่อดับเหตุแห่งทุกข์ ให้สิ้นไปนั้น ไม่เคยแปรเปลี่ยนไป เหมือนทุกอย่าง ในมหาสากลจักรวาลเลย!
ตรงข้าม ด้วยความเที่ยงต่อ ความพากเพียรนี้ กิเลสในจิตต่างหาก ที่จะต้องสลายไปเรื่อยๆ พร้อมกับ สังขาร ที่เสื่อมไป ตามกาลเวลาเช่นกัน
"ลูกไกลพ่อ"
๘ พฤษภาคม ๒๕๓๒ ; ๓.๐๐ น.
(สารอโศก อันดับ๑๔๒ มิ.ย.๒๕๓๓)