ทรัพย์แท้...ของมนุษย์ ตอนที่ ๙ หน้า ๒
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๓๔
เนื่องในงานพุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๑๕

ต่อจากหน้า ๑


แม้แต่พระโพธิสัตว์ ก็เสพติด พระอวโลกิเตศวรนี่ เสพติดโพธิสัตว์อยู่ ยังไม่ยอมจะเป็นพระพุทธเจ้า ยังไม่ยอมทิ้งอัตตานี้ ปรมาตมันนี้ อย่างนี้เป็นต้น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร มีใจอุปาทานเอาไว้ เลยว่า ฉันจะช่วยรื้อขนสัตว์ให้หมดทั้งโลก แล้วจึงจะปรินิพพานเป็นคนสุดท้าย มีใจอย่างนี้ โอ้โฮ แล้วเมื่อไหร่มันจะหมดล่ะ แล้วเมื่อไหร่จะได้ปรินิพพาน ฯลฯ ..จะต่อไปอีกกี่กัป กี่กัลป์ก็เชิญ ก็อย่างนี้ก็เป็นของท่าน ท่านเชื่ออย่างนี้ ท่านมีปัญญาอย่างนี้ ท่านเข้าใจอย่างนี้ ท่านจะอุตสาหะ อย่างนี้ ดีนะ ไม่ใช่ไม่ดี ดีนะ เราจะรู้ทุกข์ เราจะรู้อะไรต่ออะไรได้ลึกซึ้งขึ้น

เราก็มา พากเพียร มีศีลสูงขึ้นไป แล้วมันก็จะศีลข้อ ๕ มันไม่เสพ ไม่ติดต่อหรอก พระอวโลกิเตศวร ท่านเสพติดโพธิสัตวคุณ เสพไป ท่านอร่อยอยู่  อาตมายังดีนะว่ายังไม่เบื่อ เบื่อเมื่อไหร่แล้ว รีไทร์แล้วไม่เอาแล้ว โพธิสัตว์ก็ไม่เอาแล้ว มันยังไม่ถึงขั้นได้ภูมิของพระพุทธเจ้า ยังไม่ถึงขั้น สัพพัญญู ก็รีไทร์ เพื่อนๆ รีไทร์ไปเยอะแล้ว เพื่อนอาตมาน่ะ ต่างก็โพธิสัตว์เอาละวะ เราก็โพธิสัตว์ต่อ เสร็จแล้ว มันไม่ได้ง่ายนะ มันทุกข์นะ ที่ทำอยู่นี่ก็ทุกข์ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป แต่เรายังมีฉันทะ ยังมีวิริยะกับทุกข์นี้ มีฉันทะ มีวิริยะ มีจิตตะ เอาใจใส่ วิมังสา ทำแล้วมันก็เกิดความเจริญ สั่งสมสัพพัญญุตญาณ สั่งสมโพธิญาณ อาตมา ก็ทำไป พวกคุณยังไม่ถึงขั้นนั้น ก็เอาอรหัตคุณให้ได้ เอาอรหัตผลให้ได้ เอาแค่เป็นพระอรหันต์ให้ได้ เอาไปซิ ประเสริฐในระดับหนึ่ง จบชั้นปฐม จบชั้นมัธยมเมื่อไหร่ ก็เป็นรอบๆไป เอาให้มันได้

แล้วเราสุดท้าย เราก็จะไม่เสพไม่ติด แต่ถ้าคุณ อยากจะมาเสพต่อ อยากจะมาติดต่อ ก็ไม่เป็นไร ได้พระอรหันต์แล้ว ท่านเอาโพธิสัตว์ต่อ เราเอาบ้าง มันๆอยากจะขอต่อ คุณก็มีสิทธิ์ คุณมีสิทธิ์จบได้ สูญได้ เลิกเกิดได้ แต่คุณจะเกิดอีกได้ เกิดไม่ยากหรอก ปรินิพพานยาก ยากจะได้นิพพาน หรือขั้นทำปรินิพพานเองได้นี่ยาก แต่ถ้าคุณทำได้แล้ว คุณจะเกิดอีก ง่าย ขนาดไม่ทำปรินิพพาน ไม่เป็น ก็ยังต้องเกิดอยู่ตั้งเท่าไหร่ ไม่อยากเกิด ยังต้องเกิดเลย มันจะยากอะไรเกิด มาอยากเกิด วิบากก็ให้เกิด เพราะการเกิด คือธรรมชาติ มันเกิดโดยธรรมชาติ ไม่อยากเกิดก็เกิด ก็คุณมีเหตุ มีปัจจัยที่จะต้องเกิด ถ้าคุณมีเหตุ มีปัจจัยสูญได้ คุณอยากสูญ คุณก็สูญได้ มันเป็นสิทธิอันสมบูรณ์

เพราะฉะนั้นตัวเสพติด ตัวศีลข้อที่ ๕ นี่สำคัญมาก แต่เขาก็เข้าใจตื้นๆ เราก็ไม่ได้หมายความว่า เขาเข้าใจผิดนะ ไม่เสพติด ไม่เมาเหล้า ไม่กินเหล้า ไม่ดื่มเหล้า ก็ถูกด้วย แต่ปัดโถ ถูกนิดหนึ่ง ถูกไม่ผิดเลย ถูกเบื้องต้น ถูกนิดหนึ่ง แล้วยังมีเบื้องลึก ยังมีเบื้องในละเอียด ที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น ไม่เสพ ไม่ติด ไม่เมาโลกียะมากกว่านั้นอีก แม้แต่โลกุตรยังเมาได้เลย คิดดูซิ นี่ อย่างนี้เป็นต้น

เราก็เรียนศีลไปสั่งสมศีล แล้วทีนี้ในศรัทธาสูตร ท่านบอกว่า เอาละ ได้ศีลก็ดีเป็นระดับ ตามระดับ ก็จะสมบูรณ์ไปตามลำดับเหมือนกัน ได้ศีล ได้ขัดเกลา กาย วาจา ใจ เป็นอธิจิต เป็นอธิปัญญา มีฌาน มีวิมุติ ไปแต่ละรอบ แต่ละเรื่อง แต่ละโรค ล้างโรค ละโรคที่คุณไปติด ซึ่งมันเชื้อโรค ล้างไปซิ ล้างโรคที่คุณวนเสพอยู่กับมัน เสพอยู่ในโรคไหน จนไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ไม่ต้องเสพอีก ไม่ต้องเกิดกับ ไอ้โรคอย่างนั้นอีกได้ไปเรื่อยๆๆๆๆๆ ก็ศีลนี่แหละ ขัดเกลาไป ปฏิบัติตาม ศีล สมาธิ ปัญญานี้แหละ เกิดจิตล้างได้ จนกระทั่งจิตสะอาด จนกระทั่งเกิดปัญญาเห็นความสะอาด เห็นสุญญตาของเรา เห็นอนัตตาของเรา ว่ามันไม่มีตัวตนของกิเลสนั้นแล้ว มันตายสนิท มันสูญ ตาย นิโรธ นิพพานแล้ว มันไม่มีอีกแล้ว แต่เรายังมีขันธ์ เรายังมีอันอื่นที่จะทำต่อ ทำต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง คุณเกิดได้รู้ ได้เห็นเป็นสุตะใช่ไหม

นอกจากพอมีศีลแล้ว ก็ต้องมีสุตะใช่ไหม มีพหูสูต มีสุตะ คุณก็จะได้รู้ รู้ตั้งแต่ฟัง รู้ตั้งแต่คิด รู้จนกระทั่งถึงภาวนา ภาวนามยปัญญา จนกระทั่งเกิดผล เป็นญาณทัสสนะวิเศษ เห็นจริง ตามของจริง รู้ได้เกิดพหูสูตอย่างนี้ เสริมขึ้น ไม่ใช่เอาแต่ปัญญา ไม่ใช่เอาแต่ปริยัติ ไม่ใช่เอาแต่เรียน ตำราภาษา เสริมขึ้นมาๆ มีพหูสูต เสริมขึ้นมา คุณก็เกิดเป็นสงฆ์แท้ เป็นสมณะแท้ขึ้นมา เป็นสมณะแท้แล้ว ต้องรับผิดชอบศาสนาด้วย เพราะเป็นเชื้อ เป็นเผ่า เป็นพันธุ์แล้ว จะต้องมีพี่ มีน้อง เป็นพี่เขาขึ้นไปได้ ตามลำดับต้องมีน้อง ต้องเป็นพระธรรมกถึกประจำ อย่างนี้

ศรัทธา ศีล สุตะ ๓ พระธรรมกถึก สู่บริษัท แกล้วกล้าในบริษัทอีก ๓ แล้วมีทรงวินัย ชอบใจในป่า เอาง่ายๆ ทรงวินัย ชอบใจในป่า กับมีฌาน ๔ อีก ๓ จำง่ายๆ เราจะจำ สัทธาสูตรนี้ได้เป็น ๑๐ ข้อเห็นไหม นี่อาตมายังไม่ได้เปิดตำรา เอาความจำของตัวเองมาใช้หรือเปล่า ใช่นะ หน้า ๘ ศรัทธา ศีล พหูสูต คงจำไม่ยากนักนะ ศรัทธา ศีล พหูสูต ย่นย่อ หิริโอตตัปปะกับสูตรนี้ไว้เลย ใช่ไหม อริยทรัพย์ ๔ ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา จาคะ ปัญญา มันเป็นผล เราเอาแค่ ศรัทธา ศีล สุตะ หิริโอตตัปปะหล่นไว้ก่อน ศรัทธา ศีล สุตะ นี่คือ ๓ ตัว แรก

อีก ๓ ตัวต่อมา เป็นพระธรรมกถึก แล้วเข้าสู่บริษัท แกล้วกล้า แสดงธรรมแก่บริษัท อีก ๓ พระธรรมกถึกประกอบไปด้วยอะไร ประกอบไปด้วย ต้องเข้าสู่หมู่ ไม่ใช่อยู่โดดเดี่ยว ต้องเข้าสู่ที่ ประชุมชน ไม่ใช่พระธรรมกถึก หรือเป็นคนของพระพุทธเจ้าที่ถูกตามโดยหลักการ  โดยหลักการแล้ว ต้องเข้าสู่บริษัท จึงจะถือว่าเป็นพระธรรมกถึก ต้องแสดงธรรม ไม่ใช่ได้ของฉัน แล้วก็ฉันก็ อยู่คนเดียว นั่งเปล่าเปลี่ยว ว้าเหว่อยู่ในรู ไม่ใช่ออกป่าเขาถ้ำไป เรียกว่าโดดเดี่ยว เป็นผู้ที่เจริญ ไม่ใช่ ความจริง มันมีนัยลึกซึ้ง ต้องเป็นผู้ที่เข้าสู่บริษัท เข้าสู่บริษัทแล้วจะต้องมีใจไม่มีตัวภัยที่เรียกว่า ปริสารัชภัย ไม่สะทกสะเทิ้นในบริษัท ไม่มีปริสารัชภัย ไม่มีภัย ไม่มีความกลัว ในการเข้าสู่บริษัท จะต้องกล้า แกล้วกล้าในบริษัท แกล้วกล้าแสดงธรรมในบริษัท ถ้าไม่เช่นนั้นศาสนา ห้วนแน่ นี่เป็นลักษณะแท้ของพุทธ

เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้มันเพี้ยนไป แล้วก็ยิ่งไปสงบเท่าไหร่ อยู่ป่าช้า ใครไม่มา มาก็ลืมตาดูบ้าง ก็บุญแล้ว ไม่ลืมตา คุณไปของคุณ ฉันก็นั่งของฉัน โอ้ย ศรัทธาเลื่อมใส อย่างนี้แล้วพระอรหันต์ พระอรหันต์ ท่านสงบแล้ว หงบแล้ว ท่านหงบแล้ว หงบ หงัด แล้ว งึบๆงิบ ไม่พูดเงียบ ซึ่งเราเข้าใจผิด กันหมด ที่จริง มันสงบจริงๆ มันหยุดสนิทจริงๆ มันดับสนิทจริงๆตรงกิเลส จะต้องมีญาณ อ่านกิเลสออกว่ากิเลสมันตายนะ มันสงบเพราะกิเลสมันไม่มีแล้ว ยิ่งกิเลสไม่มี จิตยิ่งสว่าง จิตยิ่งมีบทบาท ยิ่งมีลีลา จิตยิ่งมีพฤติกรรม โอ้โฮ ยิ่งกว่า เปียงยางกายกรรม ยิ่งมีลีลาที่วิเศษ เพราะกิเลสไม่ได้เข้ามาขัดมาขวาง ยิ่งอิสรเสรียิ่งทำได้อย่างถูกต้อง และมั่นใจด้วย เอ้า ก็ฆ่ามันซิ แต่มันมาก ก็ต้องยิ่งฆ่า ฆ่าแล้วจะเห็นจริง อย่างที่อาตมาว่า

เพราะฉะนั้น อีก ๓ อันหลัง ทรงวินัย อยู่ป่า กับได้ฌาน จำไอ้ตัวนี้ ยากหน่อย รู้สึกว่าภาษาไทยนี่ เขามาตั้งหัวข้อเอาไว้อย่างนี้เรียก อุเทศ เป็น หัวข้อนี่นะ ทรงวินัย เมื่อวาน อาตมาก็ขยายความแล้ว ทำไมต้องทรงวินัย ไม่ได้หรอก ประเดี๋ยวไปแสดงธรรมกถึกมากๆเข้า เป็นพระธรรมกถึกอย่างโน้น อย่างนี้ เดี๋ยวเถอะ เลอะ ไม่มีวินัย ไม่มีหลักเกณฑ์ ประเดี๋ยววุ่น เพราะหลักเกณฑ์ต้อง ตามพระพุทธเจ้า สอนวินัยเอาไว้อย่างไร จะแสดงธรรมก็ขนาดนั้นๆ ขนาดนี้ จะต้องเป็นที่ แสดงธรรม ไม่มีกระทบตน ไม่กระทบท่าน อะไรที่ท่านว่าไว้ ต้องเข้าใจในความหมายให้ชัด

แล้วก็ที่มาแปลกันว่า ไม่กระทบตน ไม่กระทบท่าน นี่ อาตมาว่ามันไปไม่รอดหรอก แสดงความดี มันก็กระทบคนดี แสดงความชั่ว เรื่องชั่ว มันก็กระทบคนชั่ว ถ้าไม่แสดงเรื่องดี เรื่องชั่ว แสดงเรื่อง ยังไงล่ะ ก็พระพุทธเจ้าสอนให้ละความชั่ว ให้ปฏิบัติความดี แล้วไม่บอกว่า อย่างนี้ดี อย่างนี้ชั่ว ไม่รู้จะเอาอะไรมาพูดว่าดี มันไม่ดีไม่ชั่วคืออะไร เอาอะไรมาพูดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น พูดแล้ว ก็จนทาง กระทบดี พูดให้กระทบตนกระทบท่าน ถ้าพูดดีมันก็กระทบคนดี พูดชั่ว มันก็กระทบคนชั่ว

เพราะฉะนั้น อย่าพูดกระทบตน กระทบท่าน ไม่กระทบใครเพราะไม่ได้พูดดี ไม่ได้พูดชั่ว จะพูดอะไรล่ะ มันไม่ได้เรื่อง เสร็จแล้วท่านก็บอกว่าอย่ากระทบตนกระทบท่าน ท่านก็เข้าใจเอาเองว่า พูดแต่ดีซิ กระทบ หมายความว่าเขากระเทือน เพราะฉะนั้น ถ้าไปพูดความดี เขาไม่กระเทือนหรอก เขาชอบ คนก็เลยโน้มเอนไปพูดแต่เรื่องดี ไม่พูดเรื่องชั่ว คนก็เลยไม่ค่อยจะรู้สึกว่า ชั่วคืออะไร ทั้งๆที่มีชั่วเต็มตัวๆๆๆ เท่าไหร่ก็ไม่รู้ เป็นขี้ทูดกุดถัง เห็นหูด เป็นปมเต็ม มีแต่ปมชั่ว ชี้ชั่ว ก็ไม่รู้ว่า ไอ้นี่ชั่วหรือเปล่า ก็เขาไม่พูดให้ฟังเลย พูดแต่ดี ก็เลยเห็นแต่ว่าดีๆๆๆ อะไรมีดีก็เอาแต่ดี ละการพูดชั่ว ไม่พูดชั่วกระทบใคร เพราะมันจะกระเทือนเขา แล้วก็ลึกๆ ปฏิภาณคนมันก็ รู้ว่า ถ้าพูดเรื่องชั่วแล้ว เราไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ คนไม่ชอบใจ เพราะฉะนั้น จะมีคนอาจหาญ มาพูดเรื่องชั่ว ของคนนี่ มันน้อย อย่างนี้ถึงเรียกว่าแกล้วกล้าในบริษัท

เพราะฉะนั้น ต้องมีวินัยเอาไว้ ประเดี๋ยวจะกล้าเกินไป ห่ามเกินไป ประเดี๋ยวตาย ตายโดยไม่ได้ตายดีด้วย ฯลฯ..

เราจะต้องมีวินัย ต้องทรงวินัยนี่ จำไว้ อาตมาอธิบายไว้นี่ เหมือนกับนิทาน คุณฟังไปแล้วก็บอก อ๋อ จำได้แล้ว ท่านเล่านิทานเรื่องนี้ไว้เป็นพระธรรมกถึกนี่นะ จะต้องเข้าสู่บริษัท จะต้องแกล้วกล้า อาจหาญ ในการแสดงธรรมแล้ว ต้องทรงวินัยนะ ถ้าไม่ทรงวินัย เป็นเงื่อนไขหนึ่งไว้ประกอบว่า เป็นพระธรรมกถึก ต้องระลึกถึงวินัย เออ อันนี้ดีเหมือนกันนะ ต่อ ตัวที่ ๗ เป็นพระธรรมกถึก ต้องระลึกถึงวินัย ถ้าไม่เช่นนั้น ประเดี๋ยวออกนอกลู่นอกทาง นอกวินัย ประเดี๋ยวมันเสีย

เสร็จแล้ว เราก็ยินดีในความสงบ หรืออยู่ป่าเป็นวัตร บอกแล้วว่ามีป่าในใจ ถึงจะแสดงธรรมหวือหวา อย่างไรๆ ก็ต้องเป็นสุข ต้องเป็นสงบ ใจก็ต้องสงบ แสดงธรรม จะปรุงแต่งยังไง ใจก็สงบ ต้องเห็น ความจริง ทำความจริงอันนี้ให้ได้ แสดงธรรมไปแล้วมีผล react อย่างไร ผลสะท้อนโต้ ตอบมา อย่างไร พอแสดงธรรมออกไปปั๊บ เขาด่าสวนมาเลยก็สงบสงบๆ แก้ไขทุกอย่าง ด้วยความสงบ มีความสงบ เรียกว่าอยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ป่าเป็นประจำ ขณะที่นั่งเทศน์อยู่ในท่ามกลางไฟ ก็ไปเทศน์ ในเมืองนรกนั่นนะ ท่ามกลางไฟนรก นั่งเทศน์อยู่ในไฟนรก ฉันก็นั่งอยู่ในป่า อยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ป่าเย็น แล้วก็มีป่าอยู่ในหัวใจ นั่นคือสงบ นั่นคือคุณลักษณะแท้ของคำว่าอยู่ป่าเป็นวัตร ยินดีในป่า จิตใจยินดี เรายินดีจริงๆนะ เออ เรามีป่าในใจ เราสงบอยู่อย่างนี้น่ะ มันดี มันเย็น มีความสงบ เป็นวิหารธรรม มีความไม่มีกิเลส จะโกรธ จะโลภอะไร ไม่มีทั้งนั้นน่ะอยู่ในใจ ความไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลงนี่แหละ เป็นสุญญตา มีสุญญาคาเร มีที่อาศัยเป็นสูญ สุญญาคาเร มีที่อาศัยเป็นสูญอยู่อย่างนี้ให้ได้ อยู่ป่าเป็นวัตร และมีฌาน เป็นตัวที่ต่อไป เป็นตัวที่ ๙ แล้วได้ไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากในฌานทั้ง ๔ ใช่ไหม ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากในฌานทั้ง ๔ นี่อาตมาก็พยายาม แนะวิธีให้คุณจำ อุเทศ จำหัวข้อ ต่อไปคุณจะยกหัวข้อขึ้นแสดง ยังไงๆอีก อย่างที่อาตมาแสดง ก็จะมีหัวข้อเป็นหลักไปได้เรื่อยๆนะ

อาตมาบอกคุณ อาตมาก็มีวิธีจำด้วยตัวเองด้วยเหมือนกัน ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ในฌานทั้ง ๔ อันมีในจิตยิ่ง คือมีในจิตจริงๆยิ่งจริงๆ เป็นเครื่องอยู่สุขในปัจจุบัน คือจะต้องมี ตัวฌาน ๔ มีวิตก วิจาร มีปีติ มีสุข สุขด้วยวูปสโมสุขนั้น มันไม่ใช่สุขเสพสมนะฌานนี่ สุขด้วยความสงบระงับนะ ต่างกันกับโลกียสุข มีสุข มีอุเบกขา มีตัวเฉย ตัววาง ตัวปล่อย มีอุเบกขา ที่มีคุณธรรม ๕ มีลักษณะ ๕ มีปริสุทธา ปริโยทาตา มุทุ กัมมัญญา ปภัสสรา มันผ่องแผ้วอยู่ในใจ มันไม่มัว ไม่หมอง แล้วก็มันบริสุทธิ์ สะอาด แม้จะคลุกคลีกับสัมผัส คลุกคลีต่อสิ่งที่เขาเอามา โยนใส่ เป็นก้อนอิฐ เป็นของเขรอะ เลอะเทอะ เป็นสิ่งที่ยั่วยวนให้เกิดโทสะ ให้เกิดราคะ ให้เกิดโลภ เกิดโกรธ เกิดหลงอย่างไร มายั่ว ยิ่งกว่าของสกปรกที่จะทำให้เราสกปรกตามยังไงๆ อยู่นี่ เขามา โยนใส่เลอะเลย เราก็ยังปริโยทาตา ก็ยังเกลี้ยงอยู่นั่นน่ะ ไม่ดูด ไม่ซับ ไม่ซึม พอเขามาโยนใส่ ก็เหมือน เขามาโยนชั่วคราว เดี๋ยวมันก็แห้งหาย หลุดไป ของเราก็เกลี้ยงล่อนอยู่อย่างนั้น เหมือนน้ำกับใบบอน ใบบอนไม่ดูดซึมเอาน้ำ ฉันใด เราก็ปริโยทาตาอยู่ฉันนั้น ใครจะเอาน้ำ มาอาบ มาพอก หรือใครจะเอาความเลอะ ความยั่วยวนทำให้เกิดโลภ โกรธ หลง ยังไง มายั่ว มายวนยังไง เราก็ปริโยทาตาๆ ยังสะอาดรอบๆ อยู่อย่างนั้นแหละ นี่ปริโยทาตา มุทุ คล่องแคล่ว ว่องไว แข็งแรง แน่น มั่นคง เด็ดเดี่ยว เรียกว่ามีวรยุทธรอบตัว ปลอดภัย รบได้ มีการคิด การนึก การทำการงาน การทำอะไรได้อย่างเก่ง มุทุนี่ โดยที่จิตใจตัวเองปรับตลอดเวลา ปรับได้อย่างเก่ง มันอ่อนรอบตัวเลย จิตของเรา อ่อนรอบตัว ไหวรอบได้ทั้งรู้ ทั้งแข็งแรงอยู่ในตัวเสร็จหมดเลย มุทุ กัมมัญญา จึงจะทำงานอะไรๆ ได้อย่างวิเศษ กัมมัญญา แล้วทำงานอันนั้น ได้อย่างสละสลวย ได้งดงาม ได้ผลสำเร็จ ดีทุกประการ งานใดก็แล้วแต่ทั้งงานโลกๆ ทั้งงานการแสดงธรรม ทั้งงานในการกอบกู้ มนุษยชาติ ให้เป็นอริยะ กัมมัญญา ตัวฤทธิ์เดชของอุเบกขา มันมีน้ำหนัก มันมีเนื้อหาของมัน ถึงอย่างนี้ จิตใจก็ผ่องแผ้วอยู่เท่านั้นน่ะ ปภัสสรา

เมื่อเช้านี้เปิดเสียงปรามมีอยู่บทหนึ่งที่บอกว่า  ที่พระอานนท์กับพระพุทธเจ้าท่านทักทาย ถามกัน ภิกษุทั้งหลาย เคยได้ยินอย่างนี้มาก่อนไหม เมื่อเช้านี้เห็นไหม แต่อาจไม่ใช่สำนวนนี้ทีเดียวใช่ไหม ที่มีบทหนึ่งบอกว่า ไม่ได้ยินมาก่อนเลย แม้เราก็ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ไม่ได้ยินใครพูด อาตมาที่พูด ให้คุณฟังนี่ อธิบาย อุเบกขา มีคุณธรรม มีคุณลักษณะเยี่ยมยอด ๕ ประการอย่างนี้ ซึ่งเอามาจาก พระไตรปิฎกก็ตาม ก็ไม่เคยได้ยิน ได้ฟังใครกล่าวมาก่อนเลย ในชาตินี้น่ะ ชาติก่อนๆอาตมาได้ยิน มาจากพระพุทธเจ้า ไม่ต้องพูดนะ แล้วอาตมาก็มายืนยันด้วยว่า อาตมาได้อันนี้แล้ว อันนี้เป็น สภาวะ ที่อาตมาเอามาพูดนี่เป็นสภาวะนะ ไม่ใช่ภาษา อาตมาขยายในความหมายของภาษาบาลี ได้แค่ว่า ปริสุทธา ปริโยทาตา มุทุ กัมมัญญา ปภัสสรา นี่ขยายเนื้อหา ลีลาสภาวะให้ฟัง ละเอียด ลออ จริงๆ มันไม่มีสภาวะ มันเอามาขยายละเอียดอย่างนี้ไม่ได้หรอก มันบอกหัวบอกหาง บอกกลาง บอกปลาย บอกตับ บอกไต ไส้พุงอะไรของมัน แต่ละอย่าง แม้แต่ปริโยทาตา แม้แต่ มุทุ แม้แต่ กัมมัญญา ปภัสสราอะไรนี่ มาพูดอย่างนี้ไม่ได้หรอก คุณเคยได้ยินมาก่อนไหม จากใคร ถ้าไม่ใช่จาก อาตมา ลักษณะอย่างนี้น่ะ เป็นลักษณะองอาจแกล้วกล้า อาจหาญมาก พระพุทธเจ้านี่ คำสอนของท่านวิเศษนี่ ได้ยินต่อทอดกันจากเผ่า จากพันธุ์ของพระพุทธเจ้า ผู้ที่สืบทอด เป็นเผ่าพันธุ์แท้ ก็จะนำเรื่องแท้พวกนี้ ต่อทอดออกมา เชื่อไหมว่า อาตมาเป็นพันธุ์แท้ พูดไปแล้ว เหมือนคุยตัวนะ แต่เป็นอย่างนั้น

เพราะเป็นฌาน จะมีอุเบกขาเป็นเครื่องอาศัย แล้วมีวิตก วิจาร ทั้งหมด ในฌาน ๔ ในฌานที่มี คุณธรรม ที่มีลักษณะของวิตก วิจาร มีปีติ มีสุข มีอุเบกขาอะไรพวกนี้นี่นะ ไม่ใช่มันแบ่งมีหรอก มันลดได้ ทำ แต่มันก็ใช้ ใช้แล้วเราก็ไม่ติด ไม่ติดแล้วเราก็ใช้ได้เลยทีนี้ คล่องแคล่ว ต้องวิตกวิจาร ต้องสังกัปปะ มีตรรกะ วิตรรกะ สังกัปปะ มีวิตก วิจาร วิตกวิจารก็คือ ยกจิตขึ้นมาใช้งาน ทำงานอะไรต่ออะไร สังขารอะไรขึ้นไป แต่สังขารนี้ ไม่ใช่สังขารที่เราเสพ ไม่ใช่สังขารที่เราปรุง ไม่ใช่สังขารที่เราติด เราไม่ติดสังขารนี้ สังขารนี้ไม่ใช่เรา แต่เรานั่นแหละปรุง สังขารนี้เราไม่ได้ติด เป็นของเรา แต่เรานั่นแหละทำ ทำแล้วเราก็วาง ทำแล้วเราก็ปล่อย เป็นปุญญาภิสังขาร เจตนา อย่างพระพุทธเจ้าต้องเรียกว่า ท่านมีอิทธาภิสังขาร ท่านปรุงอย่างเป็นฤทธิ์ เป็นเดช เป็นเก่ง เราก็ต้องเรียกแต่แค่ ปุญญาภิสังขารเท่านั้นแหละ ปรุงเพื่อขัดเกลา ปุญญะ แปลว่า ชำระ ปรุงเพื่อให้เกิดชำระ เราปรุงของเราก็ปรุงขัด ชำระตัวเราเอง ปรุงให้ผู้อื่น พวกคุณก็ขัดเกลาพวกคุณ ชำระกิเลสพวกคุณ เป็นปุญญาภิสังขาร แล้วเราก็ทำ เราไม่ติด คุณติดหรือไม่ติด คุณก็จะต้องรู้ของ ตนเอง ว่าคุณพ้นสังขารแล้วหรือยัง ไม่มีสังขารแล้วหรือยัง เรามี เราทำ นะ แต่เราไม่มีภาษา มันไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว เราปรุงนะสังขารนี่เราปรุง แต่เราไม่ได้ปรุงเพราะเราปรุงแล้วเราก็เลิก ปรุงเพื่อประโยชน์เท่านั้น ไม่ได้ติดเป็นเรา เป็นของเราไว้เลย นี่ถึงบอกว่ามันไม่มีสังขาร คนไม่มีสังขาร ทั้งๆที่คนทำสังขารเองแท้ๆ บอกว่าไม่มีสังขาร เราปรุงเองแท้ๆอย่างนี้ เป็นต้น นี่เป็นเรื่องลึก

เมื่อมีฌาน ๔ ได้ฌาน ๔ ได้โดยไม่ยาก จะทำเมื่อไหร่ ก็เป็นฌาน ๔ ได้อาศัย มีอุเบกขา เป็นฐานอาศัย เป็นฐานนิพพาน เป็นฐานพัก เป็นวิหารธรรม มีนิพพาน หรือมีสุญญตาเป็นวิหารธรรม มีเมตตาเป็นวิหารธรรม มีเมตตาวิหาโร มีเมตตาเป็นตัวบทบาทการงาน สุญญตาเป็นตัวเราอาศัย อาศัยจริงของเรา เมตตาเพื่อผู้อื่น สุญญตาเพื่อตัวเราเอง มีสุญญตวิหาร มีเมตตาวิหาร นี่ก็ต้องทำให้ได้ เพราะฉะนั้น ฌาน ๔ ก็คือเพ่งเผากิเลส เมื่อเพ่งเผากิเลสได้แล้วมี ฌาน ๔ แล้ว อาศัยฌาน ๔ เป็นบทบาทชีวิต เป็นบทบาท เมื่อเผากิเลสให้ตัวเองได้ ก็เพ่งเผากิเลสให้คนอื่น เพ่ง พยายามที่จะปรุง ที่จะสร้าง ที่จะทำอะไร ให้คนอื่นเขาเผากิเลส

สุดท้ายก็ได้เจโตวิมุติ กระทำให้แจ้งเลย ให้เกิดเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป แล้วจะล้างอาสวะนี้ ได้ด้วยปัญญา ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันนี้ เข้าถึงอยู่ ต้องได้ แม้เดี๋ยวนี้ ถ้าเข้าอยู่ เดี๋ยวนี้ๆๆๆ ไอ้ตัวเดี๋ยวนี้นี่ก็ต่อเนื่องอยู่กับตัวปัจจุบัน ต่อเนื่อง อยู่กับมัน ก็ได้อยู่ตลอดเวลา ไม่มีตัวที่ไม่ได้มาแทรกเลยได้ ละอาสวะอยู่ได้ตลอด มีแต่ตัวสุญญตา ๆๆๆ มันเป็นตัวปัจจุบัน ละกิเลสได้ อาสวะไม่มี อาสวะไม่มีเป็นตัว อาสวะไม่มี อาการของอาสวะ ไม่มีเป็นปัจจุบันธรรม เป็นกิริยา ความไม่มีอาสวะนั้น เป็นกิริยาที่ต่ออยู่เป็นปัจจุบันๆ หมายความว่า มันมีอยู่ ต่อเป็นสายไป ตัวที่อาสวะเข้าไปแทรกแซงไม่มีเลยนี่ ก็คุณก็ปลอดภัยที่สุดนั่นแหละ อรหัตผลอันสมบูรณ์ เป็นอรหัตผล เป็นตัววิมุติสุดยอด เป็นตัวอนุตตรจิตที่ไม่มีแม้แต่อวิมุติจร ตัวไม่ใช่ วิมุติเข้ามาแซมนิดแซมหน่อย อโศกะก็ไม่มี วิรชะก็ไม่มี มีแต่เกษมๆๆๆ สบาย ไม่รู้จะแปล ว่าอะไร สุขเหรอ มันยิ่งกว่าสุขน่ะนะ มันเกษมน่ะนะ มันเกษม คือเขมังนี่แหละ เป็นตัวสุดท้ายของ ภาษาสุข มันก็ไปซ้ำกับโลกียะ มาแปลเป็นไทยว่าเป็นความสุข มันยิ่งกว่าสุขนะ เกษม เขมังนี่ เป็นตัวสุดท้าย สุดยอด เหนือชั้นหมดเลย อยู่ในโลกนี้ อยู่กระทบสัมผัสกับโลกนี้ทุกอย่าง ก็ไม่มี แม้แต่เศษธุลีหมอง ธุลีเริงอะไรเลย ว่าง สะอาดบริสุทธิ์อย่างนั้นจริงๆ เกษมมันก็ ไม่รู้น่ะ มันรวมหมดล่ะ ไอ้สภาพที่มันเป็นสภาพที่น่าได้ น่ามี น่าเป็นของผู้ประเสริฐที่ควรมี ควรเป็น

เอ้า ทีนี้ในนัยอาตมาได้อธิบายไปบ้าง ก็ขอเติมอีกนิดหนึ่งว่า เมื่อเราเองมีศีล ศรัทธาแล้วเอาศีล มาปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้ว เราก็จะเกิดผลเป็นพหูสูต หรือสุตะ มันจะเกิดสุตะ ก็เพราะว่า เราปฏิบัติ แล้ว จะมีซับซ้อนขึ้นมา มีหิริ มีโอตตัปปะ รู้จักบาป จนกระทั่งเกิดจิตจริงๆว่า มันละอายจริงๆ ต่อบาป เราไม่อยากทำจริงๆ เราจะอาย จิตที่ละอายมันจะต้องเกิดของตนเองว่า เอ๊อ อันนี้เราไม่ทำ จนโอตตัปปะ จนกลัว จนไม่กล้า ไม่กล้าทำ ละอายนี่ บางทียังทำนะ อายเหมือนกันน่ะ แต่พอกิเลส เข้ามากๆ แรงๆหน่อย ไม่อาย เลิกอายได้ทำ แต่ตัวโอตตัปปะนี่ มันไม่กล้าเลย อย่าว่าแต่อายเลย มันไม่กล้าเอาจริงๆ ในที่ลับก็ตาม ในที่แจ้งก็ตาม กิเลสขึ้นแรงแค่ไหนก็ไม่กล้าลงมือทำ จึงเรียกว่า โอตตัปปะ ไม่กล้า ไม่กล้าให้เกิดกิริยากรรม ไม่กล้าให้เกิดกรรมนั้น กิริยานั้น เกิดเองของเรา เป็นจริงของเรา จนกระทั่งมันเกิดพหูสูต จนกระทั่งมันเกิดพหุสัจจะ จนกระทั่งมันเกิดความจริง ที่เราได้รู้ รู้จนรอบ รู้มาก ครบ สมบูรณ์ รู้ว่า อ้อ บาปอันนี้ กิเลสอันนี้ เราฆ่ากิเลสตาย จนเราเห็นว่า อำนาจของกิเลส เบาบาง จนกระทั่งเราไม่ต้องพากเพียร เหมือนเฉยๆธรรมดา แล้วมันก็ เหลือเศษธุลี เราก็ไม่ประมาท ล้างมันออก เหลือเท่าไหร่ก็ทำให้มันสะอาดเข้าไปอีก ทำสะอาดเข้าอีก ทำสะอาดเข้าอีกๆ เหตุผลในการเป็นพระธรรมกถึก มีผลอยู่หลายอย่าง เราไปสอนคน เราจะต้อง เป็นให้ได้ก่อน สอนคนแล้วเป็นไม่ได้ก่อนนี้ แหม มันขายหน้านะๆ สอนคนแล้วเป็นไม่ได้ก่อนนี่ มันขายหน้าจริงๆ

อาตมาเล่าหลายทีแล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กับ พ.อ.ปิ่น มุทุกันฑ์ มีอยู่ ครั้งหนึ่งเขาเคยขึ้นเวทีพูดกัน ถึงเรื่องศาสนา พ.อ.ปิ่น มุทุกันฑ์ก็สาธยายกันใหญ่ เลยนะว่า การนอนสีหไสยาสน์ดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ ดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ แหม ดีอย่างสารพัดเลย สีหไสยาสน์ พ.อ.ปิ่น มุทุกันฑ์ก็อธิบาย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ฟังเฉย ฟังไปกระทั่งจนอธิบายจบ แล้วคุณทำได้หรือยัง เหอะ ผมก็ยังทำไม่ได้ แค่นั้นก็จบ คนก็เฮเลย คนฟังก็เฮ วิธีการเชิงชั้นของเขานี่นะ ล้มคู่ต่อสู้นะ คือ สากัจฉากัน มันล้มคู่ต่อสู้กัน ในเวทีใช่ไหม พ.อ.ปิ่น แกมีความรู้มากใช่ไหม ปริยัติ ว่าไป สาธยายไป ถึงคุณค่า ของสิ่งนี้อย่างเต็มที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์แกก็ฟัง ใช้ลีลาท่าที ลีลาท่าทีคนดูนะ วาทะ มันก็สู้กันแบบวาทะ พอเสร็จแล้ว แกก็ยิงด้วยจังหวะเหมาะ แล้วคุณทำสิ่งเหล่านั้นได้หรือยัง จะทำยังไงเล่า จะโกหก ก็ไม่ได้หนอ ยัง เท่านั้นแหละ คนก็เฮเลย มันน่าอายนะ พูดเสียเก๋ โก้ เลย สอนเขาเป็นตุเป็นตะ แต่เสร็จแล้ว ตัวยังทำไม่ได้ ใครเขารู้ว่า ตัวทำไม่ได้ หมดฐานะของพระธรรมกถึกหมดเลย

การเป็นพระธรรมกถึก มันต้องทำให้ได้ก่อน ต้องมีพหุสัจจะ ต้องมีพหูสูต เป็นตัวเห็นมาก รู้มาก แล้วทำได้จากการรู้เห็น ที่เป็นญาณทัสสนะวิเศษ อย่าไปรู้เห็นแต่แค่ท่องจำมาคิดผกผันเอามาแค่นั้น มันไม่พอ มันไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีปาฏิหาริย์อะไร มันไม่แกล้วกล้า อาจหาญจริงหรอก มันกลัวเขา ประเดี๋ยวเขาย้อนเอา คุณทำได้หรือยัง แหม มันจะตกเก้าอี้เลยนะ ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น ความไม่แกล้วกล้าอาจหาญอย่างหนึ่งก็คือ ของตัวเอง ยังไม่เกิดศรัทธินทรีย์ ศรัทธาพละ ยังไม่เกิดความเชื่อมั่น ยังไม่เกิดปัญญาอันแทงทะลุรอบ เห็นจริง มั่นใจ เป็นพระธรรมกถึกก็ไม่เก่ง สอนไปอย่างนั้น ทุกวันนี้ เขาก็อธิบายกันง่ายๆว่า ผู้สอนผู้อื่น แกล้วกล้าไหม แกล้วกล้า แกล้วกล้าอย่างนั้นน่ะ ฯลฯ ...

เพราะฉะนั้นเป็นพระธรรมกถึกได้ต้องมีพหุสัจจะให้ดี ให้ได้ เสร็จแล้ว เราจะต้องพยายามนะ มีแล้ว ไม่พยายามที่จะขวนขวายเข้าสู่บริษัท เพื่อเกื้อกูล เพื่อเผื่อแผ่ เพื่อเผยแพร่ เพื่อสืบทอดคุณธรรม เหล่านี้ ต่อเผ่า ต่อพันธุ์ไว้นั่นแหละ ถ้าไม่ต่อเผ่าต่อพันธุ์ไว้ มันก็ด้วน เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า ไม่มีพระธรรมกถึก ไม่มีผู้ที่จะเอาภาระในการที่จะสอนเขา จะสร้างสรร จะเกื้อกูล จะให้คนอื่นได้รับ ทรัพย์อันนี้ต่อไป มันก็หมด สูญ จบ เพราะฉะนั้น ถ้าไปมีแนวคิด มีทิฏฐิว่าจะต้องออกป่า ออกเขา ออกถ้ำ อยู่คนเดียว บรรลุแล้วย่อมไม่พูด บรรลุแล้วไม่ต้องเป็นพระธรรมกถึกหรอก เป็นพระเงียบ พระงุดอะไรไป เป็นพระมุด พระวิมุติ หมด ศาสนาไม่ได้เป็นอย่างนั้น ของพระพุทธเจ้าไม่มีนัยสอน อย่างนั้น ไม่ได้ระบุบอกอย่างนั้น นี่คือ พระพุทธเจ้าระบุ บอกไว้ ต้องบริบูรณ์ด้วยองค์เหล่านี้ เป็นพระธรรมกถึก แกล้วกล้า ต้องเข้าสู่บริษัท ไม่ใช่ไป เข้าไปสู่บริษัทก็คือเข้าไปเรี่ยไร ทุกวันนี้ เข้าไปสู่บริษัท ก็เข้าไปแต่เรี่ยไร มันจะไปได้เรื่อง เข้าสู่บริษัท อย่าไปเอาอะไรเขา ไปให้ จึงเรียกว่า ไปโปรดสัตว์ ถ้าไปเอาของเขา ไปเรี่ยไรนะ นั่นไปล่าสัตว์ มันแย่อย่างนี้น่ะ บาป

เพราะฉะนั้น เราจะไปโปรดสัตว์ด้วย แค่ทำอะไรยังไม่ได้ ก็เอากายธรรมไปบิณฑบาต แนะนำบ้าง พูดบ้าง นิดๆหน่อยๆ แต่ตอนบิณฑบาต ไม่ใช่ตอนไปเทศน์ ไปถึงก็พอดีเลย แหม รับบาตรอยู่ เจ้าหนึ่ง ๓ ชั่วโมงอยู่ตรงนี้เลย ไม่ได้ ไปโปรดสัตว์ต้องไปเรื่อยๆ ไปบิณฑบาตนี่เป็นงานแชร์ ไม่ใช่ไปเหมาล้มทับคนเดียว ไปถึงก็เอาเจ้าเดียวนี่ เอาใส่ให้เต็มบาตรเลย เอาเจ้าเดียวเดินกลับวัด ไม่ได้ บิณฑบาต แชร์ข้าวคนละทัพพี มีกับแกงอะไรคนละนิดคนละหน่อย ไปบิณฑบาต ไปแชร์ เป็นวิธีการแชร์ ซึ่งของพระพุทธเจ้า มีตั้งแต่โบราณกาล วิธีการแชร์ เล่นแชร์อะไร ความรู้นี้ ของพระพุทธเจ้านานแล้ว ท่านวิเศษท่านทำมา เสร็จแล้วเราต้องมีเนื้อหาแท้ ก็คือต้องมีฌาน ต้องได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ต้องมีฌาน ต้องมีวินัย ต้องมีอยู่ป่าเป็นวัตร เป็นความสงบที่แท้ ของตัวเอง เป็นเครื่องอาศัย มีวินัยเป็นอลังการ มีวินัยเป็นเครื่องรัดรอบ มีวินัยเป็นเครื่องกระทำงาน มีกฎเกณฑ์ ถ้ากระทำงานไม่มีวินัย ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีอะไรรัดรอบ มันมากไป มันจะเกินไป หรือมันจะขาดไป หรือมันจะเละ เสียหาย

ต้องมีหลักเกณฑ์ มีหลักการ เสร็จแล้ว ก็จิตมีตัวอาศัย มีอยู่ป่าเป็นวัตร ที่อธิบายไปแล้ว ต้องมีตัว อาศัย ต้องมีวิหารธรรม และเราก็ต้อง ได้โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบากในฌานทั้ง ๔ การเทศนา ด้วยฌาน จิตที่มีฌานนี่เทศนาชั้นหนึ่ง จิตที่ไม่มีฌานนี่เทศนา คือมีสมาธิก็ได้ สมาธิที่สูงก็คือฌาน ใช่ไหม มีฌาน มีความเพ่งเผากิเลส ยิ่งหมดได้ยิ่งดี เพราะฉะนั้น จะใช้วิตกวิจาร ใช้ปีติ ใช้สุข เทศน์ไม่มีปีติ อ๊อ เหนื่อย เทศน์ไป หง่อยลง หง่อยลง เทศน์ไม่มีปีติ ไม่ได้ ต้องใช้ฌานเป็นตัว องค์ธรรมในการทำงาน มีวิตกวิจารมีปีติมีสุข สุขอาศัยความสงบระงับ เป็นตัวอยู่ป่าเป็นวัตร นั่นแหละ ตัวจิตที่สงบ ตัวอยู่ป่าเป็นวัตรนั่นแหละ อาศัย มีสุขสงบระงับ มีอุเบกขา จะเข้าไปแสดง อยู่ไหนๆน่ะ มุทุภูเต กัมมนิเย ทำได้อย่างแคล่วคล่อง ว่องไว ปาฏิหาริย์ จะอาบ จะพอก โปรดอยู่ ในขุมนรก แหม มีนรก มีอะไรอาบพอกอยู่ ปริโยทาตา ก็ยังผ่องแผ้ว ยังไม่ดูด ไม่ซับ ไม่เปื้อนอะไรเลย จะเข้าไปชนโลกีย์ขนาดไหน สัมผัส ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จะสัมผัสต่อโลกธรรมขนาดไหน ก็แล้วแต่อินทรีย์พละ ของพระธรรมกถึกผู้นั้นๆ จะไปโปรดนรก ที่แรง ที่ร้าย ได้ขนาดไหน ก็ต่อพระธรรมกถึกผู้นั้น จะมีบารมี มีอินทรีย์พละ ได้มากน้อยต้องดูตัว ต้องมีสัปปุริสธรรม ๗ อยู่ในตัวเอง ต้องประมาณจริงๆ แล้วก็ใช้ฌานนี่แหละ เป็นตัวแสดงธรรม เป็นตัวการงานที่มีสุข ได้อาศัยสุขในฌาน ได้อาศัยการงานในฌาน ผู้ที่มีแล้วนะ ผู้ที่ยังไม่มี ก็เพ่งเผากิเลสตัวไปด้วย ผู้ที่มียังไม่สมบูรณ์ก็เผากิเลสตัวไปด้วย แล้วก็ทำงาน ให้ผู้อื่นด้วย มีฌาน มีเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อันไม่กลับกำเริบให้ได้ที่สุด แล้วเราจะเชื่ออันบริบูรณ์ ด้วยองค์ทั้ง ๑๐ นี้ จะเชื่อ มันเชื่อที่อาตมา จะบอกกับคุณได้ยังไง คุณมีของคุณเอง คุณจะเชื่อของคุณเอง แล้วคุณก็จะเข้าใจหัวข้อเหล่านั้น อย่างพิสดาร ที่อาตมาเอามาอธิบายนี่พิสดารนะ ท่านที่เรียนกันมาๆนะ อย่าว่าแต่พิสดารเลย ท่านหาว่า อาตมาวิตถารด้วย วิปริตด้วย อธิบายอะไรวะ ออกนอก ไม่เคยได้ยิน ครูบาอาจารย์ ไม่เคยสอนอย่างนี้ ใช่ ใช่จริงๆด้วย เพราะว่า อาตมาพูดของอาตมาเอง อาตมาพูดจากที่อาตมา เข้าใจเอง เห็นจริงเอง

ที่นี้พระธรรมกถึกนี่ พอต่อมาจากที่อาตมาขยายความแล้วต้องมีศีล ศีลที่มันจะขัดเกลากิเลสแล้ว เมื่อขัดเกลากิเลสได้แล้วจริงๆ เราก็เกิดผล เป็นพหูสูต หรือ พหุสัจจะ แล้วเราก็จะต้องเป็น พระธรรมกถึก เข้าไปเผยแพร่ เข้าไปทำประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านในโลก ตัวเราเอง มีประโยชน์ตน ก็ต้องให้มีประโยชน์ท่าน โดยเฉพาะศาสนาจะสืบทอดไปได้ ก็ต้องเอาประโยชน์ศาสนา ที่เราได้ พยายาม อุตสาหะวิริยะ ถ้าไม่เช่นนั้นมันก็ไม่จริง มันจะจริงมันจะเป็นศรัทธา คุณจะเชื่อว่า อ้อ เราเชื่อมั่นในตัวเรา เราเชื่อมั่นในสัจจะ แล้วเราก็เป็นพระธรรมกถึก เราเป็นพระธรรมกถึก เราก็ได้มา ทดสอบ เราก็ได้มาลอง ลองแล้วก็มาสู่บริษัท ตอนแรก มันยังไม่เก่ง ก็แสดงธรรมกับบริษัท น้อยๆ ก่อน แสดง ๒ คน ๓ คน ๕ คน ๑๐ คน ทีละเป็นพัน เสร็จแล้วก็ไปสู้กับจอมยุทธอื่นอีก แหม จอมยุทธอื่น ไปนั่งเป็นแถว อาจหาญๆ บางคนเจอจอมยุทธอื่นฝ่อเลย ไอ้ย่า โอ้โฮ มือฉมัง จอมยุทธ จากสำนักต่างๆ ไม่ไหวเราไม่สู้ ถ้าเป็นพระธรรมกถึกที่เก่งกล้า ก็ไม่กลัว ฯลฯ..

ทีนี้พระธรรมกถึกนั้นเป็นลักษณะอย่างไร องค์คุณของพระธรรมกถึก พระตถาคตตรัสตอบว่า พระธรรมกถึกเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุ หากว่าภิกษุแสดงธรรม เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลาย กำหนัด เพื่อความดับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไซร้ ควรจะเรียกว่า ภิกษุธรรมกถึก เพราะฉะนั้น องค์คุณของพระธรรมกถึก จะต้องเป็นผู้ที่แสดงธรรมแล้ว มันจะต้องเป็นไปเพื่อ ความละ หน่าย คลาย ไม่ใช่แสดงธรรมแล้วก็ แหม มีแต่เพิ่มมีแต่จะพอก มีแต่จะเกิดกิเลสตัณหา อุปาทานอย่างนั้น หรือว่าอาจไปในโลกีย์ เสพโลกีย์อยู่เรื่อยๆ อย่างนั้นไม่ใช่องค์คุณของ พระธรรมกถึก ทีนี้องค์คุณอย่างพระธรรมกถึกอีกอันหนึ่ง ก็คือ

๑. แสดงธรรม ไปโดยลำดับ
๒. แสดงธรรมอ้างเหตุผล
๓. แสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู
๔. ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม คือไม่ใช่แสดงธรรมเพื่อได้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขอะไร
๕. ไม่แสดงธรรม กระทบตนและผู้อื่น

ตัวนี้แหละ อาตมาพูดซ้ำ พูดซาก กระทบตน กระทบผู้อื่นนี่ ที่จริงไปกระทบให้เขาตกต่ำ อาตมาเคย ขยายความแล้ว ไม่กระทบท่านเรียกอนุปหัจจะ ถ้ากระทบท่านเรียกว่าอุปหัจจะ ภาษาบาลีว่า อุปหัจจะ กระทบแล้ว ทำร้ายแล้ว คือกระทบน่ะมันกระทบแน่ ดีหรือชั่วก็ตาม เราพูดดีหรือพูดชั่ว ให้กระทบ แต่อย่าไปทำร้ายให้เขาตกต่ำ เรียกว่า อนุปหัจจะ ไม่เข้าไปทำร้าย นี่เรียกว่าอนุปหัจจะ แสดงธรรม อย่าให้เข้าไปทำร้ายเขา ให้เขาได้เจริญขึ้นมา

เพราะฉะนั้น จะบอกดีหรือบอกชั่วก็ตาม พูดดีหรือพูดชั่วก็ตาม กล่าวดีหรือกล่าวชั่วก็ตาม ถ้าเรากล่าวชั่ว แล้วส่วนมากคนชั่ว ขี้มักจะไม่ค่อยชอบ ใช่ไหม เมื่อไม่ค่อยชอบแล้ว ก็จะเกิด การโกรธแค้น เกิดการโกรธเคืองระวัง มันจะเกิดสงคราม ต้องระวังตรงนี้

เพราะฉะนั้น การจะให้กระทบผู้นั้นผู้นี้ จะเกิดร้ายไม่ร้ายเราก็ลองดู ถ้าเราบอกว่า เออ คนฟังหลายๆ คนนี่ ถ้าเราแสดงธรรม แหม ฉีกหน้าความชั่ว ขนาดนี้ ขนาดนี้ หลายคนฟังแล้ว โอ้โฮ รู้สึกเบื่อหน่าย คลาย แล้ว มันชั่วเหรอ เรานึกว่ามันดี ปัดโถ อุตส่าห์ไป แหม นวดหน้านวดตา ไอ้นี่มันชั่วเหรอ ปัดโถ ตอนนี้รังเกียจแล้ว หน่ายคลายแล้ว แต่คนที่นวดหน้านวดตา ยังชอบๆๆๆอยู่ ด่าข้าฯๆ แต่ถ้าคนที่ เขาฟังนี่ คนเขาหน่ายคลายร้อยคน แต่ที่จะต้องเกิดโกรธอยู่ ๓-๔ คน ช่างเถอะ อาตมาว่าไม่มีปัญหา ได้กำไร ยอมให้เขาโกรธ ส่วนน้อยโกรธ แต่ส่วนใหญ่ได้ คุ้ม อาตมาทำ แม้เขาจะโกรธ จะเกลียด หน่อย เราไม่ได้แสดงธรรมให้เขารัก หรือชอบหรือชัง แต่ให้เขาได้เกิดละ หน่าย คลาย อย่างที่พระ ว่าไป แล้วเราก็ทำเป็นลักษณะกระทบตน กระทบท่านนี่สำคัญ ลึกซึ้ง ซับซ้อน หลายชั้น หลายเชิง นั่นเรียกพระธรรมกถึก ในองค์ของพระธรรมถึก บอกแล้วว่า องค์ของพระธรรมกถึก ต้องมีเข้าสู่บริษัท และแกล้วกล้าอาจหาญแสดงธรรม ในองค์ของส่วนตน ก็มีต้องทรงวินัย ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ ต้องคำนึงถึงรอบรัด ว่าจะแสดงยังไง อย่างเมื่อกี้ ยกตัวอย่างแล้วว่า คนนั้นแสดงไปแล้วนี่ ถ้าเผื่อว่า จะฉีกหน้าความไม่ดีอันนี้ แต่เขารู้สึกหน่ายคลาย คนที่รับได้นี่ เป็นอุปสัมบัน รับได้นี่ โอ้โฮ หน่ายคลาย ได้ดีเลย มีภูมิถึงที่จะรับได้ คนที่เป็นอนุปสัมบัน รับไม่ได้ ไม่กี่คน ในวินัยท่านให้ระวัง ไม่เช่นนั้นแล้วเสียผล เกิดสงคราม เกิดเราเอง ก็ไม่ได้เรื่องได้ราว คนรับก็รับไม่พอ อย่างนี้ไม่ดีนะ

เพราะฉะนั้น อันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย มันเป็นเรื่องประมาณที่ต้องมีปัญญา มีอภิญญา ที่จะหยั่งรู้จริงๆ มีอภิญญารู้ว่า มันจริงหรือเปล่าที่พูดนี่ ทรงวินัย แล้วก็มีอยู่ป่าเป็นวัตร มีฌานเป็นเครื่องทำงาน หรือเครื่องอาศัยเป็นโภคะ เป็นสุข มีฌานเป็นสุข มีฌานเป็นตัวปฏิบัติ เป็นตัวทำงานด้วย เพราะเรา มีเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อันไม่กลับกำเริบ นี่คือองค์คุณแห่งตัวศรัทธาที่จะบริบูรณ์ สมบูรณ์ได้ด้วย องค์พวกนี้ๆ

พระธรรมกถึกก็ดี การเข้าสู่บริษัทก็ดี การอะไรก็ดี อาตมาคิดว่าได้ขยายความในองค์ทั้ง ๑๐ นี้แล้วครบ เพราะฉะนั้นต่อไป ก็จะไปขยายอันอื่น ไปขยายศีลทีนี้ ขยายศรัทธา ขยายศีล ศีลซ้อนลงไปอีก ที่จริง ศรัทธานี่มีอีกมากเลยน่ะ ท่านรวบรวมเอาไว้ อาตมาคงจะไม่มีเวลาอ่าน หรือ ตอนท้ายๆ อาตมาจะเอามาอ่านให้ฟัง ถ้ามีเวลาก็จะขยายให้ฟังอีกบ้าง

ศีลได้อธิบายกันที่ปลุกเสกฯ ก็ได้อธิบายมาแล้วว่าศีลนี่ก็มีองค์ธรรม ศีลที่ปฏิบัติเป็นกุศล ศีลที่มีกุศล เป็นกุศลในกิมัตถิยสูตร ก็คล้ายๆกับองค์ธรรมของศรัทธาของที่มีองค์ธรรมบริบูรณ์ ทั้ง ๑๐ นั่นแหละ เพราะฉะนั้น ปฏิบัติศีลแล้วจะต้องเป็นยังไง มันถึงจะสังเกตได้  ก็สังเกตตรงที่ว่า ปฏิบัติศีลแล้ว จะไม่เกิดอวิปปฏิสาร ศีลที่เป็นกุศลนี่ จะมีอวิปปฏิสารเป็นผล อวิปปฏิสารคือ หมายความว่า ความไม่เดือดเนื้อร้อนใจ เมื่อเราปฏิบัติศีลแล้ว มันก็เกิดขัดเกลากิเลส แม้เราจะฝืนกาย ฝืนว่า เออ กายเราจะทำตามที่ว่านี่ ไม่ได้ มันฝืนๆๆ คือตั้งตนอยู่ในความลำบาก พอฝืนไปฝืนมา ฝืนมาฝืนไป ขัดเกลาไป ได้ปฏิบัติถูกต้อง มีโพธิปักขิยธรรมดีๆ จริงๆแล้ว มีการสังวร สำรวม มีสัมมัปปทาน ๔ ฆ่ากิเลสได้จริงๆ ลงไปจากในจิตน่ะ มันก็จะเกิดไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ใจมันก็ จะสงบระงับ ใจมันก็จะไม่หนัก ใจมันก็จะไม่ร้อน ใจมันก็จะไม่มีตัวไม่สบายขึ้น ใจมันสบายขึ้นๆ อย่างนี้เป็นตัวสังเกต เป็นตัวแรกว่า มีอวิปปฏิสารเป็นผล เป็นอานิสงส์ อานิสงส์ก็คือประโยชน์ เป็นประโยชน์ ในการปฏิบัติศีล มันจะเป็นผลอย่างนั้น พอปฏิบัติแล้วก็ เออ ลดลง แม้จะตั้งตนอยู่ ในความลำบาก เป็นความเดือดร้อนลำบากลำบนอะไรบ้าง ในตอนต้นๆ พอต่อๆไปแล้ว มันก็จะ ลดลงๆ นี่แสดงว่าปฏิบัติแล้วมีผล

ทีนี้อวิปปฏิสาร มันมียังไง ท่านบอกว่า มันมีความปราโมทย์ ปราโมทย์นี่เป็นความยินดี เหมือนปีติ ปีติปราโมทย์ มีความยินดี มีความพอใจ สบายใจ ปฏิบัติไปแล้ว มีศีลก็ยิ่งสบายใจ ขัดเกลาไป ก็ยิ่งสบายใจ สบายใจขึ้นๆ เรียกว่ามีความยินดี เพราะฉะนั้นใครยินดีว่า เออ! เราได้ศีลนี่เป็นทรัพย์ เป็นทรัพย์ใช่ไหม ศรัทธา ศีล เราได้ศีลนี่เป็นทรัพย์ ปฏิบัติไปแล้วก็ยิ่งเกิดทำได้ เป็นอัตโนมัติขึ้นมา ได้ชำนาญ จนกระทั่งไม่ต้องสังวร ไม่ต้องสำรวมอะไรมาก มันก็เป็นตัวเป็น เป็นตัวเป็นแล้ว ตัวเราเป็นอย่างนี้น่ะ ไม่มือไว แต่ก่อนนี้ ยุงนี่ ไม่ได้หรอก ไม่รู้ตัวก็ตบพัวะแล้ว เดี๋ยวนี้ ไม่ล่ะ ยุงกัดก็ เอ๊ นี่รู้ด้วยซ้ำไป มีญาณ มีปัญญาลึกๆเลยนะว่า เออ นี่ยุงๆ มันกำลังกัดเรา บางที ไม่ใช่ยุงละ เหมือนยุง เออ แต่ไม่ตบพัวะละ ดู มันเจ็บหน่อยก็แคะๆออกอะไร อย่างนี้เป็นต้น

จะมีความไหวรู้ จะมีสติที่สมบูรณ์ จะมีความไหวรู้ มีปฏิภาณในการรู้จักสิ่งกระทบสัมผัส กระทบสี กระทบรูป กระทบเสียง กระทบจมูกอะไร ก็ปฏิภาณ สัมผัสมันก็จะรู้ อือ อันนี้อย่างนี้ๆ จะไม่วู่วาม ว่าชอบ ว่าชังเร็วเลย มันจะเข้าใจ แต่ก่อนนี้ถ้าได้กลิ่นอย่างนี้ก็ เอ้อ ชอบ เดี๋ยวนี้ เออ กลิ่นอย่างนี้นะ ลด ในการหวือหวาลงไป แต่ก่อนนี้ถ้าได้ยินเสียงอย่างนี้แล้วโกรธ เดี๋ยวนี้ได้ยินเสียงอย่างนี้แล้ว ก็เฉยๆ หรือว่า ไม่มีปัญหา มีปัญญาเข้าใจว่า อ๋อ คือเสียงนี้ เสียงนี้แต่ก่อนนี้เราชอบ เสียงนี้แต่ก่อนนี้ เราชัง เดี๋ยวนี้ ไอ้นี่ มันมีคุณภาพ คุณภาพดี เสียงนี้ มีคุณภาพนะเออ เสียงนี้ แหม ไม่ดีเลย ไม่ใช่คุณภาพเลย เป็นโทษ เป็นภัยด้วย แต่ก่อนนี้เกิดได้ยินเข้าก็หวือหวา เดี๋ยวนี้ มันอาการของ ใจไม่วู่วาม ไม่วูบวาบ จะชอบหรือชังก็ไม่วูบวาบอย่างนี้เป็นต้น

จิตสงบ จิตดีขึ้น จิตเข้าท่าขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราก็รู้ว่า โอ้ เราได้จิตอย่างนี้นี่ดีนะ ชื่นใจ ปราโมทย์ ไม่เดือดร้อนแล้ว แต่ก่อนนี้เดือดร้อน เพราะมันวูบวาบ มันไม่ชอบ มันก็ชัง มันไม่โกรธมันก็เกลียด ก็รัก เดี๋ยวนี้เราไม่มีรัก เราไม่มีโลภ เราไม่มีเกลียด เราชอบจิตสงบอย่างนี้ใช่ไหม เราชอบจิตที่ จะไม่เดือดร้อนอย่างนี้ใช่ไหม เราจะยินดี เป็นปราโมทย์ เป็นความยินดีในความจริงว่า เราปฏิบัติศีลแล้ว จิตเราเป็นอย่างนี้ ดีอย่างนี้เป็นต้น จะเกิดความปราโมทย์เป็นประโยชน์ เป็นอานิสงส์ ได้มาปราโมทย์ แล้วก็มาปีติ ปีติก็ยิ่งยินดีสูงขึ้น เป็นตัวชื่อว่าตัวยินดี จะมีอาการของ ลักษณะปีติเยอะแยะเลย

ท่านสอนไว้มีปีติถึง ๕ อย่าง มี ขุททกาปีติ ขณิกาปีติ โอกกันติกาปีติ อุพเพงคาปีติ ผรณาปีติ มีลักษณะปีติหลายอย่าง ได้เป็นช่วงๆ บ้าง ได้เป็นลักษณะอย่างนั้นๆบ้าง หรือว่าได้อย่างที่เรียกว่า แรงๆ ได้แล้วก็มีอาการข้างเคียง อย่างแรงๆ พอปีติแล้วก็น้ำตาไหล ปีติแล้วก็เส้นกระตุกบ้าง ปีติแล้วก็กระโดดบ้าง เกิดปีติร้องห่ม ร้องไห้บ้าง อะไรก็แล้วแต่ น้ำตาน้ำหูไหล ยืดยาดอะไร ปีติได้หลายอย่าง ถึงขนาดปีติแล้วเหาะ ได้ด้วยก็มี มันดีใจถึงขนาดเหาะได้นี่ แหม ไม่น่าเชื่อ แต่อาการน้ำหูน้ำตาไหลนี่ คุณเข้าใจง่าย ปีติจน น้ำหูน้ำตาไหล จนกระทั่ง อาการในเนื้อในตัว เกร็งบ้าง อย่างโน้นอย่างนี้ มีปีติดีใจ นั่นเป็นอาการ ที่สูงขึ้นกว่าปราโมทย์ เป็นปีติต่างๆ จนถึงขั้น ผรณา ผรณานี่ถือว่าเป็นปีติที่ซึมซับได้ดี ซ่านไปในตัว ปีติ ผรณาปีตินี่ เป็นการดีใจที่สงบ แล้วก็แผ่ ไปในตัวของอาการ มันลดลงมาเหมือนปราโมทย์ แต่มันกินเนื้อถ้วนละเอียดๆ เรียกว่า ผรณาปีติ จะเกิดปีติ แล้วปีติก็มีลักษณะดีใจ

เพราะยิ่งเห็นปัสสัทธิ ยิ่งเห็นความสงบระงับ ปฏิบัติศีลแล้ว จะเห็น ยิ่งความสงบระงับ อะไรสงบระงับ เราปฏิบัติศีลข้อไหน เหตุปัจจัยอะไร แล้วเราได้สงบระงับ เพราะกิเลสในเหตุปัจจัยนี้ มันสงบ มันลดลง และแม้แต่ความปีติ ที่เป็นเชิงของฌาน ก็ลดปีตินี้ ลงอีกด้วย จนเป็นผรณาปีติ หรือจนเป็นปีติ ที่เบาบาง เป็นอนุโมทนา รู้ดี ยินดี เห็นดีกับมันเท่านั้น สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ปัสสัทธิ สงบลงไปเรื่อยๆ แล้วก็สุขอย่าง วูปสโมสุข สงบ ใครเห็น โอ้ สงบๆ สงบอย่าง วูปสโมสุขนี่ มันต่างกับแต่ก่อนนี้ โลกียสุขนี่อย่างนั้น มันได้ชอบ มันได้เกลียด แล้วมันพอใจ ยิ่งทำให้สมใจ ได้สมใจไม่เอาแล้ว ชังจะทำยังไง ซัดมันสักผัวะ ชอบก็ต้องทำอย่างนี้ อาการอย่างนี้ ได้ทำสมใจแล้ว เราก็สุข แต่ตอนนี้ไม่แล้ว ไม่เป็นอย่างนั้นหรอก มันสงบ สุข เพราะมันสงบ มันไม่ต้องไปทำอะไร บำเรอใจ เป็นสงบระงับ เอาละ ไล่ไปก่อน หมดเวลาแล้ว จะให้มันถ้วนอันนี้ แล้วพรุ่งนี้มาทวนอันนี้ อีกทีหนึ่ง มาทวนศีล แล้วไล่หิริโอตตัปปะ มันก็เป็นตัวเสริมเท่านั้นเอง ส่วนจาคะ และปัญญานั้น เป็นตัวผล ซึ่งไม่ต้องอธิบายอะไรมากนะ

มันก็ได้สุข ได้อย่างนี้ สั่งสมลงไปเป็นสมาธิ คืออธิทั้ง ๓ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา สั่งสมลงๆ เป็นสมาธิ ตั้งมั่น แข็งแรงได้คุณภาพ เต็มแน่น ละเอียดลออเข้าเป็นสมาธิแล้ว ก็มียถาภูตญาณ ที่เกิด ที่เป็น นั้นมีญาณรู้ ไม่ใช่ทำไปโดยงมงาย ไม่ใช่คนนั้นมาสอบญาณเรา เออ คุณจะได้ ญาณ ๕ ได้ญาณ ๘ ได้ญาณ ๑๐ ได้ญาณ ๑๖ ไม่ใช่ เรารู้ได้เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ รู้ได้ด้วยตน เห็นได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ปัญญาของเราเอง ปัญญาอันยิ่งของเราเอง ไม่ใช่ปัญญาไปคิดไอ้โน่น ไปคิดไอ้นี่ได้ แต่เป็นปัญญาที่เห็นความจริง ตามความเป็นจริง เห็นของจริง เห็นสภาพกิเลสลด และ อารมณ์ของกิเลสลดเป็นยังไง สภาพของปรมัตถธรรม สภาพของปัสสัทธิ สภาพของความสุข สภาพของปีติ มีมากมีน้อยอะไร เห็นเข้าไปจนกระทั่งเกิด นิพพิทาวิราคะ มีวิมุตติญาณเป็นผล โน่นแหละ พอเห็นแล้วก็เกิดเบื่อหน่ายคลาย นิพพิทาวิราคะ ก็เกิดเบื่อหน่าย คลายจริงๆ เป็นการเบื่อ เป็นการหน่าย ในสิ่งที่เคยวนเวียนมา ไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาตินั่นน่ะ เป็นสังสารวัฏ

โอ้ ไม่เอาแล้ว สังสารวัฏอย่างนั้น วนเวียนอย่างนั้น  ประเดี๋ยวสุข ประเดี๋ยวทุกข์ ประเดี๋ยวก็เป็นโลก เป็นโลกีย์ อย่างนั้น ไม่เอาแล้ว ดับโลกีย์ ดับสังสารวัฏ ดับโลก เบื่อหน่ายไม่เอา ดับโลกดับสังขาร ดับสิ่งที่ มันเกิดสุข เกิดทุกข์หมดเลย โลกเวทนาอย่างนั้น มันสุข เพราะว่ามันเคยได้อย่างนั้น แล้วมันก็สุข ได้สมใจอย่างนั้น แล้วมันก็สุขเป็นเวทนา ไม่ได้แล้วมันก็ทุกข์อย่างนั้น ไม่มีแล้ว เวทนาอย่างนั้นก็ไม่มี เวทนาทุกข์อย่างนั้นก็ไม่มี เวทนาสุขอย่างนั้นก็ไม่มี อุเบกขาเวทนาก็รู้ด้วยว่า เราได้แล้ว แม้อุเบกขา เราก็ไม่ติด ไม่ยึด เอาใหม่ ได้แล้ว ได้เลย แล้วก็เอาใหม่ต่อไป จนเป็นอุเบกขา ที่ดีแล้วพอแล้ว ไม่ติด ไม่ยึดไม่หลงในอุเบกขา ไม่ติดแป้นอยู่อย่างนั้น ไปเรื่อยๆ ไม่มีเวทนา แต่ก็มีเวทนานะ มีความรู้สึกอื่น ความรู้สึกที่ดีพวกอื่นมี แต่ความรู้สึกในโลกเดิม โลกเก่านั้น ดับโลกเก่า เป็นมนุษย์อย่างเก่า ไม่มีแล้ว ไม่เป็นมนุษย์อย่างเก่า ไม่เป็นคนโลกอย่างเก่า ไม่มีโลกอย่างเก่า เป็นคนโลกใหม่ มีความรู้สึกใหม่ จึงเรียกว่า ดับเวทนา ดับสัญญา ดับสังขาร

ที่จริงน่ะสัญญาอย่างก่อนๆนั้น แต่ก่อนเคยอร่อย ที่อาตมาบอกว่า เราเคยอร่อยนะแต่ก่อนนี้ อาตมากินพริกก็อร่อย เดี๋ยวนี้ชักลืมๆแล้ว อร่อยยังไง เดี๋ยวนี้กินมีแต่แสบ แต่ก่อนนี้มันอร่อยนะ ยังจำได้อยู่รำๆเรืองๆว่า รสอร่อยของการกินพริก เป็นยังไง อย่างนี้เป็นต้น แต่ก่อนนี้ แหม จำแม่น ต้องได้ขนาดนี้ เผ็ดขนาดนี้อย่างนี้ มันส์ เดี๋ยวนี้ชักลืมๆ ลงไปแล้วด้วย นั่นคือสัญญาก็ดับไปด้วย แต่มันจะไม่ดับพรวดพราดหรอกสัญญานี่ มันจะอยู่นาน จำได้ ยิ่งระลึกกลับย้อนไปก็ได้ แต่เฉย สัญญาจริงจำได้ แต่สัญญาเป็นรสไม่มี

เพราะฉะนั้น สัญญาจะเป็นเวทนา เป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนาไม่มี เป็นสัญญาที่สักแต่ว่าสัญญา ดับได้ ไม่คิดไม่นึกก็ได้ ไม่ต้องระลึกออกมา ไม่ต้องย้อนทวนไปหาสัญญานั้นก็ได้ ไม่ต้องกำหนด ขึ้นมาได้ เรียกว่าหมดสัญญา แต่ไม่ใช่หมายความว่า คนไม่มีสัญญา ยิ่งสัญญาดีด้วยซ้ำ อย่างนี้ เป็นต้น มันลึกซึ้งซับซ้อน ขึ้นไปนะ

เอาละ อาตมาไล่อันนี้ไปคร่าวๆ เวลามันก็กินไปเรื่อย เอ้า จบดื้อๆ


ถอดโดย อารามิก ดงเย็น จันทร์อินทร์ ๑๕ มิ.ย.๒๕๓๔
ตรวจทาน ๑ โดย สิกขมาต ปราณี ๑๖ มิ.ย.๒๕๓๔
พิมพ์ โดย อนงค์ศรี เบญจโศภิษฐ์ ๒๗ มิ.ย.๒๕๓๔
FILE:1337Q.TAP