มนุษย์สีขาว ปฏิบัติธรรม |
เวรบ่ายวันนี้ ขณะรับเวร ฉันได้ข้อมูลจาก พยาบาลเวรเช้า เกี่ยวกับ ประวัติของคนไข้ ห้อง ๑๐๖ ว่า หญิงอายุ ๕๖ ปี ผู้นี้ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในสายงานสาธารณสุข เช่นเดียวกับดิฉัน เธอเข้าโรงพยาบาล เพื่อทำรีแพร์ (Repair = การทำศัลยกรรมผ่าตัด เพื่อให้ช่องคลอดกระชับ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ทำสาว นั่นเอง) และวันนี้ แพทย์ทางสูตินรีเวชผู้หนึ่ง ก็ได้ทำผ่าตัดให้ ตามที่เธอต้องการ เรียบร้อยแล้ว
ฉันนึกไปถึงเหตุการณ์ เมื่อ ๒ ปีก่อนนั้น มีภรรยาของนายตำรวจ ๓ คน อายุ ๒๐, ๒๒ และ ๒๗ ปี ตามลำดับ มารักษาตัว ที่แผนกหลังคลอด และนรีเวช เพื่อทำสาว เธอเหล่านั้น นอนเตียงใกล้กัน หัวเราะ พูดคุยกันคิกคัก อยู่เรื่อย บางทีก็มีเสียง กรี๊ดกร๊าด หรือพูดเล่นกันเสียงดัง ด้วยภาษาที่ไม่สุภาพเลย ฉันไม่เห็นด้วยกับเหตุผล ที่พวกเธอบอกกับฉัน ขณะที่ไปซักประวัติผู้ป่วย พวกเธอต้องการ มาทำสาว เพราะไม่ต้องการ ให้สามี ไปมีเมียน้อย ดิฉันนึกในใจว่า ทำไมถึงคิดสั้นๆอย่างนี้ ไร้สาระจริงๆ และยังต้อง เจ็บตัวเปล่าๆด้วย เมื่อมีชีวิตคู่ การผูกใจสามี ไม่ใช่เรื่องอย่างนี้ เพียงเรื่องเดียวเสียเมื่อไหร่ การยอมรับกัน ให้เกียรติ ให้ความอบอุ่น การอภัย และให้กำลังใจ นั่นต่างหาก จะทำให้ชีวิตคู่ มีความสุขและยืดยาว [แต่ถ้าปะเหมาะไปเจอ สามี ที่หมกมุ่น อยู่แต่เรื่อง กามารมณ์ ก็คงต้องมองในแง่ดีว่า ตนจะได้เห็นทุกข์ เข็ดหลาบในชีวิตคู่ และถือเป็นเหตุ ให้เบนเข็มชีวิต เข้าสู่เส้นทาง การดับทุกข์ ได้เร็วยิ่งขึ้น]
ภาพพจน์ของคนไข้ ที่มาทำสาว ที่ฝังไว้ในใจของดิฉันนั้น จะเป็นแง่ลบ คือฉันไม่เห็นด้วย และไม่ค่อยพอใจเลย คนไข้ห้อง ๑๐๖ นี่ก็เหมือนกัน ดูสิ อายุก็ปาเข้าไปตั้ง ๕๖ แล้ว ยังมาทำสาว ให้เจ็บตัวอยู่ได้ น่าจะมีความคิดที่ดีๆ และทำอะไร ที่มีสาระกว่านี้
ไม่ทันไร ญาติคนไข้ห้อง ๑๐๖ ก็มาบอกว่า คนไข้หลังทำรีแพร์ ปวดแผลผ่าตัดมาก ฉันเข้าไปตรวจดู และ ได้ฉีดมอร์ฟีน ให้ไป ๑ เข็ม เธอบอกว่า เธอปวดทรมานมาก ฉันยิ้ม และปลอบว่า รอให้ยาแก้ปวด ออกฤทธิ์สักครู่ เดี๋ยวจะค่อยๆ ทุเลาขึ้น จะปวดมาก ก็วันแรกๆนี่แหละ วันต่อๆไป อาการจะดีขึ้นกว่านี้
ฉันเข้าไปช่วยเช็ดตัว ทำความสะอาดร่างกาย เปลี่ยนผ้านุ่งที่เปื้อนเลือด เป็นเสื้อผ้าชุดใหม่ ทุกครั้ง ที่ให้ขยับตัว เธอจะร้อง เพราะปวดตึงแผลมาก ฉันวัดความดันโลหิต ชีพจร วัดปรอท และดูอัตราการหายใจ เป็นระยะๆ คอยสังเกต อาการเปลี่ยนแปลง อย่างเอาใจใส่ ต่อน้ำเกลือ ฉีดยาแก้อักเสบ ให้ตามเวลา ดูแลเรื่องความสะอาด และ ความสุขสบายทั่วไป เธอพูดขอบอกขอบใจ และชื่นชมฉันมาก วันรุ่งขึ้น แพทย์ยังให้ใส่ สายสวนปัสสาวะ คาไว้เหมือนเดิม แต่ให้ดึงผ้าก๊อสที่อัดไว้ เพื่อป้องกันเลือดออก หลังผ่าตัดทิ้งได้
หลังจากฉันดึงผ้าก๊อส ออกมาจากช่องคลอด ให้เธอแล้ว เธอบอกว่า อาการปวดตึง ได้ทุเลาลงไปมาก แพทย์ได้สั่ง ยาแก้ปวด เป็นยากินแทนยาฉีด แต่เธอก็ไม่ได้ขอ ยาแก้ปวดอีก
ทุกครั้ง เมื่อฉันเข้าไปวัด ความดันโลหิต และปรอท หรือเข้าไปให้ยา เธอจะชวนพูดคุยด้วยนานๆ ดูท่าทางเธอ คงถูกชะตา กับฉันกระมัง แต่ความรู้สึก ที่ซ่อนอยู่ในใจของฉันก็คือ "อายุป่านนี้ น่าจะเข้าวัดได้แล้ว ไม่น่ามาทำสาวเลย"
จนวันที่ห้า ของการผ่าตัด อาการเจ็บตึงแผล ของเธอทุเลา แต่เวลาลุกนั่ง จะรู้สึกค้ำๆ เพราะยังใส่ สายสวนปัสสาวะคาไว้ ในตอนสายวันนั้น ฉันได้เข้าไป เอาสายสวนปัสสาวะออกให้ ให้เธอดื่มน้ำมากๆ และแนะนำ ให้คอยสังเกต อาการขับถ่ายปัสสาวะ ว่าปกติดี หรือมีอาการแสบขัด หรือไม่ ครั้งนี้ก็เช่นกัน เธอจะชวนฉันพูดคุย อยู่เป็นเวลานาน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เธอพูดขึ้นว่า
"ที่พี่มาทำรีแพร์เนี่ย ไม่อยากมาทำเลย แม่คุณ...กระบังลม มันหย่อนแล้ว ยูเทอรัส
(Uterus, Uteri = มดลูก) มันไหลลงมาจุกที่ Vagina ปวดทรมานมา ๒ ปีแล้ว เลยต้องมาทำรีแพร์"
ฉันไม่ได้ตอบว่าอะไร ยิ้มๆ แล้วก้าวออกมาจากห้องนั้น ด้วยหัวใจที่อยากจะเข้าไปหา คนไข้อีก แล้วบอกว่า
"ขอโทษนะคะ ที่ใจลึกๆเพ่งโทษมาตลอดว่า แก่แล้วยังมาทำสาวอีก คิดว่า ทำเพื่อให้สามีชอบ เหมือนภรรยา นายตำรวจ ทั้งสามคนนั่น"
แล้วก็บอกสอนตัวเองว่า "จำไว้นะ นิสัยเรา ชอบด่วนสรุป พฤติกรรมของผู้อื่น เร็วเกินไป"
จากเรื่องนี้ ทำให้ฉันนึกไปถึง เหตุการณ์บนรถเมล์ ในกรุงเทพฯ เมื่อ ๓ ปีก่อน ครั้งนั้น ฉันจำได้ดี ฉันกำลัง โหนรถเมล์ ไปพร้อมๆกับ ญาติธรรมหญิงท่านหนึ่ง ซึ่งขณะนั้น เธอตั้งครรภ์แก่ ใกล้คลอด ไม่มีใครลุก ให้เธอนั่งเลย (และส่วนใหญ่ ผู้ที่นั่งอยู่เป็นผู้ชาย!) ซ้ำร้าย เมื่อชายคนหนึ่ง ลุกขึ้น เพื่อจะลงป้ายถัดไป ญาติธรรม ท่านนี้ ก็จะเข้าไปนั่ง ชายอีกคนหนึ่ง ที่โหนรถอยู่ รีบชิงเข้าไป นั่งแทนเสียก่อน ด้วยความรวดเร็ว ยังไม่พอแค่นั้น เวลารถเบรก ชายคนที่ลุกขึ้น จะลงจากรถ ก็เซ แล้วเอาข้อศอก และลำตัว มากระแทก ท้องของญาติธรรมหญิง ท่านนั้นอีก ฉันน่ะ ยืนดูเหตุการณ์เหล่านี้ อย่างอึดอัด ขัดเคืองมาก เรียกว่า ช่วงนั้น สร้างนรกขึ้น ในใจตัวเอง ตลอดเลย หัวคิ้วขมวดเข้าหากัน แทบว่าจะผูกโบได้! นึกในใจว่า ผู้ชายสมัยนี้ ช่างเห็นแก่ตัวจริงๆ ไม่มีความเป็น สุภาพบุรุษเลย ดูซิเนี่ย! คนท้องคนไส้ ก็ไม่ลุกให้นั่ง พวกเนี้ยใจร้าย ใจดำ และตับดำด้วย!
ต่อมา มีอยู่วันหนึ่ง ฉันมีโอกาส ได้ขึ้นรถเมล์ เพื่อไปฟังธรรม ที่สันติอโศก ที่นั่งบนรถเมล์คันนั้น เต็มหมด ฉันจึงต้อง ยืนโหนรถเมล์ อยู่ตรงส่วนกลาง ของคันรถ ผู้หญิงตั้งครรภ์แก่ คนหนึ่ง ขึ้นมาจาก ตลาดหมอชิต เธอโหนรถเมล์ อยู่ข้างหน้าฉัน แล้วเหตุการณ์ ก็เป็นเช่นวันก่อนอีก ไม่มีใครลุก ให้เธอนั่งเลย พอรถเบรก เธอก็เซ เอาท้องไปปะทะพนักพิง เบาะข้างหน้า เบาะนั้น มีผู้ชายคนหนึ่งนั่งอยู่ หญิงครรภ์แก่คนนี้ ได้ใช้มือทั้งสอง ยึดพนักพิงนั้นไว้แน่น แต่พอรถเบรกทุกครั้ง ตัวเธอก็เซไปมา และ ท้องก็กระแทกกับ พนักพิงทุกครั้ง ชายคนนั้น ยังนั่งนิ่งเฉยอยู่ เหมือนทองไม่รู้ร้อน (ราวกับจะบอกว่า "ฉันไม่ลุกให้เธอนั่ง ซะอย่าง มีอะไรอ๊ะป่าว?!) ฉัน (ผู้ชำนาญในสาขาการเพ่งโทษ) คิดในใจว่า จิตใจของผู้ชายคนนี้ ทำด้วยอะไรนะ ทำไมไม่ลุก ให้ผู้หญิงท้องนั่ง เขาไม่รู้สึกละอายใจ บ้างเลยหรือ ใจดำจริงเชียว!
รถเมล์ยังแล่นไปเรื่อยๆ สายตาของฉัน จับจ้องตรงไปยัง ชายคนนั้นตลอด นี่ถ้าหากตาของฉัน เป็นลูกธนูละก็ มันคงจะพุ่งเข้าไป ปักชายคนนั้น ม่อยกระรอกไปแล้ว รถแล่นมาถึงบางกะปิ หญิงครรภ์แก่ผู้นั้น ยังโหนรถ มาตลอด ชายคนนั้น ค่อยๆลุกขึ้นช้าๆ อย่างระมัดระวัง และทันทีนั้นเอง ฉันก็เห็นว่า ขาซ้ายของชายผู้นั้น ขาดหายไป อนิจจา... เขาขาพิการหรือนี่! เขาค่อยๆหยิบ Crush (ไม้ค้ำ) ข้างๆตัว (ซึ่งดิฉันไม่เห็นแต่แรก) มาค้ำตรงรักแร้ แล้วค่อยๆเดิน อย่างลำบาก ลงจากรถไป
ดิฉันตะลึง มองภาพนั้น ในหัวใจน่ะ พูดขอโทษขอโพย ชายผู้นั้น เป็นการใหญ่ ที่ไปเพ่งโทษเขาแต่แรก
จริงสินะ ใครทำอะไร แสดงพฤติกรรมอย่างไร เขาก็ย่อมมีเหตุผลของเขา เราเองต่างหาก ที่รีบด่วนสรุป พฤติกรรม ภายนอกของเขา เร็วเกินไป โดยใช้ประสบการณ์ ที่เราได้รับแต่อดีต มาตัดสิน คิดว่า คงจะมีเหตุผล เหมือนกัน ที่จริงแล้ว ความคิดคาดคะเนของเรา อาจไม่ถูกต้อง เสมอไปก็ได้
ชายคนนั้น ไม่ได้ลุกให้หญิงครรภ์แก่นั่ง เพราะเขาขาพิการ เขาไม่พร้อม ที่จะให้ความช่วยเหลือคนอื่น วันก่อนก็เหมือนกัน ที่ไม่มีใครลุก ให้ญาติธรรมหญิง ครรภ์แก่นั่ง ก็เพราะผู้ชายเหล่านั้น ไม่พร้อมที่จะเสียสละ จิตวิญญาณของพวกเขา อาจไม่ได้รับการอบรม ให้เห็นคุณค่า ของการได้มีโอกาส เสียสละ ชายคนที่ รีบชิงที่นั่ง จากคนท้อง เขาอาจยืนมานาน จนเมื่อยมาก หรือกำลังไม่สบายอยู่ ชายคนที่เซ มากระแทกท้องนั่น เขาก็ไม่ได้ตั้งใจ เขารีบจะก้าวลงจากรถ และรถเมล์ ก็เบรกแรงด้วย
ตัวเราเองต่างหาก ที่ควรจะหันมามองตน ขัดเกลาจิตใจ ที่เพ่งโทษ ด่วนสรุปผู้อื่น มาเป็นการให้เกียรติ ต่อความคิดเห็น ของเพื่อนมนุษย์แต่ละคน เปิดความคิดจิตใจ ให้กว้าง มองโลกในแง่ดี ปรับจิตวิญญาณ ให้อบอุ่น และเป็นภราดรภาพ กับเพื่อนมนุษย์ ให้มากกว่านี้
วันหนึ่ง ดิฉันได้ฟังเทศน์ ที่ศาลีอโศก สมณะท่านหนึ่ง เล่านิทานให้ฟังว่า
มีหญิงชาวบ้านคนหนึ่ง มีลูกอ่อน เธอเลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่ง มันจงรักภักดีกับเธอ มาโดยตลอด วันหนึ่ง เธอไปซักผ้า ที่ท่าน้ำ ปล่อยให้สุนัขตัวนั้น เฝ้าลูกน้อยไว้ที่บ้าน ครู่ใหญ่ เจ้าสุนัขตัวนั้น ก็วิ่งไปหาเธอที่ท่าน้ำ ด้วยอาการลิงโลด ปากของมัน เปื้อนเลือดสดๆ สีแดงฉานเข้มข้น! หญิงผู้นั้น ตกใจแทบสิ้นสติ เจ้าสุนัข ที่เธอเลี้ยงไว้ตัวนี้ ได้ฆ่าบุตรสุดที่รัก ของเธอเสียแล้ว ความเสียใจและโกรธแค้น เธอจึงคว้าได้ท่อนไม้ ไล่ทุบตี เจ้าสุนัขตัวนั้น จนตาย แต่เมื่อเธอกลับมาถึงบ้าน เธอก็พบว่า ลูกน้อยของเธอ ยังนอนหลับอย่างมีความสุข อยู่ในเปลเช่นเดิม โดยข้างๆเปลนั้น มีซากของงูเห่าตัวหนึ่ง ที่เพิ่งตายใหม่ๆ เธอจึงเข้าใจเหตุการณ์ โดยตลอดว่า แท้จริง เจ้าสุนัข ผู้จงรักภักดีนั่น มันได้เสี่ยงชีวิต เข้าต่อสู้กับงูเห่า ที่จะมาทำร้ายลูกอ่อน ของนายมัน จนได้ชัยชนะ และวิ่งไปที่ท่าน้ำ เพื่อจะอวดวีรกรรม ของมันกับเธอ
หญิงชาวบ้านคนนั้น เสียใจมาก ที่ตนได้ฆ่าผู้มีพระคุณ และมิตรที่ดีที่สุด ของตนเองไป ด้วยเหตุที่เธอ ด่วนสรุป พฤติกรรม ที่มองเห็นตรงหน้า นั่นเอง
สิ่งที่เห็นประจักษ์แก่ตา มิได้หมายความว่า จะเป็นสิ่งที่เรา เข้าใจถูกต้อง เชื่อมั่นลงความเห็น ว่าจริงได้เสมอไป อาจจะมีอะไรลึกซึ้ง ซ่อนอยู่ในนั้น โดยที่เราไม่รู้ก็ได้
ฉันคิดว่า ฉันยังโชคดีกว่า หญิงผู้นี้มากนัก ตรงที่ได้พบธรรมะ มีมิตรดี สหายดี ช่วยประคับประคอง จิตวิญญาณ และยังไม่ได้สูญเสียอะไร มากเท่าเธอ
ใครก็เคยทำผิดพลาด มากันแล้วทั้งนั้น ความผิดพลาด ไม่ใช่สิ่งที่น่าตำหนิเสมอไป แต่การที่รู้ว่าผิด แล้วไม่ยอมแก้ไข ปรับปรุงให้ดีขึ้น นี่ต่างหาก ที่น่าตำหนิจริงๆ
จากบทเรียนราคาแพงต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต การได้มองตน ตรวจพิจารณา และได้รู้ข้อบกพร่อง ผิดพลาด ของตน และได้ใช้ธรรมะ มาขัดเกลา ความไม่ดีต่างๆ ออกไปจากจิตวิญญาณ ทีละน้อย การน้อมรับขุมทรัพย์ จากผู้อื่น เพื่อนำมาพิจารณาแก้ไข ปรับปรุงตน การฝึกทำใจ ให้กว้าง ให้เกียรติความคิด และเหตุผลของผู้อื่น การไม่รีบด่วน สรุปเหตุการณ์ และพฤติกรรมของผู้อื่น เร็วเกินไป สิ่งเหล่านี้ จะหล่อหลอม จิตวิญญาณของฉัน ให้สุขุมอ่อนโยน และมีความเป็นภราดรภาพ มากขึ้น อันจะช่วย นำความร่มเย็น มาสู่จิตใจของตน ทั้งเป็นที่พึ่ง ที่ให้ความอบอุ่นกับคนไข้ และเพื่อนมนุษย์ ได้ตลอดไป
"ลูกไกลพ่อ"
๒:๓๕ น. ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๕
(สารอโศก อันดับ ๑๕๘ ม.ค.๒๕๓๖)