page: 4/8

บทพระบรมศาสดาว่า

 

        ปัจจุบันนี้ "ศีล" นั้น เป็นเรื่องที่คนไทย แม้จะได้ชื่อว่า "พุทธศาสนิกชน" ก็ตาม (ส่วนมาก) นั้น ยังเข้าใจกัน ยังไม่ถ่องแท้ ยังจับจดกันอยู่ เพียงผิวเผินกัน อยู่มากหลาย ถึงขนาด บางคนจะได้ปฏิญาณตนเป็น "พระภิกษุ" อยู่ในร่างนักบวช จนแก่เฒ่าเป็นเวลา ๕๐–๖๐ พรรษา แล้วก็ตายเน่าเข้าโลงไป โดย ไม่ได้รู้จัก "ศีล" เพราะ ไม่เคยได้รับความสุข อันปกติแท้ ที่เป็นความสุข อันไม่ตอแหล (คือ มันยังเป็น "สุขขัลลิกะ" อยู่) ชั่วชีวิต จึงมีแต่ความสุขอันหลอกๆ ตอแหลๆ ซึ่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นกาม (กามสุขขัลลิกะ)
        หรือ จะได้พากเพียร ขนาดเล่าเรียนศึกษา (สิกขา) จนได้เปรียญ ๙ ก็ดี พุทธศาสนบัณฑิต ก็ดี หรือได้บัตรพัดยศชั้นใดๆ ก็ดี (ส่วนมาก) ก็ยังคงไม่รู้จัก "ศีล" (อันเป็นสภาพ "ปกติ") อยู่นั่นเอง จึงมิได้เป็น "อริยสงฆ์สาวก" หรือ ไม่ได้เป็น "พระอริยเจ้า" ตายเปล่าเป็น "โมฆบุรุษ" ไปชาติหนึ่ง อย่างน่าเสียดาย
        เพราะผู้นั้นไม่พ้น "ศีลพตปรามาส" คือ ไม่รู้จัก "ศีล" (ทั้งในแง่ "รูป" ในแง่ "นาม" ของมัน)
        และ บำเพ็ญก็สักแต่ว่า บำเพ็ญชนิดแบกๆ หามๆ "ศีล" หิ้วๆ หอบๆ "ศีล" ร้องๆ เรียกๆ "ศีล" ขอๆ ให้ๆ "ศีล" ลูบๆ คลำๆ "ศีล" หรือ "ถือศีล" แบบวานรรับฝากแก้ว ไก่รับฝากพลอย หรือ "รักษาศีล" แบบตำรวจเฝ้าคลังสมบัติ ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ หรือ "มีศีล" แบบช้อนที่แช่อยู่ในถ้วยแกง อยู่นั่นเอง
        "ศีล" จึงได้สักแต่ว่า "ประพฤติ" ("พัตต" หรือ "พต" อันหมายความว่า การบำเพ็ญการประพฤติ หรือ การทำให้เกิดจนครบรอบ)
        เพียงก่อค่าเท่ากับ "มีตำราไว้บนหิ้งบูชา" โดยที่ เจ้าของไม่เคยเปิดดู [แต่ถือคนว่ามีศีลก็จริงอยู่]
        ไม่เคยรู้ค่าของตำรา [เพราะไม่เคยทำให้ถ่องแท้ยิ่งๆไม่เคยเห็นค่าของมัน มากกว่าที่ได้รู้มันอยู่เท่านั้นๆ แต่เขาถือตนว่า เขารู้ค่าก็จริงอีก เพราะเขาทำถึงขนาดขั้น "บูชา" แล้ว จะไม่นับว่า "เขารู้ค่า" นั้นไม่ได้]
        และตำรา หรือความรู้ในศีล แม้การประพฤติศีลนั้น ก็ไม่เคยช่วยตนให้เข้าสู่ "อริยมรรค" เลยแต่อย่างใด [จะช่วยบ้าง ก็เป็นทางโลกย์เพราะไม่เคยใช้ "สติ" นำศีลมาประพฤติกับตนจริงจัง ให้ได้ถึงขั้นละกิเลส ได้มรรคได้ผล จนเกิด "วิมุติ" ทั้งทางปัญญา ทั้งทางเจโต]
        นั่นคือ ได้แต่แค่ "ปรามาส" คือ รู้ก็เท่าที่รู้เท่านั้นๆ ประพฤติศีลก็ได้แต่แค่ "สักแต่ว่าประพฤติ" หรือ ได้แต่แค่ "ลูบๆ คลำๆ" ไม่เกิดผลเพียงพอ ไม่ได้คุณ ได้ค่า ควรแก่การณ์ แก่ความดียิ่ง วิเศษจริงอะไร จึงเรียกว่า ไม่พ้น "ศีลพตปรามาส"
        "ศีล" เบื้องต้นจริงๆ ก็หมายความเอาแค่ "ภาษา" หรือ "บัญญัติ" หรือ ข้อความที่กำหนดขึ้นมา ให้พึงเพียรทำ ให้มาก ให้ละเลิก เว้นออกเสียให้เป็น "ผล" ให้ถึง "ผล" นั่นก็เป็น "ปริยัติ" แท้ๆ คือ เป็นสิ่งที่เก็บรู้ ฟังรู้ อ่านรู้มาแท้ๆ
        ขั้นต่อมา "ศีล" ก็หมายความว่า "ฝึก" หรือทำให้เป็นกิจวัตร
        แล้วทำให้เป็น "นิสัย" ทำให้เกิด "บุคลิก"
        และ ทำให้มี "สภาวะ" ขึ้นในตนอย่างมีปัญญา รู้แจ้งเหตุที่เกิดผลของ "สภาวะ" นั้นๆ ทั้งนามธรรม และรูปธรรมให้ได้ จนกลายเป็น "สุพพัตตะ"
        คือ วัตรที่ดีงาม หรือ ความประพฤติเป็นอยู่ ที่ดีงาม ซึ่งเป็น ธรรมชาติ อันสัตบุรุษพึงทรงไว้ ตามข้อความที่กำหนดนั้นๆ
        ความหมายต่างๆ ประการเหล่านั้น ล้วนคือ "ศีล" ทั้งสิ้น
        และ ที่สุดแห่งศีลอีก "ศีล" ยังหมายความว่า สภาพเป็น "ปกติ" โดยตรงทีเดียว
        คือ เป็นชีวิตปกติธรรมดาๆ ของคนผู้นั้น แต่มี "ศีล" ประจำตัว เพราะเป็นคนมี "ศีล" ชนิดที่ไม่ต้อง "ฝึก" อีกแล้ว ไม่ต้อง "ฝืน" อีกเลย ไม่ต้อง "เฝ้า" ระวังว่าจะละเมิด จะด่าง จะพร้อยในศีลข้อนั้นๆ อีก ไม่ต้อง "ฝน" ให้แก่ตนอีก เพราะไม่มีเศษทุกข์ "แฝง" อยู่ในจิตอีกแล้ว สำหรับการมีชีวิตเป็นอยู่อย่างผู้มี "ศีล" (ข้อ) นั้นๆ ด้วยว่า ไม่มีอาสวะกิเลส เหลือเศษธุลี "ฝัง" ในจิตอยู่เลย เป็น "อเสขศีล" แล้วสำหรับ "ศีล" ข้อนั้นๆ ด้วยประการฉะนี้เอง จึงชื่อว่า อริยบุคคล ย่อมมี "ศีล" นั้น และมีเป็น "ปกติ"
        ที่จริงแล้ว "ศีล" คือ หลักใจ คือ กฎ หรือคือ แนวทาง (มรรค) หรือคือ จุดมุ่งหมาย ที่ตนมีเจตนาจะกระทำ ให้ได้เป็นอย่างนั้น ตามนั้น นั่นคือ ความหมายในเบื้องต้น ที่แท้ๆ เป็น "รูป" ของศีล
        และ เมื่อผู้ใด ลงมือทำจริงๆ อย่างตั้งใจมั่นคง และมี "ผล" ทำให้จิตของผู้ปฏิบัติ ถูกชำระ กิเลส-ตัณหา ออกเรื่อยๆ ตั้งขึ้น มั่นแม่นขึ้น นั้นก็เป็น "สมาธิ" หรือ เป็นการเดินทางของ "ศีล" เป็น เบื้องกลาง อาจจะยังต้องฝืน ต้องลำบากอยู่บ้าง ก็จะค่อยดีขึ้นๆ เรื่อยๆ
        จนผู้นั้นทำได้ตามกฎอย่างสบาย หรือ ประพฤติได้ตามแนวทางนั้น หรือ ปฏิบัติได้ตามจุดมุ่งหมาย ที่ตนมีเจตนาจะกระทำ ให้ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว อย่างสะดวกดายเป็น "นิสัย" เป็น "บุคลิก" เป็นประจำตัว ไม่ฝืน ไม่ทน ไม่ลำบากเลย เท่ากับ ไม่ทุกข์เลย เพราะเหตุคือ กิเลสได้ถูกทำลายอย่างถูกตัว ถูกตน ลดลง ดับสนิทลงแท้ และมีปัญญา หรือ รู้เห็นในผลดี ในความประเสริฐ เนื่องจากการมี "ศีล" นั้นๆ จริงๆ จนพอใจที่จะมี "ศีล" นั้นๆ อย่างเห็นว่า "มีศีล" นี้นี่แหละ มันดี ประเสริฐกว่า "ไม่มีศีล"
        เมื่อนั้น ก็ได้ชื่อการกระทำนั้น เป็นปกติธรรมดา ของคนผู้นั้นแล้ว "ศีล" คำนั้น ข้อนั้น ก็เป็นบริบูรณ์ถึงจุดสุด หรือเบื้องปลาย แห่งคำว่า "ศีล" (สำหรับ "ศีล" ข้อใดข้อนั้น)
        คือ ปฏิบัติได้ ตามที่ตั้งใจ จะปฏิบัติได้แล้ว อย่างชำนิชำนาญ คล่องแคล่ว ไม่ลำบากเลย เป็นอัตโนมัติ มันเป็น ปกติ ธรรมดา เหมือนเราไม่มีศีล แท้จริงมีศีลเป็นที่สุด เป็นความสำเร็จแล้วใน "ศีล" นั้นๆ แล้ว
        เป็นแต่ว่า ไม่ "มีศีล" อย่างนักเรียนอีกแล้ว เพราะ เสร็จกิจ เรียนจบจริง ได้ "จิตสะอาด" จากกิเลส เท่าที่ข้อกำหนดหมายของ "ศีล" นั้นๆ มุ่ง จนถึงที่สุดสมบูรณ์แล้ว เป็น "รูป" (จิต) ที่สะอาดตามศีล มี "ของจริง" และมี "จิตปัญญา" เอาชนะเรื่องนั้น ทุกข์นั้น ได้แล้วอย่างเก่ง รู้ชัดว่าคนมีศีลนั้นดีเช่นนี้เอง ซาบซึ้งผลนี้เป็น "นาม" ของศีล [ต้องรู้ "รูป" รู้ "นาม" ของมันให้ชัด] นั่นแล คือ "ศีล"
        "ศีล" จึงไม่จำเป็นจะต้องหมายถึง "ศีล ๕" หรือ "ศีล ๘" หรือศีลทั้งสิ้น ในพระโอวาทปาฏิโมกข์ตรงๆ เลยก็ได้ แต่อาจจะกำหนดขึ้นเป็นกฎเอาเอง หรือ เป็นจุดมุ่งหมายตั้งใจ ให้กับตนเองก็ได้ทั้งสิ้น ขอให้เป็นการกำหนดขึ้น เพื่อจะประพฤติ (พัตต, พต) ดี ปฏิบัติชอบก็แล้วกัน คือ ตรงกับความมุ่งหมาย ของคำว่า "สัมมาปฏิบัติ" แต่ถ้าจะให้ดี และง่ายอยู่แล้ว เมื่อเรามุ่งหมาย จะประพฤติมุ่งนิพพาน หรือ เป็นไปเพื่อ "สันติสุข" อันเป็นยอดธรรม หรือ ยอดแห่งความดี ความงาม ความถูกต้อง ตรงชัดแล้วล่ะก้อ ขอให้เริ่มต้น บำเพ็ญประพฤติธรรม ตาม "ศีล" ที่พระบรมศาสดาของเรา ได้วางไว้แล้ว อย่างดีนั่นเถิด
        "ศีล ๕" จึงนับเป็นพื้นฐาน ที่พุทธศาสนิกชนทั้งปวง จำเป็นจะต้องมี ไว้ยึดถือปฏิบัติ เป็นประจำ เพราะ "ศีล ๕" จักช่วยเกื้อกูลตน และ เกื้อกูลโลกทั้งหลายด้วย เพราะ "บริษัทแห่งพุทธ" ที่แท้จริงที่สุดนั้น คือ "หมู่คนผู้อยู่ในเมืองนิพพาน" เป็นหมู่กลุ่มของคน ที่เป็นสุขร่มเย็น สันติ ราบรื่น เรียบร้อย ไม่มีความเบียดเบียน จนเดือดจนร้อน พุทธศาสนามีหลักการ ที่สอนให้สังคมปวงชน เป็นอยู่อย่างสุขสงบ ราบรื่นจริงๆ
        แต่น่าเสียดาย ที่เมืองไทยอันได้ชื่อว่า "เมืองแห่งพุทธ" ผู้เป็นเจ้าของ "ความสุขเย็น" (นิพพาน) เป็นเจ้าของ "สันติ" (สงบ, ราบรื่น) กำลังเดือด กำลังร้อนระอุ มีการฆ่าฟันกัน (เพราะไม่มีนิสัยสันดาน ในการไม่ฆ่าสัตว์)
        กำลังฉกชิงคดโกงกัน ตั้งแต่เล็กน้อย ไปจนใหญ่โตมโหฬาร เป็นแสนเป็นล้าน (เพราะไม่มีนิสัยสันดานในความไม่โลภ ไม่ลักขโมย ไม่คดไม่โกง)
        มีการเดือดร้อน แค้นเคืองใจ ในเรื่องคู่ผัวตัวเมีย ถึงเป็นถึงตายกันบ่อยๆ ขึ้น (เพราะไม่มีนิสัยสันดานรู้จักประมาณ หรือ ลดในเมถุนกาม)
        มีการพูดปดมดเท็จ ตอแหลกัน จนแทบจะหาคนไม่พูดปดเลยสักคน ไม่ได้ในเมืองพุทธ (เพราะไม่มีนิสัยสันดานในการควบคุมฝึกหัดคำพูด ให้เป็นสุจริตแท้)
        และที่เลวร้ายที่สุด ก็คือ ยกย่องสุรา สิ่งมอมเมา ขึ้นเป็นของสังคม แม้ที่สุด ชนที่เรียกตนเองว่า ชั้นสูงๆ เท่าใด ก็ยอมรับ จนสุราก็ดี สิ่งมอมเมาอื่นๆ ก็ดี (อันมีรูปต่างๆ นานา) ต้องมีในสังคม กระทั่งกลายเป็นประหนึ่งธูปเทียน ดอกไม้ ที่จำเป็น ต้องนำไปบูชาพระ ฉะนั้นก็ยังมี ยังทำกันในสังคม ก็ไม่ทราบว่า มันเป็นประโยชน์แท้ ประโยชน์จริงอันใด ให้แก่สังคมกัน วงสุรา (สังคม) ทุกวง ขอรับรองได้ว่าเป็น "ขบวนการล้างผลาญ" ทำลายเศรษฐกิจ ของคนในวงนั้นเอง อย่างเก่ง และแท้จริงที่สุด
        คิดดูให้ดีเถิด ไม่มีอะไรนอกจาก กินๆๆๆ เผาๆๆๆ เทๆๆๆ ยิ่งกิน ก็ยิ่งต้องร้องตะโกน ต้องเต้นต้องดีด ต้องทำอะไรต่อมิอะไร เกินขอบเขตได้ (ไม่มีลักษณะ แห่งความสงบ ความเย็นเลย) ยิ่งเผา เครื่องจักรในกาย ก็ยิ่งร้อนยิ่งเร่ง มันก็ยิ่งผลาญ หรือมันก็ยิ่งสลาย และทำร้ายทั้งทำลาย มันมีแต่สัญลักษณ์ ของความสิ้นเปลือง ความเดือด ความร้อนทั้งสิ้น ถ้า "สติ" ไม่ดีเป็นพื้น หรือไม่ก็เมาจนฟุบแล้ว ก็มักจะก่อความยุ่งยาก นานาประการได้ทุกวินาที ของคนเมา
        เมืองที่มีการผลิตสุราขาย เมืองที่มีการยกย่อง บูชาสุรา และสิ่งมอมเมา ในวงสังคม ไม่ควรชื่อว่า "เมืองแห่งพุทธศาสนา" เพราะพระพุทธเจ้า ไม่ทรงสั่งสอนให้ดื่มสุรา และ เสพติดสิ่งมอมเมา แม้แต่น้อย อีกทั้งซ้ำ "ห้ามซื้อขายสุรา และสิ่งมอมเมาต่างๆ" พระองค์ก็ทรงสั่งสอน เป็นศีลพระปาฏิโมกข์ ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญญจกนิบาต ข้อ ๑๗๗ ด้วยอีก [คือ มิจฉาวณิชชา ๕ ประการ ซึ่งยังเป็น มิจฉาชีพ]
        มันเป็นความเลว เป็นการทำให้คนต่ำ อันควรหลีกเว้น ไกลห่าง น่าละอาย ขยะแขยง แต่กลับนำมาเชิดชู ยกย่อง ส่งเสริม แพร่หลาย ถือหาง ชี้ชวนกัน แม้ในสังคม ชั้นที่นับว่าสูงเท่าใดๆ กลบเกลื่อน เสแสร้ง แก้ตัวสารพัด สำหรับผู้ยังติด และ ยังหลงในผลประโยชน์ ที่ได้เนื่องมาแต่สุรา และสิ่งมอมเมาต่างๆ รู้กันแสนรู้ว่า ถ้าประชากร กลายเป็นทาสอบายมุข สังคม ก็กอบกู้ไม่ขึ้นแน่ๆ แต่ฤทธิ์ของกิเลส มันเหนือใจคน ความเห็นแก่ได้ ที่ไม่คำนึงให้ลึกซึ้ง ถึงผลเสีย จึงทำให้ไม่พยายาม ช่วยกันตัดต้นตอ ในของง่ายๆ นี้กัน หรือไม่ ก็น่าจะมีมาตรการ เพื่อทำให้มันลีบ ให้มันฝ่อ หรือคุมกำเนิด เพื่อให้มันสิ้นทรากไป ในที่สุด ก็ควรจะได้ทำ แต่ก็ไม่มีผู้มีอำนาจใด ได้กระทำกัน
        ความไม่มี "เครื่องหมาย" ของคนดี อันคือ "ศีล" แม้แค่อย่างต่ำสุดแล้ว แค่ศีล ๕ การละเมิดกฎ ละเมิดหลักการที่ดี อย่างนี้แหละ จึงพาไปสู่ความเสื่อม ความเดือดร้อน ความเป็น "คนไม่ดี" แล้วจะแก้ไขหมู่ชน จะแก้ไขสังคม จะแก้ไขบ้านเมือง แก้ไขความไม่เสื่อม แก้ไขความไม่เดือดร้อน กันในจุดไหนกัน ก็ไม่ทราบ ยกบท "ศีล ๕" ขึ้นเป็นหลัก แล้วฉลาดออกกฎหมาย อย่างมีระบบ มีผลต่อเนื่อง จนคนมีพฤติกรรมที่นับได้ว่า อยู่กันอย่างมี ศีล ๕ เท่านั้นแหละ บ้านเมืองก็ร่มเย็น (นิพพาน) สงบสุข (สันติ) เท่านั้นเอง ไม่เห็นจะต้องไปเรียน นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือ ดิรัจฉานศาสตร์ใดๆ กันให้บานปลาย วกเวียนเอียนวิชากันเปล่าๆ ให้ดกดื่น ตื่นแง่ ตื่นมุมใหม่ๆ ออกไปให้เสียเวลา
        มุมใหม่ แง่ใหม่ ที่พัฒนา ขึ้นมาในโลกนั้น มันเป็นเพียง "สมมุติอันใหม่" เท่านั้นหรอก แท้จริง มันก็ยืนเหยียบ อยู่บนพื้นฐานสัจธรรม อันเก่านั่นแหละ
        ถ้าอยากจะทดลองดูว่า "กฎหมายอันสิทธิ์ศักดิ์ ของพระสิทธัตถะ" นี้ จะมีอัตถะเนื้อหา "สิทธ" (มีความเก่ง สำเร็จประโยชน์ มีความสัมฤทธิผล) สมกับพระนามของพระองค์หรือไม่? จะมีผลชะงัด ในการปกครองจริงไหม? ก็ลองเอาเพียง "ศีล ข้อที่ ๕" ข้อเดียว ห้ามดื่มสุรา และ เลิกสิ่งมอมเมาต่างๆ กันจริงๆ ขึ้นมาใช้กันดูก่อนก็ได้ จะเห็นผล ทั้งทางเศรษฐกิจ รัฐกิจ มนุษยกิจ สันติกิจ และกิจอื่นๆ ขึ้นมาทันตาทีเดียว
        ข้าพเจ้า ขอกล่าวอย่าง ตรงไปตรงมา หน่อยเถิดว่า พุทธศาสนาอายุ ๒,๕๐๐ กว่าปี พระสาวกของพระบรมศาสดา ชักจะไม่รู้จักแม้ "ศีล" หรือ ยิ่งเป็นอุบาสกอุบาสิกาด้วยแล้ว ยิ่งรู้จักแค่ภาษาในคำว่า "ศีล" เท่านั้นเอาจริงๆ ทว่า ต่างก็ยังไม่ถ่องแท้ ถึงศีล ถึงธรรม กันเอาเสียเลย (อโยนิโสมนสิการ) ว่า
        "ศีล" โดยเนื้อหาแก่นเป้า (อัตถะ) โดยชั้นเชิง ลำดับตื้นลึก หนาบาง แต่ละสภาพ (ธรรม) และ โดยปัญญา รู้รอบเร็วทัน อันถูกต้อง (ปฏิภาณ) มันคืออะไร? จึงไม่สามารถ หยั่งภาษา (นิรุตติ) คำว่า "ศีล" และ ไม่สามารถอ่าน ความสัมพันธ์ ปรุงแต่ง ในหลัก ในกฎ ในสภาพธรรม ที่มันเกิด มันเป็นไป หลากหลาย ได้ถูกต้อง ถูกตัว ถูกตน ถูกความจริง อันแท้จริงได้
        จึงรู้กันแค่เพียง "สมมุติสภาวะ" อันใหม่สุด ของโลกเพียงชั้นเดียว หรือ ไม่กี่ชั้น ซึ่งเป็นสภาวะตื้นๆ ง่ายๆ ผิวๆ เปลือกๆ เท่าที่จะสามารถรับรู้กันได้ จากอำนาจของภาษาคำว่า "ศีล" แล้วก็พากันเข้าใจว่า ตน "รู้ยิ่ง" แถมยึดมั่นถือมั่น อย่างหลงๆ เหลิงๆ อยู่ในปัจจุบันนี้
        และ ภาษาที่บอกกล่าวคำว่า "ศีล" นั้น ก็รู้พริ้วๆ แผ่วๆ เผินๆ เพียงเป็น "คีตะ" เป็นคำร้อยเรียง เป็นคำขับ เป็นคำกล่าว คำสวด เป็นคำท่องอยู่เท่านั้น ซ้ำมิหนำถูกประกอบ "วาทิตะ" คือ ใส่สุ้มสำเนียงเสียงร้อง ลีลาประสมประเส ให้ชวนหลงเข้าไปอีกอย่างหนัก อันล้วนเป็นพิษ สร้างภัย เพราะมันเป็นเพียง เครื่องตกแต่ง ชักจูง เป็นตัว "กามกิเลส" แท้ๆ และ แถมสร้างอุปาทาน "มานกิเลส" หลงมีศักดิ์ มีขลัง เข้าไปพอกหุ้มสุม หนักข้อขึ้นทุกวันเอาด้วย
        "ศีล" จึงกลายเป็น "ละครทรงเครื่อง" ปรัมปราชนิดหนึ่ง ที่พระแสดง อุบาสก อุบาสิกาขอดู ขอฟังกันอยู่เป็นประจำ สำหรับผู้หลง (โมหะ) พระก็รักษาไว้ แบกหามไว้ เพื่อเป็นเครื่องยืนยัน ความเป็น "พระ" ว่า คือ ผู้ต้องแสดง ตามบทบาทเช่นนี้ๆ และเพื่อแลกประโยชน์โภคผล
        คนก็ยึดถือไว้ เพื่อคำว่า จารีต เพื่อคำว่า ประเพณี เท่านั้น
        นี่คือ หมู่คน ผู้ไม่พ้น "ศีลพตปรามาส" ก็จะทรงผล ยืนหยัดผล อยู่ได้เพียงเท่านี้
        ดังนั้น ถ้าแม้นจะให้แยกแยะ กันละเอียดขึ้นไปรู้ เข้าไปแจ้ง แทงทะลุเพิ่มมากยิ่งขึ้น จนกระทั่ง "ศีล" ที่เป็น "อริยกันตศีล" เป็น "วิสุทธิศีล" หรือ "ปาริสุทธิศีล" แล้วก็เป็น "อเสขศีล" นั้น เป็นอย่างไร?
        และ การเป็น "อธิศีล" นั้นไฉน? การเพิ่มรู้ ให้รอบถ้วนและเพิ่มของจริง ให้ครบหมด (ปริวัฏฏ) การใช้ภาษา สื่อภายนอกขยาย หรืออธิบายให้ยิ่งๆ ขึ้น ด้วยความพยายามเต็มที่ (ปริยัติ) การทวนทำ จนบรรลุจริงยิ่งขึ้น เป็นผล เป็นคำตอบ (ปฏิบัติ) การแทงทะลุเนื้อหา ทั้งทาง "ปริยัติ" ทั้งทาง "ปฏิบัติ" ให้ลึก ให้กว้างยิ่งๆ ขึ้น (ปฏิเวธ) ดั่งนี้ ล้วนคือ การก่อสภาพ เป็นความยิ่งขึ้น สูงขึ้นไปอีก ใน "ศีล" ที่เรียกว่า "อธิศีล" แม้จะขยายในข้อเดียวกัน ภาษาเก่า คำหลักๆ คำเดิมนั้น
        ซึ่งจะเพิ่มขึ้นโดยลักษณะอย่างไร? ก็ดูจะเข้าใจกัน ไม่ค่อยจะได้กันแล้ว เพราะมันมีสภาวะซับซ้อน "หมุนรอบเชิงซ้อน" (คัมภีราวภาส) ที่เป็น "ปริวัฏฏซ้อน" ด้วยปัจจยาการ จนเกินกว่าจะกล่าวได้ง่ายๆ
        ก็ดูแต่เพียงชั้น จะแยกแยะ ลึกซึ้งลงไปหน่อย แต่ว่า "ศีล" กับ "วินัย" นั้น แตกต่างกัน เท่านั้นเอง ก็ยังพากันเห็นไม่ได้ เข้าใจไม่ไหวกันเสียแล้วดังนี้ เป็นต้น
        เพราะฉะนั้น คำสอน (อนุศาสน์) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงสอนเป็นหลักใหญ่ ตายตัว ว่า "ศีล-สมาธิ-ปัญญา" จึงได้เป็นหมันไป อย่างน่าสมเพช ด้วยเหตุว่า ไม่รู้จักแม้แต่ "ศีล" อันเป็นเรื่องที่จะต้องทำการศึกษา (บทสิกขาข้อแรก อันเป็นเบื้องต้น) ให้ได้ถ้วนทั่วก่อน แล้วทำให้มันเป็น "ศีล" แท้ๆ "ศีล" จริงๆ ให้ได้ หรือ พยายามทำ "ศีล" ให้สูงขึ้นๆ หรือ ทำตนให้เป็นปกติยิ่งขึ้นๆ ตามหัวข้อศีลนั้นๆ ที่เรียกว่า เป็น "วิสุทธิศีล" หรือ "ปาริสุทธิศีล" แล้วเราก็จะได้ไต่ระดับ ขึ้นสู่ความยิ่งขึ้น ใน "ศีล" ได้ หรือ ก้าวขึ้นยึดสิ่งที่สูงขึ้น เป็นข้ออันควรประพฤติได้ต่อไป ที่เรียกว่า เป็น "อธิศีล" ซึ่งจะอุปการะ "ปัญญา" ยิ่งขึ้นก้าวหน้าต่อไป
        แต่กระนั้น ทั้งพุทธศาสนิกชน นักปฏิบัติธรรม และ แม้ผู้อยู่ในร่างของ "พระ" (ส่วนมาก) ก็ไม่ได้หยั่งถึง ลึกซึ้งกันเลย กับคำว่า "ศีล" คำว่า "อธิศีล" และ "วิสุทธิศีล-ปาริสุทธิศีล" หรือ แม้ "อริยกันตศีล" ก็ดี ยิ่งที่สุด "อเสขศีล" ก็ยิ่งแล้วใหญ่
        เนื่องมาแต่ ไม่ได้ศึกษา (สิกขา) "ศีล" เป็นเบื้องต้น ตามคำสอน (อนุศาสนี) ของพระบรมศาสดา นั่นเอง เพราะเหตุว่า เข้าใจแม้คำว่า "สิกขา" หรือ ทำการศึกษา ก็ยังไม่พอด้วย
        คำว่า สิกขา หรือ การศึกษานั้น มีทั้ง "ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ" คือ ต้องรู้ "หลักการ" ตามเนื้อหา หัวข้อ ที่จะนำไปปฏิบัติเสียก่อน เรียกว่า "ปริยัติ" ดังนั้น หน้าที่เบื้องต้นของ "พระ" จึงจำเป็นจะต้องเอาเรื่อง "ศีล" ทั้งหลายทั้งปวง มาเรียนมาอ่าน มารู้ มาเข้าใจให้ชัดแจ้ง หรือให้มากพอ เท่าที่ภาษาพูด ภาษาเขียน จะมีกำหนดมาให้ เราก็อาศัยเบื้องต้น จากการรับฟังมา หรืออ่านมา จำมา นี่เป็นธุระ เป็นงาน เป็นกิจขั้นต้น ที่จะต้องทำ เรียกขานว่า "คันถธุระ" ถูกขั้นถูกตอน (อย่าไปหลงเหมาเอาว่า "คันถธุระ" เป็นกิจก่อสร้าง เป็นกิจพิธีการ เป็นกิจวางแผนหรือหาภาระยุ่งนุงนังใดๆ)
        และแล้วก็นำเอาที่ได้รู้จากฟัง หรือ อ่านนี้ไปลงมือ "ปฏิบัติ" จริงๆ ตามหลักการนั้นๆ ดังที่ได้เล่า อธิบายมานี้แล้ว เรียกขานว่า "วิปัสสนาธุระ" จึงจะเกิด "ศีล" ขึ้นที่ตัวผู้ปฏิบัติ ให้อ่านสภาวะ ให้เรียนสภาวะเป็นเบื้องกลาง ต่อไป ตั้งแต่ "กาย-วาจา" จนก่อเกิดผลถึง "จิต" แข็งแรง ตั้งมั่น จึงจะเป็นสภาพ "สมาธิ" ต่อๆ ไป
        หลักการ หรือ หัวข้ออันควรประพฤติ นั้นๆ แหละ คือ "ศีล" คำอธิบายเนื้อความ ที่จะต้องเรียนรู้เบื้องต้น คือ "ศีล" ไม่ใช่เนื้อความ ของคำอธิบายเรื่อง "สมาธิ" หรือ เนื้อความ คำอธิบาย เรื่องเกี่ยวกับ "ปัญญา" ซึ่งมันเป็นเบื้องกลาง และ เบื้องปลาย ไม่ใช่ ในแง่ใด ก็ศึกษาดีๆ
        เพราะเหตุเข้าใจ คำว่า "ปริยัติ" เพี้ยนไปเอามากมายนี่เอง "พระ" จึงพลอยไม่รู้จัก "ศีล" บางรูป บางองค์ ถึงกับคลางแคลงใจด้วยซ้ำไปว่า "เอ! อาตมานี่จะต้องถือศีล ๕ หรือศีล ๑๐ อะไรนี่เหมือนโยม เหมือนเณรเขา หรือเปล่าหนอ?" ก็ยังมี เนื่องจากไปหลงยึด หลงเข้าใจตามๆ กันว่า พระยึดถือ "ศีล" เพียง ๒๒๗
        แท้จริง ศีล ๒๒๗ นั้นมันเป็น "พระวินัย" เป็นกฎหมายพระ ผู้ปฏิบัติไม่บริสุทธิ์ ในกฎหมายพระนั้น มีบทลงโทษ มีการฟ้องร้อง ชำระโทษกันได้ มันมีความหมาย ไปในทางร้ายยิ่งกว่าคำว่า "ศีล" มันยังเป็นของหยาบของต่ำ
        นักบวช หรือ ผู้คือ "พระ" ซึ่งเป็นตัวแทนของ "ศีล" ของ "ธรรม" เป็นแกนนำของพุทธศาสนานั้น จะไปมัว "หลง" ยึดได้อยู่แค่ วินัย ๒๒๗ เท่านั้น มันไม่พอแน่ อะไรๆ ก็ไปไม่รอด
        เหมือนดังเช่น จะไปให้ประชาชนนั้น เอาได้ ยึดได้อยู่แต่ แค่ปฏิบัติตน "อย่าให้ผิดกฎหมาย" เท่านั้น "ศีล" ใดๆ "ธรรม" ใดๆ (หรือ ที่เรียกกันรวมๆ ไปว่า "ศีลธรรม" ก็ดี "จริยธรรม" ก็ดี แม้คำว่า "จรรยาบรรณ" ก็ตาม) อันเป็น "คุณธรรม" แท้ๆ จากจิตวิญญาณของคน หรือ แม้แค่ความสำนึก ทางจิตวิญญาณที่พึงทำ นับเป็นเพียงมารยาท อันดีงาม ของประชาชน ก็ไม่ต้องมีกันหละ!
        หากเป็นอย่างนั้น บ้านเมืองก็เป็นกลียุคกัน เท่านั้นเอง! หรือไม่ก็เป็น "สังคมเดรัจฉาน" กันไปเลย ชาติประเทศก็เสื่อมโทรม เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า
        มีแต่ "กฎหมาย" มันทำให้คนดี หรือสูงขึ้น หรือ เป็นสันติจริงๆ ดีแท้ ถาวรจริงได้ที่ไหน? "กฎหมาย" มันชั้นแค่กำราบคนเลว แต่คนจะดีกว่านั้น สูงได้กว่านั้น มันต้องมี "ศีล" มี "ธรรม" กัน อย่าง "รู้" สัจจะแห่ง "ปรมัตถะ" กัน และอย่างเป็น "ของจริง" มิใช่ข่ม มิใช่ทน มิใช่แกล้ง "ศีลธรรม" ต้องเป็น "ความรู้ยิ่ง" (อธิปัญญา หรือ ญาณทัสสนวิเสส) และเป็น "ของจริง" (จิตวิญญาณ ที่เป็นได้จริง = ยถาภูต, วิมุติ, เมตตา ฯลฯ เป็นต้น) สังคม หรือบ้านเมือง หมู่กลุ่มจึงสันติสุข และเจริญได้แท้
        ดังนั้น "พระ" ก็เช่นกัน จะไปมัวยึดแค่ "วินัย ๒๒๗" ได้กันอยู่แค่นั้น แค่ "กฎหมายพระ" เท่านี้ มันจึงไม่พอ โดยนัยเดียวกัน
        ศาสนาพุทธเสื่อม ต่ำลงมาในทุกวันนี้ เพราะความเข้าใจผิด ในประเด็นนี้กันดั่งนี้อยู่ นั่นเอง
        เพราะ พระสงฆ์องคเจ้า ไม่สำนึกรู้ อย่างที่ได้สาธยายนี้ จึงไม่ได้พากเพียร เรียนตามที่รู้ และ ไม่ฝึกฝนตน ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ให้ยิ่งๆ ขึ้น แม้แต่วินัย ๒๒๗ ก็ยังศึกษากันแค่ "ศีลพตปรามาส" ด้วยซ้ำ พุทธศาสนาจึงมีเนื้อหา สาระอยู่จ้อยจี๊ดกันอยู่ อย่างทุกวันนี้
        แย่หนักกว่านี้ ก็เป็น "เจ้ามิจฉาทิฐิใหญ่" ดั่งที่ พระพุทธองค์ ได้ตรัสไว้ ก็ยังมี ส่วนมาก จะเป็นพวกเฉลียวฉลาด ที่เรียกว่า "เฉโก" โดยเห็นไปว่า "ศีล" นั่นก็เหมือนดั่ง "วินัย" คือมีไว้สำหรับให้ "คนโง่ถือ" แล้วจิตของผู้นั้นๆ ก็เลยหมิ่น "ศีล" หยาม "ศีล" อยู่ในจิตลึกๆ จริงๆ
        ทั้งๆ ที่ "ศีล" แท้ๆ นั้น คือ "ความเป็นจริงของมนุษย์ ที่มีเหตุผล เครื่องชี้คุณธรรมแท้อยู่พร้อม"
        "ศีล" ที่เป็น "โอวาทปาฏิโมกข์" นั้น มีทั้งที่เป็นปริยัติ ที่พระบรมศาสดา ได้ทรงบัญญัติ ทรงตรา ทรงตั้งกำหนด กฎกล่าว ก็มากมายเหลือล้น ที่เราจะใช้อาศัยศึกษา ฝึกฝนทำตน ให้เป็นพุทธมามกะ ที่ดี ที่สมบูรณ์ เป็นคน "ทรงศีล-ทรงธรรม" จริงๆ อย่างเป็นจริง เป็นอัตโนมัติ
        และ ยังมีอีกมากมายละเอียดลึก ที่อยู่ในลักษณะ "ศีล" ซึ่ง "พระสมมุติ" หรือ ปุถุชน คนฉลาดเฉลียว (เฉโก) ธรรมดาๆ ไม่สามารถจะรู้ หรือ ระลึกตามได้ แต่ "ศีล" ที่เป็น "อธิศีล" เสียส่วนมากเหล่านี้ จะเกิดในใจในจิต แจ้งในตน ของพระอริยเจ้าอยู่เอง ได้เอง และ ท่านจะซึมซาบของท่านเอง
        แค่ที่พระพุทธองค์ ได้ตรัส ทรงแยกแยะไว้ให้ก็มากมาย ยิ่ง "ศีล" ที่เป็นพระโอวาทปาฏิโมกข์ (โอวาทคำสอน เพื่อสู่ "วิโมกข์" ทั้งหลาย) นั้น มีดกดื่น เป็นหมื่น เป็นพันข้อ ซึ่ง "พระ" ผู้เป็นศิษย์ตถาคตนั่นเอง มิใช่ใคร ที่จะต้องพยายามศึกษา ไว้ให้กับ "พุทธศาสนา" จะต้องธำรงไว้ ให้เป็นจริง มีจริง ยั่งยืน ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้เล่นโก้ๆ หรอก! ท่านตรัสไว้ให้ผู้ประกาศตน เป็นพุทธสาวกนั่นแหละ นำมาประพฤติพิสูจน์ จนเป็นที่สุด จนเป็นไปได้แล้ว ตามนั้นๆ จริงๆ จนเป็นปกติธรรมดา ทุกหมวดทุกข้อนั่นแหละ ไม่ใช่มีไว้ให้ใครอื่นประพฤติ หรือ มีไว้โก้ๆ สำหรับขู่ผู้อื่น ข่มผู้อื่น
        แต่เดี๋ยวนี้ ถ้ากล่าวว่า "ศีลพระปาฏิโมกข์" ก็ไปเข้าใจ จ่อมเอาแคบๆ ตื้นๆ อยู่แค่ "วินัย ๒๒๗ ข้อ" อีกแหละ
        ซึ่งมันไม่ใช่เช่นนั้น
        "ศีล" คือ คำสอน คือ โอวาทที่พระพุทธองค์ ได้ตรัสไว้ ให้คนนำมาประพฤติ เพื่อละชั่ว ทำดี ชำระใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส จากกิเลสตัณหา ทุกข้อ ทุกคำความ
        ดังนั้น ถ้าใช้ภาษาว่า "ศีลพระปาฏิโมกข์" นั้น ก็คือ คำสอนที่เป็น "โอวาทปาฏิโมกข์" ของพระบรมศาสดาทั้งสิ้น ทั้งมวลด้วย บทใด คำใดที่เป็น "โอวาท" ให้ละชั่ว ประพฤติดี ทำให้ใจบริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กิเลสตัณหาแล้ว ใช่ "ศีลพระปาฏิโมกข์" ทั้งสิ้น
        จงพยายามทำความเข้าใจ แม้แค่นี้กันให้ได้ก่อน
        ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้วหลายนัย "พระ" ในสมัยนี้ จึงแทบจะเรียกได้ว่า ตัดขาดจาก "ศีล" ทีเดียว ถ้าไม่มี "วินัย" เสียอย่าง
        แม้จะพูดถึงแค่ "ศีล" ที่พระพุทธองค์ ได้ทรงร้อยเรียงไว้ เป็นธรรมนูญของพระพุทธศาสนา อันเป็นหลักเอกของ "ลัทธิพุทธ" แท้ๆ คือ "จุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล" พระก็ไม่รู้กันแล้ว ว่า นั่นแหละ คือ คำสอน คือ โอวาทปาฏิโมกข์ คือ "ศีล" อันตนจะต้องเรียนเป็นเบื้องต้น เป็น "ปริยัติ" เป็น "คันถธุระ"
        แล้วก็นำมาประพฤติ เพื่อไม่ให้ขาด ไม่ให้ด่างพร้อย เป็น "วิปัสสนาธุระ" ให้บรรลุรู้แจ้งถึง "ผล" จริง ตามความ "เป็นจริง" ว่า
        คนที่มีชีวิต ตามที่ พระบรมศาสดา ทรงเห็นดี เห็นงาม ทรงกำหนดไว้ว่า จงมีชีวิต ที่ควรละเว้นสิ่งนั้น อย่าเป็นอย่างนั้น แต่ควรเป็นอย่างนี้ เมื่อเรานำมาปฏิบัติพิสูจน์แล้ว จนมี "ผล" ทั้งขัดเกลากิเลส ได้จริง
        ทั้งเกิด "ความดับสนิท" ในวัฏสงสาร ของความเคย "เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป" ได้จริง ในส่วนปรมัตถธรรม ได้สัมผัส "นิโรธ" ของแท้ ประสพ "อนัตตา" ของจริง ภายในจิตวิญญาณแห่งตนๆ
        ทั้งมีชีวิตอยู่กับสมมุติธรรม อยู่กับสิ่งแวดล้อม ที่ต่างกับเราบ้าง เป็นเช่นเราบ้างนั้น ดีได้อย่างไร? ประเสริฐจริงนั้น อย่างไร? สงบสันติแท้ๆ นั้น มันสัมผัสรสได้ ในจิตของตนอย่างไร? อุดมสมบูรณ์นั้น อย่างไร?
        ผู้หมดตัวหมดตนนั้น มันกลายเป็น คนเสียสละจริง ขนาดไหน? ขยัน ต่างกับขี้เกียจ มีอาการในจิตละเอียดลึกๆ มันเป็นอย่างไร? เมื่อหมดตัวหมดตนนั้น มันกลับมีเวลาสร้างสรรให้ผู้อื่น ได้ยิ่งๆ เต็มที่ จริงอย่างไร?
        จิตว่างจากกิเลสแท้ๆ แต่มีคุณค่าประโยชน์ต่อผู้อื่นจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร? มีจิตว่าง หรือ มีจิตสงบแบบ "ติดตัวติดตน" อยู่ ยังไม่ "หมดตัวหมดตน" แท้นั้น เป็น จิตว่าง-จิตสงบ แบบไหน?
        ผู้สงบ แต่อบอุ่นขยันสร้างสรร กับ ผู้สงบแต่หลบหลีก ขี้เกียจเปล่าดายนั้น มีจริงเป็นจริงได้ ในคนจริงไหม? แก้ได้จริงหรือ?
        จิตว่าง แต่กลับยิ่งเป็นคนไม่ว่าง อย่างมีความสงบจิต อบอุ่นสันติสุขนั้น อย่างไร? คนหมดตัวหมดตน ถูกต้องธรรมแท้จริงนั้น มีประโยชน์คุณค่าต่อสังคม ต่อผู้อื่นแต่ถ่ายเดียว จริงที่สุดนั้น เป็นอย่างไร?
        เรามาเป็นคนที่มีแต่เสียๆๆๆ (สละ) เสียเปรียบตลอด ไม่เป็นคนได้เปรียบ ไม่คิดเอาเปรียบนั้น เรากลับเป็นคนมี "กำไร" มันเป็นได้อย่างไร? มันจะอยู่ได้อย่างไร? มันไม่โง่ดักดานหรือ?
        เมื่อจิต ลดโลภ-ลดโกรธ-ลดหลง ได้จริง มันเบิกบาน แจ่มใส มันรู้ มันตื่น ไม่งมงาย ลังเล คลางแคลงอะไรอีกนั้น เป็นเช่นใด?
        …ฯลฯ…
        เราจะเกิด "รู้ยิ่งเห็นจริง, รู้แจ้งตามความเป็นจริง" เหล่านี้ด้วยตน (ปัจจัตตัง) เป็น "ความรู้ ในความเป็นได้จริง" เป็น "อธิปัญญา" หรือเป็น "ยถาภูตญาณ" ที่ต้องถึงจริง มีที่สูง-ที่สุด ให้พิสูจน์กันจริงๆ มิใช่คาดคะเนคำนวณ ซึ่งต้องพิสูจน์ดู ด้วยหลักเกณฑ์ ที่ชื่อว่า "ศีล" ทั้งหลาย ของพระพุทธองค์ นั่นเอง
        เมื่อผู้ปฏิบัติได้ ปฏิบัติถูกจริง ถึงจริงตาม "ศีล" ถึง "ผลจิต" เป็น "อธิจิต" เป็นสมาธิแท้ รู้แจ้งเข้าใจชัดด้วยญาณ ด้วยปัญญา ด้วยอธิปัญญา ก็จะซาบซึ้งเองจริง ในสภาพที่ไม่ต้องฆ่าสัตว์ ไม่ต้องเบียดเบียนใคร ไม่ต้องโกงเอาของใคร ไม่ต้องอยากได้ของใคร ไม่ต้องสมสู่ ไม่ต้องมีรสกาม ไม่ต้องพูดทุจริต ไม่ต้องติด ต้องเสพอะไรนั้น มันสบาย พ้นทุกข์ เป็นสุข สงบจิตอย่างไร ฯลฯ (ตามที่มีในจุลศีล)
        จะซาบซึ้งเองจริง ในสภาพที่ ไม่ต้องสะสมข้าว สะสมผ้า สะสมเครื่องประเทือง เครื่องประดับ สะสมอามิส ไม่ต้องขับร้อง ไม่ต้องเล่นปลุกผี ไม่ต้องเล่นตีกลอง ไม่ต้องเล่นชนช้าง แข่งม้า ไม่ต้องเล่นหมากรุก ไม่ต้องเล่นเขียนทาย ไม่ต้องเล่นทายใจ นั้น มันสบาย พ้นทุกข์ เป็นสุขสงบจิต อย่างไร ฯลฯ (ตามที่มีในมัชฌิมศีล)
        จะซาบซึ้งเองจริง ในสภาพที่ไม่ต้องบนบาน ไม่ต้องรดน้ำมนต์ ไม่ต้องร่ายมนต์ขับผี ไม่ต้องจุณเจิมบ้านเรือน ไม่ต้องปรุงยารักษาโรค นั้น มันสบาย พ้นทุกข์ เป็นสุขสงบจิต อย่างไร ฯลฯ (ตามที่มีในมหาศีล)
        จะซาบซึ้งเองจริง ในสภาพที่ไม่ต้องถือย่าม หรือ กลักกล่อง-กระเป๋าถือ ( นาฬิเก) จะซาบซึ้งเองจริงๆ ในสภาพที่ไม่ต้องใส่รองเท้า ไม่ต้องถือร่ม ไม่ต้องถือไม้เท้า ตามที่พระบรมศาสดา ทรงสอนไว้ใน "มัชฌิมศีล" นั้น มันสบาย พ้นทุกข์ เป็นสุข สงบจิตอย่างไร ฯลฯ ดังนี้ เป็นต้น
        มันจะเป็นความซาบซึ้ง ที่รู้ยิ่ง เห็นจริง ด้วย ยถาภูตญาณทัสสนวิเสส คือ ด้วย ความมีจริง เป็นจริง แล้วรู้ อย่างเข้าใจลึกซึ้ง ถึงแก่นสัจจะ จากของจริง ตามที่เป็นจริงนั้นๆ และ ด้วย ปัจจัตตัง เวทิตตัพโพ วิญญูหิ คือ ด้วยตนเองเป็นเอง มีเอง รู้รสเอง ซาบซึ้งเอง ฉลาดจริงเอง ตัดสินเอง จบเอง ซึ่งล้วนแต่มิใช่ "ปัญญา" แค่นึกๆ คิดๆ ผกผันกลั่นกรอง เอาอย่าง "ตรรกะ" เพียงเท่านั้น
        จึงไม่เป็นของแปลก ที่พระจะละเมิด "ศีล" อยู่ทุกวัน แม้เรื่องง่ายแสนง่าย ที่จะทำได้ทันที เช่น จะไม่เล่นหมากรุก จะไม่เป็นหมอผีจะไม่เป็นหมอจุณเจิม จะไม่รดน้ำมนต์ จะไม่เป็นหมอดู จะไม่ต้องถือร่มไม่ต้องใส่รองเท้า ฯลฯ อะไรพวกนี่ มันล้วนเรื่องง่ายทั้งสิ้น
        แต่พระในทุกวันนี้ ไม่รู้จริงๆ ว่า เป็น "ศีล" ที่จะต้องศึกษาพิสูจน์ให้เกิด "ผล" ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ จึงศีลขาด ศีลด่าง ศีลทะลุอยู่ ไม่ "วิสุทธิ" ได้กันสักที หรือ ไม่สูงขึ้นได้กว่าเดิมสักที เพราะ แม้แต่พระผู้ใหญ่ ก็ยังไม่ถือว่า เป็น "ศีล" ที่ตนต้อง "เจตนางดเว้น"
        ศาสนาพุทธ จึงไม่ชัดเจน ไม่มีความเป็น "ศาสนาพุทธ" ดั่งพระพุทธประสงค์ ตามที่เคยเป็นมา แต่เก่าก่อน ในพุทธกาล ดังนั้น กิจกรรม พฤติกรรม เดรัจฉานวิชชาต่างๆ ประการของพระ จึงมีสภาพไม่สะอาด ไม่อยู่ในร่องในรอย ในรูปร่าง ของศาสนาพุทธ ตาม "พุทธธรรมนูญ" เดิม (จุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล)
        เมื่อไม่รู้ แม้แค่ "ศีล" เท่านี้ จึงไม่สามารถจะรู้ "ศีลปาฏิโมกข์" ซึ่งมีอยู่อีกมากล้น หลายร้อยเรื่อง หลายพันข้อนัก ที่เป็นคำสอน เป็นพระโอวาท อันจะพาผู้ประพฤติ ก้าวไปสู่ "วิโมกข์" หรือ นิพพาน ได้อย่างมีฤทธิ์ แรงวิเศษ เป็นโครงสร้าง สอดร้อย นำพาคน ทั้งส่วนตน และส่งผล หนุนเนื่องกันไป เป็นสังคมส่วนรวม แก่กันและกัน สู่นิพพาน ได้เป็นระบบระบอบ ที่สมบูรณ์เยี่ยมยิ่ง
        ดังนั้น "ศีลพตปรามาส" อันหมายความว่า การบำเพ็ญประพฤติ ที่ยึด "ศีล" อย่างหลงผิด และ ปฏิบัติ "ศีล" ทำกันแค่เพียง ตามๆ จารีตประเพณี ที่ตัดออกบ้าง เติมเข้ามาบ้าง แล้วก็มัวยึดอยู่แต่ใน "รูปแบบ" เท่าที่เป็นที่มี ไม่มี "การศึกษา" เพียงพอ ไม่มี "พฤติ" จริงจัง จนถึง ขั้น "ขัดเกลากิเลส" (สัลเลข) ถึงขั้น "ปรมัตถ์"
        จึงไม่ถูกตรง ไม่เกิด "อธิศีล" ที่ถึงคุณค่า แทงเจาะเลื่อนลึก (ปฏิเวธ) ทั้งไม่เกิด "ปัญญา-อธิปัญญา" หรือ ความเห็นแจ้งใน "ผล" จริง เข้าร่วมด้วย จึงไม่บรรลุ "ปาริสุทธิ" ได้สักที ความ "ปกติ" ที่เป็นสภาวะจริงสมบูรณ์ ของ "ศีล" จึงเกิดไม่ได้
        "ศีลพตปรามาส" จึงเติบโตงอกงาม ขยายเป็นกำแพงใหญ่ เป็นอุปสรรค อันหนาแน่น มืดมิด บดบัง ขวางทางพระนิพพาน "พระ" เอง และกินแถวไป จนถึงอุบาสก อุบาสิกา ผู้ต้องพึ่งพาอาศัยพระ จึงจะรู้จะเข้าใจได้ เพราะ "พระ" นี่แหละ จะเป็นผู้ทรง "ศีล" ทรง "ธรรม" ที่ถูกแท้ๆ ได้สะอาดหมดจด ยืนหยัด ยืนยง เป็นตัวอย่าง ไปนานเท่านาน อยู่ในโลก

        แต่เมื่อ "พระ" เอง เป็นผู้เลอะเสียเอง ก็เลยพลอยงมๆ งายๆ

อ่านต่อ หน้า 5 แต่เมื่อ "พระ" เอง

 

   [เลือกหนังสือ]
page: 4/8
   Asoke Network Thailand