มนุษย์สีขาว ปฏิบัติธรรม

หากรู้สักนิด

ภาพเหตุการณ์ครั้งนั้น ยังตราตรึงแจ่มชัด อยู่ในความทรงจำของฉัน มาจนทุกวันนี้ คนไข้ห้อง ๒๐๘ ตึกพิเศษ อายุรกรรม ผู้นั้น เป็นชายร่างผอม ผิวดำเกรียม บริเวณท้องบวมโต แน่นจนผิวตึงใส ท้องที่แข็งนูนขึ้นมา เพราะตับและม้าม โตมาก ร่างผอมบางนั้น นอนแซ่วอยู่บนเตียง หลายเดือนแล้ว เขาอ่อนเพลียมาก ลุกเดินไม่ไหว กล้ามเนื้อแขนขาลีบเล็ก เพราะกินไม่ได้ และรับอาหารเข้าไป ได้น้อยมาก (กระเพาะอาหาร ถูกตับและม้ามเบียด จนมีพื้นที่รับอาหาร น้อยเต็มที)

คนไข้รายนี้ เป็นโรคมะเร็ง ในเม็ดเลือดขาว ระยะสุดท้าย! เมื่อหลายเดือนก่อน ญาติได้พาไปรับการรักษา ที่โรงพยาบาล มีชื่อแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ แต่ไม่ดีขึ้น ต่อมาอาการ ก็ทรุดหนักลงเรื่อยๆ แพทย์ลงความเห็นว่า Hopeless (หมดหวัง)แล้ว จึงจำหน่ายผู้ป่วย ออกจากโรงพยาบาล ให้ญาตินำกลับมา (ตาย) ที่บ้าน ซึ่งอยู่ต่างจังหวัด

ถึงแม้จะทราบว่า หมดหวังที่จะรักษาให้หาย และทุกวันนี้ ผู้ป่วยนอนรอความตาย เท่านั้น ญาติก็ยัง นำมารักษาต่อ ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เนื่องจาก ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง และปวดศีรษะมาก และแน่นท้อง ตลอดเวลา

เพื่อนพยาบาล เวรที่แล้วส่งเวร ให้ข้อมูลว่า คนไข้รายนี้ มีแผลเปื่อยที่ลิ้น และมีแผลทั่วไป ที่ผนังด้านในของปาก ไม่สามารถรับประทาน อาหารเองได้ มีสายยางเข้าทางจมูก ต่อลงไปยัง กระเพาะอาหาร และให้อาหาร ทางสายยาง วันละ ๔ มื้อ

คนไข้บอกกับฉันว่า เจ็บคอ เจ็บปากมาก ขอยาแก้ปวดอยู่เรื่อย เขาบอกกับฉันว่า เขาอยากกินอาหาร ที่เขาชอบ หลายๆอย่าง ใจจะขาด แต่ก็กินไม่ได้ เพราะเจ็บแผลในช่องปาก ทรมานมาก บางครั้ง ฉันเห็นคนไข้ มีอาการ หงุดหงิด บ่น ว่า ภรรยาของตน ซึ่งเฝ้าปรนนิบัติ อย่างซื่อสัตย์ตลอดมา ไม่ว่าสามี จะดุด่าเธออย่างไร เธอก็จะรีบงกๆ ทำให้ อย่างทาสผู้จงรักภักดี ฉันสงสารภรรยา ของคนไข้ รายนี้มาก จนต้องพูดให้คนไข้ เห็นคุณค่าของ แก้วในมือตนว่า

"คนไข้นี่ โชคดีมากนะคะ ที่ได้แม่ศรีเรือน ที่เป็นคู่ทุกข์คู่ยากอย่างนี้ สมัยนี้ หาภรรยาที่ซื่อสัตย์ และมีน้ำใจ งดงาม อย่างนี้ได้ยาก" (และพูดต่อในใจว่า เป็นฉันละก็ เผ่นหนีไปนานแล้ว!!)

แต่ก็นั่นแหละ ฉันก็ยังได้เห็นคนไข้ ระบายอารมณ์หงุดหงิด และดุด่าภรรยา อยู่เนืองๆ

ฉันคิดในใจว่า "เฮ้อ... นี่เขาเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ กันมาแต่ชาติ ปางไหนหนอ"

วันรุ่งขึ้น หลังจากฉีดยา ประจำชั่วโมง และพ่นยาขยายหลอดลม ให้คนไข้หอบหืด อีกห้องหนึ่งเสร็จแล้ว ฉันจึงนำอาหารปั่น มาอุ่นบนเตาไฟ เพื่อจะทำมาให้ห้อง ๒๐๘ (เราจะใช้ไซริ้ง ๕๐ ซี.ซี. สำหรับใส่อาหาร ต่อเข้ากับสายยาง ที่จมูกของคนไข้ เมื่อใส่อาหารเหลว ปั่นลงไปในไซริ้ง อาหารก็จะไหล ผ่านท่อยาง ลงกระเพาะ โดยไม่ต้องผ่านปาก และลิ้นของคนไข้) หลังจากให้อาหาร และยาหลังอาหาร (ทางสายยาง) เรียบร้อยแล้ว ฉันจึงให้คนไข้ อ้าปาก เพื่อดูว่า ทำไมถึงได้บ่น เจ็บปากนัก ทันใดนั้น ฉันก็แทบจะถอย ผงะออกมา เพราะกลิ่น เหม็นเน่าคลุ้ง โชยมา ปะทะจมูกฉันอย่างแรง น้ำลายภายในปากคนไข้ เหนียวข้น จนเป็นยาง เกาะแผงฟัน เป็นคราบ อะไรก็ไม่น่าขนลุกขนพอง เท่ากับที่ลิ้นของเขา มีฝีสุกหัวใหญ่ๆ อยู่หลายหัว กระจาย ไปทั่วลิ้น มีหนองข้นๆ บางส่วนไหลเยิ้ม ปนกับน้ำลายข้นๆนั้น

ยังไม่พอแค่นั้น เยื่อบุผนังด้านในของปาก มีแผลใหญ่ ที่มีหนองเกาะเป็นคราบ อยู่ทั่วไป จนถึงคอหอย (ลึกเข้าไป ไม่รู้ว่ามีอีกหรือเปล่า เพราะมองไม่เห็น)

นี่เขาไปทำกรรมอะไร เอาไว้นะ ถึงได้มีอกุศลวิบาก ที่น่าเวทนาปานนี้

ต่อจากนั้น ฉันได้ใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมง เพื่อทำความสะอาด ช่องปากให้คนไข้ ฉันใช้ปากคีบ ๒ อัน หยิบสำลี ชุบน้ำยาเช็ด และดึงเสมหะเหนียวข้น ปนหนองเป็นก้อนๆ ออกมาจาก ช่องปากของคนไข้ อย่างแผ่วเบา (กลัวเขาจะเจ็บ) ค่อยๆลอกคราบน้ำลาย ที่เกาะฟัน และที่ริมฝีปาก ออกมาเป็นแผ่นๆ แม้จะต้องอดทน ต่อกลิ่นปาก ที่เหม็นเน่า น่าสะอิดสะเอียนนั้น แต่ความกระหาย ที่อยากจะทำให้ ช่องปากนั้น สะอาดสะอ้านขึ้น มีมากกว่า เกือบหนึ่งชั่วโมงผ่านไป (ฉันจะเป็นลม!) ยังเหลือคราบหนอง ที่เกาะติดแผล ที่เอาไม่ออก เพราะคนไข้บ่นเจ็บ ฉันจึงหยุดทำ และเก็บเครื่องมือ ทำความสะอาด

ชายคนไข้พยายามยกมือ ที่มีแต่หนังหุ้มกระดูก ซึ่งให้น้ำเกลืออยู่นั้น ขึ้นพนมไหว้ แล้วก็ทิ้งแขนลงข้างตัว อย่างอ่อนแรงเต็มที แววตาสีหน้า ราวกับจะบอกกล่าวถึง ความรู้สึกบางอย่าง ที่เกิดขึ้นในใจ

"ขอบคุณเหลือเกินครับหมอ ไม่เคยมีใคร มาทำให้ผมอย่างนี้เลย" เขาพูดเสียงแผ่วเบา ลิ้นที่เต็มไปด้วย ฝีสุกๆ หลายหัว ขยับไปมาอย่างลำบาก

ฉันยิ้มให้กำลังใจ

"ไม่ต้องขอบคุณหรอกจ้ะ เพราะพยาบาลเอง ก็เต็มใจ ที่จะทำให้อยู่แล้ว มีอะไรจะให้ช่วยอีก ก็บอกได้เลยนะจ๊ะ"

และทุกครั้งที่ขึ้นเวร ฉันก็มักจะไปดูแล ช่วยเหลือคนไข้รายนี้ เป็นอย่างดี เพราะจิตสงสาร ในความทุกข์ทรมาน จากโรคภัยของเขา และสงสารภรรยา ทาสรับใช้ ผู้ซื่อสัตย์ของเขาด้วย

วันหนึ่ง ขณะที่ฉีดยาแก้ปวดให้คนไข้ ฉันก็บอกกับคนไข้ และญาติว่า "พยาบาลขึ้นเวรวันนี้ เป็นวันสุดท้ายนะจ๊ะ จะไปกรุงเทพฯ ๓ วัน อยู่ทางนี้ ก็ขอให้คนไข้ แข็งแรงไวๆ นะจ๊ะ"

ชายคนไข้ จ้องหน้าดิฉัน นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงพูดว่า

"หมอไปแล้ว คงไม่มีใคร มาทำแผลในปาก ให้ผมอีก" น้ำตาไหล เอ่อท้นออกมา จากเบ้าตาลึกโหล คู่นั้น และ ไหลรินลงไป ทางกกหูทั้งสองข้าง

"มีซีจ๊ะ พยาบาลที่นี่ ก็ใจดีกันทั้งนั้น" ฉันพูดปลอบโยน

"ผมจะมีชีวิตอยู่ถึง หมอกลับมา หรือเปล่าก็ไม่รู้" เขาพูดต่อ ราวกับบอกกับตนเอง และไม่รับรู้ คำปลอบโยนของฉัน

"อย่าคิดมากอย่างนั้นเลย" ฉันปลอบคนไข้ แล้วเดินออกจาก ห้องนั้นมา

๓ วันที่ไม่ได้ขึ้นเวร (ช่วงนั้นเวรหยุด และฉันได้ไปช่วยงาน อบรมข้าราชการ ที่ต่างจังหวัด) บางครั้ง ภาพของคนไข้ และภรรยา ที่น่าสงสารคู่นี้ ก็ผุดลอยขึ้นมา ในห้วงของความคิด เป็นระยะๆ ป่านนี้ จะเป็นอย่างไรกันบ้างนะ คนไข้จะเจ็บปวดทรมาน สักแค่ไหน จะมีใครช่วย ทำความสะอาดแผล และฝี ในช่องปาก ให้หรือเปล่า ป่านนี้ คนไข้ปวดมากๆ จะหงุดหงิด ใส่ภรรยาอีกก็ไม่รู้

ฉันพยายามสอนตนเอง ให้ระลึกถึงคำสอน ของพ่อท่าน ที่ว่า

"มนุษย์เราต่างก็เกิดมา ใช้หนี้กรรมทั้งสิ้น แรงกรรมซื่อตรง และยุติธรรมที่สุด"

จริงสินะ แม้เราเองก็เช่นกัน ใครคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ อย่างน่าคิดว่า

"...ส่วนกรรมของคนอื่น เราก็จะช่วยตามฐานะ ที่เราพอจะช่วยได้ ถ้านอกเหนือกว่า ที่เราจะพอทำได้ เราจะต้องวางใจ ให้เป็นอุเบกขาเสีย รักษาจิตของเราไว้ ไม่ให้ขุ่นข้องหมองใจ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็จะมาทำความดี อย่างที่ไม่ทำตน ให้พ้นทุกข์ได้ เพราะไม่ได้ทำความดี ให้ถึงที่สุด จนถึงขั้น ที่จะก่อให้เกิด การชำระจิต ให้ผ่องใส ได้อย่างแท้จริง"

เมื่อคิดถึงตรงนี้ จิตใจของฉัน ก็ปล่อยวาง และเบาว่างมากขึ้น

เมื่อฉันกลับจากงานอบรม ที่ต่างจังหวัด และกลับมาขึ้นเวรอีกครั้ง หลังจากรับฟัง รายงานอาการ จากพยาบาล เวรเช้าแล้ว ภรรยาคนไข้ห้อง ๒๐๘ มาตามให้ไปต่อน้ำเกลือ และฉีดยาแก้ปวด ให้คนไข้ ขณะนั้น ฉันกำลัง จะไปทำแผล ให้คนไข้อีกห้องหนึ่ง อยู่พอดี

ฉันละไปเตรียมยาฉีดแก้ปวด และเตรียมน้ำเกลือ เพื่อไปให้คนไข้ห้อง ๒๐๘ เมื่อเปิดประตูเข้าไป ภาพที่คนไข้ แสดงอาการดีใจ อย่างสมหวัง ยังตราตรึง มาจนทุกวันนี้

"เป็นไงบ้าง" ฉันทักทายอย่างปกติ ขณะที่ปักเข็มฉีดยา ลงไปที่สะโพก ของคนไข้นั้น ใจก็คิดไปว่า บางที การช่วยเหลือเหล่านี้ ก็เป็นเพียง การยืดระยะเวลา ทุกข์ทรมานของคนไข้ ให้ยาวออกไปอีก เท่านั้นเอง นี่ไม่รู้ว่า ฉันกำลังทำบุญ หรือบาปกันแน่

ฉันดึงเข็มออกจากคนไข้ เมื่อเงยหน้าขึ้น ก็พบกับรอยยิ้ม ของคนไข้ ที่จ้องตรงมายังฉัน ด้วยอาการ ลิงโลดดีใจ คล้ายเด็กๆ

ชีวิตในเครื่องแบบสีขาว ฉันได้พบเหตุการณ์ เป็นธรรมดาว่า เมื่อเราได้ให้ การรักษาพยาบาล คนไข้รายใด เป็นอย่างดี คนไข้และญาติ จะรักและผูกพันกับเรา เพราะเราเป็นที่พึ่ง ที่ให้ความอบอุ่น ปลดเปลื้อง ความทุกข์ ทรมาน ให้กับเขาได้ ฉันพบบ่อย จนเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา สำหรับฉันเอง อยากจะให้ การพยาบาลดูแล ที่ดีที่สุด กับคนไข้ทุกคน เท่าที่จะสามารถทำได้ เพราะการที่ชีวิตของฉัน ได้มีโอกาส ปรนนิบัติรับใช้ เพื่อนมนุษย์ได้บ้าง ก็นับว่าเป็นบุญ เป็นความโชคดี ของชีวิตแล้ว

ฉันจึงรักงานพยาบาลมาก รักที่จะช่วยเหลือคนไข้ แต่ก็เกลียดการผูกพัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้น กับตนเอง หรือผู้อื่น ก็ตาม (สภาวจิตในตอนนั้น) ฉันยิ้มนิดๆ และพูดต่อว่า "เดี๋ยวยาออกฤทธิ์ แล้วก็จะหายปวดนะจ๊ะ"

ฉันไม่ได้กล่าวอะไร มากไปกว่านี้ ไม่ได้บอกว่า ช่วงที่ไม่ได้มาขึ้นเวร ฉันเป็นห่วงคนไข้ และญาติมาก ด้วยเกรงว่า จะเป็นการเพิ่ม สายใยแห่งการผูกพัน ทั้งมวล ซึ่งฉันไม่ต้องการ ให้ใครมารัก มาผูกพัน ก็เพราะสิ่งเหล่านี้ คือความทุกข์

ญาติคนไข้ห้อง ๒๐๒ ได้มาตาม ให้ไปดูดเสมหะ คนไข้อัมพาต ในห้องนั้น

ฉันเดินกลับออกมา จากห้อง ๒๐๘ เพื่อไปดูดเสมหะ (ด้วยเครื่องดูดไฟฟ้า สูญญากาศ) และไปทำแผล ให้คนไข้ ที่ไม่รู้สึกตัว อีกห้องหนึ่ง

๒ ชั่วโมงต่อมา ภรรยาของคนไข้ห้อง ๒๐๘ วิ่งลนลานมาตาม บอกว่า คนไข้อาการไม่ดี ฉันกับเพื่อนพยาบาล อีกคนหนึ่ง จึงรีบไปดู จึงพบว่า คนไข้นอนหายใจสะอื้น เป็นช่วงๆ และเรียก ไม่รู้สึกตัวเสียแล้ว ฉันได้ให้ การช่วยเหลือ อย่างเต็มที่ จนสุดท้าย ก็ปล่อยให้คนไข้ จากไปอย่างสงบ

๑ ชั่วโมงต่อมา ฉันยืนดูร่างที่ไร้วิญญาณ ที่นอนเหยียดยาว ไม่ไหวติงอยู่บนเตียง ริมฝีปาก ที่เขียวคล้ำนั้น ราวกับ จะระบาย รอยยิ้มน้อยๆ อย่างมีความสุข

ภรรยาของคนไข้ สะอื้นฮักๆ อย่างแสนอาลัยรัก

ฉันปลอบโยนเธอ อยู่ครู่หนึ่ง และชี้บอกว่า

"ดูซิ ใบหน้ายังยิ้มอยู่เลย เขามีความสุขไปแล้วล่ะ พ้นทุกข์ทรมานไปเสียที"

ด้วยทีท่าภายนอก ที่สงบเย็น เพราะต้องเป็นหลักเป็นที่พึ่ง และให้กำลังใจ ปลอบโยนผู้อื่น แต่ภายในใจ ของฉันขณะนั้น บอกกับตัวเองว่า

ชายคนไข้ผู้นี้ จากไปรวดเร็ว เกินกว่าที่เราจะคาดคิด หากฉันรู้สักนิดว่า อีกสองชั่วโมง เขาจะจากทุกคนไป อย่างไม่มีวัน หวนกลับ ฉันคงจะพูด ในสิ่งที่ดีที่สุดกับเขา ฉันคงจะทำให้ คนไข้ของฉัน ชื่นใจกว่านี้ อย่างน้อย... ็เพื่อชดเชย ความทุกข์ทรมาน อันยาวนาน ที่เขาได้รับมา โดยตลอด

ฉันเขียนบันทึกเรื่องนี้ เสียยืดยาว เพื่อไว้เตือนตัวเอง ไม่ให้หยุดอยู่ ในกุศลธรรม ตราบใดที่วิบากกรรม ซึ่งเป็นอกุศล อันประดุจหมาไล่เนื้อ ยังตามมาไม่ทัน ฉันจะเร่งใช้ร่าง ที่ยังแข็งแรงนี้ พากเพียร ปรับปรุง จิตวิญญาณของตน ให้พัฒนาขึ้น ให้มากที่สุด และเพื่อเตือนตนว่า

๑. เวลาที่สำคัญที่สุด คือ เวลาในปัจจุบัน (เพราะอดีต ก็ล่วงเลยมาแล้ว เรียกคืน กลับมาไม่ได้ อนาคต ก็ยังมาไม่ถึง)

๒. บุคคลที่สำคัญที่สุด คือ บุคคลที่อยู่ตรงหน้าเรา (เพราะเราไม่รู้ว่า เราจะมีชีวิต อยู่รอดไปพบคนอื่น ได้อีกหรือไม่)

๓. ภารกิจที่สำคัญที่สุด คือ การทำให้คน ที่อยู่ตรงหน้าเรา มีความสุขที่แท้

ข้อเตือนตนเหล่านี้ อาจจะไม่ใช่ เป้าหมายสูงสุด ของการปฏิบัติธรรม แต่ก็เป็นข้อคิด และข้อวัตรอันหนึ่ง ที่จะทำให้ จิตวิญญาณ เจริญขึ้นมาได้ อีกขั้นหนึ่งทีเดียว

ลูกไกลพ่อ
๓๑ ต.ค.๒๕๓๕ ;๔:๔๐ น.

(สารอโศก อันดับ ๑๕๙ ก.พ.๒๕๓๖)