May 26, 2009 ราชธานีอโศก อุบลราชธานี
หมู่บ้านสหกรณ์บุญนิยมราชธานีอโศก เป็นหมู่บ้านเกิดใหม่แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี แม้จะเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีประวัติศาสตร์ 10 ปีเศษ แต่เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการกล่าวขานกันค่อนข้างมาก อันเนื่องจากสมาชิกทั้งหมดเป็นบุคคลที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและมีแนวปฏิบัติตามแนวทางของสมณะโพธิรักษ์ ที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณเป็นจุดรวมจิตใจของคนเหล่านั้น หลายคนอาจจะมองว่าสมาชิกของคนในหมู่บ้านแห่งนี้มีความแปลกแยกจากสังคมภายนอก เช่น สมาชิกส่วนใหญ่นิยมเดินเท้าเปล่า สวมใส่ด้วยผ้าหม้อฮ่อมที่เก่าซ่อมซอ อีกทั้งกิริยาภาษานบนอบ อ่อนน้อม และกล่าวถึงธรรมะเป็นคติเตือนใจตลอดเวลา
ชุมชนแห่งนี้ก่อนปี พ.ศ. 2530 เป็นพื้นที่นา กับพื้นที่ว่างเปล่าที่ยังไม่มีการพัฒนาเนื่องจากอยู่ริมแม่น้ำมูล ที่ท่วมบ่อยในช่วงน้ำหลาก อยู่ไกลจากใจกลางเมือง จ.อุบลราชธานี ประมาณ 10 กิโลเมตร มีชุมชนอยู่น้อยและกระจัดกระจาย ต่อมาที่ดินผืนนี้ ได้ถูกขายให้กับคุณหนึ่งฟ้า นาวาบุญนิยม ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติธรรมของชุมชนอโศกในปี พ.ศ. 2534 ในเวลาต่อมาได้ทำการมอบที่ดินผืนนี้ให้กับ ชุมชนอโศกเพื่อทำเป็นพุทธสถานเรียกว่า หมู่บ้านบุญนิยมราชธานีอโศก ซึ่งเป็นการผสมกันระหว่างคำว่า บุญนิยม ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติธรรม คำว่า ราชธานี มาจากจังหวัดอุบลราชธานี และยังมีความหมายถึงคำว่าเมืองหลวง และคำว่า อโศก ที่ต่อท้ายหมายถึงบุคคลที่ศรัทธาในแนวการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดของสมณะโพธิรักษ์ การรวมตัวของผู้คนที่ศรัทธาในสมณะโพธิรักษ์ อันมีแนวทางการปฏิบัติที่ฝึกฝนตนเองตามแนวทางของศาสนาพุทธ
ที่ดิน ณ พุทธสถานราชธานีอโศก และ สหกรณ์บุญนิยมราชธานีอโศกในปัจจุบันนั้น มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๓๕๐ ไร่ คุณหนึ่งฟ้า นาวาบุญนิยม ซึ่งเป็นชาว อ.พิบูลมังสาหาร ได้ถวายสมณะโพธิรักษ์ไว้เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ (ในวันลอยกระทง) ที่หน้าร้านอาหารมังสวิรัติปฐมอโศก จังหวัดนครปฐม โดย บริจาคเข้า กองทัพธรรมมูลนิธิ โดย ในปลายปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้มีกลุ่มนักปฏิบัติธรรมชาวอโศก ประมาณ ๗ หรือ ๘ คน มาจากศีรษะอโศก มาตั้งถิ่นฐาน และ ได้เริ่มทำงานด้านกสิกรรมธรรมชาติ เป็นอันดับแรก ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับการแต่งตั้งเป็นทางการตามกฎหมายกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นหมู่บ้าน หมู่บ้านนี้แยกตัวมาจากหมู่บ้านคำกลาง (หมู่ ๖) เป็น หมู่บ้านที่ ๑๐ ของ ตำบลบุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พุทธสถานราชธานีอโศก จึงเป็นแหล่งที่แปลกกว่าพุทธสถานที่อื่นๆ ของ ชาวอโศก คือ เกิดชุมชนก่อน พุทธสถาน โดย ที่ท่านสมณะโพธิรักษ์ได้วางนโยบายไว้ว่า ให้ฆราวาสเป็นผู้บริหาร ส่วนสมณะเป็นที่ปรึกษา โดย เน้นเรื่องกสิกรรมธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งได้วางหลักการให้เป็นแนวปฏิบัติไว้ ๔ ข้อ ด้วย ดังนี้ ซื่อสัตย์ ขยัน สามัคคี มีวินัย
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง 1. เป็น สังคมร่วม ประกอบด้วยสมณะ และ ฆราวาสผู้สนใจจะปฏิบัติธรรมตามคำสอน ของ สมเด็จพระสัมมา- สัมพุทธเจ้า 2. มีการดำเนินชีวิต และ ความเป็นอยู่เรียบง่าย ไม่มีอบายมุข สิ่งเสพติด ไม่มีเดรัจฉานวิขา หรือ ไสยศาสตร์ มีชีวิตที่ประหยัด ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ลดการกินการใช้จ่ายที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย หรือ ที่ไม่จำเป็นตามกรอบ ของ ศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐, จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล และ มรรคมีองค์ ๘ ตามคำสอน ของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 3. พัฒนาจิตสำนึกให้มีความขยัน สร้างสรรค์ เสียสละ ในการประกอบสัมมาอาชีพเป็นบุญกุศล รู้รักสามัคคี มีเมตตา และ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ สังคม 4. อนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ และ สิ่งแวดล้อม ในการรักษานิเวศป่า นิเวศน้ำ และ แบ่งพื้นที่ทำกสิกรรมธรรมชาติไร้สารเคมีทุกชนิด เพื่อ การกินอยู่ภายในชุมชน 5. มีกิจกรรมร่วมแรงกันสร้างสรรค์ผลผลิตด้านปัจจัย ๔ (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค) เพื่อ สร้างสังคมที่พึ่งตนเองอย่าง ครบวงจร ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดย ยึดหลัก บุญนิยม คือการทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ ส่วนรวม เป็นบุญกุศล ของ ตนเอง 6. มีการอบรม และ เผยแพร่พระธรรมคำสอนแก่ สมาชิกในชุมชน และ ผู้สนใจ
ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่ม เปรียบเหมือนอยู่ก้นกระทะ มีสภาพเป็นดินทาม คือ ฤดูฝนจะมีน้ำมาก บางปีน้ำท่วม ส่วนฤดูหนาว น้ำจะขัง สามารถใช้ดิน ทำการเพาะปลูก พืชผัก และ ไม้ล้มลุกได้ สภาพพื้นที่ระหว่างหมู่บ้าน จนจรดแม่น้ำมูล มีลักษณะคล้ายคลื่น มีพื้นที่สูงๆ ต่ำๆ ขนานกับแม่น้ำมูล ส่วนที่เป็นคลื่นก็เป็นบุ่ง หรือ เป็นคลองน้ำธรรมชาติ บางบุ่ง (บึง) มีน้ำขังตลอดปี บางบุ่ง (บึง) ไม่มีน้ำขัง ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ แม่น้ำมูล บุ่งไหมน้อย และ ป่าละเมาะริมบุ่ง ริมแม่น้ำ
"เฮือนศูนย์สูญ" ระบบบุญนิยมเกิดจากพื้นฐานความเชื่อ ๔ ประการ คือ พลังของกลุ่มหรือกระบวนการกลุ่ม พลังของศาสนา พลังของธรรมะ และพลังของกรรม สังคมในระบบบุญนิยมพัฒนามาจากระบบสังคมของสงฆ์สมัยพุทธกาล ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบสาธารณโภคีสมบูรณ์ คือมีการจัดและแบ่งปันกันเครื่องกินเครื่องใช้กันเป็นส่วนกลาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาราณีย-ธรรม ๖ อันประกอบด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม สาธารณโภคี ศีลสามัญญตา และทิฏฐิสามัญญตา สำหรับชาวบ้านราชธานีอโศกมีกรอบมาตรฐาน ๔ ประการ คือ ศีล กฎระเบียบของชาวอโศก กฎระเบียบของชุมชน วัฒนธรรมชุมชน กรอบมาตรฐานเหล่านี้จะเอื้อให้บุคคลพัฒนาตนเองเข้าสู่ระดับบุญนิยมที่สูงขึ้น ๔ ระดับ คือ การทำงานรับค่าตอบแทนต่ำกว่าอัตราของตลาด เท่าทุน ต่ำกว่าทุน และไม่รับค่าตอบแทน
ลักษณะของบุญนิยมมี ๑๑ ประการ คือ ทวนกระแสกับทุนนิยม มีคุณธรรมเข้าเขตโลกุตระ ทำได้ยาก เป็นไปได้ เป็นสัจธรรม กำไรหรือผลได้ของชาวบุญนิยมคือการให้มีความมุ่งหมายในการสร้างคน ทำให้บรรลุธรรมขั้นปรมัตถสัจจะสู่โลกุตระได้ ความร่ำรวยอุดมสมบูรณ์อยู่ที่ส่วนรวม หรือส่วนกลาง เชิญชวนให้มาดูหรือพิสูจน์ได้ และจุดสัมบูรณ์ของบุญนิยม คือ อิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ บูรณภาพ การปฏิบัติงานในสังคมบุญนิยมมีแนวทางดังนี้ ๑. กสิกรรมไร้สารพิษเพื่อการบริโภค ๒. ศิลปะเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส ๓. การศึกษาบุญนิยมมุ่งหมายให้ผู้ศึกษาหรือมนุษย์ทุกคนมีศีลธรรมมีคุณธรรมเพิ่มขึ้น และมีค่านิยมในการทำงานหนัก ๔. การสื่อสารบุญนิยมจะสื่อสารสัจจะให้เข้าถึงความจริงและคุณค่าของชีวิต ๕. วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพของมนุษย์ในการผลิตและแพร่กระจายเพื่อพัฒนาให้มนุษย์เข้าถึงความจริงและคุณค่าของชีวิต ๖. ระบบเศรษฐกิจบุญนิยมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของส่วนรวม ส่วนตัวจะพยายามทำตนเองให้เป็นคนมักน้อย สันโดษ สะสมน้อยลง ๗. การเงินในระบบบุญนิยมจะต้องแพร่สะพัดออกไปให้มากที่สุดเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรงานเพื่อเกื้อกูลสังคม ๘. การบริโภค สังคมบุญนิยมจะเรียนรู้การบริโภคที่ไม่เกิดโทษ ไม่ถูกหลอกให้หลงเสพติดสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย รู้เท่าทันและหลุดพ้นจากกระแสบริโภคนิยม รู้จักการบริโภคที่เป็นแก่นสารสาระ มีคุณค่าประโยชน์ ๙. สาธารณสุขบุญนิยมเน้นการป้องกัน และสร้างความสมดุลของชีวิตตามหลัก ๘ อ. ได้แก่ อาหารดี อากาศดี อารมณ์ดี อิทธิบาท ออกกำลัง เอาพิษออก เอนกายหรือพักผ่อน และอาชีพสัมมา ๑๐. นักบริหารในระบบบุญนิยมจะเป็นคนอาริยะ เป็นผู้รับใช้ เป็นผู้เสียสละ ทำงานฟรี กินน้อยใช้น้อยแต่ทำงานหนัก ๑๑. ศาสนาเป็นอเทวนิยม ๑๒. ชุมชนมีการประสานสัมพันธ์กันเป็นข่ายแหเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ขอบคุณเนื้อเรื่องบางส่วนจาก http://gotoknow.org/blog/papangkorn/45888 http://www.culture.go.th/research/isan/49_2.html
|